31 กรกฎาคม 2557

ใครเป็นเจ้าของใคร?

หลายต่อหลายคนในปัจจุบัน  มี สิ่งที่มีค่าที่ตนเองยอมทุ่มเงินซื้อไว้  ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรูราคาแพง   รถทันสมัยคันใหม่  แทปเลตรุ่นล่าสุด  สมาร์ทโฟนรุ่นเทคโนโลยีสูงสุด   ไปจนถึงสระว่ายน้ำในบ้านระดับมาตรฐาน   เรียกว่าเข้าเกณฑ์วัตถุนิยมเต็มขั้นอย่างงั้นเถิด  

แต่ขอโทษครับ บ้านหรูราคาแพงก็มีไว้ซุกหัวนอนในเวลากลางคืน   เพราะเวลาส่วนใหญ่ใช้ไปบนท้องถนนและที่ทำงาน   รถคันงามทันสมัยก็แค่นาน ๆ เอาออกไปใช้ที   เพราะที่ใช้เป็นประจำก็เจ้ากระบะคู่ชีพคันเก่าที่ใช้ไปทำงาน   สมาร์ทโฟนก็เอาไว้คุยทางไลน์กับเพื่อนฝูง   แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะมีการงานธุรกิจอะไรมากมายที่ต้องติดต่อสื่อสาร   และที่มีแทปเลตรุ่นล่าสุดแท้จริงก็ไม่จำเป็นเพราะใช้สมาร์ทโฟนแทนได้   แต่ก็อีกนั่นแหละ  เพราะมันกลายเป็นเครื่องบ่งชี้สถานะของเราในสังคมไปเสียแล้วครับ   และที่จะโหลดดูหนังฟังเพลงก็เป็นเพียงบางครั้งที่พอจะมีเวลาเท่านั้น

ที่แย่ยิ่งกว่านี้   กลับมาคิดได้ว่า   ตอนแรกเราอยากจะเป็นเจ้าของสิ่งมีค่า ทันสมัย และ หรูเลิศเหล่านี้   แต่ ณ วันนี้เรากลับต้องทำงานหนักมากยิ่งขึ้นเพื่อที่จะหาเงินมาผ่อนสิ่งของที่เราอยากมี อยากได้ อยากเป็นเจ้าของ   ที่แย่เอามาก ๆ คือ  สิ่งเหล่านี้มันกำลังเข้ามาเป็นเจ้าของชีวิตเรา   มันเข้ามาครอบงำบงการชีวิตของเราเสียแล้ว

ไหนจะค่าใช้จ่ายจิปาถะในแต่ละวัน   แต่ที่ต้องทำเงินให้ได้ก็เพราะต้องเอามาผ่อนสิ่งที่อยากได้ใคร่เป็นเจ้าของ  แล้วยังต้องหาเงินมาชดใช้เงินที่ใช้ไปล่วงหน้าทางบัตรเครดิต   เหนื่อยนะครับ   ใครว่าไม่เหนื่อย   หลายคืนทำให้นอนไม่หลับ   บางคืนหลับไม่สนิท   สะดุ้งตื่นเพราะใบทวงหนี้ที่เราไม่สามารถจ่ายตามกำหนด

จริงเลยครับ   ของพวกนี้กำลังเข้ามาครอบงำเป็นเจ้าของชีวิตของเราเสียแล้ว!

ใช่สินะ   เรากำลังสร้างชีวิตของเรา   สร้างคุณค่าของเรา ด้วยวัตถุสิ่งของเหล่านี้   แต่เอาเข้าจริงเรากลับไม่มีเวลาที่จะใช้สิ่งเหล่านี้อย่างสมค่าราคา และ ได้ความสุขจากมันอย่างที่คาดคิด   แต่กลับเป็นทุกข์เพราะตกเป็นทาสของมัน! (ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อจะได้เงินไปจ่ายค่างวด)

ในฐานะคริสตชน   มีหลักคิดหลักเชื่อในเรื่องนี้ดังนี้ครับ

1.  คริสตชนต้องรู้ว่า อะไรคือสิ่งที่มีค่าที่แท้จริง

พระเยซูคริสต์ตั้งคำถามถามคนในสมัยของพระองค์   และถามเราคริสตชนในปัจจุบันว่า “...ถ้า(ท่าน)ได้สิ่งของหมดทั้งโลกแต่ต้องเสียชีวิตของตน?  ...คนนั้นจะนำอะไรไปแลกชีวิตของตนกลับคืนมา?” (มัทธิว 16:26) ในทัศนะของพระคริสต์ชีวิตเป็นสิ่งที่มีค่าสูงสุด   เพราะไม่มีวัตถุสิ่งของประการใดที่จะนำมาแลกเอาชีวิตคืนมาได้   พระเจ้าประทานชีวิตแก่เราซึ่งเป็นของประทานที่มีค่าสูงสุดจากพระองค์  แล้วพระองค์ประทานวัตถุสิ่งของเพื่อรับใช้มนุษย์ในการดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ของพระองค์

คริสตชนต้องระมัดระวังครับ   อย่าให้วัตถุสิ่งของเป็นสิ่งที่มีค่าเหนือชีวิตของเรา   นอกจากมันจะทำให้เราตกเป็นทาสของมันแล้ว   สิ่งเหล่านั้นจะกลายเป็น รูปเคารพในชีวิตของเราด้วย   อย่ารักโลกหรือสิ่งของในโลก ถ้าใครรักโลก ความรักของพระบิดาไม่ได้อยู่ในผู้นั้น” (1ยอห์น 2:15)

ในการรับใช้พระเจ้า  ในการเลี้ยงดูฟูมฟักชีวิตประชากรของพระองค์  เราจะต้องรับใช้ตามพระประสงค์พระเจ้า   มิใช่รับใช้ด้วยเพราะเห็นแก่ทรัพย์สินเงินทอง  จงเลี้ยงฝูงแกะของพระเจ้าที่อยู่ท่ามกลางพวกท่าน โดยเอาใจใส่ดูแล  ไม่ใช่ด้วยความฝืนใจ แต่ด้วยความเต็มใจ ตามพระประสงค์ของพระเจ้า  ไม่ใช่ด้วยใจโลภในทรัพย์สิ่งของ แต่ด้วยใจกระตือรือร้น” (1เปโตร 5:2 มตฐ.)

2.   คริสตชนต้องใช้วัตถุเงินทองให้เกิดคุณค่าแก่ชีวิตชุมชน

คำถามที่สำคัญคือ  คริสตชนจะใช้วัตถุสิ่งของและเงินทองที่พระเจ้าประทานแก่เราอย่างไร?   ในสมัยคริสตจักรเริ่มแรกในพระธรรมกิจการ   ผู้เชื่อได้ใช้ทรัพย์สินสิ่งของที่ตนมีค้ำจุนหนุนเสริมชุมชนผู้เชื่อให้สามารถอยู่รอดร่วมด้วยกัน  “...พวกเขาขายที่ดินและทรัพย์สิ่งของมาแบ่งให้แก่กันตามความจำเป็น” (กิจการ 2:45)   คนทั้งหลายที่เชื่อนั้นเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และไม่มีใครอ้างว่าสิ่งของที่ตนมีอยู่นั้นเป็นของตนเอง แต่ทั้งหมดเป็นของส่วนกลาง” (กิจการ 4:33 มตฐ.)

คุณค่าของทรัพย์สินสิ่งของเกิดจากการใช้สิ่งของที่มีด้วยน้ำใจที่แบ่งปัน เอื้ออาทรต่อกัน   และที่สำคัญคือ การแบ่งปันเกื้อหนุนกันนั้นไม่มีสิ่งเคลือบแฝง (อย่างการสร้างอิทธิพลแบบประชานิยม)   แต่กระทำด้วยความรักที่เสียสละแบบพระคริสต์   เปาโลกล่าวเรื่องนี้ไว้ว่า  แม้ข้าพเจ้าจะบริจาคสิ่งของของข้าพเจ้าทุกอย่างหรือยอมให้เอาตัวไปเผาไฟ แต่ไม่มีความรัก ก็จะไม่เป็นประโยชน์กับข้าพเจ้า” (1โครินธ์ 13:3) ดังนั้น  การใช้ทรัพย์สินสิ่งของให้เกิดคุณค่านั้นเป็นการใช้ด้วยจิตใจที่รักเมตตา และ เสียสละแบบพระคริสต์ที่แบ่งปันเอื้ออาทรต่อกัน

3.   กลับใจใหม่ หัวใจใหม่ ท่าทีใหม่ในการใช้ทรัพย์สินเงินทอง

ตลอดชีวิตที่ผ่านมาศักเคียสหาทางกอบโกยเงินทองจากการเป็นคนเก็บภาษี  เขาสะสมสร้างความมั่งคั่ง   แต่เมื่อพระคริสต์ทรงเข้าไปในบ้าน ในชีวิตของเขา   ชีวิตของเขาเปลี่ยนแปลง   และสิ่งหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงคือ   เขาเปลี่ยนมุมมองต่อทรัพย์สินเงินทองที่เขามีอยู่   เขาใช้ทรัพย์สินเงินทองตามแบบความรัก เมตตา และ เสียสละแบบพระคริสต์   ส่วนศักเคียสนั้นยืนขึ้นทูลองค์พระผู้เป็นเจ้าว่า องค์พระผู้เป็นเจ้า ทรัพย์สิ่งของของข้าพระองค์ ข้าพระองค์ยอมให้คนยากจนครึ่งหนึ่ง และถ้าข้าพระองค์โกงอะไรของใครมา ก็ยอมคืนให้เขาสี่เท่า” (ลูกา 19:8)

ศักเคียสใช้ทรัพย์สินเงินทองตามระบบคุณค่าและคุณธรรมในแผ่นดินของพระเจ้า  แล้วปัจจุบันเราใช้ทรัพย์สินเงินทองของเราตามระบบคุณค่าและคุณธรรมของใคร?

พระเยซูคริสต์สอนให้เราใช้ทรัพย์สินเงินทองที่เราได้รับ   เพื่อให้ชีวิตของเราเป็นคน ดีพร้อม”  รากศัพท์ของคำว่า ชีวิตที่ดีพร้อมคือการที่ดำเนินชีวิตตามแบบของพระบิดาที่ทรงเป็นผู้ที่ดีพร้อม เพราะฉะนั้นพวกท่านจงเป็นคนดีพร้อม เหมือนอย่างที่พระบิดาของท่าน ผู้สถิตในสวรรค์ทรงดีพร้อม” (มัทธิว 5:48 มตฐ.)   และพระองค์ตรัสอีกว่า “....ถ้าท่านต้องการจะเป็นคนดีพร้อม จงไปขายทรัพย์สิ่งของที่ท่านมีอยู่แจกจ่ายให้คนยากจน แล้วท่านจะมีทรัพย์สมบัติในสวรรค์ และจงตามเรามา” (มาระโก 10:22 มตฐ.)


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

28 กรกฎาคม 2557

อยากเห็นพระเจ้า!

อ่าน ยอห์น 14:8-11

องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า ขอ​สำ​แดง​พระ​บิดา​ให้​พวก​ข้า​พระ​องค์​เห็น ก็​พอใจ​ข้า​พระ​องค์​แล้ว
(ยอห์น 14:8 มตฐ.)

ใคร ๆ ก็อยากจะเห็นพระเจ้าชัด ๆ จะได้หมดความสงสัย และไว้ใจพระเจ้าเต็มร้อย
โธมัสก็เป็นเหมือนเราท่าน  อยากจะเห็นพระเจ้าหน้าต่อหน้าจะได้มั่นใจสักที
เมื่อพระเยซูคริสต์บอกสาวกว่า...
“...ถ้า​พวก​ท่าน​รู้​จัก​เรา​แล้ว ท่าน​ก็​จะ​รู้​จัก​พระ​บิดา​ของ​เรา​ด้วย
ตั้ง​แต่​นี้​ไป​ท่าน​ก็​จะ​รู้​จัก​พระ​องค์​และ​ได้​เห็น​พระ​องค์ (ข้อ 7)

สบโอกาส...โธมัสจึงทูลพระองค์ตรง ๆ ด้วยความจริงใจว่า...
“องค์พระผู้เป็นเจ้า ขอสำแดงพระบิดาให้พวกข้าพระองค์เห็น ก็พอใจข้าพระองค์แล้ว” (ข้อ 8)

ทำไมโธมัสถึงขอเช่นนั้น?
เพราะโธมัสต้องการมั่นใจว่า พระเยซูคริสต์คือคนที่พระเจ้าส่งมาตามพระสัญญาจริง ๆ
และเมื่อได้เห็นและพบกับพระบิดา   จะได้ขอคำยืนยันนี้ให้ชัด ๆ
เพื่อสาวกจะได้บอกกับคนทั้งหลายว่า   ได้พบกับพระเจ้า  และพระองค์ทรงยืนยันเรื่องพระคริสต์
แค่นั้นก็พอใจแล้ว   เพราะผู้คนจะได้เชื่อ  มั่นใจ   และติดตามพระองค์มากขึ้น

แต่สำหรับพระเยซูคริสต์   สาวกได้เห็นพระบิดาแล้วและจะได้เห็นมากขึ้นอีกต่อไป
พระเยซูกล่าวว่า  “...คน​ที่​ได้​เห็น​เรา​ก็​ได้​เห็น​พระ​บิดา...” (ข้อ 9)

ทำไมพระเยซูคริสต์ถึงกล่าวเช่นนี้?   ขอรับรองว่าพระองค์ไม่ได้กล่าวแบบ “เล่นลิ้น”
พระองค์ยืนยันว่า  คนที่เห็นพระองค์ก็เห็นพระบิดาที่อยู่ในชีวิตของพระองค์
พระเยซูถามสาวกว่า  “ท่าน​ไม่​เชื่อ​หรือ​ว่า​เรา​อยู่​ใน​พระ​บิดา​และ​พระ​บิดา​ทรง​อยู่​ใน​เรา...?” (ข้อ 10)
แล้วพระองค์กล่าวยืนยันว่า  สัจจะความจริงที่บ่งชี้ถึงหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า

ประการแรก    พระบิดาสถิตในชีวิตของพระองค์
ประการที่สอง   พระบิดาทรงกระทำพระราชกิจผ่านชีวิตและการงานของพระเยซู
“...แต่​พระ​บิดา​ผู้​สถิต​อยู่​ใน​เรา​ทรง​ทำ​พระ​ราช​กิจ​ของ​พระ​องค์” (ข้อ 10)

ดังนั้น   เมื่อสาวกได้เห็นพระเยซูก็ได้เห็นพระบิดา
ยิ่งกว่านั้น   จากงานและพันธกิจที่พระเยซูกระทำ 
สาวกยังได้เห็นถึงการทำงานของพระบิดาผ่านชีวิตของพระเยซูด้วย
ทั้งชีวิตและการงานที่พระเยซูคริสต์กระทำคือการสำแดงให้สาวก
ได้รู้จักและเห็นถึงพระบิดาที่เป็นรูปธรรม
“จง​เชื่อ​เรา​ว่า​เรา​อยู่​ใน​พระ​บิดา​และ​พระ​บิดา​ทรง​อยู่​ใน​เรา...
หรือ​มิ​ฉะนั้น​ก็​จง​เชื่อ​เพราะ​กิจ​การ​เหล่า​นั้น” (ข้อ 11)

พระเจ้าผู้ทรงสร้างจักรภพ และ มวลจักรวาลทั้งหลาย
พระองค์กอปรด้วยความรักเมตตากรุณา  ผู้ทรงพลานุภาพ  และความงามต่าง ๆ
ที่เราสามารถมองเห็นได้โดยผ่านสรรพสิ่งที่ทรงสร้าง   และผ่านชีวิตของพระเยซูคริสต์
พระเยซูบอกกับสาวกและคนที่ติดตามพระองค์ว่า
“เห็นฉันเห็นพระเจ้า”  

พระเยซูคริสต์ยังสัญญาอีกว่า 
“...พระ​องค์​(พระบิดา)จะ​ประ​ทาน​ผู้​ช่วย​อีก​ผู้​หนึ่ง​ให้​กับ​พวก​ท่าน
เพื่อ​จะ​อยู่​กับ​ท่าน​ตลอด​ไป คือ​พระ​วิญ​ญาณ​แห่ง​ความ​จริง​” (ข้อ 16-17)
พระเยซูยังยืนยันอีกว่า...
“...คน​ที่​วาง​ใจ​ใน​เรา​จะ​ทำ​กิจ​การ​ที่​เรา​ทำ​นั้น​ด้วย และ​เขา​จะ​ทำ​กิจ​ที่​ยิ่ง​ใหญ่​กว่า​นั้น​อีก...” (ข้อ 12)
นั่นหมายความว่า  พระเจ้าจะทรงกระทำพระราชกิจในชีวิต และ ผ่านชีวิตของเราด้วย

ยิ่งกว่าได้เห็นพระเจ้า!
แต่พระเจ้าสถิตในชีวิตของเราที่เชื่อศรัทธาในพระองค์
และกระทำพระราชกิจของพระองค์ผ่านชีวิตและการงานของเราแต่ละวัน
เมื่อนั้น   คนรอบข้างก็จะเห็นพระเจ้า ผ่านชีวิตและการกระทำของเรา

วันนี้   คนรอบข้างจะเห็นพระเจ้าในชีวิตของเราหรือเปล่าหนอ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

อธิษฐาน...ตัวเชื่อมความเชื่อกับงานที่ทำ

การอธิษฐานเป็นทางหนึ่งที่เชื่อมโยงความเชื่อของเรากับงานที่เราทำในแต่ละวัน   ยังเป็นการเชื่อมความเชื่อของเรากับผู้คนที่เราสัมผัสสัมพันธ์ในงานที่เราทำด้วย   และยังเป็นการเชื่อมความเชื่อของเรากับสุขภาวะชีวิตของเพื่อนร่วมงานเหล่านั้น   กับสภาพชีวิตทั้งในครอบครัว  การเงินการทอง   และจิตวิญญาณของคนเหล่านั้นด้วย  

เมื่อเราอธิษฐานเพื่องานที่เราทำ   เรากำลังนำพระพรมาสู่การงานที่เราทำ   นำพระพรมาถึงเพื่อนร่วมงาน   และบรรยากาศแวดล้อมในที่ทำงาน    อีกทั้งยังเป็นการนำพระพรมาถึงผู้คน  ทั้งการตัดสินใจของคนระดับต่าง ๆ ที่เราร่วมงานด้วย   ตลอดจนถึงลูกค้าของเรา   ผลิตภัณฑ์ของบริษัท  และการประชุมขององค์กร หน่วยงานที่เราทำงานด้วย

การอธิษฐานยังเป็นการเชื่อมโยงความเชื่อของเรากับการห่วงใยต่อสรรพสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างในงานที่เราทำเกี่ยวข้องด้วย    อีกทั้งเป็นการห่วงใยและรับผิดชอบต่อศักดิ์ศรี คุณค่าของความเป็นคนของเพื่อนร่วมงานในองค์กรที่เราทำงาน   และที่สำคัญการอธิษฐานยังเชื่อมความเชื่อกับการทำงานของเราให้ตระหนักเสมอว่า   พระเจ้าทรงอยู่เคียงข้างในการงานที่เรากระทำ   พร้อมเสมอที่จะทรงนำ  ทรงช่วย และอวยพระพร

การอธิษฐานเพื่อการงานที่เราทำ   เราไม่เน้นความสำคัญที่พิธีรีตอง   รูปแบบ  หรือวิธีการ   และก็ไม่ขึ้นอยู่กับการอธิษฐานยาวหรือสั้น  ใช้เวลามากหรือน้อย   แต่อยู่ที่การเปิดชีวิตและการงานของเราขอการทรงนำ  การสอน   และรับความเข้าใจจากพระองค์   ซึ่งมีโอกาสที่เราจะอธิษฐานเพื่อการงานของเรา เช่น

ทุกเช้าเมื่อเราเริ่มต้นวันใหม่กับพระเจ้า   เราสามารถอธิษฐานเพื่อการงานที่เราทำและรับผิดชอบ   เพื่อเพื่อนร่วมงานของเรา   เพื่อการบริหารจัดการขององค์กร   เพื่อลูกค้าที่เราะต้องพบปะสัมพันธ์

เมื่อเราเริ่มต้นงานในแต่ละวัน   ทุกวันเมื่อเราไปถึงที่ทำงาน   ให้เราอธิษฐานในใจของเรา 5-10 นาทีก่อนที่จะเริ่มต้นทำสิ่งใด   อธิษฐานเพื่อการทำงานในวันนี้  เพื่อเพื่อนร่วมงาน  และผู้คนที่เราจะเจอะเจอในวันนี้   หรือถ้าวันไหนเมื่อไปถึงที่ทำงานเกิดภารกิจรีบเร่งกระทันหัน   เราก็สามารถที่จะอธิษฐาน 5-10 ในช่วงเวลาที่เราพักเที่ยง

เมื่อระหว่างเวลาทำงาน   เช่น  เมื่อเราต้องเดินจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งเมื่อเรากำลังทำงาน   เราพบกับผู้คน  เพื่อนร่วมงาน  สถานการณ์ต่าง ๆ เราสามารถที่จะอธิษฐานในใจขณะที่กำลังเดิน  เพื่อคนที่เราพบเห็น ขอจิตใจที่รักเมตตาของพระเจ้าทรงนำเขา   ขอทรงเคียงข้างการทำงานและชีวิตของเขา  และอวยพระพรงานที่เขาทำ และ ชีวิตที่เป็นอยู่ของเขา

เมื่อเราเสร็จสิ้นภารกิจการงานในแต่ละวัน   ก่อนที่เราจะกลับบ้าน ให้เราใช้เวลาสั้น ๆ ในการขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงนำในทุกสถานการณ์ในวันนี้   ขอบพระคุณพระองค์สำหรับเพื่อนร่วมงาน   และในเวลาเดียวกันขอมอบสิ่งที่ยังทำไม่สำเร็จในวันนี้ให้อยู่ภายใต้การทรงนำของพระองค์ต่อไป   ขอการทรงคุ้มครองจิตใจ  อารมณ์  ความคิดของเราจากพระองค์   ให้พร้อมที่จะไปพบกับคนที่บ้าน   และนำพระพรเข้าบ้าน  

บางท่านเลือกที่จะอธิษฐานการเสร็จภารกิจแต่ละวันเมื่อเวลามาที่รถส่วนตัวก่อนที่จะขับกลับบ้าน

อธิษฐานกับเพื่อนร่วมงานคริสตชน   ในกรณีที่มีเพื่อนร่วมงานที่เป็นคริสตชน   อาจจะมีการนัดพบกันสัปดาห์ละครั้งที่รับประทานอาหารกลางวันด้วยกัน   หรือหลังเลิกงานวันใดวันหนึ่ง   เพื่อที่จะพบปะ พูดคุย  แบ่งปันประสบการณ์ ความคิด ความชื่นชม  และความห่วงกังวลแก่กัน    เพื่อที่จะหนุนใจ และให้กำลังใจแก่กัน   และมีโอกาสอธิษฐานด้วยกัน   พร้อมทั้งการหนุนเสริมเพิ่มพลัง  และช่วยเหลือในสิ่งที่เราสามารถทำได้

กลุ่มเล็กในคริสตจักรสำหรับคนทำงาน ในคริสตจักรเราสามารถรวบรวมสมาชิกที่ทำงานในหน้าที่การงานต่าง ๆ รวมตัวกันเป็นกลุ่มเล็กที่ไม่จำเป็นจะต้องมีมากคน   แต่เป็นกลุ่มที่สนิทสนม  และสนใจจะพบปะกับคนทำงานคนอื่น ๆ ในคริสตจักร   เป็นโอกาสพบปะ  พูดคุย  แบ่งปันประสบการณ์การทำงานทั้งที่ชื่นชมยินดี  และที่ห่วงกังวล   มีโอกาสศึกษาพระวจนะด้วยกัน   และในเวลาเดียวกันก็มีเวลาในการอธิษฐานเพื่อกันและกัน   และยังเป็นกลุ่มสนิทที่จะให้คำแนะนำดี ๆ จากประสบการณ์ชีวิตการงานแก่กันและกัน   และอาจจะติดตามหนุนเสริมเพื่อนที่ต้องการความช่วยเหลือในวันทำงาน   อาจจะด้วยการอธิษฐานเผื่อ   การถามไถ่ชีวิตและการงาน   และอาจจะอธิษฐานร่วมกันผ่านทางโทรศัพท์   การส่งข้อความหนุนเสริมให้กำลังใจทางโทรศัพท์ ทางไลน์  เป็นต้น

เราเห็นแล้วว่า  การอธิษฐานเพื่อกิจการงานที่เราทำนั้นไม่ยากอย่างที่เคยคิด   เกิดขึ้นได้เสมอ   ไม่มีรูปแบบตายตัว   แต่ให้เราฉวยทุกโอกาสที่จะอธิษฐานเพื่องานที่ทำ  เพื่อนร่วมงานในองค์กร  การบริหารจัดการ   และผลงานที่จะเกิดขึ้น   และในแต่ละครั้งเมื่ออธิษฐาน   การอธิษฐานของเรามีองค์ประกอบเรียบง่าย คือ

  1. อวยพระพร:  ให้เราเริ่มต้นด้วยการทูลขอให้พระเจ้าทรงอวยพระพรในงานที่เราทำ  “องค์พระผู้เป็นเจ้า  โปรดอวยพระพรในกิจการงานที่ผมทำในวันนี้   และ อวยพระพรผู้คนที่ผมต้องทำงานด้วย...”
  2. ขอการทรงนำ: ขอการทรงนำในการบริหารจัดการของผู้บริหารองค์กร   ให้เป็นองค์กรที่ทำงานด้วยความรับผิดชอบต่อสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง   ให้มุ่งเน้นเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของลูกค้า  หรือผู้คนที่มารับบริการ   ขอองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงนำให้ผู้บริหารที่จะเอาใจใส่ต่อคุณภาพชีวิตของคนทำงานในองค์กร และ สภาพแวดล้อมขององค์กร
  3. ทูลขอความช่วยเหลือ: ทูลขอพระเจ้าทรงโปรดเมตตาในสิ่งที่องค์กรที่เราทำงานมีความจำเป็นต้องการ  องค์พระผู้เป็นเจ้า   โปรดช่วยสถานการณ์ทางการเงินของบริษัทด้วย”   “องค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดเมตตารักษาและปกป้องนักเรียนที่กำลังป่วยที่โรงพยาบาลเพราะอาหารเป็นพิษ”
  4. ทูลขอเพื่อส่วนตัว: เราควรทูลขอความจำเป็นต้องการเพื่อตนเองในที่ทำงานของเรา  “องค์พระผู้เป็นเจ้า  โปรดอวยพระพรผมให้มีชีวิตที่เป็นแสงสว่างในที่ทำงานแห่งนี้   โปรดสอนและประทานกำลังชีวิตแก่ผมที่จะมีชีวิตที่สะท้อนถึงความรักที่เสียสละของพระคริสต์ในชีวิตประจำวัน”
  5. ขอบพระคุณ:  ขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับให้เรามีงานที่ทำ  ขอบพระคุณทรงเคียงข้างในการทำงาน  ขอบพระคุณที่ทรงอวยพระพร  และทรงนำ


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

24 กรกฎาคม 2557

กำลังเกิดสงครามในคริสตจักรหรือครับ?

ต้องพูดจากใจจริงว่า การเป็นผู้นำในชุมชนคริสตชนไม่ง่ายเลยครับ!
บางครั้งการดื่มกาแฟด้วยกันบนโต๊ะประชุมกรรมการดูจะจืดจางมิตรภาพยังไงไม่รู้?
ผู้นำถูกสอนมาว่า  ปัญหาจะทำให้เราก้าวหน้า   และคาดหวังได้เลยว่า ในคริสตจักรเราต้องปล้ำสู้กับปัญหา
และหลายครั้งเพราะความอยากก้าวหน้าที่ทำให้เราต้องเกิดการปล้ำสู้ หรือ “สงคราม” ในคริสตจักร
และการปล้ำสู้กับปัญหาอาจเสริมสร้างเราให้มีมุมมองที่ถูกต้องยิ่งขึ้น...
ถ้าผู้นำคนนั้น   เรียนรู้จากการปล้ำสู้กับปัญหาด้วยพระกำลังแต่ละด้านจากพระเจ้า

ก็ต้องยอมรับความจริงว่า  บางปัญหาในคริสตจักรที่เราจัดการแก้ไขได้   แต่บางเรื่องนำสู่ “สงคราม”
ผู้นำอาจจะกระโดดลงไปจัดการกับปัญหาด้วยพรสวรรค์  ทักษะ  สติปัญญา  ความฉลาด  และการทรงช่วยจากพระเจ้า
ผู้นำสามารถจัดการกับปัญหานั้นได้   แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้นเกิดปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก  
บางครั้งไม่เข้าใจในเหตุการณ์จริง ๆ หรือ 
ปัญหาที่เกิดขึ้นในคริสตจักรเป็นเรื่องของความ “ล้ำลึก” เกินความสามารถเข้าใจของมนุษย์?

แต่เราคงไม่ด่วนโยนความผิดไปว่า   อำนาจแห่งความชั่วร้ายอยู่เบื้องหลังการชักใยในปัญหาเหล่านั้น
แต่เราก็ไม่ปฏิเสธว่า  สิ่งนี้เป็นไปได้จริง   อำนาจความชั่วร้ายสามารถฉวยโอกาสนี้ใส่ไฟให้รุนแรงขึ้น
ในอีกด้านหนึ่ง   เมื่อเราศึกษาจากปฐมกาลบทที่ 3   เราก็ไม่ควรมองข้ามเงื่อนไขความเป็นมนุษย์ของเรา
ที่ขัดขืนแม้แต่พระผู้สร้างตนเอง  เพราะต้องการเป็นเหมือนพระเจ้า   และเป็นคนที่รู้ดีรู้ชั่ว

การรู้ดีรู้ชั่วในที่นี้คือการที่มนุษย์ต้องการมีอำนาจเฉกเช่นพระเจ้าที่เป็นผู้ตัดสินพิพากษาว่าอะไรดีอะไรชั่ว
มนุษย์ต้องการมีอำนาจเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง เหนือมนุษยคนอื่น ๆ เหนือธรรมชาติ  และเหนือพระเจ้าที่ทรงสร้างตน
และ ในส่วนนี้เองที่มนุษย์เป็นผู้นำความขัดแย้งเข้ามาในคริสตจักร
และอำนาจความชั่วร้ายได้ใช้สถานการณ์ดังกล่าวสุมไฟที่ร้อนแรงในความขัดแย้งยิ่งขึ้นในคริสตจักร

เปาโลกล่าวใน เอเฟซัส 6:12 ว่า  “เพราะเราไม่ได้ต่อสู้กับเนื้อหนังและเลือด
แต่ต่อสู่กับเหล่าเทพผู้ครอง   เทพผู้ทรงอำนาจ  เทพผู้ทรงเดชานุภาพของโลกอันมืดมนนี้
และต่อสู้กับเหล่าวิญญาณชั่วในย่านฟ้าอากาศ” (อมต.)
เปาโลชี้ชัดว่า  อำนาจที่ก่อเกิดความขัดแย้งรุนแรงนี้ไม่ได้เกิดในห้องประชุมในคริสตจักรเท่านั้น
แต่อำนาจชั่วร้ายในที่ต่าง ๆ ที่เข้ามาฉวยโอกาสในการใช้เหตุการณ์นั้นทำร้ายทำลายคริสตจักรด้วย

ถ้าเช่นนั้น   ผู้นำในชุมชนคริสตชนจะรับมือกับสถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งนี้เช่นไร?
ผมได้อ่านบทอธิษฐานของผู้นำคริสตชนคนหนึ่ง   ที่จะตอบคำถามข้างต้นได้ครับ...

ข้าแต่พระบิดา   ข้าพระองค์ต้องการพลานุภาพและพระกำลังของพระองค์   เพื่อที่จะสามารถยืนหยัดปล้ำสู้กับอำนาจชั่วร้ายเหล่านั้นในคริสตจักรที่พระองค์ทรงเรียกให้ข้าพระองค์รับใช้   ข้าพระองค์เต็มใจที่จะกระทำตามการทรงเรียกนั้น   แต่ข้าพระองค์ไม่สามารถจะทำได้ถ้าพระองค์ไม่ทรงช่วยข้าพระองค์   เพราะปัญหาที่พบนั้นรุนแรงยิ่งใหญ่   ที่มีอำนาจชั่วร้ายอยู่เบื้องหลังการชักใยอยู่

 ข้าพระองค์ขอคาดเอวด้วยเข็มขัดแห่งความจริง   ที่จะต่อต้านอำนาจความชั่วร้าย   และสามารถสื่อสารสัจจะความจริงกับคนรอบข้างให้ได้เห็นและพบกับความจริงในพระองค์

ข้าพระองค์ขอสวมเสื้อเกราะแห่งความชอบธรรม   เพื่อข้าพระองค์จะมีชีวิตที่สำแดงถึงความชอบธรรม   โปรดประทานพระปัญญาของพระองค์แก่ข้าพระองค์ที่จะรู้และกระทำตามความชอบธรรมของพระองค์   ในคริสตจักรและคนรอบข้าง   เพื่อแผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่  และน้ำพระทัยของพระองค์ได้สำเร็จในแผ่นดินโลกนี้

ข้าพระองค์ขอสวมรองเท้าที่ทำให้พร้อมประกาศข่าวดีแห่งสันติสุขของพระองค์   ข้าพระองค์ขอไปทุกที่ที่พระองค์นำไป   ไปยังที่ที่ผู้คนจะได้รับการปลดปล่อยไถ่ถอนออกจากอำนาจของความชั่วร้าย   ด้วยพระปัญญา  กล้าหาญ  ไวต่อความรู้สึกของผู้คน   เป็นตัวแทนของพระองค์ท่ามกลางคนเหล่านั้น   ด้วยความมุ่งมั่น  มั่นคงในพระองค์

ข้าพระองค์ขอยึดโล่แห่งความเชื่อ   เพื่อพระองค์จะทรงปกป้องและทรงช่วยในการปล้ำสู้กับการทดลอง  การถูกปฏิเสธ   ความสงสัย  ความสิ้นหวัง  และความกลัว   ข้าพระองค์ทูลขอพลังแห่งชัยชนะของพระคริสต์บนกางเขนที่จะหนุนเสริมและค้ำจุนพลังการเป็นผู้นำของข้าพระองค์   และสามารถต้านพลังแห่งลูกศรเพลิงของพญามาร   เพื่อความรุดหน้าไปของข่าวประเสริฐของพระคริสต์

ข้าพระองค์ขอสวมหมวกเกราะแห่งความรอดที่พระองค์ทรงกระทำพระราชกิจในชีวิตของข้าพระองค์   เพื่อกระตุ้นเตือนให้ข้าพระองค์สำนึกเสมอถึงพันธกิจของพระองค์ที่ข้าพระองค์ได้ถวายตัว   และเตือนให้ระลึกถึงเป้าหมายของการตั้งอยู่ของคริสตจักรของพระองค์

ข้าพระองค์ขอถือดาบแห่งพระวจนะ   ซึ่งเป็นพระวจนะของพระองค์   ที่จะเป็นแสงสว่างส่องทางเดินแห่งชีวิตของข้าพระองค์   ด้วยพระวจนะของพระองค์โปรดนำทางความคิดของข้าพระองค์ในแต่ละวันให้คิดอย่างพระองค์   และให้ข้าพระองค์ตามแผนการชีวิตแห่งพระประสงค์ของพระองค์   ไม่คิดที่จะเอาความปรารถนาอยากได้ใคร่มีส่วนตัวไปแทนที่พระประสงค์ของพระองค์   ให้พระวจนะของพระองค์นำชีวิตข้าพระองค์ด้วยพระคุณและความจริง

ในวันนี้   โปรดทรงต่อสู้กับอำนาจแห่งความชั่วร้ายเฉกเช่นที่พระองค์เคยต่อสู้กับศัตรูเพื่อประชากรของพระองค์ในโบราณ   เพื่อวันนี้ของข้าพระองค์จะเป็นไปตามน้ำพระทัยและพระประสงค์   โปรดหนุนเสริมเพิ่มพลังแก่ข้าพระองค์ในการปล้ำสู้กับปัญหาและอุปสรรคทั้งหลายด้วยชัยชนะที่มาจากพระองค์   และเติบโตขึ้นในพระคุณ  ความจริง และความรักของพระองค์   อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

23 กรกฎาคม 2557

รับมือความขัดแย้งในการทำงาน

ครั้งหนึ่งเมื่อผมต้องรับมือกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในงานที่ทำ   เพื่อนบอกผมว่า  “ใจเย็น ๆ ”

มันก็จริงของเพื่อนคนนี้   เราอยู่ในสังคมโลกที่ถูกครอบงำด้วยอำนาจแห่งความชั่วร้ายทั้งด้านความนึกคิด   ท่าทีที่แสดงออก  และพฤติกรรมที่เรากระทำต่อคนอื่น....ความขัดแย้งย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ   ยิ่งถ้างานที่ทำต้องอยู่ท่ามกลางการสื่อสารที่ไม่ค่อยมีคุณภาพ   เกิดการเข้าใจผิด   ต้องทำงานท่ามกลางการแข่งขัน   หรือการชิงดีชิงเด่น  หรือถึงขนาดปัดแข้งปัดขากันแล้ว   สถานการณ์ก็ยิ่งเลวร้ายเข้าไปใหญ่   ความขัดแย้งยิ่งลงลึกซับซ้อน   สร้างบาดแผลลึก ๆ ในชีวิต   ทำให้เกิดความเจ็บปวดในความรู้สึก  และเกิดการฉีกขาดในความสัมพันธ์  ความตึงเครียด   ความไม่ลงรอยย่อมเกิดขึ้นได้แน่นอน

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ทั้งในที่ทำงาน  บริษัท  องค์กร  โรงเรียน  โรงพยาบาล  หรือแม้แต่ในคริสตจักร   ไม่ว่าเราจะเป็นคนดีแค่ไหน  หรือพยายามที่จะเป็นคนดีปานใด   เราก็จะพบว่า  “เจอเข้าแล้วกับความขัดแย้ง   ชนอย่างจังกับปัญหา”   แต่เราก็คงต้องยอมรับความจริงด้วยว่า   ไม่ใช่ว่าทุกความขัดแย้งเป็นสิ่งเลวร้ายเสมอไป   เพราะในบางครั้งบางความขัดแย้งเป็น “ความขัดแย้งที่สร้างสรร” ได้

สิ่งที่หายไปเมื่อขัดแย้งจนโกรธ

ผมกลับมาคิดถึงคำเตือนสติของเพื่อนเมื่อผมเผชิญหน้ากับ “คู่ขัดแย้ง”  จนเกิดความโกรธ  อารมณ์เดือดพล่าน   ทำให้ผมพูดเสียงดังขึ้น   คิดแต่ว่าจะพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาผิดและผมถูกอย่างไร   เกิดจิตใจที่ขุ่นข้นมัวหมอง   ท่าทางที่แสดงออกที่จริงจังพัฒนาไปสู่ท่าทีที่ “ตึงตัง”หรือบางครั้งแสดง “หน้ายักษ์หน้ามาร”  โดยไม่รู้ตัวและไม่ตั้งใจ!

ใช่...เพื่อนถึงต้องบอกผมว่า “ใจเย็น ๆ ”  

ใช่สินะ   ตอนนั้นผมถูกพลังร้ายครอบงำ   สุมไฟผลักดันไปสู่ความร้อนแรงเดือดพล่าน   และมันกำลังทำลายทั้งผม  เพื่อน  และองค์กรที่ผมทำงานด้วย   ใช่ผมต้องใจเย็น ๆ   ผมต้องกลับมามีสติ   กลับมาที่ความตั้งใจต้องการแก้ไขความขัดแย้ง   ต้องการแก้ปัญหา   ไม่ใช่จะเอาชนะเพื่อนร่วมงานคนนั้น

ใช่สินะ   ผมแก้ปัญหา และ ความขัดแย้งได้    แต่ผมแก้ไขตัวเพื่อนไม่ได้!

ใช่สินะ   ผมลืมไปแวบหนึ่งเมื่อโกรธจัดว่า   ผมเป็นคริสตชน   ผมเป็น “ทูตของพระคริสต์” ในการทำงาน

รับมืออย่างไรเมื่อเกิดความขัดแย้ง?

1. ตั้งจิตให้มั่น
ก่อนที่เราจะทำหรือตอบโต้อะไรออกไป   ให้เรานำสถานการณ์นั้นปรึกษากับพระเจ้า   เพื่อพระองค์จะประทานจิตใจที่ถ่อม สุภาพ มั่นคง สงบแก่เรา   เพื่อเราจะมีมุมมองในเรื่องดังกล่าวที่สร้างสรรค์และสันติ   และที่สำคัญเราควรขอพระเจ้าทรงเปิดเผยแก่เราว่า   เรามีส่วนอะไรที่ผิดพลาดในเหตุการณ์นี้   เพื่อเราจะรู้เท่าทันตนเองและกลับใจ   อธิษฐานเผื่อแต่ละคนที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งนี้   รวมถึงคู่ขัดแย้ง และ คนที่เราโกรธด้วย   ทั้งนี้จะเป็นการ “ปรับจิตใจ” ของเราให้เป็นจิตใจที่เชื่อฟังพระเจ้า   การที่เราอธิษฐานเช่นนี้ก่อนย่อมช่วยให้เราหลุดรอดออกจากจิตใจที่ต้องการเอาชนะ  จิตใจที่ต้องการให้เขาได้รับโทษที่สาสมในสถานการณ์ความขัดแย้งนั้น

2. แยกปัญหา/ความขัดแย้งออกจากตัวบุคคล
เราสามารถแก้ปัญหาและความขัดแย้งได้   แต่เราแก้คู่ขัดแย้งของเราไม่ได้   ในเรื่องนี้เราจำเป็นต้องพิจารณาดูว่าที่เราขัดแย้งกันนี้เป็นความขัดแย้งส่วนตัว  เป็นเรื่องความคิดเห็นที่แตกต่างกัน   ไม่ใช่ทุกเรื่องที่สร้างความขุ่นเคืองรำคาญใจหรือทำให้เราโกรธจนต้องเผชิญหน้ากัน   ในบางเรื่องเราเพียงปล่อยและวางเสีย   เราควรยกโทษ  แล้วเดินหน้าต่อไป

เราน่าจะถามตนเองว่า   นี่เป็นความขัดแย้งด้วยเรื่องส่วนตัว   หรือเป็นการขัดแย้งเพราะมีปัญหาต้องแก้ไข?   เราไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเพื่อนที่ดีกับทุกคนในที่ทำงาน   แต่ในฐานะคริสตชนเราพึงพยายามที่จะเป็นคนที่มีจิตใจเมตตา และ ให้ความนับถือในความเป็นคนของเพื่อนร่วมงานแต่ละคน

3. อย่าขยายความขัดแย้งให้เป็นเรื่องใหญ่โต
เมื่อเกิดความขัดแย้งพยายามขีดวงความขัดแย้งให้แคบหรือเล็กที่สุด   ให้เราแก้ไขความขัดแย้งเฉพาะในวงของผู้ขัดแย้งด้วยกันเท่านั้น   นี่เป็นหลักการจากพระคัมภีร์ (มัทธิว 18:15-16) ที่เหมาะสมและใช้ได้ในที่ทำงาน   แต่ถ้าคู่กรณีพยายามทำให้ความขัดแย้งนั้นกลายเป็นเรื่องใหญ่  เช่น  เอาความขัดแย้งไปให้ผู้บริหารระดับสูงขึ้นจัดการแทนที่จะเริ่มจัดการกันเองในกลุ่มผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น   ด้วยวิธีการเช่นนี้ทำให้ความขัดแย้งขยายวงกว้าง   เพิ่มความรุนแรงในความขัดแย้ง   แล้วยังกระทำให้ความสัมพันธ์และความไว้วางใจเลวร้ายลงไปอย่างมากเกินกว่าที่คิดและเข้าใจ

4. ความรับผิดชอบที่สำคัญในการรับมือความขัดแย้ง
ถ้าเราเป็นคนที่เกี่ยวข้องโดยตรงในความขัดแย้งดังกล่าว  สิ่งแรกที่เราจะต้องพิจารณาอย่างเปิดใจและจริงใจคือ   เรามีความบกพร่องผิดพลาด หรือ มีส่วนที่ทำให้เกิดความบกพร่องหรือผิดพลาดหรือไม่   ถ้ามีสิ่งแรกที่เราต้องรับผิดชอบในความขัดแย้งดังกล่าวคือ   เราต้องไปขอโทษคู่กรณีของเราในสิ่งเหล่านั้น   หลายครั้งหลายคนที่ทำเช่นนี้จะพบปรากฏการณ์ที่น่าประหลาดใจคือ   ความขัดแย้งถูกแก้ได้เกินคาด

แต่ถ้าเรามิใช่คู่กรณีในความขัดแย้ง   เราต้องระวังที่จะเข้าไปจัดการความขัดแย้งนั้น   เพราะถ้าเราเข้าไปจัดการความขัดแย้งในเวลาที่ยังไม่เหมาะสมแม้ว่าเราจะเป็นผู้บริหารของเขาก็ตาม   อาจจะสร้างผลเสียมากกว่าผลดีเราอาจจะถูกใครบางคนยืมมือของเราเอาผิดหรือลงโทษอีกคนหนึ่งก็ได้

ดังนั้น   เรามีหน้าที่ให้กำลังใจให้คู่กรณีพูดคุยหาทางแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นด้วยกันเองก่อน

5. แสวงหาจุดร่วม
ให้คู่กรณีมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายร่วมของงานที่ทั้งคู่รับผิดชอบ   เพื่อจะค้นหาแนวทางการปฏิบัติงานของแต่ละคนที่มุ่งไปสู่เป้าหมายที่เหมาะสม  สร้างสรรค์  และหนุนเสริมกันและกัน   และประเด็นสำคัญคือการที่ช่วยกันทำงานให้บรรลุเป้าหมายนั้นเป็นการสร้างผลกระทบที่สร้างสรรค์แก่องค์กร   ถึงแม้ว่าเป้าหมายงานความรับผิดชอบของแต่ละคนจะมีความแตกต่างกัน    แต่เป้าหมายร่วมขององค์กรเป็นจุดเดียวกัน   ที่ทุกคนจะต้องร่วมกันทำเพื่อไปให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวขององค์กร

สิ่งที่ต้องชัดเจนเสมอ

เราแต่ละคนต้องตระหนักชัดเสมอว่า   เราเป็น “ทูตของพระคริสต์” ในที่ทำงาน หรือ ในแต่ละงานที่เราทำ (2โครินธ์ 5:20)   และหนทางหนึ่งที่เราสามารถสำแดงความรักเมตตาที่เสียสละของพระคริสต์แก่เพื่อนร่วมงานของเราคือ  การที่เรารับมือกับความขัดแย้งอย่างไรในงานที่ทำ   เรารับมืออย่างไรในความทุกข์ยากลำบากในงานที่ทำ   ในขณะที่คนอื่นอาจจะหลีกเลี่ยง  เมินเฉยไม่สนใจ  หรือเอาเรื่องขัดแย้งไปนินทาว่าร้าย คุ้ยเขี่ยหาความผิดกัน   แต่ในฐานะคริสตชนท่านคือพลังแห่งสันติ   พลังแห่งการคืนดี  พลังแห่งสมัครสมานสามัคคี   และพลังที่จะช่วยคู่กรณีหลุดรอดออกจากการครอบงำของอำนาจแห่งความขัดแย้งนั้น

เมื่อเราต้องตกอยู่ในสถานการณ์แห่งความขัดแย้งในการทำงาน   โปรดตระหนักชัดถึงเป้าหมายสูงสุดในการทำงานของท่านคือ  “ไม่​ว่า​พวก​ท่าน​จะ​ทำ​สิ่ง​ใด ก็​จง​ทำ​ด้วย​ความ​เต็ม​ใจ​เหมือน​ทำ​ถวาย​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า ไม่​ใช่​เหมือน​ทำ​ต่อ​มนุษย์    ... เพราะ​(ในการทำงาน)ท่าน​กำ​ลัง​รับใช้​พระ​คริสต์​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​อยู่” (โคโลสี 3:23-24)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ลักษณะเฉพาะของผู้นำที่รับใช้

ลักษณะเฉพาะ 10 ประการของผู้นำที่รับใช้

ลักษณะเฉพาะของผู้นำที่รับใช้
  1. การฟัง:ที่ผ่านมาผู้นำจะให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพในการสื่อสาร และ ทักษะในการตัดสินใจ   แต่สำหรับผู้นำที่รับใช้ก็ตอกย้ำให้ความสำคัญดังกล่าวแต่เน้นย้ำความสำคัญในทักษะการฟังคนอื่นอย่างจดจ่อใส่ใจมากกว่า   ผู้นำที่รับใช้จะฟังให้ได้ยินถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้คนที่ทำงานกับตนให้ชัดเจนที่สุด   เขาจะฟังผู้อื่นด้วยใจที่เปิดกว้างเพื่อให้ได้ยินในสิ่งที่ผู้พูดๆ ถึง(และสิ่งที่ไม่พูดถึงด้วย)   เป็นการฟังจนได้ยินเสียงภายในชีวิตของคนพูด   แสวงหาความเข้าใจรอบด้านว่าผู้พูดต้องการที่จะบอกถึงอะไรบ้างทั้งในด้านจิตวิญญาณ  จิตใจ  ความคิด  อารมณ์  ความต้องการ และความรู้สึกด้วย
  2. เข้าอกเข้าใจ:ผู้นำที่เป็นคนรับใช้พยายามที่จะเข้าใจและลงลึกถึงความรู้สึกของคนอื่น   ว่าคนเราต้องการการยอมรับและให้ความสำคัญถึงลัษณะพิเศษ และ เฉพาะของคนๆ นั้น   แต่ละคนย่อมคาดหวังว่าเพื่อนร่วมงานมีความตั้งใจที่ดี   และไม่กีดกันหรือปฏิเสธตนในฐานะคนๆ หนึ่งที่มีศักดิ์ศรีและความสำคัญในความเป็นคน   ถึงแม้ตนอาจจะถูกปฏิเสธหรือตีตราในพฤติกรรมบางอย่างก็ตาม
  3. จิตวิญญาณแห่งการเยียวยารักษา:ผู้นำที่รับใช้เรียนรู้ถึงการเยียวยารักษาชีวิตภายใน  จะเป็นผู้นำที่เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงที่หนุนเสริมเพิ่มพลัง   พลังที่ยิ่งใหญ่พลังหนึ่งของผู้นำที่รับใช้คือ เป็นผู้นำที่สามารถในการเยียวยารักษาบาดแผลชีวิตภายในของทั้งตนเองและเพื่อนร่วมงาน   ผู้นำที่มีจิตวิญญาณในการรับใช้คนอื่นเป็นผู้ที่มีความละเอียด และ อ่อนโยนในการสื่อสารกับผู้คนที่ตนรับใช้และนำ   ทั้งคนที่เขารับใช้และผู้นำต่างสัมผัสรับรู้ และ เข้าใจได้ว่าเขาเป็นผู้นำที่แสวงหาความสำคัญของชีวิตที่เป็นองค์รวมที่มีอยู่ในเพื่อนร่วมงานด้วยกัน
  4. ตระหนักรู้:ทั้งจิตสำนึก และ จิตใจที่ตระหนักรู้  จะหนุนเสริมเพิ่มพลังแก่ผู้นำที่รับใช้   การอุทิศตนที่อ้าแขนเปิดรับความตระหนักรู้บางครั้งอาจจะทำให้เกิดความกลัว    เพราะผู้นำที่รับใช้อาจจะไม่เคยคิดมาก่อนว่าตนจะพบกับการตระหนักรู้แบบนี้   น่าสังเกตว่า  การตระหนักรู้มิได้นำมาซึ่งการปลอบใจเสมอไป   แต่ตรงกันข้ามกลับเป็นตัวที่ทำให้ผู้นำที่รับใช้ถูกรบกวน   ผู้นำที่รับใช้มิใช่เป็นคนที่แสวงหาการปลอบประโลมใจ   แต่เขาเป็นคนที่มีจิตใจภายในที่เข้มแข็งมั่นคง  และมุ่งประเล้าประโลมใจผู้อื่น
  5. การเชิญชวนเข้ามีส่วนร่วม:ผู้นำที่เป็นคนรับใช้จะใช้การเชิญชวนผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ   มากกว่าการใช้อำนาจที่ตนมีจากตำแหน่งในการตัดสินใจ   เขาจะตัดสินใจด้วยการเชิญชวนคนอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาเพื่อนำสู่การตัดสินใจร่วมกัน   มากกว่าใช้การตัดสินใจของตนไปบีบบังคับให้คนอื่นต้องทำตาม   และนี่คือลักษณะที่แตกต่างอย่างชัดเจนของผู้นำแบบเดิมกับผู้นำที่รับใช้   ผู้นำที่รับใช้จะเป็นคนที่มีความสามารถและทักษะที่มีประสิทธิภาพในการเอื้อให้เกิดข้อตกลงจากการตัดสินใจร่วมกัน
  6. มีมุมมองหลักคิดที่กว้างไกล:ผู้นำที่รับใช้เป็นคนที่มุ่งมองหา “นิมิตที่กว้างไกล”  กล้า “ฝันให้ไกลแล้วไปให้ถึง”   มีความสามารถที่มองลงไปในปัญหาที่พบ (ในองค์กร) ด้วยมุมมองที่มีหลักคิดหลักพิจารณา   มิใช่การคิดแก้ปัญหาไปวันๆ ผู้นำที่รับใช้จะเป็นคนที่แสวงหาความสมดุลที่ละเอียดอ่อนระหว่างหลักคิดกับความเป็นจริงที่ต้องเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
  7. มองได้ไกลอย่างทะลุปรุโปร่ง:การมองการณ์ไกลอย่างทะลุปรุโปร่งทั้งกระบวนการจะช่วยให้ผู้นำที่เป็นคนรับใช้สามารถเข้าใจถึงอดีต  และสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน   และสามารถมองทะลุว่าจะเกิดผลเช่นไรในอนาคต   และนี่คือรากเหง้าความนึกคิดที่หยั่งรู้ของผู้นำที่รับใช้
  8. จิตวิญญาณแห่งการเป็นคนรับใช้:การเป็นผู้นำขององค์กร  ผู้อำนวยการ  ผู้จัดการ  หรือแม้แต่กรรมการอำนวยการต้องมีจิตวิญญาณที่ต้องการทำทุกอย่างให้องค์กรที่ตนรับผิดชอบ   เป็นองค์กรที่สร้างสิ่งดีที่ยิ่งใหญ่ให้กับสังคมชุมชน  (มิใช่เพียงแต่ “กระเป๋า” ของตนเอง  และความมั่นคงของตนเองและพรรคพวก)
  9. อุทิศตั้งใจเสริมสร้างการเติบโตของคน:ผู้นำที่รับใช้เชื่อและศรัทธาในคุณภาพ  ศักยภาพ  และความสามารถที่มีอยู่ในตัวตนของเพื่อนร่วมงานแต่ละคน ว่าจะทำงานอย่างเกิดผลเป็นรูปธรรมดังนั้นผู้นำที่เป็นคนรับใช้จึงมุ่งมั่นอย่างจริงจังในการเสริมสร้างเพื่อนร่วมงานแต่ละคนที่จะเป็นคนที่เติบโต เข้มแข็งขึ้นทั้งร่างกาย  จิตใจ  จิตวิญญาณ  และการทำงานอาชีพที่มีประสิทธิภาพในแต่ละตัวคน
  10. เสริมสร้างความเป็นชุมชน:ความสำนึกที่ชัดเจนของผู้นำที่รับใช้ที่จะต้องการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการเป็นองค์กรท้องถิ่นไปสู่ความเป็นองค์กรชุมชนที่เป็นสากลนั้น   สิ่งแรกที่จะต้องเปลี่ยนคือ มุมมองและทัศนคติของผู้คนในองค์กรที่นำสู่การเปลี่ยนแปลง   ไม่เช่นนั้นเพื่อนร่วมงานในองค์กรจะเกิดความรู้สึกว่ากำลังสูญเสีย(ชุมชนองค์กรที่ตนคุ้นชิน)  และเกิดความรู้สึกที่ไม่มั่นคง   อาจะนำสู่การต้านการเปลี่ยนแปลง   ดังนั้น ผู้นำที่รับใช้จะมุ่งเน้นใช้ความเป็นชุมชนในองค์กรร่วมกันศึกษาและแสวงหาว่าถ้าจะพัฒนาชุมชนในองค์กรของตนให้เป็นองค์กรใหญ่ หรือ องค์การที่เป็นสากลจะทำได้อย่างไร   และต้องการพัฒนาองค์กรของตนไปสู่องค์กรที่มีความเป็นชุมชนแบบไหน   แล้วแต่ละคนจะเข้ามามีส่วนร่วมเกื้อหนุนค้ำจุนกันอย่างไรบ้าง


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

19 กรกฎาคม 2557

ตะลันต์ กับ ความสำเร็จในชีวิต

พรสวรรค์หรือตะลันต์เป็นศักยภาพที่มีเฉพาะในแต่ละบุคคล   แต่การที่ใครมีตะลันต์หรือพรสวรรค์ไม่ได้รับรองว่าชีวิตของเขาคนนั้นจะประสบความสำเร็จ   ประการสำคัญคือคนๆ นั้นได้มีการพัฒนาพรสวรรค์หรือตะลันต์ที่เขามีอยู่ให้เป็นความสามารถที่พร้อมใช้ในการทำสิ่งนั้นๆ ในบริบทและเวลาที่เหมาะสมหรือไม่?

สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน

คำถามแรกที่ต้องถามตนเองคือ   เมื่อเวลาและโอกาสมาถึงเรามีความพร้อมที่จะใช้ความสามารถที่มาจากพรสวรรค์หรือตะลันต์นั้นหรือไม่?

ประการที่สอง  เราเห็นได้ในสังคมปัจจุบัน   นักศิลปินในด้านต่างๆ ที่จะประสบความสำเร็จในอาชีพตามตะลันต์ความสามารถที่ตนมีจนนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิตมีส่วนเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์กับคนรอบข้างว่า   ผู้คนรอบข้างหนุนเสริมเขาให้ใช้ตะลันต์ความสามารถของเขาอย่างเต็มกำลังหรือไม่  

แต่ในเวลาเดียวกันคนรอบข้างที่หนุนเสริมเขาเพื่อหวัง “ดูดกิน” “กอบโกย” ผลประโยชน์จากธุรกิจบนตะลันต์ความสามารถของคนนั้นหรือเปล่า?  หรือต้องการส่งเสริมและสร้างเขาด้วยความเต็มใจเพื่อคนๆ นั้นและเพื่อสังคม?   ถ้าเพื่อกอบโกยผลประโยชน์บนความสามารถของคนๆ นั้น   สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนที่มีตะลันต์ความสามารถก็เป็นเพียง “เครื่องมือหากิน” ของคนที่เข้ามาช่วยเขาเท่านั้น

ประการที่สาม   คนที่มีตะลันต์ความสามารถถึงแม้เขาจะมีความพร้อมในการใช้ตะลันต์ความสามารถอย่างเต็มที่    และประสบความสำเร็จในการดำเนินอาชีพตามตะลันต์ความสามารถ   แต่ถ้าเขาเป็นคนที่ไม่มีความพร้อมในความรับผิดชอบต่อตนเองและครอบครัว   ไม่มีความพร้อมในการบริหารจัดการการดำเนินชีวิตของตนเอง   ในการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต   เขาคนนั้นอาจจะประสบความสำเร็จในการใช้ตะลันต์ความสามารถ   แต่กลับประสบความล้มเหลวในชีวิตภายหลังการใช้ตะลันต์ความสามารถในการประกอบอาชีพของเขา

ประการที่สี่  คนที่ประสบความสำเร็จในการใช้ตะลันต์ความสามารถในอาชีพการงาน   แต่มีบุคลิกความสัมพันธ์ที่ติดลบกับผู้คน  มี “ชีวิตภายใน” ที่อ่อนแอ  มีความเห็นแก่ตัว   ยโสโอหัง  ไม่สามารถบังคับตนเอง   จนสิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของตน เช่น  การใช้ยาเสพติด   มีปัญหาเรื่องเพศ   เข้ากับคนรอบข้างไม่ได้    สิ่งเหล่านี้นำสู่ความล้มเหลวในการดำเนินชีวิตประจำวัน     สิ่งที่เป็นความสำเร็จจากตะลันต์ความสามารถก็จะอับปางลง   และนาวาชีวิตก็จะพลอยล่มจมไปด้วย    การประสบความสำเร็จในการใช้ตะลันต์ความสามารถไม่ได้ประกันว่าคนๆ นั้นจะประสบความสำเร็จในชีวิต 

แล้วคริสตชนว่าอย่างไร?

แล้วคริสตชนมองอย่างไรกับการใช้ตะลันต์ความสามารถที่มีเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล?

สำหรับคริสตชนแล้ว   เรามีมุมมองและเชื่อว่า  “ตะลันต์” คือของประทานจากพระเจ้าที่ให้มาในชีวิตของแต่ละคนในลักษณะหลากหลายแตกต่าง    ตะลันต์ในแต่ละตัวคนรอเวลาที่จะได้รับการพัฒนาเป็นความสามารถ   เพื่อคนๆ นั้นจะใช้ความสามารถที่ได้รับนั้นอย่างเต็มที่และเกิดผลเมื่อโอกาสมาถึง (ในเวลาของพระเจ้า) 

มุมมองและความเชื่อที่สำคัญกว่านี้คือ เราใช้ “ของประทาน” หรือ ตะลันต์ความสามารถเพื่ออะไรกันแน่?

คริสตชนเชื่อว่า   ตะลันต์ความสามารถเป็นของประทานจากพระเจ้า   ที่พระองค์มีพระประสงค์ในการใช้ตะลันต์ความสามารถเหล่านั้นในชีวิตของเรา   ดังนั้น   เป้าหมายสำคัญสุดของการใช้ตะลันต์ความสามารถมิใช่เพื่อตัวเราเอง   มิใช่เพื่อผลประโยชน์และรายได้  เกียรติยศและชื่อเสียง   คุณค่าและความโดดเด่นของเราเองเท่านั้น   แต่เราใช้ตะลันต์ความสามารถเพื่อตอบสนองพระประสงค์ของพระเยซูคริสต์ในชีวิตของเรา

ประการแรก  เราใช้ตะลันต์ความสามารถในชีวิตของเราบนรากฐาน “พระมหาบัญชา”   คือรักพระเจ้าด้วยสุดจิตสุดใจและสิ้นสุดกำลังความคิดของเรา    เราใช้ตะลันต์ความสามารถโดยมีพระเจ้าเป็นเอกเป็นใหญ่ในชีวิตของเรา   ดังนั้น การที่เราตัดสินใจจะใช้ตะลันต์ความสามารถอย่างไร  เพื่ออะไรนั้น   เราจะพิจารณาว่า เราตัดสินใจและกระทำลงไปตามน้ำพระทัยของพระเจ้าหรือไม่?  

ประการที่สอง  เราใช้ตะลันต์ความสามารถในชีวิตของเรา   โดยมีเป้าหมายรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง   เราใช้ตะลันต์ความสามารถบนรากฐานความรักที่เสียสละแบบพระคริสต์เพื่อคนรอบข้าง   ทั้งคนดีและคนชั่ว   ทั้งคนสนิทและคนที่ทำให้เราต้องเจ็บปวดในชีวิต   ทั้งนี้เพื่อตอบสนองต่อพระประสงค์ของพระคริสต์ที่ให้คริสตชนแต่ละคนเป็น “เกลือและแสงสว่าง” ของพระองค์ท่ามกลางสังคมโลกนี้   ในพื้นที่และบริบทที่เราดำเนินชีวิตอยู่

ประการที่สาม   เราใช้ตะลันต์ความสามารถในชีวิตของเรา   เพื่อตัวเราเอง   โดยมีเป้าหมายในการใช้ตะลันต์ความสามารถตอบสนองด้วยการมีพระเจ้าเป็นเอกเป็นต้นเป็นเจ้าของชีวิตของเรา   และ ตอบสนองพระมหาบัญชาของพระคริสต์   ทั้งนี้เพื่อเป็นโอกาสและกระบวนการในการพัฒนาชีวิตคริสตชนของเราเองในชีวิตประจำวันให้เติบโต เข้มแข็ง และเกิดผลตามพระประสงค์

ประการที่สี่   ดังนั้น ความสำเร็จทั้งในอาชีพหน้าที่การงาน กับ ความสำเร็จในชีวิตของคริสตชน   จึงมิได้ใช้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จชีวิตคริสตชน     แต่คริสตชนมองความสำเร็จของชีวิตที่เราได้ใช้ตะลันต์ความสามารถของเราตามพระประสงค์ของพระเจ้าหรือไม่?    การใช้ตะลันต์ความสามารถของเราทำให้เป็นที่ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าในการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา   และเกิดผลจากการใช้ตะลันต์ความสามารถในแต่ละครั้งหรือไม่?   เมื่อเราใช้ตะลันต์ความสามารถแล้วหนุนเสริมพลังให้เรามีชีวิตที่เติบโต เข้มแข็ง  และเกิดผลตามพระประสงค์ของพระเจ้าหรือไม่?

ทุกวันนี้  ตะลันต์ความสามารถนำเราถึงความสำเร็จในชีวิตคริสตชนและการเป็นสาวกของพระคริสต์หรือเปล่า?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ความคาดหวังของมนุษย์ กับ แผนการช่วยกู้ของพระเจ้า

แต่​จง​แสวง​หา​สวัสดิ​ภาพ​ของ​เมือง ซึ่ง​เรา​ได้​กวาด​เจ้า​ให้​ไป​เป็น​เชลย​อยู่​นั้น และ​
จง​อธิษ​ฐาน​ต่อ​พระ​ยาห์​เวห์​เพื่อ​เมือง​นั้น
เพราะ​ว่า​เจ้า​จะ​พบ​สวัสดิ​ภาพ​ของ​เจ้า​ใน​สวัสดิ​ภาพ​ของ​เมือง​นั้น
(เยเรมีย์ 29:7 มตฐ.)

ชนชาติอิสราเอลที่ถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยในบาบิโลนไม่คาดคิดว่าจะได้ยินคำเผยพระวจนะดังกล่าวของเยเรมีย์   ความจริงแล้วก่อนหน้านี้พวกเชลยอิสราเอลได้ยินคำเผยพระวจนะที่แตกต่างกับคำเผยพระวจนะของเยเรมีย์แบบหน้ามือกับหลังมือ   ไม่นานมานี้ผู้นำที่เคยเป็นคนชั้นสูงในชุมชนเชลยฮีบรูได้รับคำเผยพระวจนะว่าพวกเขาจะมีชีวิตที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้   พวกเขาจะได้รับการปลดปล่อย   ชนอิสราเอลโหยหาปรารถนาที่จะได้รับการปลดปล่อยจากพวกที่จับกุมเขามาเป็นเชลย   ซึ่งเป็นพวกที่น่ารังเกียจของยิว   เขาต้องการที่จะหลุดรอดออกจากวัฒนธรรมบาบิโลนที่เป็นวัฒนธรรมที่นอกรีต  ป่าเถื่อน  วิปริตในสายตาของพวกเขา

เมื่อปี กคศ. 588 กองทัพบาบิโลนไปแผ่กำลังเข้ายึดครองอิสราเอล  กวาดต้อนผู้คนไปเป็นเชลยศึกที่บาบิโลน   เหลือเพียงชนกลุ่มน้อยที่เหลือในแผ่นดินอิสราเอล   เป็นนโยบายกองทัพบาบิโลนที่ให้กวาดต้อนพวกคนมั่งมี  พวกพระบรมวงศานุวงศ์  ราชตระกูล  พวกข้าราชการ ผู้นำศาสนา  และผู้ที่มีความรู้ และ ทักษะในทางช่างไปยังประเทศของตน   เชลยศึกชาวยิวเหล่านี้ต้องถูกต้อนให้เดินทางไกลกว่า 100 ไมล์

เราท่านคงจิตนาการได้ว่า พวกเชลยศึกอิสราเอลเหล่านี้ตกอยู่ในความสับสนและความหวาดกลัว   ประชากรของพระเจ้าไม่เหมาะสมที่จะอยู่ในถิ่นฐานและวัฒนธรรมแบบบาบิโลน   ตามประวัติศาสตร์พระเจ้าทรงนำพวกเขาออกจากการเป็นทาสเป็นเชลย   ทำไมประวัติศาสตร์ถึงต้องมาซ้ำรอยอีก   แล้วพระเจ้าจะทรงเรียกโมเสสคนใหม่หรือเปล่า?    หรือจะมีโยชูวาคนใหม่ที่จะนำกำลังทัพใหม่ที่เข้าเผชิญ ถล่มทลายอาณาจักรที่ชั่วร้ายนี้?   จะด้วยวิธีหนึ่งวิธีใดที่บาบิโลนจะต้องถูกจู่โจมทำลายให้ยับเยินอย่างสาสม   และชนชาติของพระเจ้า  และอาณาจักรของพวกเขาจะต้องกลับมาได้รับการบูรณะพลิกฟื้นขึ้นใหม่  เป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองอีกครั้ง

ในช่วงเวลาเช่นนี้   อิสราเอลโหยหาอดีตอันยิ่งใหญ่เด่นดังของตน   ช้ำอกช้ำใจและรับไม่ได้กับสภาพการณ์ที่เขากำลังประสบพบเจอในเวลานั้น

พวกเชลยอิสราเอลมองแผนการของพระเจ้าจำกัดไว้เพียงแผนการสำหรับพวกเขาเท่านั้น!

แผนการแห่งการปลดปล่อยและการทรงช่วยกู้ของพระองค์กว้างไกลกว่าแผ่นดินผืนเล็กๆ ทางด้านชายฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอเรเนียนเท่านั้น   แต่แผนการของพระองค์คลอบคลุมไปถึงบาบิโลนด้วย

คำเผยพระวจนะผ่านทางเยเรมีย์บอกแก่เชลยศึกในต่างแดนว่า   แม้เราจะอยู่ในต่างแดนพระเจ้าก็อยู่เคียงข้างเรา   พระเจ้าทรงสถิตอยู่กับเราแม้ในแผ่นดินบาบิโลน   ยิ่งกว่านั้น พระองค์ทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในที่ที่เราตกเป็นเชลยด้วย   ด้วยเหตุนี้พระเจ้าทรงเรียกให้พวกเราตั้งหลักปักฐานและใช้ชีวิตร่วมในพระราชกิจของพระองค์   ให้ตั้งบ้านและอาศัยที่นี่   ทำไร่ปลูกสวนและกินผลจากสวนนั้น   แต่งงานและตั้งครอบครัว   ให้ลงหลักปักฐานในแผ่นดินที่พระเจ้าทรงนำเราไป   ให้เรามีชีวิตที่สัตย์ซื่อต่อพระองค์ในแผ่นดินและสถานการณ์ที่เรามีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน   ให้เรามีชีวิตอยู่ด้วยนิมิตหมายในการสร้างศานติสุข   โดยไม่มีท่าทีแบ่งเราแบ่งเขาจากพวกบาบิโลนที่พวกเรารับใช้   แต่ให้เราทำสิ่งที่ดีแก่ผู้คนโดยไม่แบ่งแยก   เพื่อพวกเขาจะได้เห็นความดีที่เรากระทำ  

ทำให้ระลึกถึงคำสอนของพระเยซูคริสต์ที่ว่า   คริสตชนเป็นเหมือนตะเกียงที่ส่องสว่างแก่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเรือนนั้น   เพื่อเขาจะได้เห็นความดีที่เราทำ   พวกเขาจะได้สรรเสริญพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์  (มัทธิว 5:14-16)

พระคริสต์เตือนเราว่า   จงรักเพื่อนบ้าน  จงรักศัตรูของท่าน  

จงรักที่ที่ท่านเป็นอยู่ในขณะนี้   มีชีวิตและทำงานด้วยความรักของพระคริสต์ท่ามกลางวัฒนธรรมที่แปลกแยกแตกต่างจากเรา   ให้เราทำงานด้วยความรักเมตตาที่เสียสละในสังคมชุมชนที่เราใช้ชีวิตและอาศัยอยู่   และตระหนักชัดว่า ในแผนการแห่งการทรงปลดปล่อยช่วยกู้ของพระเจ้าทรงรวมคนเหล่านี้ทั้งหมดไว้ในแผนการของพระองค์ด้วย

พระคริสต์ทรงส่งคริสตชนแต่ละคนเข้าไปมีชีวิตอยู่ในสังคมโลก   แต่มิใช่ให้มีชีวิตตกภายใต้การครอบงำแห่งอิทธิพลของโลก   แต่เป็นตะเกียงที่ส่องสว่าง “ในเรือนนั้น”

ที่ทำงานของเราในวันนี้  ถ้าเราต้องเผชิญหน้ากับความผิดหวัง ท้อแท้  ผิดพลาด  ผิดบาป  หรือแม้แต่การพบกับคู่อริ ฝ่ายตรงกันข้าม  หรือเรารู้สึกว่าถูกข่มขู่  หรือ ตนตกเป็นเหยื่อ   ให้เราตระหนักรู้ว่าในเหตุการณ์เหล่านี้พระเจ้าทรงอยู่เคียงข้างเรา   พระองค์จะทรงเป็นกำลังของเรา   เป็นผู้ชี้นำทางของเรา   และเราต้องมีนิมิตหมายว่า   ท่ามกลางสถานการณ์ที่เลวร้าย   พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจแห่งการเยียวยารักษา   การเสริมสร้างศานติสุข   ที่มิใช่คับแคบเพื่อคริสตชนเท่านั้น   แต่ในแผนการแห่งพระราชกิจของพระองค์รวมทุกคนในเหตุการณ์นั้นที่อยู่ในแผนการแห่งการทรงปลดปล่อยและการช่วยกู้ให้รอดของพระองค์ด้วย

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

11 กรกฎาคม 2557

ระวัง...ความไว้วางใจจะขึ้นสนิม!

เมื่อความไว้วางใจในความสัมพันธ์ของเรากับทีมงานเกิดการหักงอ หรือ ฉีกขาด   ให้รีบซ่อมแซมพลิกฟื้นความไว้วางใจขึ้นใหม่ทันที  มิเช่นนั้นความไว้วางใจที่ “ถลอก ฉีก หัก” จะขึ้น “สนิม”  แล้วสนิมนั้นจะกัดกร่อนความไว้วางใจในความสัมพันธ์ที่เรามีต่อกันให้ผุกร่อนและหักพังได้  

ในฐานะที่เราเป็น “ผู้นำ” คนหนึ่งไม่ว่าจะเป็นผู้นำในระดับใดก็ตาม   จะเป็นการพูดจา  ท่าทางที่เราแสดงออก   หรือการกระทำของเราย่อมเป็นที่เพ่งเล็งในสายตาของทีมงาน   บางครั้งอาจจะเป็นคำพูดที่เราพูดออกไปแล้วไปทำร้ายทำลายความไว้วางใจที่เขามีต่อเรา   บางครั้งก็เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่ถูกกาละเทศะ  กล่าวด้วยท่าทางน้ำเสียงที่ค่อนข้างแรงและแข็งกร้าวทั้งๆ ควรพูดด้วยความเมตตาในบริบทนั้น   บางครั้งก็ละลืม  เลยไม่ได้ทำในสิ่งที่ตนสัญญาไว้   ถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะมิใช่เป็นการกระทำผิดอย่างโจ่งแจ้งตั้งใจ   แต่ก็เป็นการสนองตอบที่ไม่ค่อยดีของเรา   และนี่เป็น “ตัวกัดกร่อน” ที่ทำให้ความไว้วางใจใความสัมพันธ์ของเรากับทีมงานเสียหาย

แล้วจะ “ซ่อมแซม” ความไว้วางใจในความสัมพันธ์อย่างไร?

ยอมรับ ความจริงว่า ความไว้วางใของเราแตกหัก

ถ้าใครมีรถยนต์คงต้องตรวจตราอยู่เสมอว่า   มีส่วนใดของรถเกิดการถลอก บุบ หรือฉีกขาดหรือไม่    ถ้ามีจะต้องซ่อมแซม  มิเช่นนั้น จะทำให้ขึ้นสนิม   แล้วสนิมก็จะกัดกินทำให้เหล็กในบริเวณนั้นผุกร่อนแล้วลามเป็นพื้นที่กว้างต่อไป   นานเข้าจะส่งผลร้ายทำให้เกิดความเสียหายแก่โครงสร้างของรถนั้นได้   ถ้าเจ้าของรถละเลยมองข้ามไม่ใส่ใจสนิมที่เกิดขึ้น  เมื่อมันลามใหญ่โตขึ้นก็ต้อง “จ่าย” ค่าซ่อมมากขึ้นด้วย    เรามักมองว่า “ไม่ใช่เรื่องสำคัญหรอก  ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร”   เรามักลวงตนเองเช่นนี้  

เฉกเช่นเดียวกันกับความไว้วางใจที่ฉีกขาดที่เรามักมองว่า   ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร   เรื่องอย่างนี้ทิ้งไว้สักพักหนึ่งแล้วมันจะค่อยๆ ดีขึ้นเอง   เวลาจะช่วยเยียวยารักษา  และนี่คือการลวงตนเองที่อันตราย   ยิ่งกว่านั้น ผู้นำบางคนเมื่อเกิดบาดแผลความไว้วางใจในความสัมพันธ์มักโทษคนอื่นสร้างความเจ็บปวดให้ทีมงานบางคนแทนที่จะลุกขึ้นยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น   หรือไม่ก็ยุยงว่ามีบางคนที่อยู่เบื้องหลังในการทำลายความไว้วางใจในทีมงาน

เลิกใช้เทคนิคแย่ๆ แบบเก่าๆ เหล่านี้เถิดครับ    เราต้องยอมรับความจริงว่า   ความไว้วางใจกันตอนนี้เกิดบาดแผล  เกิดความร้าวฉาน หรือ ถึงขนาดฉีกขาด   การยอมรับความจริงเช่นนี้ย่อมเป็นการเปิดประตูสู่การเยียวยารักษา

เลือก ที่จะให้อภัยพฤติกรรมของคนอื่น

เมื่อเรายอมรับถึงความแตกหักของความไว้วางใจในความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น   เราต้องก้าวต่อไปเพื่อที่จะให้อภัยแก่กัน   อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่คนอื่นเคยกระทำผิดต่อเรา   เราอาจจะรู้สึกว่าสาสมปล่อยให้เขาจมดิ่งต่อไป   เรายังเก็บงำซ่อนเร้นความขุ่นเคืองบาดแผลไม่พอใจในอดีตไว้ในจิตใจของเรา   ถ้าเช่นนี้ บาดแผลความไว้วางใจจะไม่สามารถเยียวยารักษาได้   การเยียวยาเริ่มต้นที่การรับรู้ว่าได้เกิดบาดแผลในความไว้วางใจ   แล้วตามด้วยเปิดใจยอมให้อภัยในสิ่งผิดพลาดที่เขาเคยกระทำต่อเรา   การที่จะก้าวให้ข้ามขั้นตอนนี้อาจจะไม่ใช่ง่ายเลย   บางคนจะรู้สึกเจ็บปวดด้วย   แต่การกระทำเช่นนี้จะเป็นการซ่อมแซมและเสริมเพิ่มความแข็งแกร่งในความไว้วางใจที่เราจะมีต่อกันในอนาคต

เลือก ที่จะขอโทษทันที

ถ้าเราเป็นฝ่ายที่กระทำให้ความไว้วางใจที่มีต่อกันต้องเสียหายฉีกขาด   เราต้องพร้อมที่จะเป็นผู้ขอโทษผู้ที่เราทำให้เกิดบาดแผลในความไว้วางใจทันที    และในกรณีที่ทำให้เกิดความเสียหายในเชิงทรัพย์สินสิ่งของเราอาจจะต้องหาทางที่จะชดใช้ในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น   การขอโทษคงมิใช่เพียงการกล่าวคำว่า “ขอโทษ” หรือ การขอโทษด้วยวาจาเท่านั้น    แต่ให้เราขอโทษด้วยการกระทำ   และด้วยจิตใจที่สำนึกผิด

เลือก ที่จะรักษาและซ่อมแซมสิ่งที่มีค่าที่สุด

ชีวิตจริงมันยิ่งกว่าละครฉากหนึ่ง   เมื่อเราเป็นผู้ที่ทำให้ความไว้วางใจที่มีต่อกันเกิดฉีกขาดเสียหาย   เราต้องรีบยอมรับความผิดที่เราได้กระทำลงไปและแสดงความรับผิดชอบในส่วนที่เราเป็นผู้ทำให้เกิดความเสียหายทันที   โปรดตระหนักชัดว่า   สิ่งที่สำคัญที่สุดที่คนอื่นจะให้แก่เรานั้นมิใช่เรื่องเวลา  แรงงาน   หรือความพยายาม   แต่สิ่งสำคัญและมีค่าที่สุดที่ท่านจะได้รับจากเพื่อนคือ ความไว้วางใจ

แต่คนไทยเราหลายคนมักเลือกที่จะรักษาหน้ามากกว่า   โดยเฉพาะคนที่เป็นใหญ่เป็นโต

ดังนั้น   จงกระทำทุกหนทางที่จะรักษาไว้ หรือ เรียกคืนความไว้วางใจให้กลับมามีดั่งเดิมให้ได้   ถ้าความไว้วางใจของเราเกิดการฉีกขาดเสียหายไปแล้ว   ความเชื่อใจกันจะคงเหลืออยู่อีกหรือ?   เราจะอยู่  จะคบกัน  และจะทำงานด้วยกันได้อย่างไร?

ในการที่เราต้องเลือกสิ่งที่เป็นเป้าหมายที่สำคัญและมีคุณค่าที่สุดของเราในเวลานั้น   เราก็ต้องยอมรับว่าเราจะต้อง “ยอมสละ” บางสิ่งก่อนในเวลานั้น   เพื่อแลกกับการรักษาสิ่งที่มีคุณค่าและสำคัญที่สุดไว้   และให้อิทธิพลของสิ่งที่มีคุณค่าและสำคัญที่สุดเยียวยารักษาเพื่อกู้คืนบางสิ่งบางอย่างที่มีคุณค่าที่เรา “ยอมสละ” ในเวลาต่อมา

แล้วเราคิดว่าอะไรคือเป้าหมายที่สำคัญที่สุดและมีคุณค่ายิ่งของเราในงานที่เราทำอยู่ในวันนี้ครับ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

10 กรกฎาคม 2557

สะพาน...สู่...อนาคต

สะพานแห่งชีวิตเชื่อมต่อปัจจุบันของเราไปยังอนาคต
ที่นำเราค้นพบกับสิ่งใหม่ๆ
ความสัมพันธภาพใหม่ๆ
โอกาสใหม่ๆ

การตัดสินใจข้ามสะพานใดย่อมนำเราไปสู่การเปลี่ยนแปลง
ดังนั้น การตัดสินใจข้าม “สะพานชีวิต” จึงเป็นการตัดสินใจเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงในชีวิต
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวย่อมทำให้เรารู้สึกไม่สะดวกสบาย  ไม่คุ้นชิน  อาจจะไม่พอใจด้วยซ้ำ
เราจึงถูกดึงระหว่างการที่จะแช่อยู่ในสภาพเดิม กับ การกล้าก้าวข้ามไปสู่สภาพที่เรายังไม่รู้จักมักคุ้น

และบ่อยครั้ง...เราดึงตนเองกลับไปสู่สภาพเดิมที่เราคุ้นชิน รู้สึกสะดวกสบาย  ปลอดภัย!

ทั้งนี้เกิดจากการที่เราขาดการประเมินให้รู้และเข้าใจถ่องแท้ว่า
การก้าวข้ามสะพานชีวิตไปสู่สิ่งใหม่นั้น...
เราไม่ได้เข้าสู่ “สิ่งใหม่” ที่เราอยากได้  อยากเป็น  และอยากอยู่...ทันที
แต่เมื่อข้ามสะพานที่นำสู่การเปลี่ยนแปลงแล้ว ...
เรายังต้องก้าวเดินอีกยาวไกลกว่าถึงเป้าหมายปลายทาง
อย่างที่ C.S. Lewis กล่าวไว้ว่า
“...เรายังต้องก้าวเดินไปอีกไกลแสนไกล  ไกลกว่าเส้นทางที่เราเคยผ่านพบมา”

การก้าวเดินข้ามสะพานนั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ
แต่หลังการข้ามสะพานแล้วต่างหากที่ยาก...
เพราะเราต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง  เราต้องอดทน บากบั่น  เราต้องเป็นผู้ให้
เราต้องยอมรับการขัดเกลาชีวิตให้สอดคล้องกับ สิ่งใหม่ สภาพใหม่ และชีวิตใหม่

พระเยซูคริสต์เข้ามายังสังคมโลกนี้ด้วยการเป็นคนรับใช้ และ ให้ชีวิตแก่คนอื่น
แต่คริสตชนกลับประกาศพระกิตติคุณด้อยค่าดั๊มราคาให้ถูกๆ ไว้...
ถ้ายอมรับเชื่อพระเยซูคริสต์  รับบัพติสมา  แล้วท่านจะได้ไปสวรรค์
ชีวิตที่สะดวกสบาย  อู้ฟู้  ถนนปูด้วยทองคำ...
ไม่ได้บอกชี้ความจริงว่าระหว่างเส้นที่รับเชื่อไปถึงแผ่นดินสวรรค์นั้น...
จะต้องผ่านเส้นทางชีวิตแบบไหน   จะต้องรับการขัดเกลาและเปลี่ยนแปลงอะไรจากเบื้องบน
ไม่ได้เน้นย้ำว่า...ชีวิตต้องเปลี่ยนแปลง   แต่เน้นย้ำว่า  ชีวิตจะได้ความสุข สะดวกสบาย
เป็นการประกาศพระกิตติคุณแบบการตลาด   ที่บอกเพียงความจริงด้านผลประโยชน์แก่ผู้บริโภค

พระคริสต์กระทำทุกอย่างเพื่อจะรับใช้ และ ให้ชีวิตแก่คนอื่น
แต่เราที่เรียกตนเองว่าสาวกพระคริสต์กลับแสวงหาที่จะได้  ที่จะมีอำนาจ  และตำแหน่งหรือไม่?        
พระคริสต์เตือนคนที่จะติดตามพระองค์ให้ประเมินตนก่อนการตัดสินใจ
พระองค์เตือนให้คิดคำนวนก่อนที่จะสร้างบ้าน (ลูกา 14:28)
พระองค์เตือนเราให้ประเมินกำลังให้ดีก่อนที่คิดจะยกทัพไปสู้รบกับคนอื่น (ลูกา 14:31)

หรือเราจะเป็นเหมือนชนชาติอิสราเอลที่ออกจากการเป็นทาสในอียิปต์
ที่ก้าวข้าม “ทะเลแดง” ออกจากการเป็นทาสในอียิปต์สู่แผ่นดินแห่งพระสัญญา
พวกเขาคิดถึง “แผ่นดินที่มีน้ำผึ้งและอุดมด้วยน้ำนม”  (กันดารวิถี 16:14;  โยชูวา 5:6)
แต่ไม่ได้คิดถึงเส้นทางในถิ่นทุรกันดารที่จะเปลี่ยนแปลง เสริมสร้างชีวิตของตนขึ้นใหม่
ฝัดร่อนพวกเขาให้มีชีวิตที่เหมาะสมสอดคล้องกับแผ่นดินแห่งพระสัญญา
เมื่อต้องพบกับความทุกข์ยากลำบาก เผชิญหน้ากับวิกฤติ
สิ่งที่พวกเขาคิดถึงคือ   ความคิดที่จะดึงตนเองกลับไปเป็นทาสในอียิปต์อย่างเดิมดีกว่า (อพยพ 16:3)
แม้ที่อียิปต์ต้องพบกับความทุกข์ยากลำบาก   แต่ได้อาหาร  มีหม้อเนื้อร้อนๆ รอให้กิน(บริโภค)

วันนี้ก่อนที่เราจะก้าวข้าม “สะพานแห่งชีวิต”
เราจำเป็นต้องตระหนักชัดว่า   การก้าวสู่สิ่งใหม่  โอกาสใหม่  สัมพันธภาพใหม่  และชีวิตใหม่
ทั้งสิ้นนี้เป็นการเปลี่ยนแปลง   ที่มิได้นำเราไปสู่สภาพแวดล้อมใหม่นั้นทันที
แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องรับการเปลี่ยนแปลง และต้องมีการเปลี่ยนแปลงในตัวและชีวิตของเราก่อน
ประเมิน และ ถามใจตนเองก่อนจะตัดสินใจข้ามสะพานชีวิตในวันนี้
มิเช่นนั้นเราอาจจะต้องเป็นเหมือนชาวนา “ที่จับคันไถแล้วหันกลับ”
ที่พระเยซูบอกว่า   ไม่เหมาะสมกับการเป็นสาวกของพระองค์ (ลูกา 9:62)
                                                                                                                                         
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499