10 กรกฎาคม 2557

สะพาน...สู่...อนาคต

สะพานแห่งชีวิตเชื่อมต่อปัจจุบันของเราไปยังอนาคต
ที่นำเราค้นพบกับสิ่งใหม่ๆ
ความสัมพันธภาพใหม่ๆ
โอกาสใหม่ๆ

การตัดสินใจข้ามสะพานใดย่อมนำเราไปสู่การเปลี่ยนแปลง
ดังนั้น การตัดสินใจข้าม “สะพานชีวิต” จึงเป็นการตัดสินใจเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงในชีวิต
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวย่อมทำให้เรารู้สึกไม่สะดวกสบาย  ไม่คุ้นชิน  อาจจะไม่พอใจด้วยซ้ำ
เราจึงถูกดึงระหว่างการที่จะแช่อยู่ในสภาพเดิม กับ การกล้าก้าวข้ามไปสู่สภาพที่เรายังไม่รู้จักมักคุ้น

และบ่อยครั้ง...เราดึงตนเองกลับไปสู่สภาพเดิมที่เราคุ้นชิน รู้สึกสะดวกสบาย  ปลอดภัย!

ทั้งนี้เกิดจากการที่เราขาดการประเมินให้รู้และเข้าใจถ่องแท้ว่า
การก้าวข้ามสะพานชีวิตไปสู่สิ่งใหม่นั้น...
เราไม่ได้เข้าสู่ “สิ่งใหม่” ที่เราอยากได้  อยากเป็น  และอยากอยู่...ทันที
แต่เมื่อข้ามสะพานที่นำสู่การเปลี่ยนแปลงแล้ว ...
เรายังต้องก้าวเดินอีกยาวไกลกว่าถึงเป้าหมายปลายทาง
อย่างที่ C.S. Lewis กล่าวไว้ว่า
“...เรายังต้องก้าวเดินไปอีกไกลแสนไกล  ไกลกว่าเส้นทางที่เราเคยผ่านพบมา”

การก้าวเดินข้ามสะพานนั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ
แต่หลังการข้ามสะพานแล้วต่างหากที่ยาก...
เพราะเราต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง  เราต้องอดทน บากบั่น  เราต้องเป็นผู้ให้
เราต้องยอมรับการขัดเกลาชีวิตให้สอดคล้องกับ สิ่งใหม่ สภาพใหม่ และชีวิตใหม่

พระเยซูคริสต์เข้ามายังสังคมโลกนี้ด้วยการเป็นคนรับใช้ และ ให้ชีวิตแก่คนอื่น
แต่คริสตชนกลับประกาศพระกิตติคุณด้อยค่าดั๊มราคาให้ถูกๆ ไว้...
ถ้ายอมรับเชื่อพระเยซูคริสต์  รับบัพติสมา  แล้วท่านจะได้ไปสวรรค์
ชีวิตที่สะดวกสบาย  อู้ฟู้  ถนนปูด้วยทองคำ...
ไม่ได้บอกชี้ความจริงว่าระหว่างเส้นที่รับเชื่อไปถึงแผ่นดินสวรรค์นั้น...
จะต้องผ่านเส้นทางชีวิตแบบไหน   จะต้องรับการขัดเกลาและเปลี่ยนแปลงอะไรจากเบื้องบน
ไม่ได้เน้นย้ำว่า...ชีวิตต้องเปลี่ยนแปลง   แต่เน้นย้ำว่า  ชีวิตจะได้ความสุข สะดวกสบาย
เป็นการประกาศพระกิตติคุณแบบการตลาด   ที่บอกเพียงความจริงด้านผลประโยชน์แก่ผู้บริโภค

พระคริสต์กระทำทุกอย่างเพื่อจะรับใช้ และ ให้ชีวิตแก่คนอื่น
แต่เราที่เรียกตนเองว่าสาวกพระคริสต์กลับแสวงหาที่จะได้  ที่จะมีอำนาจ  และตำแหน่งหรือไม่?        
พระคริสต์เตือนคนที่จะติดตามพระองค์ให้ประเมินตนก่อนการตัดสินใจ
พระองค์เตือนให้คิดคำนวนก่อนที่จะสร้างบ้าน (ลูกา 14:28)
พระองค์เตือนเราให้ประเมินกำลังให้ดีก่อนที่คิดจะยกทัพไปสู้รบกับคนอื่น (ลูกา 14:31)

หรือเราจะเป็นเหมือนชนชาติอิสราเอลที่ออกจากการเป็นทาสในอียิปต์
ที่ก้าวข้าม “ทะเลแดง” ออกจากการเป็นทาสในอียิปต์สู่แผ่นดินแห่งพระสัญญา
พวกเขาคิดถึง “แผ่นดินที่มีน้ำผึ้งและอุดมด้วยน้ำนม”  (กันดารวิถี 16:14;  โยชูวา 5:6)
แต่ไม่ได้คิดถึงเส้นทางในถิ่นทุรกันดารที่จะเปลี่ยนแปลง เสริมสร้างชีวิตของตนขึ้นใหม่
ฝัดร่อนพวกเขาให้มีชีวิตที่เหมาะสมสอดคล้องกับแผ่นดินแห่งพระสัญญา
เมื่อต้องพบกับความทุกข์ยากลำบาก เผชิญหน้ากับวิกฤติ
สิ่งที่พวกเขาคิดถึงคือ   ความคิดที่จะดึงตนเองกลับไปเป็นทาสในอียิปต์อย่างเดิมดีกว่า (อพยพ 16:3)
แม้ที่อียิปต์ต้องพบกับความทุกข์ยากลำบาก   แต่ได้อาหาร  มีหม้อเนื้อร้อนๆ รอให้กิน(บริโภค)

วันนี้ก่อนที่เราจะก้าวข้าม “สะพานแห่งชีวิต”
เราจำเป็นต้องตระหนักชัดว่า   การก้าวสู่สิ่งใหม่  โอกาสใหม่  สัมพันธภาพใหม่  และชีวิตใหม่
ทั้งสิ้นนี้เป็นการเปลี่ยนแปลง   ที่มิได้นำเราไปสู่สภาพแวดล้อมใหม่นั้นทันที
แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องรับการเปลี่ยนแปลง และต้องมีการเปลี่ยนแปลงในตัวและชีวิตของเราก่อน
ประเมิน และ ถามใจตนเองก่อนจะตัดสินใจข้ามสะพานชีวิตในวันนี้
มิเช่นนั้นเราอาจจะต้องเป็นเหมือนชาวนา “ที่จับคันไถแล้วหันกลับ”
ที่พระเยซูบอกว่า   ไม่เหมาะสมกับการเป็นสาวกของพระองค์ (ลูกา 9:62)
                                                                                                                                         
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น