28 กันยายน 2553

ขอให้รอดพ้นจากอำนาจที่กดขี่

46พระองค์ตรัสว่า “วิบัติแก่ท่านด้วยพวกผู้เชี่ยวชาญบัญญัติ เพราะท่านเอาของที่หนักเหลือรับให้มนุษย์เป็นคนแบก แต่ตัวพวกท่านเองกลับไม่ช่วยยกเลยแม้แต่นิ้วเดียว”
(ลูกา 11:46 TBS02b)

คริสเตียนไทยปัจจุบันมีหลายรูปแบบความเชื่อ โดยเฉพาะหลักแก่นความเชื่อของบางคนยังยึดติดกับการปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆ ขององค์กรศาสนาที่ตนเชื่อ บ้างก็ยังยึดมั่นในความเชื่อการกระทำดีกับการกระทำชั่ว และยังเชื่อว่าควรที่จะกระทำดีให้มากกว่าการกระทำชั่ว

ในสมัยของพระเยซูคริสต์ ประชาชนถูกสอนให้เชื่อว่าแต่ละคนจะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติและประเพณีปฏิบัติของศาสนายิวอย่างเคร่งครัดเขาถึงจะเป็นผู้ที่พระเจ้ารัก และประชาชนจำนวนมากที่เพียรพยายามปฏิบัติตามให้สมบูรณ์ที่สุด ผู้นำศาสนาในสมัยนั้นมุ่งที่จะกำหนดกฎเกณฑ์ให้คนทำตามเพื่อเป็นตัวบ่งชี้ว่าเป็นคนที่ชอบพระทัยของพระเจ้า แต่กฎระเบียบเหล่านั้นเป็นภาระอันหนักอึ้งที่ประชาชนจะต้องแบกรับและทำตามยาก ที่แต่ละคนจะปฏิบัติตามจนครบสมบูรณ์ได้

พวกบาเรียน หรือ ผู้ชำนาญทางบัญญัติ กำหนดข้อปฏิบัติต่างๆ ขึ้นเพื่อที่จะ “ชี้นิ้ว” มีอำนาจในการควบคุมผู้ที่เชื่อในเวลานั้น ทำให้ประชาชนต้องตกอยู่ใต้การเป็นทาสแห่งกฎระเบียบปฏิบัติที่พวกเขาสุมหัวคิดขึ้น โดยพวกบาเรียนเองมิได้ช่วยประชาชนแม้แต่น้อย ดังนั้น พระเยซูคริสต์จึงกล่าวตำหนิต่อว่าพวกเขาว่าได้แต่ “ชี้นิ้ว” ให้ประชาชนปฏิบัติ พวกบาเรียนจึงไม่รู้ซึ้งถึงความทุกข์ยากลำบากที่ประชาชนต้องแบกรับปฏิบัติตามกฎระเบียบเหล่านั้น และไม่มีทีท่าที่จะยอมร่วมทุกข์และเคียงข้างช่วยเหลือประชาชน

แต่สำหรับพระคริสต์แล้ว พระองค์รู้อยู่เต็มอกว่าไม่มีใครที่จะสามารถมีชีวิตที่สัมพันธ์กับพระเจ้าอย่างถูกต้องด้วยตนเองได้ ประชาชนต้องการ “ผู้ที่จะช่วยกอบกู้” ชีวิตของเขา และนี่คือพระราชกิจที่พระองค์ทรงรับผิดชอบ ซึ่งพระองค์ตรัสอย่างชัดเจนในเรื่องนี้ว่า 28บรรดาผู้เหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนัก จงมาหาเรา และเราจะให้ท่านทั้งหลายได้หยุดพัก 29จงเอาแอกของเราแบกไว้ แล้วเรียนจากเรา เพราะว่าเราสุภาพอ่อนโยนและใจอ่อนน้อม และจิตใจของพวกท่านจะได้หยุดพัก 30ด้วยว่าแอกของเราก็พอเหมาะ และภาระของเราก็เบา” (มัทธิว 11:28-30 TBS02b)

นี่คือความแตกต่างระหว่างพระเยซูคริสต์กับผู้นำทางศาสนา พระองค์ไม่ยอมใช้ตำแหน่งผู้นำศาสนาสร้างอำนาจ และ บารมีของตนเอง บนความทุกข์ยากและความสิ้นหวังของประชาชน เพื่อที่ตนจะสามารถควบคุมความเป็นไปขององค์กรศาสนา ตรงกันข้าม พระเยซูคริสต์กลับประกาศว่า ที่พระองค์อยู่ในโลกนี้ก็เพื่อที่จะช่วยคนที่ทุกข์ยาก คนที่ถูกทอดทิ้ง คนที่ถูกกดขี่ คนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ คนที่ตกลงในกับดักของความบาปชั่ว เพื่อจะทรงไถ่ถอนช่วยกู้ประชาชนเหล่านี้ให้ออกจากอำนาจแห่งความผิดบาป และมอบชีวิตนิรันดร์แก่เขา ด้วยเหตุนี้จึงเรียกว่า “ข่าวดีของพระเยซูคริสต์” พระองค์ทรงประกาศว่า

18พระวิญญาณขององค์พระผู้เป็นเจ้า(หมายถึง พระเจ้า) สถิตกับข้าพเจ้า
เพราะว่าพระองค์ทรงเจิมตั้งข้าพเจ้าไว้ เพื่อนำข่าวดีมายังคนยากจน
พระองค์ทรงใช้ข้าพเจ้ามาประกาศอิสรภาพแก่พวกเชลย
ประกาศแก่คนตาบอดว่าจะได้เห็นอีก
ปล่อยผู้ถูกบีบบังคับให้เป็นอิสระ 19และ
ประกาศปีแห่งความโปรดปรานขององค์พระผู้เป็นเจ้า (ลูกา 4:18-19)

พระเยซูคริสต์มาเพื่อจะรักและรับใช้ พระองค์มาเพื่อที่จะปลดปล่อยประชาชนให้ได้รับความเป็นไทในความรักและการเอาใจใส่ของพระองค์ และนี่คือพันธกิจที่พระองค์ทรงมอบหมายให้เราแต่ละคนกระทำด้วยความรับผิดชอบ ให้เราเลิกที่จะใช้อำนาจในการตัดสินและพิพากษาคนอื่นโดยอ้างกฎเกณฑ์และบทบัญญัติแต่ปราศจากจิตใจที่รักเมตตากรุณาแบบพระคริสต์ พระองค์มิได้มาเพื่อจะตัดสินพิพากษาและลงโทษ แต่พระองค์มาเพื่อที่จะช่วย กอบกู้ ไถ่ถอน ชีวิตมนุษย์ทั้งหลายด้วยชีวิตและด้วยความรักที่เสียสละของพระองค์

26 กันยายน 2553

แปดเปื้อนคนอื่นโดยไม่ตั้งใจ

44วิบัติแก่พวกท่าน เพราะว่าท่านเป็นเหมือนอุโมงค์ฝังศพที่ไม่ปรากฏให้เห็น และคนก็เดินเหยียบอยู่บนนั้นโดยไม่รู้เรื่อง” 45ผู้เชี่ยวชาญบัญญัติคนหนึ่งทูลพระองค์ว่า “ท่านอาจารย์ การที่ท่านพูดอย่างนั้น ท่านก็ติเตียนเราด้วย” (ลูกา 11:44 TBS02b)

การที่พระเยซูคริสต์ตำหนิ กล่าวหา ผู้นำทางศาสนาว่า เป็นผู้ที่นำประชากรของพระเจ้าให้หลงออกจากทางแห่งพระเมตตา กรุณา และทางแห่งความโปรดปรานของพระเจ้า แทนที่พวกเขาจะขอบพระคุณพระเจ้าที่ทรงใช้เขาให้ร่วมในพระราชกิจของพระองค์ และรับใช้พระองค์ด้วยน้ำใสใจจริงและด้วยความสัตย์ซื่อจริงใจ แต่กลับไปภูมิอกภูมิใจ หยิ่ง ยโส และจองหองที่ตนมีอำนาจในการปกครอง มีอำนาจบริหารจัดการในสังคม ชุมชน และศาสนจักรในเวลานั้น

ดังนั้น พระเยซูจึงได้เปิดโปงสภาพเช่นนี้ของพวกเขา และเปรียบพวกเขาว่าเป็นเหมือน “หลุมฝังศพ” ที่มองไม่เห็น ในศาสนายิวศพเป็นสิ่งที่สกปรก ดังนั้น หลุมฝังศพจึงเป็นที่ที่อาจจะทำให้คนที่ไป“สัมผัส” ด้วย ต้องสกปรก ด่างพร้อย เสียความบริสุทธิ์ในชีวิตจิตวิญญาณของตน ดังนั้น ผู้คนจึงหลีกเลี่ยงที่จะเข้าใกล้ หรือ ถูกต้องสัมผัสกับอุโมงค์ฝังศพ แต่พระเยซูคริสต์กล่าวชัดเจนลงไปเลยว่า พวกผู้นำศาสนาเหล่านี้เป็นเหมือนหลุมฝังศพที่มองไม่เห็น ที่ทำให้จิตวิญญาณของประชากรของพระเจ้า ต้องแปดเปื้อน ต้องติดเชื้อ ของความผิดบาปซึ่งประชาชนส่วนใหญ่มิได้ตระหนัก และ ระมัดระวังตัวในเรื่องนี้ พระเยซูคริสต์ได้ตำหนิแบบตรงไปตรงมาว่า แท้จริงแล้วผู้นำศาสนาคือผู้นำฝ่ายจิตวิญญาณของประชาชนได้ ละทิ้ง และ บิดเบือนการนำทางจิตวิญญาณด้วยการใช้อำนาจการนำแบบ “การเมือง” เพื่อสร้างอำนาจแห่งตน ซึ่งผู้นำฝ่ายจิตวิญญาณเช่นนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสัมพันธภาพกับพระเจ้า ทั้งตัวเขาเองและของประชาชนที่เขานำด้วย

คำตรัสและคำต่อว่าของพระเยซูคริสต์มิได้ทำให้ผู้ฟังเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมภายนอกที่พวกเขาแสดงออก หรือ เปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตประจำวันทันที จากพระธรรมตอนนี้ บาเรียนหรือผู้เชี่ยวชาญทางธรรมบัญญัติรู้ชัดทันทีว่าที่พระเยซูคริสต์ตรัสเช่นนั้น จริงๆ แล้วทรงหมายความว่าอะไร และคำตรัสนั้นมิได้เป็นคำยกย่องพวกเขาแน่นอน แต่เขารู้ชัดว่าคำตรัสนั้นกำลังตำหนิ กล่าวหา ต่อว่าพวกเขาในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณ และเขาก็กล่าวตอบพระเยซูเช่นนั้นว่า “ท่านอาจารย์ การที่ท่านพูดอย่างนั้น ท่านก็ติเตียนเราด้วย” (ข้อ 45 TBS02b) แต่การทรงตำหนิของพระคริสต์ด้วยสัจจะความจริงนั้นช่วยทำให้พวกเขาสามารถเห็นถึงความผิดหรือสิ่งที่ผิดในตัวเขา ซึ่งเป็นเหมือนการฉายแสงสว่างเข้าไปเพื่อที่จะมองเห็นส่วนที่มืดมิดที่ซ่อนเร้นอยู่ เมื่อใดก็ตามที่องค์พระผู้เป็นเจ้ามีพระประสงค์ที่จะเข้าไปมีส่วนในชีวิตของคนใดคนหนึ่งนั้น สิ่งที่พระองค์ทรงเข้าไปมีส่วนจะท้าทายชีวิตของคนๆ นั้น เพราะความชอบธรรมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตของคนหนึ่งคนใด จนกว่าเจ้าตัวจะพบและรู้ตัวว่าตนเป็นคนผิด เป็นคนไม่ชอบธรรม แล้วยอมรับสารภาพ และตัดสินใจกลับใจเสียใหม่

เมื่อพระเจ้าทรงท้าทายเรานั้น พระองค์ทรงตำหนิความยโส ความภาคภูมิใจในตนเองที่เรามีในตัวของเรา การที่พระเจ้าทรงกระทำเช่นนี้ต่อเรา มิใช่พระองค์ต้องการที่จะเป็นปรปักษ์ เป็นศัตรู หรือต้องการต่อต้านจิตวิญญาณของเรา แต่พระองค์ต้องการให้เราสารภาพ ยอมรับความจริง ซึ่งจะนำไปสู่ชีวิตที่ได้รับการทรงเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม ถ้าเราต่อต้านการทรงตำหนิกล่าวหาของพระองค์ เรากำลังต่อสู้กับพระเจ้า

ในฐานะที่เราหลายคนเป็นผู้นำในครอบครัว ในคริสตจักร ในธุรกิจการงาน หรือในส่วนของผู้นำทางการปกครอง การเมืองนั้น เป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบเป็นพิเศษที่จะนำสัจจะความจริงเข้ามาถึงชีวิตของผู้คนที่เรารับผิดชอบ และที่สำคัญเป็นพิเศษคือ ต้องไม่นำสิ่งที่จะทำให้ชีวิต ความนึกคิด และจิตวิญญาณของผู้ที่เรารับผิดชอบมาสัมผัสกับสิ่งที่ทำให้ชั่วร้าย ผิดพลาด ด่างพร้อยในชีวิต ความคิดและจิตวิญญาณของเขา ทำให้ผู้คนที่ตนรับผิดชอบต้องหลงจากทางแห่งความหวังในแผ่นดินของพระเจ้า ทางแห่งพระคุณขององค์พระผู้เป็นเจ้า

ดังนั้น ถ้าพระวจนะสองข้อนี้ได้ทำให้เกิดแสงสว่างภายในชีวิตจิตวิญญาณของเรา ช่วยให้เรามองเห็นบางสิ่งบางประการในชีวิตของตน โปรดอย่าต่อต้านการทรงตำหนิ กล่าวว่าของพระองค์ แต่ขอให้เราได้ถ่อมใจลง สารภาพ เข้าไปพักใน “อ่าว” หลบภัยขององค์พระผู้เป็นเจ้า เพื่อหลีกลี้จากพายุที่รุนแรงวุ่นวายที่มีความมืดซ่อนเร้นอยู่ในขณะนี้ อย่างน้อยที่สุดก็จะช่วยให้เราได้หยุดทำให้ผู้คนในความรับผิดชอบของเราต้องสกปรกเปรอะเปื้อนอีกต่อไป

ชีวิต ความนึกคิด และจิตวิญญาณของคนบาปกระหายและต้องการทรงวิพากษ์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า
ดั่งกษัตริย์ดาวิดอธิษฐานทูลขอต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าว่า
23ข้าแต่พระเจ้า ขอทรงค้นดูข้าพระองค์และทรงทราบจิตใจของข้าพระองค์
ขอทรงลองข้าพระองค์และทรงทราบความคิดของข้าพระองค์
24และทอดพระเนตรว่ามีทางชั่วใดๆ ในข้าพระองค์หรือไม่
และขอทรงนำข้าพระองค์ไปในมรรคานิรันดร์ (สดุดี 139:23-24)
จำเป็นอย่างยิ่งที่เราแต่ละคนจะต้องมีสัมพันธภาพที่ถูกต้องกับองค์พระผู้เป็นเจ้า
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะที่เราต้องเป็นผู้นำ
ต้องไม่ทำให้เขาเหล่านั้นที่เรารับผิดชอบต้องด่างพร้อยแปดเปื้อนเพราะการนำของเรา

ในวันนี้ ขอให้แสงสว่างแห่งองค์ผู้เป็นเจ้าโปรดฉายส่องเข้าในชีวิตภายในของเรา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน “จุดมืด” “จุดด่างพร้อย” ที่ซ่อนเร้นอยู่ในชีวิตของเรา

เพื่อเราจะพบความจริง
เพื่อเราจะถ่อมลงและสารภาพ และขอให้พระเจ้าทำงานในชีวิตของเรา
เพื่อเราจะได้รับชีวิตใหม่
เพื่อเราจะกลายเป็นผู้นำพระพรไปถึงคนรอบข้าง

ขอพระเจ้าโปรดช่วยให้เราสามารถเห็นชีวิตตนเองอย่างที่พระองค์ทรงเห็น
รับการทรงชำระจากพระองค์เพื่อให้พระองค์ทรงใช้เราได้อีกครั้งหนึ่งในแผ่นดินของพระองค์

23 กันยายน 2553

สี่ทัศนคติในสถานการณ์ที่เลวร้าย

ตัดสินใจว่าจะตอบสนอง(ตอบโต้)อย่างไร

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรานั้นสำคัญ แต่การที่เราจะตอบโต้ หรือ ตอบสนองอย่างไรต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นสำคัญยิ่งกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่เป็นอุปสรรคปัญหาที่เราไม่คาดคิดมาก่อน
นี่คือสี่ทัศนคติดีเยี่ยมในทุกสถานการณ์

มุ่งมองที่อนาคต

ประการแรก ไม่ว่าเราต้องพบกับการท้าทายแค่ไหน ให้มุ่งมองไปที่อนาคตแทนการมองย้อนและจับเจ่าอยู่กับอดีต แทนที่จะมานั่งเสียเวลาค้นหาว่าใครเป็นต้นเหตุของสานการณ์เลวร้ายนี้ ใครคือผู้ทำผิดตัวจริง แต่ให้เรามุ่งมองไปที่ว่าเมื่อเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นเช่นนี้เราต้องการทำสิ่งดีๆ อะไรบ้าง ให้เรามีภาพในความคิดถึงอนาคตที่เกิดผลดีสร้างสรรค์ที่ชัดเจน แล้วลงมือกระทำขั้นตอนต่างๆ สิ่งต่างๆ ที่มุ่งไปสู่ภาพอนาคตที่เกิดผลดีสร้างสรรค์นั้น ให้เรามุ่งมอง มุ่งคิด มุ่งไปสู่ภาพอนาคตที่เกิดผลดีสร้างสรรค์ดังกล่าว

มุ่งคิดไปที่ผลดีที่พึงจะเกิดขึ้น

ประการที่สอง เมื่อใดก็ตามที่เราต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบาก มุ่งมองไปที่อนาคตมากกว่าที่มองย้อนจมจ่อมอยู่กับอดีต ให้คิด พูด และค้นหาถึงผลลัพธ์ดีๆ ที่ต้องการได้รับจากอุปสรรคปัญหาที่กำลังพบอยู่ หรือความพ่ายแพ้ที่เรากำลังพบ แทนที่จะเสียเวลาไปครุ่นคิดหาทางแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้กลับดีอย่างที่น่าจะเป็น การที่มุ่งค้นหาผลลัพธ์ดีๆ นั้นเป็นการคิดบวกคิดสร้างสรรค์ในตัวของมันอยู่แล้ว ในทำนองเดียวกันการมุ่งมองจมอยู่กับปัญหาและความพ่ายแพ้ที่ได้รับก็เป็นการคิดที่ลบและบั่นทอนในตัวของมันเช่นกัน ตราบใดที่เราเริ่มคิดบวกที่มุ่งหาผลลัพธ์ดีๆ เราก็กำลังเป็นคนที่สร้างสรรค์และเป็นผู้เสริมสร้าง

มุ่งมองหาสิ่งดี

ประการที่สาม จงเชื่อว่า ในทุกความยากลำบากหรือในสิ่งท้าทายมักมีสิ่งดีๆ ซ่อนเร้นอยู่ในนั้น ดร.นอร์แมน วินเซนท์ พีล นักคิดเชิงสร้างสรรค์ ได้กล่าวว่า “เมื่อใดก็ตามที่พระเจ้าประสงค์ให้ของขวัญที่ดีล้ำค่าแก่เรา พระองค์จะห่อของขวัญชิ้นนั้นด้วยกระดาษแห่งปัญหา” ยิ่งของขวัญชิ้นนั้นใหญ่โต หรือทรงคุณค่ามากแค่ไหน มั่นใจได้เลยว่าเราจะได้รับปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้นแค่นั้น แต่สิ่งแปลกประหลาดมหัศจรรย์ก็คือ ถ้าเรามุ่งมองหา “ของขวัญ” ในเหตุการณ์นั้นเราก็จะพบของขวัญล้ำค่า

ค้นหาบทเรียนอันทรงคุณค่า

ประการที่สี่ จงเชื่อว่า สถานการณ์ใดๆ ที่เรากำลังเผชิญหน้ากับมันในขณะนั้นเป็นสถานการณ์ที่เราจำเป็นต้องพบประสบเจอที่ในที่สุดเราจะได้รับความสำเร็จ สถานการณ์นั้นส่งมาเพื่อช่วยเราให้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่จะช่วยพัฒนาให้เราดียิ่งๆ ขึ้นกว่าเดิม ช่วยให้เราเจริญเติบโตขึ้นในชีวิต

ปรารถนาคิดบวก ทัศนคติบวก และสร้างสรรค์

จงเป็นคนที่คิดบวกคิดสร้างสรรค์เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในความสำเร็จในชีวิต เราสามารถที่จะเป็นคนคิดบวกคิดสร้างสรรค์ก็เพียงเรามุ่งมองไปที่อนาคต มุ่งเน้นที่ผลดีดีที่ต้องการให้เกิดขึ้น และนี่คือสิ่งหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ มุ่งใช้ความคิดที่จะเอาใจใส่จัดการกับสถานการณ์ให้เกิดผลดีในอนาคต เราก็จะได้รับผลแห่งความชื่นชมยินดีในสิ่งดีที่เกิดขึ้นด้วยความสุขสันติ และนั่นคือความสำเร็จของเรา

ลงมือปฏิบัติ

สามขั้นตอนที่เราสามารถเริ่มต้นทำตามความคิดนี้ได้ตอนนี้เลย

ขั้นตอนแรก ให้เราเป็นคนที่มุ่งเน้นไปที่ผลดีดีที่จะเกิดขึ้นในทุกปัญหา อุปสรรค ความทุกข์ยากลำบากที่ต้องพบพาน สร้างนิสัยที่มุ่งมองหาคำตอบต่อคำถามว่าอะไรคือผลดีๆ ที่ต้องการให้ได้รับหรือเกิดขึ้นในสถานการณ์นี้

ประการสอง ให้เรามุ่งแสวงหาบทเรียนล้ำค่าในทุกความทุกข์ยากลำบาก ให้เราเขียนรายการที่เราพึงจะได้รับจากทุกความยากลำบาก หรือ ความพ่ายแพ้

ประการสาม ให้เราคิดบนกระดาษ ให้เราลองเขียนทุกรายละเอียดของปัญหาหรือความทุกข์ยากที่เราพบ แล้วลองใคร่ครวญดูว่า เราจะทำอย่างไรถึงจะได้รับสิ่งดีมีค่าจากปัญหาและความทุกข์ยากเหล่านั้น

21 กันยายน 2553

นักวิทยาศาสตร์เผย “โมเสส” อาจเคยข้ามทะเลแดงได้จริงตามพระคัมภีร์ระบุ

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 22 กันยายน 2553 09:46 น.

เทเลกราฟ – นักวิทยาศาสตร์เผย การข้ามทะเลแดงของ “โมเสส” ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องราวที่น่าตื่นเต้นที่สุดในพระคัมภีร์เก่า (The Old Testament) อาจเคยเกิดขึ้นจริง

ผลการศึกษาใหม่ระบุว่า กระแสลมที่รุนแรงอาจทำให้เกิดปรากฎการณ์น้ำทะเลแยกออกเป็น 2 ข้างได้จริงดังเรื่องราวในพระคัมภีร์

อย่างไรก็ตาม จุดที่นักวิทยาศาสตร์ทำการศึกษา “ปรากฏการณ์มหัศจรรย์” ดังกล่าวไม่ใช่ทะเลแดง แต่เป็นบริเวณใกล้เคียงแถบดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์

นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯซึ่งศึกษาแผนที่โบราณของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ ชี้จุดที่โมเสสอาจพาชาวอิสราเอลข้ามทะเล ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ในอดีตสาขาหนึ่งของแม่น้ำไนล์เคยไหลลงสู่ทะเลสาบ (lagoon)ซึ่งเรียกกันว่า ทะเลสาบทานิส (Lake of Tanis)

จากการวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดี ภาพถ่ายดาวเทียม และแผนที่ ทำให้นักวิจัยสามารถคาดเดาความลึกและการไหลของน้ำเมื่อ 3,000 ปีก่อน จากนั้นจึงใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ทางสมุทรศาสตร์จำลองอิทธิพลของกระแสลมแรงที่พัดผ่านน้ำลึก 6 ฟุต ในยามค่ำคืน

นักวิจัยพบว่า ลมตะวันออกความเร็ว 63 ไมล์ต่อชั่วโมงที่พัดผ่านอย่างต่อเนื่องนาน 12 ชั่วโมง สามารถผลักดันให้น้ำไหลกลับเข้าไปในทะเลสาบและแม่น้ำ ซึ่งจะทำให้เกิดช่องทางเดินยาว 2 ไมล์และกว้าง 3 ไมล์ ที่มีกำแพงน้ำอยู่ 2 ด้าน เป็นเวลา 4 ชั่วโมง

ทันทีที่ลมอ่อนกำลัง กำแพงน้ำทั้ง 2 ด้านจะไหลกลับเข้าหากันอย่างรวดเร็ว

รายงานดังกล่าวถูกเผยแพร่วานนี้(21)ในวารสารออนไลน์ “วัน” (ONE) ของ พับลิก ไลบรารี ออฟ ไซนส์

คาร์ล ดรูส์ หัวหน้านักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัยด้านบรรยากาศแห่งชาติ เมืองโบลเดอร์ มลรัฐโคโลราโด ระบุว่า “เราสามารถอธิบายการแยกของน้ำได้ด้วยกลศาสตร์ของไหล กระแสลมจะทำให้น้ำเคลื่อนที่ไปตามกฎกายภาพ จนเกิดช่องทางที่คนสามารถเดินข้ามไปได้อย่างปลอดภัยชั่วขณะ จากนั้นน้ำก็จะไหลกลับเข้าหากันอย่างรวดเร็ว”

“หลายคนตื่นเต้นกับเรื่องราวในพระธรรมอพยพ (Exodus) และสงสัยว่ามันเคยเกิดขึ้นจริงหรือไม่ งานวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่า การแยกตัวของน้ำออกเป็น 2 ข้างมีความเป็นไปได้ในทางฟิสิกส์”

การศึกษาอีกชิ้นหนึ่งเผยว่า กระแสลมตะวันตกเฉียงเหนือความเร็ว 74 ไมล์ต่อชั่วโมง ซึ่งใกล้เคียงกับพายุเฮอริเคน อาจสามารถแหวกกระแสน้ำใกล้คลองสุเอซในปัจจุบันออกเป็น 2 ด้านจนเห็นแนวปะการัง และทำให้คนสามารถเดินข้ามไปมาได้

http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9530000133078

19 กันยายน 2553

เอกภาพในคริสตจักรของพระคริสต์

อ่าน 1โครินธ์ 12:12-13
13เพราะว่าถึงเราจะเป็นพวกยิวหรือพวกกรีก เป็นทาสหรือมิใช่ทาสก็ตาม
เราทั้งหลายได้รับบัพติศมาโดยพระวิญญาณองค์เดียวเข้าเป็นกายเดียวกัน และ
พระวิญญาณองค์เดียวนั้นซาบซ่านอยู่ (ในชีวิตของเรา) (ฉบับ TBS1971)
พระวิญญาณองค์เดียวกันเป็นเหมือนน้ำที่ประทานให้เราทุกคนได้ดื่ม (ฉบับ TBS02b)


เพราะการที่คริสตจักรในเมืองโครินธ์แบ่งแยกแตกตัวเป็นพรรคเป็นพวกเพราะของประทานฝ่ายวิญญาณ เปาโลบ่มเพาะความคิดความเข้าใจใหม่ว่าชีวิตที่อยู่ในพระคริสต์แท้จริงนั้นเป็นเช่นไร มิใช่ชีวิตในพระคริสต์ที่แบ่งพวกเขาพวกเรา แบ่งเพราะมีของประทานฝ่ายจิตวิญญาณที่โดดเด่นไม่เหมือนกัน แล้วพยายามชูของประทานที่ตนมีอยู่ให้เด่นชัดกว่าของประทานฝ่ายจิตวิญญาณด้านอื่นที่มีในผู้อื่น ซึ่งก็เป็นการที่ยกตนข่มท่านโดยปริยาย จะด้วยตั้งใจเจตนาหรือไม่ก็ตาม อาจจะเป็นเพราะ “วิญญาณแห่งการแข่งเอาชนะคะคานกัน” ของโลกปัจจุบันมีอิทธิพลเหนือชีวิตในพระคริสต์ของคริสเตียนในปัจจุบัน

เมล็ดความเชื่อศรัทธาของชีวิตในพระคริสต์ที่เปาโลบ่มเพาะลงในชีวิตคริสเตียนโครินธ์คือ ชีวิตในพระคริสต์นั้นเป็นชีวิตที่ประกอบด้วยหลากหลายอวัยวะ หลากหลายศักยภาพ หลากหลายความสามารถที่ต้องทำงานประสานเชื่อมต่อ และ สร้างเสริมกันและกัน เพื่อใน “พระวรกายของพระคริสต์” ที่เป็นชุมชนของผู้เชื่อศรัทธาสามารถอยู่ร่วมกันอย่างประสานกลมกลืน สมดุล และสร้างสรรค์กันและกัน และไม่สามารถที่จะบอกว่า อวัยวะส่วนไหนที่สำคัญที่สุด แต่ในสายตาคริสเตียน ทุกส่วนมีความสำคัญต่อกันและกัน พึ่งพา พึ่งพิง อาศัยกันและกัน เอื้ออำนวย เกื้อกูล ค้ำจุนกันและกัน ใน “พระวรกายของพระคริสต์” มิได้อยู่กันด้วยอำนาจ แต่ในพระคริสต์อวัยวะทุกส่วนอยู่ด้วยพลังแห่งความรัก เกื้อกูล และสร้างเสริมกันและกัน

ทุกวันนี้น่าคิดว่า คริสตจักรของเราถูกอิทธิพลความคิดและค่านิยมของสังคมปัจจุบันครอบงำ ชุมชนแห่งพระวรกายของพระคริสต์ ด้วยการประชุมแบบ “รัฐสภา” ในนามของระบอบ “ประชาธิปไตย” ใช้ “กระบวนการหาเสียง” เพื่อเข้ามามีอำนาจในการขับเคลื่อนการทำงานในพระวรกายของพระคริสต์ คงต้องตั้งคำถามด้วยความห่วงใยแบบถามตรงๆ ว่า มันถูกต้องเหมาะสมในชุมชนของพระคริสต์หรือ? และวิธีดังกล่าวเป็นการกระทำด้วยน้ำพระทัยแบบพระคริสต์หรือไม่? ถ้าไม่ แล้วทำไมเรายังทำกันเช่นนั้น?

ลักษณะเฉพาะพิเศษของชุมชนผู้เชื่อศรัทธา หรือ พระกายในพระเยซูคริสต์นั้นเป็นชุมชนที่ประกอบด้วยความหลากหลาย เช่น ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ นั่นหมายความว่าในชุมชนของพระคริสต์มีภูมิหลังที่หลากหลายทางวัฒนธรรม มีชีวิตและเติบโตขึ้นในสภาพแวดล้อมสังคมที่แตกต่างกัน ฐานะทางสังคม เศรษฐกิจที่ไม่เหมือนกัน และคริสตจักรในสมัยเริ่มแรก คริสตจักรที่เมืองโครินธ์ก็เป็นเช่นนั้น อาจารย์เปาโลกล่าวว่า “...ไม่ว่าจะเป็นยิวหรือกรีก ทาสหรือเสรีชน เราได้รับบัพติศมาในพระวิญญาณองค์เดียวเข้าเป็นกายเดียวกัน และพระวิญญาณองค์เดียวกันเป็นเหมือนน้ำที่ประทานให้เราทุกคนได้ดื่ม” (1โครินธ์ 12:13 TBS02b)

ในพระธรรมตอนนี้เปาโลใช้ภาพเปรียบเทียบสองภาพด้วยกัน ภาพแรกภาพการรับบัพติศมา ในภาษากรีกใช้คำว่า “แบพติสโซ” ซึ่งมีความหมายว่า “ดำลงไปใน...” “จุ่มตัวลงไปใน...” หรือ “ฝังตัวลงใน...” และในที่นี้เปาโลกำลังกล่าวว่าการที่เราเอาชีวิตของเรา “ดำลงใน” “จุ่มหรือมุดลงใน...” หรือ เอาชีวิตของเราฝังตัวลงใน...ในพระคริสต์ หรือ ในพระวรกายของพระคริสต์ ถ้าเปาโลมีชีวิตอยู่ในยุคสมัยนี้ท่านคงจะใช้คำเปรียบเทียบว่า ชีวิตในพระคริสต์คือการปลูกถ่ายชีวิตของเราในชุมชนแห่งพระวรกายของพระคริสต์ ประเด็นสำคัญในที่นี้คือ คริสเตียนแต่ละคนได้รับการสร้างใหม่จากพระวิญญาณของพระเจ้าให้เป็นส่วนหนึ่งในพระวรกายของพระคริสต์เมื่อเรายอมกลับใจใหม่

ภาพเปรียบเทียบที่สองคือ ที่กล่าวถึงพระราชกิจของพระวิญญาณ กล่าวคือเราต่างก็เป็นส่วนหนึ่งในพระวิญญาณองค์เดียวกัน ในฉบับแปล 1971 แปลว่า “พระวิญญาณองค์เดียวนั้นซาบซ่านอยู่(ในชีวิตของคริสเตียนแต่ละคน) ในขณะที่ฉบับแปล TBS02b แปลว่า “พระวิญญาณองค์เดียวกันเป็นเหมือนน้ำที่ประทานให้เราทุกคนได้ดื่ม” ในภาษากรีกคำที่แปลว่า ซาบซ่าน นั้นมีความหมายว่าดื่ม ดังในฉบับ TBS02b ได้แปลใหม่ แต่ก็ยากที่จะเข้าใจ ในที่นี้เปาโลต้องการชี้ให้เห็นว่า คริสเตียนคือผู้ที่ดื่มพระวิญญาณของพระเจ้า ให้พระวิญญาณของพระองค์เข้าไปมีชีวิตในชีวิตของเรา

ดังนั้น การเป็นคริสเตียนนอกจากเราจะมีชีวิตจิตวิญญาณที่สัมพันธ์ผูกพันกับพระเยซูคริสต์แล้ว ชีวิตคริสเตียนทุกชีวิตต่าง “จุ่มลง” “ดำลง” “ฝังตัวเองลง” ในพระวิญญาณองค์เดียวกัน เพื่อที่จะให้ชีวิตของตนเองดำเนินตามพระประสงค์ คือการที่มีชีวิตที่อยู่ภายใต้พระวิญญาณบริสุทธิ์องค์เดียวกัน รับการชำระเปลี่ยนแปลงชีวิตจากพระวิญญาณบริสุทธิ์องค์เดียวกัน และดำเนินชีวิตภายใต้การทรงนำจากพระวิญญาณบริสุทธิ์องค์เดียวกัน ในขณะภาพเปรียบที่สองชี้ให้เห็นว่า ชีวิตคริสเตียนคือชีวิตที่รับเอาพระวิญญาณเข้าไปในชีวิตของเรา เพื่อจะเปลี่ยนแปลงและสร้างชีวิตของเราขึ้นใหม่ และเป็นกำลังของเราแต่ละคนที่จะดำเนินชีวิตที่เสริมหนุน เกื้อกูล และ ร่วมประสานงานกับคริสเตียนอื่นๆ ในชุมชนพระวรกายของพระคริสต์ ทั้งนี้ด้วยพระวิญญาณองค์เดียวกัน

แต่ถ้าคริสตจักรเกิดแตกเป็นพรรคเป็นพวก คริสตจักรเกิดการแก่งแย่งแข่งขันความยิ่งใหญ่ หรือคริสตจักรต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างอยู่ คริสตจักรที่ว่านี้อยู่ภายใต้การทรงสร้างใหม่ขององค์พระวิญญาณองค์เดียวกันหรือไม่? คริสเตียนแต่ละคนในชุมชนนี้มีพระวิญญาณองค์เดียวกันหรือไม่ในชีวิตที่ทำให้เขาเติบโตขึ้นเป็น “ผู้ใหญ่ในพระคริสต์” และมีกำลังที่จะทำตามพระประสงค์หรือไม่? หรือ คริสเตียนและคริสตจักรในทุกวันนี้ต่างมีพระวิญญาณคนละองค์ไปแล้ว? หรือเราถูกครอบงำด้วย “จิตวิญญาณองค์อื่น”?

ความเป็นเอกภาพและการรับใช้ของคริสเตียนและคริสตจักรนั้น ทำงานและเกิดผลด้วยการทรงกระทำกิจขององค์พระวิญญาณ มิใช่ด้วยความคิดที่กว้างไกล ปัญญาที่แหลมคม ความสามารถและความชาญฉลาดของคริสเตียนคนใดคนหนึ่ง หรือ หลายคน ไม่ใช่เพราะเรามีทุน ทรัพย์สิน เงินทอง ไม่ใช่เพราะเรากล้าเลือกกล้าตัดสินใจ ไม่ใช่เพราะเรามีความมั่นใจ ไม่ใช่เพราะเรา...ฯลฯ... แต่เพราะพระวิญญาณทรงกระทำงานของพระองค์ภายในตัวเรา ภายในชุมชนคริสตจักร และทรงกระทำพระราชกิจตามพระประสงค์ของพระองค์ผ่านคริสเตียนและคริสตจักรที่ยอมจะ “ดำตัวลง...” “มุดลงใน...” หรือ “ฝังตัวเองใต้พระวิญญาณของพระเจ้า แล้วพร้อมที่จะ “ดื่ม” พระวิญญาณของพระเจ้าให้อยู่ในชีวิตของเรา กระทำกิจตามพระประสงค์ในชีวิตของเรา แล้วทำพระราชกิจผ่านชีวิตของเรา ด้วยการทรงกระทำพระราชกิจขององค์พระวิญญาณองค์เดียวนี้ที่ทำงานในทุกคน ทั่วคนทั้งปวงในชุมชนคริสตจักร ที่เป็นเหตุให้เกิดเอกภาพและเกิดการรับใช้อย่างเป็นเอกภาพในคริสตจักรของพระเยซูคริสต์ ทั้งนี้เพราะ คริสเตียนแต่ละคนและชุมชนคริสตจักรต่างมีเป้าหมายเดียวกัน พระเยซูคริสต์ และทุกคนใช้ของประทานที่มีหลากหลายในแต่ละคนในการกระทำกิจอย่างประสาน สอดคล้อง และเสริมหนุนกันตามพระประสงค์และน้ำพระทัยของพระเจ้า

16 กันยายน 2553

คำอธิษฐานของเซนต์ฟรานซิสแห่งอาซิซี

องค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดสร้างข้าพระองค์เป็นเครื่องมือแห่งสันติของพระองค์…

ในปฐมกาล แผนการแห่งการทรงสร้างของพระเจ้านั้น
ให้ชายและหญิงอยู่ด้วยกัน ด้วยความรักประสานกลมกลืนกัน
ทั้งกับสรรพสิ่งและสรรพสัตว์ และ กับองค์พระผู้สร้าง (ปฐมกาล 2:18-25)

ด้วยความรักที่ถ่อม ด้วยสัจจะและจริงใจ ด้วยความอดทนเพื่อสันติ
เซนต์ฟรานซิส แห่ง อาซิซี ได้สำแดงถึงพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับมนุษยชาติ

ที่ใดมีความเกลียดชัง ให้ข้าฯหว่านความรัก
ที่ใดมีความสงสัย ให้ข้าฯหว่านความเชื่อ
ที่ใดมีความมุ่งร้ายทำลายกัน ให้ข้าฯหว่านการยกโทษ
ที่ใดมีความบาดหมาง ให้ข้าฯหว่านความสมานฉันท์
ที่ใดมีความเข้าใจผิด ให้ข้าฯหว่านความจริง
ที่ใดมีความสิ้นหวังท้อแท้ ให้ข้าฯหว่านความหวัง
ที่ใดมีความทุกข์โศกเศร้า ให้ข้าฯหว่านความชื่นชมยินดี
ที่ใดที่มีแต่ความมืดมิด ให้ข้าฯหว่านความสว่าง

เมื่อแผนการของพระเจ้าถูกอำนาจชั่วร้ายบดขยี้
พระเจ้าทรงส่งพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์ให้นำเอาความรักเมตตาและศานติ
ในการสรรสร้างความกลมกลืนหนึ่งเดียวขึ้นใหม่
“เพื่อรวบรวมลูกทั้งหลายของพระองค์ที่กระจัดกระจายให้เป็นพวกเดียวกัน (ยอห์น 11:52)

เซนต์ ฟรานซิส แห่ง อาซิซี ได้ทำให้พระประสงค์ของพระเจ้าเป็นรูปธรรม
เขาได้กล่าวกับคนในชุมชนที่เขาทำพันธกิจว่า
“พี่น้องทั้งหลาย
เราได้รับการทรงเรียกให้เป็นผู้เยียวยาบาดแผล
ประสานสิ่งที่ร้าวแตกให้เข้ากันใหม่ และ นำคนที่หลงทางกลับบ้าน”

ข้าแต่พระอาจารย์
อย่าให้ข้าฯแสวงหาการประเล้าประโลมใจ แต่ประเล้าประโลมใจผู้อื่น
อย่าให้ข้าฯแสวงหาความเข้าใจจากคนอื่น แต่เข้าใจผู้อื่น
มิใช่แสวงหาความรัก แต่รักคนอื่น
เพราะด้วยการให้ ข้าฯจึงได้รับ
ด้วยการเสียสละ ข้าฯจึงได้รับอย่างแท้จริง
ด้วยการยกโทษ ข้าฯจึงได้รับการยกโทษ
และในความตายนั้นเอง ที่ข้าฯได้บังเกิดใหม่ในชีวิตนิรันดร์

จะเป็นเช่นไรถ้าเราจะเอาจริงเอาจังกับคำสอนของพระองค์
อะไรจะเกิดขึ้นถ้าเราให้การสร้างสันติเป็นแกนกลางในชีวิตของเรา
เราจะทุ่มเทชีวิตของเราเพื่อการเยียวยารักษาและสร้างการคืนดีได้ไหม
เราทุกคนย่อมมีความสามารถที่จะมีชีวิตเรียบง่าย,
ที่จะนำความรักของเราออกไปด้วยวิธีการธรรมดา,
สร้างเอกภาพ, สันติและการคืนดี ในความสัมพันธ์ของพวกเรา

ฟรานซิส ต้องการเพียงที่จะสำแดงให้คำสอนขององค์พระเยซูคริสต์ให้เป็นรูปธรรม
“บุคคลผู้ใดรักสันติผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าพระเจ้าทรงเรียกเขาว่าเป็นบุตร”

ด้วยชีวิตของฟรานซิส
“เราได้รับการทรงเรียกให้เย็บชุนบาดแผล,
เชื่อมประสานความร้าวแตกกระจาย, และนำผู้หลงทางกลับสู่บ้าน”

14 กันยายน 2553

มิตรภาพบนเส้นทางแห่งชีวิตประจำวัน

อ่านพระธรรม มัทธิว 24:13-18, 27-33
พระวาทะได้ทรงบังเกิดเป็นมนุษย์และทรงอยู่ท่ามกลางเรา
บริบูรณ์ด้วยพระคุณและความจริง... ยอห์น 1:14

วันนี้ใครบ้างเดินร่วมไปกับท่านบนเส้นทางแห่งชีวิตประจำวัน?
องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงพร้อมและประสงค์จะเดินทางไปบนเส้นทางชีวิตประจำวันของท่าน
ดั่งที่พระองค์เคยร่วมเดินไปบนเส้นทางชีวิตของบุคคลต่างๆ ในกาลเวลาที่ผ่านมา
พระองค์เดินร่วมทางชีวิตกับอับราฮาม อิสอัค และยาโคบ
พระองค์ทรงร่วมบนเส้นทางความพ่ายแพ้ของโมเสส และสำแดงพระองค์ในพุ่มไม้ไฟ
พระองค์ทรงร่วมบนเส้นทางในถิ่นทุรกันดาร 40 ปีกับอิสราเอล
พระองค์ทรงร่วมทางในการเลี้ยงฝูงแกะกับดาวิด ที่ทำให้เขาเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของอิสราเอล
พระเยซูคริสต์ทรงร่วมทางชีวิตกับสาวก ผู้คนที่ติดตามพระองค์

พระองค์เดินเข้าในเส้นทางชีวิตของคนเก็บภาษีที่ผู้คนเหยียดหยาม ไม่คบหา
พระองค์เดินเข้าในเส้นทางชีวิตของหญิงโสเภณีที่ฟาริสีคิดว่าควรเอาหินขว้างให้ตาย
พระองค์เดินเข้าในเส้นทางชีวิตของคนโรคเรื้อนที่ผู้คนขจัดออกจากการมีส่วนในสังคม
พระองค์เดินเข้าในเส้นทางชีวิตของชายสองคนที่เดินไปบนเส้นทาง “เอมมาอูส” ด้วยความสงสัย สับสน ท้อแท้ และวุ่นวายใจ
พระองค์เดินเข้าในเส้นทางชีวิตของฟาริสีคนหนึ่งที่ดูเคร่งครัด เผด็จการ ชอบใช้ความรุนแรง บนเส้นทาง “ดามัสกัส” ที่เต็มด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ ต้องการทำร้ายทำลาย
พระองค์ประสงค์เดินเข้าในเส้นทางชีวิตประจำวันของท่าน

องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นสหายของท่าน
ผู้ประสงค์ร่วมเดินทางบนวิถีชีวิตมืดมน สับสน และ น่าเบื่อหน่าย และชื่นชมยินดีของท่าน
พระองค์จะไม่ให้ความมืด คลุมเครือ และหวาดกลัวมาครอบงำและทำลายชีวิตที่จะต้องเดินไป
พระองค์จะปรับเปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นให้กลับกลายเป็นสิ่งเสริมสร้างชีวิตท่าน และเกิดผลเพื่อผู้อื่น
แม้ทางแห่งชีวิตในโลกนี้ไม่ว่าเป็นทางสามัญธรรมดาที่พบทุกเมื่อเชื่อวัน หรือหนทางชีวิตที่เหนื่อยอ่อนท้อแท้ หรือเป็นทางชีวิตที่สูงชัน
แต่ถ้าองค์พระผู้เป็นเจ้าได้เติมความรักและมิตรภาพลงไปในการเดินบนเส้นทางนั้น ก็จะปรับเปลี่ยนการเดินทางให้เป็นทางที่นำไปสู่แผ่นดินของพระเจ้า

ขอให้มิตรภาพจากเบื้องบนได้โอบกอดความคิดและจิตใจของท่านให้เกิดความสงบนิ่ง
ให้ชีวิตของท่านได้รับการผ่อนพักจากความท้อแท้ หมดแรง จากอารมณ์ที่หงุดหงิดและฉุนเฉียว
และเมื่อท่านแสวงหาที่หลบซ่อนและพักพิงในพระองค์
ให้ชีวิตของท่านได้เกิดความสงบศานติท่ามกลางความขัดข้องว้าวุ่นบนทางหลวงแห่งชีวิตในโลกนี้ที่พลุกพล่านและเร่งรีบ

ท่านเคยรู้ถึงการอัศจรรย์แห่งมิตรภาพที่ท่านสามารถผูกสัมพันธ์กับองค์พระผู้เป็นเจ้าหรือไม่?
ท่านเคยคิดไหมว่า การที่เรากล้าอยู่ต่อพระพักตร์พระเจ้าแห่งโลกนี้มีความหมายว่าเช่นใด?
แม้ผู้ที่จะเข้าเฝ้ากษัตริย์จะเป็นแขกที่มีอภิสิทธิ์แค่ไหนก็ตาม ก่อนจะเข้าเฝ้าเขาต้องได้รับการ อนุญาตจากเจ้าหน้าที่พระราชวัง และจะต้องเข้าเฝ้ากษัตริย์ในเวลาที่พระองค์ทรงโปรดเท่านั้น

แต่สำหรับองค์พระผู้เป็นเจ้าแล้ว
พระองค์ให้โอกาสแก่ทุกคนที่ต้องการเข้ามาหาพระองค์ตามความปรารถนาของเขา
ยิ่งกว่านั้น เขายังมีโอกาสที่จะอยู่เคียงข้างองค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อนมัสการพระองค์ และ
องค์พระผู้เป็นเจ้าจะอยู่กับเขาในที่ที่เขาอยู่

ความรักขององค์พระผู้เป็นเจ้าทำอะไรได้มากกว่านี้หรือไม่?
เพื่อนสนิทชิดเชื้อในโลกนี้ของท่านไม่สามารถอยู่กับท่านได้ตลอดเวลาเสมอไป
แต่องค์พระผู้เป็นเจ้าของท่าน เจ้านายแห่งชีวิตของท่านอยู่กับท่านเสมอตลอดเวลา

เมื่อมนุษย์ต้องการนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้า
เขาคิดถึงโลกที่พระองค์ครอบครอง
เขาคิดถึงสรรพสิ่งที่พระองค์ได้สร้าง และ
เขาคิดถึงกฎระเบียบแห่งธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ แล้ว
เขาก็รู้สึกถึงความน่าเกรงขามในการนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้า

แต่สำหรับท่านแล้วพระองค์บอกว่า
ท่านไม่ควรรู้สึกถึงความน่าเกรงขามในการเข้ามานมัสการพระองค์ด้วยความประหลาดและอัศจรรย์ใจดังกล่าวเท่านั้น
แต่ท่านควรระลึกถึงพลัง ความอ่อนน้อม สุภาพ ท่าทีที่ถ่อมในความสัมพันธ์และมิตรภาพที่พระองค์มีต่อท่าน
ในแต่ละวันที่ท่านเข้าเฝ้าพระองค์จงระลึกถึงสิ่งเล็กสิ่งน้อยที่พระองค์กระทำในชีวิตประจำวันของท่าน

13 กันยายน 2553

พระเจ้าทรงเรียก

เมื่อพระเจ้าทรงเรียก พระองค์ทรงเรียกทุกอย่างที่เราเป็น และทุกอย่างที่เราทำ

ครั้งหนึ่ง ได้มีชายคนหนึ่งมาถามมาร์ติน ลูเธอร์ว่า เขาจะรับใช้พระเจ้าได้อย่างไร
มาร์ติน ลูเธอร์ ถามเขาว่า “ท่านทำงานอะไรอยู่ในตอนนี้?”
ชายนั้นตอบว่า “ผมเป็นช่างทำรองเท้าครับ”
ชายคนนั้นแปลกใจกับคำตอบที่เขาได้รับจากลูเธอร์ว่า “ถ้าเช่นนั้นท่านจงทำรองเท้าที่มีคุณภาพ และมีราคาที่เป็นธรรม”
ลูเธอร์ไม่ได้บอกชายคนนั้นว่า “ให้ทำรองเท้าคริสเตียน” และก็ไม่ได้บอกเขาว่า “เลิกทำรองเท้าแล้วออกมาเป็น “คนรับใช้ของพระเจ้า””

ในฐานะคริสเตียน เราสามารถรับใช้พระเจ้าในอาชีพการงานที่หลากหลาย
เราไม่ได้มีเส้นขีดแบ่งว่าอาชีพการงานใดที่เป็นงานรับใช้และงานใดที่ไม่รับใช้พระเจ้า หรือ
เราก็ไม่ได้แบ่งว่า อาชีพการงานใดเป็นงานฝ่ายจิตวิญญาณ อาชีพใดที่มีคุณค่า หรือ ด้อยค่า
แต่เมื่อพระเจ้าทรงเรียกเราในอาชีพการงานใด เราจะกระทำงานการงานนั้นด้วยอย่างเต็มใจและเต็มกำลัง
เพื่อการทำงานนั้นทำให้พระเจ้าได้รับเกียรติและการสรรเสริญ
การทำงานตามการทรงเรียก คือการทำงานที่มีแรงกระตุ้นจูงใจ เป้าหมาย และมีคุณภาพมาตรฐานเพื่อพระเจ้าได้รับการสรรเสริญจากการทำงานของเรา

ภายนอก อาชีพการงานของคริสเตียน และ ผู้ไม่ได้เป็นคริสเตียนอาจจะดูไม่เห็นความแตกต่าง
กล่าวคือ อาจจะมีอาชีพที่เหมือนกัน คนกวาดถนน ครู-อาจารย์ พยาบาล นักคอมพิวเตอร์ ฯลฯ
แต่สิ่งที่ชัดเจนคือ แรงจูงใจ เป้าหมาย ของการทำงานที่จะไม่เหมือนกัน และ
นี่เป็นพลังที่ทำให้เกิดความแตกต่างของงานที่ทำและผลที่เกิดขึ้นกับคนต่างๆ ที่ได้รับผลจากงานที่ทำนั้น

การทำงานของคริสเตียนที่ได้รับการทรงเรียกจากพระเจ้า
เขามีแรงกระตุ้นจูงใจที่ชัดเจนว่า เขามิได้ทำอาชีพการงานเพื่อตนเองจะอยู่รอด ได้เกียรติ ผลประโยชน์ส่วนตัว หรือเพื่อผลประโยชน์ด้านจิตวิญญาณของตนเองเท่านั้น
เมื่อเราได้รับการทรงเรียก การงานที่เราทำนั้นไม่สามารถแยกตนเองออกออกจากประชาชน สถานการณ์ของโลก หรือสิ่งที่กำลังเป็นไปในโลกนี้
เมื่อเราได้รับการทรงเรียก เราอาจจะกระทำการงานด้วยตระหนักสำนึกทั้งความคิดและจิตวิญญาณของเราที่ชัดแจ้งแตกต่างจากเดิม แต่มิใช่การแยกตัวออกจากโลกนี้
เมื่อเราได้รับการทรงเรียก พระคริสต์ประสงค์ครอบครองทุกตารางนิ้วในชีวิตของเรา ครอบครองทุกส่วนทั้งสิ้นในชีวิต จนเราไม่สามารถอ้างว่า ส่วนนี้เป็นชีวิตส่วนตัวของฉัน

แต่บ่อยครั้งนัก ที่ผู้นำคริสตจักรขีดเส้นให้ “การทรงเรียก” คับแคบลงอย่างเห็นได้ชัด
เราจำกัด “การทรงเรียก” เพียงงานรับใช้ในคริสตจักร ไม่ว่าการดูแลเด็กรวีฯ, ครูคริสเตียนศึกษา, การทำความสะอาดโบสถ์, การนำนมัสการ, การสอนเพลงสอนพระคัมภีร์, การเทศนา, การอภิบาล
คริสตจักร หรือ ผู้นำคริสตจักรต้องช่วยให้ผู้เชื่อในชุมชนของตนเข้าใจและมองเห็นการทรงเรียกของพระเจ้าที่กว้างไกลกว่านี้ มิใช่ย่นย่อ ลดขอบเขตการรับใช้พระเจ้าด้วยของประทานฝ่ายจิตวิญญาณในชุมชนคริสตจักรเท่านั้น
ที่ผ่านมา คริสตจักร “สอบตก” ที่จะช่วยให้สมาชิกเข้าใจและมองเห็นว่า การทรงเรียกของพระเจ้านั้น พระองค์ประสงค์ทั้งชีวิตของเขา ทุกสิ่งในชีวิตของเขา และทุกการงานที่เขากระทำงานในชีวิต ที่จะกระทำทั้งในชุมชนคริสตจักร และท่ามกลางชีวิตประชาชนในสังคมอีกด้วย

น่าสังเกตว่า ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่มีผู้มาเป็นคริสเตียนจำนวนเพิ่มมากขึ้น มีคริสเตียนในหลายอาชีพการงานที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นศิลปินในแขนงต่างๆ แพทย์ นักกฎหมาย นักธุรกิจ เจ้าของกิจการขนาดใหญ่ ฯลฯ แต่น่าสังเกตว่า ชีวิตของคริสตจักรไม่มีพลังหรือผลกระทบต่อชีวิตของสังคมโลก มีผู้ให้เหตุผลว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะคริสเตียนในยุคนี้มิได้อยู่ในที่ที่พวกเขาควรจะอยู่

การทรงเรียก คือการที่พระเจ้าทรงเรียกเราแต่ละคนเพื่อพระประสงค์ของพระองค์ พระองค์ประสงค์ที่จะใช้ทุกอย่างที่เราเป็น ทุกงานที่เราทำ แล้วทุ่มเททุกอย่างทั้งชีวิตนี้ถวายแด่พระองค์ด้วยการขับเคลื่อนไปสู่เป้าประสงค์ของพระองค์ แต่เมื่อคริสเตียนจำกัดลดทอนการทรงเรียกของพระเจ้าเหลือแค่งานในชุมชนคริสตจักร คริสตจักรจึงขาดการเสริมสร้างสมาชิกของตนที่จะประยุกต์สำแดงความเชื่อศรัทธาของตนในทุกอย่างที่ทำ และในทุกที่ที่เขาอยู่

เพราะพระเจ้าทรงสร้างประชาชน สถานที่แห่งหนต่างๆ และสรรพสิ่งต่างๆ แต่เพราะอำนาจแห่งความชั่วร้ายที่เข้ามาทำให้คนและสรรพสิ่งที่ทรงสร้างต้องตกอยู่ใน “กงเล็บ” ของมาร พระเจ้ามีพระประสงค์ในการกอบกู้ประชาชนและวิถีการดำเนินชีวิตของเขาโดยทางพระคริสต์
พระองค์มิได้มีพระประสงค์จะกอบกู้สภาพสิ่งแวดล้อมให้กลับสู่สภาพเดิมแห่งการทรงสร้างเท่านั้น แต่พระองค์ประสงค์กอบกู้นักสิ่งแวดล้อมด้วย
พระองค์มิได้มีพระประสงค์เพียงแค่กอบกู้นักกฎหมายเท่านั้น แต่พระองค์ประสงค์จะกอบกู้กฎหมายที่ใช้ในสังคมโลกให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์ด้วย
พระองค์มิได้มีพระประสงค์เพียงแค่กอบกู้นักการเมืองเท่านั้น แต่พระองค์ประสงค์จะกอบกู้ระบบการเมืองที่เสริมสร้างสันติสุขตามพระประสงค์ของพระองค์
พระองค์มิได้มีพระประสงค์จะกอบกู้ผู้คนในคณะรัฐบาลเท่านั้น แต่พระองค์มีพระประสงค์กอบกู้ระบบการปกครองที่มีศานตินิรันดร์ตามพระประสงค์ของพระองค์
(กรุณาอ่าน อิสยาห์ 9:6-7)

เปาโลกล่าวว่า
20ให้ทุกคนอยู่ในฐานะที่เขาอยู่ เมื่อพระเจ้าทรงเรียกนั้น... 24ดูก่อนพี่น้องทั้งหลาย ท่านทุกคนดำรงอยู่ในฐานะอันใดเมื่อพระเจ้าทรงเรียก ก็ให้ผู้นั้นอยู่กับพระเจ้าในฐานะนั้น (1โครินธ์ 7:20, 24)

เมื่อเราทำเช่นว่านี้ เราก็จะเป็นเครื่องมือของพระองค์ที่จะทำให้บรรลุในการปฏิรูปสังคมนี้ตามที่พระองค์ทรงมอบหมาย เพื่อให้เป็นสังคมที่น่าอยู่ ชื่นชม เพื่อพระสิริของพระองค์

ดังนั้น
พระเจ้าทรงเรียกศิษยาภิบาลและผู้นำคริสตจักร เพื่อสอนและเสริมสร้างคนในคริสตจักรที่จะเรียนรู้ เข้าใจ ว่าแต่ละคนจะมีประสิทธิภาพในการกระทำภารกิจการงานตามการทรงเรียกของพระเจ้าในสังคมโลก ด้วยทั้งชีวิตที่เขาเป็น และทุกอย่างที่เขาทำ เพื่อถวายพระเกียรติแด่พระองค์

นี่คือการทรงเรียก

08 กันยายน 2553

บทใคร่ครวญจากการ์ตูน

ถึงป๊าและม้าที่รักและคิดถึง…

วันนี้หวานเคลียร์งานเสร็จเร็วเลยมีเวลาว่างนั่งพิมพ์จดหมายถึงป๊าและม้า ประจวบเหมาะกับมีเรื่องราวที่อยากจะแบ่งปันความสุขและบทเรียนดีๆ ที่พึ่งได้เรียนรู้มาค่ะ

ช่วงบ่ายสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสดูการ์ตูนเรื่อง “กังฟูแพนด้า” ไม่รู้ว่าป๊ากับม้าจะเคยได้ยินมาบ้างหรือเปล่า ตอนแรกก็คิดว่าเป็นการ์ตูนต่อสู้ ดูสนุกๆ แต่พอได้ดูจริงๆ แล้วการ์ตูนเรื่องนี้แฝงแง่คิดไว้มากทีเดียวค่ะ ที่สำคัญทำให้หวานระลึกถึงข้อพระคัมภีร์ที่เคยอ่านมา...

ก่อนที่จะบอกถึงบทเรียนที่ได้รับ ขอเล่าเรื่องราวย่อๆ ของการ์ตูนเรื่องนี้ก่อนนะคะ (ยังอาจถ่ายทอดออกมายังไม่ดีนักเพราะดูแค่รอบเดียวอยู่ค่ะ)

“โป” แพนด้าหนุ่มอาศัยอยู่กับพ่อซึ่งทำมาหากินด้วยการขายก๋วยเตี๋ยว โดยใช้สูตรปรุงน้ำซุปก๋วยเตี๋ยวของพ่อ โปมีความชื่นชอบกังฟู หรือนักรบแห่งแดนมังกรเป็นพิเศษ เขาสามารถจดจำเรื่องราว ภาพวาด แม้แต่สิ่งของเล็กน้อยที่เกี่ยวข้องกับกังฟูได้ จนกระทั่งวันหนึ่ง...มีการคัดเลือกนักรบแห่งแดนมังกร เพื่อเปิดคัมภีร์เคล็ดวิชาและต่อสู้กับ “ไท่หลาง” เสือดาวผู้เหี้ยมโหดและชั่วร้าย ซึ่งมี “อาจารย์อูเกว่ย” ปรมาจารย์เต่าสุดยอดกังฟูเป็นผู้คัดเลือก โป อยากเข้าไปดูการคัดเลือกมาก แต่ด้วยร่างกายที่อุ้ยอ้าย จึงทำให้การปีนบันไดขึ้นไปดูการคัดเลือกเป็นไปอย่างยากลำบาก กว่าจะไปถึงประตูทางเข้าก็ปิดเสียแล้ว โปจึงต้องพยายามทุกวิถีทางทั้งปีนกำแพง ปีนต้นไม้ “จุดพลุที่เก้าอี้” เพื่อให้ได้ชื่นชมกับ “นักรบแห่งแดนมังกร” ในขณะที่โปกำลังพยายามอยู่นั้น อูเกว่ยได้ประกาศกับสัตว์ที่มาชุมนุมรอดูว่า นักรบแห่งแดนมังกรของเราเข้าใกล้มาแล้ว ทำให้ “ฉีฟู่” ลูกศิษย์คนสนิทเกิดความสงสัยว่า แพนด้า สัตว์ที่ดูแล้วไม่มีความสามารถด้านกังฟูจะสามารถเป็นนักรบแห่งแดนมังกรได้ อีกทั้งตนก็ได้ฝึกลูกศิษย์ทั้ง 4 ได้แก่ เจ้านกกระเรียน เสือ งูและลิงไว้แล้ว (สัตว์ทั้ง 4ประเภทนี้ ชาวจีนมีความเชื่อว่าเป็นสุดยอดของกังฟู) และเหมือนฟ้าบันดาล โปตกลงมาจาก “เก้าอี้ที่จุดพลุ” มานั่งตรงที่ๆ เป็นของนักรบแห่งแดนมังกร และเรื่องราวของการผจญภัยและการฝึกเป็นนักรบแห่งแดนมังกรก็ได้เริ่มต้นขึ้น จนโปสามารถต่อสู้กับไท่หลางผู้โหดเหี้ยมและชั่วร้าย โดยมีอาจารย์ฉีฟู่และเพื่อนทั้ง 4 คอยช่วยเหลือ นำความสงบสุขมาสู่ชาวบ้านในที่สุด

มาถึงข้อคิดที่ได้จากการดูการ์ตูนเรื่องนี้กันค่ะ

ความประทับใจที่สุดคงจะอยู่ที่ “อาจารย์อูเกว่ย” ที่ได้พูดกระตุ้นต่อมคิด เริ่มจากการเตือน
ฉีฟู่ที่สงสัยในตัวโป ว่า ไม่มีความบังเอิญใดในโลกนี้ มีการกำหนดหน้าที่หรือภารกิจสำหรับสิ่งๆ หนึ่งไว้แล้ว ทำให้นึกถึงข้อพระคัมภีร์ที่บอกว่า สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเรา ไม่มีสิ่งใดที่เป็นความบังเอิญ พระเจ้าได้อนุญาตให้บางสิ่งเกิดขึ้นกับเราเพราะทรงรู้ดีว่า เรามีความเหมาะสมและมีความสามารถพอที่จะรับมือกับภารกิจที่ทรงมอบให้ได้

การที่จะเป็นนักรบแห่งแดนมังกรได้นั้น คงไม่ใช่เกิดมาแล้วก็เก่งเลย แต่ต้องมีการฝึกฝนอย่างหนักมาก่อน อูเกว่ยได้สอนฉีฟู่เกี่ยวกับการบ่มเพาะฝึกฝนลูกศิษย์ว่า “จริงอยู่ที่เมล็ดท้อ ไม่ว่าเจ้าจะเอาไปปลูกที่ใด เมื่อมันงอกขึ้นมามันก็ออกลูกเป็นผลท้อวันยังค่ำ ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นลูกแอปเปิลได้ แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าเจ้าจะดูแล รดน้ำใส่ปุ๋ยให้มันเติบโตเป็นต้นท้อที่แข็งแรง ออกดอกออกผลเป็นท้อที่มีความสมบูรณ์ได้อย่างไร” และต้องมีความเชื่อศรัทธาในตัวคนนั้นๆ คำพูดของอูเกว่ยทำให้ย้อนกลับไปคิดถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาในหลายๆ ครั้งว่า คนเรามักจะตัดสินคนจากมุมมองที่เรารับรู้ว่า นักรบหรือคนเก่งจะต้องเฉลียวฉลาด ร่างกายแข็งแรงกำยำ แต่สำหรับพระเจ้าแล้วพระองค์ทรงเห็นคุณค่าและได้มอบตะลันต์ให้แต่ละคนโดยเฉพาะไว้แล้ว หน้าที่ของเราคือ เชื่อศรัทธาพระเจ้าที่สถิตอยู่ในตัวเราและผู้อื่น ค้นหาตะลันต์ที่อยู่ภายในตัวเราและใช้มัน รวมทั้งช่วยผู้อื่นให้เขาได้ใช้ตะลันต์ที่มีอยู่ในตัวเขาเช่นกัน คนชายขอบหรือคนปลายแถว พระเจ้าทรงรักและมองเห็นความสามารถในตัวเขาเหล่านั้น

ความประทับใจอีกข้อหนึ่ง คือตอนที่ โปเปิดคัมภีร์ออกมาแล้วไม่เจอสุดยอดวิชาใดๆ พบแต่ความว่างเปล่า หาคำตอบไม่ได้ ระหว่างนั้นโปได้มีโอกาสพบพ่อ จึงถามพ่อเกี่ยวกับสูตรลับที่ทำให้น้ำซุปก๋วยเตี๋ยวอร่อย คำตอบของพ่อมีเพียงว่า “ไม่มีสูตรลับใดๆ แค่เราเชื่อว่ามันเป็นสูตรพิเศษ มันก็เป็นน้ำซุปก๋วยเตี๋ยวสูตรพิเศษแล้ว” จึงทำให้โปเชื่อมโยงกับเคล็ดวิชาในคัมภีร์ว่า คำตอบของเคล็ดวิชาคือ ตัวเรานั้นเองที่คือสุดยอดของวิชาทั้งปวง พระเจ้าทรงเห็นว่าทุกคนล้วนเป็นคนที่พิเศษสำหรับพระองค์ และทรงอยากให้เรารับรู้เช่นนั้น และ ใช้สิ่งพิเศษที่ประทานมาในแต่ละคนตามพระประสงค์ ด้วย หากเราเชื่อมั่นเช่นนี้ เราจะมีพลังในการทำสิ่งต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ได้มากมาย

สุดท้ายนี้ป๊าอ่านแล้วอยากเพิ่มความคิดเห็นอะไรก็เขียนมาได้เลยนะคะ และต้องขอบคุณป๊ากับม้าที่เป็นผู้รดน้ำพรวนดินเมล็ดพันธุ์เมล็ดนี้ให้ได้รู้จักและอยู่ในพระคุณของพระเจ้า มันเป็นความรู้สึกที่พิเศษมากค่ะ...

พระเจ้าดูแลนะคะ
ลูกไข่หวาน