30 มีนาคม 2563

มองให้เห็นพระราชกิจพระเจ้า...ในสถานการณ์ “โควิด 19”

เมื่อเกิดเหตุการณ์ ภัยพิบัติ สถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด และ สูญเสียเรามักมุ่งมองไปที่เหตุร้าย การสูญเสีย ความทุกข์ยาก และ ฯลฯ  แล้วเกิดคำถามว่า เป็นความผิดความบาปของใคร? หรืออะไรที่ทำให้สิ่งเลวร้ายเหล่านี้เกิดขึ้น? นี่เป็นหมายสำคัญของการสิ้นโลกใช่ไหม? หรือไม่ก็มีคำถามสงสัยพระเจ้าว่า ทำไมพระองค์อนุญาตให้สิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นแก่คนที่พระองค์ทรงรัก?

แต่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายเช่นนี้เรากลับมิได้ใส่ใจว่า พระเจ้ากำลังทำพระราชกิจอะไรในเหตุการณ์นั้น ดังนั้น เราจึงพลาดที่จะมีโอกาสร่วมในพระราชกิจดังกล่าว เราจึงพลาดโอกาสที่จะมีส่วนร่วมในชัยชนะที่พระองค์ทรงกอบกู้และพลิกฟื้นสถานการณ์ที่เลวร้ายทำลายนั้นให้เกิดชีวิตใหม่ สังคมใหม่ โลกใหม่ แผ่นดินใหม่ตามพระประสงค์ของพระองค์

เรื่องราวในพระกิตติคุณยอห์น บทที่ 9 เป็นคำถามที่สอนและการอธิบายของพระเยซูคริสต์ว่า เราจะมอง หรือ มีมุมมองอย่างไรต่อสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา

โดยปกติทั่วไป เมื่อเราพบกับเหตุการณ์เลวร้าย เรามักพุ่งมุมมองตรงไปที่ “ใครเป็นคนที่ทำผิด?”  “ใครคือต้นเหตุของความเลวร้าย?” “อะไรที่ทำให้เกิดความเลวร้ายนี้ขึ้น?” “ความเจ็บปวด ความสูญเสีย ความผิดพลาดดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะใคร?” และสาวกของพระเยซูคริสต์ก็เป็นคนหนึ่งในกลุ่มนี้ด้วย พวกสาวกของพระองค์ทูลถามพระองค์ว่า “พระอาจารย์ ใครทำบาป คนนี้หรือพ่อแม่ของเขา เขาถึงเกิดมาตาบอด?” (ยอห์น 9:2 มตฐ.)

คำตอบของพระเยซูเปลี่ยนมุมมองของสาวกไปอย่างสิ้นเชิง พลิกกลับหน้ามือเป็นหลังมือ พระองค์ไม่ตอบคำถามที่สาวกถาม แต่พระองค์เปลี่ยนฐานเชื่อและกรอบคิด (mindset) ของสาวก ที่สาวกถามพระเยซูเช่นนั้นเพราะสาวกมี “มุมมอง” ต่อสถานการณ์นี้อย่างผิดพลาด และถ้าดันทุรังแก้ปัญหาตามมุมมองที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน ก็เป็นการแก้ปัญหาอย่างผิดเรื่องผิดประเด็นไปด้วย

พระเยซูตอบพวกสาวกตรงไปตรงมาว่า “ไม่ใช่คนนี้หรือพ่อแม่ของเขาที่ทำบาป แต่เขาเกิดมาตาบอดเพื่อให้พระราชกิจของพระเจ้าปรากฏในตัวเขา เราต้องทำพระราชกิจของผู้ทรงใช้เรามาเมื่อยังวันอยู่ กลางคืนอันเป็นเวลาที่ไม่มีใครทำงานนั้นกำลังใกล้เข้ามา” (ข้อที่ 3-4 มตฐ.)

ความหมายลึก ๆ ในที่นี้พระเยซูบอกสาวกว่า “พวกท่านถามคำถามผิด เพราะมีฐานเชื่อกรอบคิด (mindset) ที่ผิดพลาด”

ในสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19  ขอให้เราเลิก “สาดโคลนคำถาม” เพื่อที่จะตีตรากล่าวหา หรือ ค้นหา “แพะรับบาป” (อย่างผู้นำประเทศมหาอำนาจและนักการเมืองส่วนใหญ่เขาทำกัน) คำถามพวกนี้ทั้งชุดมันจะไม่ช่วยประชากรและสังคมโลกเลย รังแต่จะหาทางมุ่งทำลายทำร้ายฝ่ายตรงกันข้ามของตนเท่านั้น มันไม่ได้แก้ปัญหา แต่ผู้นำพวกนี้กลับสร้างและสะสมปัญหาพอกพูนให้มากยิ่งขึ้น

เราในฐานะสาวกพระคริสต์และหลายคนในฐานะผู้นำ เราคงจำเป็นต้องเปลี่ยน “ฐานเชื่อกรอบคิด” (mindset) ใหม่แบบพระเยซู ในเวลาเช่นนี้ให้เราร้องทูลต่อพระเจ้าจากก้นบึ้งหัวใจของเราว่า  

“องค์พระผู้เป็นเจ้า พระองค์กำลังทำอะไรอยู่ในสถานการณ์แพร่ระบาดที่เลวร้ายของไวรัสโควิด 19? ที่สร้างผลกระทบอย่างมากต่อผู้คนในสังคมโลก และ ความสัมพันธ์ใกล้ชิดในแต่ละคนของพวกเราด้วย... 

ขอพระองค์โปรดสำแดงให้ลูกได้เห็น รู้ เข้าใจ และโปรดช่วยให้ลูกรู้ว่าจะร่วมในพระราชกิจดังกล่าวของพระองค์ได้อย่างไรบ้าง? ลูกควรพูดอย่างไรบ้าง? ควรทำอะไรบ้าง? และควรทำอย่างไรที่จะเป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์? เพื่อลูกจะได้เข้าร่วมในพระราชกิจดังกล่าวตามพระประสงค์ของพระองค์ 

ทูลขอในพระนามของพระเยซูคริสต์เจ้า อาเมน.”

การที่เราในฐานะคริสตชน และ ผู้นำคริสตจักร ชุมชน  หรือ องค์กรคริสตชน เราจะต้อง

(1) มองให้เห็นว่า พระเยซูคริสต์กำลังทำพระราชกิจอะไรในสถานการณ์ไวรัสโควิด 19?
(2) เราต้องรู้ว่า พระองค์มีพระประสงค์ให้เราร่วมในพระราชกิจนี้ในเรื่องอะไร?
(3) เราต้องชัดเจนว่า พระเยซูคริสต์ต้องการให้เราร่วมในพระราชกิจนี้เพื่อให้เกิดอะไร?
(4) เราต้องรู้เท่าทันว่า เราจะร่วมในพระราชกิจดังกล่าวอย่างไร?

พระเยซูคริสต์บอกกับสาวกและพวกผู้นำศาสนายิว รวมถึงประชาชนว่า เมื่อเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติที่เลวร้าย พระเจ้าจะทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในสถานการณ์นั้น “เพื่อให้พระราชกิจของพระเจ้าปรากฏในตัวเขา” (หรือในเหตุการณ์นั้น ๆ) และพระองค์บอกอีกว่า พระองค์ประสงค์ให้เราเข้าร่วมในพระราชกิจของพระองค์และบอกว่า  “เราต้องทำพระราชกิจของผู้ทรงใช้เรามาเมื่อยังวันอยู่...” (ข้อ 4 มตฐ.)

ถ้าเรามองไม่เห็นพระราชกิจในสถานการณ์ที่เลวร้าย เราจะกลายเป็น “คนตาบอดฝ่ายจิตวิญญาณ” พวกฟาริสีที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นรู้สึกเคือง จึงถามกลับพระเยซูว่า  

“เราตาบอดด้วยหรือ?”
พระเยซูตรัสกับพวกเขาว่า “ถ้าพวกท่านตาบอด ท่านก็จะไม่มีบาป แต่พวกท่านพูดเดี๋ยวนี้เองว่า ‘เรามองเห็น’ เพราะฉะนั้นบาปของท่านยังมีอยู่” (ข้อ 40-41 มตฐ.)

หรือว่าคริสตชน และ ผู้นำคริสตชนขณะนี้เป็นเหมือนฟาริสีไปแล้ว?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



29 มีนาคม 2563

แผนงานในภาวะเก็บกักตนเองในครอบครัว

ตอนนี้ครอบครัวของเราก็อยู่ภายใต้ พ.ร.ก. ภาวะฉุกเฉินเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 เพื่อน ๆ หลายคนบอกว่าตอนนี้มีเวลามากขึ้น แล้วจะใช้เวลาที่เพิ่มมากขึ้นนี้อย่างไรดี?

พ่อแม่จะใช้เวลาที่เพิ่มมากขึ้นใน 2-3 อาทิตย์ข้างหน้านี้อย่างฉลาดและมีปัญญาบนวิถีทางของพระเจ้าเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระองค์ได้อย่างไร?  

ถ้าเช่นนั้น ให้เราทำการกำหนดแผนงานว่า ในช่วงเวลาพิเศษดังกล่าวเราจะทำอะไรบ้าง เพื่อเราจะมีแผนงานแนวทางที่ชัดเจน เพื่อเราจะได้กระทำตามแผนนั้น เพราะถ้าเราไม่มีแผน ก็เตรียมใจที่จะต้องพบกับความล้มเหลวในการใช้เวลาพิเศษดังกล่าวให้เกิดประโยชน์และคุณค่า

ถ้าเช่นนั้น ให้เราเริ่มถามตนเองว่า “ใน 3-4 อาทิตย์ข้างหน้านี้ เราต้องการให้ครอบครัวของเรามีชีวิตแบบไหน? ใช้เวลาด้วยกันที่เพิ่มมากขึ้นในเรื่องอะไรบ้าง? และต้องการให้เกิดอะไรขึ้นใน 3-4 อาทิตย์ข้างหน้านี้?”

ถ้าเรามีแผนงาน 3-4 อาทิตย์ข้างหน้านี้ และ ทำงานร่วมกันเป็นทีมครอบครัว เราจะทำกิจกรรมอะไรบ้าง? เราจะทำงานด้วยกันกี่คน? แล้วเราจะมีความสนุกร่วมกันในการทำงานด้วยกันได้อย่างไรบ้าง? เพื่อเราจะเติบโตขึ้นในพระคริสต์ด้วยกัน

อยู่ที่เราแต่ละครอบครัวว่า เราจะใช้เวลาพิเศษช่วงนี้ให้เกิดประโยชน์ หรือ จะปล่อยให้เวลาพิเศษนี้ล่องลอยไปตามยถากรรม

ข้างล่างนี้ได้จัดทำตารางที่ใช้เป็นการทำแผนด้วยกันในครอบครัวอย่างง่าย ๆ แต่ทำได้จริง โดยวางเป็นตัวอย่าง 4 ประเภทกิจกรรมใหญ่ ๆ ที่จะวางแผนงานรวมกันในครอบครัว ซึ่งในเวลาปกติทั่วไปที่ผ่านมาเราอาจจะบอกว่าไม่มีเวลาจะทำสิ่งเหล่านี้ แต่ในเวลาพิเศษของช่วงนี้เป็นโอกาสที่เราจะทำได้อย่างดีร่วมกันในครอบครัว

เมื่อครอบครัวมีเวลาร่วมกันในวันนี้ ให้อธิษฐานทูลขอพระเจ้าทรงนำและเปิดเผยถึงการใช้ชีวิตในช่วงเวลาพิเศษนี้ร่วมกันตามพระประสงค์ของพระองค์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


27 มีนาคม 2563

กำลังใจให้...ผู้อภิบาล

ความจริงในวิกฤตโควิด 19 ที่พึงตระหนัก

ชีวิตช่วงสั้น ๆ ที่ผ่านมาต้องบอกว่าไม่ได้คาดฝันมาก่อนเลยว่ามันจะเกิดแก่ตนเอง ที่ชีวิตต้องปรับเปลี่ยน การทำพันธกิจคริสตจักรต้องปรับตัว บางทีท้าทายให้ต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่เลยทีเดียว เราต้องทำพันธกิจคริสตจักรในภาวะที่ต้องเว้นระยะทางสังคม และต้องเก็บกักตนเองเพื่อส่วนรวม ศิษยาภิบาลหลายท่านถามว่า แล้วการทำพันธกิจในภาวะเช่นนี้จะไปอีกนานแค่ไหน?

ใช่ครับ เราต่างไม่ได้รับการเรียนรู้ฝึกฝนเตรียมตัวในการทำพันธกิจคริสตจักรในภาวะอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เราไม่เคยทำพันธกิจการอภิบาลชีวิตในภาวะโรคระบาดอย่าง โควิด 19 มาก่อน ความกลัวดูมันแพร่กระจายไปทุกหนแห่งอาจจะมากกว่าตัวโควิด 19 เองเสียอีก ผมเชื่อแน่ว่าท่านก็เป็นคนหนึ่งที่ต้องเผชิญและปล้ำสู้กับภาวะวิกฤตินี้เช่นกัน 

ในภาวะเช่นนี้ การอภิบาลชีวิตผู้คนจะต้องยึดมั่นยืนหยัดบนสัจจะความจริงในพระวจนะของพระเจ้า เราท่านต่างก็รู้ความจำเป็นในประการนี้แน่นอน แล้วท่านอาจจะเทศนาเรื่องเหล่านี้ไปแล้วก็ได้ ในในภาวะวิกฤตโควิด 19 ให้เรามาทบทวนรากฐานความเชื่อตามพระคัมภีร์ก่อนที่เราจะตัดสินใจทำสิ่งสำคัญๆในชีวิตของสมาชิกคริสตจักร และ คนในชุมชน

ประการแรก ไม่ใช่ทุกเรื่องที่เราได้ยินจะเป็นเรื่องจริงเสมอไป

ความคิดเห็น หรือ ข้อเท็จจริงที่สื่อสารกันในสื่อช่องทางต่าง ๆ ที่เราอ่านเราเสพต้องพึงตระหนักว่าทุกเรื่องทุกข่าวทุกความคิดเห็นมิได้เป็นเรื่องจริงเสมอไป เพื่อน ๆ หรือคนรู้จักอาจจะส่งข่าวปลอมข่าวเท็จมาให้เราอย่างไม่ตั้งใจก็ได้ ดังนั้น เราจำเป็นต้องเลือกในการเสพสื่อ แต่ละคนที่สื่อสารมาต่างมีจุดประสงค์ และ จุดยืนที่แตกต่างกัน ไม่ว่าทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และ ฯลฯ ในวิกฤตนี้

“คนสุขุมทุกคนทำการด้วยความรู้...” (สุภาษิต 16:13 มตฐ.) กล่าวคือ ใครก็ตามที่กระทำด้วยความรู้เขาจะไม่กลัว   ให้เราแสวงหาข้อเท็จจริงจากบุคคล หรือ แหล่งข่าว-ข้อมูลที่เชื่อถือได้

ประการที่สอง ไม่ใช่ทุกคนเสี่ยงเท่ากันในวิกฤตินี้

ข้อเท็จจริงชัดเจนว่าผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปหรือคนที่มีโรคประจำตัว จะต้องระมัดระวังตัวอย่างมากในภาวะแพร่ระบาดของเชื่อโควิด 19 ผมรู้ว่าศิษยาภิบาลมีใจเกินร้อยที่ต้องการทำพันธกิจอภิบาลชีวิตผู้คน แต่ถ้าท่านเป็นศิษยาภิบาลในกลุ่มนี้ ขอท่านระมัดระวังอย่างสูงในการทำพันธกิจการอภิบาลชีวิตด้วยวิธีการที่ปลอดภัยต่อชีวิตของท่านเองด้วย   ท่านพึงรับใช้ด้วยความสัตย์ซื่อ ด้วยปัญญา และไม่ประมาท

ประการที่สาม สถานการณ์นี้เกิดขึ้นแล้วจะมีเวลาที่จะผ่านเลยไป

พระคัมภีร์บอกแก่เราว่า “เพื่อนที่รัก อย่าแปลกใจกับการทดลองอันเจ็บปวดที่ท่านเผชิญอยู่ราวกับว่าสิ่งแปลกประหลาดได้เกิดขึ้นกับท่าน” (1เปโตร 4:12 อมธ.) ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ทุกข์ยากลำบาก แต่มันจะไม่เป็นเช่นนี้เสมอไปไม่สิ้นสุด

เราได้รับข้อมูลความรู้และหลักการในการปฏิบัติจากผู้รู้ทางสุขภาพ เราต้องทำตนเพื่อช่วยให้ลดการแพร่ระบาดของเชื้อนี้โดยเร็ว เราไม่ต้องตกในภาวะที่ทุกข์ยากลำบากอย่างไม่สิ้นสุด เราจะกลับสู่ภาวะปกติและอาจจะเป็นภาวะใหม่ที่ดีกว่าเดิมก็ได้

ประการที่สี่ ยึดมั่นในสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง มิใช่ว้าวุ่นใจในสิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลง

มีสิ่งต่าง ๆ มากมายที่เปลี่ยนแปลงในโลกนี้ ในชุมชนของท่าน และในพันธกิจคริสตจักรที่ท่านกระทำโดยเฉพาะในช่วงเวลาข้างหน้านี้ เราท่านไม่รู้ถึงการเปลี่ยนแปลงทุกเรื่องในภาวการณ์แพร่ระบาดของโควิด 19 และสิ่งที่ท่านต้องรับใช้ในภาวะวิกฤตินี้ท่านไม่รู้ล่วงหน้า ไม่ได้วางแผนมาก่อน ดังนั้นขอให้เราให้ความยืดหยุ่นพลิกแพลงในสถานการณ์นี้ แต่ต้องตระหนักชัดและใส่ใจแน่วแน่ในสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง

พระคัมภีร์บอกว่า “พระเยซูคริสต์ทรงเป็นเหมือนเดิมเสมอ ทั้งเมื่อวานนี้ วันนี้ และสืบไปนิรันดร์” (ฮีบรู 18:8 อมธ.)   ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและมากมายอีกทั้งรวดเร็วนี้ ท่านสามารถเชื่อและวางใจในสัจจะความจริงนี้   ท่านสามารถเชื่อและวางใจได้เลยว่า พระเจ้าทรงรักเมตตาท่าน คนในชุมชน และสมาชิกในคริสตจักรของท่าน  พระองค์จะไม่เปลี่ยนแปลงเลย การทรงเรียกของพระเจ้าที่มีต่อชีวิตของท่านก็ไม่เปลี่ยนแปลง อย่าให้สภาวะการเปลี่ยนแปลงที่กำลังโหมกระหน่ำในเวลานี้ทำให้เราต้องหลงทาง สงสัย หรือ บดบังผู้ที่ไม่เปลี่ยนแปลงตลอดกาลจากเรา

ประการที่ห้า พระเจ้าทรงเคียงข้างเราให้ผ่านวิกฤตนี้

พระเจ้าจะทรงเคียงข้างก้าวเดินไปกับเรา เราอาจจะรู้สึกโดดเดี่ยว ท่านอาจจะรู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจท่านที่ต้องแบกรับภาระหนักอึ้งในเวลานี้ แต่เราจะไม่อยู่โดดเดียวตัวคนเดียว ขอท่านให้กำลังใจแก่ตนเองจากอิสยาห์ 43:2 ในช่วงเวลาเช่นนี้ว่า  “เมื่อเจ้าลุยข้ามน้ำ เราจะอยู่กับเจ้า และเมื่อข้ามแม่น้ำ มันจะไม่ท่วมเจ้า เมื่อเจ้าเดินผ่านไฟ เจ้าจะไม่ถูกไหม้และเปลวเพลิงจะไม่เผาเจ้า” (มตฐ.) ขอให้มุ่งมองไปที่สัจจะความจริงประการนี้ มิใช่มีจิตใจวอกแวกไปสนใจเสียงรอบข้าง หรือ ข่าวสารข้อมูลในอินเตอร์เนทในขณะนี้ แล้วท่านจะมีจิตใจสรรเสริญพระเจ้าแทนจิตใจที่สับสนวุ่นวาย

ประการที่หก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มิใช่จุดจบของชีวิต

พระคัมภีร์บอกเราว่า “เราเผชิญความยากลำบากรอบด้าน แต่ก็ไม่ถูกบดขยี้ เราสับสนแต่ก็ไม่หมดหวัง เราถูกข่มเหงแต่ก็ไม่ถูกทอดทิ้ง เราถูกตีให้ล้มลง แต่ก็ไม่ถูกทำลาย...เรารู้ว่าพระองค์ผู้ทรงให้พระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นขึ้นมานั้น จะทรงให้เราเป็นขึ้นมากับพระเยซูด้วย” (2โครินธ์ 4:8, 14 มตฐ.) ในช่วงเวลาของการเป็นขึ้นจากความตายของพระคริสต์ทำให้เราระลึกได้ว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเราจะได้รับชัยชนะ ไม่ว่าโควิด 19 จะฉุดชีวิตของเราไป   เราจะไปอยู่ต่อพระพักตร์ของพระเจ้า ในวันนั้น ความเจ็บปวดทั้งสิ้น ความเจ็บป่วย ความโศกเศร้าจะสิ้นสุดลง   และในเวลานั้น โควิด 19 จะไม่ได้อยู่ในสวรรค์

เราไม่รู้ว่า...อนาคตจะเป็นเช่นไร แต่เรารู้แน่แก่ใจว่า อนาคตอยู่ในพระหัตถ์ของพระเจ้า

ประการที่เจ็ด พระเจ้าประสงค์ที่จะใช้คริสตจักรช่วยคนอื่น ๆ ในวิกฤตนี้

ผมมั่นใจว่า คริสตจักรของท่านจะสามารถก้าวผ่านไปในสถานการณ์ที่เลวร้ายนี้ แต่พระเจ้าไม่เพียงประสงค์ให้เราก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปได้เท่านั้น พระองค์มิได้ประสงค์ให้คริสตจักรของท่านอยู่รอดเท่านั้น แต่พระองค์ต้องการให้คริสตจักรของท่านเติบโตขึ้น และนี่คือความแตกต่างในการรับมือกับความเจ็บปวดในชีวิตของคริสตจักรกับคนทั่วไป คริสตจักรมองสถานการณ์วิกฤตในโลกนี้ว่าเป็นประตูที่เปิดสู่การทำพันธกิจของพระเจ้า

ขออธิษฐานพระเจ้าโปรดให้คริสตจักรของเราได้มีโอกาสทำพันธกิจใหม่จากจากความทุกข์ยากลำบากในช่วงเวลานี้ เราอาจจะไม่รู้ แต่พระองค์ทรงรู้ดีว่าคริสตจักรของเราจะต้องเผชิญกับวิกฤตหนักหนาสาหัสอะไรบ้าง และนี่เป็นเวลาและโอกาสที่คริสตจักรจะเป็นแสงสว่างของสังคมโลกในช่วงเวลาวิกฤตมืดมิด

ขออธิษฐานเผื่อคริสตจักรของเราว่า อย่าให้เราถูกไวรัสร้ายตัวนี้หลอกล่อจนคริสตจักรต้องหยุดต้องปิดลง เพราะพระเยซูคริสต์ได้เตือนให้เราตระหนักชัดว่า “...พลังแห่งความตายจะมีชัยต่อคริสตจักรไม่ได้” (มัทธิว 16:18 มตฐ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


กระชากหน้ากาก “วิญญาณชั่วโควิด-19”?

อย่างที่เคยกล่าวกันมาแล้วว่า ในมุมมองของคริสตชนเรามองว่า...การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้นมิใช่ “สงครามของมนุษย์กับเชื้อไวรัสร้ายตัวนี้” แต่เป็น “สงครามจิตวิญญาณ” ของมนุษยชาติ ที่ส่งผลทั้งทางสุขภาพกาย ใจ และจิตวิญญาณ ส่งผลต่อระบบความสัมพันธ์ทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองในภาพรวม  

ในเวลาเดียวกัน “เจ้าวิญญาณชั่ว” ยังครอบงำความคิด วิธีคิด การตัดสินใจของเหล่าบรรดาผู้นำ นักการเมือง  การทหาร พ่อค้า นักวิทยาศาสตร์ และพวกลิ่วล้อ ให้ตกเป็นพลพรรคของมันที่ถูกครอบงำด้วย “วิญญาณชั่วโควิด-19”

ในภาวะสงครามจิตวิญญาณนี้เองที่เราสามารถบ่งบอกได้ว่า “ใคร” ที่ถูกครอบงำด้วยจิตวิญญาณชั่ว และ ใครที่ยังได้รับการคุ้มครองปกป้องให้จิตวิญญาณมีความรักเมตตา เสียสละ และใส่ใจค้ำจุนสังคมโลกนี้ให้มีคุณภาพชีวิตแห่งแผ่นดินของพระเจ้า

ขอยกเรื่องจริงที่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นตัวอย่างประกอบ ผมขออนุญาตกล่าวอ้างและนำข้อเขียนบางช่วงตอนของ “ทับทิม พญาไท” ในบทความชื่อ “เมื่อ COVID-19 กระชากหน้ากากแต่ละประเทศ” เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ 22 มี.ค. 2563 

เมื่อเมืองจีนจัดการกับเจ้าไวรัสโควิด-19 ให้อยู่ภายใต้การควบคุมได้แล้ว ในขณะที่อิตาลีแพร่ระบาดอย่างรุนแรง   “...ประเทศ(พันธมิตรที่เคยร่วมเคียงบ่าเคียงไหลมาด้วยกัน)...กลับห้ามส่งออกอุปกรณ์ เครื่องมือที่จำเป็นในการป้องกันการแพร่ระบาด ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย หรือเวชภัณฑ์ทั้งหลาย...”  

แต่อีกภาพหนึ่งที่ปรากฏคือ “เครื่องบินจีน” ที่ขนเอาอุปกรณ์นานาชนิดไปมอบให้กับรัฐบาลอิตาลีถึงกรุงโรม เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ตามด้วยเรือบรรทุกเครื่องเวชภัณฑ์อีกเป็นพะเรอเกวียนไปยังท่าเรือเมืองมิลาน เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา จนทำให้รัฐมนตรีต่างประเทศอิตาลี “นายLuigi Di Maio” อดไม่ได้ต้องนำมาโพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กของตัวเอง และทำให้บรรดาชาวอิตาเลียนทั้งหลาย ถึงกับต้องร่วมประสานเสียง “ร้องเพลงชาติจีน” บนระเบียงบ้านไปตาม ๆ กัน”  

แต่ภาพที่ชัดเจนถึง วิญญาณชั่วที่ครอบงำผู้นำทั้งในมุมมอง วิธีคิด การตัดสินใจ และพฤติกรรมที่แสดงออกอย่างชัดเจน ตามที่ ทับทิม พญาไท เขียนไว้คือ... 

“แต่ที่น่าเกลียด น่าทุเรศ ยิ่งไปกว่านั้น...คือขณะที่บริษัทผลิต “วัคซีน” ในเยอรมนี อย่างบริษัท “CureVac” ทำท่าว่าอาจประดิษฐ์คิดค้นวัคซีนที่สามารถช่วยป้องกันมวลมนุษย์ทั้งหลายจากเชื้อ “COVID-19” ได้อีกไม่นาน-ไม่ช้า ถ้าว่ากันตามรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์เยอรมนี “Die Welt” เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า...

ประธานาธิบดีอเมริกันพยายามที่จะเสนอเงินตอบแทนนับพัน ๆ ล้านดอลลาร์ เพื่อให้บริษัทดังกล่าวย้ายไปอยู่ในอเมริกา หรือเพื่อให้ประเทศอเมริกาเป็นเพียงประเทศเดียวที่มีสิทธิใช้วัคซีนชนิดนี้ นี่...เอาไป-เอามา อะไรมันจะหนักซะยิ่งกว่า “ไอ้โรคจิต” ที่พยายามเอาสารคัดหลั่งของตัวเอง มาป้ายไว้ตามลิฟต์ อะไรประมาณนั้น เรียกว่า...ไม่เพียงแต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส “COVID-19”

คราวนี้ จะสะท้อนถึงความเห็นแก่ได้ เห็นแก่ตัวของรัฐบาลอเมริกัน ที่น่าเกลียด น่าทุเรศเอามาก ๆ ยังสะท้อนให้เห็นถึงอาการโรคจิต อาการมุ่งร้ายหมายขวัญต่อผู้อื่น หรือผู้ที่ตัวเองจงเกลียดจงชัง โดยไม่คำนึงถึงความเป็นมนุษย์ ความเป็นเพื่อนร่วมโลก ร่วมวัฏสังสารเอาเลยแม้แต่น้อย...”

น่ากลัวมากนะครับ... เมื่อวิญญาณชั่วครอบงำชีวิตจิตวิญญาณของใครก็รู้ได้ด้วยอาการที่แสดงออกชัดเจนอย่างนี้แหละท่าน!

อ่านบทความของ ทับทิม พญาไท ฉบับเต็มได้ที่  https://mgronline.com/daily/detail/9630000028963

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



25 มีนาคม 2563

ครอบครัวในภาวะที่สั่นคลอนหวั่นไหว

ในไม่กี่วันที่ผ่านมา   สังคมประเทศไทยเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากและรวดเร็วเมื่อต้องตกอยู่ในภาวะที่ไม่แน่นอน หวั่นไหว ต้องรับมือกับภัยอันตรายที่เรามองด้วยตาเปล่าไม่เห็น   และก็มีประสบการณ์ที่จะใช้ในการรับมือที่จำกัดและยากลำบาก   เราหลายคนคงไม่เคยคิดมาก่อนว่า   ครอบครัวคือปราการด่านสำคัญที่ใช้ในการป้องกันการรับเชื่อไวรัส โควิด-19  ซึ่งที่ผ่านมาครอบครัวมีความสำคัญน้อยลงมากในสายตามุมมองของหลายต่อหลายคนในปัจจุบัน

แต่วันนี้  เราต้องเก็บกักตนเองอยู่ด้วยกันในครอบครัว   ผมว่า มันก็ดีกว่าที่เราต้องเก็บกักตัวเองในหอพักโดดเดียวตัวคนเดียวยาวนานไม่น้อยกว่าครึ่งเดือน   เมื่อมีโอกาสพูดคุย สนทนากันทั้งทางโทรศัพท์  เฟสบุ๊ค  ไลน์ ฯลฯ  มีคำถามคล้ายๆกันว่า...

ต้องอยู่ในบ้านด้วยกันตั้งครึ่งเดือน  แล้วเราจะทำอะไรดี?  

แล้วภาพและบริบทของแต่ละครอบครัวก็ไม่เหมือนกัน   ดังนั้น  ความคิดที่จะทำอะไรด้วยกันที่คงต้องเลือกแตกต่างกันไปให้เหมาะสมสำหรับแต่ละครอบครัว   บางครอบครัวมีลูก  และยังขึ้นอยู่กับว่าลูกอยู่ในวัยไหน   บางครอบครัวเหลือพ่อแม่สูงอายุอยู่กันสองตายาย   และบางบ้านอยู่ตัวโดดเดี่ยวคนเดียว

จุดประสงค์ของข้อเขียนนี้   ต้องการเชิญชวนให้เรามาช่วยกันระดมประสบการณ์ ความคิด  ทบทวนว่า   ในภาวะเช่นนี้ เราจะทำอะไร  อย่างไร  เมื่อใดและทำไปทำไม  เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนแบ่งปันความคิดเห็นเชิงปฏิบัติได้ด้วยกัน   ที่จะพลิกจาก “ความรู้สึกที่เบื่อหน่าย”  “ความรู้สึกที่เครียด กลัว ไม่มั่นคง”   ให้เป็นเวลาของการทบทวนและการค้นพบคุณค่าและความหมายของชีวิตในภาวะที่สั่นคลอน หวั่นไหว เบื่อหน่าย....

ผมขอเริ่มต้นลองขยับเสนอความคิดเชิงปฏิบัติสักสี่ซ้าห้าประการก่อน   และหวังว่าจะได้รับข้อเสนอที่ดีดีจากท่านผู้อ่านหลายๆท่านนะครับ

1.  พูดคุยกันในครอบครัว

เมื่อวิกฤติที่เราต้องเก็บกักตัวให้อยู่แต่ในบ้านในครอบครัว   เราสามารถใช้เวลาที่อยู่ด้วยกัน(แม้ถูกบังคับให้ต้องอยู่ด้วยกัน)ในการพูดคุยสนทนากัน   ชวนกับทบทวนถึงประสบการณ์ในอดีต  พูดคุยถึงชีวิตที่ผ่านมา   ที่มีทั้งประสบการณ์ของความกลัว กังวล ทุกข์ใจ   แต่หลายครั้งที่เราพบกับความชื่นชมยินดี   ในภาวะเหล่านี้เราแต่ละคนทำเช่นไร   และเกิดผลอย่างไร   แล้วอาจจะวกเข้ามาในสถานการณ์ตอนนี้ที่เราต้องอยู่บ้านด้วยกัน  เราแต่ละคนคิดอย่างไร  รู้สึกอย่างไร  แต่ละคนคิดว่าเราน่าจะใช้เวลาที่เราอยู่ด้วยกันนี้ในการทำอะไร   อย่างไร  เพื่ออะไรอะไรคือสิ่งดีดีที่จะเกิดขึ้นจากการที่เราต้องอยู่ด้วยกันในช่วงนี้?

มีข้อพระคัมภีร์บางตอนที่อาจจะใช้อ่าน ใคร่ครวญ ทั้งส่วนตัวและด้วยกันในครอบครัว   สดุดี 46:1 และ 56:3, ฟิลิปปี 4:6-7, สุภาษิต 5:5-6, มัทธิว 6:31-33, อิสยาห์ 26:3, สดุดี 37:25, เอเฟซัส 6:10-19.

2.  อธิษฐานด้วยกันในครอบครัว

ในเวลาที่มีความรู้สึกวิตก กังวล  สั่นคลอน  หวั่นไหว  เบื่อหน่าย...  ให้เราอธิษฐาน  ซึ่งอาจจะอธิษฐานเป็นการส่วนตัว  และอธิษฐานด้วยกัน   ในเวลานี้เราควรช่วยให้แต่ละคนเห็นชัดถึงความเชื่อของเรามากกว่าความกังวลห่วงกลัวเท่านั้น   และความเชื่อจะทำให้เรามีความมั่นคงไม่สั่นคลอนในชีวิตอย่างไร   คริสต์ชนทุกคนได้รับการทรงเรียกให้อธิษฐานอย่างไม่ย่อท้ออ่อนละอาใจ  และ หยุดหย่อน  อย่างเนื้อเพลงไทยนมัสการบทที่ 148  “เมื่ออธิษฐานนมัสการ”  ตอนช่วงท้ายของข้อที่หนึ่งมีเนื้อเพลงว่า  “ถ้าถูกข่มเหงหรือมีโศกทุกข์   จิตใจบรรเทาได้รับความสุข   ถ้าถูกทดลองจิตใจทุกข์ร้อน   จะได้บรรเทาเมื่อเฝ้าอ้อนวอน”

3.   ทำพันธกิจด้วยกันเป็นครอบครัว

ในช่วงที่อยู่ในบ้านในครอบครัวด้วยกัน  เราต้องไม่ลืมที่จะอธิษฐานเผื่อคนอื่นด้วย   โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่กำลังได้รับความทุกข์มากมายในสถานการณ์เช่นนี้   และเมื่อเราอธิษฐานด้วยกัน   เราอาจจะร่วมกันเยี่ยมเยียนเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงที่เราอธิษฐานเผื่อ   ผู้สูงอายุที่อยู่โดดเดี่ยว  แม่หม้าย ลูกกำพร้า   คนที่กำลังตกในความตระหนกกลัว  

ถ้าการไปเยี่ยมด้วยตัวของเราไม่สะดวก หรือ ไม่เหมาะสม   เราอาจจะเยี่ยมผ่านทางโทรศัพท์  ทางไลน์ หรือ ทางเฟสบุ๊ค หรือ ทางอีเมล์   ด้วยการถามไถ่  สนทนาให้กำลังใจ  อธิษฐานเผื่อ  อธิษฐานด้วยกัน  ซึ่งการทำพันธกิจเช่นนี้จะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและความหมายสำหรับคนที่เราเยี่ยมเยียน และ สมาชิกในครอบครัวของเราด้วย  
แต่ถ้าเป็นการเยี่ยมผู้สูงอายุ หรือ คนที่อ่านได้ลำบาก  ให้ทำเป็นคำสนทนา หรือ คำอธิษฐานที่เป็น ไฟล์เสียง  เช่น “วอยซ์ไฟล์” “วอยซ์เมล์” ในไลน์  ในเฟสบุ๊ค เพื่อให้ผู้รับเปิดฟังแทนการอ่าน

4.   ให้เราวางใจในพระเจ้าร่วมกัน

พระวจนะของพระเจ้าบอกเราในเวลาที่หวาดหวั่นสั่นคลอนว่า   “...พระเจ้าไม่ได้ประทานใจที่ขลาดกลัวแก่เรา แต่ประทานใจที่ประกอบด้วยฤทธานุภาพ ความรัก และการบังคับตนเองแก่เรา” (2ทิโมธี 1:7 มตฐ.)   ในฐานะที่เป็นคริสต์ชน หรือ สาวกของพระเยซูคริสต์   ความรู้สึกต่อสถานการณ์ที่น่าหวั่นไหวนี้ควรแตกต่างจากการตอบสนองของคนทั่วไป   เพราะเราเชื่อมั่น  เรามีความหวังในพระเจ้าของเรา  และพระวิญญาณของพระเจ้าในตัวเราจะหนุนเสริมให้เรามีจิตใจที่เข้มแข็ง มั่นคง  ด้วยความรักเมตตา  และมีชีวิตที่มีวินัยตามพระประสงค์ของพระเจ้า

5.   เติบโตเข้มแข็งด้วยกันในครอบครัว

ในเวลาที่สั่นคลอนหวั่นไหวเช่นนี้เป็นสภาวะแวดล้อมอันอุดมสมบูรณ์สำหรับการเติบโตขึ้นในชีวิตจิตวิญญาณของเราร่วมกัน   ลูกๆเรียนจากแบบอย่างชีวิตของพ่อแม่และผู้ใหญ่ในครอบครัว   ดังนั้น ในเวลาเช่นนี้ขอพ่อแม่และผู้ใหญ่ในครอบครัวมีชีวิตที่เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกหลาน   เพื่อเขาจะเรียนรู้ว่าเขาควรจะรับมือกับภาวะสั่นคลอนหวั่นไหวในชีวิตด้วยท่าทีเช่นไรในฐานคริสต์ชน   เขาจะมีความเชื่อ ความไว้วางใจในพระเจ้าด้วยการมีชีวิตที่ติดสนิทกับพระองค์ในทุกสถานการณ์   และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือแบบอย่างชีวิตในการใช้เวลาอย่างมีปัญญา   ไม่ใช้เวลากับความบันเทิงทางโทรทัศน์  แต่ใช้เวลาในการอ่าน  ในการเล่นด้วยกัน  และใช้เวลาในการรับใช้กันและกันในครอบครัว

ให้เราหันความเชื่อ ความหวังกลับไปหาองค์พระผู้เป็นเจ้าที่เราไว้วางใจได้อย่างมั่นคง  และในเวลาเช่นนี้จะช่วยให้ลูกหลานของเรารู้และมีความใกล้ชิดสนิทกับองค์พระผู้เป็นเจ้ามากยิ่งขึ้น

“แต่ว่าในเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ เรามีชัยเหลือล้นโดยพระองค์ผู้ทรงรักเราทั้งหลาย  เพราะข้าพเจ้าแน่ใจว่า แม้ความตาย หรือชีวิต หรือบรรดาทูตสวรรค์ หรือเทพเจ้า หรือสิ่งซึ่งมีอยู่ในปัจจุบันนี้ หรือสิ่งซึ่งจะมีในภายหน้า หรือฤทธิ์เดชทั้งหลาย   หรือซึ่งสูง หรือซึ่งลึก หรือสิ่งใดๆ อื่นที่ได้ทรงสร้างแล้วนั้น จะไม่สามารถทำให้เราขาดจากความรักของพระเจ้า ซึ่งมีอยู่ในพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราได้” (โรม 8:37-39 มตฐ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


22 มีนาคม 2563

เป็นหนึ่งเดียวกันในความทุกข์

สำหรับคริสตชนแล้ว การที่เราต้องทุกข์ยาก เจ็บปวด หวั่นไหว ตระหนกกลัว เรามิได้ตกอยู่ในภาวะที่ทนทุกข์เช่นนี้เพียงโดดเดี่ยวคนเดียว แต่เรากำลังเผชิญหน้าและร่วมในความทุกข์ยากกับมนุษยชาติในขณะนี้ด้วยกัน ยิ่งกว่านั้น   พระคริสต์ที่อยู่ในชีวิตของเราก็กำลังทนทุกข์ยากนี้ร่วมกับพวกเราด้วยเช่นกัน

เราเข้าใจ “กางเขน” อย่างไร? บ่อยครั้งนักที่เรามองกางเขนด้วยจิตใจที่หดหู่ที่ต้องทนทุกข์และต้องพบกับความเจ็บปวดและความตาย แต่สำหรับคริสตชนแล้วเมื่อเรามุ่งมองที่กางเขนเรามองทะลุไปให้เห็น “การเป็นขึ้นใหม่จากความตาย”

ดังนั้น ในฐานะสาวกของพระคริสต์อย่าให้เราหลบเลี่ยงหลีกหนีจากการถูกตรึงที่กางเขน กางเขนคือ “ครู” ของเรา   ให้เรายอมตนอย่างเต็มใจที่จะถูกตรึงบนกางเขนนั้นในช่วงเวลาหนึ่ง เพราะบนกางเขนนั้นเรามิได้สูญเสียชีวิต แต่เราจะได้รับชีวิตใหม่ที่เป็นชีวิตที่มีคุณภาพยิ่งกว่าเดิม และนี่คือเส้นทางที่คริสตชนจะต้องเดินและเดินอย่างพระคริสต์ไปด้วยกันกับพระองค์

เวลานี้คือช่วงเวลาที่เราจะต้องร่วมในความทุกข์ยาก เจ็บปวด ในการให้ชีวิตร่วมกัน และนี่เป็นหนทางเดียวที่จะนำเราไปสู่การมีชีวิตใหม่ ชีวิตที่เป็นขึ้นจากความตายที่พระคริสต์ได้ประสบพบเจอมาแล้ว และนี่คือเส้นทางชีวิตจากเบ็ธเลเฮ็ม สู่ โกละโกธา จากรางหญ้าสู่กางเขน

ในความเจ็บปวด ทุกข์ยาก และการสูญเสียในภาวะแพร่ระบาดและการคุกคามของไวรัสโควิด 19 เป้าหมายปลายทางที่เรามุ่งมองไปไม่ใช่ใครคือต้นเหตุ ใครเป็นคนแพร่เชื้อ รัฐบาลไหนที่บริหารล้มเหลว และก็มิใช่เวลาที่เราจะหาทางฉกฉวยแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง การยึดครองอำนาจทางเศรษฐกิจ  ฯลฯ

แต่ในเวลาวิกฤติชีวิตเช่นนี้คือเวลาที่เราจะต้องร่วมกันในการทนทุกข์ ร่วมกันในการให้ชีวิต ร่วมกันในการยอมพลีชีวิต เพื่อที่มนุษยชาติจะได้ชีวิตใหม่ร่วมกัน และโอกาสในการเริ่มต้นใหม่อีกครั้งหนึ่งด้วยกัน โอกาสใหม่ที่จะมีชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุขเป็นหนึ่งเดียวกัน

พระคริสต์ได้ทนทุกข์ในชีวิตของเรา ให้เรามีส่วนร่วมในการแบกกางเขนกับพระองค์ในชีวิตประจำวันของเรา แม้ว่าความทุกข์ที่เราร่วมแบกไปกับพระองค์และคนอีกมากมายจะเป็นการแบกความทุกข์ยากลำบากที่ไม่เป็นธรรมในชีวิตสำหรับเราก็ตาม เพราะกางเขนที่พระคริสต์ต้องแบกไปสู่โกละโกธาก็เป็นความทุกข์ ความเจ็บปวด และความตายที่ไม่ยุติธรรม และถ้าเราที่เป็นสาวกของพระองค์จะร่วมในความทุกข์ยากดังกล่าว เราก็ต้องยอมแบกความทุกข์ยากลำบากที่ไม่เป็นธรรมด้วยเช่นกัน

พระคริสต์ที่ทนทุกข์และให้ชีวิตของพระองค์แก่เรา พระองค์ก็ทนทุกข์และให้ชีวิตแก่คนอื่น ๆ ด้วย การทนทุกข์ร่วมกับพระคริสต์และคนอื่น ๆ จึงมิใช่เพื่อความยุติธรรม แต่เพื่อให้ได้ชีวิตใหม่ ที่ได้มาเหนือความถูกผิดตามตรรกะมนุษย์เราเท่านั้น แต่ด้วยความรักเมตตาที่ให้ชีวิตแบบพระคริสต์ต่างหากที่จะได้มาซึ่งชีวิตใหม่ สังคมใหม่ และแผ่นดินโลกใหม่

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


19 มีนาคม 2563

ภัยคุกคามของไวรัสโคโลน่า 19

ไม่ทำให้คริสตจักรเข้าถึงชุมชนโดยอัตโนมัติ  

ในภาวะวิกฤติไวรัสโคโลน่า 19 ที่ระบาดอย่างรุนแรงไปทั่วโลกทั้งใบในวันนี้ หลายคนพูดว่า พระเจ้าจะใช้วิกฤตินี้ทำให้คริสตจักรท้องถิ่นทำตามพระมหาบัญชามากขึ้น แต่ผมกลับเห็นตรงกันข้ามครับ สถานการณ์คับขันมิได้ช่วยให้คริสตจักรเกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตจิตวิญญาณโดยอัตโนมัติได้ ที่กล่าวเช่นนี้ขอตั้งข้อสังเกตบางประการดังนี้

1. หลายคริสตจักรที่ไม่รู้ตัวหรอกว่าก่อนที่จะเกิดภัยคุกคามจากโรคไวรัสโคโลน่า 19 คริสตจักรของตนสนใจแต่พันธกิจชีวิตภายในคริสตจักร...เพราะที่ผ่านมาคริสตจักรขาดการทบทวนและประเมินตนเอง แต่มักเข้าใจว่าคริสตจักรของตนทำตามพระมหาบัญชาของพระคริสต์ เพราะมีชั้นเรียนสอนถึงพระคัมภีร์ในระดับต่าง ๆ และมีการนมัสการพระเจ้าในวันอาทิตย์อย่างพร้อมเพียง

2. ภัยคุกคามจากโรคไวรัสโคโลน่า 19 จะไม่ช่วยหรือทำให้คริสตจักรที่สนใจแต่ตนเองเปลี่ยนไปเป็นคริสตจักรที่ใส่ใจชุมชนนอกคริสตจักรโดยอัตโนมัติ คริสตจักรที่สนใจแต่ชีวิตในคริสตจักรของตนเองเป็นคริสตจักรไม่สนใจชีวิต ความสัมพันธ์ และ การเข้าถึงผู้คนในชุมชน เมื่อเกิดภัยคุกคามจากไวรัสโคโลน่า 19 ยิ่งทำให้พวกเขาคิดถึงความปลอดภัยของตนเองมากขึ้น และผู้นำคริสตจักรมักกังวลว่า จะมีสมาชิกมาร่วมนมัสการอาทิตย์นี้สักกี่คน เงินถวายจากสมาชิกจะลดฮวบลงหรือไม่? กลายเป็นคริสตจักรที่ห่วงกังวลแต่ตนเอง เป็นคริสตจักรที่เห็นแก่ตัวมากขึ้น

3. คริสตจักรส่วนใหญ่ที่เป็นคริสตจักรที่สนใจแต่พันธกิจชีวิตในคริสตจักรในภาวะที่ถูกคุกคามจากภัยพิบัติโรคไวรัสโคโลน่า 19 จะมุ่งเน้นแต่ที่จะทำอย่างไรที่จะปกป้องตนเองจากการไปสัมผัสรับเชื้อ ไวรัสโคโรน่า 19 จากคนอื่น (มักไม่คิดถึงคนอื่นที่อาจจะต้องถูกเชื้อโรคตัวนี้คุกคาม โดยเฉพาะคนนอกคริสตจักรที่อยู่ในสังคมชุมชน) ดังนั้น  สมมติ ฐานว่าภัยคุกคามของไวรัสโคโลน่า 19 จะกระตุ้นให้คริสตจักรที่ไม่เคยเข้าถึงคนในชุมชนจะเกิดความสนใจและหันหน้าเข้าถึงชุมชนจึงเป็นข้อสมมติฐานที่ไกลจากความเป็นจริง หรือมองโลกสวยเกินจริงหรือเปล่า?

4. ผู้นำคริสตจักรบางคนเลือกที่จะตัดสินใจบนรากฐานอุดมการณ์ทางการเมือง หรือ การตัดสินใจตามความชอบส่วนตัว ผลประโยชน์ส่วนตน หรือ ตามกลุ่มตามพวกตามพรรคพวกตนเอง มากกว่าที่จะตัดสินใจด้วยความรักเมตตาที่เสียสละแก่คนอื่นรอบข้างรวมทั้งคนในชุมชนด้วย ในวิกฤติกาลนี้สิ่งที่คริสตจักรจะต้องใส่ใจคือชีวิตการเป็นสาวกพระคริสต์ของตนเองสอดคล้องกับคำสอนและรูปแบบการดำเนินชีวิตแบบพระคริสต์หรือไม่ และถ้าเราตัดสินใจที่จะมีชีวิตเยี่ยงพระองค์เราจะต้องเริ่มต้นทำอย่างไรบ้าง?

5. ยิ่งภาวะคุกคามจากไวรัสโคโลน่า 19 ยาวนานออกไปอีกมากแค่ไหน อาจจะมีผลทำให้เกิดอาการความสนใจแต่ตนเอง หรือ “เห็นแก่ตัว” มากยิ่งขึ้นในคริสตจักรและคริสตชนที่สนใจแต่พันธกิจชีวิตในคริสตจักร เพราะคริสตจักรประเภทนี้มีฐานเชื่อกรอบคิดว่า จะทำอย่างไรที่ตน คริสตจักรของตนจะอยู่รอดปลอดภัยในภัยพิบัติสุขภาพครั้งนี้   มิได้มีฐานเชื่อกรอบคิดแบบพระคริสต์ที่มีชีวิตเพื่อ “ให้ชีวิต” เพื่อชุมชนคนรอบข้างจะอยู่รอดปลอดภัยด้วยความรักเมตตาที่เสียสละชีวิตของตนเพื่อคนอื่น

6. คำถามที่ถามในที่นี้เป็นคำถามเกี่ยวกับชีวิตจิตวิญญาณภายในของเรา ที่มีผลกระทบจากการที่คริสตจักรของเราวุ่นอยู่กับการทำพันธกิจชีวิตในรั้วคริสตจักร โดยละเลยใส่ใจต่อพี่น้องของเราที่อยู่ในชุมชนรอบข้างที่อยู่นอกคริสตจักร

ถ้าอย่างนั้น เราจะทำอะไรในภาวะเช่นนี้ ผมเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงในชีวิตของคริสต์ชน และ คริสตจักรในภาวะวิกฤติคับขันจะเกิดขึ้นได้ คริสตจักรต้องมุ่งมั่นตั้งใจ “รับการเปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างจากพระคริสต์” และตัดสินใจถวายชีวิตที่จะกระทำตามพระประสงค์ของพระคริสต์ตามพระมหาบัญชาของพระองค์ มีข้อเสนอบางประการดังนี้
  • ขอเริ่มต้นอธิษฐาน และอธิษฐานเป็นประจำว่า พระเจ้าจะใช้สถานการณ์นี้ที่จะเปลี่ยนชีวิตของเรา คริสตจักรของเราที่สนใจแต่ตนเอง ให้ชัดเจนถึงพระประสงค์ที่ต้องการให้คริสตจักรและสมาชิกทุกคนของพระองค์หันหน้าเข้าถึงชีวิตของผู้คนในชุมชนรอบข้างคริสตจักรและชีวิตของคริสต์ชนในพระนามพระเยซูคริสต์
  • ใช้สถานการณ์นี้ที่จะเข้าถึงและเสริมสร้างสัมพันธ์กับพี่น้องในชุมชน พยายามที่จะหาทางเข้าถึงคนในชุมชนมากกว่าการจัดกิจกรรมเพื่อดึงดูดคนในชุมชนเข้ามาร่วมในคริสตจักรของเรา พึงตระหนักว่า การสร้างเสริมสัมพันธ์และความผูกพันสำคัญกว่าที่คนในชุมชนมาร่วมกิจกรรมในคริสตจักร
  • ให้คริสตชนและคริสตจักรมองให้เห็นถึงพระราชกิจที่พระเยซูคริสต์ที่กำลังกระทำในชุมชนรอบข้างคริสตจักร และ อธิษฐานร่วมกันเพื่อขอเข้าร่วมในพระราชกิจที่พระองค์กำลังกระทำในชุมชน และขอพระองค์ทำพระราชกิจของพระองค์ในคริสตจักร ในชีวิตของเราแต่ละคน เพื่อคริสตจักรจะสามารถตอบสนองต่อพระประสงค์ของพระองค์ในภาวะวิกฤตินี้ได้
  • เริ่มเตรียมความพร้อมภายในคริสตจักรของเรา ทั้งความพร้อมของสมาชิกแต่ละคนในการอ้าแขนรับผู้คนในชุมชนอย่างไม่มีเงื่อนไขแบบพระคริสต์ เตรียมอาคารสถานที่ และวัสดุอุปกรณ์ที่คริสตจักรมี เพื่อทำให้คริสตจักรคือพื้นที่ปลอดภัย และ พื้นที่ของความเป็นมิตรสำหรับทุกคน พื้นที่ของการรับใช้ด้วยชีวิต เป็นพื้นที่ที่ทุกคนเข้ามาแล้วได้รับพระพรในชีวิตประจำวัน


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


17 มีนาคม 2563

ประโยชน์ที่ได้จากการทำประวัติศาสตร์คริสตจักรท้องถิ่น

สภาคริสตจักรในประเทศไทย มีหน่วยงานประวัติศาสตร์คริสตจักรไทย และ ในหน่วยงานนี้ส่งเสริมการขุดค้นเสาะหาประวัติศาสตร์ของคริสตจักรท้องถิ่นด้วยกระบวนการการค้นหาความเป็นมาของคริสตจักรท้องถิ่นจากคำบอกเล่า เป็นงานหนึ่งที่มีความสำคัญ มีคุณค่า และคริสตชนควรให้ความสนใจอย่างมาก

แต่มีผู้ถามว่า ทำไมเราถึงต้องสืบเสาะค้นหาประวัติศาสตร์ของคริสตจักรท้องถิ่น?

ในการศึกษา เสาะหา และประมวลเรียบเรียงประวัติศาสตร์ของคริสตจักรท้องถิ่นแต่ละแห่ง นอกจากจะศึกษาความเป็นมาของคริสตจักรแล้ว สิ่งหนึ่งที่เราต้องศึกษาควบคู่ขนานไปพร้อม ๆ กับความเป็นมาของประวัติศาสตร์ของชุมชนสังคมที่คริสตจักรนั้น ๆ ตั้งอยู่ จึงทำให้เรารู้จักความเป็นมา และ อัตลักษณ์ของชุมชนนั้น ๆ และยังรู้ถึงความสัมพันธ์และผลกระทบที่มีต่อกันและกันระหว่างคริสตจักรกับชุมชนว่ามีอะไร และ เป็นอย่างไรบ้าง

โดยภาพรวมภาพใหญ่แล้ว สิ่งดีมีประโยชน์ที่เราจะได้จากการศึกษาค้นหาถึงประวัติศาสตร์ของคริสตจักรท้องถิ่น มีดังนี้

1. ช่วยให้เรารู้จัก และ เข้าใจคริสตจักรของเราดียิ่งขึ้น  

กล่าวคือช่วยให้เรารู้ว่า... คริสตจักรแห่งนี้เริ่มต้นอย่างไร? ใคร หรือ คนกลุ่มไหนที่มาตั้งรกรากในชุมชนแห่งนี้แล้วเข้ามารวมตัวกันเป็นคริสตจักร? ส่วนมากมารวมตัวกันในช่วงเวลาใด? มีสาเหตุอะไรที่ทำให้เกิดการตั้งคริสตจักรแห่งนี้ขึ้น? มีสถานการณ์อะไรหรือที่ทำให้คริสตจักรเติบโตขึ้น หรือ อ่อนแอลดน้อยถอยลง?

2. ช่วยให้เราเข้าใจวัฒนธรรมคริสตจักรของเราดียิ่งขึ้น

ประชาชนกลุ่มไหนที่เข้าร่วมก่อตั้งชุมชนคริสตจักรแห่งนี้? คนกลุ่มนี้มีประเพณี วัฒนธรรม จุดแข็ง และจุดอ่อนที่พวกเขานำเข้ามาในชุมชนคริสตจักรในเวลานั้นอะไรบ้าง? ชุมชนมองกลุ่มคนที่เข้ามาตั้งคริสตจักรในชุมชนอย่างไร? ทำไมเขาถึงถูกมองเช่นนั้น? แล้วคริสตจักรมีปฏิกิริยาต่อทัศนะของชุมชนที่มีต่อพวกเขาอย่างไร? และมีผลกระทบต่อชีวิตชุมชนคริสตจักรอย่างไรบ้างในเวลานั้น? แล้วคริสตจักรมีการปรับตัว หรือ ปรับความสัมพันธ์กับชุมชนเช่นไร? เมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบันนี้ความสัมพันธ์ระหว่างคริสตจักรและชุมชนเปลี่ยนแปลงแตกต่างจากเดิมในอดีตหรือไม่ เช่นไร? อะไรที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ดังกล่าว? อะไรที่เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และ วัฒนธรรม(วิถีชีวิต)ในเวลานั้นของชุมชน และ ของคนในคริสตจักร? มีอะไรที่เหมือน และ แตกต่างกันอย่างไรบ้าง?

3. ช่วยให้เราเข้าใจคริสตจักรอื่น ๆ ที่อยู่ในบริเวณไม่ห่างไกลจากเรา

คริสตจักรแห่งนั้น ๆ (ที่อยู่ใกล้เคียงกับคริสตจักรของเรา) เกิดการรวมตัวจากกลุ่มชนไหน? เกิดขึ้นได้อย่างไร? คริสต์ศาสนศาสตร์สายไหนที่บ่มเพาะหล่อหลอมชีวิตของคริสตจักรแห่งนั้น ๆ ? เหมือนหรือแตกต่างจากคริสตจักรของเราหรือไม่อย่างไร? คริสตจักรแห่งนั้นได้ทำพันธกิจด้านไหนบ้างในชุมชน? (เช่น พันธกิจด้านการศึกษา พันธกิจด้านการดูแลสุขภาพ การบริการชุมชน พันธกิจด้านเศรษฐกิจคนในชุมชน และ ฯลฯ) แล้วทำไมคริสตจักรถึงก่อตั้งพันธกิจบริการเหล่านั้นขึ้น? ที่ผ่านมาคริสตจักรของเรากับคริสตจักรแห่งนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไรบ้าง?   ปัจจุบันมีความสัมพันธ์กันอย่างไรบ้าง?

4. ช่วยให้เรารู้จักเพื่อนบ้านของเรา

คริสตจักรของเราเข้ามาตั้งในชุมชนเมื่อมีชุมชนแล้ว หรือ คริสตจักรของเราคือผู้เริ่มก่อตั้งชุมชน? ชุมชนแห่งนี้เกิดขึ้นมาอย่างไร? ใครเป็นคนกลุ่มแรกที่เข้ามาจับจองก่อตั้งสร้างชุมชน? เป็นใครและมาจากที่ไหน? ทำไมเขาถึงเลือกมาตั้งชุมชนใหม่ในหมู่บ้านนี้? คนชุมชนในอดีตมีความคิด ความรู้สึก และ มุมมองเช่นไรต่อคริสตจักรของเรา?   ปัจจุบันนี้ ความคิด ความรู้สึก และ มุมมองของชุมชนต่อคริสตจักรเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่อย่างไร? ทำไมถึงเปลี่ยนแปลง หรือ ไม่เปลี่ยนแปลง?

ในอดีตที่ผ่านมาคริสตจักรมองชุมชนอย่างมีอคติในด้านไหนบ้าง? และ ชุมชนมองด้วยมุมมองอคติที่มีต่อคนในคริสตจักรในเรื่องอะไรบ้าง? มีผลกระทบต่อคริสตจักรหรือไม่อย่างไร? แล้วคริสตจักรมีท่าทีต่อชุมชนอย่างไร?   แล้วชุมชนมีท่าทีต่อคริสตจักรอย่างไร? ทั้งคริสตจักรและชุมชนได้มีการปรับท่าทีและมุมมองที่มีต่อกันหรือไม่อย่างไร? มีสาเหตุอะไรที่ทำให้เกิดการปรับท่าทีใหม่ที่มีต่อกัน? ปัจจุบันนี้คนในคริสตจักร กับ คนในชุมชนมีความสัมพันธ์กันในด้านไหน และ อย่างไรบ้าง

5. เราจะต้องพูดคุยสนทนากับเพื่อนบ้านของเรา

การศึกษาค้นหาประวัติศาสตร์ของคริสตจักรและชุมชนจากคำบอกเล่า มิเพียงแต่การหาข้อมูลทางประวัติศาสตร์จากคนในคริสตจักรเท่านั้น แต่เราต้องเสาะหาศึกษาจากผู้คนในชุมชนด้วย ดังนั้น การค้นหาประวัติศาสตร์คริสตจักรท้องถิ่นและชุมชนจึงเป็นโอกาสของการสื่อสารสัมพันธ์ระหว่างคริสตจักร และ ชุมชน นอกจากจะเป็นการเรียนรู้จากกันและกันมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังเป็นโอกาสที่จะเสริมสร้างความเข้าใจและการยอมรับกันและกันดียิ่งขึ้นด้วย   อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเสริมสร้างความสัมพันธ์ของบางคริสตจักรที่มีต่อคนในชุมชน 

6. เพื่อเราจะได้รับการเสริมสร้างให้เข้าไปมีส่วนร่วมในพระราชกิจขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่กำลังทรงกระทำในชุมชนขณะนี้ และ ในช่วงเวลาต่อไป

คริสตชนเชื่อว่า พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในกระบวนเหตุการณ์ชีวิตของมนุษยชาติ รวมถึงชีวิตชุมชนที่คริสตจักรท้องถิ่นของเราตั้งอยู่ด้วย การศึกษาถึงประวัติความเป็นมาของคริสตจักร และ ชุมชนตั้งแต่ในอดีต และกระบวนการคลี่คลายของประวัติศาสตร์ของคริสตจักรและชุมชนที่คริสตจักรตั้งอยู่ ทำให้เราได้เห็นพระราชกิจของพระเจ้าที่ทรงกระทำทั้งในชุมชนนี้และในคริสตจักรของเรา ยิ่งกว่านั้น ช่วยให้เราเข้าใจและสามารถเห็นถึงพระราชกิจของพระเจ้าที่ทรงกระทำอยู่ในปัจจุบันนี้ทั้งในชุมชนและในคริสตจักร ช่วยให้สมาชิกในคริสตจักรของเรามีโอกาสตัดสินใจเข้าร่วมในพระราชของพระเจ้าที่กำลังกระทำในชุมชน ซึ่งเป็นการทรงเรียกจากพระเยซูคริสต์ที่มีต่อสมาชิกในคริสตจักรแต่ละคนให้เข้าร่วมและสานงานพันธกิจต่อจากพระราชกิจของพระองค์ตามพระมหาบัญชา

ดังนั้น การทำประวัติศาสตร์คริสตจักรท้องถิ่นจึงมิใช่การทำประวัติศาสตร์คริสตจักรท้องถิ่นเท่านั้น แต่เป็นการเรียนรู้ถึงชุมชนที่คริสตจักรตั้งอยู่ ตลอดถึงความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและคริสตจักร และวัฒนธรรมของคริสตจักรแห่งนั้น ๆ ซึ่งเป็นความเข้าใจรากฐานของการทำพันธกิจชุมชนของคริสตจักรตามพระมหาบัญชาของพระคริสต์ 

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมิได้มีไว้สำหรับการเก็บสะสม การเก็บบนหิ้ง หรือเอาไว้อวดคริสตจักรอื่น แต่เราจะใช้ประโยชน์อะไรบ้างสำหรับการทำพันธกิจชีวิตคริสตจักรและชุมชนของเรา และเพื่อที่เราจะรู้เท่าทันตนเอง และ  ช่วยเรามีชีวิตที่ตอบสนองพระประสงค์ของพระเจ้าได้ดียิ่งขึ้น

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499