29 มกราคม 2564

คำถามที่ผู้นำคริสตจักรที่เข้มแข็งใช้ถามตนเอง?

สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นว่า เป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่งที่มีในตัวของผู้นำที่เข้มแข็งในคริสตจักรคือ “คำถามที่เขาจะใช้ถามตนเองในชีวิตและงานรับใช้”  ซึ่งพอรวบรวมได้ดังนี้

1. เราได้อธิษฐานในเรื่องนี้เพียงพอหรือไม่? ผู้นำคริสตจักรที่ดีกลุ่มนี้จะถามตนเองเสมอในเรื่องต่าง ๆ ที่เขาจะทำและนำด้วยคำถามดังกล่าว พวกเขาจะลังเลใจถ้าขับเคลื่อนเรื่องใดโดยมิได้แสวงหาน้ำพระทัยของพระเจ้าก่อน ผู้นำกลุ่มนี้เป็นผู้นำที่ได้รับพระพรจากเบื้องบน พวกเขาพึ่งพิงในพระเจ้าตลอดเวลา

2. อะไรคือนิมิตระยะยาวในเรื่องนี้? ผู้นำกลุ่มนี้ตระหนักถึงความสำคัญของการนำอย่างมีทิศทางระยะยาวที่ชัดเจน ถึงแม้พวกเขาจะเรียกร้องต้องการมุมมองแห่งจิตวิญญาณ แต่พวกเขาขับเคลื่อนด้วยเชิงรุกมิใช่ด้วยเชิงรับ

3. งานพันธกิจนี้ในแผนการของพระเจ้ามีขนาดล้ำลึกแค่ไหน? ผู้นำกลุ่มนี้จะจัดการเฉพาะสิ่งที่ตนรู้ว่าตนทำได้ พวกเขาตระหนักรู้ว่าตนมีความจำกัดในงานนั้น และแผนงานที่เขาทำเป็นส่วนหนึ่งในแผนการของพระเจ้าที่พระองค์จะเป็นผู้ควบคุมดูแลการขับเคลื่อนในส่วนอื่น ๆ ที่นอกเหนือความจำกัดของตน

4. เราจะตรวจสอบได้อย่างไรว่างานนี้มีความเป็นไปได้? การประเมินเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้นำ แท้จริงแล้ว ผู้นำจะคิดถึงการประเมินผลตั้งแต่เขากำลังวางแผนแล้ว

5. ถ้าแผนงานไม่ดำเนินไปตามที่วางไว้ เขาจะถามว่าทำไมมันไม่เป็นไปตามแผน? เมื่อสิ่งต่าง ๆ ไม่ได้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ผู้นำจะไม่ว้าวุ่นสับสน และ ล้มเลิกการทำตามแผนนั้น แต่เขาแสวงหาทางที่จะเรียนรู้ว่าจะปรับแก้พัฒนาแผนนั้นอย่างไร

6. งานนี้จะนำเราเข้าถึงผู้ที่ยังไม่เชื่อในพระเจ้าและสร้างพวกเขาให้เป็นสาวกพระคริสต์หรือไม่? หากพันธกิจและแผนงานไม่ได้ทำให้คริสตจักรได้กระทำตามพระมหาบัญชา ผู้นำที่เข้มแข็งจะไม่ค่อยสนใจที่จะขับเคลื่อนงานนั้น

7. ถ้าฉันไม่ได้อยู่ที่นี่ต่อไป พันธกิจนี้จะขับเคลื่อนไปจนสำเร็จเกิดผลไหม? นี่เป็นคำถามพื้นฐานของผู้นำกลุ่มนี้ ถ้างานหรือพันธกิจที่เราริเริ่มขึ้นเริ่มติดขัดหรือหยุดชะงักลงหลังจากที่เราออกจากงานนั้น นั่นแสดงว่าเรานำงานนี้ไม่ดีตั้งแต่เริ่มต้น

8. ฉันจะเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ได้อย่างไร? ผู้นำกลุ่มนี้มิเพียงแต่ประเมินการทำงานร่วมกันในคริสตจักรเท่านั้น แต่เขาประเมินประสิทธิภาพของเขาเองด้วย ผู้นำกลุ่มนี้ไม่ต้องการให้ความพยายามของเขาต้องติดขัด

9. ฉันได้ส่งสมาชิกคริสตจักรไปยังคริสตจักรท้องถิ่นอื่น ๆ และ พื้นที่ที่ทำพันธกิจกี่คน?   ความน่าเชื่อถือของผู้นำกลุ่มนี้ อยู่ที่เขาส่งคนของเขาเข้าไปรับใช้และรับผิดชอบพระราชกิจแห่งแผ่นดินของพระเจ้า แม้เขาอาจจะเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง แต่มิได้สนใจที่จะสร้างเสริมแต่ “อาณาจักรของตนเอง” แต่ใส่ใจที่จะส่งผู้คนไปเพื่อร่วมเสริมสร้างแผ่นดินของพระเจ้า

10. ฉันได้มีมาตรการป้องกันเพียงพอที่จะหลีกเลี่ยงความล้มเหลวหรือไม่? ในประการนี้ผู้นำกลุ่มนี้ได้แสดงออกถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนและสติปัญญาของเขาอย่างชัดเจน พวกเขาถ่อมตนถ่อมใจมากพอที่จะตระหนักชัดว่าตนมีโอกาสที่จะพลาดพลั้งล้มเหลวได้ และพวกเขามีสติปัญญามากพอที่รู้ชัดว่า พวกเขาต้องตั้งใจต่อต้านรับมือกับความล้มเหลวที่จะเกิดขึ้นนั้น

ท่านล่ะครับ... ท่านมีคำถามสำคัญที่ใช้ถามตนเองในการเป็นผู้นำหรือไม่? อะไรบ้าง? คำถามข้างบนข้อไหนที่ท่านเห็นว่าท่านต้องใช้ถามตนเอง?

 

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499




27 มกราคม 2564

ก้าวที่สี่ของการเข้าสู่การเยียวยารักษา...ตามพระสัญญา

เราต้องหันกลับจากวิถีชีวิตอันชั่วร้ายของเรา

ข้อเขียนก่อนหน้านี้กล่าวถึงย่างก้าวประชากรของพระเจ้าที่เข้าสู่การเยียวยารักษาชีวิต และ สังคมประเทศชาติ 3 ย่างก้าวคือ เราต้องถ่อมจิตใจลงสารภาพความบาปผิดของเรา ย่างก้าวที่สอง เราจะต้อง “อธิษฐานด้วยชีวิตและจากความจริงใจ ย่างก้าวที่สาม เราต้องแสวงหาพระพักตร์ของพระเจ้า  และ

ในข้อเขียนนี้ ย่างก้าวที่สี่ เราต้องหันกลับจากวิถีชีวิตอันชั่วร้ายของเรา 

4. เราต้องหันกลับจากวิถีชีวิตอันชั่วร้ายของเรา

“หากประชากรของเราซึ่งเรียกชื่อตามนามของเราจะถ่อมใจลงและอธิษฐาน  แสวงหาหน้าของเรา และ ‘หันกลับจากวิถีอันชั่วร้ายของเขา...” (2พงศาวดาร 7:14 อมธ.)

วิถีหรือกระบวนการนำไปสู่การเยียวรักษาในทุกมิติชีวิต และ สังคมของเรามีเงื่อนไขสี่ประการคือ  เราต้องถ่อมจิตใจลงสารภาพความบาปผิดของเรา เราต้องอธิษฐานด้วยความจริงใจ เราจะต้องแสวงหาพระเจ้าด้วยสุดจิตสุดใจ และประการที่สี่ เราจะต้องหันกลับจากวิถีชีวิตอันชั่วร้ายของเรา   นั่นหมายความว่าเราจะต้องหันกลับมาหาพระเจ้าอย่างสิ้นเชิง

ถ้าประชากรของพระเจ้า ที่เรียกตามชื่อของพระองค์ จะถ่อมจิตใจลง อธิษฐานอย่างจริงใจต่อพระองค์ แสวงหาพระเจ้า และหันกลับจากวิถีชีวิตที่ชั่วร้ายของตน พระเจ้าจะทรงโปรดยกโทษพวกเขา และพระองค์จะทรงเยียวยารักษาบาดแผลในชีวิตของเขา และจะรักษาแผ่นดินของเขาให้หายจากหายนะฉีกขาด

การหันกลับจากวิถีชีวิตเดิมที่ชั่วร้าย ในภาษากรีกคือการหันกลับ และ การเปลี่ยนแปลงความนึกคิดของเรา เปลี่ยนการกระทำงานในระบบประสาทของเรา คำว่าการกลับใจแปลง่าย ๆ คือการเปลี่ยนความนึกคิด หรือ ฐานคิดของเรา โดยปกติเรามักมีความคิดว่า มีคนพวกหนึ่งที่คิดไปในทางที่ชั่วร้าย และอีกพวกหนึ่งคิดไปในทางที่ดี แล้วเราก็คิดว่าตนจะคิดไปในทางที่ดี แล้วเราก็ชี้นิ้วต่อว่าพวกที่ทำในวิถีที่ชั่วร้าย การคิดเช่นนี้เป็นการคิดที่ผิดพลาดอย่างมาก ทำไมถึงว่าเช่นนั้น เพราะในความเป็นจริงแล้วเราทุกคนต่างเป็นคนที่มีความคิดและอยู่บนวิถีชีวิตที่ชั่วร้าย   พระคัมภีร์บอกเราชัดเจนว่า มนุษย์ทุกคนต่างตกลงในความผิดบาปและขาดการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า ดังนั้น เราทุกคนต่างต้องการพระผู้ช่วยให้รอดทั้งสิ้น เพราะเราก็เป็นคนชั่ว และเขาก็เป็นคนชั่วด้วย เราทุกคนต่างอยู่ในเรือความบาปชั่วลำเดียวกัน

ปัญหาคือ: เราไม่เห็นถึงความชั่วร้ายในชีวิตของเราเอง

ชัดเจนว่า เราสามารถมองเห็นถึงความชั่วร้ายของคนอื่น ๆ เราสามารถชี้ถึงความชั่วร้ายของคนอื่นได้อย่างรวดเร็ว แต่ปัญหาคือเราไม่สามารถเห็นถึงวิถีชีวิตที่ชั่วร้ายของตัวเราเอง

ในพระคัมภีร์มีหลายตอนที่บ่งชี้ถึงความชั่วร้ายในชีวิตของเรา แต่จะขอยกมาสักตอนหนึ่งเป็นเหมือนไม่บรรทัดที่จะวัดและตรวจสอบชีวิตของเรา จาก 2ทิโมธี 3:2-5 ที่เปาโลได้ให้ 19 วิถีชีวิตที่ชั่วร้าย และผู้คนจะมีชีวิตในลักษณะดังกล่าว เราสามารถที่จะใช้ข้อพระคัมภีร์ตอนนี้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบชีวิตส่วนตัวของเราเองแต่ละคน เพื่อเป็นการประเมินชีวิตของตนเอง และ ตรวจสอบประเด็นชีวิตที่เราจะต้องสารภาพความผิดบาปในชีวิตของเรา มีดังนี้คือ...

“ผู้คนจะรักตนเอง รักเงิน ชอบโอ้อวด หยิ่งยโส ชอบด่าว่า ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ อกตัญญู ไม่บริสุทธิ์ ไม่มีความรัก ไม่ให้อภัย ชอบนินทาว่าร้าย ไม่มีการควบคุมตนเอง โหดร้าย ไม่รักความดี  ทรยศหักหลัง หุนหันพลันแล่น ถือดี รักสนุกมากกว่ารักพระเจ้า ยึดถือทางพระเจ้าเพียงเปลือกนอกแต่กลับปฏิเสธฤทธิ์อำนาจของพระเจ้า อย่าไปคบคนแบบนี้” (2ทิโมธี 3:2-5 อมธ.)

พระคัมภีร์ตอนนี้เขียนเมื่อกว่าสองพันปีก่อน ที่กล่าวถึงวิถีชีวิตที่ชั่วร้าย น่าสังเกตว่าไม่มีความแตกต่างจากวิถีชีวิตที่ชั่วร้ายของผู้คนในปัจจุบันนี้ ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร ไม่ว่าจะเป็นผู้นำหรือผู้ตาม ไม่ว่าจะเป็นพระหรือฆราวาส ไม่ว่าเขาจะเป็นนักการเมืองหรือประชาชน ไม่ว่าเขาจะเป็นข้าราชการหรือนักธุรกิจ ไม่ว่าเขาจะเป็นนายจ้างหรือลูกจ้าง ไม่ว่าเขาจะเป็นเศรษฐีหรือยาจก   ต่างเดินอยู่บนวิถีชั่วร้ายที่กล่าวมาข้างต้น

ขอตั้งข้อสังเกตว่า ในยุคที่โควิด 19 ระบาดยิ่งกระตุ้นให้เห็นชัดถึงการดำเนินชีวิตบนวิถีที่ชั่วร้ายดังกล่าวเหล่านี้อย่างชัดเจนขึ้น ซึ่งแสดงออกออกมาชัดเจนมาก ๆ ในทางการเมือง เศรษฐกิจ  ความสัมพันธ์ในสังคม และวัฒนธรรมหรือวิถีการดำเนินชีวิตที่ชั่วร้ายอย่างเด่นชัดขึ้น

มีเพียงคำตอบเดียวสำหรับปัญหาที่ว่านี้ ไม่ใช่คำตอบจากทางการเมือง ไม่ใช่คำตอบจากเศรษฐกิจ ไม่ใช่คำตอบจากการศึกษา ไม่ใช่คำตอบจากทางจิตวิทยา แต่เป็นคำตอบจากชีวิตด้านจิตวิญญาณคือ จิตใจของเราจะต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงและสร้างใหม่จากพระเจ้า มีเพียงพระเจ้าเท่านั้นที่สามารถเปลี่ยนจิตใจของมนุษย์  

กิจการ 3:19 กล่าวไว้ว่า “ฉะนั้นจงกลับใจใหม่และหันมาหาพระเจ้าเพื่อบาปทั้งหลายของท่านจะถูกลบล้างไป และวาระแห่งการฟื้นใจจะมาจากองค์พระผู้เป็นเจ้า” (อมธ.) และในข้อที่ 20 กล่าวต่อไปว่า  “เพื่อวาระแห่งการฟื้นชื่นจะได้มาจากพระพักตร์พระเจ้า และเพื่อพระองค์จะประทานพระคริสต์ที่ทรงกำหนดไว้นั้นแก่ท่านทั้งหลายคือพระเยซู” (มตฐ.) เราต้องการ “การฟื้นใจที่มาจากพระเจ้า” ในยุคที่โควิด 19 ระบาดจนกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงต่อการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และ วัฒนธรรม

พระสัญญาของพระเจ้า

พระเจ้าทรงสัญญาไว้ว่า ถ้าเราทำตามเงื่อนไขที่กล่าวมาแล้วนั้น พระองค์จะทรงกระทำ 3 สิ่งด้วยกัน  กล่าวคือ

ถ้าประชากรของเรา ที่อ้างตนว่าเป็นคริสตชน หรือ สาวกที่ติดตามพระเยซูคริสต์ จะถ่อมจิตใจของตนลง อธิษฐานด้วยชีวิตและจากใจจริง แสวงหาพระพักตร์พระเจ้า และหันกลับจากวิถีชีวิตที่ชั่วร้าย...

...เมื่อนั้น  (1) เราจะรับฟังเขาจากฟ้าสวรรค์ (2) จะอภัยบาปของเขา และ (3) จะรักษาแผ่นดินของเขาให้หาย” (2พงศาวดาร 7:14 อมธ.)

สามสิ่งที่พระเจ้าสัญญาจะกระทำคือ 

(1) เราจะรับฟังเขาจากสวรรค์
(2) เราจะอภัยบาปของเขา และ
(3) เราจะรักษาแผ่นดินของเขาให้หาย

ขอกล่าวย้ำในตอนท้ายนี้อีกครั้งหนึ่งว่า ไม่มีใครจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ เพราะพระสัญญาของพระเจ้านี้มีต่อประชากรของพระเจ้า (มิใช่มีต่อคนทั่วไป) ในยุคเรานี้เป็นพระสัญญาที่มีต่อคริสตจักร   เราจะต้องเป็นผู้ที่จะนำบนเส้นทางนี้ เราจะต้องมีชีวิตที่เป็นแบบอย่าง เราจะต้องถ่อมจิตใจของเราลงสารภาพความผิดบาปของเรา ไม่ใช่ใครคนอื่น ในเวลาที่ผ่านมาคริสตจักรมีพฤติกรรมที่ไม่ดี เราทำให้สิ่งต่าง ๆ กลายเป็นรูปเคารพของเรา เรามีความหวังในสิ่งที่ผิดพลาด ในคนที่ผิด   แต่ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง และสิ่งนี้จะต้องเริ่มต้นที่ตัวเรา ไม่ใช่คนที่เราไม่เห็นด้วย ไม่ใช่คนที่เราไม่ชอบ ไม่ใช่คนที่เราคิดว่าเป็นตัวปัญหา  

1เปโตร 4:17 “เพราะถึงเวลาแล้ว ที่การพิพากษาจะเริ่มต้นที่ครอบครัวของพระเจ้า...”  เมื่อพระเจ้าจะพิพากษาบรรดาประชาชาติ พระองค์จะเริ่มการพิพากษาที่พวกเรา การพิพากษาจะเริ่มต้นที่ครอบครัวของพระเจ้าก่อน เมื่อพระเจ้าจะพิพากษาประชาชาติใด พระองค์จะเริ่มการพิพากษาคริสตชนในประชาชาตินั้นก่อน ไม่ได้เริ่มต้นที่ใครคนอื่น ไม่ได้เริ่มต้นกับคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรา คนละพวกกับเรา คนที่คิดต่างจากเรา แต่เริ่มต้นพิพากษาที่ตัวเราเองก่อน

1โครินธ์ 11:31 “แต่ถ้าเราวินิจฉัยตัวเอง เราคงไม่ต้องถูกพิพากษา” (มตฐ.) ดังนั้น ขอเชิญชวนเราแต่ละคนมาร่วมกันในการ “ถ่อมจิตใจของเราลงสารภาพความบาปผิดของเรา และเราจะอธิษฐานด้วยความจริงใจ และเราจะแสวงหาพระเจ้า (ไม่ใช่ผลประโยชน์จากพระเจ้า) ด้วยสุดจิตสุดใจ และเราจะหันกลับมาหาพระเจ้าอย่างสิ้นเชิงด้วยจริงใจ แล้วแน่นอนว่า พระเจ้าจะรับฟังพวกเราจากสวรรค์ พระเจ้าจะทรงอภัยความบาปผิดของเรา และพระองค์จะทรงรักษาแผ่นดินของเราให้หาย

นี่คือพระสัญญาของพระเจ้าที่มีต่อประชากรของพระองค์ ดังนั้น ความหวังของเราจึงมีในพระเจ้า   ความหวังของเราไม่ได้อยู่ที่รัฐบาล นักการเมือง ผู้นำทางศาสนา แต่ความหวังของเราอยู่ในพระเจ้า คือองค์พระเยซูคริสต์เจ้า ผู้เป็นพระผู้ช่วยให้รอดองค์เดียวของเรา

“...เมื่อนั้นเราจะ “รับฟังเขาจากฟ้าสวรรค์ จะ “อภัยบาป ของเขา และจะ “รักษาแผ่นดินของเขาให้หาย” (2พงศาวดาร 7:14 อมธ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499




25 มกราคม 2564

ก้าวที่สามของการเข้าสู่การเยียวยารักษา...

เราต้องแสวงหาพระพักตร์ของพระเจ้า

จากข้อเขียนก่อนหน้านี้สองตอน ที่กล่าวถึงย่างก้าวเข้าสู่การเยียวยารักษา ก้าวแรกเราจะต้อง “ถ่อมจิตใจลงสารภาพความบาปผิดของตน” ก้าวที่สอง เราจะต้อง “อธิษฐานด้วยชีวิตและจากความจริงใจ” ในข้อเขียนฉบับนี้จะกล่าวถึงย่างก้าวที่สามของการเข้าสู่การเยียวยารักษา “เราต้องแสวงหาพระพักตร์พระเจ้า”

3. เราต้องแสวงหาพระพักตร์ของพระเจ้า

เราจะต้องแสวงหาพระเจ้าอย่างจริงจังและแรงกล้า เราถ่อมจิตใจลงสารภาพความบาปผิดของเรา เราอธิษฐานอย่างจริงใจและจริงจัง เราแสวงหาพระเจ้าอย่างจริงจังและทุ่มเทสุดชีวิต   หมายความว่าเราไม่ได้แสวงหาพระเจ้าเมื่อเรามีเวลาว่าง ไม่ใช่ลำดับความสำคัญรอง ๆ แล้วแต่จะเป็นไปได้ หรือ เมื่อมีเวลาให้ แต่ต้องเป็นการแสวงหาพระเจ้าอย่างจริงจังและอย่างสุดจิตสุดใจในการติดตามพระองค์ในชีวิตประจำวันเป็นความสำคัญลำดับแรก นั่นหมายความว่าการแสวงหาพระเจ้าเป็นสิ่งสำคัญที่เรามุ่งเน้นเป็นอันดับแรกสุดของชีวิต เพราะในพระธรรมฮีบรู 11:6 ข. กล่าวว่า พระเจ้าจะประทานบำเหน็จแก่คนที่แสวงหาพระองค์อย่างจริงจัง

“...เพราะ...พระองค์...ประทานบำเหน็จแก่คนเหล่านั้นที่แสวงหาพระองค์อย่างจริงจัง(ฮีบรู 11:6ข. อมธ.)

ปัญหาคือ: เราแสวงหาผลประโยชน์จากพระเจ้ามากกว่าแสวงหาพระเจ้า

ในปีใหม่นี้พระเจ้าประสงค์อะไรจากท่าน? พระเจ้าประสงค์ให้ท่านแสวงหาพระองค์ด้วยความจริงจัง จริงใจ อย่างทุ่มเทสุดชีวิต ไม่ใช่แสวงหาของประทานจากพระองค์ ไม่ใช่การแสวงหาพระพรจากพระองค์ ไม่ใช่แสวงหาความโปรดปรานของพระเจ้าในชีวิตของท่าน แต่ให้ท่านแสวงหาพระองค์ ท่านต้องการที่จะรู้จักพระองค์มากยิ่ง ๆ ขึ้น การแสวงหาอย่างที่กล่าวนี้มีน้อยนิดในผู้คนปัจจุบัน คนส่วนใหญ่แสวงหา “ผลประโยชน์ที่ตนอยากได้จากพระเจ้า” พวกเขาแสวงหาพระพร ของประทาน ความพอใจของพระเจ้าในชีวิตของตน เขาแสวงหาสิ่งดีดีที่เขาต้องการให้พระเจ้ากระทำแก่ตนในชีวิต แต่ในปีใหม่นี้พระองค์ประสงค์ให้เราแสวงหาพระเจ้า ให้เราแสวงหาพระองค์ มิใช่แสวงหาผลประโยชน์จากพระองค์

ในสดุดี 14:2 ได้กล่าวว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าทอดพระเนตรลงมาจากฟ้าสวรรค์ ดูมวลมนุษยชาติ  เพื่อดูว่ามีสักคนไหมที่เข้าใจ มีสักคนไหมที่แสวงหาพระเจ้า” (อมธ.) หาคนเช่นนี้ยากลำบากหนักหนา พวกเขาต้องการและแสวงหาพระพร น้อยคนเหลือเกินที่แสวงหาพระเจ้า คนน้อยนิดเหลือเกินที่มีเป้าหมายในชีวิตที่จะต้องการรู้จักพระเจ้ามากยิ่งขึ้นในชีวิตประจำวัน และนี่คือสาเหตุสำคัญที่เราตกและจมอยู่ในปลักโคลนชีวิตปีแล้วปีเล่าขึ้นมาจากปลักโคลนชีวิตนั้นไม่ได้

อย่างที่ได้กล่าวแล้วว่า ในชีวิตของเรามักบ่นว่า มากกว่าการอธิษฐานต่อพระเจ้า ปัญหาของเราคือเราใช้เวลามากมายในการแสวงหาสิ่งต่าง ๆ ที่เราต้องการในชีวิตแต่ไม่มีเวลาที่จะแสวงหาพระเจ้า  

พระเจ้าได้ให้พระสัญญาที่สำคัญยิ่ง ในเฉลยธรรมบัญญัติ 4:29-31ก.  

“แต่ ณ ที่นั่นแหละท่านทั้งหลายจะแสวงหาพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่าน ถ้าท่านค้นหาพระองค์ “ด้วยสุดจิต และ สุดใจ ท่านจะพบพระองค์... เพราะว่าพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่าน ทรงเป็นพระเจ้าผู้ทรงพระกรุณา พระองค์จะไม่ทรงละทิ้งท่านหรือทำลายท่านหรือลืมพันธสัญญา...” (มตฐ.)

เราจะแสวงหาพระเจ้าอย่างจริงใจและจริงจังได้อย่างไร? ก็ด้วยการที่จะแสวงหาพระองค์ เพื่อรู้จักพระองค์มากขึ้น ให้การแสวงหาพระเจ้าเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรกในชีวิตประจำวันของเรา ให้เราแต่ละคนเริ่มต้นชีวิตในวันใหม่ทุกวันด้วยการแสวงหาพระองค์โดยการอ่านพระวจนะ และ อธิษฐานต่อพระองค์ และลงท้ายของวันนั้นก็ด้วยการแสวงหาพระองค์ผ่านการอ่านพระวจนะ และ การอธิษฐานต่อพระองค์ นั่นคือการที่เราแสวงหาพระเจ้าเป็นสิ่งแรก เพื่อที่จะฟังสิ่งที่พระเจ้าตรัสแก่ท่านในแต่ละวัน และเมื่ออ่านพระคัมภีร์ตอนนั้นและใคร่ครวญแล้ว ให้เราเปิดพระคัมภีร์ตอนนั้นไว้ เพื่อเมื่อเราตื่นขึ้นในวันใหม่เราจะอ่านพระวจนะตอนนั้นอีกครั้งหนึ่งเป็นสิ่งแรก   ไม่ใช่รีบไปดูข่าวคราวในโทรศัพท์มือถือของเรา ไม่ใช่เริ่มต้นกับโทรทัศน์ ไม่ใช่เริ่มวันใหม่กับสื่อออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ แต่ให้เราเริ่มต้นวันใหม่ด้วยสัจจะความจริงในพระวจนะของพระเจ้า จงแสวงหาพระวจนะของพระเจ้าเป็นสิ่งแรกในวันใหม่ของชีวิต เมื่อเราอ่านพระวจนะของพระเจ้าในวันใหม่ เมื่อเราพบสิ่งสำคัญให้เราใคร่ครวญ แม้ว่าจะอ่านเพียงข้อเดียวก็ตาม 

ให้เราไตร่ตรองว่าพระเจ้าตรัสอะไรแก่เราในเวลานั้น จนกระทั่งเราพบกับพระคำที่ปลอบประโลมเรา ให้กำลังใจเรา ท้าทายเรา เมื่ออ่านแล้วอย่าเพิ่งปิดพระคัมภีร์เปิดไว้ เพื่อก่อนที่เราจะนอนในค่ำวันนี้เราจะได้อ่านอีกครั้งหนึ่ง ให้พระวจนะของพระเจ้าเป็นคำตรัสคำแรกในวันนั้น และ เป็นคำตรัสสุดท้ายในวันนั้นแก่เรา แล้วให้เราไปหลับนอนโดยมีพระวจนะตอนนั้นของพระเจ้าอยู่ในความนึกคิดของเรา พระเยซูคริสต์ได้ให้พระสัญญาไว้ว่า

“แต่จงแสวงหาแผ่นดินของพระเจ้าและความชอบธรรมของพระองค์ก่อน และพระองค์จะประทานสิ่งทั้งปวงเหล่านี้แก่ท่านด้วย” (มัทธิว 6:33 อมธ.)

หน้าที่ของเราคือแสวงหาแผ่นดินของพระเจ้าก่อนเหนือสิ่งอื่นใด แต่พระองค์สัญญาว่าพระองค์จะเป็นผู้รับผิดชอบสิ่งอื่นทั้งปวงที่จำเป็นในชีวิตของเราไปตลอดชีวิต

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499




22 มกราคม 2564

ก้าวที่สองของการเข้าสู่การเยียวยารักษา...

เราจะต้อง “อธิษฐานด้วยชีวิตและจากความจริงใจ”

ในข้อเขียนครั้งที่ผ่านมา เรากล่าวถึงก้าวแรกของการเข้าสู่การเยียวรักษา ที่เราแต่ละคนต้อง “ถ่อมจิตใจลงสารภาพความบาปผิดของตน” ในข้อเขียนครั้งนี้ เป็นก้าวที่สองของการเข้าสู่การเยียวรักษา... ที่เราจะต้อง “อธิษฐานจากชีวิตและด้วยความจริงใจ”

2. เราต้องอธิษฐานด้วยชีวิตและจากความจริงใจ

เมื่อเราอธิษฐาน เราอธิษฐานจากจิตใจและทั้งชีวิตของเรา “ถ้าประชากรที่เรียกตามนามของเราจะถ่อมใจลง และ อธิษฐาน...”  ในที่นี้ไม่ได้เน้นถึงวิธีการอธิษฐาน หรือ คิดอย่างไรเกี่ยวกับการอธิษฐาน ไม่ใช่เรื่องความหมายของการอธิษฐาน มิใช่การอธิษฐานตามความเคยชิน เช่น เมื่อรับประทานอาหาร ก่อนนอนและตื่นนอน มิใช่การอธิษฐานตามพิธีกรรม แต่เป็นเรื่องการอธิษฐานที่ออกมาจากชีวิตทั้งสิ้นและจากก้นบึ้งจิตใจของเราต่อพระเจ้าด้วยความจริงใจ เป็นการอธิษฐานที่มาจากใจจริงและจากความจำเป็นในชีวิตเรา

ที่ผ่านมาเมื่อเราอธิษฐาน เราใช้เวลาบ่นต่อพระเจ้ามากกว่าการอธิษฐานต่อพระองค์ด้วยจริงใจ   การอธิษฐานจากสุดจิตสุดใจก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิต การบ่นว่า ความวิตกกังวลจะไม่เปลี่ยนอะไรเลย แต่กลับจะทำให้ให้เรามีชีวิตจิตใจที่สงสัย ทุกข์ใจ และสิ้นหวัง  

สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในยุคของเราเท่านั้น มีตั้งแต่ในโบราณกาลด้วย อย่างเช่นในพระธรรม โฮเชยา 7:14 ก. เขียนไว้ว่า “พวกเขาไม่ได้ร้องเรียกเรา “จากใจจริง เอาแต่คร่ำครวญบนที่นอน (หรือแปลได้อีกว่า คร่ำครวญด้วยเสียงดัง)” (อมธ.) บ่อยครั้งไหมที่เรานั่งที่โซฟาหน้าทีวีแล้วบ่นว่าด้วยเสียงดังต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น วิพากษ์วิจารณ์ต่อสถานการณ์เรื่องราวจากข่าว บ่นว่าในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามข่าวที่เราชม การกระทำเช่นนี้ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไหม? ท่านบ่นว่าวิพากษ์วิจารณ์บนสื่อออนไลน์ต่าง ๆ แล้วมันทำให้สังคม ประเทศ และโลกดีขึ้นหรือไม่?   โฮเชยาบอกว่าผู้คนมิได้อธิษฐานทูลต่อพระเจ้าในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ปรึกษาพระองค์ด้วยความจริงใจ ดังเช่นเรานั่งบ่นหน้าทีวี หน้าสื่อต่าง ๆ

 “หากประชากรของเราซึ่งเรียกชื่อตามนามของเราจะ “ถ่อมใจลงและอธิษฐาน ...” (2พงศาวดาร 7:14 อมธ.)

ปัญหาคือ: เราไม่ได้อธิษฐานจากความจริงใจของเรา

ถามตรง ๆ เถิด ทุกวันนี้เราใช้เวลาหน้าทีวี หรือ หน้าสื่อประเภทต่าง ๆ เพื่อดูเหตุการณ์ หรือ สถานการณ์ที่เกิดขึ้น หรือ ใช้เวลาในการอธิษฐานต่อพระเจ้า ประการไหนมากกว่า แล้วเกิดผลอย่างไรบ้าง?  และทำให้สถานการณ์เกิดการเปลี่ยนแปลงไหม?

แล้วเราจะอธิษฐานด้วยความจริงใจอย่างไร? เราจะต้องอธิษฐานในแต่ละครั้งอย่างเฉพาะเจาะจง เฉพาะเจาะจงอย่างไร? เราจะต้องเขียนรายการที่เราจะอธิษฐานต่อพระเจ้า เราควรจะเขียนรายการอธิษฐานต่อพระเจ้าเป็นประเด็นที่เจาะจงชัดเจน โดยเริ่มจากช่องแรกวันเวลาที่เราเริ่มอธิษฐานในเรื่องนี้ ช่องที่สองประเด็นที่เราอธิษฐาน และในช่องที่สาม วันเวลาที่พระเจ้าทรงตอบคำอธิษฐานในเรื่องนั้น ๆ แล้วในแต่ละปีผ่านไปเราจะพบว่า พระเจ้าทรงตอบคำอธิษฐานของเรากี่เรื่องกี่ประเด็นที่เราอธิษฐาน ด้วยวิธีการเช่นนี้เองที่เสริมสร้างความเชื่อของเราแต่ละคน เพราะเราได้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่า เมื่อเราอธิษฐานต่อพระเจ้าในเรื่องต่าง ๆ พระเจ้าทรงตอบคำอธิษฐานของเราในเรื่องอะไรบ้าง และตอบอย่างไรบ้าง

ดังนั้น ให้เราใส่ใจในการอธิษฐานด้วยความจริงใจ ด้วยการทุ่มเททั้งชีวิต อธิษฐานในทุกเวลาและสถานการณ์ชีวิต อธิษฐานด้วยความเชื่อและไว้วางใจ ด้วยการวิงวอน ด้วยความเพียร และอธิษฐานเผื่อธรรมิกชนคนอื่น ๆ เสมอ

การที่เราจะทำเช่นนี้ได้ เราต้องใส่ใจในการอธิษฐานเสมอ ไม่ย่อท้ออ่อนแรง และอธิษฐานเผื่อธรรมิกชนคนอื่น ๆ เสมอด้วย ใน ลูกา 18:1 พระเยซูคริสต์สอนว่า เราควรอธิษฐานอยู่เสมอและไม่อ่อนระอาใจ

การอธิษฐานเป็นความตั้งใจ ท่านต้องเลือกว่าท่านจะอธิษฐาน หรือ ยอมล้มเลิกไม่อธิษฐาน   ในสังคมและโลกปัจจุบันนี้เรากล่าวได้ว่าสังคมโลกเลือกประการหลังมากกว่า แต่ถ้าเราต้องการเห็นว่าสังคม ประเทศ แผ่นดินของเราได้รับการรักษา จำเป็นที่เราจะต้องถ่อมใจลงสารภาพความบาปผิดของเรา และเอาจริงเอาใจในการอธิษฐานด้วยความจริงใจต่อพระเจ้าในเรื่องต่าง ๆในชีวิตของเรา และอธิษฐานเผื่อธรรมิกชนคนอื่นด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำรายการการอธิษฐานเพื่อสังคมประเทศชาติของเรา ที่จะอธิษฐานปรึกษา ทูลขอต่อพระเจ้าในประเด็นเหล่านั้น เพื่อให้สังคม ประเทศชาติของเราให้ได้รับการเยียวยารักษาจากพระเจ้า

“จงอุทิศตนในการอธิษฐาน จงเฝ้าระวังและมีใจขอบพระคุณ” (โคโลสี 4:2 อมธ.)

“จงอธิษฐานในพระวิญญาณทุกเวลาโดยการอธิษฐานและการวิงวอนทุกๆ อย่าง เพราะเหตุนี้จงเฝ้าระวังด้วยความเพียรและด้วยการวิงวอนเผื่อธรรมิกชนทุกคนอยู่เสมอ” (เอเฟซัส 6:18 มตฐ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499




20 มกราคม 2564

ก้าวแรกของการเข้าสู่การเยียวยารักษา...

เราต้องถ่อมจิตใจลง...สารภาพความบาปผิดของเรา

จากข้อเขียนครั้งก่อน ได้กล่าวถึงกระบวนการของพระเจ้าที่ทรงรักษาและเยียวยาชีวิตและสังคมที่ประสบกับความแตกแยก ฉีกขาด และล่มสลาย และเราพบจาก 2พงศาวดาร 7:14 ที่ได้กล่าวถึง กระบวนการที่นำไปสู่การเยียวยารักษาชีวิตและสังคมดังกล่าวว่า

“หากประชากรของเราซึ่งเรียกชื่อตามนามของเราจะ “ถ่อมใจลง” และ “อธิษฐาน”   “แสวงหาหน้าของเรา” และ “หันกลับจากวิถีอันชั่วร้ายของเขา” เมื่อนั้นเราจะรับฟังเขาจากฟ้าสวรรค์ จะอภัยบาปของเขา และจะรักษาแผ่นดินของเขาให้หาย”  (อมธ.)

ซึ่งได้กล่าวถึง 4 ขั้นตอนของการเข้าสู่การเยียวยารักษาจากพระเจ้า และ 3 พระสัญญาที่พระเจ้าจะทรงกระทำแก่เรา คือ...

กระบวนการที่นำไปสู่รับการเยียวยาจากพระเจ้า  

(1) เราต้องถ่อมใจลงสารภาพความบาปผิดของเรา
(2) เราต้องอธิษฐานด้วยความจริงใจ
(3) เราต้องแสวงหาพระเจ้า
(4) เราต้องหันกลับจากวิถีชีวิตอันชั่วร้ายของเรา

พระสัญญาจากพระองค์ที่นำการเยียวยามาสู่ชีวิตและแผ่นดินของเรา

(1) พระเจ้าจะสดับฟังเรา
(2) พระเจ้าจะอภัยบาปของเรา
(3) พระเจ้าจะรักษาแผ่นดินของเราให้หาย

ในข้อเขียนตอนนี้เป็นก้าวแรกของการเข้าสู่การเยียวยารักษาชีวิต และ สังคมประเทศชาติของเรา  “เราต้องถ่อมจิตใจของเราลง สารภาพความบาปผิดของตนเอง” 

1. เราต้อง ถ่อมใจลง สารภาพความบาปผิดของเรา

“หากประชากรของเราซึ่งเรียกชื่อตามนามของเราจะ “ถ่อมใจลง...” (2พงศาวดาร 7:14 อมธ.)

ขอย้ำที่นี่อีกครั้งหนึ่งว่า นี่ไม่ใช่ขั้นตอนและพระสัญญาสำหรับคนทั่วไป แต่เป็นพระสัญญาสำหรับประชากรที่ยำเกรงพระเจ้าคือ คริสตชน เรียกชื่อตามนามของพระคริสต์  “ถ้าคริสตชนจะถ่อมใจลงสารภาพความบาปผิดของตนเอง”

ปัญหาของคริสตชนประการแรกคือ การที่เราเป็นคนหยิ่งผยอง จองหอง อวดตน ยกตนข่มท่าน  คิดว่าตนพึ่งตนเองได้ไม่จำเป็นต้องพึ่งใครอื่นใด เราไม่ต้องพึ่งพระเจ้า เราไม่คิดว่าในชีวิตประจำวันเราจะต้องปรึกษาพระเจ้า ใน ยากอบ 4:6 กล่าวไว้ว่า...

“พระเจ้าทรงต่อสู้ผู้ที่หยิ่งจองหอง แต่ประทานพระคุณแก่คนที่ถ่อมใจ” ( อมธ.)

ดังนั้น ให้เรามีจิตใจที่ถ่อมลงสารภาพความบาปผิดที่เรามีอยู่ แต่ในความเป็นจริงคนเรามักหลอกตนเองว่าเราไม่ได้ทำความบาปผิด และเรากลับไปใส่ใจความบาปผิดของศัตรูของเรา คนที่เราไม่ชอบ ไม่เห็นด้วย แต่ไม่คิดถึงความบาปผิดของตนเอง เรามักได้รับคำสอนว่า จงเกลียดชังความบาป และให้รักคนบาป แต่วันนี้ใคร่บอกว่า จงรักคนบาป แต่เกลียดชังความบาป “ในตัวเราเอง” ให้เราเกลียดชังความบาปของเราเอง ไม่จำเป็นที่เราจะไปเกลียดความบาปผิดของคนอื่น   แต่ให้เราใส่ใจความบาปผิดในชีวิตของตนเอง

ปัญหาของเราคือ เราใช้เวลามากมายในการกล่าวโทษความบาปผิดของคนอื่นมากกว่าความบาปผิดในตัวของเราเอง ดังนั้น เราต้องถ่อมจิตใจของเราลง เพื่อจะใส่ใจความบาปผิดที่เกิดขึ้นในตัวของเราเอง และระลึกเสมอว่า...

“ถ้าเรากล่าวว่าเราไม่มีบาป เราก็หลอกตัวเอง และสัจจะไม่ได้อยู่ในตัวเราเลย” (1ยอห์น 1:8 มตฐ.)

ปัญหาคือ: เรากล่าวโทษความบาปผิดของคนอื่นมากกว่าความบาปผิดของตนเอง

ในยากอบ 4:12 กล่าวว่า...

“มีผู้ประทานบทบัญญัติและผู้พิพากษาเพียงผู้เดียวคือ พระองค์ผู้ทรงสามารถช่วยให้รอดหรือทำลายก็ได้ แต่ท่านคือใครเล่าที่จะตัดสินเพื่อนบ้านของท่าน?  (อมธ.)

ผมไม่มีสิทธิที่จะพิพากษาตัดสินท่าน และท่านก็ไม่มีสิทธิที่จะตัดสินผม แต่พระคัมภีร์บอกเราว่า  พระเจ้าเท่านั้นที่ทรงไว้ซึ่งสิทธิในการพิพากษาตัดสิน ในโรม 2:3 บอกเราว่า...

“ดังนั้นเมื่อท่านผู้เป็นเพียงมนุษย์ปุถุชนตัดสินคนอื่น แต่ตัวเองยังทำแบบเดียวกับเขา ท่านคิดหรือว่าจะพ้นจากการพิพากษาลงโทษของพระเจ้าได้? (อมธ.)

เรามักมองข้ามความผิดพลาดบาปผิดที่เรากระทำ แต่มุ่งที่จะขุดคุ้ยบ่งชี้ถึงความบาปผิดของคนอื่น และใน 1เปโตร 4:17 บอกเราชัดเจนว่า การกล่าวโทษตัดสินและการพิพากษานั้น “เริ่มต้นที่ครอบครัวขอพระเจ้าก่อน” ถ้าพระเจ้าจะพิพากษาประเทศใด ๆ พระองค์จะเริ่มต้นพิพากษาจากพวกคริสตชนในประเทศนั้น ๆ ก่อน 1เปโตร เขียนไว้อย่างนี้ว่า...

“เพราะถึงเวลาแล้วที่การพิพากษาจะเริ่มขึ้นที่ครอบครัวของพระเจ้า ...” (อมธ.)

ในพระธรรมสุภาษิต 28:13 กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า...

ผู้ซ่อนการละเมิด ของตนไว้จะไม่เจริญ แต่ผู้สารภาพและทิ้งมัน จะได้ความกรุณา” (สุภาษิต 28:13 มตฐ.)

แต่ถ้าใครที่เปิดใจสารภาพความบาปผิดของตนคนนั้นจะได้รับการยกโทษ และได้รับพระเมตตาจากพระเจ้า และการรักษาให้หาย ยากอบ 5:16 กล่าวไว้ว่า...

วิธีการแรกที่จะนำมาซึ่งการเยียวยารักษาไม่ว่าจะเป็นด้านไหน หรือ มิติใดในชีวิต ไม่ว่าในชีวิตส่วนตัวของท่าน ในครอบครัวของท่าน ชีวิตสมรสของท่าน เราจะต้องสารภาพถึงความบาปผิดในตัวเราด้วยจิตใจที่ถ่อมลง และนี่คือก้าวแรกของการเข้ารับการเยียวยารักษาจากองค์พระผู้เป็นเจ้า

ถามตรง ๆ เถิดว่า ท่านต้องการรับการเยียวยารักษาไหม? ท่านต้องการให้ครอบครัวของท่านได้รับการรักษาไหม? ท่านต้องการให้ชีวิตสมรสของท่านได้รับการรักษาไหม? ท่านต้องการให้สังคมประเทศชาติของท่านได้รับการเยียวยารักษาจากพระเจ้าไหม? ถ้าต้องการ เราจะต้องเป็นคนแรกที่จะก้าวเข้าไปก้าวแรก ด้วยการสารภาพความบาปผิดของเราด้วยการถ่อมจิตใจของตนลง หากประชากรของเราจะถ่อมจิตใจลง สารภาพความบาปผิดของตน ยากอบ 5:16 บอกเราว่า...

“ฉะนั้นจงสารภาพบาปของท่านต่อกันและอธิษฐานเผื่อกันและกัน เพื่อท่านจะได้รับการรักษาให้หาย...” (ยากอบ 5:16 ก. อมธ.)

ให้เราสารภาพบาปของเราต่อกันและกัน และ อธิษฐานเผื่อกันและกัน เพราะเราต้องการให้คนอื่นช่วยให้เราเกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิต ความจริงคือเราไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนเองด้วยตัวเราเอง และด้วยเหตุนี้ที่ในคริสตจักรจึงมีกลุ่มต่าง ๆ มากมายเพื่อจะหนุนเสริมและช่วยกันและกันให้ชีวิตได้รับการเปลี่ยนแปลงและเติบโตขึ้น และนี่คือจุดเริ่มต้นของการเยียวยารักษา

การบ้านสำหรับแต่ละคน ให้เรามีเวลาสงบอยู่ต่อหน้าพระเจ้าของเรา อธิษฐานทูลขอพระองค์โปรดสำแดงชี้ชัดให้เราได้เห็นถึงสิ่งที่เป็นความบาปผิดของเรา อย่าเพียงอธิษฐานพระเจ้าว่า “ขอโปรดยกโทษความบาปผิดของข้าพระองค์ทั้งสิ้น” เท่านั้น แต่ให้เขียนเป็นรายการความบาปผิดของเราเอง จากนั้นให้อธิษฐานสารภาพความบาปผิดในแต่ละรายการต่อพระเจ้า และนี่คือก้าวแรกของการรับการเยียวยาคือ การที่เราจะถ่อมจิตใจลงสารภาพความบาปผิดของตนเอง

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499




18 มกราคม 2564

เมื่อ “สังคมโลก” แตกหัก ฉีกขาด...พระเจ้าจะว่าอย่างไร?

เมื่อชีวิตและสังคมโลกตกในภาวะหายนะ ป่วยหนัก...พระเจ้าจะทำอย่างไร?

พระเจ้าจะทรงเยียวยารักษาชีวิต  สังคมชุมชนที่แตกแยก ฉีกขาดอย่างไร?

จากสถานการณ์ในเดือนมกราคม 2021 เราได้เห็นเหตุการณ์ที่น่าอับอาย เสียหายอย่างมาก ที่ผู้นำประเทศได้ใช้อำนาจที่ตนได้รับในตำแหน่งอย่างฉ้อฉล เพื่อทำลายทำร้ายฝ่ายที่เห็นต่าง ไม่เห็นด้วยกับตนเอง และใช้กำลังฝูงชนที่ตนยุยงปลุกปั่นเข้ามาแทนกฎหมายของประเทศ   แล้วโยนความผิดและความรับผิดชอบแก่ฝูงชนที่มาทำตามคำยุยงปลุกปั่นนั้น?

แล้วพระเจ้าจะเยียวยารักษาสังคมประเทศชาติเช่นไรเมื่อผู้นำประเทศเลือกใช้อำนาจที่ฉ้อฉลตามใจตนเอง ตามผลประโยชน์ของตนเองอย่างเห็นแก่ตัวจนเกิดการจลาจลในประเทศ?

ในฐานะคริสตชนคนหนึ่งในสังคมโลกนี้ ผมบอกได้คำเดียวครับ... ในปี 2021 สังคมโลกเราเริ่มต้นด้วยความจำเป็นต้องการการเยียวยารักษา ในที่นี้มิเพียงแต่ประเทศมหาอำนาจเท่านั้น  หรือ คู่แข่งคู่ต่อสู้ของมหาอำนาจเท่านั้น แม้แต่ในประเทศไทยของเรา หรือ คริสตจักรในประเทศของเราต้องการการเยียวยารักษาด้วยเช่นกัน

ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้คิดถึงสดุดี บทที่ 60 ดาวิดเขียนถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดการแตกแยกโกลาหลของสังคม กษัตริย์ดาวิดเขียนไว้ว่า

“พระองค์ได้ทรงเขย่าแผ่นดินและทำให้แยกออก ขอทรงประสานรอยร้าว เพราะขณะนี้แผ่นดินกำลังสั่นสะเทือน” (สดุดี 60:2 อมธ.)

นี่ก็เป็นข้อพระคัมภีร์สำหรับสถานการณ์สังคมโลกในขณะนี้ของเราด้วย “ขอทรงประสานรอยร้าว” เพราะสังคมโลกกำลังแตกเป็นเสี่ยง ๆ “...ขอทรงประสานรอยร้าว เพราะขณะนี้แผ่นดินกำลังแตกแยกฉีกขาดออกเป็นชิ้น ๆ” (สดุดี 60:2ข สมช.) และดาวิดกล่าวชัดลงไปอีกว่า...

“พระองค์ได้ทรงให้ประชากรของพระองค์เผชิญช่วงเวลาแห่งความสิ้นหวัง พระองค์ประทานเหล้าองุ่นที่ทำให้เหล่าข้าพระองค์ซวนเซ” (สดุดี 60:3 อมธ.)

พระธรรมข้อนี้ทำให้เราเห็นภาพพจน์ชัดเจน “เราตกอยู่ในภาวะที่สิ้นหวัง” “เราเมา...จนชีวิตซวนเซ” แต่ในสดุดีบทนี้ได้ให้ความหวังแก่เราว่า...

“แต่สำหรับผู้ที่ยำเกรงพระองค์นั้น พระองค์ทรงโปรดชูธงขึ้น คลี่ออกต้านธนู ขอทรงช่วยกู้ข้าพระองค์ทั้งหลายด้วยพระหัตถ์ขวาของพระองค์ เพื่อบรรดาผู้ที่พระองค์ทรงรักจะรอดพ้น” (สดุดี 60:4-5 อมธ.)

ดาวิดทูลขอพระเจ้าว่า...ขอพระเจ้าทรงช่วยกู้ “ผู้ที่ยำเกรงพระองค์” ด้วยพระหัตถ์ขวาเพื่อคนของพระองค์จะได้รอดพ้นในชีวิต ขอตั้งข้อสังเกตว่า พระคัมภีร์ข้อที่อ่านนี้เริ่มต้นจากคำว่า “แต่”  นั่นแสดงว่าพระเจ้ากำลังกระทำพระราชกิจของพระองค์ที่แตกต่างจากการกระทำของมนุษย์ หรือ ผู้นำในสังคมโลก ผู้นำได้นำสังคมและประเทศชาติเข้าสู่ความหายนะ เกิดการฉีกขาดและล่มสลายทางสังคม “แต่” พระเจ้าทรงช่วยกู้ ทรงเยียวยารักษา

ลักษณะเช่นนี้เราสามารถพบครั้งแล้วครั้งเล่าในพระคัมภีร์ของเราถึงพระราชกิจที่พระเจ้าทรงกระทำเช่นนี้ในการทรงกอบกู้ เยียวยารักษา และฟื้นฟูพลิกฟื้นสร้างใหม่ และที่สำคัญคือนี่เป็น “พระสัญญา” ของพระเจ้าด้วย และเป็นพระสัญญาของพระเจ้าต่อประชากรที่ “ยำเกรงพระองค์”   และนี่คือพระสัญญาของพระเจ้าที่มีต่อ “คริสตชน” ไม่ว่าจะอยู่ในสังคมไหน แผ่นดินใด หรือ ประเทศอะไรก็ตาม นี่คือพระสัญญาของพระเจ้าต่อประชากรของพระองค์ในทุกพื้นที่

แล้วพระเจ้ามีกระบวนการ วิธีการในการเยียวยารักษาสังคม ประเทศ และสังคมโลกที่ตกในภาวะล่มสลาย ฉีกขาด หรือแตกหักอย่างไร?

วิถีแห่งการทรงช่วยกู้และพระสัญญาของพระเจ้า

เมื่อสามพันปีก่อนหน้านี้พระเจ้าทรงทำพระสัญญากับโซโลมอน ในโอกาสที่เขามอบถวายพระวิหารใหม่แด่พระเจ้า และนี่เป็นพระสัญญาของพระเจ้าต่อ “ประชากรที่ยำเกรงพระองค์” เท่านั้น  มิใช่พระสัญญาสำหรับคนทั่วไป ถึงการทรงเยียวยารักษา

ใน 2พงศาวดาร 7:14 กล่าวถึงพระสัญญาของพระเจ้าดังกล่าว

“หากประชากรของเราซึ่งเรียกชื่อตามนามของเราจะ”ถ่อมใจลง และ “อธิษฐาน   “แสวงหาหน้าของเรา และ “หันกลับจากวิถีอันชั่วร้ายของเขา เมื่อนั้นเราจะ “รับฟังเขาจากฟ้าสวรรค์ จะ “อภัยบาป ของเขา และจะ “รักษา แผ่นดินของเขาให้หาย”  (อมธ.)

พระสัญญาได้กล่าวชัดว่า “หากประชากรของพระเจ้า”  ขอสังเกตว่า ในที่นี้ไม่ได้พูดว่า “หากผู้นำ” “หากนักการเมือง” แต่พูดชัดว่า “หากประชากรของเราซึ่งเรียกชื่อตามนามของเรา” “ถ่อมใจลง”  “อธิษฐาน”  “แสวงหาหน้าของเรา”  “หันกลับจากวิถีอันชั่วร้ายของเขา”  และต่อไปนี้เป็นพระสัญญาจากพระเจ้าว่า “เรา(พระเจ้า)จะรับฟังเขา...”  “จะอภัยบาปของเขา”  และ “จะรักษาแผ่นดินของเขา”  เราจะเห็นชัดว่า ในพระสัญญานี้มาพร้อมกับเงื่อนไข และนี่คือกระบวนการและวิธีการในการเยียวยารักษาของพระเจ้าที่มีต่อประชากรของพระองค์ และ ต่อสังคมประเทศของพวกเขา

ขณะนี้เราต้องการการเยียวยารักษาบาดแผลต่าง ๆ ในชีวิต ในสังคม ในวัฒนธรรมของเรา เราต้องการการเยียวยาการปกครองในสังคมประเทศชาติของเรา เราต้องการการเยียวยารักษาในด้านเศรษฐกิจ เราต้องการการเยียวยารักษาในธุรกิจการงาน เราต้องการเยียวยารักษาในโรงเรียน ในเมืองของเรา เราต้องการการเยียวยารักษาในครอบครัว ในชีวิตสมรส ในคริสตจักร  ในจิตใจความนึกคิดของเรา เราต้องการการเยียวยารักษาในทุกมิติชีวิตของเรา

สิ่งที่เป็นข่าวดีในปัจจุบันคือ ชีวิตในทุกมิติของเรายังมีความหวังถึงแม้จะตกในภาวะที่ล่มสลาย ฉีกขาด หรือ แตกหักก็ตาม เพราะพระเจ้าทรงสัญญาถึงการทรงเยียวยารักษาจากพระองค์

แล้วพระจ้าจะเยียวยารักษาสังคม ชุมชน และประเทศชาติที่กำลังตกอยู่ในความหายนะ ขัดแย้ง  มุ่งทำลายล้างจนฉีกขาด แตกหักเป็นเสี่ยง ๆ ได้อย่างไร? จาก 2พงศาวดาร 7:14 ได้กล่าวถึงกระบวนการ หรือ เส้นทางเงื่อนไข 4 ประการสำหรับที่จะนำไปสู่การเยียวยารักษาสังคม ประเทศของเรา และเงื่อนไขดังกล่าวยังเยียวยารักษาความสัมพันธ์ และยังสามารถเป็นการเยียวยารักษาในชีวิตส่วนตัว และชีวิตทุกมิติของแต่ละคนด้วย

ในชุดข้อเขียนครั้งต่อไป จะพิจารณาลงลึกถึง กระบวนการการทรงเยียวรักษาชีวิต และ สังคมโลกที่ฉีกขาดโดยพระเจ้า ด้วย 4 ขั้นตอนของการเข้าสู่การเยียวยารักษาจากพระเจ้า และ 3 พระสัญญาที่พระเจ้าจะทรงกระทำแก่เรา คือ...

กระบวนการ 4 ขั้นตอนที่นำไปสู่การเยียวยารักษาจากพระเจ้า  

(1) เราต้องถ่อมใจลงสารภาพความบาปผิดของเรา
(2) เราต้องอธิษฐานด้วยความจริงใจ
(3) เราต้องแสวงหาพระเจ้า
(4) เราต้องหันกลับจากวิถีชีวิตอันชั่วร้ายของเรา

3 พระสัญญาที่พระเจ้าจะนำการเยียวยามาสู่ชีวิตและแผ่นดินของเรา

(1) พระเจ้าจะสดับฟังเรา
(2) พระเจ้าจะอภัยบาปของเรา
(3) พระเจ้าจะรักษาแผ่นดินของเราให้หาย

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499




15 มกราคม 2564

รับพลังที่จะขับเคลื่อนสู่เป้าหมายชีวิต

เราวางแผนชีวิตตามที่เราต้องการจะมีชีวิตอยู่ แต่มีเพียงพระเจ้าเท่านั้นที่ให้พลังและการมีชีวิตอยู่ได้แก่เรา เพื่อสัมผัสกับการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงในชีวิต 

“มนุษย์วางแผนงานอยู่ในใจ  
แต่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดแต่ละย่างก้าวของเขา” (สุภาษิต 16:9 อมธ.)

“เราวางแผนตามแบบที่เราต้องการมีชีวิต
แต่พระเจ้าเท่านั้นที่ทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้” (สมช.)

พระเจ้าเท่านั้นที่ทำให้เราเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่แท้จริงในชีวิตของเราแต่ละคน ทั้งนี้เพราะพระเจ้าเป็นผู้จัดเตรียม 3 สิ่งที่เราจำเป็นจะต้องมี เพื่อกระตุ้นหนุนเสริมและเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราให้ไปถึงเป้าหมายที่ทรงกำหนด

1. เราจำเป็นต้องมีพระวิญญาณของพระเจ้าที่เป็นพลังหนุนเสริมเรา

เราจำเป็นต้องพึ่งความช่วยเหลือของพระเจ้าที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิต เราไม่สามารถที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตด้วยตัวเราเองได้ และก็ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับพลังจิต หรือ จินตนานุภาพของเรา แต่ขึ้นอยู่กับพลานุภาพของพระเจ้าต่างหาก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความพยายามของตัวเราเอง แต่ขึ้นอยู่กับความไว้วางใจที่เรามีในพระเจ้า

เศคาริยาห์ 4:6 กล่าวไว้ว่า “‘ไม่ใช่ด้วยกำลัง ไม่ใช่ด้วยฤทธิ์อำนาจ แต่โดยวิญญาณของเรา’  พระยาห์เวห์ผู้ทรงฤทธิ์ตรัสดังนั้น” (อมธ.)

2. เราต้องการพระวจนะของพระเจ้าที่จะชี้นำชีวิตของเรา

พระคัมภีร์เป็นคู่มือการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา ยิ่งถ้าเราอ่านมาก ศึกษามาก ท่องจำ และ ภาวนาไตร่ตรองมากเท่าใด เราก็จะประสบกับการบรรลุความสำเร็จและสำฤทธิ์ผลในชีวิตมากเท่านั้น

เมื่อโยชูวาได้รับมอบหมายจากพระเจ้าเกี่ยวกับความฝันอันยิ่งใหญ่คือการนำประชาชนเข้าไปในแผ่นดินพระสัญญา อันเป็นเป้าหมายชีวิตที่เขาจะต้องดำเนินต่อไป พระเจ้าตรัสกับโยชูวาไว้เช่นนี้ว่า "อย่าให้หนังสือธรรมบัญญัตินี้ห่างจากปากของเจ้า จงใคร่ครวญทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อเจ้าจะปฏิบัติตามทุกสิ่งที่เขียนไว้อย่างเคร่งครัด แล้วเจ้าจะประสบความสำเร็จและความเจริญรุ่งเรือง” (โยชูวา 1:8 อมธ.)

3. เราต้องการประชากรของพระเจ้าเกื้อหนุนเรา

เราไม่สามารถบรรลุถึงเป้าหมายด้วยตัวเราเอง แต่เราต้องมีทีมงานที่จะร่วมมือกันสนับสนุนกันให้บรรลุตามที่ฝัน

ฝูงชนคนจำนวนมาก ๆ อาจไม่สามารถช่วยเราได้ แต่ “กลุ่มเล็ก” สามารถสนับสนุนเราได้   สมาชิกในกลุ่มเล็กจะรู้ทันทีเมื่อเราเจ็บป่วย เมื่อเวลาที่เรามีความยากลำบาก เมื่อเราต้องการเวลาหยุดพัก กับคนในกลุ่มเล็กเราสามารถที่จะแบ่งปันถึงเป้าหมาย ความสำเร็จ หรือ ความล้มเหลว และพวกเขาจะชื่นชมยินดีกับเรา และให้กำลังใจหนุนเสริมเราให้ก้าวต่อไป เราต้องการการสนับสนุนเสริมกำลังดังที่กล่าว เมื่อเรากำหนดเป้าหมายที่ถูกต้องสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้า และดำเนินการตามแผนนั้นด้วยสุดจิตใจ

ปัญญาจารย์ 4:12 กล่าวไว้ว่า “...ถ้าคนหนึ่งเอาชนะคนคนเดียวได้ คนสองคนย่อมต่อต้านเขาได้แน่ เชือกสามเกลียวจะขาดง่ายก็หามิได้” (มตฐ.)

พลังการขับเคลื่อนเป้าหมายชีวิตของเรามาจากพลังแห่งพระวิญญาณของพระเจ้า ด้วยการทรงชี้นำจากพระวจนะ และรับการหนุนเสริมเพิ่มพลังจากประชากรของพระเจ้า

 

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499





13 มกราคม 2564

การเปลี่ยนแปลงในชีวิตไม่ได้เกิดโดยบังเอิญ

การเปลี่ยนแปลงชีวิตเจ้าตัวต้องตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนแปลง หรือไม่เปลี่ยนแปลงชีวิตของตน   การเปลี่ยนแปลงชีวิตจะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าเจ้าตัวเพียงแต่ “คิดอยาก” จะเปลี่ยนแปลงเท่านั้น   การที่เราแต่ละคนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิต คน ๆ นั้นจำเป็นที่จะต้อง “ตัดสินใจ” เลือกว่าตนต้องการเปลี่ยนแปลงในชีวิต

การเปลี่ยนแปลงชีวิตเป็นเรื่องของความตั้งใจ ชีวิตของเราจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในครึ่งปีหรือไม่? ชีวิตของเราจะเปลี่ยนแปลงดีขึ้นในหนึ่งปีหรือไม่? เราจะมีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น  สมบูรณ์ขึ้น และมีวุฒิภาวะมากขึ้นหรือไม่? ชีวิตของเราจะมีสันติสุขมากขึ้นหรือไม่? เราจะมีหนี้สินในชีวิตลดน้อยลงหรือไม่? แล้วเราจะมีชีวิตที่เป็นเหมือนที่พระเจ้าประสงค์ให้เราเป็นมากขึ้นหรือไม่? ทั้งสิ้นนี้อยู่ที่ความตั้งใจ การตัดสินใจเลือกที่จะมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น

“เกี่ยวกับวิถีชีวิตเดิมนั้น ท่านได้รับการสอนให้ทิ้งตัวตนเก่าของท่านซึ่งกำลังถูกทำให้เสื่อมโทรมไปโดยตัณหาอันล่อลวงของมัน” (เอเฟซัส 4:22 อมธ.)

บอกได้อย่างชัดถ้อยชัดคำเลยว่า การเปลี่ยนแปลงในชีวิตจะเกิดขึ้นเป็นจริงได้เราต้องตัดสินใจเลือกที่จะให้ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงก่อน เพราะการเปลี่ยนแปลงในชีวิตจะไม่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ โดยอัตโนมัติ หรือ โดยไม่ได้คาดคิด ชีวิตของเราจะเปลี่ยนแปลงเริ่มขึ้นเมื่อเรามีความคิดที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง เราต้องคิดและตัดสินใจว่า เราต้องการมีชีวิตในด้านนั้น ๆ เมื่อสิ้นปีใหม่นี้อย่างไร แล้วเราต้องการให้ชีวิตในด้านนี้เปลี่ยนแปลงจนอยู่ในสภาพเช่นไรในสามปีข้างหน้า ในหกปีข้างหน้า หรือในสิบปีข้างหน้านับจากวันนี้ไป ท่านอาจจะต้องการให้มีชีวิตด้านนั้น ๆ ของท่านดีขึ้นใน 3 ปีข้างหน้า แต่สิ่งที่ท่านต้องการจะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าตัวของท่านเองไม่ได้คิดและตัดสินใจที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงในชีวิตของท่าน

การเปลี่ยนแปลงในชีวิตจำเป็นที่เจ้าตัวจะต้องตัดสินใจเลือกที่จะให้ชีวิตของตนเปลี่ยนแปลง

บ่อยครั้งใช่ไหมที่เรารอคอยให้พระเจ้าเปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา? ไม่ควรเป็นเช่นนั้นเลย... ท่านไม่ได้รอให้พระเจ้าเปลี่ยนแปลงชีวิตของท่าน แต่พระเจ้าต่างหากที่กำลังรอคอยให้ท่านกล่าวกับพระองค์ว่า “ใช่พระเจ้าข้าฯ  ข้าพระองค์เต็มใจให้ชีวิตด้าน...เกิดการเปลี่ยนแปลง”

ถ้าเราต้องการให้ชีวิตของเราเติบโต เราต้องตัดสินใจเลือกที่จะให้ชีวิตด้านนั้น ๆ เติบโตขึ้นโดยตั้งใจ ชีวิตจะไม่มีการเติบโตขึ้นเลยถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงในชีวิต และจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เลยที่ไม่มีการสูญเสียหรือจ่ายค่าราคาในการเปลี่ยนแปลงและการสูญเสีย และก็ไม่มีการสูญเสียใด ๆ ที่ไม่ต้องเกิดความเจ็บปวดในชีวิต ถ้าเราต้องการมีชีวิตที่เติบโต เราจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในชีวิต และการเปลี่ยนแปลงคือการที่เราเองจะต้องยอมปล่อย “บางสิ่งเดิม ๆ ในชีวิตของเรา” ให้หลุดพ้นจากชีวิตของเรา แล้วท่านต้องคว้าเอาสิ่งใหม่บางอย่างเข้ามาในชีวิตของท่าน

เหมือนกับคนที่ลงไปจับปลาในโคลน เขาพบว่ามีปลาตัวใหญ่ ๆ มากมายหลายตัว เขาพยายามจับปลาพร้อมกันครั้งละสองตัว มือซ้ายตัวหนึ่ง มือขวาอีกตัวหนึ่ง มีคำโบราณกล่าวว่า “จับปลาสองมือ” เขาพยายามจับปลาตัวหนึ่งด้วยมือซ้ายและพยายามจับอีกตัวหนึ่งด้วยมือขวา แต่ปรากฏว่า เขาจับปลาไม่อยู่ทั้งมือซ้ายและขวา เขาเลยจับปลาไม่ได้สักตัว เขาจะต้องตัดสินใจเลือกว่าจะจับปลาตัวใดตัวหนึ่ง แล้วใช้ทั้งมือซ้ายและมือขวาช่วยกันจับปลาตัวที่เขาตัดสินใจเลือกให้อยู่แน่น

เช่นเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเรา เราต้องตัดสินใจเลือกว่าเราจะปล่อยทิ้งอะไรที่เป็นสิ่งเก่า ๆ เดิม ๆ ในชีวิต เพื่อที่เราจะคว้าเอาสิ่งใหม่ที่เราต้องการในชีวิตของเรา เราต้องพร้อมและเต็มใจที่จะยอมสลัดทิ้งรูปแบบชีวิตเดิม ๆ นิสัยเก่า ๆ วิธีคิดที่เราคุ้นชินแบบเดิม ๆ เราต้องยอมปล่อย ละทิ้ง สิ่งเหล่านี้ให้ออกไปจากชีวิตของเรา

พระธรรมเอเฟซัส 4:22 เขียนไว้ว่า “...ให้ท่านทิ้งตัวตนเก่าของท่านซึ่งกำลังถูกทำให้เสื่อมโทรมไปโดยตัณหาอันล่อลวงของมัน...” (สมช.) ให้เราปล่อยละนิสัยเดิม ๆ บาดแผลความเจ็บปวดที่ฝังมาแต่อดีต รูปแบบการดำเนินชีวิตเก่า ๆ รากเหง้าความบาปชั่วเดิม ๆ ที่หยั่งรากในชีวิตของเรา ให้ปล่อยละ หรือ ขจัดสิ่งเหล่านี้ให้ออกไปจากชีวิตของเรา แล้วให้เราตัดสินใจต้อนรับพระเจ้าเข้ามาในชีวิตของเรา เพื่อที่พระองค์จะกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของเรา อย่างเปาโลกล่าวไว้ในเอเฟซัส 2:13 ว่า “เพราะพระเจ้าคือผู้ทรงกระทำกิจภายในท่าน ให้ท่านตั้งใจและทำตามพระประสงค์อันดีของพระองค์” (อมธ.) และนี่คือกระบวนการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเรา ที่ไม่ได้เกิดขึ้นโดนบังเอิญแต่ด้วยความตั้งใจ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



11 มกราคม 2564

เคล็ดลับที่เรียบง่ายของการเข้าสู่ปีใหม่ที่ยิ่งใหญ่

ในโลกนี้จะมีอะไรที่ง่าย ๆ แต่มีค่ามหาศาลด้วยหรือ? ยิ่งจะค้นหาถึงชีวิตที่เรียบง่ายแต่เป็นเส้นทางที่นำไปเป้าหมายชีวิตที่ยิ่งใหญ่ ยิ่งเป็นไปได้ยากอย่างทวีคูณ 

เรียบง่ายอย่างไร?

แล้วเราจะเริ่มต้นอย่างไรที่ชีวิตของเราจะก้าวเข้าสู่ปีใหม่ที่ยิ่งใหญ่? พระเยซูมีข้อคิดเห็นข้อแนะนำในเรื่องนี้หรือไม่? พระองค์มีเคล็ดลับที่ไม่ล้ำลึกและลึกลับไหม? มีแน่ครับ พระองค์กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “แต่ท่านจงแสวงหาแผ่นดินของพระเจ้าและความชอบธรรมของพระองค์ก่อน และพระองค์จะประทานสิ่งทั้งปวงเหล่านี้ (คือสิ่งที่เรากังวลเป็นห่วง) แก่ท่าน” (มัทธิว 6:33 สมช.) ถ้าเราจะแสวงหาพระเยซูคริสต์ก่อนสิ่งอื่นใด พระองค์สัญญาว่าพระองค์จะตอบสนองรับผิดชอบสิ่งที่จำเป็นต้องการในชีวิตของเรา

การแสวงหาแผ่นดินของพระเจ้าก่อนหมายความว่าอย่างไร?

1หมายความว่า การที่เราใช้เวลาชีวิตของเรากับพระเจ้า ให้เราเริ่มต้นวันใหม่ทุกวันกับพระเจ้าก่อน ด้วยการอธิษฐานและการอ่านพระวจนะของพระเจ้า ทูลขอให้พระองค์นำเราว่าจะดำเนินไปในสู่ทิศทางใดของวันนี้ ขอพระเจ้าโปรดชี้นำเรื่องต่าง ๆ ที่ต้องเผชิญและตัดสินใจ ให้การช่วยเหลือในสิ่งที่จะต้องทำ และประทานความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต อธิษฐานสารภาพความบาปผิดในสิ่งที่ตนได้กระทำไป แสวงหาพระคุณของพระเจ้าในเวลาที่เราต้องการความช่วยเหลือ

2หมายความว่า เราให้แผนการของพระเจ้าอยู่เหนือแผนการของเราเอง  เราอธิษฐานต่อพระเจ้าว่า “...อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพระองค์ แต่ให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์” (ลูกา 22:42 มตฐ.) ให้เราดำเนินชีวิตให้เป็นที่พอพระทัยพระเจ้า ไม่ใช่ดำเนินชีวิตตามใจปรารถนาของตนเอง

3หมายความว่า เราเชื่อฟังพระเจ้าและกระทำตามสิ่งที่พระองค์บอกให้เราทำ ด้วยพระกำลังที่พระองค์ประทานแก่เรา เราต้องไปยอมให้ความปรารถนาแห่งเนื้อหนังของเราเข้ามาควบคุมการกำกับการดำเนินชีวิตของเรา แต่เราให้พระคริสต์เข้ามาครอบครองและควบคุมชีวิตประจำวันของเรา

4.  หมายความว่า เราใช้เวลาชีวิตของเรา ศักยภาพความสามารถของเรา และทรัพยากรต่าง ๆ ที่เรามีอยู่ในงานแห่งแผ่นดินของพระเจ้า มิใช่ใช้เพื่อเสริมสร้างอาณาจักรของตนเอง

5หมายความว่า เราตระหนักชัดว่าพระเจ้าทรงเป็นทุกสิ่งในชีวิตของเรา “ซึ่งคลังสติปัญญาและความรู้ทั้งมวลซ่อนอยู่ในพระองค์ (ในพระคริสต์)” (โคโลสี 2:3 อมธ.) ซึ่งเป็นคลังสมบัติแห่งชีวิตที่แท้จริงคือ ความรัก ความชื่นชมยินดี สันติสุข และความสำเร็จที่แท้จริงในชีวิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะแสวงหาพบได้ในพระคริสต์เท่านั้น... ดังนั้น ให้เราใช้เวลาชีวิตของเราในการแสวงหาพระองค์

เริ่มต้นด้วยความเรียบง่ายเดี๋ยวนี้

ไม่ต้องรอให้ถึงเวลาก่อนแล้วค่อยเริ่มแสวงหาแผ่นดินของพระเจ้า ให้เราเริ่มต้นเดี๋ยวนี้! ให้พระคริสต์ทรงอันดับแรกสุดในการเริ่มต้นแต่ละวัน เราจะได้รับพระพรในการดำเนินชีวิตอย่างบริบูรณ์ในวันนั้น ๆ จากพระองค์

 

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่

E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



06 มกราคม 2564

พระเจ้าประสงค์ใช้ “ความจำกัด” ในชีวิตของเราด้วย!

ตำราสร้างผู้นำทั้งหลาย ต่างมุ่งให้ผู้นำค้นหา “จุดแข็ง” ที่เป็นศักยภาพ ทักษะ ความสามารถของตนให้ได้ แล้วเสนอแนะให้พัฒนาสิ่งเด่น ๆ เหล่านั้นในชีวิตใช้ในการเป็นผู้นำของเขา แต่สำหรับพระเจ้าของคริสตชน พระองค์ทรงใช้สิ่งที่เป็น “ความจำกัด” หรือ “จุดด้อย” ในชีวิตของคริสตชนแต่ละคน เพื่อทำพระราชกิจที่สำคัญยิ่งของพระองค์ได้อีกด้วย

“กษัตริย์พอพระทัยเอสเธอร์มากกว่าหญิงอื่นทั้งปวง

พระองค์โปรดปรานและพอพระทัยนางมากกว่าหญิงพรหมจารีคนอื่น ๆ จึงสวมมงกุฎให้และตั้งนางเป็นราชินี...” (เอสเธอร์ 2:17 อมธ.)

พระเจ้าไม่เพียงแต่จะใช้ของประทาน ศักยภาพ ทักษะความสามารถที่มีในตัวเราเท่านั้น แต่พระองค์ประสงค์ที่จะใช้สิ่งที่เป็น “ความจำกัด” ในชีวิตของท่านด้วย

ให้เราพิจารณาถึงพระนางเอสเธอร์เป็นตัวอย่าง ในตัวเธอมี “ความจำกัด” มากมายหลายเรื่องที่กลับเป็นสิ่งที่ดีพร้อมสำหรับบทบาทที่พระเจ้าประสงค์ให้เธอกระทำ

เธอเกิดมาเป็นเด็กกำพร้าที่โมรเดคัยนำมาชุบเลี้ยงเป็นบุตร เธอเป็นชนกลุ่มน้อยที่เป็นชาวยิวที่อาศัยในประเทศเปอร์เซีย และเธอยังเป็นโสด

สาวโสดในสังคมที่ผู้ชายมีอำนาจเหนือกว่าสตรีเพศ เธอย่อมไร้สิทธิ ไร้เสียงใด ๆ

แต่พระเจ้าทรงใช้สิ่งที่เป็นความจำกัดเหล่านี้ในชีวิตของเธอเพื่อที่ทำให้เธอประสบความสำเร็จในชีวิต

บางครั้ง เรามองว่า สิ่งที่เป็นจุดอ่อน ข้อด้อย ความเสียหายในพันธกิจที่เรากระทำแต่ในความเป็นจริงกลับเป็นส่วนหนึ่งในแผนการใหญ่ของพระเจ้าสำหรับชีวิตของเรา

เอสเธอร์น่าพูดว่า “เพียงถ้าฉันได้รับการเลือกให้... ถ้าเพียงฉันมีการศึกษาที่ดีกว่านี้... ถ้าเพียงฉันจะเป็นเหมือน...คนนั้น”

ใช่... หลายคนที่ทำเช่นนั้น เขามีชีวิตไปวัน ๆ หนึ่งด้วยความขุ่นข้องหมองใจ มักมองแต่ความสำเร็จของคนอื่นและกล่าวว่า “ฉันจะดีแค่ไหนถ้าฉันมีชีวิตเหมือนเขาคนนั้น”

ถ้าเรามีทัศนะมุมมองในชีวิตเช่นนั้น เราจะไม่ประสบความสำเร็จในสิ่งที่พระเจ้าทรงเรียกให้กระทำในชีวิต   เราต้องตระหนักรู้ว่า อุปสรรคที่ขวางกั้นในชีวิตของเราบ่อยครั้งที่เป็นสิ่งที่พระเจ้าอนุญาตให้เกิดขึ้น...

เพื่อเป็นโอกาสในการสร้างความแตกต่างในชีวิตของเรา

เราคงมองไม่เห็นสิ่งดีเช่นนี้ถ้าในเวลานั้นเราต้องเผชิญกับความเจ็บปวดในชีวิต

ให้เราพิจารณาชีวิตของโยบ เขาเป็นคนที่ร่ำรวยที่สุดในโลกสมัยของเขา แต่แล้ววันหนึ่งพระเจ้าอนุญาตให้เขาต้องสูญเสียทุกสิ่งที่เขามี ทั้งครอบครัว ความมั่งคั่งร่ำรวย และสุขภาพที่ดี

และเมื่อโยบเริ่มถกถามพระเจ้า พระเจ้ากลับเงียบ

โยบกล่าวว่า “เมื่อพระองค์ทรงกระทำพระราชกิจอยู่ทางทิศเหนือ ข้าไม่เห็นพระองค์ เมื่อพระองค์หันมาทางใต้ ข้าหาพระองค์ไม่พบ แต่พระองค์ทรงทราบทางที่ข้าไป...

... พระองค์ทรงกระทำทุกสิ่งตามชอบพระทัย พระองค์ทรงกระทำแก่ข้าตามที่ทรงมีแผนกำหนดไว้...”  (โยบ 23:9-10, 13-14 สมช.)

เรามีชีวิตในช่วงเวลาที่สั่นคลอนหวั่นไหว และเราอาจจะไม่สามารถคาดการณ์ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร   แต่พระเจ้าทรงรู้และเห็นชัดเจนว่าสิ่งต่าง ๆ จะคลี่คลายไปในทางไหน

ภาวะกดดัน ความปวดร้าวในชีวิต โอกาสและอุปสรรค พระเจ้าทรงใช้สิ่งเหล่านี้ในพระราชกิจของพระองค์ทั้งนั้น

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499