30 มกราคม 2556

สมาชิกคริสตจักรคือใคร?


อ่าน  1โครินธ์ 12:4-11

ของประทานนั้นมีต่างๆ กัน                           แต่มีพระวิญญาณองค์เดียวกัน
การปรนนิบัติมีต่างๆ กัน                                แต่มีองค์พระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวกัน
กิจกรรมมีต่างๆ กัน                                       แต่มีพระเจ้าองค์เดียวกันเป็นต้นเหตุแห่งกิจกรรมทั้งหมดในทุกคน

การสำแดงของพระวิญญาณนั้น                   พระองค์ประทานแก่แต่ละคนเพื่อประโยชน์ร่วมกัน

พระเจ้าประทานโดยทางพระวิญญาณ  

ให้คนหนึ่งมีถ้อยคำของปัญญา  
และอีกคนหนึ่งมีถ้อยคำของความรู้             โดยพระวิญญาณองค์เดียวกัน
ให้คนหนึ่งมีความเชื่อ                                  โดยพระวิญญาณองค์เดียวกัน
ให้อีกคนหนึ่งมีของประทานรักษาโรค         โดยพระวิญญาณองค์เดียวกัน

ให้อีกคนหนึ่งทำการด้วยฤทธานุภาพ                 
ให้อีกคนหนึ่งเผยพระวจนะ
ให้อีกคนหนึ่งรู้จักสังเกตวิญญาณต่างๆ
ให้อีกคนหนึ่งพูดภาษาแปลกๆ
ให้อีกคนหนึ่งแปลภาษานั้นๆ ได้
พระวิญญาณองค์เดียวกันทรงทำและจัดสรรสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดแก่แต่ละคนตามชอบพระทัยพระองค์

สมาชิกคริสตจักรในปัจจุบันบางครั้งเกิดความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน   เรามักเรียกศาสนาจารย์  ศิษยาภิบาล  หรือนักเทศน์   มิชชันนารี  ผู้ประกาศข่าวประเสริฐ ว่าเป็นผู้รับใช้พระเจ้า   แล้วเรียกผู้คนที่เหลือที่มาร่วมในการนมัสการพระเจ้าในวันอาทิตย์ว่าเป็นสมาชิกคริสตจักร ศาสนาจารย์  ศิษยาภิบาล  นักเทศน์  กลายเป็นผู้ขับเคลื่อนชีวิตคริสตจักร ในขณะที่สมาชิกคนอื่นๆ ในคริสตจักรเป็นเหมือนผู้ชม  หรือนั่งดูการขับเคลื่อนของผู้นำคริสตจักรกลุ่มหยิบมือเดียวในคริสตจักร

แต่ในแผ่นดินของพระเจ้าไม่มีผู้ที่เป็น “ผู้ชม” แต่ทุกคนเป็นผู้กระทำขับเคลื่อนพันธกิจ!

ทุกคนในแผ่นดินของพระเจ้า   ทุกคนที่เป็นสมาชิกคริสตจักร   ทุกคนที่เชื่อศรัทธาในพระเจ้าต้องเป็นผู้ที่ทำงานร่วมกับพระเจ้า (2โครินธ์ 6:1) พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ผ่านชีวิตของผู้ที่เชื่อ ผ่านชีวิตสมาชิกคริสตจักรแต่ละคน   เพื่อให้ข่าวดีของพระเยซูคริสต์สำเร็จเป็นจริงอย่างเป็นรูปธรรมที่ผู้คนสามารถเห็นและสัมผัสด้วยชีวิตได้ สมาชิกทุกคนเป็นคนงานของพระเจ้า เราเป็นคนงานที่จะเก็บเกี่ยวในทุ่งนาแห่งพระราชกิจของพระเจ้า (มัทธิว 9:37-38)

เมื่อพระเจ้ามีพระประสงค์ให้ผู้เชื่อศรัทธาในพระเจ้าทุกคน  สมาชิกคริสตจักรทุกคนเป็นผู้ที่ร่วมงานขับเคลื่อนพระราชกิจของพระองค์   พระเจ้าจึงทรงประทานของประทานในด้านต่างๆ แก่แต่ละคนอย่างแตกต่างหลากหลาย   ของประทานพิเศษที่แต่ละคนได้รับจากพระเจ้าผ่านทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ ทั้งนี้แต่ละคนต้องตระหนักชัดว่า ของประทานพิเศษ ตะลันต์  หรือ พรสวรรค์ที่มีในแต่ละตัวคนนั้น   เป็นของที่พระเจ้าทรงประทานให้   และทรงประทานให้เพื่อให้คนๆ นั้นได้ใช้ตามพระประสงค์ของพระเจ้า ให้ใช้เพื่อให้พระราชกิจ กิจกรรม  ในแต่ละด้านบรรลุสำเร็จตามพระประสงค์ของพระองค์ และเพื่อให้เป็นประโยชน์ร่วมกัน (ข้อ 7)

กล่าวอีกนัยหนึ่ง พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ผ่านตะลันต์ ความสามารถ พรสวรรค์ หรือ ของประทานที่พระองค์ประทานให้มีในชีวิตของสมาชิกคริสตจักรแต่ละตัวคน พระเจ้าทรงถักทอของประทานของพระองค์ในชีวิตแต่ละคน เพื่อเสริมสร้างคนๆ นั้นเป็นผู้เชื่อ เป็นสมาชิกคริสตจักร  ให้เป็นคนรับใช้พระเจ้าที่มีประสิทธิภาพ

คริสตชน หรือ สมาชิกคริสตจักรแต่ละคนเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงสรรสร้างขึ้นในพระเยซูคริสต์   และเตรียมแต่ละคนไว้  เพื่อให้กระทำการดี   ตามพระประสงค์ของพระองค์ (เอเฟซัส 2:10)   ของประทานจากพระเจ้ามิใช่ความสามารถของเราเอง   เป็นการทำงานและการทรงสำแดงของพระวิญญาณบริสุทธิ์ผ่านการดำเนินชีวิตของเรา   ของประทานของพระเจ้าเป็นเหมือนน้ำเลี้ยงจากลำต้นที่ลำเลียงส่งมาเลี้ยงแต่ละกิ่งแต่ละใบให้เกิดผล  (พระเยซูคริสต์ตรัสว่า) “เราเป็นเถาองุ่น พวกท่านเป็นแขนง  คนที่ติดสนิทอยู่กับเรา  และเราติดสนิทอยู่กับเขา  คนนั้นจะเกิดผลมาก  เพราะว่าถ้าแยกจากเราแล้วพวกท่านจะทำสิ่งใดไม่ได้เลย” (ยอห์น 15:15 ฉบับมาตรฐาน) ในทำนองเดียวกัน สมาชิกคริสตจักรทุกคน ผู้เชื่อศรัทธาทุกท่านต่างต้องตระหนักชัดว่า พระวิญญาณของพระเจ้าสถิตอยู่และทำงานผ่านชีวิตของผู้เชื่อศรัทธาในพระเจ้าแต่ละคน  ทำให้แต่ละคนกระทำงานเกิดผลเป็นการรับใช้พระเจ้า ต้องเข้าใจชัดเจนว่าพลังอำนาจของพระเจ้าทรงอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้นในการทำงานรับใช้และเกิดผลที่กระทำผ่านผู้เชื่อศรัทธาในพระองค์ หรือ สมาชิกคริสตจักร

แต่สมาชิกคริสตจักร หรือ ผู้ที่เชื่อศรัทธาในพระองค์อาจจะถูกหลอกล่อให้หลงผิด ดำเนินชีวิตที่หลงเลี่ยงออกไปนอกลู่นอกทางของพระองค์ เช่น
  • สำคัญผิดคิดไปว่า ที่ตนเองสามารถทำงานพันธกิจด้านต่างๆ เป็นเพราะตนมีความสามารถพิเศษกว่าคนอื่น
  • หลงผิดคิดทำพันธกิจเพื่อผลประโยชน์  เพื่อชื่อเสียง  เพื่อเกียรติยศแห่งตน
  • บางคนบางกลุ่มคิดผิดคลาดเคลื่อนว่า  ตนไม่มีความสามารถอย่างผู้เชื่อศรัทธา หรือ สมาชิกคนอื่นๆ ในคริสตจักร  ดังนั้นจึงไม่คิดที่จะทำหรือรับผิดชอบพันธกิจรับใช้พระเจ้าใดๆ ทั้งสิ้น
  • เมื่อประสบความสำเร็จในการทำงานรับใช้มักหลงลืมพระเจ้าผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนั้น
  • และมักจะนำไปสู่การทำพันธกิจตามใจปรารถนาและตามความต้องการของตนเองมากกว่าที่จะสำนึกและสัตย์ซื่อต่อพระประสงค์ของพระเจ้า

พลังและฤทธานุภาพของพระเจ้านั้นมีพร้อมและเพียงพอสำหรับผู้เชื่อศรัทธาในพระองค์ทุกคน พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าจะหล่อหลอมและเสริมสร้างเราให้เชื่อฟังและทำตามการทรงเรียกขององค์พระผู้เป็นเจ้า อย่าเสียเวลาที่จะเป็นเพียงผู้เชื่อศรัทธาที่ “นั่งดู” คนอื่นเขาดำเนินขับเคลื่อนพระราชกิจของพระเจ้าอย่างเกิดผล และตระหนักรู้ชัดว่าพระเจ้ามีพระประสงค์อย่างยิ่งที่จะเสริมสร้างท่านให้เป็นผู้ทำงานรับใช้ในพระราชกิจของพระเจ้า  ตามพระประสงค์ของพระองค์

ที่สำคัญคือ การที่เรายอมตนเข้าร่วมขับเคลื่อนในพระราชกิจของพระเจ้า เรากำลังมีชีวิตที่ใกล้ชิดกับพระองค์   เราได้เรียนรู้ถึงน้ำพระทัยและพระประสงค์ของพระองค์เด่นชัดและมากยิ่งขึ้น เราได้รับประสบการณ์และเรียนรู้ถึงชีวิตที่มีคุณค่าและความหมายในพระเยซูคริสต์  เราเติบโต เข้มแข็ง และมีชีวิตตามแบบพระคริสต์มากยิ่งขึ้นทุกวัน

วันนี้ให้เราดำเนินชีวิต  ในครอบครัว  ในหน้าที่การงาน  ในชุมชน  ในคริสตจักร และ ในกลุ่มเพื่อนสนิทด้วยความชื่นชมยินดี   เพราะสิ่งเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของการที่เราร่วมในการกระทำพระราชกิจของพระเจ้าประจำวัน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

28 มกราคม 2556

ฤาจะต้องรับบทเรียนแบบอิสราเอล


อ่านสดุดี 137:1-6

ณ ริมฝั่งลำน้ำแห่งบาบิโลน   ที่นั่นเรานั่งลงร่ำไห้เมื่อระลึกถึงศิโยน
(สดุดี 137:1 ฉบับมาตรฐาน)

พระธรรมสดุดีบทนี้เป็น พระคัมภีร์ที่มีความเศร้าสลดอย่างสุดๆ บทหนึ่งของคริสตชน!

เป็นบทเพลงที่บรรยายถึงเชลยศึกอิสราเอลนั่งลงร่ำไห้คร่ำครวญถึงความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตของเขา   แผ่นดินแห่งพระสัญญา  ประเทศที่เจริญรุ่งเรืองที่เป็นที่ภูมิอกภูมิใจของพวกเขา   ต้องถูกจู่โจมด้วยกองทัพของศัตรู  บดขยี้ทำลายเผาจนมอดไหม้   ยิ่งกว่านั้นพวกเขาต้องถูกทำร้าย ทำลาย และถูกขู่เข็ญบีบบังคับ กวาดต้อนไปเป็นเชลยศึกในบาบิโลน   พวกเขาถูกพรากให้ต้องจากแผ่นดินที่เขามีความผูกพันกับพระเจ้า   ต้องแยกจากครอบครัวญาติสนิท   พวกเขาถูกกระชากลากไปอย่างน่าสังเวช ชีวิตของเขาถูกทับถมด้วยความโศกเศร้า  เจ็บปวด  และสูญเสียอย่างสิ้นเชิง

พวกเขาประสบกับการล้มละลายในชีวิต!

ท่ามกลางการล้มละลายในชีวิต  พวกเขาคิดถึง “ศิโยน”  ความทรงจำนี้คือมรดกชิ้นเดียวที่หลงเหลือในชีวิตของพวกเขา  แม้จะเป็นมรดกที่ย้ำเตือนเขาถึงการสูญเสีย  เจ็บปวด  โศกเศร้า   แต่ก็เป็นความชื่นชมยินดีที่ยังริบหรี่ในจิตใจของพวกเขา   ที่พวกเขาคิดถึงความยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งที่พระเจ้าประทานให้   ที่พวกเขาเคยภูมิใจในความเป็นชาติอิสราเอลที่ผู้อื่นยกย่องเกรงขาม

ในเวลาเดียวกัน ณ ริมฝั่งแม่น้ำที่บาบิโลน   พวกเขามีโอกาสที่จะสะท้อนคิดถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตของอิสราเอล ที่พระเจ้าทรงเตือนผ่านทางผู้เผยพระวจนะ ผู้รับใช้ของพระเจ้า  ให้เขาเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต   เรียกร้องพวกเขาให้กลับมาหาพระเจ้าและดำเนินชีวิตที่สัตย์ซื่อ  เที่ยงธรรม  ด้วยความรักเมตตาตามพระวจนะตามพระบัญญัติของพระองค์ ผู้รับใช้ของพระเจ้าเรียกร้องให้ประชาอิสราเอลหันกลับจากการดำเนินชีวิตที่บูชากราบไหว้ “รูปเคารพ” ในรูปแบบต่างๆ ในเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจความมั่งคั่งร่ำรวย เกียรติยศชื่อเสียง อำนาจ กองทัพ ยุทโธปกรณ์ที่ทำให้ตนอยู่เหนือกว่าเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพื่อทำให้สามารถกดขี่ ขูดรีด ข่มเหงสร้างผลประโยชน์และความยิ่งใหญ่มั่นคงให้กับตนเองและพวกพ้อง และผู้นำศาสนาในเวลานั้นกลับหลับหูหลับตาลุยไปตามกระแสสังคม เศรษฐกิจ  การเมืองและวัฒนธรรม   คนรับใช้ของพระเจ้าเตือนประชาอิสราเอล   ผู้นำประเทศ และผู้นำศาสนาว่า   ขืนทำเช่นนี้ต่อไปผลที่จะเกิดขึ้นคือความหายนะกับชีวิตและประเทศ

พระเจ้าทรงเมตตาและอดทนส่งคนของพระองค์ให้มาเตือนและให้โอกาสประชาอิสราเอลนับเป็นร้อยๆ ปี

แต่อิสราเอลไม่ฟัง และที่ริมฝั่งน้ำบาบิโลนคือภาพที่สะท้อนถึงผลของความไม่เชื่อฟัง  ดื้อดึง และอวดดี

อิสราเอลล้มละลาย  อิสราเอลหายนะ   อิสราเอลเหลือแต่ตัวเปล่าเปลือยล่อนจ้อน

เมื่อชีวิตตกลงในสภาพเช่นนั้น  เขาเจ็บปวด  เขาโศกเศร้า  เขาระลึกและทบทวนอดีต  พวกเขาต้องตกในสภาพ “เชลยศึก”  และลูกหลานเติบโตในบรรยากาศและในฐานะ “คนพลัดถิ่น”  แรงงานเชลยศึก   คนอพยพ  แล้วคิดย้อนหลังว่า   ถ้าตอนนั้นพ่อแม่บรรพบุรุษของเขาเอาใจใส่  เชื่อฟังการเตือนสอนของคนรับใช้พระเจ้า  ประเทศอิสราเอลก็ไม่ต้องตกอับย่อยยับถึงเพียงนี้   พวกเขาไม่ต้องตกมาเป็นชาติพันธุ์อพยพย้ายถิ่นฐานอย่างที่เป็นอยู่

อย่างที่มีคำกล่าวว่า   เราจะไม่รู้คุณค่าของคนๆ นั้น หรือ สิ่งนั้นๆ  จนกว่าเราสูญเสียคนนั้นหรือสิ่งนั้นไปแล้ว   อิสราเอลก็เช่นกันที่เขาไม่เห็นคุณค่าและความสำคัญของพระบัญญัติ  พระวจนะ  และคำสอนคำเตือนของผู้ที่พระเจ้าทรงใช้มา   จนกระทั่งชีวิตและประเทศของตนอับปางแล้วจึงสำนึกได้    พวกอิสราเอลต้องตกลงในสภาพชีวิตที่อับจนสิ้นชาติเป็นเวลายาวนาน

พวกเราชาวคริสตชนไทย  คริสตจักรไทย  องค์กรคริสตชนทั้งหลาย  มูลนิธิสภาคริสตจักรในประเทศไทย  มูลนิธิสหกิจคริสเตียน  แบ๊พติสท์  เซเว่นเดย์  คาทอลิก  พระกิตติคุณสมบูรณ์ และ อื่นๆ มากมาย   เราต้องรอจนกว่า “ไปนั่งที่ฝั่งน้ำบาบิโลน” อย่างอิสราเอลแล้วค่อยสำนึกได้หรือ?

ฤาเราต้องรับบทเรียนอย่างอิสราเอลก่อนแล้วค่อย “คิดได้”  ทุกวันนี้พระเจ้าทรงเตือนเราในเรื่องอะไร?   เราไม่สนใจคำเตือนของพระองค์แต่กลับหันหน้าไปทำตามสิ่งที่เป็นตามใจปรารถนาของตนเองหรือเปล่า? หรือเรายังอวดดีกล่าวอ้างความปรารถนาลึกๆ ของเราว่าเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า? หรือเราต้องรอจนกว่าชีวิตของเรา “ล้มละลาย” จนตัวเปล่าเปลือยล่อนจ้อนถึงกลับมาสนใจคำเตือนของพระเจ้า? ขอให้เรามีจิตใจที่อ่อนน้อมถ่อมลงที่จะพิจารณาประเด็นคำถามเหล่านี้

ข้าแต่พระเจ้าผู้ทรงเมตตาและให้โอกาสแก่มนุษย์   ขอทรงช่วยให้ข้าพระองค์ไม่ต้องได้รับบทเรียนแบบอิสราเอลในอดีต   โปรดเมตตา เปิดตา เปิดใจ เปิดความคิดชีวิตของข้าพระองค์ที่จะเห็นและรู้ว่าวิถีทางที่พระองค์ประสงค์ให้ข้าพระองค์ดำเนินไปนั้นคือทางใด   ทูลขอพระกำลังของพระองค์ผ่านทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยข้าพระองค์ที่จะดำเนินตามด้วยความถ่อมใจ เชื่อฟัง ตามการทรงนำของพระองค์   อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

25 มกราคม 2556

มองอีกด้านหนึ่งของเรื่องเดียวกัน


สุภาษิต 18:17
ผู้ที่ให้การก่อนดูเหมือนเป็นฝ่ายถูก   จนกระทั่งอีกฝ่ายเข้ามาสอบทานเขา   (อมตธรรม)

บ่อยครั้งในองค์กรของเราเกิดกรณีการกล่าวหา  การตีตรา  และการตัดสินความผิดที่รุนแรงเกิดขึ้น   ถ้าเราจะนำเอาคำแนะนำจากพระธรรมสุภาษิต 18:17 เข้าไปในกระบวนการพิจารณาความขัดแย้ง  การกล่าวหาเอาผิด   ก่อนที่จะตีตราตัดสินฟันธงเด็ดขาดลงไป   ก็จะช่วยให้เราได้ค้นหาความจริงด้วยจิตใจเมตตา   ด้วยใจที่เปิดกว้างโอบอ้อมอารี   ด้วยความไม่รีบร้อนด่วนตัดสินลงไป   ให้เวลากับการเปิดใจเปิดหูรับฟังความอีกข้างหนึ่ง  หรือมองหามุมมองอีกด้านหนึ่งในเรื่องเดียวกัน   แล้วค่อยตัดสิน  และต้องตระหนักชัดว่าการตัดสินมักก่อเกิดการตีตรากล่าวหาลงไปทันที

ฟังความจริงรอบด้านในเรื่องเดียวกันเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งของผู้บริหาร   แท้จริงแล้วสุภาษิตในตอนนี้ต้องการบอกให้คริสตชน  โดยเฉพาะผู้บริหารว่า ฟังความรอบด้าน  ค้นหาความจริงแวดล้อม   เป็นเรื่องที่สำคัญกว่าการด่วนตัดสิน   เพราะการตรวจสอบแสวงหาความจริงในเรื่องนั้นๆ ต้องใช้เวลา   การใช้เวลาเป็นการที่เรายอมลดความรีบเร่งในชีวิตของเราประการหนึ่ง   อีกประการหนึ่งการฟังความรอบด้าน แสวงหาความจริงหลากหลายมุมมอง  ทำให้เราสามารถกรองได้ว่า  อะไรคือข้อมูลกล่าวอ้างที่มีความจริง  อะไรคือการกล่าวอ้างด้วยอคติ  อะไรคือการกล่าวอ้างเพราะต้องการทำให้บางคนต้องล้มหายตายจากองค์กรของเรา   ต้องการเอาชนะไม่ว่าด้วยวิธีการถูกต้องหรือฉ้อฉลเพียงใดก็ตาม   การกระทำด้วยจิตใจแบบนี้ย่อมสวนทางขัดขวางต่อเส้นทางชีวิตคริสตชน และพระประสงค์ของพระเจ้า

ในขวบปีที่ผ่านมา   เราได้มีความคิดเห็นที่ยืนอยู่บนข้อมูลความจริงของเรื่องเหล่านั้นจากข้อมูลความจริงที่กล่าวอ้างจากฝ่ายเดียวด้านเดียว  แล้วด่วนตัดสินมากน้อยแค่ไหน?   เพื่อนร่วมงานไว้วางใจและหวังพึ่งความถูกต้องยุติธรรมจากเราในฐานะเพื่อนหรือผู้บริหารองค์กร   เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งกลุ่มหนึ่งฟ้องหรือกล่าวหาความผิดของเพื่อนร่วมงานอีกคนหนึ่งให้เราฟัง   ญาติคนหนึ่งนำเรื่องของอีกคนหนึ่งในครอบครัวมาเล่าให้เราฟัง  เอาเรื่องของอีกคนหนึ่งมาวิพากษ์วิจารณ์และกดดันให้เราตัดสิน จัดการ   หรือการที่เพื่อนคนหนึ่งขอให้เราตัดสินเขากับเพื่อนอีกคนหนึ่ง   เราตอบสนองอย่างไรต่อเพื่อนร่วมงาน และ มิตรสหายเหล่านี้ของเรา?   เราฟังความข้างหนึ่งจากเขาแน่   แต่เราเองได้ทำอะไรมากกว่านั้นหรือไม่?   เราได้แสวงหาความจริงด้วยใจเมตตา หรือ เราพยายามหลีกเลี่ยง หรือไม่ก็ด่วนตัดสินให้เรื่องมันจบๆ ไปหรือไม่?

เดี๋ยวก่อนครับ  การแสวงหาความจริงเพื่อการเสริมสร้างความถูกต้องยุติธรรม   บนรากฐานของสัจจะและเมตตาเป็นพระลักษณะของพระเจ้าลักษณะหนึ่ง และ เป็นน้ำพระทัยของพระองค์ประการหนึ่ง    และพระองค์ต้องการให้สาวกของพระองค์  ผู้บริหาร และ คนทำงานในองค์กรคริสตชนมีคุณลักษณะนี้ และ ดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ประการนี้ของพระเจ้า

การที่เราแสวงหาสัจจะความจริงอีกด้านหนึ่งในกรณีนั้นๆ  มิใช่เพราะเราไม่เชื่อคนที่มาบอกมาเล่ามาฟ้องและมากล่าวหาอีกคนหนึ่งให้เราฟัง   แต่เพราะเราเชื่อและเข้าใจว่าในแต่ละเรื่องแต่ละกรณีที่เกิดขึ้นนั้นมีเรื่องราวข้อมูลมากมายและซับซ้อนเกินกว่าคนๆ เดียวคนกลุ่มเดียวสามารถมองเห็นและรับรู้ได้   อีกทั้งมีความจำกัด หรือ ถูกจำกัดถึงขนาดและความสมบูรณ์ของเนื้อหาข้อมูลที่เขานำมาสื่อสารแก่เรา   เป็นหน้าที่ และ พระฉายาของพระเจ้าในตัวเราด้านการแสวงหาสัจจะและกรุณาที่จะนำให้เกิดความยุติธรรมกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในกรณีที่เกิดขึ้น   โดยเฉพาะอย่างยิ่งคริสตชนต้องไม่ละเลยเรื่องนี้     และยิ่งถ้าเป็นผู้นำองค์กรคริสตชนจะต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้และรับผิดชอบต่อพระเจ้าที่ทรงมอบหมายให้ตนเป็นผู้นำผู้บริหาร

เราท่านคงต้องเปิดใจให้มีพื้นที่รับฟังและพิจารณาก่อนว่า   ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อาจจะมีความเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อน  หรือมีการสื่อสารที่ผิดพลาดเบี่ยงเฉจากความเป็นจริง   หรือถ้าเป็นการกระทำความผิดพลาดจริงเราต้องแสวงหาสัจจะความจริงด้วยใจเมตตากรุณาว่าอะไรที่เป็นสาเหตุชักจูงให้เขากระทำผิดเช่นนั้น?   การที่เราเปิดใจ เปิดหู และ เปิดโอกาสจะช่วยให้เราสามารถที่จะได้ยินได้ฟัง  ได้สัมผัส และพบแนวทางใหม่ที่พระเจ้าจะทรงตรัสและชี้นำเราในเรื่องนี้ได้   ช่วยให้เรามองเห็นและเข้าใจเรื่องกรณีนี้ชัดเจน รอบด้าน  และลุ่มลึกมากยิ่งขึ้น   และนี่คือสิ่งดีที่คริสตชนไม่ด่วนตัดสิน   ไม่ด่วนปิดหู ปิดตา ปิดใจจากการทรงชี้นำของพระเจ้า

ในปีใหม่นี้   อย่าด่วนตัดสิน ตีตรา หรือ ฟันธงในเรื่องใดหรือคนใด    แต่ก็ไม่ใช่นิ่งเฉยไม่ยุ่งไม่เกี่ยวทำตัวอยู่เหนือความขัดแย้ง    แต่ให้เราหยุดความเร่งรีบของชีวิตของเรื่องนั้นลง   ใช้เวลาใกล้ชิดพระเจ้า   ขอการทรงชี้แนะและทรงนำจากพระเจ้า   ทูลขอพระปัญญาและพระวิญญาณบริสุทธิ์จากพระเจ้าในเวลาที่เราลงไปค้นหาสัจจะความจริงและความซับซ้อนซ่อนเงื่อนของเรื่องนั้น   ด้วยจิตใจที่ทุ่มเทต้องการค้นพบความจริงและในเวลาเดียวกันต้องการเรียนรู้ว่า พระเจ้ามีพระประสงค์อะไรในเรื่องที่เกิดขึ้นนั้น   ให้เราพร้อมที่จะรอคอยเวลาของพระเจ้า   เพื่อเราจะกระทำตามน้ำพระทัยของพระองค์

มนุษย์เอ๋ย  พระองค์ได้ทรงสำแดงแก่ท่านแล้วว่าอะไรดี
และอะไรที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์จากท่าน
คือจงประพฤติอย่างเที่ยงธรรม  รักความเมตตากรุณา
และดำเนิน(ชีวิต)อย่างถ่อมใจไปกับพระเจ้าของท่าน
(มีคาห์ 6:8 อมตธรรม)

และบัดนี้อิสราเอลเอ๋ย
พระยาเวห์พระเจ้าของท่านไม่ได้ทรงประสงค์สิ่งอื่นใด
นอกเสียจากให้ท่านยำเกรงพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านด้วยสุดจิตสุดใจ
(เฉลยธรรมบัญญัติ 10:12)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

23 มกราคม 2556

รับมือความขัดแย้ง

คริสตชน “สามารถ” ตอบสนองต่อความขัดแย้งหลากหลายทางเพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้า


“ที่คุณอยากจะแต่งงานกับเขาก็เพียงเพื่อคุณจะรีดเอาทุกอย่างที่เขามี   เมื่อคุณได้ของเหล่านั้นแล้วคุณก็จะทิ้งเขาไป”  นี่คือวาทะเผ็ดร้อนของลูกสะใภ้ที่มีนามว่า “เจนนี่” (นามสมมติ)  ที่พูดจาขัดขวางด้วยการสร้างความเจ็บปวดแก่ว่าที่ภรรยาคนใหม่ของพ่อสามี ที่ชื่อว่า “ภักดิพร” (นามสมมติ) 

ภักดิพร นั่งอยู่ข้างโต๊ะอาหารระเบียงร้านหรู   เมื่อได้ยินการคาดการณ์ตราหน้าของเจนนี่  ที่ผ่าฟาดลงในความรู้สึกของเธอทำให้เกิดความปวดหัวจี๊ดพุ่งขึ้นอย่างฉับพลัน   เธอชำเลืองไปรอบๆ ดีที่ยังไม่มีแขกคนอื่นในร้าน  ภักดิพรแปลกใจในคำพูดที่ร้อนแรงของเจนนี่   ภายในใจของเธออธิษฐานขอการทรงนำจากพระเจ้า

เสียงภายในบอกว่า “จงนิ่ง สงบ และเงียบ”   ดังนั้น ภักดิพรจึงไม่พูดอะไรตอบโต้คำกล่าวหาที่รุนแรงของเจนนี่

เจนนี่มองภักดิพรด้วยสายตาที่อยากกินเลือดกินเนื้อ  พร้อมกับกล่าวว่า  “นี่คุณไม่ใช่คนธรรมดาแน่   แม้ฉันจะว่าเธอแบบตรงไปตรงมาเธอก็ยังเฉยได้”

ภักดิพร พูดกับตนเองในใจว่า “ถ้าฉันจะตอบโต้เธอกลับ  แล้วมันจะช่วยให้อะไรดีขึ้นล่ะ?”   ภักดิพรคิดถึงตัวอย่างของพระเยซูคริสต์เมื่อถูกจับในสัปดาห์สุดท้ายในชีวิตของพระองค์   แม้พระองค์จะถูกคนรอบข้างกล่าวคำเย้ยหยัน  พูดจาส่อเสียดดูถูก  หมิ่นและหยามพระองค์   แต่พระองค์มิได้ตอบโต้ด้วยคำร้อนแรงแต่อย่างไร (ดู 1เป-โตร 2:23)[1]  

ถูกของเจนนี่ครับ   การที่หลีกเลี่ยงตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนต่อศัตรูคู่ปรปักษ์  เป็นการตอบสนองที่ไม่ธรรมดาครับ   เพราะนั่นเป็นการตอบสนอง “เยี่ยงพระคริสต์”  ภักดิพร ต้องอดกลั้นกล้ำกลืนคำพูดเผ็ดร้อนด้วยการอธิษฐานต่อพระเจ้าเพื่อทูลขอ “พระคุณของพระเจ้า” สำหรับสถานการณ์นี้   ในสถานการณ์เช่นนี้จะทำให้เกิดการสรรเสริญ  ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าได้อย่างไร   หากเราจะใช้วิธีการแบบ “คมเฉือนคม”

ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่ยากจะเลี่ยง

ในโลกที่พิกลพิการอย่างทุกวันนี้  เราทุกคนต่างต้องเผชิญกับความขัดแย้ง   เกิดความคุกรุ่นระหว่างสามีภรรยา   เกิดอาการหนองกลัดในความสัมพันธ์ของครอบครัว   เกิดพิษร้ายในความสัมพันธ์ระหว่างมิตรสหาย   และความไม่พอใจที่สะสมเพิ่มพูนจนนำไปถึงจุดเดือดพล่านในที่ทำงาน

ภักดิพร เกิดความรักในตัว ชำนาญ  พ่อสามีของเจนนี่  ที่เป็นหม้ายเหมือนกับตน   ทั้งสองได้พบคบหากันมาเป็นเวลา 9 เดือนหลังจากที่ภรรยาของชำนาญได้จากโลกนี้ไป   แต่เจนนี่ไม่เห็นด้วย!

หลายวันผ่านไปภายหลังที่ภักดิพรถูกกล่าวหาด้วยคำพูดที่ร้อนแรง  เธอยังโกรธ และ ร้อนรุ่มจากคำพูดนั้นที่สุมคุกรุ่นในจิตใจของเธอ   เธอได้เล่าความรู้สึกโกรธที่เธอมีต่อเจนนี่ให้เพื่อนสนิทของเธอฟัง

เพื่อนคนหนึ่งพูดตรงไปตรงมากับภักดิพรว่า  “ฉันรู้สึกว่า ความสัมพันธ์ของเธอกับคุณชำนาญจะดีได้  ก็ต่อเมื่อเธอมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อลูกสะใภ้ของคุณชำนาญ”

คำพูดดังกล่าวทำให้ภักดิพรต้องครุ่นคิดอย่างมาก   นั่นหมายความว่าการรับมือกับความขัดแย้งนี้จะต้องใช้เวลาที่ยาวนานกว่าที่คิด   อีกทั้งเธอเกิดความขัดแย้งในจิตใจ  เธอทูลถามพระเจ้าแบบซื่อๆ ว่า  “พระเจ้าข้า  จะเป็นไปได้อย่างไรที่จะรักคนบางคนที่ทำต่อข้าพระองค์อย่างเหยียดหยาม ดูหมิ่นและชิงชัง?   นี่เป็นสิ่งที่พระองค์ประสงค์ให้ทำเช่นนั้นหรือ?”

เพื่อนอีกคนหนึ่งของภักดิพรได้บอกเธอว่า “ฉันเข้าใจนะว่านี่เป็นเหตุการณ์ที่หนักหนาสาหัส  เพราะแค่คิดก็เหนื่อยหน่ายใจแล้ว   ฉันคิดว่า เธอคิดถูกนะว่าพระเจ้าประสงค์ให้เธอทำดีกับทุกคน   ตอนนี้เธออาจจะรู้สึกว่าเธอไม่สามารถที่จะรักคนบางคนอย่างเช่นเจนนี่   แต่พระเจ้าจะใช้สถานการณ์นี้สร้างความเข้าใจเพิ่มมากขึ้นถึงคุณค่าในชีวิตของเธอ   เธอจะตระหนักชัดถึงคุณค่าชีวิตของเธอชัดเจนยิ่งขึ้น  อย่าไปยึดเกาะกับความรู้สึกของตนเองที่เป็นอยู่ในขณะนี้”

ความขัดแย้ง  เป็นสิ่งที่เราท่านต่างไม่ชอบ  สำหรับภักดิพรถึงขั้นที่ “เกลียด” ความขัดแย้งเลยทีเดียว   และในหลายต่อหลายครั้งที่เราตอบสนองต่อความขัดแย้งด้วยท่าที และ วิธีการที่แย่มาก   และมักมีความคิดว่า  เราต้องหลีกลี้หนีจากความขัดแย้ง   แต่ความจริงในชีวิตของเรา หลายครั้งยากที่จะเลี่ยงได้

ถ้าเช่นนั้นเราจะทำอย่างไรเมื่อต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง?   เราจะเผชิญหน้ากับความขัดแย้งอย่างไว้วางใจและด้วยทัศนคติ ด้วยมุมมองชีวิตที่จะให้เกียรติ ยกย่อง และสรรเสริญพระเจ้าได้อย่างไร?   ท่านเปาโล ท้าทายเราในเรื่องนี้ว่า...

“อย่าทำชั่วตอบแทนชั่วแก่ใครเลย   แต่จงมุ่งกระทำสิ่งที่ใครๆ ก็เห็นว่าดี[2]
 ถ้าเป็นได้  เท่าที่เรื่องขึ้นอยู่กับเรา   จงอยู่อย่างสงบสุขกับทุกคน”[3]  (โรม 12:17-18 ฉบับมาตรฐาน)

มีบางครั้งที่เราจำเป็นต้องเผชิญหน้าความขัดแย้งแบบซึ่งหน้า   โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ต้องเผชิญความขัดแย้งที่มีผลกระทบต่อความเป็นความตาย หรือ ตกในอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตของผู้คน   ที่ต้องการการช่วยเหลือ  แก้ไข  ปกป้องชีวิตผู้คนเหล่านั้น   เช่น  การที่ลูกถูกรังแกจากเพื่อนในโรงเรียนเป็นประจำ  และดูร้ายแรงขึ้นทุกที   หรือการที่เพื่อนของเราถูกทำร้าย   เราสามารถกระทำแบบเผชิญหน้าแบบไปตรงมาได้ เช่น  การไปปรึกษากับครูและผู้บริหารโรงเรียนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น   หรือในกรณีที่สองอาจจำเป็นที่จะต้องแจ้งให้ตำรวจมาจัดการและรับผิดชอบ  

ในบางเหตุการณ์ที่พระเยซูคริสต์จำเป็นต้องเผชิญความขัดแย้งรุนแรงแบบซึ่งหน้าตรงไปตรงมา   เช่น กรณีที่พระองค์ทรงคว่ำโต๊ะแลกเงิน   และกวาดล้างพวกพ่อค้าเครื่องบูชาที่เอารัดเอาเปรียบคนยากจน  คนที่มาจากต่างถิ่นแดนไกล   ซึ่งเป็นระบบการขูดรีด เอารัดเอาเปรียบคนเล็กน้อยด้อยอำนาจจากกลุ่มผู้นำศาสนาที่ใช้อำนาจจากตำแหน่งคบคิดกับพ่อค้าขูดรีดเอารัดเอาเปรียบจากประชาชนคนเล็กน้อย   ผู้นำศาสนาใช้พื้นที่พระวิหารสำหรับนมัสการพระเจ้าไปเป็น “ถ้ำของพวกโจร” (ดู มัทธิว 21:12-13)  

พระเยซูคริสต์ทรงเผชิญหน้ากับความขัดแย้งซึ่งหน้าแบบตรงไปตรงมา   เมื่อความขัดแย้งนั้นเป็นเรื่องของหลักการความเชื่อศรัทธาที่กระทบต่อสุขภาวะชีวิตของคนยากคนจนคนเจ็บป่วยที่ไม่มีทางช่วย  เช่น  กรณีที่พระเยซูคริสต์ทรงรักษาคนเจ็บคนป่วย  คนง่อยคนพิการ  คนที่ถูกอำนาจของผีร้ายครอบงำในวันสะบาโต     พระเยซูเผชิญหน้าแบบตรงไปตรงมาเพื่อแก้ไขความเชื่อศรัทธาที่ผิดๆ  และความเชื่อศรัทธาที่กีดกันหยามเหยียดชีวิตคนยากคนจนคนเล็กน้อย  เช่น   ในวันสะบาโตหนึ่ง  ที่ธรรมศาลาพระเยซูพบคนมือลีบข้างหนึ่ง   พระองค์ถามคนในธรรมศาลานั้นว่า  “ในวันสะบาโตควรจะกระทำการดีหรือกระทำการร้าย   ควรจะช่วยชีวิตหรือควรจะทำลายชีวิต?” พระองค์ทรงรักษาคนมือลีบคนนั้นให้หายปกติ   การเผชิญหน้าแบบฟันธงสร้างความโกรธแค้นแก่พวกฟาริสีอย่างยิ่ง   พวกเขาออกไปปรึกษากับพวกของเฮโรดที่จะร่วมมือกันหาทางฆ่าพระเยซู (มาระโก 3:1-6 ฉบับมาตรฐาน  และดูอีกเรื่องหนึ่งเพิ่มเติม ลูกา 13:10-17)   ที่พระเยซูทรงเผชิญหน้าความขัดแย้งแบบตรงไปตรงมานี้ก็เพื่อที่จะปกป้องและทรงรักษาชีวิตของคนมือลีบ และ หญิงที่ป่วยเป็นโรคหลังโกงมา 18 ปี  และเป็นการเผชิญหน้ากับหลักการความเชื่อศรัทธาเพื่อความถูกต้อง   แต่ในทางตรงกันข้าม เมื่อพระองค์ต้องเผชิญหน้ากับเรื่องความขัดแย้งส่วนตัว  พระองค์ทรงตอบสนองด้วยการสงบเงียบ

จงเป็นเหมือนพระคริสต์แม้อยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง

แล้วถ้าตัวเราเองต้องตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งที่เจ็บปวด หรือ ร้อนแรงเราควรจะทำอย่างไร?   และต่อไปนี้เป็นบทเรียนที่เก็บจากประสบการณ์ตรงของบุคคลต่างๆ  ที่เผชิญหน้าและผ่านทะลุสถานการณ์ความขัดแย้งในชีวิต

1. อย่าให้รากแห่งความขมขื่นหยั่งรากในจิตใจของเรา

“จงระวังอย่าให้ใครพลาดไปจากพระคุณของพระเจ้า   และอย่าให้มีรากความขมขื่นงอกขึ้นมาสร้างความเดือดร้อน  และทำให้คนเป็นอันมากแปดเปื้อนมลทิน”  (ฮีบรู 15:15 อมตธรรม)   ถ้าเราไม่รีบกำจัดหรือถอนรากถอนโคนรากของความขมขื่น  ความขมขื่นจะทำลายทั้งตนเองและคนอื่นรอบข้าง   เราต้องปลดปล่อยความขุ่นเคืองความไม่พออกพอใจให้ออกไปจากจิตใจของเราด้วยการอธิษฐาน     การถอนรากถอนโคนรากแห่งความขมขื่นมิได้กระทำเสร็จสิ้นในครั้งเดียว   อาจจะต้องกระทำหลายครั้งด้วย

บางครั้งรากของความขมขื่นจะสร้างความท้อแท้  ความเจ็บปวด  หรือความโกรธขึ้นในจิตใจของเรา   เมื่อภักดิพรได้รับการต่อต้าน  ขัดขวางจากคนในครอบครัวของคุณชำนาญ   คุณภักดิพรต้องจัดการกับความรู้สึกในจิตใจของเธอครั้งแล้วครั้งเล่า  สารภาพถึงความโกรธของเธอและทูลขอพระคุณจากพระเจ้า   และที่สำคัญคือภักดิพรอธิษฐานทูลขอพระเจ้าให้รักษาจิตใจของเธอมิให้ “แข็งกระด้าง” ต่อผู้คนที่ทำให้เธอเจ็บปวดในชีวิต

2. สำรวจจิตใจของตนเองก่อนตำหนิข้อผิดพลาดของผู้อื่น

คำตรัสของพระเยซูที่ตรัสกับพวกฟาริสีก็เป็นคำท้าทายสำหรับเรา  “คนหน้าซื่อใจคด   จงชักไม้ทั้งท่อนออกจากตาของท่านก่อน  แล้วท่านจะเห็นได้ถนัด  จึงจะเขี่ยผงออกจากตาพี่น้องของท่านได้” (มัทธิว 7:5 ฉบับมาตรฐาน)   ก่อนที่จะไปกล่าวถึง หรือ ไปจัดการกับความผิดของคนอื่น   ให้เราเริ่มจากการพิจารณาตนเอง  ค้นหาจุดบกพร่องหรือความผิดของเราก่อน   ภักดิพร กล่าวว่า  เธอได้ทูลขอพระเจ้าให้ทรงกระทำการในชีวิตของคนในครอบครัวของคุณชำนาญ   แต่เธอพบว่า พระเจ้าทรงเริ่มกระทำการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเธอก่อน   คือเธอพบสิ่งที่เธอสามารถและจะต้องรับผิดชอบในสถานการณ์ความขัดแย้งนั้น   เธอต้องเปิดชีวิตจิตใจของเธอเพื่อรับการทรงเปลี่ยนแปลงจากพระคริสต์   เพื่อชีวิตของเธอจะเป็นเหมือนพระคริสต์มากยิ่งขึ้น   ภักดิพรบอกว่า   สิ่งที่ยากแสนยากคือการที่ทูลขออธิษฐานต่อพระเจ้าในการทรงสร้างเธอขึ้นใหม่จากการมีจิตใจขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจต่อคนในครอบครัวของคุณชำนาญ

3. มองความขัดแย้งที่เกิดขึ้นด้วยมุมมอง “แว่นตา” ของคู่กรณี

คุณภักดิพร กล่าวจากประสบการณ์ของเธอว่า  ไม่ว่าความเกลียดชัง หรือ ความเป็นปรปักษ์ที่คนในครอบครัวคุณชำนาญมีต่อเธอจะสร้างความเจ็บปวดมากอย่างไรก็ตาม   แต่นั่นมิใช่ความขัดแย้งส่วนตัว (ระหว่างเธอกับเจนนี่)   เพราะเธอมาหวนพิจารณาเห็นว่า   เมื่อครอบครัวของคุณชำนาญต้องประสบกับความสูญเสีย  เจ็บปวดเพราะการจากไปของแม่ในครอบครัว   เขาได้สูญเสียผู้ที่เป็นคนเชื่อมโยงสัมพันธ์ให้ครอบครัวให้เป็นหนึ่งเดียวกัน   เพราะที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงในวาระอะไรก็ตาม  แม่งานที่เชื่อมโยงให้ทุกคนมาร่วมกันได้คือแม่   และพวกเขาได้สูญเสียคนสำคัญคนนี้   แล้วจู่ๆ จะมีคนใหม่มาแทนที่แม่คนเดิมของเขา   เมื่อคุณภักดิพรใคร่ครวญถึง “ใจเขาใจเรา” ในสถานการณ์ดังกล่าว   จึงเข้าใจถึงมุมมอง หรือ ทัศนคติของคนในครอบครัวคุณชำนาญ   คุณภักดิพรบอกว่า  เมื่อตระหนักชัดเช่นนี้จิตใจของเธอก็เปิดออกกว้าง   เข้าอกเข้าใจพวกเขามากขึ้น   และเป็นการง่ายยิ่งขึ้นมากที่จะตอบสนองต่อคนในครอบครัวคุณชำนาญด้วยความรักและเมตตาแบบพระคริสต์

4. ค้นให้พบในสิ่งที่ตนเองต้องเปลี่ยนแปลง

คุณภักดิพรเรียนรู้แล้วว่า   เธอไม่สามารถที่จะไปเปลี่ยนแปลงความคิด ความรู้สึก และมุมมองในชีวิตของคนอื่นได้   แต่เธอสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงมุมมอง ความคิด ความรู้สึกของตนเองให้ถูกต้องได้   เมื่อเข้าใจเช่นนี้เธอเริ่มถามตนเองว่า   ฉันจะมีการตอบสนองอย่างรับผิดชอบในสถานการณ์ความขัดแย้งนี้ได้อย่างไร?   ฉันได้ทุ่มเทเต็มกำลังทั้งสิ้นของฉันเพื่อให้เกิดการคืนดีหรือยัง?  

นี่เป็นมาตรการที่จริงจังเข้มงวดของความจริงใจที่ภักดิพรมีต่อตนเอง   เธออธิบายว่า  เมื่อเรามองสถานการณ์จากมุมมองของตนเอง  เป็นการง่ายที่ทำให้เราคิดและเชื่อว่า  “เราเป็นฝ่ายถูก” ในสถานการณ์นี้   สิ่งที่เราตอบสนองไปนั้นถูกต้องแล้ว   พวกเขาต่างหากที่เป็นฝ่ายผิด  แต่เมื่อเราอยู่ต่อพระพักตร์พระเจ้าด้วยสำนึกในความอ่อนแอของตนเอง  ทูลขอพระเจ้าทรงช่วยเป็นกระจกสะท้อนให้เราเห็นความจริงแท้ในตนเอง   เราก็จะพบความจริงว่า  แท้จริงแล้วเรามิใช่ฝ่ายถูกเลยในสถานการณ์นี้   ดังนั้น  ต่อพระพักตร์พระเจ้าเราจึงมีโอกาสที่จะเรียนรู้และเติบโตขึ้นจากการทรงเสริมสร้างเราขึ้นใหม่จากพระองค์

ภักดิพร เริ่มอธิษฐานเผื่อสมาชิกในครอบครัวของคุณชำนาญ   ตอนแรกเธออธิษฐานขอพระเจ้าช่วยให้คนในครอบครัวของคุณชำนาญเปิดโอกาสให้เธอบ้าง  และให้พวกเขาชื่นชมในตัวเธอบ้าง   แต่ต่อมาคำอธิษฐานของภักดิพรเปลี่ยนไปเป็นว่า  ขอพระเจ้าโปรดเมตตาและประทานพระคุณของพระองค์ทรงช่วยให้เธอตอบสนองต่อทุกสถานการณ์ให้เป็นที่ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า

5. ทูลขอพระเจ้าให้การตอบสนองของเราต่อความขัดแย้งสะท้อนถึงพระคุณของพระองค์

ภักดิพร เล่าต่อไปว่า  เมื่อเธอทูลขอพระเจ้าประทานให้เธอเป็นคนที่สงบสุขุมขณะต้องเผชิญหน้ากับความร้อนแรงของเจนนี่   ความสัตย์ซื่อของพระเจ้าปรากฏชัดแจ้งแก่เธอ   แทนที่เจนนี่จะตอบกลับด้วยความก้าวร้าวรุนแรงอย่างที่เคยเป็นมาก่อน  แต่กลับมีช่องว่างโอกาสที่ภักดิพรจะตอบสนองประเด็นคำถามของเจนนี่ด้วยความจริงใจ  ตรงไปตรงมา  ด้วยความสุภาพ  ซึ่งภักดิพรกล่าวว่า   เธอรู้แน่ชัดเลยว่านี่เป็นการทรงตอบคำอธิษฐานที่เธอทูลขอพระคุณจากพระเจ้า

เมื่อเราทูลขอการทรงนำด้วยความจริงใจจากพระเจ้า  พระเจ้าจะประทานแก่เราเสมอ  งานของเรา ความสำเร็จของเราจะตามมาหลังจากที่พระเจ้าทรงนำเรา   ประเด็นใหญ่อยู่ที่ว่า   เราฟังการทรงนำของพระเจ้า หรือ เรานิ่งเฉย ละเลย หรือมองข้ามการทรงนำของพระองค์?   เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ตอบสนองคำอธิษฐานของเรา   เรายอมเชื่อฟังพระองค์หรือไม่?  เราไว้วางใจพระองค์ และ สนใจในการทรงนำของพระองค์แค่ไหน?  

6. แสวงหาจุดเหมือนของเรากับคู่กรณี

เราสามารถแสวงหาจุดเหมือนของเรากับผู้ที่เรามีความขัดแย้งตึงเครียดได้หรือไม่?   เรามีระบบคุณค่าอะไรบ้างที่ยึดถือเหมือนกันในชีวิต? (เช่นเรื่อง ครอบครัว  มิตรภาพ  สัตว์เลี้ยง  งานอดิเรก)

เจนนี่เป็นคนที่รักเทิดทูนลูกสาวของเธอ  ดังนั้น ภักดิพรก็ชื่นชมในลูกสาวของเจนนี่   คุณชำนาญและภักดิพรมีโอกาสไปร่วมงานในโรงเรียนที่ลูกสาวเจนนี่เรียนอยู่หลายครั้ง   และลูกสาวของเจนนี่ก็มาหาทั้งคุณชำนาญและภักดิพรด้วย   หลานๆ ได้มาช่วยคุณชำนาญในการปลูกดอกไม้   เล่นน้ำในสระว่ายน้ำด้วยกัน   เล่นเกมด้วยกัน  ภักดิพรอธิษฐานให้เจนนี่สามารถเห็นถึงความจริงใจที่เธอสนใจลูกสาวของเจนนี่

หลายปีมาแล้ว  หลังจากที่ภักดิพรและคุณชำนาญได้แต่งงานกัน   เจนนี่ได้รู้แล้วว่าภักดิพรรักลูกสาวของเธอ   ดังนั้น  เมื่อไม่นานมานี้เจนนี่กระทำต่อภักดิพรที่ดีขึ้น    แต่ภักดิพรก็รู้ว่าสถานการณ์ความขัดแย้งยังมิได้รับการแก้ไขทั้งหมด    เธอเห็นถึงพระหัตถ์ของพระเจ้าทรงกระทำกิจของพระองค์ในเรื่องนี้  และเธอวางใจว่าพระเจ้าจะทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของเธอ และ คนรอบข้างของเธอต่อไปด้วย

7. รักเมตตาและอธิษฐานเผื่อ “ศัตรู” คู่กรณีของเรา

ถึงแม้เจนนี่จะไม่เปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อภักดิพร  แต่ภักดิพรยังตอบสนองต่อเธออย่างดีต่อไป   ภักดิพรบอกว่า  พระเจ้าตรัสกับเธอให้อธิษฐานเผื่อเจนนี่ต่อไปอีก  อธิษฐานเผื่อสถานการณ์   และอธิษฐานต่อพระองค์เพื่อที่ตนจะเติบโตเหมือนพระคริสต์มากยิ่งขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่ลำบากทุกข์ยากนี้

คำสอนของพระเยซูบนภูเขา  ตรัสสอนว่า “แต่เราบอกพวกท่านว่า  จงรักศัตรูของท่าน   และจงอธิษฐานเผื่อบรรดาคนที่ข่มเหงท่าน   เพื่อท่านจะเป็นบุตรของพระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์   เพราะว่าพระองค์ทรงให้ดวงอาทิตย์ของพระองค์ขึ้นส่องสว่างแก่คนดีและคนชั่วเสมอกัน  และให้ฝนตกแก่คนชอบธรรมและคนอธรรม”  (มัทธิว 5:44-45 ฉบับมาตรฐาน)   ภักดิพรบอกว่า  การที่เราเข้าใจถึงความรักเมตตาของพระเจ้าดีขึ้นทำให้เราเรียนรู้ที่จะรักคนอื่นได้ดีขึ้นด้วย   เมื่อเราสามารถมองตนเองว่าเป็นเหมือนคนอื่นๆ ที่ยืนอยู่ใต้กางเขนของพระเยซูคริสต์ที่ต้องการพระคุณของพระเจ้าเหมือนกัน   เมื่อนั้น  เราจะสามารถที่จะอธิษฐานเพื่อ “คนๆ นั้น”   บางครั้งเราอาจจะไม่ต้องการที่จะคิดว่า  พระเจ้าทรงรัก “คนๆ นั้น” เท่ากับที่พระองค์ทรงรักเรา   แต่พระองค์ทรงรักเขาคนนั้นเท่ากับรักเรา   เมื่อรู้ว่า พระเจ้าทรงชื่นชมในสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง  พระองค์ปีติชื่นชมในทุกคนที่ทรงสร้าง  ช่วยให้เราสามารถที่จะอธิษฐานเพื่อศัตรูคู่ปรปักษ์ของเรา   โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรู้ว่าพระองค์ทรงยอมตายเพื่อตัวเรา  และพระองค์ก็ทรงยอมตายเพื่อคนๆ นั้นด้วย!

พระคุณพระเจ้าในความทุกข์ยากลำบาก

พระเจ้าทรงเรียกให้เราเชื่อฟังพระองค์  ดังนั้น  เราจึงอธิษฐานขอพระเจ้าช่วยกระทำให้จิตใจของเราถ่อมอ่อนโยนลง   และในเวลาเดียวกันก็อธิษฐานเผื่อผู้คนที่เรายังมีความขัดแย้งกันอยู่   และบางครั้งก็ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดเมื่อเหตุการณ์ไม่เป็นไปอย่างที่เราคิดเราตั้งใจพยายาม  และบางครั้งความเจ็บปวดนี้บาดลงลึกด้วยซ้ำ

ดังนั้น เมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์ยากลำบาก  เราต้องปล้ำสู้กับความโกรธ   จนกว่าเราจะยอมสารภาพและยอมเปิดชีวิตให้พระคุณความรักของพระเจ้าเข้ามาชโลมในชีวิตจิตใจของเรา   สิ่งที่เราทำได้คือถ่อมจิตใจลงและอธิษฐาน  “ใช่แล้วพระเจ้าข้า   ข้าพระองค์เอง  ที่ต้องขอพระองค์ทรงเปลี่ยนจิตใจของข้าพระองค์ใหม่”   และด้วยการทรงช่วยของพระเจ้า   เราสามารถเลือกที่จะดำเนินชีวิตด้วยพระคุณของพระเจ้าในทุกสถานการณ์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499



[1] เมื่อเขากล่าวคำหยาบคายต่อพระองค์  พระองค์มิได้ทรงกล่าวตอบเขาด้วยคำหยาบคายเลย  เมื่อพระองค์ทรงทนทุกข์  พระองค์ไม่ได้ทรงขู่อาฆาต   แต่ทรงมอบพระองค์เองไว้แก่พระเจ้าผู้ทรงพิพากษาอย่างยุติธรรม (ฉบับมาตรฐาน  ดูประกอบ มัทธิว 27:39; ยอห์น 8:48-49)
[2] ดูเพิ่มเติม   สุภาษิต 20:22; มัทธิว 5:39; 1โครินธ์ 6:7;  1เทสะโลนิกา 5:15; 2โครินธ์ 8:21; 1เปโตร 2:12; 
[3] ดูเพิ่มเติม  มาระโก 9:50; ฮีบรู 12:14;

21 มกราคม 2556

เมื่อพระคริสต์ชี้นำ...ท่านจะตอบสนองอย่างไร?


อ่านลูกาบทที่ 5:1-11
ต่อมาขณะที่พระองค์ทรงยืนอยู่บนฝั่งทะเลสาบเยนนาซาเรท   และฝูงชนกำลังเบียดเสียดพระองค์เพื่อฟังพระวจนะของพระเจ้านั้น   พระองค์ทอดพระเนตรเห็นเรือสองลำจอดอยู่ที่ริมฝั่งทะเลสาบ   แต่ชาวประมงขึ้นจากเรือแล้วและกำลังซักอวนอยู่
พระองค์จึงทรงเสด็จลงเรือลำหนึ่งซึ่งเป็นเรือของซีโมน   ทรงขอให้เขาถอยออกไปจากฝั่งหน่อยหนึ่ง   และพระองค์ประทับลงสอนฝูงชนจากเรือลำนั้น
เมื่อพระองค์ตรัสสอนเสร็จแล้ว  จึงตรัสกับซีโมนว่า   “จงถอยออกไปที่น้ำลึกแล้วหย่อนอวนลงจับปลา”   ซีโมนทูลตอบว่า  “อาจารย์   เราทอดอวนมาตลอดทั้งคืนแล้วไม่ได้อะไรเลย   แต่ข้าพเจ้าก็จะหย่อนอวนลงตามคำของท่าน”
เมื่อพวกเขาหย่อนอวนลงแล้วก็จับปลาได้จำนวนมาก   จนอวนของเขาเริ่มปริ   พวกเขาจึงทำสัญญาณบอกพวกเพื่อนๆ ที่อยู่ในเรืออีกลำหนึ่งให้มาช่วย   พวกเขาก็มา  และได้ปลาเต็มเรือทั้งสองลำจนเรือเพียบ
เมื่อซีโมนได้เห็นอย่างนั้นแล้วก็ทรุดตัวลงที่เข่าของพระเยซูทูลว่า   “นายเจ้าข้า  ขอท่านไปให้ห่างจากข้าพเจ้าเถิด   เพราะว่าข้าพเจ้าเป็นคนบาป”   เนื่องจากเขากับคนทั้งหลายที่อยู่ด้วยกันประหลาดใจเรื่องปลาที่จับได้นั้น   ยากอบและยอห์นบุตรเศเบดี  ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมอาชีพกับซีโมนก็ประหลาดใจเหมือนกัน   พระเยซูตรัสกับซีโมนว่า  “อย่ากลัวเลย   ตั้งแต่นี้ไปท่านจะเป็นผู้จับคน”
เมื่อนำเรือมาถึงฝั่งแล้ว   พวกเขาก็ละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างและตามพระองค์ไป  
(ฉบับมาตรฐาน)

กรอบคิดของสาวกสวนทางกับพระประสงค์และพระราชกิจที่พระเจ้า   พระเยซูคริสต์เข้ามาในชุมชนโลกเพื่อที่จะมาเสาะหาคนบาป และ เพื่อช่วยคนบาปให้รอด   ในขณะที่ประชาชนกลับมองว่าพระเยซูคริสต์ประกอบด้วยฤทธิ์เดชที่แสดงถึงความเป็นพระเจ้าผู้บริสุทธิ์   พวกเขามีกรอบคิดว่า พระเจ้าผู้บริสุทธิ์จะต้องอยู่ห่างจากคนบาปและความบาป    ซีโมนจึงขอให้พระองค์ออกห่างจากพวกเขา  เพราะเขารู้ว่าตนเป็นคนบาป “นายเจ้าข้า   ขอท่านไปให้ห่างจากข้าพเจ้าเถิด   เพราะว่าข้าพเจ้าเป็นคนบาป” (ข้อ 8)  

เพราะเขาเห็นและประหลาดใจในเหตุการณ์ที่เขาพบด้วยตนเองคือ   เมื่อคืนที่ผ่านมาพวกเขาทอดอวนในที่เดียวกันคืนยังรุ่งแต่ไม่ได้ปลาเลย   ซีโมนเจ้าของเรือทูลพระเยซูว่า  “อาจารย์   เราทอดอวนมาตลอดทั้งคืนแล้วไม่ได้อะไรเลย   แต่ข้าพเจ้าก็จะหย่อนอวนลงตามคำของท่าน”  (ข้อ 5)    แต่เมื่อพวกเขายอมลองทำตามคำสั่งของพระเยซู  พวกเขากลับได้ปลาจำนวนมากมายเกินคาด 

พระเยซูคริสต์เปลี่ยนกรอบคิดกรอบเชื่อของชาวประมงกลุ่มเล็กๆ นี้ด้วยประสบการณ์ตรงที่สาวกได้เห็นและสัมผัส   สร้างความประหลาดใจในสิ่งธรรมดาสามัญที่เขาพบในทุกเมื่อเชื่อวัน  ในที่นี้คืออาชีพจับปลาของพวกเขา   พระเยซูคริสต์ทรงกระทำในสิ่งที่อยู่นอกกรอบคิดในเรื่องการทำประมงของเขา   ทำให้พวกเขาเห็นว่า  สิ่งที่พระเยซูคริสต์สั่งให้กระทำนั้นเป็นสิ่งที่สวนทางความเข้าใจ หรือ หลักการที่เขายึดถือในชีวิตที่ได้จากประสบการณ์ที่พวกเขาได้พบประสบมาเป็นประจำจนเป็นข้อสรุป หลักการ หรือทฤษฎี 

การที่ใครก็ตามที่จะพบกับสิ่งใหม่ในพระราชกิจของพระเจ้าที่ทรงกระทำในชีวิตของตน   ผู้นั้นต้องพร้อมที่จะเป็นเหมือนชาวประมงกลุ่มนี้คือ  แม้พวกเขาจะมีหลักการที่น่าเชื่อถือและยึดปฏิบัติมาตลอดเวลา  อีกทั้งมีความชำนาญแล้ว   แต่เมื่อพระเยซูทรงเสนอแนวทางใหม่ที่แม้ดูแตกต่าง ขัดแย้ง หรือดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ตามหลักการเดิมที่เขาเชื่อถือ  พวกเขา “รู้ว่าแตกต่าง  แต่พร้อมที่จะลองลงมือทำตามที่พระองค์ทรงเสนอให้ทำ”  ประสบการณ์ที่ได้รับจากการทดลองลงมือทำคือประตูที่เปิดออกสู่ความคิดใหม่  ความเข้าใจใหม่   และในที่สุดตกผลึกกลาย เป็นหลักการใหม่ในชีวิตของตน   และนี่คือกระบวนการของการเปลี่ยนกรอบคิดกรอบเชื่อที่พระเยซูคริสต์ทรงใช้

ในเหตุการณ์ครั้งนี้   กรอบคิดกรอบเชื่อของชาวประมงกลุ่มนี้เกิดการปรับเปลี่ยนใหม่เพราะ   พระคริสต์ทรงท้าทายความคิดความเชื่อและประสบการณ์ในการดำเนินอาชีพและชีวิตประจำวันของพวกเขา   และพระองค์พร้อมที่จะกระทำพระราชกิจของพระองค์ในสถานการณ์ที่พระองค์ทรงท้าทายนั้น   ประเด็นสำคัญคือ ชาวประมงกลุ่มนี้จะตอบสนองต่อการท้าทายของพระเยซูคริสต์อย่างไร   เพราะตามหลักคิดหลักเชื่อของพวกเขาการที่ทำตามคำชี้นำของพระเยซูคริสต์เป็นสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้   เพราะเขาเพิ่งประสบมาหมาดๆ ตลอดคืนที่ผ่านมาว่า  จับปลาตรงบริเวณที่พระเยซูทรงชี้นำไม่ได้ปลาเลย   แต่สิ่งสำคัญคือ  ชาวประมงกลุ่มนี้เห็นคำท้าทายของพระเยซูคริสต์เป็นทางเลือกทางหนึ่งที่เขาน่าจะทดลองลงมือทำดู   และเขาก็กล้าที่จะทดลอง   แม้ประสบการณ์จะบอกว่าความล้มเหลวรออยู่ข้างหน้าก็ตาม

เมื่อชาวประมงกลุ่มนี้กล้าที่จะทดลองทำตามคำชี้นำของพระเยซูคริสต์   เขาก็ได้พบและสัมผัสถึงพระราชกิจที่แปลกประหลาดมหัศจรรย์ของพระองค์   แต่ก็แน่นอนครับ  ถ้าไม่กล้าที่จะทดลองทำ หรือ ไม่กล้าเสี่ยงเพราะคิดว่าอาจจะได้รับความล้มเหลวซ้ำซาก   เขาก็จะไม่ได้พบกับความจริงยิ่งใหญ่ของพระเจ้าที่น่าประหลาดใจ   มิเพียงเท่านั้นครับ  ความคิดความเชื่อก็ไม่เปลี่ยนแปลง   ไม่ได้สัมผัสสัจจะสิ่งใหม่ที่ตนควรจะได้รับ   และนี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคริสตชนจำนวนมาก   ที่ติดยึดกับกรอบคิดกรอบเชื่อและประสบการณ์เดิมๆ   จึงหลุดลอยจากพระพรอันอุดมของพระเจ้าที่เตรียมพร้อมที่จะประทานแก่ผู้ที่เชื่อแต่ละคนแต่ละชุมชนที่กล้าจะลงมือทำ 

เพราะแม้จะได้รับประสบการณ์ใหม่กับพระเยซูคริสต์เจ้า   แต่ยังนำเอากรอบเชื่อเดิมกรอบคิดเดิมก็ไม่สามารถพบกับการดำเนินชีวิตในวิถีใหม่ได้   เฉกเช่นชาวประโมงอย่างซีโมน   เมื่อมีประสบการณ์ที่ประหลาดใจในตัวของพระเยซูคริสต์แต่ยังใช้กรอบคิดกรอบเชื่อเดิมเป็นกรอบความเชื่อศรัทธาที่ถูกครอบงำด้วยความกลัว   ถึงแม้เขาจะสัมผัสกับความยิ่งใหญ่ของพระเยซูคริสต์แต่เขากลับต้องการให้พระเยซูอยู่ห่างออกไปจากพวกเขา   เพราะเขาสำนึกว่าตนเป็นคนบาป  และพระเยซูคริสต์ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า

แต่พระประสงค์ของพระเยซูคริสต์คือ  พระองค์มาเพื่อที่จะแสวงหาคนบาปและช่วยพวกเขาให้รอดพ้นจากอำนาจแห่งความบาปหลากหลายรูปแบบ   พระคริสต์ต้องการเข้าหาคนบาป   แต่ซีโมนสำนึกว่าตนเป็นคนบาป   จึงขอให้พระเยซูอยู่ห่างจากพวกเขา   ทั้งนี้เพราะนี่คือกรอบคิดกรอบเชื่อเดิมของศาสนาต่างๆ คือ   การเชื่อศรัทธาสิ่งสูงสุดในชีวิตหรือองค์พระผู้เป็นเจ้าด้วย “ความกลัว”

แต่พระคริสต์มาเพื่อแสวงหาคนบาป  และช่วยคนบาปด้วยความรักเมตตา   ดังนั้น  พระเยซูคริสต์จึงประสงค์ให้ผู้ที่เชื่อศรัทธาในพระเจ้าเกิดการ “พลิกเปลี่ยน” กรอบคิดกรอบเชื่อของตนใหม่  คือเชื่อศรัทธาและไว้วางใจด้วยการมีชีวิตที่ใกล้ชิดติดสนิทกับพระองค์ (มิใช่กลัวจนต้องให้พระองค์ออกห่างจากตน)

พระเยซูคริสต์มาแสวงหาคนบาป  เพื่อปลดปล่อยเขาให้หลุดรอดออกจากอำนาจแห่งความบาปผิด มิเพียงเท่านั้น พระองค์ยังทรงเรียกคนเหล่านั้นให้เข้ามาร่วมในพระราชกิจที่พระองค์กำลังกระทำด้วย

พระเยซูคริสต์ตรัสกับซีโมนว่า  “อย่ากลัวเลย  ตั้งแต่นี้ไปท่านจะเป็นผู้จับคน” (ข้อ 10)
เมื่อนำเรือมาถึงฝั่งแล้ว  พวกเขาก็สละทิ้งทุกอย่างและตามพระองค์ไป (ข้อ 11)

จากลูกา 5:1-11  กระบวนการการทรงเรียกของพระเยซูคริสต์ มีดังนี้

1. พระเยซูคริสต์ทรงสั่งสอน

2. พระองค์ทรงใช้ทรัพยากรที่พวกเขามีอยู่  เพื่อพวกเขาจะได้เริ่มมีส่วนในพระราชกิจของพระเจ้าทางทรัพย์สินและเวลาที่พวกเขามีอยู่   ในที่นี้ชาวประมงให้พระเยซูคริสต์ใช้เรือประมงของพวกเขา   แล้วถอยเรือออกไปในทะเลในจุดที่เหมาะสมที่พระองค์จะสอนประชาชน

3. พระองค์ทรงท้าทายให้พวกเขากระทำในสิ่งที่ดูจะสวนทางกับสิ่งที่พวกเขาคิดและพวกเขาเชื่อ

4. ชาวประมงหรือซีโมนจะต้องตัดสินใจที่จะลองลงมือทำตามที่พระองค์ท้าทายหรือไม่

5. ถ้ายอมลงมือทดลองทำ   ตนก็จะพบกับประสบการณ์ใหม่ที่น่าประหลาดใจ   และกระตุกสำนึกในชีวิตของตนเอง

6. พระเจ้าทรงเรียกชาวประมงกลุ่มนี้ให้มาร่วมในพระราชกิจของพระองค์

7. ชาวประมงกลุ่มนี้ตอบสนองการทรงเรียกของพระองค์  “เมื่อนำเรือมาถึงฝั่งแล้ว  พวกเขาก็สละทิ้งทุกอย่างและตามพระองค์ไป” (ข้อ 11)

แล้วพระคริสต์ทรงท้าทายอะไรในชีวิตของท่านในวันนี้และในปีนี้?
แล้วท่านจะตอบสนองการท้าทายของพระองค์อย่างไร?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

18 มกราคม 2556

เห็นทีต้องเปลี่ยนเจ้านายคนใหม่


ผมยอมรับว่า ปัจจุบันนี้หลายคนต้องทำงานด้วยความทุกข์ทนและที่สำคัญคือไม่ชอบ หรือ ถึงกับเกลียดงานที่ตนกำลังทำอยู่ในทุกวันนี้   และถ้าท่านเป็นคนหนึ่งในคนกลุ่มนี้   ผมมีคำแนะนำสำหรับท่านครับ...

เปลี่ยนเจ้านายคนใหม่ครับ   ใช่ผมหมายความว่าเปลี่ยนเจ้านายของท่านคนใหม่ครับ!  เปลี่ยนเดี๋ยวนี้เลยครับ   แต่ท่านคงตอบโต้ผมกลับมาทันทีว่า

“โถ...คุณ  งานมันไม่ใช่หาง่าย   หายากจะตายไป   ฉันเปลี่ยนงานใหม่ไม่ได้หรอก”

“ขอโทษครับท่าน   ผมมิได้แนะนำว่าให้เปลี่ยนงานใหม่นะ   แต่ผมบอกให้เปลี่ยนเจ้านายของคุณ”

เปาโลเขียนจดหมายถึงคริสตชนในเมืองโคโลสีว่า...

“ไม่ว่าท่านทั้งหลายจะทำสิ่งใด   จงทุ่มเททำอย่างสุดใจ 
เหมือนทำเพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้า  ไม่ใช่ทำเพื่อมนุษย์”
(โคโลสี 3:23 อมตธรรม)

ท่านรู้ใช่ไหมครับว่า  ท่านสามารถเปลี่ยนเจ้านายคนใหม่โดยไม่ต้องเปลี่ยนงานใหม่!?  เพียงท่านบอกกับตนเองชัดๆ ว่า   “ฉันไม่ทำงานสำหรับบริษัท หรือ องค์กรเดิม หรือ เจ้านายคนเดิมของฉันแล้ว   แต่เดี๋ยวนี้ฉันทำงานเพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้า”

ตลอดวันที่ท่านทำงานให้บอกกับตนเองตลอดเวลาว่า   “เดี๋ยวนี้ฉันทำงานเพื่อพระคริสต์   ฉันต้องเอาใจใส่ ที่จะกระทำงานอย่างระมัดระวัง   ฉันต้องใส่ใจกับทัศนคติ หรือ ความคิดของฉันในงานที่ฉันทำ   เพราะเดี๋ยวนี้ฉันต้องรายงานต่อเจ้านายคนใหม่   ฉันต้องรายงานการทำงานต่อพระคริสต์”

ผมไม่สนใจว่างานที่ท่านทำจะลำบากมากน้อย หรือ ท่านเกลียดงานที่กำลังทำอยู่เพียงใด   แต่ถ้าท่านทำงานนั้นเพื่อพระคริสต์   ถ้าท่านยอมรับให้พระองค์เป็นเจ้านายของท่าน   และท่านเตือนตนเองตลอดเวลาว่าผู้ที่จะพิจารณาผลงานที่ท่านทำ  ผู้ที่จะตอบสนองต่องานที่ท่านรับผิดชอบคือพระเยซูคริสต์   คุณสามารถที่จะพอใจในสภาพที่ท่านต้องเป็นอยู่และต้องทำงาน   แม้ในงานที่ท่านไม่ชอบ หรือ สถานการณ์ที่ยากอยู่ก็ตาม

แต่นี่ผมไม่ได้หมายความว่าในแต่ละวันที่ท่านทำงานจะทำงานได้อย่างสบายยอดเยี่ยม ไร้ความเครียดกังวล   ท่านยังต้องประสบกับสถานการณ์ที่ยากลำบากในการทำงาน    แต่เมื่อใดก็ตามที่ท่านเห็นถึงพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับท่านในงานที่กำลังทำ   ท่านจะไม่ไปทำงานโดยพกเอาความเจ็บปวด  เบื่อหน่าย  หรือเซ็งไปด้วย   เมื่อท่านมีมุมมองใหม่ต่องานที่ท่านต้องทำและรับผิดชอบ  เป็นมุมมองที่มาจากเบื้องบนสำหรับงานที่ท่านทำ   ทัศนคติต่องานที่ท่านทำและรับผิดชอบจะเกิดการเปลี่ยนแปลง

มุมมองหรือทัศนคติในการทำงานอาชีพของท่านเดิมๆ อาจจะเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้เกิดความเซ็ง เบื่อหน่าย หรือถอดใจต่องานที่ต้องทำและรับผิดชอบ  เช่น  ท่านอาจจะเคยมีมุมมองการทำงานประกอบอาชีพของท่านก็เพื่อตัวท่านเอง   กล่าวคือ เหตุผลและแรงจูงใจในการทำงานอาชีพของท่านอาจจะเพื่อตัวท่านเอง   อาจจะเพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของท่าน   อาจจะทำงานเพื่อให้ได้เงินมาเลี้ยงปากท้องตนเองและครอบครัว   ทำงานเพื่อได้ไต่เต้าตำแหน่งที่สูงขึ้น  มีอำนาจมากยิ่งขึ้น   มีคนรู้จักนับหน้าถือตามมากขึ้น  หรือแม้กระทั่งมั่งคั่งร่ำรวยและมั่นคงยิ่งขึ้น    นั่นเป็นการทำงานเพื่อตนเอง  หรือมีความคิดกระทำสิ่งต่างๆ ปกป้องตนเอง   มีตนเองเป็นศูนย์กลาง   ทำงานในรูปแบบที่เห็นแก่ตนเอง  หรือ ตัวท่านเองอาจจะเป็นเจ้านายที่เลวในงานที่ทำก็ได้

ที่ผ่านมาท่านอาจจะทำงานโดมี “เจ้านายฝ่ายโลกนี้” รวมถึงตัวท่านเองด้วยที่ทำหน้าที่เจ้านายที่ผิดพลาด   ขอนำเอาข้อพระคัมภีร์ในวันนี้ไปประยุกต์ใช้ปรับเปลี่ยนความคิดและทัศนะต่อการทำงานของท่านในชีวิต

เลิกทำงานเพื่อคน เงินทอง หรือ องค์กร  บริษัท  สถาบัน  หน่วยงาน หรือคริสตจักร   แต่ให้ท่านทำงานเพื่อพระคริสต์เท่านั้น   ท่านสามารถที่จะพึงพอใจแม้ในการทำงานที่ท่านไม่ชอบ   ถ้าท่านทำงานนั้นเพื่อบุคคลที่ถูกต้อง

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

16 มกราคม 2556

ปีใหม่นี้...ข้าฯไม่ได้มาคนเดียว!


อ่านสดุดี 32:1-11

“เราจะสอนและชี้แนะทางที่เจ้าควรเดินไป
เราจะให้คำปรึกษา และ เฝ้าดูเจ้า”
(สดุดี 32:8 อมตธรรม)

เสียงหนึ่งในใจของผมบอกกับตนเองว่า  “นี่ ชื่อบทใคร่ครวญไปเลียนแบบชื่อหนังในอดีตเขามานะ”   ผมก็ยอมรับอยู่   แต่ชื่อหนังเรื่องนั้นชื่อว่า  “ข้าฯมาคนเดียว”   ซึ่งแตกต่างตรงกันข้ามกับชื่อบทใคร่ครวญนี้

ท่านคงเคยเห็นภาพวาดที่คริสเตียนได้นำมาติดฝาห้อง  ทั้งที่ทำงาน  ในห้องพัก  หรือห้องรับแขก   เป็นภาพที่ผมชอบมากครับ   ชายหนุ่มคนหนึ่งมือถือพวงมาลัยของนาวาแห่งชีวิตของเขา  ข้างขวามือของเขามีพระเยซูคริสต์ยืนเคียงข้าง   มือซ้ายของพระองค์แตะบนไหล่ด้านซ้ายของชายหนุ่ม   มือขวาของพระองค์ชี้ไปข้างหน้า   ดวงตาของชายหนุ่มจ้องเขม็งไปตามนิ้วชี้ของพระเยซูคริสต์   ผมได้ยินเสียงจากภาพนั้นว่า  “เราจะไปทางนั้น   และนั่นคือเป้าหมายปลายทางที่เราจะไปด้วยกัน”  

แม้ข้างหน้าจะมีลมพายุ และ คลื่นที่ถาโถมเข้ามา   แต่เรามิได้แล่นนาวาชีวิตของเราไปเพียงแต่ผู้เดียว   พระคริสต์อยู่ในนาวาชีวิตของเราด้วย   พระองค์มิได้กำลังหลับ   แต่พระองค์กำลัง “สอน” และ “ชี้แนะ” ทางที่เราควรจะไป!   และตลอดเส้นทางชีวิตพระองค์พร้อมให้คำปรึกษาแก่เรา

ในขวบปีที่ผ่านมา  บ่อยครั้งที่นาวาชีวิตของเราต้องฝ่าคลื่นแรงกล้า   เรือเกือบล่ม!

มิใช่เพราะนาวาชีวิตของเราไม่มีพระคริสต์   แต่เรามองข้ามและละเลยพระคริสต์ในชีวิตเรา   เราให้พระคริสต์ในชีวิตของเรา “นอนหลับ”   เราไม่ได้สนใจพระองค์  บางครั้งเราเอาพระองค์ไปซุกไว้ที่ไหนไม่รู้จนลืมว่าเรามีพระคริสต์ในชีวิตของเรา   แล้วเราพยายามสู้คลื่นที่รุนแรง   นาวาชีวิตเสี่ยงต่อการล่ม   เราพยายามช่วยตนเอง   พึ่งตนเองในส่วนที่เกินความสามารถในชีวิตของเรา   คำตอบที่ได้รับผมไม่อยากจะพูดถึง   เพราะเป็นตอกย้ำซ้ำเติมความเจ็บปวดในปีที่ผ่านมา

การที่เราเอาพระคริสต์ไปซุกไว้ในมุมไหนไม่รู้นั้นมิใช่เป็นการบังเอิญ   แต่เป็นความตั้งใจของเรา!

หลายครั้งที่เราเอาพระองค์ไปซุกไว้ในมุมอับของชีวิต   เพราะเรารู้และอยากจะทำในสิ่งที่พระองค์ไม่ประสงค์ให้เราทำ   “แต่พระองค์เจ้าข้าฯ จำเป็นจริงๆ ที่ข้าพระองค์ต้องทำเช่นนั้น   เพราะข้าพระองค์เห็นว่านี่เป็นทางเดียวที่ดีที่สุดสำหรับข้าพระองค์  หรือที่ข้าพระองค์จะทำได้ครับ  พระเจ้าข้าฯ?”

ใช่!   เป็นทางที่เราต้องการ   แต่มิใช่ทางที่พระองค์ประสงค์   ถ้าปล่อยให้พระองค์ชี้นำ และ ทำตามคำปรึกษาของพระองค์    เราก็ไม่รู้ว่าพระองค์จะนำเรื่องของเราให้จบลงอย่างไร   “ขอโทษเถิดพระเยซูคริสต์   ข้าพระองค์ขอทำตามสิ่งที่ข้าพระองค์รู้ว่าจะเกิดผลอย่างไรที่ชัดเจนเถิด”   ดังนั้น  “ข้าพระองค์จึงมิได้ขอคำชี้นำ และ คำปรึกษาจากพระองค์”

แต่ผมก็เคยได้ยินเพื่อนสนิทคนหนึ่งกล่าวว่า   ถ้าพระองค์ประสงค์เรื่องนั้นให้เป็นอย่างไร   ทำไมพระองค์ไม่ลงมือจัดการเรื่องนั้นเสียเองล่ะ   แล้วทุกอย่างก็จะได้สำเร็จให้รู้แล้วรู้รอดไป   “พระองค์จะมัวแต่ ชี้นำ’ ‘สอนและ ให้คำปรึกษา อยู่ให้เสียเวลาทำไม?”

ผู้เขียนสดุดีบทนี้ได้เขียนในข้อที่ 9 ว่า

“อย่าเป็นเหมือนม้าหรือล่อ   ที่ปราศจากความเข้าใจ
ซึ่งต้องใช้สายรั้งบังเหียนบังคับควบคุม   มิฉะนั้นจะไม่ยอมมาด้วย”

คำตอบนี้แสบๆ คันๆ ครับ   อย่าเป็นคนที่ผู้อื่นเอาเชือกร้อยจมูกแล้วจูงไป!

จินตภาพของผู้เขียนพระธรรมสดุดีในข้อนี้คือ “ม้าหรือล่อ” ที่แสนดื้อ!  ต้องใช้สายบังเหียนบังคับควบคุมเพื่อจะรั้งจะดึงให้มันยอมเดินตามเจ้าของของมัน   พระเจ้าไม่มีพระประสงค์เพียงให้เราเดินไปบนเส้นทางที่พระองค์ทรงกำหนดและไปถึงเป้าหมายปลายทางตามพระประสงค์เท่านั้น  สำหรับพระเจ้าแล้ว การที่สามารถฝ่าคลื่นแรงกล้าในชีวิตได้และไปถึงเป้าหมายปลายทางเท่านั้นยังไม่เพียงพอ    แต่พระองค์ประสงค์ที่จะใช้สถานการณ์ที่ทุกข์ยากลำบากที่ต้องเกิดขึ้นในชีวิตของเราแต่ละคน   เพื่อ “ชี้นำ”  “สอน”  และ  “ให้การปรึกษา”  แก่เราเพื่อที่จะเสริมสร้าง “ความเข้าใจ” ในการดำเนินชีวิต   ที่เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์   และที่สำคัญคือเข้าใจถึงพระประสงค์อันดีเลิศสำหรับชีวิตของเราแต่ละคน   และประสบการณ์ชีวิตที่ได้รับจึงเป็นการหยั่งรากความเชื่อศรัทธาให้ลุ่มลึกลงไปอีก

จากประสบการณ์ชีวิตในขวบปีที่ผ่านมา   ผู้เขียนสดุดีบทนี้ย้ำเตือนเราผู้อ่านให้ระลึกได้ว่า   สิ่งที่เราพึงเริ่มต้นในวันนี้เวลานี้คือ  การที่เราต้อง “สารภาพบาป” ต่อพระองค์ และนี่คือจุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่   เพราะพระองค์ทรงให้อภัย (ข้อ 5)   การสารภาพความบาปผิดต่อพระเจ้า   คือที่มาของความสุข   เพราะความสุขเป็นของคนที่ได้รับการอภัยจากพระเจ้า   ความบาปผิดที่เคยทำมาได้รับการขจัดออกไป (ข้อ 1)   ความสุขเป็นของผู้ที่พระเจ้าไม่ทรงถือโทษบาปของเขา (ข้อ 2)

ผู้เขียนสดุดีบทนี้ได้กล่าวจากประสบการณ์ชีวิตของตนว่า   ถ้าเราไม่ยอมสารภาพ  ผู้เขียนใช้ประโยคว่า “เมื่อข้าพระองค์นิ่งเงียบอยู่” (ข้อ 3)  ชีวิตของเราจะต้องตกในวังวนแห่งความเจ็บปวด ทุกข์ทนในชีวิตและจิตใจ   โดยผู้เขียนสดุดีใช้ภาษาภาพลักษณ์ว่า  “กระดูกของข้าพระองค์ก็สึกกร่อนไป”  “พละกำลังของข้าพระองค์ก็เหือดแห้งไป” (ข้อ 4)

ผู้เขียนสดุดีบทนี้จึงสรุปว่า  “ฉะนั้นผู้ที่ซื่อสัตย์ทุกคนจงอธิษฐานต่อพระเจ้า  ในขณะที่ยังมีโอกาสพบพระองค์ได้” (ข้อ 6)   ในขณะที่สถานการณ์ชีวิตยังดูราบเรียบ คลื่นลมชีวิตดูสงบ   นั่นหมายความว่าไม่จำเป็นต้องรอจนชีวิตจนตรอกหาทางออกไม่ได้แล้วค่อยอธิษฐานทูลขอต่อพระองค์

ที่เราเชื่อมั่นไว้วางใจพระเจ้าองค์นี้จนทูลอธิษฐานต่อพระองค์เพราะพระองค์...(ข้อ 7-8)
ทรงเป็นที่หลบภัยของเราแต่ละคน
ทรงคุ้มครองเมื่อชีวิตของเราตกในท่ามกลางความทุกข์ยากลำบาก
ทรงโอบล้อมชีวิตเราด้วยพระราชกิจแห่งการช่วยกู้
ทรง “สอน” ถึงสิ่งที่เป็นพระประสงค์ของพระองค์
ทรง “ชี้แนะ” เส้นทางชีวิตที่เราควรจะมุ่งไป
ทรง “ให้คำปรึกษา” ในทุกสถานการณ์ชีวิต  และ
ทรง “เฝ้าดู”  เราตลอดเวลา

ปีใหม่นี้...ท่านและผมไม่ได้มาคนเดียวครับ!   เรามาพร้อมกับองค์พระผู้เป็นเจ้าที่ทรงมีพระราชกิจ 7 ประการที่ทรงกระทำในชีวิตประจำวันตลอดปีที่เราจะก้าวไป

ผู้เขียนพระธรรมสดุดี บทที่ 32 ได้ให้ความมั่นใจแก่เราว่า   การก้าวไปข้างหน้าด้วยการทรงเคียงข้างของพระคริสต์นั้น  เราก็ยังต้องประสบกับภัยพิบัติ และ อำนาจชั่วร้ายมากมายอย่างที่คนบาปทั้งหลายต้องเผชิญ  แต่สำหรับเราที่ยอมให้พระคริสต์ทรงนำในนาวาชีวิตของเรา  เราจะมีอีกสิ่งหนึ่งที่คนชั่วร้ายไม่มีคือ “ความรักมั่นคงขององค์พระผู้เป็นเจ้า”   ที่ทรงโอบล้อมบรรดาผู้ที่วางใจในพระองค์ท่ามกลางสถานการณ์ที่สุขสำราญ หรือ ทุกข์ยากแสนสาหัสแค่ไหนก็ตาม (ข้อ 10)   และนี่คือสาเหตุที่เราสามารถยกย่องสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้าทุกเวลา และ ในทุกสถานการณ์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

14 มกราคม 2556

ใครขโมยความพึงพอใจของฉันไป?


อ่านฟีลิปปี 4:11-13

“...เพราะข้าพเจ้าเรียนรู้ที่จะพอใจในสิ่งที่ตนมีไม่ว่าสภาพการณ์จะเป็นเช่นไร
ข้าพเจ้ารู้ว่ายามขาดแคลนเป็นอย่างไร  และรู้ว่ายามมีเหลือเฟือเป็นอย่างไร
ข้าพเจ้ารู้เคล็ดลับที่จะพอใจกับสิ่งที่ตนมีในทุกสถานการณ์  ไม่ว่าจะอิ่มหนำหรือหิวโหย  มั่งมีหรือขัดสน
ข้าพเจ้ากระทำทุกสิ่งได้(เผชิญทุกสิ่งได้)  โดยพระองค์ผู้ประทานกำลังแก่ข้าพเจ้า” (อมตธรรม)

พระเจ้าทรงประทานหลายๆ อย่างแก่เรา  เพื่อเราจะมีความชื่นชมสุขสันติในชีวิต   แต่บ่อยครั้งนักที่ชีวิตของเรากลับถูกท่วมทับด้วยความยุ่งยากและยุ่งเหยิง   ทั้งสภาพแวดล้อมของชีวิตและภายในชีวิตของเราเอง   สิ่งที่ดูดกลืนความพึงพอใจไปจากชีวิตของเรามีดังนี้...

1. มีงานมากมาย-ยุ่งวุ่นวาย-ไม่ว่าง

เรามีชีวิตอยู่ในสังคมที่รีบเร่ง  วิ่งจากงานหนึ่งไปสู่อีกกิจกรรมหนึ่ง   อย่างไรก็ตาม ชีวิตของพระเยซูคริสต์ไม่ยอมที่จะรีบเร่งตามกระแสสังคมในตอนนั้น   แต่ก็ปรากฏว่าพระองค์ทรงบรรลุพระราชกิจที่พระบิดามอบหมายให้กระทำ  เราไม่พบว่าจะมีสักครั้งที่พระองค์ทรงผลักดันให้สาวกขับเคลื่อนให้เร็วขึ้น   ยิ่งกว่านั้นพระองค์ยังยกย่องการกระทำของมารีย์ที่หยุดจากกิจการงานเพื่อมีเวลาที่จะอยู่ใกล้และเรียนรู้จากพระองค์ (ลูกา 10:39, 42)

2. มุมมองตามอิทธิพลของกระแสโลก

บ่อยครั้งนักที่มุมมองในชีวิตของเราโน้มตามสภาพแวดล้อม   ความคิดของเรายังวนเวียนอยู่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้  จับเจ่าจดจ่อว่าวันนี้จะทำอะไร  จะจัดการอย่างไร   แล้วจะต้องทำอะไรอีกในอาทิตย์หน้า  เดือนหน้า  ปีหน้า   จึงไม่น่าแปลกใจว่าความชื่นชมยินดีในชีวิตมันหลบลี้หนีไปไหนไม่รู้   แทนที่เราจะมีมุมมองและมุ่งมองชีวิตที่เบื้องบน   คือตระหนักรู้ชัดว่าพระเจ้าทรงกำลังกระทำพระราชกิจในชีวิตของเรา   และเป้าหมายชีวิตคือการที่อยู่และทำทุกอย่างที่นำไปสู่การยกย่องสรรเสริญ  และ  ตอบสนองพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตของเรา

3. สร้างกระแสกดดันตนเอง

เราทุกคนต่างเคยมีประสบการณ์ที่ไม่สามารถปฏิเสธต่อภารกิจที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น ถ้าเป็นนักเรียนก็ต้องทำการบ้าน หรือ กิจกรรมที่ได้รับมอบหมาย   หรือเมื่อออกมาทำงานก็ต้องรับผิดชอบต่อภาระงานที่ตนเองรับจ้างรับทำ  และในทุกการงานต้องพยายามรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง   แต่เรามักสร้างแรงกดดันที่ไม่จำเป็นในการกระทำสิ่งเหล่านี้ว่า “จะต้องทำอย่างนี้” หรือ “ควรจะทำอย่างนั้น”  และแรงกดดันเช่นนี้ที่ครอบงำความคิดและการตัดสินใจของเรา   แนวทางการแก้ไขคือ  ให้เราหันชีวิตของเราเข้าไปหาพระเจ้า   น้อมรับการทรงชี้นำจากพระองค์ในชีวิตประจำวัน   และทูลขอให้เราคิด ตัดสินใจ และดำเนินการที่สอดคล้องกับแผนการของพระองค์   และที่สำคัญคือ เรากระทำทุกสิ่งได้ตามพระประสงค์ เพราะพระองค์ประทานกำลังแก่เรา

4. มุมมองชีวิตที่ติดลบและทำลาย

มุมมองที่ว่าทุกอย่างในชีวิตจะต้องดีพร้อมสมบูรณ์  มุมมองที่ไม่มีใจ เฉยเมย เฉื่อยชา และ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นตัวบ่อนเซาะทำลายความชื่นชมยินดีในชีวิตของเรา

เราจะพบความพึงพอใจในชีวิตของเราเมื่อชีวิตสะท้อนชัดว่าเรามีพระเจ้าทรงเป็นเอกเป็นต้นเป็นที่หนึ่งในชีวิตของเรา   และใช้เวลาชีวิตของเรากับพระองค์เป็นประการแรก   การอ่าน ศึกษา และใคร่ครวญถึงพระวจนะของพระเจ้าจะทำให้เราตระหนักชัดในความรักเมตตาของพระองค์   เราจะเรียนรู้ถึงมุมมองแบบพระเจ้า  พระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตของเรา  และน้ำพระทัยของพระองค์   จากนั้นเมื่อเราทุ่มเทชีวิตตามพระประสงค์  ตามแผนการ  และด้วยความรักเมตตาแบบพระองค์เราจะได้สัมผัสกับความชื่นชมยินดีในชีวิต   และนี่คือน้ำพุแห่งความพึงพอใจที่เกิดขึ้นจากภายในชีวิตของเรา

เมื่อใดก็ตามเมื่อความชื่นชมยินและความพึงพอใจในชีวิตลื่นไหลหายไปจากชีวิตของเรา   เวลานั้นเราต้องตรวจสอบว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุด  อะไรที่กำลังมายึดตำแหน่งความเป็นเอก เป็นต้น ที่ครอบงำชีวิตของเราทันที

ถ้าความพึงพอใจเกิดจากการที่เรามีองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นเอกเป็นต้นเป็นผู้ชี้นำชีวิตของเราจึงทำให้เราเกิดความชื่นชมยินดีในชีวิต   ดังนั้น  ความพึงพอใจและชื่นชมยินดีในชีวิตจึงไม่จำเป็นเกิดขึ้นเมื่อชีวิตของเราอยู่ในสถานการณ์ที่สุขสบาย  เมื่อชีวิตประสบความสำเร็จเท่านั้น   แต่ความพึงพอใจและความชื่นชมยินดีสามารถเกิดขึ้นได้ในสถานการณ์ที่ทุกข์ทน  ยากลำบาก  หรือแม้แต่ท่ามกลางชีวิตที่ต้องทนทุกข์ได้ด้วย

“ยิ่งกว่านั้น เราก็ชื่นชมยินดีในความทุกข์ยากด้วย  
 เพราะเรารู้ว่าความทุกข์ยากนั้นทำให้เกิดความทรหดอดทน” (โรม 5:3 ฉบับมาตรฐาน)
“...จงชื่นชมยินดีเสมอที่ได้มีส่วนร่วมในความทุกข์ยากของพระคริสต์...” (1เปโตร 4:13 ฉบับมาตรฐาน)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499