31 ธันวาคม 2563

ขอบพระคุณที่ทรงนำทางมาจนสิ้นสุดปี 2020 ด้วยพระปัญญา

คงไม่เป็นการเกินเลยที่จะกล่าวว่า พวกเราเกือบทุกคนมีคำถามคาใจ หรือ อย่างน้อยแปลกใจถึงพระประสงค์ และ แผนการของพระเจ้าในสถานการณ์ของการแพร่ระบาดครั้งยิ่งใหญ่ของโรคร้ายไปทั่วโลก   สถานการณ์การแพร่ระบาดของปีนี้สร้างผลกระทบกระเทือนต่อการดำเนินชีวิต และ แผนการต่าง ๆ ที่เราวางไว้อย่างมากมายและรุนแรง สร้างความยุ่งยาก สับสน ยุ่งเหยิง และวุ่นวายในชีวิตและสังคมโลก เราพบแล้วว่าเราไม่รู้จะคาดการณ์อย่างไรว่าในที่สุดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่นี้จะเป็นอย่างไร ในขณะที่เขียนข้อเขียนนี้ทั่วโลกมีคนที่ต้องได้รับเชื้อร้ายตัวนี้กว่า 80 ล้านคน และสติปัญญาของมนุษย์เราจะมีพอที่จะรับมือกับสถานการณ์ที่เลวร้ายนี้ได้หรือไม่?

ใน 1โครินธ์ 1:25 กล่าวไว้ว่า “เพราะความเขลาของพระเจ้ายังมีปัญญายิ่งกว่าปัญญาของมนุษย์ และความอ่อนแอของพระเจ้าก็ยังมีกำลังมากยิ่งกว่ากำลังของมนุษย์” (มตฐ.)   

พระธรรมข้อนี้เตือนสติเราว่า พระเจ้ามีพระปัญญา และ พระกำลังอย่างไม่มีความจำกัดที่ทรงใช้รับมือกับสถานการณ์ที่เรากำลังประสบอยู่ในเวลานี้ แผนการของพระองค์ ความคิด แนวทางของพระองค์ พระกำลังของพระองค์นั้นยิ่งใหญ่กว่าเรายิ่งนัก ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่เราจะเข้าใจได้

สำหรับพวกเราแล้วเรารู้สึกว่าปี 2020 ที่กำลังจะผ่านไปเป็นปีที่ไม่ได้เรื่องเลย เรายังไม่สามารถเข้าใจว่า ทำไมมันถึงวุ่นวายสับสนมากมายอะไรเช่นนี้ แต่ท่านผู้อ่านครับ แต่เราสามารถรู้สิ่งหนึ่งอย่างแน่นอนคือ    พระเจ้านั้นมีพระปัญญา และ พระกำลังยิ่งใหญ่เกินเลยกว่าที่เราจะสามารถรับรู้ได้หมด และ ที่จะเข้าใจได้ และที่สำคัญคือพระองค์กำลังกระทำพระราชกิจของพระองค์ตลอดเหตุการณ์นี้ตั้งแต่ที่มันเกิดขึ้น   ถึงแม้เรายังไม่สามารถเห็นถึงผลลัพธ์จากพระราชกิจที่กระทำ แต่พระองค์ยังคงกระทำพระราชกิจของพระองค์อยู่

วันนี้ให้เราเปลี่ยนมุมมองของเราและให้เราสิ้นสุดปีนี้ด้วยพระปัญญาจากพระเจ้า เราจะทำสิ่งนี้ได้โดยเริ่มต้นจากการที่เรายอมรับความจริงว่าเราไม่มีสติปัญญาที่จะรับมือกับเหตุการณ์นี้ได้เลย แต่พระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยพระปัญญา พระองค์ฟังและได้ยินคำอธิษฐานของเรา พระองค์ผู้มองเห็นเราตลอดเวลา และรู้ว่ามีอะไรที่กำลังเกิดขึ้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน ด้วยพระปัญญาที่ไม่มีขอบเขตจำกัด เราจะสามารถไปถึงสิ้นปีนี้อย่างคนมีปัญญา ที่รู้ว่าพระเจ้านั้นทรงสามารถควบคุมทุกอย่างไว้ได้

ภาวนาอธิษฐาน

ขอบพระคุณพระเจ้า ที่พระองค์ทรงสัตย์ซื่อ ที่ประทานความกล้าหาญให้ลูกก้าวผ่านไปได้อีกวันหนึ่งในปี 2020 ถึงแม้ว่า พระองค์สัญญาว่า “จะไม่ปล่อยให้เจ้าล้มเหลว และ ทอดทิ้งเจ้า” (เฉลยธรรมบัญญัติ 31:8) พระองค์เป็นพระเจ้าที่สัตย์ซื่อ พระองค์บอกกับพวกเราว่า “บรรดาผู้ที่วางใจในองค์พระผู้เป็นเจ้าก็เป็นเช่นภูเขาศิโยน ซึ่งไม่หวั่นไหว แต่ตั้งมั่นตลอด” (สดุดี 125:1 อมธ.) ขอบพระคุณพระองค์ ถึงแม้โลกในปี 2020 จะสั่นคลอนหวั่นไหว แต่ลูกรับใช้พระเจ้าที่มั่นคงไม่สั่นคลอนหวั่นไหว

ลูกทูลขอต่อพระองค์ว่า ในเวลาที่ลูกสงสัยและมีคำถาม ขอพระองค์โปรดเตือนให้ลูกที่จะ "...วางใจในองค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยสุดใจของเจ้า และอย่าพึ่งพาความรอบรู้ของตนเอง  จงยอมรับรู้พระองค์ในทุกทางของเจ้า  แล้วพระองค์เองจะทรงทำให้วิถีของเจ้าราบรื่น” (สุภาษิต 3:5-6 สมช.) ลูกทูลขอพระองค์โปรดเตือนให้ลูกให้พึ่งพิงในพระปัญญาของพระองค์ ซึ่งยิ่งใหญ่กว่าของตัวลูกเอง

ในพระธรรมยากอบ 1:5 กล่าวไว้ว่า “ถ้าผู้ใดในพวกท่านขาดสติปัญญา จงทูลขอจากพระเจ้าผู้ประทานด้วยพระทัยกว้างขวาง...” (อมธ.) ดังนั้น ลูกทูลขอสติปัญญาของพระองค์โปรดชี้และนำทางลูกไปตลอดจนถึงสิ้นปี 2020 ให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์

ลูกทูลขอพระเจ้าโปรดประทานสติปัญญาในทุกสิ่งที่ลูกต้องกระทำในปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง ลูกเชื่อมั่นเสมอว่า พระองค์ทรงควบคุมทุกสิ่งทุกสถานการณ์ ถึงแม้ลูกเองจะยังมองไม่เห็นว่าการระบาดของโรคร้ายจะสิ้นสุดลงอย่างไรก็ตามในอนาคตอันใกล้นี้ ขอบพระคุณพระเจ้าที่พระองค์ได้กระทำพระราชกิจไปล่วงหน้าก่อนลูก ๆ ขอบพระคุณที่พระองค์สถิตอยู่ด้วยในขณะนี้ และพระองค์จะดำเนินเคียงข้างลูกไปตลอดทาง ขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงเป็นแหล่งเดียวที่ให้ความมั่นคงในโลกที่หวั่นไหวสั่นคลอนที่ลูก ๆ ต้องเผชิญหน้ามาตลอดปี 2020

ทูลขอในพระนามพระเยซูผู้ทรงฤทธิ์ที่ลูกรัก ไว้วางใจ และยกย่องบูชา อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499




30 ธันวาคม 2563

คำถามประเมินชีวิตคริสตชน(ตนเอง)ในปีที่ผ่านมา

คำถามต่อไปนี้ใช้ในการประเมินตนเองเกี่ยวกับคุณภาพ ประสิทธิภาพชีวิตคริสตชนของตนเองในปี 2020 ที่ผ่านมา สามารถใช้ได้ทั้งในการไตร่ตรอง ใคร่ครวญ ต่อหน้าพระเจ้า เพื่อจะฟังเสียงการทรงชี้นำจากพระองค์สำหรับชีวิตที่กำลังก้าวเข้าไปในปี 2021 ที่พระองค์ประทานให้ และในเวลาเดียวกันสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินตนเองในปีที่ผ่านมาเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลในการวางแผนชีวิตสำหรับปีใหม่ 2021 ต่อไป

หมายเหตุ: ในคำถามการประเมินแต่ละข้อจะตามด้วยคำอธิบายถึงขอบเขตที่ต้องการให้ประเมินให้ชัดเจน เพื่อหลีกเลี่ยงการประเมินอย่างผิวเผิน

1. ปีนี้ฉันได้อ่านพระคัมภีร์ตามแผนการอ่านพระคัมภีร์ที่กำหนดหรือไม่

ในที่นี้มิได้หมายความว่าฉันอ่านพระคัมภีร์จบตามแผนที่กำหนดเท่านั้น แต่เป็นการอ่านพระวจนะแต่ละวันด้วยการไตร่ตรอง ใคร่ครวญ เพื่อติดสนิทกับพระเจ้าทุกวันทั้งในการอ่านพระวจนะ อธิษฐาน และการกระทำตามพระวจนะที่ได้อ่านหรือไม่?

2. ในปีนี้ฉันเข้มแข็งขึ้นในการอธิษฐาน หรือ อ่อนแอลงในการอธิษฐาน?

ตนเองอธิษฐานด้วยความเชื่อและวางใจในพระเจ้า และเรียนรู้ในการอธิษฐานเสมอ และให้ประเมินด้วยว่าตนเองได้เติบโตขึ้นในชีวิตการอธิษฐานตามที่ควรจะเป็นหรือไม่

3. ในปีที่ผ่านมานี้ฉันได้แบ่งปันพระกิตติคุณแก่คนรอบข้างมากน้อยแค่ไหน? (กี่คน) 

ในที่นี้ต้องการรู้ด้วยว่ามีสักกี่คนที่ตัดสินใจติดตามพระเจ้าเพราะการแบ่งปันพระกิตติคุณของฉัน มิใช่ประเมินเพียงเพื่อมั่นใจว่าตนเองได้ทำการแบ่งปันพระกิตติคุณแล้วเท่านั้น

4. ในปีนี้ฉันได้ให้ศักยภาพชีวิตแต่ละด้านกี่เปอร์เซ็นต์ของที่ฉันมีในปีนี้สำหรับงานของพระเจ้า? (เช่น เวลา ตะลันต์ความสามารถ เงินทอง สิ่งของ โอกาส ฯลฯ แต่ละด้านฉันได้ให้เป็นกี่เปอร์เซ็นต์ที่ฉันมีในปีนี้) 

ที่ให้คิดแต่ละอย่างเป็นเปอร์เซ็นต์ของสิ่งที่มีเพราะ ในแต่ละปีเรามีสิ่งเหล่านี้ไม่เท่ากันเช่น ด้านการเงิน เราได้ให้เงินกี่เปอร์เซ็นต์ของที่เราได้รับในปีนี้สำหรับงานของพระเจ้า เราไม่ใช้การเปรียบเทียบว่าเราให้เงินมากหรือน้อยกว่าปีที่ผ่านมาเพราะ ในปีนี้เราอาจจะมีรายได้มากกว่าหรือน้อยกว่าปีที่แล้วก็ได้

5. ในปีที่ผ่านมา คนในครอบครัวของฉัน (ภรรยา-สามี ลูก หรือคนที่อยู่ด้วยกันในครอบครัว) บอกว่าฉันมีชีวิตที่เป็นเหมือนพระคริสต์มากกว่าปีที่แล้วหรือไม่?

จิตใจของเราอาจจะเที่ยงตรงไม่พอ หรือมักหลอกลวงตัวเราเอง ดังนั้น เราจึงไม่ประเมินจากตนเองในเรื่องนี้ แต่ให้คนรอบข้างเป็นผู้ประเมิน นั่นจะเป็นการประเมินที่น่าจะเที่ยงตรงกว่า

6. ในปีที่ผ่านมา ฉันได้อธิษฐานเผื่อคนที่ฉันเข้าไม่ถึงมากขึ้นกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา เพราะฉันมุ่งมั่นในการอธิษฐานมากขึ้นหรือไม่?

คำถามนี้ได้สะท้อนถึงหัวใจการทำพันธกิจของฉัน กล่าวคือ การที่ฉันจะนำคนในครอบครัว และ คนในคริสตจักรของฉันอธิษฐานเผื่อคนที่คนอื่นไม่ค่อยอธิษฐานเผื่อ

7. สุขภาพกายของฉันดีขึ้นหรือเลวลงในปีที่ผ่านมา

การเอาใจใส่ต่อสุขภาพร่างกายก็เป็นความรับผิดชอบส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณต่อพระพักตร์พระผู้สร้าง   การละเลยหรือไม่ใส่ใจต่อสุขภาพร่างกายประเมินได้ว่าเรามีชีวิตที่เป็นพยานที่แย่ลง แสดงว่าเราไม่ใส่ใจและรับผิดชอบสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้าง และ ประทานแก่เรา

8. ในปีที่ผ่านมานี้ ศิษยาภิบาลของฉัน (หรือ สมาชิกคริสตจักรของฉัน ถ้าฉันเป็นศิษยาภิบาล) ได้กล่าวว่า  ฉันได้อุทิศทุ่มเท และรักคริสตจักรซึ่งเป็นพระกายพระคริสต์หรือไม่?  

ในข้อนี้ก็เช่นกัน เราคงไม่ประเมินตนเองเพราะเกรงว่าการประเมินจะไม่เที่ยงตรง จึงให้ประเมินจากประสบการณ์และความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้

9. ในปีที่ผ่านมามีความบาปอะไรที่เข้ามาครอบงำชีวิตของฉัน ที่ฉันยังไม่สามารถที่จะหลุดรอดออกมาได้

ถ้ามี ฉันจำเป็นที่จะต้องรีบปรึกษากับใครบางคน เพื่อสร้างความรับผิดชอบในชีวิตของฉันเพื่อให้มีชีวิตฉันเป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้าในปี 2021

10. มีอะไรที่ฉันต้องการทำให้สำเร็จในปีที่ผ่านมา แต่ยังทำไม่สำเร็จ?

คำตอบที่ได้จากคำถามนี้เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถใช้ในการวางเป้าหมายสำหรับปี 2021

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499




28 ธันวาคม 2563

ทบทวนคริสต์มาสที่เพิ่งผ่านไป

ช่วงเวลาคริสต์มาส เรามักทักทายกันว่า “สุขสันต์วันคริสต์มาส” แต่ปีนี้ ผมไม่อยากทักทายด้วยประโยคดังกล่าวเลย เพราะนั่นไม่ใช่ความจริงในชีวิตของหลายต่อหลายคน เกิดความรู้สึกว่าเรากำลังใส่หน้ากากเข้าหากันหรือเปล่า? ถ้าเราทักเพื่อนของเราว่า “สุขสันต์วันคริสต์มาส” แล้วเพื่อนที่กำลังมีชีวิตระทมทุกข์  เขาจะตอบเราอย่างไร เพื่อรักษาความสุภาพเลยต้องสวมหน้ากากตอบว่า “สุขสันต์วันคริสต์มาสเช่นเดียวกันครับ/ค่ะ”

หลายคนที่ปีนี้สูญเสียคนที่เป็นที่รัก คนใกล้ชิดเจ็บป่วยมาก หลายคนตกงาน ถูกลดเงินเดือน บางคนเรียนจบแล้วยังหางานที่ไหนไม่ได้เลย บางคนกลับประเทศบ้านเกิดไม่ได้ หลายต่อหลายคนที่คริสต์มาสปีนี้ต้องอยู่ห่างไกลจากครอบครัวอันเป็นที่รัก ได้แต่จ้องหน้ากันทางโทรศัพท์มือถือ หรือ แทปเลต แล้วน้ำตาไหล! คนเหล่านี้ไม่ต้องการของขวัญอะไรทั้งนั้น สิ่งที่เขาต้องการคือเขาต้องการได้พบและสัมผัสกับพระคริสต์ที่มาบังเกิดในปีนี้ เขาต้องการให้พระคริสต์มาบังเกิดในชีวิตของเขามิใช่ไปเกิดที่รางหญ้าบ้านเบธเลเฮม

“หญิงพรหมจารีคนหนึ่งจะตั้งครรภ์และคลอดบุตรชาย เขาจะเรียกนามท่านว่า อิมมานูเอล” ซึ่งแปลว่า “พระเจ้าทรงอยู่กับเรา”” (มัทธิว 1:23 สมช.)

คนเหล่านี้ต้องการให้สัจจะความจริงของวันคริสต์มาสเกิดเป็นจริงที่เป็นรูปธรรมในชีวิตของเขาที่นี่เดี๋ยวนี้  เขาต้องการ “อิมมานูเอล” พระเจ้าอยู่ในชีวิตเขา พระองค์อยู่เคียงข้างเขา พระองค์ชี้นำชีวิตประจำวันของเขา พระเจ้าเป็นพระกำลังและพระปัญญาในทุก ๆ วันตั้งแต่นี้ต่อไป แล้วคริสตจักร และ คริสตชนในวันนี้จะนำของขวัญชิ้นนี้มอบให้แก่คนเหล่านี้ได้อย่างไร? คริสตชนจะนำสัจจะความจริงแห่งแก่นสารของคริสต์มาสคือ “พระเจ้าพร้อมที่จะอยู่กับท่าน ในชีวิตของท่าน เป็นพระปัญญาและพระกำลังที่จะชี้นำชีวิตของท่าน” ได้อย่างไร?

ดังนั้นให้เรามุ่งมองหาโอกาสที่จะแบ่งปันความรักเมตตาแก่เพื่อนมนุษย์ที่เราพบปะสัมพันธ์ด้วย ยิ่งในช่วงคริสต์มาสและปีใหม่เป็นโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับเราที่จะให้กำลังใจแก่คนเหล่านี้ แล้วใครบ้างล่ะที่จำเป็นต้องการที่จะรับการค้ำชูและหนุนนำในชีวิต ที่ท่านสามารถแบ่งปันความรักเมตตาของพระเจ้าเชิงปฏิบัติดังกล่าวแก่เขา?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499




26 ธันวาคม 2563

ฉลองคริสต์มาสอย่างมารีย์และโยเซฟ

สำหรับเราหลาย ๆ คน เมื่อคิดถึงเรื่องคริสต์มาส เรามักคิดถึงประสบการณ์ความรู้สึกมีความสุข การเฉลิมฉลองด้วยความชื่นชมยินดี มีกิจกรรมที่ทำมากมาย จนบางครั้งเกินเลยกลายเป็นความเหนื่อยกายอ่อนใจหลังการฉลองคริสต์มาส

ผมได้ยินบ่อยครั้งที่จะมีคนพูดว่า คริสต์มาสเป็นเวลาของการเฉลิมฉลองด้วยความยินดี แต่ผมมีคำถามว่า คริสต์มาสครั้งแรกจากนาซาเร็ธถึงเบธเลเฮม และจากเบธเลเฮ็มถึงอียิปต์มันไม่ใช่เรื่องความชื่นชมยินดีเลย แต่เป็นเรื่องของแผนการชีวิตถูกแทรกแซงเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน-สิ้นเชิง และเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่ได้คาดคิดไว้ล่วงหน้า เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ถูกแทรกแซงจากพระเจ้า และทุกช่วงของการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นวิกฤติและความทุกข์ยากลำบากในชีวิต ถ้าเช่นนั้นเกิดคำถามว่า แล้วมารีย์และโยเซฟเขาฉลองคริสต์มาสครั้งแรกกันอย่างไร?

จากเรื่องราวคริสต์มาสครั้งแรก เราพบว่า มารีย์และโยเซฟเฉลิมฉลองคริสต์มาสด้วยคุณลักษณะชีวิต 4 ประการของทั้งสองต่อแผนการของพระเจ้าสำหรับความรอดของมนุษยชาติ

1. ยอมมอบกายถวายชีวิตแต่พระเจ้า

มารีย์กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้า ขอให้เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าตามที่ท่านกล่าวเถิด” แล้วทูตสวรรค์นั้นก็จากนางไป (ลูกา 1:38 อมธ.)

ถ้าพูดแบบตรงไปตรงมาแล้ว คริสต์มาสคือเรื่องที่พระเจ้าเข้ามาแทรกแซงชีวิตของมนุษย์ เข้ามารบกวนชีวิตของมนุษย์ เข้ามาเปลี่ยนแผนงานของเรา มารีย์เป็นหญิงสาววัยรุ่นที่ได้หมั้นกับโยเซฟ ชายหนุ่มช่างไม้ชาวบ้าน เธอเต็มเปี่ยมด้วยความใฝ่ฝัน เธอรอเวลาที่โยเซฟพร้อมที่จะแต่งงานกับเธอ 

แต่จากข่าวที่ทูตสวรรค์นำมาบอกเธอ ทำให้แผนการชีวิตของเธอกับโยเซฟที่ฝันไว้ต้องเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เราไม่รู้ว่าจากข่าวที่ทูตสวรรค์กล่าวแก่เธอนั้นเธอเข้าใจและรับรู้ว่าอย่างไร แต่เธอเชื่อ ศรัทธา และวางใจพระเจ้าอย่างมั่นคง เธอไม่รู้ว่าสามีในอนาคตของเธอจะมีปฏิกิริยาเช่นไรในเรื่องนี้ เธอไม่มีโอกาสที่ขอคำปรึกษาจากแม่ เธอตอบสนองทูตของพระเจ้าต่อข่าวสารที่นำมาบอกทันทีคือ เธอยอมมอบกายถวายชีวิตแด่พระประสงค์ของพระเจ้า

มารีย์เลือกที่จะยอมมอบกายถวายชีวิตแด่พระเจ้า มิใช่เพียงร่างกายของเธอที่จะรองรับทารกน้อยเท่านั้น  แต่เธอได้มอบแผนการชีวิต ความฝันอันสูงส่งของเธอในชีวิต ความคาดหวังในชีวิตของเธอแต่พระเจ้าด้วย เธอเต็มใจ พร้อม เห็นด้วย และอ่อนน้อมถ่อมใจยอมรับสิ่งที่พระเจ้าทรงกำหนดสำหรับชีวิตของเธอ

2. เชื่อและฟังพระดำรัสของพระเจ้า

“เมื่อโยเซฟตื่นขึ้นก็ทำตามคำซึ่งทูตสวรรค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าสั่งนั้น คือได้รับมารีย์มาเป็นภรรยา แต่ไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กับเธอจนกว่าให้พระกำเนิดบุตรชายแล้ว และโยเซฟเรียกนามของบุตรนั้นว่าเยซู” (มัทธิว 1:24-25 มตฐ.)

ถ้าท่านเป็นโยเซฟ แล้วแฟนสาวที่ท่านหมั้นไว้มาบอกเธอว่า เธอตั้งครรภ์ ทั้ง ๆ ที่ท่านยังไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กับเธอ แล้วท่านจะคิดอย่างไรต่อเธอ? อย่าลืมว่า โยเซฟก็เป็นชายหนุ่มปุถุชนเหมือนเราแต่ละคน ตามวัฒนธรรมยิวถ้าโยเซฟไม่เชื่อในสิ่งที่มารีย์มาเล่าให้เธอฟัง ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้โยเซฟสามารถทำเช่นไรก็ได้ที่ทำให้มารีย์ต้องอับอายขายหน้า และประจานการกระทำผิดประเวณีของเธอต่อสาธารณชน แต่เพราะโยเซฟรักมารีย์มาก เขาตัดสินใจที่จะส่งเธอไปในที่อื่นที่ปลอดภัยเป็นการลับ

พระเจ้าเข้ามาแทรกแซงแผนการที่มีคุณธรรมของโยเซฟด้วยการส่งทูตสวรรค์มาปรากฏในความฝันของโยเซฟ ทูตแจ้งข่าวดีให้แก่โยเซฟว่า มารีย์ไม่ได้คิดนอกใจโยเซฟ แต่เด็กในครรภ์นั้นปฏิสนธิโดยเดชพระวิญญาณบริสุทธิ์ เธอมิได้กระทำผิดใด ๆ เลย ทูตบอกแก่โยเซฟว่า พระเจ้าทรงเลือกโยเซฟให้เป็นพ่อฝ่ายโลกนี้ที่จะดูแลทารกน้อยพระบุตรของพระเจ้า

โยเซฟต้องตัดสินใจเชื่อว่า มารีย์และทูตสวรรค์พูดความจริงต่อเขา หรือนี่เป็นความคิดตามสัญชาตญาณของเขาเอง และสถานการณ์โดยรอบที่เกิดขึ้นจะช่วยในการตัดสินใจของโยเซฟเช่นไร?

โยเซฟเลือกที่ “จะเชื่อและฟังพระดำรัสของพระเจ้า” เขาละทิ้งตรรกะของตนเอง เขาไม่สนใจสิ่งที่คนอื่นรอบข้างบอกให้เขาทำ เขาตัดสินใจเลือกที่จะเชื่อพระเจ้ามากกว่าอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง และเหมือนกับมารีย์ เขายอมมอบกายถวายชีวิตแด่พระเจ้า

3. ไว้วางใจพระเจ้า

“โยเซฟก็เดินทางจากเมืองนาซาเร็ธแคว้นกาลิลี ไปที่เมืองของดาวิดชื่อเบธเลเฮมในแคว้นยูเดียด้วย เพราะว่าเขาเป็นวงศ์วานและเชื้อสายของดาวิด เขาไปจดทะเบียนพร้อมกับมารีย์หญิงที่เขาหมั้นไว้แล้วและกำลังตั้งครรภ์ ขณะเขาทั้งสองอยู่ที่นั่น ก็ถึงเวลาที่มารีย์จะคลอดบุตร นางจึงคลอดบุตรชายหัวปี เอาผ้าอ้อมพันและวางไว้ในรางหญ้า เพราะว่าไม่มีห้องว่างในบ้านพักสำหรับพวกเขา” (ลูกา 2:4-7 สมช.)

ที่โยเซฟและมารีย์ต้องเดินทางไปเบธเลเฮม เพราะซีซาร์มีคำสั่งให้ทุกคนที่อยู่ในจักรวรรดิที่เขาปกครองต้องไปจดทะเบียนสำมะโนครัวที่บ้านเกิด ทั้งสองต่างมีเชื้อสายของดาวิดจึงต้องเดินทางไปจดทะเบียนที่เมืองเบธเลเฮม ดังนั้น ทั้งสองต้องเดินทางจากนาซาเร็ธไปเบธเลเฮมระยะทางประมาณ 90 ไมล์ หรือ ประมาณ 145 กิโลเมตร (144.8406 ก.ม.) ซึ่งการเดินเท้าต้องใช้เวลาประมาณ 10 วัน และเป็นทางภูเขาที่ขึ้น ๆ ลง ๆ และในบางช่วงมีอันตรายที่มีโจรปล้นสะดม และเสี่ยงต่อการพบกับสัตว์ร้าย และยิ่งมารีย์ตั้งครรภ์แก่ใกล้คลอดยิ่งลำบากทวีคูณในการเดินทางไกลครั้งนี้ ถ้าเป็นเราบางท่านอาจจะมีคำถามพระเจ้าว่า ทำไมพระองค์ต้องเลือกให้ตั้งครรภ์และคลอดในเวลาที่วิกฤตลำบากยิ่งเช่นนี้?

เราไม่พบว่า โยเซฟไปยื่นคำร้องต่อทางการเพราะความไม่สะดวกที่จะเดินทางไกลเพราะมารีย์ใกล้คลอดบุตร และเราก็ไม่ได้ยินเสียงบ่นต่อว่าพระเจ้าจากมารีย์ว่า ทำไมพระองค์ต้องเลือกให้ตั้งครรภ์และคลอดในเวลาที่วิกฤติลำบากยิ่งเช่นนี้? แต่ทั้งสองเลือกที่จะ “วางใจในพระเจ้า” ในเวลากำหนดของพระองค์   เหนือสิ่งอื่นใด ทั้งสองเชื่อว่าพระเจ้าทรงล่วงรู้เกี่ยวกับเรื่อกฤษฎีกาของซีซาร์ และรู้เรื่องเด็กในครรภ์ใช้เวลาประมาณ 9 เดือนเติบโตจนคลอดออกมา ทั้งมารีย์และโยเซฟต่างเชื่อมั่นว่า พระเจ้าคือผู้ที่เขาไว้ใจได้มากที่สุด พระองค์มีแผนการของพระองค์ และ มีพระประสงค์สำหรับการเดินทางที่แสนจะทุลักทุเลที่ยากลำบากอย่างยิ่ง

เราไม่รู้ว่า ทั้งสองเคยอ่านจากคำเผยพระวจนะในพระคัมภีร์พระธรรมมีคาห์หรือไม่ จึงพยายามดั้นด้นในการเดินทางไปเบธเลเฮม ตามคำเผยพระวจนะของมีคาห์ที่ว่า “แต่เจ้า เบธเลเฮม เอฟราธาห์ ผู้เป็นหน่วยเล็กในบรรดาตระกูลของยูดาห์ จากเจ้า จะมีผู้หนึ่งออกมาเพื่อเรา เป็นผู้ที่จะปกครองในอิสราเอล...” (มีคาห์ 5:2 มตฐ.)

โยเซฟ และ มารีย์ “ไว้วางใจ” ในเวลากำหนดของพระเจ้า เพราะเขายอม “มอบกายถวายชีวิต” สำหรับพระประสงค์ของพระเจ้า และเขาทั้งสอง “เชื่อและฟัง” คำของพระเจ้า

4. เชื่อและทำตามพระดำรัสของพระเจ้า

“เมื่อพวกโหราจารย์กลับไปแล้ว ทูตองค์หนึ่งขององค์พระผู้เป็นเจ้ามาปรากฏแก่โยเซฟในความฝันและสั่งว่า “จงลุกขึ้น พาพระกุมารและมารดาหนีไปยังอียิปต์และอยู่ที่นั่นจนกว่าเราจะบอกให้กลับมา เพราะเฮโรดกำลังจะค้นหาพระกุมารเพื่อประหาร” ในคืนนั้นโยเซฟจึงลุกขึ้นพามารีย์กับพระกุมารเดินทางไปยังอียิปต์” (มัทธิว 2:13-14 อมธ.)

เหตุการณ์ที่กล่าวถึงในมัทธิวบทที่ 2 เกิดขึ้นหลังจากพระกุมารได้บังเกิดแล้วสองปี มารีย์และโยเซฟได้หาบ้านพักอยู่ใกล้เมืองเบธเลเฮม หลังจากการมานมัสการของโหราจารย์ ทั้งมารีย์และโยเซฟหวังว่าจะกลับไปใช้ชีวิตปกติของพวกเขา มีความชื่นชมกับลูกชายตัวน้อยที่ชื่อเยซู ที่กำลังเติบโตขึ้นท่ามกลางความรักในครอบครัว น่าเสียดายสิ่งต่าง ๆ ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดคิด

โยเซฟได้รับคำเตือนในความฝันว่า เฮโรดกำลังอาละวาดแสวงหาพระกุมารเพื่อจะฆ่าเสีย เฮโรดโกรธที่โหราจารย์ที่หักหลังหลอกลวงตน จึงแสวงหาหนทางที่จะกำจัดคู่แข่งที่เกิดมาที่จะแย่งชิงราชบัลลังก์จากตน เขาจึงออกคำสั่งให้ทหารฆ่าเด็กชายอายุสองขวบลงมา ทูตสวรรค์บอกโยเซฟให้รีบพาครอบครัวออกจากเมืองไปยังประเทศอียิปต์

โยเซฟ “เชื่อฟังและทำตาม” คำเตือนจากทูตสวรรค์ เมื่อเขาตื่นจากฝัน ในค่ำคืนนั้นเองเขาได้พาครอบครัวหนีออกจากเมืองไปยังประเทศอียิปต์

ทั้งโยเซฟและมารีย์ “เชื่อฟังและทำตาม” คำของพระเจ้าผ่านมาทางทูตสวรรค์โดยไม่ลังเล เพราะเขาทั้งสองได้ “มอบกายถวายชีวิต” แด่พระเจ้า เขาทั้งสอง “เชื่อ” ในคำของพระเจ้าที่ทูตสวรรค์นำมาถึงเขา   และเขา “ไว้วางใจพระเจ้า” ที่ทรงครอบครองและควบคุมทุกอย่าง และแผนการการทรงจัดเตรียมของพระเจ้าในทุกประการ

การมอบกายถวายชีวิต ความเชื่อและฟัง ความไว้วางใจ การเชื่อฟังและทำตาม

พฤติกรรมทั้งสี่ประการดังกล่าว สอนเราว่าเราจะตอบสนองอย่างไรเมื่อพระเยซูคริสต์เข้ามาแทรกแซงแผนการโลกของเรา และทั้งสิ้นนี้มิใช่เรื่องราวคริสต์มาสหรือ?

พระเจ้าได้ขอให้ท่านยอมจำนนต่อพระองค์ในเรื่องอะไร? ในจิตใจของท่าน ท่านกำลังต้องปล้ำสู้กับการยอมจำนนต่อพระเจ้าในเรื่องอะไรบ้าง?

พระสัญญาอะไรของพระเจ้าที่ท่านยังไม่เชื่อ? ท่านเชื่ออย่างจริงจังและจริงใจหรือไม่ว่าพระเยซูคริสต์เป็นพระผู้ช่วยให้รอด พระบุตรของพระเจ้า? ท่านเชื่อและวางใจในพระองค์หรือไม่? หรือ ท่านดำเนินชีวิตทุกวันนี้ตามความรู้สึกของท่านเอง?

พระเจ้าขอให้ท่านไว้วางใจในพระองค์ในเรื่องอะไรบ้าง? มีสถานการณ์ที่ท่านไม่สามารถควบคุมไหม?   พระเจ้าได้ให้ท่านทำในบางสิ่งบางเรื่องที่ท่านดูเหมือนว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ไหม? เป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุมีผลไหม?

ท่านต้องปล้ำสู้พยายามที่จะทำตามพระบัญชาของพระเจ้าในส่วนใด? (ในเรื่องอะไร?)

ให้เรายอมจำนนต่อพระเจ้า “มอบความหวัง” ของเราไว้กับพระเจ้า  

       ไม่ยึดมั่นในแผนการของตนเอง

จึงยึดมั่น “เชื่อและฟัง” พระดำรัสของพระเจ้า

“ไว้วางใจในพระเจ้า” แล้วพระองค์จะทำให้ทางของท่านตรงไป

“เชื่อฟังและทำตาม” อย่างไม่สงสัยเพราะพระองค์คือผู้ที่รู้ดีที่สุด

แล้วเราจะพบและรู้ว่า การฉลองคริสต์มาสที่แท้จริงนั้นเป็นเช่นไร

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499




25 ธันวาคม 2563

ของขวัญจากพระเจ้าห่อด้วยอะไร?

ของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกนี้ไม่ได้ห่อด้วยกระดาษห่อของขวัญที่สวยงามล้ำค่าที่สุด แต่ของขวัญที่มีคุณค่าสูงสุดชิ้นนั้นห่อด้วย “ผ้าอ้อม” แล้ววางไว้ในรางหญ้า(รางที่ให้อาหารสัตว์)

ของขวัญล้ำค่าชิ้นนี้มิได้ไปซื้อตามห้างดัง ๆ ร้านโชห่วย หรือ สั่งซื้อออนไลน์จาก “ลาซาดา หรือ ชอปปี้”   ไม่ได้สั่งซื้อด้วยเงินสด หรือ บัตรเครดิต หรือ โอนเงินทางออนไลน์ แต่ของขวัญชิ้นนี้ได้มาโดยการที่พระเจ้าซื้อด้วยสิ่งที่ล้ำค่าหาสิ่งทดแทนไม่ได้คือ พระเจ้าซื้อมาด้วย “ชีวิตพระบุตรของพระองค์” คือพระเยซูคริสต์ และนี่คือหัวใจของเรื่องราวคริสต์มาสที่คนในสังคมโลกเฉลิมฉลองกันทุกปี ที่หลายต่อหลายคนที่เฉลิมฉลองยังเข้าไม่ถึง “หัวใจของคริสต์มาส” ดังกล่าว

[24] แต่พระเจ้าทรงมีพระคุณให้เขาเป็นผู้ชอบธรรมโดยไม่คิดมูลค่า โดยที่พระเยซูคริสต์ทรงไถ่เขาให้พ้นบาปแล้ว [25] พระเจ้าได้ทรงตั้งพระเยซูไว้ให้เป็นเครื่องบูชาไถ่บาป (แปลได้อีกว่า ให้เป็นที่ลบล้างพระอาชญา) โดยพระโลหิตของพระองค์ ความเชื่อจึงได้ผล ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นความชอบธรรมของพระเจ้า ในการที่พระองค์ได้ทรงอดกลั้นพระทัย และทรงยกบาปที่ (มนุษย์)ได้ทำไปแล้วนั้น (โรม 3:24-25 สมช.)

ดังนั้น คริสต์มาสจึงเป็นเรื่องของ “ชีวิต หรือ ความตาย” เป็นเรื่องที่พระคริสต์พระบุตรของพระเจ้าใช้ทั้งชีวิตของพระองค์มากอบกู้ไถ่ถอนชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายออกจากอำนาจของความบาปชั่วร้ายและความตายที่ครอบงำชีวิตและความคิดของมนุษย์ทั้งหลาย ของขวัญชิ้นนี้จึงเป็นของขวัญที่ไม่สามารถประเมินค่าราคาได้ เป็นของขวัญแห่งความเจ็บปวด ทรมาน และการหลั่งเลือดจนตาย เพื่อจะให้คนอื่นทั้งหลายได้รับชีวิตใหม่ ให้หลุดรอดออกจากกงเล็บปีศาจ เข้ามาอยู่ภายใต้ร่มพระคุณและพระเมตตาที่เสียสละของพระเยซูคริสต์

เรื่องราวคริสต์มาสมิใช่เรื่องเก่าที่พวกคริสตชนนำมาเล่าใหม่ทุกปี คริสต์มาสไม่ใช่เรื่องในอดีตเมื่อสองพันปีก่อนที่พระคริสต์ได้กระทำสำเร็จแล้ว แต่เรื่องราวคริสต์มาสเป็นเรื่องในปัจจุบันด้วย พระคริสต์ให้สาวกของพระองค์ทุกคนสานต่อพระราชกิจ “การให้ชีวิต” ที่พระองค์ได้เริ่มต้นที่ “เบธเลเฮม ถึง กลโกธา” ด้วยการให้สาวกแต่ละคนให้ชีวิตของตนเพื่อคนอื่น ๆ ด้วยความรักเมตตาที่เสียสละแบบพระคริสต์ที่ได้กระทำเป็นแบบอย่างที่ชัดเจนในชีวิตสามปีแห่งพันธกิจที่พระองค์กระทำ พระคริสต์ประสงค์ที่จะให้ทุกคนบนโลกใบนี้ได้รับชีวิตใหม่จากพระองค์ผ่านคริสตชนสาวกของพระองค์ทุกคน พระคริสต์บอกว่า ที่พระองค์มาในโลกนี้เพื่อ “ทุกคนจะได้ชีวิต และได้ชีวิตที่ครบบริบูรณ์” (ยอห์น 10:10)

คริสต์มาสมิใช่เป็นเพียงเรื่องในอดีตที่ส่งไม้ต่อมาถึงปัจจุบัน คริสต์มาสมิใช่เรื่องของ “ที่นี่และเดี๋ยวนี้” เท่านั้น แต่พระประสงค์ของพระเจ้ามีเป้าหมายที่จะให้คุณภาพชีวิตแบบแผ่นดินของพระเจ้าเป็นคุณภาพชีวิตของสังคมโลก ดั่งที่พระคริสต์สอนให้สาวกของพระองค์ภาวนาอธิษฐานทูลขอต่อพระบิดาว่า  “ขอให้แผ่นดิน(การครอบครองของพระเจ้า)มาตั้งอยู่ ในสวรรค์เป็นอย่างไรให้เป็นเช่นนั้นในแผ่นดินโลก   คริสต์มาสคือกระบวนการพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ที่จะนำเอา “แผ่นดินของพระเจ้า” ลงมาตั้งอยู่บนแผ่นดินโลก ซึ่งจะสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต

ดังนั้น การเฉลิมฉลองคริสต์มาสจึงเป็นเวลาที่คริสต์ชนใคร่ครวญ ทบทวน ประเมิน ถึงชีวิตของตนเองที่มีต่อพันธกิจที่พระเยซูคริสต์ได้มอบหมาย เป็นโอกาสที่เราจะทูลขอการชี้นำเข้าสู่ปีใหม่ด้วยกระบวนการสานต่อพระราชกิจของพระคริสต์ในชีวิตของเราแต่ละคน ด้วยพระกำลังและพลังแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่ทำงานในชีวิตของเราแต่ละคน ที่จะก่อเกิดผลตามแผนการของพระเจ้า ตามพระประสงค์ของพระคริสต์ในชีวิตของเราแต่ละคนด้วย

เราต้องตระหนักชัดว่า ของขวัญอันล้ำค่าที่พระเจ้าประทานแก่เราในคริสต์มาสนี้ ห่อด้วยผ้าอ้อมที่ต่ำต้อยด้อยค่า แต่คุณค่าที่แท้จริงอยู่ในผ้าอ้อมคือพระคริสต์ ที่มาช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา และสยบแล้วขจัดอำนาจของความบาปชั่วให้ออกจากชีวิตของเรา แล้วให้เราได้รับชีวิตใหม่ เป็นชีวิตที่เข้าไปมีส่วนร่วมในพระราชกิจแห่งแผ่นดินของพระเจ้าที่พระคริสต์ได้นำมายังโลกนี้ ทำให้เกิดสังคมระบบใหม่  แผ่นดินโลกใหม่ ตามแผนการของพระองค์สำหรับโลกนี้ และนี่คือจุดประสงค์ของพระคริสต์ที่มาบังเกิดในโลกนี้ “เรามาเพื่อท่านทั้งหลายจะได้ชีวิต และจะได้ชีวิตที่ครบบริบูรณ์” (ยอห์น 10:10)

และนี่คือ พระคริสต์บังเกิดในชีวิตของเรา และ ผลที่เกิดจากการที่พระคริสต์บังเกิดในชีวิตของเรา

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499




24 ธันวาคม 2563

คืนคริสต์มาสอันแสนว้าวุ่นและวุ่นวาย

โดยทั่วไปแล้ว ผู้คนในคริสตจักรต่างคาดหวังว่า ในช่วงเวลาคริสต์มาส จะเป็นช่วงเวลาที่ “สงบ-สุขสันติ” ในการเฉลิมฉลองคริสต์มาส ส่วนใหญ่หรือเกือบทุกคนพยายามหลีกเลี่ยง หรือ ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุวุ่นวาย สับสน หรือ เกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาขึ้นในช่วงของการเฉลิมฉลองคริสต์มาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการนมัสการพระเจ้า รายการแสดงเช้าวันนั้น หรือ การจัดเลี้ยงต้อนรับแขกที่มาร่วม เราต้องการคริสต์มาสที่มีการจัดเตรียมที่พร้อมเรียบร้อย

แท้จริงแล้วเกือบทุกคนคาดว่าคริสต์มาสควรจะเป็นเวลาที่ “สงบ” และมี “ความสุข” ใช่ไหม? แม้แต่เพลงคริสต์มาสที่เราร้องก็บ่งบอกอาการเช่นนั้น เช่น  “คืนนั้นหน้าหนาว เงียบเหงาวังเวง...”  “ราตรีสงัด...ราตรีสวัสดิ์”  “มีหมู่บ้านน้อยชื่อเบธเลเฮม  หลับเงียบเกษมสบาย”  และท่านสามารถบอกได้อีกมากมายที่บ่งบอกถึงคริสต์มาสเป็นวันคืนแห่ง “ความสงบสุข”

แต่เมื่อครั้งคริสต์มาสคืนแรกที่เบธเลเฮมนั้น เป็นคริสต์มาสที่แสนจะว้าวุ่นกังวลโดยเฉพาะกับมารีย์และโยเซฟที่เดินทางไกลจากนาซาเร็ธถึงบ้านเบธเลเฮม ที่เดินทางอย่างทุลักทุเลเพราะมารีย์ท้องแก่และเดินทางติดต่อกันมาไม่น้อยกว่า 10 วันแล้ว ในระยะทางประมาณ 145 กิโลเมตร นักวิชาการทางพระคัมภีร์สันนิษฐาน หรือ ประมาณการว่า ทั้งโยเซฟและมารีย์เดินทางไปด้วยเท้า คงไม่ได้ขี่ลาอย่างที่เราเห็นในรูปการ์ดคริสต์มาส เพราะทั้งสองมีฐานะที่ยากจน

ปัญหาที่สร้างความวิตกกังวลแก่ทั้งสองคือ หาที่พักไม่ได้ และมารีย์ก็กำลังจะคลอดแล้ว ในคืนนี้ที่เบธเลเฮมไม่ได้เงียบสงบอย่างเพลงบอกเลย! ในที่สุดลงเอยด้วยการไปยืมใช้มุมหนึ่งของคอกสัตว์ ซึ่งมีนักวิชาการทางพระคัมภีร์บางท่านสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นถ้ำที่เขาใช้ในการเก็บสัตว์เลี้ยง และที่นั่นมารีย์ก็ได้คลอดทารกน้อยเพศชาย เอาผ้าอ้อม หรือ ฉีกจากเสื้อผ้าของแม่มาเป็นผ้าอ้อม พันทารกน้อย แล้ววางให้นอนที่รางหญ้าที่ใช้เป็นที่ให้อาหารสัตว์เลี้ยง ต่างเปลนอน... โล่งอกไปเปราะหนึ่ง ที่คลอดทารกออกมาได้และยังมีชีวิตอยู่!

ในขณะที่มารีย์กำลังพักผ่อนจากความเหน็ดเหนื่อยแสนสาหัสทั้งจากการเดินไกล และ การเบ่งให้ทารกน้อยออกมา ทันใดนั้นก็ต้องแปลกใจที่มีพวกเลี้ยงแกะมาด้อม ๆ มอง ๆ อยู่นาน แล้วก็พากันเข้ามานมัสการทารกน้อยของเธอ พร้อมเล่าว่า “ทูตสวรรค์มาบอกพวกเขาว่า พระผู้ช่วยให้รอดมาบังเกิด และบอกหมายสำคัญคือ ทารกน้อยจะถูกพันด้วยผ้าอ้อมหรือผ้าที่ใช้แล้ว  และวางในรางหญ้า” คำบอกเล่าของคนเลี้ยงแกะยิ่งสร้างความตื่นเต้นระคนความตระหนก และฉงนว่า แล้วเรื่องนี้จบลงอย่างไรกันแน่?   แต่มารีย์ได้แต่เก็บเรื่องเล่านี้ไว้ในใจ พร้อมทั้งภูมิใจลึก ๆ ว่า ตนมีส่วนในการมาเกิดของพระผู้ช่วยให้รอดที่จะนำความสงบและสันติสุขกลับมาให้แก่อิสราเอลอีกครั้งหนึ่ง

หลังจากที่คนเลี้ยงแกะได้มานมัสการทารกน้อยนั้นแล้ว ด้วยความตื่นเต้นของการมาบังเกิดของพระผู้ช่วยให้รอด “เมื่อพวกเขาเห็น (ทารกน้อยพันผ้าอ้อมนอนในรางหญ้า ตามคำบอกของทูตสวรรค์) แล้ว จึงเล่าเรื่องที่เขาได้ยินและได้เห็นถึงพระกุมารนั้น แก่คนที่เขาพบเห็น คนทั้งหลายที่ได้ยินก็ประหลาดใจเกี่ยวกับเรื่องที่คนเลี้ยงแกะบอกกับเขา” (ลูกา 2:17 สมช.)

แน่นอนครับ เรื่องแปลกประหลาดน่าอัศจรรย์เช่นนี้ต้องมาพิสูจน์ให้เห็นด้วยตาของตนเอง ผู้คนมากมายคงจะมาดูทารกน้อยพันผ้าอ้อมนอนในรางหญ้า ตามที่คนเลี้ยงแกะบอกพวกเขา ทั้งมารีย์และโยเซฟต้องงงอย่างยิ่ง มีผู้คนมามุงดูมากมาย น่าจะเรียกว่า “ยิวมุง” ถ้าอยู่ในบ้านเราเป็น “ไทยมุง”  หรือในพวกยิวไม่มีวัฒนธรรมแบบนี้ก็ได้นะ

คืนนั้น ทั้งมารีย์และโยเซฟอาจจะไม่ได้หลับไม่ได้นอนอีกคืนหนึ่ง ความว้าวุ่นใจ ความสับสนวุ่นวาย ค่อย ๆ ลงตัวทีละเรื่อง ทำไม “คริสต์มาสถึงเป็นเวลาที่ว้าวุ่นใจ และ วุ่นวายไปเสียทุกเรื่อง?” ทั้งนี้เพราะ การมาบังเกิดของพระเมสิยาห์ พระผู้ช่วยให้รอดนั้น มิได้มาบังเกิดอย่าง “ฐานเชื่อกระบวนคิด” ตามที่ผู้คนนึกคิดและเข้าใจกัน ไม่ได้มาบังเกิดอย่างยิ่งใหญ่ แต่ตรงกันข้าม พระองค์มาบังเกิดอย่างผู้เล็กน้อย ต่ำต้อยสุดๆในสังคมมนุษย์โลก และมาบังเกิดเพื่อรับใช้ด้วยการให้ทั้งชีวิตของพระองค์ เปาโลเขียนไว้ว่า

“(พระเยซูคริสต์) ผู้ทรงสภาพพระเจ้า

แต่ไม่ได้ทรงยึดติดในความเท่าเทียมกับพระเจ้า

พระองค์กลับทรงสละทุกสิ่ง

มารับสภาพทาส

บังเกิดเป็นมนุษย์

และเมื่อทรงปรากฏเป็นมนุษย์

พระองค์ทรงถ่อมพระองค์ลง

และยอมเชื่อฟังแม้ต้องตายบนไม้กางเขน!”

(ฟีลิปปี 2:6-8 อมธ.) 

การเฉลิมฉลองคริสต์มาสที่แท้จริงมิได้เป็นการเฉลิมฉลองในช่วงเดือนธันวาคมของแต่ละปีเท่านั้น ถ้าเราต้องการเฉลิมฉลองคริสต์มาสที่แท้จริง เราต้องเฉลิมฉลองในชีวิตประจำวันตลอดปี และเราสามารถเฉลิมฉลองได้ดังนี้ ตามคำแนะนำของเปาโลที่ว่า

“บัดนี้ถ้าเราเป็นบุตรของพระองค์แล้ว เราก็เป็นทายาทคือเป็นทายาทของพระเจ้า และเป็นทายาทร่วมกับพระคริสต์ ถ้าเราร่วมทนทุกข์อย่างแท้จริงกับพระองค์ เราก็จะร่วมในพระเกียรติสิริของพระองค์ด้วย” (โรม 8:17 อมธ.) เราก็จะเป็นคนหนึ่งในครอบครัวของพระเจ้า

การเฉลิมฉลองคริสต์มาสที่แท้จริงคือ การเฉลิมฉลองที่เราได้ร่วมทนทุกข์กับพระเยซูคริสต์  และร่วมในพระเกียรติสิริของพระองค์ และเป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวของพระเจ้า และนี่คือการที่พระคริสต์บังเกิดในชีวิตของเราอย่างแท้จริง

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499




23 ธันวาคม 2563

นักปราชญ์หญิงคนที่สาม...จัดการอย่างไรกับชีวิตที่สิ้นหวัง

ที่ผ่านมา 2 ครั้ง เราได้ไตร่ตรองเจาะลึกในในเรื่องราวของ “นักปราชญ์หญิง” สองท่านแรก เอลีซาเบธ และ มารีย์ ในข้อเขียนนี้เราจะศึกษาเจาะลึกถึงนักปราชญ์หญิงคนที่สาม นางอันนา เมื่อชีวิตผันผวนตกลงในความสูญเสีย สิ้นหวัง โดดเดี่ยว เธอเลือกที่มุ่งมองไปที่การสถิตอยู่ด้วยของพระเจ้า และบอกแก่คนที่เธอพบเห็นเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์

ในลูกาบทที่ 2 บอกเราว่า นางอันนาเป็นม่ายมาจนถึงอายุ 84 ปี เธอแต่งงานได้เพียง 5 ปีสามีของเธอก็เสียชีวิต นั่นหมายความว่า เธอเป็นม่ายตั้งแต่ตอนอายุวัยรุ่นก็ว่าได้ และนี่ไม่ใช่สิ่งที่เธอคาดคิด หรือ เป็นแผนการในชีวิตของเธอแน่ ความสิ้นหวังทำให้เธอต้องจมลงในห้วงแห่งความขมขื่นในชีวิต แต่เรากลับเห็นภาพแตกต่างที่ตรงกันข้าม นายแพทย์ลูกาได้ให้ภาพชีวิตของเธออย่างชัดเจนว่า “...(นางอันนา) เป็นม่ายมาจนถึงอายุแปดสิบสี่ปี นางไม่เคยออกไปจากบริเวณพระวิหารเลย แต่อยู่นมัสการถืออดอาหารและอธิษฐานทั้งกลางวันกลางคืน” (ลูกา 2:37 มตฐ.)

เมื่ออันนาได้สูญเสียสามีสุดที่รักของเธอ เธอไม่ได้ปล่อยให้ชีวิตและความรักของเธอเหี่ยวเฉาตายตามสามีไป แต่เธอกลับใส่ใจจดจ่อทุ่มเทความรักของเธอไปที่พระเจ้า เธอใช้เวลาชีวิตทั้งวันและคืนมุ่งมองไปที่การสถิตอยู่ด้วยของพระเจ้าแทนความสิ้นหวังในชีวิต

ในชีวิตของเราแต่ละคนไม่วันใดก็วันหนึ่งที่เราต้องเผชิญกับการสูญเสียคนที่เรารักที่ไม่สามารถที่จะมีชีวิตอยู่กับเราต่อไปได้ ในสถานการณ์เช่นนั้นเราท่านจะทำอย่างไรกับความรักของท่านที่มีต่อคน ๆ นั้น? ถ้าท่านเป็นคนที่มีปัญญา ท่านจะมุ่งมองใส่ใจทั้งสิ้นไปที่การสถิตอยู่ด้วยของพระเจ้าที่จะปรับเปลี่ยนนำทางชีวิตไปบนเส้นทางชีวิตใหม่ตามพระประสงค์

ในสถานการณ์ที่อันนาต้องสูญเสียสามีสุดที่รัก ที่ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ให้เธอรัก เธอตัดสินใจเลือกที่จะมีชีวิตที่จะรักพระเจ้าที่สถิตอยู่ด้วย เธอใช้ชีวิตในพระวิหารของพระเจ้า ในที่สุดเธอได้พบกับพระเยซูคริสต์   ในเวลานั้นเองที่เริ่มประกาศถึงข่าวดีเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์

เมื่อพระเยซูคริสต์มีอายุได้ 8 วัน มารีย์และโยเซฟได้นำทารกน้อยเยซูไปยังพระวิหาร ซึ่งอันนาอยู่ที่นั่น  พระคัมภีร์กล่าวไว้ว่า “ขณะนั้นนาง (อันนา) เข้ามาหาพวกเขาแล้วขอบพระคุณพระเจ้าและกล่าวถึงพระกุมารให้บรรดาผู้ที่รอคอยการไถ่(ปลดปล่อย)กรุงเยรูซาเล็มฟัง” (ลูกา 2:38 อมธ.) 

จากเวลาที่เธอได้พบพระกุมารเยซู เธอเริ่มบอกคนอื่น ๆ เกี่ยวพระกุมารนั้น (เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์) พระคัมภีร์ได้บอกไว้ว่า “...คนฉลาดนำผู้อื่นมาถึงชีวิต” (สุภาษิต 11:30 อมธ.) อันนาเป็นคนที่มีปัญญา ฉลาด เป็นปราชญ์ เพราะเธอเลือกที่จะใช้ชีวิตที่เธอมีอยู่บอกคนอื่นถึงข่าวดีของการมาบังเกิดในโลกนี้ของพระเยซูคริสต์

ในช่วงเวลาแห่งคริสต์มาสปีนี้ ท่านสามารถเลือกตัดสินใจอย่างนางอันนา ยิ่งในภาวะวิกฤติชีวิตอย่างในปีนี้ที่รุนแรงมาก ผู้คนต้องประสบกับความสิ้นหวัง จนมุม หาทางออกไม่ได้ ต้องการข่าวดีที่จะช่วยให้ชีวิตสามารถหลุดรอดออกจากกับดักพิษร้ายอย่างปีนี้ 

คริสต์มาสปีนี้ ใช้เป็นโอกาสในการตัดสินใจเลือกครั้งสำคัญ ที่เราจะปรับเปลี่ยนมุมมองชีวิตของเราใหม่  ให้ใส่ใจมุ่งมองและมีความรักของเราต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า และ มุ่งหน้าใส่ใจในการบอกถึงข่าวดีของพระเยซูคริสต์แก่คนรอบข้างที่พบเห็นและสัมพันธ์

นักปราชญ์หญิงทั้งสามแตกต่างจากปราชญ์ทั้งสามที่มาจากทางตะวันออก นักปราชญ์หญิงทั้งสามไม่ได้เป็นโหราจารย์ ที่จะล่วงรู้ถึงความลึกลับของดวงดาวที่สัมพันธ์กับชีวิตผู้คน แต่นักปราชญ์หญิงทั้งสามเป็นสามัญชนคนธรรมดา ที่ล่วงรู้และเลือกตัดสินใจในชีวิตปัจจุบันที่เธอมีชีวิตอยู่อย่างชาญฉลาดด้วยเชื่อศรัทธาและมอบกายถวายทั้งชีวิตแด่พระเจ้าในชีวิตของเธอ ให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499




22 ธันวาคม 2563

นักปราชญ์หญิงคนที่สอง: วางใจในพระวจนะของพระเจ้า

เราจะเรียนรู้ด้วยกันถึง “นักปราชญ์หญิงทั้งสาม” ต่อจากข้อเขียนครั้งที่แล้ว (วันอาทิตย์ที่ผ่านมา) ครั้งนี้เราขอเรียนรู้จากชีวิตปราชญ์ มารีย์ หญิงสาวที่มาเป็นแม่ของพระเยซู เธอได้แสดงออกชัดเจนถึงภูมิปัญญาที่เกินวัยของเธอ เมื่อเธอตัดสินใจเลือกที่จะเชื่อตามคำตรัสของพระเจ้า แทนที่จะเลือกความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นในจิตใจเธอ

ให้เราลองเอาใจของมารีย์มาใส่ในใจของเรา คาดว่าอายุของเธอไม่น่าจะเกิน 16 ปี ครั้งเมื่อทูตสวรรค์ของพระเจ้ามาปรากฏแก่เธอและบอกเธอว่า เธอจะตั้งครรภ์และประสูติบุตรชาย ทั้ง ๆ ที่เธอยังไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กับชายใดเลย

ให้เราลองนึกภาพความกลัวที่ถาโถมลงมายังความรู้สึกนึกคิดของมารีย์

ประการแรก เธอกลัวว่าเธอหนีไม่พ้นที่จะถูกผู้คนรอบข้างครหานินทาว่าร้ายแน่ ๆ และเธอมีคำถามในใจว่า “แล้วฉันจะบอกแม่ของฉันว่าอย่างไร?

ประการที่สอง กลัวว่าตนเองทำไม่ได้ “ฉันจะเป็นมารดาของพระบุตรของพระเจ้าได้อย่างไร?

ประการที่สาม แน่นอน เธอกลัวที่ต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงผันผวนในชีวิต “เหตุการณ์นี้จะเปลี่ยนชีวิตของฉันในเรื่องอะไรบ้าง ในด้านไหนบ้าง?”

ท่านอาจจะต่อว่ามารีย์ว่า “ทำไมมารีย์ถึงกลัวอะไรมากมายอย่างนั้น?”

แต่พระเจ้าไม่ได้กล่าวโทษ หรือ ต่อว่ามารีย์ แต่ตรงกันข้ามพระเจ้าให้ทูตสวรรค์บอกกับมารีย์ว่า  “เพราะว่าไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่พระเจ้าทรงทำไม่ได้” (ลูกา 1:37 มตฐ.)

จากเรื่องราวของเธอในพระคัมภีร์เราเรียนรู้ว่า มารีย์เป็นคนที่มีความรู้ในพระวจนะของพระเจ้าจากพระคัมภีร์อย่างดี เธอรักษาพระวจนะของพระเจ้าในจิตใจของเธอ เธอจำได้  ในตอนท้ายของเรื่องราวของเธอได้ร้องบทเพลงจากเนื้อหาในพระคัมภีร์เดิมประมาณ 10 ข้อ แสดงให้เห็นว่าเธอเป็นคนที่ใส่ใจในพระวจนะของพระเจ้า แล้วใช้เนื้อหาพระวจนะของพระเจ้าตอนนี้ร้องออกมาเป็นบทเพลงจากกันบึ้งแห่งหัวใจเธอสรรเสริญพระเจ้า  

เมื่อทูตสวรรค์ของพระเจ้ามาปรากฏแก่เธอ มารีย์ได้สำรวจลงในพระวจนะของพระเจ้าที่เธอสะสมไว้ในจิตใจความนึกคิดของเธอ เพื่อใช้ตรวจสอบว่าสิ่งที่ทูตมาบอกนั้นสอดคล้องเป็นจริงกับพระวจนะของพระเจ้าหรือไม่ จนเธอมั่นใจว่า “พระเจ้ารักฉัน พระองค์เลือกฉัน พระเจ้าสถิตอยู่กับฉัน ไม่มีสิ่งใดที่เป็นไปไม่ได้สำหรับพระเจ้า ฉันจะรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ได้ มิใช่เพราะความเข้มแข็งหรือแกร่งกล้าของฉันเอง แต่ด้วยพระเจ้ากำลังของพระเจ้าที่ทำงานในเหตุการณ์ครั้งนี้”

จากนั้น เธอเลือกที่จะเชื่อคำตรัสของพระเจ้าเหนือความกลัวของตน มารีย์กล่าวตอบทูตสวรรค์ว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้า ขอให้เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าตามที่ท่านกล่าวเถิด” (ลูกา 1:38 อมธ.)

ความเป็นปราชญ์ของมารีย์อยู่ที่เธอยอมตนให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า เธอเป็นเหมือนกษัตริย์ดาวิด ที่ได้กล่าวไว้ว่า “ข้าแต่พระเจ้าของข้าพระองค์ ข้าพระองค์ปรารถนาจะทำตามพระประสงค์ของพระองค์” (สดุดี 40:8 อมธ.)

คนที่เป็นปราชญ์จะกล่าวว่า “ไม่ว่าพระเจ้าประสงค์สิ่งใดในชีวิตของฉัน ฉันพร้อมที่จะเป็นไปตามพระประสงค์นั้น แม้ว่าฉันจะยังไม่เข้าใจว่าทำไมพระเจ้าถึงต้องการเช่นนั้นก็ตาม แต่ฉันจะทำตามพระประสงค์ของพระองค์”

พระคัมภีร์ได้กล่าวไว้ว่า “ส่วนมารีย์เก็บเรื่องทั้งหมดนี้ใคร่ครวญอยู่ในใจ” (ลูกา 2:19 อมธ.)

พระเจ้าทรงอวยพระพรมารีย์เพราะเธอเลือกที่จะเชื่อในพระวจนะของพระเจ้าแทนที่จะกลัว พระเจ้าประสงค์ให้เรามีชีวิตอย่างมารีย์

แม้ว่า คริสต์มาสปีนี้สถานการณ์แวดล้อมเต็มไปด้วยความสั่นคลอนหวั่นไหวมากกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา แต่พระเจ้าต้องการให้ท่านกอปรด้วยสติปัญญา ด้วยการเชื่อในสัจจะความจริงในพระวจนะของพระองค์มากกว่าความกลัวลานที่ฟุ้งพล่านในตัวเรา

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499




21 ธันวาคม 2563

ใครขโมย “คริสต์มาส” ของเราไปหรือเปล่า?

ในช่วงเวลาของการเฉลิมฉลองคริสต์มาสเราหวนคิดถึงคำประกาศของทูตสวรรค์แก่คนเลี้ยงแกะที่ตกใจกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดว่า

“...อย่ากลัวเลย เพราะเรานำข่าวดีมายังพวกท่าน เป็นความยินดีอย่างยิ่งที่จะมาถึงคนทั้งหลาย เพราะว่าในวันนี้ พระผู้ช่วยให้รอดของพวกท่านคือพระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้ามาประสูติที่เมืองของดาวิด” (ลูกา 2:10-11 สมช.) 

ในช่วงเวลาคริสต์มาสเป็นช่วงเวลาแห่ง “ข่าวดี...เป็นความยินดีอย่างยิ่ง” สำหรับคนทั้งหลาย และนายแพทย์ลูกาได้บันทึกไว้ด้วยว่า เมื่อคนเลี้ยงแกะทำตามที่ทูตสวรรค์บอกเขาก็พบตามข่าวดีที่ทูตสวรรค์แจ้งนั้น “บรรดาคนเลี้ยงแกะจึงกลับไป ถวายพระเกียรติและสรรเสริญพระเจ้า สำหรับเหตุการณ์ทุกอย่างที่เขาได้ยินและได้เห็นดังที่กล่าวไว้กับพวกเขาแล้ว” (ข้อ 20 มตฐ.)

ในช่วงเวลาคริสต์มาสเป็นช่วงเวลาที่เราเต็มไปด้วยความชื่นชมยินดี ประหลาดอัศจรรย์ใจ และ เป็นช่วงเวลาที่ชีวิตของเราถวายพระเกียรติ และ สรรเสริญพระเจ้าหรือไม่?

หรือ ในช่วงเวลาคริสต์มาส สิ่งดีดีที่ควรจะเกิดขึ้นตามคำประกาศของเหล่าทูตสวรรค์ถูกขโมย ฉกฉวย  ถูกลบล้างทำลายหมดสิ้นไปจากชีวิตของเราในช่วงเวลานี้ แล้วทิ้งไว้แต่ความเหนื่อยล้าหมดแรง ความผิดหวัง ขัดแย้ง ทุกข์ทน  โดดเดี่ยว สูญเสีย? แล้วใครคือตัวร้ายตัวการที่มาขโมย ฉกฉวยเอา “ความชื่นชมยินดีอย่างยิ่ง” จิตใจที่ชื่นชมยินดีถวายเกียรติแด่พระเจ้า” และ “ชีวิตที่สรรเสริญพระเจ้า” ไปจากชีวิตของเรา? แล้วเราจะกอบกู้ เอาสิ่งดีดีเหล่านี้กลับคืนมาในชีวิตคริสต์มาสปีนี้ได้อย่างไร?

วันนี้ขอให้เราสงบใจทบทวน ไตร่ตรอง และใคร่ครวญคำประกาศของทูตสวรรค์ที่ประกาศแก่บรรดาคนเลี้ยงแกะ และ แก่เราในปัจจุบันนี้ที่ว่า “เพราะว่าในวันนี้ พระผู้ช่วยให้รอดของพวกท่านคือพระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้ามาประสูติ...เพื่อท่านทั้งหลาย” นั้นมีความหมายเช่นไรในชีวิตประจำวันของเราแต่ละคน?

1. พระผู้ช่วยให้รอดได้มากอบกู้ท่านจากอดีตที่มืดมิด

ผู้คนมากมายที่ต้องทนทุกข์กับความรู้สึกผิดอย่างรุนแรงต่อสิ่งเลวร้ายที่พวกเขาเคยทำในอดีต อำนาจแห่งความชั่วร้ายได้กระหน่ำซ้ำเติมและกล่าวร้ายพวกเขาให้ได้รับความอับอายและความรู้สึกผิด เราจะไม่ตกเป็นเหยื่อของการกระทำของอำนาจชั่วร้ายดังกล่าวต่อไป เพราะพระโลหิตของพระผู้ช่วยให้รอดที่หลั่งออกบนกางเขนได้ชำระทดแทนความชั่วร้ายที่เราได้กระทำไปในอดีต เมื่อเราสารภาพความบาปผิดของเราต่อพระเจ้าและกลับใจใหม่ เราได้รับการยกโทษบาปผิดจากพระเจ้า ให้เราระลึกถึงคำกล่าวที่องค์พระผู้ช่วยให้รอดกล่าวแก่เปโตรที่ว่า “...อย่าเรียกสิ่งซึ่งพระเจ้าทรงชำระแล้วว่าเป็นมลทิน” (กิจการ 10:15 อมธ.)

2. พระผู้ช่วยให้รอดได้กอบกู้ท่านจากความว่างเปล่าในชีวิตปัจจุบัน

หลายคนในปัจจุบันนี้มีชีวิตแบบ “อยู่รอดไปวัน ๆ หนึ่ง” แต่มิได้มีชีวิตที่มีคุณค่าและความหมายที่แท้จริง  พระเยซูคริสต์มิได้มาเพื่อเติมเต็มความอยากได้ใคร่มีของเรา แต่พระองค์มาเพื่อเติมเต็มคุณค่าและความหมายในชีวิตของเราแต่ละคน และที่สำคัญ พระองค์มีเป้าหมายและแผนการของพระองค์สำหรับชีวิตของเราแต่ละคน

คริสต์มาสปีนี้ให้เรากลับมาหาพระองค์ ยอมตน มอบกายถวายชีวิตทั้งสิ้นแด่พระองค์ พระคริสต์ประสงค์ที่จะนำความชื่นชมยินดีและศานติสุขมาเติมเต็มในชีวิตของเรา ไม่ว่าชีวิตของเราแต่ละคนจะตกอยู่ในสถานการณ์แวดล้อมเช่นใดก็ตาม และพระองค์ยังมีพระประสงค์ที่จะใช้ชีวิตของเราแต่ละคนที่จะทำให้เกิดการสร้างเสริมชีวิตที่เกิดการเปลี่ยนแปลงและเติมเต็มในคนอื่น ๆ รอบข้าง และเป็นการเปลี่ยนแปลงและเติมเต็มที่นิรันดร์ ทำให้ชีวิตของเรามีคุณค่าที่จะมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน แต่ละวันในชีวิตของเราดำเนินไปอย่างน่าตื่นเต้นไปกับองค์พระผู้เป็นเจ้า เป็นวันเวลาที่เราจะสัมผัสกับชีวิตของคนรอบข้างด้วยความรักเมตตาที่เสียสละด้วยความชื่นชมยินดีของพระคริสต์

3. พระผู้ช่วยให้รอดได้กอบกู้ท่านจากอนาคตที่ไร้ความหวัง

ถ้าเราไม่มีพระเจ้า เราก็จะพลาดจากความหวังที่จริงแท้ แต่ไม่มีใครที่จะไปถึงพระบิดาได้ถ้าคน ๆ นั้นยังไม่ได้รับการช่วยกู้จากพระพระเยซูคริสต์ พระผู้ช่วยให้รอด พระคริสต์ได้มาในโลกนี้แล้วและเราสามารถรู้จักกับพระองค์ได้เป็นการส่วนตัว และเรามั่นใจในการสถิตอยู่ของพระองค์ และการทรงจัดเตรียมสำหรับเรา และเราจะอยู่กับพระองค์ตลอดไปแม้หลังความตายแล้วก็ตาม เปาโลกล่าวว่า “สิ่งที่ตาไม่เห็น หูไม่ได้ยิน และสิ่งที่ใจมนุษย์คิดไม่ถึง คือสิ่งที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้สำหรับคนทั้งหลายที่รักพระองค์” (1โครินธ์ 2:9 มตฐ.)

ท่านครับ อย่าให้อำนาจชั่วร้ายตัวเป้งมันขโมยฉกฉวยสิ่งดีดีที่มีค่าและความหมายสำคัญยิ่งในชีวิตไปจากเราแต่ละคน องค์พระผู้ช่วยให้รอดมาบังเกิดในชีวิตของเราแต่ละคนแล้ว จงรับเอาข่าวดีนี้และมีชีวิตที่ชื่นชมยินดีในสัจจะความจริงของวันคริสต์มาส! เพื่อเราแต่ละคนจะได้รับการเติมเต็มสิ่งดีมีค่าและความหมายสำคัญยิ่งในชีวิต และชื่นชมยินดี แล้วให้เราที่จะมีส่วนเติมเต็มสิ่งเหล่านี้แก่ผู้คนรอบข้างเราต่อไป

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499