28 กุมภาพันธ์ 2563

ลด + ขจัดความขัดแย้ง...เริ่มต้นที่ตัวฉัน!


มีคนถามว่า ลดหรือขจัดความขัดแย้งโดยเริ่มต้นที่ตัวเรานั้นเป็นอย่างไร?

ท่านจะได้รับความสำเร็จจากการทำงานและพันธกิจเพราะมีคนมากมายที่มีส่วนร่วมช่วยในการทำพันธกิจนั้น   พระเจ้าไม่เคยมีพระประสงค์ให้ท่านรับผิดชอบพันธกิจทั้งหมดด้วยตัวของท่านเองคนเดียว

แต่นั่นหมายความว่าเราจะต้องทำงานพันธกิจร่วมกับคนอื่นในคริสตจักร ในองค์กรของเราโดยปลอดความขัดแย้งให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้   ต่อไปนี้เป็น 5 แนวทางในการเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง   ที่เปาโลได้เสนอใน ฟีลิปปีบทที่ 2

1.   ขจัดการแข่งขันแย่งชิงความเหนือกว่า “อย่าทำสิ่งใดด้วยความมักใหญ่ใฝ่สูงอย่างเห็นแก่ตัว...” (ฟิลิปปี 2:3ก. อมธ.)  เมื่อความจำเป็นต้องการของฉันต้องขัดแย้งกับความจำเป็นต้องการของเธอ   เราเริ่มมีปัญหาต่อกัน  เรามีชีวิตในสังคมโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขันเอาชนะคะคานกัน   บ่อยครั้งใช่ไหมที่เราแข่งกับคนที่ทำพันธกิจด้วยกัน   เราแข่งขันเอาแพ้เอาชนะกันกับคนที่เสนอตัวต้องการรับใช้พระเจ้า(ในตำแหน่ง) ที่เหมือนกับเรา   แทนที่เราจะหนุนเสริมกันและกันเพื่อให้ทำพันธกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด   หลายคนคงเคยมีประสบการณ์ที่แข่งขันเพื่อแย่งชิงความเหนือกว่าในหมู่วงญาติพี่น้องของตนในครอบครัว   และเราก็ทำในทำนองเดียวกันนี้เมื่อเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่หรือเปล่า?  

เราต้องตระหนักชัดว่า  คนที่เรารับใช้ในคริสตจักร  ในองค์กรของเรา   ในชุมชนของเรามิใช่คู่แข่งของเรา  พวกเขาเป็นสมาชิกในครอบครัวใหญ่ของเรา   ไม่ว่าเขาจะเป็นสมาชิกคริสตจักร   ทีมงานพันธกิจ   หรือ แม้แต่ผู้อภิบาลในคริสตจักร หรือ คนข้างถนน หรือ คนในชุมชนที่เรารับใช้

2.   กำจัดการหยิ่งถือดี “อย่าทำสิ่งใดด้วย...ด้วยความถือดี” (ฟิลิปปี 2:3ข. อมธ.)  การที่จะลดความขัดแย้งในงาน ในพันธกิจ และในชีวิตของเรา   ให้เรากำจัดความหยิ่งยโส การถือดีของตนเอง   อย่ากระทำสิ่งใดๆเพื่อจะโอ้อวดตนเอง  ทำตนเองให้สำคัญขึ้น หรือ เพื่อรับคำยกยอสรรเสริญจากคนอื่น   คนที่หยิ่งยโสจะเป็นผู้ที่มีความชำนาญในการเน้นที่ “ตัวฉัน”  สิ่งที่เขามุ่งมอง และ มองเห็นคือ ตัวเขาเอง   พระคัมภีร์กล่าวไว้ว่า “ความหยิ่งยโสนำหน้าความฉิบหาย การทำลาย” และนั่นเป็นเหมือนคนตัวใหญ่ที่พยายามใส่กางเกงขนาดเล็ก   กางเกงย่อมฉีกขาดในที่สุด

3.   หยุดการวิพากษ์วิจารณ์ “ยกตนข่มท่าน” “แต่จงทำด้วยความถ่อมใจ ถือว่าคนอื่นดีกว่าตน” (ฟิลิปปี 2:3ค. อมธ.)   เปาโลหมายความว่า  เราควรกระทำต่อผู้อื่นแบบ “ให้คุณค่าในตัวของคนๆนั้นและกระทำต่อเขาด้วยความเคารพ”   อย่าเหยียดคุณค่าในตัวคนอื่น   ให้กระทำต่อคนอื่นดีกว่าที่เรากระทำต่อตนเอง   เมื่อเราวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นด้วยทัศนคติแบบพิพากษาตัดสิน   ทำให้เรารู้สึก “อยู่เหนือ” คนๆนั้น   นั่นเป็นการที่เรากำลังยกตนเองให้สูงขึ้นเพื่อข่มให้คนอื่นให้ต่ำลง   แต่พระคัมภีร์สอนไปทางตรงกันข้าม   ถ้าเราต้องการกำจัดความขัดแย้งในชีวิตในความสัมพันธ์ของเรา   ให้เราลดการวิพากษ์วิจารณ์ตัดสินพิพากษาคนอื่น

4.   เลิกการมุ่งมองหาผลประโยชน์แก่ตนเอง “แต่ละคนไม่ควรมุ่งหาประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว แต่ควรคิดถึงประโยชน์ของคนอื่นด้วย” (ฟิลิปปี 2:4 อมธ.)  การมุ่งหาประโยชน์ควรเป็นประโยชน์สำหรับคนอื่น   ใส่ใจคนอื่น  ถ้าเราไม่ทำเช่นนั้น   แน่นอนว่าการบริหาร การทำพันธกิจของเราในคริสตจักรก็จะต้องพบกับความขัดแย้ง   ถ้าเป็นในครอบครัวเราก็คงต้องขัดแย้งกับคู่ชีวิตของเรา  ลูกของเรา  หรือไม่ก็ขัดแย้งกับเพื่อนบ้านข้างเรือนเคียงของเรา

5.  มีชีวิตที่เป็นเหมือนพระคริสต์ “ท่านควรมีท่าทีแบบเดียวกับพระเยซูคริสต์” (ฟีลิปปี 2:5 อมธ.)   พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแม่แบบในความสัมพันธ์แก่เรา  การที่เราเข้าไปติดต่อเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คน   ถ้าเราต้องการรู้วิธีที่จะพบปะสัมพันธ์กับผู้คน   แม้แต่คนที่คบยากสัมพันธ์ลำบาก   ให้เรามุ่งมองไปที่แบบอย่างชีวิตของพระเยซูคริสต์   นำเอาทัศนคติ ท่าทีการดำเนินชีวิตของพระคริสต์เป็นทัศนคติและท่าทีชีวิตของเราแต่ละคน  แม่แบบที่ว่านี้คือ...

  • ข้อที่ 6:  พระองค์มิได้ยึดถือเอาสิทธิของพระองค์เป็นตัวตั้ง   แต่กลับยอมเสียสละสิทธิแห่งตนที่มีอยู่
  • ข้อที่ 7:   พระองค์มีเจตคติหรือท่าทีแห่งการรับใช้ผู้อื่น (มารับสภาพทาส)
  • ข้อที่ 8:   พระองค์ยอมเสียสละตนเองเพื่อเห็นแก่ผลประโยชน์ของผู้อื่น


ให้เรามีชีวิตที่มีพระคริสต์ในชีวิตของเรา   และให้พระคริสต์สำแดงพระองค์ผ่านชีวิตประจำวันของเรา   เมื่อพระคริสต์มีชีวิตในชีวิตของผม และ ชีวิตของท่าน  ความสัมพันธ์ของเราก็จะเคลื่อนไปเหนือความขัดแย้ง   เมื่อใดก็ตามที่เกิดความขัดแย้งความแตกแยก อำนาจของความบาปก็สำแดงตนที่นั่น  นี่แสดงว่ามีคนบางคนที่มิได้มีชีวิตอย่างพระเยซูคริสต์!

ที่กล่าวมานี้เพื่อชี้แจงว่า  การลด การป้องกัน หรือ ขจัดความขัดแย้ง “เริ่มต้นที่ตัวเราก่อน”  การเริ่มต้นที่ชีวิตของเราต้องเลียนตามแบบอย่างของพระคริสต์ในชีวิตประจำวัน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499




27 กุมภาพันธ์ 2563

รู้เท่าทันความขัดแย้ง...เป็นสงครามระหว่างพระเจ้ากับมารร้าย (ต่อ)


ในข้อเขียนที่ผ่านมา ได้กล่าวถึง “การรู้เท่าทันความขัดแย้ง” ซึ่งคู่ต่อสู้ตัวจริงคือ การต่อสู้ระหว่างวิญญาณชั่วกับพระเจ้า มิใช่เราต่อสู้กับอำนาจชั่ว และสังเวียนของการต่อสู้คือในพื้นที่ชีวิตประจำวันของเรา ดังนั้น เราต้องมีพระเยซูคริสต์เป็นพระกำลังในชีวิตของเรา ทรงทำพระราชกิจในชีวิต และ ผ่านชีวิตของเรา ซึ่งได้เสนอการรู้เท่าทัน 4 ประเด็นสำคัญ ส่วนข้อเขียนตอนนี้รู้เท่าทันความขัดแย้ง ซึ่งเป็นสางครามทางจิตวิญญาณมิใช่สงครามทางเนื้อหนัง   มีประเด็นสำคัญ 3 ประการด้วยกันคือ...

5. ในความขัดแย้ง ท่านไม่ได้ต่อสู้กับเลือดและเนื้อ

มารต้องการให้ท่านคิดว่ามัคนายกคนนั้นที่ต่อต้านวิสัยทัศน์ของท่านคือศัตรูของท่าน – คนหนึ่งในทีมงานอภิบาลคือคนที่ทำลายความฝันของท่านเป็นศัตรูของท่าน – คู่ชีวิตที่ค่อนแคะจู้จี้ท่านเป็นศัตรูของท่าน – อนุชนที่ถกเถียงกับท่านไม่ตกฟากเป็นศัตรูของท่าน แต่พระวจนะของพระเจ้าสอนเราอย่างชัดเจนว่า คนเหล่านี้มิใช่ศัตรูตัวจริงของเรา ตราบใดที่มารทำให้เราหลงผิดให้มองศัตรูฝ่ายเนื้อหนังและเลือด ก็จะทำให้เราต่อสู้กับมารด้วย “อาวุธฝ่ายเนื้อหนังและเลือด”

แต่พระวจนะของพระเจ้าบอกถึงการต่อสู้ของเราว่า “เพราะเราไม่ได้ต่อสู้กับเนื้อหนังและเลือด แต่ต่อสู้กับเหล่าเทพผู้ครอง เทพผู้ทรงอำนาจ เทพผู้ทรงเดชานุภาพของโลกอันมืดมนนี้ และต่อสู้กับเหล่าวิญญาณชั่วในย่านฟ้าอากาศ” (เอเฟซัส 6:12 อมธ.) ดังนั้น อาวุธฝ่ายเนื้อและเลือด เช่น การจัดการ การโต้เถียง การนินทา การใส่ร้าย การเอากฎหมายเข้าบังคับ มันไม่เป็นประโยชน์อะไรเลยในการต่อสู้นี้ แท้จริงแล้วมันกลับทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างแย่ลงไปกว่าเดิม จนกว่าเราเชื่ออย่างจริงจังว่า เรากำลังปล้ำสู้กับอำนาจแห่งวิญญาณชั่วที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เราจะไม่สามารถเห็นถึงรากเหง้าที่แท้จริงของปัญหา และนี่เองที่คริสตจักรมักติดในกับดักในวงจรอุบาทว์แห่งความขัดแย้ง  ครั้งแล้วครั้งเล่า

6. เลิกสู้อย่างคนไร้ความเชื่อในภาวะขัดแย้ง

เปาโลบอกเราแล้วว่า เราต้องหยุดที่จะใช้ “อาวุธ” ฝ่ายเลือดเนื้อในการต่อสู้กับวิญญาณชั่วแห่งความขัดแย้ง แต่เรากลับพบคริสตจักรใช้ “อาวุธฝ่ายเลือดเนื้อ” นี้อยู่บ่อยครั้ง ได้แก่ การข่มขู่ เยาะเย้ย คุกคาม และเป็นพันธมิตรที่ไม่บริสุทธิ์กับบุคคลหรือกลุ่มที่มีอำนาจ พลังของการต่อสู้กับอำนาจชั่วแห่งความขัดแย้งในคริสตจักรมักใช้ การตำหนิ การนินทา การจัดการกับคนที่ขัดแย้ง และการระงับการช่วยเหลือ หรือแสดงถึงการไม่ยอมรับคน ๆ นั้น

แต่เปาโลบอกเราว่า  “4อาวุธที่เราใช้ต่อสู้ไม่ใช่อาวุธของโลก แต่เป็นอาวุธที่เปี่ยมด้วยฤทธิ์อำนาจของพระเจ้าสามารถทำลายล้างที่มั่นต่าง ๆ ได้ 5เราทำลายล้างประเด็นโต้แย้งและคำแอบอ้างทั้งปวงที่ตั้งตัวขัดขวางความรู้ของพระเจ้า และเราสยบทุกความคิดให้ยอมจำนนเชื่อฟังพระคริสต์”  (2โครินธ์ 10:4-5 อมธ.)  คิดถึง “ข่าวปลอมข่าวเท็จ” ที่แพร่ระบาดในขณะนี้

อาวุธของโลกจะเป็นการ “ทำชั่วตอบแทนชั่ว” ซึ่งในที่สุดจะได้รับแต่การสูญเสีย พระเจ้าทรงเรียกให้คริสตชนใช้แบบพระคริสต์ ที่พระองค์ให้ชีวิตของพระองค์เอง เพื่อหยุดยั้งความชั่วที่คนอื่นกระทำต่อพระองค์ พระองค์ทรงใช้ความรักเมตตาที่เสียสละ เพื่อกอบกู้เราออกจากวงจรอุบาทว์แห่งความขัดแย้ง

แต่คริสตชนส่วนใหญ่กลับไป “เสี่ยง” ใช้อาวุธแห่งโลกนี้ ที่เราใช้อาวุธนี้ เพราะเราคิดว่ามันเกิดผล แต่มักเกิดผลเพียงระยะสั้นเท่านั้น และมีข้อจำกัดมากมาย เราอาจจะเอาชนะศัตรูได้แต่เพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่ในระยะยาวเราสูญเสียมากมาย

7. จงวางใจในอาวุธที่พระเจ้าประทานแก่ท่าน เมื่อจัดการความขัดแย้ง

การอธิษฐานเป็นอาวุธทางจิตวิญญาณที่คริสตชนส่วนใหญ่มองข้ามในภาวะความขัดแย้ง และนี่คือสิ่งที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่งในชีวิตคริสตชนไทยของเรา ทำไมถึงบอกว่า การอธิษฐานคืออาวุธอันทรงพลังในการรับมือจัดการกับภาวะความขัดแย้ง?
  • การอธิษฐานเป็นการนำเรากลับมายังแก่นกลางชีวิตคริสตชนของเรา การอธิษฐานช่วยเรากลับมาตระหนักใหม่ว่าพระเจ้าเป็นใคร และเราเป็นใครในฐานะบุตรของพระองค์
  • การอธิษฐานดึงเราเข้าสู่มุมมองนิรันดร์ ดังนั้นเราจึงไม่ได้ติดแหงกอยู่กับมุมมองแบบกระแสสังคมโลกปัจจุบันที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา
  • การอธิษฐานจะช่วยเปิดเผย/สำแดงมุมมองนิรันดร์ของพระเจ้าต่อภาวะความขัดแย้งที่เรากำลังประสบอยู่ และทรงช่วยให้เราเข้าใจรากเหง้าความขัดแย้งดังกล่าวอย่างถูกต้องและชัดเจนมากยิ่งขึ้น


ขอเสนอในที่นี้ว่า การอธิษฐานเพื่อการปล้ำสู้ของทุกคนที่ตกอยู่ในภาวะแห่งความขัดแย้ง ให้ทุกคนที่อธิษฐานในภาวะนี้ด้วยการยอมจำนนที่จะให้ความนึกคิดและความคิดเห็นของตนอยู่ใต้การครอบคลุมควบคุมจากความคิดเห็นของพระเจ้า ยอมจำนนความสนใจของตนให้อยู่ภายใต้การครอบคลุมและควบคุมจากน้ำพระทัย (หรือความสนใจ) ของพระเจ้า และยอมจำนนให้ความเข้าใจต่อสถานการณ์ความขัดแย้งที่กำลังประสบให้เป็นไปตามความเข้าใจตามน้ำพระทัยพระเจ้า

การยกโทษ

เป็นอีกอาวุธหนึ่งอันทรงพลังทางจิตวิญญาณที่จะปลดปล่อยทุกคนที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งนั้น อย่าลืมการมีชีวิตที่ยกโทษของท่าน ซึ่งอาจจะเป็นการทรงเรียกของพระเจ้าให้ท่านเป็นผู้เริ่มต้นก้าวแรกของการยกโทษที่เป็นการรักษาเยียวยาชีวิตความขัดแย้งอย่างแท้จริง พระเจ้าอาจจะทรงเรียกให้ท่านยอมละทิ้ง “สิทธิ” หรือ “อภิสิทธิ์” ส่วนตนของท่าน พระองค์อาจจะทรงเรียกให้ท่านพูดถึงสัจจะความจริงด้วยความรักเมตตาในภาวะของความขัดแย้ง ท่านไม่ควรที่จะสู้ให้ได้ชัยชนะเหนืออำนาจชั่วทั้งหลาย จนกว่าตัวท่านเองสามารถเอาชนะอำนาจแห่งความชั่วร้ายในตัวท่านเองโดยพระคุณของพระเจ้าก่อน ขอให้เราใคร่ครวญจากพระธรรมเอเฟซัส 4:25-32  และ โรม 12:10-21  

การแก้ไขความขัดแย้ง เริ่มต้นที่ตัวเราก่อนครับ!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



25 กุมภาพันธ์ 2563

รู้เท่าทันความขัดแย้ง...เป็นสงครามระหว่างพระเจ้ากับมารร้าย


ทำไมสงครามความขัดแย้งในหลาย ๆ คริสตจักรจึงต้องสู้กันอย่างดุเดือดยืดเยื้อยาวนาน จนคริสตจักรอ่อนแรงหมดกำลัง หรือไม่ก็แตกเป็นเสี่ยง ๆ ทั้งนี้เพราะคริสตจักรมิได้ตระหนักชัดเลยว่า ความขัดแย้งในคริสตจักร เป็นสงครามระหว่างซาตานกับพระเจ้า (ไม่ใช่สงครามระหว่างคนกับคน) 

ถ้าคริสตจักรต้องการหลุดรอดและมีชัยในความขัดแย้ง คริสตจักรต้องใช้ “แผนยุทธศาสตร์ของพระเจ้า” มิใช่ ใช้แผนยุทธศาสตร์ของตนเอง หรือ โลกนี้ แต่ปัญหาที่เราพบคือ คริสตจักรส่วนมากเลือกที่จะสู้กับความขัดแย้งด้วยแผนยุทธศาสตร์ของตนเอง แล้วละเลยที่จะสู้ตามแผนยุทธศาสตร์ของพระเจ้า อาการเช่นนี้ปรากฏชัดใน “คริสตจักรระดับชาติ” ในประเทศไทย

1. เลิกแนวคิดเรื่องความยุติธรรมในความขัดแย้ง

วิถีทางของพระเจ้าในการรับมือกับความขัดแย้งไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับความถูกต้อง ยุติธรรม(สำหรับฉัน) โปรดพิจารณาดูว่า “การที่พระคริสต์ถูกตรึงบนกางเขนถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่?” ตัวท่านเองต้องการให้พระเจ้าทำกับท่านอย่างถูกต้องยุติธรรมไหม? กล่าวอีกนัยหนึ่ง ท่านเองสมควรจะได้รับการปฏิบัติแบบไหน? ง่ายที่เราจะกล่าวตำหนิเมื่อมีใครทำกับเราอย่างไม่สมควร ไม่เหมาะสม ไม่ยุติธรรม หรือ ใครบางคนที่ไม่รับผิดชอบในส่วนที่เขาต้องรับผิดชอบ แต่พระเจ้าทรงเรียกเราทุกคนให้กระทำต่อคนรอบข้างด้วยความรักเมตตา-เสียสละ

พระคัมภีร์กล่าวไว้ว่า “อย่าให้ความรักและความซื่อสัตย์ละจากเจ้าไป จงผูกมันไว้รอบคอ จงจารึกไว้บนแผ่นดวงใจของเจ้า แล้วเจ้าจะได้รับความโปรดปรานและมีชื่อเสียงดี ทั้งในสายพระเนตรพระเจ้าและในสายตามนุษย์ จงวางใจในองค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างหมดใจ อย่าพึ่งความเข้าใจ(การรอบรู้)ของตนเอง จงยอมรับพระองค์ในทุกวิถีทางของเจ้า  แล้วพระองค์จะทรงทำทางของเจ้าให้ราบเรียบ” (สุภาษิต 3:3-6 อมธ.)

2. สัจจะคือตัวนำวิถีทางของท่านในภาวะขัดแย้ง

สัจจะมีความหมายเข้าใจง่าย ๆ ดังนี้: “สัจจะคือสิ่งที่พระเจ้าได้ตรัสไว้” ความรู้สึกของท่านไม่สามารถให้ความจริงขั้นสุดท้าย ความคิดของท่านเท่านั้นไม่สามารถเป็นสัจจะความจริงสูงสุด ความคิดเห็นของคนอื่น หรือแม้แต่เสียงข้างมากก็ไม่สามารถให้สัจจะความจริงแท้สุด พระเจ้าแต่พระองค์เดียวที่ทรงมีสิทธิอำนาจในการอธิบายถึงแต่ละสถานการณ์ตามมุมมองของพระองค์ที่เป็นสัจจะความจริงแท้ ดังนั้น จงให้สัจจะวาทะของพระเจ้านำวิถีการดำเนินชีวิตประจำวันของท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่ขัดแย้ง

3. จงเชื่อว่าพระเจ้าต่อสู้เพื่อท่านท่ามกลางความขัดแย้ง

ศัตรูต้องการที่จะให้เราท่านคิดว่า ในการต่อสู้ในความขัดแย้งนั้น “ท่านกำลังต่อสู้กับมาร" เป็นการง่ายที่ท่านจะเชื่อเช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อท่านกำลังเหนื่อยล้าหมดแรง คนที่คิดและเชื่อแบบแยกตนเองจากพระเจ้ามีแนวโน้มที่จะเป็นคนสิ้นหวัง และคนพวกนี้จะยอมจำนนต่อมาตรการที่สิ้นหวัง เปโตรเป็นตัวอย่างอย่างที่ยอดเยี่ยมในเรื่องนี้   เขาใช้คำพูดที่โอ้อวดวางโต ใช้ดาบ คำสาปแช่ง และโกหก เขาต้องพบกับความสิ้นหวังเมื่อเขาแยกตัวเองออกจากพระเจ้า

ให้เราไว้วางใจในพระเจ้าที่พระองค์จะเป็นผู้ต่อสู้กับมารเพื่อเรา

4. ใช้ตรรกะของพระคริสต์ (ไม่ใช่ตรรกะของเราเอง) ในภาวะขัดแย้ง

โดยธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ที่ทำให้ความเข้าใจของตนเป็นความเข้าใจและความคิดที่เป็นมาตรฐาน และใช้ความคิดเข้าใจของเราในการตัดสินคนอื่น และในที่สุดเรื่องราวของเราจะกลายเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลสำหรับเราเอง แต่พระเจ้าตรัสว่า “มีทางหนึ่งซึ่งคนเราคิดว่าถูกต้อง แต่จุดจบของทางเหล่านี้คือความตาย” (สุภาษิต 14:12 อมธ.) หากสติปัญญาหรือตรรกะของเรา และพลังในการปกป้องตนเอง เป็นสิ่งที่ดีเยี่ยมสำหรับเรา ถ้าเช่นนั้นเราก็ไม่จำเป็นต้องมีพระปัญญาของพระเจ้า เปาโลกล่าวว่า ให้เรามีความนึกคิดของพระคริสต์ และตรรกะอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์บอกเราว่า เราควรฝักใฝ่ใส่ใจคนอื่นมากกว่าตนเอง แนวคิดของพระองค์จะช่วยให้เราสามารถมองเห็นอย่างที่พระองค์มองเห็นในสถานการณ์ความขัดแย้งของเรา

*การรู้เท่าทันความขัดแย้งอีก 3 ประการสำคัญจะนำเสนอในข้อเขียนครั้งถัดไป*

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



23 กุมภาพันธ์ 2563

เผชิญหน้ากับความขัดแย้ง...หันหาพระเจ้าก่อน


เมื่อเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง สิ่งแรกประการหลักคือ เราควรหันหน้าหาพระเจ้า บ่อยครั้งเราจะหันหน้าหาพระเจ้าเป็นรายการสุดท้ายเมื่อเราไม่สามารถที่จะทำอะไรด้วยตนเองแล้ว?

1. ข้าแต่พระเจ้า...ข้าพระองค์เป็นเหตุแห่งความขัดแย้งอย่างไรบ้าง?

ให้เราทูลถามพระเจ้าถึงสาเหตุที่แท้จริงที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง และเราอาจจะหาข้อยุติและหยุดความขัดแย้งได้  “ท่านทั้งหลายอยากได้แต่ไม่ได้ ท่านก็ฆ่ากัน พวกท่านโลภแต่ไม่ได้ ท่านก็ทะเลาะและทำสงครามกัน ท่านไม่มีเพราะไม่ได้ขอ” (ยากอบ 4:2 มตฐ.) บางครั้ง ความขัดแย้งอาจจะเกิดขึ้นเพราะท่านต้องการควบคุมสถานการณ์ในการทำพันธกิจ แต่พระเจ้าบอกกับท่านว่า “ให้เราเป็นผู้ควบคุมเถิด” หรือ อาจจะเป็นเพราะว่าท่านต้องการการยืนยันและท่านคาดหวังการยืนยันนั้นจากใครบางคน แต่ไม่ใช่การยืนยันจากจากพระเจ้า

ตำแหน่ง ในการทำพันธกิจของท่านไม่เคยเป็นคำตอบสำหรับท่านได้ แต่พระเจ้าต่างหากมิใช่หรือที่จะเป็นคำตอบที่แท้จริงสำหรับท่าน ไม่สำคัญว่าท่านได้ให้ความช่วยเหลือคนอื่นอย่างไรมากน้อยแค่ไหน ไม่สำคัญว่ามีผู้คนได้ยินได้ฟังท่านเทศน์มากน้อยแค่ไหน หรือท่านได้รับการปลอบใจ ให้กำลังใจมากน้อยแค่ไหน สิ่งเหล่านั้นไม่เคยทำให้ท่านอิ่มอกพอใจ นอกจากที่ท่านจะได้รับจากพระเจ้าเท่านั้น มิใช่คำเทศนาของท่าน แต่การดำเนินชีวิตตามคำเทศนาของท่านที่สำแดงน้ำพระทัยของพระเจ้าในชีวิตประจำวันของท่านต่างหาก

เมื่อท่านอธิษฐานทูลขอต่อพระเจ้าในเรื่องความขัดแย้ง ขอพระองค์ช่วยเปิดเผยให้ท่านเห็นว่า ท่านเองเป็นต้นเหตุ และ มีส่วนในความขัดแย้งนั้นอย่างไรบ้าง ก่อนที่ท่านเริ่มจะวิพากษ์วิจารณ์ หรือ กล่าวหาคนอื่นรอบข้าง จัดการกับ “เรื่องในรั้วบ้านชีวิต” ของท่านก่อน ตรวจสอบตนเองอย่างละเอียด ตัวเราเองมีจุดด่าง จุดบอดอะไรบ้าง หรืออาจจะเป็นคนนำไปสู่ความขัดแย้งหรือไม่? อย่างไร? เหตุใดท่านมองดูผงขี้เลื่อยในตาของพี่น้อง แต่ไม่ใส่ใจกับไม้ทั้งท่อนในตาของท่านเอง?” (มัทธิว 7:3 มตฐ.)

2. “ความขัดแย้ง” เป็นการกระทำร่วมกัน

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ทั้งในพันธกิจ หรือ การบริหารจัดการองค์กร หรือ คริสตจักรท้องถิ่น ปัญหามิได้เกิดขึ้นเพียงคน ๆ เดียว แต่เกิดขึ้นร่วมกับคนอื่น ๆ รอบข้างที่เกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าทีมงานพันธกิจของศิษยาภิบาล หรือ ลิ่วล้อคนของผู้บริหาร หรือแม้แต่บางคนที่คิดที่จะทำดีที่สุดเพื่อไม่ขัดแย้งกับผู้บริหาร เราต้องตระหนักชัดว่า ความขัดแย้งเป็น “ปัญหาของเรา” ไม่ใช่ “ปัญหาของ(พวก)เขา” พระคัมภีร์บอกแก่เราว่า  “ถ้าเรากล่าวว่าเราไม่มีบาป เราก็หลอกตัวเอง และสัจจะไม่ได้อยู่ในตัวเราเลย” (1ยอห์น 1:8 มตฐ.) ศาสนาจารย์  ศิษยาภิบาล ผู้นำคริสตจักรทุกระดับต้องสัตย์ซื่อในเรื่องนี้ ไม่มีใครที่ถูกต้องสมบูรณ์ เราต่างได้กระทำผิดและทำในสิ่งที่โง่เขลา จงยอมรับเถิดว่า ตนเองก็มีส่วนของสาเหตุในความขัดแย้งนั้นด้วย จงทูลขอการทรงยกโทษจากพระเจ้า และขอโทษคนรอบข้าง  และจับมือกันก้าวไปข้างหน้า

3. พระเยซูคริสต์เสียสละชีวิตบนกางเขนเพื่อความขัดแย้งของท่าน

อย่าลืมนะครับว่า พระเยซูคริสต์ตายเพื่อต่อสู้กับความขัดแย้งในงานพันธกิจ และ งานบริหารของเรา ความมุ่งมั่นที่ท่านเข้าร่วมและสานต่อพระราชกิจของพระคริสต์ร่วมกับผู้ร่วมงานคนอื่น ๆ จะเป็นพลังที่หยุดความขัดแย้งดังกล่าว   “...เพื่อสร้างให้เป็นคนใหม่คนเดียวกันในพระองค์จากคนสองฝ่ายนั้น ... และทำให้ทั้งสองฝ่ายคืนดีกับพระเจ้าเป็นกายเดียวโดยทางกางเขน” (เอเฟซัส 2:15-16 มตฐ.) การมีความมุ่งมั่นในพระคริสต์ร่วมกันจะทำให้ท่านมีความปรารถนาและพลังโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์อย่างแรงกล้า  เพื่อจัดการกับความขัดแย้งนั้น

นี่คือย่างก้าวของการรับมือจัดการกับความขัดแย้งของคริสตชน

ให้เราหันหน้ากลับมาหาพระเจ้าขอการทรงชี้นำจากพระองค์ สารภาพความผิดบาป

ให้เราหันหน้ากลับมาหากันและกัน เลิกการเอาแพ้เอาชนะ หรือ การพิสูจน์ว่าตัวเองถูกต้อง ฝ่ายตรงกันข้ามผิดพลาดมหันต์  

ให้เรามุ่งมั่นตั้งใจที่จะเข้าร่วมและสานต่อพระราชกิจของพระคริสต์ร่วมกับผู้ร่วมงานคนอื่น ๆ รวมทั้งคู่กัดคู่ขัดแย้งของเรา และนี่จะเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ในการหยุดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างชะงัก!

เมื่ออธิษฐานแล้ว... การแก้ไขขจัดความขัดแย้งเริ่มต้นการจัดการชีวิตความคิดของตนเองก่อน!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499





21 กุมภาพันธ์ 2563

ความขัดแย้งในคริสตจักรที่รังแต่จะบานปลาย


คนทั้งหลายในสังคมโลกจะรู้ว่าเราเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์ เมื่อคริสตจักรซึ่งเป็นพระกายของพระองค์รักซึ่งกันและกัน และ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และนี่คือบัญญัติที่พระเยซูคริสต์ให้แก่เรา (ยอห์น 13:34-35)

แต่เราเคยแปลกใจหรือไม่ว่า ทำไมความขัดแย้งในคริสตจักรยังเกิดขึ้นและใหญ่โตขึ้นเรื่อย ๆ? ต่อไปนี้เป็นเหตุผลบางประการที่ไฟแห่งความขัดแย้งในคริสตจักรกำลังลุกลามและบางแห่งยังควบคุมไฟไม่อยู่ และกำลังลุกลามไปอย่างรวดเร็ว ขยายวงกว้างออกไป

1. สมาชิกคริสตจักรห่วง/กังวลในบางเรื่อง ความขัดแย้งในคริสตจักรบางเรื่องสุมไฟจากความห่วงใยบางประเด็นที่มีในคริสตจักร เพราะความรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของจึงลุกขึ้นมาปกป้องให้ทุกเรื่องเป็นไปอย่างเดิม กลัวว่าคนอื่นจะทำให้คริสตจักรไปผิดทิศผิดทาง เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องลุกขึ้นสู้เพื่อปกป้องสิ่งที่ตน “หวง” และ “ห่วงกังวล”  

2. แสวงหาอำนาจมากกว่าแสวงหาความรักเมตตาแบบพระคริสต์ คริสตจักรกลายเป็นเวที “การเมือง” เพื่อแสวงหาอำนาจที่จะได้มาซึ่งผลประโยชน์ เกียรติยศ ชื่อเสียง ด้วยการเอาชนะคะคานกัน ซึ่งขัดกับบัญญัติใหม่ที่พระคริสต์ให้แก่เรา

3. ผู้นำคริสตจักรมักไม่ได้ผ่านการฝีกฝนในการแก้ไขปัญหา เราส่วนใหญ่มักเรียนรู้การแก้ปัญหาท่ามกลางความขัดแย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง (เราบางคน)เรียนรู้ผ่านความล้มเหลวที่ประสบ (แต่อีกหลายคนก็ไม่ได้เรียนรู้)  คริสตจักรไม่ได้มีการเตรียมตัว สร้างความเข้าใจ และเรียนรู้การป้องกันและการรับมือความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

4. คริสตจักรเผชิญหน้ากับอำนาจชั่วที่เสี้ยมให้เกิดความขัดแย้ง ตั้งแต่ยุคในสวนเอเดน ซาตานหาทางที่จะทำให้ผู้ติดตามพระเจ้าขัดแย้งต่อสู้กับกันเอง มันใช้เล่ห์เหลี่ยม กลับกลอก และสร้างความแตกแยก ประเด็นนี้เราไม่ค่อยตระหนักกันสักเท่าใด?

5. การจุดประกายไฟแห่งความขัดแย้งทั่วคริสตจักร ความขัดแย้งเกิดขึ้นคุกรุ่นลุกลามไปทั่วคริสตจักร ความขัดแย้งแต่ละอย่างอาจจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่เมื่อเอาหลายความขัดแย้งมารวมกันทำให้เป็นความขัดแย้งที่รุนแรงได้

6. ไม่มีใครสนใจเมื่อประกายความขัดแย้งที่ถูกจุดขึ้น น่าสนใจว่า ผู้นำคริสตจักรสักกี่คนรู้ว่าเกิดประกายความขัดแย้งขึ้นในหมู่คนของตน นั่นหมายความว่าผู้นำไม่ได้สัมพันธ์ใกล้ชิดกับสมาชิก หรือไม่พวกผู้นำก็เป็นต้นเหตุ เป็นผู้จุดประกายเสียเอง

7. คริสตจักรไม่สามารถคาดการณ์ถึงความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น คริสตจักรที่จะรับมือกับความขัดแย้งได้ คือคริสตจักรที่มีการสอนให้สมาชิกรู้เท่าทัน รับมือกับความขัดแย้งที่มีในหมู่คนที่มีความสัมพันธ์กัน ตั้งแต่คน ๆ นั้นเข้ามาเป็นสมาชิกแต่เริ่มแรก

8. ไม่มีใครอธิษฐานเผื่อการคืนดี และ ความเป็นหนึ่งเดียวกันในคริสตจักร ในเมื่อพระเยซูคริสต์ยังอธิษฐานเผื่อสาวกของพระองค์ในเรื่องนี้ (ยอห์น 17:21) เราก็ควรที่จะอธิษฐานเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวของสมาชิกคริสตจักรเช่นกัน

9. จุดประกายความขัดแย้งทย่างลับ ๆ การร้องเรียนโดยไม่เปิดเผยตัวตน จดหมายที่ไม่ลงชื่อ คนที่อยู่เบื้องหลังข้อมูลที่ใช้ในการประชุม ฝ่ายตรงกันข้ามปิดบังตนเองเข้ามาร่วมในกลุ่มอธิษฐาน ทุกอย่างเป็นความลับ และมักเป็นความลับที่ชั่วร้าย

10. สมาชิกในบางคริสตจักรมีความเชี่ยวชาญในการโหมไฟแห่งความขัดแย้ง พวกเขามีความสุขกับการสร้างความขัดแย้ง และ แพร่ขยายการซุบซิบนินทา บางครั้งก็สร้าง “ข่าวปลอม” “ข่าวเท็จ” หรือบางพวกก็แพร่ขยายบนสื่อออนไลน์

11. คนที่ไม่ได้เติบโตเป็นสาวกพระคริสต์จะไม่พร้อมที่จะรับมือกับไฟที่สุมให้เกิดความขัดแย้ง เขายังเป็นทารกในพระคริสต์ และทารกย่อมไม่รู้ถึงอันตรายของไฟ จำเป็นต้องมีคนที่จะช่วยผู้เชื่อกลุ่มนี้ปลอดภัยจากไฟแห่งความขัดแย้ง ไม่เช่นนั้นพวกเขาอาจจะถูกไฟแห่งความขัดแย้งลวกเอา และกลายเป็นบาดแผลในชีวิตได้

12. สมาชิกบางคนในคริสตจักรเคยมีเรื่องราวในความขัดแย้งมาแล้ว พวกเขาเคยถูกไฟแห่งความขัดแย้งลวกเอาหลายครั้งหลายหน เคยชินกับความขัดแย้งในคริสตจักร และเมื่อเกิดความขัดแย้งอีกเขารู้สึกชาชินกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกลับดูเป็นเรื่องปกติธรรมดาในคริสตจักร

13. คริสตจักรที่มีแต่ความขัดแย้ง คริสตจักรนั้นมีแต่ความแห้งแล้งเหี่ยวเฉา คำเทศนากลายเป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่าย   การประกาศพระกิตติคุณไม่เกิดขึ้น ไม่มีใครพูดถึงงานพันธกิจ คนหนุ่มสาวหายหน้าไปจากคริสตจักร เมื่อทุกอย่างในคริสตจักรดูแห้งเหี่ยว เมื่อเกิดประกายไฟแห่งความขัดแย้งนิดเดียวย่อมทำให้เกิดไฟลุกลามขึ้น และเกิดเพลิงไหม้คริสตจักรได้ง่ายดาย

14. ผู้นำในคริสตจักรไม่ใส่ใจและกล่าวถึงสิ่งที่ถูกต้องตามหลักพระคัมภีร์ เมื่อผู้นำคริสตจักรละเลยความสนใจในสิ่งเหล่านี้อย่างเปิดเผย เมื่อได้ยินถึงเรื่องขัดแย้งกลับมีอาการเฉยเมยไม่กระตือรือร้น หรือแค่พูดถึงเรื่องเหล่านั้นอย่างผิวเผิน ความขัดแย้งยังคงอยู่ต่อไป

15. ไม่มีใครทำตามข้อตกลงข้อบังคับของคริสตจักร ถ้าคริสตจักรไม่ทำตามขั้นตอนตามข้อตกลงข้อบังคับต่อคนที่สร้างความขัดแย้งในคริสตจักร (หรือ เขาดำเนินการกับตนสร้างความขัดแย้งแต่มิได้เป็นไปตามหลังการทางพระคัมภีร์ หรือ มิได้กระทำด้วยใจเมตตา) นั่นก็เป็นการยืดความขัดแย้งให้ดำเนินต่อไป

16. ความขัดแย้งแผ่ขยายวงกว้าง จากความขัดแย้งในคริสตจักรหนึ่ง เกิดการลุกลามไปในคริสตจักรอื่น ลามไปยังคริสตจักรภาค และในที่สุดถูกมารใช้เป็นเครื่องมือทำให้เกิดความขัดแย้งในคริสตจักรระดับชาติ และคริสตชนหลายต่อหลายคนคือเครื่องมือทำในสิ่งที่มารชั่วต้องการให้เกิดขึ้นในคริสตจักรไทย!

มีสาเหตุอื่นใดอีกไหมครับ?

แล้วเราจะรับมือและจัดการในเรื่องนี้อย่างไร ในคริสต์ศตวรรษที่ 21 นี้?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


19 กุมภาพันธ์ 2563

การตัดสินใจ...ที่ก้าวย่างไปกับพระเจ้า


จากครั้งก่อน ได้ถอดบทเรียนรู้ของโมเสสถึง “การตัดสินใจ...ที่ย่างก้าวไปด้วยตนเอง” ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด 7 ประการ ในครั้งนี้เป็น “การตัดสินใจ...ที่ย่างก้าวไปกับพระเจ้า”

เมื่อการคิดตัดสินใจที่ชาญฉลาดกลับเป็นวิธีการที่สร้างปัญญา เราจึงต้องเลือกและตัดสินใจกระทำตามพระประสงค์ของพระเจ้ามากกว่าที่จะคิดและตัดสินใจทำตามที่เราคิด ถ้าเราแสวงหาที่จะดำเนินชีวิตตามวิถีทางของพระเจ้า เรามั่นใจผลที่จะเกิดขึ้นแก่เราในที่สุดดังนี้

1) พระเจ้าจะเตรียมและประทานทุกสิ่งที่เราจำเป็นต้องมี

เมื่อเรามีสัมพันธภาพกับองค์พระผู้เป็นเจ้าแห่งจักรวาลนี้ เราเข้าเฝ้าและทูลขอต่อพระองค์ด้วยความมั่นใจ เรารู้ว่าพระองค์พร้อมที่จะประทานสิ่งที่จำเป็นสำหรับเรา ตามทรัพย์อันอุดมของพระองค์ (ฟิลิปปี 4:19)

2) องค์พระผู้เป็นเจ้าจะให้คำแนะนำอย่างเฉพาะเจาะจงแก่เรา

อย่างไรก็ตาม ทางเดียวที่เราจะรับการทรงชี้นำของพระองค์ได้โดยทางพระวจนะของพระองค์ ระวังที่จะไม่กระทำอย่างผิดพลาด ด้วยการอธิษฐานในสิ่งที่เราทูลขอแต่ไม่เคยใคร่ครวญในพระวจนะของพระเจ้า เราใคร่ครวญไตร่ตรองในพระวจนะเพื่อที่จะฟังว่าพระองค์จะตรัสอะไรแก่เรา เราไม่มีความรู้ หรือ ความเข้าใจว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร แต่พระเจ้าทรงล่วงรู้ในรายละเอียดของทุกเหตุการณ์ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และในอนาคต และพระองค์ประทานพระวจนะที่จะชี้นำการดำเนินชีวิตของเรา พระวจนะของพระเจ้ามีทั้งองค์ความรู้ในด้านจิตวิญญาณ ในด้านจริยธรรม เพื่อเราจะได้ดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ของพระองค์ ถ้าปราศจากพระวจนะของพระเจ้าแล้ว เราจะไม่รู้ว่าเราควรดำเนินชีวิตแบบใด ความจริงก็คือว่า เราไม่สามารถดำเนินชีวิตคริสตชนได้โดยมิได้ไตร่ตรองใคร่ครวญพระวจนะอย่างสม่ำเสมอ

3) พระเจ้าจะทรงขจัดความกลัวของเรา

ในเมื่อเราไม่รู้ว่าในอนาคตจะเป็นเช่นไร การที่ต้องตัดสินใจเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถรู้ได้ว่ามันจะเกิดผลอย่างไรตามมาจากการกระทำของเรา ทำให้เราเกิดความกลัว แต่ถ้าเราแสวงหาการทรงชี้นำของพระเจ้าด้วยความสัตย์ซื่อผ่านทางพระวจนะของพระองค์ พระองค์จะเปลี่ยนความกลัวของเราให้กลายเป็นความมั่นใจในพระองค์

4) เราจะเห็นพระราชกิจของพระเจ้าที่ไม่ธรรมดาในสถานการณ์ของเรา 

อย่างไรก็ตาม เราต้องไว้วางใจในพระองค์ และรอคอยเวลาที่เหมาะสมของพระองค์ ถ้าพระองค์มิได้ตอบคำทูลขอของเราทันที นั่นแสดงว่าพระองค์เห็นว่าเรายังไม่พร้อมที่จะรับคำตอบจากพระองค์ หรือ อาจจะยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม ถ้าเราต้องการมีประสบการณ์ในฤทธานุภาพของพระเจ้าในชีวิตของเรา เราต้องอ่านใคร่ครวญพระวจนะของพระองค์ รอคอยพระองค์ด้วยความอดทน และเชื่อมั่นว่าพระองค์จะตอบสิ่งที่เราทูลขอในเวลาที่เหมาะสม

5) เราจะได้เรียนรู้วิถีทางของพระเจ้า

เมื่อเราแสวงหาการทรงชี้นำจากพระเจ้าด้วยการอ่านพระวจนะและเชื่อฟังพระวจนะของพระองค์ เราจะเห็นถึงพระราชกิจของพระองค์จากในพระวจนะ และที่พระองค์ทรงกระทำในชีวิตของเราด้วย ถ้าเราต้องการความเข้าใจองค์พระผู้เป็นเจ้าจริงและมากยิ่งขึ้น เราต้องคุ้นชินกับพระวจนะของพระองค์เป็นอย่างดี

6) พระเจ้าจะทรงใช้จุดอ่อน และ ความล้มเหลวของเราเพื่อช่วยเราเข้าใจถึงพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตของเรา

ความไม่เพียงพอ หรือ ความต้องการของเรากระตุ้นเราให้อธิษฐานต่อพระเจ้า ดังนั้น เราไม่ควรมองการอธิษฐานในแง่ลบ แต่ให้เห็นว่าความรู้สึกไม่เพียงพอและความต้องการ นำเราให้เข้าไปหาพระองค์

7) พระเจ้าสามารถทำให้สำเร็จในเวลาอันสั้นแทนที่เราจะต้องใช้ตลอดชีวิตของเรา

พระเจ้าทรงกระทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่โดยแนวทางของพระองค์มากกว่าวิธีการของเรา ดังนั้น เราควรแสวงหาการทรงชี้นำจากพระองค์มากกว่าที่จะพึ่งพิงในความรอบรู้และความสามารถที่จำกัดของตัวเราเอง

ย้อนพิจารณาตนเอง

เมื่อเราตัดสินใจ ท่านมักคิดถึงสถานการณ์ในตอนนั้น หรือ คิดถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจแบบหุนหันพลันแล่นของตน? เกิดผลอย่างไรบ้างเมื่อท่านตัดสินใจแบบหุนหันพลันแล่นโดยที่ท่านมิได้แสวงหาการทรงนำจากพระเจ้า?

เมื่อท่านต้องตัดสินใจท่านแสวงหาความช่วยเหลือจากที่ใดบ่าง? และพระวจนะของพระเจ้าอยู่ในส่วนไหนของกระบวนการการตัดสินใจของท่าน? เมื่อท่านได้รับการชี้นำจากพระวจนะของพระเจ้า  ท่านพร้อมที่จะทำตามการชี้นำจากพระวจนะของพระเจ้า หรือท่านมีข้อแก้ตัวว่าทำไมท่านถึงไม่ใช้คำชี้นำนั้นในสถานการณ์ของท่าน?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



16 กุมภาพันธ์ 2563

การตัดสินใจ...ที่ก้าวย่างไปด้วยตนเอง


ถอดบทเรียนรู้จากประสบการณ์ของโมเสส

เมื่อเราต้องตัดสินใจครั้งสำคัญ สามคำถามที่เราจะต้องถามตนเองคือ อะไร เมื่อไหร่ และ อย่างไร

ถ้าเราไม่ได้ถามคำถามใดคำถามหนึ่งในสามประเด็นนี้ อาจจะส่งผลให้ตัดสินใจผิดพลาดได้ และอาจจะได้รับความยากลำบากจากผลของการตัดสินใจที่ผิดพลาด ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดคือ เมื่อเราต้องตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิต สิ่งแรกคือ ให้เราหันหน้าเข้าหาพระเจ้า ทูลถามขอการทรงนำว่า เราควรจะทำอะไร อย่างไร และเมื่อใด เราจะต้องทำอะไรในการตัดสินใจนี้? แล้วจะมีขั้นตอน กระบวนการในการตัดสินใจอย่างไรบ้าง? และเวลาใด/เมื่อใดที่เป็นเวลาที่เหมาะสมตามพระประสงค์ของพระเจ้า?

ประเด็นบทเรียนสำคัญที่ได้รับ

เรื่องราวของโมเสส จากอพยพ 2:11-15 เป็นบทเรียนที่สำคัญของการแสวงหาการทรงชี้นำจากพระเจ้าก่อนที่จะตัดสินใจ ถึงแม้ว่าโมเสสจะเป็นคนฮีบรู แต่เขาถูกเลี้ยงดู ในฐานะลูกชายของธิดาฟาโรห์ในพระราชวัง ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางแห่งอำนาจ ความมั่นคง มั่งคั่ง และบารมี  

เมื่อโมเสสเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เขาเห็นคนอียิปต์ข่มเหงทำร้ายแรงงานทาสฮีบรู เขาตัดสินใจแบบหุนหันพลันแล่น   ทำให้ชีวิตของโมเสสต้องเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงจากหน้ามือเป็นหลังมือ เขาตัดสินใจฆ่าคนอียิปต์ที่ทำร้ายแรงงานฮีบรู และผลที่ได้รับคือ โมเสสสูญเสียทุกอย่างในชีวิตกลายเป็นนักโทษกบฏต่อราชบัลลังก์หลบหนีเอาชีวิตรอด   ลงท้ายด้วยการไปอยู่ในทะเลทรายมีเดียน และมีอาชีพเลี้ยงแกะ

ทำไมโมเสส “ตัดสินใจ” กระทำในสิ่งที่ดี แต่ได้รับผลการตัดสินใจที่สูญเสียครั้งรุนแรง?

(1) โมเสสแซงหน้าพระเจ้า

เราท่านบ่อยครั้งก็มีชีวิตอย่างโมเสส บางครั้งเราตัดสินใจ “แซงหน้าพระเจ้า” ด้วยการตัดสินใจแบบหันหุนพลันแล่น   เราตัดสินใจโดยมิได้ใคร่ครวญและประเมินถึงผลที่จะตามมาจากการตัดสินใจนั้น ที่สำคัญเราไม่ได้มีโอกาสที่จะปรึกษาพระเจ้าก่อนตัดสินใจ

(2) โมเสสมุ่งเน้นที่เหตุการณ์แทนที่จะมุ่งมองที่ภาพใหญ่

ชนชาติฮีบรูที่เคยหลบภัยความอดอยากเมื่อหลายร้อยปีก่อนหน้านี้ ถูกบังคับจากฟาโรห์ให้เป็นแรงงานทาส ทำให้ชีวิตของชาวฮีบรูขมขื่น ต้องตรากตรำทำงานหนัก เมื่อโมเสสเห็นคนถูกกระทำอย่างทารุณ เขาพุ่งความสนใจไปที่ความไม่เป็นธรรมของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทันที โดยไม่มีการคิดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อน ซึ่งสถานการณ์ที่จะลงมือจัดการกอบกู้ชาวฮีบรูที่ถูกข่มเหงทารุณและการตกเป็นทาสให้เป็นไทนั้นเป็น “พระราชกิจของพระเจ้าเท่านั้นที่จะจัดการได้” ซึ่งแผนการนี้ไม่เกิดขึ้นจนกว่า 40 ปีต่อมา

(3) โมเสสทำตามหลักการเหตุผลของเขามากกว่าที่จะฟังพระเจ้า

เราก็มักจะทำเช่นนี้ด้วยเช่นกัน เมื่อเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง เรามักจะประเมินแล้วก็ลงเอยด้วยการตัดสินใจอย่างผิดพลาดว่าจะทำอย่างไรบนความเข้าใจที่จำกัดของตนเอง แต่สำหรับพระเจ้าแล้ว พระองค์รู้ชัดว่าควรจะตอบสนองต่อสถานการณ์นี้อย่างไรที่จะเหมาะสมที่สุด และพระองค์พร้อมและเต็มใจที่ช่วยเรา ถ้าเราจะแสวงหาการทรงชี้นำของพระองค์

(4) โมเสสทำตามสิ่งกระตุ้นในตนเองมากกว่าที่จะแสวงหาความเข้าใจถึงพระประสงค์ของพระเจ้าที่ต้องการให้เขาทำ

ความต้องการของโมเสสคือ การปกป้องแรงงานทาสฮีบรู แต่เขามิได้คิดพิจารณาถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของตน ถึงแม้ว่าการปกป้องคนที่ไม่มีทางสู้เป็นสิ่งที่ดี โมเสสควรคิดพิจารณาว่า การกระทำที่หุนหันพลันแล่นของตนนั้นเป็นการกระทำที่ชาญฉลาดที่จะนำถึงความสำเร็จหรือไม่?

ผู้คนมักตอบโต้เหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างใจร้อนหุนหันพลันแล่นจากสาเหตุดังนี้

  • เพราะมุมมอง หรือ ทัศนคติของเขาต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
  • เพราะอคติที่เขามีต่อสถานการณ์นั้น
  • เพราะความเห็นแก่ตัว


เมื่อเราตัดสินใจด้วยอารมณ์ที่หุนหันลันแล่น เรามักต้องพบกับความเสียใจในภายหลัง พระเจ้าประสงค์ให้เราแสวงหาน้ำพระทัยของพระองค์ต่อสถานการณ์นั้นก่อน

(5) โมเสสกระทำด้วยพละกำลังของตนเองมากกว่าด้วยพลังจากพระเจ้า

กำลังของมนุษย์นั้นจำกัด แต่พระเจ้าทรงฤทธานุภาพ ซึ่งต่อมาภายหลังฤทธานุภาพของพระองค์ได้สำแดงออกมาเมื่อพระองค์นำพวกชนชาติฮีบรูออกจากการเป็นทาสในอียิปต์ และทำลายกองทัพอันเกรียงไกรของมหาอำนาจอียิปต์กลางทะเลแดง   

(6) โมเสสกระทำด้วยอารมณ์โกรธ

ถ้าเราถูกครอบงำด้วยความโกรธแทนที่จะมีจิตใจแห่งการยกโทษ ความโกรธจะซ่อนตัวอยู่ในจิตใจของเรา เพื่อรอโอกาสที่เหมาะสมสำหรับมัน (เอเฟซัส 4:26) และถ้ามันได้โอกาสก็จะทำให้เราตอบสนองสถานการณ์นั้น ด้วยการทำให้เกิดความเจ็บปวด การทำร้ายทำลาย และกลายเป็นอุปสรรคสำหรับเราต่อไป

(7) โมเสสมิได้คำนึงถึงผลที่จะตามมาจากการกระทำของเขา

แทนที่เราจะตอบสนองสถานการณ์นั้นด้วยอารมณ์หุนหันพลันแล่น เราควรคิดพิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวจากการตัดสินใจในการกระทำของเรา ซึ่งในบางเรื่องอาจจะเกิดผลกระทบต่อตลอดชีวิตของเรา  

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



12 กุมภาพันธ์ 2563

คริสตชนจะจัดการกับความกลัดกลุ้มกังวลและภาวะซึมเศร้าอย่างไร?


ปัจจุบันนี้ เราพบเห็นผู้คนจำนวนเพิ่มขึ้นที่ต้องเผชิญปล้ำสู้กับความกลัดกลุ้มและภาวะซึมเศร้า รวมทั้งคริสตชนพี่น้องของเราด้วย มีคนถามมาว่า ในฐานะคริสตชนจะมีวิธีการรับมือกับภาวะซึมเศร้าอย่างไร? ในขั้นพื้นฐานนี้ผมคิดว่า ในฐานะคริสตชนควรรู้และจัดการกับภาวะซึมเศร้าด้วยความรู้เท่าทัน 3 ประการ

ความจริงสามประการที่คริสตชนจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า

1. รู้ว่านั่นเป็นเรื่องปกติธรรมดา

ประโยค หรือ วลีที่พระคัมภีร์กล่าวถึงบ่อยคือ “อย่ากลัวเลย” เพราะพระเจ้ารู้ว่า คนเรามีความโน้มเอียงที่จะเกิดความกลัวต่อภาวะ สถานการณ์ หรือ สิ่งต่าง ๆ ถ้าท่านมีความกังวลกลัดกลุ้มใจที่นำไปสู่ภาวะซึมเศร้า ท่านมิได้เป็นคนแปลกประหลาดอะไร ท่านมิได้มีอาการนี้เพียงคนเดียว หลายต่อหลายคนที่ต้องทนทุกข์กับอาการกลัดกลุ้มและภาวะซึมเศร้าอย่างเราท่านอีกมากมาย และบอกได้ตรงไปตรงมาเลยว่าคนสำคัญต่าง ๆ ในพระคัมภีร์ของเราก็ตกในอาการและภาวะดังกล่าวนี้ด้วย ตัวอย่างเช่น โยนาห์ เยเรมีย์ โมเสส เอลียาห์ และคนอื่น ๆ

ความกลัดกลุ้มกังวลเป็นผลของการที่คริสตชนคนนั้น ๆ ขาดความไว้วางใจในพระเจ้า!

อาการกลัดกลุ้มกังวลจนทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าเป็นครั้งคราวไม่ใช่เป็นเรื่องผิดปกติ แต่สิ่งที่เราต้องใส่ใจคือ ถ้าเกิดอาการและภาวะซึมเศร้าเกิดขึ้นกันตน ท่านอาจจำเป็นปรึกษาแพทย์ ศิษยาภิบาล หรือ ผู้ให้การปรึกษาคริสตชน

2. คืนมืดมิดแห่งจิตวิญญาณ

เราท่านต่างเคยประสบพบเจอกับ “คืนมืดมิดแห่งจิตวิญญาณ” ถ้าเราไว้วางใจในพระเจ้าด้วยสิ้นสุดความนึกคิดจิตใจของเรา เรามั่นใจได้เลยว่า ค่ำคืนความมืดมิดแห่งจิตวิญญาณมันจะต้องผ่านไป แล้วพบกับรุ่งสางวันใหม่ที่พระเจ้าประทานแก่เรา

หลายท่านถามว่า ถ้าตกอยู่ในภาวะเช่นนั้นจะให้ทำเช่นไร?

ขอเสนอวิธีการที่ง่าย ๆ และ ธรรมดา ดังนี้...  

ให้เราเขียนรายการที่เราสำนึกและรู้สึกต้องการขอบพระคุณพระเจ้าว่ามีอะไรบ้าง ไม่ว่าสุขภาพร่างกาย บ้าน ครอบครัว การงาน เพื่อนฝูง ชุมชน คริสตจักร และ ฯลฯ ซึ่งรายการนี้อาจจะยาวไปหน่อยก็ไม่เป็นไร แล้วอธิษฐานขอบพระคุณพระเจ้าตามรายการหัวเรื่องที่เราเขียนนั้น

เมื่อเราก้มหัวลงอธิษฐานขอบพระคุณพระเจ้าด้วยชีวิตจิตใจ “ภาวะซึมเศร้า” มันไม่สามารถซุกซ่อนตัวอยู่ในความนึกคิด อารมณ์ ความรู้สึกของเราได้ มันจะต้องหนีกระเจิงออกจากชีวิตของเราไป

เรามิได้มุ่งมอง วนเวียน  ติดหล่มโคลนตมแห่งความซึมเศร้า แต่เราเปลี่ยนมุมมองของเรามุ่งมองไปที่พระเจ้า   พระองค์ที่ทรงกระทำพระคุณมากมายแก่เราในชีวิตที่ผ่านมา และพระองค์ยังสัญญาว่า จะกระทำสิ่งที่เป็นพระคุณในชีวิตของเราต่อไปข้างหน้า

เมื่อพระคุณพระเจ้าครอบคลุมเต็มพื้นที่ในชีวิตของเรา และเราเห็นพระคุณของพระองค์ทำงานในชีวิตของเรา แล้วความกลัดกลุ้มกังวล และ ภาวะซึมเศร้าจะฝังตัวในชีวิตของเราได้อย่างไร?

จงวางใจในพระเจ้า อธิษฐาน ปรึกษา ทูลขอ และที่สำคัญคือขอบพระคุณพระองค์ในสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดในชีวิตของตน  อ่านพระวจนะของพระเจ้า พระวจนะของพระเจ้าจะเป็นแสงสว่างที่ขับไล่ความมืดมิดออกจากชีวิตและจิตวิญญาณของเรา

3. ไม่ต้องกังวลกลัดกลุ้มในสิ่งใด ๆ

Adrian Rogers เคยกล่าวว่า 85% ในสิ่งที่เราวิตกกังวล จะไม่เกิดขึ้น และอีก 15% เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถทำอะไรกับมันได้

เมื่อรู้ว่า เราไม่สามารถจะจัดการอะไรกับความกลัดกลุ้มกังวล และภาวะซึมเศร้าด้วยตนเอง ให้เรามอบเรื่องนั้นไว้ที่พระเจ้า พระองค์มีพลังที่สามารถจัดการกับสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้ พระองค์รู้เห็นถึงการที่เราต้องปล้ำสู้กับความกลัดกลุ้มกังวล และ ความซึมเศร้านั้น

ขอย้ำเตือนอีกครั้งว่า การที่เรากลัดกลุ้มกังวลเพราะเราไม่ได้ไว้วางใจพระเจ้า พระองค์จะใช้สถานการณ์ที่ทำให้เรากลัดกลุ้มกังวลและภาวะซึมเศร้าให้เกิดสิ่งดีมีประโยชน์ในชีวิตของเรา นอกจากนั้น ให้เราดำเนินชีวิตโดยมีเป้าหมายที่พระประสงค์แห่งการทรงเรียกเรานั้น... (โรม 8:18, 28)  

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499