31 กรกฎาคม 2555

สนามงานสนามรบ


พลวัตร  เดินออกจากห้องประชุมกรรมการอำนวยการด้วยสีหน้าท่าทางที่ เครียด...ซึม...มึน...แค้น 

เสียงของที่ปรึกษากรรมการอำนวยการท่านหนึ่งยังก้องในห้วงคิดของเขาอยู่

“...ท่านพลวัตร   ท่านก็รู้อยู่ว่าการทำเช่นนั้นเป็นการกระทำผิดระเบียบชัดๆ   เหตุผลอื่นที่ท่านอ้างมาก่อนหน้านี้มันฟังไม่ขึ้นเพราะท่านทำผิดระเบียบมาแต่แรก...” 

เสียงในหุบเหวสมองของพลวัตรยังก้องไม่หยุด
“ท่านทำผิดระเบียบ...ท่านทำผิดระเบียบ...ท่านทำผิดระเบียบ...”  

“อ้าย...   มันไม่เข้าใจเลยหรือ...  หรือทำเป็นโง่...   ตูว่ามันต้องการกลั่นแกล้งตูแน่...”  อีกเสียงหนึ่งตอบโต้
“หรือว่ามันต้องการตำแหน่งของตู...   หรือว่ามันมีคนของมัน...” อีกเสียงหนึ่งแทรกเสริมขึ้นในห้วงคิด
“ตูไม่ติดยึดในตำแหน่งโว้ย...   ถ้าอยากได้บอกตรงๆ ไม่ได้หรือวะ... ตูจะใส่พานประเคนให้เลย”

เสียงตอบโต้ เสริมหนุนกึกก้องในห้วงหุบเหวความคิดของพลวัตรตลอดเวลา   แม้เจ้าตัวจะพยายามหาทางจะปิดเสียงเหล่านี้  แต่ก็หา “ปุ่มปิด” ไม่พบ   เสียงเหล่านี้กำลังมีอำนาจและสร้างอิทธิพลเหนือ “ความคิด” ของเขา   และนี่กระมังเป็นที่มาของอาการ “เครียด...ซึม...มึน...แค้น” ของพลวัตร?

ท่านผู้อ่านครับ   นี่มิใช่เหตุเกิดที่ชีวิตของพลวัตรเท่านั้นครับ   แต่นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของท่าน ของผมด้วย  และของทุกคนในยุคสมัยนี้ครับ มันเกิดขึ้นในหุบเหวความคิดของเรา เกิดขึ้นในที่ทำงาน เกิดขึ้นในความสัมพันธ์กับหมู่เพื่อนฝูง เกิดขึ้นในครอบครัว ในแต่ละหน่วยงาน และ สถาบันคริสเตียน  เกิดขึ้นในคริสตจักรท้องถิ่น และทุกคนในคริสตจักร ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นศาสนาจารย์ ศิษยาภิบาล  ผู้ปกครอง  มัคนายก  สมาชิกธรรมดา  หรือใครก็ตามครับ   และเมื่อมันเกิดขึ้น ณ จุดใดก็ตามมันก็จะลามปามเหมือนไฟลามทุ่งเผาให้วอดไปทั้งป่า ดูเหมือนมันต้องการเผาทั้งชีวิตของคนๆ นั้นให้ได้! น่ากลัวมากครับ!

ผมหวนคิดถามตนเองว่า “แล้วเราจัดการกับสถานการณ์เช่นนี้ในชีวิตของตนอย่างไร? ดีกว่านั้น ถ้าเราจะสามารถป้องกัน หรือ เตรียมตัวเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ที่เลวร้ายนี้ล่วงหน้า (ถ้าหากเราหลีกเลี่ยงสถานการณ์นั้นไม่ได้)ได้อย่างไร? 

ปัจจุบันนี้  เมื่อเราเผชิญหน้ากับสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าว เราจะใช้หลักการ กฎระเบียบ  เหตุผล  คณะกรรมการค้นหาตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อใช้ประกอบในการตัดสิน   เราอาจจะใช้วิธีการการเจรจาไกล่เกลี่ย  แต่เบื้องลึกของความขัดแย้งนี้มักซ่อนมีดที่คมกริบไว้ข้างหลังคือ “ความไม่ไว้วางใจกันและกัน” หรือ “อคติที่มองร้ายกัน” หรือ “การมองไม่เห็นสิ่งดีและความสามารถที่พระเจ้าประทานให้คนๆ นั้น”  และที่ร้ายเอาการอยู่ “มองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ตามพระประสงค์ของพระเจ้า”  มองไม่เห็น “พระฉายาของพระเจ้า” ในคนๆ นั้น  

แต่สิ่งที่ผมเห็นว่าสำคัญยิ่งคือ การที่เราจะเข้าใจว่า  อาการเลวร้ายเหล่านี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมมันถึงมีพลังอิทธิพลมากมายถึงปานนี้   วิญญาณแห่งความขัดแย้ง  วิญญาณของการเอาแพ้เอาชนะให้ได้   วิญญาณที่ไม่ยอมรับกันและกัน  วิญญาณของการแบ่งพรรคแบ่งพวก  วิญญาณที่ไม่ไว้วางใจกันมันมาจากไหน? ผมว่า เราจะต้องตอบคำถามเหล่านี้ก่อนว่า วิญญาณ “ติดลบ” เหล่านี้มันเกิดขึ้นเอง  หรือเกิดจากบุคคลบางคน  หรือเกิดจากใครอะไรกันแน่ก่อน เราถึงจะสามารถรู้ “แหล่ง” หรือ “ต้นตอ” ของสถานการณ์เลวร้ายเหล่านี้

เมื่อนั้น  เราก็จะสามารถร่วมกันบ่งชี้เจาะจงลงไปได้ว่า  “ใครคือมิตรแท้ หรือ ใครคือศัตรูตัวจริง” ในการต่อสู้ ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่เกิดขึ้น   และถ้าเรารู้แน่ชัดว่า “ใครคือศัตรู” ตัวจริง  “ใครคือมิตร” ของเรา   เราจะได้จับมือรวมพลังต่อสู้กับ “ศัตรูตัวจริง” ร่วมกัน

สำหรับส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อมั่นคงว่า  “วิญญาณที่ติดลบ” ที่กล่าวข้างต้นนี้  มิใช่เกิดขึ้นเอง   มิใช่สถานการณ์พาไป   มิใช่ตัวบุคคลในสถานการณ์นั้นเป็นต้นเหตุที่แท้จริง    แต่ที่เกิดเหตุการณ์เลวร้ายนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตั้งใจ  อย่างมีเจตนา  อย่างมีจุดประสงค์ชัดเจนของวิญญาณชั่วร้ายที่แทรกแฝงตนอยู่ในความคิด มุมมอง ทัศนคติของบุคคลต่างๆ ในสถานการณ์นั้น   เมื่อมันเข้าครอบครองและครอบงำคนใดแล้ว ความคิด ท่าที  การตัดสินใจ  และพฤติกรรมของคนๆ นั้นก็ออกมาใน “ผลลบ” ต่อผู้อื่น มิใช่คนๆ นั้นประสงค์ที่จะทำเช่นนั้น แต่วิญญาณแห่งความชั่วร้ายในรูปแบบต่างๆ มีอำนาจและใช้อิทธิพลเปลี่ยนความคิด มุมมอง  ทัศนคติ และพฤติกรรมของคนๆ นั้นครับ

ดังนั้น ศัตรูตัวจริงของเราจึงเป็นวิญญาณชั่วร้ายที่มาในรูปแบบต่างๆ ครับ 

มิใช่คุณพลวัตร  มิใช่ที่ปรึกษากรรมการอำนวยการ   มิใช่ท่านประธาน หรือ ใครก็ตาม แต่เป็นวิญญาณชั่วร้ายที่แทรกแฝงตนในบุคคลต่างหากที่กำลังสำแดงฤทธิ์ของมันอยู่

อยู่ที่ว่า  คริสเตียนไทยปัจจุบันยังเชื่อในเรื่องเหล่านี้หรือไม่ หลายท่านอาจจะคิดว่าในสมัยวิทยาศาสตร์เขาไม่พูดถึงเรื่องเหล่านี้แล้ว ถ้าเช่นนั้น คริสเตียนกลุ่มนี้ เมื่อเกิดความขัดแย้งเกิดสถานการณ์ที่เลวร้ายจึงมิได้คิดและเชื่อจริงๆ ว่า  พระเจ้าสถิตอยู่กับเขาและ “คู่กัด” ของเขาในสถานการณ์นั้นด้วย ดังนั้น เขาจึงไม่คิดว่าพระเจ้าสามารถจะจัดการให้สถานการณ์นั้นถูกต้องและให้เกิดชีวิตแทนความตายอย่างไร ขอโทษที่ผมต้องพูดว่า เวลาประชุมเขาอาจจะอธิษฐาน  แต่เขาตัดพระเจ้าออกจากการมีส่วนเกี่ยวข้องในสถานการณ์ที่เลวร้ายนั้นๆ พวกเขาปิดกั้นพระเจ้าออกจากการมีส่วนร่วมในเหตุการณ์นั้น ยิ่งกว่านั้นเขากีดกันพระเจ้าไม่ให้เข้ามามีส่วนในชีวิตของตนในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

เปาโลได้เขียนจดหมายถึงคริสตชนในคริสตจักรเอเฟซัส และ เขียนถึงเราคริสตชนไทยเพื่อให้รู้เท่าทันความจริงว่า ในชีวิตของเราบนโลกนี้ เรามิได้ต่อสู้กับผู้คนหรือสิ่งที่เรามองเห็นและจับต้องได้เท่านั้น   แต่เรายังต่อสู้กับอำนาจของเทพต่างๆ ที่ครอบครองในโลกนี้  และยังต้องต่อสู้กับเหล่าวิญญาณชั่วอีกด้วย เปาโลได้เตือนเราว่า

“เพราะเราไม่ได้ต่อสู้กับเนื้อหนังและเลือด  
 แต่ต่อสู้กับเหล่าเทพผู้ครอง  
 เทพผู้ทรงอำนาจ  
 เทพผู้ทรงเดชานุภาพของโลกอันมืดมนนี้  
 และต่อสู้กับเหล่าวิญญาณชั่วในย่านฟ้าอากาศ” (เอเฟซัส 6:12 อมตธรรม)

สำหรับผมแล้ว เรามิใช่คู่ชกตัวจริงกับอำนาจแห่งความชั่วร้ายเหล่านั้น และเราก็ไม่ใช่คู่ชกที่สมน้ำสมเนื้อกับมัน และเราก็ไม่มีพละกำลังที่จะต่อกรกับมันได้ อำนาจชั่วต้องการครอบงำให้เราเป็นเครื่องมือเป็นทาสในการเสริมสร้างการทำร้ายทำลายให้มัน ดั่งที่พระเยซูคริสต์ได้สอนให้สาวกอธิษฐานว่า

“และขออย่าให้ข้าพระองค์ทั้งหลายล้มลงเมื่อถูกทดลอง  
 แต่ขอทรงช่วยข้าพระองค์ทั้งหลายให้พ้นจาก(อำนาจ)มารร้าย”  (มัทธิว 6:9 อมตธรรม)

เพราะพระเจ้าต่างหากที่จะทรงจัดการอำนาจชั่วร้ายในรูปแบบต่างๆ เหล่านี้ได้ และถ้าเราเต็มใจถวายชีวิตของเราแก่พระองค์ใช้ตามพระประสงค์ พระองค์ก็จะทรงกระทำกิจเหล่านี้ในชีวิตของเรา และ ผ่านชีวิตของเรา

ในแต่ละสนามรบอย่าลืมว่า “แม่ทัพของเราคือพระเจ้า”  และพระองค์มิได้เป็นแม่ทัพอย่างกองทัพมหาอำนาจ และ กองทัพทั้งหลายที่เชื่อมั่นในแสนยานุภาพ อาวุธยุทโธปกรณ์ และพลังอำนาจของตน แต่พระเจ้าของเราเป็น “แม่ทัพแห่งพระคุณ” พระองค์จะทรงนำเราในสนามรบต่างๆ ในชีวิตของเรา การรบด้วย “พระคุณ” ของพระเจ้า ที่มีเป้าหมายปลายทางคือ การเสริมสร้างชีวิตใหม่ในสังคมชุมชนโลกด้วยการยอมสละชีวิตของตน มิใช่เพื่อผลประโยชน์  อำนาจ และชัยชนะในความยิ่งใหญ่ของตนเอง


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

27 กรกฎาคม 2555

พระเจ้าของผู้ไร้อำนาจ


อ่านสดุดี 146:1-10

พระเจ้าทรงให้ความชอบธรรมแก่ผู้ถูกข่มเหงรังแก
และประทานอาหารแก่ผู้ที่หิวโหย
องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงปลดปล่อยผู้ที่ถูกคุมขังให้เป็นอิสระ
องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงให้คนตาบอดเห็นได้
องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงยกชูผู้แบกภาระหนัก(ทรงพยุงผู้ถูกกดขี่ให้ลุกขึ้น)
องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงรักผู้ชอบธรรม
องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงพิทักษ์รักษาคนต่างด้าว
ทรงค้ำชู(ค้ำจุน)ลูกกำพร้าพ่อและหญิงม่าย
แต่ทรงล้มแผนการของคนชั่วไร้ (แต่พระองค์ทรงพลิกทางของคนอธรรม)
(สดุดี 146:7-9 อมตธรรม,  ในวงเล็บเป็นสำนวนฉบับมาตรฐาน)

“พระเจ้าไม่ทรงลำเอียง” (กิจการ 10:34)  พระองค์ทรงเอาใจใส่แต่ละคน  ทรงล่วงรู้ลงลึกถึงก้นบึ้งแห่งจิตใจของแต่ละคน   พระองค์ทรงครอบครองและทรงนำทุกๆ คนและสรรพสิ่งต่างๆ ที่ทรงสร้าง   ตั้งแต่คนใช้ที่ถูกมองว่าเป็นชนชั้นต่ำสุดๆ ไปจนถึงเจ้านายที่คิดว่าตนมีอำนาจล้นฟ้า

แต่อย่างไรก็ตาม  เราพบสัจจะความจริงในพระคัมภีร์ที่น่าแปลกแตกต่างจากระบบคุณค่าของปัจจุบันคือ พระเจ้าทรงสนพระทัยและเอาใจใส่เป็นพิเศษในคนที่สังคมมองว่าเป็นผู้ที่ต่ำต้อยด้อยค่า หรือ ผู้ไร้อำนาจ   ซึ่งมักตกเป็นเหยื่อของผู้มีอำนาจในสังคมโลกนี้   พระธรรมสดุดี 146 เป็นพระธรรมบทหนึ่งที่แสดงพระลักษณะของพระเจ้าเช่นนั้น  ดังที่ผู้ประพันธ์สดุดีบทนี้ได้กล่าวในข้อที่ 5 ว่า “ความสุขมีแก่ผู้ที่มีพระเจ้า...เป็นความช่วยเหลือของเขา”  “ผู้ฝากความหวังไว้กับพระเจ้า...” 

ในสดุดีบทนี้กล่าวถึงผู้ไร้อำนาจหมายถึง เช่น  ผู้ถูกบีบบังคับ (ข้อ 7 ฉบับมาตรฐาน)  ผู้หิวโหย (ข้อ 7 อมตธรรม)  ผู้ถูกคุมขัง  คนตาบอด  คนที่ต้องแบกภาระหนัก (ข้อ 8)  คนต่างด้าว  แรงงานต่างถิ่น  ลูกกำพร้าพ่อ  และหญิงม่าย (ข้อ 9)  พระเจ้าทรงสำแดงความชอบธรรมของพระองค์ต่อคนไร้อำนาจเหล่านี้  พระองค์ทรงประทานอาหารแก่ผู้หิวโหย  ทรงให้คนที่ไม่สามารถมองเห็นได้เห็น  คนตาบบอดได้รับการเยียวยาให้เห็นได้  คนที่ถูกบีบให้ต้องแบกภาระหนักอึ้งในชีวิตพระเจ้าจะทรงค้ำจุนและยกหนุนเขาขึ้น  ผู้ชอบธรรมจะได้รับความรักของพระเจ้า   คนต่างด้าวท้าวต่างแดน  แรงงานเคลื่อนย้าย  คนพลัดถิ่นที่ไร้ซึ่งความปลอดภัยในชีวิตพระเจ้าจะทรงพิทักษ์รักษาและปกป้องคนไร้อำนาจเหล่านี้   ลูกกำพร้าพ่อและหญิงม่ายที่ต้องว่ายวนอยู่ในสังคมที่ให้ความสำคัญกว่าแก่ผู้ชายพระเจ้าจะทรงค้ำชูปกป้องและหนุนช่วยคนไร้อำนาจกลุ่มนี้   “แต่พระเจ้าจะทรงล้มแผนการของคนชั่วร้าย” (ข้อ 9)

นี่หมายความว่า พระเจ้าจะไม่ทรงสนใจหรือช่วยคนที่มีอำนาจในสังคมโลกนี้หรือ?  พระเจ้าจะไม่ทรงใส่ใจคนที่มีอาหารมั่งคั่งหรือ?   โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระองค์จะไม่ทรงสนใจคนที่มีตาที่เห็นได้หรือ?  แสดงว่าพระเจ้าจะไม่ยืนอยู่ข้างคนมั่งคั่งร่ำรวยหรือ?   ถ้าเช่นนั้นพระเจ้าลำเอียงใช่ไหม?   พระเจ้าต้องการให้ทั้งโลกนี้มีแต่คนจน ขัดสน ไร้อำนาจเพื่อพระองค์จะได้มีอำนาจปกครองเช่นนั้นหรือ?

ถ้าไปถามผู้เขียนสดุดีบทนี้คำตอบที่ได้รับคือ “ไม่ใช่” 

พระเจ้าทรงสนพระทัยทุกคน  เพราะทุกคนมีคุณค่าในสายพระเนตรของพระองค์   พระองค์ทรงรักคนที่ชอบธรรม   ทุกคนที่ปฏิเสธและไม่ยอมเข้ามีส่วนร่วมในแผนการชั่ว  การกระทำชั่ว  การใช้อำนาจเหนือผู้อื่นจนทำให้คนอื่นต้องตกเป็นเหยื่อของตน   และคนที่รักพระเจ้าด้วยการกระทำตามแบบอย่างแห่งพระราชกิจของพระองค์   องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงรักคนชอบธรรม (ข้อ 8)  

ประเด็นในที่นี้จึงมิใช่ว่า พระเจ้ารักคนต่ำต้อยด้วยค่า คนไร้อำนาจ หรือ รักคนมั่งมีมั่งคั่ง  ผู้มีอำนาจล้นฟ้า   แต่ประเด็นหลักในที่นี้คือ  พระเจ้าทรงเมตตาปกป้องพิทักษ์รักษาคนที่ไร้อำนาจแล้วตกเป็นเหยื่อของผู้มีอำนาจ   และพระเจ้าทรงต่อสู้กับคนที่มีอำนาจล้นฟ้าแล้วใช้อำนาจนั้นในการกดขี่ เอาเปรียบ เหยียบย่ำคนไร้อำนาจทำลายศักดิ์ศรีความเป็นคนของพวกเขา   นี่เป็นการหมิ่นหยามพระราชกิจแห่งการทรงสร้างของพระเจ้า  “พระเจ้าทรงล้มแผนการชั่วร้าย”ของคนที่มีอำนาจกลุ่มนี้   แต่พระเจ้าทรงรักคนที่ดำเนินชีวิตด้วยความชอบธรรมตามแบบพระเจ้า  ไม่ว่าคนนั้นจะมีอำนาจหรือไม่ก็ตาม  

ตรงกันข้าม ถ้าเป็นคนไร้อำนาจแต่ยังกดขี่ ข่มเหง และเอารัดเอาเปรียบ และทำให้เพื่อนมนุษย์ที่ไร้อำนาจด้วยกันต้องตกเป็นเหยื่อแล้ว   พระเจ้าก็จะ “ล้มแผนการ” คนไร้อำนาจคนนั้นด้วยเช่นกัน   เพราะเขาเป็นคนอธรรม

สำหรับคนที่ไร้อำนาจ พระธรรมสดุดีบทนี้ท้าชวนคนเหล่านี้ให้มีความหวังในการทรงปกป้องคุ้มครองจากพระเจ้า  เพราะถึงแม้จะตกเป็นเหยื่อและถูกบีบบังคับเอารัดเอาเปรียบ   พระเจ้าทรงยืนเคียงข้างคนนั้นในทุกสถานการณ์ชีวิต 

สำหรับคนที่มีอำนาจ พระธรรมสดุดีบทนี้ท้าชวนให้ท่านใช้อำนาจ และ ศักยภาพในชีวิตที่มีอยู่ที่จะปกป้องคนไร้อำนาจ คนที่ตกเป็นเหยื่อในสังคมที่ฉ้อฉลอธรรมในปัจจุบัน  ตามแบบอย่างที่พระเจ้าทรงกระทำ   ใช้อำนาจและพลังอิทธิพลที่มีอยู่เพื่อร่วมในพระราชกิจแห่งการทรงกอบกู้ชูช่วยของพระเจ้า   ใช้สิ่งที่มีในชีวิตและโอกาสที่เปิดกว้างเพื่อร่วมในพระราชกิจของพระเจ้าที่ทรงกระทำในสังคมโลกปัจจุบัน   ตามที่บันทึกในพระธรรมยากอบ 1:27 ว่า “ธรรมะที่บริสุทธิ์ไร้มลทินเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าพระบิดานั้น  คือการช่วยเหลือเด็กกำพร้าและหญิงม่ายที่มีความทุกข์ร้อน   และรักษาตัวให้พ้นจากราคีของโลก” (ฉบับมาตรฐาน)

ประเด็นสำหรับใคร่ครวญ

1. วันนี้ท่านจะร่วมในพระราชกิจแห่งการทรงเอาใจใส่และการกอบกู้ผู้ไร้อำนาจที่ตกเป็นเหยื่อของความอธรรมที่ท่านพบเห็นได้อย่างไร?

2. วันนี้ท่านจะสำแดงความรักเมตตาตามแบบอย่างขององค์พระผู้เป็นเจ้าในพระนามของพระคริสต์แก่ใครบ้าง?

ใคร่ครวญภาวนา

องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเปี่ยมด้วยความชอบธรรมและเมตตากรุณา   ขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงเอาใจใส่ ปกป้องเลี้ยงดูประชากรในโลกนี้   ข้าพระองค์ซาบซึ้งในความรักเมตตาที่ชอบธรรมในการที่ทรงอยู่เคียงข้างคนไร้อำนาจที่ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบและถูกเหยียบย่ำ   และขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงเป็นความหวังและปกป้องข้าพระองค์จากความอธรรมและแผนการชั่วหลากหลายรูปแบบที่จู่โจมเข้ามาในชีวิตของข้าพระองค์

ในวันนี้ ข้าพระองค์ยังต้องการและหวังในการทรงปกป้อง คุ้มครอง และการชูช่วยของพระองค์

ดังนั้น  ในวันนี้จึงขอมอบกายถวายชีวิตจิตวิญญาณให้ร่วมในพระราชกิจแห่งการชูช่วยผู้ไร้อำนาจและตกเป็นเหยื่อในสังคม  ตามแบบอย่างความชอบธรรมและพระเมตตากรุณาของพระองค์  

โปรดเปิดตาของข้าพระองค์ให้สามารถเห็นถึงความจำเป็นต้องการของผู้คนที่ข้าพระองค์พบเห็นสัมผัสในวันนี้  

โปรดช่วยให้ข้าพระองค์รู้ว่าควรยื่นชีวิตของข้าพระองค์ไปถึงผู้คนเหล่านี้อย่างไรที่สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระองค์   และขอเปิดใจของข้าพระองค์เพื่อส่งต่อความรักของพระคริสต์ไปถึงผู้คนกลุ่มนี้อย่างเป็นรูปธรรม   เพื่อเขาจะได้รับการสัมผัสจากความรักของพระคริสต์  และจะได้สรรเสริญยกย่องพระนามของพระองค์   อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

25 กรกฎาคม 2555

อึด ฮึด มั่นคง เข้มแข็งด้วยความรับผิดชอบ


อึด ฮึด มั่นคงเข้มแข็ง

ผู้นำที่ทรงประสิทธิภาพมิใช่ผู้นำที่ไม่เคยล้มเหลว  แต่เขาจะไม่ยอมให้ผลความผิดพลาดล้มเหลวที่เขาทำฉุดกระชากลากเขาให้จมดิ่งลงในผลแห่งความล้มเหลวต่างหาก   อย่างเช่น  โมเสส  กษัตริย์ดาวิด เปโตร  เปาโล  และอีกหลายคน ซึ่งความผิดพลาดในชีวิตของผู้นำดังกล่าวที่คล้ายใกล้เคียงกันคือ  การตัดสินใจทำตามใจปรารถนาของตน ตามความนึกคิดของตนเองในด้านหนึ่ง  ในอีกด้านหนึ่งเมื่อผู้นำเหล่านี้กระทำผิดพลาดเขาไม่จมจ่อมอยู่ในความผิดพลาดแต่ใช้เวลาในการใคร่ครวญประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาว่าอะไรทำให้เขาตกอับผิดพลาดลง   และลักษณะที่สามคือ  ผู้นำเหล่านี้จะไม่ยอมละทิ้งความหวังใจในพระเจ้า (แต่ไม่ใช่ความดื้อรั้นไม่ยอมรับความผิดพลาด สูญเสีย ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง)

ประการสำคัญคือเมื่อผู้นำเหล่านี้ประสบกับความผิดพลาดล้มเหลว   เขาจะไม่ยอมให้จิตใจของเขาต้องจมดิ่งลงลึกทางด้านอารมณ์ความรู้สึกกับการสูญเสียที่เกิดขึ้น   ประการที่สองผู้นำเหล่านี้ยอมถ่อมและสงบจิตใจของตนลงเพื่อจะเรียนรู้จากบทเรียนของความผิดพลาดล้มเหลว   เพื่อตนจะไม่กระทำผิดซ้ำสองซ้ำสาม   แต่กลับใช้บทเรียนนั้นในการวางแผนชีวิตที่ดีที่พร้อม ลุกขึ้น ในการเผชิญหน้าในครั้งต่อไป

คำถามเพื่อการใคร่ครวญ

1. ในฐานะที่ท่านเป็นผู้นำ   ท่านมีแผนการอย่างไรบ้างที่จะเพิ่มพูนทวีคูณความพยายามของท่านเพื่อพลิกสถานการณ์ของการสูญเสีย หรือ ควบคุมให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด?

2. ท่านจะทำอย่างไรที่จะใช้ความผิดพลาดสูญเสียที่เกิดขึ้นให้กลับกลายเป็นพลังขับเคลื่อนให้ท่านมุ่งไปข้างหน้า?

ความรับผิดชอบ

ผู้นำที่ทรงประสิทธิภาพคือผู้นำที่มีความรับผิดชอบ   เมื่อเกิดความผิดพลาด ล้มเหลว และสูญเสียขนาดใดก็ตาม   ในฐานะที่เป็นผู้นำเขาพร้อมที่จะเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้น   จะไม่ยอมที่จะแก้ตัวเฉไฉด้วยเหตุผลและอำนาจ   จะไม่มองหา “แพะ” มารับบาป   ไม่โยนความผิดไปให้ผู้อื่นเพื่อฟอกตนเองให้เป็นคนบริสุทธิ์   แต่ออกมาข้างหน้ารับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้นด้วยตนเองในฐานะผู้นำ  และมิใช่การรับผิดชอบต่อความผิดพลาดสูญเสียที่เกิดขึ้นเท่านั้น   แต่ผู้นำที่ทรงประสิทธิ์ภาพจะใช้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นให้เกิดการรวมจิตรวมใจกันเพื่อจะพลิกสถานการณ์แห่งการสูญเสียสู่การเสริมสร้างสถานการณ์ที่สร้างสรรค์ร่วมกัน

คำถามเพื่อการใคร่ครวญ

1. อะไรคือความทุกข์ยากลำบาก และ ความรับผิดชอบที่ท่านไม่อยากจะรับ  แต่จะช่วยขับเคลื่อนทีมงาน/องค์กรของท่านมุ่งไปข้างหน้า?

2. ในฐานะผู้นำ  ท่านถูกจ้องมองเสมอ   ผู้คนจะสนใจใส่ใจว่าท่านใช้อำนาจและอิทธิพลจัดการเช่นไร   ใครบ้างที่กำลังจ้องมองท่าน?   และพวกเขาเห็นอะไรบ้าง?
นักประวัติศาสตร์ David McCullough  กล่าวถึงอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จอร์จ  วอชิงตัน ไว้ว่า...

“จอร์จ วอชิงตัน มิใช่คนฉลาดปราดเปรื่องในด้านการวางแผนกลยุทธ์  ไม่ใช่คนที่มีวาทศิลป์หวานคม  แล้วก็ไม่ใช่คนที่มีความคิดสติปัญญาโดดเด่นกว่าผู้คนทั่วไป   ในสถานการณ์วิกฤติหลายครั้งที่เขาลังเลในการตัดสินใจ   เขาเคยตัดสินใจผิดพลาดรุนแรง   แต่ประสบการณ์ชีวิตเป็นครูผู้ยิ่งใหญ่ของเขาตั้งแต่ครั้งเมื่อเป็นเด็ก   และในสงครามกลางเมืองของอเมริกาคือสนามทดสอบชีวิตของเขา  เขาเรียนรู้จากประสบการณ์โดยตรง  เหนือสิ่งอื่นใด  จอร์จ วอชิงตันจะไม่ยอมแพ้ในทุกสถานการณ์ที่คับขัน”  

หลายสิ่งสำคัญไม่มีใน จอร์จ วอชิงตัน   แต่เราพบสิ่งเด่นชัดที่มีในความเป็นผู้นำของเขาคือ  จอร์จ วอชิงตัน มีความ “อึด ฮึด มั่นคง เข้มแข็งด้วยความรับผิดชอบ” ครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

23 กรกฎาคม 2555

หลีกเลี่ยงจากความหอมหวานของความชั่วร้าย


อ่านสดุดี 141:1-10

ขออย่าให้ใจของข้าพระองค์เอนเอียงไปหาสิ่งชั่วใดๆ
ที่จะกระทำการอธรรมต่างๆ ร่วมกับคนที่ทำชั่ว  และ
ขออย่าให้ข้าพระองค์กินของโอชะของพวกเขา   
(สดุดี 141:4 ฉบับมาตรฐาน)

ในพระธรรมสดุดีบทที่ 141 ดาวิดได้ปล้ำสู้กับการทดลองให้กระทำสิ่งที่ผิดที่กำลังทะลวงเข้ามายั่วยวนในจิตใจและความปรารถนาของตนเอง   เป็นสดุดีที่เขียนขึ้นจากประสบการณ์ชีวิตของตนที่ต้องตกลงในสถานการณ์ร้ายที่มาในคราบของความหอมหวาน ชื่นชม ผลประโยชน์  ความสะดวกสบาย  เกียรติยศชื่อเสียง สิ่งที่ตนปรารถนาในใจ  ในสดุดีบทที่ 141  การคุกคามรุนแรงหลักใหญ่มิได้มาจากการคุกคามของคนเลวทรามร้ายกาจที่อาจจะสร้างภัยอันตรายแก่ดาวิดด้วยการกระทำที่ชั่วร้ายรุนแรง   แต่ในสดุดีบทนี้ชี้เน้นให้เห็นถึงการทดลองที่ยั่วยวนหลอกล่อให้ดาวิดเข้าร่วมในการกระทำบาปร่วมกับคนที่ทำชั่ว   ดังนั้น  ดาวิดจึงทูลอธิษฐานต่อพระเจ้าว่า  “ขออย่าให้ใจของข้าพระองค์เอนเอียงไปหาสิ่งชั่วใดๆ  ที่จะกระทำการอธรรมต่างๆ ร่วมกับคนที่ทำชั่ว  และขออย่าให้ข้าพระองค์กินของโอชะของพวกเขา” (141:4  ฉบับมาตรฐาน)

ขอตั้งข้อสังเกตในที่นี้ว่า  ดาวิดกล่าวถึงความหอมหวานโอชะที่ประจักษ์   ดาวิดกล่าวถึง “ความหอมหวานโอชะ” จากการกระทำชั่ว  รากศัพท์ในภาษาฮีบรูของคำว่า “ของโอชะ” หมายถึงสิ่งที่ดูสวยสดงดงาม  น่ารัก น่าชื่นชม  สนุกสนาน เพลิดเพลิน บันเทิงใจ   อย่างที่ใช้ในบทเพลงของซาโลมอน 1:16 ที่พรรณนาถึงความงามของร่างกาย หรือใช้ในการพรรณนาถึงรสชาติของอาหาร (สุภาษิต 9:17)  หรือเสียงของดนตรีที่ไพเราะ (สดุดี 81:2)   ความบาปสามารถสำแดงตนออกมาในรูปแบบของอาหารที่โอชะ  ที่มีกลิ่นรสหอมหวานอร่อย  ออกมาในรูปแบบของความสนุกสนานเพลิดเพลิน  ออกมาในรูปแบบที่ให้ผลประโยชน์และกำไร

แต่ดาวิดรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏออกมาที่ดูดีน่าชื่นชมเหล่านี้เป็นอุบายที่โป้ปดหลอกลวง   สิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความหวานชื่นของความชั่วร้าย คือความขมขื่น  ผุพัง เน่าเปื่อย การสูญเสีย  ความพ่ายแพ้  ดังนั้น ดาวิดจึงทูลขอพระเจ้าให้ตนสามารถหลีกหนีจากสิ่งเหล่านี้ว่า  “...อย่าให้ใจของข้าพระองค์เอนเอียงไปหาสิ่งชั่วใดๆ”   ความบาปชั่วมันจะเริ่มต้นในชีวิตของเราแบบค่อยเป็นค่อยไป  ไม่รีบร้อนลงมือให้เกิดผล   แต่มันเริ่มต้นภายในชีวิตจิตใจของเรา   ด้วยกระบวนการทดลองแบบซึมลึกอย่างมีเล่ห์เหลี่ยมและใช้เวลา   ที่ดูเหมือนว่าไม่เห็นเป็นความคิดมีอันตรายร้ายแรงใดๆ 

ดังนั้น  ให้เราปฏิเสธ  หลีกเลี่ยงความหวานชื่นของความชั่วร้ายด้วยการเฝ้าดูแลจิตใจเราอย่างระมัดระวัง   และตระหนักชัดว่านั่นเป็นการทดลอง  แล้วหันหลังออกห่างจากมัน  แต่บ่อยครั้งเราไม่สามารถที่จะกระทำการเช่นนี้ด้วยกำลังชีวิตของเราเอง   เราต้องการพระกำลังจากองค์พระผู้เป็นเจ้าที่จะเสริมหนุนช่วยเหลือ   และพระองค์จะทรงหนุนเสริมเพิ่มกำลังแก่เรา   เมื่อเราทูลขอและให้จิตใจของครุ่นคิดและใกล้ชิดพระเจ้า   มิใช่ความหวานชื่นของความบาปชั่ว

ประเด็นใคร่ครวญ

1. ความบาปชั่วแบบไหนที่มักมาเย้ายวน กระตุ้นจิตใจของท่าน?
2. เมื่อท่านถูกทดลอง  ท่านทำเช่นไรกับชีวิตและการทดลองนั้น?
3. เมื่อตกในภาวะทดลองจิตใจของท่านเอนเอียง ครุ่นคิด ใกล้ชิดกับสิ่งใด?

ใคร่ครวญภาวนา

พระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยพระคุณเมตตา   บางครั้งที่ข้าพระองค์รู้ว่าความบาปชั่วกำลังมาทดลองข้าพระองค์   ด้วยสิ่งที่ใจข้าพระองค์ปรารถนา   ด้วยสิ่งเย้ายวนด้วยสิ่งที่ทำให้จิตใจข้าพระองค์วนเวียนอยากไขว่คว้า  สิ่งเหล่านั้นดูเหมือนสามารถให้ความสุขแก่ข้าพระองค์   สิ่งเหล่านั้นดูเหมือนจะทำให้จิตใจข้าพระองค์แช่มชื่น   แต่ข้าพระองค์รู้ถึงสัจจะความจริงที่ความบาปชั่วจะนำมาถึงชีวิตของพระองค์  และแผนการที่มันต้องการครอบงำและพันธนาการชีวิตของข้าพระองค์ไว้ใต้อำนาจของมัน

ข้าพระองค์ขอทูลอธิษฐานอย่างกษัตริย์ดาวิด   ขอพระองค์โปรดช่วยจิตใจของข้าพระองค์ให้ใคร่ครวญมุ่งหาใกล้ชิดพระองค์  มิใช่ความบาปชั่ว   โปรดปกป้องข้าพระองค์ที่จะเข้าไปมีส่วนกับความชั่ว   โปรดนำข้าพระองค์ให้ดำเนินไปบนเส้นทางชีวิตตามพระประสงค์  และโปรดช่วยให้ข้าพระองค์รู้เท่าทันการหลอกล่อของความบาปชั่วว่า ความชื่นชมหอมหวานคือยาพิษที่จะทำร้ายและทำลายชีวิตจิตวิญญาณของข้าพระองค์

ขอองค์พระผู้เป็นเจ้าโปรดนำข้าพระองค์อย่าให้เข้าไปในการทดลอง  แต่ขอให้รอดพ้นจากอำนาจของสิ่งชั่วร้าย   โปรดนำข้าพระองค์ดำเนินไปบนเส้นทางชีวิตที่พระองค์จัดเตรียมไว้เพื่อข้าพระองค์   เติมเต็มจิตใจของข้าพระองค์ด้วยความปรารถนาในพระองค์ และ ความบริสุทธิ์ของพระองค์   อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

20 กรกฎาคม 2555

ทำไมคริสตจักรไม่เติบโต?


คนที่แข็งแรงย่อมเติบโต  สัตว์ที่แข็งแรงก็เติบโต   ต้นไม้ที่แข็งแรงก็จะเติบใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขาด้วยเช่นกัน   ในทำนองเดียวกันคริสตจักรที่แข็งแรงก็จะเติบโตด้วย   การเติบโตและเกิดผลในชีวิตของสรรพชีวิตที่พระเจ้าทรงสร้างนั้นเป็นทั้งพระประสงค์และเป็นพระพรจากพระเจ้าพระผู้ทรงสร้าง   และคริสตจักรซึ่งเป็นพระวรกายของพระคริสต์ ก็มีชีวิตที่พระคริสต์ทรงสถาปนาขึ้น(มัทธิว 16:18)

ดังนั้น  เมื่อคริสตจักรไม่เติบโต  ก็คงจำเป็นต้องถามว่า  “ทำไมคริสตจักรถึงไม่เติบโต?”

ข้างล่างนี้เป็นอุปสรรค 5 ประการที่ขัดขวางการเติบโตของคริสตจักร   ถ้าเรายอมรับว่าคริสตจักรไม่เติบโต ก็คงเป็นการง่ายขึ้นที่เราจะวินิจฉัยถึงสาเหตุของการชะงักงันในชีวิตของคริสตจักร  และหาทางเยียวยา รักษา และเสริมสร้างให้แข็งแรงต่อไป

อุปสรรคประการแรกที่ทำให้คริสตจักรไม่เติบโตคือ  ศิษยาภิบาล

ซึ่งมีสี่สาเหตุที่ “ศิษยาภิบาล” เป็นอุปสรรคขัดขวางการเจริญเติบโตของคริสตจักร คือ

1) เมื่อศิษยาภิบาลไม่มีเป้าหมายอันดับแรกที่จะทำให้คริสตจักรเติบโตขึ้น   ศิษยาภิบาลกลุ่มนี้มุ่งเน้นทำหน้าที่เป็นผู้ประกอบศาสนพิธีและเทศนาในศาสนพิธี  ดังนั้น จึงเน้นถึงความ “ศักดิ์สิทธิ์” และ ความสำคัญของฐานะตำแหน่งมากกว่าการเติบโตของคริสตจักร

2) เมื่อศิษยาภิบาลไม่ได้เน้นให้ชีวิตสมาชิกมีความเข้มแข็งในความเชื่อและการดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ของพระเจ้า  และเผชิญหน้าทุกสถานการณ์ชีวิตด้วยพระวจนะและการทรงนำของพระองค์

3) เมื่อศิษยาภิบาลไม่มี “นิมิต” ที่จะเสริมสร้างให้สมาชิกในคริสตจักรที่จะอภิบาลซึ่งกันและกัน เสริมหนุนให้คริสตจักรเป็นชุมชนแห่งการอภิบาล บ่มเพาะ ฟูมฟักกันและกัน   แล้วเสริมสร้างพัฒนาให้สมาชิกคริสตจักรมุ่งหน้าออกไปอภิบาลชุมชนสังคม ในนามของพระเยซูคริสต์

4) เมื่อศิษยาภิบาลมิได้สอนถึงเป้าหมายพันธกิจแห่งข่าวดีของพระเยซูคริสต์แก่สมาชิก  เพื่อสมาชิกจะออกไปเชิญชวนผู้คนให้เข้ามามีชีวิตในแผ่นดินของพระเจ้า  หรือมีชีวิตที่อยู่ภายใต้การครอบครองของพระองค์

อุปสรรคประการที่สองที่ทำให้คริสตจักรไม่เติบโตคือ สมาชิกคริสตจักร

บ่อยครั้งเราจะพบศิษยาภิบาลที่มีสมรรถนะและทักษะในการทำหน้าที่ “พระ” หรือ “ปุโรหิต” ในคริสตจักรที่ไม่เติบโต   ปัญหาก็คือ สมาชิกมาคริสตจักรมาโบสถ์ในฐานะ “ผู้รับบริการ”  “ผู้ชม”  “ผู้ฟัง” หรือ “นักสังเกตการณ์”  แล้วก็จ่ายค่าบริการ(ถวายทรัพย์)   ลักษณะของสมาชิกที่เป็นอุปสรรขัดขวางการเติบโตของชีวิตคริสตจักรคือ
1. สมาชิกมาโบสถ์เพื่อตักตวงความสบายใจ เป็นการมาโบสถ์เพื่อหาประโยชน์สำหรับตนเอง   แล้วมีฐานคิดว่าหน้าที่ของศิษยาภิบาลจะต้อง “เลี้ยงลูกแกะของพระเจ้า” สมาชิกพวกนี้ต้องการให้คริสตจักรเป็น “ชุมชนปิด” คือเป็นชุมชนอย่างที่พวกตนต้องการเท่านั้น   ไม่ต้องการคนที่ “ผิดกลิ่นผิดสี” เข้ามาร่วมด้วย

2. ดังนั้น  สมาชิกกลุ่มนี้จึงไม่มีความคิดที่จะต้องออกไปพบหาผู้คนและเชิญชวนผู้คนมาร่วมในชุมชนคริสตจักรของตน   ยิ่งกว่านั้น สมาชิกประเภทนี้มักพยายามควบคุมความคิด พฤติกรรมของศิษยาภิบาลตามที่ตนคาดหวัง

3. สมาชิกกลุ่มนี้จะใช้มาตรฐานชีวิตคริสเตียนเลียนแบบตามมาตรฐานชีวิตกระแสสังคม  เช่น  นับถือคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจ  มีหน้าที่การงานดี   พูดเก่ง  และมองการจัดการตามแบบองค์กร หรือ บริษัททั่วไป   แต่มิได้มองว่าคริสตจักรคือชุมชนที่มีชีวิต   ที่จะต้องแข็งแรง  และเติบโตขึ้น  และสิ่งที่เข้มแข็งและเติบโตมิใช่ขนาดของอาคารสถานที่  หรือกิจกรรมที่ทำมากมาย   แต่คริสตจักรแข็งแรงคือการเข้มแข็งในชีวิตของสมาชิกแต่ละคนแต่ละครอบครัว

อุปสรรคประการที่สามที่ทำให้คริสตจักรไม่เติบโตคือ  มุมมองที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน

การมีมุมมองเป้าหมายของการนำเสนอพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เพื่อคนในสังคมจะเปลี่ยนมาเป็นคริสเตียน  แต่คริสตจักรที่เข้มแข็งและเติบโตจะมีมุมมองว่า   การนำเสนอพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ในชุมชนเริ่มต้นจากการสำแดงความรักเมตตาของพระเยซูคริสต์แก่คนในชุมชน  ด้วยความรักและห่วงใย  ด้วยการร่วมทุกข์ร่วมสุขกับผู้คนในชุมชนนั้นๆ   การนำเสนอพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์แก่คนในชุมชนเพื่อคนเหล่านั้นจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น   อีกทั้งเป็นชีวิตที่หลุดรอดออกจากการครอบงำของอำนาจชั่วที่มาในลักษณะต่างๆ  ทั้งอำนาจชั่วที่ครอบงำเกี่ยวกับเศรษฐกิจ  ความสัมพันธ์  การเมืองและการใช้อำนาจ   และวัฒนธรรมเงินนิยม  บริโภคนิยม  และวัตถุนิยม   แต่กลับยอมตนอยู่ใต้การปกครองของพระเจ้าในแผ่นดินของพระองค์

อุปสรรคประการที่สี่ที่ทำให้คริสตจักรไม่เติบโตคือ เน้นการประกาศแต่เมินการสร้างสาวก

หลายคริสตจักรที่สนใจและทุ่มเทประกาศพระกิตติคุณจนคนมารับบัพติศมา  หลังจากนั้นกลับไม่มีการเลี้ยงดูฟูมฟัก และบ่มเพาะผู้เชื่อใหม่ให้มีชีวิตที่เป็นเหมือนพระคริสต์มากยิ่งขึ้นทุกวัน   และเมื่อผู้เชื่อคนนั้นมิได้รับการบ่มเพาะและฟูมฟักชีวิตคริสเตียนที่ถูกต้องเหมาะสม   เขากลับรู้สึกว่าการเป็นคริสเตียนก็ไม่ต่างจากชีวิตเดิมของเขา   ชีวิตคนในคริสตจักรก็ไม่ต่างจากชุมชนความเชื่อเดิมของเขา เขารู้สึกว่าถูกหลอกให้มาเป็นคริสเตียน   สิ่งเหล่านี้เริ่มทำให้เกิดการต่อต้านพระกิตติคุณขึ้นในผู้เชื่อใหม่คนนั้น

อุปสรรคประการที่ห้าที่ทำให้คริสตจักรไม่เติบโตคือ  คริสตจักรถุงก้นรั่ว

คริสตจักรกลายเป็นที่ที่คริสเตียนมาแสวงหาบริการเพื่อความสุขบันเทิงใจ  จึงเป็นชุมชนที่ไม่สนใจที่จะอภิบาลคนอื่น  แต่กลับแสวงหาคนที่จะรับใช้ตนเอง   ชุมชนคริสตจักรมิได้เป็นชุมชนที่เอาใจใส่เลี้ยงดูฟูมฟักชีวิตคริสเตียนของกันและกัน   แต่กลับเป็นเพียงที่ที่คนมาร่วมประกอบศาสนพิธีเท่านั้น   เมื่อผู้เชื่อใหม่มิได้รับการเอาใจใส่ เลี้ยงดู  เมื่ออยู่ไปสักพักหนึ่งเขาก็แสวงหาชุมชนที่มีคุณค่าความหมายสำหรับเขาในที่อื่นๆ ต่อไป   คริสตจักรจึงไม่เข้มแข็งและเติบโตขึ้น  เพราะคริสตจักรเป็นถุงก้นรั่ว

คริสตจักรที่จะเติบโตได้ต้องเป็นคริสตจักรที่เข้มแข็งเท่านั้น    คริสตจักรที่เข้มแข็งเป็นคริสตจักรที่มุ่งและเสริมสร้างชีวิตของสมาชิกแต่ละคนให้หยั่งรากลงในพระวจนะของพระเจ้า   เป็นคริสตจักรที่เอาใจใส่ บ่มเพาะ ฟูมฟักและเลี้ยงดูให้สมาชิกมีชีวิตที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงให้เหมือนกับพระเยซูคริสต์มากยิ่งขึ้นทุกวัน   คริสตจักรที่เข้มแข็งเป็นคริสตจักรที่สมาชิกอภิบาลซึ่งกันและกัน   ศิษยาภิบาลคือผู้ที่เสริมสร้างให้สมาชิกแต่ละคนเป็นผู้อภิบาลในคริสตจักร   คริสตจักรที่เข้มแข็งเป็นคริสตจักรที่ชีวิตสมาชิกแต่ละคนสำแดงความรักเมตตาของพระเยซูคริสต์ผ่านการดำเนินชีวิตประจำวัน  แก่ผู้คนในครอบครัว  ในที่ทำงาน  ในชุมชน  และในคริสตจักร  คริสตจักรที่เข้มแข็งคือคริสตจักรที่ส่งสมาชิกของตนออกไปทำพระราชกิจของพระเจ้าในครอบครัว  สำนักงาน  และชุมชน  ด้วยการดำเนินชีวิตที่สำแดงความรักของพระคริสต์  ด้วยการรับใช้และบริการในพระนามของพระคริสต์ และที่สำคัญชีวิตที่สำแดงพระคริสต์คือชีวิตที่ประกาศถึงพระกิตติคุณของพระองค์  และเชิญชวนผู้คนให้เข้ามามีชีวิตภายใต้การครอบครองของพระคริสต์  เมื่อคริสตจักรเข้มแข็งดังที่กล่าว  คริสตจักรที่เติบโตที่เป็นพระพรของจากพระเจ้าก็จะบังเกิดขึ้นให้เห็นเป็นรูปธรรม


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

19 กรกฎาคม 2555

ระวัง...ผู้นำที่รับใช้ตนเอง


อ่านเอเสเคียล 34:1-10

บุตรมนุษย์เอ๋ย  จงเผยพระวจนะกล่าวโทษพวกผู้เลี้ยงแกะของอิสราเอล...
พระยาเวห์องค์เจ้านายตรัสดังนี้ว่า
วิบัติแก่พวกผู้เลี้ยงแกะของอิสราเอลที่เลี้ยงแต่ตัวเอง
ผู้เลี้ยงแกะย่อมเลี้ยงฝูงแกะมิใช่หรือ?
เจ้าทั้งหลายกินไขมัน  พวกเจ้าคลุมกายด้วยขนแกะ
เจ้าฆ่าแกะตัวอ้วนๆ   เจ้าไม่ได้เลี้ยงดูแกะ
ตัวที่อ่อนเพลียเจ้าก็ไม่ได้เสริมกำลัง  ตัวที่เจ็บเจ้าก็ไม่ได้รักษา
ตัวที่กระดูกหักเจ้าก็ไม่ได้พันผ้า  ตัวที่หลงทางเจ้าก็ไม่ได้ไปตามกลับมา
ตัวที่หายไปเจ้าก็ไม่ได้เสาะหา
แต่เจ้าได้ควบคุมแกะทั้งหลายด้วยการบังคับ  และด้วยความเกรี้ยวกราด
ดังนั้นพวกมันจึงกระจัดกระจายไปหมด  เพราะไม่มีผู้เลี้ยง
และเมื่อกระจัดกระจายไป   พวกมันก็ไปเป็นอาหารของสัตว์ป่าทั้งหมด
...
เพราะฉะนั้นผู้เลี้ยงแกะทั้งหลาย  จงฟังพระวจนะของพระยาเวห์...
นี่แนะเราเป็นปฏิปักษ์กับพวกผู้เลี้ยงแกะ
และเราจะเรียกร้องเอาแกะของเราจากมือเขา
และให้เขาหยุดเลี้ยงแกะ   พวกผู้เลี้ยงแกะจะไม่ได้เลี้ยงตัวเองอีกต่อไป
เราจะช่วยแกะของเราให้พ้นจากปากของพวกเขา
เพื่อไม่ให้แกะเป็นอาหารของเขา    (เอเสเคียล 34:2-6; 9-10)

ฝูงแกะ ในที่นี้เอเสเคียลหมายถึงชุมชนอิสราเอล  ทั้งที่ตกไปเป็นเชลยในบาบิโลน  ที่กระจัดกระจายไปอยู่ในเมืองอื่นๆ  ตลอดจนอิสราเอลที่เหลือในแผ่นดินยูดาห์และอิสราเอลด้วย   ผู้นำในที่นี้เป็นผู้นำชุมชนและผู้นำศาสนา  ถ้าเป็นปัจจุบันก็เป็นพวกศาสนาจารย์  ศิษยาภิบาล  ผู้นำคริสตจักร  และผู้นำสถาบันหน่วยงานคริสเตียนต่างๆ

ในยุคนั้นก็ไม่แตกต่างจากยุคปัจจุบันมากมายนัก  ปัจจุบันนี้เราได้ยินได้ฟังข่าวเรื่องผู้นำศาสนา หรือ องค์กรศาสนาที่ใช้ตำแหน่งความเป็นผู้นำเพื่อกอบโกยแย่งชิงผลประโยชน์เพื่อตนเอง   สนใจแต่ความมั่งมี มั่นคง  ผลประโยชน์ที่ตนจะได้   และยิ่งกว่านั้นใช้ความมีอำนาจจากตำแหน่งในการเอารัดเอาเปรียบขูดรีดคนเล็กคนน้อย คนที่ไร้อำนาจ   ซึ่งดูไปแล้วผู้นำเหล่านี้ทำตัวเป็นโจรในคราบผู้นำศาสนา และ ผู้บริหาร   ดังนั้น  คนที่เขานำจึงต้องได้รับความทุกข์ยากลำบาก   การบริหารชี้นำของผู้นำพวกนี้จึงนำไปสู่ความล้มเหลวหายนะ

ในยุคนั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำทางศาสนา  ซึ่งมีบทบัญญัติ  กฎเกณฑ์  ศีลธรรม  จริยธรรม  และความเชื่อศรัทธาต่อพระเจ้าเป็นหลักในการปกครอง บริหารจัดการ  มีพระประสงค์ของพระเจ้าเป็นเป้าหมายในการเป็นผู้นำ   แต่ผู้นำศาสนาในยุคเอเสเคียลเมื่อประมาณ 2,500 ปีก่อนหน้านี้กลับทำตัวตรงกันข้ามกับขอบเขต กฎเกณฑ์ ความเชื่อ  และพระประสงค์ของพระเจ้า   เอเสเคียลใช้ประโยคที่ว่า เขาไม่ได้เลี้ยงแกะแต่เขาเลี้ยงตนเอง

เอเสเคียลใช้ภาพคนเลี้ยงแกะหมายถึงผู้นำ  และแกะหมายถึงประชาชนคนอิสราเอล   เอเสเคียลเผยพระวจนะว่า  พระเจ้า “กล่าวโทษ” ผู้เลี้ยงแกะของอิสราเอล   ในฉบับอมตธรรมแปลว่า พระเจ้าประณามคนเลี้ยงแกะของอิสราเอล   ถ้าเป็นปัจจุบัน  เอเสเคียลคงใช้ว่า  พระเจ้าประณามพฤติกรรมของผู้นำโบสถ์ องค์กรคริสเตียน ผู้อภิบาลในคริสตจักร   ตลอดจนผู้นำในชุมชนคริสเตียน

สิ่งที่พระเจ้าทรงกล่าวโทษหรือประณามคือ  ผู้นำเหล่านี้มิได้ทำหน้าที่ที่พระเจ้าทรงมอบหมาย  หรือมิเป็นผู้นำตามพระประสงค์ของพระเจ้า   คือการเลี้ยงดูแกะ  การปกป้องคุ้มครอง   การเยียวยารักษา   ตามหาแกะที่หลงทาง  เสาะหาแกะที่หายไป   ตรงกันข้าม  ผู้นำเหล่านี้กระทำทุกอย่างฝืนพระประสงค์ของพระเจ้า   นอกจากไม่ทำหน้าที่ของผู้เลี้ยงตามพระประสงค์ของพระเจ้าแล้ว   ผู้นำเหล่านี้กลับตักตวงผลประโยชน์ทุกด้านสำหรับตนเอง   พวกผู้นำแทนที่จะเลี้ยงดูแกะ  แต่เขากินแกะ   แทนที่จะปกป้องแกะ   แต่เขาเอาขนแกะมาคลุมกายเพื่อความสวยงามและอบอุ่นของตนเอง  แทนที่จะคุ้มครองรักษา   แต่ผู้นำฆ่าแกะ   พวกผู้นำเลี้ยงแกะด้วยการควบคุมและบังคับด้วยความเกรี้ยวกราด แทนที่จะต้อนแกะให้เข้าฝูง   แต่ผู้นำทำให้ฝูงแกะต้องแตกกระเจิง   ด้วยพฤติกรรมที่เลวร้ายเช่นนี้พระเจ้าทรงประกาศความเป็นศัตรูกับพวกผู้เลี้ยงแกะ   พระเจ้าทรงประกาศพระองค์เองเป็น “ปฏิปักษ์”  กับผู้นำศาสนา  กับศิษยาภิบาล  กับศาสนาจารย์  กับผู้ปกครองคริสตจักร  กับผู้อำนวยการ  ผู้จัดการสถาบันคริสเตียน

เอเสเคียลบทที่ 34 ท้าทายพวกเราที่ได้รับมอบหมายอำนาจในการเป็นผู้นำระดับต่างๆ ให้พิจารณาถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ และ การใช้อำนาจของตนที่ได้รับจากพระเจ้าว่า   ท่านตั้งใจที่จะแสวงหาทางในการรับใช้คนที่ท่านนำหรือไม่?   หรือแท้จริงแล้วเราใช้อำนาจเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง?   ท่านเคยตัดสินใจเลือกทำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับพระเจ้า  คริสตจักร  องค์กรที่ท่านนำแม้ว่ามันมิใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับท่านก็ตาม?   หรือในแต่ละครั้งที่ท่านต้องตัดสินใจท่านคิดคำนวณในใจแล้วว่า ทำอย่างไรที่ท่านจะได้รับผลประโยชน์สูงสุด และเสียผลประโยชน์ส่วนตนน้อยที่สุด?   ท่านตัดสินใจ บริหารดู แลคริสตจักรและองค์กรที่พระเจ้าทรงมอบหมายแบบเอาตัวรอด ให้ตนปลอดภัยแต่ยอมปล่อยให้ความสูญเสียและหายนะเกิดกับองค์กร คริสตจักร และหน่วยงานที่ท่านดูแลหรือไม่?   

ในการใคร่ครวญวันนี้ อาจจะเป็นโอกาสที่ท่านตรวจสอบความสัตย์ซื่อจริงใจของท่านในความเป็นผู้นำของท่าน  ใช้เวลานี้ทูลขอการทรงช่วยจากองค์พระผู้เป็นเจ้าที่จะช่วยให้ท่านเห็นความจริงในตัวท่าน   เพื่อท่านจะได้รับใช้พระองค์และคนอื่นๆ ด้วยความสัตย์ซื่อจริงใจ

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญ

1. ท่านเคยถูกยั่วยวน ล่อใจ ให้ใช้ตำแหน่ง หรือ อำนาจที่ได้รับมอบหมายในการแสวงหาสิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับตนหรือไม่?  

2. อะไรที่ช่วยให้ท่านมุ่งมั่นตั้งใจในการรับใช้พระเจ้า และ คนอื่นๆ?

ใคร่ครวญภาวนา

พระเจ้าผู้กอปรด้วยความยุติธรรมและเปี่ยมด้วยความเมตตา   พระองค์ทรงประทานมอบหมายให้ข้าพระองค์ให้นำในที่ทำงานของข้าพระองค์  ในครอบครัว  ในคริสตจักร  และในที่อื่นๆ  ข้าพระองค์ขอขอบพระคุณพระองค์   เมื่อข้าพระองค์เป็นผู้นำในทุกวันนี้  ข้าพระองค์ต้องเผชิญหน้ากับการทดลองที่จะแสวงหาผลประโยชน์สำหรับตนเอง   ข้าพระองค์ไม่ต้องการที่จะเป็นเหมือนผู้เลี้ยงแกะของอิสราเอล  แต่ข้าพระองค์ต้องการที่จะทำหน้าที่ในการนำด้วยความสัตย์ซื่อเพื่อที่จะเป็นที่ถวายเกียรติยศแด่พระองค์   ด้วยการนำมาถึงซึ่งผลประโยชน์สำหรับคนที่ข้าพระองค์นำ  และประโยชน์สำหรับแผ่นดินของพระองค์

ข้าพระองค์ทูลขอให้พระองค์โปรดช่วยข้าพระองค์  ให้เห็นชัดถึงความตั้งใจของตนเองและรู้เท่าทันถึงแรงจูงใจในตนเอง  โปรดปกป้องข้าพระองค์จากการหลอกตนเอง   และเมื่อใดก็ตามที่ข้าพระองค์หมกมุ่นสนใจแต่ตนเองโปรดกระตุ้นเตือนข้าพระองค์ให้รู้ตัว   โปรดใช้ข้าพระองค์เพื่อทำสิ่งดีสำหรับประชากรของพระองค์และเพื่อแผ่นดินของพระองค์   อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

17 กรกฎาคม 2555

สลัดจากความคุ้นชินและความไม่ใส่ใจ


จะทำให้คนที่อยู่ในมุมสบายคุ้นชินในคริสตจักรออกไปสู่การติดตามพระคริสต์ได้อย่างไร


ริชาร์ด สเติร์นส์ ได้ขอให้เราลองหลับตาและจิตนาการถึงภาพของประเทศอัฟริกา ในช่วงกลางทศวรรษ 1990 ที่ต้องเผชิญกับมหันตภัยจากการแพร่ระบาดของโรคเอดส์  ประชากรผู้ใหญ่ต้องเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก  ถ้าคุณอยู่ในสถานการณ์นั้น   คุณจะทำอย่างไร?

ยิ่งกว่านั้น ในทุกวันดูเหมือนว่าในชุมชนที่ท่านอยู่นั้นมีจำนวนเด็กกำพร้าเพิ่มมากขึ้นทุกวัน   แน่นอนครับคริสตจักรของท่านต้องลุกขึ้นเพื่อจัดการวิกฤติชีวิตที่ทวีความรุนแรง   ท่านจะต้องหาทางทำอะไรสักอย่างหนึ่งเมื่อผู้คนจำนวนล้านกำลังเสียชีวิต   สร้างผลกระทบให้ครอบครัวต้องแตกฉีกขาด   ธุรกิจโลงศพกำลังเฟื่องฟู

ท่านจะไม่ลุกขึ้นทำอะไรเลยหรือ?

ครั้งเมื่อผม(ผู้เรียบเรียง)ทำงานพันธกิจเอดส์ในประเทศไทย  ผมมีโอกาสไปเยี่ยมประเทศอูกานดาในช่วงเวลากำลังมีวิกฤตการณ์เกี่ยวกับเอดส์กับทีมแพทย์พยาบาลจากประเทศไทย   ผมกลับพบเห็นว่าผู้คนที่นั่นมิได้กระตือรือร้นที่จะต้องลงแรงจัดการเกี่ยวกับปัญหาเอดส์มากเท่าที่คาดคิดในใจ  และเท่าที่ควรจะต้องทำ

ผมและทีมดูงานจากประเทศไทยได้เข้าเยี่ยมหมูบ้านแห่งหนึ่งบ้านส่วนใหญ่ปิดร้าง   ในแต่ละวันจะมีคนมานำเด็กกำพร้าที่พ่อแม่เพิ่งตายจากเอดส์ไปที่บ้านสงเคราะห์เด็กกำพร้า   ทุกคนรู้ว่าเป็นความเลวร้ายที่โรคนี้แพร่ขยายอย่างรวดเร็ว   แต่การตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดูไม่เพียงพอ

ผมมีโอกาสไปพบกับศิษยาภิบาล  ผู้นำคริสตจักรในอูกานดา   ต่างแสดงความคิดเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า “คริสตจักรเทศนาเรื่องการพิพากษาของพระเจ้า”   เพราะการแพร่ระบาดของโรคร้ายนี้ถูกมองว่าเกิดจากการที่ผู้คนประพฤติไร้ศีลธรรมไร้จริยธรรม   มีการพูดถึงเรื่องความรักเมตตาในสถานการณ์นี้เพียงน้อยนิด   ซึ่งเช่นเดียวกับที่ สเติร์นส์ได้คำตอบจากการสัมภาษณ์ศิษยาภิบาล โจเซฟ เซนโยกา

จำนวนผู้เข้าร่วมนมัสการในคริสตจักรของโจเซฟลดน้อยลงเพราะผู้คนในชุมชนเสียชีวิต  แต่เขาก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี

โจเซฟบอกกับสเติร์นส์ว่า   “ในฐานะศิษยาภิบาล  เรากังวลอย่างมากพร้อมกับความกลัว”

ในหม้อต้มน้ำที่สบายๆ

สเติร์นส์ เล่าว่า องค์กรของเราได้เริ่มต้นให้ความช่วยเหลือแก่คนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคเอดส์   แต่ก็เหมือนกับองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือและคริสตจักรทั่วไป   เราตอบสนองอย่างเชื่องช้า   ทั้ง    ศิษยาภิบาลในคริสตจักรท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่คนทำงานขององค์กรของเราต่างซึมซับกับสถานการณ์ที่ค่อยๆ เพิ่มความรุนแรงขึ้นของการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ในช่วงทศวรรษ 1980 และช่วงต้นของทศวรรษ 1990   มีคนต้องเจ็บป่วยด้วยโรคนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และจบลงด้วยการเสียชีวิต   จนรู้สึกคุ้นชินกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งๆ ที่เพิ่มความรุนแรงมากขึ้น

เราท่านคงเคยได้ยินเรื่องกบในหม้อต้มน้ำ   น้ำในหม้อค่อยๆ มีอุณหภูมิร้อนเพิ่มขึ้นไปสู่จุดเดือด  แต่เราเป็นเหมือนกบตัวนั้นรู้สึกอุ่นสบายในหม้อต้มน้ำนั้น   ไม่คิดจะกระโดดออกจากหม้อ

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเรามิได้สนใจอีกทั้งเมินเฉยต่อสถานการณ์ภายนอกหม้อ(ว่าไฟในเตาที่หม้อตั้งอยู่กำลังโหมแรงขึ้น)  เราจึงไม่ทุ่มตัวเข้าไปตอบสนองต่อสถานการณ์นี้   ในขณะที่ความร้อนกำลังเพิ่มมากขึ้น  ผมเอง(สเติร์นส์)ก่อนหน้านี้มิได้ทำงานองค์กรการกุศล  แต่เมื่อเข้ามามีส่วนในองค์กรที่รับผิดชอบปัจจุบัน   และก็ไม่รู้สถานการณ์นี้ดี  แต่สังเกตเห็นการแพร่ระบาดของโรคเอดส์จึงถามว่า  แล้วองค์กรของเรากับคริสตจักรคู่มิตรในท้องถิ่นได้ช่วยอะไรบ้าง   ต้องมีคนจากข้างนอกองค์กรการกุศลนานาชาติที่รู้สึกการเพิ่มขึ้นของความร้อนในหม้อ  หรือการเพิ่มความร้อนแรงขึ้นของประเด็นนั้นๆ มาถาม มากระตุ้น

สำหรับคริสตจักรปัจจุบันของเรา  เราเป็นเหมือนกบที่อยู่ในหม้อต้มน้ำ(ในคริสตจักรและชุมชน)ที่มีอุณหภูมิค่อยๆ เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับความยากจน  ผู้คนใช้สารเสพติด  แรงงานข้ามชาติ  การค้ามนุษย์  และประเด็นสำคัญอื่นๆ  ซึ่งผู้นำคริสตจักรก็เผชิญหน้ากับประเด็นปัญหาเหล่านี้เหมือนกัน   เราจะเอาชนะความรู้สึกคุ้นชิน(น่าจะชาชิน)ต่อสถานการณ์ปัญหาที่ประสบของผู้นำเหล่านี้อย่างไร?   ทำอย่างไรที่คริสตจักรจะเทศนาถึงพระกิตติคุณที่ครบถ้วนสมบูรณ์ หรือ ที่มีคนเรียกว่าพระกิตติคุณอย่างเป็นองค์รวม?   แล้วเราจะสร้างสาวกได้อย่างไรในเมื่อสมาชิกคริสตจักรรู้ถึงสบายและอบอุ่นคุ้นชินในที่นั่งของตนในคริสตจักร?

สเติร์นส์กล่าวว่า  สำหรับผมมองว่านี่คืองานที่ยากลำบากที่สุดในโลกนี้สำหรับศิษยาภิบาล  เป็นภาระงานที่ “เขี้ยวที่สุด”  แต่เป็นงานที่ผมชื่นชอบในองค์กรที่ผมมีส่วนร่วมงาน   เพราะในงานนี้เป็นการนำผู้คนที่มีชีวิตคริสเตียนที่สัตย์ซื่อสัมผัสกับชีวิตจริงในชุมชน   และเป็นการเสริมสร้างอภิบาลชีวิตสมาชิกให้สำแดงความเป็นสาวกของพระคริสต์ตามความเชื่อที่เขาประกาศ   และเราจะต้องยืนหยัดชีวิตตามพระกิตติคุณ  ครั้งแล้วครั้งเล่า  ปีแล้วปีเล่า   เราต้องต่อสู้กับความรู้สึกอบอุ่นสบายมั่นคงทั้งของเพื่อนสมาชิกในคริสตจักรและตัวเราเอง

ต่อไปนี้เป็นแผนกลยุทธ์บางประการที่สเติร์นส์ได้พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้คริสเตียนดำเนินชีวิตตามที่ตนเชื่อศรัทธาและตามระบบคุณค่าและคุณธรรมของพระกิตติคุณ

อาณาจักรแห่งความมหัศจรรย์ หรือ ดินแดนมหาสลดกันแน่

เมื่อสเติร์นส์ พูดกับเจ้าหน้าที่ในองค์กร และเมื่อไปพูดคุยกับคริสตจักร   เขาพยายามที่จะให้เกิดการเปลี่ยนมุมมองของคริสตจักรเกี่ยวกับโลก

สภาพคริสตจักรในเมืองใหญ่ เป็นเหมือนเราอยู่ในดินแดนมหัศจรรย์  หรือเหมือนกับอยู่ในดิสนีย์แลนด์  คุณเริ่มจากซื้อตั๋วเพื่อเข้าชมดินแดนมหัศจรรย์แห่งนี้   และเมื่อท่านผ่านเข้าไปในดินแดนมหัศจรรย์นี้แล้ว   ทุกอย่างที่ท่านเห็น  ท่านชม  ท่านเล่น เป็นเรื่องที่ทางสวนสนุกควบคุมหรือตั้งโปรแกรมไว้ทั้งสิ้น   ไม่วาจะเป็นการขับขี่  การเล่นน้ำ  หรือการชมการแสดงต่างๆ   ทั้งหมดถูกควบคุมเพื่อให้คุณได้รับความเพลิดเพลิน สนุกสนาน และพึงพอใจ   สิ่งเดียวที่คุณต้องทำคือ คุณต้องไปอยู่ในนั้นในฐานะผู้ชม  ผู้สังเกตการณ์  และเป็นผู้รับบริการ

แต่นอกกำแพงสวนสนุกดิสนีย์แลนด์  กลับถูกห้อมล้อมด้วยโลกแห่งความเป็นจริง  และเป็นโลกที่มีปัญหาแท้จริงมากมาย  ไม่ว่าจะเป็นแหล่งเสื่อมโทรม  สลัมแออัด  เป็นแหล่งเสพและขายสารเสพติด   เป็นที่ที่มีแต่ความรุนแรง  มาพบความจริงว่า ดินแดนแสนสนุกที่ดึงดูดใจลูกค้ากลับถูกล้อมด้วยเพื่อนบ้านสลัม ดินแดนแออัด   ภายในกำแพงเป็นดินแดนแสนมหัศจรรย์  แต่ภายนอกกำแพงกลับเป็นชีวิตที่น่าสลด

ในฐานะคริสเตียน  เรามักถูกหล่อหลอมและเย้ายวนให้มองสังคมโลกด้วยสายตาแบบนี้คือ   เรามักเริ่มคิดว่า ภารกิจของเราคือการเชื้อเชิญผู้โชคดีบางคนเข้ามาสัมผัสกับสวนสนุกที่น่ารื่นรมย์  ที่อยู่ต่างหากแยกตัวจากความทุกข์ยากนอกดินแดนอัศจรรย์นี้   แต่งานของเราในฐานะคริสเตียนต้องตระหนักชัดว่า มิใช่เพิ่มจำนวนคนที่เข้ามาชมและซื้อบริการในดิสนีย์แลนด์  แต่ภารกิจของเราคือรื้อกำแพงของดินแดนมหัศจรรย์นี้และเปลี่ยนแปลงโลกที่อยู่นอกกำแพงของดินแดนอันรื่นรมย์นี้

จากประสบการณ์ของสเติร์นส์ การที่จะให้ใครคนใดคนหนึ่งให้มีความคิดและสนใจสภาพชีวิตของชุมชนล้อมรอบนอกกำแพงดินแดนมหัศจรรย์คือการที่จะนำคนเหล่านี้เข้าไปพบเห็นและสัมผัสกับชีวิตชุมชนที่เราทำงานพัฒนา และคงไม่มีอะไรที่จะก่อกวนความคิดความรู้สึกที่เมตตากรุณามากไปกว่าการที่เข้าไปสัมผัสกับงานชีวิตของเด็กและครอบครัวที่กำลังมีความจำเป็นต้องการอย่างไม่มีทางเลี่ยงได้

บ่อยครั้ง  แทนที่จะคิดถึงแต่ความจำเป็นต้องการของตนเอง   แต่เมื่อเขาไปเห็นถึงความใจกว้างของคนยากคนจนที่เห็นใจและช่วยเหลือกัน   ทำให้ผู้ที่ไปเยี่ยมที่พวกเขามีสิ่งของสมบัติมากมายเกิดความรู้สึกอายต่อความใจกว้างของคนยากคนจนเหล่านี้

ศิษยาภิบาลอาวุโสท่านหนึ่งจากคริสตจักรแห่งหนึ่งในเมืองดาลัส   ได้เดินทางไปกับทีมดูงานขององค์กรที่สเติร์นส์ร่วมงานด้วย ที่ไนโรบีเมืองหลวงของประเทศเคนยา   ประสบการณ์ชีวิตครั้งนี้ได้ทะลุกำแพง “ดินแดนมหัศจรรย์” ของเขา   เขาได้พบเห็นเด็กชายกำพร้าวัย 18 ปี  เรียนรู้ที่จะเปิดร้านขายโทรศัพท์มือถือเพื่อหารายได้เลี้ยงชีพ   แล้วเขาได้เอารุ่นน้องที่เป็นเด็กกำพร้าอีกคนหนึ่งมาร่วมในการค้าขายของเขา   แล้วแบ่งกำไรให้กับเด็กคนนั้น   แล้วสอนเด็กชายคนนั้นในการทำธุรกิจขายโทรศัพท์   นี่เป็นภาพของความใจกว้างของเด็กกำพร้าคนหนึ่งที่มีต่อเด็กกำพร้าอีกคนหนึ่ง   ภาพนี้เปลี่ยนชีวิตของศิษยาภิบาลอาวุโสจากดาลัสท่านนั้น

เมื่อเราเดินข้ามกำแพงดินแดนมหัศจรรย์  เราพบกับความจริงใหม่  ความจริงในดินแดนที่แสนสลดที่รอการเปลี่ยนแปลงจากพระกิตติคุณ   ดินแดนที่จะทำให้เราต้องลุกจากความรู้สึกสบายคุ้นชิน

ในดินแดนแห่งความสลด   ผู้คนที่นั่นจำนวนพันจำนวนล้านคนที่ต้องเข้าหลับนอนกลางคืนด้วยท้องที่ว่างเปล่า  ในดินแดนแห่งนั้นผู้คนจำนวนมากมายไม่มีน้ำสะอาดสำหรับดื่ม  และในโลกที่เป็นจริงแห่งนี้   คนส่วนใหญ่ที่มีชีวิตด้วยรายได้วันละน้อยกว่าสองเหรียญอเมริกัน   ในดินแดนแห่งความน่าสลดมีเด็กกำพร้าอัฟริกา 59 ล้านคน  และมีเด็กทั่วโลกที่ตายเพราะโรคที่สามารถป้องกันได้ในแต่ละปี   และสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นอีกในวันพรุ่งนี้

วิธีหนึ่งที่เราจะช่วยให้หนุ่มสาวลุกออกจากที่สบายคุ้นชินในดินแดนมหัศจรรย์ได้  โดยให้พวกเขาอดอาหาร 30 ชั่วโมง   พวกเขาจะได้เรียนรู้ถึงวินัยจิตวิญญาณของการอดอาหาร   พวกเขาจะสัมผัสประสบการณ์ของความหิว ความเจ็บปวดของผู้คนนับพันล้านคนในโลกนี้ที่ต้องทนทุกข์กับความหิวโหยในแต่ละวันและแต่ละคืน   ประสบการณ์จากการอดอาหารจะช่วยให้คนหนุ่มสาวเหล่านี้ได้เห็นถึงชีวิตของตนผ่านชีวิตของเพื่อนมนุษย์ทั่วโลก

หลายต่อหลายที่ในโลกนี้ไม่จำเป็นจะต้องตกเป็นดินแดนแห่งความสลด  เพราะเรื่องความหิวโหยเป็นสิ่งที่เราสามารถป้องกันได้   หลายโรคเป็นสิ่งที่เราสามารถป้องกันได้   และสาเหตุความตายหลายประการก็เป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้เช่นกัน   สิ่งเลวร้ายเหล่านี้ยังเกิดขึ้นก็เพราะเราไม่ใส่ใจพอที่จะป้องกันมิให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น

ถ้าผมเป็นแพทย์ที่จะต้องเซ็นใบมรณบัตรของคนที่ต้องเสียชีวิตอย่างไม่จำเป็นจะต้องตาย   ผมคงไม่ขอเขียนว่าเขาตายเพราะ  “โรคหัด”  หรือ  “มาลาเรีย”   “วัณโรค” หรือ “เอดส์”  แต่ผมขอเขียนว่าเขาตายเพราะ “ความไม่ใส่ใจ”   และนี่คือโรคร้ายที่สุดในบรรดาเชื้อโรคทั้งหลาย

ยึดมั่นในสัจจะของพระเจ้า

อะไรที่จะนำประชาชนในคริสตจักรออกไปจากดินแดนมหัศจรรย์?   ผู้เผยพระวจนะในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม  ยึดมั่นสัจจะของพระเจ้าเป็นมาตรฐานต่อหน้าประชากรของพระองค์   ผู้เผยพระวจนะกล่าวอย่างชัดแจ้งว่า พระเจ้าทรงมีพระประสงค์อะไร   พระเจ้าทรงคาดหวังอะไรจากพวกเขา   และบ่งชี้ให้ประชาชนว่าได้กระทำผิดอะไรด้วย

พระเจ้าตรัสกับผู้เผยพระวจนะอิสยาห์ว่า “จงร้องดังๆ อย่าออมเสียงไว้   จงเปล่งเสียงของเจ้าอย่างเป่าเขาสัตว์   จงแจ้งให้ชนชาติของเรารู้ตัวถึงการทรยศของเขา   ให้เชื้อสายยาโคบรู้ตัวในเรื่องบาปของเขา” (อิสยาห์ 58:1)

ในข้อต่อไปได้อธิบายถึง วิถีทางที่อิสราเอลเชื่อว่าเป็นหนทางที่กระทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า “ราวกับว่า...พวกเขายินดีจะเข้าใกล้พระเจ้า” (ข้อ 2)   แต่ความจริงหาใช่เป็นเช่นนั้นไม่   พวกเขาอดอาหาร   แต่เขา “บีบบังคับคนงานทั้งหมดของเจ้า” (ข้อ 3)   เขาอธิษฐานต่อพระเจ้า  “เพื่อวิวาทต่อสู้  และเพื่อต่อยด้วยหมัดอธรรม” (ข้อ 4)

ผู้เผยพระวจนะในอิสราเอลประกาศถึงสัจจะของพระเจ้าว่า  พิธีการอดอาหารที่พวกอิสราเอลทำกันมิใช่ การอดอาหารที่พระเจ้าพึงพอใจ   แต่การอดอาหารที่พระเจ้าประสงค์ต้องการคือการแบ่งปันอาหารแก่ผู้หิวโหย   ให้ที่พักคุ้มกายแก่คนยากไร้   และการอดอาหารที่แท้จริงคือการแก้พันธนะอธรรม  แก้สายรัดแอก  ปลดปล่อยผู้ถูกบีบบังคับให้เป็นอิสระ (ข้อ 5-7)

อิสราเอลเป็นตัวอย่างที่เยี่ยมยอดสำหรับผู้นำคริสตจักรในสมัยนี้   เราจำเป็นที่จะต้องท้าทายสมาชิกในชุมชนคริสตจักรของเราด้วยสัจจะของพระเจ้า  แล้วเปรียบเทียบกับแนวทางการดำเนินชีวิตของเราในปัจจุบัน   เราต้องหนุนช่วยผู้คนให้สามารถมองเห็นถึงชีวิตของตนเองจากการสะท้อนคิดไตร่ตรองสัจจะของพระเจ้า   และนี่คือจุดเริ่มต้นในการเป็นสาวกของพระองค์

เมื่อไม่นานมานี้  คุณแม่ที่อยู่แถบชานเมืองได้บอกเราถึงการที่เธอทำกิจกรรมจากห้องครัวของเธออย่างไร

นักศาสนศาสตร์จะพูดถึงอัตลักษณ์ของคริสเตียนและกิจกรรมต่างๆ อาจจะดูแตกต่างกันในที่ต่างๆ ทั่วโลก  ขึ้นอยู่กับว่าท้องถิ่นนั้นๆ มีความจำเป็นต้อการอะไร และ มีวัฒนธรรมแบบไหน

ผู้นำอาสาสมัครคริสตจักรบอกกับเราถึงการที่เธอไปทำงานกับเด็กในโรงเรียนโดยการใช้หลักสูตรหลังเลิกเรียนของเธอ

หัวเรื่องอาจจะแตกต่างกันไป แต่สาระแก่นสารอันเดียวกัน   เราอยู่เพื่อที่จะช่วยเด็กๆ ครอบครัวของเขา  และชุมชนของเขาให้ได้มีประสบการณ์กับชีวิตที่ครบบริบูรณ์ในพระเยซูคริสต์

ทั้งเจ้าหน้าที่ทำงานและผู้สนับสนุนองค์กร  เราเสนอโอกาสในการบริการ  ทั้งในการนมัสการและเทศนา   การเดินทางไปยังภาคสนามงาน   โปรแกรมสำหรับคริสตจักรที่จะบอกถึงสัจจะความจริงของพระเจ้า   เพื่อผู้คนสมาชิกคริสตจักรจะได้รับสัจจะความจริงจากพระวจนะของพระเจ้า  เพื่อเข้าไปแทนที่ความเฉื่อยชาคุ้นชินด้วยความกระตือรือร้น

เราต้องสื่อสารสัจจะความจริงของพระเจ้า  อย่างไม่ลดละ  อย่างต่อเนื่อง   เราต้องไม่ขลาดกลัวที่จะเผชิญหน้ากับผู้คนบนรากฐานพระวจนะ   และพร้อมที่จะยอมรับค่าราคาที่ต้องจ่ายของการติดตามเป็นสาวกพระคริสต์   เป้าหมายของเราคือการรวมตัวของผู้ติดตามพระเยซูคริสต์อย่างเต็มใจและทุ่มเท

นำการปฏิวัติคริสตจักร

การนำผู้คนออกจากดินแดนมหัศจรรย์  การสื่อสารสัจจะของพระเจ้าเป็นขั้นตอนที่จำเป็นและสำคัญ  เพื่อผลักดันคนให้ออกไปจากที่สบายพึงพอใจ  แต่ในฐานะผู้นำ เราต้องก้าวไปล่วงหน้าอีกก้าวหนึ่ง   เราได้รับการทรงเรียกให้ปฏิวัติ

ทุกปี ศิษยาภิบาล Bruxy Cavey จะเทศนาที่เรียกว่า “วันอาทิตย์ฟอกล้าง” เขาจะขึ้นไปข้างหน้าและให้สัจจะความจริงแก่สมาชิกในคริสตจักรว่า   “ถ้าคุณไม่ถวาย  ก็ออกจากคริสตจักรแห่งนี้   ถ้าคุณไม่รับใช้คนยากจน ก็ไปจากคริสตจักรนี้  ถ้าคุณไม่ถวายตัวอย่างเต็มที่  และไม่อุทิศทั้งสิ้นติดตามพระคริสต์   คุณควรหาคริสตจักรอื่น”

จำเป็นอย่างยิ่งครับที่เราต้องเรียกร้องให้สมาชิกคริสตจักรแต่ละคนอุทิศถวายตัวอย่างจริงจัง

ด้วยวิธีการของ Cavey เป็นสิ่งที่น่าสนใจ  เขาบอกว่า  “ในทุกปี  เมื่อผมทำอย่างที่เล่าจะมีคนประมาณ 10-15%  ออกไปจากคริสตจักร   อาทิตย์ต่อมาจะมีคนร่วมจำนวนน้อยลง  แต่หลังจากนั้นหนึ่งปี   ชุมชนเราเติบใหญ่ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง   กระทั่งมีบางคนที่ออกจากคริสตจักรของเรา  กลับมาร่วมกับเราใหม่อีก”

บ่อยครั้ง เราให้ความสำคัญอันดับแรกๆ กับการสร้างความเข้มแข็งของสถาบันหรือองค์กรมากกว่าการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงชีวิตคริสตจักร  แต่คริสตจักรปัจจุบันต้องการปฏิวัติชีวิต    พระเยซูคริสต์ประสงค์ให้เรานำการสร้างคนด้วยการติดอาวุธแห่งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์  แล้วส่งคนเหล่านี้เข้าไปในสังคมโลก   แต่เรามักพบกับการทดลองให้เปลี่ยนค่ายสร้างคนเป็นอุทยานพักผ่อน    เป็นงานของผู้นำคริสตจักรที่จะต้องเป็นหัวหน้านำในการปฏิวัติชีวิตคริสเตียนของสมาชิกในคริสตจักร

เมื่อองค์กรของเราทำงานเป็นคู่มิตรกับคริสตจักรท้องถิ่น  สิ่งแรกที่เราทำมักจัดโอกาส ให้ศิษยาภิบาลอาวุโสของคริสตจักรได้ออกไปเรียนรู้ในพื้นที่งานของเรา   เราเรียนรู้ว่า ถ้าศิษยาภิบาลอาวุโสไม่ยอมรับนิมิต  คริสตจักรจะไม่ตอบสนอง   ตรงกันข้าม  เมื่อศิษยาภิบาลเกิดนิมิตและแบ่งปันนิมิตนั้นกับสมาชิกในคริสตจักร   ชีวิตจะเกิดการเปลี่ยนแปลง  งานนี้เริ่มต้นจากผู้นำ

ผู้นำคริสตจักรบางท่านอาจจะให้ความสำคัญกับการสร้างและรักษาสถาบันหรือองค์กรคริสตจักรไว้   เราจะไม่สามารถเอาชนะความรู้สึกอบอุ่นคุ้นชินสบายของสมาชิก   เป้าหมายของเราคือต้องการปฏิวัติในส่วนของการขับเคลื่อนพันธกิจของเรา

คริสเตียนปัจจุบันต้องการการปฏิวัติ  เขาต้องการผู้นำที่เต็มใจและกล้าหาญพอที่จะนำพวกเขาไปรับใช้คนยากคนจน เลี้ยงดูผู้หิวโหยในพระนามของพระเยซูคริสต์ และนี่คือการแพร่ขยายข่าวประเสริฐของพระเยซูคริสต์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499
ซึมซับและเรียบเรียง จากข้อเขียน เรื่อง Shedding Lethargy ของ Richard Stearns
ประธานกรรมการองค์การศุภนิมิตแห่งสหรัฐอเมริกา  และ ผู้เขียนหนังสือ The Hole in Our Gospel