23 ธันวาคม 2562

เมื่อคนแก่คนหนึ่งสะท้อนคิด...ในช่วงคริสต์มาส-ปีใหม่

มีคนถามผู้เฒ่าคนหนึ่งในช่วงคริสต์มาสว่า  “ท่านมีความสุขชื่นชมอะไร “ที่ไม่มีใครรู้ถึงได้” ในช่วงเวลาคริสต์มาส?”   คำตอบของเขาอาจจะดูแปลก   แต่นั่นเป็นความจริง... 

“ผมมีความสุขกับการที่ได้สะท้อนคิด”
“แล้วท่านสะท้อนคิดอย่างไร?

เมื่อคริสต์มาสและปีใหม่ใกล้แค่เอื้อมมือ ผมมีเวลาที่จะใคร่ครวญ ทบทวน และสะท้อนคิดสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของปีที่กำลังจะผ่านไป ผมถามตนเอง เช่น
|  ฉันรู้สึกขอบคุณอะไร/ใครบ้างในปีที่กำลังจะผ่านไป?
|  ฉันได้เรียนรู้อะไรบ้างจากปีที่กำลังจะผ่านไป?
|  ฉันได้ไปไหนบ้าง? แล้วได้รับประสบการณ์อะไรบ้าง?
|  ใครบ้างที่ฉันรู้จักเขาลึกซึ้งขึ้นกว่าปีก่อน ๆ ที่ผ่าน ๆ มา?
|  ถ้าฉันหมดลมหายใจคืนนี้ ใครที่จะหามฉันเข้าโลง? ใครจะเป็นคนแบกโลงศพของฉัน? เขารู้จักฉันหรือไม่? จริง ๆ แล้ว เขารู้จักฉันมากน้อยแค่ไหน?

©     ปีที่กำลังจะผ่านไปนี้ฉันใกล้ชิดติดสนิทกับพระเจ้ามากกว่าปีที่ผ่าน ๆ มาหรือเปล่า?
©     อะไรคือนิมิตหมาย/วิสัยทัศน์สำหรับปีใหม่ที่กำลังเคลื่อนเข้ามา?  
©     คนที่ฉันคิดว่าเขาจะเป็นคนหามโลงศพของฉันจะเข้ามามีส่วนในชีวิตในปีใหม่ของฉันหรือไม่? อย่างไรบ้าง?    
©     ฉันจะเปิดชีวิตของฉันรับพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับชีวิตของฉัน ถึงแม้พระองค์จะให้ฉันดำเนินไปบนวิถีทางชีวิตที่แตกต่างจากวิถีชีวิตที่ฉันกำลังดำเนินอยู่หรือไม่? หรือถ้าพระองค์จะนำฉันออกจากสภาพชีวิตที่สะดวกสบายที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ฉันจะยอมรับพระประสงค์ของพระองค์หรือไม่?

การสะท้อนคิดของผมส่วนมากจะเกิดขึ้นในช่วงตอนเช้าตรู่ในช่วงเวลาคริสต์มาส ผมไม่ต้องการรอทำสิ่งนี้หลังคริสต์มาส เพราะช่วงเวลาหลังคริสต์มาสผมมักรู้สึกโดดเดี่ยว ผมต้องการให้พระวิญญาณบริสุทธิ์พูดกับผมในช่วงที่ผมรู้สึกขอบพระคุณพระองค์ มีชีวิตที่รู้สึกอบอุ่น เปี่ยมด้วยรักเมตตา เมื่อลูกหลานมาเยี่ยมและอยู่ด้วย รู้สึกว่าชีวิตมีสัมพันธภาพที่แนบแน่น และ มีการพูดคุยกันอย่างมีความสุข

ในช่วงเวลานี้ผมจะทำบางสิ่งบางอย่าง...
©       ผมจะทบทวนตรวจสอบรายการความรู้สึกขอบคุณที่มีผมในปีที่กำลังจะผ่านไปนี้
©       กลับไปทบทวนบันทึกการสะท้อนคิดประจำวันว่ามีอะไรที่สำคัญที่ได้รับจากการอ่านพระวจนะของพระเจ้าแต่ละวันตลอดปีที่ผ่านมา...หรือคำเทศนาที่ได้ยินได้ฟัง...หรือจากการอ่านหนังสือ แล้วผมจะรวบรวมสรุปบันทึกว่าในปีที่ผ่านมาผมได้เรียนรู้อะไรบ้าง?
©       กลับไปดูปฏิทินที่ผ่านมา เพื่อตรวจสอบทบทวนว่าในปีที่กำลังจะผ่านไปนี้ผมได้ไปที่ไหนบ้าง? ทำอะไรบ้าง? ทำสำเร็จในเรื่องอะไรบ้าง? และได้พบใครบ้าง?

Ø แล้วเลือกทบทวนการพบคนสำคัญ ๆ ไปทีละคนว่า เขาสร้างผลกระทบอะไรในชีวิตของฉันบ้าง? และฉันสร้างผลกระทบอะไรในชีวิตของเขาบ้าง?  
Ø แล้วทบทวนอีกว่ามีความสัมพันธ์ร่วมกันอย่างไรในครอบครัว? รู้สึกขอบคุณคนในครอบครัวเรื่องอะไรบ้าง?  
Ø ทบทวนถึงความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูง รู้สึกขอบคุณใครบ้างในเรื่องอะไร? 
Ø กลับไปอ่านทบทวนถึงจดหมายขอบคุณ จดหมายแสดงความยินดี หรือ ข้อความในไลน์  เฟสบุ๊ค และ ฯลฯ

©       ผมจะทูลขอพระเจ้าช่วยผมสกัดถึงความหมายที่สำคัญของสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ และทูลถามพระองค์ว่า “พระองค์ต้องการสอนบทเรียนอะไรแก่ผมบ้าง? และผมต้องเรียนรู้เพิ่มขึ้นในอะไรอีก?”
©       จากนั้น ผมจะทูลขอพระเจ้าประทานนิมิต/วิสัยทัศน์สำหรับผมในปีหน้า...ในช่วงเวลานี้...ที่กำลังจะเข้าไปสู่ปีใหม่

เมื่อเราทบทวน ใคร่ครวญ และ สะท้อนคิดในช่วงคริสต์มาส เราจะรู้สึกถึงความรักเมตตาและความอบอุ่นในชีวิตที่ได้รับจากพระเจ้า และผ่านผู้คนต่าง ๆ รอบข้าง เรารู้สึกสำนึกในพระคุณของพระองค์ ที่ทรงปกป้อง คุ้มครอง ปกปักรักษา และ เคียงข้างชีวิตของเราในทุกสถานการณ์

ผมได้เห็นถึงพระคุณของพระองค์ที่อดทนอยู่ใกล้ให้ผมปล้ำสู้ ดิ้นรนจนกว่าผมรู้ที่จะทูลขอความช่วยเหลือจากพระองค์ และเมื่อผมกระทำผิดพระองค์เมตตาโปรดยกโทษ ที่ผมเป็นคนหลายใจ  หลอกลวง เห็นแก่ตัว และทรงกอบกู้ผมจากอำนาจความบาปที่เข้ามาครอบงำในชีวิตของผม  แล้วยังทรงช่วยให้ผมมีการเติบโตขึ้นในชีวิตอีกด้วย 

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


21 ธันวาคม 2562

ใครขโมย “ความชื่นชมยินดี” ของศิษยาภิบาลไป?

ในเทศกาลคริสต์มาส เพลงฮิตที่เราร้องเป็นประจำทุกปีคือ “พระทรงบังเกิดโลกจงยินดี” แต่ในชีวิตจริงของเราในยุคนี้การที่จะมีความชื่นชมยินดีนั้นแสนยากลำบากครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะศิษยาภิบาล หรือ ผู้นำคริสตจักร เรารู้ว่าความชื่นชมยินดีในชีวิตคริสตชนเป็นของประทานเฉพาะจากพระเจ้า แต่เราก็ยังต้องต่อสู้กันภายในชีวิตจิตใจของตน เหมือนกับว่า มีใครที่มาขโมย “ความชื่นชมยินดีในชีวิตของเรา” ไป

แล้วคริสต์มาสปีนี้...ใครขโมยความชื่นชมยินดีของศิษยาภิบาลไปครับ?

1. สมาชิกที่มักมองและวิจารณ์ ศบ. ในเชิงลบ พระเจ้าสามารถที่จะหลั่งพระพรลงมาแก่เรา แต่ศิษยาภิบาลไม่สบายใจกับคำวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบ ที่ได้ยินมาบ่อย ๆ

2. สมาชิกที่ไม่สนใจในพระวจนะของพระเจ้า ศิษยาภิบาลเทศนาพระวจนะของพระเจ้าทุกสัปดาห์ แต่จะมีบางคนหรือกลุ่มคนที่ยังเลือกจะดำเนินชีวิตตามแผนการ และ วิถีชีวิตของตนเอง พูดง่าย ๆ ไม่เชื่อฟังอย่างต่อเนื่อง ทำให้ศิษยาภิบาลถามในใจตนเองว่า นี่จำเป็นจะต้องจัดการกับวินัยชีวิตของสมาชิกหรือยัง หรือพวกเขาแก่เกินแก้?

3. ครอบครัวของสมาชิกเกิดการแตกแยก เมื่อมองดูอิทธิพลของกระแสสังคมที่เข้ามาในมีอิทธิพลต่อชีวิตแต่งงานของสมาชิกคริสตจักร ทำให้เกิดผลเชิงลบในครอบครัวของสมาชิก สิ่งนี้ทำให้ศิษยาภิบาลมีชีวิตอยู่ไม่เป็นสุข

4. เทศนาไม่ได้ดั่งใจหวัง บ่อยครั้งที่ศิษยาภิบาลคาดหวังว่า คำเทศนาในเช้าวันอาทิตย์จะเป็นที่สนใจของสมาชิก ที่จะช่วยให้สมาชิกสู้กับความสิ้นหวังท้อแท้ แต่เมื่อตกเย็นศิษยาภิบาลกลับไม่พอใจกับการเทศนาของตนเองในเช้าวันนี้

5. ความผิดบาปของตนเองที่ไล่ล่าชีวิตของศิษยาภิบาล เมื่อชีวิตของศิษยาภิบาลตกอยู่ในอำนาจของความบาป ยากที่จะหาพบความชื่นชมยินดีที่แท้จริงในชีวิต ความบาปผิดในตัวของศิษยาภิบาลในหลายกรณีเป็นเรื่องส่วนตัวและซ่อนเร้น และถ้าศิษยาภิบาลท่านนั้นเลือกที่ยังจะอยู่ในความบาปนั้น แน่นอนมันจะปล้นขโมยความชื่นชมยินดีของศิษยาภิบาลไปแน่

6. มีจิตใจที่จดจ่ออยู่ที่จะหาคริสตจักรที่ใหญ่กว่า อุดมสมบูรณ์กว่า ดีกว่า ที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น ปัญหาประการนี้ในศิษยาภิบาล เป็นปัญหาของความ “อยากได้ใคร่มี” ตามความต้องการของตนเอง เขาจะมีชีวิตที่ไม่รู้จักพอ หรือ ไม่มีความพึงพอใจในชีวิตของตน ศิษยาภิบาลท่านนั้นไม่สามารถที่จะมีความชื่นชมยินดีในชีวิตตราบใดที่ยังคิดว่าตนเองสมควรที่จะต้องได้รับสิ่งที่ดีกว่านี้มากกว่านี้

7. ทีมผู้อภิบาล คณะธรรมกิจคริสตจักรเกิดความตึงเครียดในความสัมพันธ์ ไม่มีใครที่ต้องการจะทำงานในบรรยากาศของความขัดแย้ง แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่า แม้แต่ในกลุ่มผู้นำคริสตชนพวกเราก็ยังมีการสู้กัน เป็นการยากยิ่งที่เราจะพบความชื่นชมยินดี ศิษยาภิบาลรู้สึกว่าไม่อยากไปทำงาน เพราะต้องพบกับความขัดแย้ง

8. สมาชิกคริสตจักรที่เรียกร้องต้องการความสนใจอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มจำนวนมากขึ้น สมาชิกมีชีวิตที่เหนื่อยล้า ผิดหวัง สับสน ศิษยาภิบาลไม่สามารถที่จะทำให้พวกเขาพึงพอใจในชีวิตของเขาได้ ไม่ว่าศิษยาภิบาลจะทำพันธกิจมากมายหลายด้าน หรือทำพันธกิจเพื่อสมาชิกเหล่านี้ หรือแม้แต่ทำพันธกิจแทนสมาชิกเหล่านี้ ก็จะไม่ช่วยให้สมาชิกเหล่านี้มีความพึงพอใจในชีวิตได้ แน่นอนครับ ศิษยาภิบาลไม่สามารถที่จะรับใช้คนเหล่านี้ด้วยความชื่นชมยินดีได้เช่นกัน

9. คริสตจักรไม่อดทนในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง คริสตจักรเป็นนาวาที่จะหันกลับได้ยากยิ่ง ในความปรารถนาของศิษยาภิบาลเขาเห็นหลายอย่างในคริสตจักรที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงเป็นกระบวนการที่ต้องให้เวลามาก ที่อาจจะทำให้ศิษยาภิบาลท้อแท้หมดกำลังใจได้ง่าย ๆ

10. พึ่งกำลังความสามารถของตนเองมากเกินไป เป็นการยากลำบากอย่างยิ่งที่ศิษยาภิบาลจะมีชีวิตที่ชื่นชมยินดีในองค์พระผู้เป็นเจ้า ในเมื่อศิษยาภิบาลมิได้พึ่งพิงในพระกำลังของพระองค์

มีอะไรอย่างอื่นไหมครับท่าน... ที่มาขโมยความชื่นชมยินดีในชีวิตและการรับใช้ของศิษยาภิบาล?

คริสต์มาสปีนี้ ให้เราคืน “ความชื่นชมยินดี” เป็นของขวัญจากสมาชิกคริสตจักรแก่ศิษยาภิบาลของเราดีไหมครับ? แล้วเราต้องทำอย่างไรครับ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


20 ธันวาคม 2562

ปีใหม่นี้ “ที่ปรึกษามหัศจรรย์” ไปที่ทำงานกับท่านด้วยนะ!

เราท่านต่างยอมรับความจริงว่า ในชีวิตประจำวัน  ในการติดต่อ สัมพันธ์ และการประกอบอาชีพ การงานที่เรารับผิดชอบอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เราพบกับความสำเร็จ การสนับสนุน แต่บ่อยครั้งนักที่เราต้องพบกับปัญหาสารพัดอย่าง ความไม่เข้าอกเข้าใจกันกับเพื่อนร่วมงาน กับเจ้านาย กับลูกน้อง เราต้องคิดตัดสินใจเมื่อผลประโยชน์ไม่ลงตัวทำให้เราต้องขัดแย้งกัน หลายครั้งพบกับอุปสรรคที่ไม่สามารถหาทางออก และ อีกมากมาย

จากพระวจนะพระเจ้าเราเรียนรู้ว่า พระคริสต์เป็นที่ปรึกษามหัศจรรย์ของเรา และข่าวดียิ่งกว่านั้น   องค์ที่ปรึกษามหัศจรรย์ไปที่ทำงานของเราอยู่เคียงข้างเราด้วย ให้เรามีเวลาที่จะปรึกษากับพระองค์ในทุกเรื่องที่เราพบทางตัน หาทางออกไม่ได้ ทุกเรื่องที่เราต้องตัดสินใจ ทูลขอพระองค์โปรดประทานพระปัญญาแก่เราเพื่อเราจะเห็นแสงสว่างพบทางออกในแต่ละเรื่อง

ปีใหม่ 2020 นี้ ทำให้เป็นวินัยชีวิตของเราเลยว่า ก่อนที่จะตัดสินใจ ก่อนที่จะลงทำอะไร  ปรึกษาที่ปรึกษามหัศจรรย์ก่อนนะ!

บทภาวนาอธิษฐาน

องค์พระผู้เป็นเจ้า ในช่วงเวลาเฉลิมฉลองถึงการมาบังเกิดในโลกนี้ของพระองค์  และ ตลอดขวบปีที่ผ่านมา พระองค์ทรงเป็น “ที่ปรึกษามหัศจรรย์” ของข้าพระองค์ การให้การปรึกษาของพระองค์นั้นลุ่มลึกน่าอัศจรรย์ยิ่ง การปรึกษาที่พระองค์ประทานให้นั้นเปี่ยมด้วยพระปัญญาและน่าประหลาดใจ ไม่เหมือนกับความคิดและแผนการของลูกเอง

ใครละ...ที่จะอธิบายได้ถึงแผนการอันน่าอัศจรรย์ที่พระองค์ส่งสิ่งที่มีค่าที่สุดคือพระบุตรของพระองค์แก่ลูกทั้งหลาย? และข้าพระองค์ปลื้มปีติด้วยความสำนึกในพระคุณที่พระองค์กำหนดแผนการอันน่าอัศจรรย์ขึ้น เป็นแผนการที่มีลักษณะเฉพาะสำหรับลูกแต่ละคนของพระองค์

โปรดเสริมสร้างเตรียมพร้อมชีวิตของลูก

ขอพระองค์โปรดเสริมสร้างจิตใจของลูกในการเฉลิมฉลองถึงการที่พระองค์มาบังเกิดในโลกนี้   โปรดเสริมสร้างให้ลูกเป็นคนรับใช้ของพระองค์ที่มีสติปัญญาในการแบ่งปันของประทานในชีวิตแก่คนรอบข้าง มิใช่ด้วยของขวัญราคาแพง แต่ด้วยความรักเมตตาที่ล้ำค่าแบบพระคริสต์

โปรดเปิดตา เปิดหูของลูกให้เห็นและได้ยินเสียงของคนรอบข้าง หลายคนที่ต้องการคำปรึกษาที่เต็มเปี่ยมด้วยพระปัญญาของพระองค์ ทั้งคนที่มีบาดแผลลึกในชีวิต คนที่มีจิตใจที่ว้าวุ่นสับสน  คนที่มีจิตวิญญาณที่สิ้นหวัง ท้อแท้ หมดกำลัง คนเหล่านี้รอคอยการสัมผัสจากพระองค์ หลายต่อหลายคนต้องการค้นพบและมีประสบการณ์กับความมหัศจรรย์ที่ได้รู้จักพระองค์  

โปรดเติมเต็มจิตวิญญาณของลูก ๆ ด้วยความมหัศจรรย์ล้ำลึกแห่งคริสต์สมภพ เพื่อพระองค์จะได้สำแดงความรักเมตตาของพระองค์ถึงคนเหล่านี้ผ่านชีวิตของลูก ดั่งทารกที่โหยหาการสัมผัสจากแม่ ลูกต้องการได้ยินได้เห็นการให้การปรึกษาจากพระองค์อย่างมาก

ลูกขอยกย่องสรรเสริญถึงการให้การปรึกษาอันน่าอัศจรรย์ของพระองค์

ขอบพระคุณพระเจ้าที่ทรงเป็นที่ปรึกษามหัศจรรย์ของลูก ๆ โปรดนำลูกไปในทางที่ลูกควรจะดำเนินไป วันนี้ลูกต้องการสนิทชิด และ ติดตามพระองค์ และเดินตามคำตรัสที่เปี่ยมด้วยพระปัญญาของพระองค์ไปอย่างใกล้ชิด ในวันนี้ลูกขอยกย่องสรรเสริญพระองค์ และพระนาม “ที่ปรึกษามหัศจรรย์” อันล้ำค่าและเทิดทูน

ด้วยว่ามีเด็กคนหนึ่งเกิดมาเพื่อเรา   มีบุตรชายคนหนึ่งที่ประทานแก่เรา   และการปกครองจะอยู่บนบ่าของเขา   และเขาจะได้รับการขนานนามว่า
“ที่ปรึกษามหัศจรรย์  พระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์   พระบิดานิรันดร์ องค์สันติราช”
(อิสยาห์ 9:6 อมธ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



18 ธันวาคม 2562

อย่าลืม...เอาคริสต์มาสกลับไปที่ทำงานด้วย!

เราท่านได้เฉลิมฉลองวันคริสต์มาส เราขอบพระคุณพระเจ้า ยกย่องสรรเสริญพระองค์ เราอวยพรผู้คนที่พบเห็น เราให้สิ่งดีดีกับผู้คนต่าง ๆ เรามีโอกาสพูดคุย ชื่นชม กับผู้คนที่เราไม่ได้พบเจอกันมานาน เรามีจิตใจที่ชื่นชมยินดี และ ฯลฯ

แต่มีคำถามว่า หลังจากที่เราเฉลิมฉลอง ขอบพระคุณพระเจ้า และ ทำสิ่งต่าง ๆ ที่ยกย่องสรรเสริญพระองค์ในคริสตจักรและในบ้านของเราแล้ว หลังจากเสร็จคริสต์มาสแล้ว เราต่างคนต่างก็กลับไปทำงาน ทำอาชีพที่เราต้องทำต้องรับผิดชอบ คำถามที่เราต้องถามตนเองในปีนี้คือ...

แล้วเราได้นำ “จิตวิญญาณแห่งการเฉลิมฉลองขอบพระคุณพระเจ้าในพระราชกิจที่พระเจ้าทรงกระทำในวันคริสต์มาสกลับไปที่ทำงาน หรือ ในงานอาชีพที่เราต้องทำและรับผิดชอบหรือไม่?   หรือ เราเกิดความรู้สึกว่า ต้องกลับไปเจอะเจอกับสถานการณ์เดิม ๆ ที่หนักอกหนักใจในที่ทำงานอย่างเดิม? แถมยังไม่หายเหนื่อยจากการฉลองคริสต์มาสหรือเปล่า?

ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะจัดการเฉลิมฉลองบรรยากาศแบบคริสต์มาสตลอดปีใหม่นี้ในที่ทำงาน หรือ ในที่เราทำอาชีพของเรา แต่หมายความว่า เราจะเอาพลังแห่งวันคริสต์มาสเป็นพลังเปลี่ยนแปลงประสบการณ์ที่จะเกิดขึ้นในที่ทำงานในปีใหม่ของเราหรือไม่?  อย่างไร?

“เมื่อพวกเขา(คนเลี้ยงแกะ)ได้เห็นพระองค์(พระกุมารเยซู)แล้วก็กระจายข่าว เรื่องที่ทูตสวรรค์นั้นมาบอกเกี่ยวกับพระกุมาร และคนทั้งปวงที่ได้ยินก็ประหลาดใจในสิ่งที่คนเลี้ยงแกะกล่าวแก่พวกเขา

ส่วนมารีย์เก็บเรื่องทั้งหมดนี้ใคร่ครวญอยู่ในใจ คนเลี้ยงแกะกลับไปและยกย่องสรรเสริญพระเจ้า สำหรับทุกสิ่งที่พวกเขาได้ยินและได้เห็นซึ่งเป็นเหมือนที่ทูตสวรรค์ได้แจ้งพวกเขาทุกประการ” (ลูกา 2:17-20 อมธ.)

จากเรื่องราวใน พระกิตติคุณลูกา 2:17-20 ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองคริสต์มาสครั้งแรก เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เป็นแบบอย่างให้เราเห็นว่า จะนำพลังและจิตวิญญาณแห่งวันคริสต์มาสกลับไปในที่ทำงาน และ ในงานอาชีพ/การงานที่แต่ละคนรับผิดชอบอย่างไร

คนเลี้ยงแกะมิได้มาเฉลิมฉลองข่าวดีการมาบังเกิดของพระผู้ช่วยให้รอดที่คอกเลี้ยงสัตว์ และทารกที่อยู่ในรางหญ้าเท่านั้น แต่เมื่อเขาออกจากคอกสัตว์ เดินผ่านเข้าไปในเมืองที่มีฝูงชนมากมาย สิ่งที่เขาทำคือ กระจายข่าวเกี่ยวกับเรื่องพระกุมารมาบังเกิดตามที่ทูตสวรรค์มาบอกพวกเขาแก่ฝูงชนในเมืองนั้น สร้างความประหลาดใจแก่คนได้ยินได้ฟังข่าวดีจากคนเลี้ยงแกะ   มิเพียงเท่านั้น คนเลี้ยงแกะกลุ่มนี้กลับไปดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพในการเลี้ยงแกะอย่างเดิม แต่ด้วยท่าทีใหม่ในที่ทำงานคือ ทำงานอาชีพให้เกิด “การยกย่องสรรเสริญพระเจ้า” ในชีวิตประจำวันของพวกเขา

ในพระธรรมตอนเดียวกันนี้ กล่าวถึงมารีย์ว่า “มารีย์เก็บเรื่องทั้งหมดนี้ใคร่ครวญอยู่ในใจ” งานอาชีพ งานชีวิตของมารีย์คือ การเลี้ยงดูทารกน้อยที่พระเจ้าประทานให้ เธอมิได้แค่เลี้ยงดูในฐานะความเป็นแม่ผู้ให้กำเนิดทารกเท่านั้นต่อไป แต่เธอ “นำเรื่องเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้ใคร่ครวญอยู่ในใจ” ตั้งแต่ที่ทูตบอกเธอว่าทารกน้อยนี้เป็นพระผู้ช่วยให้รอด คำบอกเล่ายืนยันของพวกคนเลี้ยงแกะที่ได้รับข่าวดีจากทูตสวรรค์ และอีกสองปีต่อมามีนักปราชญ์ที่มานมัสการพระกุมมารยืนยันว่าทารกน้อยคือกษัตริย์ พร้อมถวายเครื่องบรรณาการ เรื่องราวเหล่านี้ที่มารีย์ใคร่ครวญภาวนาในจิตใจของเขาตลอดเวลาที่เลี้ยงดูทารกน้อยคนนี้  

สำหรับเราในปัจจุบันนี้ เราแต่ละคนสามารถที่จะกลับไปยังที่ทำงานที่ต้องทำ กลับไปยังอาชีพที่เรารับผิดชอบ พร้อมกับคุณค่าของข่าวดีแห่งคริสต์มาส เราประกอบอาชีพการงานของเราด้วยความชื่นชมยินดีในสัจจะความจริงที่ว่า “อิมมานูเอล พระเจ้าทรงอยู่กับเรา” ในที่ทำงาน และ งานอาชีพของเรา ไม่ว่าสถานการณ์แวดล้อมในอาชีพ การงาน ที่เรารับผิดชอบจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่สำนึกของเราต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงจากจิตวิญญาณแห่งคริสต์มาสคือ ไม่ว่าเราจะอยู่งานไหน อาชีพอะไร เราคือ “ผู้ที่พระเจ้าทรงโปรดปราน” (ไม่ว่าเธอจะเป็นหญิงบ้านนอก หรือ คนเลี้ยงแกะที่ต่ำต้อย)

ในปี 2020 เราแต่ละคนจะนำเอาจิตวิญญาณแห่งความชื่นชมยินดี และ การทำทุกอย่างเพื่อยกย่องสรรเสริญพระเจ้ากลับเข้าไปในที่ทำงานของเรา ในงานอาชีพของเรา ในงานความรับผิดชอบของเราแต่ละคน

เราสามารถกลับเข้าไปที่ทำงาน งานอาชีพ งานที่รับผิดชอบพร้อมกับพระกุมารเยซู ให้เราเริ่มต้นจากตัวเราเองกับองค์พระผู้เป็นเจ้าก่อน ให้มีจิตใจที่ใคร่ครวญถึงพระราชกิจของพระคริสต์ในชีวิตการงานของเรา อย่างที่มารีย์ใคร่ครวญถึงพระราชกิจที่พระเจ้าทรงกระทำในชีวิตของเธอ   ให้เราอธิษฐานใคร่ครวญตลอดว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า ขอให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ข้าพระองค์กระทำในวันนี้ ในงานที่ทำในวันนี้เป็นที่ยกย่องสรรเสริญพระองค์”

จากนั้น ใคร่ครวญถึงการกระทำต่าง ๆ ที่เราทำ และที่ทำต่อเพื่อนร่วมงานรอบข้าง ทำกับคนที่เราต้องพบสัมพันธ์และเกี่ยวข้อง ให้ท่าทีและการกระทำของเราสำแดงถึงความรักเมตตาของพระองค์ เพื่อคนที่พบเห็นและสัมผัสกับเราจะเกิดความชื่นชมยินดี และยกย่องสรรเสริญพระเจ้าในที่สุด

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


16 ธันวาคม 2562

ข่าวดีปีนี้...องค์กรของเราจะหลุดออกจาก“หล่มโคลนขี้ควาย” ได้อย่างไร!

ท่านครับ...องค์กรของเรากำลังย่ำแช่ติดหล่มใน “หล่มโคลนขี้ควาย” อยู่นะครับ!

เราจะนำองค์กรของเราออกจากการย่ำอยู่ในหล่มโคลนขี้ควายได้อย่างไร? จะต้องมีความจำเป็นในการนำการเปลี่ยนแปลงในเรื่องอะไรบ้าง? หรือเราจะต้องนำการเปลี่ยนแปลงองค์กรในเมื่อเรายังไม่ชัดว่าองค์กรของเราจะมุ่งไปสู่ทิศทางไหนหรือเปล่า? หรืออาจจะเพราะบางคนในทีมงานทำงานแบบไม่มีข้อผูกพันหรือผูกมัดกับองค์กร หรือเมื่อผู้ที่ควรจะนำองค์กรกลับไม่มีความชัดเจนในหน้าที่ความรับผิดชอบของตน หรือองค์กรเผชิญหน้ากับความตกต่ำมาเป็นช่วงเวลายาวนานจนจำไม่ได้ว่า ความสำเร็จนั้นเป็นอย่างไรกันแน่ หรือ ฯลฯ

ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนองค์กรของเรากำลังตกอยู่ในโคลนตมขี้ควาย แล้วกำลังหาทางที่จะหลุดออกจากการตกแช่อยู่ในหล่มโคลนขี้ควายอย่างไร

Ron Edmondson ได้ให้กระบวนการการหลุดออกจากหล่มโคลนขี้ควายไว้ 7 ประการคือ

1. วิเคราะห์สภาพจริงของน้ำ

น้ำโคลนที่เรายืนอยู่นี้จริง ๆ แล้วมีสภาพเช่นไร? โคลนดินร่วน หรือ โคลนดินเหนียว ยังมีกลิ่นเหม็นเยี่ยวและขี้ควายด้วยใช่ไหม? แล้วใต้โคลนเป็นดินดานที่น้ำยากที่จะซึมลงไปหรือเปล่า? มันทั้งข้นคลัก และลื่นหรือไม่? ยืนไปนาน ๆ จนขาคันเกาจนเป็นแผลใช่ไหม? สิ่งแรกที่เราจะต้องรู้คือสภาพโคลนตมที่เรายืนจมปลักอยู่

กระบวนการวิเคราะห์สภาพ “น้ำโคลน” ที่เรายืนแช่อยู่อาจจะใช้เวลาเพียงวันเดียว หรือ หนึ่งสัปดาห์ หรือหนึ่งเดือน หรือมากกว่านั้น เราต้องให้เวลากับเรื่องนี้ เราต้องเรียนรู้ความจริงว่าองค์กรของเรากำลังเผชิญกับสถานการณ์อะไรจริง ๆ ในตอนนี้ แล้วคนของเราในองค์กรเป็นอย่างไรบ้าง มีทักษะ ความรู้ที่จะรับมือกับกับสถานการณ์ที่องค์กรกำลังเผชิญอยู่ได้หรือไม่?

2. สัตย์ซื่อจริงใจ

“การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะสร้างผลกระทบต่อทั้งตัวท่าน และเป็นกระบวนการที่ยาก” แล้วเราจะให้สิ่งนี้เป็นเรื่องเปิดเผยโปร่งใสได้อย่างไร? อาจจะฟังดูเหมือนจะล้ำหน้าไปหน่อย แต่คนในทีมงานรู้ว่าจะมีสิ่งใหม่บางอย่างเกิดขึ้น พวกเขาอาจจะยังไม่สามารถที่จะยอมรับได้ พวกเขาอาจจะยังไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง หรือพวกเขาอาจจะต่อต้านการเปลี่ยนแปลง แต่พวกเขารู้ว่าการเปลี่ยนแปลงกำลังจะเกิดขึ้น ให้เราก้าวไปข้างหน้าและยอมรับในสิ่งที่จะเกิดขึ้น

เราในฐานะผู้นำ เราควรหนุนเสริมให้กำลังใจแก่ทีมงานและคนที่เกี่ยวข้องว่า สิ่งต่าง ๆ จะดีขึ้น ซึ่งพวกเขารู้แล้วว่ามันกำลังมีปัญหา องค์กรของเรายืนติดในปลักโคลนขี้ควาย พวกเขาเห็นกับตาสัมผัสกับชีวิตประจำวันของเขา ให้เรารับความเป็นจริงที่เรากำลังเผชิญอยู่ ผู้คนและทีมงานในองค์กรจะไว้วางใจเราในฐานะผู้นำเมื่อเราทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยความสัตย์ซื่อจริงใจ

3. มองเห็นวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน

เราต้องชัดเจนว่าองค์กรของเราจะมุ่งไปสู่ที่ใด? แล้วเราจะจัดการอย่างไรที่จะหลุดออกจากหล่มตมขี้ควายนี้? แล้วเราจะต้องเตรียมคนของเราให้พร้อมมุ่งหน้าไปสู่ที่ที่เราจะมุ่งไปให้ถึงในด้านใด? แล้วเราเสนอย่างก้าวอะไรและอย่างไรบ้างที่จะไปให้ถึงที่ที่เราจะมุ่งไป? แล้วมีตารางเวลาอะไรบ้างของย่างก้าวดังกล่าว?

ให้ผู้นำแบ่งปันสิ่งเหล่านี้ที่ท่านมีอยู่ในวันนี้แก่ทีมงาน ทีมงานและผู้คนในองค์กรต้องการมั่นใจว่า ย่างก้าวที่ดีดังกล่าวได้มีการวางแผน เป้าหมายมองเห็นได้อย่างชัดเจน ผู้คนในองค์กรได้รับการเตรียมพร้อม

4. มีการสื่อสารที่ดี

การสื่อสารเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาวิกฤติ สับสน และว้าวุ่นเช่นนี้ เมื่อสถานการณ์โดยรอบขององค์กรมีสภาพที่เลวร้าย ผู้คนในองค์กรเกิดความวุ่นวาย สับสน พวกเขาต้องการรู้ชัดเจนว่ามีอะไรกำลังเกิดขึ้น และกำลังจัดการอย่างไรที่จะช่วยให้องค์กรหลุดออกจากโคลนตมขี้ควายนี้

โปรดตระหนักชัดว่า การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพทั้งการพูดและการฟัง ทั้งสองเรื่องต้องมีประสิทธิภาพ องค์กรต้องมีสิ่งนี้เสมอ คำเทศนาของศิษยาภิบาลบางครั้งต้องช่วยให้คนในองค์กรมองเห็นวิสัยทัศน์ และ จุดหมายปลายทางที่องค์กรของเราจะมุ่งไปให้ถึง

5. ยืนหยัดให้มั่น

สถานการณ์องค์กรที่จมปลักในโคลนตมขี้ควาย ถ้าใครไม่ยืนหยัดให้มั่นคง คนนั้นอาจจะลื่นล้มลงคลุกในโคลนตมขี้ควายทั้งตัว นอกจากกลิ่นเหม็นแล้ว สิ่งที่ยากลำบากยิ่งคือ การที่จะลุกขึ้นยืนอีกครั้งหนึ่ง เพราะมันจะลื่น และ ดูดตัวเราในขณะที่พยายามดึงตัวเองให้ยืนขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

ในฐานะผู้นำต้องแน่ใจว่า เรายังมีสุขภาพกาย ใจ อารมณ์ และจิตวิญญาณที่แข็งแรง เพื่อจะสามารถนำผู้คนขับเคลื่อนออกจากโคลนตมขี้ควายดังกล่าว

6. ท้าทายเมื่อจำเป็น

ในช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตกลงในสถานการณ์โคลนตมขี้ควายเช่นนี้ จะมีบางคนที่ขัดขวางการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกนี้

ในฐานะผู้นำเราจะต้องท้าทายคนที่ต้องการกวนน้ำโคลนให้ขุ่นข้นเหนี่ยวลื่นยิ่งกว่าเดิม เราอาจจะต้องขจัดคนที่ต้องการอยู่เฉย ๆ ถ้าจำเป็นก็ต้องทำ ในที่สุดเราจะต้องนำคนที่เต็มใจที่จะหยิบพลั่วขึ้นตักโคลนออกจากองค์กร และชะล้างองค์กรจากโคลนขี้ควายนั้นให้ใสสะอาดอีกครั้งหนึ่ง

7. ชำระรักษาให้น้ำล้อมรอบแห่งสถานการณ์องค์กรใสสะอาดขึ้น

เราในฐานะผู้นำองค์กร จะต้องให้กำลังใจแก่ทีมงานและคนในองค์กรถึงวิสัยทัศน์ที่เป็นประโยชน์ซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่า

ในช่วงเวลาเช่นนี้ ผู้นำจะเป็นบุคคลที่ผู้คนและทีมงานในองค์กรสามารถพบเห็นเสมอ และแต่ละคนสามารถเข้าถึงผู้นำได้สะดวก ผู้คนในองค์กร ต้องการรู้และมั่นใจว่ามีผู้ที่จะนำในการชำระจัดการให้สถานการณ์โคลนตมขี้ควายกลายเป็นน้ำที่ใสสะอาด และนำองค์กรให้หลุดรอดออกจากโคลนตมดังกล่าวได้

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


14 ธันวาคม 2562

รางหญ้า...จุดเริ่มต้นของวิถีแห่งกลโกธา

ถ้าพระเจ้าทรงครอบครองโลกนี้ และพระองค์ทรงใช้เหตุการณ์ที่ผู้นำจักรวรรดิโรมันทำตามแผนการของเขาในการทำตามแผนพระราชกิจของพระองค์เองได้ เรื่องแค่ห้องพักสำหรับมารีย์ โยเซฟ และสำหรับการคลอดลูกไม่ใช่ปัญหาสำหรับพระองค์ หรือที่จะให้พระเยซูบังเกิดในครอบครัวผู้ดีมั่งคั่งย่อมเป็นสิ่งที่พระเจ้ากระทำได้

เพราะพระองค์สามารถเปลี่ยนก้อนหินในถิ่นทุรกันดารให้เป็นขนมปัง

พระองค์สามารถที่จะเรียกกองทัพทูตสวรรค์มาปกป้องพระองค์ในสวนเกธเสมนี

พระองค์สามารถที่จะลงมาจากกางเขนเพื่อช่วยตนเองให้รอด

แต่ทำไมพระเยซูไม่ทำ?

ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่พระองค์ทำได้หรือไม่ได้?
แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า ที่พระองค์เลือกทำเช่นนี้เพราะพระองค์มีพระประสงค์อะไร?

ขณะพวกเขาอยู่ที่นั่นก็ถึงกำหนดที่มารีย์จะคลอดบุตร นางให้กำเนิดบุตรชายหัวปี นางเอาผ้าอ้อมพันและวางไว้ในรางหญ้าเพราะในบ้านไม่มีที่ว่างให้พวกเขา (ลูกา 2:6-7 อมธ.)

การที่ไม่มีที่ว่างในบ้าน หรือ ห้องว่างในโรงแรมนั้นก็เพราะเห็นแก่เรา “เพราะเห็นแก่ท่านพระองค์จึงลงมาเป็นคนยากจน” และนี่คือวิถีแห่งกลโกธา (เส้นทางแห่งหัวกะโหลก) ที่พระองค์ประสงค์ที่จะดำเนินบนแผ่นดินโลกนี้ และ

ที่รางหญ้าในคอกเลี้ยงสัตว์ที่เมืองเบธเลเฮมคือจุดเริ่มต้นแห่งวิถีกลโกธา และไปจบสิ้นด้วยการถูกถ่มน้ำลายรดและการเย้ยหยันแล้วตรึงที่กางเขนที่เยรูซาเล็ม

เราต้องไม่ลืมคำตรัสของพระเยซูที่ว่า “ผู้ที่จะติดตามเราจะต้องปฏิเสธตนเองและแบกกางเขน ตามเรามา” เมื่อเราร่วมกับพระองค์เดินไปบนเส้นทางกลโกธา เสียงตรัสของพระองค์ยังดังก้องภายในเราว่า “...บ่าวย่อมไม่เหนือกว่านายของตน ถ้าเขาข่มเหงเรา พวกเขาย่อมจะข่มเหงพวกท่านด้วย...” (ยอห์น 15:20 อมธ.)

เมื่อมีคนบอกว่าเขาจะติดตามพระเยซูคริสต์ไม่ว่าพระองค์จะไปที่ไหน พระองค์ตรัสกับเขาว่า “หมาจิ้งจอกยังมีโพรงและนกในอากาศก็ยังมีรัง แต่บุตรมนุษย์ไม่มีที่ที่จะวางศีรษะ” (ลูกา 9:58 มตฐ.)

ทุกวันนี้เราท่านเดินบนวิถีแห่งกลโกธา หรือ เราเลือกเดินบนทางเลี่ยง (ทางเลี่ยงเมือง หรือ ทางเบี่ยง) แทนทางหลัก?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


12 ธันวาคม 2562

มุมมองของศิษยาภิบาลต่อฆราวาสที่อาจคลาดเคลื่อน

การมีมุมมองต่อผู้คนต่างกลุ่มที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนย่อมเกิดขึ้นได้ง่าย และเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นในชุมชนคนคริสตจักรด้วยเช่นกัน ส่วนใหญ่แล้วมุมมองที่คลาดเคลื่อนเกิดจากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้มองที่มองไปยังคนกลุ่มต่าง ๆ จากประสบการณ์เชิงลบในอดีตของตน ที่มีบางคนกระทำต่อตน อาจจะเป็นประสบการณ์ที่ได้รับจากบางคน หรือ หลายคน แต่เจ้าตัวใช้เป็นข้อสรุปว่าคนกลุ่มนั้น ๆ จะต้องเป็นคนในลักษณะดังกล่าว

ศิษยาภิบาลส่วนใหญ่ที่ผมไปพบเห็นพูดคุยมามักมีมุมมองต่อสมาชิกฆราวาสที่อาจจะคลาดเคลื่อนในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้... ศิษยาภิบาลส่วนใหญ่มักมองว่า...

1. สมาชิกฆราวาสบางคนไม่ได้รักองค์พระผู้เป็นเจ้า

ในกรณีนี้สมาชิกฆราวาสอาจจะไม่ได้แสดงให้เราเห็นเสมอว่าเขารักพระเจ้า แต่ในความเป็นจริงหลายคนที่รักพระเจ้า และพวกเขารักพระเจ้าในวันธรรมดาที่ไม่ใช่วันอาทิตย์ด้วย

2. สมาชิกฆราวาสไม่สนใจวินัยชีวิตจิตวิญญาณ

สมาชิกฆราวาสบอกว่าได้ยินศิษยาภิบาล และ ผู้นำคริสตจักรบอกพวกเขาปีแล้วปีเล่าให้ทุ่มเทใส่ใจวินัยชีวิตด้านจิตวิญญาณ แต่ไม่มีผู้นำที่ยอมลงมาดำเนินชีวิตเป็นแบบอย่างเคียงข้างชีวิตของพวกเขา และนี่เป็นเหตุผลหลักว่าทำไมพวกเขาถึงไม่ได้แยแสต่อการเสริมสร้างวินัยชีวิตจิตวิญญาณ

3. สมาชิกฆราวาสไม่ใส่ใจคนที่หลงหาย

เป็นความจริงที่สมาชิกฆราวาสส่วนใหญ่บอกเล่าพระกิตติคุณแก่คนอื่น ๆ ไม่บ่อยนัก แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่สนใจในเรื่องนี้ แต่อาจจะเป็นเพราะว่าบางครั้งบางคนที่เขากลัวในการประกาศพระกิตติคุณ เขากลัวว่าคนอื่นจะปฏิเสธการพูดคุยพระกิตติคุณ หรือถ้ามีคำถามเขาไม่รู้จะตอบอย่างไร

4. สมาชิกฆราวาสไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง

จากการพูดคุยกับฆราวาส พบว่า ข้อสรุปนี้ไม่จริง สิ่งที่สมาชิกฆราวาสไม่ชอบในการเปลี่ยนแปลงคือ การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างเชื่องช้า หรือบางครั้งเกิดขึ้นรวดเร็วอย่างฟ้าผ่า ที่สำคัญคือ ไม่มีการอธิบายสร้างความเข้าใจก่อนที่การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น

5. สมาชิกฆราวาสไม่ต้องการติดตามผู้นำ

สมาชิกฆราวาสพร้อมที่จะติดตามลงเรือลำเดียวกันไปกับศิษยาภิบาลเมื่อมีวิสัยทัศน์ หรือ นิมิตที่พระเจ้าประทานให้ แต่ที่สมาชิกฆราวาสดูเหมือนไม่ติดตามศิษยาภิบาลก็เพราะผู้นำไม่ได้นำพวกเขาให้รู้ชัดเจนในนิมิต/วิสัยทัศน์ร่วมของคริสตจักร

6. สมาชิกฆราวาสที่มีอายุมากติดแหงกอยู่กับอดีต

สมาชิกผู้สูงอายุบอกว่า ชีวิตจริงไม่ปล่อยให้พวกเขาอยู่ในอดีตหรอก เป็นความจริงที่เราคิดถึงวันวานเมื่ออดีตที่ความสับสนวุ่นวายน้อยกว่าปัจจุบันและรู้สึกมีความปลอดภัยในชีวิตมากกว่า แต่สมาชิกสูงอายุรู้อยู่เต็มอกว่า คริสตจักรจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อเข้าถึงคนรุ่นต่อไป และ คนรุ่นใหม่ และต้องการรู้ว่าแล้วจะให้คนแก่ทำอย่างไรดี

7. สมาชิกฆราวาสส่วนใหญ่ตระหนี่

สมาชิกฆราวาสเปิดใจในเรื่องนี้ว่า ในยุคนี้ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจฝืดเคืองมาก สมาชิกฆราวาสหลายคนมีหนี้สินที่จะต้องหาทางชำระ ทำให้พวกเขาต้องคิดหน้าพะวงหลังเมื่อจะใช้จ่าย จ่ายแต่ที่มีความจำเป็นจริง ๆ ดังนั้น ในการตัดสินใจที่จะจ่ายอะไรเท่าใดนั้น เป็นสิ่งที่ต้องคิดแล้วคิดอีกให้รอบคอบ

8. สมาชิกฆราวาสหายากที่จะไว้ใจได้

ในกรณีนี้สมาชิกฆราวาสยอมรับว่ามีบางคนที่ไว้ใจได้ลำบาก แต่อย่าเอาประสบการณ์ที่มีต่อบางคนมาสรุปรวบยอดว่า สมาชิกฆราวาสทุกคนเป็นเช่นนั้น สมาชิกฆราวาสบางคนไว้วางใจได้อย่างสูง เป็นเพื่อนสนิท และเพื่อนร่วมงานที่ไว้ใจได้

9. สมาชิกฆราวาสเพียงไม่กี่คนที่สนใจเข้ามีส่วนร่วมในงานคริสตจักร

เป็นความจริงว่า มีเพียงไม่มีกี่คนในคริสตจักรที่เข้ามามีส่วนร่วมรับใช้ในงานของคริสตจักร แต่คนที่ยังไม่ได้เข้ามาร่วมไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ต้องการเข้ามาร่วมในงานรับใช้คริสตจักร แต่เพราะไม่มีใครช่วยเขาค้นหาว่าเขามีของประทาน หรือ ความสามารถอะไรในตนเอง และจะใช้ของประทานนั้นในการรับใช้งานไหนในคริสตจักร และก็ไม่มีใครช่วยเขาให้รู้ว่าจะเข้าไปมีส่วนร่วมรับใช้ได้อย่างไร

10. สมาชิกฆราวาสไม่ได้รักศิษยาภิบาลของตน

สมาชิกเข้าใจว่า สิ่งนี้มิใช่การเรียกร้องของศิษยาภิบาล แต่ความเป็นจริงคือ สมาชิกฆราวาสหลายต่อหลายคนเข้าไม่ถึงศิษยาภิบาล ขาดความสัมพันธ์ที่ลุ่มลึก ขาดความไว้วางใจกันในเชิงปฏิบัติ ขาดการสื่อสารและรู้จักมักคุ้นกัน แต่ถ้าสมาชิกฆราวาสในคริสตจักรรู้จัก เข้าถึง เข้าใจ แล้วเขาจะเป็นคนหนึ่งที่จะสนับสนุนศิษยาภิบาลของเขาอย่างมาก

จากการมีมุมมองที่อาจจะผิดพลาดคลาดเคลื่อนของศิษยาภิบาลต่อสมาชิกฆราวาสในคริสตจักร ประการหนึ่ง คือประสิทธิภาพในการสื่อสารระหว่างกันของศิษยาภิบาลและสมาชิกฆราวาส จะช่วยให้มีความสัมพันธ์ที่มีต่อกันนำไปสู่ความไว้วางใจ และสามารถมองในส่วนดีของกันและกัน และคริสตจักรมีกระบวนการในการสร้างสัมพันธ์เสริมหนุนกันทั้งในชีวิต และ การทำพันธกิจ

แล้วจะเริ่มต้นได้อย่างไร? ใครจะเป็นคนเริ่มต้น? ท่านมีคำแนะนำอะไรบ้าง?

หมายเหตุ:

ข้อมูลที่นำมาสังเคราะห์หาลักษณะมุมมองที่อาจจะคลาดเคลื่อนของศิษยาภิบาลที่มีต่อสมาชิกฆราวาสในในคริสตจักรในข้อเขียนนี้ เป็นการเก็บและสะสมข้อมูลอย่างเป็นธรรมชาติ กล่าวคือเกิดจากการพูดคุย ไต่ถาม หรือ ฟังสิ่งที่ศิษยาภิบาล และ สมาชิกฆราวาสบอกเล่าให้ฟังพร้อมตัวอย่างจริงใช้อ้างอิงในสิ่งที่เขาบอกเล่านั้น แม้จะมิใช่เป็น “ข้อสรุปที่เป็นมาตรฐานสากล” แต่ก็เป็นแนวโน้มส่วนใหญ่ที่ผมไปได้รับรู้มาในช่วงทำงานสำรวจวิจัยชุมชนและคริสตจักร และได้ศึกษาเทียบเคียงบทความในทำนองเดียวกันนี้จากประสบการณ์ของคริสตจักรในต่างประเทศ

ดังนั้น ถ้าท่านผู้อ่านที่เป็นศิษยาภิบาล หรือ สมาชิกฆราวาสอ่านแล้วมีข้อคิดเห็นต่าง หรือ หลักฐานที่แตกต่าง กรุณาช่วยส่งมาเติมเต็มแก่บทความนี้ด้วย เพื่อช่วยให้เรามีมุมมองต่อกันและกันที่ถูกต้องเป็นจริงมากยิ่งขึ้น ด้วยมุมมองที่ยืนอยู่บนความรักเมตตาบนรากฐานพระกิตติคุณของพระคริสต์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


11 ธันวาคม 2562

ท่านเข้าใจถึงบทบาทของศิษยาภิบาลว่าอย่างไร?

เมื่อผมไปที่คริสตจักรท้องถิ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันเสาร์ และ อาทิตย์ตอนเช้า เราจะเห็นผู้ปกครอง มัคนายก หรือ ผู้นำเดินไปที่คริสตจักร ผมจะถามว่า  ผู้ปกครอง/มัคนายก จะไปทำอะไรที่ไหน? แล้วก็จะได้ยินว่า...“กำลังจะไปช่วยศิษยาภิบาลทำความสะอาดโบสถ์” “จะไปช่วยศิษยาภิบาลจัดดอกไม้” “จะไปเอารถยนต์ไปรับศิษยาภิบาลออกไปประกาศในอีกหมู่บ้านหนึ่ง”  “จะไปช่วยศิษยาภิบาลนำกลุ่มเล็กในการศึกษาพระคัมภีร์”  ฯลฯ

สรุปคือ หน้าที่หนึ่งของผู้ปกครอง มัคนายก หรือ ผู้นำคริสตจักร มีหน้าที่ช่วยศิษยาภิบาลทำพันธกิจให้สำเร็จ นี่เป็นความเข้าใจถูกต้องหรือไม่?

ส่วนใหญ่แล้วสมาชิกคริสตจักร (และศิษยาภิบาลหลายท่าน) ที่มักจะเข้าใจว่า สมาชิกมีหน้าที่หนุนเสริม ช่วยเหลือให้ศิษยาภิบาลสามารถทำพันธกิจของพระเจ้าให้สำเร็จ ผมขอถามตรงว่า... 

ตามรากฐานของพระวจนะพระเจ้า ใครกันแน่เป็นตัวหลักที่มีหน้าที่ในการทำพันธกิจที่สานต่อจากพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ที่ทรงเริ่มต้นไว้?  

แท้จริงแล้วในพระธรรม เอเฟซัส 4:11-13 ได้กล่าวไว้ชัดเจน แต่หลายต่อหลายในคริสตจักรไม่ได้เข้าใจอย่างชัดเจนครบถ้วน ไม่ได้น้อมรับคำสอนนี้เป็นรากฐานความเชื่อศรัทธาที่สำคัญของตน และไม่ได้นำพระวจนะตอนนี้มาปฏิบัติให้เป็นความเชื่อศรัทธาเชิงปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในชีวิตประจำวันของเขา

เมื่อสมาชิกคริสตจักรมิได้ดำเนินชีวิตตามแผนการในพระวจนะของพระเจ้า ผลที่ตามมาคือคริสตจักรเกิดความสับสน ขัดข้อง พบกับอุปสรรค คริสตจักรไม่เจริญเติบโต และสมาชิกคริสตจักรจึงไม่รู้จักหรือมีประสบการณ์กับความชื่นชมยินดีและความสำเร็จในการรับใช้พระคริสต์ทั้งในชีวิตและพันธกิจของคริสตจักร และ การทำพันธกิจรับใช้พระคริสต์ในชุมชน พันธกิจในอาชีพการงาน และ พันธกิจในครอบครัวและบ้านใกล้เรือนเคียงของตน

ศิษยาภิบาล และ สมาชิกคริสตจักรในปัจจุบันมีมุมมอง ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง “การทำพันธกิจของคริสตจักร” ใน 3 ลักษณะ ดังนี้ (ข้อมูลที่ใช้เขียนบทความนี้ได้จากการพูดคุย สังเกต สัมภาษณ์บุคคลต่าง ๆ เมื่อผู้เขียนมีโอกาสลงไปเยี่ยมคริสตจักรท้องถิ่น)

1. คริสตจักรจ้างศิษยาภิบาลมาเพื่อให้มาเป็นผู้ทำพันธกิจของคริสตจักร
คริสตจักรท้องถิ่นส่วนใหญ่ในประเทศไทย ทั้งพื้นราบและพื้นที่สูง มักมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า คณะธรรมกิจคริสตจักร (เป็นเหมือนนายจ้าง) มีอำนาจเหนือศิษยาภิบาลที่คริสตจักรจ้าง เพราะคณะธรรมกิจมักเข้าใจว่า ตนได้รับเลือกตั้งให้มีอำนาจปกครองและบริหารคริสตจักร? ศิษยาภิบาลจึงกลายเป็นเหมือน “มือปืนรับจ้าง” ทำพันธกิจคริสตจักร?

คณะธรรมกิจคริสตจักรส่วนใหญ่ในมุมมองนี้มักเข้าใจว่า เขาจ้างศิษยาภิบาลมาให้เป็นคนดำเนินการงานพันธกิจในคริสตจักร รับผิดชอบทั้งการเทศนา สอน ศาสนพิธี และ อย่าลืมออกไปเยี่ยมเยียนด้วย รวมทั้งความเรียบร้อยของคริสตจักร พูดชัด ๆ คือ จ้างศิษยาภิบาลมาทำงานต่าง ๆ ของคริสตจักร

จะมีผู้นำ หรือ อาสาสมัครที่ถวายตัวเพียงไม่กี่คนที่เข้ามาช่วยงานของศิษยาภิบาลในการสอนรวีฯ ในคริสตจักร ผู้นำกลุ่มย่อย ผู้นำการอธิษฐาน คนช่วยผ่านถุงถวายในโบสถ์ คนเล่นดนตรีในการนมัสการพระเจ้า ผู้นำนมัสการ (มีคนมาช่วยในบางงานเท่านั้น)

ดูไปแล้ว ถ้าคริสตจักรทำอย่างที่ว่าข้างบนดูจะเรียบร้อยดี แต่ส่วนมากแล้วจะเป็นคริสตจักรที่มุ่งสนใจแต่ชีวิตและพันธกิจภายในรั้ว/ในกำแพงโบสถ์เท่านั้น เป็นคริสตจักรที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ยาก และคงลำบากที่จะเข็นให้คริสตจักรเช่นนี้ก้าวหน้า

2. คริสตจักรมีสมาชิกถวายตัว/อาสาที่จะช่วยศิษยาภิบาลในการทำพันธกิจ
สมาชิกคริสตจักรเข้ามาช่วยศิษยาภิบาลในการทำพันธกิจด้านต่าง ๆ ซึ่งจะมีสภาพที่ดีกว่าข้อแรกที่ศิษยาภิบาลเป็นเหมือน “มือปืนรับจ้าง” ในการทำพันธกิจคริสตจักรทุกเรื่อง

เราจะเห็นว่า คริสตจักรประเภทสองนี้มีสมาชิกหลายคน หรือ จำนวนมากที่กระตือรือร้นกระโดดเข้ามารับใช้ในพันธกิจหลายด้านในคริสตจักร

ศิษยาภิบาลเป็นผู้เลี้ยงที่ “กระตุ้นหนุนเสริม” สมาชิก และขอบคุณที่สมาชิกเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระของศิษยาภิบาล และในพันธกิจหลายด้านศิษยาภิบาลได้มีการฝึกฝนเสริมสร้างสมาชิกในการทำพันธกิจด้านที่เขาเข้ามาช่วยศิษยาภิบาลในคริสตจักร

แต่ศิษยาภิบาลยังเป็นผู้นำที่รับผิดชอบชีวิตจิตวิญญาณ และ งานพันธกิจทุกด้านในคริสตจักร  และสมาชิกมักมองว่าคนที่ทำให้เกิดชีวิตและพันธกิจที่ขับเคลื่อนไปได้เช่นนี้เพราะการนำของ “ศิษยาภิบาล” (และศิษยาภิบาลหลายคนก็ต้องการเห็นเช่นนี้ด้วย) กล่าวคือ ศิษยาภิบาลยังเป็นตัวหลักในการทำพันธกิจคริสตจักร แต่มีสมาชิกส่วนหนึ่งเข้ามาช่วยงานศิษยาภิบาลรอบด้าน

คริสตจักรประเภทที่สองนี้มีบรรยากาศที่สร้างสรรค์ เปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลง มีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ แต่อยู่ในอัตราที่เชื่องช้า เพราะทุกพันธกิจยังต้องพึ่งพาศิษยาภิบาล เป็นคริสตจักรที่มีความเป็นมิตร แต่ยังไม่ถึงระดับประเภทที่สาม ที่จะยอมรับรูปแบบคริสตจักรตามพระธรรมเอเฟซัส บทที่ 4

3. ศิษยาภิบาลเสริมหนุนสมาชิกให้เป็นตัวหลักในการทำพันธกิจของคริสตจักร
คริสตจักรประเภทที่สามนี้เป็นคริสตจักรบนหลักการรากฐานตามพระธรรมเอเฟซัส 4:11-13   เป็นคริสตจักรที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากหลักคิดและฐานเชื่อในสองประเภทก่อนหน้านี้

ศิษยาภิบาลในคริสตจักรประเภทที่สาม เป็นผู้นำที่ “สั่งสอนเสริมสร้างสมาชิกคริสตจักร” ให้เป็นตัวหลักในการทำพันธกิจที่พระเจ้าทรงเรียกแต่ละคนให้ทำ ตามของประทานที่แต่ละคนได้รับในชีวิตของตน

ศิษยาภิบาลเป็นโค้ช ส่วนสมาชิกทุกคนเป็นผู้นำในด้านจิตวิญญาณที่ช่วยการเสริมสร้างคริสตจักรของพระคริสต์ บรรยากาศในคริสตจักรประเภทที่สามนี้คือ “การสั่งสอนเสริมสร้าง” ที่จะให้สมาชิกทุกคนช่วยกันนำและขับเคลื่อนพันธกิจทุกด้านของคริสตจักร ทั้งพันธกิจในคริสตจักร และ พันธกิจในชุมชน ทุกตำแหน่งที่รับผิดชอบพันธกิจแต่ละอย่างมีสมาชิกที่นำและรับผิดชอบ อีกทั้งสมาชิกรับผิดชอบพันธกิจในชีวิตประจำวันของตนด้วย

ศิษยาภิบาลชื่นชมขอบคุณสมาชิกมิใช่เพราะเขามาช่วยศิษยาภิบาลทำพันธกิจให้สำเร็จ แต่ชื่นชมและขอบคุณสมาชิกที่เข้ามารับใช้ พระคริสต์ ในการสานต่อพระราชกิจแผ่นดินของพระเจ้าในโลกนี้ ตามของประทานที่แต่ละคนมี และนี่คือนิมิตของคริสตจักร

คริสตจักรประเภทนี้จะช่วยให้สมาชิกแต่ละคนรู้สึกสนุกกับการทำพันธกิจในด้านต่าง ๆ และรู้สึกได้ว่าชีวิตของตนได้รับการเติมเต็ม และมีประสบการณ์ตรงในชีวิตกับคุณภาพชีวิตในแผ่นดินของพระเจ้ามากขึ้น

คริสตจักรของท่านเป็นคริสตจักรประเภทไหนในขณะนี้? ทำไมท่านถึงคิดเช่นนั้น? สมาชิกในคริสตจักรของท่านควรได้รับ “การหนุนเสริม” ในเรื่องใดบ้าง เพื่อจะเป็นคริสตจักรที่มุ่งไปสู่พระประสงค์ของพระเจ้า?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499