02 กรกฎาคม 2557

ผู้นำที่ทรงอิทธิพลในคริสตจักร(1)?

ใครคือผู้นำที่ทรงอิทธิพลในคริสตจักร?   เขามีภาวะผู้นำแบบไหนถึงเป็นผู้ทรงอิทธิพลในคริสตจักรได้?

ถ้าจะถามว่า ในคริสตจักรสมัยเริ่มแรกในพระธรรมกิจการ   ใครคือผู้นำที่ทรงอิทธิพลในคริสตจักรสมัยนั้น?

ท่านคิดว่าเป็นใครกันครับ?   ส่วนใหญ่แล้วคำตอบที่ผมได้คือ   ไม่เปาโลก็เป็นเปโตร   และผมขอตั้งข้อสังเกตว่าทั้งสองมีลักษณะภาวะผู้นำแบบ “โปรแอ๊คติฟ” คนหนึ่งเป็นสาวกติดตามพระเยซูมาตลอดเวลาสามปี   เป็นสาวกที่โดดเด่นนำหน้าในกลุ่มสาวกเวลานั้น   กับอีกคนหนึ่งที่เผชิญหน้ากับพระเยซูคริสต์ที่เขากำลังขจัดล้างผลาญเมื่อนำกองกำลังตามติดไล่จับไล่ฆ่าพวกที่เชื่อพระเยซูคริสต์ในเมืองต่างๆ   แต่ก็ต้องยอมจำนนต่อพระเยซู   เรียกว่า “โจรกลับใจ” ก็ว่าได้   แล้วกลายเป็นคนประกาศพระเยซูคริสต์ที่ครั้งหนึ่งเขาเคย “ขยี้ด้วยอุ้งตีน” ของเขาเอง

ใช่และก็ไม่แปลกครับที่คนส่วนใหญ่จะมองว่าผู้นำที่ทรงอิทธิพลจะต้องเป็นผู้นำที่ “เก่ง กล้า ท้า รุก”  และเป็นผู้นำต้นแบบในหัวใจของคริสตชนหลายต่อหลายคน   และถ้ามีการเลือกตั้งทีไรก็ได้ผู้นำประเภทนี้ที่ครองเสียงชนะเลือกตั้งเสียส่วนใหญ่?

แต่มีอีกคนหนึ่งในคริสตจักรสมัยพระธรรมกิจการทีทรงอิทธิพลแต่ผู้คนไม่ค่อยนึกถึง   มีบทบาทและเป็นผู้นำที่ทรงอิทธิพลอย่างมากแต่คนส่วนใหญ่มองไม่เห็น   ถ้าคริสตจักรสมัยเริ่มแรกไม่มีผู้นำประเภทนี้แล้วผมก็ยังสงสัยอยู่ว่า   คริสตจักรจะออกมาในแบบไหนกันแน่?

เมื่อเปาโลยอมจำนนต่อพระคริสต์และพลิกพลังที่มีอยู่ในชีวิตกลับมาเป็นทาสรับใช้ประกาศข่าวดีของพระเยซูคริสต์   และมุ่งเป้าชัดเจนในการประกาศข่าวดีแก่คนต่างชาติที่ไม่ใช่ยิวที่อยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลออกไป     ซึ่งเป็นการทำให้ชัดเจนว่าตนมีกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ซ้ำซ้อนกับอัครทูตในเวลานั้นที่ทุ่มการประกาศเรื่องพระเยซูกับคนในกรุงเยรูซาเล็มและปริมณฑล  

อย่างไรก็ตาม  แม้เปาโลออกประกาศข่าวดีของพระเยซูคริสต์อย่างเปิดเผย  ผู้คนในสังคม สาวก และอัครทูตในเวลานั้นต่างสงสัยไม่ไว้วางใจถึงการที่เปาโลกลับใจเปลี่ยนขั้วมาอยู่ฝ่ายพระเยซูคริสต์   และมองว่านี่คงเป็นกลลวงหลอกล่อให้ผู้เชื่อพระเยซูตายใจ   จนเขาสามารถเข้าไปล้วงลูกลึกถึง “รัง” ของผู้เชื่อในเวลานั้น   แล้วจะได้ทำลายล้างให้สิ้นซาก   ดังที่หมอลูกาบันทึกไว้ว่า  20...(เซาโล)​ท่าน​ก็​ไม่​ได้​รี​รอ ท่าน​เริ่ม​ประ​กาศ​เรื่อง​พระ​เยซู​ตาม​ธรรม​ศาลา​ต่างๆ ว่า พระ​องค์​ทรง​เป็น​พระ​บุตร​ของ​พระ​เจ้า21 คน​ทั้ง​หลาย​ที่​ได้​ยิน​ก็​ประ​หลาด​ใจ​พูด​กัน​ว่า คน​นี้​ไม่​ใช่​หรือ​ที่​ทำ​ร้าย​ผู้​คน​ใน​กรุง​เย​รู​ซา​เล็ม​ที่​อธิษ​ฐาน​ออก​พระ​นาม​นี้? และ​เขา​มา​ที่​นี่​ก็​เพื่อ​จับ​พวก​นั้น​ส่ง​ให้​พวก​หัว​หน้า​ปุโร​หิต​ไม่​ใช่​หรือ?” (กิจการ 9:21-22 มตฐ.)   และ “เมื่อ​เซา​โล​ไป​ถึง​กรุง​เย​รู​ซา​เล็ม​แล้ว ท่าน​พยา​ยาม​จะ​เข้า​ร่วม​กับ​พวก​สา​วก แต่​เขา​ทั้ง​หลาย​กลัว เพราะ​ไม่​เชื่อ​ว่า​เซา​โล​เป็น​สา​วก” (9:26)

อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าความสงสัย ไม่ไว้วางใจ และกลัวเซาโลยังมีอยู่เช่นนี้ต่อไป?   แน่นอนว่า พวกสาวกในเยรูซาเล็มและอัครสาวกก็จะกีดกัน  ปฏิเสธที่จะพบและร่วมงานกับเปาโล   ในไม่ช้าคริสตจักรในสมัยเริ่มแรกคงแตกเป็นสองพวกสองนิกาย   พวกหนึ่งเป็นคริสตจักรของอัครทูตของพระเยซูคริสต์   อีกพวกเป็นคริสตจักรของเปาโลที่เน้นกลุ่มเป้าหมายคือคนต่างชาติท้าวต่างแดน

ในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้   พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์   พระองค์ทรงใช้บารนาบัสในการสริมสร้างประสานความไว้วางใจที่ขาดสะบั้นเพราะพฤติกรรมของเซาโลที่ผ่านมา   และการคิดแต่จะปกป้องตนเองของพวกสาวกและอัครทูตจากการถูกเข่นฆ่าข่มเหง

บารนาบัส   ที่มีชื่อว่า โยเซฟ   เป็นคนในเผ่าเลวีที่ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่เกาะไซปรัส   เป็นสาวกที่เชื่อในพระเยซูคริสต์คนหนึ่ง   เป็นคนที่อัครสาวกไว้เนื้อเชื่อใจ   และยังตั้งสมญานามว่า “บารนาบัส” ซึ่งมีความหมายว่า “ลูกแห่งการหนุนน้ำใจ” (กิจการ 4:36)   และเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ขายที่ดิน(ที่เกาะไซปรัส)แล้วนำเงินที่ได้มามอบให้อัครทูตเพื่อใช้ในการจุนเจือความอยู่รอดของคริสตชนในเยรูซาเล็มในเวลานั้น (ข้อ 37)

หมอลูกาบันทึกว่า 27 แต่บารนาบัสพาท่าน(เซาโล)ไปหาพวกอัครทูต และเล่าให้พวกเขาฟังว่าเซาโลเห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ที่ตรัสกับท่านระหว่างทางอย่างไร และท่านประกาศออกพระนามพระเยซูด้วยใจกล้าหาญในเมืองดามัสกัสอย่างไร 28 แล้วเซาโลจึงได้เข้านอกออกในอยู่กับพวกอัครทูตในกรุงเยรูซาเล็ม” (กิจการ 9:27-28 มตฐ.) 

นี่คือจุดหักเหที่พลิกผันของคริสตจักรในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวาน   พระเจ้าทรงใช้ภาวะผู้นำของบารนาบัสเข้ามาเชื่อมประสานให้อัครทูตรู้ถึงข้อมูลความจริง  ให้การเปิดใจ   แล้วนำสู่ความไว้วางใจกัน   ยอมรับกันและกัน   เพื่อรับใช้พระเยซูคริสต์ร่วมกัน

บารนาบัสมิใช่ผู้นำแบบ “จู่โจมเพื่อเอาชนะ” หรือ ผู้นำแบบ “ตั้งรับเพื่อความปลอดภัย”

แต่...บารนาบัสเป็นผู้นำที่  “สร้างสะพานเชื่อมประสานพลังการรับใช้” ของคริสตจักรในเวลานั้นให้เป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้า

นี่คือภาวะผู้นำที่ทรงอิทธิพลในคริสตจักร!   คริสตจักรและหน่วยงาน สถาบันคริสตชนของเราต้องการผู้นำแบบนี้ครับ  ผู้นำแบบนี้ไม่เด่นไม่ดัง   แต่เขาเป็นคนที่เสริมสร้างและเอื้ออำนวยให้คนอื่นได้ใช้ภาวะผู้นำที่โดดเด่นของตนอย่างสร้างสรรค์  ประสานเชื่อมสัมพันธ์พลังการรับใช้ให้หนุนเสริมกัน  

ผู้นำที่ทรงอิทธิพลที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้เขาจะเสริมสร้างคนอื่นให้มีภาวะผู้นำที่สร้างสรรค์   สร้างให้คนเหล่านั้นเป็นผู้นำที่เปิดใจรับคนขั้วตรงกันข้าม   สร้างให้ผู้นำเหล่านั้นได้เรียนรู้เท่าทันความจริงของแต่ละฝ่าย   แล้วเชื่อมประสานให้เกิดความไว้วางใจกันแทนความสงสัยและใจคับแคบ   เป็นผู้เชื่อมให้ทั้งสองฝ่ายสามารถหันหน้ามาร่วมพลังในการทำงานรับใช้พระคริสต์   เมื่อทุกอย่างสามารถดำเนินไปด้วยดีผู้นำที่ทรงอิทธพลแบบนี้จะไม่ฉวยโอกาสเข้าไปรับเกียรติประโยชน์ หรือ ตำแหน่งใดๆ ในคริสตจักร   แต่เขามุ่งทำหน้าที่เป็น “สะพาน” ในความขัดแย้งด้วยสุขุมสงบ

นี่คือผู้นำที่ดำเนินบนรากฐานแห่ง “พระคุณ” ของพระเยซูคริสต์

เป็นผู้นำที่คริสตจักรของเราต้องการในเวลานี้ครับ!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น