22 มกราคม 2564

ก้าวที่สองของการเข้าสู่การเยียวยารักษา...

เราจะต้อง “อธิษฐานด้วยชีวิตและจากความจริงใจ”

ในข้อเขียนครั้งที่ผ่านมา เรากล่าวถึงก้าวแรกของการเข้าสู่การเยียวรักษา ที่เราแต่ละคนต้อง “ถ่อมจิตใจลงสารภาพความบาปผิดของตน” ในข้อเขียนครั้งนี้ เป็นก้าวที่สองของการเข้าสู่การเยียวรักษา... ที่เราจะต้อง “อธิษฐานจากชีวิตและด้วยความจริงใจ”

2. เราต้องอธิษฐานด้วยชีวิตและจากความจริงใจ

เมื่อเราอธิษฐาน เราอธิษฐานจากจิตใจและทั้งชีวิตของเรา “ถ้าประชากรที่เรียกตามนามของเราจะถ่อมใจลง และ อธิษฐาน...”  ในที่นี้ไม่ได้เน้นถึงวิธีการอธิษฐาน หรือ คิดอย่างไรเกี่ยวกับการอธิษฐาน ไม่ใช่เรื่องความหมายของการอธิษฐาน มิใช่การอธิษฐานตามความเคยชิน เช่น เมื่อรับประทานอาหาร ก่อนนอนและตื่นนอน มิใช่การอธิษฐานตามพิธีกรรม แต่เป็นเรื่องการอธิษฐานที่ออกมาจากชีวิตทั้งสิ้นและจากก้นบึ้งจิตใจของเราต่อพระเจ้าด้วยความจริงใจ เป็นการอธิษฐานที่มาจากใจจริงและจากความจำเป็นในชีวิตเรา

ที่ผ่านมาเมื่อเราอธิษฐาน เราใช้เวลาบ่นต่อพระเจ้ามากกว่าการอธิษฐานต่อพระองค์ด้วยจริงใจ   การอธิษฐานจากสุดจิตสุดใจก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิต การบ่นว่า ความวิตกกังวลจะไม่เปลี่ยนอะไรเลย แต่กลับจะทำให้ให้เรามีชีวิตจิตใจที่สงสัย ทุกข์ใจ และสิ้นหวัง  

สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในยุคของเราเท่านั้น มีตั้งแต่ในโบราณกาลด้วย อย่างเช่นในพระธรรม โฮเชยา 7:14 ก. เขียนไว้ว่า “พวกเขาไม่ได้ร้องเรียกเรา “จากใจจริง เอาแต่คร่ำครวญบนที่นอน (หรือแปลได้อีกว่า คร่ำครวญด้วยเสียงดัง)” (อมธ.) บ่อยครั้งไหมที่เรานั่งที่โซฟาหน้าทีวีแล้วบ่นว่าด้วยเสียงดังต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น วิพากษ์วิจารณ์ต่อสถานการณ์เรื่องราวจากข่าว บ่นว่าในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามข่าวที่เราชม การกระทำเช่นนี้ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไหม? ท่านบ่นว่าวิพากษ์วิจารณ์บนสื่อออนไลน์ต่าง ๆ แล้วมันทำให้สังคม ประเทศ และโลกดีขึ้นหรือไม่?   โฮเชยาบอกว่าผู้คนมิได้อธิษฐานทูลต่อพระเจ้าในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ปรึกษาพระองค์ด้วยความจริงใจ ดังเช่นเรานั่งบ่นหน้าทีวี หน้าสื่อต่าง ๆ

 “หากประชากรของเราซึ่งเรียกชื่อตามนามของเราจะ “ถ่อมใจลงและอธิษฐาน ...” (2พงศาวดาร 7:14 อมธ.)

ปัญหาคือ: เราไม่ได้อธิษฐานจากความจริงใจของเรา

ถามตรง ๆ เถิด ทุกวันนี้เราใช้เวลาหน้าทีวี หรือ หน้าสื่อประเภทต่าง ๆ เพื่อดูเหตุการณ์ หรือ สถานการณ์ที่เกิดขึ้น หรือ ใช้เวลาในการอธิษฐานต่อพระเจ้า ประการไหนมากกว่า แล้วเกิดผลอย่างไรบ้าง?  และทำให้สถานการณ์เกิดการเปลี่ยนแปลงไหม?

แล้วเราจะอธิษฐานด้วยความจริงใจอย่างไร? เราจะต้องอธิษฐานในแต่ละครั้งอย่างเฉพาะเจาะจง เฉพาะเจาะจงอย่างไร? เราจะต้องเขียนรายการที่เราจะอธิษฐานต่อพระเจ้า เราควรจะเขียนรายการอธิษฐานต่อพระเจ้าเป็นประเด็นที่เจาะจงชัดเจน โดยเริ่มจากช่องแรกวันเวลาที่เราเริ่มอธิษฐานในเรื่องนี้ ช่องที่สองประเด็นที่เราอธิษฐาน และในช่องที่สาม วันเวลาที่พระเจ้าทรงตอบคำอธิษฐานในเรื่องนั้น ๆ แล้วในแต่ละปีผ่านไปเราจะพบว่า พระเจ้าทรงตอบคำอธิษฐานของเรากี่เรื่องกี่ประเด็นที่เราอธิษฐาน ด้วยวิธีการเช่นนี้เองที่เสริมสร้างความเชื่อของเราแต่ละคน เพราะเราได้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่า เมื่อเราอธิษฐานต่อพระเจ้าในเรื่องต่าง ๆ พระเจ้าทรงตอบคำอธิษฐานของเราในเรื่องอะไรบ้าง และตอบอย่างไรบ้าง

ดังนั้น ให้เราใส่ใจในการอธิษฐานด้วยความจริงใจ ด้วยการทุ่มเททั้งชีวิต อธิษฐานในทุกเวลาและสถานการณ์ชีวิต อธิษฐานด้วยความเชื่อและไว้วางใจ ด้วยการวิงวอน ด้วยความเพียร และอธิษฐานเผื่อธรรมิกชนคนอื่น ๆ เสมอ

การที่เราจะทำเช่นนี้ได้ เราต้องใส่ใจในการอธิษฐานเสมอ ไม่ย่อท้ออ่อนแรง และอธิษฐานเผื่อธรรมิกชนคนอื่น ๆ เสมอด้วย ใน ลูกา 18:1 พระเยซูคริสต์สอนว่า เราควรอธิษฐานอยู่เสมอและไม่อ่อนระอาใจ

การอธิษฐานเป็นความตั้งใจ ท่านต้องเลือกว่าท่านจะอธิษฐาน หรือ ยอมล้มเลิกไม่อธิษฐาน   ในสังคมและโลกปัจจุบันนี้เรากล่าวได้ว่าสังคมโลกเลือกประการหลังมากกว่า แต่ถ้าเราต้องการเห็นว่าสังคม ประเทศ แผ่นดินของเราได้รับการรักษา จำเป็นที่เราจะต้องถ่อมใจลงสารภาพความบาปผิดของเรา และเอาจริงเอาใจในการอธิษฐานด้วยความจริงใจต่อพระเจ้าในเรื่องต่าง ๆในชีวิตของเรา และอธิษฐานเผื่อธรรมิกชนคนอื่นด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำรายการการอธิษฐานเพื่อสังคมประเทศชาติของเรา ที่จะอธิษฐานปรึกษา ทูลขอต่อพระเจ้าในประเด็นเหล่านั้น เพื่อให้สังคม ประเทศชาติของเราให้ได้รับการเยียวยารักษาจากพระเจ้า

“จงอุทิศตนในการอธิษฐาน จงเฝ้าระวังและมีใจขอบพระคุณ” (โคโลสี 4:2 อมธ.)

“จงอธิษฐานในพระวิญญาณทุกเวลาโดยการอธิษฐานและการวิงวอนทุกๆ อย่าง เพราะเหตุนี้จงเฝ้าระวังด้วยความเพียรและด้วยการวิงวอนเผื่อธรรมิกชนทุกคนอยู่เสมอ” (เอเฟซัส 6:18 มตฐ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น