04 มีนาคม 2563

ความขัดแย้งที่สร้างสรรค์ในงานพันธกิจ

เราจะใช้ความต่าง(ความพิเศษ) ที่มีในแต่ละคนให้ก่อเกิดความขัดแย้งกันหรือ ใช้ความต่างดังกล่าว เพื่อหนุนเสริมกันและกันในการทำงานพันธกิจที่พระคริสต์ทรงมอบหมาย?

ไม่ว่า ในคริสตจักร ในองค์กร ในสถาบัน ในพันธกิจใด ๆ ทุกคนในทีมงานต่างประสงค์ที่จะมีโอกาสในการแบ่งปัน  ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ไข ร่วมพัฒนา และร่วมในความสำเร็จ

แต่บ่อยครั้ง และ ในผู้นำหลายคน ในส่วนลึกมักมีความคิด หรือ บางครั้งพูดออกมาว่า “มากคนมากความ” พูดง่าย ๆ คือ ผู้นำพวกนี้คิดว่าการมาคิดร่วมกันมักทำให้เกิดปัญหามากมาย มักนำไปสู่ความขัดแย้งทางความคิด และเกิดความขัดแย้งในการทำงานด้วยกัน ทำให้การบริหารจัดการยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น จึงมักลงเอยด้วยการตัดสินใจในวงผู้เกี่ยวข้องแคบ ๆ ไม่กี่คน แล้วคาดหวังให้ทุกคนต้องทำตาม นี่ก็นำมาซึ่งความขัดแย้งในการทำงานในเวลาต่อมาแน่นอน และย่อมสร้างผลกระทบต่อผลงานที่จะเกิดขึ้น

เราคงต้องยอมรับว่า การทำงานย่อมต้องพบประสบกับ “ความขัดแย้ง” ในทางความคิด การตัดสินใจ และ ในการทำงานตามแผน แต่ในฐานะคริสตจักร ในฐานะคริสตชน ในฐานะองค์กรหน่วยงานคริสตชน เราจะใช้ “ความขัดแย้ง” ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทำงานอย่างมีส่วนร่วมทั้งทีมงานให้เป็น “ความขัดแย้งที่สร้างสรรค์ในงานและพันธกิจ” ได้อย่างไร?

เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ "ความขัดแย้งที่สร้างสรรค์ในงานและพันธกิจ" ในทีมของเรา ในที่นี้ขอเสนอให้เราและเพื่อนร่วมทีมของเรา พิจารณาทำสิ่งต่อไปนี้ครับ

1. เรียกร้องให้ร่วมการวิพากษ์วิจารณ์อย่างจริงจัง  ถึงการกำหนดแผนการการตัดสินใจและข้อสมมติฐานที่เป็นแนวทางในการตัดสินใจ

2. สร้างแบบจำลองการวิพากษ์วิจารณ์ ถึงการแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาณและมีความคิดอย่างซื่อสัตย์และจริงใจและเชิญชวนผู้อื่นให้ทำเช่นเดียวกันกับความคิดและแผนงานดังกล่าว

3. ให้การชื่นชม แก่สมาชิกในกลุ่มที่พูดสิ่งที่ยากแม้ในเวลาที่ไม่สะดวกที่จะพูดสิ่งเหล่านั้น

4. ปลูกฝังบรรทัดฐาน (ความคาดหมายคือ...) “ถ้าใครเห็นบางสิ่ง...ให้พูดออกมา” ขอร้องสมาชิกในกลุ่มทุกคนไม่เก็บงำความนึกคิดที่ตนมีต่อแผนและทิศทางของแผนที่เห็น แม้จะเป็นความคิดของตนเองเท่านั้นก็ตาม แม้ว่าคนอื่นในกลุ่มอาจจะวิจารณ์และมีความคิดเห็นที่ตรงกันข้ามก็ตาม อย่างน้อยความคิดเห็นหรือข้อเสนอของพวกเขาก็สมควรที่จะได้รับการพิจารณา แม้ว่า ในที่สุดข้อเสนอนั้นจะตกไปก็ไม่เป็นไร

5. เอื้อให้สมาชิกกลุ่มรับผิดชอบต่อบรรทัดฐานนั้น หากท่านค้นพบในภายหลังว่ามีคนสามารถให้ "มุมมองที่รอบด้าน และ ครอบคลุมในแง่มุมที่ถี่ถ้วนกว่าที่มีแล้ว" ในประเด็นหนึ่งประเด็นใด แต่ไม่ได้เสนอมุมมองดังกล่าวในกลุ่มทีมงาน ให้เราขอปรึกษากับคน ๆ นั้นในประเด็นดังกล่าวเป็นการส่วนตัวก่อน หลังจากนั้นค่อยนำพูดคุยในประเด็นเหล่านั้นกับทั้งทีมงานทั้งหมด

6. มอบหมายคนหนึ่ง หรือ กลุ่มบุคคลให้ทำหน้าที่ “ในการมองหาช่องโหว่ในการประชุมและการตัดสินใจแต่ละครั้ง” ในการประชุมทุกครั้ง เพื่อค้นหาปัญหา จุดอ่อน ข้อบกพร่อง และ ตรวจสอบการตัดสินใจและแผนของทีมงาน   เพื่อช่วยให้การพิจารณาและตัดสินใจของทีมงานมีความรอบคอบมากยิ่งขึ้น 

บทบาทและความรับผิดชอบนี้ให้หมุนเวียนสับเปลี่ยนกันรับผิดชอบในทีมงาน เพื่อป้องกันมิให้ทีมงานเกิดความไม่พึงพอใจคน ๆ นั้นที่ทำหน้าที่ “จับผิด” หรือ “มองหาช่องโหว่  หรือ มองหาแต่สิ่งไม่ดีของทีมงาน”

7. ร่วมกันแสวงหาจุดที่ควรจะมีการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น หลังการปฏิบัติการทุกครั้ง ให้ทีมงานแต่ละคนระบุถึงประเด็นงานที่ควรมีการแก้ไข และ พัฒนาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น จากนั้นพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นเหล่านั้นทันที หรือถ้าเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาและมีมติก็ให้นำประเด็นนั้นใส่ในวาระการประชุมในครั้งต่อไป

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น