29 มีนาคม 2556

กางเขนแห่งความโดดเดี่ยว


อ่าน ยอห์น 19:16-27

แล้วปีลาตจึงมอบพระองค์ให้เขาไปตรึงที่กางเขน   พวกทหารจึงพาพระเยซูไป   และพระองค์ทรงแบกกางเขนของพระองค์ไปยังที่ที่เรียกว่า กะโหลกศีรษะ  ภาษาฮีบรูเรียกว่า กลโกธา   ที่นั่นพวกเขาตรึงพระเยซูไว้ที่กางเขนพร้อมกับชายอีกสองคน คนละข้าง  โดยมีพระเยซูอยู่ตรงกลาง 
(ข้อ 16-19 ฉบับมาตรฐาน)

ในช่วงเวลาที่มืดมิดในชีวิตของพระเยซู  
เตือนเราระลึกถึงว่า   มีบางเส้นทางชีวิตที่เราต้องเดินไปอย่างโดดเดี่ยว

กางเขนเตือนผมให้ระลึกถึง... 
ความโหดร้ายรุนแรง  
ความชั่วร้ายที่น่าเกลียดน่าชัง 
สิ่งที่ทำให้ชีวิตตกอยู่ในความเศร้าสลด
การถูกหักหลังทรยศอย่างอยุติธรรม  ด้วยการหลอกลวงเล่ห์เหลี่ยม
คนที่บริสุทธิ์ไร้ผิดต้องตกเป็นเหยื่อของความทรมานเจ็บปวด และ ได้รับความอดสู
ในขณะที่คนมีอำนาจคบคิด วางแผนเพทุบายอย่างกระหยิ่มยิ้มย่อง

อย่างไรก็ตาม  “เลือดที่ต้องหลั่งออก” และ “ความฉ้อฉล” ที่ดูมีความถูกต้อง  มันรบกวนความรู้สึกของผม
แต่สิ่งที่รบกวนและกระทบกระเทือนจิตใจผมมากกว่านั้นคือ   การที่พระเยซูคริสต์ต้องถูกโดดเดี่ยว
พระคริสต์ต้อง “สะดุดล้มลง” บนถนนที่ขรุขระด้วยก้อนหินแหลมคม
มีเลือดซึมออกไหลอาบเต็มแผ่นหลังของพระองค์ที่มีกางเขนไม้ที่หนักอึ้งกดทับอยู่
กางเขนที่พระองค์ต้องแบกด้วยพระองค์เอง   เพื่อคนอื่น...เพื่อทุกคน...

พระคริสต์รู้ว่า  ที่กางเขนนั้น...
พระองค์ต้องเผชิญหน้ากับความเลวร้าย  ต่ำทราม  ไร้ค่า  หวาดกลัว  
การถูกทอดทิ้ง และ ความโดดเดี่ยวตัวคนเดียว

เมื่อไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านี้...
พระองค์ต้องอธิษฐานตัวคนเดียวในสวนเก็ธเสมนีทูลขอต่อพระบิดา...
ในขณะที่สาวกคนสนิทของพระองค์หลับใหลไม่ได้สติ

จากนั้นอีกไม่กี่ชั่วโมง
สาวกที่สนิทชิดเชื้อที่สุดของพระองค์
ยืนยันอย่างแข็งขันว่า  เขาไม่เคยรู้จักคนนั้นที่ชื่อเยซู
แม้กระทั่งเมื่อพระเยซูถูกตรึงที่กางเขนที่ขนาบด้วยโจรสองคน
แต่ทั้งสองก็มิได้ชื่นชมต่อการยอมทนทุกข์อย่างเสียสละของพระองค์

แน่นอนครับ...   ความโดดเดี่ยวของพระองค์เตือนให้เราเห็นสัจจะความจริงว่า
ความรู้สึกว้าเหว่เดียวดายสามารถเกิดขึ้นได้แม้ในสถานการณ์ชีวิตที่มีผู้คนห้อมล้อมมากมาย
ในที่สุด...  คำตรัสของพระคริสต์ที่น่าสลดที่สุดที่เปล่งออกจากหัวใจที่เจ็บปวดของพระองค์...
พระองค์ร้องเรียกพระบิดา...   ที่ดูเหมือนว่าพระองค์ถูกพระบิดาทอดทอดทิ้ง...พระบิดาไม่อยู่ที่นั่น!

Lent หรือมหาพรต เป็นเวลาที่เราซึมลึกเข้าไปในความว้าเหว่โดดเดี่ยวแห่งชีวิตของเรา
เป็นเวลาที่เราซึมลึกลงไปในการที่เราถูกทิ้งให้โดดเดี่ยวตัวคนเดียว
เป็นเวลาที่มีทุกข์หนัก  ชีวิตเต็มด้วยบาดแผล  ต้องแบกภาระหนัก...  แต่ไม่มีใครมองเห็น!

ในช่วงเวลาเช่นนี้ที่เราจะต้องแบกกางเขนไป   ไม่มีใครจะมาแบกแทนเราได้... 
แต่เราต้องตระหนักชัดว่า...เราแบกไปพร้อมกับพระเยซู
เราก้าวเข้าไปในเส้นทางที่คับแคบ ตรอกที่ตีบตันอับจน   ทำให้เราหวาดกลัว   เราไม่มีทางออก...

เมื่อผมต้องเดินถึงจุดอับตีบตันในชีวิตที่มีแต่ความโดดเดี่ยว
ผมเริ่มที่จะค้นพบว่า...   พระคริสต์ทรงอยู่ที่นั่น
ใช่...พระองค์เคยแบกกางเขนอย่างโดดเดี่ยว  และถูกทอดทิ้งให้ตายตัวคนเดียว
ทำให้ผมไม่ต้องกลัวที่จะต้องทนทุกข์ยากอย่างโดดเดี่ยวต่อไป
เพราะพระคริสต์ได้พบสถานการณ์ชีวิตที่สาหัสหนักหนากว่าที่ผมประสบ
ผมไม่ต้องหวาดกลัวภาวะมืดมิดในชีวิต   การถูกโดดเดี่ยวให้ต้องเผชิญชีวิตตามลำพัง
เพราะพระองค์อยู่ที่นั่นกับผมด้วย...!


ประเด็นสำหรับสะท้อนคิดและใคร่ครวญ?

1) ครั้งสุดท้ายที่ท่านต้องประสบกับความว้าเหว่ โดดเดี่ยวสุดๆ ในชีวิตเป็นเรื่องอะไร?
2) ท่านยอมให้ชีวิตซึมซับลงในความโดดเดี่ยวตัวคนเดียว หรือ ท่านแสวงหาทางหลบลี้หนีออกจากสถานการณ์นั้น?
3) ท่านได้แสวงหาพระคริสต์ และ พบพระองค์ในสถานการณ์นั้นหรือไม่?


ใคร่ครวญภาวนา

ข้าแต่พระเจ้า   ในเวลาที่ข้าพระองค์ต้องก้าวเดินเข้าในสถานการณ์ที่ถูกโดดเดี่ยวและหวาดกลัว  ข้าพระองค์จะหลีกเลี่ยงจากเหตุการณ์ชีวิตเช่นนั้นได้หรือไม่?   พระเจ้าข้า...ทำไมชีวิตของข้าพระองค์จึงต้องเดินไปบนเส้นที่ที่ไม่พึงประสงค์นี้?   ทำไมข้าพระองค์จะต้องแบกกางเขนไปเองตัวคนเดียว?

ข้าแต่พระเจ้า   พระองค์ตรัสว่า  พระองค์จะไม่ละทิ้งให้ข้าพระองค์ต้องอยู่โดดเดี่ยวตัวคนเดียว   โปรดช่วยหนุนเสริมให้ข้าพระองค์เชื่อเช่นนั้นตามคำตรัสของพระองค์   และช่วยให้ข้าพระองค์วางใจในพระสัญญานั้น   โปรดช่วยให้ข้าพระองค์ก้าวเดินต่อไปด้วยความกล้าหาญ   ถึงแม้จะต้องเดินเข้าไปในหุบเหวแห่งความว้าเหว่โดดเดี่ยวก็ตาม   อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

27 มีนาคม 2556

สิ่งที่ผู้ฟังเทศน์ต้องการ


สิ่งต่างๆ ที่เราใช้ในการนมัสการพระเจ้าก็วนเวียนเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย  ตามบริบทและวัฒนธรรม    เช่น เพลงที่ร้อง เครื่องดนตรีที่ใช้  ระเบียบนมัสการที่มีใช้ในแต่ละคริสตจักร   แต่สิ่งหนึ่งในการนมัสการที่ดูจะไม่เปลี่ยนไปแค่ไหนคือ การเทศนา   สิ่งที่พบเกี่ยวกับการเทศนามักมีการวิพากษ์เรียกร้องจากผู้ฟังคือ   ขออาจารย์เทศนาภาษามนุษย์  มิใช่เทศนาภาษาพระคัมภีร์!   นั่นเป็นการแสดงความจริงใจและความต้องการลึกๆ ของผู้ฟังเทศน์   เขาไม่ต้องการมาฟังเทศน์เป็นพิธีเท่านั้น   เขากำลังแสวงหา   แสวงหาคำตอบต่อโจทย์ที่เป็นประเด็นในชีวิตที่เขากำลังประสบ  เขาต้องการคำตอบ  ต้องการแนวทาง  ต้องการทำตามคำเทศนาครับ   แต่ส่วนใหญ่ก็มาติดอยู่กับว่าแล้วจะนำไปทำตามในชีวิตจริงอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร?


สิบประเด็นต่อไปนี้เขียนจากการรวบรวมข้อมูล ความคิดเห็นที่มาจากประสบการณ์ตรงของผู้ฟังเทศนา และ การที่ได้อ่านข้อเขียนและบทความ (เช่นของ Bob Hostetler) เกี่ยวกับความกระหายหาที่จะได้ลิ้มรสสารอาหารที่เป็นประโยชน์ให้กำลังสำหรับชีวิตจิตวิญญาณของตน   ว่าผู้ฟังเทศน์ต้องการอะไรจากการเทศนาแต่ละครั้ง

10.  คว้าความสนใจของฉันไว้ทันทีที่คุณเริ่มอ้าปากเทศน์

นักเทศน์ในอดีตรู้ว่าจะเชื่อมต่อสื่อสารกับผู้ฟังอย่างรวดเร็วอย่างไร   แต่นักเทศน์ในสมัยใหม่ปัจจุบันนี้หลายคน   มักเริ่มต้นดึงความสนใจผู้ฟังด้วยประโยคในลักษณะที่ว่า... “เช้าวันนี้...ให้เราเปิดพระธรรมฮาบากุก...”  หรืออะไรทำนองนี้   เป็นนักเทศน์มืออาชีพที่น่าเบื่อหน่ายครับ   มาดนักวิชาการที่เราไม่ควรใช้ในปัจจุบัน!   หรือเขาเลิกใช้กันแล้ว   ให้เราคิดถึง 30 วินาทีแรกของภาพยนตร์ หรือ วีดีทัศน์สมัยใหม่   เป็นการนำเสนอที่จะคว้าความสนใจของผู้ชมผู้ฟังให้อยู่หมัดด้วยวิธีต่างๆ จะด้วยคำถาม เรื่องสั้น  คลิป  ดนตรี...ฯลฯ   ที่มีพลังดึงดูดความสนใจของผู้ฟังแบบมีพลังแรงที่ผู้ฟังไม่สนทางเลือกอื่นใด   นอกจากสนใจเรื่องราวที่ผู้เทศน์จะเทศน์ต่อไป

9.  สอนฉันบางเรื่องที่ฉันยังไม่รู้

นักเทศน์ต้องถามตนเองก่อนเทศน์ในบทเทศน์ที่เตรียมแล้วว่า  “ถ้าฉันเป็นผู้ฟังเทศน์วันนี้  จุดไหนประเด็นใดในคำเทศนานี้ที่ได้ยินได้ฟังแล้วต้องรีบจดไว้ในทันที  เพื่อฉันจะไม่ลืม?”   ถ้าคำตอบคือ “ไม่มีเลย” ขอให้กำลังใจว่า  ขอให้ท่านเริ่มเตรียมเทศน์ใหม่ครับ   ผู้ฟังเทศนาแต่ละคนต่างมีความจำเป็นและต้องการความช่วยเหลือ   เขาไม่ใช่ “ธนาคารรับฝากคำเทศน์”   แต่เขาต้องการค้นพบบางสิ่งบางอย่างใหม่ในชีวิต  ความรู้ใหม่  ความคิดใหม่  มุมมองใหม่  ทางออกใหม่สำหรับชีวิตของเขาและผู้คนที่เขาเกี่ยวข้อง

8.  บอกฉันถึงสิ่งที่พระเจ้าตรัส   ไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องการพูด

นักเทศน์พึงตระหนักชัดว่า   ผู้ที่มาฟังเทศน์ในวันนี้เขาสนใจและแสวงหาว่าพระเจ้ากำลังตรัสอะไรกับเขาในเรื่องนั้นๆ  มากกว่าท่านคิดอย่างไร หรือ ท่านพูดอะไร หรือ มาบอกว่ามีคนดังๆ พูดว่าอะไรในเรื่องนั้น...  การเทศนามุ่งเป้าหลักไปยังคริสตชนที่กำลังแสวงหา   ให้เขามีหลักการความเชื่อศรัทธาและการดำเนินชีวิตที่หยั่งรากลงในพระวจนะของพระเจ้า   และสิ่งที่ละทิ้งไม่ได้คือการที่จะกระทำตามพระวจนะ   ดังนั้น นักเทศน์จะต้องมีชีวิตดำเนินชีวิตตามที่ตนเทศน์ด้วย

7.  อย่าทำให้ฉันต้องรู้สึกว่าฉันมันโง่ เพราะฉันไม่รู้พระคัมภีร์ตอนนั้นตอนนี้

จากงานวิจัยในคริสตจักรพบว่า  ยิ่งผู้ที่เชื่อพระเจ้านานแค่ไหน  จะอ่านพระคัมภีร์น้อยลงแค่นั้น   อยากจะบอกว่าคริสตชนในปัจจุบันนี้เปิดอ่านพระคัมภีร์น้อยลง   ยิ่งในสมัยนี้เมื่อคริสตชนมาโบสถ์นอกจากจะไม่มีพระคัมภีร์ติดมือจากที่บ้านแล้ว   เมื่อมาถึงหน้าโบสถ์ที่เขาแจกสูจิบัตรนมัสการ  เพลง  พระคัมภีร์   ผู้คนมักเลือกเอาแต่สูจิบัตร   แต่ไม่เอาพระคัมภีร์   เพราะเดี๋ยวอาจารย์เขาก็จะฉายบนจอโปรเจ็คเตอร์   อ่านจากบนจอก็ได้   และสิ่งที่พบมากในเวลานี้ก็คือ   ถ้าผู้เทศน์ให้ผู้ฟังเปิดพระธรรมฮักกาย หรือ รูธ  ผู้ฟังส่วนใหญ่ไม่สามารถเปิดพบใน 2-3 นาที   แต่ในฐานะนักเทศน์พึงตระหนักชัดว่า  ในเวลาช่วงสั้นๆ ของการเทศนานี้   เราพุ่งเป้าหมายไปที่พระวจนะที่ตรัสกับผู้ฟัง   ไม่ใช่แย่งเวลาเทศนาไปสอนวิธีเปิดพระคัมภีร์   ด้วยเหตุนี้ หลายคริสตจักรผู้เทศน์จึงใช้โปรเจ็คเตอร์ฉายข้อพระคัมภีร์ที่ใช้เทศนา   เพื่อผู้ฟังจะได้เห็น ได้อ่านด้วยตนเอง 

แต่ในเวลาเดียวกันก็พึงระวังอีกเช่นกันว่า   ถ้าฉายข้อพระคัมภีร์บนจอโปรเจ็คเตอร์เป็นประจำ   โดยไม่มีเวลาอื่นที่จะพัฒนาสมาชิกให้มีความคุ้นชินในการเปิดพระคัมภีร์   จะทำให้ศักยภาพในการเปิดอ่านพระคัมภีร์ของผู้ฟังลดน้อยถอยลงเป็นลำดับ  ดังนั้น คริสตจักรก็ควรมีโอกาสและวิธีที่เหมาะสมในการพัฒนาศักยภาพในด้านนี้ของสมาชิกด้วย

ในคริสตจักรที่ไม่มีโปรเจ็คเตอร์  ผู้เทศนาอาจจะช่วยให้ผู้ฟังเทศน์สามารถเปิดข้อพระคัมภีร์ได้ทัน และ ได้อ่านไปพร้อมกับคนอื่น  ด้วยวิธีการง่ายๆ  สมมติว่าคริสตจักรนี้ใช้พระคัมภีร์ฉบับมาตรฐาน  ผู้เทศน์กล่าวนำว่า “พระธรรม ฮาบากุก เป็นพระธรรมที่อยู่ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม เล่มที่ 35 ซึ่งเราจะพบพระธรรมฮาบากุกในฉบับมาตรฐานเริ่มต้นในหน้า 1239...”

นักเทศน์ต้องระมัดระวังไม่ใช้การเปิดพระคัมภีร์ไม่ทัน หรือ เปิดไม่ได้ของสมาชิกบางท่าน  สร้างความรู้สึกอับอายต่อหน้าผู้คน  หรือความรู้สึกว่าตนเองด้อยในจิตใจของเขา

6.  ขอรู้จักคุณหน่อยได้ไหม...ว่าคุณเป็นใคร?

ผู้ฟังเทศน์ก็ต้องการรู้ว่าเขากำลังฟังใครเทศน์   แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้เทศน์เล่าประวัติของตนเสียยืดยาว   ต้องไม่ลืมว่าเวลาเทศนาไม่ใช่เวลาเล่าอวดเรื่องตนเอง   แต่ขอให้ใช้วิธีแนะนำที่สั้นๆ เพื่อสื่อสัมพันธ์คุ้นชินกับผู้ฟัง   โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเหตุการณ์ชีวิตที่สอดคล้องกับเรื่องในการเทศน์ครั้งนั้น  ทำให้รู้ถึงเบื้องหลังและประสบการณ์ชีวิตของผู้เทศน์   แต่อย่าเริ่มคำเทศนาด้วยการแนะนำตนเองนะครับ...น่าเบื่อหน่าย!

5.  ทำให้ฉันได้หัวเราะบ้าง

ความจริงก็คือว่า ไม่ใช่นักเทศน์ทุกคนที่จะสรรหาและเล่าเรื่องตลกสอดเข้าในคำเทศน์อย่างมีประสิทธิภาพได้   และต้องระมัดระวังมากในเรื่องนี้   เพราะเคยมีอาจารย์สอนในสถาบันคริสต์ศาสนศาสตร์ศึกษาที่เทศนามุ่งเน้นแต่เรื่องตลกโปกฮา มากกว่าคำตรัสของพระเจ้า   นักเทศน์ที่สร้างความบันเทิง  มัน  สะใจ   และที่แย่กว่านั้นพบว่าเคยมีผู้ใหญ่(ตำแหน่ง)ในคริสตจักรบางท่านใช้เรื่องตลกสองง่ามสองแง่บนธรรมมาสน์ด้วย 

การใช้เรื่องตลกสอดเข้าในคำเทศนามิได้มีจุดประสงค์เพื่อผู้ฟังจะได้หัวเราะเท่านั้น   มิใช่ให้ผู้ฟังตื่นจากหลับเมื่อฟังเทศน์   หรือมิใช่เพื่อให้ผู้ฟังนิยมชมชอบผู้เทศน์  เพราะเทศนาได้ตลกดี!   (ไม่ใช่นะครับ...)

การสอดเรื่องตลกเข้าในคำเทศนาเพื่อที่จะช่วยให้ผู้ฟังได้มองเห็นสัจจะความจริงเรื่องนั้นๆ ในชีวิตของผู้ฟังได้ชัดเจนยิ่งขึ้นโดยสะท้อนผ่านเรื่องตลก   ผู้เทศน์อาจจะใช้เรื่องราว และ ประสบการณ์ตลกในชีวิตของตน   เป็นเรื่องตลกที่สอดเข้าในคำเทศน์จะน่าเชื่อถือ และ ปลอดภัย 

4.  แสดงให้ฉันเห็นถึงความเข้าใจของคุณว่า ฉันจะรับมือ   จัดการ   และเอาทะลุเรื่องนั้นอย่างไร

สิ่งที่สำคัญอย่างมาก  และคงเป็นภารกิจแรกๆ ของผู้เทศน์คือ ต้องสามารถแยกแยะและรู้จักผู้ฟังเทศน์ของตนให้ชัดเจนก่อน  และผู้ฟังเทศน์ก็ต้องการรู้และมั่นใจว่า ผู้เทศน์รู้ถึงสถานการณ์ที่ล่อแหลม  เสี่ยง  บาดเจ็บ ตีบตันในชีวิต  ความฉีกขาดในความสัมพันธ์   ครอบครัวแตกสลาย   การสูญเสียในชีวิต   มิใช่เทศนาแต่เรื่องนามธรรมบนหอคอย หอระฆังโบสถ์!  ที่คนไม่รู้เรื่อง  และยิ่งกว่านั้นเป็นคำเทศน์ที่ผู้ฟังไม่สนใจ   นักเทศน์ต้องรู้ว่าจะนำเสนอคำเทศนาอย่างไร   ที่พระวจนะของพระเจ้า และ พระกิตติคุณของพระคริสต์แตะ  สัมผัส  เยียวยาชีวิตที่ไม่สมบูรณ์ข้างต้น    มีตัวอย่างชีวิตจริงไหม   มีข้อแนะนำอย่างไรบ้าง   เมื่อฉันออกจากโบสถ์นี้ไปแล้วจะต้องทำตามขั้นตอนอย่างไรบ้าง   ทำอย่างไรฉันจะมั่นใจได้ว่า  ฉันจะรับมือ จัดการ และเอาทะลุอุปสรรคความทุกข์ยากของฉันเหล่านั้น?   (บอกฉันหน่อยได้ไหม?) 

อย่าลืมนะครับว่า  ผู้ฟังเทศน์แท้จริงกำลังแสวงหา   และนักเทศน์จะช่วยให้ฉันได้แสวงหาพบทางออกในชีวิตตอนนี้ได้ไหมครับ?

3.  สัมผัสถึงอารมณ์ของฉันบ้าง

พูดอย่างเปิดใจครับ   ผู้ฟังเทศน์เป็นผู้แสวงหาที่ต้องการได้รับแรงบันดาลใจในชีวิตที่เป็นอยู่ครับ  ชีวิตที่เป็นเหมือนสายไฟที่มองหาปลั๊กเสียบที่จะเสียบเข้าไปเพื่อรับกระแสไฟฟ้า  ให้เกิดแสงสว่าง เกิดแรงพลังในชีวิตครับ   ผู้ฟังเทศน์แสวงหาแนวทางการจัดการในชีวิตของเขา   พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่านักเทศน์จะช่วยเรามิใช่ในการคิดเป็นเท่านั้นครับ   และให้รู้จักที่จะจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดในตนเองด้วยครับ   คำเทศน์ใดๆ ที่ไม่สามารถมีอิทธิพลต่อทั้งความนึกคิดและความรู้สึก   ผมคิดว่าการเทศนาครั้งนั้นประสบความล้มเหลวและทำให้ผู้ฟังเทศน์หมดหวังในการฟังเทศน์ครับ

2.  คำเทศน์ตอบโจทย์ชีวิตและความจำเป็นต้องการของฉันหรือไม่

ทุกคนที่มานมัสการพระเจ้าและฟังเทศนาต่างพกเอาโจทย์ ปัญหา ความจำเป็นต้องการในชีวิตมาด้วย   สิ่งเหล่านี้วนเวียน ย้ำซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่า ในห้วงความคิดและความรู้สึกของผู้ฟังเทศน์   และกินพื้นที่มากมายในความคิดจิตใจของเขา    ดังนั้น  เมื่อนักเทศน์นำเสนอประเด็นที่เทศน์ในวันนั้น   เราไม่สามารถรู้และมั่นใจว่า  ผู้ฟังเทศน์แต่ละคนจะสนใจในประเด็นที่นำเสนอเทศน์หรือไม่  แค่ไหน  อย่างไร

คำเทศน์ตอบโจทย์ประเด็นชีวิตที่เขาประสบพบในเวลานั้นหรือไม่?   พระกิตติคุณมีคำตอบอะไรกับภาวะ การตกงานของฉัน?   คำเทศน์มีคำตอบอย่างไรกับลูกสาวที่หนีไปกับแฟน?  แล้วฉันจะทำอย่างไรกับบ้านที่กำลังจะถูกยึด?   ฉันจะจัดการอย่างไรกับอ้ายเจ้านายที่โง่บัดซบ?   หลังการนมัสการจะพาครอบครัวไปกินข้าวที่ไหน?   ฉันจะโยกเงินก้อนโตของฉันไปลงทุนในโปรแกรมไหนที่จะได้ผลตอบแทนสูงๆ?   ฯลฯ

เมื่อคำเทศน์ของคุณ ไม่มีคำตอบสำหรับประเด็นชีวิตข้างต้น  ฉันจะฟังเทศน์ไปทำไม?   และฉันคงต้องตัดสินใจว่า ยังจะจมจ่อมในคริสตจักรนี้ต่อไปหรือไม่?

ประการสุดท้าย  ที่เป็นประเด็นสำคัญยิ่งสำหรับผู้ฟังเทศน์ที่เป็นคริสตชน และ กำลังแสวงหาในชีวิต

1. บอกฉันชัดๆ ว่า แล้วฉันจะประยุกต์สิ่งที่คุณเทศน์ไปใช้ในชีวิตวันนี้ และ อาทิตย์นี้อย่างไร?

เมื่อนักเทศน์นำเสนอพระวจนะของพระเจ้า และ พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์แล้ว   ดึงดูดความสนใจผู้ฟัง   และผู้ฟังก็สนใจที่จะทำตามพระวจนะและพระกิตติคุณที่พระเจ้าตรัสในคำเทศนาในวันนี้   และดูเหมือนว่าพระวจนะนี้มีความเป็นไปได้ที่จะนำไปปฏิบัติในวันนี้  อาทิตย์นี้แต่ยังไม่ชัดเจน  และที่สำคัญที่จะบอกตรงๆ ว่ายังไม่มั่นใจ

อยากบอกนักเทศน์ และ ศิษยาภิบาลว่า  เราต้องการโอกาสที่จะปรึกษาส่วนตัวกับอาจารย์   มีเวลาอธิษฐานเสริมกำลังใจและความมั่นใจจากอาจารย์   เราต้องการมีโอกาสส่วนตัวที่จะฟังอาจารย์ หรือ นักเทศน์ช่วยแนะนำถึงแนวทางที่จะนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมตามบริบทและสถานการณ์จริงในชีวิตของเรา   และ

เมื่อนำแนวทางนั้นไปปฏิบัติจริงในชีวิตและการทำงานเราต้องการคนที่ติดตามเราและที่เราสามารถปรึกษาได้   และเราต้องการคนที่จะช่วยถอดบทเรียนจากประสบการณ์ชีวิตที่ทำตามพระวจนะ  เพื่อเราจะได้เรียนรู้  และรับบทเรียนใหม่ๆ จากประสบการณ์  และมีความมั่นใจและมั่นคงในความเชื่อศรัทธายิ่งขึ้น   พูดง่ายๆ ครับ  เมื่อเราฟังเทศน์ และ ตัดสินใจทำตามพระวจนะแล้ว   เราต้องการอภิบาลบ่มเพาะฟูมฟักชีวิตคริสตชนของเราให้เติบโต แข็งแรง และเกิดผลเยี่ยงพระคริสต์ ครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

25 มีนาคม 2556

พระเจ้ากำลังทำงานอยู่


อ่าน ยอห์น 5:16-19

16 เพราะ​เหตุ​นี้​พวก​ยิว​จึง​เริ่ม​ต้น​ข่ม​เหง​พระ​เยซู เพราะ​พระ​องค์​ทรง​ทำ​สิ่ง​เหล่า​นี้​ใน​วัน​สะ​บา​โต
17 แต่​พระ​เยซู​ตรัส​ตอบ​พวก​เขา​ว่า พระ​บิดา​ของ​เรา​ยัง​ทรง​ทำงาน​อยู่​เรื่อยๆ และ​เรา​ก็​ทำ​ด้วย   
18เพราะ​เหตุนี้​พวก​ยิว​ยิ่ง​หาโอกาส​ที่​จะ​ฆ่า​พระ​องค์ ไม่​ใช่​เพราะ​พระ​องค์​ฝ่า​ฝืน​กฎ​วัน​สะ​บา​โต​เท่า​นั้น แต่​ยัง​เรียก​พระ​เจ้า​เป็น​บิดา​ด้วย ซึ่ง​เป็น​การ​ทำ​ตัว​เสมอ​พระ​เจ้า 
19 พระ​เยซู​ตรัส​กับ​พวก​เขา​ว่า เรา​บอก​ความ​จริง​กับ​พวก​ท่าน​ว่า พระ​บุตร​จะ​ทำ​สิ่ง​ใด​ตาม​ใจ​ไม่​ได้​นอก​จาก​ที่​ได้​เห็น​พระ​บิดา​ทำ เพราะ​สิ่ง​ใด​ที่​พระ​บิดา​ทำ สิ่ง​นั้น​พระ​บุตร​จะ​ทำ​เหมือน​กัน 
(ยอห์น 5:16-19 ฉบับมาตรฐาน)

ตลอดพระคัมภีร์ทั้งเล่มเป็นบันทึกเรื่องราวพระราชกิจของพระเจ้า  ที่พระองค์ทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของผู้คนต่างๆ   บางครั้งพระราชกิจที่ทรงกระทำเป็นเรื่องที่น่าประหลาดอัศจรรย์ใจ อย่างเช่นการที่พระองค์ทรงแยกน้ำทะเลแดงออกให้เกิดทางเดินข้ามในทะเล   เพื่อให้ประชาชนอิสราเอลสามารถหลบรอดจากการจู่โจมและฆ่าทำลายล้างจากกองทัพฟาโรห์แห่งอียิปต์    แต่ในบางครั้งเราก็พบว่า เมื่อมีเหตุการณ์วิกฤติสำคัญเกิดขึ้นในชีวิตของผู้คนพระองค์กลับเงียบ ชักช้า อย่างเช่นมารีย์และมาธาส่งข่าวด่วนให้พระเยซูรู้ว่า  ลาซาลัส น้องชายของเธอป่วยหนักใกล้ตาย  เธอทั้งสองร้องขอให้พระเยซูรีบมาช่วยด่วน   แต่พระเยซูกลับชักช้ามัวทำงานอย่างอื่นก่อนจนเมื่อพระองค์มาถึงบ้านของเธอทั้งสองปรากฏว่าลาซาลัสตายไปแล้ว (ยอห์น 11:3-6)

ในยุคของเรา  พระเจ้าทรงประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อช่วยเปิดเผยให้เราสามารถรู้ถึงการสถิตอยู่และการทำงานของพระองค์   ในการทรงสำแดงถึงงานที่พระเจ้าทรงกระทำในชีวิตของเรานั้นพระองค์ทรงมีกระบวนการของพระองค์  พระองค์มีขั้นตอนการดำเนินการของพระองค์เอง

เราจะต้องพร้อมที่จะอดทน  ในการที่จะเห็นและเข้าใจถึงพระราชกิจที่พระองค์กำลังทรงเปิดเผยให้แก่เรา   เพราะพระองค์ทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของเราตามแผนการ และ ตารางเวลาของพระองค์เอง   แต่เราหลายคนใจร้อน ต้องการให้พระองค์ทำให้ปรากฏเดี๋ยวนี้   ต้องการเห็นการทรงสำแดงของพระองค์ตามความคิดของเรา  และแย่กว่านั้น  เราคาดหวังให้พระองค์กระทำตามวิธีการ  และต้องการควบคุมเวลาการทำงานของพระองค์อีกด้วย

อย่างเช่น  พระเจ้าทรงสัญญาว่าอับราฮัมจะมีลูกมากมายอย่างทรายที่ชายฝั่งทะเล อย่างดาวที่พราวระยับบนท้องฟ้า   แต่ทั้งซาราห์และอับราฮัม ต้องรอ อีกหลายสิบปีก่อนที่ซาราห์จะตั้งครรภ์   และในบทเรียนเดียวกันนี้เราพบว่า  เพราะการที่ ไม่อดทน  คิดทำแทนพระเจ้าตามความใจร้อนของตน   กลับเป็นการสร้างปัญหาตามมาภายหลัง   อย่างเช่นกรณีเรื่องของนางฮาการ์ และ อิชมาเอล เป็นต้น (ปฐมกาล บทที่ 16)

จากการทรงทุ่มเทกระทำพระราชกิจขององค์พระผู้เป็นเจ้านำมาซึ่งความชื่นชมยินดีในชีวิตของผู้ที่พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจ   อย่างเช่นกรณีของนางฮันนาที่ได้รับบุตรชายจากพระเจ้า(คือซามูเอล  1ซามูเอล 1:27-2:1)   แต่การรอคอยการทรงกระทำพระราชกิจตามแผนการของพระเจ้านั้น   เราอาจจะต้องผ่านเวลาของความทุกข์ยาก เจ็บปวดทั้งชีวิตและจิตใจ   หรืออย่างประสบการณ์ของโยเซฟ   ก่อนที่พระเจ้าจะกระทำเขาให้อยู่ในตำแหน่งสูงในอียิปต์  เขาถูกพี่ชายขายให้กับคนต่างชาติ   ต้องเป็นขี้ข้าในบ้านนายทหารอียิปต์   ทำดีไม่ได้ดีถูกกล่าวหาทำข่มขืนอนาจาร  ทั้งๆ ที่ปฏิเสธจะทำผิดทางเพศ   ในที่สุดถูกจำคุกอย่างอยุติธรรม (ปฐมกาล บทที่ 39)  แต่น่าสังเกตว่าในทุกขั้นตอนเหตุการณ์พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจในชีวิตของโยเซฟ   ลองคิดดูซิครับว่าอะไรจะเกิดขึ้น   ถ้าโยเซฟหมดความอดทนจึง “แหกโค้งออกจากเส้นทางแผนการของพระเจ้า”?

พระเยซูคริสต์บอกกับสาวกของพระองค์ว่า   พระบิดายังทรงกระทำงานอยู่   และพระองค์ก็ทรงกระทำงานด้วย   แต่เป็นการทรงกระทำตามพระราชกิจที่เป็นตามตารางเวลาของพระบิดา   พระองค์มิได้กระทำตามใจตนเอง  

เราจะมีพลังชีวิต กำลังใจ และความเข้มแข็งมั่นคงในความเชื่อศรัทธาของเรา   เมื่อเรารู้ถึงเส้นทาง  เวลา  และแนวทางการกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของเรา   แต่นั่นเราสามารถเรียนรู้เพราะเราได้รับการสัมผัส และ การทรงสำแดงเปิดเผยการทรงกระทำพระราชกิจในชีวิตของเราในแต่ละขั้นตอน   ด้วยการทรงหนุนเสริมเพิ่มพลังและเรียนรู้ในชีวิตผ่านการทรงหนุนเสริมขององค์พระวิญญาณบริสุทธิ์ที่สถิตในชีวิตของเรา  ด้วยประกายแห่งพระราชกิจของพระเจ้าที่ทำในชีวิตเรานี้เองที่จะกระตุ้นหนุนเสริมช่วยให้เรายังยืนหยัดด้วยความเชื่อศรัทธาที่มีมุมมองรับรู้ว่า ชีวิตของเรากำลังดำเนินไปด้วยการทรงค้ำจุนของพระเจ้า  บนเส้นทาง และ ตารางเวลา  ตามแผนการและพระประสงค์ของพระองค์

วันนี้  ท่านมีสิทธิที่จะเลือกได้ (เพียงข้อเดียว)

[ ] ฉันจะเลือกทำในสิ่งที่ฉันเห็นว่ามีความเป็นไปได้สูงสุดสำหรับฉันในวันนี้
[ ] พระเจ้าจะทรงนำและกระทำตามแนวทางที่ฉันเห็นแล้วว่าพระองค์ควรจะทำ
[ ] พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของฉันแน่  และฉันพร้อมที่จะมีชีวิตเป็นไปตามแผนการทรงทำพระราชกิจของพระองค์
[ ] อื่นๆคือ (โปรดระบุ).......................................................................................................
(ขอโทษด้วยครับ  ติดนิสัยคนชอบทำแบบสอบถาม?)



ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499