27 กุมภาพันธ์ 2560

เรียนรู้ที่จะพอใจในทุกสถานการณ์

เรื่องเล่าว่า... มีนักธุรกิจอุตสาหกรรมที่มั่งคั่งคนหนึ่ง   เมื่อเขาเดินผ่านชาวประมงในวันหนึ่ง   เขารู้สึกรำคาญใจที่พบว่า ชายชาวประมงคนนั้นนั่งขี้เกียจอยู่ข้างเรือของเขา   แทนที่จะออกเรือไปในทะเล   นักธุรกิจผู้มั่งคั่งคนนั้นจึงถามชาวประมงคนนั้นว่า   “ทำไมคุณไม่ออกเรือไปหาปลา?”

ชายชาวประมงตอบว่า   “เพราะวันนี้ฉันจับปลาได้เพียงพอแล้ว”

นักธุรกิจถามต่อไปว่า   “ทำไมคุณไม่จับปลาให้ได้มากกว่าที่ต้องการล่ะ?   คุณยังจับปลาได้อีกมากมาย”

ชายชาวประมงตอบว่า  “แล้วฉันจะเอาปลาที่จับได้เพิ่มมาไปทำอะไรล่ะ?”

“อ้าว...เพื่อคุณจะสามารถมีเงินทองไปซื้อเรือที่ดีกว่านี้   เพื่อที่จะไปในเขตทะเลลึกเพื่อจะจับปลาได้มากขึ้น”   นักธุรกิจมั่งคั่งพูดต่อไปด้วยอารมณ์   “แล้วคุณก็สามารถซื้อแห ซื้ออวนที่ใหญ่ขึ้น  ที่ดีขึ้น  เพื่อจะจับปลาได้มากขึ้น   แล้วคุณก็จะได้เงินมากขึ้นด้วย   แล้วคุณก็จะได้มีคาราวานเรือหาปลา   แล้วก็จ้างคนมาทำงานให้คุณ   แล้วก็มั่งคั่งอย่างฉันไงล่ะ?

ชายประมงนั่งเงียบพักหนึ่ง   เขาถามนักธุรกิจคนนั้นว่า “แล้วยังไงต่อไปล่ะ?”

นักธุรกิจตอบว่า  “แล้วคุณก็นั่งลงและมีความสุขกับชีวิตอย่างฉันนี้ไงล่ะ?

ชายชาวประมงมองไปยังทะเลด้วยความสงบ   แล้วตอบนักธุรกิจคนนั้นว่า...

“แล้วคุณคิดว่า ตอนนี้ฉันกำลังทำอะไรอยู่ล่ะ?

ชาวประมงถูกต้องครับ... คนเราจะรู้จัก “พอเพียง” ได้อย่างไร  ถ้าไม่รู้จัก “พอใจ” ในสิ่งที่เขามีเขาเป็น?   และไม่วางใจในของประทานจากเบื้องบน?   และเชื่อมั่นในการทรงครอบครองของพระเจ้าในชีวิตของตน?

เปาโลกล่าวกับคนในคริสตจักรฟิลิปปีว่า  “...​ข้าพ​เจ้า​เรียน​รู้​ที่​จะ​พอใจ​ใน​สภาพ​ที่​เป็น​อยู่  ข้าพ​เจ้า​รู้​จัก​ความ​ขาดแคลน​และ​รู้​จัก​ความ​อุดม​สม​บูรณ์ ไม่​ว่า​ใน​กรณี​ใด​หรือ​ใน​ทุก​กรณี ข้าพ​เจ้า​ได้​เรียน​รู้​เคล็ด​ลับ​ใน​การ​เผชิญ​ความ​อิ่ม​ท้อง​และ​ความ​อด​อยาก ความ​อุดม​สม​บูรณ์และ​ความ​ขัด​สน​แล้ว  ข้าพ​เจ้า​เผชิญ​ได้​ทุก​อย่าง​โดย​พระ​องค์​ผู้​ทรง​เสริม​กำ​ลัง​ข้าพ​เจ้า” (ฟิลปปี 4:11-13 มตฐ.)

ไม่ว่าชีวิตของเราจะต้องประสบกับสถานการณ์ใดก็ตาม   จะดีหรือเลวร้าย   จงเรียนรู้ที่จะค้นพบพลังชีวิตจากพระคริสต์   จงพึ่งพิงในของประทานจากพระองค์   ดูเหมือนจะไม่ง่ายนักที่เราแต่ละคนจะเชื่อและวางใจในของประทานจากพระเจ้าที่ให้แก่เราในเวลาที่เราจำเป็นต้องการ หรือ อยากได้ใคร่มี  แต่ให้เราชื่นชมยินดีในสิ่งที่พระองค์ประทานแก่เราตามสถานการณ์ที่เราต้องเผชิญ  และจงวางใจในเวลาที่เหมาะสมของพระองค์

“ท่าน​อย่า​เป็น​คน​เห็น​แก่​เงิน จง​พอใจ​ใน​สิ่ง​ที่​ท่าน​มี​อยู่
เพราะ​ว่า​พระ​องค์​ได้​ตรัส​ว่า “เรา​จะ​ไม่​ละ​ท่านหรือ​ทอด​ทิ้ง​ท่าน​เลย” (ฮีบรู 13:5 มตฐ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

23 กุมภาพันธ์ 2560

เมื่อชีวิต...ถูกปฏิเสธ

ท่านเคยถูกปฏิเสธบ้างไหม?
เมื่อถูกปฏิเสธท่านรู้สึกอย่างไรบ้าง?
แล้วท่านจัดการอย่างไรกับความรู้สึกนั้น?

ในปี ค.ศ. 1888  แคมแบลล์ มอร์แกน  เป็นคนหนึ่งเข้าสอบเป็นศาสนาจารย์  ภายหลังที่เข้ารับการสอบสัมภาษณ์เกี่ยวกับหลักข้อเชื่อ   เขาสามารถสอบผ่านหลักข้อเชื่อ    เขาเข้าสอบการเทศนา   แต่ในเวลานั้นเขารู้สึกว่าตนถูกกดดันสูง   เขาตัดสินใจลดคำเทศนาของเขาให้สั้นลง   ผลการสอบปรากฏว่าเขาถูกปฏิเสธให้เป็นศาสนาจารย์ในปีนั้น   เขาส่งโทรเลขถึงพ่อของเขาเพียงสั้น ๆ คำเดียวว่า “ถูกปฏิเสธ”

พ่อของเขารีบโทรเลขกลับว่า  “ถูกปฏิเสธบนโลกนี้  แต่เป็นที่ยอมรับบนสวรรค์”  พ่อ

หลังจากนั้นอีกหลายปี    มอร์แกนกล่าวว่า  “ในสัปดาห์ที่แสนจะว้าเหว่และมืดครึ้มในชีวิต  พระเจ้าตรัสกับผมว่า  “เราต้องการให้เจ้าหยุดในการวางแผนชีวิตของตนเอง  แล้วปล่อยให้เราเป็นคนวางแผนในชีวิตของเจ้า”

เราแต่ละคนต่างเคยถูกปฏิเสธไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง   ไม่ว่าจะถูกให้ออกจากงาน  หรือไม่เพื่อนสนิทตีตนห่างเหิน   คนในครอบครัวหมางเมิน   แม้ท่านจะต้องเผชิญหน้ากับวันที่แสนมืด   จำไว้เสมอว่า   พระเจ้าไม่เคยปฏิเสธ หรือ ทอดทิ้งเรา  เมื่อชีวิตของเราอยู่ในพระคริสต์   ชีวิตของท่านมีค่ายิ่งในสายพระเนตรของพระองค์  แล้วพระองค์ทรงเข้ามาเคียงข้างและร่วมวางแผนชีวิตกับเรา

เพราะ​พระ​เจ้า​จะ​ไม่​ทอดทิ้ง​ประชากร​ของ​พระ​องค์...  (สดุดี 94:14 มตฐ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

20 กุมภาพันธ์ 2560

เมื่อพระเจ้าแทรกแซงชีวิตประจำวันของเรา

ท่านคิดอย่างไรถ้าจะกล่าวว่า 

“การทรงเรียก หรือ คำตอบจากพระเจ้า คือการที่พระองค์ทรงแทรกแซงเข้ามาในชีวิตประจำวันของเรา?”

สำหรับผมส่วนตัวเห็นว่า “จริง”   เพราะเมื่อพระองค์ทรงเรียกใครก็ตาม  พระองค์ทรงเรียก หรือ ตอบคำทูลขอของคน ๆ นั้น   พระองค์ตอบและเรียกตามพระประสงค์ของพระองค์  พระองค์มิได้ทรงเรียกเขาคนนั้นตามที่ใจปรารถนาต้องการของเขา   เพราะถ้าพระเจ้าตอบ หรือ ทรงเรียกตามใจปรารถนาของคน ๆ นั้นจริงพระองค์ไม่จำเป็นทรงเรียกคนนั้น   เพราะเขาตั้งใจและปรารถนาที่จะทำที่จะเป็นเช่นนั้นแล้ว

เมื่อพระคริสต์ทรงบังเกิดในโลกนี้   พระเจ้าทรงเรียกผู้คนหลากหลายคนด้วยกัน   เริ่มต้นตั้งแต่ทรงเรียกเศคาริยาห์และเอลิซาเบธ   มารีย์สาวพรหมจารี  โยเซฟ  คนเลี้ยงแกะ  นักปราชญ์  และ เจ้าของคอกสัตว์ที่พระคริสต์บังเกิด

ทรงเรียกมารีย์สาวพรหมจารี

งานใหญ่ในชีวิตของมารีย์ในเวลานั้นคือ การเตรียมตัวแต่งงานกับโยเซฟที่ได้หมั้นหมายไว้แล้ว   แต่จู่ ๆ  กาบรีเอล ทูตของพระเจ้าทรงปรากฏกับนางมารีย์   แล้วแจ้งแก่เธอว่า   เธอจะตั้งครรภ์และมีบุตรชาย...

แผนงานตามใจปรารถนาของมารีย์คือการแต่งงานกับโยเซฟ  มีบุตร และ ตั้งครอบครัวด้วยกัน   แต่แผนการตามการทรงเรียกของพระเจ้าคือ   มารีย์จะมีบุตรชายโดยไม่ได้แต่งงาน   ซึ่งเป็นแผนการของพระผู้เป็นเจ้าที่ให้พระคริสต์มาบังเกิดเพื่อช่วยกอบกู้โลกนี้ให้รอดพ้นจากอำนาจแห่งความชั่วร้าย

พระเจ้าทรงแทรกแซงแผนการของพระองค์เข้ามาในแผนการชีวิตประจำวันของมารีย์   แต่แผนการที่ทรงแทรกแซงดังกล่าวสร้างผลกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงแก่ชีวิตประจำวันของมารีย์อย่างมาก   เธอจะถูกมองว่ามีลูกไม่มีพ่อ   จะถูกมองว่าเธอนอกใจโยเซฟ  ทำผิดบทบัญญัติศาสนายิว   แล้วเธอจะตอบคนทั้งหลายในชุมชนถึงเรื่องการตั้งท้องอย่างไรดี   และนี่คือความเสี่ยง  ที่เธอจะต้องหาความปลอดภัยในชีวิตของเธอ

แต่นี่คือแผนการของพระองค์สำหรับมารีย์  และนี่คือการทรงเรียกที่สูงส่งที่ทรงมีต่อมารีย์

เมื่อพระเจ้าทรงเรียกเยเรมีย์   สิ่งที่พระเจ้าเรียกเขาให้ทำเป็นสิ่งที่เขาไม่อยากทำ  เป็นสิ่งที่เขาไม่มีความพร้อม   บ่อยครั้งเรามักพูดถึงเรื่องการทรงเรียกของพระเจ้าในลักษณะ “มองโลกสวย”   พระเจ้าเรียกเราเป็นผู้รับใช้ของพระองค์   ให้มีตำแหน่งนั่นตำแหน่งนี่   เป็นศาสนาจารย์ เป็นศิษยาภิบาล เป็นผู้ปกครอง ฯลฯ 

เรา “มองการทรงเรียกของพระเจ้าแบบโลกสวย”  เพราะเรามองว่าเราจะมีตำแหน่ง “ฐานะพิเศษ” เราจะได้  “อภิสิทธิ์”   แต่ที่พระเจ้าทรงเรียกคนต่าง ๆ ในพระคัมภีร์นั้นมิใช่เช่นนั้น   การแทรกแทรงทรงเรียกแต่ละคน   เขาคนนั้นต้อง “เสี่ยง” เขาต้อง “เสีย”   แต่มีคุณค่าอย่างยิ่งเพราะได้เป็นชีวิตที่พระองค์ทรงใช้   แล้ววางใจพระองค์แม้ชีวิตของตนจะต้อง “เสี่ยง” และต้อง “เสีย” ก็ตาม

ถ้าอย่างนี้ท่านยังคิดจะให้พระเจ้าเข้ามาแทรกแทรงชีวิตของท่าน  ตอบคำอธิษฐานของท่าน  ท่านยังคิดที่จะให้พระองค์ทรงเรียกท่านหรือไม่?   แต่สำหรับมารีย์บอกว่า   “ข้าพระองค์เป็นทาสรับใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้า   ให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่พระองค์ประสงค์เถิด”

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

15 กุมภาพันธ์ 2560

ขุมพลังของการทำธุระกิจการงานในฐานะคริสตชน

ทุกวันนี้ หลายคนมีความรู้สึกว่า หลักความเชื่อศรัทธาของคริสตชนมีความแตกต่างจากค่านิยมตามกระแสสังคมโลกในปัจจุบันนี้   แต่ความแตกต่างดังกล่าวกลับมิได้ถูกมองว่านี่คือ “จุดแข็ง” ของการทำธุระกิจการงานของคริสตชน   เรามักคล้อยตามคำกล่าวที่ว่า  “ถ้าจะทำธุระกิจการงานในปัจจุบันมัวแต่จะคิดถึงคุณธรรมความสัตย์ซื่อแล้วไม่ทันกินหรอก”  หรือ  “ถ้าจะทำตัวเป็นพระก็ไปอยู่ในวัดดีกว่าที่มาอยู่ในวงการธุรกิจ”   แต่นี่คือต้นตอที่มาของ “อาการโรซ์รอยส์เป็นพิษ” มิใช่หรือ?

แต่สำหรับคริสตชนที่เชื่อและไว้วางใจในองค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างจริงใจ   ความเชื่อศรัทธาของเราเป็นขุมพลังที่ยิ่งใหญ่  ที่จะนำนาวาธุรกิจ/การงานของเราที่กำลังฝ่าคลื่นลมที่บ้าคลั่งไปได้

“จุดแข็ง” ในการทำธุระกิจการงานของคริสตชนที่เดินเคียงข้างไปกับพระคริสต์   และพลังที่เป็นพระพรในการทำธุระกิจการงานที่เราจะได้รับเช่น ความปรารถนาที่จะทำธุระกิจการงานด้วยสัตย์ซื่อ   ด้วยความถ่อมใจ   ด้วยคุณธรรมตามพระกิตติคุณ  และด้วยความบากบั่นหมั่นเพียรอดทน   พระวิญญาณที่สถิตในชีวิตจิตใจของเรา  และ ในความปรารถนามุ่งมั่นในแผนงานที่เราทำ  จะเป็นพลังที่เข้มแข็งหนักแน่นที่ช่วยเราทำธุระกิจการงานที่สำแดงพระคริสต์ผ่านชีวิตและการงานที่เราทำ   และผู้คนจะสามารถมองเห็นแสงสว่างของพระคริสต์ผ่านชีวิตการงานและธุระกิจที่เราทำ

ขุมพลังความเข้มแข็งที่คริสตชนได้จากการดำเนินธุระกิจการงานไปบนเส้นทางความเชื่อศรัทธา 4 ประการมีดังนี้

ขุมพลังจากความเชื่อศรัทธาประการแรก:  เป็นผู้ที่สัตย์ซื่อ

แค่เป็นคนที่พูดสัจจะความจริงก็มิใช่เรื่องง่ายที่จะทำกันในวงการธุระกิจการงานต่าง ๆ ในสังคมปัจจุบัน   แต่ตามความเชื่อศรัทธาของคริสตชนเรารู้ว่านี่เป็นสิ่งที่ดีที่สุด   พระธรรมสุภาษิต 12:22  บอกแก่เราว่า  “พระ​ยาห์​เวห์​ทรง​เกลียด​ชัง​ปาก​ที่​พูด​มุสา  แต่​ทรง​ปีติ​ยินดี​ใน​คน​ที่​ประ​พฤติ​อย่าง​ซื่อ​สัตย์”

การเป็นคนที่เปิดเผย จริงใจ และทำทุกอย่างบนสัจจะความจริงนั้น  เป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ไว้วางใจของเรากับลูกค้า และ คนร่วมงานของเรา   และเมื่อผู้คนไว้วางใจในตัวเรา   เขาก็จะติดต่อกับเรามากยิ่งขึ้น... เมื่อเราเปิดเผย และ จริงใจ ทุกคนที่เราติดต่อทำงานด้วยเขาก็จะมั่นใจว่า เขาจะคาดหวังอะไรจากเราได้

ขุมพลังจากความเชื่อศรัทธาประการที่สอง:  มีชีวิตที่สำแดงความถ่อม

ในพระธรรมอิสยาห์ 57:15  พระเจ้าตรัสว่า...  “เรา​ดำรง​อยู่​ใน​ที่​สูง​และ​บริ​สุทธิ์   และ​อยู่​กับ​ผู้​สำ​นึก​ผิด​และ​มี​วิญญาณ​จิต​ที่​ถ่อม   เพื่อ​ฟื้น​ฟู​วิญญาณ​จิต​ของ​ผู้​ที่​ถ่อม   และ​ฟื้นฟู​ใจ​ของ​ผู้​สำ​นึก​ผิด”   และในพระธรรมยากอบ 4:6  บอกกับเราอีกว่า  “...“พระ​เจ้า​ทรง​ต่อ​สู้​คน​ที่​หยิ่ง​จอง​หอง   แต่​ประ​ทาน​พระ​คุณ​แก่​คน​ที่​ถ่อม​ใจ” 

คุณธรรมประการนี้พระเจ้าทรงให้ความสำคัญมาก   เพราะคุณธรรมประการนี้มักถูกละเลยหรือหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตาม   โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการธุรกิจ และ การทำงานปัจจุบัน   การที่เรามีจิตใจที่ถ่อมลงนั้น  ทำให้เราเป็นคนที่รับการสั่งสอนได้   และทำให้เป็นคนที่จะใส่ใจฟังคนอื่นรอบข้าง   และเปิดรับการเรียนรู้ในมุมมองที่แตกต่างจากตน   อีกทั้งยังสามารถปรับเปลี่ยนคำวิพากษ์วิจารณ์ให้กลายเป็นโอกาสที่จะเสริมสร้างให้เรามีชีวิตที่เติบโต

ขุมพลังจากความเชื่อศรัทธาประการที่สาม:  การทำงานและเป็นผู้นำที่สัตย์ซื่อและมีคุณธรรม

ลูกา 16:10  กล่าวไว้ว่า  “คน​ที่​ซื่อ​สัตย์​ใน​ของ​เล็ก​น้อย​จะ​ซื่อ​สัตย์​ใน​ของ​มาก​ด้วย และ​คน​ที่​ไม่​ซื่อ​สัตย์​ใน​ของ​เล็ก​น้อย จะ​ไม่​ซื่อ​สัตย์​ใน​ของ​มาก​เช่น​กัน...”

การที่คริสตชนกระทำในสิ่งที่ถูกต้องมีคุณธรรม   แม้จะเป็นการกระทำที่อาจจะดูว่ามากกว่าปกติก็เป็นสิ่งที่คริสตชนควรกระทำอย่างยิ่ง   คริสตชนจะตอบสนองต่อสิ่งที่กระทำไม่ถูกต้อง  ด้วยการกระทำสิ่งที่ถูกต้องมีคุณธรรม   การกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่สังคมปัจจุบันกำลังโหยหา   เป็นเหมือนอากาศบริสุทธิ์ที่ผู้คนต้องการอย่างมากในสังคมธุรกิจ และ การทำงานของเราในปัจจุบัน

ความสัตย์ซื่อมีคุณธรรมเสริมสร้างความมั่นใจแก่ทั้งผู้ทำธุรกิจและลูกค้า  แก่ทั้งเราและเพื่อนร่วมงานที่เราทำงานด้วย   ในฐานะคริสตชนผู้คนรอบข้างที่เราทำงานด้วยจะสังเกตดูพฤติกรรมและการกระทำของเราในชีวิตประจำวัน   การที่เราสำแดงชีวิตที่สัตย์ซื่อมีคุณธรรมเป็นการมีชีวิตที่เป็นแบบอย่างที่สำคัญแก่ผู้คนที่พบเห็นและสัมพันธ์ด้วย   แม้คนอื่นจะมีคุณธรรมความสัตย์ซื่อหรือไม่   แต่เขาเหล่านั้นต่างตั้งตาสังเกตว่าเราในฐานะคริสตชนเป็นคนแบบไหน

ขุมพลังจากความเชื่อศรัทธาประการที่สี่
:  บากบั่นพากเพียร

พระธรรมฮีบรู 12:1 เขียนไว้ว่า  “เพราะ​ฉะนั้น เมื่อ​เรา​มี​พยาน​มาก​มาย​อยู่​รอบ​ข้าง​อย่าง​นี้​แล้วก็​ขอ​ให้​เรา​ละ​ทิ้ง​ทุก​อย่าง​ที่​ถ่วง​อยู่ และ​บาป​ที่​เกาะ​แน่น ขอ​ให้​เรา​ยังคง​วิ่ง​แข่ง​ด้วย​ความ​ทร​หด​อด​ทน​ใน​การ​แข่ง​ขัน​ที่​อยู่​ข้าง​หน้า​เรา...”

เมื่อเราต้องดำเนินไปบนเส้นทางที่ทุกข์ยากลำบากและสับสน   ในฐานะคริสตชนเราได้รับการฝึกฝนให้เป็นคนที่บากบั่นพากเพียร ด้วยความทรหดอดทน   เมื่ออุปสรรคหรือสิ่งท้าทายลุกขึ้นขวางหน้าทั้งในธุรกิจ การงานที่เราทำ หรือแม้แต่ชีวิตในครอบครัว   เราได้รับการสอนว่าให้เรามุ่งมั่นเดินต่อไป  ด้วยความสัตย์ซื่อมั่นคง   มุ่งสู่เป้าหมายด้วยความเชื่อมั่น   เราต่างรู้ว่า การเดินบนวิถีแห่งความเชื่อศรัทธานั้นยากเย็นแสนเข็ญเช่นไร   และนี่เป็นสิ่งล้ำค่าที่เราจะได้รับจากชีวิตธุรกิจ การทำงานในชีวิตประจำวันของเรา

การที่เราต้องพบกับความยากลำบากทั้งชีวิต และ ธุระกิจการงาน เป็นการที่เราบริหารมัดกล้ามเนื้อแห่งความเชื่อศรัทธาของเราให้เข้มแข็งมีกำลังมากขึ้น   ถ้าเราใช้พลังชีวิตของเราในวิถีทางของพระเจ้า   เราก็จะพบว่าเราสามารถทำให้เกิดผลเพิ่มพูนมากมายในชีวิตเพื่อแผ่นดินของพระเจ้า

เมื่อเรากระทำธุรกิจ การงานอาชีพของเรา พระเจ้าทรงอวยพระพร   เราต้องตระหนักชัดเสมอว่า พระเจ้าทรงเอาใจใส่ธุระกิจการงานอาชีพที่เราแต่ละคนต้องกระทำและรับผิดชอบ   และเมื่อเราไว้วางใจในพระองค์   เราจะพบสัจจะความจริงว่า   พระเจ้าทรงอยู่เคียงข้างและอยู่ฝ่ายเรา   และไม่มีใครที่จะต่อต้านเราได้

แม้ความยากลำบากที่เกิดขึ้นในการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา  ไม่ว่าในธุรกิจ การงาน และอาชีพที่เราทำ   ในชีวิตครอบครัว หรือ ในความสัมพันธ์กับคนรอบข้างในชุมชน   แต่พระองค์ทรงอยู่เคียงข้างเรา   และนี่คือพระพรอันยิ่งใหญ่  และพระกำลังที่ไม่มีกำลังจากที่ใดจะเทียบเท่าได้   และนี่คือจุดแข็งที่สำคัญในการมีชีวิตคริสตชนไม่ว่าในมิติใด หรือ บริบทใดก็ตาม

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

13 กุมภาพันธ์ 2560

คุณเป็นสาวกพระคริสต์แบบไหน? สูตรใด?

การเป็นสาวกพระคริสต์ไม่ได้มีสูตรเดียว จริง ๆ แล้วไม่มี “สูตรตายตัว”

ดังนั้นการสร้างสาวกพระคริสต์ในทุกวันนี้จึงไม่ควรยึดมั่นจำกัดในสูตรเดียว “ตายตัว” เช่นกัน

เมื่อเรากลับไปศึกษาพิจารณาและใคร่ครวญการทรงเรียกสาวกของพระคริสต์   พระองค์ทรงเรียกบุคคลต่าง ๆ ที่มีความแตกต่างหลากหลาย   แล้วพระองค์ก็ทรงเรียกให้แต่ละคนมีรูปแบบ บทบาทในการเป็นสาวกของพระองค์ที่ไม่เหมือนกันด้วย   เพื่อที่จะเป็นสาวกของพระคริสต์ในสถานการณ์ และ บริบทที่แตกต่างกัน   ด้วยรูปแบบ การสำแดงออกของชีวิตที่เป็นสาวกไม่เหมือนกัน   แล้วแต่เส้นทางชีวิตประจำวัน บริบทชีวิต  และ ทักษะความสามารถ/ของประทานของคน ๆ นั้น   แต่มีเป้าประสงค์เดียวกันคือ ตามพระประสงค์ของพระคริสต์

เมื่อพระเยซูคริสต์กระทำพระราชกิจของพระองค์ในโลกนี้   มีหลายต่อหลายคนที่ติดตามพระเยซูคริสต์  และเราพบความจริงว่า  มีสาวกหลายรูปแบบ และ และหลายบทบาทที่ไม่เหมือนกัน   ในช่วงแรกเริ่มพระราชกิจของพระองค์เป็นช่วง “มาดูเถิด” (ยอห์น 1:39 มตฐ.)   และจากกลุ่มคนที่ติดตามพระองค์ไป   พระองค์ทรงเลือกสาวกใกล้ชิด/สาวกใกล้ตัว 12 คน   จากกลุ่มคนที่ติดตามพระองค์หลายคน

เรายังพบอีกว่ามีบางคนที่เข้าร่วมกระบวนการของพระคริสต์ในบางเวลา   และคนเหล่านี้อาจจะไม่ปรากฏชื่อในพระคัมภีร์   หรือ ไม่พบว่าเขาได้รับการทรงเรียกเป็นการส่วนตัวจากพระเยซู   แต่เราก็พบด้วยเช่นกันว่า  บางคนเป็นสาวกติดตามพระคริสต์อย่างเงียบ ๆ เช่น นิโคเดมัส ที่ต้องมาพบพระคริสต์ในเวลาค่ำคืน   หรือ อย่าง โยเซฟชาวอาริมาเธีย ที่เป็นสาวกลับๆ (ยอห์น 19:38 มตฐ.)   ขอย้ำว่า คนเหล่านี้เป็นสาวกของพระคริสต์ และ มีบทบาทในการเป็นสาวกที่แตกต่างกันออกไป   ตามบริบทและสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน   พระคัมภีร์ไม่ได้ขีดเส้นจำกัดตายตัวถึงรูปแบบการเป็นสาวกที่แท้จริงของพระคริสต์   แต่พระคริสต์กำหนดคุณภาพชีวิตในการเป็นสาวที่เหมือนกัน

คนแบบไหนที่เป็นสาวกพระคริสต์

คนเหล่านี้แต่ละคนก็ยังเป็นสาวกของพระคริสต์  ผู้คนจำนวนมากที่อยากรู้อยากเห็นแล้วติดตามไปฟังคำสอนของพระเยซูคริสต์และก็เข้าใจแล้วก็ตัดสินใจเป็นการส่วนตัวว่าเป็นสาวกของพระองค์   แล้วสาวกในกลุ่มนี้บางคนก็เลิกติดตามพระองค์ เพราะมีคำสอนของพระคริสต์ที่เขารู้สึกลำบากใจ  หรือไม่เข้าใจ  หรือต้องประสบกับสถานการณ์ที่ยากลำบากในชีวิต (อย่างเช่น  พระเยซูทรงเลี้ยงประชาชน 5,000 คนในยอห์น 6:1-15  แต่สาวก​ของ​พระ​องค์​หลาย​คน​ก็​ท้อถอย ไม่​ติดตาม​พระ​องค์​ต่อไป เพราะได้ยินคำสอนที่ยาก ดู ยอห์น 6:60-70)   สาวกที่แท้จริงจึงอยู่ในช่วงที่สองคือ ผู้ที่ยังยืนหยัดติดตามพระเยซูคริสต์ ไม่ว่าสถานการณ์ชีวิตจะพลิกผันยากลำบากเช่นใดก็ตาม  

บ่อยครั้งเรามักสำคัญตระหนักผิดว่า   สาวก “วงใน” เป็นสาวกจริงแท้ที่สุด   แต่เมื่อสถานการณ์พลิกผัน  ยูดาส ทรยศ “ขายพระเยซู” เพื่อจะได้เงิน 30 แผ่น   สาวกคนอื่นก็ละทิ้งหนีเอาตัวรอดเมื่อสถานการณ์วิกฤติคับขัน   เปโตรที่ยืนยันพร้อมตายกับพระคริสต์ แต่กลับปฏิเสธพระองค์ถึง 3 ครั้ง   แล้วเหลือใครที่เป็นสาวกในสายตาของเราท่านครับ?   ใต้กางเขนที่ตรึงพระเยซู   มีมารีย์มารดา  ยอห์น และ สตรีบางคนที่เคยติดตามพระองค์   แล้วพบอีกว่า โยเซฟชาวอาริมาเธีย ที่เป็นสาวกพระคริสต์เป็นการลับ   กลับเป็นคนที่ขอพระศพพระคริสต์จากปีลาตแล้วนำไปฝังที่อุโมงค์ของตน   แล้วเราคิดว่า “ใครคือสาวกพระคริสต์ที่จริงแท้” ในเวลานั้น?

หลังจากช่วง “มาดูเถิด” ต่อไปในช่วง “จงติดตามเรามา” ในช่วงนี้มีสาวกที่มีรูปแบบที่หลากหลายแตกต่างกันออกไป และ มีบทบาทที่ไม่เหมือนกัน   ในสมัยของพระเยซูคริสต์  มีสาวกบางคนที่ละทิ้งบ้านและอาชีพ แล้วติดตามพระเยซูคริสต์ไปในที่ต่าง ๆ  

แต่เราก็พบความจริงอีกเช่นกันว่า หลายคนที่ได้รับการรักษา หรือ ขับวิญญาณชั่วออกต้องการติดตามพระองค์ในที่ต่าง ๆ   แต่พระคริสต์กลับบอกให้เขา “กลับบ้าน”  เช่นหญิงที่ชโลมพระบาทพระคริสต์ด้วยน้ำหอม   หลังจากนั้นพระองค์ตรัสกับเธอว่า ...“ความ​เชื่อ​ของ​เจ้า​ได้​ทำ​ให้​เจ้า​รอด จง​ไป​เป็น​สุข​เถิด” (ลูกา 7:50 มตฐ.)   และพระเยซูบอกกับคนโรคเรื้อนที่พระองค์รักษาหายว่า  “จง​ลุก​ขึ้น​ไป​เถิด ความ​เชื่อ​ของ​เจ้า​ได้​กระทำ​ให้​ตัว​เจ้า​หาย​ปกติ” (ลูกา 17:19 มตฐ.)   ชายที่ถูกผีโสโครกสิง และ อยู่ที่อุโมงค์ฝังศพ   เมื่อพระเยซูคริสต์ขับผีออกจากเขาแล้ว   เขาขอติดตามพระองค์ไป   ​พระ​องค์​ไม่​ทรง​อนุญาต แต่​ตรัส​แก่​เขา​ว่า “จง​ไป​หา​พวก​พ้อง​ของ​เจ้า​ที่​บ้าน​ แล้ว​บอก​เขา​ถึง​เรื่อง​เหตุการณ์​ใหญ่ ซึ่ง​พระ​เป็นเจ้า​ได้​ทรง​กระทำ​แก่​เจ้า และ​ได้​ทรง​พระ​เมตตา​แก่​เจ้า​แล้ว” (มาระโก 5:19)   และพระคัมภีร์ได้บันทึกไว้ด้วยว่า  “ฝ่าย​คน​นั้น​ก็​ทูล​ลา แล้ว​เริ่ม​ประกาศ​ใน​แคว้น​ทศ​บุรี ถึง​เหตุการณ์​ที่​พระ​เยซู​ได้​ทรง​กระทำ​เพื่อ​ตัว และ​คน​ทั้ง​ปวง​ก็​ประหลาด​ใจ​นัก​” (ข้อ 20)

ผู้คนจำนวนมากในหมู่บ้าน ในพื้นที่ที่พระเยซูคริสต์กระทำพระราชกิจของพระองค์  ที่มิได้ติดตามพระองค์ไปในที่ต่าง ๆ อย่างสาวกวงใน   แต่คนเหล่านั้นหลายต่อหลายคนที่ก็เป็นสาวกของพระเยซูคริสต์   พวกเขาเชื่อในพระองค์  แล้วดำเนินชีวิตประจำวันตามคำสอนของพระองค์   เราต้องตระหนักความจริงให้ชัดเจนว่า  มีผู้คนจำนวนมากที่มีชีวิตติดตามพระเยซูคริสต์ในชีวิตประจำวัน   ในสถานการณ์ และ บริบทชีวิตของแต่ละคน   คนเหล่านี้เป็นสาวกของพระเยซูคริสต์ด้วย

ตลอดประวัติศาสตร์แห่งพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ และ การขับเคลื่อนชีวิตและพันธกิจคริสตจักร   สาวกที่เชื่อและติดตามพระคริสต์ด้วยการดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระองค์เป็นพลังขับเคลื่อนตามที่พระคริสต์สั่งบัญชามากที่สุด และ สำคัญที่สุด   สาวกเหล่านี้ได้รับการทรงเรียกให้ทำงานอาชีพในชีวิตประจำวัน   ดำเนินชีวิตในครอบครัวบนรากฐานพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์   สำแดงชีวิตที่เป็นสาวกพระคริสต์ท่ามกลางสังคมชุมชนที่เขาใช้ชีวิตอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน   เป็นแสงสว่างของพระคริสต์ในที่ทำงาน  ในชุมชน  และในกลุ่มเพื่อน   สาวกพระคริสต์ส่วนมากไม่ได้รับการทรงเรียกให้เป็นมิชชันนารี  ศิษยาภิบาล  ศาสนาจารย์  ครูศาสนา  ผู้ปกครองคริสตจักร หรือ ผู้นำ ผู้บริหารหน่วยงานคริสตชน   แต่คนเหล่านั้นเป็นสาวกที่ขับเคลื่อนสานต่อพระราชกิจของพระคริสต์

สาวกหลายรูปแบบ หลายบทบาท เพื่อตอบสนองหลายสถานการณ์ชีวิต

แต่ผู้ที่ได้รับการทรงเรียกให้เป็นสาวกในชีวิตประจำวันเหล่านี้เป็น “สาวก” จำนวนมากที่สุดที่ “ออกไป” และ “นำชนทุกชาติให้มาเป็นสาวกของพระคริสต์”  เป็นกลุ่มสาวกที่หลากหลายรูปแบบ  มากด้วยวิธีการ  ตอบสนองหลากหลายสถานการณ์ชีวิต  และด้วยหลายบทบาทที่ตอบโจทย์ชีวิตของกลุ่มเป้าหมายของเขา  เป็นพลังขับเคลื่อนหลักที่สานต่อพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ทุกวันในชีวิตประจำวัน   ทั้งในครอบครัว ในที่ทำงาน ในกลุ่มเพื่อนฝูง และ ในสังคมชุมชน

แล้วท่านเป็นสาวกของพระคริสต์ในชีวิตประจำวันแต่ละวันหรือไม่?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

09 กุมภาพันธ์ 2560

ท่านผู้นำครับ...อย่าให้โอกาสกับกลลวง

เนหะมีย์ต้องเผชิญหน้าและต่อสู้กับ “โรคร้ายที่แพร่ระบาด” เฉกเช่นผู้นำในปัจจุบันกำลังประสบ

โรคร้ายที่ว่านี้คือ “ความหลอกลวง”  “สร้างความเจ็บปวดแก่ฝ่ายตรงกันข้าม”  และ ทุกวิธีการที่จะทำให้คู่ปรปักษ์ “อ่อนแรง สับสน หมดกำลัง” ที่จะดำเนินงานต่อไป

สันบาลลัท พยายามที่จะทำให้การซ่อมกำแพงกรุงเยรูซาเล็มต้องชะงักและล้มเหลว ด้วยการเยาะเย้ย  ยั่วเย้า และ เย้ยหยัน พวกยิว   เมื่อแผนการร้ายนี้ไม่ได้ผล   เขาก็เปลี่ยนไปใช้ยุทธวิธีสร้างความคร้ามกลัว  การวางกับดัก  และ การต้อนให้จนมุมด้วยความชาญฉลาดแกมโกงของตน   เพื่อจุดประสงค์ไม่ให้พวกยิวมีกำลังปกครองตนเองได้   เพื่อพวกตนจะสามารถครอบงำพวกยิวต่อไป

แต่เมื่อกลับมาพิจารณาภาวะผู้นำของเนหะมีย์กลับเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน   เนหะมีย์สามารถตอบโต้ทุกแผนการชั่วของสันบาลลัท   และ หนุนเสริมประชาชนคนยิวให้ยืนหยัดมั่นคงในภาวะสุ่มเสี่ยง หมิ่นเหม่ และ อันตราย   จนนิมิตหมายแห่งพระประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จ

ผู้นำคริสตจักร หน่วยงาน และสถาบันคริสตชนสามารถเรียนรู้จากบทเรียนภาวะผู้นำของเนหะมีย์ในสถานการณ์ที่ถูกข่มขู่ คุกคาม  ทำร้าย  และอุบายล่อลวงต่าง ๆ ที่ฝ่ายตรงกันข้ามสร้างขึ้น   ผู้นำท่ามกลางวิกฤติขัดแย้งต้องมีคุณลักษณะดังนี้
©       ผู้นำต้องรู้เท่าทันว่าอะไรคือกลลวง และ กับดักของฝ่ายตรงกันข้าม
©       อย่าเสียเวลากับกลลวงเหล่านั้น
©       จงวางใจในการทรงปกป้องของพระเจ้า และ มอบชื่อเสียงของท่านไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์
©       จงจับคันไถไว้ให้มั่น  แล้วไถไปข้างหน้า   โดยไม่หยุดการไถ หรือ หันหลังกลับ

“แต่​เมื่อ​สัน​บาลลัท​ และ​ โท​บี​อาห์​กับ​ชาว​อาหรับ ​และ ​คน​อัม​โมน​และ​ชาวอัศ​โดด ได้​ยิน​ว่า​การ​ซ่อมแซม​กำแพง​เยรูซาเล็ม​นั้น​กำลัง​คืบหน้า​ต่อไป และ​กำลัง​ปิด​ช่อง​โหว่​ต่าง ๆ เขา​ทั้ง​หลาย​ก็​โกรธ​มาก   และ​เขา​ก็​ปอง​ร้าย​กัน​จะ​มา​สู้​รบ​กับ​เยรูซาเล็ม และ​ก่อ​การ​โกลาหล​ขึ้น​ใน​นั้น​    แต่​เรา​ทั้ง​หลาย​ได้​อ้อน​วอน​ต่อ​พระ​เจ้า​ของ​เรา และ​วาง​ยาม​ป้องกัน​เขา​ทั้ง​หลาย​ทั้ง​กลางวัน​และ​กลางคืน” (เนหะมีย์ 4:7-9 มตฐ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

05 กุมภาพันธ์ 2560

เป็นผู้นำได้แม้ถูกจำขัง

การที่ใครคนใดคนหนึ่งมีความสามารถที่จะทำงานต่าง ๆ เกิดผลในคนอื่น และ ผ่านคนอื่นนั้น  คน ๆ นั้นจะต้องมีความสามารถในการนำคนเหล่านั้นอย่างแน่นอน   และนี่คือภาวะผู้นำ   ถ้าปราศจากภาวะผู้นำการทำงานเป็นทีมก็จะไม่เกิดขึ้น   แต่ละคนเหล่านั้นต่างก็ทำไปตามทางที่ตนเองสนใจหรือต้องการ

ถ้าใครก็ตามที่มีความฝันอันยิ่งใหญ่  และจำเป็นที่จะต้องมีทีมงานที่ร่วมกันทำให้สำเร็จตามความฝันของเขาแล้ว   เขาต้องการทีมงานเป็นอย่างมาก   เขาต้องการคนอื่นที่จะขับเคลื่อนความฝันอันยิ่งใหญ่ของเขาให้สำเร็จ   ดังนั้น  เขาคนนั้นที่เป็นผู้นำจะต้องเลือกผู้คนที่จะร่วมในทีมงานของตนที่จะขับเคลื่อนความฝันของตนให้ก้าวไป   ที่สำคัญคือ ผู้นำคนนั้นจะต้องเลือกผู้คนในทีมที่ตนสามารถทำงานในตัวของคนเหล่านั้นและผ่านคนเหล่านั้นได้   หรือที่เรามักเรียกว่า “มีอิทธิพลต่อคนเหล่านั้น” ที่เป็นทีมงานของตน

สิ่งที่ผู้นำมีเหมือน ๆ กันคือ   เมื่อเขามุ่งหน้าสู่ทิศทางใดก็ตาม  ผู้นำคนนั้นสามารถที่จะโน้มน้าวให้คนอื่น ๆ ในทีมไปในทิศทางที่ตนต้องการไปได้   และขอตั้งข้อสังเกตว่า   การที่คนอื่น ๆ ในทีมยอมตามเขาไปมิใช่เพราะเงื่อนไขทางผลประโยชน์ที่คนเหล่านั้นจะได้รับ  หรือ เพราะผู้นำใช้อำนาจกดดันบีบบังคับให้ต้องไปตามผู้นำ   แต่คนในทีมงานมุ่งมั่นตั้งใจที่จะร่วมขับเคลื่อนให้ความฝันของผู้นำสำเร็จ   ไม่ว่าสถานการณ์ในตอนนั้นจะเป็นอย่างไร  หรือ มีเงื่อนไขเช่นไรก็ตาม

อย่างเช่น  เปาโลที่ใฝ่ฝันอย่างยิ่งว่าจะประกาศข่าวดีของพระเยซูคริสต์แก่ผู้คนทั้งหลายที่ไม่ใช่ยิวให้มากที่สุดเพื่อคนเหล่านั้นจะได้มีชีวิตในพระคุณของพระเยซูคริสต์   แต่ในช่วงหลังเปาโลตกเป็นนักโทษที่ถูกคุมขัง หรือ ควบคุมจากอำนาจทางการของโรมัน   แต่น่าสังเกตว่า   แม้เปาโลจะถูกจำจองแต่เขายังมีทีมงานที่ติดตามเขาไปในที่ต่าง ๆ เพื่อทำพันธกิจสานต่อจากพระเยซูคริสต์  เช่น  มาระโก อา​ริส​ทาร​คัส เด​มาส และ​ลูกา  รวมถึงเอปา​ฟรัสด้วย

“เอปา​ฟรัส ผู้​ที่​ถูก​ขัง​ร่วม​กับ​ข้าพ​เจ้า​เพื่อ​พระ​เยซู​คริสต์ ฝาก​คำ​ทัก​ทาย​มา​ยัง​ท่าน  มาระโก อา​ริส​ทาร​คัส เด​มาส และ​ลูกา ซึ่ง​เป็น​พวก​เพื่อน​ร่วม​งาน​ของ​ข้าพ​เจ้า​ก็​ฝาก​คำ​ทัก​ทาย​มา​ยัง​ท่าน​ด้วย    ขอ​พระ​คุณ​ของ​พระ​เยซู​คริสต์​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ดำ​รง​อยู่​กับ​จิต​วิญ​ญาณ​ของ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​เถิด” (ฟิเลโมน ข้อ 23-25 มตฐ.)

วันนี้ท่านลองพิจารณาผู้คนในองค์กร/หน่วยงานของท่านดูว่า   ใครคือผู้ที่มีอิทธิพลต่อคนในองค์กร?   เขามีอิทธิพลต่อคนกลุ่มใดในองค์กร?   แล้วอิทธิพลที่ผู้นำองค์กรมีต่อคนในองค์กรกำลังมีเพิ่มขึ้น หรือ กำลังลดน้อยถอยลง?

ในกรณีนี้  เราสามารถวัดได้ว่า   ผู้ที่มีภาวะผู้นำที่ยิ่งใหญ่ คือผู้นำที่สามารถมีอิทธิพลต่อคนในทีมงานให้ขับเคลื่อนหนุนเนื่องงานให้เป็นไปในทิศทางที่ผู้นำใฝ่ฝัน   กล่าวอีกนัยหนึ่ง ผู้นำมีศักยภาพและความสามารถที่จะทำให้ทีมงานทำงานร่วมกันกับตนให้สำเร็จบรรลุตามความฝันของตนได้   แม้ผู้นำไม่ต้องลงมือนำเองก็ตาม

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

02 กุมภาพันธ์ 2560

จัดการเวลา...จัดการชีวิต?

พระเจ้าประทานชีวิตและเวลาแก่ทุกคนที่พระองค์ทรงสร้าง
แต่มนุษย์เราแต่ละคนใช้ชีวิต และ เวลาที่พระเจ้าประทานแก่เรานั้นอย่างไร?  
ในทุกวันนี้   เราใช้ “ชีวิตและเวลา” ตามพระประสงค์ หรือ เราใช้ตามใจปรารถนาของเรา?
การที่เราแต่ละคนใช้ “ชีวิตและเวลา” ที่พระเจ้าประทานอย่างไร   ย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตของตนเอง สังคมและโลก   ส่วนนี้ต่างหากที่สร้างความแตกต่างจากผลของการใช้ของประทาน “ชีวิตและเวลา” ที่แต่ละคนได้เหมือนกัน

ดังนั้น   สิ่งที่ล้ำค่าในชีวิตของมนุษย์คือ “ชีวิตและเวลา”
ไม่ใช่เงินทอง   เราแต่ละคนอาจจะแสวงหาเงินทองเพิ่มเติมได้มากมาย  
แต่เราไม่สามารถแสวงหา “ชีวิตและเวลา” มาเพิ่มเติมแก่คนเอง  เรามีเราได้ตามที่พระเจ้าประทานให้เท่านั้น
เราไม่สามารถที่จะ “สร้าง” เวลาสำหรับตนเองได้
เราไม่สามารถ “ยืมเวลา” จากธนาคารเวลาได้
และเราก็ไม่สามารถที่จะ “เก็บสะสมเวลา” ไว้ให้กับตนเอง (อย่างสะสมเงินไว้ใช้เมื่อแก่เฒ่า)
เราไม่สามารถ “ขยาย หรือ ยืดชีวิตและเวลา”   เพื่อเราจะสามารถ “สะสม” ไว้ใช้ในเมื่อต้องการ

สิ่งที่เราท่านทำได้คือ “การใช้เวลาชีวิต”   และขึ้นอยู่กับว่า  เราใช้เวลาชีวิตอย่างไรต่างหาก

ในทุกสัปดาห์  เราท่านต่างได้รับ 168 ชั่วโมง
ขึ้นอยู่กับว่าเราท่านจะบริหารจัดการใช้เวลาอย่างไรต่างหาก   ที่สร้างความแตกต่างในชีวิต
ถ้าเราไม่สามารถบริหารจัดการเวลาในชีวิตได้   แล้วเราจะไปบริหารจัดการอะไรในชีวิตได้?

อาจารเปาโลเตือนคริสตชนว่า  “... จงใช้(เวลา)ทุกโอกาสให้เป็นประโยชน์ที่สุด” (โคโลสี 4:5 ข. อมต.)
และในกิจการ 20:24 เขียนไว้ว่า  “...ชีวิตของข้าพเจ้าไม่ได้มีคุณค่าอันใดสำหรับตน   ขอเพียงแต่ข้าพเจ้าวิ่งให้ถึงหลักชัยและทำภารกิจซึ่งองค์พระเยซูเจ้าทรงมอบหมายให้สำเร็จก็แล้วกัน...”

วันนี้ท่านจะใช้เวลาชีวิตจากพระเจ้าอย่างไรในที่ทำงาน?
นั่งหายใจทิ้ง...รอเวลาเลิกงานแล้วจะได้กลับบ้าน?
ทำโน่น ดูนี่  อ่านไลน์  ตอบไลน์  เข้าเฟส  ดูคลิป  เขี่ยอินเตอร์เน็ท....   เดี๋ยวก็ถึงเวลาไปรับลูก?
อย่าอยู่กับที่...   ไปที่โต๊ะโน้นที  มาที่โต๊ะนี้ที   ให้ดูว่ากำลังยุ่งอยู่กับงาน?
งานนี้น่าเบื่อ...  ก็ทนเอา   เพราะยังหางานใหม่ที่ดีกว่านี้ไม่ได้?
หรือ...  ...  ...  ...

เราท่านเคยถามบ้างไหมว่า...
ที่พระเจ้า ให้เราทำงานในสำนักงานนี้  บริษัทนี้  องค์กรนี้  หน่วยงานนี้  พระองค์มีพระประสงค์อะไร?
พระองค์ประสงค์ให้เราใช้เวลาชีวิตที่นี่เพื่อให้เกิดอะไรขึ้น?   แล้วเราได้ทำตามพระประสงค์หรือไม่?
พระองค์ประสงค์ให้เรามีความสัมพันธ์กับคนในที่ทำงานอย่างไรบ้าง?  
แล้วเรามีความสัมพันธ์กับเขาอย่างไร?
พระองค์ต้องการให้เรามีส่วนเสริมหนุนในชีวิตของเพื่อนร่วมงานอย่างไร?  
แล้วเราได้ทำอะไรบ้างหรือเปล่า?

พระเจ้าประทานให้เรามีครอบครัว 
แล้วพระองค์ประสงค์ให้เราใช้เวลาชีวิตในครอบครัวอย่างไร?
ใช้ชีวิตเพื่อบริหารจัดการให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างที่คาดหวัง หรือ เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์มีสันติสุข?
ใช้ชีวิตในครอบครัวเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า “เธอผิดฉันถูก” ? หรือ
แสวงหาที่เราจะเสริมหนุนกันให้ชีวิตที่อยู่ร่วมกันเกิดคุณค่า?
เราอยู่ด้วยกันเพื่อให้คนอื่นในครอบครัวได้เห็นคุณค่าของ “ฉัน” หรือ “พระคริสต์” ในครอบครัว?
เราจะเสริมสร้าง “คุณค่า” ของตนเอง หรือ “คุณค่าชีวิต” ของคนในครอบครัว?
เราจะ “หนุนเสริม” หรือ “ไล่บี้” คนในครอบครัว?
เราจะ “ฟังอย่างใส่ใจ” หรือ “สอนอย่างครบชุด” หรือ “ซักอย่างชำนาญ” (เหมือนตำรวจ หรือ ทนาย)
ใช่ครับ...   เราจะใช้เวลาชีวิตในครอบครัวของเราอย่างไร?

และคงต้องมีเวลามาตรึกตรองใคร่ครวญจริงจังว่า   เราใช้ชีวิตในชุมชนอย่างไร?
ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ และ สำคัญที่คริสตชนมักมองข้ามหรือไม่เห็นความสำคัญจำเป็น
อย่าให้เราสนใจแต่เรื่องกิจกรรมในคริสตจักรเท่านั้น
แต่พระคริสต์สั่งให้เราออกไปในสังคมชุมชน ร่วมและสานต่อพระราชกิจของพระองค์บนโลกนี้
พระองค์กำลังทำพระราชกิจของพระองค์ในสังคมชุมชนรอบตัวเราแต่ละคน
แล้วเราจะใช้เวลาชีวิตที่มีอยู่ไปพบ ร่วม และสานต่องานของพระองค์หรือไม่  อย่างไร?

ทุกวันนี้เราใช้ “เวลาชีวิต” ที่พระเจ้าประทานให้อย่างมีคุณค่ามากน้อยแค่ไหน?
ทุกวันนี้เราใช้ “เวลาชีวิต” ตามที่พระองค์ประสงค์หรือไม่?  แค่ไหน? 
ทำอย่างไรที่เราท่านจะใช้ “เวลาชีวิต” อย่างมีคุณค่าสูงสุด?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499