30 มกราคม 2554

องค์ประกอบ 5 ประการของการเติบโตเข้มแข็งในภาวะผู้นำ

เกษตรกรรู้ดีว่า พืชที่เพาะปลูกจะเติบโตและเกิดผลได้อย่างอุดมสมบูรณ์นั้นต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ เช่น เมล็ดพันธุ์ที่จะใช้ในการเพาะปลูกต้องเป็นเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นดินที่จะใช้ปลูก อีกทั้งต้องสอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศที่ในท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย กล่าวคือต้องปลูกเมล็ดที่เหมาะสมในผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ นอกจานั้นแล้วจะต้องมีแสงแดดที่พอเพียงเหมาะสมกับพืชชนิดนั้นๆ มีความชื้นหรือน้ำเหมาะสมเพียงพอกับพืชพันธุ์ที่ปลูก และมีอุณหภูมิตลอดจนการถ่ายเทอากาศเหมาะสมอีกด้วย เมล็ดจึงจะงอกหรือแตกหน่อ แล้วเติบโตขึ้น ออกดอกและเกิดผล ถ้าองค์ประกอบหนึ่งองค์ประกอบใด (เมล็ด พื้นที่ปลูก แสงแดด อากาศ และน้ำ/ความชุ่มชื้น) ไม่เหมาะสมหรือสอดคล้องกันแล้ว การงอก เติบโต และการเกิดผลอาจจะเกิดการหยุดชะงัก หรือ ไม่เกิดผล

การเติบโต แข็งแรงขึ้นในด้านภาวะผู้นำก็จำเป็นที่มีองค์ประกอบที่สอดคล้องเหมาะสมเช่นกัน เช่นถ้าคนๆ นั้นไม่มีมุมมองหรือทัศนคติ และ พฤติกรรม/การกระทำที่เหมาะสมถูกต้อง ผลที่เกิดขึ้นและความอยากได้ใคร่มีของผู้นำคนนั้นก็จะ “พ่นพิษ” และ สร้างความล้มเหลวเสียหายมากกว่าการที่นำความเติบโต เกิดผลทั้งต่อตัวของผู้นำและคนรอบข้าง ให้เราพิจารณาถึงองค์ประกอบพื้นฐานของคุณภาพที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตและเกิดผลในภาวะของผู้นำแต่ละคน

1. เปิดชีวิตรับการสอนและสร้าง
การหยิ่ง ยโส จองหอง ถ้ามีในคนไหนแล้วสิ่งเหล่านี้จะยึดกุมพื้นที่ในชีวิตจิตใจของคนๆ นั้นจนไม่เหลือแม้แต่มุมเล็กๆ ที่จะให้เกิดการพัฒนาและรับการเสริมสร้างจากผู้คนรอบข้าง (มิใช่คนที่เหนือกว่าเท่านั้น แต่รวมถึงลูกน้องหรือคนที่ต่ำด้อยกว่าด้วย) ดังนั้น การนอบน้อมถ่อมตนจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเจริญ เติบโต และเกิดผลในชีวิตของแต่ละคน ดังคำกล่าวที่ว่า “การเปิดความนึกคิดแห่งตนเป็นจุดเริ่มต้นของการค้นพบตนเองและนำไปสู่การเติบโต เข้มแข็งในชีวิต เราจะไม่สามารถเรียนรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลยจนกว่าเจ้าตัวจะยอมรับว่า เราไม่ได้รู้ในทุกเรื่องทุกราว”

การเริ่มต้นยอมการปรับเปลี่ยนทัศนคติหรือมุมมองในเรื่องต่างๆ ของเราช่วยให้เราเป็นคนที่ยอมรับการสอนสร้างจากผู้คนรอบข้าง คนเริ่มต้นพัฒนาตนเองคือคนที่ตระหนักชัดว่าตนไม่รู้เรื่องนั้นๆ ทั้งหมด และยอมที่จะลงมือปฏิบัติตามการสอนสร้างจากคนและสภาพรอบด้าน หลักการพื้นฐานในที่นี้คือ คนๆ นั้นเปิดใจเปิดชีวิตด้วยความถ่อม ให้ความสนใจ แล้วขจัดความ “ยึดมั่นถือมั่น” ตนเองอย่างแข็งทื่อตายตัวกับประสบการณ์และความเข้าใจเดิมๆ นี่คือการเริ่มต้นที่นำไปสู่ประสบการณ์ใหม่ๆ ความเข้าใจใหม่ๆ และ นำไปสู่การบรรลุความสำเร็จ เราแต่ละคนจะมีจิตใจที่เปิดกว้างยอมรับได้ไม่ยาก เพียงยอมรับว่าตนเองกำลังเป็นคนที่เริ่มต้นเรียนรู้ ตั้งใจที่จะเรียนรู้ แต่สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ไม่ควรหลงลืมหรือลืมตัวคือ ต้องยืนมั่นที่ต้องการเปิดใจเปิดชีวิตยอมรับการสอนสร้างเสมออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเริ่มต้นไปขั้นหนึ่งที่เราได้ก้าวไปข้างหน้าระดับหนึ่งแล้ว ไม่ควรทะนงหลงตนคิดว่าตนเองรู้แล้วเก่งแล้ว แต่ยังต้องเปิดชีวิตจิตใจที่รับการสอนสร้างต่อไปและต่อเนื่อง

2. ด้วยใจเสียสละ
การที่จะมีภาวะผู้นำที่เติบโตเข้มแข็งในตัวเรานั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะมีจิตใจที่จะ “ให้ด้วยใจรัก” ยอมที่จะเป็นฝ่ายให้และเสียสละ เริ่มตั้งแต่ที่จะยอมเสียสละความคุ้นชินกับแบบแผน หรือ รูปแบบเดิมๆ ที่ตนเองคุ้นเคย ยอมที่จะละหยุดระบบคุณค่าที่ตนเองยึดมั่น หรือ ยอมที่จะทำในบางสิ่งบางเรื่องที่เรายังไม่เห็นคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในลักษณะใดทั้งสิ้น สิ่งที่เราได้ในชีวิตมักมาจากผลพวงของการที่เรายอมเสียสละในบางสิ่งบางอย่าง เราจะต้องยอมที่จะเสียสละบางอย่างเพื่อก้าวข้ามไปสู่การมีภาวะผู้นำสูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง

3. ความรู้สึกปลอดภัย
การที่เราจะเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตของเรานั้น เราต้องพร้อมและเต็มใจที่จะกล่าวว่า “ผมยังไม่รู้ในเรื่องนี้เลย” ไม่ว่าท่านจะอยู่ในตำแหน่งสูงเพียงใดก็ตาม อาจจะเป็นการยากที่ผู้มีตำแหน่งในการบริหารระดับสูงจะบอกกับคนใต้บังคับบัญชาว่าตนเองยังไม่มีความรู้ในเรื่องนั้นเรื่องนี้ เพราะเขามักเข้าใจว่า ลูกน้องในบังคับบัญชาของเขามุ่งมองมาที่เขาเพื่อจะรู้ว่าทิศทางขององค์กรของงานจะไปสู่เป้าหมายใด และผู้บริหารก็คงไม่ต้องการให้ลูกน้องใต้บังคับบัญชาของตนต้องเสียขวัญและความมั่นใจในการทำงาน แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ได้มุ่งมองหา “ผู้นำ” ที่สมบูรณ์แบบ แต่พวกเขาแสวงหาผู้นำที่ “จริงใจ” “น่านับถือ” และเป็นผู้นำที่ “หนุนเสริมเพิ่งพลังใจและการทำงาน” แก่ลูกน้อง เป็นผู้นำที่ไม่หย่อนย่อท้อแท้ต่ออุปสรรคที่องค์กรกำลังเผชิญหน้า ไม่ยอมหยุดยั้งขับเคลื่อนจนกว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไข ผู้นำเช่นนี้ที่ทำให้ทีมงานทั้งองค์กรรู้สึกปลอดภัยมั่นคงและต้องการ “ลุย” ไปกับผู้นำ

ในเวลาเดียวกันเราเองก็จะเป็นผู้นำที่รู้สึกมั่นคงปลอดภัยในการนำ เพราะเรารู้และมั่นใจว่าเรามิได้นำด้วยตัวเราคนเดียว แต่เรารู้สึกมั่นคงเพราะเรารู้ว่า ทุกคนในองค์กร หรือ อย่างน้อยที่สุดผู้คนส่วนใหญ่ในองค์กรของเราพร้อมที่จะขับเคลื่อนไปกับเรา

4. เปิดใจฟัง และ ฟังอย่างใส่ใจ
ฟัง เรียนรู้ และถามจากบางคนที่ประสบความสำเร็จในการเป็นผู้นำ เรียนรู้ และ ใช้ประสบการณ์ของผู้ประสบความสำเร็จเหล่านี้เพื่อเราจะไม่ต้องกระทำผิดซ้ำซากในสิ่งที่ท่านเหล่านี้เคยล้มเหลวมาแล้ว และเอาอย่างประยุกต์ชัยชนะในการงานและชีวิตของท่านเหล่านี้มาใช้ในการทำงานของเราด้วย นำประสบการณ์และบทเรียนที่ได้รับการบอกเล่าจากผู้ประสบความสำเร็จเหล่านี้มาสะท้อนคิดบนสถานการณ์ความเป็นจริงในงานที่เรารับผิดชอบ

นอกจากนั้น การฟังความคิดเห็น การสะท้อนความคิดเห็น และการวิพากษ์วิจารณ์จากเพื่อฝูงและเพื่อนร่วมงานอาจจะทำให้เรารู้สึกขมขื่นเจ็บปวดบ้างในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ถ้าเราฟังด้วยเอาใจใส่และจิตใจมั่นคงเป็นกลางและเปิดความคิดของเราออกรับฟัง จะช่วยปกป้องเราจากการตกเป็นเหยื่อของความล้มเหลวในจุดบอดที่เราเองไม่สามารถเห็นได้

5. ประยุกต์ใช้
ความรู้จะอยู่ติดกับเราเพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น และจะไม่มีคุณค่าอะไรแก่เราเลย นอกจากว่าเราจะนำความรู้นั้นมาใช้ทำจริงทันที หรือ เอาความรู้นั้นมาใคร่ครวญแสวงหาแนวทางในการปฏิบัติจริง จากนั้น จงนำประสบการณ์ที่ท่านได้จากการนำความรู้ไปปฏิบัติจริงแล้วถอดออกมาเป็นบทเรียนชีวิตของท่านเอง เมื่อนั้นสติปัญญาความเข้าใจของท่านจะเติบโตมั่นคง ชัดเจนขึ้น และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ชีวิตในครั้งต่อๆ ไป

เรียบเรียงและเพิ่มเติมจากข้อเขียนของ John C. Maxwell
บทความเรื่อง Five Ingredients of Personal Growth

พระธรรมภาวนา

มัทธิว 20:25-28
25พระเยซูทรงเรียกเหล่าสาวกมาพร้อมหน้ากันและตรัสว่า
“ท่านทั้งหลายรู้อยู่ว่า ผู้ปกครองของคนต่างชาติเป็นเจ้าเหนือเขา และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ก็ใช้อำนาจเหนือพวกเขา 26แต่สำหรับพวกท่านไม่เป็นเช่นนั้น ตรงกันข้าม ใครอยากเป็นใหญ่ในพวกท่านต้องรับใช้ท่าน 27และผู้ใดใคร่จะเป็นเอกต้องยอมเป็นทาสของท่าน 28เหมือนกับที่บุตรมนุษย์มิได้มาเพื่อรับการปรนนิบัติ แต่มาเพื่อปรนนิบัติและประทานชีวิตของพระองค์เป็นค่าไถ่เพื่อคนเป็นอันมาก
(สำนวนแปลอมตธรรม)

27 มกราคม 2554

เราบ่มเพาะอะไร

เราบ่มเพาะอะไร
ในการ “บ่มเพาะฟูมฟักจิตวิญญาณ” (Spiritual Formation)

เมื่อเราพูดถึงการบ่มเพาะ ฟูมฟัก ชีวิตจิตวิญญาณ เรากำลังหมายถึงการบ่มเพาะฟูมฟักอะไรกันแน่? แท้ที่จริงแล้วเรากำลังพูดถึงการการบ่มเพาะฟูมฟักใหม่ในชีวิตจิตวิญญาณของคน ถ้าเช่นนั้นเราต้องย้อนกลับไปพิจารณาว่าเราได้ถูกสร้างขึ้นมาแต่เริ่มแรกอย่างไรบ้าง?

เมื่อพระเจ้าทรงตัดสินใจที่สร้างมนุษย์ 26...พระเจ้าตรัสว่า “ให้เราสร้างมนุษย์ตามฉายาตามอย่างของเรา...” (ปฐมกาล 1:26) พระองค์สร้างอาดัมและเอวาตามพระลักษณะของพระองค์ มนุษย์ที่ถูกสร้างมานั้นมีรักความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระเจ้า และมนุษย์มีความสัมพันธ์กับมนุษย์ และมีสัมพันธภาพกับสิ่งต่างๆ รอบตัวเขา มนุษย์สามารถที่จะคิดและเป็นผู้ที่สร้างสรรค์ได้ และยังมีความสามารถดูแลเอาใจใส่และครอบครองโลกใบนี้ตามที่พระผู้ทรงสร้างมอบหมาย แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมนุษย์ทำความผิดบาป ลักษณะและคุณภาพชีวิตดังกล่าวข้างต้นได้สูญเสียไป และมนุษย์ปัจจุบันนี้ยังอยู่ในสภาพที่ “พระฉายาของพระเจ้ายังเสียหาย” และเสื่อมถอยอันเนื่องจากความบาป

มีทางเดียวที่ลักษณะพระฉายาที่มนุษย์ได้จากพระเจ้าจะกลับคืนสู่สภาพเดิม พระเจ้าจะต้องทรงสร้างเราใหม่อีกครั้งหนึ่ง พระองค์ทรงสร้างเราขึ้นใหม่ตามแบบอย่างของพระองค์ (โรม 8:29) 29เพราะว่า... พระองค์ได้ทรงตั้งไว้ให้เป็นตามลักษณะพระฉายแห่งพระบุตรของพระองค์ เพื่อพระบุตรนั้นจะได้เป็นบุตรหัวปีท่ามกลางพวกพี่น้องเป็นอันมาก” ในเมื่อพระคริสต์ก็คือพระเจ้า ดังนั้นการที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงมีลักษณะฉายาเหมือนพระคริสต์ก็หมายความได้รับการเปลี่ยนแปลงใหม่ตามพระฉายาของพระเจ้าตามที่มนุษย์ได้รับการทรงสร้างตั้งแต่ครั้งเริ่มแรก

ดังนั้น เมื่อเราพูดถึงเรื่องการบ่มเพาะฟูมฟักชีวิตจิตวิญญาณ นั่นหมายถึงการที่เราได้รับการบ่มเพาะให้มีลักษณะฉายาของพระคริสต์ภายในชีวิตของเรา เปาโลได้บอกเราว่าลักษณะชีวิตที่ว่านี้เป็นเหมือนรายการเดียวกันกับรายการผลของพระวิญญาณที่ทำงานในชีวิตของเรา ให้มีลักษณะของ 22ความรัก ความปลาบปลื้มใจ สันติสุข ความอดกลั้นใจ ความปรานี ความดี ความสัตย์ซื่อ 23ความสุภาพอ่อนน้อม การรู้จักบังคับตน เรื่องอย่างนี้ไม่มีธรรมบัญญัติห้ามไว้เลย (กาลาเทีย 5:22)

การที่เรามีส่วนร่วมในพระลักษณะของพระคริสต์ไม่ได้หมายความว่าเราหมดลักษณะของความเป็นตัวตนของตนเอง พระเจ้าไม่มีพระประสงค์ที่จะลบล้างทำลายลักษณะเฉพาะที่พระเจ้าทรงสร้างในตัวตนของเรา แต่พระองค์ประสงค์ให้ลักษณะเฉพาะในตัวตนของแต่ละคนมุ่งไปสู่เป้าหมายของพระคริสต์ด้วยการขับเคลื่อนโดยพลังกระตุ้นดลใจจากพระองค์ พระธรรมโรม 12:2 ได้บอกเรา “อย่าประพฤติตามอย่างคนในยุคนี้ แต่จงรับการเปลี่ยนแปลงจิตใจ แล้วอุปนิสัยของท่านจึงจะเปลี่ยนใหม่ เพื่อท่านจะได้ทราบน้ำพระทัยของพระเจ้า จะได้รู้ว่าอะไรดี อะไรเป็นที่ชอบพระทัยและอะไรดียอดเยี่ยม” (อมตธรรม)

การมีชีวิตตามแบบชีวิตของพระคริสต์เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลง ในพระธรรม 2โครินธ์ 3:18 ได้กล่าวไว้ว่า “เราทั้งหลาย...ต่างสะท้อนพระสิริขององค์พระผู้เป็นเจ้า เรากำลังรับการเปลี่ยนแปลงให้เป็นเหมือนพระองค์ ด้วยรัศมีที่เพิ่มพูนขึ้นทุกที รัศมีซึ่งมาจากองค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงเป็นพระวิญญาณ” (อมตธรรม)

ในที่สุด มิเพียงแต่ความนึกคิดและจิตใจของเราที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงให้เป็นเหมือนพระลักษณะของพระคริสต์เท่านั้น แต่ร่างกายของเราก็จะได้รับการเปลี่ยนแปลงด้วย ซึ่งร่างกายของเราในปัจจุบันนั้นเป็นเพียงร่างกายที่มีความจำกัดทั้งความสามารถ ความคงทน และช่วงเวลา และความปรารถนาต้องการของร่างกายมักนำเราเข้าสู่การทดลอง แต่ท่านยอห์นได้กล่าวไว้ว่า “เพื่อนที่รัก บัดนี้เราเป็นลูกของพระเจ้า ภายหน้าเราจะเป็นอย่างไรเรายังไม่รู้ แต่เรารู้ว่าเมื่อพระองค์ทรงปรากฏเราจะเป็นเหมือนพระองค์ เพราะเราจะเห็นพระองค์อย่างที่พระองค์ทรงเป็น” (1ยอห์น 3:2) สมรรถนะภายนอกของเราจะสอดคล้องกับความปรารถนาภายในของเรา และพระลักษณะของพระคริสต์ในตัวเราจะเป็นไปอย่างสมบูรณ์

การบ่มเพาะชีวิตจิตวิญญาณเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากจิตจำนงค์เสรีในแต่ละตัวคน ที่ตัดสินใจให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเปลี่ยนแปลงชีวิตความนึกคิด จิตใจความปรารถนา จนมีพลังขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การดำเนินชีวิตประจำวันของเราให้เป็นไปตามพระลักษณะของพระคริสต์

การบ่มเพาะชีวิตจิตวิญญาณเริ่มต้นที่เราแต่ละคน และ ชุมชนคริสเตียนจะต้องช่วยกันเสริมสร้างความตระหนักชัดว่า เราจะไม่ยอมมีชีวิตจิตใจที่ไหลไปตามกระแสแห่งสังคมโลกปัจจุบันนี้ แต่เพื่อที่จะนำการเปลี่ยนแปลงสังคมและชุมชนในปัจจุบันไปสู่แผ่นดินของพระเจ้า คริสเตียนและชุมชนคริสเตียนจะต้องรับการเปลี่ยนแปลงให้มีชีวิตที่เป็นไปตามพระลักษณะของพระคริสต์ เพื่อคริสเตียนเหล่านี้จะรวมตัวเป็นชุมชนคริสเตียน ชุมชนคริสตจักรที่เป็นตัวแทนของพระพระคริสต์ในการเปลี่ยนแปลงคนในสังคมปัจจุบัน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างระบบสังคมให้มีคุณภาพชีวิตชุมชนตามอย่างแผ่นดินของพระเจ้า

เราสามารถบ่มเพาะฟูมฟักชีวิตจิตวิญญาณแบบพระคริสต์ในชีวิตของเรา ชีวิตของเพื่อนรอบข้าง และชีวิตสังคมที่เราอยู่ร่วมกันตั้งแต่วันนี้

24 มกราคม 2554

ทนไม่ได้แล้ว

6อับรามจึงตอบว่า “สาวใช้ของเจ้าก็อยู่ในมือของเจ้า จงทำกับนางตามที่เจ้าเห็นควรเถิด” นางซารายจึงกดขี่ข่มเหงฮาการ์ ดังนั้นนางฮาการ์จึงหลบลี้หนีหน้าไป 7ทูตขององค์พระผู้เป็นเจ้าพบนางฮาการ์ในทะเลทรายใกล้บ่อน้ำพุซึ่งอยู่ริมทางที่จะไปเมืองชูร์ 8และทูตนั้นพูดว่า “ฮาการ์สาวใช้ของซาราย เจ้ามาจากไหนและกำลังจะไปไหน?” นางตอบว่า “ข้าพเจ้ากำลังหนีนางซารายนายหญิงของข้าพเจ้า” 9แล้วทูตขององค์พระผู้เป็นเจ้ากล่าวกับนางว่า “จงกลับไปหานายหญิงของเจ้าและยอมอยู่ใต้อาณัติของนาง”  
(อมตธรรม, ปฐมกาล 16:6-9)

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า แต่พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าผู้ทรงเมตตากรุณา และทรงพระคุณ
ทรงพระพิโรธช้า เปี่ยมด้วยความรักมั่นคงและความซื่อสัตย์
(อมตธรรม, สดุดี 86:15)


น่าจะกล่าวได้ว่า ในชีวิตนี้ของเราแต่ละคนคงมีอย่างน้อยสักครั้งหนึ่งที่เราโพล่งออกมาว่า “ทนไม่ได้แล้ว” อาจจะเป็นสัมพันธภาพของเราเลวร้ายลง หรือชีวิตแต่งงานของเราแตกหักเป็นเสี่ยงๆ หรือการงานกำลังยุ่งยากอย่างมากจนไม่รู้จะสู้อย่างไร หมดสภาพจน “หลังพิงฝา” รู้สึกว่าชีวิตนี้ไม่ได้รับความเป็นธรรม ทำให้เราต้องเครียดจัด เป็นไปได้ที่บางครั้งที่เรารู้สึกว่า ชีวิตนี้มันเลวร้ายอะไรอย่างนี้ พอกันที มันมากเกินไปแล้วสำหรับชีวิตของเรา จนเราต้องการที่จะตะโกนออกมาดังๆ ว่า “ข้าทนไม่ได้แล้ว”

สถานการณ์ในทำนองเดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นกับนางฮาการ์ เธอถูกขายเป็นทาส ต้องออกมาจากอียิปต์ สถานการณ์นี้สร้างความขัดแย้งเจ็บปวดกับความตั้งใจของเธอ แล้วเธอก็ถูกนายหญิงให้ช่วยตั้งครรภ์เพื่อจะมีบุตรให้นายหญิง นี่เป็นเป็นการย่ำยีความรู้สึกของเธออีกและรุนแรงกว่าเดิม ตอนนี้เธอต้องเจ็บปวดจนเกือบจะทนไม่ได้อยู่แล้วเพราะนายหญิงคือนางซารายได้ “เคี่ยวเข็ญ”(สำนวน TBS) “กดขี่ข่มเหงฮาการ์”(สำนวน อมตธรรม) ซึ่งคำนี้ในภาษาฮีบรูมีความหมายว่า กระทำด้วยความเกลียดชัง “ถมึงตา” ปฏิบัติต่อเธอด้วยการลดคุณค่า ฐานะ ศักดิ์ศรี และกระทำเพื่อให้ผู้ถูกกระทำเกิดความทรมานใจ เสียอกเสียใจ เกิดความเจ็บปวดในชีวิต พูดกันแบบภาษาทุกวันนี้ก็คือ ซารายได้ทำร้ายทารุณต่อฮาการ์ เป็นไปได้อย่างไรที่ลูกสาวคนหนึ่งของพระเจ้าทำร้ายทำลายชีวิตของสตรีอีกคนหนึ่งของพระองค์? ใช่แล้วเป็นการกระทำที่รุนแรงเกินไป แต่คงต้องพูดความจริงว่าเหตุการณ์เยี่ยงนี้เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย ไม่เว้นแม้ในยุคปัจจุบัน

ท่ามกลางความรุนแรง เลวร้าย เจ็บปวดที่ซารายเพิ่มพูนกระทำแก่ฮาการ์ที่แรงขึ้นทุกทีจนทาสหญิงคนนี้ตัดสินใจว่า ไปตายในทะเลทรายก็ดีกว่าการมีชีวิตที่แสนขมขื่นกับซาราย เธอจึงหนีออกจากบ้านของนายหญิงมุ่งหน้าสู่ทะเลทรายที่โหดร้าย ที่หนาวยะเยือกในกลางคืนและร้อนระอุอย่างรุนแรงในเวลากลางวัน สภาพที่สามารถฆ่าชายที่กำยำให้จบชีวิตได้ แต่ในกรณีของฮาการ์ สถานการณ์เลวร้ายนี้มิได้กำลังจะคร่าชีวิตของคนๆ เดียวเท่านั้นแต่สองคน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อฮาการ์รู้ดีว่าตนกำลังตั้งครรภ์ ในปฐมกาล 16:11 ทูตสวรรค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้ากล่าวแก่ฮาการ์ว่า “บัดนี้เจ้ากำลังตั้งครรภ์ และเจ้าจะมีบุตรชาย” เป็นการยืนยันว่าสิ่งที่เธอรู้เธอคิดเป็นความจริงว่าเธอกำลังตั้งครรภ์ ทูตสวรรค์จึงกล่าวแก่เธอว่า “จงกลับไปหานายหญิงของเจ้า และยอมอยู่ใต้อาณัติของนาง” (ปฐมกาล 16:9)

เมื่ออ่านถึงพระธรรมตอนนี้ในครั้งแรก รู้สึกงงงวยกับคำสั่งที่ไม่เห็นเข้าท่า ไม่สบายใจว่าทำไมทูตสวรรค์ของพระเจ้าสั่งอะไรเช่นนี้ ทำไมพระเจ้ายังยอมให้ลูกสาวคนหนึ่งของพระองค์กลับไปรับการกดขี่ข่มเหงให้ชีวิตต้องเจ็บช้ำมากมายเช่นนี้? แต่เมื่อพิจารณาอย่างถ้วนถี่และจากความคิดเห็นของนักศึกษาพระคัมภีร์หลายท่านได้ให้ข้อแนะนำว่า ถ้าฮาการ์ยังขืนเดินทางในทะเลทรายต่อไปนางจะต้องเสียชีวิต หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ขาดทั้งน้ำและอาหารจะอยู่รอดไปได้สักกี่น้ำ? อีกประการหนึ่ง มิใช่นางเท่านั้นที่จะเสียชีวิต บุตรในครรภ์ของเธอก็จะเสียชีวิตด้วย และเมื่อคิดถึงบุตรในครรภ์นี่น่าจะเป็นสาเหตุใหญ่ของ ฮาการ์ที่เธอตัดสินใจกลับไปหานายหญิง และเธอคงตั้งใจว่าเธอจะทำสิ่งที่ดีที่สุดในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่เหลือทนที่จะต้องเกิดขึ้นข้างหน้า

คงต้องทำให้เข้าใจกันชัดเจนในที่นี้ว่า สถานการณ์การทำร้ายทำลายที่โหดร้ายนี้มิใช่การกระทำของพระเจ้าและก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในแผนการของพระเจ้า บ่อยครั้งพระบิดาในสวรรค์มักถูกกล่าวร้ายในทำนองนี้เพราะความสับสนในความเข้าใจของมนุษย์ ถ้ามิใช่เพราะพระเจ้าทรงอดกลั้น อดทน และการทนทุกข์อย่างมากมายต่อเนื่องเช่นนี้แล้ว สถานการณ์จะเป็นไปอย่างเลวร้ายกว่านี้

จากเรื่องราวที่เราใคร่ครวญในที่นี้ เราพบและเรียนรู้ว่า พระเจ้าทรงเอาใจใส่ต่อการที่ฮาการ์ถูกซารายกระทำอย่างโหดร้ายทารุณ พระองค์ทรงติดตามฮาการ์ทุกย่างก้าวเมื่อเธอหนีออกจากเต็นท์ของซา-ราย พระองค์ให้ทูตสวรรค์ปกป้องแล้วนำเธอทั้งความคิดและการกระทำไปยังที่ปลอดภัย จากนั้นพระเจ้าทรงสัญญากับฮาการ์ว่า พระองค์จะทรงเพิ่มพูนลูกหลานของฮาการ์ให้มากมายจนนับไม่ถ้วน และจะเป็นชนชาติใหญ่ชาติหนึ่ง

การดูถูกหว่านความเกลียดชัง
แต่ความเมตตากรุณาหว่านการเยียวยารักษา
แม้ว่าการอดกลั้นอดทนในขณะที่รอคอยดูจะสร้างความขมขื่นในชีวิต
แต่ในที่สุด ความอดทนให้ผลที่หวานฉ่ำ
เมื่อเราต้องอดกลั้นและอดทนในความทุกข์ยากลำบากและอยุติธรรม พระเจ้ามิได้ทอดทิ้งเรา
เมื่อเราอดรนทนไม่ได้ต่อไปและตัดสินใจหนี
พระเจ้าทรงติดตาม อ้าแขนโอบแล้วนำเรากลับสู่การปกป้องของพระองค์
และที่สำคัญคือ พระสัญญาของพระองค์สำหรับชีวิตของเราจะบรรลุเป็นจริง
ฟรานซิส แห่ง อาซีซี เคยกล่าวไว้ว่า
เมื่อมีความอดทน อดกลั้นด้วยใจถ่อม
เมื่อนั้นจะไม่มีความโกรธเกลียดหรือการถูกกวนจิตใจ
ขอพระเจ้าประทานความอดทนแก่เรา เมื่อคนชั่วร้ายทำให้เจ็บปวดในชีวิต
เมื่อเราคิดว่าเราไม่ได้รับความเป็นธรรม เราจะอดรนทนไม่ไหว เรารู้สึกเจ็บปวดในชีวิต
พระคริสต์ทนทุกข์เมื่อถูกตบบนใบหน้าของพระองค์ อย่างไร้ความผิด
แต่เรามิได้ยินคำหยาบคาย รุนแรงจากพระองค์แม้เพียงคำเดียว

ขอพระเจ้าประทานให้เราเป็นคนดีรอบคอบอย่างพระองค์ด้วยความอดทน
เพื่อเราจะตอบสนองสิ่งเลวร้ายด้วยไมตรีจิตและความคิดที่ถ่อมสุภาพ
และถ้าจำเป็นที่เราจะต้องพูด ขอพระเจ้าช่วยให้เราพูดด้วยความรัก ถ่อม อดทนบนสัจจะความจริง
เพื่อเป็นการถวายเกียรติแด่พระเจ้า ด้วยการที่เราสำแดงความอดทนและสัตย์ซื่อให้ปรากฏแจ้ง

23 มกราคม 2554

หว่านพืชหวังผล

ถ้าท่านเคยทำสวนทำไร่ ท่านย่อมรู้ดีว่า พืชผัก ต้นไม้ ดอกไม้แต่ละพันธุ์แต่ละชนิดย่อมมีลักษณะพิเศษในชีวิตของมัน พืชผักแต่ละชนิดมีการเจริญเติบโตที่แตกต่างกัน และเวลาหรือฤดูการปลูกพืชพันธุ์บางชนิดอาจจะแตกต่างกันออกไป แต่เราก็คาดหวังว่า เราจะได้ผลที่ดีที่สุดจากพืชที่เราปลูก

จากการที่เรามีประสบการณ์ในการปลูกพืช ในการทำสวน ทำไร่เป็นเวลายาวนาน เราก็จะบอกได้ว่าดินในสภาพเช่นนี้ มีสีเช่นนี้ มีความชื้นขนาดนี้เป็นดินดีอุดมสมบูรณ์หรือไม่แค่ไหน ในการเพาะปลูกท่านจะคอยระมัดระวังพวกวัชพืชที่จะมารุกรานต้นไม้ที่เราปลูก เราต่างรู้ดีว่าการที่เราจะได้รับผลดีจากการเพาะปลูกนั้นส่วนหนึ่งเพราะเรามีเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ และในเวลาเดียวกันก็ขึ้นอยู่กับพื้นดินที่รองรับเมล็ดที่เราหว่านลงไป ว่ามันบ่มเพาะได้ดีแค่ไหน และ ความอุดมสมบูรณ์ในพื้นดินที่จะหล่อเลี้ยงต้นไม้ที่งอกในระดับใด รวมถึงการเอาใส่ของเจ้าของสวนหรือพื้นที่เพาะปลูกด้วย

พระเยซูทราบดีว่า ผู้ฟังที่มีประสบการณ์ในการทำเกษตรย่อมรู้และเข้าใจถึงแผ่นดินที่ใช้ในการเพาะปลูกได้เป็นอย่างดี เช่นกันเราก็สามารถที่จะเรียนรู้ว่าความเชื่อศรัทธานั้นสามารถงอก และเจริญเติบโตได้อย่างไร และยังรู้ด้วยว่าทำไมความเชื่อศรัทธาที่งอกมาใหม่นั้นถึงเหี่ยวเฉาและตายไปในที่สุด เรารู้ว่าที่เป็นเช่นนั้นย่อมมีมากกว่าหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ความเชื่อศรัทธานั้นเหี่ยวเฉาตายไป ซึ่งมีสาเหตุหลักๆเช่น การตอบสนองของคนๆ นั้น(พื้นดิน) ที่ได้รับพระวจนะของพระเจ้า(เมล็ดพืช) ย่อมมีมากกว่าหนึ่งสาเหตุที่อาจจะทำให้เมล็ดแห่งความเชื่อศรัทธางอกมาแล้วแต่กลับเหี่ยวเฉาตาย

พระเยซูคริสต์ได้เล่าเรื่องอุปมาดังนี้

มีชาวนาคนหนึ่งได้ออกไปหว่านเมล็ดพืช เขาได้หว่านเมล็ดให้กระจายลงบนที่ทำเกษตรของเขา เมล็ดส่วนหนึ่งหว่านลงไปตกลงบนทางเดิน นกบินมาจิกกินหมด เมล็ดบางเมล็ดหว่านตกลงไปบนดินที่ปกคลุมบนหิน เมล็ดได้งอกและเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่เพราะมีเนื้อดินบางและส่วนใหญ่เป็นหิน เมื่อต้นอ่อนที่งอกมาต้องรับกับแสงแดดที่แรงกล้ามันจึงเหี่ยวเฉาและตายในที่สุด และเพราะต้นอ่อนไม่สามารถหยั่งรากเพราะข้างล่างเป็นหิน มันจึงตาย เมล็ดอีกส่วนหนึ่งหว่านไปตกลงในที่ที่มีพงหนามปกคลุมหนาแน่น แม้ว่าเมล็ดจะงอกและต้นอ่อนเติบโตขึ้นแต่ปรากฏว่าต้นพืชเหล่านั้นไม่เกิดผล และยังมีเมล็ดอีกส่วนหนึ่งหว่านไปตกบนดินที่อุดม มันจึงงอก เติบโต และเกิดผลเป็นสามสิบเท่า, หกสิบเท่า และบ้างก็ ร้อยเท่า (มาระโก 4:3-9)

พระเยซูคริสต์ได้อธิบายอุปมาเรื่องนี้แก่สาวกดังนี้

การหว่านเมล็ดพืชก็คือการที่คนหนึ่งนำพระวจนะของพระเจ้าไปให้แก่คนอื่นๆ เมล็ดที่ตกลงบนทางเดินนั้นเปรียบได้กับคนที่ยินพระวจนะของพระเจ้า ไม่ทันไรซาตานก็มาจิกฉวยพระวจนะไปจากเขา ส่วนเมล็ดที่ตกลงบนดินที่ปกคลุมหิน เปรียบได้กับคนที่ได้ยินพระวจนะของพระเจ้าและรับพระวจนะนั้นด้วยความชื่นชมยินดีทันที แต่เพราะต้นอ่อนที่งอกมานั้นไม่สามารถหยั่งราก จึงมีอายุสั้น เมื่อเจ้าตัวที่เชื่อในพระวจนะต้องประสบกับปัญหาในชีวิต หรือ ถูกข่มเหงเพราะเชื่อในพระวจนะของพระเจ้า ความเชื่อศรัทธาจึงเหี่ยวเฉาตายไป ส่วนเมล็ดที่ตกลงบนดินที่ถูกปกคลุมด้วยพงหนาม เปรียบได้กับคนที่รับพระวจนะของพระเจ้า แต่เพราะชีวิตของคนๆ นั้นถูกครอบงำด้วยความวิตกกังวล จิตใจอยากได้ใคร่มีด้วยความโลภในความมั่งคั่ง ทรัพย์สิ่งของ ความเชื่อศรัทธาจึงไม่สามารถงอกงามได้เต็มที่ อาจจะยังมีความเชื่อศรัทธาแต่เป็นความเชื่อศรัทธาที่ไม่เกิดผล นอกนั้น เมล็ดตกลงในพื้นดินอุดม เปรียบได้กับคนที่ได้ยินได้ฟังพระวจนะ เมล็ดงอก เจริญเติบโต แข็งแรง และในที่สุดเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว ต้นพืชเหล่านี้ให้ผลสามสิบ หกสิบ และบ้างร้อยเท่า (มาระโก 4:14-20)

เราท่านเห็นแล้วว่า การตอบสนองของเราต่อพระวจนะของพระเจ้า ย่อมเกิดผลตามการตอบสนองของเราแต่ละคน จากการอธิบายของพระเยซูคริสต์ช่วยให้เราเข้าใจว่า เมื่อคนเราได้รับพระวจนะของพระเจ้าแล้วมีการตอบสนองต่อพระวจนะที่ได้ยินได้ฟังนั้นอย่างไรบ้าง และการตอบสนองในแต่ละลักษณะย่อมมีผลเกิดขึ้นต่อชีวิตที่แตกต่างกัน และมีทิศทางการดำเนินชีวิตที่ไม่เหมือนกัน ต่างคนต่างได้ยินพระวจนะที่เหมือนกัน พระวจนะเดียวกัน แต่เพราะพื้นดินแห่งชีวิตของเขาแต่ละคนที่เปิดรับสัจจะแห่งพระวจนะของพระเจ้ามีความแตกต่างกัน ย่อมมีผลต่อชีวิตของคนๆ นั้นและสังคมที่เขาดำรงชีพอยู่ที่แตกต่างกันด้วยเช่นกัน

เรื่องอุปมาดังกล่าวช่วยเราให้ถอยหลัง เพื่อมองย้อนการเจริญเติบโตด้านชีวิตจิตวิญญาณของเราด้วยมุมมองของพระเจ้า พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของเราที่อาจจะมีความอุดมหรือความจำกัด พระเจ้าทรงเป็นนักรักษาพัฒนาสภาพแวดล้อมแห่งชีวิต พระองค์ทรงบริหารจัดการปรับปรุงให้พื้นดินแห่งชีวิตของเราเป็นดินที่อุดมเปี่ยมด้วยคุณภาพ และทำให้เกิดผลผลิตในการเพาะปลูกอย่างดี การที่เราปรารถนาจะให้พื้นดินชีวิตเป็นดินที่อุดมเปี่ยมด้วยคุณภาพนั้นขึ้นอยู่กับว่าใครคือผู้ดูแลเอาใจใส่ “พื้นดินชีวิต” พื้นนั้นๆ คำถามก็คือว่า “พระเจ้าทรงเป็นผู้ดูแลเอาใจใส่พื้นดินแห่งชีวิตของท่านหรือไม่?” ท่านยอมรับเมล็ดแห่งพระวจนะของพระเจ้าด้วยความเต็มใจ เพราะท่านมองว่าพระองค์ทรงเป็นเจ้าของผืนดิน และเป็นผู้ดูแลสวนแห่งชีวิตของท่าน หรือท่านมองว่าพระเจ้าเป็นผู้ที่หว่านเมล็ดพระวจนะของพระองค์ที่ท่านไม่ต้องการลงในพื้นดินชีวิตของท่าน หรือท่านไม่เต็มใจที่จะรับเมล็ดแห่งพระวจนะที่พระองค์ทรงหว่าน?

ส่วนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตจิตวิญญาณของเราเกิดผลนั้น คือการที่เราเรียนรู้ถึงการดำเนินชีวิตที่ยอมรับพระวจนะของพระเจ้า และให้พระวจนะนั้นเสริมสร้างระบบ และ กรอบความนึกคิดของเราขึ้นใหม่ผ่านประสบการณ์การดำเนินชีวิตตามพระวจนะ เราเรียนรู้ที่จะทูลขอพระเจ้าโปรดเตรียมพื้นดินชีวิตของเราและทำให้พื้นดินชีวิตของเราพร้อมที่จะรองรับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ และให้พระกิตติคุณนั้นงอก เจริญเติบโต และเกิดผลในพื้นดินชีวิตเรา และให้เมล็ดแห่งพระวจนะของพระเจ้าตกลงในพื้นที่ชีวิตคนอื่นๆผ่านชีวิตของเรา

แนวทางที่นำมาซึ่งการเจริญเติบโตในชีวิตแห่งความเชื่อศรัทธานั้นผ่านการเสริมสร้างวินัยชีวิตจิตวิญญาณในการเรียนรู้พระวจนะและมีประสบการณ์ในการปฏิบัติตามพระวจนะ จะช่วยขยายกรอบแห่งความเข้าใจวันแล้ววันเล่าที่เรามีประสบการณ์ชีวิตในพระคริสต์ ซึ่งเป็นวิถีทางหนึ่งที่พระเจ้าจะใช้ในการบ่มเพาะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา กล่าวได้ว่า การฝึกวินัยชีวิตจิตวิญญาณในการเรียนรู้ถึงพระวจนะของพระเจ้าและการดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ในพระวจนะนั้น เป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของเรา เพื่อพระองค์จะทรงตระเตรียมชีวิตจิตวิญญาณของเรา และเพื่อชีวิตของเราจะพร้อมให้พระองค์ใช้ทำงานของพระองค์ ผ่านชีวิตของเราไปยังคนอื่นๆ

20 มกราคม 2554

คุณค่าพระวจนะ

ผมเคยอ่านเรื่องราวของชายชราที่มีอาชีพและเกือบทั้งชีวิตใช้กับการเป็นกรรมกรในเหมือง ทำงานในเหมืองใต้ดินและเจาะเข้าไปในภูเขาใหญ่ เมื่อชายชราคนนี้เสียชีวิต ญาติห่างๆ ของเขาได้มาที่เหมืองเพื่อเก็บข้าวของมีค่าที่เหลืออยู่ของชายชราที่จากไปแล้ว เมื่อพวกเขาเข้าไปในกระท่อมพักโกโรโกโสที่มีห้องพักอยู่ด้านหน้า ในห้องนั้นเขาพบหม้อหุงข้าวเก่าๆ ใบหนึ่ง เครื่องมือในการขุดเจาะแร่ แล้วพบโต๊ะเก่าๆ ที่แตกหักพร้อมกับเก้าอี้สามขาตัวหนึ่งที่อยู่ข้างๆ หน้าต่างเล็กๆ มีตะเกียงน้ำมันก๊าดที่ใช้งานได้วางบนตรงกลางของโต๊ะ พวกญาติได้รวบรวมทรัพย์สินของชายชราและนำขึ้นรถกระบะ ขณะที่กำลังจากออกรถ เพื่อนของกรรมกรชราได้เข้ามาในบ้าน แล้วถามพวกญาติๆ ว่า “ถ้าผมจะขอสิ่งที่เหลืออยู่ในบ้าน ที่ท่านไม่เอาแล้วได้ไหม?”

ญาติห่างๆ คนหนึ่งตอบว่า “คุณเอาไปเลย เพราะเราเอาของมีค่าไปหมดแล้ว” ชายคนนั้นได้ขอบคุณบรรดาญาติของชายชรา แล้วยืนส่งจนพวกเขาออกไปลับตาจากที่นั่น ชายคนนั้นเข้าไปในที่พัก ก้มลงใต้โต๊ะ เขาพบแผ่นไม้พื้นห้องแผ่นหนึ่ง เป็นฝาที่ปิดช่องบนพื้นห้องบริเวณใต้โต๊ะ เมื่อเปิดฝานั้นออกข้างในขุดเป็นโพลงลึกลงไป แล้วเขาก็ล้วงลงไปในโพลงนั้น ค่อยๆ เอาของที่อยู่ในโพลงนั้นออกมา เขานำทองคำทั้งหมดที่เพื่อนชราของเขาได้เก็บสะสมไว้จากแร่ทองคำที่เขาพบขณะทำงานในเหมืองมาเป็นเวลาหลายสิบปี มูลค่าทองคำเหล่านั้นรวมกันแล้วหลายสิบล้านบาท มีเพียงเพื่อนสนิทคนนี้ของชายชราที่สิ้นชีวิตรู้ว่าเพื่อนของเขาได้ทิ้งสมบัติที่มีค่ามากมายอยู่เบื้องหลัง

ญาติห่างๆ ของชายชราผู้ล่วงลับกับเพื่อนสนิทของชายแก่คนนี้มีจุดประสงค์ที่เหมือนกันคือ ทั้งสองฝ่ายต่างค้นหา “สิ่งที่มีค่า” แต่ทั้งสองพวกมีความแตกต่างคือ ญาติสนิทค้นหาของที่มีค่าที่ชายชราทิ้งไว้ตามมุมมองของพวกเขาว่าอะไรมีค่า ตามสิ่งที่พวกเขาสามารถมองเห็นได้ และตามความต้องการของพวกเขา ซึ่งแตกต่างจากเพื่อนสนิทของชายชราที่รู้ว่าเพื่อนชราผู้ล่วงลับของเขาได้เก็บสะสมสิ่งที่มีค่าที่แท้จริงไว้ที่ไหนจึงสามารถนำสิ่งที่มีค่าเหล่านั้นออกมา

เช่นเดียวกัน พระเยซูคริสต์ต้องให้พวกเราได้รู้จักพระองค์ แต่เราเป็นเหมือนญาติห่างๆ ของชายชราคนนั้น หรือ เพื่อนสนิทของชายชรา ถ้าเราจะรู้จักพระคริสต์ดีกว่า เราจะต้องค้นให้พบถึงสิ่งที่มีคุณค่าที่พระองค์มีสำหรับเรา คำถามคือแล้วสิ่งที่มีค่าสูงสุดเหล่านั้นอยู่ที่ไหน? อะไรเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งที่อยู่ในพระวจนะของพระเจ้า พระคริสต์ได้ตรัสว่า “...ในหนังสือม้วนได้เขียนถึงข้าพระองค์...”(ฮีบรู 10:7, อมตธรรม) ในพระธรรมสดุดี บทที่ 19 ได้บรรยายถึงคุณค่าอันยิ่งใหญ่ของพระวจนะพระเจ้าสำหรับชีวิตของเรา

ประการแรก เราพบว่า พระวจนะของพระเจ้าสมบูรณ์ “บทบัญญัติขององค์พระผู้เป็นเจ้าสมบูรณ์ไร้ที่ติ ”(อมตธรรม, สดุดี 19:7 ฉบับ TBS71b แปลว่า “กฎหมายของพระเจ้ารอบคอบ) “บทบัญญัติ หรือ กฎหมายของพระเจ้า” คำนี้ในภาษาฮีบรูหมายถึงพระวจนะของพระเจ้า เป็นการหมายถึงพระวจนะทั้งสิ้นของพระเจ้า ดังนั้น เราสามารถที่จะแปลความหมายในข้อนี้ว่า พระวจนะของพระเจ้า หรือ พระคัมภีร์นั้นสมบูรณ์ ซึ่งมีความหมายตรงกันข้ามกับคำว่า มลทิน บกพร่อง ทำผิด และการใช้ตรรกะเหตุผลที่ไม่สมบูรณ์ตามกรอบคิดของมนุษย์ เมื่อสังคมเปลี่ยน เราไม่จำเป็นที่จะลู่ไปตามลมแห่งการเปลี่ยนแปลง หรือถูกพัดไปกับพายุของการเปลี่ยนแปลงนั้น แต่เรายังสามารถที่จะยืนมั่นบนรากฐานแห่งพระวจนะของพระเจ้า

ประการที่สอง เราพบว่า พระวจนะของพระเจ้าเปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา “บทบัญญัติขององค์พระผู้เป็นเจ้าสมบูรณ์ไร้ที่ติ ฟื้นฟูจิตวิญญาณ”(ข้อที่ 7 เน้นที่อักษรเอน) คำว่า “ฟื้นฟูจิตวิญญาณ” ในภาษาฮีบรูยังมีความหมายครอบคลุมถึง “การกลับใจหันกลับมาหาพระเจ้า” “การเปลี่ยนแปลงชีวิต” “การซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่” หรือการฟื้นฟูชีวิตจิตวิญญาณขึ้นใหม่ พระวจนะของพระเจ้าจะเปลี่ยนแปลงฟื้นฟูชีวิตจิตวิญญาณของเราขึ้นใหม่ ท่านอาจจะเคยมีประสบการณ์ว่าพระวจนะข้อหรือตอนที่ท่านอ่านในแต่ละวันแต่ละสัปดาห์ได้เปลี่ยนแปลง ฟื้นฟู หรือซ่อมแซมเสริมสร้างชีวิตจิตวิญญาณของท่านขึ้นใหม่ในสถานการณ์ต่างๆ ที่ชีวิตเป็นเช่นนี้ได้ก็เพราะท่านได้สร้างวินัยชีวิตในการอ่าน ศึกษา และใคร่ครวญพระวจนะของพระเจ้าเป็นประจำในชีวิตของท่าน

ประการที่สาม เราพบว่า พรวจนะของพระเจ้าได้สร้างเสริมปัญญาแก่ผู้ศึกษาใคร่ครวญอย่างไม่น่าเชื่อ “กฎเกณฑ์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าเชื่อถือได้ กระทำให้คนรู้น้อยมีปัญญา” (อมตธรรม, ข้อที่ 7ข) ศัพท์ภาษาฮีบรูคำนี้โดยทั่วไปจะแปลว่า “ธรรมดา” มาจากรากศัพท์ภาษาฮีบรูที่มีความหมายว่า “ประตูที่เปิดออก” หมายถึงการที่คนใดคนหนึ่งเปิดใจเปิดความคิดของตนยอมรับ อย่างกับการเปิดประตูรับแขก โดยคนๆ นั้นจะไม่พยายามควบคุมดัดแปลงความคิดที่เข้ามาหรือออกไป พระคัมภีร์ตอนนี้กำลังบอกกับผู้อ่านว่า ถ้าท่านศึกษาพระวจนะ ถ้าท่านจดจำพระวจนะข้อนั้นๆ และที่มีความสำคัญกว่านั้น ถ้าท่านประยุกต์สัจจะความจริงในพระวจนะของพระเจ้าสู่การกระทำ ก็จะทำให้ท่านเป็นคนที่มีปัญญาจากสัจจะของพระวจนะที่ดูธรรมดา

ประการที่สี่ เราเรียนรู้ว่า พระวจนะของพระเจ้าถูกต้อง “ข้อบังคับขององค์พระผู้เป็นเจ้านั้นถูกต้อง ให้ความชื่นชมยินดีแก่จิตใจ” (อมตธรรม, ข้อ 8) ตามศัพท์ในภาษาฮีบรู พระคัมภีร์ตอนนี้มีความหมายว่า พระวจนะของพระเจ้าได้เปิดวิถีแห่งชีวิตที่ถูกต้องให้เราเดินไป เราไม่จำเป็นที่จะต้องวนเวียนหลงทางท่ามกลางความคลุมเครือในหมอกควันตามกรอบคิดของมนุษย์ และนี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องอ่านพระคัมภีร์ทีละข้อ ทุกข้อ ทีละบท

ประการที่ห้า เราเกิดความตระหนักชัดว่า พระวจนะของพระเจ้ากระทำให้เราเกิดความชื่นชมยินดี “ข้อบังคับขององค์พระผู้เป็นเจ้านั้นถูกต้อง ให้ความชื่นชมยินดีแก่จิตใจ” (อมตธรรม, ข้อ 8) บางครั้งบางคนที่กลัวจะกระทำตามพระวจนะของพระเจ้า คนๆ นั้นก็จะเกิดความไม่สบายใจ แต่ถ้าใครเปิดใจยอมรับพระวจนะของพระเจ้าด้วยความเต็มใจ และให้ชีวิตเป็นไปตามพระวจนะเขาก็จะได้รับความชื่นชมยินและสันติสุข ด้วยการดำเนินชีวิตตามพระวจนะของพระเจ้าท่านจะได้รับสันติและผาสุก

เมื่อท่านอ่าน ศึกษา ใคร่ครวญ ท่องจำ และยอมเชื่อฟังกระทำตามพระวจนะของพระเจ้า ชีวิตของท่านจะได้รับการเปลี่ยนแปลงตามพระประสงค์ของพระเจ้าอย่างต่อเนื่อง และนี่คือความสำเร็จแห่งชีวิตของคริสเตียน

18 มกราคม 2554

เมื่อต้องรอคอยในยามที่ชีวิตวิกฤติ

43และท่านสั่งคนใช้ของท่านว่า “จงลุกขึ้นมองไปทางทะเล” เขาก็ลุกขึ้นมองและตอบว่า “ไม่มีอะไรเลย” และท่านบอกว่า “จงไปดูอีกเจ็ดครั้ง” 44และอยู่มาเมื่อถึงครั้งที่เจ็ดเขาบอกว่า “ดูเถิด มีเมฆก้อนหนึ่งเล็กเท่าฝ่ามือคนขึ้นมาจากทะเล ...”(1พงศ์กษัตริย์ 18:43-44)

สตรีคริสเตียนที่ติดตามพระคริสต์อย่างอุทิศตนคนหนึ่ง ชีวิตของเธอถูกดึงระหว่างความเชื่อกับสถานการณ์ทุกข์ยากลำบาก เกิดการต่อสู้กันในตัวเธอระหว่างความเชื่อศรัทธาในพระเจ้ากับความรู้สึกสิ้นหวังในสถานการณ์ที่เธอกำลังถูกทดลอง เธออธิษฐานแต่ตอนนี้เกิดความไม่แน่ใจว่าพระเจ้าฟังคำอธิษฐานของเธอต่อไปหรือไม่ ในแต่ละวันเธอพยายามมุ่งมองหาแสงสว่าง แต่เธอไม่เห็น “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อีกข้างหนึ่ง” เลย

ท่านเคยประสบกับสถานการณ์อย่างเช่นสตรีคริสเตียนคนนี้หรือไม่? หรือคนที่ท่านรักหรือใกล้ชิดท่านเคยพบเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันนี้หรือไม่? ตอนนี้ยังอยู่ในสถานการณ์นั้นอยู่หรือเปล่า? ทางของพระเจ้าและเวลาของพระองค์นั้นล้ำลึกอย่างไม่ต้องสงสัย บางครั้ง บนเส้นทางของพระเจ้านั้นดูวุ่นวายสับสน แต่พระเจ้าทรงดีต่อทุกคน เปี่ยมด้วยเมตตากรุณา ทรงจัดเตรียมกำลังและความหวังสำหรับเราเมื่อเราทูลขอต่อพระองค์... แต่การที่เราจะต้องรอคอยนั้นเป็นสิ่งที่ยากลำบากแต่เป็นวินัยด้านชีวิตจิตวิญญาณ

เราพบครั้งแล้วครั้งเล่าในพระคัมภีร์ที่ชี้ชัดถึงภาพที่พระเจ้าทรงสัตย์ซื่อต่อผู้ที่ทูลขอและรอคอยพระองค์ ภาพของพระเจ้าที่ทรงสัตย์ซื่อในเรื่องราวของเอลียาห์เป็นเรื่องที่ติดตาตรึงใจผู้อ่านอย่างยิ่ง (ตอนนี้ให้ท่านอ่านพระธรรม 1พงศ์กษัตริย์ บทที่ 17 และ 18) เอลียาห์เป็นผู้เผยพระวจนะที่น่าทึ่งและยอดนิยมของชาวอิสราเอล พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตและผ่านชีวิตของเอลียาห์เปี่ยมด้วยพลังอำนาจและน่าอัศจรรย์ เฉกเช่นที่พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตและผ่านชีวิตของสตรีคริสเตียนท่านนั้น และในชีวิตของเราแต่ละคนด้วย

เป็นเวลาหลายปีที่อาหับกษัตริย์แห่งอิสราเอล และเยเซเบลพระมเหสีได้ประพฤติชั่วในสายพระเนตรของพระเจ้า พระองค์นมัสการรูปเคารพ นมัสการพระบาอัลแทนที่จะนมัสการพระเยโฮวาห์พระเจ้าที่เที่ยงแท้ด้วยความสัตย์ซื่อ ซึ่งเป็นการกระทำให้พระเจ้าพิโรธ พระเจ้าทรงเรียกเอลียาห์ และเอลียาห์ได้ทูลกษัตริย์อาหับว่า “พระเยโฮวาห์พระเจ้าแห่งอิสราเอล ผู้ซึ่งข้าพระบาทปฏิบัติทรงพระชนม์อยู่แน่ฉันใด จะไม่มีน้ำค้างหรือฝนในปีเหล่านี้ นอกจากตามคำของข้าพระบาท” (1พงศ์กษัตริย์ 17:1) อาหับโกรธเป็นเดือดเป็นแค้น พระองค์ต้องการให้เอลียาห์ตายๆ ไปเสีย แต่พระเจ้าทรงจัดเตรียมแผนการชีวิตของเอลียาห์ พระองค์ทรงนำและปกป้องเอลียาห์และจัดเตรียมทุกอย่างที่จำเป็นต้องมีในชีวิตของเอลียาห์ในช่วงเวลาแห่งความแห้งแล้ง

ในปีที่สามแห่งความแห้งแล้งนั้น พระเจ้าให้เอลียาห์กลับไปเฝ้ากษัตริย์อาหับ และท้าให้ประลองพิสูจน์ว่าพระเจ้าของใครคือพระเจ้าเที่ยงแท้ที่ภูเขาคารเมล เป็นเหมือนมวยโลกคู่เอก เป็นการต่อสู้ระหว่างพระบาอัลกับบรรดาพระผู้เผยพระวจนะเทียมเท็จของเขาในมุมหนึ่ง พบกับพระเจ้าพระเยโฮวาห์กับเอลียาห์อีกมุมหนึ่ง การต่อสู้ได้เริ่มขึ้น ยกที่หนึ่ง พวกของพระบาอัลทำพิธีสัตวบูชาแก่พระของพวกเขาร้องเรียกพระเจ้าของเขาตั้งแต่เช้ายันบ่ายเพื่อขอไฟจากฟ้า แต่พระบาอัลกลับเงียบเชียบ ไม่ตอบสนองใดๆ ทั้งสิ้น เพราะพระบาอัลมิใช่พระเจ้าที่เที่ยงแท้

เอลียาห์รู้และมั่นใจว่า ท่านรับใช้พระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพ ทรงพระชนม์อยู่ และพระเจ้าที่ทรงกระทำพระราชกิจ เอลียาห์ขึ้นไป “บนเวที” ด้วยความมั่นใจ ท่านซ่อมแซมแท่นบูชาของพระเจ้า เตรียมเครื่องถวายบูชา แล้วได้ทูลขอต่อพระเจ้าโปรดสำแดงความเป็นพระเจ้าโดยการส่งไฟลงจากฟ้ามายังเครื่องบูชา พระเจ้าทรงส่งไฟลงมายังแท่นเครื่องบูชา พระบาอัลถูกน๊อกล้มคว่ำอย่างไม่เป็นท่า

เมื่อการประลองจบสิ้นลง พระเจ้าให้เอลียาห์ไปบอกกษัตริย์อาหับว่า 41...“ขอเชิญเสด็จขึ้นไปเสวยและดื่มเถิด เพราะมีเสียงฝนกระหึ่มมา” (1พงศ์กษัตริย์ 18:41) กษัตริย์อาหับกลับวัง ส่วนเอลียาห์กลับไปบนเขาคาราเมล เพื่อไปดูฝนอันอัศจรรย์จากพระเจ้า

เอลียาห์บอกคนใช้ของตนว่า “จงลุกขึ้นมองไปทางทะเล”

คนใช้ของท่านตอบว่า “ไม่มีอะไรเลย” เอลียาห์สั่งให้คนใช้ไปดูถึงเจ็ดครั้ง

ในครั้งที่เจ็ดคนใช้ของเอลียาห์บอกว่า “ดูเถิด มีเมฆก้อนหนึ่งเล็กเท่าฝ่ามือคนขึ้นมาจากทะเล” (1พงศ์กษัตริย์ 18:43-44)

สิ่งที่สะดุดตาของผมเมื่อศึกษาในพระธรรมตอนนี้คือ เอลียาห์ไม่ได้รับคำตอบการอัศจรรย์จากพระเจ้าทันที พระเจ้าเปิดท้องฟ้าแล้วเทฝนและให้พายุตกกระหน่ำลงมันทันทีไม่ได้หรือ? ได้แน่ แต่พระองค์ไม่ทำเช่นนั้น เอลียาห์ต้องรอคอย คนใช้ของท่านต้องลุกขึ้นไปดูครั้งแล้วครั้งเล่าถึงเจ็ดครั้ง

มิใช่มีแต่ท่านและผมที่ต้องรอคอย ขนาดเอลียาห์ก็ต้องรอ ท่านที่รัก...พระประสงค์ของพระเจ้าก็คือพระประสงค์ของพระเจ้า พระประสงค์ของพระองค์ไม่ต้องโอนอ่อนผ่อนตามความประสงค์ของมนุษย์ แต่เรามนุษย์จะต้องโอนอ่อนผ่อนตามพระประสงค์ของพระเจ้า เพราะเรายอมเป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์นั้นเองเราจึงพบกับพระกำลังของพระเจ้าและสันติสุขในพระองค์ แม้ในเวลาที่เรารอคอยก็ตาม

45และอยู่มาอีกครู่หนึ่ง ท้องฟ้าก็มืดไปด้วยเมฆและลม และมีฝนหนัก... (1พงศ์กษัตริย์ 18:45)

อีกครั้งหนึ่ง ที่พระเจ้าทรงสัตย์ซื่อ ให้เราใคร่ครวญดูว่า พระเจ้าทรงใช้เอลียาห์ในงานที่ใหญ่โต เอลียาห์พูดในนามของพระเจ้า ท่านเป็นทหารแนวหน้าของพระเจ้า ท่านได้ช่วยเด็กที่ตายแล้วได้กลับมีชีวิตเพื่อเป็นพระพรแก่แม่ของเด็กที่เป็นหม้าย และเอลียาห์นำในการอัศจรรย์ของพระเจ้าให้ไฟตกลงมาจากฟ้า... ได้เผาไหม้เครื่องบูชา และทำให้จิตใจของอิสราเอลหันกลับมาหาพระเจ้า สิ่งเหล่านี้เป็นพระราชกิจอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าที่ทรงทำผ่านเอลียาห์ แต่เมื่อเอลียาห์เผชิญหน้ากับสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน พระเจ้ายังให้เอลียาห์รอคอย รอคอยเวลาของพระองค์ รอคอยการกระทำพระราชกิจของพระองค์

เมื่อท่านตกอยู่ในสภาพชีวิตที่ท้อแท้ สิ้นหวัง หมดกำลังใจและรู้สึกว่าดูเหมือนพระเจ้าไม่ได้ยินคำร้องทูลของท่าน ท่านถูกบังคับให้รอคอยพระเจ้า เมื่อท่านพบว่าชีวิตของท่านถูกดึงระหว่างความเชื่อศรัทธากับสถานการณ์ที่เลวร้ายสุดๆ ในชีวิต เมื่อท่านพบว่า ในเวลานั้น “ท่านไม่มีอะไรเลย” ไม่มีสิ่งที่จะบ่งบอกถึงการอัศจรรย์ของพระเจ้าที่น่าจะเกิด ในเวลาเช่นนั้น โปรดระลึกว่า พระเจ้าทรงสัตย์ซื่อ ทรงฤทธานุภาพ และพระองค์ทรงเป็นคำตอบ ท่านเคยพบกับพระองค์ครั้งเมื่อชีวิตตกอยู่ท่ามกลางความยากลำบากในอดีต และท่านจะพบพระองค์ท่ามกลางการทดลองในอนาคต ถึงแม้ว่าสถานการณ์ชีวิตในขณะนี้จะสุ่มเสี่ยงและท้าทายเพียงใด ท่านจงมั่นใจเถิดว่า พระองค์ทรงเฝ้ามองอยู่ ทรงฟังคำร้องทูลของท่าน และพระองค์ทรงฤทธิ์สามารถช่วยท่านได้ “4จงแสวงหาพระเจ้า และพระกำลังของพระองค์ แสวงพระพักตร์ของพระองค์เรื่อยไป” (สดุดี 105:4)

16 มกราคม 2554

สำคัญสุดในชีวิต

33แต่พวกท่านจงแสวงหาแผ่นดินของพระเจ้า และความชอบธรรมของพระองค์ก่อน
แล้วพระองค์จะทรงเพิ่มเติมสิ่งทั้งปวงนี้ให้ (TBS02b, มัทธิว 6:33)

บ่อยครั้งนักที่เราแสวงหาพระพรของพระเจ้าแทนที่จะแสวงหาพระเจ้า
บ่อยครั้งเรามักจะแสวงหา “พระหัตถ์” ของพระเจ้า มากกว่า “พระทัย” ของพระองค์
บ่อยครั้งเรามักไปหาพระเจ้าเหมือนไปห้างสรรพสินค้า

เพื่อหาสิ่งที่ตอบสนองความต้องการของเรา
เมื่อเราไปจับจ่าย “ในห้างสรรพสินค้าแห่งสวรรค์”
เราต้องการสิ่งของมากมายเกินกว่ารถเข็นจะรองรับได้
แทนที่จะเรียนรู้ที่จะฟังให้ได้ยินถึงพระประสงค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า
เราเห็นแก่ตัวเรียกร้องแต่สิ่งเราต้องการ สิ่งที่เราปรารถนา

บ่อยครั้งที่เราขอให้พระเจ้าช่วยเราให้รอดพ้นจากความกดดันในชีวิต
แทนที่จะขอกำลังชีวิตที่จะอดทนต่อแรงกดดันเหล่านั้น
เพื่อเราจะได้เรียนรู้บทเรียนชีวิตและเติบโต แข็งแรงจากแรงกดดันเหล่านั้น

เรากำลังหลอกลวงตนเอง และ หลงผิดว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุด
การที่เราจะติดตามพระองค์ หรือ จะรับพระพรจากพระองค์ได้
ก็ต่อเมื่อเราได้พบกับพระองค์ และ เรียนรู้จักพระองค์ดียิ่งขึ้นเท่านั้น

ทำไมเราถึงปรารถนาที่จะให้พระเจ้าเข้ามามีส่วนช่วยในชีวิตของเรา?
ทำไมเราถึงคิดว่าตนรู้ว่าตัวเราเองต้องการอะไร?
เราหยิ่งยโสแค่ไหนที่กล้าสอนพระเจ้าว่าจะเป็นพระเจ้าได้อย่าง? และควรเป็นพระเจ้าแบบไหน?
หลายครั้งมิใช่หรือที่เราเป็นเหมือนเด็กที่กระทืบเท้าด้วยความไม่พอใจต่อหน้าบัลลังก์ของพระเจ้า

แล้วโอดครวญด้วยความหงุดหงิดในสิ่งที่เราต้องการให้พระองค์ช่วยแก้ไขเปลี่ยนแปลง
แทนที่จะยกย่องสรรเสริญพระองค์สำหรับพระกำลังของพระองค์ที่จะช่วยให้เราอดทนได้

พระคัมภีร์สอนให้เราวิงวอนทูลขอทุกเรื่องให้พระเจ้าทรงทราบ(ฟิลิปปี 4:6)
และพระวจนะของพระเจ้าก็ได้ทรงเรียกเราไปให้ถึงสิ่งสำคัญสูงสุดในชีวิต

ให้เรารักพระองค์ด้วยสุดจิตสุดใจ สิ้นสุดความคิด สิ้นสุดกำลังของเรา(มัทธิว 22:37)
สิ่งที่สำคัญที่แท้จริงที่สุดคือ การแสวงหาพระเจ้า และการแสวงหาพระองค์ก่อน

พระเจ้าทรงรู้จัก เนื้อหนังของเรา จิตใจที่อยากได้ใคร่มีไม่รู้จักจบจักพอ
สิ่งนี้ได้ทำให้ความวิตกกังวลเกิดขึ้นในชีวิตของเราโดยไม่จำเป็น

พระวจนะของพระองค์ได้ให้ข้อสรุปที่น่าอัศจรรย์สำหรับชีวิตของเราให้รู้จักการจัดลำดับความสำคัญ
พระองค์สัญญาว่า ถ้าเราติดตามพระองค์อย่างใกล้ชิด

เราจะมีชีวิตที่ผ่อนคลายและได้ผ่อนพักอย่างสงบสันติในพระองค์
ความจำเป็นต้องมีจะได้รับการทรงตอบสนอง เพราะพระองค์ทรงรักเรา

30และถ้าพระเจ้าทรงตกแต่งหญ้าที่ทุ่งนาอย่างนั้น ซึ่งเป็นอยู่วันนี้และรุ่งขึ้นต้องทิ้งในเตาไฟ โอ พวกมีความเชื่อน้อย พระองค์จะไม่ทรงตกแต่งท่านมากยิ่งกว่านั้นหรือ? (TBS)
31ฉะนั้น อย่ากังวลว่า “เราจะเอาอะไรกิน?” หรือ “เราจะเอาอะไรดื่ม?” หรือ “เราจะเอาอะไรนุ่งห่ม?” 32เพราะคนที่ไม่มีพระเจ้าขวนขวายหาสิ่งเหล่านี้ และพระบิดาของท่านในสวรรค์ทรงทราบว่าท่านจำเป็นต้องมีสิ่งเหล่านี้ 33แต่จงแสวงหาอาณาจักรของพระเจ้า และ(ดำเนินชีวิตตาม) ความชอบธรรมของพระองค์ก่อน และพระองค์จะทรงประทานสิ่งทั้งปวงเหล่านี้แก่ท่านด้วย(IBS, ตัวเอนของผู้เขียน)
34เพราะฉะนั้นอย่ากังวลเกี่ยวกับพรุ่งนี้ เพราะพรุ่งนี้ก็จะมีเรื่องวิตกกังวลเกี่ยวกับพรุ่งนี้เอง แต่ละวันก็มีความเดือดร้อนของมันพออยู่แล้ว (IBS)

พระคัมภีร์ตอนนี้ได้บอกกับเราว่า...
“ขนาดดอกไม้ป่า ดอกหญ้าในทุ่งพระเจ้ายังให้ความสนใจและเอาใจใส่ ซึ่งปกติแล้วสิ่งเหล่านี้มักถูกมองผ่านเลยไป แล้วเราท่านจะไม่คิดหรือว่า พระองค์จะทรงเอาใจใส่ชีวิตของเราแต่ละคน? และทรงกระทำสิ่งที่ดีที่สุดแก่มนุษย์? พระดำรัสของพระคริสต์ในตอนนี้กำลังเปิดเผยน้ำพระทัยที่แท้จริงของพระเจ้า เปิดเผยถึงการเอาใจใส่ของพระบิดา เพื่อให้เราได้รู้จักพระองค์อย่างถูกต้อง แล้วรู้ที่จะไว้วางใจในพระองค์ ชีวิตในทุกสถานการณ์ของเราจึงผ่อนคลาย ได้รับการผ่อนพักในพระองค์ แทนที่ชีวิตจิตใจมนุษย์ปัจจุบันจะถูกครอบงำด้วยอำนาจที่ทำให้เราอยากได้ใคร่มีไม่รู้จักพอจนนำสู่ความวิตกกังวลในชีวิต

พระคัมภีร์ตอนนี้เขียนไว้ว่า “คนที่ไม่รู้จักพระเจ้า” จะถูกครอบงำด้วยความคิดอยากได้ใคร่มี แล้วทำทุกอย่างตามอำนาจที่ครอบงำนั้น ย้ำคิดย้ำทำ ย้ำคิดย้ำขอ บางครั้งถึงกับเร่งรัดพระเจ้าซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่คนที่แสวงหาการรู้จักพระเจ้ามากยิ่งขึ้นทุกวันก็จะรู้ถึงพระราชกิจที่พระองค์ทรงกระทำ เขาผู้นั้นจะก้าวย่างชีวิตไปในทางที่สูงชันและขรุขระด้วยความไว้วางใจในสัจจะความจริงของพระเจ้า ไว้วางใจถึงพระประสงค์และแผนการของพระองค์ ไว้วางใจถึง “การทรงจัดเตรียม” ของพระเจ้า ชีวิตจึงไม่ถูกยึดกุมด้วยความวิตกกังวลว่า “จะไม่ได้”
ให้เราสนใจการมุ่งมองของเราไปสิ่งที่พระเจ้ากำลังกระทำในขณะนี้ แล้วไม่ต้องวุ่นวายใจหรือห่วงหากังวลว่าอะไรจะต้องเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ พระเจ้า “ทรงจัดเตรียม” แผนการขั้นตอนที่จะช่วยและหนุนนำว่า เราควรจะเผชิญหน้ากับสิ่งที่ยากลำบาก และ ทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้นในเวลาข้างหน้า

ให้เราตัดสินใจทิ้ง “รายการอยากได้ใคร่มี” แล้วแสวงหาพระเจ้า
ให้เราอยู่ต่อหน้าพระองค์ อยู่กับพระองค์ด้วยจิตใจแห่งการยกย่องสรรเสริญและเทิดทูนพระองค์
ให้เราดำเนินชีวิตทุกขณะจิตอยู่ต่อหน้าพระองค์
ให้เราทบทวนและระลึกถึงพระคุณของพระองค์ในชีวิตของเรา
ให้เราเบิกบานในพระคุณของพระองค์
ให้เรารักพระองค์
ให้เราแสวงหาพระองค์
ให้เราอธิษฐานและแสวงหาการติดสนิทกับพระองค์
ให้เราแสวงหาพระองค์ก่อนสิ่งอื่นใด

พระเยซูคริสต์ตรัสเรียก “บรรดาผู้เหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนักจงมาหาเรา และเราจะให้ท่านพักสงบ จงรับแอกของเราแบกไว้และเรียนรู้จากเรา เพราะเราสุภาพและถ่อมใจ แล้วจิตวิญญาณของท่านจะพักสงบ” (อมตธรรม, มัทธิว 11:28-29) ในที่นี้ผมไม่ได้เสนอว่า ให้เราทิ้ง “ภาระหนัก” ของเราก่อนเข้าไปหาพระเจ้า เราต้องนำ “ภาระหนัก” เข้าเฝ้าพระเจ้าด้วย แต่พึงตระหนักชัดว่า พระเจ้าทรงประสงค์ความรักของเราที่มีต่อพระองค์ ก่อนการร้องขอรายการ “อยากได้ใคร่มี” จากพระองค์

พระเจ้าทรงรักเราทุกคนอย่างมากมาย พระองค์ทรงมีพระประสงค์และแผนการสำหรับชีวิตของเราแต่ละคน ดังนั้น แผนการของพระองค์จึงสมบูรณ์พูนครบและล้ำลึกกว่าความเข้าใจและความปรารถนาของเรา เมื่อเราทบทวน ใคร่ครวญ และระลึกได้ว่า อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ชีวิตของเราจึงเกิดความไว้วางใจในพระองค์ เพราะเราไว้ใจพระองค์ที่จะทรงกระทำพระราชกิจในชีวิตของเรา ทำพระราชกิจเพื่อชีวิตของเรา และทรงกระทำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตของเรา และเมื่อนั้นชีวิตของเราจะกลับกลายเป็นชีวิตที่นำการเทิดทูน สรรเสริญ และยกย่องพระองค์

ให้เราตระหนักชัดเสมอว่า
องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นทุกสิ่งในชีวา...
เลิกที่จะแสวงหาพระพร และ การบอกพระเจ้าให้ตอบสนองสิ่งที่เราต้องการ
แต่ให้เราแสวงหาพระประสงค์และน้ำพระทัยของพระองค์ก่อน
จากนั้นเราจะเกิดความไว้วางใจในแผนการชีวิตที่พระองค์ “ทรงจัดเตรียม” ไว้สำหรับเราแต่ละคน
แล้วจิตใจของเราจะได้พักสงบในพระคุณของพระองค์

ประเด็นสำหรับใคร่ครวญ หรือ สนทนาในกลุ่มเล็ก
1) ให้เราทบทวน ไตร่ตรองว่า ชีวิตที่ผ่านมา พระเจ้าได้ตอบสนองในสิ่งที่เราจำเป็นต้องมีอะไร อย่างไรบ้าง? ท่านยังมั่นใจหรือไม่ว่า พระองค์ยังจะตอบสนองความจำเป็นต้องมีของเราในปัจจุบัน?
2) พระเจ้ามิได้ให้ความสนใจเอาใจใส่ต่อเรื่องความจำเป็นต้องมีในชีวิตของท่านเท่านั้น พระเจ้าทรงสนใจและเอาใจใส่เรื่องชีวิตจิตใจและจิตวิญญาณของท่านด้วย
3) ให้อ่าน ใคร่ครวญ และท่องจำพระธรรมสดุดี 37:4 “จงชื่นชมยินดีในองค์พระผู้เป็นเจ้า และพระองค์จะประทานสิ่งที่ใจของท่านปรารถนา” (อมตธรรม)
4) ในสัปดาห์นี้ให้เราแต่ละคนเพิ่มเวลาวันละ 5 นาที ในการใคร่ครวญและฟังพระเจ้าในช่วงการอธิษฐานของเรา หลังจากนั้นลองทบทวนและประมวลว่าชีวิตของท่านเป็นอย่างไรบ้าง

12 มกราคม 2554

ยืนมั่นท่ามกลางมรสุมชีวิต (ตอนที่ 2)

อ่าน 2โครินธ์ 6:1, 3-6
[เปาโลกล่าวว่า] 1ในฐานะผู้ร่วมงานของพระเจ้า เราวิงวอนท่านว่าอย่าสักแต่รับพระคุณของพระเจ้า...3เราไม่ทำให้ใครสะดุดเพื่อไม่ให้พันธกิจของเราเสียความเชื่อถือ(เป็นที่คนอื่นติเตียนได้) 4...ในฐานะผู้รับใช้ของพระเจ้าเราพิสูจน์ตัวเองในทุกทาง ไม่ว่าในทางอดทนอดกลั้น ในความทุกข์ร้อน ความยากเข็ญและความลำเค็ญ 5ในการถูกเฆี่ยนตี การถูกจองจำ และการจลาจล ในการตรากตรำ ทำงาน การอดหลับอดนอน และ ความหิวโหย 6ด้วยความบริสุทธิ์ ความเข้าใจ ความอดทน และความกรุณาในพระวิญญาณบริสุทธิ์ และในความรักจริงใจ
(อมตธรรม, ข้อความในวงเล็บเป็นสำนวนจาก TBS71b, อักษรเอนเป็นของผู้เขียน)

ในความคิด ความรู้สึกตามกระแสสังคมในปัจจุบัน จะเป็นการดีสำหรับผมอย่างมากถ้าผมไม่ต้องเผชิญหน้ากับมรสุมในชีวิตอีกต่อไป แต่นั่น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก ในทุกมรสุมชีวิตที่เราต้องพบพานผมเชื่ออย่างมั่นคงว่า พระเจ้ามิเพียงที่จะปลอบและหนุนเสริมให้กำลังแก่ผมในการมีชีวิตท่ามกลางมรสุมนั้น และพระองค์ทรงทำงานในชีวิตผม เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง พัฒนาชีวิตและบุคลิกชีวิตของผม ทุกมรสุมชีวิตคือโอกาสที่พระคริสต์ทรงช่วยเราให้เติบโตเข้มแข็งขึ้นในพระองค์และในความไว้วางใจในพระองค์มากยิ่งๆ ขึ้น ในชีวิตของเปาโล ท่านคุ้นเคยกับมรสุมชีวิตที่เลวร้าย และคุ้นชินกับความจริงที่ทำให้ท่านเจ็บปวดในชีวิต ในจดหมายที่ท่านเขียนถึงคริสตจักรในเมืองโครินธ์ท่านได้ชี้ชัดถึงสัจจะ 5 ประการที่ประยุกต์ใช้ได้เมื่อชีวิตต้องฝ่ามรสุมที่แรงกล้า โดยชีวิตของเรายังสามารถยืนมั่นคงได้

ในตอนที่หนึ่งได้ใคร่ครวญถึงสัจจะ 3 ประการแรก คือ
1. ประการแรก ดำเนินชีวิตที่บริสุทธิ์
2. ประการที่สอง แสวงหาความเข้าใจ
3. ประการที่สาม เรียนรู้ที่จะอดทน

ประการที่สี่: ดำเนินชีวิตด้วยความกรุณา

เมื่อชีวิตต้องชนกับสิ่งเลวร้าย เราจะ(เรียก)ร้องขอให้บางคนช่วยเหลือเอาใจใส่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายนั้น หลายคนจะหันหน้าเข้าหาพระคริสต์เมื่อต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติมากกว่าสถานการณ์อื่นใดในชีวิต การดำเนินชีวิตด้วยความกรุณาคือการที่ชีวิตได้สำแดงออกถึงความเมตตา และ ความรัก ออกมาในทางการกระทำของเรา ความกรุณาคือความรักที่แสดงออกอย่างเป็นรูปธรรม จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องกระตุ้นให้ตนเองตระหนักชัดในกรอบคิด มุมมองถึงความสำเร็จในชีวิตของเรา ที่มิใช่มุ่งมองหาแต่ความสำเร็จเพื่อตนเองและพวกพ้อง หรือทุ่มเทกับความสำเร็จเพื่อความเด่นดังมั่นคงของตนเอง แต่เราควรมีมุมมองความสำเร็จในชีวิต ด้วยจิตใจที่มุ่งทำความสำเร็จในความจำเป็นต้องการและคุณภาพชีวิตของคนรอบข้าง คนที่เราเกี่ยวข้อง และมวลชน ผมจะไม่แปลกใจเลยเมื่อถึงวันที่จะต้องเข้าพบองค์พระผู้เป็นเจ้าในสวรรค์ ที่ผมจะพบกับผู้คนมากมายหลายคนที่ไม่คิดว่าจะได้พบ และ พบผู้คนมากมายที่ผมไม่รู้จักแต่ที่เขาเหล่านั้นอยู่ที่นั่นเพราะเขาเหล่านั้นได้ทุ่มเทชีวิตของตนในการรับใช้พระเจ้าอย่างเต็มที่ ในการช่วยเหลือและกระทำแก่คนรอบข้างตามพระประสงค์ของพระองค์ พระเยซูคริสต์ประสงค์ให้คนที่ติดตามพระองค์เป็น “คนดีรอบคอบเฉกเช่นพระบิดาที่ทรงเป็นผู้ดีรอบคอบ” (ดูมัทธิว 5:43-48) พระเจ้าจะทรงตอบสนองคนเช่นนี้ที่กระทำความรักเมตตากรุณาอย่างเงียบๆ ไม่มีผู้คนมองเห็นหรือได้ยิน

ศิษยาภิบาลท่านหนึ่งได้เล่าเรื่องคุณแม่ของท่านที่มีจิตใจกรุณาว่า วันหนึ่ง เมื่อท่านกลับจากที่ทำงานมาถึงบ้าน พบแม่ของท่านนั่งที่โต๊ะอาหารพร้อมกับชายแก่ข้างถนนคนหนึ่ง ที่คุณแม่ไปพบเขาขณะที่ออกไปจับจ่ายซื้อของเลยเชิญให้มาที่บ้านแล้วทำอาหารให้ผู้สูงอายุข้างถนนคนนั้นรับประทาน ในระหว่างการสนทนาบนโต๊ะอาหารแขกพิเศษของเราคนนี้ได้กล่าวแก่คุณแม่ของศิษยาภิบาลว่า “ผมหวังว่าในสังคมโลกปัจจุบันจะมีคนที่เป็นคนอย่างท่านมากกว่านี้” คุณแม่ของศิษยาภิบาลตอบทันควันว่า “โอ มีแน่ค่ะ เพียงแต่เราต้องมองหาคนเหล่านั้น” ชายชราคนนั้นได้ยินแล้วได้แต่สั่นศีรษะของตนด้วยรอยยิ้มพร้อมกับเอ่ยออกมาว่า “ท่านครับ ผมไม่จำเป็นต้องมองหาท่านเลย แต่ท่านต่างหากที่มองหาผม”

คนที่มีความจำเป็นต้องการได้เดินผ่านหน้าเราวันแล้ววันเล่าแต่เรา “มองไม่เห็น” พวกเขา เราแต่ละคนมีงานยุ่งวุ่นวายมากมายจนไม่สามารถมองเห็น “แกะที่บาดเจ็บ” ที่พระผู้เลี้ยงทรงส่งเข้ามาในวิถีการดำเนินชีวิตของเรา เลวร้ายกว่านั้น เรากลับมองว่า “แกะเหล่านี้” เป็นแรงงานต่างด้าวเข้ามาในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย มาแย่งงานคนไทยทำ คนขี้เหล้าที่เข้ามารบกวนจิตใจของเราในที่ทำงาน หญิงโรคจิตที่ยอมนอนกับผู้ชายไม่เลือกหน้า เด็กชาวเขาที่มาตื๊อขายดอกไม้ตามสี่แยกใหญ่ๆ ในเมือง เกะกะ สร้างความรำคาญ เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ทำให้เราต้องขับรถระมัดระวังมากขึ้น คนเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นคนที่เข้ามารบกวน วุ่นวายในขณะที่เราต้องทำหน้าที่การงานมากมาย แต่คนเหล่านี้ที่เราไม่อยากยุ่งเกี่ยวด้วยอาจจะเป็น “แขก” ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าส่งเข้ามาในชีวิตของเราในแต่ละวัน ในพระธรรมฮีบรู 13:2 ได้เตือนสติเราว่า “2อย่าละเลยที่จะต้อนรับแขกแปลกหน้า เพราะว่าโดยการกระทำเช่นนั้น บางคนก็ได้ต้อนรับทูตสวรรค์โดยไม่รู้ตัว” วันนี้ เราพลาดโอกาสที่จะพบปะสัมพันธ์กับทูตสวรรค์กี่คนแล้วเพราะมีธุระการงานมากมาย

เราไม่ได้เป็นเหมือนกับพระบิดาในสวรรค์ ที่เมื่อพระองค์พบกับคนที่ต้องตกอยู่ท่ามกลางมรสุมแห่งชีวิต พระองค์ทรงยื่นความสัมพันธ์ที่เปี่ยมด้วยความรักเมตตากรุณาสัมผัสกับชีวิตคนเหล่านั้น พระคริสต์สอนเราแล้วว่า ถ้าเรารักพระเจ้าอย่างจริงใจแล้วละก็เราจะต้องรักเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ความรักเมตตากรุณาแท้จริงแล้วเป็นเรื่องของคุณภาพความสัมพันธ์ที่เรามีต่อคนรอบข้าง ที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการที่เรารักพระเยซูคริสต์อย่างแยกไม่ออก เพราะมรสุมความทุกข์ยากในชีวิตของเพื่อนมนุษย์เป็นเรื่องที่พระเจ้าทรงเอาใจใส่ใกล้ชิดและพระองค์ประสงค์ให้เราเอาใจใส่ใกล้ชิดชีวิตของผู้คนเหล่านั้นด้วย สัจจะความจริงจาก 1ยอห์น 4:20-21 20ถ้าผู้ใดว่า “ข้าพเจ้ารักพระเจ้า” และใจยังเกลียดชังพี่น้องของตน ผู้นั้นก็เป็นคนพูดมุสา เพราะว่าผู้ที่ไม่รักพี่น้องของตนที่แลเห็นแล้ว จะรักพระเจ้าที่ไม่เคยเห็นไม่ได้ 21พระบัญญัตินี้เราทั้งหลายก็ได้มาจากพระองค์ คือว่าให้คนที่รักพระเจ้านั้นรักพี่น้องของตนด้วย” เราอาจจะทำตนเป็นคนที่เคร่งจริงจังในความเชื่อศรัทธาแต่กลับเป็นคนที่ “ไม่ใส่ใจ” ผู้คนรอบข้างก็ได้ ความรักเมตตากรุณามิได้ขึ้นอยู่กับเหตุผล หรือความรักเมตตามิได้ขึ้นอยู่กับความจำกัดขาดด้อยของเรา แต่ความรักเมตตากรุณาแสวงหาโอกาสที่จะสำแดงความรักกรุณา

ประการที่ห้า: บ่มเพาะ-ฝึกฝน และ มีประสบการณ์ในความรักเมตตา

เพราะเรามิได้มีความต้องการให้พระเจ้าอยู่กับเราท่ามกลางมรสุมความทุกข์ยากแห่งชีวิตเท่านั้น เรายังต้องการซึ่งกันและกันในท่ามกลางวิกฤติชีวิตนั้นด้วย ความรักแท้จะรู้ได้ก็ผ่านการทดสอบถึงสัมพันธภาพที่เรามีต่อกันในเวลาที่ชีวิตประสบความทุกข์ยาก เปาโลได้เขียนไว้ว่าให้เรา “พิสูจน์” ตนเองว่ามีความอดทนอดกลั้น และ ความเมตตากรุณา เราคงต้องมีเวลาที่พิจารณาใคร่ครวญถึงสัมพันธภาพของเราที่มีต่อคนอื่นว่าได้สำแดงออกถึงความลุ่มลึกชัดเจน ในความรักของพระเจ้า ในงานประจำวันที่เรากระทำมากน้อยแค่ไหน

จดหมายถึงคริสตจักรในเมืองเอเฟซัสเปาโลเขียนไว้ว่า (ข้าพเจ้าเปาโล) “...ขอวิงวอนท่านให้ดำเนินชีวิตสมกับพันธกิจอันเนื่องจากการทรงเรียกท่านนั้น 2คือจงมีใจถ่อมลงทุกอย่าง และใจอ่อนสุภาพอดทนนาน และอดกลั้นต่อกันและกันด้วยความรัก 3จงเพียรพยายามให้คงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ซึ่งพระวิญญาณทรงประทานนั้นด้วยสันติภาพเป็นพันธนะ (เอเฟซัส 4:2-4) ดังนั้น จงเพียรพยายามในการดำเนินชีวิตทุกด้านของเราให้มีสัมพันธภาพต่อกันตามคำสอนนี้ของเปาโล

ให้เราเรียนรู้ที่จะเสริมสร้างสัมพันธภาพดังที่กล่าวนี้อย่างจริงจังเพื่อบรรลุถึงคุณภาพชีวิตคริสเตียน มีบางคนในบางครั้งที่อาจจะไม่พอใจ ไม่เห็นด้วย ผิดหวังในตัวเรา เรามีทางเลือกอย่างน้อยสองทางในสถานการณ์นี้คือ ทางเลือกแรก เราจะตอบสนองสถานการณ์นี้อย่างไรเพื่อที่จะเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าและเกิดศานติภาพท่ามกลางชุมชนของเรา หรือทางเลือกที่สอง เลือกที่จะเดินเข้าไปในเส้นทางสร้างความขัดแย้งเพื่อให้ได้ชัยชนะในชีวิตตามปรารถนาแห่งตน พระเจ้าทรงบัญชาให้เราเสริมสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความเป็นเอกภาพ แต่ถ้าเราไม่ทุ่มเทและแสวงหาการเสริมสร้าง “ศานติ” ในทุกความพยายามและหนทาง มรสุมชีวิตและความทุกข์ยากลำบากก็จะเข้ามาช่วยและเสริมสร้างเราให้เกิดการเรียนรู้ และ เปลี่ยนแปลงชีวิตของเราในเรื่องนี้

มีสตรีคนหนึ่ง เธอมีอาชีพในการเลี้ยงและเพาะพันธุ์ม้า เธอเคยเล่าไว้ว่า ม้าพันธุ์ดีเวลาที่เผชิญหน้ากับศัตรู ฝูงม้าเหล่านี้จะยืนเรียงเป็นวงกลมโดยหันหน้าเข้าหากัน เพื่อเตรียมพร้อมที่จะใช้ขาหลังของตนดีดหรือเตะศัตรูที่เข้ามาโจมตี แต่ลานั้น แตกต่างแบบตรงกันข้ามเลยทีเดียว ลาจะหันหน้าออกหาศัตรูแล้วใช้ขาหลังดีดถีบพวกเดียวกัน

ในสมัยเริ่มแรกที่มีการผลิตลูกกอล์ฟ ผิวของลูกกอล์ฟจะเรียบ คนเล่นกอล์ฟค้นพบว่า ถ้าผิวของลูกกอล์ฟขรุขระสักนิดหนึ่งจะสามารถเคลื่อนตัวไปได้ไกลเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ผู้ผลิตลูกกอล์ฟจึงผลิตให้ลูกกอล์ฟมีผิวที่มีปุ่มเล็กๆ บนผิวรอบนอก ชีวิตคนเราก็เป็นเช่นนั้น ถ้าชีวิตพบกับปุ่มความยากลำบากก็จะทำให้ชีวิตของเราเคลื่อนไปได้ดีขึ้นและไกลขึ้น ชีวิตต้องการมรสุมและความทุกข์ยากที่จะสอนให้เราได้เรียนรู้ว่าพระเจ้านั้นทรงเมตตากรุณาและสัตย์ซื่อ ลองคิดทบทวนย้อนหลังไปในความทรงจำของท่านว่า ครั้งสุดท้ายที่ท่านได้จัดงานเลี้ยงเฉลิมฉลองถึงการที่ท่านได้เผชิญกับมรสุมหรือการทดลองในชีวิตของท่านนั้นเมื่อไหร่กันแน่?

ยากอบ 1:2-3 ได้เขียนไว้ว่า “2ดูก่อนพี่น้องของข้าพเจ้า เมื่อท่านทั้งหลายประสบความทุกข์ยากลำบากต่างๆ ก็จงถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดี 3เพราะท่านทั้งหลายรู้ว่า การทดลองความเชื่อของท่านนั้น ทำให้เกิดความหนักแน่นมั่นคง”

ทางของพระเจ้านั้นสูงกว่าทางของมนุษย์เรา ส่วนมากแล้วมนุษย์เราจะตอบสนองในทิศทางที่ตรงกันข้ามหรือขัดแย้งกับทางของพระเจ้า กล่าวด้วยความสัตย์จริงว่า หลายครั้งที่ผมรู้สึกว่าพระเจ้าได้เรียกให้ทำบางอย่างบางเรื่องที่ดูแล้วไม่เข้าท่า และเมื่อทำตามที่ทรงนำกลับพบกับปัญหา ความเชื่อศรัทธาเป็นการยอมเชื่อฟังอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ใช่เชื่อฟังเพราะมันมีเหตุมีผล เราพึงตระหนักว่า หัวใจของมรสุมชีวิตที่เราพบคือชัยชนะที่รอคอยเราแต่ละคนเข้าไปและบรรลุชัยชนะนั้น อะไรคือ “มรสุมชีวิต” ที่ทำให้ท่านต้องเดือดร้อนในวันนี้? อะไรคือก้าวย่างของท่านที่จะมุ่งหน้าเข้าไปเพื่อจะรับประสบการณ์ในพลานุ-ภาพของพระเจ้าท่ามกลางมรสุมชีวิตนั้น? พระบิดาเจ้าทรงรอคอยที่จะพบกับท่านในเวลาที่มืดมนสุดๆ ในชีวิตของท่าน พระองค์รอเวลาที่จะอ้าแขนออกเพื่อโอบกอดท่านไว้ในอ้อมแขนของพระองค์ จนกว่าพายุที่โหมกระหน่ำอย่างรุนแรงจะสงบลง จุดเริ่มต้นในขณะนี้คือ...จงยอมตนต่อพระเจ้า แล้วจงชื่นชมยินดีกับแรงพายุที่พัดกระแทกชีวิตของท่านอย่างรุนแรง แต่ชีวิตทั้งสิ้นของท่านอยู่ในอ้อมแขนของพระบิดา ความรักเมตตาของพระองค์จะไม่ยอมให้ชีวิตของท่านต้องล่มจมพ่ายแพ้ แต่จงยอมรับพระกำลังของพระองค์และยืนมั่นด้วยพระกำลังของพระเจ้าที่มีในชีวิตของท่าน

ประเด็นใคร่ครวญในชีวิต

1) เมื่อท่านต้องพบกับสถานการณ์ที่ยุ่งยากในชีวิต ใครคือคนแรกที่ท่านหันหน้าไปขอความช่วยเหลือ?
2) ท่านมีมุมมอง หรือ ทัศนคติอย่างไรต่อ “มรสุม” ที่เกิดขึ้นในชีวิตของท่าน?
3) ท่านคิดว่า มุมมองและทัศนคติ ดังกล่าวจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่? อย่างไร?
4) ขอท่านทบทวนและตรวจสอบดูว่า ในชีวิตของท่านมีอะไรที่เป็นสิ่งกีดขวางพระกำลังของพระเจ้า? ท่านจะจัดการหรือเคลื่อนย้าย “สิ่งกีดขวาง” ดังกล่าวออกจากชีวิตของท่านได้อย่างไรบ้าง?
5) ท่านจะจัดเตรียมตนเองล่วงหน้าที่จะเผชิญหน้ากับ “มรสุม” ชีวิตได้อย่างไร?

10 มกราคม 2554

ยืนมั่นท่ามกลางมรสุมชีวิต (ตอนที่ 1)

2โครินธ์ 6:1, 3-6
[เปาโลกล่าวว่า] 1ในฐานะผู้ร่วมงานของพระเจ้า เราวิงวอนท่านว่าอย่าสักแต่รับพระคุณของพระเจ้า...3เราไม่ทำให้ใครสะดุดเพื่อไม่ให้พันธกิจของเราเสียความเชื่อถือ(เป็นที่คนอื่นติเตียนได้) 4...ในฐานะผู้รับใช้ของพระเจ้าเราพิสูจน์ตัวเองในทุกทาง ไม่ว่าในทางอดทนอดกลั้น ในความทุกข์ร้อน ความยากเข็ญและความลำเค็ญ 5ในการถูกเฆี่ยนตี การถูกจองจำ และการจลาจล ในการตรากตรำ ทำงาน การอดหลับอดนอน และ ความหิวโหย 6ด้วยความบริสุทธิ์ ความเข้าใจ ความอดทน และความกรุณาในพระวิญญาณบริสุทธิ์ และในความรักจริงใจ
(อมตธรรม, ข้อความในวงเล็บเป็นสำนวนจาก TBS71b, อักษรเอนเป็นของผู้เขียน)

มรสุมชีวิตเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแน่นอนในชีวิตของเราแต่ละคน และเราเชื่อว่าพระเจ้าทรง “จัดเตรียม” คุณค่าและความหมายสำหรับเราแต่ละคนในพายุคลื่นลมที่ซัดถาโถมเข้าในชีวิตของเรา ชีวิตที่ยุ่งเหยิง ซับซ้อนจนสับสน หรือเกิดสิ่งเลวร้ายย่อมจะเกิดขึ้นในชีวิตของเราแต่ละคนได้เสมอ

แต่เราต้องมั่นคงและชัดเจนว่าในทุกวิกฤติชีวิตที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสที่เราจะไว้วางใจองค์พระผู้เป็นเจ้า เป็นโอกาสที่เราจะเรียนรู้ถึงพระประสงค์ของพระเจ้าที่ทรงเสริมสร้างและหนุนช่วยให้ชีวิตของเราได้เติบโต เข้มแข็ง และเกิดผลมากยิ่งๆ ขึ้น

เมื่อเราจะเผชิญหน้ากับพายุแห่งชีวิต เป็นโอกาสที่พระองค์จะสอนให้เรามอง “มรสุมชีวิต” นั้นด้วยสายตาและมุมมองจากเบื้องบน พระองค์ทรงช่วยให้เรามองมรสุมชีวิตที่เกิดขึ้นนั้นด้วยสายตาและมุมมองแบบพระคริสต์ คือมองว่านี่คือโอกาสที่องค์พระผู้เป็นเจ้าจะสำแดงพระกำลังและพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตของเรา และผ่านชีวิตของเรา

ทุกครั้งที่ต้องเผชิญหน้ากับพายุแห่งชีวิต เราต้องถามตนเองว่า เราจะเผชิญหน้าและดำเนินชีวิตท่ามกลางมรสุมชีวิตในทางที่จะทำให้เกิดการเทิดทูนสรรเสริญ และ ยกย่องพระเจ้าได้อย่างไร

ประการแรก: ดำเนินชีวิตที่บริสุทธิ์
4...ในฐานะผู้รับใช้ของพระเจ้าให้เราพิสูจน์ตัวเองในทุกทาง...
6ด้วยความบริสุทธิ์ ความเข้าใจ ความอดทน และ
(ด้วย)ความกรุณาในพระวิญญาณบริสุทธิ์ และในความรักจริงใจ
(2โครินธ์ 6:6)

มรสุมชีวิตมิใช่เรื่องแปลกในชีวิตของเปาโลอย่างแน่นอน จากจดหมายที่ท่านเขียนถึงคริสเตียนในเมืองโครินธ์ เปาโลได้บอกผู้อ่าน(บอกเรา)ว่าเมื่อต้องเข้าสู่พายุแห่งชีวิตเราควรจะมีท่าที และ การกระทำเช่นไรเพื่อที่จะสามารถอยู่รอดและปล้ำสู้จนเกิดความเข้มแข็งและเติบโตในชีวิต น่าสังเกตว่าชีวิตที่บริสุทธิ์เป็นเรื่องแรกที่ท่านกล่าวถึง ท่านกล่าวอย่างชัดเจนมั่นคงว่า พลังชีวิต ศักดิ์ศรี และชีวิตที่น่านับถือนั้นเกิดจากการที่คนๆ นั้นอุทิศตนด้วยการมีชีวิตประจำวันที่บริสุทธิ์ จิตใจที่บริสุทธิ์เป็นการเปิดใจของตนให้กับพลังอำนาจของพระเจ้าที่สถิตในตัวเราได้ดำเนินการในชีวิตของเรา แต่จิตใจที่ไม่บริสุทธิ์นั้นกัดกร่อน พัดเซาะเสถียรภาพ ความมั่นคงในชีวิตของเราแต่ละคน ในขณะที่จิตใจที่บริสุทธิ์หนุนนำให้เกิดพลังเข้มแข็งจากเบื้องบนเป็นรูปธรรมในตัวเรา และด้วยพลังที่มั่นคงเข้มแข็งนี้เองที่หนุนเนื่องให้ชีวิตของเรายืนมั่น ไม่หวั่นไหว ไม่ล้มลง

สดุดี 51:10 (อมตธรรม)
10ข้าแต่พระเจ้า ขอทรงสร้างจิตใจที่บริสุทธิ์ในข้าพระองค์
และทรงฟื้นจิตวิญญาณอันมั่นคงขึ้นใหม่ภายในข้าพระองค์

ผู้ประพันธ์สดุดีบทนี้ได้เชื่อม “จิตใจที่บริสุทธิ์” กับ “จิตวิญญาณอันมั่นคง” ซึ่งรากศัพท์ของภาษาฮีบรูของคำว่า “ความมั่นคง” ในที่นี้มีความหมายว่า “ติดแน่น ยึดแน่น หรือ ไม่เปลี่ยนแปลง” และบ่งชี้ให้เห็นว่าพลังอย่างมั่นคงเช่นนี้ในชีวิตจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนๆ นั้นมีความสัมพันธ์ที่ถูกต้องสอดคล้องกับพระเจ้าเท่านั้น ความมั่นคงเด็ดเดี่ยวและมีเสถียรภาพในชีวิตเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชีวิตที่ต้องเผชิญกับพายุที่กระโชกรุนแรง ชีวิตที่ต้องพบกับมรสุมที่บ้าคลั่ง บางครั้งพายุชีวิตนั้นกระหน่ำพัดเพื่อเปิดเผยความผิดบาปของเราที่ได้พยายามปกปิดและต้องการกลบฝังให้มิดชิดนั้น ถ้าเราหลีกเลี่ยงหรือหลบลี้ในการจัดการกับอำนาจความบาปที่มีในชีวิตของเรา พระเจ้าจะทรงกระตุ้นและผลักดันให้เราเกิดการเชื่อฟังพระองค์โดยการทรงอนุญาตให้เกิด “พายุ” ในชีวิตของเรา แต่สำหรับคนที่มิได้กระทำความบาปผิดพายุชีวิตก็จะกลับกลายเป็นพลังที่จะเปิดเผยให้เห็นถึงชีวิตที่บริสุทธิ์ของคนนั้น และเป็นพลังหนุนเสริมการดำเนินชีวิตของเขาต่อไป

ประการที่สอง: แสวงหาความเข้าใจ
4...ในฐานะผู้รับใช้ของพระเจ้าให้เราพิสูจน์ตัวเองในทุกทาง...
6ด้วยความบริสุทธิ์ ความเข้าใจ ความอดทน และ
(ด้วย)ความกรุณาในพระวิญญาณบริสุทธิ์ และในความรักจริงใจ
(2โครินธ์ 6:6)

ความเข้าใจเป็นเรื่องสำคัญของมนุษย์ แต่ก็ต้องยอมรับความจริงที่ว่าความเข้าใจของมนุษย์นั้นมีความจำกัดและมักถูกครอบงำและทำให้บิดเบือนคลาดเคลื่อนจากสัจจะความจริง ในขณะที่ความเข้าใจตามทางของพระเจ้าหรือตามพระประสงค์ของพระองค์นั้นล้ำลึกหาจุดสุดปลายไม่ได้และไม่มีสิ่งใดที่จะมาทำร้ายทำลายหรือครอบงำได้ บทเรียนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตของเรานั้นเรียนรู้จากประสบการณ์การเผชิญกับพายุชีวิตที่กระหน่ำรุนแรง ขึ้นอยู่กับคนๆ นั้นยึดมั่นคงในพระวจนะแห่งชีวิตให้เป็นรากฐานหรือเสาหลักในชีวิตหรือไม่

ผู้เรียนคนหนึ่งในชั้นเรียนพระคัมภีร์ที่กำลังเรียนในพระธรรมเฉลยธรรมบัญญัติ 6:6 ถามผู้สอนว่า ทำไมพระคัมภีร์ตอนนี้ในต้นฉบับถึงบอกว่า “จงให้บทบัญญัติทั้งปวงซึ่งข้าพเจ้าแจ้งท่านในวันนี้ “อยู่เหนือ” จิตใจ(upon our hearts) ของท่าน” แตกต่างอย่างไรกับคำแปลในภาษาไทยของทั้งฉบับอมตธรรม และ สมาคมพระคริสต์ธรรมฯ ที่แปลว่า “อยู่ในใจ” (in our heart) ของท่าน” ผู้สอนได้อธิบายว่า ถ้าเราพิจารณาจากภาษาเดิม พระคัมภีร์ต้องการชี้ชัดว่า พระบัญญัติของพระเจ้านั้นมิได้เข้าไปอยู่ภายใต้กรอบคิดและวิธีเข้าใจของมนุษย์ แต่ตรงกันข้ามพระบัญญัติของพระเจ้านั้นต้องการครอบครองเหนือจิตใจของมนุษย์ เพื่อพระบัญญัติของพระเจ้าจะเป็นแสงสว่างที่ฉายส่องทางที่มนุษย์ควรเดิน และมีพลังในการแก้ไขปรับเปลี่ยนจิตใจ กรอบคิด และวิธีคิดของมนุษย์ ดังนั้น เราจึงควรให้พระวจนะของพระเจ้านั้นครอบครองเหนือจิตใจของเรา และเมื่อใดที่จิตใจของเราของแตกหักและฉีกขาด พระวจนะของพระเจ้าจะแทรกตัวเข้าไปในชีวิตจิตใจของเราและทรงกระทำงานของพระองค์ในการเยียวยารักษาปะชุนจิตใจและชีวิตของเราขึ้นใหม่

ในทุกสถานการณ์ของชีวิตที่ส่งผลให้ชีวิตจิตใจของเราแตกหักและฉีกขาดอันเกิดจากการที่เราพยายามควบคุมบังเหียนชีวิตด้วยตนเองและใช้มุมมองชีวิตของตนเองเป็นทิศทางขับเคลื่อนชีวิต แต่ท่านจงมั่นใจและเชื่อมั่นในพระเจ้า และรู้ว่าพระเจ้าจะทรงช่วยกู้ท่านให้ได้รับความเข้าใจใหม่และความจริงใหม่ที่เป็นสัจจะและความเข้าใจที่สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระองค์

ประการที่สาม: เรียนรู้ที่จะอดทน

4...ในฐานะผู้รับใช้ของพระเจ้าให้เราพิสูจน์ตัวเองในทุกทาง...
6ด้วยความบริสุทธิ์ ความเข้าใจ ความอดทน และ
(ด้วย)ความกรุณาในพระวิญญาณบริสุทธิ์ และในความรักจริงใจ
(2โครินธ์ 6:6)

ผู้เขียนต้องสารภาพความจริงว่า ตนเองมิได้เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องความอดทน เพราะบ่อยครั้งเป็นคนที่ไม่อดทน ไม่ยอม “รอคอย” และนี่น่าจะเป็นที่มาของ “มรสุม” “พายุ” หรือ “การทดลอง” ในชีวิตของผู้เขียน ยากอบก็คงมีปัญหาในเรื่องนี้เช่นกัน แต่ต่างกันที่ยากอบมีทัศนคติที่ดีต่อเรื่องนี้

ยากอบ 1:2-4 (TBS71b)
2ดูก่อนพี่น้องของข้าพเจ้า เมื่อท่านทั้งหลายประสบความทุกข์ยากลำบากต่างๆ ก็จงถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดี 3เพราะท่านทั้งหลายรู้ว่า การทดลองความเชื่อของท่านนั้น ทำให้เกิดความหนักแน่นมั่นคง 4และจงให้ความมั่นคงนั้นบรรลุผลอันสมบูรณ์ เพื่อท่านทั้งหลายจะได้เป็นคนที่ดีพร้อม มีคุณสมบัติครบถ้วน ไม่มีสิ่งใดบกพร่องเลย

โดยปกติแล้วเราท่านพยายามหลีกเลี่ยงการทดลอง หรือ สถานการณ์ที่ก่อเกิดความทุกข์ยากในชีวิตของเรา แต่ยากอบบอกกับผู้อ่านของท่านว่า ให้เราเผชิญหน้ากับความทุกข์ยากลำบากต่างๆ ด้วยมุมมองแห่งความชื่นชมยินดี ในที่นี้ท่านมิได้หมายความว่า ให้เราชื่นชมยินดีที่ต้องถูกทดลอง ที่ต้องทุกข์ยากลำบาก แต่ท่านหมายความว่าเมื่อเราอยู่ท่ามกลางการทดลอง และ ความทุกข์ยากลำบากนั้นจงมีจิตใจที่ชื่นชมยินดี ความชื่นชมยินดีเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ก็เพราะรากแห่งความเชื่อศรัทธาของเราเชื่อมั่นคงว่าพระเจ้าทรงกำลังควบคุมเหนือทุกสถานการณ์ชีวิต ความชื่นชมยินดีดังกล่าวเป็นทัศนคติและมุมมองชีวิตที่เราเลือกเพราะเราเข้าใจอย่างชัดเจนว่าการถูกทดลอง หรือ การที่เราต้องตกอยู่ท่ามกลางทุกข์ยากลำบากนั้นมิใช่การลงโทษจากพระเจ้า

ความทุกข์ยากลำบาก หรือ มรสุมชีวิตเป็นเครื่อง “ฝัดร่อน” “หลอมและหล่อ” และเป็นเครื่องวัดถึงการเจริญเติบในชีวิตของเรา การที่เรามีความอดทนก็เป็นการที่เราให้โอกาสกับพระเจ้าทรงกระทำกิจของพระองค์ในชีวิตของเรารวมถึงการทดลองที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย แต่ถ้าเราหลบลี้หลีกเลี่ยงสถานการณ์ความทุกข์ยากลำบาก มรสุมชีวิต หรือการทดลอง ผลที่เกิดขึ้นก็คือความอ่อนแอ หรือ มีวุฒิภาวะต่ำด้อย แคระแกร็นด้านจิตวิญญาณ พระเจ้าทรงเสริมและสร้างชีวิตบุคลิกภาพและจิตวิญญาณของเราเมื่อเราเปิดชีวิตและยอมร่วมมือกับพระองค์ในการทรงสร้างเราขึ้นใหม่ นั่นหมายความว่าเราจะต้องยอมตน และ เปิดชีวิตให้พระองค์เข้ามาในชีวิตของเราด้วยความเชื่อศรัทธา ไว้วางใจในพระองค์ อดทน และยอมรับพระราชกิจแห่งการทรงสร้างเราขึ้นใหม่

สงบและใคร่ครวญ

เมื่อเราใคร่ครวญภาวนา
เราจะพบว่า พระเจ้าทรงสัตย์ซื่อและเที่ยงธรรมในชีวิตของเรา
แม้บางครั้งเราเองอาจจะถูกกระตุ้นชักจูงให้ทำสิ่งต่างๆ เพื่อตนเอง
ในเวลานี้ให้เราแต่ละคนได้มีโอกาสที่จะเปิดชีวิตจิตใจ
รับการชำระให้สะอาดอีกครั้งหนึ่งจากองค์พระผู้เป็นเจ้า
รับสายตาใหม่ มุมมองใหม่จากเบื้องบน
เพื่อจะสามารถมองเห็น “คุณค่าความหมาย” ที่ล้ำค่า ที่ฝังซ่อนอยู่ในการทดลอง ในการยากลำบาก
ให้องค์พระผู้เป็นเจ้าโปรดช่วยเราที่จะเลือกชีวิตจิตวิญญาณที่ชื่นชมยินดี
ถึงแม้ว่าในตอนนี้ตนจะไม่เข้าใจเลยว่าพระเจ้ากำลังทรงกระทำอะไรให้เกิดขึ้นในชีวิต
เพื่อเราจะมีชีวิตที่เป็นพยานถึงกำลังอันไพบูลย์ของพระเจ้า ที่ทำงานท่ามกลางความอ่อนแอในชีวิตของเรา

09 มกราคม 2554

ที่ว่างในชีวิต

คริสต์ศาสนศาสตร์ภาคประชาชน: ว่าด้วยเรื่องรางหญ้า ตอน 3

16เพราะว่าพระเจ้าทรงรักโลก จนได้ประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์
เพื่อทุกคนที่เชื่อในพระบุตรนั้นจะไม่พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร์
(ยอห์น 3:16 IBS)
6ขณะเขาทั้งสองอยู่ที่นั่น ก็ถึงเวลาที่มารีย์จะคลอดบุตร
7นางจึงคลอดบุตรชายหัวปี เอาผ้าอ้อมพันและวางไว้ในรางหญ้า
เพราะว่าไม่มีที่ว่างในโรงแรมสำหรับพวกเขา
(ลูกา 2:6-7, TBS02b)

ช่วงเวลาที่เราอยู่ในเทศกาลคริสต์มาสที่ผ่านมา รายการแต่ละวันของเราดูเต็มเอียด และรายการจ่ายของเราทำให้กระเป๋า “แฟบ” ลง ชีวิตของเราในช่วงนั้นถูกรุมล้อมด้วยสิ่งที่เรารู้สึกว่าสำคัญๆ ทั้งสิ้น เมื่อชีวิตของเราต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ต่างๆ เราพยายามที่จะจัดการตามความสามารถของเราเอง เกิดคำถามตนเองว่า แล้วชีวิตของเราในช่วงคริสต์มาสที่ผ่านมานี้มี “ที่ว่าง” สำหรับพระคริสต์หรือเปล่าเนี่ย!

เมื่อสงบลงใคร่ครวญถึงชีวิตของตนเอง เราคงไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้อย่างไรที่ชีวิตของเราไม่มีที่ที่สำหรับพระคริสต์ในแต่ละวัน ทั้งๆ ที่เราก็ยังทำตัวให้คนอื่นเห็นว่าพระคริสต์สถิตในชีวิตของเรา เราบอกคนอื่นว่าเราเป็นคริสเตียน เราพูดกับคนอื่นว่าเราวางใจและพึ่งพิงในพระองค์

แต่เวลาที่เราต้องพบกับวิกฤติชีวิตเราก็มักพยายามจัดการด้วยความคิดความสามารถของเราเอง เราหลายคนไม่เข้าใจกับชีวิตที่ถูกการทดลอง ชีวิตที่ต้องตกอยู่ในความทุกข์ยากลำบาก เพราะเมื่อเรามองไปในสังคม คนที่ไม่สนใจเรื่องพระเจ้าหลายต่อหลายคนกลับมีชีวิตเจริญรุ่งเรืองกว่าชีวิตของพวกเรา บ่อยครั้งชีวิตของเราถูกดึงเข้าไปในมุมมืด ความตึงเครียดด้านเศรษฐกิจการเงินทำให้ชีวิตของเราตกอยู่ในความวิตกกังวล แทนที่เราจะหันกลับมาหาพระเจ้า แต่เรากลับพึ่งพิงในสิ่งเราเห็นและเราเข้าใจ เราลงมือจัดการชีวิตของเราเอง

ในวิกฤติชีวิตที่เราพบ เมื่อเราไม่สามารถจะจัดการชีวิตด้วยตนเองได้ เราร้องทูลต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า มุมมืดมิดในชีวิตของเรากลับมีแสงสาดส่องเข้ามา แสงสว่างขององค์พระคริสต์ฉายทาบลงบนความเจ็บปวดทุกข์ยากในชีวิตของเรา เป็นเหมือนยาจากเบื้องบนที่ทาทาบลงบนบาดแผลแล้วช่วยสมานเยียวรักษาบาดแผลชีวิตนั้นของเรา ทำให้ได้รับประสบการณ์ “รางหญ้า” ที่เปิดรับให้องค์พระคริสต์ประทับอยู่ รางหญ้าที่มีกลิ่นฟางแห้งคละเคล้ากับกลิ่นของสัตว์และน้ำลายสัตว์ กลับถูกกลบและขับไล่ด้วยกลิ่นของพระเยซูคริสต์

ไม่น่าเชื่อเลยว่า ชีวิตที่ยอมรับเอาพระคริสต์เข้าอยู่ในชีวิตของตน ชีวิตที่แสนจะธรรมดาสามัญทุกข์ยากลำบากกลับได้รับการเปลี่ยนแปลงจากพระคริสต์เป็นชีวิตที่มีคุณค่า ความหมาย ท่ามกลางความธรรมดาของชีวิตในโลกนี้

พระคริสต์เข้ามาในชีวิตของเราแต่ละคนด้วยหลากหลายหนทางด้วยกัน ด้วยการเกิดอย่างธรรมดาสามัญของพระคริสต์ได้สำแดงให้เห็นถึงคุณค่า ความหมาย และความเข้าใจที่มากกว่าธรรมดา พระคริสต์สามารถเกิดในห้องหรูอาคารใหญ่ หรือ ในรั้วในวัง แต่พระคริสต์เลือกที่จะเกิดในรางหญ้าและคอกสัตว์ ที่อาจจะมีกลิ่นแรงคลุ้งด้วยกลิ่นคอกสัตว์ แล้วข่าวการบังเกิดของพระองค์กลับแจ้งให้คนเลี้ยงแกะรู้เป็นพวกแรก แทนที่จะแจ้งให้กษัตริย์ นักการเมือง นักวิชาการ หรือคนยิ่งใหญ่ในสังคมในประเทศ พระเจ้าทรงสำแดงการอัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดท่ามกลางสภาพการณ์ สถานการณ์ที่เรียบง่ายและธรรมดาที่สุด

วันนี้พระคริสต์ยังพร้อมเสมอที่จะพบปะกับเราท่ามกลางชีวิตที่เรียบง่ายและธรรมดาในชีวิตประจำวันของเรา แต่นี่อาจจะทำให้บางคนรู้สึกว่า พระคุณของพระเจ้าที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งเช่นนี้จะเกิดขึ้นในสภาพการณ์และสถานการณ์ที่เรียบง่ายธรรมดาเช่นนี้ได้อย่างไร เมื่อพระเจ้าทรงกระทำสิ่งสำคัญในความเรียบง่าย เราบางคนกลับรับไม่ได้ เช่นนั้นหรือเปล่า?

ครั้งหนึ่งในวันคริสต์มาส สมาชิกในครอบครัวต่างเตรียมตัวไปร่วมฉลองคริสต์มาสที่คริสตจักร ยกเว้นคุณพ่อของครอบครัวนี้ เพราะคุณพ่อเป็นคนที่จริงจังและจริงใจ เขาไม่สามารถที่จะทำตัวหลอกตนเองในความคิดของตนและคนรอบข้าง โดยเฉพาะการที่จะเชื่อว่าพระเจ้าเข้ามาในโลกนี้ในสภาพทารกที่เกิดและนอนในรางหญ้า เขาไม่ต้องการที่จะหลอกตนเองและหลอกคนอื่น เขาไม่ต้องการเป็นคนหน้าซื่อใจคด ทำทีไปร่วมนมัสการพระผู้ช่วยให้รอด และเขาเองก็ไม่แน่ใจนักว่าเรื่องพระคริสต์บังเกิดและบรรทมในรางหญ้าว่าเป็นเรื่องจริง ดังนั้น เขาจึงตัดสินใจอยู่บ้านดีกว่า

เขาก่อเตาไฟให้ความร้อนจากไฟขับไล่ความหนาวยะเยือก ความหนาวเหน็บเจ็บปวดให้ออกไปจากห้องที่เขาอยู่ ในค่ำคืนนั้น แล้วเขาก็เริ่มเอาหนังสือเล่มหนึ่งมาอ่าน เพื่อรอครอบครัวของเขากลับจากโบสถ์ จะได้ฉลองให้สนุกสนานกันในคืนนั้น

ทันใดนั้น เขาได้ยินเสียงอะไรที่มาเคาะที่หน้าต่างของเขา เมื่อเขาเดินไปดูก็พบนกตัวหนึ่งคงต้องการที่จะบินเข้ามาในห้องของเขาเพื่อรับไออุ่น เขาจึงเปิดหน้าต่างนั้น เพื่อให้นกบินเข้ามาในห้อง แต่นกไม่ยอมบินเข้าในห้องของเขา เขาพยายามอยู่หลายครั้งแต่ผลที่ได้ก็อย่างเดิม

เขาคิดขึ้นมาได้ว่า ถ้านกกลัวไม่กล้าที่จะบินเข้าในห้องของเขา นกน่าจะบินเข้าไปในโรงนาของเขา เผื่อนกจะสามารถซุกตัวอยู่ในกองฟางเพื่อเกิดความอุ่น เขาสวมเสื้อกันหนาวแล้วออกไปเปิดประตูโรงนา แต่นกก็ไม่ยอมบินเข้า... หมดปัญญา!

คุณพ่อผู้มีใจเมตตาคนนี้นั่งลงคิดตั้งนาน เขาคิดได้ว่า “ถ้าฉันเกิดเป็นนกได้ แค่เพียงนาทีเดียว ฉันก็จะสามารถนำนกตัวนี้รอดพ้นจากความหนาวเหน็บเจ็บปวดนี้เข้าสู่ห้องที่อบอุ่นได้” ในเวลานั้นเอง เขาได้ยินเสียงระฆังดังจากคริสตจักร เขาเกิดความเข้าใจได้ว่า ทำไมพระเจ้าจะต้องมาเกิดเป็นมนุษย์ ทำไมพระองค์ต้องมาเกิดเป็นคนอย่างเราท่าน ทั้งนี้ก็เพื่อนำเราไปสู่ที่ปลอดภัยนิรันดร์ สู่ชีวิตที่อบอุ่นในพระองค์

หัวใจสำคัญของวันคริสต์มาสคือ “อิมมานูเอล พระเจ้าอยู่ด้วยกับเรา” พระองค์อยู่ด้วยกับเรา ด้วยการเข้ามามีชีวิตในจุดต่ำที่สุดในชีวิตประจำวันของเรา พระเจ้าสถิตอยู่ในข้าพเจ้า อยู่ในท่าน พระองค์สถิตท่ามกลางเราทุกคน วันคริสต์มาสมิใช่วันสำคัญวันหนึ่งในปฏิทินของเรา แต่คริสต์มาสเป็นการเฉลิมฉลองถึงการสถิตอยู่ของพระเจ้าในชีวิตของเราแต่ละวัน

พระองค์อยู่กับเราในชีวิตประจำวันที่เรียบง่ายและธรรมดา พระองค์สถิตอยู่กับเราในทุกสถานการณ์ชีวิตที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ไม่ว่าเราจะไปยังแห่งหนตำบลใด ไม่ว่าเราจะทำอะไร พระคริสต์สถิตในรอยยิ้มที่เราส่งยิ้มให้กับคนแปลกหน้าที่เราไม่รู้จัก พระคริสต์สถิตกับเราในความอดทนที่เรายอมทนต่อผู้อื่นด้วยความรักของพระคริสต์ พระคริสต์สถิตกับการที่เราให้ของขวัญที่จำเป็นที่สุดแก่คนบางคน พระคริสต์สถิตในการเฉลิมฉลองด้วยความปีติเบิกบานใจอย่างเงียบๆ ในชีวิตของเรา พระคริสต์สถิตกับคนทั้งหลายที่เห็นแสงไฟกระพริบงามตาและตระหนักชัดว่า พระองค์เป็นแสงสว่างที่งามเลิศในความมืดมิดชีวิตของตน พระคริสต์สถิตกับทั้งผู้ให้และผู้รับของขวัญที่สวยงามและช่วยให้เราระลึกถึงพระคริสต์ที่เป็นของขวัญที่สำคัญที่สุดสำหรับทุกชีวิต พระคริสต์สถิตในทุกการเลี้ยงอาหารที่บอกถึงความจริงว่า พระคริสต์ทรงเป็นอาหารแห่งชีวิตของเราแต่ละคน พระคริสต์สถิตกับทั้งผู้ส่งและผู้รับบัตรอวยพร, ทั้งผู้โทรและผู้รับโทรศัพท์, ทั้งผู้ส่งข้อความและผู้รับข้อความ และทั้งผู้ไปเยี่ยมและผู้รับการเยี่ยม ที่จะย้ำเตือนให้สำนึกเสมอว่า พระเจ้าทรงสถิตอยู่ในเราทุกคน

...เพียงแต่ เราจะมีรางหญ้าในชีวิตของเราที่จะรองรับพระองค์
รางหญ้าที่เรียบง่าย ธรรมดา ในชีวิตประจำวัน

06 มกราคม 2554

พระเจ้ามาพบเราที่ “รางหญ้า” ในวิกฤติชีวิตของเรา

คริสต์ศาสนศาสตร์ภาคประชาชน: ว่าด้วยเรื่องรางหญ้า ตอน 2

“รางหญ้า” ในชีวิตของเราท่านแต่ละคนมักถูกมองข้าม บ่อยครั้งก็มักตั้งใจมองข้าม ที่มองข้ามเพราะไม่ต้องการเกิดความรู้สึกต่ำต้อย ไร้ค่า เป็นคนเล็กน้อย ถูกทอดทิ้งในชีวิตของเรา แต่พระเจ้ากลับใช้ “รางหญ้าในชีวิต” เป็นที่สำแดงพระประสงค์ หล่อหลอม เสริมสร้างชีวิตของเราแต่ละคนให้แกร่งแข็งอย่างถ่อมสุภาพ แต่ถ้าเรามองข้าม “รางหญ้าในชีวิต” ของเราก็เป็นการพลาดโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ในการพบปะกับองค์พระผู้เป็นเจ้าในแต่ละวัน เพราะพระคริสต์ทรงเลือกเกิดใน “รางหญ้า” จุดต้อยต่ำแห่งชีวิตของเราแต่ละคน

เมื่อตรึกตรองถึงประสบการณ์ ในเหตุการณ์ ในสิ่งต่างๆ และในผู้คนที่ได้สัมผัส พบปะเจอะเจอทุกเมื่อเชื่อวัน ท่านได้ตระหนักเห็นถึงสาระแก่นสารที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงสำแดงแก่ท่านในผู้คน เหตุการณ์ หรือสิ่งเหล่านั้นหรือไม่

ท่านมีโอกาสซึมซับและร่วมรู้สึกยินดี ปวดร้าว ว้าเหว่ สิ้นหวังที่ดูเหมือนจะตาย แต่กลับเกิดความหวังอีกครั้งในชีวิตร่วมกับธรรมชาติรอบกายและเหตุการณ์รอบข้างที่สะท้อนและสำแดงถึงความรู้สึกแห่งชีวิตออกมาหรือไม่

ท่ามกลางฤดูกาลแห่งชีวิตที่แปรเปลี่ยนเวียนวน ที่แตกต่างดูเหมือนอยู่ในคนละฤดูกาลแห่งชีวิตในเวลาเดียวกัน

บางแห่งหนาวแล้งจนดูเหมือนต้นไม้จะยืนแห้ง กำลังตาย ในขณะที่บางแห่งกลับฝนตกฟ้าคะนองจนน้ำท่วมล้น บางแห่งหิมะตกหนักดูเหมือนไม่มีท่าทีจะเบาบางลง ท่านคงสัมผัสถึงความทุกข์ ปวดร้าว กังวล สิ้นหวัง และสูญเสียได้

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาในเมืองเชียงใหม่ เมื่อเดินไปที่ต่างๆ จะพบต้นไม้ใหญ่บางต้นใบร่วงหล่น แห้งกรอบ เหลือแต่กิ่งก้านโกร๋นไปทั้งต้น ดูเหมือนกำลังยืนรอความตาย แล้วมันจะตายจริงหรือไม่นี่!

ทำให้วกไปวิตกกังวลกับสภาพอากาศโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงรุนแรง ทำให้ด่วนสรุปฟันธงลงไปว่านี่ก็อีกรายละซิที่เป็นผลกระทบจากอากาศโลกที่เปลี่ยนไป!

อีกไม่กี่วันต่อมา เกิดพายุฝนจากการเปลี่ยนผ่านสู่ฤดูร้อน ฝนตกลมแรง ทำให้ห่วงกังวลว่าแล้วต้นไม้แห้งโกร๋นพวกนั้นจะล้มโค่นลงหรือไม่!

จากนั้นผ่านไปสองอาทิตย์ สิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้น ต้นไม้แห้งโกร๋นที่คิดว่ากำลังยืนตายกลับแตกใบอ่อน เกิดชีวิตใหม่(ในต้นไม้แก่ๆ ต้นนั้น)!

เสียงหนึ่งในจิตใจร้องค้านขึ้นว่า ไม่ใช่สิ่งมหัศจรรย์พันลึกอะไรหรอก มันก็แค่เพียงเป็นไปตามกระบวนการวงจรชีวิตในธรรมชาติเท่านั้น

อีกเสียงหนึ่งถามด้วยความฉงนแต่สงบว่า ถ้าเช่นนั้นเวลาที่ผ่านมา 1-2 เดือนนี้ ทำไมท่านถึงวิตกกังวลและเป็นห่วงว่า ต้นไม้แก่ต้นนั้นกำลังยืนรอความตายแน่?

ทำไมท่านรีบโยงโยนสาเหตุจากสภาพแวดล้อมที่แปรเปลี่ยนรุนแรงของโลกนี้ เพื่อจะสามารถเชื่อมโยงถึงต้นเหตุผ่านมาที่ผู้คนทำร้ายทำลายธรรมชาติแวดล้อม?

เมื่อเรามองดูสภาพชีวิตแวดล้อมที่กำลังแปรเปลี่ยนเวียนไปด้วย “แว่นตาแห่งข่าวสารข้อมูล” และข้อสรุปต่างๆ มักโน้มเอียงให้การมองของเราหาสาเหตุของชีวิตที่แปรเปลี่ยนเหล่านั้น แล้วพยายามเชื่อมโยงหาเหตุผล “โยงโยน” ว่าสาเหตุเกิดจากคนอื่น สิ่งอื่น!

แต่ถ้าเรามุ่งมองสภาพชีวิตที่กำลังเป็นไปและเปลี่ยนแปลงด้วย “แว่นตาแห่งชีวิต” ที่มองให้เห็นถึงพระประสงค์ และ น้ำพระทัยของพระเจ้าที่ทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ผ่านต้นไม้แก่ต้นนั้น เราจะเห็นความรัก ความงดงามของพระองค์ ที่ทรงเอาใจใส่ด้วยน้ำพระทัยแห่งความรักเมตตาของพระองค์

เราจะเห็นถึงพระประสงค์แห่งการทรงสร้าง การทรงหนุนเสริม ค้ำชู และการทรงกอบกู้ของพระองค์ในเหตุการณ์ชีวิตต่างๆ ที่เกิดขึ้นวนเวียนด้วยความรักเมตตาอย่างไม่ย่อท้อและเหนื่อยล้า

เราเห็นถึงพระคุณของพระเจ้าท่ามกลางอุปสรรค วิกฤติชีวิต การโหมกระหน่ำของผู้ไม่หวังดี การจู่โจมอย่างไม่ลดละของคนชั่ว เป็นสถานการณ์ที่อยู่นอกเหนือความสามารถที่เราจะรับมือได้

ในเวลาเช่นนั้น มิใช่เวลาของการสรรหาทฤษฎี ความรู้ เทคนิก วิธีการ กระบวนการการแก้ปัญหา การรับมือกับความขัดแย้ง การจะใช้ทฤษฎีมนุษยสัมพันธ์เชิงไหน!

แต่เป็นเวลาที่เราจะค้นหา รอคอย การทรงเปิดเผยของพระเจ้าถึงพระประสงค์และน้ำพระทัยขององค์พระผู้เป็นเจ้าในเหตุการณ์นั้นว่า
พระองค์มีพระประสงค์อะไรที่จะให้สิ่งดีเกิดขึ้นจากเหตุการณ์นั้น?
พระองค์มีน้ำพระทัยเช่นไรต่อมวลชีวิตที่เกี่ยวข้องวนเวียนในสถานการณ์นั้น?
พระองค์ต้องการสอน เสริมสร้าง และหล่อหลอมให้เราเป็น “เครื่องมือ” ของพระองค์เพื่อทำอะไร และ อย่างไร?
พระองค์กำลังหนุนเสริมเพิ่มกำลังด้านต่างๆ ในตัวเราให้ทำพันธกิจอะไร แบบใด ในวิกฤติชีวิตที่เราเกี่ยวข้องสัมพันธ์อยู่ด้วย?
สิ่งสำคัญทางคุณธรรมแห่งชีวิตจิตวิญญาณของเราคือ “การรอคอย” เราต้อง “รอคอย” เวลาขององค์พระผู้เป็นเจ้า เพราะนี่เป็นพระราชกิจของพระองค์ ต้องตระหนักชัดเสมอว่า เราเป็นเพียง “เครื่องมือ” ของพระองค์ เราเป็นเพียง “คนใช้” ของพระองค์
เราต้องไม่ใจร้อนด่วนทำก่อนเวลาในแผนการของพระเจ้า เพราะนั่นเรากำลังทำตามใจของตนเอง!
ความเข้าใจประการสำคัญคือ เรามักรีบด่วนแสวงหา “ความรู้” ก่อนทำ (เพราะเราคิดว่า เพื่อจะทำอย่างถูกต้อง) แต่ในพระราชกิจของพระเจ้า ถ้าเรายอมทำอย่างเชื่อฟัง เราจะเรียนรู้พระประสงค์และน้ำพระทัยของพระเจ้า

เราเรียนรู้ จากการเชื่อฟัง
เราเรียนรู้ เราจึงหยั่งรากลงลึกในความเชื่อศรัทธา
เราเรียนรู้ เราจึงเติบโต เข้มแข็ง
เราเรียนรู้ เราจึงเกิดผลตามพระประสงค์ของพระเจ้า

นี่คือการอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นในชีวิตมิใช่หรือ!

ท่ามกลาง “รางหญ้า” แห่งวิกฤติต้อยต่ำในชีวิตของเรา...
จึงเป็นโอกาสที่เราจะพบและสัมผัสกับน้ำพระทัยของพระเจ้า
จึงเป็นโอกาสที่เราจะได้รับการ “ตัดแต่ง” เสริมสร้างและหล่อหลอมจากพระองค์
จึงเป็นโอกาสที่เราจะเติบโตขึ้นของชีวิตจิตวิญญาณในพระเยซูคริสต์
จึงเป็นโอกาสที่เราจะได้เรียนรู้ถึงพระประสงค์และน้ำพระทัยของพระองค์
จึงเป็นโอกาสที่เราได้รับพระคุณและความรักของพระองค์
จึงเป็นโอกาสที่เราจะได้รับใช้พระองค์ และ
ในวิกฤติชีวิตนั้นเองเรากำลังอยู่กับพระเจ้า

จงชื่นชมยินดีเถิด

ดังนั้น เราจึงมิใช่ผู้เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส
แต่ในวิกฤติชีวิตนั้นเอง
พระเจ้าทรงประทานโอกาสแก่เราต่างหาก

04 มกราคม 2554

สัจจะที่รับได้ยาก

คริสต์ศาสนศาสตร์ภาคประชาชน: ว่าด้วยเรื่องรางหญ้า ตอน 1

พระคริสต์มาบังเกิดในโลกนี้ “รางหญ้า” ในคอกสัตว์เป็นที่ๆ มีที่ว่างพอจะรองรับทารกน้อยที่เป็นพระคริสต์ที่เสด็จเข้ามาในโลกนี้

ท่ามกลางความเจริญด้านการคมนาคม การสื่อสารไปมาหาสู่กันได้อย่างสะดวกกว่าสมัยใดก่อนหน้าในสมัยนั้น ทำให้เกิดการสื่อสารติดต่อและการทำการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันบนเส้นทางหลักและเป็นเส้นทางใหม่ที่เกิดขึ้นในยุคที่พระคริสต์มาบังเกิด

ในยุคสมัยที่ลด-เว้นจากการทำสงครามขนาดใหญ่ ดูเหมือนโลกมี “สันติภาพ” แต่เป็นสันติภาพที่เกิดจากมหาอำนาจที่ครอบงำ กด บังคับ ให้อยู่ภายใต้อำนาจของจักรวรรดิโรมัน เป็นยุคที่จักรพรรดิโรมันปกครองเมืองขึ้นต่างๆ ที่กว้างไกล อิสราเอลก็ไม่สามารถรอดพ้นจากอำนาจการครอบงำและกดบังคับนี้ แต่ผู้นำทางศาสนาของอิสราเอล คนที่อยากมีอำนาจได้ใช้โอกาสนี้ในการเข้าเล่นการเมืองในฐานะผู้นำเมืองขึ้น พ่อค้า คนเก็บภาษี ต่างยอมสวามิภักดิ์ต่อมหาอำนาจเพื่อหวังที่จะมีอำนาจที่เอื้อผลประโยชน์และสร้างฐานะทางสังคม และชื่อเสียงของตนเอง ใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาและกอบโกยผลประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้อง เพื่อตนจะมีอำนาจในบ้านเมืองของตนเอง ปุโรหิต ธรรมมาจารย์ และฟาริสีก็ “กระโดดลงในบ่อโคลน(ขี้หมู)แห่งอำนาจ” นี้ด้วย

ที่กล่าวว่าผู้นำศาสนายิวในสมัยนั้น “กระโดดลงในบ่อโคลน(ขี้หมู)แห่งอำนาจ” นั้นต้องการสื่อความว่า ผู้นำศาสนายิวได้ลดคุณค่าของตนเองกระโดดลงเอาชีวิตคลุกเคล้าในบ่อโคลนตมที่เป็นของสกปรกที่สุดคือ “ขี้” และมิใช่ขี้ธรรมดาเท่านั้นแต่เป็นขี้หมูซึ่งเป็นสัตว์สกปรกต้องห้ามในศาสนายิวอีกด้วย ที่กล่าวเช่นนี้มิได้กล่าวหาเกินเลย เพราะผู้นำศาสนาส่วนใหญ่ได้สมยอมต่ออำนาจของผู้ปกครองเมืองขึ้นโรมันจะด้วยความตั้งใจมากน้อยแค่ไหนก็ตาม

การสมยอมที่กระโดดลงในบ่อโคลนขี้หมูคือการสมยอมในเรื่องความเชื่อศรัทธาของยิว ที่ยอมปรับลดความเข้มของความเชื่อศรัทธาให้สอดคล้องกับหลักการและกรอบอำนาจ และวิธีการของโรมัน ที่มีจักรพรรดิเป็นเทพเป็นพระเจ้าองค์หนึ่ง จึงต้องให้การเคารพจักรพรรดิดั่งเป็นพระเจ้า ทั้งนี้เพื่อสร้างให้มั่นใจว่าโรมันสามารถปกครองครอบงำและแผ่อำนาจได้อย่างกว้างไกลและเข้มแข็งมั่นคง ดังนั้น ประชาชนในจักรวรรดิโรมันทั้งหมดต้องสวามิภักดิ์ต่ออำนาจนี้

ในจุดนี้เองที่ผู้นำศาสนายิวได้ปรับเปลี่ยน “สี” ผิวของตนเองอย่าง “จิ้งจก” เพื่อตนจะอยู่รอด เพื่อตนจะได้รับการไว้วางใจจากอำนาจทางการเมืองการปกครอง เพื่อตนจะใช้เครื่องมือทางอำนาจของภาครัฐและนิตินัยเป็นอำนาจของตนในการปกครองชุมชนคนยิว แล้วก็ได้ตั้งสภาศาสนา “สภาเซนเฮดริน” ทำหน้าที่สร้างอำนาจชอบธรรมของผู้นำศาสนา และเพื่อปกป้องให้กลุ่มของตนมีอำนาจนานเท่านาน แล้วลอกเลียนรูปแบบและวิธีการ “สภาทางการเมืองการปกครอง” ของโรมันในสมัยนั้นมาใช้อีกด้วย

การเปลี่ยนสีของจิ้งจกของผู้นำศาสนายิวในสมัยนั้นได้กระทำในสิ่งที่เราสมัยนี้เรียกว่า “วาระซ่อนเร้น” ที่ว่าซ่อนเร้นคือมีการลดทอนความ “สมบูรณ์ของคำสอนที่เสริมสร้างความเชื่อศรัทธา” ในส่วนรากฐานที่สำคัญลงเพื่อลดแรงเสียดทานและการขัดแย้งกับคำสอนและความเชื่อของอำนาจทางการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งของจักรวรรดิโรมันในเรื่องจักรพรรดิเป็นพระเจ้าองค์หนึ่ง กับความเชื่อศรัทธาของยิว โดยเฉพาะ “พระบัญญัติสิบประการ” ใน 4 ประการแรกที่เป็นรากฐานความเชื่อศรัทธาเกี่ยวกับพระเจ้าของยิว (อพยพ 20:3-8)
1) อย่ามีพระเจ้าอื่นใดนอกเหนือจากเรา
2) อย่าทำรูปเคารพสำหรับตน เป็นรูปสิ่งใดที่มีอยู่ในฟ้าเบื้องบนหรือบนแผ่นดินเบื้องล่างหรือในน้ำใต้แผ่นดินอย่ากราบไหว้หรือปรนนิบัติรูปเหล่านั้น
3) อย่าออกพระนามของพระเจ้าอย่างไม่สมควร
4) จงระลึกถึงวันสะบาโตถือเป็นวันบริสุทธิ์

ความเชื่อศรัทธาศาสนายิวในพระบัญญัติ 4 ประการแรกข้างต้นนี้ขัดแย้งอย่างแรงกับความเชื่อศรัทธาทางการเมืองจักรวรรดิโรมันในเวลานั้น เพราะโรมันเชื่อว่า พระมหาจักรพรรดิเป็นเทพเจ้า เป็นพระเจ้า ดังนั้น ทุกคนจะต้องเคารพบูชาพระจักรพรรดิในฐานะพระเจ้าองค์หนึ่ง โดยเฉพาะใน 2 ข้อแรกนั้นขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น เพื่อจะร่วมอำนาจการปกครองกันได้คือการประนีประนอมด้วยการไม่เน้นย้ำสองข้อแรกนี้ หรือสอนให้น้อยที่สุดถึงความหมายที่แท้จริง ซึ่งเราจะพบว่า พระเยซูคริสต์ได้บริภาษพวกผู้นำศาสนายิวในเวลานั้นว่า “หน้าซื่อใจคด” (หมายความว่า ภายนอกดูเป็นผู้นำศาสนาและในใจคิดคดทรยศต่อพระเจ้าและความเชื่อศรัทธาของตน)

ดังนั้น ผู้นำศาสนาในสมัยนั้น จึงไปเน้นย้ำความสำคัญเคร่งครัดของการประกอบศาสนพิธี ในการสอนความหมายตามตัวอักษร ไปเน้นกฎหยุมหยิมที่ตนตราขึ้น มิได้ลงลึกถึงความหมายที่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้า เช่น การที่พระเยซูคริสต์วิพากษ์การถือวันสะบาโตของพวกผู้นำศาสนายิวที่ยึดถือตามตัวอักษรมากกว่าพระประสงค์ของพระเจ้า ออกพระนามของพระเจ้าก็เพียงเพื่อ “ผลประโยชน์และเสริมสร้างอำนาจแห่งตน” เท่านั้น (ออกพระนามของพระเจ้าอย่างไม่สมควร) อย่างที่กล่าวแล้วว่า ผู้นำศาสนายิวไปเน้นความสำคัญของการประกอบศาสนพิธี (มัทธิว 6:1-6; 16-21) มากกว่าการติดสนิทและสัตย์ซื่ออุทิศชีวิตตนแด่พระเจ้า ตัวอย่างเช่น การถวายทศางค์ แทนที่จะเน้นการถวายทศางค์ชีวิต แต่ไปเน้นการถวายทศางค์เมล็ดผักชี ฯลฯ

นอกจากเน้นเรื่องศาสนพิธีแล้ว ผู้นำศาสนามุ่งสอนเรื่องจริยธรรมที่จะให้เป็น “คนดี” ซึ่งเป็น 6 ข้อหลังในพระบัญญัติ 10 ประการ ประเด็นสำคัญในที่นี้ของความเชื่อศรัทธาในศาสนายิวและคริสต์ศาสนาคือ หกประการหลังจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มี 4 ข้อแรกที่เป็นรากฐานความเชื่อศรัทธาที่มั่นคง หรือกล่าวแบบฟันธงคือการปฏิบัติตามพระบัญญัติ 10 ประการ หกประการหลังนั้นจะเป็นไปไม่ได้ถ้าไม่เริ่มต้นและวางรากฐานของ 4 ข้อแรกก่อน และนี่คือจุดสำคัญที่บ่งชี้ชัดเจนว่า คำสอนในแต่ละศาสนาไม่เหมือนกัน คริสต์ศาสนามิได้มีเป้าหมายสอนคนให้เป็นคนดี แต่ต้องการสอนและบ่มเพาะให้ทุกคนรู้จักกับพระเจ้า ติดสนิทกับพระองค์ มอบกายถวายชีวิตทั้งสิ้นแด่พระองค์ เพื่อพระเจ้าจะทรงเสริมสร้าง เปลี่ยนแปลงชีวิตแต่ละคนตามพระประสงค์ของพระองค์ และนี่คือรากฐานหรือจุดเริ่มต้นของการเป็น “คนดี” การเป็น “คนดี” จึงเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น พระเยซูคริสต์มิได้สอนให้ประชาชนเป็นคนดี แต่ทรงสอนให้เป็น “ผู้ดีรอบคอบ” อย่างพระบิดา (มัทธิว 5:45-48)

ในสภาพสังคมและความเชื่อศรัทธาเช่นนี้เองที่พระคริสต์ได้มาบังเกิด พระองค์ทรงบังเกิดในรางหญ้า รางหญ้าที่เป็นที่ตกต่ำสุดในชีวิต พระองค์ทรงบังเกิดในจุดต่ำสุดของชีวิตมนุษย์

รางหญ้าจุดต่ำสุดของชีวิตเพราะการครอบงำ กดขี่ การหลงผิดของอำนาจทางศาสนาและการเมืองในเวลานั้น พระคริสต์ทรงบังเกิดในจุดต่ำสุดของชีวิตมนุษย์และชีวิตของสังคมเพื่อจะทรงเปลี่ยนแปลงที่รากฐานของชีวิตเพื่อนำไปสู่ชีวิตใหม่

รางหญ้าจุดต่ำสุดของชีวิตที่เมื่อชีวิตไม่มีคำตอบ ไร้แสงสว่าง มืดบอด ไม่รู้ว่าชีวิตจะไปทางไหนดี พระคริสต์ทรงเป็นแสงสว่างนำทางสู่ชีวิตใหม่

รางหญ้าจุดต่ำสุดของชีวิตมีทั้งในผู้คนเล็กน้อยต่ำต้อยและในผู้มีฐานะมั่งมีอย่างคนเก็บภาษีในเวลานั้น หรือผู้นำศาสนาอย่างนิโกเดมัส หรือ พวกนักการเมืองฝ่ายซ้ายสังกัดพรรคชาตินิยม เมื่อพระคริสต์ทรงบังเกิดใน “รางหญ้า” จุดต่ำสุดในชีวิตของคนเหล่านี้ เขาได้พบกับความสว่าง เขาได้ชีวิตที่ครบบริบูรณ์

พระคริสต์มิได้บังเกิดใน “รางหญ้า” ในคอกสัตว์วันคริสต์มาสเท่านั้น แต่พระองค์ประสงค์ที่จะบังเกิดใน “รางหญ้า” จุดต่ำสุดในชีวิตของเราแต่ละคน เพื่อนำแสงสว่างแห่งชีวิตเข้ามาในชีวิตของเราแต่ละคน เพื่อเปลี่ยนแปลง และ บ่มเพาะชีวิตของเราใหม่ ให้เป็นชีวิตตามพระประสงค์ของพระเจ้า เฉกเช่น ศักเคียส มัทธิว หญิงโลหิตตก คนตาบอด และคนโรคเรื้อน และคนอื่นๆ อีกมากมายที่ได้พบชีวิตใหม่ในพระองค์