28 พฤศจิกายน 2556

เติบโตเป็นผู้ใหญ่ในพระคริสต์ :(2)

ไม่ใช่เรื่องตัวคุณเองเท่านั้น!

อ่าน เอเฟซัส 4:11-16

11...พระ​องค์​เอง​ประ​ทาน​ให้​บาง​คน​เป็น​อัคร​ทูต
บาง​คน​เป็น​ผู้​เผย​พระ​วจนะ
บาง​คน​เป็น​ผู้​ประกาศ​ข่าว​ประเสริฐ
บาง​คน​เป็น​ศิษยาภิบาล​และ​อา​จารย์   

12 เพื่อ​เตรียม​ธรรมิก​ชน(ประชากรของพระเจ้า) ​สำ​หรับ​การ​ปรนนิบัติ(พันธกิจการรับใช้)​ และ​ การ​เสริม​สร้าง​พระ​กาย​ของ​พระ​คริสต์
13 จนกว่าเราทุกคนจะบรรลุถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในความเชื่อ  และ
ในความรู้ถึงพระบุตรของพระเจ้า
จนกว่าเราจะโตเป็นผู้ใหญ่เต็มที่คือเต็มถึงขนาดความไพบูลย์ของพระคริสต์

14 เพื่อ​เรา​จะ​ไม่​เป็น​เด็ก​อีก​ต่อ​ไป
ถูก​ซัด​ไป​ซัด​มา​และ​พัด​ไป​พัด​มา​ด้วย​ลม​คำ​สั่ง​สอน​ทุก​อย่าง
ด้วย​เล่ห์​กล​ของ​มนุษย์ ตาม​อุบาย​ที่​ฉลาด​ใน​การ​ล่อ​ลวง   
 15 แต่​ให้​เรา​ยึด​ถือ​ความ​จริง​ด้วย​ความ​รัก
เพื่อ​จะ​เจริญ​ขึ้น​ใน​ทุก​ด้าน​สู่​พระ​องค์​ผู้​เป็น​ศีรษะ​คือ​พระ​คริสต์   

16 เนื่อง​จาก​พระ​องค์​นี้​เอง
ร่าง​กาย​ทั้ง​หมด​จึง​ได้​รับ​การ​เชื่อม​และ​ประ​สาน​เข้า​ด้วย​กัน​โดย​ทุกๆ ข้อ​ต่อ​ที่​ประ​ทาน​มา​นั้น
และ​เมื่อ​แต่​ละ​ส่วน​ทำ​งาน​ตาม​หน้าที่​แล้ว ก็​ทำ​ให้​ร่าง​กาย​เจริญ​และ​เสริม​สร้าง​ตน​เอง​ขึ้น
(เอเฟซัส 4:11-16 มตฐ.)  

เมื่อเราพูดถึงการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในพระคริสต์  ส่วนมากเราคิดถึงการเติบโตในชีวิตคริสตียนส่วนตัวของเราที่ควรเติบโตขึ้น   แน่นอนครับ   เป็นสิ่งที่ดีแน่ที่คริสตชนแต่ละคนมีความปรารถนาให้ชีวิตคริสเตียนของตนเองเติบโตขึ้นในพระคริสต์   แต่ถ้าเราอ่านจากพระธรรมเอเฟซัส 4:11-16 อย่างละเอียดรอบคอบเราจะพบสัจจะความจริงว่า   นี่มิใช่การเติบโตขึ้นในพระคริสต์ของเราคนเดียวเท่านั้น   แต่เป็นการเติบโตขึ้นไปด้วยกันของสมาชิกคนอื่นๆ ในชุมชนคริสตจักรด้วย   เป็นการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นในพระคริสต์ในตัวของเราเองและในชุมชนพระกายของพระคริสต์(คือคริสตจักร)ด้วย

ให้เราสำรวจพระธรรมตอนนี้ไปด้วยกัน   ในข้อที่ 11 และ 12 พระคริสต์ทรงประทานศิษยาภิบาล และ ผู้นำคริสตจักรให้เสริมสร้างประชากรของพระเจ้าในคริสตจักรเป็นผู้รับใช้ของพระคริสต์  ทั้งนี้

“(เพื่อ)เสริมสร้างพระกายของพระคริสต์” (เป็นการเติบโตร่วมกัน)

“จนกว่าเราทุกคนจะบรรลุถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในความเชื่อ  และ  ในความรู้ถึงพระบุตรของพระเจ้า”  ข้อ 13 (เป็นการเติบโตร่วมกัน)

“จนกว่าเรา(ชุมชนคริสตจักร)จะโตเป็นผู้ใหญ่เต็มที่ คือเต็มถึงขนาดความไพบูลย์ของพระคริสต์”  ข้อ 13 (เป็นการเติบโตร่วมกัน)

“เพื่อเราจะไม่เป็นเด็กอีกต่อไป...” ข้อ 14 (การเติบโตร่วมกัน และ การเติบโตส่วนตัว)

“เพื่อจะเจริญขึ้นในทุกด้านสู่พระองค์ผู้เป็นศีรษะคือพระคริสต์...” ข้อ 15 (เป็นการเติบโตร่วมกัน)

“(เพราะพระคริสต์) นี้เอง   ร่างกายทั้งหมดจึงได้รับการเชื่อมและประสานเข้าด้วยกัน  (โดยเส้นเอ็นทุกเส้น)  และเมื่อแต่ละส่วนทำงานตามหน้าที่แล้ว ก็ทำให้ร่างกายเจริญและเสริมสร้างตนเองขึ้น(ในความรัก)”  ข้อ 16 ในวงเล็บจากอมตธรรม  (เป็นการเติบโตส่วนตัว และ เติบโตร่วมกันด้วย)

บทเรียนรู้ที่ได้จากพระธรรมตอนนี้คือ   การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในพระคริสต์   เป็นงานเสริมสร้าง และ ฝึกฝนสมาชิกแต่ละคนในคริสตจักรจากศิษยาภิบาลและผู้นำคริสตจักร   ซึ่งเป็นการเสริมสร้างให้เติบโตทั้งในฐานะคริสตชนแต่ละคน   แล้วการเติบโตแต่ละคนนั้นสร้างผลกระทบต่อการเติบโตของส่วนรวมคือชุมชนคริสตจักรทั้งชุมชนด้วย   และเวลาเดียวกันการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในพระคริสต์ของชุมชนคริสตจักรก็เป็นเครื่องมือของพระเจ้าในการเสริมสร้างสมาชิกแต่ละคนในคริสตจักรให้เติบโตขึ้น   และนี่คือความหมายของการ “สามัคคีธรรม”  และ การรับใช้เสริมสร้างซึ่งกันและกันในคริสตจักรในพระนามของพระคริสต์ด้วย

ดังนั้น   การที่เราแต่ละคนต้องการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นในพระเยซูคริสต์มิใช่เพื่อตัวเราเองเท่านั้น   แต่เพื่อพระกายของพระคริสต์คือชุมนุมชนคริสตจักรของพระองค์ด้วย   การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในพระคริสต์จึงมิใช่เรื่องของเราเท่านั้น   แต่เป็นเรื่องความรับผิดชอบและการเติบโตขึ้นของชุมชนสามัคคีธรรมและการรับใช้ในคริสตจักรด้วย

แท้จริงแล้วการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ของเราแต่ละคนนั้นได้รับการฟูมฟัก เลี้ยงดู เอาใจใส่เพราะการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ของคริสตจักรด้วยเช่นกัน

กล่าวได้ว่า  สมาชิกแข็งแรง  คริสตจักรเข้มแข็ง   คริสตจักรแข็งแรง   เสริมสร้างสมาชิกเข้มแข็ง

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญ

1. เมื่อท่านคิดถึงเรื่องการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในพระคริสต์  เกิดความคิดอะไรบ้างในสมองของท่าน? 
2. แนวโน้มของท่านมักคิดถึงการเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในพระคริสต์ส่วนตัวของท่านมากกว่าหรือไม่?   หรือท่านมุ่งเน้นสนใจไปยังการเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ของชุมชนคริสตจักร?
3. ท่านเห็นว่า การเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในพระคริสต์ของส่วนรวมชุมชนคริสตจักร กับ ส่วนตัวของท่านนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกันหรือไม่ อย่างไร?   ทำไมท่านถึงคิดเช่นนั้น

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

27 พฤศจิกายน 2556

เติบโตเป็นผู้ใหญ่ในพระคริสต์!(1)

อ่าน เอเฟซัส 4:11-16

11...พระ​องค์​เอง​ประ​ทาน​ให้​บาง​คน​เป็น​อัคร​ทูต
บาง​คน​เป็น​ผู้​เผย​พระ​วจนะ
บาง​คน​เป็น​ผู้​ประกาศ​ข่าว​ประเสริฐ
บาง​คน​เป็น​ศิษยาภิบาล​และ​อา​จารย์   

12 เพื่อ​เตรียม​ธรรมิก​ชน(ประชากรของพระเจ้า) ​สำ​หรับ​การ​ปรนนิบัติ(พันธกิจการรับใช้)​ และ​ การ​เสริม​สร้าง​พระ​กาย​ของ​พระ​คริสต์

13 จนกว่าเราทุกคนจะบรรลุถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในความเชื่อ  และ
ในความรู้ถึงพระบุตรของพระเจ้า
จนกว่าเราจะโตเป็นผู้ใหญ่เต็มที่ คือเต็มถึงขนาดความไพบูลย์ของพระคริสต์

14 เพื่อ​เรา​จะ​ไม่​เป็น​เด็ก​อีก​ต่อ​ไป
ถูก​ซัด​ไป​ซัด​มา​และ​พัด​ไป​พัด​มา​ด้วย​ลม​คำ​สั่ง​สอน​ทุก​อย่าง
ด้วย​เล่ห์​กล​ของ​มนุษย์ ตาม​อุบาย​ที่​ฉลาด​ใน​การ​ล่อ​ลวง   

15 แต่​ให้​เรา​ยึด​ถือ​ความ​จริง​ด้วย​ความ​รัก
เพื่อ​จะ​เจริญ​ขึ้น​ใน​ทุก​ด้าน​สู่​พระ​องค์​ผู้​เป็น​ศีรษะ​คือ​พระ​คริสต์   

16 เนื่อง​จาก​พระ​องค์​นี้​เอง
ร่าง​กาย​ทั้ง​หมด​จึง​ได้​รับ​การ​เชื่อม​และ​ประ​สาน​เข้า​ด้วย​กัน​โดย​ทุกๆ ข้อ​ต่อ​ที่​ประ​ทาน​มา​นั้น
และ​เมื่อ​แต่​ละ​ส่วน​ทำ​งาน​ตาม​หน้าที่​แล้ว ก็​ทำ​ให้​ร่าง​กาย​เจริญ​และ​เสริม​สร้าง​ตน​เอง​ขึ้น
(เอเฟซัส 4:11-16 มตฐ.)

ท่านเคยมีประสบการณ์ตอนที่เป็นเด็ก   ว่าต้องการเติบโตเป็นผู้ใหญ่   เพื่อเราจะทำอย่างโน่นได้  ทำอย่างนี้ได้   จะกินบางสิ่งบางอย่างที่อยากจะกินได้   หรือจะสามารถตัดสินใจไปไหนมาไหนด้วยตนเองได้   แต่เมื่อโตขึ้นหลายคนกลับไม่ต้องการที่จะเป็น “ผู้ใหญ่”   เพราะต้องมีความรับผิดชอบมากมายเหลือเกิน   รู้สึกว่าขาดผู้คนที่จะมาเอาใจใส่  ดูแล  และคอยช่วยเหลือ อย่างที่ตอนที่ตนเองเป็นเด็ก   แต่เมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้วกลับต้องรับผิดชอบห่วงใย เอาใจใส่คนอื่นรอบข้าง  

เราไม่อยากเป็นผู้ใหญ่!

เราไม่อยากโตเป็นผู้ใหญ่   เพราะเราไม่ต้องการที่จะรับผิดชอบ   แต่เราต้องการจะทำตามใจชอบมากกว่า

เปาโลกล่าวหนุนเสริมให้กำลังใจแก่ผู้อ่านจดหมายของท่านในตอนนี้ให้ “เติบโตเป็นผู้ใหญ่” ของพระคริสต์   ซึ่งเป็นการเติบโตขึ้นเป็นสาวกที่มีชีวิตเหมือนพระเยซูคริสต์มากยิ่งขึ้นทุกวัน  

เปาโลต้องการให้เราเติบโตเป็นผู้ใหญ่
  • เพื่อเสริมสร้างพระกายของพระคริสต์(คือชุมชนคริสตจักร)ขึ้น
  • เพื่อเราจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ถึงขนาดความไพบูลย์ของพระคริสต์
  • เพื่อเราจะไม่เป็นเด็กอีกต่อไป
  • เพื่อเราจะจำเริญขึ้นในทุกด้านสู่พระคริสต์ผู้ทรงเป็นศีรษะแห่งพระกาย(คือคริสตจักร)
  • เพื่อทั้งร่างกายจะเชื่อมและประสานเข้าด้วยกัน...เติบโต..และเสริมสร้างขึ้นในความรัก (อมต.)


เปาโลคาดหวังให้คริสตชนต้องเติบโตขึ้นในความเชื่อศรัทธา   โดยการยอมรับพระคุณของพระคริสต์ ที่จะช่วยให้ตนเติบโตขึ้นตลอดชีวิต   ซึ่งเป็นแผนการของพระคริสต์สำหรับชีวิตของเราแต่ละคน   แต่ก็น่าสังเกตว่าคริสตชนหลายต่อหลายคนเลือกที่จะเป็นเด็กต่อไปในความเชื่อ   ไม่ต้องการเติบโต   ไม่ต้องทำตามพระประสงค์   แต่อยากเป็นเด็กในความเชื่อที่สามารถทำตามใจตนเองได้   การเป็นคริสตชนที่เชื่อแบบเด็ก (เบๆ) เช่น คิดและเชื่อแค่ว่าถ้าเป็นคริสตชนเมื่อตายไปแล้วจะได้ไปอยู่สวรรค์   เพราะเขาไม่คิดที่จะมีชีวิตคริสตชนที่เป็นประชากรแห่งแผ่นดินของพระเจ้า  ตั้งแต่วันนี้และตลอดไป

คริสตชนที่ความเชื่อแบบเด็กๆ   เขาต้องการความเชื่อสำเร็จรูป(ความเชื่อแบบ “มาม่า ไวไว”)   คือเชื่อวันนี้เพื่อไปสวรรค์เมื่อตายไปแล้ว  เขาไม่ต้องการความเชื่อที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ในพระคริสต์    ที่ต้องรับการเปลี่ยนแปลง และ เสริมสร้างจากพระคริสต์ให้เป็นชีวิตใหม่ในพระองค์  และดำเนินชีวิตที่รับผิดชอบต่อพระประสงค์ของพระเจ้าตามที่ทรงสร้างเขาขึ้นใหม่   ตั้งแต่วันนี้  และในแต่ละวันไปตลอดชีวิต

เขาไม่ต้องการให้พระคริสต์มาแทรกแซงความคิด ความต้องการ  จิตใจ และชีวิตของเขา   เพราะเขารู้สึกว่า  ชีวิตทุกวันนี้มันก็ยุ่งยากวุ่นวายมากพออยู่แล้ว    คงไม่มีเวลาที่จะไปคิดเอาใจใส่ชีวิตคริสเตียนที่จะต้องเติบโตขึ้นทุกวัน

ไม่ว่าคริสตชนคนนั้นจะมีความคิด ความเชื่อแบบใด ที่ขวางกั้นไม่ให้เราเรียนรู้ที่จะมีชีวิตคริสตชนที่เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในพระคริสต์ในแต่ละวัน   แต่เราไม่มีทางเลือก ทางเลี่ยง หรือทางเบี่ยงอื่นใด ที่จะเลือกหรือหลบหลีกได้  

ถ้าเป็นคริสตชนชีวิตต้องเติบโตขึ้นสู่ความเป็นผู้ใหญ่ในพระคริสต์ครับ!

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญ

1. ในชีวิตคริสตชนของท่าน   ท่านเคยคิดอยากจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในพระคริสต์หรือไม่?
2. ถ้าท่านจะพิจารณาชีวิตคริสตชนในปัจจุบันของท่านอย่างรอบคอบและใจเป็นกลาง   ชีวิตคริสตชนของท่านเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในพระคริสต์หรือไม่? (เมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อปีก่อน)
3. ในวันนี้ท่านมีชีวิตที่เติบโตขึ้นในพระคริสต์มากกว่าห้าปีก่อนหรือไม่?   อย่างไร?  อะไรที่ทำให้เกิดการเติบโตขึ้นในพระคริสต์?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

วาทะที่มีชัยชนะเหนือความยากลำบาก

มีเวลาที่ชีวิตของคนเราต้องประสบพบแต่ความทุกข์ยากลำบาก  และ ความล้มเหลว   ที่ทำให้เรารู้สึกว่าทำไมเราถึงไม่หลุดรอดออกจากวังวนความยากลำบากสักที   เป็นการง่ายที่จะทำให้เรารู้สึกท้อแท้ถดถอย หรือ เกิดความสับสน   ซึ่งเราไม่ควรมองความทุกข์ยากลำบาก และ ความล้มเหลวไปในทางที่ลบ

มีคำพูดดีๆ จากบุคคลต่างๆ ที่น่าสนใจ  เป็นวาทะที่เราน่าจะพิจารณาใคร่ครวญ

“เมื่อพายุที่บ้าคลั่งผ่านพ้นไป  
ท่านจำไม่ได้ว่าท่านผ่านพ้นสถานการณ์นั้นอย่างไร  
ท่านได้จัดการตนเองให้รอดปลอดภัยได้อย่างไร  
และท่านก็ยังไม่มั่นใจว่าพายุมันจะสงบลงจริงหรือเปล่า  
แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของท่านคือ  ท่านจะไม่เป็นคนเดิม  
กล่าวคือท่านที่สามารถผ่านพ้นสถานการณ์พายุร้าย
เขาคนนั้นจะกลายเป็นอีกคนหนึ่งที่แตกต่างจากคนเดิม
ตอนที่เริ่มเดินเผชิญกับพายุร้าย   และ
นี่คือสัจจะความจริงของพายุร้ายในชีวิตของคนเรา”        
          Haruki Murakami

“ชีวิตของท่านอาจจะผ่านพบกับความพ่ายแพ้  
แต่ชีวิตท่านไม่จำเป็นจะต้องถูกทำลาย  
ความจริงแล้วชีวิตจำเป็นต้องพบประสบกับความพ่ายแพ้  
เพื่อท่านจะรู้ว่าท่านเป็นใคร  
แล้วท่านจะเติบโตขึ้นได้อย่างไร   และ
ท่านจะเผชิญหน้าและผ่านพ้นจากความพ่ายแพ้นั้นอย่างไรต่างหาก”
          Maya Angelou

“คนที่มีชีวิตสวยงดงามสุดที่ฉันได้รู้จัก  
คือคนที่ได้เรียนรู้การถูกทดลอง  
การเผชิญหน้าต่อสู้  และ
เรียนรู้การสูญเสีย 
แล้วพบทางออกจากก้นเหวแห่งสถานการณ์เหล่านั้น”
          Elisabeth Kübler-Ross

“บางครั้งความทุกข์ยากลำบากเป็นสิ่งที่ท่านจำเป็นจะต้องเผชิญหน้ากับมันเพื่อท่านจะประสบความสำเร็จ” 
          Zig Ziglar

“ความทุกข์ยากลำบากเป็นเหมือนพายุที่รุนแรง  
มันมิได้กระหน่ำพัดให้เราต้องถดถอยไปจากที่ที่เราควรจะเป็น ควรจะอยู่  
แต่พายุที่รุนแรงนั้นได้พัดกระชากฉุดลากบางสิ่งบางอย่างที่เราไม่สามารถแกะลอกออกจากตัวเราได้  
หลังจากชีวิตเราผ่านสถานการณ์ความยากลำบากเราจึงมองเห็นตัวตนที่แท้จริงของเรา  
มิใช่เห็นแต่ตัวตนที่เราต้องการจะเป็นเท่านั้น”
          Arthur Golden, Memoirs of a Geisha

“อุปสรรคยิ่งใหญ่โตแค่ไหน  
ชัยชนะยิ่งให้เกียรติและความภาคภูมิใจมากขึ้นแค่นั้น”
          Moliere

“ผมไม่ได้ล้มเหลว   แต่ผมพบหนึ่งหมื่นวิธีที่มันไม่เกิดผล”
          Thomas A. Edison

“ผมชู้ทบอลพลาดไป 9,000 ครั้ง  
ผมต้องพ่ายแพ้การแข่งขันเกือบ 300 ครั้ง  
26 ครั้งที่ผมเชื่อว่าผมจะนำชัยชนะจากการชู้ทลูก   แต่ก็พ่ายแพ้  
ผมต้องประสบกับความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าในชีวิต 
และเพราะสิ่งเหล่านี้นี่เองที่ผมประสบความสำเร็จในชีวิต”
          Michael Jordan

“ฉันต้องตัดสินใจว่า ฉันต้องการก้าวไปข้างหน้า   สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ  
ฉันจะต้องลุกขึ้นและบอก(กับตนเอง)ว่า 
ฉันไม่สนว่ามันจะต้องยากลำบากแค่ไหน  
ฉันไม่สนว่าตนเองจะต้องผิดหวังมากเท่าใด 
ฉันจะไม่ยอมให้สิ่งเหล่านี้มาช่วงชิงสิ่งที่ดีที่สุดจากตัวฉัน  
ฉันจะก้าวไปข้างหน้าในชีวิตของฉัน”
          Joel Osteen

เมื่อสถานการณ์แวดล้อมของพระเยซูคริสต์ถูกกระชับพื้นที่ให้ไปสู่ภูเขากะโหลกศีรษะ
สาวกที่ยืนยันแข็งขันเคียงคู่สู่ความตายหลับใหลไม่ได้สติ
พระองค์ทูลขอพระบิดาให้ตนหลุดรอดออกจากสถานการณ์ที่เลวร้าย
แต่พระองค์ทูลพระบิดาว่า  อย่าให้เป็นไปตามใจปรารถนาของตนเอง  
แต่ให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระบิดา
ในสถานการณ์เลวร้ายเช่นนั้น พระองค์ประกาศว่า “เราชนะโลกแล้ว”
          Jesus  Christ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

25 พฤศจิกายน 2556

มองแต่ปริมาณ จึงไม่เห็นพระพร

อ่านยอห์น 6:1-14

ที่​นี่​มี​เด็ก​ชาย​คน​หนึ่ง​มี​ขนม​ปัง​บาร์​เลย์​ห้า​ก้อน​กับ​ปลา​สอง​ตัว
แต่​เท่า​นั้น​จะ​พอ​อะไร​กับ​คน​มาก​อย่าง​นี้?” (6:9)

เรื่องการทำอัศจรรย์ของพระเยซูคริสต์ในการเลี้ยงฝูงชนด้วยขนมปังห้าก้อนกับปลาสองตัวเป็นเรื่องที่ผู้บันทึกพระกิตติคุณทั้งสี่ท่านได้กล่าวถึง   และทั้งสี่ได้บันทึกเรื่องนี้โดยกล่าวถึงสาวกของพระเยซูคริสต์ห่วงใยที่ประชาชนไม่มีอาหารรับประทาน   ซึ่งเวลานั้นเป็นช่วงตอนเย็นของวันแล้ว   และประชาชนอยู่ในบริเวณทะเลทรายในถิ่นทุรกันดาร   และพบอีกว่าเฉพาะผู้ชายเท่านั้นมีจำนวนประมาณ 5,000 คน   ถ้านับทั้งสตรีและเด็กจำนวนก็เพิ่มขึ้นอีกมาก    ในพระธรรมยอห์นฟิลิปยังกล่าวอีกว่า  สอง​ร้อย​เหรียญ​เดนาริอัน​ ​ก็​ไม่​พอ​ซื้อ​อาหาร​ให้​เขา​กิน​กัน​คน​ละ​เล็ก​ละ​น้อย” (ข้อที่ 7)  แต่ในสำนวนของอมตธรรมแปลว่า “เงินค่าแรงแปดเดือนยังซื้อขนมปังไม่พอให้คนเหล่านี้กินคนละคำ”   (ถ้าคิดตามอัตราเงินค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทอย่างปัจจุบันนี้ก็เป็นเงิน 72,000 บาท)

เมื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์นี้  สาวกมีมุมมองติดอยู่กับ “ความไม่เพียงพอ” ยอห์น 6:9  บันทึกไว้ว่า ที่​นี่​มี​เด็ก​ชาย​คน​หนึ่ง​มี​ขนม​ปัง​บาร์​เลย์​ห้า​ก้อน​กับ​ปลา​สอง​ตัว แต่​เท่า​นั้น​จะ​พอ​อะไร​กับ​คน​มาก​อย่าง​นี้?” 

แต่เมื่อสิ่งเล็กน้อยเหล่านี้อยู่ในพระหัตถ์ของพระคริสต์   อาหารที่มีเพียงเล็กน้อยกลับสามารถเลี้ยงคนจำนวนมากมาย  

เมื่อให้ฝูงชนนั่งลงแล้ว  ​พระ​เยซู​ก็​ทรง​หยิบ​ขนม​ปัง เมื่อ​ขอบ​พระ​คุณ​แล้ว​ก็​ทรง​แจก​จ่าย​ให้​บรร​ดา​คน​ที่​นั่ง​อยู่​นั้น และ​ให้​ปลา​ด้วย​ตาม​ที่​เขา​ต้อง​การ (ข้อที่ 11)   เมื่ออ่านถึงการกระทำครั้งนี้ของพระเยซูคริสต์แล้วทำให้ระลึกเหตุการณ์อาหารมื้อสุดท้ายที่ห้องชั้นบน   ที่บันทึกไว้ว่า  “...พระ​เยซู​ทรง​หยิบ​ขนม​ปัง​มา เมื่อ​ขอ​พระ​พร​แล้ว ทรง​หัก​ส่ง​ให้​แก่​เหล่า​สา​วก” (มาระโก 14:22)   สิ่งเล็กน้อยเมื่ออยู่ในมือของพระคริสต์  และได้ผ่านการอวยพระพรจากพระบิดา  สิ่งเล็กน้อยกลายเป็นสิ่งมีค่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำหรับพระองค์   และเมื่อขนมปังเพียงเล็กน้อยนั้นถูกหักออกโดยพระหัตถ์ของพระคริสต์   และแบ่งปันแก่ฝูงชน   เมื่อนั้นสิ่งเล็กน้อยที่เกือบไม่มีค่าอะไรเลยกลับกลายเป็นอาหารดำรงชีวิตของปวงชน   กลับกลายเป็นชีวิตเพื่อชีวิต    ในพิธีมหาสนิท เราจึงเรียกพิธีนี้ว่าพิธีศักดิ์สิทธิ์   ที่ศักดิ์สิทธิ์เพราะเป็นการที่ให้ชีวิต

บ่อยครั้งในชีวิต   เรามักมุ่งมองสิ่งต่างๆ ที่เรามีว่า “เป็นสิ่งที่เล็กน้อย”  “ไม่เพียงพอ” มองแต่ปริมาณ  ดังนั้นจึงทำอะไรไม่ได้   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคริสตจักรจะทำอะไร มักถามว่าเรามีงบประมาณเท่าใดเป็นคำถามแรก   แล้วก็มักตามด้วยประโยคที่ว่า   งบแค่นั้นน้อยเกินไป  จะทำอะไรได้?   แต่ทุกสิ่งเล็กน้อยจะกลายเป็นสิ่งมีค่าและศักดิ์สิทธิ์   เมื่อเรานำสิ่งเล็กน้อยนั้นมอบถวายแด่พระองค์   และเมื่อพระองค์  “ทรงหยิบ แล้วขอพระพร  ทรงหักออก แล้วแจกจ่ายแบ่งปัน”   เมื่อนั้นสิ่งเล็กน้อยกลับกลายเป็นพระพรจากพระเจ้าสำหรับชีวิตของผู้คนมากมาย

เมื่อมอบถวายชีวิตของเราแด่พระเจ้า   และเมื่อพระองค์ “ทรงหยิบ  ขอพระพร  และหักออกแบ่งให้” เราจึงเป็น “เครื่องบูชาศักดิ์สิทธิ์ที่มีชีวิต” (โรม 12:1)  แท้จริงเมื่อเราล้อมรอบโต๊ะมหาสนิทศักดิ์สิทธิ์   เราก็อธิษฐานถวายชีวิตของเราเช่นนี้ด้วย  

ในชีวิตที่ผ่านมาของเรามีเหตุการณ์หรือใครบ้างไหมที่ได้ถวายชีวิตของเขาแด่พระเจ้า  เพื่อเป็นเครื่องบูชาที่เป็นเครื่องบูชาที่ศักดิ์สิทธิ์   ที่พระคริสต์ทรงหยิบขึ้น  ขอพระพร  และหักออก   แล้วแบ่งให้แก่เราและคนอื่นๆ  ให้เรามีเวลาทบทวนถึงพระพรของพระเจ้าและพระคุณของพระองค์ที่ทรงเลี้ยงชีวิตของเรา   อย่างที่ทรงเลี้ยงคนห้าพันคนในสมัยของพระองค์  

ในเวลาเดียวกันให้เราถามตนเองย้อนกลับว่า   เราเคยเป็นเครื่องมือของพระเจ้า   เป็น “ขนมปัง” ที่พระคริสต์ทรงหยิบขึ้น   เป็น “ขนมปัง” ที่พระคริสต์ขอพระพร  และเป็น “ขนมปัง” ที่พระคริสต์ทรงหักออก   แล้วแบ่งปันเพื่อชีวิตของคนอื่นบ้างไหม?

วันนี้ท่านพร้อมที่จะมอบกายถวายชีวิตของท่านไว้ในพระหัตถ์ของพระคริสต์   ด้วยการทรงอวยพระพรของพระบิดา  และทรงหักและแบ่งให้กับผู้คนรอบข้างในวันนี้   และด้วยพลังหนุนเสริมของพระวิญญาณบริสุทธิ์   เพื่อเป็นชีวิตที่พระคริสต์ทรงใช้ในการ “แบ่งปัน” ชีวิตตามพระประสงค์ของพระองค์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

18 พฤศจิกายน 2556

วันสะบาโตหลังฤดูฝน

ฤดูกาลสำหรับทุกสิ่ง  วาระสำหรับทุกเรื่อง
อ่าน ปัญญาจารย์ 3:1-15

บางครั้งในวันสะบาโต
สิ่งที่เราทุกคนจะทำได้คือ
นั่งในที่นุ่มอุ่น
แล้วฟังเสียงที่กำลังพูดกับเรา.

ฟังเสียงของ...
ความอ่อนเปลี้ยเพลียแรงของตัวเรา  ที่ยิ่งกว่าความเหนื่อยอ่อน
ความหิวอดอยาก   ที่มากกว่าอาหาร
ความกระหาย   ที่มากกว่าเครื่องดื่ม
ความรู้สึกโหยหาที่สบาย   ที่มากกว่าความสบายทางกาย

เช้าวันสะบาโต
ทั้งร่างกายและจิตวิญญาณมุ่งมองแสวงหาเวลาที่ต่างจากเวลาที่ผ่านมา
เวลาที่มีพื้นที่ว่าง   มากกว่าเวลาที่เต็มไปด้วยกิจกรรมมากมาย
เวลาที่จะมุ่งมองหา “พุ่มไม้ไฟ” ที่สวนหลังบ้าน
เวลาที่จะสังเกตดูการเคลื่อนตัวของกระแสลมผ่านกิ่งไม้ที่ไร้ใบ(โกร๋น)
เวลาที่กิ่งไม้โกร๋นยอมปล่อยให้ใบไม้ใบสุดท้ายหลุดร่วงหล่นไปจากมัน

การยอมให้สิ่งที่ใช้ไม่ได้แล้วไปจากเรา
การยอมให้สิ่งที่ไม่ได้นำมาซึ่งความชื่นชมยินดีและความหมายไปจากเรา
การยอมให้สิ่งที่ไม่ได้ทำให้ชีวิตของเราสมบูรณ์พูนครบไปจากเรา
เป็นสิ่งที่ยากลำบากเสียจริงๆ  ที่จะปล่อยให้สิ่งเหล่านี้ไปจากเรา  
ใช่สินะ  การที่ยอมให้บางสิ่งบางอย่างไปจากเรานั้น   มันช่างยากลำบากเสียจริงๆ

ดูเป็นความเลวร้ายเสียจริงๆ
ที่บางสิ่งที่มีคุณประโยชน์ต้องหลุดหล่นลงพื้น
ที่บางสิ่งบางอย่างต้องจมลงในโคลนตมพร้อมๆ กับสิ่งอื่นที่หมดค่าแล้ว
แล้วมันก็จำไม่ได้ว่ามันเป็นอะไรมาก่อน และ มาจากที่ไหน
ผู้คนชั่วอายุหนึ่ง  ให้ชีวิตแก่คนอีกชั่วอายุหนึ่ง
ฤดูกาลหนึ่งลื่นไหลออกไปเพื่ออีกฤดูกาลหนึ่งจะเข้ามาเยือน
พืชผลรุ่นหนึ่งหล่นลงพื้นดินเพื่อก่อเกิดพืชอีกจำนวนหนึ่ง
คลื่นทะเลชุดหนึ่งล่าถอยในขณะที่คลื่นอีกชุดหนึ่งรวมพลังกัน
เพื่อถาโถมเข้ามายังชายฝั่ง

ดูเหมือนจะเลวร้าย
แต่นี่เป็นจังหวะลีลาของสิ่งต่างๆ ที่พระเจ้าทรงสร้าง
และนี่เป็นจังหวะลีลาที่มีความงดงามในตัวของมัน
และนี่เป็นความงดงามที่เราน่าจะชื่นชมยินดีมิใช่หรือ?
เออจริงนะ...  วันนี้เป็นวันสะบาโต...

ปล.   ปัญญาจารย์เขียนไว้ว่า...
ยิ่ง​กว่า​นั้น​อีก ที่​ภาย​ใต้​ดวง​อา​ทิตย์​ข้าพ​เจ้า​เห็น​ว่า
ใน​ที่​ของ​ความ​ยุติ​ธรรม​มี​ความ​อธรรม​อยู่​ด้วย และ​
ใน​ที่​ของ​ความ​ชอบ​ธรรม​มี​ความ​อธรรม​อยู่​ด้วย  (ข้อ 16 มตฐ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

เดินตามกรอบแผนงานของพระเจ้า

33 โอ พระ​ปัญ​ญา​และ​ความ​รอบ​รู้​ของ​พระเจ้า​นั้น ล้ำ​ลึก​เท่า​ใด
ข้อ​ตัดสิน​ของ​พระ​องค์​นั้น​เหลือ​ที่​จะ​หยั่ง​รู้​ได้ และ​
ทาง​ของ​พระ​องค์​ก็​เหลือ​ที่​จะ​สืบ​เสาะ​ได้

 34 เพราะ​ว่าใคร​เล่า​รู้พระทัย​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า
หรือ​ใคร​เป็น​ที่​ปรึกษาของ​พระ​องค์

 35 หรือ​ใคร​ได้​ถวาย​สิ่ง​หนึ่ง​สิ่ง​ใด​แก่​พระ​องค์
ที่​พระ​องค์​จะ​ต้อง​ตอบ​แทน​เขา? ” 

36 เพราะ​สิ่ง​สาร​พัด​มา​จาก​พระ​องค์ โดย​พระ​องค์ และ​เพื่อ​พระ​องค์
ขอ​พระ​เกียรติ​จง​มี​แด่​พระ​องค์​ตลอด​ไป​เป็น​นิตย์ อา​เมน  (โรม 11:33-36 มตฐ.)

เราส่วนมาก รู้สึกพึงพอใจหรือมีความสุขใจเมื่อเราสามารถควบคุมชีวิตของเราให้เป็นไปตามกรอบแผนงานที่เราวางไว้   แต่ถ้าสิ่งต่างๆ ไม่ได้เป็นไปตามกรอบแผนงานที่เราวางไว้เราจะเกิดความวุ่นวายใจ เกิดความสับสนในชีวิต  

แต่ถ้าเราต้องการดำเนินชีวิตไปตามกรอบแผนงานที่มีความสมบูรณ์ตามพระประสงค์ของพระเจ้า   เราต้องยอมที่จะทำตามกรอบแผนงานและเวลาของพระองค์!

ลองทบทวนย้อนหลังถึงการอธิษฐานเกี่ยวกับสถานการณ์ในชีวิตของท่าน   ท่านเคยอธิษฐานขอให้พระเจ้าทำตามกรอบแผนงานของท่านที่ได้กำหนดขึ้นจากความปัญญาที่มีจำกัดของท่าน อย่างไม่รู้ตัวหรือไม่?  

แต่ถ้าเราเชื่อว่าพระเจ้า “ทรงเป็นอย่างที่พระองค์ทรงเป็น”  เราจะยอมจำนนให้ชีวิตของเราดำเนินไปตามกรอบแผนงานของพระองค์แทนที่จะเป็นไปตามผลประโยชน์ที่เราอยากได้รับ  ได้อย่างไร?   แน่นอนครับ   เราจะเป็นเช่นไรอยู่ที่รากฐานความเชื่อศรัทธาของเราที่เรามีในพระองค์
  • เราเชื่อว่า   พระเจ้าทรงรอบรู้และพระปัญญาของพระเจ้าเกินกว่าที่เราจะหยั่งรู้และสืบเสาะครบถ้วนได้   พระเจ้าผู้ทรงสร้างสากลจักรวาล  พระองค์ทรงรอบรู้อย่างล้ำลึกลงในรายละเอียดในชีวิตของแต่ละคน  ทั้งในอดีต  ปัจจุบัน  และอนาคต
  • เราเชื่อว่า  พระปัญญาของพระองค์นั้นสมบูรณ์พูนครบที่สุด   พระองค์ทรงรู้เท่าทันและเข้าพระทัยถึงทุกอณูแห่งเจตนาของเรา   ซึ่งไม่มีใครท่ามกลางมนุษย์เราจะเห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้อย่างชัดเจน   มนุษย์เราตัดสินใจด้วยข้อมูลที่จำกัดไม่รอบด้าน   แต่พระเจ้าทรงตัดสินพระทัยบนสัจจะความจริงของพระองค์
  • เราเชื่อว่า   พระเจ้าทรงเปี่ยมด้วยความรักเมตตาที่ไร้เงื่อนไข   พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจทั้งสิ้นของพระองค์ด้วยพระทัยรักเมตตา   และมีพระทัยที่ต้องการให้เกิดสิ่งดีที่สุดในชีวิตของมนุษย์แต่ละคน  แต่ถ้ามนุษย์เราไม่ยอมให้ชีวิตของตนเป็นไปตามพระทัยของพระเจ้า  แน่นอนว่ามุมมองชีวิตของเราก็จะบิดเบือนไปจากพระประสงค์ของพระเจ้า   เราก็จะพลาดจากการมีชีวิตที่ดีที่สุดตามแผนการของพระองค์
  • เราเชื่อว่า   พระเจ้าทรงมีกรอบแผนงานเวลาที่เหมาะสมสมบูรณ์ที่สุดสำหรับเรา   ในเวลาที่เหมาะตามกรอบแผนงานของพระเจ้า   พระเจ้าจะทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ตามแผนการของพระองค์ในชีวิตของเรา   และสิ่งที่จำเป็นของเราก็จะปรากฏเป็นจริงอย่างเป็นรูปธรรม ตามกรอบแผนงานและเวลาของพระเจ้า


การที่เรายอมให้ชีวิตของเราเป็นไปตามกรอบแผนงานและเวลาของพระเจ้าเราต้องการความเชื่อและความกล้า   เราเชื่อและไว้วางใจในน้ำพระทัยอันดีเลิศและแผนการอันสมบูรณ์เหมาะสมของพระองค์   และพร้อมที่จะรอคอยการทรงเปิดเผยให้สัญญาณจากพระเจ้าในการที่จะขับเคลื่อนในแต่ละเรื่องในชีวิตของเรา   และเมื่อเรายอมเดินตามกรอบแผนงานและเวลาของพระองค์   เราจะเห็นถึงพระราชกิจของพระเจ้าที่ทรงกระทำในชีวิตของเรา  ผ่านชีวิตของเราด้วยความชื่นชมยินดี   ได้รับประสบการณ์และเรียนรู้ถึงน้ำพระทัย  แผนการ  และการขับเคลื่อนอย่างล้ำลึกตามพระประสงค์ของพระองค์

วันนี้ชีวิตของท่านเคลื่อนไปตามกรอบแผนงานและเวลาที่ท่านกำหนดไว้  หรือ

ท่านเฝ้าดูการขับเคลื่อนของพระเจ้าตามกรอบแผนงานและเวลาของพระองค์ในชีวิตวันนี้ของท่าน?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

13 พฤศจิกายน 2556

ยืนหยัดเผชิญอุบายมาร

เอเฟซัส 6:10-14

“...จงเข้มแข็งขึ้นในองค์พระผู้เป็นเจ้า และ ในอานุภาพอันทรงพลังของพระองค์
จงสวมยุทธภัณฑ์ทั้งชุดของพระเจ้า เพื่อต่อสู้กับอุบายของมารได้
เพราะเราไม่ได้ต่อสู้กับเนื้อหนังและเลือด  

แต่ต่อสู้กับ...
ภูตผีที่ครอบครอง 
พวกภูตผีที่มีอำนาจ  
พวกภูตผีที่ครองพิภพในยุคมืดนี้  
(เรากำลัง)ต่อสู้กับพวกวิญญาณชั่วในสวรรคสถาน

เพราะเหตุนี้   จงสวมยุทธภัณฑ์ทั้งชุดของพระเจ้าไว้   เพื่อท่านจะสามารถต่อสู้ในวันชั่วร้ายนั้น   และเมื่อทำทุกอย่างแล้วจะยังยืนหยัดอยู่ได้

เพราะฉะนั้น จงยืนหยัดไว้  เอาความจริงคาดเอว  เอาความชอบธรรมเป็นเกราะป้องกันอก...”

ในชีวิตแต่ละวันผู้ที่เชื่อศรัทธาในองค์พระผู้เป็นเจ้าต่างต้องเผชิญหน้ากับการทดลองในชีวิต  ลองใช้เวลาสักนิดทบทวนย้อนหลังถึงเหตุการณ์ที่เราถูกดึงตัวเข้าไปเกี่ยวข้องกับการมีความคิดและชีวิตที่ไม่เป็นที่ชอบพระทัยของพระเจ้า   ในสถานการณ์นั้นในเหตุการณ์นั้นเราตระหนักหรือไม่ว่า “เรากำลังเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสงครามชีวิตกับอำนาจชั่วร้ายของมาร” ?  เราตระหนักหรือไม่ว่า มารกำลังวางอุบายกับดักข้างหน้าของเรา?

พลังอำนาจชั่วร้ายของมารเป็นสิ่งที่มีจริงและเป็นจริง   แท้จริงแล้วมันเป็นพลังอำนาจที่ต้องการต่อสู้เอาชนะพลังอำนาจแห่งการสร้างสรรค์ของพระเจ้า   และอำนาจแห่งความชั่วร้ายนี้เองที่ต้องการเสมอที่จะเอาชนะพลังอำนาจของพระเจ้า

หลายท่านคงเกิดคำถามในใจว่า... 

แล้วสนามสงครามการสู้กันระหว่างอำนาจแห่งความชั่วร้ายของมาร กับ พลังอำนาจแห่งการสร้างสรรค์ของพระเจ้าเกิดขึ้นที่ไหน?  

สนามประลองยุทธ์ของสงครามยิ่งใหญ่นี้เกิดขึ้นในความคิด และ จิตใจของมนุษย์!  
มนุษย์ที่พระเจ้าทรงสร้าง  มนุษย์ผู้ร่วมพระราชกิจกับพระเจ้าผู้สร้างสรรค์  
แต่พลังอำนาจชั่วร้ายของมารทำงานแย่งชิงมนุษย์ให้มีความคิดกบฏอย่างที่มันเป็นอยู่   และ
เมื่อมนุษย์ตกลงในหลุมพรางนี้แล้ว...  
จะมีความคิดที่ต้องการเป็นผู้มีอำนาจในตนเอง  
เป็นผู้ที่เทียบเท่าพระเจ้า  
มนุษย์ต้องการกบฏต่อการเป็นผู้ร่วมในพระราชกิจของพระเจ้า 
ต้องการเป็นเจ้าของพระราชกิจของพระเจ้าและจัดการตามใจปรารถนาของตนเอง  

ดังนั้น  ในพื้นที่ของความคิดและจิตใจมนุษย์จึงตกเป็นสนามสงครามแย่งชิงและประลองยุทธ์ของพลังอำนาจทั้งสอง

ท่านเคยตกลงใน “หลุมพราง” เช่นนี้ของมารหรือไม่?   ในเหตุการณ์อะไร?   เกิดผลเช่นไรในชีวิต?
แล้วผลที่เกิดขึ้นได้กระทบต่อชีวิตของท่านอย่างไรบ้าง?

สำหรับเปาโลแล้วท่านได้แบ่งปันประสบการณ์ชีวิตการเผชิญอุบายของมารไว้ว่า...
เราต้องมีชีวิตที่เข้มแข็ง   มิใช่เข้มแข็ง “ในตนเอง” แต่เข้มแข็ง “ในองค์พระผู้เป็นเจ้า”  

ประการแรก   เราต้องมีชีวิตภายใต้การครอบครอง การปกป้อง และพระประสงค์ของพระองค์   และสิ่งนี้จะเป็นอานุภาพที่ทรงพลังจากพระเจ้าที่ทำให้เรามีพลังชีวิตที่จะเผชิญหน้าและต่อสู้กับอุบายที่ล่อลวงของมารร้ายได้

ประการที่สอง   เราต้องตระหนักชัดว่า   อำนาจร้ายที่เรากำลังเผชิญต่อสู้นี้   มิใช่การต่อสู้ในด้านร่างกายเท่านั้น   แต่เรากำลังเผชิญหน้ากำลังพลังอำนาจชั่วที่  “ไร้รูป” ที่เราจะไม่เห็นด้วยตา  หรือ  จับต้องได้ด้วยมือ   เปาโลบอกกับเราว่า   เป็นอำนาจชั่วร้ายที่ครอบคลุม  ครอบงำ  ความคิด  ความรู้  ความเข้าใจ  จิตใจ  และจิตวิญญาณของเรา   ซึ่งในอดีตในสังคมไทยเราใช้ภาพของ “วิญญาณชั่ว  ภูตผี  ปีศาจ”  ในการอธิบายอำนาจชั่วร้ายของมาร   ปัจจุบันก็มีผู้ใช้คำว่า  “วิชามาร”  อำนาจชั่วเหล่านี้มาเผชิญหน้าหลอกล่อเราในรูปแบบของ  ความรู้  ปัญญา  หลอกล่อด้วยผลประโยชน์ที่บอกว่าเราจะได้รับ   วางกับดักแห่งอำนาจที่หลอกล่อเราด้วยอำนาจที่เราจะมีในอนาคต   และมารเสนอคุณค่าที่จอมปลอมในชีวิตของเรา   นอกจากนั้นแล้วอำนาจชั่วร้ายยังแฝงเข้ามาในรูปของผลประโยชน์ทางการเมือง   บริโภคนิยม  เงินนิยม  และตัวกูนิยมอีกด้วย

ประการที่สาม   เมื่อเราจำต้องเผชิญหน้ากับอำนาจชั่วร้ายของมารที่ประดังเข้าในชีวิตประจำวันของเราในหลากหลายรูปแบบ   เราจะต้องสวมพระวจนะของพระเจ้าเป็นเครื่องป้องกันจากอาวุธร้ายของมาร   เพื่อเราจะรอดปลอดภัยจากการหลอกล่อและการโจมตีของมาร   เราต้องสัตย์ซื่อต่อพระประสงค์ของพระเจ้าเพื่อการดำเนินชีวิตประจำวันของเราจะมิได้หลงทิศผิดทาง   และสำนึกเสมอว่า  ทุกสิ่งที่เรากระทำในชีวิตประจำวัน  ไม่ว่าชีวิตในครอบครัว  อาชีพการงาน  หรือในสังคมชุมชน   รวมถึงในชุมชนคริสตจักร  เรากระทำทุกอย่างในชีวิตเพื่อถวายพระเกียรติแด่องค์พระผู้เป็นเจ้า   มีพระองค์เป็นผู้ยิ่งใหญ่สูงสุดในชีวิตที่เราเป็นอยู่   มิใช่ใครคนอื่น หรือ ตัวเราเอง

สิ่งที่อันตรายมากคือ   ในชีวิตประจำวันคริสตชนส่วนมากไม่ค่อยรู้เท่าทันและสำนึกว่า   ชีวิตต้องเผชิญกับอุบายหลอกล่อของมาร   แต่กลับมองกับดักของมารว่า  เป็นโอกาสที่ตนจะมีความสุข  ก้าวหน้า  เป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับตน  และมักรีบฉกฉวยเข้ามาในชีวิตของตน   โดยมิได้รู้เท่าทันว่า  ตนได้ฮุบและกลืนเอา “เหยื่อที่หุ้มเบ็ด” เข้าไปในชีวิตของตนเสียแล้ว!  

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

12 พฤศจิกายน 2556

เราจะอธิษฐานเพื่อนักการเมืองอย่างไร?

1... ก่อนอื่นข้าพเจ้าขอกำชับท่านให้ทูลขอ อธิษฐาน วิงวอน และขอบพระคุณพระเจ้าเพื่อทุกคน
2เพื่อเหล่ากษัตริย์และผู้มีอำนาจทั้งปวง เพื่อว่าเราทั้งหลายจะได้อยู่อย่างสงบสุข
ใช้ชีวิตอย่างเงียบๆ ในทางพระเจ้าและความบริสุทธิ์ทุกอย่าง
3การกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่ดีและเป็นที่พอพระทัยพระเจ้าพระผู้ช่วยให้รอดของเรา  (1ทิโมธี 2:1-3 อมต.)

บ่ายที่อากาศอบอ้าวในหน้าร้อนยุคทันสมัยของเรา   มีแพทย์  นักวิศวกร  และนักการเมือง  ทั้งสามคนนั่งวงสนทนากัน   พวกเขากำลังถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนเช่นเดียวกับอากาศในวันนั้นว่า   อาชีพของใครที่มีอายุเก่าแก่มากที่สุด    ผู้เป็นแพทย์ยืนยันว่าอาชีพของตนเก่าแก่เท่าๆ กับชีวิตที่เกิดขึ้นในโลกนี้   เพราะมนุษย์จะอยู่รอดไม่ได้เลยถ้าไม่มีแพทย์ผู้ดูแลสุขภาพ   ดังนั้น  อาชีพแพทย์ต้องเป็นอาชีพที่เก่าแก่อายุยืนยาวที่สุด

แต่วิศวกรเถียงหัวชนฝาไม่เห็นด้วยกับแพทย์   เขาอ้างว่า  ก่อนที่บนโลกนี้จะมีชีวิตมนุษย์เกิดขึ้น   โลกนี้ปกคลุมด้วยความวุ่นวายไม่เป็นระบบระเบียบ   ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีผู้ที่ทำหน้าที่จัดการให้โลกใบนี้มีระบบระเบียบ   เพื่อชีวิตจะได้เกิดขึ้นได้   ดังนั้น  อาชีพวิศวกรน่าจะเกิดขึ้นก่อนแพทย์เป็นอาชีพที่เก่าแก่ที่สุดในโลกนี้

เมื่อกลุ่มสนทนากำลังครุ่นคิดพิจารณาถึงเหตุผลของวิศวกร   บรรยากาศเงียบไปชั่วครู่หนึ่ง   ก็มีเสียงหนึ่งที่พูดขึ้นมาอย่างภาคภูมิใจด้วยวาทะคำถามว่า  “แต่ใครล่ะที่สร้างความวุ่นวายสับสนไร้ระบบระเบียบขึ้นมา?”   “มิใช่นักการเมืองหรอกหรือ   แล้วคุณคิดว่าอาชีพใดล่ะที่เก่าแก่อายุยืนยาวที่สุด?”

น่าจะใช่นะครับ   ถ้าเราพิจารณาว่านักการเมืองในยุคปัจจุบันนี้   สร้างแต่ความวุ่นวายโกลาหล!

เอกลักษณ์ของนักการเมืองในทุกรูปแบบ   เป็นพวกที่โฆษณาชวนให้คนอื่นเชื่อตนเอง   สร้างแต่เรื่องอื้อฉาวน่าอดสู   ทำทุกอย่างเพียงเพื่อตนจะได้รับการเลือกตั้ง   แล้วก็เข้าถึงโอกาสที่จะเสวยสุขบนความทุกข์ยากของประชาชน

ไม่ว่านักการเมืองระดับสากล  ระดับชาติ  หรือนักการเมืองในคราบนักการศาสนา   ต่างก็คิดและทำเช่นเดียวกันนี้

เอกลักษณ์ของผู้คนในกลุ่มอาชีพนี้คือ  ไม่ได้ทำในสิ่งที่ตนพูด ตนสัญญา หรือ ตนเทศนาครับ!

แต่ก็ยังเป็นความรับผิดชอบของเราคริสตชนที่จะต้องอธิษฐานเพื่อผู้นำเหล่านี้ทั้งในองค์กรศาสนา และ องค์กรการเมืองระดับชาติ  และระดับสากลด้วยครับ  

เพราะมีเพียงหนทางเดียวที่จะกู้สถานการณ์ที่เลวร้ายอันเป็นผลของผู้นำองค์กรที่ใช้แนวทางการเมืองที่สร้างความสับสนวุ่นวายและล่มจมในที่สุดคือ   เราต้องอธิษฐานต่อพระเจ้าโปรดเมตตาที่จะเปลี่ยนชีวิต ความคิด จิตใจ  และจิตวิญญาณของผู้นำเหล่านี้   ไม่ว่าเราจะลงคะแนนเลือกคนเหล่านี้หรือไม่ก็ตาม

จากข้อเขียนของเปาโลที่เราอ่านในวันนี้ว่า  เมื่อชุมชนและองค์กรของเรามีผู้นำที่มาโดยไม่เหมาะสม  ไม่ชอบธรรมแล้วมามีอำนาจบริหารจัดการชุมชนและองค์กรของเรา   ให้เราอธิษฐานเพื่อผู้นำเหล่านี้ต่อพระคริสต์   เพื่อพวกเขาอาจจะเติบโตขึ้นในพระองค์   และยอมปกครองบริหารจัดการด้วยปัญญาที่มาจากเบื้องบน  อย่างยุติธรรม  ชอบธรรม  และสันติสุข

แต่จะดีกว่านั้น   ถ้าเราจะร่วมใจร่วมพลังกันอธิษฐานเพื่อผู้ที่จะมาเป็นผู้นำในองค์กรของเรา  ประเทศของเรา...  

ให้หลุดรอดออกจากอำนาจความชั่วร้ายที่ใช้วิทยายุทธ์ของมาร   ในการหาเสียงเพื่อรับการเลือกตั้งในองค์กร ในประเทศของเรา  

ให้หลุดรอดออกจากวิธีการเสนอผลประโยชน์แต่ซ่อนเร้นการกอบโกยผลประโยชน์แห่งตนไว้ข้างหลัง

ให้ผู้นำเหล่านี้หลุดรอดออกจากกับดักและการทดลองของสิ่งชั่วร้าย

ให้ผู้นำเหล่านี้เข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้า   และเป็นทาสรับใช้ของพระคริสต์   เพื่อจะนำคุณภาพชีวิตแห่งแผ่นดินของพระเจ้าเกิดขึ้นเป็นจริงและรูปธรรมในองค์กร  สังคม  และในโลกนี้  ด้วยการหนุนเสริมเพิ่มพลังจากพระวิญญาณบริสุทธิ์

ให้ผู้นำเหล่านี้เลิก “โฆษณาชวนให้คนอื่นเชื่อตนเอง”   แต่กลับใจและอธิษฐานตามแบบที่พระเยซูคริสต์ทรงสอนว่า  

“...ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่เคารพสักการะ
...ขอให้แผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่
...ขอให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์
ในสวรรค์เป็นอย่างไร  ให้เป็นเช่นนั้นในแผ่นดินโลก
ขอประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพระองค์ในวันนี้
...ขอทรงยกบาปผิดของพวกข้าพระองค์
เหมือนข้าพระองค์ยกโทษบรรดาคนที่ทำผิดต่อข้าพระองค์
...ขออย่าทรงนำพวกข้าพระองค์เข้าไปในการทดลอง
แต่ขอให้พวกข้าพระองค์พ้นจากความชั่วร้าย...”


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

09 พฤศจิกายน 2556

มุมมองดีๆ ต่อประสบการณ์ที่แย่ๆ

เมื่อคนเราได้รับประสบการณ์ที่เลวร้าย หรือ แย่ๆ  เรามักพูดว่าอย่างไรครับ   บางคนอาจจะพูดว่า
  • ช่างมันเถอะ...  เพราะฉันไม่สนใจที่จะทำงานชิ้นนี้ตั้งแต่แรกแล้ว
  • จบสิ้นกันชีวิตฉัน...
  • เลิกกันที...อย่าทำมันอีกเลย
  • ฉันได้รับประสบการณ์จากการทำผิดพลาดของฉัน   แต่จะมีใครช่วยฉันหรือเปล่าเนี่ยะ
  • เดี๋ยวนี้ฉันรู้แล้วว่า  มีสามวิธีที่ไม่ได้ผล   ฉันจะทดลองต่อไป


คำตอบเหล่านี้บอกเรามากกว่าประสบการณ์ที่เลวร้าย  แต่บอกเราถึงมุมมองของผู้ตอบคนนั้นๆ   แม้จะได้รับประสบการณ์ที่เลวร้ายเดียวกัน   แต่มีการตอบที่แตกต่างหลากหลาย

ถ้าเราทบทวนถึงประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมา   เราจะพบเห็นว่า   หลายครั้งที่การกระทำผิดพลาดได้สร้างความเจ็บปวดในชีวิตของเรา   แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปชุดความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา   เรากลับเรียกสิ่งนั้นว่า “ประสบการณ์”   การที่แต่ละคนจะมองประสบการณ์ความยากลำบากอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน   ผมคิดย้อนหลังไปในอดีตเมื่อยังเป็นเด็ก  

ผมจำได้ว่า เวลานั้นอาศัยที่บ้านตายาย  หลังบ้านเป็นแม่น้ำ      คุณอาพาผมลงเล่นน้ำ  ผมว่ายน้ำไม่เป็นจึงต้องใช้ห่วงยางและคุณอาเอาขาข้างหนึ่งคล้องห่วงยางของผมแล้วพาว่ายข้ามฟากไปฝั่งโน้น   ในเวลานั้นผมรู้สึกว่าแม่น้ำนี้กว้างใหญ่มาก   แต่ภายหลังผมโตเป็นผู้ใหญ่กลับไปเยี่ยมคุณยายที่บ้านนั้นอีก   ผมไปดูแม่น้ำที่ผมเคยว่ายข้ามด้วยห่วงยาง    ผมรู้สึกว่ามันทำไมแคบนิดเดียว   เมื่อเป็นเด็กผมรู้สึกว่าแม่น้ำนั้นกว้างใหญ่   แต่เมื่อเป็นผู้ใหญ่กลับรู้สึกว่ามันแคบเล็กลงมาก   ทั้งๆ ที่คุณอายืนยันว่า “มันก็เหมือนเดิม”

เมื่อเราต้องพบกับความยากลำบากในชีวิต   การที่จะมีมุมมองไม่ให้อ่อนไหวตามความรู้สึกของเรานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย   แต่การมีมุมมองที่เหมาะสมนั้นเป็นสิ่งที่เราจำเป็นจะต้องมี   ซึ่งมีสามประเด็นในเรื่องนี้ที่น่าสนใจ

อย่าใช้ประสบการณ์ที่เลวร้ายมาตีค่าชีวิตของตนเอง

เมื่อเกิดประสบการณ์ที่แย่ๆ จากการทำงานหรือการดำเนินชีวิต   เราต้องตระหนักชัดก่อนว่าประสบการณ์แย่ๆ ที่เราได้รับนั้น มิใช่ ตัวบ่งบอกหรือชี้ชัดว่าเราเป็นคนเช่นนั้น!   เพราะบ่อยครั้ง ประสบการณ์ที่เราได้รับนั้นมิได้เกิดขึ้นเพราะการคิด  การตัดสินใจ  หรือการกระทำของเราแต่เพียงคนเดียวเท่านั้น   นอกจากนั้นยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์แวดล้อมที่ตอบสนองต่อการกระทำในครั้งนั้นด้วย   ดังนั้น จึงไม่ควรให้ประสบการณ์ที่เราได้รับในครั้งนั้นเป็นตัวตีค่า กำหนด บ่งบอกภาพลักษณ์ความเป็นเราตามประสบการณ์ที่เราได้รับ  จนตีค่าว่า “เราล้มเหลว”

แต่สิ่งสำคัญคือ  พยายามที่จะวิเคราะห์ เสาะหาที่จะเข้าใจในผลที่เกิดขึ้นจนเป็นบทเรียนจากประสบการณ์ของเรา  และให้เข้าใจและยอมรับว่าเราเป็นคนๆ หนึ่ง   และเมื่อต้องประสบกับความล้มเหลวในชีวิต   อย่าตีตราตนเองว่า “ฉันเป็นคนล้มเหลว”   แต่เราต้องมีมุมมองที่ชัดเจนในเวลาเช่นนั้นว่า “ฉันกำลังพบกับความผิดพลาด... แต่มันไม่ใช่เป็นการล้มเหลว  จบสิ้น   ใช่ครั้งนี้ฉันผิดพลาดจริง  แต่ยังมีทางออกที่จะทำให้ถูกต้อง สำเร็จเป็นจริงได้”

อย่าคลุกย่ำในโคลนตมแห่งความสงสารตนเอง

การกระทำที่แย่ๆ ประการหนึ่งที่เรามักทำกับตนเองเมื่อเกิดประสบการณ์ที่เลวร้ายคือ  การสงสารตนเอง  เป็นธรรมดาของคนเราครับที่ประสบกับประสบการณ์ที่แย่ๆ เรามักรู้สึกโศกเศร้า เสียใจ  แล้วรู้สึกสงสารตนเอง   คนเรามีความรู้สึก   เรายอมรับความรู้สึกนั้น   แต่ที่สำคัญคืออย่ายอม “ตกเป็นเหยื่อ” ของความรู้สึกดังกล่าว   หรืออย่ายอมให้ความรู้สึกสงสารตนเองเพิ่มพูนทวีคูณจนครอบทับทั้งชีวิตของเราจนยอมแพ้ราบคาบ

ความรู้สึกสงสารตนเองย่อมเกิดขึ้นได้ในแต่ละคน   แต่เราจะต้องสามารถควบคุมความรู้สึกสงสารตนเอง   เราอาจจะสงสารตนเองสักพักหนึ่งได้   แล้วให้เราสลัด “ความสงสารตนเอง” ให้หลุดออกไปจากห้วงคิดความรู้สึก  ลุกขึ้นแล้วเริ่มก้าวออกจาก “ปลักโคลนแห่งความสงสารตนเอง”  เพราะถ้าเรายังย่ำคลุกตนเองในปลักโคลนตมแห่งการสงสารตนเองแล้ว   มันจะดูดดึงเราให้จมลึกลงในโคลนตมนั้นกว่าเดิม   จนในที่สุดเราจะฉุดตนเองออกจากโคลนตมแห่งความสงสารตนเองไม่ได้    เราต้องเชื่อว่าเราก้าวและหลุดออกจากปลักโคลนตมแห่งการสงสารตนเองได้    เพราะสิ่งดีสำหรับเราและคนอื่นกำลังรอเราอยู่ข้างหน้า   สิ่งที่เราต้องทำคือ  “ต้องก้าวต่อไป” 

เราจะต้องตระหนักชัดว่า  ประสบการณ์ที่เลวร้ายที่เราเผชิญนี้เป็นเพียงสัจจะความจริงเพียงครึ่งเดียวของประสบการณ์ทั้งหมด   อีกครึ่งหนึ่งคือประสบการณ์ที่เราจะรู้ว่า  เราจะหลุดรอดออกจากแรงดูดของโคลนตมแห่งการสงสารตนเองในประสบการณ์ความเร็วร้ายนี้อย่างไร   เมื่อใดที่เราสามารถก้าวหลุดออกจากแรงดูดของโคลนตมนี้เราได้รับประสบการณ์แห่งสัจจะอีกครึ่งหนึ่ง   เมื่อนั้น  เราสามารถที่จะเอาประสบการณ์ที่เลวร้ายมาประกบเข้ากับประสบการณ์การหลุดรอดออกจากโคลนตมเป็นประสบการณ์เต็มในชีวิต   และเราสามารถที่จะใช้ประสบการณ์เต็มนี้ช่วยเหลือเพื่อนๆ ของเรา   เพื่อให้สามารถผ่านทะลุประสบการณ์ที่แย่และเลวร้ายที่เขาประสบพบเจอได้

อย่ามองประสบการณ์ความล้มเหลวแยกส่วนจากประสบการณ์ความสำเร็จ

เมื่อเราล้มเหลว  เราได้รับประสบการณ์ที่เลวร้าย   แต่มันอยู่ที่เราจะมองจะเรียกประสบการณ์ที่ล้มเหลวเลวร้ายนั้นว่าอะไร   นั่นแหละคือตัวจริงของความคิด  ความรู้สึก  และความเชื่อของเราในเวลาเช่นนั้น   หลายคนเรียกประสบการณ์ความล้มเหลวเลวร้ายว่า
นี่เป็นประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากที่เราคิด
นี่เป็นการทดลองข้อสมมติฐาน
เรากำลังค้นหาและจัดเก็บข้อมูลในเรื่องนี้อยู่

คนกลุ่มนี้เขามีมุมมองเกี่ยวประสบการณ์ที่ได้รับอย่างมีพลัง   เขาไม่จมจ่อมอยู่ในประสบการณ์ความล้มเหลวนั้นแต่เพียงคนเดียว   แต่เขากลับนำสิ่งที่เขาได้รับแต่ไม่เป็นไปตามที่เขาคาดคิดหรือคาดหวังแบ่งปัน พูดคุย ปรึกษากับคนอื่น   เพื่อที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เลวร้ายนั้น  เพื่อที่จะหา “แรงงัด” สู่ความสำเร็จที่อยู่ข้างหน้าเขา   และนี่คือมุมมองที่ทรงพลังมิใช่หรือ!

นักจิตวิทยา Dr. Joyce Brothers  กล่าวไว้ว่า “คนที่สนใจในความสำเร็จ  เขาเรียนรู้ที่จะมอง “ความล้มเหลว” ว่าเป็นสิ่งดีมีประโยชน์  เป็นขั้นตอนก้าวเดินสู่สุดยอดของความสำเร็จที่เราไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธได้” 

ใช่ครับ   เราไม่ควรมีมุมมองแบบแยกส่วน   ที่แยกประสบการณ์ที่ล้มเหลวเลวร้ายออกจากประสบการณ์แห่งความสำเร็จ   แต่ประสบการณ์ทั้งสองส่วนนี้เป็นประสบการณ์ที่ได้จากกระบวนการเดียวกัน   แต่ถ้าเราแยกประสบการณ์ส่วนความล้มเหลวออกจากประสบการณ์ความสำเร็จ   เราก็มักไปติดแหงกอยู่แค่ประสบการณ์ของความเลวร้ายล้มเหลว   ไปไม่ถึงประสบการณ์แห่งความสำเร็จเสร็จครบสักที!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499