18 มกราคม 2562

เสียงร้องจากก้นบึ้งแห่งชีวิต


ท่านเคยร้องทูลต่อพระเจ้า  เมื่อชีวิตต้องตกลงใน “ห้วงลึก” แห่งความสิ้นหวัง เจ็บปวด ทุกข์ยากลำบาก  สับสนว้าวุ่นหรือไม่?

อะไรที่ช่วยท่านอธิษฐานทูลขอต่อพระเจ้าจาก “ก้นบึ้ง” แห่งจิตใจ  ในเวลาที่สิ้นหวัง หมดกำลังใจเช่นนั้น?

1... ข้าพระองค์ร้องทูลพระองค์จากห้วงลึก 2... ขอทรงสดับฟังเสียงของข้าพระองค์  ขอทรงเงี่ยพระกรรณ(หู)รับฟังคำทูลวิงวอนขอความเมตตาของข้าพระองค์ด้วยเถิด  
(สดุดี 130:1-2 อมธ.)

เสียงร้องทูลของผู้เขียนสดุดี 130  เป็นเสียงร้องต่อพระเจ้าจาก “ห้วงลึก” (หรือ ก้นบึ้ง)แห่งชีวิตของผู้ที่กำลังตกลงในสภาพชีวิตที่ถูกถาโถม ครอบงำให้จมลงในสภาพชีวิตที่ทุกข์ยากลำบาก  เจ็บปวด  ว้าวุ่น  ท้อแท้ และสิ้นหวัง

แท้จริงแล้ว  มิใช่เป็นแต่เพียงเสียงร้องของผู้เขียนสดุดี 130 เท่านั้น  เราท่านปัจจุบันต่างก็เคยพบประสบกับสถานการชีวิตที่ตกลงใน “ห้วงลึก” เช่นกัน   และในสถานการณ์ชีวิตเช่นนั้น   เราก็ร้องทูลต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า  ดังก้องประสานเสียงร้องไปกับผู้เขียนสดุดี 130 เช่นกัน

คำว่า “ห้วงลึก” ตามตัวอักษร ในที่นี้มุ่งหมายถึง ที่ลึกลงไปในท้องทะเล  เช่นในอิสยาห์ 51:10 “ไม่ใช่พระองค์หรือที่ทำให้ทะเลแห้งเหือด?   คือทำให้ ห้วงสมุทรอันลึก แห้งไป   ผู้ทรงทำทางไว้ในทะเลลึก   เพื่อผู้ที่พระองค์ทรงไถ่ไว้จะข้ามฟากไปได้”  

แต่ถ้าเป็นการพูดแบบเปรียบเทียบ ในที่นี้ “ห้วงลึก” นี้อาจจะหมายถึง “ห้วงลึก” ในชีวิตจิตใจของมนุษย์เรา หมายถึงส่วนลึกลงไปที่เป็นรากฐานชีวิตของเรา ที่กำลังปั่นป่วน ถูกรื้อทำลาย หรือกระทำให้ล้มครืนลง กระทบต่อความมั่นคงอยู่รอดในชีวิตของเรา และยังสามารถมุ่งหมายถึง “ส่วนลึกในจิตใจของเรา” ที่กำลังมีสภาพที่ปั่นป่วน สับสน วุ่นวาย เจ็บปวด ทุกข์ยากสาหัส  อ่อนแรง ห่อเหี่ยว จนตรอกหาทางออกในชีวิตไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ ตลอดจนคุณค่าและความหมายในชีวิต

สดุดี 130:1-2 เตือนเราถึงความเชื่อที่สำคัญยิ่งยวดในสถานการณ์ชีวิตเช่นนี้ 2 ประการ

ประการแรก  บางครั้งชีวิตของเราจะตกลงในสถานการณ์ “ห้วงลึก” ในชีวิตได้ไม่ว่า ห้วงลึกแห่งความสิ้นหวัง ความสงสัย ชีวิตตกลงในภาวะล่อแหลมร้ายแรง ในเวลาที่เรารู้สึกว่าชีวิตของเรากำลังแตกหัก ฉีกขาดเป็นเสี่ยง ๆ เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย

ประการที่สอง เมื่อชีวิตของเราตกลงใน “ห้วงลึก” ในสภาพที่เลวร้ายอย่างยิ่ง ผู้เขียนสดุดีบทนี้บอกเราว่าให้เราร้องทูลขอต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าจากก้นบึ้งแห่งจิตใจจากสภาพชีวิตที่เรากำลังเผชิญหน้า ไม่ต้องทำทีว่าเรามั่นคง เรายังไว้วางใจพระเจ้า มีชีวิตที่สงบ และก็ไม่จำเป็นที่จะต้องสรรหาคำที่มาอธิษฐานให้ไพเราะ  ใช้ราชาศัพท์อย่างถูกต้อง หรือใช้คำพูดที่ไพเราะสุภาพ แต่ให้เราร้องทูลต่อพระเจ้าออกมาจากก้นบึ้งแห่งจิตใจของเรา จากก้นบึ้งแห่งความรู้สึกที่แท้จริงของเรา รวมไปถึงการที่เราจะคร่ำครวญต่อพระองค์ที่มาจากจิตใจโดยธรรมชาติในตัวเราในเวลานั้น เฉกเช่นผู้เขียนสดุดีได้ทูลขอวิงวอนความเมตตาจากพระเจ้า ด้วยความสำนึกและรู้ว่า พระเมตตาของพระเจ้านั้นสดใหม่ทุกเช้า  และไม่มีสิ่งใดที่จะขวางกั้นแยกถ่างสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างออกไปจากพระองค์ (บทเพลงคร่ำครวญ 3:32-33;  โรม 8:38-39 อมธ.)

ถ้าขณะนี้ชีวิตของท่านตกลงใน “ห้วงลึก” ให้ท่านร้องทูลต่อพระเจ้าจาก “ก้นบึ้ง” อย่างจริงใจตามสภาพที่เป็นจริงในชีวิตของท่านเวลานี้ และถ้าเป็นไปได้  ท่านอาจจะไปหาเพื่อน คนที่ท่านไว้วางใจในพระคริสต์ที่เขาเต็มใจและพร้อมที่จะร่วมร้องทูลขอต่อพระเจ้าเพื่อสถานการณ์ในชีวิตของท่าน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

16 มกราคม 2562

กรอบคิดมาจากไหน?

พ่อ:     วันนี้วันเด็ก   ลูกจะไปไหน?
ลูก:     จะไปโรงเรียน
พ่อ:     ไปทำอะไร?                                           ทำอะไร?
ลูก:     ไปเต้นบนเวที
พ่อ:     เต้นอย่างไง?                                          ทำอย่างไร?
ลูก:     (ลูกเต้นให้พ่อดู)
พ่อ:     แล้วเขาจะให้อะไรลูก?                               เขาจะให้อะไร?
ลูก:     (ทำหน้าเหรอหรา  ไม่รู้จะตอบอย่างไร)
พ่อ:     แล้วลูกจะได้อะไร?                                   ลูกจะได้อะไร?
ลูก:     ???

พ่อไม่รู้หรอกว่า  คำถามของตนนั้นกำลังกำหนดกรอบคิด (หรือวางฐานคิด) ให้กับลูก
กรอบคิดของพ่อคือ...

ต้องรู้ว่าจะทำอะไร?   แล้วต้องรู้ต่อมาว่า ทำอย่างไร? (ต้องทำได้)   ทำแล้วตนจะได้ผลประโยชน์อะไร?  หรือทำแล้วเขาจะให้อะไรแก่ตน?

เมื่อลูกไปร่วมงานวันเด็กแล้ว  ลูกก็ได้ประสบการณ์ตรง  เขาได้ขนมจากครู   ซึ่งเป็นการตอกย้ำคำถามของพ่อว่า  ทำแล้วตนจะต้องได้รับผลประโยชน์อะไร   เป็นสิ่งดี ๆ ที่ตนชอบ   นี่เป็นกรอบคิดของพ่อ   แต่เมื่อพ่อถามลูกอย่างเป็นระบบ   พ่อบางคนอาจจะไม่รู้หรอกว่า  เขากำลังวาง “กรอบคิด” หรือ “หลักคิด” ให้กับลูก

ใช่แล้ว   พ่อกำลังวางกรอบคิดแบบ “ผลประโยชน์นิยม” ลงในตัวลูก  อย่างไม่รู้ตัว และ ไม่ตั้งใจ

แต่เมื่อกระบวนการแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำ ๆ บ่อย ๆ ก็จะทำให้เกิดการก่อตัวกลายเป็นกรอบคิดในตัวลูก

กรอบคิดของพ่อ  เกิดการซึมซับ ถ่ายทอดไปก่อร่างเป็นกรอบคิดของลูก  ที่ทั้งพ่อและลูกไม่รู้ตัว

ณ วันนี้ ท่านมีกรอบคิดอะไร?   กรอบคิดแบบไหน?

ใครบ้างที่มีอิทธิพลทำให้เกิดการก่อตัวของกรอบคิดที่ท่านมีอยู่ในปัจจุบัน?

กรอบคิดของท่านมาจากไหน?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

14 มกราคม 2562

จะหาลูกน้องที่จงรักภักดีได้จากไหน?

ทุกวันนี้ “ผู้นำ” ต่างต้องการ “ลูกน้อง” ที่จงรักภักดีต่อตน!
แล้ว “ผู้นำ” จะได้ลูกน้องที่จงรักภักดีได้อย่างไร? หรือ จากที่ไหน?

15ดาวิดกระหายน้ำและเปรยขึ้นว่า “ถ้ามีใครไปนำน้ำจากบ่อใกล้ประตูเมืองเบธเลเฮมมาให้เราดื่มก็ดี!” 16คน (วีรบุรุษ) ทั้งสามก็ตีฝ่าแนวรบของฟีลิสเตียไปตักน้ำจากบ่อนั้นมาให้ แต่ดาวิดไม่ยอมดื่ม กลับรินลงต่อหน้าองค์พระผู้เป็นเจ้า (2ซามูเอล 23:15-16 อมธ., ในวงเล็บสำนวน มตฐ.)
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพียงเพราะดาวิดเปรยขึ้นเท่านั้น   แต่ทหารวีรบุรุษ 3 คนบังเอิญได้ยินคำเปรยนั้น   ทันทีทั้งสามคนก็ตีฝ่าแนวรบ คมดาบคมหอกของฟิลิสเตียอย่างกล้าหาญเพื่อไปตักเอาน้ำจากบ่อนน้ำใกล้ประตูเมืองเบธเลเฮมมาให้ดาวิด

ความจงรักภักดีอย่างน่าทึ่งนี้มิได้เกิดขึ้นเพราะเป็นบทบาทหน้าที่ที่ทั้ง 3 ต้องทำ  แต่ความจงรักภักดีแบบนี้มาจากแบบอย่างที่ทั้ง 3 ได้เห็น   ที่ดาวิดได้มีชีวิตเป็นแบบอย่างในการที่มีจิตใจรับใช้แบบ “ไมล์ที่สอง” แก่ผู้คนที่อยู่ร่วมกับตนมายาวนานและต่อเนื่อง

เพราะดาวิดมีชีวิตและจิตวิญญาณที่รับใช้ลูกน้องด้วยจงรักภักดีมากกว่าทำตามหน้าที่   เขาจึงมีลูกน้องที่จงรักภักดีด้วยชีวิต

เรายังเห็นพฤติกรรมของดาวิดแสดงออกต่อมาในเรื่องนี้คือ  ดาวิดให้คุณค่าและให้เกียรตินับถือในการเสียสละของทหารวีรบุรุษทั้งสามด้วยการ “ไม่ยอมดื่มน้ำนั้น” แต่กลับรินน้ำนั้นลงต่อหน้าองค์พระผู้เป็นเจ้าและถวายน้ำนั้นแด่พระเจ้า

นี่เองที่ทำให้เห็นได้ชัดถึงคำตอบว่า  ทำไมนักรบมือเอกทั้งสามของดาวิดถึงจงรักภักดีต่อดาวิดด้วยความรักและชีวิตถึงเพียงนี้   เพราะนอกจากดาวิดเป็นผู้นำที่ “รับใช้ลูกน้องมากกว่าหน้าที่” แล้ว   ดาวิดยังให้เกียรติ ให้คุณค่า  และยกย่องเพื่อนร่วมงาน/ลูกน้อง  ทั้งต่อหน้าทุกคนและต่อหน้าองค์พระผู้เป็นเจ้าด้วย   และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ  ดาวิดเป็นผู้นำที่รับใช้ทีมงานที่ “ไม่ยอมให้ตนเอง” เอารัดเอาเปรียบลูกน้องด้วยการ “ตักตวง ดื่มกิน” สิ่งที่ตนเองอยากได้อยากดื่ม

ดาวิดไม่ยอมที่จะ “ฉวยโอกาส” ดื่มกินความเสียสละด้วยชีวิตเลือดเนื้อของเพื่อนร่วมทีมเพื่อความสุขของตนเอง ความยิ่งใหญ่ของตนเอง  แต่กลับยกย่องความจงรักภักดีด้วยการเสี่ยงตายของทหารเอกทั้งสามว่า   เป็นสิ่งที่มีคุณค่าสูงส่ง  ที่ตนไม่คู่ควรจะได้รับ   แต่เป็นสิ่งที่ควรจะถวายแด่พระเจ้า

ในทุกวันนี้  เราจะแสวงหาพบผู้นำแบบนี้ได้ที่ไหนหนอบนแผ่นดินนี้?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499