31 มีนาคม 2564

เมื่อชีวิตไม่เป็นไปตามแผนการที่วางไว้!

ครั้งเมื่อผมอายุใกล้เข้าวัยเกษียณ (ตามที่คนอื่นกำหนดให้ ทั้ง ๆ ที่ผมไม่ได้ทำงานประจำมาเป็นสิบปีแล้ว) ผมเริ่มกำหนดแผนงานชีวิตว่าจะทำอะไรบ้าง วางแผนตามใจปรารถนาที่อยากจะเป็นอยากจะทำ ตามกำลังศักยภาพที่ตนมีอยู่ และคิดว่าตนจะสามารถทำให้สำเร็จได้

แต่ในแผนงานเหล่านั้น ผมไม่ได้คิดเลยว่า ผมจะต้องป่วยหนักกะทันหัน ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลอย่างฉุกเฉิน เรียกว่าเกือบเอาชีวิตไม่รอด แต่ต้องขอบพระคุณพระเจ้า พระองค์ยังเปิดโอกาสที่ให้มีชีวิตอยู่ต่อไปอีก แต่ผมเห็นแล้วว่า ตอนนี้ไม่สามารถที่จะดำเนินตามแผนงานชีวิตที่วางไว้ สภาพชีวิตที่จะวิ่งเต้นไปยังที่ต่าง ๆ ถูกจำกัดลงให้เหลือแค่ “เดินอย่างระมัดระวังไม่ให้ล้ม” อยู่กับบ้าน ปักหลักอยู่กับที่ มีเวลาอยู่กับตนเองและอยู่กับพระเจ้ามากขึ้น แต่ก็ยังมีโอกาสติดต่อสื่อสารกับผู้คนภายนอกผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด

เรียกว่า แผนงานชีวิตที่เตรียมไว้ “พับเก็บ” ไว้บนหิ้ง เพราะมันเป็นจริงไม่ได้ในตอนนี้

ผมเกิดฉุกคิดและถามตนเองว่า แล้วพระเจ้าทำไมยังให้โอกาสที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีก? ผมได้แต่ก้มหัวลงอธิษฐานกับพระองค์ว่า ช่วงเวลาชีวิตที่เหลืออยู่นี้ พระองค์มีเป้าประสงค์อะไรในชีวิตที่มีในขณะนี้? ผมปรารถนาทำตามพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตที่ผมได้รับ

เสียงจากข้อพระคัมภีร์ที่คุ้นชินเพราะใช้เป็นประจำเมื่อต้องเขียนบทความ หรือ ใช้ในการฝึกอบรมเกี่ยวกับการวางแผนงานของคริสตชน  แว่วขึ้นมาว่า

“มนุษย์วางแผนงานอยู่ในใจ 

แต่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดแต่ละย่างก้าวของเขา”

(สุภาษิต 16:9 อมธ.)

ใช่... เราวางแผนชีวิตตามใจปรารถนาของเราเองเสียจนสวยหรู แต่เราไม่สามารถกำหนดย่างก้าวที่จะก้าวไปทีละก้าวอย่างชัดเจนแม่นยำได้ แต่พระเจ้ากลับเป็นผู้ที่ช่วยกำหนดแต่ละย่างก้าวในชีวิตประจำวันของเรา เป็นย่างก้าวที่ก้าวย่างบนความเป็นจริงและเป็นไปได้ตามพระประสงค์ของพระองค์ และที่สำคัญคือ พระเจ้าจะทรงเปิดเผย “ทีละย่างก้าว” ในแต่ละวันให้เรารู้และเดินตามด้วยการเชื่อฟังและไว้วางใจในการทรงนำของพระองค์ เสรีภาพของผมก็คือ ผมสามารถเลือกได้ว่าจะก้าวเดินตามที่พระองค์เปิดเผยแก่ผมในวันนี้หรือไม่ก็ได้

ที่กล่าวมาทั้งสิ้นนี้ไม่ได้หมายความว่าผมเปลี่ยนมุมมองว่า การวางแผนไม่ใช่เรื่องสำคัญ การวางแผนเป็นเรื่องที่สำคัญครับ การที่เราสามารถกำหนดเส้นทางเดินในชีวิตของเราไปสู่อนาคตเป็นความสามารถที่พระเจ้าประทานแก่เรา เรากำหนดเป้าหมายและยึดมั่นในความฝันที่มี และหวังว่าวันหนึ่งเราคงสามารถไปถึงเป้าหมายที่วางนั้น แต่ในหลายครั้งหลายหนที่พระเจ้า “ทรงเปลี่ยน” ทิศทางชีวิตของเราให้ไปในแนวทางใหม่ เป็นเป้าหมายชีวิตที่เราไม่เคยคาดหวัง แต่กลับเป็นแผนการที่ดีเยี่ยมที่พระองค์วางไว้เพื่อเรา

ก้าวย่างที่พระองค์ได้กำหนดให้เรา อาจจะเป็นก้าวย่างที่นำเราไปในทิศทางที่เราเองตั้งใจจะไป  หรืออาจจะนำเราไปยังที่ที่เราไม่ต้องการจะไปก็ได้ แต่เรามั่นใจได้เลยว่า พระพรของพระเจ้าจะไม่หยุดชะงักเพียงเพราะสถานการณ์แวดล้อมของเราเปลี่ยนไป

เราสามารถที่จะดำเนินไปด้วยความมั่นใจในพระสัญญาของพระองค์ ถึงแม้จะดูไม่เหมือนอย่างที่เราได้วางแผนไว้ก็ตาม ในช่วงที่พบว่าตนเองสุ่มเสียงต่อการตาย จนกระทั่งค่อย ๆ ดีขึ้น และกลับมาสู่สุขภาพที่จะต้องเอาใจใส่อยู่แต่ที่บ้าน เป็นช่วงเวลาที่เรียกว่ายากลำบากสำหรับตนเอง  การที่จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตประจำวันในสถานการณ์ใหม่  

แน่นอนครับแผนการชีวิตต่าง ๆ ที่เคยวางไว้ถูกลบขจัดออกไปจากความนึกคิด แต่ในช่วงเวลาเช่นนี้ผมเองกลับมีเวลาส่วนตัวที่ใกล้ชิดกับพระเจ้ามากยิ่งขึ้น มีสิ่งสำคัญก่อนหลังในชีวิตที่เปลี่ยนลำดับไปจากเดิม ทรงเข้ามาพลิกฟื้นย่างก้าวในชีวิตของผม และเมื่อผมยอมที่จะก้าวย่างไปตามที่พระเจ้าได้เปลี่ยนแปลง ชี้นำใหม่ ผมเลิกคิดที่จะกลับไปก้าวเดิมตามแผนเดิมที่ผมได้กำหนดไว้

ดังนั้น วันนี้ผมใคร่บอกกับทุกท่านว่า ให้เราขอบพระคุณพระเจ้าเมื่อสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตของเราไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราได้วางแผนการไว้ เราไว้วางใจพระเจ้าองค์นี้ได้อย่างมั่นใจ และเราสามารถเชื่อมั่นได้ว่าทุกย่างก้าวที่พระองค์กำหนดให้เราดำเนินไปนั้นเป็นย่างก้าวที่พระองค์กำหนดเพื่อสิ่งดีดีที่จะเข้ามาในชีวิตขอเรา

พระเจ้าพระบิดาของลูก

ขอบพระคุณสำหรับการทรงนำและทิศทางชีวิตที่พระองค์ชี้นำ เพราะพระองค์คือผู้ที่กำหนดวิถีชีวิตอนาคตของลูก ลูกจึงไม่ต้องกลัวอะไรเลย ลูกชอบที่จะกำหนดเป้าหมายและฝันสำหรับอนาคต แต่พระองค์รู้ว่าอะไรคือสิ่งดีที่สุดสำหรับลูก พระองค์คือผู้ประพันธ์ทักทอชีวิตของลูก

พระวจนะของพระองค์บอกลูกว่า พระองค์ “วางทุกย่างก้าวของลูก” แม้เมื่อลูกคิดวางแผนชีวิตสำหรับตนเอง ลูกอาจจะกำหนดสิ่งต่าง ๆ ที่จะทำในปฏิทิน แต่ลูกจะเปิดช่องทางสำหรับการเปลี่ยนแปลงเมื่อสิ่งต่าง ๆ ไม่ได้เป็นไปอย่างที่วางแผนไว้ โปรดช่วยลูกให้สามารถที่จะรับวิถีทางของพระองค์สำหรับลูก ถึงแม้มันไม่เหมือนกับแผนการที่ลูกได้คิดวางไว้แล้วก็ตาม หรือ พระองค์กำลังนำลูกไปในที่ลูกไม่อยากจะไป ทางของพระองค์ไม่ใช่ทางของลูก แต่ลูกไว้วางใจทางทั้งสิ้นแผนการทั้งหมดที่พระองค์ชี้นำให้ลูกไป

พระเจ้าพระบิดา วันนี้ขอโปรดให้ดวงตาของลูกมองเห็นพระราชกิจของพระองค์บนเส้นทางที่พระองค์ได้ประทานให้แก่ลูก ช่วยให้ลูกมองเห็นถึงสัจจะความจริงในพระสัญญาของพระองค์   ลูกมั่นใจว่า พระองค์จะไม่ละทิ้งลูกไป พระองค์มีแผนการเยี่ยมยอดในอนาคตสำหรับลูก ในพระนามพระเยซูคริสต์ อาเมน



29 มีนาคม 2564

“อีสเตอร์” ที่มีคุณค่าความหมายปีนี้...

การเฉลิมฉลองวันพระคริสต์คืนพระชนม์ คงมิใช่การทำอุโมงค์จำลองในบริเวณคริสตจักร แล้วเด็ก ๆ ลูกหลานสมาชิกวิ่งเข้าวิ่งออกสนุกสนาน หรือมิใช่ไปซื้อไข่ ซีพี มาต้มแล้วแต้มสีสวยสด  ผู้ใหญ่เอาไปซ่อนตามบริเวณคริสตจักรแล้วให้เด็ก ๆ (แท้จริงพวกผู้ใหญ่ด้วย) แข่งกันค้นหาเอาไข่ต้มนั้นมาเป็นของตน

เราจะเฉลิมฉลองวันพระคริสต์คืนพระชนม์ที่มีความหมายและคุณค่าที่ดีกว่านี้ได้ไหม?

อาทิตย์นี้เป็นอาทิตย์สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ เหลืออีกไม่กี่วันก็จะถึงวันอาทิตย์พระคริสต์เป็นขึ้นมาจากความตาย หรือ ที่เราไปเรียกทับศัพท์ฝรั่งมังค่าว่า “วันอีสเตอร์” ที่เราคริสตชนต่างเฉลิมฉลองการเป็นขึ้นมาจากความตายของพระเยซูคริสต์ ปีนี้ผมใคร่ชวนพวกเรามีเวลาใคร่ครวญถึงการเฉลิมฉลองในวันคืนพระชนม์อย่างมีคุณค่าและความหมาย เราสามารถทำอย่างไรได้บ้าง?   ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอ 7 ประการที่ใช้ในการเฉลิมฉลองอีสเตอร์ในเชิงปฏิบัติ

1. ให้เราอุทิศถวายชีวิตของเราในการมีชีวิตติดตามพระคริสต์จริงจังอีกครั้งหนึ่ง

อีสเตอร์เป็นโอกาสที่เราจะเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้งหนึ่ง ตั้งต้นใหม่ในการที่จะดำเนินชีวิตจิตวิญญาณอย่างมีวินัย เดินออกห่างจากอำนาจชั่วร้าย กลับมาอุทิศถวายชีวิตแด่พระคริสต์ใหม่อีกครั้งหนึ่ง

2. ไปหาเพื่อนสมาชิกบางคนที่ได้มาร่วมในคริสตจักรเมื่อปีก่อนแต่ไม่เห็นหน้าในปีนี้   เราแต่ละคนคงมีเพื่อนอย่างที่ว่านี้ แม้จะเป็นการโทรศัพท์ หรือ วีดีโอคอลล์ ไปพูดคุยด้วยก็อาจจะทำให้เพื่อนเราคนนั้นเกิดความชื่นอกสุขใจในวันอีสเตอร์นี้ก็ได้

3. เริ่มการเฉลิมฉลองวันอีสเตอร์ในครอบครัว เป็นการร่วมกันในครอบครัว อ่านเรื่องราววันอีสเตอร์ แล้วเตรียมภาพของสมาชิกอันเป็นที่รักในครอบครัวที่ล่วงหลับไปอยู่กับพระเจ้า เพื่อเป็นโอกาสระลึกคิดถึงคนเหล่านั้น และแบ่งปันกันถึงความสำคัญในวันอีสเตอร์สำหรับชีวิตของตนแก่กันและกัน

4. ส่งการ์ดอีสเตอร์ หรือส่งจดหมายอีสเตอร์ทางอีเมล์ อาจจะส่งทางไปรษณีย์ หรือ ส่งทางไลน์ หรือ ทางอื่น ๆ ทางออนไลน์ ตามรายชื่อที่เราใช้ส่งในช่วงเทศกาลคริสต์มาส  โดยในการ์ด หรือ ภาพอีสเตอร์ หรือ จดหมายอีสเตอร์ ให้เราเน้นถึงความหวังที่เรามีในพระเยซูคริสต์

5. ออกไปเยี่ยมครอบครัวเพื่อนบ้านที่สูญเสียผู้ที่เป็นที่รักในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะผู้คนที่สูญเสียผู้เป็นที่รักและตนเองต้องอยู่โดดเดี่ยวตัวคนเดียว หาเวลาไปเยี่ยมเขาอธิษฐานกับเขา  หรือถ้าอยู่ไกล ไปหาไม่สะดวกอาจจะเยี่ยมโดยทางโทรศัพท์  มีโอกาสพูดคุยกัน  และที่สำคัญที่จะมีโอกาสอธิษฐานด้วยกันผ่านทางโทรศัพท์

6. เข้าชมและร่วมในการนมัสการพระเจ้าผ่านทางสื่อออนไลน์ในช่วงสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์  มหาสนิทศักดิ์ในคืนพฤหัสฯ ศุกร์ประเสริฐ และนมัสการพระเจ้ารุ่งอรุณวันอีสเตอร์   โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับท่านที่ไม่สะดวกในการเดินทางออกจากบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเพราะร่างกาย หรือ การแพร่ระบาดของโควิด 19

7. เขียนจดหมายขอบคุณถึงคนที่เป็นแบบอย่างชีวิตที่มีชัยชนะด้วยความเชื่อ

อีสเตอร์เป็นเทศกาลที่เฉลิมฉลองถึงชัยชนะ ให้เราถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า ให้เราขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงกระทำพระราชกิจในชีวิตของเรา และผ่านชีวิตของคนอื่นที่มาถึงเรา

ท่านมีข้อเสนออื่นอะไรอีกบ้างไหมครับ?   ถ้ามี กรุณาแบ่งปันกันครับ



26 มีนาคม 2564

“โฮซันนา” เบื้องหลัง ความหมายทางการเมือง

วันอาทิตย์ก่อนวันคืนพระชนม์เป็นอาทิตย์ทางปาล์ม หรือ อาทิตย์โฮซันนา แต่เราแทบไม่ทราบเลยว่าในช่วงเวลาที่เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองมากมาย

โฮซันนาไม่ได้เป็นเพียงการโห่ร้องต้อนรับแสดงความยินดี แต่เป็นการโห่ร้องที่ประกาศต่อสาธารณะในทางการเมืองว่าพระเยซูเป็นใคร

วันที่พระเยซูคริสต์เสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มในช่วงสัปดาห์ก่อนถูกตรึงและคืนพระชนม์ ฝูงชนที่มาโห่ร้องว่า โฮซันนา มิได้เพียงมาดูพระเยซู หรือ มาต้อนรับพระเยซู  แต่ที่สำคัญคือเรื่องที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องที่มีการเผยถึงล่วงหน้ามาแล้วก่อนเป็นเวลายาวนาน และขอตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงที่พระเยซูกับสาวกกำลังที่จะเข้ามายังกรุงเยรูซาเล็ม พระองค์ได้ให้สาวกสองคนมาล่วงหน้าเข้าไปในหมู่บ้านเบ็ธฟายี และสาวกจะพบลาและลูกลาที่นั่น แล้วให้นำมาให้พระองค์ ถ้ามีใครถามก็บอกเพียงว่าพระเยซูต้องการมัน (มัทธิว 21:1-3) นี่แสดงชัดว่าได้มีการพูดคุยหรือประสานงานก่อนหน้านี้แล้ว

สาวกทั้งสองก็ได้พบลาอย่างที่พระเยซูบอกเขา  เขาจึงนำมาให้พระองค์ พระเยซูได้ขึ้นขี่บนหลังลาเพื่อเข้าไปในกรุงเยรูซาเล็มเหมือนผู้มีชัย และเหตุการณ์นี้สำเร็จตามคำเผยพระวจนะ เศคาริยาห์ 9:9 ว่า จะมีกษัตริย์ทรงลาเสด็จเข้ามายังเมืองเยรูซาเล็ม เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องราวที่สำคัญเพราะเป็นการยืนยันอีกแหล่งหนึ่งว่า พระเยซูคริสต์คือพระเมสิยาห์ที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้

เมื่อพระเยซูเข้าสู่กรุงเยรูซาเล็ม  ฝูงชนต่างพากันโบกสะบัดด้วยทางปาล์ม พร้อมกับโห่ร้องด้วยเสียงดังก้องว่า

“โฮซันนาแก่บุตรของดาวิด   ขอให้ท่านผู้ที่เสด็จมาในพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้าทรงพระเจริญ โฮซันนา ในที่สูงสุด” (มัทธิว 21:9 มตฐ.)

จากการเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มครั้งนี้ พระเยซูได้แสดงจุดยืนทางการเมืองโดยเจตนาอย่างกล้าหาญ ว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าตามพระสัญญา

คำว่าโฮซันนาหมายความว่าอะไร?   แล้วส่อถึงการเมืองอย่างไร?

อย่างที่กล่าวแล้วว่า คำว่าโฮซันนามิใช่การโห่ร้องว่า “ไชโย” หรือเป็นการโห่ร้องต้อนรับพระเยซูเข้ากรุงเยรูซาเล็มเท่านั้นแน่  แต่เราสามารถมองอย่างเกี่ยวโยงถึงคำว่าโฮซันนากับเรื่องต่าง ๆ ที่ประชาชนได้ตะโกนร้องในวันอาทิตย์นั้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้การเฉลิมฉลองวันปัสกา อันเป็นการระลึกถึงพระราชกิจของพระเจ้าที่เริ่มปลดปล่อยกอบกู้อิสราเอลชนออกจากการเป็นทาสในอียิปต์

ในภาษาฮีบรู “โฮซันนา” หมายถึง “การช่วยกู้” “การปลดปล่อย” ปกติทั่วไปในภาษาอาราเมคมีความหมายถึง “ผู้ช่วยกู้”  ในภาษากรีกคำ ๆ นี้มาจากรากศัพท์ภาษาฮีบรูที่มีความหมายถึง “โปรดได้ช่วยกู้พวกเราด้วย”

จากความหมายของโฮซันนาใน 3 ความหมายเมื่อเกี่ยวโยงกันเข้าพอประมวลได้ว่า ประชาชนกำลังเรียกร้องให้พระเยซูคริสต์เข้ามากอบกู้พวกเขาและประกาศถึงชัยชนะหรือความรอดจากสภาพการเป็นเมืองขึ้นของมหาอำนาจโรมันในเวลานั้น ซึ่งความหมายที่ประชาชนโห่ร้องนี้ตรงกันข้ามกับมุมมองทัศนคติของพวกผู้นำศาสนายิว เช่น พวกปุโรหิต  ธรรมาจารย์  ฟาริสี  ที่ส่วนใหญ่ต่อต้านการกระทำของพระเยซูคริสต์

การที่ประชาชนโห่ร้องโฮซันนาเช่นนี้เป็นการที่ประชาชนประกาศว่า พระเยซูคริสต์เป็นพระเมสิยาห์ มิเป็นเพียงการสุ่มเสี่ยงต่อการที่พวกโรมันจะมองว่านี่เป็นการกบฏต่อกรุงโรม พวกฟาริสีเองก็ต่อต้านการกระทำและการโห่ร้องเช่นนี้ด้วย และการที่พระเยซูเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มเช่นนี้  โดยไม่มีการต่อต้านหรือกล่าวอ้างเป็นความหมายอย่างอื่นก็เป็นการประกาศอย่างเปิดเผยและกล้าหาญของพระเยซูคริสต์ว่า พระองค์คือพระเมสิยาห์  

พวกฟาริสีไม่ยอมรับความคิดว่า พระเยซูคริสต์เป็นพระเมสิยาห์ ที่นำความรอดและการปลดปล่อยและเป็นผู้กอบกู้ของยิว เหตุการณ์โฮซันนาที่เกิดขึ้นนี้จึงขัดแย้งกับความรู้สึกของฟาริสีอย่างยิ่ง และความขัดแย้งนี้ถูกใช้ให้เป็นเป็น “ความขัดแย้งทางการเมือง” โดยฟาริสี

ในเหตุการณ์นี้ยังไม่ค่อยชี้บ่งชัดถึงความเป็นการเมืองที่ชัดแจ้งมากนัก แต่นี่เป็นจุดเปลี่ยนของเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้าที่เขาได้จับพระเยซูคริสต์ตรึงบนไม้กางเขน

แล้วฟาริสีว่าอย่างไง?

ก่อนหน้านี้ในมัทธิว บทที่ 23 พระเยซูได้กล่าววิพากษ์ถึงพวกธรรมาจารย์ และ ฟาริสี ที่เป็นคนสอนอย่างแต่ตนกลับประพฤติอีกอย่าง เป็นพวกที่บ้ายศ-งกตำแหน่ง ชอบอยู่ในที่โดดเด่นเพื่อได้รับการยกย่อง พระเยซูตราหน้าพวกนี้ว่า เป็นคนหน้าซื่อใจคด สิ่งเหล่านี้ย่อมสร้างความไม่พอใจและการผูกใจเจ็บที่พวกธรรมาจารย์และฟาริสีมีต่อพระเยซูคริสต์

ในเหตุการณ์โฮซันนานี้เอง ที่พวกธรรมาจารย์และฟาริสีได้ที่โยงเอาเหตุการณ์นี้มาอ้างอิงว่า  การที่พระเยซูคริสต์ปล่อยให้ประชาชนโห่ร้องเช่นนี้ เป็นการที่ทำให้พวกโรมันมาบุกทำร้ายและทำลายประชาชนยิวได้ ในอีกด้านหนึ่งที่พวกเขาพยายามจะปราบพระเยซูให้สิ้นฤทธิ์หมดอิทธิพลในหมู่ประชาชนด้วยการเอาใจมหาอำนาจโรมันที่ปกครองเหนือตน และหวังที่จะใช้มือของมหาอำนาจโรมันฆ่าพระเยซูเสีย ในมัทธิว 26:3-4 และนี่คือการเมืองในองค์กรศาสนามิใช่หรือ?

แล้วโรมันมองและพูดถึงพระเยซูอย่างไร?

ในช่วงเวลาที่พระเยซูคริสต์มีชีวิตในโลกนี้  จักรวรรดิโรมันเป็นมหาอำนาจในตอนนั้น พวกประชาชนยิวเชื่อว่า พระเมสิยาห์จะมานำกองทัพปลอดปล่อยพวกเขาออกจากแอกของโรมัน   พระเมสิยาห์จะปลดปล่อยชนอิสราเอลให้มีเสรีอีกครั้งหนึ่ง และนี่คือฐานเชื่อกระบวนคิดเกี่ยวกับพระเมสิยาห์ของพวกยิวในเวลานั้น แต่พระเยซูคริสต์มิได้มาเพียงปลดปล่อยพวกยิวเท่านั้น   พระองค์กอบกู้ให้มนุษยชาติหลุดรอดออกจากอำนาจที่ชั่วทั้งเผด็จการมหาอำนาจ  และ ความฉ้อฉล งก เงี่ยน ของพวกผู้นำในองค์กรศาสนาและการเมืองยิว

จากยอห์น บทที่ 19  ปีลาตผู้มาปกครองยิวในเวลานั้นเห็นว่าพระเยซูคริสต์ไม่มีความผิดฐานการเมืองอย่างที่พวกผู้นำศาสนายิวกล่าวหา คิดจะปล่อยพระเยซู  ทันทีที่พวกผู้นำศาสนายิวรู้ ได้ต่อต้านการปล่อยพระเยซู  และขู่ว่าจะส่งคำร้องฟ้องไปที่พระมหาจักรพรรดิซีซาร์ที่โรม ทำให้ปีลาตต้องหยุดความคิดของตนเพราะกลัวจะถูกฟ้องไปยังส่วนกลาง “ถ้าท่านปล่อยชายคนนี้ ท่านก็ไม่ใช่มิตรของซีซาร์ ทุกคนที่ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ก็ต่อต้านซีซาร์” (ยอห์น 19:12 มตฐ.)

ผลสุดท้ายเป็นเช่นไร?

การเมืองในคราบของนักการศาสนา และระบบการเมืองในองค์กรศาสนานำมาถึงหายนะจุดจบที่ทุกคนคาดไม่ถึง (ยกเว้นพระเยซู)  และ ไม่มีใครรู้ว่าที่มันจบลงเช่นนี้เพราะ “หนอนบ่อนไส้” คนหนึ่งในกลุ่มสาวกพระเยซูคริสต์เอง  ที่เป็นคน “ฉ้อฉล งกเงิน เงี่ยนชื่อเสียงและอำนาจ”  ยอมทรยศหักหลังขายพระอาจารย์ของตนแก่พวกผู้นำศาสนายิว และนี่คืออิทธิพลของการเมืองสกปรกที่แผ่เข้ามายังองค์กรศาสนา และ สาวกของพระเยซูคริสต์อย่างยูดาส

แล้วเรายังจะมีการเฉลิมฉลองอาทิตย์โฮซันนาอีกหรือ?

เมื่อพระเยซูคริสต์มีชีวิตบนโลกนี้ พระองค์สื่อสาร สั่งสอน เยียวยารักษา  ขับอำนาจชั่วร้าย เชื่อสัมพันธ์ความฉีกขาดในสังคม ใช้ชีวิตกับคนยากไร้ คนนอกคอก คนที่ถูกตีตราและผลักไสออกจากสังคม พระองค์ใช้ชีวิตด้วยการให้ชีวิตเพื่อคนอื่นจะได้ชีวิตใหม่ พระองค์ยืนหยัดเผชิญหน้ากับพวกผู้นำศาสนายิว แต่กลับรักเมตตาอยู่เคียงข้างคนต่ำต้อยด้อยค่า และ คนที่ถูกตราหน้าว่าบาปหนาในสังคมอย่างไม่กลัวที่ตัวเองจะถูกแปดเปื้อน   

พระองค์มาในโลกนี้เพื่อกระทำพระราชกิจของพระบิดาที่ได้มอบหมายให้พระองค์กระทำ  พระองค์มาเพื่อกระทำสิ่งที่พระเจ้าประสงค์ให้ผู้ที่มาในพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้ากระทำ   และพระเมสิยาห์องค์นี้ที่เราจะยังร้องโฮซันนาตลอดไป



24 มีนาคม 2564

จะอธิษฐานเผื่อผู้อภิบาล - ผู้เทศน์อย่างไรดี?

สิ่งที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งที่สมาชิกคริสตจักรสามารถทำเพื่อผู้อภิบาลของเราคือ การอธิษฐานเผื่อผู้อภิบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเตรียมที่จะกล่าวพระวจนะของพระเจ้า 

เราสามารถใช้ข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้ในการอธิษฐานเผื่อผู้อภิบาลของเราในสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะในงานพันธกิจการอภิบาลเลี้ยงดูฟูมพักชีวิตความเชื่อของสมาชิก และการจัดเตรียมสำหรับการนมัสการพระเจ้าร่วมกันในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้  

ท่านผู้อ่านครับ เราสามารถอธิษฐานเผื่อผู้อภิบาลของเราตามประเด็นและข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้ครับ: 

1.  อธิษฐานทูลขอให้ผู้อภิบาลยืนต่อหน้าประชากรของพระเจ้าด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์

 “สิ่งที่เราโอ้อวดได้ คือจิตสำนึกของเรายืนยันว่าเราประพฤติตนในโลกโดยเฉพาะในความสัมพันธ์กับท่านด้วยความบริสุทธิ์และความจริงใจซึ่งมาจากพระเจ้า เราไม่ได้ประพฤติตามปัญญาฝ่ายโลก แต่ตามพระคุณของพระเจ้า” (2โครินธ์ 1:12 อมธ.)

2.  อธิษฐานทูลขอให้พระเจ้าหนุนเสริมให้ศิษยาภิบาลกล่าวพระกิตติคุณของพระคริสต์ด้วยความกล้าหาญ

 “...ข้าพเจ้าจะประกาศข่าวประเสริฐอย่างกล้าหาญตามที่ข้าพเจ้าสมควรจะทำ” (เอเฟซัส 6:2ข. อมธ.) 

3.  อธิษฐานเผื่อศิษยาภิบาลจะกล่าวอวดกางเขนพระคริสต์เท่านั้น (ไม่ใช่อวดตนเอง)

 “ข้าพเจ้าไม่ขออวดอะไรนอกจากเรื่องกางเขนของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา...” (กาลาเทีย 6:14 มตฐ.)

4.  อธิษฐานทูลขอองค์พระวิญญาณบริสุทธิ์กระทำพระราชกิจของพระองค์เพื่อหนุนเสริมผู้เข้าร่วมนมัสการและฟังพระคำพระเจ้าเกิดความเชื่อที่เข้มแข็งมั่นคงขึ้น

 “เมื่อพระองค์ (องค์พระวิญญาณบริสุทธิ์) เสด็จมาแล้ว พระองค์จะทรงทำให้โลกรู้แจ้งในเรื่องความบาป ความชอบธรรม และการพิพากษา”  (ยอห์น 16:18 มตฐ.)

5.  อธิษฐานทูลขอให้การกล่าวพระวจนะของพระเจ้าทำให้ผู้ที่ยังไม่เชื่อได้เกิดความเชื่อผ่านการกล่าวพระวจนะของทางศิษยาภิบาล

 “ฉะนั้นความเชื่อเกิดขึ้นได้ก็เพราะการได้ยิน และการได้ยินเกิดขึ้นได้ก็เพราะการประกาศพระคริสต์”  (โรม 10:17 มตฐ.)




22 มีนาคม 2564

สิ่งที่สมาชิกควรรู้...แต่ไม่กล้าถาม ศบ.

จากประสบการณ์การเป็นศิษยาภิบาล (ศบ.) ในคริสตจักรท้องถิ่น ผมพบว่า สมาชิกหลายคนและหลายครอบครัวรักเมตตาผม อธิษฐานเพื่อผม ยืนเคียงข้าง และเดินไปกับผม ผมสัมผัสได้ว่าสมาชิกส่วนใหญ่รักและต้องการเดินเคียงข้างไปกับผู้เลี้ยงของเขา

ภายหลัง ผมมาเรียนรู้ความจริงอีกแง่มุมหนึ่งว่า มีอยู่หลายเรื่องที่สมาชิกอยากจะเรียนรู้เกี่ยวกับตัว ศบ. เขาต้องการรู้สิ่งเหล่านั้นจากปากของ ศบ. เอง ลึก ๆ ในจิตใจอยากจะถามในบางสิ่งบางเรื่องแต่เกรงใจไม่กล้าถาม เกรงว่าจะเป็นการก้าวล่วงเข้ามาเรื่องส่วนตัวของ ศบ. แต่สิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากต่อความสัมพันธ์ ความมั่นใจที่มีต่อกันระหว่าง ศบ. กับสมาชิก  และมีผลต่อการใส่ใจหนุนเสริมชีวิตและพันธกิจที่ศิษยาภิบาลทำ

ต่อไปนี้เป็นบางประการที่ผมเรียนรู้ว่า ศิษยาภิบาลอาจจะจำเป็นเป็นผู้เริ่มต้นแบ่งปันเรื่องราวของตนเองในประเด็นต่าง ๆ ต่อไปนี้แก่สมาชิกเมื่อโอกาสเอื้ออำนวย

1. ประสบการณ์การกลับใจใหม่ของศิษยาภิบาล 

ลึก ๆ ในใจแล้วสมาชิกส่วนใหญ่ต้องการที่จะรู้ว่า ศบ. ของตนมีประสบการณ์ชีวิตในการกลับใจอย่างไรบ้าง เพราะส่วนใหญ่แล้วศิษยาภิบาลมักจะเล่าถึงประสบการณ์การกลับใจของตนในช่วงที่เขาถูกสัมภาษณ์สมัครงานตามคริสตจักร หรือ หน่วยงานคริสเตียนเท่านั้น ดังนั้น สมาชิกส่วนมากและสมาชิกใหม่จึงอยากรู้เรื่องราวประสบการณ์นี้ของศิษยาภิบาล

2. เรื่องราวการรับบัพติสมาของศิษยาภิบาล 

เรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับการรับบัพติสมาของแต่ละคนเป็นเรื่องราวพยานชีวิตว่าคน ๆ นั้นมีชีวิตจิตวิญญาณในพระคริสต์ได้อย่างไร สมาชิกอยากรู้ว่า ศิษยาภิบาลของเขามามีชีวิตในพระคริสต์อย่างไร

3. แนวทางกระบวนการเสริมสร้างและเติบโตในวินัยชีวิตของ ศบ.

สมาชิกต้องการตัวอย่างแม่แบบที่จะช่วยพวกเขาในการอ่านพระวจนะและอธิษฐาน การที่ศิษยาภิบาลแบ่งปันประสบการณ์และแบบอย่างวิธีการในเรื่องนี้จะเป็นแบบอย่างที่เป็นรูปธรรม และมีความมั่นใจในภาวะผู้นำของ ศบ. ว่า ผู้นำทางจิตวิญญาณของเขาเป็นผู้ที่ติดตามพระเจ้าจริง ๆ

4. แบ่งปันสัจจะความจริงที่ ศบ. ได้เรียนรู้จากพระวจนะของพระเจ้าครั้งล่าสุดนี้ 

ผลที่ท่านได้จากอ่านศึกษา-ใคร่ครวญพระวจนะของพระเจ้า แบ่งปันแก่สมาชิกถึงความปีติยินดีที่ท่านได้ยินถึงคำตรัสของพระเจ้า ช่วยให้สมาชิกรู้ว่าผู้เชื่อทุกคนต้องเติบโตขึ้นในความเชื่ออย่างต่อเนื่อง

5. สมาชิกอยากรู้ว่าศิษยาภิบาลมีวิธีการ กระบวนการในการเตรียมเทศนาอย่างไร 

เมื่อสมาชิกได้รู้ถึงกระบวนการเตรียมเทศนาของศิษยาภิบาล เขาจะอธิษฐานเผื่อชีวิตและการงาน และ การเตรียมเทศนาของ ศบ. ได้เจาะจงมากยิ่งขึ้น และเขาอาจจะไม่รบกวน ศบ. ในช่วงเวลาของการเตรียมคำเทศนาอีกด้วย

6. การทุ่มเทครั้งล่าสุดของ ศบ. ในงานการประกาศพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ 

จำเป็นอย่างยิ่งที่สมาชิกคริสตจักรจะรู้ถึงความพยายามทุ่มเทของศิษยาภิบาลที่จะเข้าถึงผู้คนต่าง ๆ ที่ควรได้รับความรอด   เล่าถึงเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น  มิใช่เพื่อที่จะอวดตนเองว่าได้ทำอะไร  แต่เพื่อแบ่งปันประสบการณ์การเข้าถึงผู้คนและผลที่เกิดขึ้น และที่สำคัญเพื่อแบ่งปันว่าพระเจ้ากระทำอะไรบ้างในเหตุการณ์ครั้งนั้น

7. ศบ. แบ่งปันถึงความพยายามของตนในการเสริมสร้างสาวกรุ่นใหม่ ๆ 

ศบ. ได้ทุ่มเทในการเสริมสร้างสาวกผู้นำรุ่นใหม่ เพื่อเมื่อสมาชิกรู้ถึงการที่ศิษยาภิบาลเสริมสร้างผู้นำใหม่ จะช่วยให้พวกเขาคิดถึงอนาคตคริสตจักรมากยิ่งขึ้น

8. บอกสมาชิกถึงความจำเป็นต้องการของ ศบ. ในการอธิษฐานเผื่อจากสมาชิก 

เราคาดหวังว่าสมาชิกคริสตจักรจะอธิษฐานเผื่อ ศบ. แต่ถ้าพวกเขาไม่รู้เจาะจงถึงความจำเป็นต้องการของ ศบ.  เขาจะอธิษฐานเผื่อ ศบ. แบบครอบคลุมไปกว้าง ๆ และผิวเผิน ศบ. ควรแบ่งปันจากก้นบึ้งความนึกคิดจิตใจของตนแก่สมาชิกในเรื่องนี้

9. วันหยุดพักประจำสัปดาห์ของศิษยาภิบาล  

ศบ. ควรจะมีวันพักประจำสัปดาห์ให้ ศบ. บอกสมาชิกถึงวันหยุดพักของตน เพื่อสมาชิกจะไม่รบกวนวันหยุดของ ศบ. โดยไม่จำเป็น เพื่อศิษยาภิบาลจะมีเวลาให้แก่ครอบครัว

10. ศบ. แบ่งปันถึงรายการที่ตนอ่าน 

สมาชิกบางคนอาจจะต้องการอ่านไปร่วมกับ ศบ. บางคนดีใจที่ได้รู้ บางคนเริ่มที่จะอ่านในบางสิ่งที่ ศบ. ได้แนะนำ การแบ่งปันนี้เป็นการกระตุ้นหนุนเสริมให้สมาชิกเป็นผู้ที่สนใจในการอ่านมากยิ่งขึ้น

11. แบ่งปันนิมิต หรือ วิสัยทัศน์ของ ศบ. สำหรับคริสตจักร  

สมาชิกต้องการที่จะรู้ถึงเป้าหมาย ทิศทางของศิษยาภิบาลสำหรับคริสตจักร แผนการของศิษยาภิบาลสำหรับสมาชิก และกระบวนการทำงานร่วมกับผู้นำคริสตจักรคนอื่น ๆ เพื่อนำคริสตจักรไปให้ถึงนิมิตดังกล่าว

12. ศบ. มีโอกาสอธิษฐานร่วมกับสมาชิกแต่ละคนเป็นการส่วนตัว  

สมาชิกหลายคนต้องการอธิษฐานกับศิษยาภิบาลส่วนตัว เขาต้องการให้ศิษยาภิบาลถามเขาถึงเรื่องที่อยากจะให้ศิษยาภิบาลอธิษฐานเผื่อ เขาต้องการอธิษฐานร่วมกับศิษยาภิบาลเมื่อศิษยาภิบาลอธิษฐานเผื่อเขา หลายคน “ปากหนัก” ไม่กล้าขออธิษฐานกับศิษยาภิบาล แต่เมื่อศิษยาภิบาลชวนเขาอธิษฐานส่วนตัวด้วยกัน สิ่งที่โหยหาในก้นบึ้งแห่งจิตใจได้รับการตอบสนอง จิตวิญญาณได้รับการรดน้ำชื่นฉ่ำ

ท่านผู้อ่านครับ มีอะไรอีกบ้างไหมครับที่สมาชิกคริสตจักรอยากจะรู้เกี่ยวกับศิษยาภิบาลของตน  แต่เกรงใจที่จะถาม? ถ้ามีกรุณาช่วยแบ่งปันด้วยครับ




21 มีนาคม 2564

ก้าวกระโดดแห่งศรัทธา

“จงเข้มแข็งและกล้าหาญเถิด อย่ากลัวหรือครั่นคร้ามเขาเลย
เพราะว่าผู้ที่ไปกับท่านคือพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่าน
พระองค์จะไม่ทรงปล่อยท่านให้ล้มเหลวหรือทอดทิ้งท่าน”

                                    (เฉลยธรรมบัญญัติ 31:6 มตฐ.)

เมื่อปี 2020 อาคารสูงในประเทศฝรั่งเศสแห่งหนึ่งเกิดเพลิงไหม้ บนชั้นที่ 3 หรือ 4  มีเด็ก 2 คนอายุ 3 และ 10 ขวบติดอยู่บนชั้นนั้น ฝูงชนข้างล่าง เตรียมพร้อมที่จะรับเด็กทั้งสองให้กระโดดลงมาในอ้อมแขนของพวกเขา เด็กโตปล่อยน้องชายคนเล็กของเขาลงมายังฝูงชนขณะที่ควันดำหนาทึบพวยพุ่งออกมาจากอพาร์ตเมนท์ แต่พอถึงเวลาที่เด็กคนโตเองต้องกระโดดลงมาในอ้อมแขนของฝูงชน เขากลับเกิดความลังเลใจ ฝูงชนตะโกนให้เด็กคนโตกระโดดลงมาพวกเขาจะรองรับตัวเขาได้ เด็กชายรวบรวมความกล้าหาญอีกครั้งหนึ่งแล้วยันตัวกระโดดลงมากลางอากาศ   ฝูงชนสามารถรับเด็กทั้งสองไว้อย่างปลอดภัย

ผมไม่มีทางรู้ว่าเมื่อไหร่ที่ตัวเองจะต้องใช้ความกล้าอย่างกะทันหันแบบนี้ ลองคิดดูว่า ถ้าผมตกอยู่ในสถานการณ์ของเด็กอายุ 10 ขวบที่เล่าข้างบนนี้ผมจะรู้สึกอย่างไร? ผมยังสงสัยว่า ตนเองจะกล้าพอที่จะกระโดดทิ้งตัวลงกลางอากาศจากตึกชั้นสูงนั้นที่เพลิงกำลังลุกโหมกระหน่ำหรือไม่

พระเจ้าประทานความกล้าหาญแก่เราอย่างที่พระองค์ประทานพระคุณแก่เรา “จงเข้มแข็งและกล้าหาญเถิด” อย่ากลัวเลย เพราะพระเจ้าองค์นิรันดร์เป็นที่ลี้ภัยของท่าน และพระหัตถ์ที่แข็งแรงมั่นคงจะรองรับท่านไว้

ในภาวะหมดทางสู้ สิ้นทางหนี 
การคุกเข่าลงต่อองค์นิรันดร์จะเป็นทางออกในยามคับขัน
ที่สุขุม สงบ และมีสติที่สุด



19 มีนาคม 2564

ใครคือผู้...ขวางทางแห่งพระพรในชีวิตท่าน?

ท่านเคยถามตนเองไหมว่า...

ทำไมเราไม่ได้รับพระพร ทำไมพระเจ้าไม่อวยพระพรแก่เรา? และข้างล่างนี้เป็นสาเหตุบางประการ หรือ สิ่งที่ขวางทางแห่งพระพรที่มาในชีวิตของเรา

(1) ชีวิตที่ไม่เป็นพระพร

พระเยซูบอกว่า ใครก็ตามที่เป็นผู้ให้ การให้นั้นจะกลับมาตอบสนองคน ๆ นั้น และจะตอบสนองกลับที่เพิ่มพูน แบบยัดสั่นแน่นพูนล้นเต็มหน้าตัก พระองค์ตรัสในหลักการเหตุที่ทำให้เกิดผล  “เพียงท่านให้  ท่านก็จะได้รับ” และยิ่งกว่านั้นเป็นการให้กลับ “แบบแบบยัดสั่นแน่นพูนล้นเต็มหน้าตักของท่าน” เพราะว่าเมื่อท่านตวงให้เขาเท่าไร ท่านก็จะได้รับการตวงกลับคืนไปเท่านั้นเช่นกัน (ลูกา 6:38) ท่านอย่าคาดหวังที่จะได้รับพระพรจากพระเจ้า ถ้าชีวิตท่านยังไม่เป็นพรตามพระประสงค์ของพระองค์

การที่เราไม่มีชีวิตที่เป็นพระพร  เราจึงเป็นผู้ขวางทางพระพรในชีวิตของตน

(2) ชีวิตที่ไม่ให้การยกโทษ

เรารู้อยู่เต็มอกว่า ถ้าเราไม่ยกโทษแก่คนอื่น พระเจ้าก็จะไม่ยกโทษแก่เรา ดังนั้น ถ้าเรามีเรื่องขุ่นข้องหมองใจขัดแย้งกับใครบางคน สิ่งนั้นก็จะเป็นที่สิ่งขัดขวางในความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้า การที่เราไม่ยอมยกโทษแก่คนอื่นก็เปรียบได้กับการที่เราตัดสินใจดื่มยาพิษแล้วคาดหวังว่าคู่กรณีของเราจะต้องเสียชีวิตเพราะยาพิษที่เราดื่ม 

ถ้าเราเมินเฉยละเลยไม่ตรวจสอบขุดค้นหาถึงการไม่ยกโทษในชีวิตของเรา การไม่ยกโทษนั้นก็จะหยั่งรากลึกจนเติบใหญ่แข็งแรงเป็น “รากแห่งความขมขื่น” และจะสร้างปัญหาชีวิตมากมาย หลายด้าน รุนแรงขึ้น และเกิดผลกระทบต่อหลายคน (ฮีบรู 12:15)

เพราะเราไม่ได้ยกโทษคนอื่นเราจึงเป็นผู้ขวางทางพระพรในชีวิตของตน

(3) ชีวิตที่มีแต่ความไม่พอใจ

ในชีวิตประจำวันของเรา เราคงต้องเลือกที่จะมีชีวิตอยู่ด้วย “ความพอใจ” หรือ “ความไม่พอใจ”   การที่เรามีชีวิตอยู่ด้วย “ความพอใจ” มักนำเราไปถึงความสุข และการที่มีชีวิตอยู่ด้วยความไม่พอใจ ความขุ่นอกหมองใจ มักนำไปถึงซึ่งความทุกข์ในชีวิต พระคัมภีร์สอนไว้ว่า “...การอยู่ในทางพระเจ้าพร้อมกับมีความพอใจก็เป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวง” (1ทิโมธี 6:6 มตฐ.) แต่สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นจริงในชีวิตของเราอย่างง่ายดาย แต่เป็นสิ่งที่จะต้องค่อย ๆ เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ไม่ว่าจะต้องประสบกับภัยอันตราย การกันดารอาหาร ความอดอยาก ความหนาวเหน็บ การถูกทำร้าย  การถูกเอาหินขว้างปา  และการถูกจำคุก บางครั้งเกือบเอาชีวิตไม่รอด  แม้ต้องประสบกับสถานการณ์ชีวิตที่เป็นดังที่กล่าว  เปาโลบอกว่า “ท่านพอใจในสถานการณ์ชีวิตนั้น”  ที่จะเสริมสร้างสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นในชีวิตของเรา  เปาโลกล่าวไว้ว่า “เพราะข้าพเจ้าเรียนรู้ที่จะพอใจในสิ่งที่ตนมีไม่ว่าสภาพการณ์จะเป็นเช่นไร” (ฟีลิปปี 6:11)

แล้วท่านละ  ท่านได้เรียนรู้ถึงการที่จะมีชีวิตที่พอใจในทุกสถานการณ์อย่างไรบ้าง?   ท่านต้องพบและปฏิบัติในสถานการณ์นั้นครั้งแล้วครั้งเล่า   จนหล่อหลอมตกผลึกเป็นความพึงพอใจในทุกสถานการณ์ชีวิต

เพราะชีวิตที่มีแต่ความไม่พึงพอใจ เราจึงเป็นผู้ขวางทางแห่งพระพรในชีวิตของตน

(4) ความบาปที่ไม่ได้สารภาพ

ผมไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงว่า ทำไมการสารภาพถึงความบาปผิดของตนต่อพระเจ้าถึงเป็นเรื่องที่ยากหนักหนา พระเจ้าจะไม่อวยพระพรแก่คนที่ยังตัดสินใจมีชีวิตจมจ่อมในหลุมโคลนแห่งความบาป  โดยที่ยังไม่ได้สารภาพความบาปผิดของตน ในพระธรรมสดุดีบันทึกไว้ว่า  “หากข้าพเจ้าได้บ่มความชั่วไว้ในใจ องค์พระผู้เป็นเจ้าคงจะไม่ทรงสดับฟัง” (66:18 อมธ.) เมื่อ “คนที่ปิดหูไม่ยอมฟังคำสั่งสอน(ธรรมบัญญัติ) แม้แต่คำอธิษฐานของเขาก็น่าชิงชัง” (สุภาษิต 28:9 อมธ.)   ทำไมถึงไม่ยอมสารภาพความบาปผิดของตนเสียเดี๋ยวนี้ เพราะ “ถ้าเราสารภาพบาปของเรา พระองค์ทรงซื่อสัตย์และเที่ยงธรรม ก็จะทรงโปรดยกบาปของเรา และจะทรงชำระเราให้พ้นจากการอธรรมทั้งสิ้น” (1ยอห์น 1:9 มตฐ.)

เพราะเราไม่สารภาพความบาปชั่วของเราต่อพระเจ้า เราจึงเป็นผู้ขวางทางพระพรในชีวิตของตน

(5) ชีวิตที่ไม่สำแดงพระคุณ และ ความจริง

พระเยซูคริสต์สอนเราว่า เราต้องนมัสการพระเจ้าด้วยจิตวิญญาณและความจริง (ยอห์น 4:24)   เป็นการสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะนมัสการพระเจ้าตามที่พระคัมภีร์เปิดเผยแก่เรา พระเยซูคริสต์ผู้เต็มล้นด้วยพระคุณและความจริง (ยอห์น 1:14) ในพระคริสต์พระองค์มีความสมดุลลงตัวว่า  พระองค์พูดด้วยสัจจะความจริง และพระองค์รู้ชัดว่าเวลาใดที่จะต้องพูดด้วยพระคุณ บางครั้งพระองค์พูดด้วยสัจจะความจริงกับพวกฟาริสี แต่ในเวลาที่หญิงคนนั้นถูกจับได้ในการล่วงประเวณีพระองค์รู้ว่าเธอต้องการได้ยินถึงสัจจะความจริงที่เป็นพระคุณของพระเจ้า ถ้าเรามีเพียงสัจจะเท่านั้น  เราก็กลายเป็นพวกบัญญัตินิยม แต่ถ้าเรามีเพียงพระคุณเท่านั้น  ก็เป็นเหมือนผู้เปิดทางให้คนกระทำบาปผิด   แต่ถ้าเวลาใดที่เรามีทั้งสัจจะความจริงและพระคุณ เราจะไม่ขวางทางแห่งพระพรของพระเจ้า

เพราะชีวิตของเรามิได้สำแดงความจริงที่เปี่ยมด้วยพระคุณ  เราจึงเป็นผู้ขวางทางพระพรในชีวิตของตน

ภาพใหญ่ตัวขวางพระพรในชีวิตของเรา

ท่านอาจจะคิดถึงวิธีการ หรือ แนวทางอื่นที่ชีวิตเราเองกลายเป็นตัวขวางทางพระพรที่พระเจ้าประทานแก่เรา แต่สิ่งที่แน่นอนคือ “พระเจ้าทรงต่อสู้คนที่หยิ่งจองหอง แต่ประทานพระคุณแก่คนที่ถ่อมใจ” (ยากอบ 4:6 มตฐ.) ดังนั้นความหยิ่งผยองสามารถที่จะขวางทางแห่งพระพรของพระเจ้า  เช่นเดียวกับการที่ไม่ให้การยกโทษ ความไม่พึงพอใจ ไม่สารภาพความบาปผิดที่มีในชีวิตต่อพระเจ้า และชีวิตมิได้สำแดงออกถึงพระคุณพระเจ้าทั้งการพูดและกระทำในสิ่งที่เป็นสัจจะความจริง ซึ่งในความจริง ทั้งการมีสัจจะความจริงในชีวิตและพระคุณของพระเจ้าต้องมีควบคู่สอดรับกัน 

พี่น้องที่รักในพระคริสต์   ขอพระเจ้าทรงอวยพระพรอันอุดมแก่แต่ละท่านในการดำเนินชีวิตในแต่ละวันด้วยสัจจะความจริงบนรากฐานแห่งพระคุณพระเจ้า



17 มีนาคม 2564

ท่านได้รับ “มรดก” จากพระเจ้าหรือยัง?

ท่านเป็นผู้หนึ่งมีชีวิตประจำวันติดตามพระเยซูคริสต์ใช่ไหม? ท่านอ่าน ใคร่ครวญ ไตร่ตรองพระวจนะของพระเจ้าหรือเปล่า? ถ้าท่านมีชีวิตทั้งสองประการนี้ ท่านกำลังได้สั่งสมมรดกจากพระเจ้าในชีวิตของท่านร่วมกับธรรมิกชนคนอื่น ๆ ในครอบครัวของพระคริสต์

“บัดนี้ข้าพเจ้าขอมอบท่านไว้กับพระเจ้าและพระวจนะแห่งพระคุณของพระองค์ซึ่งสามารถเสริมสร้างท่านและให้ท่านมีมรดกร่วมกับคนทั้งปวงที่ได้รับการชำระให้บริสุทธิ์” (กิจการ 20:32 อมธ.)

เมื่อท่านเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของพระเยซูคริสต์ ท่านก็มีสิทธิและมีส่วนมรดกในพระเยซูคริสต์  แต่การที่ท่านจะได้รับผลประโยชน์จากมรดกนั้น ท่านจะต้องเรียนรู้ ยืนยัน ทำตามในสิทธินั้น

ถ้าพ่อแม่ของท่านเป็นมหาเศรษฐี แต่จะเป็นการไม่ฉลาดเลยที่ท่านจะไม่ใช้เวลาในการอ่านศึกษาพินัยกรรมของพ่อแม่หลังจากที่สิ้นชีวิตแล้ว ท่านจะไม่ได้รับในสิ่งที่ท่านสมควรจะได้รับ   ท่านจะไม่ได้รับประโยชน์จากสิ่งที่ท่านพึงได้รับในสิ่งที่เป็นของท่านในฐานะบุตร

เมื่อเราท่านได้เป็นผู้ที่ติดตามพระเยซูคริสต์ ท่านไม่ได้เป็นเพียง “ผู้เชื่อ” แต่ท่านเป็น “ทายาท” เป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวใหญ่ของพระเจ้า และท่านจะมีส่วนในสิทธิพิเศษทั้งหมดของครอบครัว  ซึ่งมาพร้อมกับมรดกทางวิญญาณด้วย 

อาจเป็นไปได้ว่า ตลอดเส้นทางการดำเนินชีวิตของท่าน ท่านไม่รู้ว่าท่านมีสิทธิประโยชน์อะไรบ้างในฐานะบุตรของพระเจ้า ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง การดำเนินชีวิตบนเส้นทางนี้ก็เป็นความน่าเศร้าและโง่เขลาอย่างยิ่ง

พระเจ้าประสงค์ให้ท่านรู้ชัดถึงสิ่งที่พระองค์เตรียมสำหรับท่าน พระองค์ต้องการให้ท่านได้รับมรดกทางจิตวิญญาณ และถ้าท่านจะรับสิ่งที่พระองค์ได้เตรียมไว้สำหรับท่าน ท่านต้องอ่านพระวจนะของพระองค์

ในพระธรรม 2ทิโมธี 3:16-17 บอกแก่เราว่า “พระคัมภีร์ทุกตอนได้รับการดลใจจากพระเจ้า และเป็นประโยชน์ใน ‘การสั่งสอน’  ‘การว่ากล่าวตักเตือน’  ‘การแก้ไขข้อบกพร่อง’ และ ‘การฝึกฝนในความชอบธรรม’  เพื่อเตรียมคนของพระเจ้าให้พรักพร้อมสำหรับการดีทุกอย่าง”   (อมธ.)

พระคัมภีร์หรือพระวจนะของพระเจ้า ช่วยให้ท่านดำเนินชีวิตประจำวันที่สำแดงออกถึงพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตของท่าน เป็นกระบวนการเตรียมพร้อมชีวิตของท่านให้กระทำในสิ่งที่พระเจ้าประสงค์ให้ท่านกระทำ และนี่คือมรดกทางจิตวิญญาณของท่าน ต่อไปนี้เป็น 4 สิ่งที่พระเจ้ากระทำพระราชกิจของพระองค์ผ่านพระวจนะ เพื่อเป็นการส่งต่อมรดกทางจิตวิญญาณในชีวิตของท่านและผู้ติดตามพระองค์คนอื่น ๆ

(1) พระเจ้าทรงสอนท่าน  พระเจ้าทรงสำแดงวิถีชีวิตที่ท่านควรจะดำเนินไปตามพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตประจำวันของท่าน

(2) พระเจ้าทรงตักเตือน  พระเจ้าทรงกระตุ้นเตือนว่าท่านกำลังเดินออกนอกวิถีชีวิตที่ควรจะดำเนินไป

(3) พระเจ้าทรงแก้ไขข้อบกพร่อง  พระเจ้าทรงสำแดงและชี้นำว่า ท่านสามารถกลับเข้าสู่วิถีชีวิตที่ถูกต้องอย่างไร

(4) พระเจ้าฝึกฝนท่านในทางชอบธรรม  พระเจ้า ทรงสำแดงแก่ท่านว่า ท่านจะดำเนินบนวิถีทางชีวิตตามที่พระองค์ประทานแก่ท่านได้อย่างไร

เมื่อพระเจ้าทรงสอน  ว่ากล่าวตักเตือน  แก้ไขข้อบกพร่อง  และ ฝึกฝนท่าน   ท่านจะได้รับการหล่อหลอมฟูมฟักให้ชีวิตของท่านเป็นไปตามแผนการของพระเจ้าที่มีในชีวิตของท่าน  ท่านสามารถที่จะยืนหยัด ยืนยัน และชื่นชมยินดีในมรดกทางจิตวิญญาณของท่าน



15 มีนาคม 2564

คำถามเตรียมตัวเพื่อการนมัสการพระเจ้าในวันอาทิตย์

การนมัสการพระเจ้า มิใช่การประกอบศาสนพิธีที่คริสตชนพึงกระทำ แต่การนมัสการพระเจ้าเป็นเรื่องของชีวิต-จิตวิญญาณที่เราสัมพันธ์ติดสนิทกับองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา การนมัสการยังเป็นเรื่องของชุมชน เป็นเรื่องของ “พวกเรา” มิใช่เป็นเรื่องตัวใครตัวมันเท่านั้น

ประการที่เราไม่พึงละเลยคือ  ฐานเชื่อกระบวนคิด (mindset) ที่ว่า การนมัสการพระเจ้าร่วมกันในวันอาทิตย์ที่คริสตจักร (หรือ ออนไลน์) มิใช่เรื่องในวันอาทิตย์เท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่เป็นกระบวนการต่อเนื่องกันของทุกวันในสัปดาห์ ที่เราจะต้องมีการเตรียมทั้งร่างกาย จิตใจ  ความคิดในการใคร่ครวญ  สะท้อนคิดของชีวิตตลอดสัปดาห์เพื่อการเข้าร่วมนมัสการพระเจ้าด้วยชีวิตจิตวิญญาณ และ ความจริงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ต่อไปนี้เป็น 10 คำถาม (เบื้องต้น) ที่คริสตชนพึงถามตนเองในแต่ละวันตลอดสัปดาห์ก่อนที่จะถึงเช้าวันอาทิตย์ที่เราไปนมัสการพระเจ้าร่วมกันกับผู้เชื่อคนอื่น ๆ

1. ฉันคาดหวังที่จะได้พบกับพระเจ้าในการนมัสการหรือไม่? 

ถ้าท่านคาดหวังเช่นนั้นจริง ๆ ความคาดหวังเช่นนี้จะเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตในวันนี้ของท่าน   เมื่อคนบริสุทธิ์เข้าเฝ้าพระเจ้า พระองค์จะทรงเสริมสร้างพวกเขา เมื่อพระองค์พบกับคนที่ไม่บริสุทธิ์พระองค์จะเผาผลาญขจัดความบาปชั่วจากคน ๆ นั้น

2. ฉันมีความบาปผิดอะไรไหมที่ขัดขวางพระราชกิจของพระวิญญาณพระเจ้าในชุมชนคริสตจักร?

แน่นอนว่าพระเจ้าทรงครอบครองเหนือสรรพสิ่งทั้งหลาย  แต่พระองค์มักเลือกที่จะไม่ทำงานผ่านผู้คนที่ไม่สำนึกในความบาปผิดของตน แม้แต่การทำพระราชกิจที่นาซาเร็ธของพระเยซูคริสต์ก็กระทำอย่างจำกัดเพราะคนที่นั่นไม่เชื่อ (มาระโก 6:5)

3. ฉันได้มีการทุ่มเทมุ่งมั่นอธิษฐานอย่างจริงจังตลอดสัปดาห์นี้สำหรับการไปนมัสการพระองค์ในวันอาทิตย์นี้หรือไม่?

ถ้าไม่...  พระเจ้าอาจจำเป็นขจัดการพึ่งพิงตนเองของท่าน เพื่อนำท่านให้เข้าสู่การเริ่มต้นนมัสการพระองค์ด้วยจิตใจ-จิตวิญญาณของท่าน

4. ฉันหวังว่าจะไม่ต้องพบกับใครบางคนที่คริสตจักรในวันอาทิตย์นี้หรือไม่?

ถามตรง ๆ เถอะ... มีใครบางคนที่ท่านมีความขัดแย้ง ไม่ลงรอยกับเขา ที่ท่านคาดหวังว่าจะไม่ต้องพบคน ๆ นั้นในวันอาทิตย์นี้หรือเปล่า?

5. มีใครที่ฉันรู้ว่าจะมาร่วมกับเราในวันอาทิตย์นี้เพราะฉันได้เชิญเขามาร่วมด้วยหรือไม่?

ถ้าคำตอบคือ “มี”  ก็เป็นการดียิ่ง ให้ท่านอธิษฐานเพื่อคน ๆ นั้น แต่ถ้าคำตอบคือ “ไม่”  ก็เป็นคำตอบที่ฟ้องกระตุ้นสำนึกของเราว่า  เราไม่ได้ทำหน้าที่ที่ดีและเหมาะสมกับการเป็นสาวกพระคริสต์

6. ฉันได้เสียสละมอบถวายเพื่อหนุนเสริมพระราชกิจของพระเจ้าหรือไม่?

ท่านได้ถวายเงินทอง  เวลา ตะลันต์  ความสามารถ พรสวรรค์ให้เป็นการนมัสการพระองค์หรือเปล่า? ขอหนุนเสริมสาวกพระคริสต์ทุกคนที่จะถวายทั้งสิ้นแด่พระเจ้า “จนกระทั่งได้รับความรู้สึกเจ็บปวด” ไม่มีสิ่งใดที่เรามอบถวายแด่พระองค์จะไปเปรียบเทียบได้กับสิ่งที่พระเจ้าได้ประทานแก่เรา

7. ฉันได้เตรียมตัวอย่างดีในการที่จะฟังการเทศนาหรือไม่?

บางครั้งเราต้องปล้ำสู้ พยายามเข้าถึง หรือรู้สึกไม่อิ่มอกอิ่มใจกับคำเทศนา (อาจจะด้วยเหตุผลหลากหลายประการ) แต่ถ้าท่านมิได้คิดเตรียมตัวไว้ในใจสำหรับการฟังเทศนา เราก็จะสูญเสียบางสิ่งบางอย่างที่พระเจ้าประสงค์ให้สำหรับเรา

8. ฉันได้อธิษฐานเผื่อผู้ที่จะเทศนาในสัปดาห์นี้หรือไม่?

ถ้าเราไม่ได้อธิษฐานเผื่อผู้เทศนาก็เป็นเหมือนเราปล่อยให้ผู้เทศนาต่อสู้กับจิตวิญญาณชั่วร้ายด้วยตัวเปล่าเปลือย ไร้อาวุธ และ เครื่องป้องกันตน  ถ้าเช่นนั้นเราก็ไม่มีสิทธิบ่นว่าผู้เทศน์อย่างในข้อ 7 ข้างต้น เพราะเราไม่ได้อธิษฐานเผื่อผู้เทศน์เลย

9. ถ้าพระเจ้าเคลื่อนไหวอย่างมีพลังในชีวิตของฉัน อย่างที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน ฉันจะบอกว่า “ไม่ใช่ตามใจปรารถนาของข้าพระองค์  แต่ให้เป็นไปตามน้ำพระทัยของพระองค์ หรือไม่?

เรารู้แล้วว่า พระเจ้ามักเข้ามาแทรกแซงแผนงานชีวิตของเรา เปลี่ยนความใฝ่ฝันของเรา  เปลี่ยนแปลงเป้าหมายในชีวิตของเรา แม้กระทั่งเปลี่ยนย้ายจุดยืนของเรา การนมัสการพระเจ้าอย่างแท้จริง ผู้นมัสการต้องวางชีวิตของตน “บนแท่นบูชา” เป็นสิ่งแรก คือมอบกายถวายชีวิตทั้งสิ้นให้เป็นไปน้ำพระทัยของพระองค์

10. ฉันมีความคิดว่าไม่มีสิ่งใดที่จะเปลี่ยนแปลงหลังการนมัสการพระเจ้าในสัปดาห์นี้ใช่หรือไม่? (ให้เราตอบข้อนี้ด้วยความจริงใจ)  

ผมเกรงว่าหลายท่านจะตอบว่า “ใช่”  ขอพระเจ้าโปรดเปลี่ยนจิตใจของเรา ถ้าเราตอบเช่นนั้นจริง ๆ

ท่านมีคำถามอื่นอะไรอีกไหมครับที่เราควรถามตนเองก่อนการนมัสการพระเจ้าในเช้าวันอาทิตย์นี้ร่วมกับผู้เชื่อคนอื่น ๆ?



14 มีนาคม 2564

คุณค่าของการเลือกสิ่งที่จะจดจำ

เปาโลเขียนจดหมายถึงสมาชิกคริสตจักรฟีลิปปีที่ตนเริ่มต้นในฟีลิปปี ที่นั่นนางลิเดียได้เปิดบ้านของเธอและร่วมกับคนอื่น ๆ เพื่อต้อนรับเปาโลที่มาในเมืองนั้น

คริสตจักรฟีลิปปีได้มีส่วนช่วยสนับสนุนในการเดินทางประกาศพระกิตติคุณของเปาโล

ในฟีลิปปี 1:5 เปาโลกล่าวว่า “เพราะท่านมีส่วนร่วมในข่าวประเสริฐตั้งแต่แรกจวบจนบัดนี้” และเปาโลได้กล่าวอีกว่า  “ข้าพเจ้าขอบพระคุณพระเจ้าทุกครั้งที่ระลึกถึงพวกท่าน” (ข้อ 3)

เราได้บทเรียนอะไรจากพระคัมภีร์ตอนที่กล่าวข้างบนนี้?  เราเรียนรู้จากพระธรรมตอนดังกล่าวว่า เปาโลเลือกที่จะจดจำในสิ่งที่เขาต้องการจดจำ

เมืองฟีลิปปี มิใช่เมืองที่เปาโลมาแล้วได้พบกับความสุข  แต่เปาโลต้องอดทนกับการข่มเหงและได้รับความทุกข์ยากลำบาก

เปาโลไม่เลือกที่จะจดจำและย้ำเตือนถึงความเจ็บปวดในชีวิตที่ได้รับในเมืองนี้

แต่กลับเลือกแสดงออกถึงความชื่นชมยินดี  ความรู้สึกขอบคุณสำหรับสิ่งดีดีที่สมาชิกคริสตจักรได้กระทำเพื่อเขา และ ผ่านชีวิตการงานของเขา

ประสบการณ์ของเราส่วนใหญ่ ยิ่งเรารับใช้ในพันธกิจใดยาวนานแค่ไหน ดูเหมือนว่าเราจะจดจำถึงสิ่งที่ไม่ดีมากขึ้นแค่นั้น  แทนที่จะจดจำสิ่งดีดีมากขึ้น

ทุกวันนี้ ท่านยังเกาะติด จดจำ หมกมุ่นอยู่กับความรู้สึกเจ็บปวดบางอย่างที่บางคนได้กระทำต่อท่านในชีวิตที่ผ่านมาหรือไม่?

บางทีท่านอาจจะยังไม่ยอมปล่อยให้ความเจ็บปวด และ คนที่ทำให้ท่านเจ็บปวดหลุดจากขอเบ็ดแห่งการจดจำของท่าน ทำให้ท่านไม่สามารถที่จะมีความสัมพันธ์ที่ชื่นชมยินดีกับคน ๆ นั้น ทั้งนี้เพราะท่านยังฉุดยึดอดีตนั้นไว้  หรือไม่ท่านอาจจะไม่สามารถที่จะทำพันธกิจอย่างมีพลังและประสิทธิภาพเท่าที่ควรจะเป็นเพราะท่านยังจมจ่อมอยู่กับความเจ็บปวดนั้น

ขอท่านพึงตระหนักรู้ว่า  การจดจำเป็นสิ่งที่เราเลือกได้!

เพื่อนคนหนึ่งเคยถาม คลารา บาร์ตัน ผู้ก่อตั้งสภากาชาดอเมริกัน ถึงสิ่งที่โหดร้ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ใครบางคนเคยทำกับเธอเมื่อหลายปีก่อน

เพื่อนคนนั้นถามเธอว่า “คุณจำไม่ได้เหรอ”  คำตอบที่มีชื่อเสียงของเธอคือ “ไม่...ฉันยังจำได้ชัดเจนว่าฉันลืมมันไปแล้ว”

การจดจำของเราเป็นสิ่งที่เราเลือกได้

ถ้าท่านยังต้องการที่จะเกาะยึดโอบกอดความจำที่เจ็บปวดของท่านไว้  ก็เป็นสิ่งที่ท่านพึงกระทำได้...  แต่ชีวิตของท่านจะไม่มีความสงบสุข  และจะสร้างผลกระทบเชิงลบต่อทั้งชีวิต พันธกิจ และ สุขภาพของท่าน

แท้จริงแล้ว เปาโลมีเหตุผลมากมายที่จะจดจ่อใส่ใจในความจำที่เจ็บปวดเหล่านั้น

แต่เปาโลเลือกที่จะจดจำสิ่งที่เขารู้สึกขอบคุณผู้คนต่าง ๆ ในเมืองฟีลิปปีที่ทำสิ่งดีดีในชีวิตและในงานของท่าน ที่พระเจ้ากระทำผ่านชีวิตของคนเหล่านั้น

เมื่อเราท่านเลือกที่จะจดจำอย่างที่เปาโลได้ทำนั้น  พระเจ้าจะอวยพระพรต่อชีวิตและพันธกิจการงานที่เรากระทำมากกว่าที่เราคาดคิด



12 มีนาคม 2564

พลังในความเปราะบางของชีวิต

ความเปราะบางในชีวิตของท่านไม่ใช่จุดอ่อน ความจริงแล้ว ความเปราะบางเป็นจุดแข็ง พระเจ้าสามารถใช้ความเปราะบางของท่านในการหนุนเสริมเพิ่มพลังด้านจิตวิญญาณ ใช้ในการรักษาเยียวยาทางอารมณ์ความรู้สึก เป็นพลังดึงดูดใจในความสัมพันธ์ และหล่อหลอมก่อร่างภาวะผู้นำในตัวท่าน

ประการแรก  ให้เราเปิดเผยและจริงใจต่อคนอื่นเกี่ยวกับความอ่อนแอของเรา  การกระทำเช่นนี้เป็นการที่เราสร้างเสริมกำลังทางจิตวิญญาณ  เพราะเป็นการที่เราเปิดประตูชีวิตแก่พระคุณของพระเจ้า  “พระเจ้าทรงต่อสู้ผู้ที่หยิ่งจองหอง   แต่ประทานพระคุณแก่คนที่ถ่อมใจ”  (ยากอบ 4:6 อมธ.)  พระคุณของพระเจ้าเป็นพลังที่เราต้องการจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงและกำจัดนิสัยที่ไม่ดี  ความอ่อนแอ และจุดอ่อนในชีวิตของเรา

ประการที่สอง เป็นพลังในการเยียวยารักษาทางอารมณ์ความรู้สึก  ยากอบ 5:16 กล่าวไว้ว่า “...จงสารภาพบาปของท่านต่อกันและอธิษฐานเผื่อกันและกัน เพื่อท่านจะได้รับการรักษาให้หาย” (อมธ.) หากท่านประสงค์เพียงเพื่อจะได้รับการอภัยโทษบาป ท่านไม่จำเป็นต้องสารภาพต่อกันและกัน เพียงสารภาพต่อพระเจ้าเท่านั้น แต่ถ้าท่านต้องการได้รับการเยียวยารักษา ท่านจำเป็นจะต้องสารภาพถึงจุดอ่อนหรือความอ่อนแอของท่านต่อคนอื่น พระเจ้าทรงกำหนดให้การเปิดเผยอารมณ์ความรู้สึกของท่านเป็นจุดเริ่มต้นของการเยียวยารักษาทางอารมณ์ความรู้สึก

ประการต่อมา จุดอ่อนหรือความเปราะบางในชีวิตเป็นความดึงดูดความสัมพันธ์ พระคัมภีร์กล่าวไว้ว่า “เพราะว่าเราทำผิดพลาดมากมายกันทุกคน...” (ยากอบ 3:2 มตฐ.) ในพระธรรมข้อนี้ยากอบกำลังกล่าวรวมถึงความผิดพลาดของตัวท่านเองด้วย  การกล่าวเช่นนี้ทำให้เกิดความสัมพันธ์ต่อกันมากขึ้น ไม่มีใครอยากแต่งงานหรือเป็นเพื่อนกับคนหลงตัวเอง แต่เมื่อชีวิตของเราเปราะบาง  เมื่อเรายอมรับถึงจุดอ่อนหรือความอ่อนแอของตน หรือบางครั้งอาจจะหัวเราะต่อตนเอง ท่านดึงดูดคนอื่นเข้ามาในความสัมพันธ์ของท่าน

ความเปราะบางในชีวิตมิได้เพียงหนุนเสริมพลังทางจิตวิญญาณเท่านั้น แต่ช่วยเยียวยารักษา  และทำให้ท่านเป็นที่ดึงดูดความสัมพันธ์จากคนอื่น ๆ ด้วย นอกจากนั้นแล้วยังเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับภาวะผู้นำ  ถ้าท่านไม่เป็นคนที่มีจุดอ่อน หรือ ความเปราะบางในชีวิต ท่านก็ไม่ได้เป็นผู้นำ ท่านเป็นเพียงเจ้านายเท่านั้น  “ถ้าผู้ใดในพวกท่านฉลาดและมีความเข้าใจ ก็ให้เขาแสดงออกมาโดยการดำเนินชีวิตที่ดี โดยการกระทำอันถ่อมสุภาพซึ่งมาจากสติปัญญา”  (ยากอบ 3:13 อมธ.)

เมื่อเราได้รับพระปัญญาของพระเจ้า เราก็จะเป็นคนถ่อมด้วย  “ท่านทั้งหลายจงถ่อมใจลงต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระองค์จะทรงยกชูท่านขึ้น” (ยากอบ 4:10 อมธ.) พระเจ้าให้เกียรติความถ่อมตัวและความเปราะบางของท่านและใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อสร้างท่านให้เป็นผู้นำ

พระคัมภีร์สามารถที่จะต่อต้านกระแสทางวัฒนธรรมได้จริงหรือ?  

สังคมโลกบอกเราให้เราระวังตนเอง อย่าแสดงออกถึงความอ่อนแอและความเปราะบางในชีวิตให้คนอื่นได้เห็น แต่พระเจ้าบอกให้เราโอ้อวดถึงความอ่อนแอในชีวิตของเรา เพราะในความเปราะบางอ่อนแอของเราทำให้เห็นชัดถึงฤทธานุภาพของพระเจ้า และเราต้องพึ่งพิงพระองค์มากยิ่งขึ้น

เราจะยอมลดสิ่งปิดบังความเปราะบังอ่อนแอในชีวิตของเราลง  เพื่อว่าความเปราะบางอ่อนแอของท่านจะสามารถชี้นำคนอื่น ๆ ให้ไปถึงพระเยซูคริสต์หรือไม่?