31 มกราคม 2557

พลังการฟังอย่างใส่ใจ

สถานการณ์เพื่อพิจารณา:

ครั้งหนึ่งเมื่อผมไปนั่งดื่มกาแฟสดในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง   โต๊ะข้างๆ ที่ผมนั่ง มีพ่อและลูกสาวสนทนากันอยู่   คุณพ่อตั้งหน้าตั้งตาอบรมลูกสาวเรื่องการใช้เงิน  “ลูกใช้เงินมากเกินไป   แต่ลูกไม่สนใจในการเล่าเรียน....”   ลูกสาวรู้สึกเจ็บปวดจากคำสั่งสอนของผู้เป็นพ่อ   เธอต้องการให้พ่อถามเธอบ้างว่า “ลูกมีเป้าหมายอะไร?”   “ลูกต้องการให้ชีวิตลูกเกิดผลอย่างไรบ้าง?   แต่พ่อกลับพูดเสียงดังขึ้นดังขึ้น   จนลูกสาวน้ำตาไหล   เป็นภาพที่ผมไม่สบายใจเอามากๆ   แต่ผมก็เชื่อว่าผู้เป็นพ่อต้องการให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตของลูกสาว   แต่เขาไม่รู้ว่าเขาควรจะทำอย่างไรจึงจะให้ลูกสาวได้รับสิ่งดีๆ ที่เขาต้องการให้

ถ้าผมมีโอกาสถามพ่อคนนี้ว่า เขาต้องการให้อะไรเกิดขึ้นในเหตุการณ์นี้   ผู้เป็นพ่อคงมีคำตอบในทำนองนี้ว่า “ถ้าลูกสาวจะฟังผม  ทุกสิ่งก็จะเกิดผลดีกว่านี้”   และถ้าผมมีโอกาสถามลูกสาวว่า  เธอต้องการให้เหตุการณ์นี้เปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง?   เธอคงจะตอบอย่างไม่ต้องสงสัยว่า “ทำไมพ่อไม่ยอมฟังว่าฉันต้องการอะไร?”

ทั้งสองทำการสื่อสาร   แต่ต่างใช้วิธีการสื่อสารแบบทางเดียว   ไม่มีใครที่จะฟังอย่างใส่ใจเลย

ในยุคปัจจุบันนี้   แต่ละคนมักจะเริ่มต้นสื่อสารสนทนาโดยพูดถึงความคิดความเห็นของตนเอง   เมื่อต้องพูดคุยสื่อสารกับผู้คน   แล้วการสื่อสารก็มักมีสภาพการสื่อสารทางเดียวของคนสองคน   ต่างคนต่างมุ่งเสนอประเด็นของตนให้อีกฝ่ายหนึ่งให้ได้ยิน และ ยอมรับ  

เราทุกคนต้องการให้คนอื่นฟังเราอย่างใส่ใจ

จากเรื่องข้างบนนี้  ผู้เป็นพ่อพยายามที่จะสื่อสารทางเดียวด้วยความคิดความเห็นของตนเพื่อให้ลูกสาวยอมรับเพราะเขาคิดว่าความคิดของตนถูกต้อง   ดังนั้น  จึงตั้งหน้าตั้งตาสื่อสารความคิดของตนโดยมิได้ใส่ใจถึงความคิดความรู้สึกของลูกสาว   ผู้เป็นพ่อได้สูญเสียโอกาสที่จะได้ยินถึงความคิดความเข้าใจและความต้องการของลูกสาว   และอาจจะสูญเสียความสัมพันธ์กับลูกสาวด้วยก็ได้

เราทุกคนต้องการให้คนอื่นได้ยินได้ฟังในสิ่งที่เราพูด เราคิด เราต้องการ   เราปรารถนาที่จะได้รับการยอมรับ   เราต้องการให้คนอื่นรับรู้ถึงความคิด ความต้องการของเรา   เราต้องการให้คนอื่นยอมรับว่าเรามีคุณค่าอย่างที่เราเป็น   ความปรารถนาของมนุษย์เราแต่ละคนนั้นมีพลังอย่างมากในชีวิต   เรารับไม่ได้ที่ใครบางคนไม่ยอมรับเรา  แล้วมาชี้ผิดชี้ถูกหรือวิพากษ์วิจารณ์เรา  

ความจริงที่เราต้องตระหนักเสมอว่า   การที่เราตอบสนองการวิพากษ์วิจารณ์ของใครก็ตามเราตอบสนองต่อท่าทีของคนๆ นั้นที่มีต่อเรา   มิได้ตอบสนองตามเหตุผลหรือข้อมูลความจริงในเรื่องที่เขาวิพากษ์วิจารณ์เรา

ท่านเคยมีประสบการณ์ในทำนองนี้ไหมครับว่า   มีคนหนึ่งมาวิพากษ์วิจารณ์เราในเรื่องหนึ่ง   แต่เราไม่ยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์นั้น    ภายหลังมีอีกคนหนึ่งมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเดียวกันแต่เรากลับยอมรับ   ทำไมเป็นเช่นนี้ครับ?   ที่เป็นเช่นนี้เพราะเราตอบสนองต่อท่าทีของผู้วิพากษ์วิจารณ์   แต่มิใช่ตอบสนองต่อเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์  

หรือเพราะคนแรกไม่ใช่เพื่อนของเรา   แต่คนหลังเป็นเพื่อนสนิทที่เราไว้ใจกัน?

พูดอีกนัยหนึ่งการที่เราสามารถฟังจนได้ยินถึงความคิด ความรู้สึก และความต้องการของคู่สนทนา  ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนที่พูดกับเรา   ถ้าเช่นนั้น   การที่จะพูดจนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตได้นั้นต้องเป็นการพูดในบรรยากาศที่สร้างสรรค์และเสริมหนุนกันและกัน   และจุดเริ่มต้นที่จะพูดอย่างสร้างสรรค์ 

การที่เราฟังอย่างใส่ใจ  ให้ความสนใจ  และความสำคัญในสิ่งที่คู่สนทนากำลังพูดย่อมเป็นการเสริมสร้างให้เกิดความไว้วางใจและความสัมพันธ์ได้ดีและเร็วกว่าการที่จะฟังเพื่อวิเคราะห์เจาะลึกว่าอะไรถูกอะไรผิด  

กล่าวง่ายๆ คือ   ให้เราเลิกฟังแบบ “จับผิด”   แต่ให้เราฟังแบบ “จับถูก”

จากเรื่องข้างบนนี้   ลูกสาวคงไม่สนใจสิ่งที่พ่อของเธอพูดจนกว่าเธอรู้สึกว่าพ่อยอมรับเธออย่างที่เธอเป็น   และการที่พ่อยังดันทุรังวิพากษ์วิจารณ์ลูกสาวทั้งๆ ที่ลูกสาวไม่ยอมรับในตัวของพ่อ   เป็นการเสี่ยงอย่างยิ่งที่พ่อกำลังทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัว เกิดความร้าวฉานฉีกขาด   แม้ที่พ่อทำไปนั้นจะด้วยความหวังดีขนาดไหนก็ตาม

ฟังอย่างใส่ใจ และ ด้วยการยอมรับ เป็นคุณค่าของการสื่อสารสนทนา   เราทุกคนต้องการสื่อสารสนทนากับคนที่ยอมรับและเห็นถึงคุณค่าของเรา   ดังนั้น  การฟังอย่างใส่ใจ  จดจ่อ ย่อมเป็นการสื่อสารที่มีอิทธิพลต่อคู่สนทนาของเรา   เราต้องตระหนักเสมอว่า  การฟังอย่างใส่ใจนั้นเป็นเครื่องมือที่มีพลังอย่างสูงต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตของคู่สนทนา   เพราะการรับฟังด้วยท่าทีแห่งการยอมรับทำให้คู่สนทนาของเราสนใจและใส่ใจในข้อมูลที่สนทนาสื่อสารมากกว่า ท่าทีและความสัมพันธ์กับอีกฝ่ายหนึ่ง

พลังของการฟังอย่างใส่ใจ

ในวงการโค้ช...

การฟังอย่างใส่ใจเป็นทักษะประการแรกของโค้ช   และความสัมพันธ์ของการโค้ชเริ่มต้นที่การฟัง   เพราะด้วยการฟังอย่างใส่ใจเท่านั้นที่ทำให้เรารู้ว่าคู่สนทนาของเราเป็นอย่างไร  และมีความคิด ความรู้สึกอย่างไร   การฟังอย่างใส่ใจช่วยสร้างบรรยากาศเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญยิ่ง

การเป็นโค้ชที่ดีจะต้องพัฒนาทักษะในการฟังอย่างใส่ใจ   หน้าที่ของโค้ชมิใช่การพยายามแสวงหาวิธีการในการแก้ปัญหาของคู่สนทนา   แต่มีหน้าที่ฟังอย่างใส่ใจ   แล้วคู่สนทนาของท่านจะเป็นคนตอบเองว่าจะแก้ปัญหาของเขาอย่างไร   ดังนั้น  การฟังอย่างใส่ใจของโค้ชจึงมิใช่ฟังเพื่อที่จะตอบปัญหาของคู่สนทนา   และก็ไม่ใช่ฟังด้วยการคิดวิเคราะห์ เพื่อที่จะตั้งคำถามอะไรต่อไปที่จะช่วยให้เกิดการแก้ปัญหาของคู่สนทนา  

เราต้องตระหนักชัดว่า  ผู้ที่แก้ปัญหามิใช่โค้ชแต่คือตัวเจ้าของปัญหาเอง!

บ่อยครั้งที่เราอาจจะรู้สึกว่าการฟังเป็นอาการที่นิ่งเฉย (ดูไม่มีพลัง) ไม่ทำให้เกิดการแก้ปัญหา  แต่แท้จริงแล้วการฟังนั้นปี่ยมด้วยพลังที่นำสู่การเปลี่ยนแปลง   อะไรที่ทำให้คนเผชิญหน้ากับปัญหาแล้วถดถอย  สิ้นหวัง  ไม่สู้   มิใช่เขาไม่มีความคิด ความรู้   แต่เขาขาดความมั่นใจในความคิดของตน   หรือไม่สามารถอธิบายปัญหาของเขาออกมาเป็นคำพูดต่างหาก  

ดังนั้น  การที่เราฟังอย่างใส่ใจเป็นการยืนยันและหนุนเสริมเพิ่มพลังให้เขาอธิบายถึงปัญหาและตัวตนของเขาออกมาด้วยความมั่นใจ   เมื่อท่านฟังอย่างใส่ใจท่าทีของท่านกำลังสื่อสารกับคู่สนทนาของท่านว่า   “คุณเป็นคนสำคัญ   และสิ่งที่คุณพูดเป็นเรื่องที่สำคัญ   คุณเป็นคนที่มีคุณค่า  และสิ่งที่คุณพูดนั้นมีคุณค่าที่จะรับฟัง   ผมเชื่อว่าคุณสามารถคิดและหาทางแก้ไขได้   และเมื่อคุณแสดงออกถึงความเชื่อมั่นในความสามารถของคู่สนทนา    คู่สนทนาของคุณเริ่มชื่อมั่นในตนเองด้วย    

เมื่อเราเริ่มสนทนากัน   แล้วมีผู้ที่ฟังเราอย่างใส่ใจ   มีสิ่งอัศจรรย์เกิดขึ้น   เขาคนนั้นฟังเราอย่างอดทน  คำถามที่เขาถามช่วยเราให้กลับมองย้อนสถานการณ์ของเราในมุมมองใหม่ที่เราไม่เคยมอง   เราเริ่มมองเห็นสัจจะความจริงค่อยๆ ชัดเจนขึ้น   กระตุ้นผลักให้เราออกไปจากความคลุมเครือแห่งหมอกควันทางอารมณ์   หรือกระตุ้นผลักให้เราออกจากกรอบคิดเดิมๆ เพื่อสามารถเห็นคำตอบที่ชัดเจนยิ่งขึ้น   การที่เรามีโอกาสพยายามอธิบายความคิดของเราให้กับคู่สนทนาที่ฟังเราอย่างใส่ใจ   มันช่วยให้เราคิดได้ชัดเจนยิ่งขึ้นและเกิดความมั่นใจมากกว่าการที่เรานั่งคิดอยู่เพียงผู้เดียว

สิ่งที่โค้ชจะให้ได้ในการโค้ชนั้นคือ  การที่ทำให้คู่สนทนาของโค้ชสามารถเล่าหรือบอกถึงเรื่องราวปัญหาของเขา   เพื่อเขาจะสามารถค้นพบคำตอบของตนเอง    สิ่งที่โค้ชจะให้ได้อย่างมีคุณค่ามิใช่การที่จะให้คำตอบในการแก้ปัญหา   แต่สิ่งที่มีคุณค่าที่โค้ชควรให้คือ  การให้บรรยากาศที่จะช่วยให้คู่สนทนาสามารถหาพบทางเลือก   ดังนั้น จึงมิได้ขึ้นอยู่กับว่าเรามีความรู้ในเรื่องนั้นมากน้อยแค่ไหน  หรือมีประสบการณ์ในเรื่องนั้นหรือไม่   แต่การที่เราสามารถหนุนเสริมให้เขาคิดและค้นหาจนพบคำตอบและทางเลือกของเขานั่นคือบทบาทหน้าที่ของโค้ชที่สร้างคุณค่าแก่คู่สนทนา

วันนี้ให้เราเป็น “โค้ชชีวิต” ในผู้คนที่เราพบเห็นสัมพันธ์พูดคุยด้วยดีไหมครับ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

เมื่อท่านต้องนำ “หัวหน้า” ของตนเอง

เมื่อเราพูดถึงเรื่องผู้นำ   เรามักคิดถึงคนที่อยู่ “หัวแถว” หรือ “ผู้ทำงานระดับสูง” ขององค์กร   แต่ปัจจุบันนี้เรากำลังให้ความสนใจการเสริมสร้างภาวะผู้นำของผู้ทำงานในระดับหลากหลายในองค์กรของเรา   ผมคิดว่าท่านคงได้อ่านบทความที่พูดถึงผู้นำจากส่วนกลางขององค์กร  กล่าวคือจะต้องเป็นผู้นำทั้งลูกน้องที่อยู่ในระดับรองจากตน   เขามีภาวะผู้นำและอิทธิพลในการทำงานต่อเพื่อนฝูงที่ทำงานในระดับเดียวกับเขา   ยิ่งกว่านั้นเขาจะต้องมีภาวะผู้นำในการทำงานที่มีอิทธิพลต่อหัวหน้าหรือเจ้านายของตนเอง   ซึ่งเป็นผู้ทำงานที่อยู่ระดับสูงกว่าเขา

ผู้ที่จะประสบความสำเร็จในการมีภาวะผู้นำที่มีอิทธิพลในการนำต่อผู้คนในทุกระดับในองค์กร   เขาจะต้องเป็นผู้ที่มีอิทธิพลในความสัมพันธ์กับผู้คนทุกระดับในองค์กร   ไม่ว่าคนทำงานที่อยู่ระดับสูงกว่าตน  ระดับเดียวกับตน  และระดับที่ตนเป็นหัวหน้า   การเป็นผู้นำคือการที่เขาทำงานอย่างมีอิทธิพลต่อเพื่อนร่วมงานทุกระดับในโอกาสต่างๆ   เป็นผู้ที่เสริมสร้างให้เกิดความร่วมไม้ร่วมมือในการขับเคลื่อนให้งานเดินไปอย่างดี   อีกทั้งประสานสัมพันธ์ให้ความเป็นหนึ่งเดียวกัน

การที่ผู้ใดมีความสามารถในการนำเพื่อนร่วมงานระดับเดียวกันนั้นเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการมีคุณภาพในภาวะผู้นำของคนๆ นั้น  แต่ใครก็ตามที่สามารถมีภาวะในการนำคนที่อยู่เหนือเขา   สามารถมีอิทธิพลในภาวการณ์นำทั้งด้านความคิด   การโน้มน้าวจิตใจ   และสามารถนำไปสู่การตัดสินใจของผู้นำระดับสูงกว่าตนต้องนับว่าคนๆ นี้เป็นยอดผู้นำ

ผมได้เรียนรู้ว่า   เราจะไม่สามารถที่จะก้าวสู่ภาวะผู้นำระดับสูงได้เลยถ้าเราไม่เห็นความสำคัญที่จะมีภาวะผู้นำในการนำเพื่อนร่วมงานระดับเดียวกัน   กับคนที่ทำงานที่อยู่ระดับเหนือตนเอง   แล้วเราจะเสริมสร้างภาวะของการเป็นผู้นำที่มีอิทธิพลต่อเพื่อนร่วมงานระดับเดียวกัน   และผู้นำที่อยู่ระดับสูงกว่าเราได้อย่างไร?

ถ้าต้องการประสบความสำเร็จในการนำเพื่อนร่วมงานในระดับเดียวกัน และ ผู้นำในระดับที่สูงกว่าเราสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงให้ได้คือ   ทำอย่างไรที่ไม่เป็นการสร้างการ “แข่งหรือเขี่ย”   “เบียดหรือบัง” ความคิดของเพื่อนร่วมงาน  

ตรงกันข้ามหาทางที่จะหนุนเสริมความคิดของเพื่อนร่วมงานให้เด่นดังชัดเจนยิ่งขึ้น   เราต้องเป็นผู้ที่สามารถสร้างความชัดเจนให้กับความคิดของเพื่อนร่วมงาน   แล้วหนุนเสริมให้ความคิดนั้นนำไปสู่การกระทำของกลุ่มที่มุ่งสู่ความสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย  

ประสบการณ์สอนผมว่า  การที่มัวเสนอความคิดแข่งเพื่อเขี่ยความคิดของเพื่อนร่วมงานให้ตกไป  หรือ เบียดแล้วบังความคิดของเพื่อนร่วมงานเพื่อให้ความคิดของตนเองเด่นขึ้นนั้น  สร้างแต่ผลเสียกับเสียแก่ภาวะผู้นำของเราทั้งนั้น    ผู้คนรอบข้างจะเห็นภาวะผู้นำของเรามีพลังอิทธิพลที่เด่นชัดขึ้น   เมื่อเราเล่นบทบาทภาวะผู้นำที่หนุนเสริมเพิ่มพลังแก่เพื่อนร่วมงาน

ประการต่อมาให้เราขยายวงความสัมพันธ์ของเราให้กว้างไกลขึ้น   ผู้นำที่จะมีอิทธิพลในการนำที่ขยายวงกว้างขึ้นเมื่อเขาเปิดตัวพบปะสัมพันธ์กับผู้คนใหม่ๆ   ผู้นำที่มีอิทธิพลในวงการทำงานจะเชื่อมสัมพันธ์เครือข่ายงานต่างๆ แล้วเชื่อมโยงกับเพื่อนร่วมงานในองค์กรของตน   เชื่อมโยงเครือข่ายทางความคิดให้หลากหลาย   หาทางแนะนำเพื่อนร่วมงานของท่านกับเครือข่ายงานที่ท่านมีความสัมพันธ์ด้วย   แล้วหาทางให้เพื่อนร่วมงานได้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ท่านมีกับเครือข่ายที่อยู่นอกองค์กรเหล่านี้เมื่อมีโอกาสเหมาะสม

ผู้ที่มีภาวะผู้นำที่มีอิทธิพลต่อเพื่อนร่วมงานระดับต่างๆ นั้นมุ่งเน้นที่จะให้เพื่อนร่วมงานได้รับการยอมรับ ยกย่อง และได้รับชื่อเสียงจากความคิดที่เขาเสนอ   ผู้นั้นเป็นผู้นำที่กระตุ้นหนุนเสริมและเปิดโอกาสให้คนในทีมงานได้แสดงความคิดเห็น   แล้วตนเองมักแสดงความคิดเห็นภายหลัง   เพื่อหลีกเลี่ยงการช่วงชิงการสรุปความคิดของผู้อื่นให้เป็นข้อเสนอของตนเอง   แต่กลับพยายามชี้ความคิดเด่นๆ ของแต่ละคนแล้วทำหน้าที่เชื่อมโยงให้เป็นระบบคิดที่น่าสนใจเพื่อให้เป็นความคิดร่วมของเพื่อนร่วมงานที่เสนอความคิดเห็นส่วนต่างๆ ของระบบคิด   ให้คนกลุ่มนี้ได้รับ “เครดิต”  จากความคิดที่พวกเขานำเสนอ

สิ่งที่ท้าทายในกระบวนการนี้ท่านสามารถใช้นำแม้แต่ผู้นำที่อยู่ระดับเหนือท่านได้   ผู้คนร่วมงานยอมรับการนำของท่านเพราะท่านน้อมรับ สนใจ และให้คุณค่าภาวะนำทางความคิดของพวกเขา   แล้วยังช่วยเชื่อมโยงความคิดของเขาเหล่านั้นให้เป็นระบบคิดที่เด่นชัดยิ่งขึ้น   และนี่เองที่พวกเขายอมรับภาวการณ์นำของท่าน

แม้แต่เจ้านายของท่านเองด้วย  
พวกเขามีความเต็มใจให้การยอมรับนับถือในภาวะผู้นำของท่าน
ทุกวันนี้  การนำจากภาวะผู้นำระดับกลางในองค์กรของท่านเป็นอย่างไรบ้างครับ?
อย่างนี้ใครๆ ก็มีภาวะผู้นำได้ทั้งนั้น   ไม่มีตำแหน่งก็มีภาวะผู้นำได้   รวมทั้งท่านและผมด้วยครับ!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

27 มกราคม 2557

ผู้นำที่หนุนเสริมเพิ่มคุณค่าคนรอบข้าง

มงกุฎ และ ไม้ธารพระกรหรือคทา   ราชบัลลังก์และพระมหาราชวัง   อำนาจการปกครองและความมั่งคั่งร่ำรวย   คำพวกนี้เป็นคำใช้กับราชบัลลังก์ในยุคกลาง

ชื่อเสียงเกียรติยศ และ พิธีรีตอง   ความโอ่อ่าสง่างามและลีลารูปแบบ   เป็นที่นิยมชมชอบของประชาชนและช่างภาพข่าวสังคม   คำพวกนี้เราใช้กับเจ้านายที่ทันสมัย

รุ่งริ่งพะรุงพะรังและคนเลี้ยงแกะ   คอกสัตว์และรางหญ้า   ความถ่อมตนและการเป็นคนรับใช้   คำพวกนี้เราใช้ในเทศกาลเฉลิมฉลองการบังเกิดของกษัตริย์องค์ใหม่ในเทศกาลคริสต์มาส

พระเยซูคริสต์แห่งนาซาเร็ธมิได้มีชีวิตอยู่เพื่อรับการปรนนิบัติ  แต่พระองค์เกิดมาเพื่อรับใช้คนอื่น   พระองค์ประทานชีวิตของพระองค์เพื่อคนอื่น   แบบอย่างชีวิตที่ธรรมดาเรียบง่ายของพระองค์ได้สื่อสารถึงสัจจะความจริงที่ลุ่มลึกกินใจที่ว่า  

“ความเป็นผู้นำมิได้วัดกันที่ว่าคนๆ นั้นก้าวหน้าไปแค่ไหน   แต่อยู่ที่ว่าคนๆ นั้นช่วยให้คนอื่นมีชีวิตที่ก้าวหน้าแค่ไหนต่างหาก”
เราจะหนุนเสริมเพิ่มคุณค่าแก่ผู้อื่นอย่างไร?

1)    เราเพิ่มคุณค่าแก่ผู้อื่นเมื่อเราให้คุณค่าแก่ผู้อื่นอย่างจริงใจ

ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นผู้นำในระดับไหนก็ตาม   ผู้นำที่หนุนเสริมเพิ่มคุณค่าแก่ผู้อื่นเป็นคนที่เชื่อวางใจในคนที่ตนเองนำ  ก่อนที่เพื่อนร่วมงานจะเชื่อวางใจในตัวผู้นำเสียอีก    เขาเป็นผู้นำที่รับใช้ลูกน้องมากกว่าการเป็นผู้นำที่รอรับการรับใช้บริการจากลูกน้อง   สาวกของพระเยซูคริสต์ติดตามพระองค์ก่อนพวกเขาจะเชื่อว่าพระองค์เป็นพระเมสสิยาห์  ทำไมหรือ?   เพราะพระเยซูคริสต์ได้เห็นและเชื่อมั่นในศักยภาพของสาวกแต่ละคนก่อน   และเชื่อในความสามารถที่สาวกจะมีชีวิตที่มีพลังต่อคนอื่นๆ ได้

2)    เราเพิ่มคุณค่าแก่ผู้อื่นเมื่อเราทำตัวเองให้เป็นคุณค่าแก่คนอื่น

หลักฐานเอกสารในประวัติศาสตร์ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตและกิจการงานของพระเยซูมากสักเท่าใดนักในช่วงที่พระองค์เป็นวัยรุ่น หรือ ช่วงอายุ 20 ปี   เพียงแต่บอกว่า  “พระ​เยซู​เจริญ​ขึ้น​ใน​ด้าน​สติ​ปัญ​ญา​และ​ด้าน​ร่าง​กาย เป็น​ที่​ชอบ​ต่อ​พระ​พักตร์​พระ​เจ้า​และ​ต่อ​หน้า​คน​ทั้ง​หลาย​ด้วย” (ลูกา 2:52 มตฐ.)   การที่จะหนุนเสริมเพิ่มคุณค่าแก่ผู้อื่นขึ้นอยู่กับความคิดที่ว่า  คนๆ นั้นมีคุณค่าในตนเองในเรื่องนั้นๆ จึงจะหนุนเสริมและเพิ่มคุณค่าให้แก่คนอื่นได้   เราไม่สามารถหนุนเสริมเพิ่มคุณค่าแก่คนอื่นได้  ถ้าตัวเราเองยังไม่มีคุณค่าประการดังกล่าว   การเติบโตขึ้นและมีพลังในคุณค่าด้านนั้นๆ จะนำหน้าคนนั้นและมีอิทธิพลต่อชีวิตคนรอบข้าง

3)    เราเพิ่มคุณค่าแก่ผู้อื่นเมื่อรู้ถึง และ ตอบสนองต่อความจำเป็นต้องการของผู้อื่น

ในฐานะผู้นำ  เป็นการอันตรายอย่างยิ่งที่ผู้นำจะสร้างความพอใจและให้คนอื่นนิยมตนเองด้วยสิ่งที่ผู้คน “อยากได้ใคร่มี” (หรือที่เราเรียกว่า “ประชานิยม” ในปัจจุบัน)   เราจำเป็นต้องออกห่างจากการทำตัวเพื่อหาคะแนนเสียงประชานิยม   แต่อย่างไรก็ตามเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องใส่ใจสิ่งที่เป็นความจำเป็นของผู้คน   คือความจำเป็นที่แต่ละคนจะต้องได้รับการยอมรับ  ได้รับเกียรติ   จำเป็นที่ชีวิตการทำงานของเขาจะได้ทำงานอย่างมีคุณค่าในชีวิต   จำเป็นที่ทุกชีวิตจะรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญและคุณค่า   ในฐานะผู้นำเราต้องหนุนช่วยเขาได้พบกับความจำเป็นเหล่านี้ในชีวิต

“มี​การ​ทุ่ม​เถียง​กัน​เกิด​ขึ้น​ท่ามกลาง​พวก​สา​วก​ว่า​ใน​พวก​เขา​ใคร​ยิ่ง​ใหญ่​ที่​สุด    พระ​เยซู​ทรง​หยั่ง​รู้​ความ​คิด​ใน​ใจ​ของ​พวก​เขา จึง​ให้​เด็ก​คน​หนึ่ง​มา​ยืน​อยู่​ข้างๆ พระ​องค์    แล้ว​ตรัส​กับ​พวก​เขา​ว่า ถ้า​ใคร​ยอม​รับ​เด็ก​เล็กๆ คน​นี้​ใน​นาม​ของ​เรา คน​นั้น​ก็​ยอม​รับ​เรา และ​ใคร​ที่​ยอม​รับ​เรา คน​นั้น​ก็​ยอม​รับ​พระ​องค์​ผู้​ทรง​ใช้​เรา​มา เพราะ​คน​ที่​เล็ก​น้อย​ที่​สุด​ใน​พวก​ท่าน​คือ​คน​ที่​ยิ่ง​ใหญ่​ที่​สุด (ลูกา 9:46-48 มตฐ.)

จากพระธรรมตอนนี้   โปรดสังเกตว่าพระเยซูคริสต์ได้เห็นถึงความจำเป็นประการสำคัญที่ต้องแก้ไขของสาวกคือการผยองพองตัวอย่างโง่เขลา   พระองค์เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องช่วยให้สาวกเข้าใจเรื่องการเป็นผู้ยิ่งใหญ่มีอำนาจอย่างถูกต้อง  พระองค์ทรงชี้แนะนำให้สาวกได้รู้และเข้าใจว่า ตนเองจะเป็นคนที่สำคัญยิ่งใหญ่ได้โดยการยอมรับคนที่ถูกมองข้ามและถูกทอดทิ้งละเลย   และมีท่าทีชีวิตที่ถ่อมรับใช้คนอื่น   พระธรรมข้อนี้ที่สร้างแรงบันดาลใจแก่ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King, Jr.)   ภายหลังท่านได้สรุปแก่นสารของพระธรรมตอนนี้ว่า 

“ทุกคนสามารถเป็นผู้ยิ่งใหญ่ได้  เพราะทุกคนสามารถรับใช้ผู้อื่นได้”

บทใคร่ครวญชวนคิด

การให้ชีวิต...เป็นการดำเนินชีวิตในระดับสูงสุด   เมื่อเราใช้ชีวิตของเราเพื่อนคนรอบข้าง   เราสามารถบรรลุความสำเร็จที่เราไม่สามารถซื้อหามาด้วยเงิน หรือ สร้างความพึงพอใจด้วยประชานิยม 
  • ในฐานะที่ท่านเป็นผู้นำในระดับใดก็ตาม   ท่านได้หนุนเสริมเพิ่มคุณค่าแก่ผู้อื่นในทีมงานของท่านอะไรบ้าง?
  • การที่ท่านรับใช้คนอื่นรอบข้างได้เพิ่มเสริมคุณค่าในชีวิตของท่านอย่างไรบ้าง?


ในวันนี้
ท่านจะหนุนเสริมเพิ่มคุณค่าชีวิตแก่ใคร   ในเรื่องอะไร?
ท่านจะทำอย่างไรที่จะเสริมคุณค่าชีวิตของคนๆ นั้น?

ถ้าใครยอมรับเด็กเล็กๆ คนนี้ในนามของเรา คนนั้นก็ยอมรับเรา และใครที่ยอมรับเรา คนนั้นก็ยอมรับพระองค์ผู้ทรงใช้เรามา เพราะคนที่เล็กน้อยที่สุดในพวกท่านคือคนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

ขอพระเจ้าโปรดอวยพระพรท่านในการหนุนเสริมเพิ่มคุณค่าแก่ผู้อื่นในพระนามของพระคริสต์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

24 มกราคม 2557

เมื่อคริสตชนถูกอิทธิพลกระแสสังคมโลกกลืน

พระเยซูคริสต์ชี้ชัดว่า  ให้สาวกของพระองค์ดำรงชีวิตในสังคมโลกนี้   แต่มิให้เป็นคนของสังคมโลกนี้   หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งสาวกของพระคริสต์มิควรอยู่ภายใต้การครอบงำ อิทธิพล หรือ กระแสอำนาจแห่งโลกนี้   นั่นหมายความว่าสาวกของพระองค์มีชีวิตในสังคมโลกนี้ภายใต้พลังอำนาจแห่งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์   และดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ของพระคริสต์ที่มีอิทธิพลกระทบต่อระบบคุณค่าและคุณภาพชีวิตของสังคมโลกนี้

แต่น่าเสียดายที่สาวกของพระเยซูคริสต์ในปัจจุบันส่วนหนึ่งที่กลับเปิดชีวิตรับเอาอิทธิพลกระแสสังคมโลกนี้   และมีชีวิตที่ลู่ไปตามแรงของกระแสสังคมโลกดังกล่าว   มิหนำซ้ำยังพาเอาอิทธิพลของกระแสสังคมโลกเข้ามาแพร่ระบาดแปดเปื้อนในชุมชนคริสตจักร   ขาดการพิจารณาไตร่ตรองอย่างเหมาะสมรอบคอบว่ากระแสสังคมเหล่านั้นสอดคล้องกับหลักคิดหลักเชื่อในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์และพระวจนะของพระเจ้าหรือไม่

คริสตจักรในประเทศไทย  ไปสัมผัสรับเชื้อกระแสสังคมโลกตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อเรื่องประชาธิปไตยว่าเป็นเรื่องที่สอดคล้องเป็นเนื้อเดียวกับความเชื่อศรัทธาในคริสต์ศาสนา   ในขณะที่พระวจนะสอนชัดเจนว่า  ผู้ที่เป็นเอกเป็นใหญ่ในชีวิตและสังคมโลกนี้คือองค์พระผู้เป็นเจ้าแต่องค์เดียว   มิใช่อธิปไตยของประชาชน (ซึ่งเราเห็นภาพนี้และผลที่ได้รับชัดเจนจากเรื่องหอบาเบล)   

เราต้องชัดเจนว่า  ประชาธิปไตยมิใช่คริสต์ศาสนา   และคริสต์ศาสนามิใช่ประชาธิปไตย!

เชื้อร้ายภัยมืดอีกประการหนึ่งที่คริสตจักรได้รับเข้ามาในชุมชนของตนคือ   หลักคิดหลักเชื่อเรื่องเสียงข้างมาก   หรือกระบวนการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมาก   โดยวิธีการของการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากไม่มีอะไรผิด   แต่เมื่อคริสตจักรรับเอาหลักคิดและกระบวนการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากมาใช้ในการทำงานของชุมชนคริสตจักร   และทึกทักอย่างผิดพลาดว่า   “เสียงข้างมาก  คือพระประสงค์ของพระเจ้า”

แต่คริสตชนต้องระมัดระวังอย่างมากว่า  “เสียงของประชาชนไม่ใช่เสียงสวรรค์”!

ยิ่งกว่านั้น   เมื่อคริสตจักรนำเอาระบบการเลือกตั้งแบบพวกนักการเมืองมาใช้ในคริสต์ศาสนจักรไทย   เพื่อเลือกหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงขององค์กรคริสต์ศาสนา   และมีผู้ใหญ่หลายคนในคริสตจักรที่ทึกทักเอาว่า   การที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กรคริสตจักรคนใดได้คะแนนมากสุด   คนนั้นเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงเรียกและทรงเลือก

นี่เป็นหลุมพรางทางความเชื่อศรัทธาขององค์กรคริสตจักร  เพราะ การเลือกตั้งไม่ใช่การทรงเรียก!

บ่อยครั้ง   มักมีคนพูดว่า   พระเจ้าทรงเรียกคนที่จะมาเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กรคริสต์ศาสนาผ่านการเลือกตั้ง   น่าฉงน สนเท่ห์  และ  น่าสงสัยอย่างยิ่งครับ   อย่าไปจำกัดวิธีการกระทำพระราชกิจของพระเจ้าให้คับแคบลงถึงขนาดนี้เลยครับ   หรือพูดภาษาชาวบ้านคือ อย่าไปผูกพระบาทมัดพระหัตถ์(มัดตีนมัดมือ)ของพระเจ้าเลย!    พระองค์ย่อมมีพระปัญญา   มีวิธีการที่พระองค์เลือกกระทำเองได้ครับ

อีกประการหนึ่ง   การใช้ระบบการเมืองแบบการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมาก   ซึ่งเป็นการแข่งขันเอาแพ้เอาชนะกัน   เกิดการแบ่งข่ายแบ่งค่าย  แบ่งพวกแบ่งฝ่าย   และพูดตรงๆ เถิดครับ   คนที่ลงแข่งขันต่างอยากได้อยากเป็นกันทั้งสิ้น   ถึงขนาดมีทีมวางแผนเป็น “กุนซือ” การเลือกตั้ง   ที่แย่กว่านั้นมีหัวคะแนนด้วยครับ   และที่เลวกว่านั้น   ไปลอกเลียนการหาเสียงด้วยนโยบายประชานิยมเข้าล่อครับ   อะไรจะเป็นถึงปานนั้น   แต่ที่แย่ที่สุดคือนำการแตกแยกที่ตามเข้ามาสู่ชุมชนคริสตจักร  แล้วต้องมาคิดการปรองดองแบบการเมืองไทยภายหลัง?

แล้วอย่างนี้จะมาอ้างและทึกทักเอาว่าพระเจ้าทรงเรียกได้หรือครับ?

หรือถ้ายังคิดว่านี่เป็นการทรงเรียกจากพระเจ้า   มันเป็นการหลอกตนเองหรือเปล่าครับ?

ประการสุดท้าย   ถ้าเราพิจารณาในการทรงเรียกและการทรงเลือกจากเรื่องราวในพระคัมภีร์   เราจะพบว่า การทรงเรียกและการทรงเลือกเป็นการตัดสินพระทัยเรียกและเลือกโดยพระเจ้า   พระองค์ไม่ต้องเรียกและเลือกผ่านใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง   แม้พระองค์จะส่งผู้เผยพระวจนะซามูเอลไปเลือกลูกของเจสซีให้เป็นกษัตริย์   พระเจ้ายังปฏิเสธคนที่ผู้เผยพระวจนะเลือกเพราะผู้เผยพระวจนะเห็นเพียงความสูงสง่า   แต่พระเจ้าทรงเลือกดาวิดเด็กเลี้ยงแกะ   พระองค์เลือกด้วยพระองค์เองครับ

ประการท้ายสุด   เมื่อพระเจ้าทรงเรียกใคร   พระองค์บอกพระประสงค์อย่างชัดเจนว่าพระองค์ทรงเรียกให้ไปทำอะไรเพื่อให้เกิดอะไรขึ้น เช่น   พระเจ้าทรงเรียกทรงเรียกอับราฮัม   ให้ออกจากบ้านเกิดเมืองนอนของตน   ไปยังแผ่นดินที่ที่พระองค์จะประทานให้   เพื่ออับราฮัมจะได้นำเอาพระพรของพระเจ้าไปยังบรรดาประชาชาติ

พระเจ้าทรงเรียกโมเสส   ให้กลับไปยังประเทศอียิปต์  เผชิญหน้ากับฟาโรห์  เพื่อปลดปล่อยชนชาติอิสราเอลให้หลุดรอดออกจากการเป็นแรงงานทาสในประเทศนั้น   และพาพวกอิสราเอลไปยังแผ่นดินแห่งพระสัญญา

พระเจ้าทรงเรียกเยเรมีย์ให้เป็นผู้เผยพระวจนะเมื่อประเทศยูดาห์กำลังตกอยู่ในวิกฤติอันตราย  พระราชกิจที่ทรงมอบหมายให้เยเรมีย์ทำคือ  “...ให้​ถอน​ราก​และ​ให้​รื้อ​ลง   ให้​ทำ​ลาย​และ​ให้​ล้ม​ล้าง   ให้​สร้าง​และ​ให้​ปลูก” (เยเรมีย์ 1:10 มตฐ.)

พระเยซูคริสต์ชี้ชัดว่า   พระเจ้าทรงเรียกและแต่งตั้งให้พระองค์  กระทำสิ่งเหล่านี้คือ 

พระวิญญาณ​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้าสถิต​กับ​ข้าพเจ้า
เพราะ​ว่า​พระ​องค์​ทรง​เจิม​ตั้ง​ข้าพเจ้า​ไว้
เพื่อ​นำ​ข่าว​ดี​มา​ยัง​คน​ยาก​จน
พระ​องค์​ทรง​ใช้​ข้าพเจ้ามา​ประกาศอิสรภาพแก่​พวก​เชลย
ประกาศแก่​คน​ตา​บอด​ว่า​จะ​ได้​เห็น​อีก
ปล่อย​ผู้​ถูก​บีบ​บัง​คับ​ให้​เป็น​อิสระ 
และ​ประกาศ​ปี​แห่ง​ความ​โปรด​ปราน​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า   (ลูกา 4:18-19)

บนถนนไปเมืองดามัสกัส   พระเยซูคริสต์ทรงเรียกเปาโล   ผู้มุ่งล้างทำลายสาวกของพระคริสต์   แต่ด้วยแสงสว่างจ้าจนเปาโลตาบอด   แล้วพระเยซูคริสต์ทรงเรียกให้อานาเนียไปวางมือเพื่อเปาโลจะเห็นได้อีก  เพื่อพระองค์จะทรงใช้เขานำ​นาม​ของ​พระองค์​ไป​ถึง​บรรดาคน​ต่าง​ชาติ​และ​บรรดา​กษัตริย์ และ​ไป​ถึง​พวก​อิส​รา​เอล (กิจการ 9:15 มตฐ.)

ในปัจจุบันนี้ถ้าใครจะบอกว่า  พระเจ้าทรงเรียก   ต้องบอกได้ชัดว่า  พระเจ้าทรงเรียกให้มาทำอะไร?   ถ้าพระเจ้าทรงเรียกใครก็ตามให้เป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กรคริสตจักร   คนๆ นั้นต้องบอกได้ว่า  พระเจ้าทรงเรียกให้มาทำอะไรในช่วงที่ตนดำรงตำแหน่งนั้น   และพระองค์ต้องการให้เกิดอะไรขึ้น?   

ถ้าบอกไม่ได้   จะรับตำแหน่งนั้นไปทำไมครับ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

22 มกราคม 2557

งานอาชีพ...ต้องรับผิดชอบมากกว่าที่คิด?

อ่าน อพยพ บทที่ 33

... พระองค์ตรัสกับข้าพระองค์(โมเสส)ว่า  “จงนำประชากรเหล่านี้ไป”  
“แต่พระองค์ยังไม่ได้บอกเลยว่า  จะทรงส่งผู้ใดไปกับข้าพระองค์”
(แล้ว)พระองค์ตรัสว่า “เรารู้จักชื่อของเจ้า  และเจ้าเป็นที่โปรดปรานของเรา”
(โมเสสทูลว่า)  “หากพระองค์ทรงพอพระทัยข้าพระองค์  ขอสอนทางของพระองค์   เพื่อข้าพระองค์จะรู้จักพระองค์  และเป็นที่โปรดปรานของพระองค์สืบไป   นอกจากนี้ขอทรงระลึกว่า  ชนชาตินี้เป็นประชากรของพระองค์”
องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสตอบว่า  “เราเองจะไปกับเจ้าและให้เจ้าได้หยุดพัก”
โมเสสจึงกราบทูลว่า  “หากพระองค์ไม่ได้เสด็จไปกับข้าพระองค์ทั้งหลาย  ก็อย่าให้ข้าพระองค์ทั้งหลายเคลื่อนไปจากที่นี่เลย   หากพระองค์ไม่ได้เสด็จไปด้วย   ใครเล่าจะทราบได้ว่าข้าพระองค์และประชากรของพระองค์เป็นที่โปรดปรานและแตกต่างจากประชากรอื่นใดบนแผ่นดินโลก?”  
(อพยพ 33:12-15 อมต.)

เมื่อเราตอบตกลงเข้าทำงานไม่ว่าในสถาบัน หน่วยงาน  บริษัท หรือองค์กรใด   เราก็เป็นลูกจ้างในที่แห่งนั้น   การตอบรับเข้าทำงานในองค์กรแห่งนั้นๆ   บ่งบอกถึงหลายประการด้วยกัน  เช่น  องค์กรอนุญาตให้เราเข้าไปในที่ทำงานขององค์กร   เรามีชั่วโมงในการทำงาน   เราจะได้รับค่าจ้างตามสัญญา   เราต้องทำงานร่วมกับคนงานอื่นๆ ในองค์กรนั้น   เราจะทำงานเต็มประสิทธิภาพในภาระการงานที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบ   จริงๆ แล้วการตอบรับเข้าทำงานในองค์กรแห่งหนึ่งมีงาน ความรับผิดชอบมากกว่าที่มีในสัญญาว่าจ้างจะเป็นเอกสารหรือด้วยวาจาก็ตาม   แต่ที่เราตอบรับเข้าทำงานในองค์กรแห่งนั้น  เป็นการตอบรับตามกิจการงานความรับผิดชอบที่เราเข้าใจ

แต่เราจะทำอย่างไร   เมื่องานความรับผิดชอบของเรามีมากกว่าที่เราเข้าใจ หรือ มากกว่าที่ตกลงหรือสัญญากัน?   หรือเรารู้สึกว่าเราตกหลุมพรางสัญญาจ้างงาน   จนบางครั้งบางคนรู้สึกว่าตนถูกนายจ้างหลอก   หรือ เอาเปรียบ   ถึงขนาดที่รู้สึกว่าตนตัดสินใจผิดที่รับจ้างทำงานในองค์กรแห่งนี้

โมเสสยอมรับงานที่พระเจ้าทรงเรียกแม้ว่าจะไม่ค่อยเต็มใจนักก็ตาม   ให้นำประชากรของพระองค์ออกจากการตกเป็นทาสในประเทศอียิปต์เพื่อมุ่งไปสู่แผ่นดินแห่งพระสัญญาที่พระเจ้าทรงมีต่ออับราฮัม  อิสอัค และยาโคบ   ในการนี้โมเสสยอมรับภาระความรับผิดชอบที่จะเผชิญหน้ากับฟาโรห์   แล้วนำชนชาติอิสราเอลไปสู่แผ่นดินที่อุดมมั่งคั่งแห่งคำสัญญา   เป็นตัวแทนของพระเจ้า   และเป็นกระบอกเสียงของพระเจ้าผ่านทางอาโรน

โมเสสเกิดความรู้สึกว่าตนตกลงในกับดัก  หรือ  รู้สึกถูกขัดขวาง   ซึ่งไม่มีรายละเอียดในการทรงเรียก   เขาถูกทับถมจู่โจมจากการเรียกร้องต้องการของประชากรอิสราเอลอย่างไม่รู้จักจบสิ้น    จนโมเสสต้องทูลถามพระเจ้าตรงๆ ว่า   ทำไมพระเจ้าถึงทรงเรียกให้เขาต้องมาทำงานกับประชากรพวกนี้ที่แข็งคอและแข็งข้อ   เป็นประชากรที่ดื้อรั้นเอาแต่ใจตนเอง  และนี่คือตัวสร้างความเครียดไม่รู้จักหยุดจักหย่อน  อีกอย่างหนึ่งการที่ต้องมาเดินวนเวียนด้วยความยากลำบากในถิ่นทุรกันดารที่อันตรายและยากลำบากก็ไม่มีรายละเอียดในการทรงเรียกของพระเจ้า   โมเสสรู้สึกว่าตนเองตกเป็นจำเลยของประชากรอิสราเอล   แต่พระเจ้ากลับกลายเป็นพระเอกเพราะพระองค์กอรปด้วยความรักเมตตาและการยกโทษ

เมื่อโมเสสต้องตกอยู่ในสภาวะอารมณ์ส่วนตัว และ สภาพแวดล้อมชุมชนอิสราเอลเช่นนี้   โมเสสเข้าไปอยู่ต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้า   โมเสสรู้แน่ชัดว่าตนมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับพระเจ้า  เพราะพระองค์ยืนยันกับโมเสสว่า “เรารู้จักชื่อของเจ้า” และ “โมเสสเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า”   ในสถานการณ์เช่นนี้สิ่งที่โมเสสทูลขอจากพระเจ้าคือ  “หากพระองค์ทรงพอพระทัยข้าพระองค์  ขอทรงสอนทางของพระองค์   เพื่อข้าพระองค์จะรู้จักพระองค์   และเป็นที่โปรดปรานของพระองค์สืบไป   นอกจากนี้  ขอทรงระลึกว่าชนชาตินี้เป็นประชากรของพระองค์” (ข้อ 13)  

ในภาวะวิกฤติของการทำงานการทรงเรียกของพระเจ้า   โมเสสทูลขอให้พระเจ้าสอนถึงวิถีทางและวิธีการของพระองค์ที่ตนควรจะต้องกระทำ   เพื่อที่ตนจะสามารถทำการทำงานที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้สำเร็จตามพระประสงค์ของพระองค์   สำหรับโมเสสแล้วคือการที่เขาสามารถที่จะนำประชากรของพระเจ้าที่พระองค์ทรงเรียก

พระเจ้าทรงสัญญาว่า   พระองค์จะขับเคลื่อนไปในภาวะวิกฤติกับโมเสส และ ประชาชาติอิสราเอล สำหรับโมเสสเขาเห็นว่า   การที่พระเจ้าสอนวิถีและวิธีของพระองค์   เพื่อตนและชนชาติอิสราเอลจะได้ทำตามสิ่งที่พระองค์ทรงสอน   ทำให้ประชาชาติทั้งหลายตระหนักว่า   ชนชาติอิสราเอลเป็นประชากรของพระเจ้า   และนี่คือสิ่งที่บ่งชี้ว่าอิสราเอลเป็นชนชาติที่แตกต่างจากประชากรอื่นๆ บนพื้นโลกนี้ (ข้อ 15 อมต.)

การประกอบอาชีพและการทำงานของเราในวันนี้   เมื่อเราถูกทับถม จู่โจมจากสถานการณ์แวดล้อม   จนทำให้เรารู้สึกท้อแท้และท้อถอย   จนอยากจะลาออกจากงานนี้วันละหลายครั้ง   ให้เราทำอย่างโมเสส   ร้องทูลต่อพระเจ้า   เพื่อเป็นการทบทวนย้ำเตือนถึงความสัมพันธ์ที่สนิทใกล้ชิดที่พระองค์ทรงมีต่อเรา   เพราะ “พระองค์รู้จักชื่อของเรา”   ให้เราทูลขอพระเจ้า “ทรงสอนทางของพระองค์” ท่ามกลางวิกฤตินี้แก่เรา   เพื่อเราจะรู้ว่า  พระองค์มีวิถีทางและวิธีการเช่นไรสำหรับเราที่จะรับมือกับวิกฤตินี้   และขอพระเจ้าอยู่กับเรา   การดำเนินชีวิตของเรา  และการทำงานของเราในที่ทำงานและวิกฤตินั้น  

เพื่อผู้คนรอบข้างจะเห็นถึงความแตกต่างของเราจากคนทั่วไป
ใคร่ครวญและทบทวน

  1. ท่านเคยมีประสบการณ์ที่ตกลงสัญญาทำงานแล้ว  เมื่อเข้าไปทำงานจริงกลับพบกับสิ่งติดขัดมากมาย  และมีหลายอย่างที่ไม่ได้ตกลงกัน   ทำให้เกิดความคับข้องใจหรือไม่?
  2. สิ่งที่เกิดความติดขัด คับข้องใจเป็นเรื่องเกี่ยวกับด้านใด   ชั่วโมงการทำงาน   สถานที่ทำงาน  เงินเดือนเงินค่าตอบแทน   เพื่อนร่วมกัน   หรือภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ?
  3. ในสถานการณ์วิกฤติดังกล่าว   ท่านจะทูลขอให้พระเจ้ามาอยู่ด้วยกับท่านในที่ทำงานได้อย่างไร   ที่จะทำให้เกิดความแตกต่างทั้งสถานการณ์แวดล้อม   งานที่ทำความรับผิดชอบ   และความสัมพันธ์ที่ท่านมีต่อคนอื่นๆ ในที่ทำงาน?
  4. อาชีพการงานที่ท่านกำลังทำอยู่ในทุกวันนี้   ท่านรู้สึกว่าเป็นงานที่ได้รับการทรงเรียกจากพระเจ้าให้ทำหรือไม่?

ภาวนาใคร่ครวญ

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า   พระองค์ทรงเรียกโมเสสเช่นใด   พระองค์ก็ทรงเรียกข้าพระองค์ให้ทำในงานที่ข้าพระองค์รับผิดชอบในวันนี้เช่นกัน   ให้ทำงานนี้   ในสถานที่แห่งนี้  และการทำงานกับเพื่อร่วมงานกลุ่มนี้   พระองค์เจ้าข้า   มันเป็นงานที่หนัก และ มีแต่ความเครียด   บ่อยครั้งที่ข้าพระองค์ต้องรับผิดชอบมากกว่าที่ได้ตกลงสัญญากัน   จนบางครั้งข้าพระองค์ต้องการที่จะเดินออกไปจากความรับผิดชอบนี้ 

โปรดช่วยข้าพระองค์ให้สามารถกระทำในสิ่งที่พระองค์ทรงเรียกให้ข้าพระองค์กระทำ   และโปรดเมตตาสอนและฝึกฝนข้าพระองค์ทำในสิ่งที่พระองค์ทรงเรียกให้กระทำ  และสามารถร่วมงานกับเพื่อนร่วมงานกลุ่มนี้   

แต่ถ้างานที่ข้าพระองค์กำลังทำอยู่นี้มิใช่งานที่พระองค์ทรงเรียก   โปรดช่วยให้เกิดความตระหนักชัดและทรงเปิดทางการเปลี่ยนแปลงในงานที่จะต้องกระทำตามการทรงเรียกด้วยพระคุณของพระองค์   และถ้าข้าพระองค์เป็นที่โปรดปรานของพระองค์   โปรดสำแดงวิถีทางและวิธีการของพระองค์ที่ข้าพระองค์จะได้เรียนรู้   และโปรดนำหน้าชีวิตและการงานของข้าพระองค์   อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

20 มกราคม 2557

อย่างงี้จะสรรเสริญพระเจ้าได้อย่างไร?

อ่าน สดุดี บทที่ 89

51ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า 
ข้าพระองค์(ต้อง)ทนคำเยาะเย้ยที่ศัตรูของพระองค์ถากถาง  
เขาได้เหยียดหยามทุกย่างก้าวของผู้ที่พระองค์ทรงเจิมตั้งไว้
 52ขอถวายสรรเสริญแด่องค์พระผู้เป็นเจ้าตลอดนิรันดร!
อา​เมน และ อา​เมน
(สดุดี 89:51-52 อมต.)

เป็นการง่ายที่เราจะสรรเสริญพระเจ้าในวันที่ชีวิตเป็นไปด้วยดี  พอใจ  งดงาม
ขอบพระคุณพระเจ้า  ผมเพิ่งได้รับการเลื่อนตำแหน่ง...
ขอบพระคุณพระเจ้าคุณหมอบอกว่าผลการตรวจสุขภาพอยู่ในสภาพที่ดีปลอดภัย แข็งแรง...
ขอบพระคุณพระเจ้า   ผมได้คะแนน A ในวิชาที่ยากแสนยาก...
ขอบพระคุณพระเจ้า...

แต่ถ้าชีวิตมันไม่ได้เป็นไปด้วยดี  ติดขัด  ทุกข์ยากลำบากล่ะ?
จะขอบพระคุณพระเจ้าได้อย่างไร...  เมื่อรถที่เราต้องใช้ทุกวันต้องซ่อมเป็นเงินมากมาย?
จะขอบพระคุณพระเจ้าได้อย่างไร...   ที่ต้อนรับปีใหม่ด้วยซองขาว... ต้องตกงาน?
จะขอบพระคุณพระเจ้าได้อย่างไร...  เมื่อผลการตรวจสุขภาพบอกว่า...ผมเป็นมะเร็งที่ตับ?
จะขอบพระคุณพระเจ้าได้อย่างไร...  เมื่อผลการสอบวิชาคณิตศาสตร์ตกเป็นครั้งที่ 3?
จะขอบพระคุณพระเจ้าได้อย่างไร...?

พระธรรมสดุดี บทที่ 89 ได้อธิบายถึงการที่เราขอบพระคุณพระเจ้าในภาวะที่ชีวิตตกต่ำยากลำบาก  และบอกให้เราขอบพระคุณพระเจ้าไม่ว่าจะมีสภาวะชีวิตแวดล้อมแบบไหน   ยิ่งกว่านั้นเน้นให้เราขอบพระคุณพระเจ้าเป็นนิตย์ตลอดนิรันดร์   ในข้อที่ 1-2  ผู้ประพันธ์สดุดีบทนี้สรรเสริญพระเจ้าถึงความรักมั่นคงของพระองค์   ยิ่งกว่านั้นในข้อที่ 5 กล่าวว่า  ฟ้าสวรรค์จะยกย่องสรรเสริญการอัศจรรย์ และ ความสัตย์ซื่อของพระองค์   ในข้อ 9   กล่าวถึงการที่พระเจ้าทรงปกครองและควบคุมความเป็นไปในสภาวะแวดล้อมต่างๆ   ผู้ประพันธ์สดุดีบทนี้สรรเสริญถึงความสัตย์ซื่อต่อพระสัญญาที่พระองค์มีต่อราชบัลลังก์ของกษัตริย์ดาวิด   ที่จะดำรงต่อไปไม่สิ้นสุด (ข้อ 19-37)

จากนั้น ผู้ประพันธ์สดุดีบทนี้กล่าวหักมุมว่า   “แต่บัดนี้ พระองค์ทรงทอดทิ้งและปฏิเสธ...ทรงพระพิโรธต่อผู้ที่พระองค์ทรงเจิมไว้... ทรงยกเลิกพันธสัญญา...” (ข้อ 38-39)   จนกระทั่งในข้อที่ 46  ผู้ประพันธ์สดุดีร้องออกมาว่า  “...พระองค์จะซ่อนองค์อยู่นานเท่าใด?  เป็นนิตย์หรือ?...” และในข้อก่อนสุดท้าย   ท่านร้องทูลว่า“ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า  ข้าพระองค์(ต้อง)ทนคำเยาะเย้ยที่ศัตรูของพระองค์ถากถาง   เขาได้เหยียดหยามทุกย่างก้าวของผู้ที่พระองค์ทรงเจิมตั้งไว้” (ข้อ 51 อมต.)

แต่เมื่ออ่านข้อต่อไปต้องแปลกใจ   เป็นน้ำเสียงที่เปลี่ยนไป   ผู้ประพันธ์สดุดี สรุปบทเพลงของตนว่า  “ขอถวายสรรเสริญแด่องค์พระผู้เป็นเจ้าตลอดนิรันดร!   อาเมน และ อาเมน” (ข้อ 52 อมต.)  

อะไรนะ...  จะให้สรรเสริญพระเจ้าที่ยอมให้ประชากรของพระองค์ต้องทนทุกข์ยากลำบาก   แล้วปล่อยให้ศัตรูข่มเหงประชากรของพระองค์อย่างนั้นหรือ?    แล้วพระเจ้าที่ประชากรยกย่องว่ามีความรักมั่นคงไม่ผันแปรหายหน้าไปไหน?   จะให้สรรเสริญพระเจ้าองค์นี้ได้อย่างไร?

แน่นอน   ผู้ประพันธ์สดุดีบทที่ 89 บอกกับเราเช่นนั้น  โดยไม่มีคำอธิบาย   หรือไม่มีคำแก้ตัวใดๆ
ใช่เป็นการลงท้ายบทเพลงสดุดีที่ไม่ได้ให้เหตุผลใดที่จะแก้ไขสิ่งที่ขัดแย้งกันในบทเพลงนี้

ท่ามกลางความว้าวุ่นใจของผู้ประพันธ์เขาใช้เสรีในการทูลแบบตรงไปตรงมากับพระเจ้าจากก้นบึ้งแห่งจิตใจ   ถึงขนาดที่ต่อว่าพระเจ้าว่าพระองค์ทรงทอดทิ้ง และ เลิกพันธสัญญา   แต่เขากลับลงท้ายด้วยการสรรเสริญพระเจ้า และให้สรรเสริญตลอดไปตลอดนิรันดร

สำหรับคริสตชนแล้ว   ท่ามกลางชีวิตที่เจ็บปวด และ ความทุกข์ยากลำบาก ให้เรามีชีวิตที่ยกย่องสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้า   เมื่อท่านไม่สามารถรู้ได้ว่าพระเจ้าจะทรงกระทำเช่นไรในสภาวะชีวิตที่ท่านกำลังเผชิญอยู่   จงสรรเสริญพระเจ้า   และแม้ว่าเรารู้สึกว่าพระเจ้าอยู่ห่างไกลจากชีวิตของเราในตอนนี้ก็ให้เราสรรเสริญพระเจ้า

ที่กล่าวมานี้   ไม่ได้บอกว่าเป็นสิ่งที่เราจะสามารถปฏิบัติได้ง่ายๆ   พูดกันแบบตรงไปตรงว่า   นี่เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ยากสุดๆ  พระธรรมสดุดีในวันนี้ท้าทายเราให้ทำในสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมดา   ที่จะให้เรามีชีวิตที่ยกย่อง เทิดทูน สรรเสริญพระเจ้าในทุกสถานการณ์ชีวิต  และตลอดเวลา   ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นแก่ชีวิตของเราให้เรามีชีวิตที่ยกย่อง สรรเสริญพระเจ้า

ประเด็นสำหรับไตร่ตรองใคร่ครวญ

ในวันนี้  ถ้าท่านต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์ยากลำบาก  และความไม่พอใจในชีวิตที่เป็นอยู่   ท่านจะสามารถมีชีวิตที่ยกย่อง เทิดทูน ให้พระเจ้าทรงเป็นเอกเป็นใหญ่ในชีวิตของท่านได้หรือไม่?   ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?   อะไรที่จะช่วยให้เราสามารถมีชีวิตที่ยกย่อง ให้เกียรติ และสรรเสริญพระเจ้าทั้งๆ ที่ชีวิตของเราตกอยู่ท่ามกลางความทุกข์ยากลำบาก และ ความสับสนหมดแรง?

ใคร่ครวญภาวนา

ข้าแต่พระเจ้าเป็นการไม่ยากเย็นนักที่ข้าพระองค์จะสรรเสริญพระองค์   เมื่อชีวิตเป็นไปด้วยดี   แต่เป็นการยากยิ่งที่จะสรรเสริญพระองค์ในเวลาที่ชีวิตต้องพบกับความทุกข์ยากลำบาก   บ่อยครั้งเหลือเกิน  การนมัสการ การยกย่องสรรเสริญมักขึ้นอยู่กับอารมณ์และสถานการณ์แวดล้อมชีวิตของข้าพระองค์เอง   แทนที่จะมีชีวิตที่ยกย่อง สรรเสริญพระองค์เพราะความรักมั่นคงที่ไม่แปรเปลี่ยนของพระองค์

โปรดเมตตายกโทษข้าพระองค์ ที่มิได้ยกย่องสรรเสริญพระองค์ในทุกสถานการณ์ชีวิต   เพราะความว้าวุ่นสับสนจากอิทธิพลของสถานการณ์ชีวิตที่ประสบพบเจอ   แล้วทำให้สับสนไม่พอใจที่พระองค์ไม่ได้ทำตามใจข้าพระองค์

ในวันนี้ข้าพระองค์ขอมีชีวิตที่ยกย่องสรรเสริญพระองค์  เพราะความรักมั่นคง และ ความสัตย์ซื่อของพระองค์  และเชื่อไว้วางใจในแผนการและเวลาของพระองค์สำหรับข้าพระองค์

ขอให้พระคุณของพระองค์โปรดช่วยข้าพระองค์ที่จะมีชีวิตที่ยกย่องสรรเสริญพระองค์ในทุกเวลา   ยกย่องเทิดทูนพระองค์ในทุกสถานการณ์ชีวิต   อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

17 มกราคม 2557

“...ให้ข้าฯวางดาบปืนลง...”

ตอนหนึ่งในเพลง “ให้ข้าฯเป็นเช่นเชลย”   เพลงไทยนมัสการบทที่ 138  กล่าวไว้ว่า
ให้ข้าเป็นเช่นเชลย   แล้วข้าจะได้เป็นไท
บังคับข้าฯให้วางดาบปืนลง   ข้าฯคงเป็นผู้มีชัย
...

เปาโลเข้าใจเช่นกันว่าพระเจ้าทรงประทาน “เครื่องมือ” ที่เราจะใช้ในการสร้างสันติ   “เครื่องมือ” ที่กล่าวนี้รวมไปถึง พระวจนะของพระเจ้า  การภาวนาอธิษฐาน  สัจจะความจริง   ความชอบธรรม  พระกิตติคุณ   ความเชื่อศรัทธา  ความรัก  ความชื่นชมยินดี  สันติสุข  ความอดทนนาน  การกระทำที่เป็นคุณ   ความเมตตากรุณา   ความดี  ความสัตย์ซื่อ  ความสุภาพอ่อนน้อมถ่อมตน   และการรู้จักการควบคุมตนเอง (เอเฟซัส 6:10-18; กาลาเทีย 5:22-23)

หลายต่อหลายคนกลับมีความรู้สึกว่า  “เครื่องมือ” ที่จะสร้างเสริมสันติเหล่านี้ดูมันอ่อนแอ  ไร้พลัง  คงไม่เป็นประโยชน์และเกิดผลอันใดเมื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาตัวจริงที่เราเผชิญทุกเมื่อเชื่อวัน   แต่เราพึงตระหนักว่า  “เครื่องมือ” เหล่านี้พระเยซูคริสต์ทรงใช้ในการปกป้องโจมตีอำนาจของซาตาน และ เอาชนะอำนาจชั่วแห่งโลกนี้  และรวมถึงองค์พระวิญญาณบริสุทธิ์ที่เป็นพลังในชีวิตของเราที่ช่วยเราในการเผชิญหน้ารับมือกับอำนาจชั่วแห่งโลกนี้ด้วย  (เช่น มัทธิว 4:1-11;  11:28-30; ยอห์น 14:15-17)

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างแก่เราในการผจญกับอำนาจชั่วด้วย “เครื่องมือ” เหล่านี้แทนอาวุธยุทโธปกรณ์แห่งโลกนี้   เพื่อการพลิกฟื้นเสริมสร้างแผ่นดินของพระเจ้า   ในฐานะที่เราเป็นคริสตชนที่มีเป้าหมายตามพระประสงค์ของพระคริสต์ในการนำแผ่นดินของพระเจ้าให้เกิดขึ้นเป็นจริงในโลกนี้   เราก็จะใช้ “เครื่องมือ” ชุดเดียวกันกับพระคริสต์เพื่อเสริมสร้างชุมชนแห่งแผ่นดินของพระเจ้า

เมื่อท่านต้องเผชิญหน้าพบกับความขัดแย้งท่านใช้เครื่องมือชุดไหนในการจัดการกับความขัดแย้งดังกล่าว?

เมื่อเราเป็นคริสตชน  เรากระทำพระราชกิจของพระคริสต์ที่ทรงมอบหมายแก่เราคือเป็นทูตที่เสริมสร้างการคืนดีกับศัตรู   เราจำเป็นที่จะต้องเผชิญหน้ากับศัตรูของเราด้วยการ “ยอมวางอาวุธและเล่ห์เหลี่ยมแห่งโลกนี้”  ไม่ว่าจะเป็นอาวุธแห่งโลกนี้   หรือ วิธีการแบบอำนาจชั่ว   มุ่งแต่ปกป้องเพื่อความปลอดภัยหรือประโยชน์แห่งตนเอง  ด้วยการใช้ความโกรธ  การผยองพองตัว  หรือแม้แต่การนินทาว่าร้ายคนอื่น   แต่พระคริสต์ให้เราใช้  “เครื่องมือ” จากเบื้องบน เช่น ความรักเมตตา  สันติสุข  ความอดทนนาน   ความดี  และการรู้จักบังคับตนเอง

ให้เราใช้เวลาในการใคร่ครวญพระธรรม โรม 12:14-21   ว่า “เครื่องมือ” แห่งการสร้างเสริมการคืนดีและสันติของคริสตชนนั้นมีอะไรบ้าง   แตกต่างจาก “อาวุธ” แห่งโลกนี้อย่างไรบ้าง
14จง​อวย​พร​แก่​คน​ที่​เคี่ยว​เข็ญ​ท่าน จง​อวย​พร อย่า​แช่ง​ด่า​เลย
15 จง​ชื่น​ชม​ยินดี​กับ​ผู้​ที่​มี​ความ​ชื่น​ชม​ยินดี จง​ร้อง​ไห้​กับ​ผู้​ที่​ร้อง​ไห้
16จง​เป็น​น้ำ​หนึ่ง​ใจ​เดียว​กัน อย่า​ใฝ่​สูง แต่​ยอม​สมา​คม​กับ​คน​ต่ำ​ต้อย อย่า​ถือ​ว่า​ตัว​
17อย่า​ทำ​ชั่ว​ตอบ​แทน​ชั่ว​แก่​ใคร​เลย แต่​จง​มุ่ง​ทำ​สิ่ง​ที่​ใครๆ ก็​เห็น​ว่า​ดี
18ถ้า​เป็น​ได้ เท่า​ที่​เรื่อง​ขึ้น​อยู่​กับ​ท่าน จง​อยู่​อย่าง​สงบ​สุข​กับ​ทุก​คน
19นี่แน่ะ ท่าน​ผู้​เป็น​ที่​รัก​ของ​ข้าพเจ้า อย่า​แก้​แค้น แต่​จง​มอบ​การ​นั้น​ไว้ แล้ว​แต่​พระ​เจ้า​จะ​ทรง​ลง​โทษ เพราะ​มี​คำ​เขียน​ไว้​ใน​พระคัมภีร์ว่า องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ตรัส​ว่า การ​แก้​แค้น​เป็น​ของ​เรา เรา​เอง​จะ​ตอบ​แทน” 
20แต่​ว่า ถ้า​ศัตรู​ของ​ท่าน​หิว จง​ให้​อา​หาร​เขา​รับ​ประ​ทาน ถ้า​เขา​กระ​หาย​น้ำ​ก็​จง​ให้​น้ำ​เขา​ดื่ม เพราะ​ว่า​การ​ทำ​เช่น​นั้น จะ​ทำ​ให้​เขา​รู้สึก​ตัว​และ​กลับ​มา​คืน​ดี” 
21 อย่า​ให้​ความ​ชั่ว​ชนะ​เรา​ได้ แต่​จง​ชนะ​ความ​ชั่ว​ด้วย​ความ​ดี (ฉบับมาตรฐาน)

ในการสร้างสันติภาพแบบพระคริสต์   เราคงไม่พยายามสอนการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์แห่งโลกนี้แก่ผู้คนที่ต้องเผชิญหน้ากับความอยุติธรรม   ด้วยคำแก้ตัวว่า เพื่อพวกเขาจะสามารถปกป้องชีวิตของตนเองได้?   และในนามของผู้สร้างสันติแห่งโลกนี้?

อย่าอ้าง “การสร้างสันติภาพ” ในพระนามพระคริสต์   ที่ตกเป็นเครื่องมือของพวก “ธุรกิจสันติภาพ”  และ “มหาอำนาจชั่วแห่งสันติภาพ”

ในการสร้างสันติภาพแบบพระคริสต์  เราเป็นสะพานสร้างการคืนดี   ยอมทอดชีวิตของเราลงเพื่อให้ผู้คนสามารถเดิมข้ามพบปะ  คืนดี  ประสานสัมพันธ์กัน   ในฐานะทูตของพระคริสต์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

16 มกราคม 2557

สหรัฐอเมริกาตัวร้ายภัยคุกคามสันติภาพโลกปี 2013?


องค์กรอิสระในการสำรวจและวิจัยระดับโลก Worldwide Independent Network and Gallup ได้ทำการสำรวจจากประเทศทั่วโลก 68 ชาติ  ตอนท้ายปี 2013  เพื่อสำรวจว่าประเทศใดที่เป็นผู้คุกคามสันติภาพของโลกที่สุด   จากการสำรวจครั้งนี้มีทั้งประเทศที่ต่อต้านอเมริกาและประเทศที่เป็นมิตรกับอเมริกาด้วย   รวมถึงประเทศที่เป็นสมาชิกในกลุ่มนาโต้ด้วยเช่นกัน   โดยตั้งคำถามต่อผู้คนในทั้ง 68 ประเทศว่า  “ท่านคิดว่าประเทศใดที่เป็นตัวอันตรายเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพของโลกที่สุด?”

จากผลการสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้พบว่า 24% เชื่อว่า อเมริกาเป็นตัวอันตรายที่คุกคามสันติภาพของโลก   ปากีสถานมาเป็นอันดับที่สอง 8%  และตามมาติดๆ ด้วยจีน 6%  อัฟกานิสถาน อิหร่าน อิสราเอล และ เกาหลีเหนือ ตามมาเป็นอันดับที่สี่ 5%

คะแนนที่ลงความเห็นว่า อเมริกาคือประเทศตัวการภัยคุกคามสันติภาพของโลกส่วนมากมาจากประเทศในแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ   ซึ่งในพื้นที่กลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเข้าแทรกแซงสถานการณ์ของอเมริกา   มากกว่านั้น ผลการสำรวจแสดงผลว่า   แม้แต่ประเทศที่มีความสัมพันธ์เป็นมิตรกับอเมริกามี 13% ที่ให้ความคิดเห็นว่า อเมริกาเป็นผู้ที่ทำลายสันติภาพที่เป็นอยู่ของโลก

ประเทศแถบลาตินอเมริกามีความรู้สึกในเรื่องนี้ทั้งสองด้าน   แต่ประเทศเปรู บราซิล และ อาร์เจนตินา ต่างฟันธงลงไปว่าอเมริกาเป็นตัวอันตรายที่สุดต่อสันติภาพของโลก

สำหรับอิหร่านมีความเห็นว่าประเทศอิสราเอลเป็นตัวการสำคัญที่ทำลายสันติภาพของโลก  เช่นกัน  โมรอคโค  เลบานอน  และอิรักต่างก็โหวตว่าอิสราเอลเป็นตัวร้ายอันดับที่หนึ่งที่เป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพของโลก

ในการสำรวจครั้งนี้   ผู้สำรวจได้ถามอีกว่า  “ถ้าเราสามารถเข้าไปอยู่ในประเทศใดในโลกนี้ก็ได้   ท่านต้องการเลือกไปอยู่ไปอยู่ในประเทศใด?”   ถึงแม้ว่าความคิดเห็นมองว่าอเมริกาเป็นประเทศที่เป็นภัยคุกคามสันติภาพของโลกมากที่สุดก็ตาม   แต่กลับพบว่า (ถ้าเลือกได้) มีผู้คนเลือกที่จะอยู่ในอเมริกามากที่สุด  แม้ผลของการสำรวจจะมีเพียง 9% ก็ตาม

จากการทำโพลของ AP-NORC Center for Public Affairs Research revealed ถึงการบริหารประเทศของโอบามา   50% ของผู้ตอบการสำรวจคิดว่าระบบการเมืองของอเมริกาจะต้องมีการ “ยกเครื่อง” ขนานใหญ่ทั้งหมด

นอกจากนั้นแล้ว  อเมริกันชน 70% มีความเชื่อว่า  รัฐบาลอเมริกัน ขาดความสามารถที่จะแก้ปัญหาที่เผชิญหน้าและประเด็นที่ท้าทายในปี 2014  ที่ดาหน้าเข้ามาให้ดีขึ้น”

ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลอเมริกันต้องลดน้อยถอยลงเมื่อต้นปีนี้เมื่อประธานาธิบดี โอบามา ต่อสายตรงแสดงความสงสัยว่ารัฐบาลซีเรียใช้อาวุธเคมีในการปราบปรามมหาชน   สังคมอเมริกันและชุมชนโลกต่างมีความเห็นคัดค้านในพฤติกรรมจ้าวโลกของผู้นำอเมริกันในโลกครั้งนี้

จากผลการสำรวจทำให้ผมคิดในใจว่า   บางครั้งเราคิดแต่จะปกป้องสันติภาพใน “บ้าน” ของเราด้วยการสาดความรุนแรง สร้างการทำร้ายทำลาย “บ้าน” คนอื่นในนามของ “ผู้คุ้มครองสันติภาพ” หรือไม่?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

15 มกราคม 2557

อาสารับใช้ชุมชนอย่างไร้เงื่อนไข!

ท่ามกลางกลุ่มที่อาสารับใช้ภายหลังโศกนาฏกรรมของพายุร้าย   คริสตจักรร่วมในกลุ่มนั้นด้วย

ภายหลังที่ทอร์นาโดโหมกระหน่ำกวาดล้างสิ่งต่างๆ บนแผ่นดินโอคลาโอมา   คนจากคริสตจักรได้ออกมาช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วยความรักของพระคริสต์ที่ไม่เคยเห็นเช่นนี้มาก่อน   และอาจจะไม่พบเช่นนี้อีกก็ได้   คริสตจักรได้ทุ่มเทชีวิตช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติครั้งนี้โดยมิได้คาดหวังสิ่งตอบแทน

คริสตจักรเปิดพื้นที่และอาคารของคริสตจักรเพื่อให้ผู้ไร้ที่พักพิงกะทันหันได้อยู่อาศัย   สมาชิกคริสตจักรได้เอารถกระบะออกไปรับบริจาคเสื้อผ้า  อาหาร  เครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับผู้คนที่เข้ามาพักพิง   การกระทำทั้งสิ้นนี้เป็นการกระทำด้วยความรักเมตตา  มิใช่คำพูดในคำเทศนาเท่านั้น   แต่เป็นความรักที่แสดงออกมาด้วยการกระทำ   โดยมิได้คาดหวังว่าหลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้แล้วเหยื่อภัยพิบัติจะมาเป็นสมาชิกของคริสตจักรหรือไม่

คริสตจักรต่างๆ ที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ภัยพิบัติต่างก็เข้ามาอาสารับใช้ช่วยเหลือผู้ที่ถูกล้างผลาญทำลายจากพายุทอร์นาโด   คริสตจักรจากโคลัมบัส  โอไฮโอ  ได้รับบริจาครวบรวมเอาแบตเตอรี่  เต็นท์  เป้  ถุงนอน  และเครื่องใช้สำหรับทารกมาให้ผู้ประสบภัย   คริสตจักรในนิวยอร์กได้ส่งทีมอาสาสมัคร มาทำความสะอาดดินโคลนที่ถล่มทับถม   คริสตจักรที่อินเดียนาได้จัดงานคอนเสิร์ตเพื่อหารายได้เพื่อช่วยผู้ประสบภัยในครั้งนี้

การช่วยเหลือของคริสตจักรมากมายเหล่านี้ต่างมิได้คาดหวังที่จะได้สิ่งตอบแทน  หรือมองการอาสารับใช้ช่วยเหลือครั้งนี้ว่าเป็น “การลงทุน”   เขากระทำเพียงเพราะต้องการเป็นคนรับใช้ด้วยความรักของพระคริสต์เท่านั้น

ภายหลังทอร์นาโดพัดผ่านทิ้งไว้แต่ความเสียหายและความโศกเศร้าเจ็บปวด   หนังสือพิมพ์ของโอคลาโอมาขึ้นข่าวหราหน้าแรกเป็นข่าวงานอาสารับใช้ของคริสตจักร   หนังสือพิมพ์กล่าวว่า “ถ้าคุณรอการช่วยเหลือจากภาครัฐ   ชีวิตของคุณก็จะจมจ่อมอยู่ในกองภัยพิบัติเสียหายตลอดไป   แต่คริสตจักรจะจัดการรับใช้ช่วยเหลือให้เหตุรุนแรงนี้เข้าสู่ปกติในวันพรุ่งนี้

คริสตจักรจะรับใช้โดยไม่ต้องคาดหวังให้คนเหล่านั้นมาเป็นคริสเตียนได้ไหม?

แม้ว่าบางครั้ง  เกิดคำถามในจิตใจว่า  ที่เราไปช่วยผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อของภัยพิบัติเช่นนี้เพื่ออะไร?   ในเรื่องนี้สมาชิกและผู้นำคริสตจักรต่างมิได้เห็นด้วยกัน   หรือ เห็นเหมือนกัน ทั้งหมด    แต่จากรายงานข่าวทางโทรทัศน์ทำให้เห็นชัดเจนว่า   สมาชิกของคริสตจักรต่างๆ พยายามและทุ่มเทช่วยประชาชนที่ประสบภัยพิบัติในครั้งนั้น   เพื่อที่จะนำกำลังใจและรอยยิ้มกลับมายังผู้สูงวัย   นำความรักและศักดิ์ศรีความเป็นคนกลับมาให้คนไร้ที่พักอาศัยและแม่ที่ต้องดูแลเด็กน้อย

เมื่อเราเอาคลิปเหล่านี้กลับมาฉายใหม่ในคริสตจักรให้สมาชิกคริสตจักรได้ทบทวนดูอีกครั้งหนึ่ง   มีสมาชิกส่วนหนึ่งจะตั้งคำถามอย่างไม่ค่อยพอใจว่า  “แล้วพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์อยู่ที่ไหน?”   “เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าผู้คนเหล่านั้นจะได้ยินได้ฟังถึงแผนการแห่งการช่วยกู้ให้รอด?”   และสิ่งที่ทำกันไปทั้งหมด  “คุณเรียกมันว่าเป็นพันธกิจของคริสตจักรหรือ?”   “ไม่เห็นมีเสียงสรรเสริญยกย่องคริสตจักรของเรา”   “ไม่เห็นคนมาร่วมนมัสการในวันอาทิตย์เพิ่มขึ้นในคริสตจักรของเรา”

สำหรับหลายต่อหลายคริสตจักรในปัจจุบันนี้  “ความรักเมตตา และ การอาสารับใช้ กับ สิ่งตอบแทนที่เกิดตามมาภายหลัง”  กลายเป็นเงื่อนไขของกันและกัน   หลายคริสตจักรพยายามเสริมสร้างให้คริสตจักรของตนเป็น “คริสตจักรแห่งพันธกิจ”  มีพันธกิจออกไปทำในชุมชน   ออกไปให้ความรักเพียงเพื่อเห็นผลพวงรูปธรรมที่จะเกิดแก่คริสตจักรเป็นการตอบแทนกลับ  หรือเป็นเหมือน “หมูไปไก่มา” อะไรในทำนองนั้น?

แต่พระคริสต์ได้สำแดงให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่า   พระมหาบัญญัติประการที่สองที่ไม่สามารถแยกออกจากประการแรกคือ   ให้คนในคริสตจักรรักเมตตาคนรอบข้างของตนเอง   โดยไม่มีเงื่อนไข!

ปัจจุบัน ส่วนมากสิ่งที่คริสตจักรพูด คริสตจักรสอน  และที่คริสตจักรเทศนาและประกาศมันไม่สามารถเห็นเป็นรูปธรรมในชีวิตจริงของผู้คน

Thom Schultz ได้เล่าว่า   ครั้งเมื่อเกิดภัยพิบัติธรรมชาติที่มิสซูรี ในปี 2011   ผู้อำนวยการ C.J Huff แห่งโรงเรียนของรัฐใน Joplin ได้ตั้งข้อสังเกตว่า   ในการประชุมเพื่อระดมความช่วยเหลือจากองค์กร และ ภาคส่วนต่างๆ ในชุมชน   เขาพบว่าคริสตจักร หรือ ศิษยาภิบาลมิได้เข้าร่วมเลยแม้แต่คนเดียว   ดังนั้น   ท่านผู้อำนวยการเรียกประชุมอีกครั้งหนึ่งโดยเฉพาะสำหรับผู้นำศาสนาในเมืองนั้น   ผู้อำนวยการมาเข้าใจภายหลังว่าทำไมคริสตจักร และ ศิษยาภิบาลไม่เข้าร่วมในการระดมความช่วยเหลือดังกล่าว   เพราะคริสตจักรถูกห้ามการสอนศาสนาในโรงเรียนของรัฐ  

ต่อมาศิษยาภิบาลท่านหนึ่งยืนขึ้นกล่าวแก่สมาชิกในคริสตจักรของตนว่า  “แม้เราไม่สามารถเป็นกระบอกเสียงของพระเจ้าในโรงเรียน   แต่เราสามารถเป็นแขนขาของพระเจ้าในโรงเรียนได้”

ในที่สุดสมาชิกคริสตจักรได้เข้ามาอาสารับใช้การพลิกฟื้นชีวิตของโรงเรียนจากมหันตภัยครั้งนั้น   นักเรียนสัมผัสกับความรักเมตตาและการเอาใจใส่จากการรับใช้อย่างเป็นรูปธรรมในครั้งนั้นจากสมาชิกคริสตจักร   จำนวนนักเรียนที่ลาออกลดน้อยลงอย่างทันตาเห็น

ท่านผู้อำนวยการโรงเรียนกล่าวภายหลังว่า  “ผลที่เกิดขึ้นเห็นได้ชัดเจน   จะเป็นการดีสักเท่าใด  ถ้าชุมชนของเราทำอย่างสมาชิกในคริสตจักรได้กระทำ”

เรามิได้เป็นเพียงกระบอกเสียงของพระเจ้าเท่านั้นครับ

แต่เราสามารถเป็นแขนขาของพระเจ้าได้ในสถานการณ์ต่างๆ ครับ!

คริสตจักรไทยพร้อมแล้วหรือยังที่จะเป็นแขนขาของพระคริสต์ท่ามกลางวิกฤติชีวิตของชุมชนและประเทศอย่างไร้เงื่อนไข?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

13 มกราคม 2557

คำคมจาก... เนลสัน เมนเดลา

เนลสัน โรลีห์ลาห์ลา เมนเดลา  เกิดเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ปี 1918 ที่หมู่บ้านอึมเวโซ เมืองอุมตาตู ผู้ต่อต้านและขัดขวางการเหยียดผิว   ถูกจำคุกเป็นเวลา 27 ปี   เขาได้นำประเทศหลุดรอดออกจากการเหยียดผิว   เขาได้เป็นประธานาธิบดีสีผิวคนแรกของแอฟริกาใต้   ในระหว่างปี 1994-1999  ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 1993 ร่วมกับประธานาธิบดี เอฟ. ดับเบิลยู. เดอเคลิร์ก ผู้นำคนสุดท้ายของแอฟริกาใต้ในยุคแบ่งแยกผิว จากการที่ทั้งคู่มีส่วนผลักดันจนทำให้แอฟริกาใต้ก้าวข้ามยุคแห่งการปกครองโดยชนผิวขาวมาสู่การมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยพลเมืองทุกสีผิวได้มีสิทธิ์ออกเสียงอย่างเท่าเทียมกัน   เนลสัน เมนเดลา ป่วยเป็นโรคปอดตั้งแต่สมัยที่ถูกจำจองในคุก   เขาป่วยหนักในสิ้นปี 2013  และ เสียชีวิตเมื่อวันอังคารที่ 5 ธันวาคม 2013 ที่บ้านของเขา

เพื่อเป็นการรำลึกถึงชีวิตและให้เกียรติแก่เขา   จึงขอนำคำกล่าวที่เรียบง่าย   แต่สะท้อนถึงปัญญาอันลุ่มลึกและมีพลังของเขา  ดังนี้
  1. “ถ้าท่านไม่เปลี่ยนแปลงชีวิตของท่านเองแล้ว   ไม่มีวันที่ท่านจะมีอิทธิพลและสร้างผลกระทบต่อสังคมได้”
  2.  “เงินทองไม่เคยก่อเกิดความสำเร็จ   แต่ความเป็นไทต่างหากที่ทำให้ความสำเร็จเกิดขึ้น”
  3. “การเป็นไทมิใช่เพียงแต่การปลดปล่อยออกจากการถูกจองจำจากโซ่ตรวน   แต่การดำเนินชีวิตบนวิถีที่ให้ความเคารพและหนุนเสริมเสรีภาพของผู้อื่นต่างหากที่ทำให้เป็นไท”
  4. ประชาชนต้องเรียนรู้จักความเกลียดชัง  และถ้าเขาเรียนรู้จักความเกลียด   เขาก็สามารถที่จะเรียนรู้ที่จะรัก   เพราะความรักนั้นเป็นธรรมชาติของหัวใจมนุษย์มากกว่าความเกลียดชัง
  5. การศึกษาเป็นอาวุธที่ทรงพลังที่สุดที่ท่านสามารถใช้ในการเปลี่ยนแปลงโลกได้
  6. อย่าตัดสินข้าพเจ้าด้วยความสำเร็จ   แต่จงตัดสินข้าพเจ้าจากจำนวนครั้งที่ล้มเหลวและลุกขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง  ครั้งแล้วครั้งเล่า
  7. อะไรคือสิ่งที่มีคุณค่า  มิใช่เพียงเพราะเรามีชีวิตอยู่   แต่เพราะความแตกต่างที่เราทำต่างหาก
  8. เมื่อคนเราถูกปฏิเสธสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่  ชีวิตของเขาก็ถูกปฏิเสธการยอมรับนับถือที่เขาควรได้รับ   เขาไม่มีทางเลือกอื่นใด   นอกจากการเป็นคนนอกกฎหมาย
  9. ถ้าท่านต้องการสร้างสันติกับศัตรูของท่าน   ท่านต้องทำงานร่วมกับศัตรูของท่าน  จนกระทั่งเขากลับกลายเป็นเพื่อนร่วมงานของท่าน
  10. เวลาแห่งการเยียวยาบาดแผลแห่งชีวิตมาถึงแล้ว  โอกาสแห่งการทอดสะพานข้ามหุบเหวที่แบ่งแยกมาถึงแล้ว   เวลาแห่งการเสริมสร้าง(ให้เป็นจริง)ขึ้นอยู่กับพวกเรา
  11. ถ้าท่านพูดกับคนๆ หนึ่งด้วยภาษาที่เขาเข้าใจได้  สิ่งที่พูดก็จะเข้าไปยัง “หัว” ของเขา   แต่ถ้าท่านพูดกับเขาด้วยภาษาของเขาเอง   สิ่งที่ท่านพูดจะเข้าไปที่ “หัวใจ” ของเขา
  12. เกียรติยศที่ยิ่งใหญ่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับชีวิตที่ไม่เคยล้มเหลว   แต่ขึ้นอยู่กับที่เขาลุกขึ้นทุกครั้งเมื่อต้องล้มลง
  13. ทุกครั้งจะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้จนกว่าเมื่อทำสิ่งนั้นเสร็จ
  14. หลังจากที่ปีนจนถึงยอดเขาสูงชัน   สิ่งที่พบคือยังมียอดเขาอีกมากมายที่เราจะต้องป่ายปีนขึ้นไปอีก
  15. โปรดให้ทางเลือกของท่านสะท้อนถึงความหวังของท่าน  มิใช่ความกลัวในตัวท่าน
  16. เราสามารถเปลี่ยนแปลงโลกนี้และทำให้มันเป็นที่ที่ดีขึ้น   มันอยู่ในมือของเราที่จะสร้างความแตกต่าง(แก่โลกนี้)
  17. จงนำจากด้านหลัง   และให้คนอื่นๆ เชื่อว่าเขาอยู่ข้างหน้า
  18. ไม่ควรตัดสินประเทศต่างๆ ว่าเขากระทำอย่างไรกับประชาชนที่มีฐานะสูง  แต่ตัดสินจากที่เขากระทำต่อประชาชนที่ต่ำต้อยที่สุด
  19. เราต้องใช้เวลาอย่างมีปัญญาและสำนึกเสมอว่า  เป็นเวลาที่จะต้องทำสิ่งที่ถูกต้องเสมอ
  20. ความคิดที่ดีและจิตใจที่งดงามเป็นการผสานที่น่ายำเกรง
  21. เมื่อน้ำเริ่มที่จะเดือดเป็นการโง่เขลาที่จะปิดไฟเสีย
  22. ข้าพเจ้ายอมรับในสิ่งที่ตนกระทำผิด   ไม่เหมือนกับพวกนักการเมือง
  23. ความเกลียดชังจะครอบงำความคิดให้แสวงแต่อุบาย   ดังนั้น  ผู้นำต้องไม่เกลียด


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499