09 พฤศจิกายน 2556

มุมมองดีๆ ต่อประสบการณ์ที่แย่ๆ

เมื่อคนเราได้รับประสบการณ์ที่เลวร้าย หรือ แย่ๆ  เรามักพูดว่าอย่างไรครับ   บางคนอาจจะพูดว่า
  • ช่างมันเถอะ...  เพราะฉันไม่สนใจที่จะทำงานชิ้นนี้ตั้งแต่แรกแล้ว
  • จบสิ้นกันชีวิตฉัน...
  • เลิกกันที...อย่าทำมันอีกเลย
  • ฉันได้รับประสบการณ์จากการทำผิดพลาดของฉัน   แต่จะมีใครช่วยฉันหรือเปล่าเนี่ยะ
  • เดี๋ยวนี้ฉันรู้แล้วว่า  มีสามวิธีที่ไม่ได้ผล   ฉันจะทดลองต่อไป


คำตอบเหล่านี้บอกเรามากกว่าประสบการณ์ที่เลวร้าย  แต่บอกเราถึงมุมมองของผู้ตอบคนนั้นๆ   แม้จะได้รับประสบการณ์ที่เลวร้ายเดียวกัน   แต่มีการตอบที่แตกต่างหลากหลาย

ถ้าเราทบทวนถึงประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมา   เราจะพบเห็นว่า   หลายครั้งที่การกระทำผิดพลาดได้สร้างความเจ็บปวดในชีวิตของเรา   แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปชุดความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา   เรากลับเรียกสิ่งนั้นว่า “ประสบการณ์”   การที่แต่ละคนจะมองประสบการณ์ความยากลำบากอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน   ผมคิดย้อนหลังไปในอดีตเมื่อยังเป็นเด็ก  

ผมจำได้ว่า เวลานั้นอาศัยที่บ้านตายาย  หลังบ้านเป็นแม่น้ำ      คุณอาพาผมลงเล่นน้ำ  ผมว่ายน้ำไม่เป็นจึงต้องใช้ห่วงยางและคุณอาเอาขาข้างหนึ่งคล้องห่วงยางของผมแล้วพาว่ายข้ามฟากไปฝั่งโน้น   ในเวลานั้นผมรู้สึกว่าแม่น้ำนี้กว้างใหญ่มาก   แต่ภายหลังผมโตเป็นผู้ใหญ่กลับไปเยี่ยมคุณยายที่บ้านนั้นอีก   ผมไปดูแม่น้ำที่ผมเคยว่ายข้ามด้วยห่วงยาง    ผมรู้สึกว่ามันทำไมแคบนิดเดียว   เมื่อเป็นเด็กผมรู้สึกว่าแม่น้ำนั้นกว้างใหญ่   แต่เมื่อเป็นผู้ใหญ่กลับรู้สึกว่ามันแคบเล็กลงมาก   ทั้งๆ ที่คุณอายืนยันว่า “มันก็เหมือนเดิม”

เมื่อเราต้องพบกับความยากลำบากในชีวิต   การที่จะมีมุมมองไม่ให้อ่อนไหวตามความรู้สึกของเรานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย   แต่การมีมุมมองที่เหมาะสมนั้นเป็นสิ่งที่เราจำเป็นจะต้องมี   ซึ่งมีสามประเด็นในเรื่องนี้ที่น่าสนใจ

อย่าใช้ประสบการณ์ที่เลวร้ายมาตีค่าชีวิตของตนเอง

เมื่อเกิดประสบการณ์ที่แย่ๆ จากการทำงานหรือการดำเนินชีวิต   เราต้องตระหนักชัดก่อนว่าประสบการณ์แย่ๆ ที่เราได้รับนั้น มิใช่ ตัวบ่งบอกหรือชี้ชัดว่าเราเป็นคนเช่นนั้น!   เพราะบ่อยครั้ง ประสบการณ์ที่เราได้รับนั้นมิได้เกิดขึ้นเพราะการคิด  การตัดสินใจ  หรือการกระทำของเราแต่เพียงคนเดียวเท่านั้น   นอกจากนั้นยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์แวดล้อมที่ตอบสนองต่อการกระทำในครั้งนั้นด้วย   ดังนั้น จึงไม่ควรให้ประสบการณ์ที่เราได้รับในครั้งนั้นเป็นตัวตีค่า กำหนด บ่งบอกภาพลักษณ์ความเป็นเราตามประสบการณ์ที่เราได้รับ  จนตีค่าว่า “เราล้มเหลว”

แต่สิ่งสำคัญคือ  พยายามที่จะวิเคราะห์ เสาะหาที่จะเข้าใจในผลที่เกิดขึ้นจนเป็นบทเรียนจากประสบการณ์ของเรา  และให้เข้าใจและยอมรับว่าเราเป็นคนๆ หนึ่ง   และเมื่อต้องประสบกับความล้มเหลวในชีวิต   อย่าตีตราตนเองว่า “ฉันเป็นคนล้มเหลว”   แต่เราต้องมีมุมมองที่ชัดเจนในเวลาเช่นนั้นว่า “ฉันกำลังพบกับความผิดพลาด... แต่มันไม่ใช่เป็นการล้มเหลว  จบสิ้น   ใช่ครั้งนี้ฉันผิดพลาดจริง  แต่ยังมีทางออกที่จะทำให้ถูกต้อง สำเร็จเป็นจริงได้”

อย่าคลุกย่ำในโคลนตมแห่งความสงสารตนเอง

การกระทำที่แย่ๆ ประการหนึ่งที่เรามักทำกับตนเองเมื่อเกิดประสบการณ์ที่เลวร้ายคือ  การสงสารตนเอง  เป็นธรรมดาของคนเราครับที่ประสบกับประสบการณ์ที่แย่ๆ เรามักรู้สึกโศกเศร้า เสียใจ  แล้วรู้สึกสงสารตนเอง   คนเรามีความรู้สึก   เรายอมรับความรู้สึกนั้น   แต่ที่สำคัญคืออย่ายอม “ตกเป็นเหยื่อ” ของความรู้สึกดังกล่าว   หรืออย่ายอมให้ความรู้สึกสงสารตนเองเพิ่มพูนทวีคูณจนครอบทับทั้งชีวิตของเราจนยอมแพ้ราบคาบ

ความรู้สึกสงสารตนเองย่อมเกิดขึ้นได้ในแต่ละคน   แต่เราจะต้องสามารถควบคุมความรู้สึกสงสารตนเอง   เราอาจจะสงสารตนเองสักพักหนึ่งได้   แล้วให้เราสลัด “ความสงสารตนเอง” ให้หลุดออกไปจากห้วงคิดความรู้สึก  ลุกขึ้นแล้วเริ่มก้าวออกจาก “ปลักโคลนแห่งความสงสารตนเอง”  เพราะถ้าเรายังย่ำคลุกตนเองในปลักโคลนตมแห่งการสงสารตนเองแล้ว   มันจะดูดดึงเราให้จมลึกลงในโคลนตมนั้นกว่าเดิม   จนในที่สุดเราจะฉุดตนเองออกจากโคลนตมแห่งความสงสารตนเองไม่ได้    เราต้องเชื่อว่าเราก้าวและหลุดออกจากปลักโคลนตมแห่งการสงสารตนเองได้    เพราะสิ่งดีสำหรับเราและคนอื่นกำลังรอเราอยู่ข้างหน้า   สิ่งที่เราต้องทำคือ  “ต้องก้าวต่อไป” 

เราจะต้องตระหนักชัดว่า  ประสบการณ์ที่เลวร้ายที่เราเผชิญนี้เป็นเพียงสัจจะความจริงเพียงครึ่งเดียวของประสบการณ์ทั้งหมด   อีกครึ่งหนึ่งคือประสบการณ์ที่เราจะรู้ว่า  เราจะหลุดรอดออกจากแรงดูดของโคลนตมแห่งการสงสารตนเองในประสบการณ์ความเร็วร้ายนี้อย่างไร   เมื่อใดที่เราสามารถก้าวหลุดออกจากแรงดูดของโคลนตมนี้เราได้รับประสบการณ์แห่งสัจจะอีกครึ่งหนึ่ง   เมื่อนั้น  เราสามารถที่จะเอาประสบการณ์ที่เลวร้ายมาประกบเข้ากับประสบการณ์การหลุดรอดออกจากโคลนตมเป็นประสบการณ์เต็มในชีวิต   และเราสามารถที่จะใช้ประสบการณ์เต็มนี้ช่วยเหลือเพื่อนๆ ของเรา   เพื่อให้สามารถผ่านทะลุประสบการณ์ที่แย่และเลวร้ายที่เขาประสบพบเจอได้

อย่ามองประสบการณ์ความล้มเหลวแยกส่วนจากประสบการณ์ความสำเร็จ

เมื่อเราล้มเหลว  เราได้รับประสบการณ์ที่เลวร้าย   แต่มันอยู่ที่เราจะมองจะเรียกประสบการณ์ที่ล้มเหลวเลวร้ายนั้นว่าอะไร   นั่นแหละคือตัวจริงของความคิด  ความรู้สึก  และความเชื่อของเราในเวลาเช่นนั้น   หลายคนเรียกประสบการณ์ความล้มเหลวเลวร้ายว่า
นี่เป็นประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากที่เราคิด
นี่เป็นการทดลองข้อสมมติฐาน
เรากำลังค้นหาและจัดเก็บข้อมูลในเรื่องนี้อยู่

คนกลุ่มนี้เขามีมุมมองเกี่ยวประสบการณ์ที่ได้รับอย่างมีพลัง   เขาไม่จมจ่อมอยู่ในประสบการณ์ความล้มเหลวนั้นแต่เพียงคนเดียว   แต่เขากลับนำสิ่งที่เขาได้รับแต่ไม่เป็นไปตามที่เขาคาดคิดหรือคาดหวังแบ่งปัน พูดคุย ปรึกษากับคนอื่น   เพื่อที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เลวร้ายนั้น  เพื่อที่จะหา “แรงงัด” สู่ความสำเร็จที่อยู่ข้างหน้าเขา   และนี่คือมุมมองที่ทรงพลังมิใช่หรือ!

นักจิตวิทยา Dr. Joyce Brothers  กล่าวไว้ว่า “คนที่สนใจในความสำเร็จ  เขาเรียนรู้ที่จะมอง “ความล้มเหลว” ว่าเป็นสิ่งดีมีประโยชน์  เป็นขั้นตอนก้าวเดินสู่สุดยอดของความสำเร็จที่เราไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธได้” 

ใช่ครับ   เราไม่ควรมีมุมมองแบบแยกส่วน   ที่แยกประสบการณ์ที่ล้มเหลวเลวร้ายออกจากประสบการณ์แห่งความสำเร็จ   แต่ประสบการณ์ทั้งสองส่วนนี้เป็นประสบการณ์ที่ได้จากกระบวนการเดียวกัน   แต่ถ้าเราแยกประสบการณ์ส่วนความล้มเหลวออกจากประสบการณ์ความสำเร็จ   เราก็มักไปติดแหงกอยู่แค่ประสบการณ์ของความเลวร้ายล้มเหลว   ไปไม่ถึงประสบการณ์แห่งความสำเร็จเสร็จครบสักที!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น