28 พฤษภาคม 2557

พิษร้ายจากคำพูด

อ่าน สดุดี 64:1-9

ขอทรงซ่อนข้าพระองค์ให้พ้นจากการสมรู้ร่วมคิดของเหล่าคนชั่ว
ให้พ้นจากอุบายของคนชั่ว
พวกเขาลับลิ้นของตนอย่างลับดาบ   และพ่นวาจาดั่งยิงธนูอาบยาพิษ
พวกเขายิงใส่ผู้บริสุทธิ์จากที่ซุ่ม   พวกเขายิงทันทีอย่างไม่เกรงกลัว
(สดุดี 64:2-4 อมต.)

เราท่านต่างเคยรับบาดแผลหรือความเจ็บปวดจากคำพูดของคนบางคน
บ่อยครั้ง...ที่คนพูดเช่นนั้นโดยมิได้ไตร่ตรองว่าจะทำให้คนอื่นต้องได้รับความเจ็บปวด
บางครั้ง...พูดอย่างมิได้ใส่ใจว่าคำพูดของตนจะทำให้คนได้ยินได้ฟังรู้สึกเช่นไร
แต่คำพูดเหล่านั้นกลับเป็นเหมือนเหล็กในที่ต่อยฝังพิษลงในชีวิตจิตใจของผู้อื่น

ไม่ว่า...เมื่อมีใครกล่าววิพากษ์ หรือ พูดบางเรื่องที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด หรือ
ไม่รู้สึกอะไร  เพราะเรารู้สึกชาชินกับการพูดของคนๆ นั้น
สิ่งแรกที่เราจะมีปฏิกริยาต่อการวิพากษ์ของคนๆ นั้นคือ...
เราพึงถามตนเองก่อนว่า  คำกล่าวหรือการวิพากษ์นั้นมีความจริงหรือไม่
ถ้ามีความจริง...จำเป็นที่เราจะต้องสัตย์ซื่อต่อตนเอง
แล้วทูลขอพระเจ้าเมตตากรุณาช่วยเราในการแก้ไขสิ่งไม่ดีในตัวเราเอง  หรือ
ถึงแม้ว่า... การกล่าววิพากษ์นั้นเป็นการกล่าวอย่างประสงค์ร้าย
เราจะต้องไม่ยอมปล่อยให้คำวิพากษ์นั้นมีฤทธิ์ทิ่มแทงชีวิตจิตใจของเรา
แต่ให้เราทูลขอต่อพระเจ้า   เพื่อขอการทรงช่วยจากพระองค์
ให้เราได้รับความเมตตา  พระคุณ ของพระองค์  
เพื่อเราจะตอบสนองคำพูดที่ประสงค์ร้ายนั้นด้วยจิตใจที่ยกโทษเยี่ยงพระคริสต์

ยิ่งกว่านั้น   ให้เราจะสัตย์ซื่อกับตนเอง
ถ้าเราได้พูดหรือวิพากษ์ที่ทำให้คนอื่นได้รับความเจ็บช้ำน้ำใจ
ให้เรายอมรับความผิดของตนเอง  และแสวงหาการยกโทษ
ทั้งจากองค์พระผู้เป็นเจ้า  และคนที่เราทำให้ชีวิตของเขาเกิดบาดแผล  และ
รู้สึกเจ็บปวดเพราะคำพูดของเรา

จากนั้น   ให้เราทูลขอการทรงช่วยจากพระเจ้า 
อย่างคำทูลขอของผู้ประพันธ์สดุดีว่า..

“ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า   ขอทรงตั้งยามดูแลปากของข้าพระองค์
คอยเฝ้าประตูริมฝีปากของข้าพระองค์” (สดุดี 141:3 อมต.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

26 พฤษภาคม 2557

อย่าทำตัวเป็นตำรวจโลก!

เช้านี้เรากล่าวหาว่าคนอื่นเป็นหินสะดุด  ทำสิ่งเลวร้าย
แต่เราไม่ได้เห็นถึงสิ่งดีที่เขาตั้งใจกระทำเมื่อวานนี้

เราหัวเราะเยาะหญิงคนนั้นที่เดินกะโผลกกะเผลก
แต่เราไม่ได้เห็นตะปูตัวเล็กๆ ที่โผล่แทงเข้าไปในรองเท้าของเธอ

เราล้อเลียนความกลัวที่แสดงออกมาจากสีหน้าดวงตาของเธอ
แต่เราไม่รู้เลยว่าเมือวานนี้เธอต้องหลบลูกหลงจากการต่อสู้กันของสองพวกอย่างไร             
เธออาจจะกลัวว่า วันนี้อาจจะหลบไม่ทันเหมือนเมื่อวาน

ผู้คนเห็นว่า  เธอบริหารจัดการชักช้าน่ารำคาญ
แต่ใครจะรู้ไหมว่า  ครั้งที่แล้วเธอล้มคะมำไม่เป็นท่าเพราะความรีบเร่งใจร้อน

เราไม่รู้เลย...
นอกจากคนที่ติดตามย่างก้าวชีวิตเมื่อวานนี้ของเธอเท่านั้น
ที่ควรเป็นคนที่ “ตัดสิน” เธอ

มิเพียงแต่เราทำตัวโฉดเขลาอวดดีมองข้าม “เมื่อวานนี้” ของเธอ
เรายังไม่รู้ถึง “วันพรุ่งนี้” ของเธออีกด้วย
แล้วเรากล้าหาญอวดดีเช่นไรไปตัดสิน “หนังสือที่เขียนยังไม่เสร็จ” ว่า “ห่วย”?

เราควรจะตัดสินชี้ขาดทั้งๆ ที่จิตกรยังจับพู่กันละเลงไปบนผืนผ้าภาพที่วาดหรือ?
เราจะไปตัดสิน “คนอื่น” “ชาติอื่น” ได้อย่างไร 
เมื่อพระเจ้ายังทรงกระทำพระราชกิจในชีวิตของพวกเขา?

เปาโลมองคริสตชนในเมืองฟีลิปปีว่า
“ข้าพเจ้าแน่ใจอย่างนี้ว่า พระองผู้ทรงเริ่มต้นการดีไว้ในพวกท่าน
จะทรงทำให้สำเร็จจนถึงวันแห่งพระเยซูคริสต์...” (ฟีลิปปี 1:6 มตฐ.)

พระเยซูคริสต์กล่าวเตือนเราแต่ละคนว่า
3 ทำไม​ท่าน​มอง​เห็น​ผง​ใน​ตา​พี่​น้อง​ของ​ท่าน
แต่​กลับ​มอง​ไม่​เห็น​ไม้​ทั้ง​ท่อน​ที่​อยู่​ใน​ตา​ของ​ท่าน?
4 ท่าน​จะ​กล่าว​กับ​พี่น้อง​ได้​อย่างไร​ว่า ให้​ฉัน​เขี่ย​ผง​ออก​จาก​ตา​ของ​เธอ?’
ทั้งๆ ที่​มี​ไม้​ทั้ง​ท่อน​อยู่​ใน​ตา​ของ​ท่าน​เอง
5 คน​หน้า​ซื่อ​ใจ​คด จง​ชัก​ไม้​ทั้ง​ท่อน​ออก​จาก​ตา​ของ​ท่าน​ก่อน
แล้ว​ท่าน​จะ​เห็น​ได้​ถนัด จึง​จะ​เขี่ย​ผง​ออก​จาก​ตา​พี่​น้อง​ของ​ท่าน​ได้
(มัทธิว 7:3-5 มตฐ.)

เราท่านคงจำได้นะครับว่า   คำตรัสนี้พระองค์กำลังตรัสกับใคร!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

เมื่อชีวิตต้องปล้ำสู้กับความเครียด

บรรดาผู้เหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนักจงมาหาเรา  และเราจะให้ท่านพักสงบ
จงรับแอกของเราแบกไว้และเรียนรู้จากเรา   เพราะเราสุภาพและถ่อมใจ
แล้วจิตวิญญาณของท่านจะพักสงบ
เพราะแอกของเรานั้นพอเหมาะ และ ภาระของเราก็เบา
(มัทธิว 11:28-30  อมตธรรม)

เหตุการณ์เลวร้ายต่างๆในชีวิตของเราตั้งแต่เด็กได้ผ่านพ้นไป   สถานการณ์ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย   แต่บาดแผลชีวิตจิตวิญญาณต่างๆ ของเราที่ได้รับตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน   มันยังคงเป็นบาดแผลที่บาดลึกลงในพื้นที่ชีวิตจิตใจ  จิตวิญญาณ และความรู้สึกของเรา  

สิ่งเหล่านี้ใช่ไหมที่มักโผล่ขึ้นมาบนพื้นที่ชีวิตของเรา  และกระตุ้นจิตสำนึกของเรา   สร้างความหวั่นไหว   ไม่มั่นใจ   เพิ่มความเครียดให้เกิดขึ้นในชีวิตของเราหรือเปล่า?

เมื่อเราเกิดความเครียดทั้งที่รู้ตัว หรือ ความเครียดที่ซ่อนเร้น   ยิ่งเราพยายามที่จะจัดการกับความเครียดที่เราประสบอยู่ยิ่งทำให้เราเครียดต่อไปอย่างยืดยาว...ฤาจะไม่มีที่สิ้นสุด   หาทางหลุดออกจากวงจรอุบาทว์ของความเครียดก็ไม่ได้   ดูเหมือนยิ่งดิ้นยิ่งรัดแน่น

ในคืนที่เครียดทำให้ความคิดของเราวกวนสับสน   ทวีความแรงที่สับสนที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น  เพิ่มความถี่ของความเครียดมากยิ่งขึ้น   นอนไม่หลับ  พลิกซ้ายหันขวา  หลับตาได้แต่ใจไม่หลับ   ยิ่งพยายามข่มตาข่มใจให้หลับ   ดูเหมือนยิ่งมีแรงเครียดปะทุมากขึ้น   เกิดความกังวล  ความกลัวปรากฏตัว

ยิ่งพยายามจัดการกับความเครียด  ความกังวล  และความกลัวของตนเอง   ยิ่งเพิ่มความสับสนและเกิดรู้สึกอัดแน่นและฟุ้งซ่านไร้ทิศทางทั้งในความคิดและความรู้สึก   ยิ่งไล่ความเครียด ความกังวล และความกลัวที่กำลังแผงฤทธิ์อยู่ให้ออกไปจากชีวิต   แต่มันยิ่งเกาะแน่นเหมือนแมวที่เกาะติดเสื่อไม่ยอมปล่อยฉันใดฉันนั้น

ประสบการณ์คือ  หมดหนทาง  หมดปัญญา  หมดความสามารถที่จะจัดการกับความเครียดดังกล่าว

ในมัทธิว 11:28  พระเยซูคริสต์บอกกับผู้ที่กำลังปล้ำสู้กับความเครียด ความกังวลในชีวิตว่า

28 บรรดาผู้​​เหน็ด​เหนื่อย​และ​แบก​ภาระ​หนัก จง​มา​หา​เรา และ​เรา​จะ​ให้​ท่าน​พักสงบ (อมตธรรม)
นี่คือคำเชิญชวนและพระสัญญาของพระคริสต์   ในเมื่อเราพบความจริงแล้วว่า   เราไม่สามารถจัดการกับความเครียดวิตกกังวลและความกลัวด้วยตนเองได้แล้ว    คำเชิญชวนที่เราสามารถทำได้คือ   การเข้าหาองค์พระผู้เป็นเจ้า   แล้วพระองค์จะให้โอกาสแก่ชีวิตของเรา “ได้หยุดพัก” (มตฐ.) หรือชีวิตได้ “พักสงบ” (อมตธรรม)

ที่ผ่านมาพื้นที่ในชีวิตของเราถูกยึดครองด้วยเรื่องราวต่างๆ มากมายที่ราต้องเผชิญปล้ำสู้ในชีวิต   จนเราไม่มี “พื้นที่ว่าง” สำหรับพระคริสต์ในชีวิตของเรา   การมาหาพระเยซูคริสต์   คือการเปิดพื้นที่ว่างในชีวิตของเราสำหรับพระคริสต์   เป็นพื้นที่ที่จะรองรับเอาท่าทีการดำเนินชีวิตของพระคริสต์เพื่อเราจะเรียนรู้จากพระองค์   ถ้าเราไม่มีพื้นที่ว่างในชีวิตของเราสำหรับพระคริสต์   เราก็จะไม่มีแบบอย่างชีวิตพระคริสต์ที่เราจะเรียนรู้ได้

การเข้ามาของพระคริสต์ในพื้นที่ชีวิตของเราเป็นสัมพันธภาพที่เรามีกับพระองค์   เป็นโอกาสที่พระองค์เข้ามาเพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา   พระองค์ให้เราเปลี่ยน “แอก” ที่ต้องแบกในชีวิตที่ผ่านมาให้เปลี่ยนไปแบก “แอก” ของพระคริสต์

ภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบ  การงาน  ครอบครัว  ความสัมพันธ์  สังคม  ตลอดจนบาดแผลที่ฝังเร้นลึกในชีวิตที่เราต้อง “แบกรับ” อย่างหนักทั้งกาย ใจ และจิตวิญญาณ  จนอ่อนเปลี้ยเพลียแรง  ยังไม่พอต้องตกอยู่ในวังวนความว้าวุ่นวิตกกังวลด้วยความกลัว   ภาระเหล่านี้มันหนักเกินกำลังที่เราจะรับไว้ได้  

แต่เมื่อพระคริสต์เข้ามาในพื้นที่ชีวิตของเรา   พระองค์ท้าชวนให้เราเปลี่ยนสิ่งที่เราต้องแบกในชีวิต   ที่ผ่านมาเราต้องแบกภาระอันเกิดจากเป้าหมายชีวิตที่เราอยากได้ใคร่เป็น   อันเป็นแอกแห่งความต้องการของเราเอง   พระองค์ท้าชวนให้เราปลดแอกแห่งตนเองออก   แล้วน้อมรับเอาแอกของพระคริสต์   คือการปลดแอกแห่งความต้องการของตนเองออก   แล้วรับเอาแอกตามพระประสงค์ของพระคริสต์สำหรับชีวิตของเรา  

พระคริสต์สัญญาว่า  แอกของพระองค์สำหรับเรานั้น “เบา และ พอเหมาะ” สำหรับแต่ละคน

พระประสงค์ของพระคริสต์สำหรับชีวิตของแต่ละคนนั้น “เหมาะสม และ สอดคล้อง” กับชีวิตของแต่ละคน

เมื่อพระคริสต์อยู่ในพื้นที่ชีวิตของเรา   เราจึงมีโอกาสและสามารถเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงชีวิตให้เป็นไปตามแบบอย่างท่าทีชีวิตของพระองค์  คือ ชีวิตที่สุภาพและถ่อมใจ   ซึ่งต่างจากรูปแบบการดำเนินชีวิตแบบเดิมที่ต้องแข่งขัน  ชิงดีชิงเด่น  ชิงไหวชิงพริบ   ใช้อำนาจเพื่อได้สิ่งที่ต้องการ และ ฯลฯ

แต่เมื่อเราเปลี่ยนรูปแบบและท่าทีในการดำเนินชีวิตแบบพระคริสต์ที่ “สุภาพและถ่อมใจ” ไม่ว่าสถานการณ์แวดล้อมจะมีภาวะเช่นไร   แต่ชีวิตของเราก็จะได้รับการ “พักสงบ” จากพระคริสต์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

19 พฤษภาคม 2557

คำขู่ หรือ คำสัญญา?

3 แต่​การ​ล่วง​ประเวณี การ​โสโครก​ทุก​อย่าง​และ​การ​ละโมบ​นั้น แม้​แต่​จะ​เอ่ย​ถึง​ในท่ามกลาง​พวก​ท่าน​ก็​อย่า​เลย จะ​ได้​สม​กับ​ที่​เป็น​พวก​ธรรมิกชน

4 และ​การ​พูด​ลา​มก การ​พูด​เล่น​ไม่​เป็น​เรื่อง หรือ​การ​พูด​หยาบ​โลน ก็​เป็น​สิ่ง​ที่​ไม่​เหมาะ​สม แต่​จง​ขอบ​พระ​คุณ​ดี​กว่า

5 ขอ​จง​รู้​ชัด​ถึง​เรื่อง​นี้​ว่า ทุก​คน​ที่​ล่วง​ประเวณี​หรือ​ที่​ทำ​การ​โสโครกหรือ​ที่ละโมบ (ซึ่ง​ก็​คือ​คน​นับ​ถือ​รูป​เคารพ) จะ​ไม่​มี​มร​ดก​ใน​แผ่น​ดิน​ของ​พระ​คริสต์​และ​พระ​เจ้า
(เอเฟซัส 5:3-5 มตฐ.)

เคยมีคริสตชนที่เข้าใจว่า พระธรรมเอเฟซัส 5:5 เป็น “คำขู่” ที่เปาโลใช้ปรามคริสตชนไม่ให้กระทำผิดทางเพศ และ ความละโมบโลภมาก   เพราะจะถูกตัดสิทธิ หรือ ถูกไล่ออกจากมรดกในแผ่นดินของพระเจ้า   ที่เปาโลขู่ หรือ ปรามเช่นนี้เพราะต้องการให้คริสตชนพึงระมัดระวังที่จะไม่กระทำบาปชั่วที่เลวร้ายดังกล่าวหรือ?

ในเอเฟซัส 5:5 กล่าวว่า   ขอจงรู้ชัดถึงเรื่องนี้ว่า   ทุกคนที่ล่วงประเวณี  หรือที่ทำการโสโครก  หรือที่ละโมบ...ซึ่งก็คือคนนับถือรูปเคารพ...จะไม่มีส่วนในมรดกในแผ่นดินของพระคริสต์และพระเจ้า   ในข้อ 5 นี้เป็นการขยายความหมายของข้อที่ 3 เกี่ยวกับการล่วงประเวณี  การโสโครก  และการละโมบว่าทำไมควรเกิดขึ้นในชีวิตของคริสตชนและในคริสตจักร

นี่ไม่ใช่คำขู่   แต่นี่คือสัจจะความจริง   ที่คริสตชนที่มักอ้างว่าตนได้รับความรอดแล้วในพระเยซูคริสต์ยังมีพฤติกรรมชีวิตเหล่านี้อยู่   ทำให้เปาโลต้องเขียนจดหมายเตือนบรรดาคริสตชนกลุ่มนี้ว่า   ถ้าชีวิตยังขืนเป็นเช่นนี้เขาจะไม่มีมรดกในแผ่นดินของพระคริสต์และของพระเจ้า (ข้อ 5)   หรือจะไม่มีส่วนในแผ่นดินของพระเจ้า

ทำไมเปาโลถึงว่าเช่นนั้น   เปาโลเคยกล่าวมิใช่หรือว่า  เรามิได้รอดด้วยการประพฤติของเรา   แต่เรารอดด้วยพระคุณของพระเจ้า?

ใช่เลยครับ!   เราไม่สามารถรอดด้วยการกระทำดีของเราเอง   แต่เรารอดด้วยความรักเมตตาที่เสียสละชีวิตของพระคริสต์   เรารอดด้วยพระคุณของพระองค์   แต่คนกลุ่มนี้กระทำปู้ยี่ปู้ยำพระคุณของพระเจ้า   คนกลุ่มนี้ทำให้พระคุณของพระเจ้าด้อยค่าราคาลด   คนเหล่านี้กำลังหลู่พระเกียรติของพระเจ้า!

มองในอีกมุมหนึ่ง   คริสตชนกลุ่มนี้น่าสงสารและเห็นใจ   เพราะชีวิตที่ได้รับความรอดของเขากลับถูกครอบงำจากอำนาจบาปชั่ว   ความคิด  มุมมอง  การตัดสินใจ  การพูด  และพฤติกรรมชีวิตของเขากลับตกใต้อำนาจและอิทธิพลของความบาปชั่วในลักษณะต่างๆ  ซึ่งในที่นี้เปาโลระบุถึงการตกอยู่ใต้อิทธิพลความบาปชั่วสามลักษณะคือ  คนล่วงประเวณี   คนโสโครก  และ คนละโมบ

เมื่ออ่านถึงข้อที่ 5  ผมเกิดคำถามขึ้นมาทันทีว่า   ทำไมเปาโลเตือนสำนึกให้ผู้อ่านตระหนักว่า   ความบาปชั่วทั้ง 3 ลักษณะดังกล่าวถึงเป็นการกราบไหว้รูปเคารพ?   อมตธรรมแปลตอนนี้ว่า “คนเช่นนี้เป็นผู้กราบไหว้รูปเคารพ” 

ผู้ที่กราบไหว้รูปเคารพ   คือคนที่ยอมตนสวามิภักดิ์ต่อสิ่งที่เขาไหว้และเคารพ   เขาเทิดทูนให้สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ สูงสุด และขาดไม่ได้ในชีวิตของเขา   และในความเป็นจริงคือสิ่งนั้นมีอิทธิพลครอบงำและบงการชีวิตของเขาทั้งสิ้น   ในที่นี้เปาโลบอกกับผู้อ่านว่า  คริสตชนกลุ่มนี้กำลังถูกอิทธิพลและอำนาจของการล่วงประเวณี   ชีวิตที่โสโครกไม่บริสุทธิ์   และ ชีวิตที่มีแต่ความละโมบในรูปแบบต่างๆ บงการทั้งในการคิด  การพูด  และการกระทำของคนๆ นั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็ชัดเจนว่า   คริสตชนคนนั้นๆ ไม่ได้มีชีวิตในแผ่นดินของพระคริสต์และแผ่นดินของพระเจ้า   คือชีวิตของเขาหลุดออกไปจากการครอบครองของพระคริสต์และพระเจ้า   พระคริสต์ไม่ได้เป็นใหญ่ในชีวิตของเขาต่อไป   แต่ชีวิตของเขาถูกครอบงำด้วยอิทธิพลของของการล่วงประเวณี   ความคิด การพูด และการกระทำที่โสโครก   การมุ่งคิดวางแผนงานต่างในชีวิตภายใต้อิทธิพบของความละโมบโลภมาก

แน่นอนครับ   จะไม่มีส่วนใดเลยในแผ่นดินของพระคริสต์และของพระเจ้า!

นี่ไม่ใช่คำขู่ครับ   แต่เป็นสัจจะความจริงแห่งพระสัญญาของพระเจ้าครับ!

เปาโลชวนเราให้ใคร่ครวญพิจารณาตนเองในวันนี้ว่า  

แล้วชีวิตคริสตชนของเรายืนอยู่ที่ไหนกันแน่ครับ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

16 พฤษภาคม 2557

เมื่อคริสตชนเดินสวนทางกับพระคริสต์?

คนทั้งสามก็ตีฝ่าแนวรบของฟีลิสเตียไปตักน้ำจากบ่อนั้น(ใกล้ประตูเมืองเบธเลเฮม)มาให้  
แต่ดาวิดไม่ยอมดื่ม   กลับรินลงต่อหน้าองค์พระผู้เป็นเจ้า...
(2ซามูเอล 23:16 อมต.)

การขึ้นเถลิงราชบัลลังก์ของดาวิดมิได้เป็นไปด้วยความสะดวกราบเรียบ  ภายหลังที่เขาได้รับการเจิมจากผู้เผยพระวจนะซามูลเอล   ดาวิดก็ไม่เป็นที่ถูกตาต้องใจของทางราชบัลลังก์จนเขาต้องหนีเร่ร่อนระหกระเหินเพื่อเอาชีวิตรอด  เขาต้องหนีไปซ่อนตัวในถ้ำ ในถิ่นทุรกันดารนอกกรุงเยรูซาเล็มพร้อมกับกลุ่มที่ติดตามเขาไปด้วยความจงรักภักดี  ซึ่งพระคัมภีร์เรียกกลุ่มคนนี้ว่า “ยอดนักรบของดาวิด” (อมต.)

ในพระธรรม 2 ซามูเอล ได้เล่าเรื่องหนึ่งว่า   เมื่อดาวิดกระหายน้ำและเปรยขึ้นว่า  “ถ้ามีใครไปนำน้ำจากบ่อใกล้ประตูเมืองเบธเลเฮมมาให้ดื่มก็จะดี!” (23:15 อมต.)   ซึ่งในเวลานั้น เยรูซาเล็มถูกกองกำลังของฟีลิสเตียศัตรูตัวร้ายกาจล้อมอย่างเข้มแข็งแน่นหนา

เมื่อได้ยินคำเปรยของดาวิด  “ยอดนักรบ”สามคนของดาวิดได้ตีฝ่าแนวรบของฟีลิสเตียไปตักน้ำจากบ่อใกล้เยรูซาเล็มมาให้ดาวิด  พวกเขาสามารถหนีรอดและปลอดภัยจากการติดตามไล่ล่าของกองกำลังฟีลิสเตีย   กลับมาถึงที่ซ่อน   และนำน้ำนั้นมาให้แก่ดาวิด

แต่นักรบผู้แกร่งกล้าทั้งสามต้องประหลาดใจ   เมื่อดาวิดไม่ยอมดื่มน้ำที่ทั้งสามยอมเสี่ยงตายนำมา   แต่ดาวิดกลับรินลงต่อหน้าองค์พระผู้เป็นเจ้า

ดาวิดมิได้ปฏิเสธที่จะรับน้ำนั้นจากยอดนักรบที่อุตส่าห์เสี่ยงชีวิตไปนำมา   แต่ดาวิดกลับยกย่องวีรกรรมที่ยอมเสียสละสุดๆ ของทั้งสาม   ซึ่งเป็นการเสียสละที่บริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์  เกินกว่าที่ดาวิดจะยอมดื่มน้ำนั้นอย่างเห็นแก่ตัว   ดาวิดทูลต่อพระเจ้าว่า “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า  ข้าพระองค์ไม่อาจดื่ม(น้ำนี้)ได้! นี่คือเลือดของคนที่เสี่ยงชีวิตเอามาไม่ใช่หรือ?” (ข้อ 17 อมต.)

ภาพของพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมตอนนี้   ทำให้เราคริสตชนต้องกลับมาทบทวนถึงการดำเนินชีวิตของเราที่เรียกตนเองว่าเป็นคริสตชน หรือ คนที่ติดตามพระเยซูคริสต์   เปาโลกล่าวใน 2โครินธ์ 5:15 ว่า   เพราะว่าพระคริสต์ได้ยอมสิ้นชีวิตเพื่อเราทุกคน... “เพื่อบรรดาคนที่มีชีวิตอยู่จะไม่อยู่เพื่อตนเองอีกต่อไป   แต่อยู่เพื่อพระองค์ที่สิ้นพระชนม์  และทรงเป็นขึ้นมาเพราะเห็นแก่เราทั้งหลาย” (มตฐ.)

พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมตอนนี้ได้สะท้อนความจริงแก่เราว่า   เราไม่ควรดำเนินชีวิตประจำวันของเราอย่างเห็นแก่ตนเอง   ดาวิดได้รินน้ำนั้นลงบนพื้นดินต่อหน้าองค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อมอบถวายน้ำนั้นแด่พระองค์   เช่นเดียวกัน   การที่เราได้รับของพระราชทานอันหาค่ามิได้ที่พระเจ้าประทานแก่เรา   คือชีวิตของพระเยซูคริสต์   เรามิใช่รับของประทานนั้นเพื่อตัวเราเองอย่างเห็นแก่ตัว   แต่ให้เรา “รินชีวิต” นั้นเพื่อเป็นการถวายด้วยการรับใช้พระองค์ท่ามกลางชีวิตของผู้คนที่อยู่ล้อมรอบข้างเรา   ตามพระประสงค์ของพระองค์

ดาวิดไม่ยอมดื่มน้ำจากบ่อใกล้เยรูซาเล็มอย่างเห็นแก่ตัว

ต่างจากคริสตชนในปัจจุบันจำนวนมาก   ที่ยอมรับเอาพระโลหิตของพระเยซูคริสต์   ที่ไถ่ถอนให้ตนเองได้ชีวิตรอดพ้นจากอำนาจแห่งความบาปผิด   แล้วตั้งหน้าตั้งตารอที่จะไปอยู่ที่สวรรค์เท่านั้น   เป็นคริสตชนที่รับความรอดอย่างเห็นแก่ตัวหรือไม่?   แล้วไปชวนคืนอื่นๆ ให้มาเป็นคริสตชนที่เห็นแก่ตัวอีกหลายๆ คน?

ดังนั้น พระกิตติคุณของคนกลุ่มนี้จึงเป็นพระกิตติคุณเพื่อประโยชน์ของตัวเอง!

เมื่อมาเป็นสมาชิกในคริสตจักร  ก็มาคริสตจักรเพื่อแสวงหาความสงบใจของตนเอง  หาความสุขความพอใจของตนเอง   ประกอบศาสนพิธีเพื่อความบริสุทธิ์ของตนเอง   ประกาศให้คนรับเชื่อเพราะเชื่อว่าเมื่อตายไปแล้วตนเองจะได้มีตัวเลขไปรายงานองค์พระผู้เป็นเจ้าว่าตัวเองได้ทำให้คนอื่นกลับใจกี่คน?  

ทำเพื่อตนเองทั้งนั้น!?

คริสตชนปัจจุบันหลายคนที่ทำตัวเป็นเหมือนผู้โดยสารรอรถที่ป้ายรถเมล์พร้อมตั๋วรถ  เพื่อที่จะขึ้นรถเมล์คันที่จะนำเขาไปสวรรค์

แต่คริสตชนกลุ่มนี้ไม่สนใจใยดีว่า ชุมชนสังคมรอบข้างจะมีชีวิตเช่นไร   ปฐมเทศนาของพระเยซูคริสต์ดูจะไม่มีอิทธิพลในความคิดและการดำเนินชีวิตของคนกลุ่มนี้เลย   แต่น่าแปลกมาก  เขาทำตัวเหมือนคนที่ไม่ต้องการอยู่ในโลกนี้   แต่เขากลัวที่จะต้องจากโลกนี้!      ซึ่งตรงกันข้ามกับคำสั่งของพระคริสต์ที่ส่งเขาเข้าไปในสังคมโลกนี้   และทรงกระตุ้นเตือนให้ตระหนักเสมอว่าเขาไม่ใช่คนของโลกนี้

ปัจจุบันเราจะหาคริสตชนที่มีจิตวิญญาณเหมือน “ยอดนักรบของดาวิด” ได้ที่ไหน?   ที่เป็นคนรับใช้ของพระคริสต์   ที่พร้อมจะตอบสนองต่อความประสงค์ของพระองค์ทันที ในแต่ละเรื่อง   แม้ต้องเสี่ยงชีวิตปานใดก็ตาม 

พระเยซูคริสต์ยอมให้ชีวิตแก่ทุกคน   แต่ในปัจจุบันนี้คริสตชนไทยสักกี่คนที่พร้อมยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อพระประสงค์ของพระคริสต์?   เพื่อแผ่นดินของพระเจ้าที่พระคริสต์ทรงนำมาสถาปนาในแผ่นดินโลก?

พระเยซูคริสต์สอนสาวกอธิษฐานว่า   ...ขอให้แผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่  ในสวรรค์เป็นอย่างไร   ให้เป็นอย่างนั้นมาในแผ่นดินโลก...   แปลกนะ...  พระเยซูคริสต์ตั้งอกตั้งใจมาในโลกนี้   เพื่อนำแผ่นดินและการปกครองของพระเจ้ามาสถาปนาในโลกนี้   แต่คริสตชนส่วนหนึ่งพยายามจะทำตนเองให้ได้ไปสวรรค์?   ไม่สนใจใยดีการดำเนินชีวิตในวันนี้ว่าสร้างผลกระทบเช่นไรต่อชุมชนสังคมโลก!

แล้วคริสตชนคนนั้นจะเดินสวนทางกับพระเยซูคริสต์หรือเปล่าเนี่ย!?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

15 พฤษภาคม 2557

กรอบคิดชัยชนะแบบไหน?

ถ้าจะกล่าวว่า  การชนะเป็นสิ่งที่อยู่ในสายเลือดของผมคงไม่เกินความเป็นจริง   นอกจากมันซ่อนตัวในกระแสเลือดของผมแล้วมันยังฝังลึกในใต้จิตสำนึกของผม   และสิ่งนี้มันมิได้อยู่ในตัวผมเท่านั้น   แต่มันยังถ่ายทอดลงไปยังลูกสาวลูกชายของผมด้วย   ใช่ครับ  เขาต้องการมีชีวิตที่ชนะครับ   แต่การที่ใครจะชนะก็จะต้องลงในสังเวียนชีวิตของการแข่งขัน

ในสนามการทำงานเต็มไปด้วยการแข่งขัน   เพราะแต่ละคนในสนามการงานต่างต้องการชนะ เด่น ดี ดัง   ต่างต้องการทำได้ดีกว่าคนอื่นๆ   ดังนั้น จะต้องหาทางทำงานให้ได้ผลงานมากกว่าคนอื่น  หรือ ทำงานให้เข้าตาเจ้านายมากกว่าคนอื่น   ชัยชนะที่กำลังพูดถึงนี้เป็นชัยชนะที่แต่ละคนต้องการให้ตนเองชนะ  เอาชนะแม้คนที่ทำงานในบริษัทเดียวกัน   ชนะแม้แต่คนที่ทำงานในองค์กรเดียวกัน   ชนะเพื่อตนเองจะโดดเด่นกว่าคนอื่นๆ   เพื่อที่จะแสดงว่าตนเองมีความสามารถด้านต่างๆ เหนือกว่าคนอื่นๆ   เป็นชัยชนะที่ตนเองจะได้    เป็นชัยชนะที่เพื่อนที่ทำงานด้วยกันต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้  และสูญเสีย!?

ปัจจุบัน คนเราถูกหล่อหลอม หรือ ถูกครอบงำด้วยอิทธิพลกระแสสังคมที่แข่งขันว่า   ชีวิตนี้ต้องชนะ   และยิ่งกว่านั้นต้องชนะเท่านั้น   ดังนั้น  เมื่อชีวิต “ไม่ชนะ” ไม่ได้อย่างใจคาดหวัง  หรือไม่ได้ดั่งใจที่คิดว่าตนควรจะได้   ก็รู้สึกว่าตนไม่ได้รับความยุติธรรม   รู้สึกว่าตนถูกเอารัดเอาเปรียบ   เกิดความท้อแท้ใจ   กำลังใจถดถอย  บ้างถึงขั้นต่อว่าพระเจ้าในใจว่า   ทำไมพระเจ้าไม่ใส่ใจตนบ้าง   ทำไมพระเจ้าไม่ช่วยให้ตนชนะบ้าง?

เราจำเป็นที่จะต้องพิจารณากรอบคิดเรื่องชัยชนะของเราใหม่   ไม่เช่นนั้น กรอบคิดดังกล่าวจะกลับกลายเป็นอาวุธที่มาทิ่มแทงทำร้ายชีวิตของเรา   เช่น  กษัตริย์ซาอูลที่ต้องการให้ประชาชนยกย่องตนเองว่าเป็นผู้ที่มีชัยชนะ   แต่เมื่อได้ยินประชาชนร้องซ้องสรรเสริญดาวิดว่า   “ซาอูลฆ่าคนนับพัน   แต่ดาวิดฆ่าคนนับหมื่น”   เพราะการที่ซาอูลรับไม่ได้กับการที่ตนมิใช่ผู้ชนะ   และรับไม่ได้ที่มีคนที่เหนือกว่าตน  และเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงในความเป็นกษัตริย์ของเขา   เป็นเหตุให้ซาอูลต้องหาทางกำจัดดาวิดเสีย  

อะไรจะเกิดขึ้นถ้าซาอูลชื่นชมในชัยชนะของดาวิด?

ปัจจุบัน   เราจำเป็นต้องเปลี่ยนกรอบคิดเรื่องชัยชนะในชีวิตเสียใหม่!    ดังนี้

1.   เครื่องวัดชัยชนะมิได้วัดด้วยคะแนนที่เราทำได้เสมอไป   ทีมงานที่ประสบชัยชนะมิใช่ทีมที่ทำคะแนนได้ดีที่สุด   แต่ทีมที่ยิ่งใหญ่คือทีมที่สามารถสกัดบทเรียนจากความพ่ายแพ้ หรือ ความล้มเหลวที่ผ่านมา   พวกเขาสามารถที่จะถอดบทเรียนจากครั้งที่ผ่านมาเพื่อใช้ปรับปรุงแก้ไข เพื่อประยุกต์ใช้ในการขับเคลื่อนครั้งใหม่   ทีมนี้ยิ่งใหญ่เพราะเขาสามารถใช้โอกาสไม่ว่าจะเป็นฝ่ายแพ้หรือชนะที่จะสร้างการเรียนรู้ที่ลุ่มลึกมากกว่าชัยชนะที่ติดกรอบอยู่กับการแพ้หรือชนะคู่แข่งเท่านั้น

2.บางครั้งการที่คู่แข่งของเราประสบชัยชนะก็ดีกว่าที่เราชนะ   ยิ่งผมแก่เฒ่าลงมากแค่ไหน   ผมกลับมีความชื่นชมตื่นเต้นมากเมื่อเห็นคนอื่นประสบชัยชนะหรือเฉลิมฉลองในชัยชนะที่เขาได้รับ   ผมมีความรู้สึกชื่นอกชื่นใจและตื่นเต้นมากเมื่อเห็นคนรอบข้างได้รับชัยชนะ   ผมไม่จำเป็นที่จะต้องชนะ   แต่ผมใช้โอกาสและประสบการณ์ที่ได้รับในชีวิตที่ผ่านมาช่วยเอื้ออำนวยให้คนรอบข้างชื่นชมกับชัยชนะที่เขาได้รับ   ความสุขใจของผมคือผมไม่จำเป็นที่จะต้องชนะ   ผมต้องการเห็นคนรอบข้างที่ผมทำงานด้วยค้นพบตะลันต์ความสามารถที่จะนำมาใช้ในการทำงานชีวิตของเขา   เพื่อเขาจะได้ชัยชนะล้ำไปข้างหน้าผม  แสดงว่าองค์กรของเรามีอนาคต!

3.การที่ทำตนให้ได้รับชัยชนะใช้ความพยายามน้อยกว่าการที่ยอมหนุนให้คนอื่นชนะแทนที่ตนจะชนะ   หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง   จะต้องใช้ความพยายามอย่างมากมายเพื่อชนะใจตนเอง   ที่จะชื่นชมกับชัยชนะของคนรอบข้างที่เราทำงานหรือเกี่ยวข้องด้วย   นั่นหมายความว่าเราจะต้องทำอย่างที่เรามักได้รับการสอนว่า   “ให้เราทำดีที่สุด”   ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสามารถจะควบคุมได้   แต่เราไม่สามารถที่จะควบคุมผลที่จะเกิดขึ้นจากการทำงานนั้น   เราไม่รู้ว่าเกมการเมืองในองค์กร ในบริษัทของเราจะเป็นอย่างไร   แต่สิ่งที่เราสามารถให้กับองค์กรและคนรอบข้างคือการที่เราทำดีที่สุดเต็มความสมารถของเรา   และนี่คือสิ่งที่เราจะต้องทุ่มเทความพยายามอย่างเต็มที่

กล่าวอีกนัยหนึ่งชัยชนะมิใช่เราได้รับผลที่เกิดจากการทำงานตามที่เราต้องการ ที่เราพอใจ    แต่ชัยชนะที่แท้จริงคือการที่เราทุ่มเทกำลังกาย  กำลังใจ  และกำลังสติปัญญาของเราทำงานนั้นๆ ให้ดีที่สุด   และพร้อมหนุนเสริมเพื่อนรอบข้างให้ประสบความสำเร็จและมีชัยในการงานที่กำลังทำอยู่   และชื่นชมในชัยชนะที่เขาได้รับ  

และที่สำคัญอย่างมากคือ   เหนือความชนะหรือพ่ายแพ้   ให้เราเรียนรู้ชีวิตและคุณค่าของชีวิตของทั้งเพื่อนรอบข้างและคุณค่าชีวิตของเราด้วย

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

13 พฤษภาคม 2557

จาริกไปบนวิถีแห่งกางเขน

เพราะ​ฉะนั้น​ท่าน​ทั้ง​หลาย​จง​เลียน​แบบ​ของ​พระ​เจ้า​ให้​สม​กับ​เป็น​บุตร​ที่​รัก
และ​จง​ดำ​เนิน​ชีวิต​ใน​ความ​รัก​เช่น​เดียว​กับ​ที่​พระ​คริสต์​ทรง​รัก​เรา
และ​ประ​ทาน​พระ​องค์​เอง​เพื่อ​เรา ให้​เป็น​เครื่อง​ถวาย​และ​เครื่อง​บูชา​ที่​ทรง​โปรด​ปราน​แด่​พระ​เจ้า
(เอเฟซัส 5:1-2 มตฐ.)

ผมมีเพื่อนคนหนึ่งที่เคยไปทัศนศึกษาที่กรุงเยรูซาเล็ม   เมื่อกลับมาเล่าประสบการณ์ให้ผมฟังว่า   เขามีโอกาสไปเดินบนเส้นทางที่พระเยซูคริสต์แบกกางเขนไปที่ภูเขากะโหลกศีรษะ  เขาเรียกเส้นทางนี้ว่าเป็นเส้นทางแห่งกางเขน   และเมื่อเดินไปบนเส้นทางนี้มีจุดสำคัญที่เขาจะให้หยุดเพื่อใคร่ครวญและสะท้อนคิดถึงความรู้สึกของพระคริสต์ในแต่ละจุดจำนวน 12 จุด  เพื่อที่จะซึมซับความรู้สึกของพระองค์เข้ามาในความรู้สึกของเรา

แต่ในฐานะที่เราเป็นคริสตชนที่หลายคนยังไม่มีโอกาสที่จะไปถึงกรุงเยรูซาเล็ม   จดหมายเอเฟซัสบอกกับเราว่า ในการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา   เราควรที่จะดำเนินชีวิตที่จาริกไปบนเส้นทางแห่งกางเขน  โดยกล่าวไว้ว่า  “...จงเลียนแบบของพระเจ้า...   จงดำเนินชีวิตในความรักเช่นเดียวกับที่พระคริสต์ทรงรักเรา   และประทานพระองค์เองเพื่อเรา   เป็นเครื่องถวายและเครื่องบูชาที่ทรงโปรดปรานแด่พระเจ้า”   ขอให้สังเกตคำว่า “จงดำเนินชีวิตในความรัก”   เปาโลมิได้หมายถึงการเดินบนเส้นทางที่พระคริสต์แบกกางเขนในกรุงเยรูซาเล็มเท่านั้น   แต่ท่านหมายถึงการที่เราจะดำเนินชีวิตประจำวันเฉกเช่นที่พระคริสต์ทรงแบกกางเขนไปบนเส้นทางนั้นไปทุกวัน

มีความหมายอย่างไรเมื่อพูดว่า “ดำเนินชีวิตในความรัก” ?   เปาโลได้อธิบายความหมายนี้ด้วยการชี้ชัดไปที่การยอมสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์  โดยกล่าวว่า “ประทานพระองค์เองเพื่อเรา” (ข้อ 5:2)     ถึงแม้ตลอดชีวิตของพระเยซูคริสต์ได้สำแดงความรักของพระองค์อย่างเป็นรูปธรรมในหลากหลายรูปแบบต่อประชาชน (ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงอาหาร  การเยียวยารักษาความเจ็บป่วย  การอยู่เคียงข้างประชาชนคนเล็กน้อย   การสั่งสอน และ ฯลฯ)   และความรักที่สูงสุดที่สำแดงผ่านชีวิตของพระเยซูคริสต์คือ การที่พระองค์ให้ชีวิตของพระองค์แก่มวลมนุษยชาติและแก่เราบนกางเขน   กล่าวได้ว่า หัวใจแห่งความรักของพระคริสต์คือการที่พระองค์ยอมให้ชีวิตของพระองค์แก่คนอื่น   และเปาโลบอกให้เรา “เลียนแบบ” ความรักของพระคริสต์ดังกล่าวในการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา   ให้เราดำเนินชีวิตแต่ละวันไปบนวิถีแห่งกางเขนแบบพระคริสต์   ที่ให้ชีวิตของตนเพื่อคนอื่น

หลายคนคงถามในใจว่า  คุณหมายความว่าอย่างไรกัน?   ให้เราพิจารณาในเอเฟซัส 5:2 ได้พูดเรื่องอื่นอะไรอีกไหมก่อน   เปาโลบอกว่า พระคริสต์ให้ชีวิตของพระองค์ “แก่เรา”   พระคริสต์ทรงสำแดงความรัก “แก่เรา”   เป็นการสำแดงความรักที่สูงสุด   แต่พระธรรมข้อนี้กล่าวต่อไปว่า   “ให้เป็นเครื่องถวายและเครื่องบูชาที่โปรดปรานแด่พระเจ้า”   นั่นหมายความว่า   เปาโลต้องการให้คริสตชนแต่ละคนดำเนินชีวิตแต่ละวันที่สำแดงความรักโดยยอมให้ชีวิตตนเองแก่คนอื่นรอบข้าง    พระคริสต์มิได้เพียงให้ชีวิตของพระองค์เพื่อปลดปล่อยให้เราหลุดรอดออกจากความบาปเท่านั้น   แต่ในเวลาเดียวกันพระองค์ทรงดำเนินชีวิตให้เป็นที่โปรดปรานของพระบิดาด้วย   ด้วยการรักคนรอบข้างด้วยความรักที่เสียสละของพระคริสต์   พระองค์ยังให้ตนเองเป็นเครื่องถวายบูชาแด่พระเจ้าด้วย

เราก็เช่นกัน   เมื่อเรารักเพื่อนบ้านคนรอบข้างเรารักอย่างที่พระคริสต์ทรงรักเรา   เมื่อเราจาริกไปบนเส้นทางแห่งกางเขน   เรามิได้เดินไปด้วยความรักที่เสียสละที่เรามีต่อคนรอบข้างเท่านั้น   แต่นั่นเป็นการยกย่อง นมัสการ  การสรรเสริญพระเจ้าด้วย

ขอให้เราใคร่ครวญดีๆ ว่า   การที่เรารักเพื่อนบ้านด้วยความรักที่เสียสละแบบพระคริสต์   เรากำลังทำภาระหน้าที่พร้อมกันสองประการด้วยกัน   การที่เราเอาใจใส่ด้วยรักและห่วงใยคนรอบข้าง  และเรากำลังนมัสการพระเจ้าด้วย   เป็นการที่เราสนองตอบต่อชีวิตของเพื่อนบ้าน และ เป็นการยกย่องพระเจ้าด้วย

เมื่อท่านใคร่ครวญถึงชีวิตของท่านเอง  ทั้งในอดีตและปัจจุบัน  ชีวิตของท่านได้จาริกไปบนเส้นทางแห่งกางเขนของพระคริสต์หรือไม่?   ในลักษณะใดบ้าง?   ท่านเคยรักเพื่อนบ้านหรือคนอื่นอย่างที่พระคริสต์ทรงรักท่านและประทานพระองค์เองแก่ท่านบ้างหรือไม่?  อย่างไร?   ที่ผ่านมาท่านเคยได้รับความรักที่เสียสละจากคนอื่นบ้างหรือไม่  อย่างไร?

ตลอดวันนี้   เมื่อเราดำเนินชีวิตประจำวันของเรา  ให้เราตระหนักรู้ว่า เรากำลังจาริกไปบนเส้นทางแห่งกางเขนของพระคริสต์   เราจาริกไปบนเส้นทางที่เราให้ชีวิตที่เรามีอยู่แก่ผู้คนที่เราสัมพันธ์และสัมผัส   ด้วยความรักที่เสียสละแบบพระคริสต์   และสำนึกด้วยว่า ในเวลาเดียวกันนั้นเรากำลังนมัสการ เทิดทูนและยกย่องสรรเสริญพระเจ้าด้วย

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

12 พฤษภาคม 2557

เลียนแบบพระเจ้า

1เพราะ​ฉะนั้น​ท่าน​ทั้ง​หลาย​จง​เลียน​แบบ​ของ​พระ​เจ้า​ให้​สม​กับ​เป็น​บุตร​ที่​รัก
2และ​จง​ดำ​เนิน​ชีวิต​ใน​ความ​รัก​เช่น​เดียว​กับ​ที่​พระ​คริสต์​ทรง​รัก​เรา
และ​ประ​ทาน​พระ​องค์​เอง​เพื่อ​เรา
ให้​เป็น​เครื่อง​ถวาย​และ​เครื่อง​บูชา​ที่​ทรง​โปรด​ปราน​แด่​พระ​เจ้า
(เอเฟซัส 5:1-2 มตฐ.)

ไม่แปลกใช่ไหมครับ   ที่บ่อยครั้งพบว่า ลูกถอดแบบของพ่อ/แม่ออกมาอย่างไงอย่างงั้น!

เมื่อลูกชายของผมอายุประมาณ 12 ปี   เพื่อนผมดูเขาเดินแล้วพูดออกมาว่า  “ประสิทธิ์ 2  แบบใดแบบนั้นเลย” 

จะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม   บุคลิกของลูกมักมีส่วนเลียนแบบเหมือนพ่อแม่ของเขา   ในที่นี้เราไม่ได้หมายถึงหน้าตา  สีผม  รูปตา อะไรในทำนองทางกายภาพ   แต่เรากำลังพูดถึงท่าทาง ท่าที  การพูดจา และการแสดงออก   เพราะลูกอยู่กับพ่อแม่   ฟัง ดู ท่าทีท่าทาง  อากัปกริยาที่แสดงออกของพ่อแม่   แล้วลูกทำตามทั้งๆ ที่ไม่ได้ตั้งใจหรือรู้ตัวเลย   ทั้งนี้เพราะความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนมกันแต่สิ่งเหล่านี้แทรกซึมเข้าในชีวิตของลูกเข้าไปเต็มๆ

เช่นเดียวกันครับ  เรากับพระเจ้าก็เช่นกัน   คริสตชนคนใดที่ใกล้ชิดติดสนิทกับพระเจ้าทั้งในการใคร่ครวญพระวจนะ   มีเวลาที่จะพูดคุยอธิษฐานกับพระองค์   หรือครุ่นคิดตัดสินใจตามพระประสงค์ของพระองค์   คนๆ นั้นจะเลียนแบบของพระเจ้าในชีวิตท่าที ท่าทาง และพฤติกรรมที่แสดงออก   เอเฟซัสบอกกับคริสตชนทุกคนว่า  “ให้เราเลียนแบบพระเจ้าให้สมกับเป็นบุตรที่รัก” (5:1 มตฐ.)

การมีชีวิตที่เลียนแบบพระเจ้าให้สมกับการที่เราเป็นบุตรที่รักของพระองค์นั้น   เอเฟซัสบอกกับเราว่า  เราสามารถเลียนแบบพระเจ้าได้ด้วยการ “ดำเนินชีวิตในความรักเช่นเดียวกับพระคริสต์ทรงรักเรา”   และพระองค์ให้ตนเองเพื่อเรา  และเป็นเครื่องถวายบูชาที่โปรดปรานแด่พระเจ้า (5:2)

แต่ก็เกิดคำถามในจิตใจของหลายคนว่า   แล้วเราจะเลียนแบบพระเจ้าแบบไหน  เลียนแบบพระเจ้าในเรื่องอะไร?  

เพราะหลายคนตระหนักรู้ว่า   เราไม่ใช่พระเจ้า   ดังนั้นเราจึงไม่สามารถสร้างสิ่งต่างๆ จากความว่างเปล่า   อย่างที่พระเจ้าทรงสร้างโลกนี้จากความว่างเปล่า   เราไม่สามารถที่จะรอบรู้ทุกเรื่องทุกอย่าง  อย่างที่พระเจ้าทรงรอบรู้ทุกอย่าง   ดังนั้น  เราจึงไม่ได้เป็นเอกเป็นต้นหรือเป็นใหญ่ในชีวิตนี้ได้อย่างที่พระเจ้าทรงเป็น   เราจึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะยอมรับการนมัสการสรรเสริญจากใครก็ตาม   แม้แต่การที่คิดยกย่องเทิดทูนตนเอง   เราไม่สามารถที่จะครอบครองสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งปวงในโลกนี้   ดังนั้น เราจึงไม่สมควรที่จะอ้างความเป็นเจ้าของอะไรก็ตามแม้แต่ชีวิตของเรา   เพราะชีวิตของเราเป็นของพระผู้สร้าง

แล้วจะให้เราเลียนแบบพระเจ้าในเรื่องอะไร   เลียนแบบพระองค์ในแบบไหน?

มีหลายรูปแบบแนวทางที่เราสามารถเลียนแบบพระเจ้าได้   เอเฟซัส 5:1 ชี้ชัดว่า “ให้เราเลียนแบบพระเจ้า...และดำเนินชีวิตในความรักเช่นเดียวกับที่พระคริสต์รักเรา”  คำว่า “ดำเนินชีวิต” ในที่นี้หมายถึงการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา (ดู เอเฟซัส 2:10,  4:1,  4:17  และใน 5:8, 15) การที่คริสตชนมีความรักแบบพระคริสต์ที่เป็นความรักที่เสียสละมิใช่ให้เราเลียนแบบความรักดังกล่าวเป็นครั้งคราว   หรือแบบมีเงื่อนไข  หรือรักเพราะเป็นหน้าที่ของคริสตชน

แต่ที่เราคริสตชนเลียนแบบความรักของพระคริสต์ที่เสียสละนั้น   เราเลียนแบบด้วยการรับเอาความรักที่เสียสละแบบพระคริสต์ให้เป็นวิถีชีวิตของเรา   เป็นแบบอย่างพฤติกรรมที่แสดงออกในชีวิตประจำวัน   อย่างที่เอเฟซัส 5:1-2   เรียกร้องให้คริสตชนแต่ละคนมีชีวิตที่เลียนแบบความรักที่เสียสละของพระคริสต์ด้วยชีวิตที่สำแดงออกในทุกๆ วัน

ในวันนี้   ท่านจะตั้งใจเลียนแบบความรักที่เสียสละแบบพระคริสต์ได้หรือไม่?  ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

วันนี้ท่านจะเริ่มดำเนินชีวิตที่เลียนแบบความรักที่เสียสละของพระคริสต์ในที่ทำงานในเรื่องอะไร?

วันนี้ท่านจะเริ่มดำเนินชีวิตที่เลียนแบบความรักที่เสียสละของพระคริสต์ในการสัญจรบนท้องถนนอย่างไร?

วันนี้ท่านจะเริ่มดำเนินชีวิตที่เลียนแบบความรักที่เสียสละของพระคริสต์ในตลาด/ห้างสรรพสินค้าอย่างไร?

วันนี้ท่านจะเริ่มดำเนินชีวิตที่เลียนแบบความรักที่เสียสละของพระคริสต์ในชุมชน/สังคมอย่างไร?

วันนี้ท่านจะเริ่มดำเนินชีวิตที่เลียนแบบความรักที่เสียสละของพระคริสต์ในบ้านอย่างไร?

วันนี้ท่านจะเริ่มดำเนินชีวิตที่เลียนแบบความรักที่เสียสละของพระคริสต์เมื่อเผชิญหน้ากับคู่อริอย่างไร?
                                                                                                                                 
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ชุมชนแห่งการให้อภัย

31จง​เอา​ความ​ขม​ขื่น ความ​ฉุน​เฉียว ความ​โกรธ การ​ทุ่ม​เถียง การ​พูด​จา​ดูหมิ่น
รวม​ทั้ง​การ​ร้าย​ทุก​อย่าง​ออก​ไป​จาก​พวก​ท่าน
32 แต่​จง​มี​ใจ​กรุ​ณา ใจ​สง​สาร และ​ใจ​ให้​อภัย​แก่​กัน​และ​กัน
เหมือน​อย่าง​ที่​พระ​เจ้า​ทรง​ให้​อภัย​พวก​ท่าน​ใน​พระ​คริสต์
(เอเฟซัส 4:31-32 มตฐ.)

ชุมชนทั้งในสังคมและคริสตจักร   ความแตกแยกแบ่งพวกแบ่งก๊กเกิดจากการที่เรามีจิตใจ “ขมขื่น” ต่อกัน   ใช้อารมณ์ฉุนเฉียวกับคนอื่น   โกรธและไม่พอใจในท่าที  คำพูด  และการกระทำของคนรอบข้าง   ในที่สุดนำมาถึงการทุ่มเถียงกัน   และการพูดจาหมิ่น  ดูถูก และการทำร้ายกันด้วยคำพูด และ การกระทำ

แล้วทำไมเราถึงต้องให้อภัยแก่คนที่ทำผิดต่อเราอย่างที่กล่าวข้างต้น?  

นี่คงเป็นคำถามในใจของหลายต่อหลายคน   ในข้อที่ 32 บอกกับเราว่า   ที่เราให้อภัยแก่คนที่กระทำผิดต่อเราได้นั้นเราจะต้องมีจิตใจที่กรุณา และ ใจสงสารเหมือนอย่างที่พระเจ้าทรงให้อภัยเราแต่ละคนในพระคริสต์   แต่ในพระธรรมข้อนี้มีอะไรที่น่าสนใจสำหรับเรามากกว่านั้น

ในพระคัมภีร์ฉบับอมตธรรมได้แปล เอเฟซัส 4:32 ไว้ว่า “จงเมตตาและสงสาร เห็นใจกันและกัน  ให้อภัยต่อกันเหมือนที่พระเจ้าทรงให้อภัยแก่ท่านในพระคริสต์”   ประการแรกพระคัมภีร์ข้อนี้กำลังกล่าวแก่เราแต่ละคน   ทรงเรียกร้องให้เราเป็นคนที่มีจิตใจเมตตา  มีใจที่กรุณา  เห็นใจกันและกัน  และมีหัวใจแห่งการให้อภัย   แต่ในเวลาเดียวกัน พระคัมภีร์ข้อนี้มิได้กล่าวแก่แต่ละคนเป็นการส่วนตัวเท่านั้น   แต่ประการต่อมา เป็นการกล่าวแก่ชุมชนแห่งพระกายของพระคริสต์   กล่าวแก่พี่น้องหญิงชายในครอบครัวของพระเจ้า   คำที่บ่งชี้ถึงการกล่าวแก่ชุมชนครอบครัวของพระเจ้าหรือคริสตจักรคือ “ให้อภัยกันและกัน” (มตฐ.)   พระธรรมเอเฟซัส 4:32 มิได้เรียกร้องให้คริสตชนแต่ละคนให้มีใจที่ให้อภัยเท่านั้น   แต่เรียกร้องให้ชุมชนคริสตจักรที่จะให้อภัยแก่กันและกันด้วย

ที่ใดก็ตามที่ประชากรของพระเจ้ารวมตัวเข้าด้วยกันเป็นชุมชนคริสตจักร   สามัคคีธรรมที่ชุมชนคริสตจักรนั้นมีต่อกันเกิดจากการที่ชุมชนนั้นเป็นชุมชนแห่งการให้อภัยกันและกัน   เพราะในชุมชนคริสตจักรมิใช่ชุมชนที่ไม่มีความผิดบาป หรือ มีความผิดบาปน้อย   ตรงกันข้าม ชุมชนคริสตจักรเป็นชุมชนที่มีความบาปผิดจึงจำเป็นที่จะต้องมีการให้อภัยกันและกัน   การให้อภัยจำเป็นจะต้องมีขึ้นก็เพราะชุมชนนั้นได้กระทำความผิดบาป   เพราะฉะนั้น ที่พระคัมภีร์ข้อนี้บอกให้ชุมชนคริสตจักรมีจิตใจที่อภัยแก่กันและกันแสดงชัดเจนว่าคริสตจักรเป็นชุมชนที่ยังมีการกระทำผิดบาปอยู่   ชุมชนคริสตจักรจึงมิได้เป็นชุมชนที่ดีน่ารักบริสุทธิ์ไม่มีความบาปมลทินแปดเปื้อนเหมือนที่บางครั้งเราหลงลืมหลอกตนเอง   และคริสตชนคงต้องตระหนักชัดว่า   พลังแห่งความบาปในคริสตจักรคือฆาตกรที่จะทำลายจิตใจที่ให้อภัยแก่กันและกันและพันธกิจแห่งการคืนดี

ชุมชนแห่งการให้อภัยจะไม่มุ่งเน้นสนใจที่จะปัดกวาดให้ชุมชนคริสตจักรเป็นชุมชนที่บริสุทธิ์ด้วยการตีตราตัดสินกล่าวโทษกันและกัน  หรือหาทางคว่ำบาตร อัปเปหิ หรือเบียดไล่  เฉดหัวคนที่ทำผิดให้ออกไปจากชุมชนคริสตจักร   แต่ในเวลาเดียวกันชุมชนแห่งการให้อภัยมิใช่ชุมชนที่ใช้ระบบคุณค่าที่ยกย่องคนที่ภูมิใจว่าตนไม่จำเป็นจะต้องรับการให้อภัยเพราะตนมิใช่คนทำผิดด้วย

แต่ชุมชนแห่งการให้อภัยเป็นชุมชนที่สมาชิกทุกคนในชุมชนนั้นตระหนักชัดว่า  เขาจะต้องระมัดระวังชีวิตที่จะกระทำบาปผิด   และตระหนักรู้ว่า แท้จริงตนก็หลงผิดมีชีวิตที่หลุดห่างจากพระคุณของพระเจ้า   และสำนึกเสมอว่าตนเป็นผู้ที่ได้รับการทรงอภัยจากพระเจ้า   และทรงให้มีจิตใจที่จะสืบสานส่งต่อการให้อภัยที่ตนได้รับนั้นไปยังผู้คนรอบข้างที่ได้พลาดพลั้งกระทำผิด   รวมถึงคนที่เขากระทำผิดต่อเราด้วย

ตลอดยุคสมัยที่ผ่านมา   เราได้เห็นถึงการยืนหยัดของชุมชนคริสตจักรในการเสริมสร้างชุมชนแห่งการให้อภัย   ผมได้เดินทางไปยังคริสตจักรต่างๆ  พบหลายคริสตจักรที่ไม่ได้กระทำอะไรมากมายใหญ่โต   แต่เป็นคริสตจักรแห่งการให้อภัย   และในเวลาเดียวกันก็ได้พบคริสตจักรที่ทำพันธกิจมากมายใหญ่โต   แต่ล้มเหลวในการให้อภัยกันและกันในคริสตจักร   เมื่ออ่านเอเฟซัส 4:32 ได้ให้นิมิตแก่เราว่า   ไม่ว่าชุมชนคริสตจักรของเราจะทำได้ดีแค่ไหน  หรือทำได้ไม่ดีปานใด   แต่ให้เราเป็นชุมชนที่ให้อภัย   ที่ใดที่มีการกระทำผิดพลาดล้มลงจะไม่ถูก “เหยียบย่ำ ขับไล่”   แต่เป็นชุมชนที่ยังให้อภัย  เยียวยา และ ยอมรับ

การที่เราจะดำเนินชีวิตคริสตชนด้วยจิตใจแห่งการให้อภัยมิใช่เพียงในชุมชนคริสตจักรของเราเท่านั้น   แต่ให้เรามีจิตใจแห่งการให้อภัยในชุมชนอื่นๆ ด้วย   ไม่ว่าในชุมชนครอบครัว  ชุมชนที่ทำงาน  ชุมชนกลุ่มเพื่อนฝูง  หรือแม้แต่ในชุมชนสังคมที่เราเข้าไปสัมพันธ์สัมผัสด้วย

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

06 พฤษภาคม 2557

คำพูดมีพลังมากกว่าที่คิด?

29อย่า​ให้​คำ​เลว​ร้าย​ออก​จาก​ปาก​ของ​ท่าน​ทั้ง​หลาย
แต่​จง​กล่าว​คำ​ดีๆ ที่​เสริม​สร้าง​และ​ที่​เหมาะ​กับ​ความ​ต้อง​การ
 เพื่อ​จะ​ได้​เป็น​คุณ​แก่​คน​ที่​ได้​ยิน

30และ​อย่า​ทำ​ให้​พระวิญญาณบริสุทธิ์​ของ​พระ​เจ้า​เสีย​พระ​ทัย
ด้วย​พระวิญญาณ​นั้น​ท่าน​ได้​รับ​การ​ประ​ทับ​ตรา​ไว้​สำ​หรับ​วัน​ที่​จะ​ได้​รับ​การ​ไถ่
                                                                                    (เอเฟซัส 4:29-30 มตฐ.)

บทใคร่ครวญฉบับที่ผ่านมาท้าทายคริสตชนต่อการใช้คำพูดของตนว่า   จะใช้คำพูดเพื่อให้เกิดพลังของการบ่อนทำลาย  ว่าร้ายคนอื่น   หรือการใช้พลังคำพูดเพื่อการเสริมสร้างกัน และ กันให้เป็นช่องทางแห่งพระคุณแก่ผู้ได้ยินได้ฟัง   แน่นอนครับ  เราคริสตชนย่อมเลือกพลังแห่งการพูดที่เป็นช่องทางนำมาซึ่ง “พระคุณ” แก่ผู้คนรอบข้าง   อีกทั้งแก่ชุมชนคริสตจักรด้วย

คำถามมีอยู่ว่า  คริสตชนทุกคนย่อมต้องการพูดเพื่อให้เกิดการเสริมสร้างที่สร้างสรรค์ และเป็นคุณประโยชน์แก่คนอื่น   แต่เราจะเอาชนะตัวตนของเราที่ต้องการพูดดีใส่ตัว  โยนชั่วใส่คนอื่นได้อย่างไร?

จากเอเฟซัส 4:29 ได้ให้คริสตชนระมัดระวังที่จะต้องมีคริสต์จริยธรรมในการพูด   แต่เมื่ออ่านไปในข้อที่ 30  เราต้องประหลาดใจว่า   การที่เราจะพูดดีหรือพูดร้ายนั้นมีบางอย่างที่มีอำนาจที่ครอบงำกำกับเหนือเค้าโครงความคิด  ความเห็น  และทัศนคติที่ทำให้เราพูดออกมา   เรารู้ว่าเราควรพูดด้วยพลังแบบไหน   แต่เรากลับพูดที่ทำให้เกิดพลังสร้างสิ่งที่แตกต่างจากความตั้งใจของตน   ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

อีกประการหนึ่งที่น่าพิจารณาคือ ในข้อที่ 30 ได้บอกแก่เราว่า   การพูดด้วยคำพูดที่ “เลวร้าย”   นอกจากจะทำร้ายทำลายคนอื่น และเป็นการบ่อนทำลายรากฐานความสัมพันธ์ในชุมชนคริสตจักรแล้ว    ยังทำให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าเสียพระทัย   คำเชื่อมระหว่างข้อ 29 กับ 30 ว่าต่อเนื่องเกี่ยวข้องกันคือคำว่า “และ” หน้าข้อที่ 30  ดังนั้น การพูดคำเลวร้ายนั้นสร้างความเสียหายและอันตรายแก่คนและคริสตจักรแล้ว   ยังทำให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าเสียพระทัยอีกด้วย

ข้อ 30 นี้ชี้ชัดว่า   คำพูดที่เลวร้ายของเรานั้นสามารถทำให้พระวิญญาณของพระเจ้าเสียพระทัย   ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผลกระทบจากพลังการพูดเลวร้ายของเรานั้นมีกำลังรุนแรงมากเกินกว่าที่เราคาดคิดหรือจินตนาการ   ในฐานะคริสตชนผมเชื่อว่า   จิตใจที่แท้จริงของเราคงไม่ต้องการสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจแก่เพื่อนบ้านของเรา   แต่เมื่อเราโกรธเราก็ไม่สามารถที่จะควบคุมอารมณ์ของเรา   ทำให้เราไม่สามารถควบคุมสิ่งที่เราพูดออกมาได้   ดังนั้น จึงสร้างความเจ็บปวดแก่คน และ ความแตกหักแก่ชุมชนคริสตจักร   และด้วยน้ำใสใจจริงของเรา  เราก็ไม่ต้องการจะทำให้พระวิญญาณของพระเจ้าเสียพระทัยเลย   แต่แล้วเมื่อไม่มีพลังควบคุมกำกับตนเอง   เราก็ทำให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าเสียพระทัย (ทั้งๆ ที่ไม่ต้องการทำเช่นนั้น)

คำว่า “เสียพระทัย” รากศัพท์คำนี้กินความถึง  ความทุกข์ใจ  กลุ้มใจ  เป็นห่วง  ช้ำใจ   แต่มีบางคนรับไม่ได้ว่า   เรามีอำนาจมากถึงทำให้พระเจ้าทุกข์ใจ  เสียใจ  กลุ้มใจ หรือ ช้ำใจ   ส่วนตัวของผมกลับเห็นว่า   มนุษย์เราได้รับการทรงสร้างตามพระฉายาของพระเจ้า   จึงไม่แปลกที่พระเจ้าจะเสียพระทัย  หรือ ช้ำพระทัย   เพราะในพระคัมภีร์ตอนอื่นๆ ก็ได้กล่าวถึงว่า  พระเจ้าทรงเปรมปรีดิ์  ปรีดี ชื่นชอบ ด้วยเช่นกัน (ตัวอย่างเช่น  เศฟันยาห์ 3:17;  สดุดี 147:11)

ดังนั้น  ในเอเฟซัส 4:30 กำลังบอกเราว่า   คำพูดของเราเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าเสียใจได้   คำพูดและพฤติกรรมของเราสร้างความเจ็บปวดแก่พระเจ้าได้    ขอเน้นย้ำที่นี่ว่า   มิเพียงแต่ที่เราสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจแก่เพื่อนมนุษย์แล้ว   เรายังเป็นต้นเหตุที่ทำให้พระเจ้าเสียพระทัย  และเจ็บช้ำพระทัยด้วย    คำพูดที่เลวร้ายของเรายังเป็นเหตุให้เกิดการขัดแย้ง ทำลาย และแตกหักความสัมพันธ์ในชุมชนคริสตจักร   จนบางครั้งแตกออกเป็นก๊กเป็นเหล่า  เป็นพรรคเป็นพวก   เมื่อเป็นเช่นนี้พระเยซูคริสต์จะรู้สึกเช่นไรเมื่อพระวรกายของพระองค์ถูกฉีกออกเป็นเสี่ยงๆ

วันนี้ผมขออนุญาตชวนเราใคร่ครวญว่า

  • ท่านเคยคิดหรือไม่ว่า คำพูดของท่านมีพลังถึงกับทำให้พระเจ้าเสียพระทัยได้?
  • ท่านคิดและรู้สึกอย่างไรบ้างกับคำสอนในประเด็นนี้?
  • ท่านเคยมีประสบการณ์ที่คำพูดของท่านทำให้พระวิญญาณของพระเจ้าเสียพระทัยหรือไม่?   เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร?  และทำให้พระวิญญาณของพระเจ้าเสียพระทัยอย่างไร?
  • ท่านคิดว่าคำพูดของท่านมีพลังสามารถที่จะทำให้พระวิญญาณของพระเจ้าปีติเปรมปรีดิ์ได้หรือไม่?  อย่างไร?

แท้จริงแล้วคำพูดของเรามีพลังและสร้างผลกระทบมากกว่าที่เราคิด?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

02 พฤษภาคม 2557

พูดด้วยพลังแบบไหน?

อย่า​ให้​คำ​เลว​ร้าย​ออก​จาก​ปาก​ของ​ท่าน​ทั้ง​หลาย
แต่​จง​กล่าว​คำ​ดีๆ ที่​เสริม​สร้าง​และ​ที่​เหมาะ​กับ​ความ​ต้อง​การ (ตามความจำเป็นของเขา)
เพื่อ​จะ​ได้​เป็น​คุณ​แก่​คน​ที่​ได้​ยิน

(เอเฟซัส 4:29 มตฐ.  ในวงเล็บ อมต.)

เมื่อเราย้อนอ่านพระธรรมก่อนหน้านี้  ในเอเฟซัส 4:22-24  ได้ให้ภาพที่ชัดเจนถึง “ชีวิตในพระเยซูคริสต์” ว่าเป็นชีวิตที่ละทิ้ง (ขับไล่) “ตัวเก่า” ของเรา   ในอมตธรรมใช้คำว่า “ทิ้งตัวตนเก่า” เกี่ยวกับวิถีชีวิตเดิม”  แล้ว “รับการสร้างท่าที ความคิด จิตใจขึ้นใหม่” (ข้อ 23 อมต.)  “ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่” (มตฐ.)   ในข้อที่ 25 บอกเราว่า “...จง​ละทิ้ง​ความ​เท็จ ให้​พวก​ท่าน​แต่​ละ​คน​พูด​ความ​จริง​กับ​เพื่อน​บ้าน​ของ​ตน” (มตฐ.)   ในข้อที่ 26 บอกให้เราอย่าถูกครอบงำด้วยอำนาจชั่วด้วยความโกรธที่เกิดขึ้นในตัวเรา   และในข้อที่ 28  ขโมยให้ละทิ้งนิสัยขโมยเสีย   แต่ให้ทำงาน   ใช้มือทำสิ่งที่เป็นประโยชน์   เผื่อจะมีอะไรแบ่งปันแก่คนขัดสน

เอเฟซัส 4:29 เป็นคำสอนที่ต่อจากข้างต้นที่กล่าวแนะนำถึงคริสต์จริยธรรม   โดยเริ่มจากการละทิ้ง หรือ ขับไล่สิ่งที่เลว ชั่วร้ายออกจากตัวตนในชีวิตของเราก่อน   แล้วจึงค่อยเปิดชีวิตรับสิ่งดีสร้างสรรค์เป็นคุณประโยชน์เข้าในชีวิตใหม่ หรือ ชีวิตในพระเยซูคริสต์ของเรา   พระธรรมข้อนี้กล่าวว่า “อย่าให้คำเลวร้าย (sapros) ออกจากปากของท่านทั้งหลาย  แต่​จง​กล่าว​คำ​ดีๆ (agathos) ที่​เสริม​สร้าง  ที่เหมาะสมตามความจำเป็นของเขา (อมต.)”

ภาษากรีกคำว่า sapros  มีความหมายว่า  เลวทราม เน่าเสีย ขยะแขยง  เป็นสิ่งที่มีคุณภาพต่ำทราม  เป็นสิ่งที่เลวสิ่งชั่ว  หรือ  เป็นสิ่งที่อันตราย ทำลายคนอื่น    พระเยซูคริสต์ได้ใช้คำนี้ในมัทธิว 7:17  “ต้น​ไม้​ดี​ (agathos) ย่อม​ให้​แต่​ผล​ดี ต้น​ไม้​เลว (sapros ) ​ก็​ย่อม​ให้​ผล​เลว”

คริสตชนพึงละทิ้งให้ห่างไกลจากการใช้คำพูดที่สร้างแต่การทำร้ายทำลาย และ สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจแก่คนอื่น   คำพูดที่รังแต่รื้อถอนทำลายให้หักพังแทนที่จะเป็นคำพูดที่สร้างเสริมเพื่อนบ้าน

ใช่ครับ  คริสตชนควรใช้คำพูดที่เสริมสร้าง หรือ สร้างสรรค์   คำพูดที่ออกมาจากปากของเราควรเป็นคำพูดที่หนุนเสริม  เป็นคุณเป็นประโยชน์ (agathos) ตามความจำเป็นของผู้ได้ยินได้ฟัง (ข้อ 29)  รากศัพท์ภาษากรีกที่เราแปลว่า “เป็นประโยชน์”  มีความหมายพื้นฐานว่า “ดี”  ขอตั้งข้อสังเกตว่า  คริสตชนสามารถใช้พลังแห่งคำพูดเพื่อให้เกิดสิ่งดี 2 ประการคือ

ประการแรก  คำพูดของเราสามารถเสริมสร้างผู้ฟังตามสิ่งที่จำเป็นต้องการของเขา

ประการที่สอง  คำพูดของเราสร้างประโยชน์แก่ผู้ได้ยินได้ฟัง

ตามความหมายรากศัพท์ในพระธรรมตอนนี้มีความหมายลึกซึ้งหนักแน่นว่า  คำพูดของเราสามารถ ให้คุณแก่คนที่ฟังเรา  คำพูดของเราสามารถเป็นแหล่งแห่ง “พระคุณ” สำหรับคนอื่น หรือ คนที่ได้ยินได้ฟังเราพูด

เอเฟซัส 4:29 ท้าทายคริสตชนไทยในปัจจุบันให้ใคร่ครวญพิจารณาอย่างละเอียดสุขุมว่า   เราใช้พลังแห่งคำพูดของเราไปในทางใด
  • คำพูดของเราบางครั้งกระชากทำร้ายทำลายคนอื่นหรือไม่?
  • คำพูดที่บ่น กล่าวหา ตัดสิน จนทำให้ผู้ฟังเกิดความสิ้นหวัง   ชุมชนเกิดความแตกหักหรือไม่?
  • หรือเราใช้พลังแห่งคำพูดเพื่อให้เกิดสิ่งดี   เพื่อเสริมสร้างผู้คนรอบข้างเรา   และคำพูดของเราเป็นช่องทางแห่ง “พระคุณของพระเจ้า” สำหรับผู้ได้ยินได้ฟังหรือไม่?


ในช่วงฤดูการหาเสียงของคนที่อยากเป็นผู้บริหารองค์กรคริสต์ศาสนาระดับชาติ   พึงใคร่ครวญและสุขุมในการใช้ “คำพูด” ของตน   ที่ไม่ตกภายใต้การครอบงำของอำนาจชั่ว  ที่จะก่อให้เกิดความบาดหมาง  สร้างความเจ็บปวดแก่คนอื่น   กล่าวร้ายป้ายสีคนอื่นทั้งที่เป็นเท็จและจริง    พูดดีใส่ตัว  สาดชั่วใส่คนอื่น   แต่สิ่งที่อันตรายและเสียหายอย่างมากคือ   คำพูดที่ทำให้คริสตจักรซึ่งเป็นพระวรกายของพระคริสต์ฉีกขาด  แตกหักเป็นเสี่ยงๆ

ผมฝัน(หวาน)ว่า   ฤดูการหาเสียงปีนี้ในองค์กรคริสตจักรไทยของเรา   เป็นการหาเสียงด้วยพลังคำพูดที่เสริมสร้างกันและกัน (ไม่ว่าใครจะอยู่ในพรรค พวก หรือ กลุ่มไหนก็ตาม)   เป็นพลังคำพูดที่เป็นความจริงจากใจ  ที่พูดด้วยความสัตย์ซื่อและรับผิดชอบ (ไม่ว่าจะพูดบนธรรมาสน์ บนเวที  หรือ  การพูดส่วนตัว  รวมไปถึงการพูดกระซิบเพื่อให้คนบางคนเท่านั้นได้ยิน)   เป็นคำพูดที่ให้คุณ หรือ เป็นพระคุณสำหรับคนที่ได้ยินได้ฟัง และ สำหรับชุมชนคริสตจักร

แต่ที่ไม่ต้องฝันเลยครับว่า   วันนี้ให้เราพูดคำดีมีพระคุณที่เสริมสร้างกันทั้งในครอบครัว  ที่ทำงาน  ชุมชน และในกลุ่มเพื่อนของเราครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499