26 มีนาคม 2564

“โฮซันนา” เบื้องหลัง ความหมายทางการเมือง

วันอาทิตย์ก่อนวันคืนพระชนม์เป็นอาทิตย์ทางปาล์ม หรือ อาทิตย์โฮซันนา แต่เราแทบไม่ทราบเลยว่าในช่วงเวลาที่เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองมากมาย

โฮซันนาไม่ได้เป็นเพียงการโห่ร้องต้อนรับแสดงความยินดี แต่เป็นการโห่ร้องที่ประกาศต่อสาธารณะในทางการเมืองว่าพระเยซูเป็นใคร

วันที่พระเยซูคริสต์เสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มในช่วงสัปดาห์ก่อนถูกตรึงและคืนพระชนม์ ฝูงชนที่มาโห่ร้องว่า โฮซันนา มิได้เพียงมาดูพระเยซู หรือ มาต้อนรับพระเยซู  แต่ที่สำคัญคือเรื่องที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องที่มีการเผยถึงล่วงหน้ามาแล้วก่อนเป็นเวลายาวนาน และขอตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงที่พระเยซูกับสาวกกำลังที่จะเข้ามายังกรุงเยรูซาเล็ม พระองค์ได้ให้สาวกสองคนมาล่วงหน้าเข้าไปในหมู่บ้านเบ็ธฟายี และสาวกจะพบลาและลูกลาที่นั่น แล้วให้นำมาให้พระองค์ ถ้ามีใครถามก็บอกเพียงว่าพระเยซูต้องการมัน (มัทธิว 21:1-3) นี่แสดงชัดว่าได้มีการพูดคุยหรือประสานงานก่อนหน้านี้แล้ว

สาวกทั้งสองก็ได้พบลาอย่างที่พระเยซูบอกเขา  เขาจึงนำมาให้พระองค์ พระเยซูได้ขึ้นขี่บนหลังลาเพื่อเข้าไปในกรุงเยรูซาเล็มเหมือนผู้มีชัย และเหตุการณ์นี้สำเร็จตามคำเผยพระวจนะ เศคาริยาห์ 9:9 ว่า จะมีกษัตริย์ทรงลาเสด็จเข้ามายังเมืองเยรูซาเล็ม เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องราวที่สำคัญเพราะเป็นการยืนยันอีกแหล่งหนึ่งว่า พระเยซูคริสต์คือพระเมสิยาห์ที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้

เมื่อพระเยซูเข้าสู่กรุงเยรูซาเล็ม  ฝูงชนต่างพากันโบกสะบัดด้วยทางปาล์ม พร้อมกับโห่ร้องด้วยเสียงดังก้องว่า

“โฮซันนาแก่บุตรของดาวิด   ขอให้ท่านผู้ที่เสด็จมาในพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้าทรงพระเจริญ โฮซันนา ในที่สูงสุด” (มัทธิว 21:9 มตฐ.)

จากการเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มครั้งนี้ พระเยซูได้แสดงจุดยืนทางการเมืองโดยเจตนาอย่างกล้าหาญ ว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าตามพระสัญญา

คำว่าโฮซันนาหมายความว่าอะไร?   แล้วส่อถึงการเมืองอย่างไร?

อย่างที่กล่าวแล้วว่า คำว่าโฮซันนามิใช่การโห่ร้องว่า “ไชโย” หรือเป็นการโห่ร้องต้อนรับพระเยซูเข้ากรุงเยรูซาเล็มเท่านั้นแน่  แต่เราสามารถมองอย่างเกี่ยวโยงถึงคำว่าโฮซันนากับเรื่องต่าง ๆ ที่ประชาชนได้ตะโกนร้องในวันอาทิตย์นั้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้การเฉลิมฉลองวันปัสกา อันเป็นการระลึกถึงพระราชกิจของพระเจ้าที่เริ่มปลดปล่อยกอบกู้อิสราเอลชนออกจากการเป็นทาสในอียิปต์

ในภาษาฮีบรู “โฮซันนา” หมายถึง “การช่วยกู้” “การปลดปล่อย” ปกติทั่วไปในภาษาอาราเมคมีความหมายถึง “ผู้ช่วยกู้”  ในภาษากรีกคำ ๆ นี้มาจากรากศัพท์ภาษาฮีบรูที่มีความหมายถึง “โปรดได้ช่วยกู้พวกเราด้วย”

จากความหมายของโฮซันนาใน 3 ความหมายเมื่อเกี่ยวโยงกันเข้าพอประมวลได้ว่า ประชาชนกำลังเรียกร้องให้พระเยซูคริสต์เข้ามากอบกู้พวกเขาและประกาศถึงชัยชนะหรือความรอดจากสภาพการเป็นเมืองขึ้นของมหาอำนาจโรมันในเวลานั้น ซึ่งความหมายที่ประชาชนโห่ร้องนี้ตรงกันข้ามกับมุมมองทัศนคติของพวกผู้นำศาสนายิว เช่น พวกปุโรหิต  ธรรมาจารย์  ฟาริสี  ที่ส่วนใหญ่ต่อต้านการกระทำของพระเยซูคริสต์

การที่ประชาชนโห่ร้องโฮซันนาเช่นนี้เป็นการที่ประชาชนประกาศว่า พระเยซูคริสต์เป็นพระเมสิยาห์ มิเป็นเพียงการสุ่มเสี่ยงต่อการที่พวกโรมันจะมองว่านี่เป็นการกบฏต่อกรุงโรม พวกฟาริสีเองก็ต่อต้านการกระทำและการโห่ร้องเช่นนี้ด้วย และการที่พระเยซูเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มเช่นนี้  โดยไม่มีการต่อต้านหรือกล่าวอ้างเป็นความหมายอย่างอื่นก็เป็นการประกาศอย่างเปิดเผยและกล้าหาญของพระเยซูคริสต์ว่า พระองค์คือพระเมสิยาห์  

พวกฟาริสีไม่ยอมรับความคิดว่า พระเยซูคริสต์เป็นพระเมสิยาห์ ที่นำความรอดและการปลดปล่อยและเป็นผู้กอบกู้ของยิว เหตุการณ์โฮซันนาที่เกิดขึ้นนี้จึงขัดแย้งกับความรู้สึกของฟาริสีอย่างยิ่ง และความขัดแย้งนี้ถูกใช้ให้เป็นเป็น “ความขัดแย้งทางการเมือง” โดยฟาริสี

ในเหตุการณ์นี้ยังไม่ค่อยชี้บ่งชัดถึงความเป็นการเมืองที่ชัดแจ้งมากนัก แต่นี่เป็นจุดเปลี่ยนของเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้าที่เขาได้จับพระเยซูคริสต์ตรึงบนไม้กางเขน

แล้วฟาริสีว่าอย่างไง?

ก่อนหน้านี้ในมัทธิว บทที่ 23 พระเยซูได้กล่าววิพากษ์ถึงพวกธรรมาจารย์ และ ฟาริสี ที่เป็นคนสอนอย่างแต่ตนกลับประพฤติอีกอย่าง เป็นพวกที่บ้ายศ-งกตำแหน่ง ชอบอยู่ในที่โดดเด่นเพื่อได้รับการยกย่อง พระเยซูตราหน้าพวกนี้ว่า เป็นคนหน้าซื่อใจคด สิ่งเหล่านี้ย่อมสร้างความไม่พอใจและการผูกใจเจ็บที่พวกธรรมาจารย์และฟาริสีมีต่อพระเยซูคริสต์

ในเหตุการณ์โฮซันนานี้เอง ที่พวกธรรมาจารย์และฟาริสีได้ที่โยงเอาเหตุการณ์นี้มาอ้างอิงว่า  การที่พระเยซูคริสต์ปล่อยให้ประชาชนโห่ร้องเช่นนี้ เป็นการที่ทำให้พวกโรมันมาบุกทำร้ายและทำลายประชาชนยิวได้ ในอีกด้านหนึ่งที่พวกเขาพยายามจะปราบพระเยซูให้สิ้นฤทธิ์หมดอิทธิพลในหมู่ประชาชนด้วยการเอาใจมหาอำนาจโรมันที่ปกครองเหนือตน และหวังที่จะใช้มือของมหาอำนาจโรมันฆ่าพระเยซูเสีย ในมัทธิว 26:3-4 และนี่คือการเมืองในองค์กรศาสนามิใช่หรือ?

แล้วโรมันมองและพูดถึงพระเยซูอย่างไร?

ในช่วงเวลาที่พระเยซูคริสต์มีชีวิตในโลกนี้  จักรวรรดิโรมันเป็นมหาอำนาจในตอนนั้น พวกประชาชนยิวเชื่อว่า พระเมสิยาห์จะมานำกองทัพปลอดปล่อยพวกเขาออกจากแอกของโรมัน   พระเมสิยาห์จะปลดปล่อยชนอิสราเอลให้มีเสรีอีกครั้งหนึ่ง และนี่คือฐานเชื่อกระบวนคิดเกี่ยวกับพระเมสิยาห์ของพวกยิวในเวลานั้น แต่พระเยซูคริสต์มิได้มาเพียงปลดปล่อยพวกยิวเท่านั้น   พระองค์กอบกู้ให้มนุษยชาติหลุดรอดออกจากอำนาจที่ชั่วทั้งเผด็จการมหาอำนาจ  และ ความฉ้อฉล งก เงี่ยน ของพวกผู้นำในองค์กรศาสนาและการเมืองยิว

จากยอห์น บทที่ 19  ปีลาตผู้มาปกครองยิวในเวลานั้นเห็นว่าพระเยซูคริสต์ไม่มีความผิดฐานการเมืองอย่างที่พวกผู้นำศาสนายิวกล่าวหา คิดจะปล่อยพระเยซู  ทันทีที่พวกผู้นำศาสนายิวรู้ ได้ต่อต้านการปล่อยพระเยซู  และขู่ว่าจะส่งคำร้องฟ้องไปที่พระมหาจักรพรรดิซีซาร์ที่โรม ทำให้ปีลาตต้องหยุดความคิดของตนเพราะกลัวจะถูกฟ้องไปยังส่วนกลาง “ถ้าท่านปล่อยชายคนนี้ ท่านก็ไม่ใช่มิตรของซีซาร์ ทุกคนที่ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ก็ต่อต้านซีซาร์” (ยอห์น 19:12 มตฐ.)

ผลสุดท้ายเป็นเช่นไร?

การเมืองในคราบของนักการศาสนา และระบบการเมืองในองค์กรศาสนานำมาถึงหายนะจุดจบที่ทุกคนคาดไม่ถึง (ยกเว้นพระเยซู)  และ ไม่มีใครรู้ว่าที่มันจบลงเช่นนี้เพราะ “หนอนบ่อนไส้” คนหนึ่งในกลุ่มสาวกพระเยซูคริสต์เอง  ที่เป็นคน “ฉ้อฉล งกเงิน เงี่ยนชื่อเสียงและอำนาจ”  ยอมทรยศหักหลังขายพระอาจารย์ของตนแก่พวกผู้นำศาสนายิว และนี่คืออิทธิพลของการเมืองสกปรกที่แผ่เข้ามายังองค์กรศาสนา และ สาวกของพระเยซูคริสต์อย่างยูดาส

แล้วเรายังจะมีการเฉลิมฉลองอาทิตย์โฮซันนาอีกหรือ?

เมื่อพระเยซูคริสต์มีชีวิตบนโลกนี้ พระองค์สื่อสาร สั่งสอน เยียวยารักษา  ขับอำนาจชั่วร้าย เชื่อสัมพันธ์ความฉีกขาดในสังคม ใช้ชีวิตกับคนยากไร้ คนนอกคอก คนที่ถูกตีตราและผลักไสออกจากสังคม พระองค์ใช้ชีวิตด้วยการให้ชีวิตเพื่อคนอื่นจะได้ชีวิตใหม่ พระองค์ยืนหยัดเผชิญหน้ากับพวกผู้นำศาสนายิว แต่กลับรักเมตตาอยู่เคียงข้างคนต่ำต้อยด้อยค่า และ คนที่ถูกตราหน้าว่าบาปหนาในสังคมอย่างไม่กลัวที่ตัวเองจะถูกแปดเปื้อน   

พระองค์มาในโลกนี้เพื่อกระทำพระราชกิจของพระบิดาที่ได้มอบหมายให้พระองค์กระทำ  พระองค์มาเพื่อกระทำสิ่งที่พระเจ้าประสงค์ให้ผู้ที่มาในพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้ากระทำ   และพระเมสิยาห์องค์นี้ที่เราจะยังร้องโฮซันนาตลอดไป



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น