31 มกราคม 2557

พลังการฟังอย่างใส่ใจ

สถานการณ์เพื่อพิจารณา:

ครั้งหนึ่งเมื่อผมไปนั่งดื่มกาแฟสดในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง   โต๊ะข้างๆ ที่ผมนั่ง มีพ่อและลูกสาวสนทนากันอยู่   คุณพ่อตั้งหน้าตั้งตาอบรมลูกสาวเรื่องการใช้เงิน  “ลูกใช้เงินมากเกินไป   แต่ลูกไม่สนใจในการเล่าเรียน....”   ลูกสาวรู้สึกเจ็บปวดจากคำสั่งสอนของผู้เป็นพ่อ   เธอต้องการให้พ่อถามเธอบ้างว่า “ลูกมีเป้าหมายอะไร?”   “ลูกต้องการให้ชีวิตลูกเกิดผลอย่างไรบ้าง?   แต่พ่อกลับพูดเสียงดังขึ้นดังขึ้น   จนลูกสาวน้ำตาไหล   เป็นภาพที่ผมไม่สบายใจเอามากๆ   แต่ผมก็เชื่อว่าผู้เป็นพ่อต้องการให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตของลูกสาว   แต่เขาไม่รู้ว่าเขาควรจะทำอย่างไรจึงจะให้ลูกสาวได้รับสิ่งดีๆ ที่เขาต้องการให้

ถ้าผมมีโอกาสถามพ่อคนนี้ว่า เขาต้องการให้อะไรเกิดขึ้นในเหตุการณ์นี้   ผู้เป็นพ่อคงมีคำตอบในทำนองนี้ว่า “ถ้าลูกสาวจะฟังผม  ทุกสิ่งก็จะเกิดผลดีกว่านี้”   และถ้าผมมีโอกาสถามลูกสาวว่า  เธอต้องการให้เหตุการณ์นี้เปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง?   เธอคงจะตอบอย่างไม่ต้องสงสัยว่า “ทำไมพ่อไม่ยอมฟังว่าฉันต้องการอะไร?”

ทั้งสองทำการสื่อสาร   แต่ต่างใช้วิธีการสื่อสารแบบทางเดียว   ไม่มีใครที่จะฟังอย่างใส่ใจเลย

ในยุคปัจจุบันนี้   แต่ละคนมักจะเริ่มต้นสื่อสารสนทนาโดยพูดถึงความคิดความเห็นของตนเอง   เมื่อต้องพูดคุยสื่อสารกับผู้คน   แล้วการสื่อสารก็มักมีสภาพการสื่อสารทางเดียวของคนสองคน   ต่างคนต่างมุ่งเสนอประเด็นของตนให้อีกฝ่ายหนึ่งให้ได้ยิน และ ยอมรับ  

เราทุกคนต้องการให้คนอื่นฟังเราอย่างใส่ใจ

จากเรื่องข้างบนนี้  ผู้เป็นพ่อพยายามที่จะสื่อสารทางเดียวด้วยความคิดความเห็นของตนเพื่อให้ลูกสาวยอมรับเพราะเขาคิดว่าความคิดของตนถูกต้อง   ดังนั้น  จึงตั้งหน้าตั้งตาสื่อสารความคิดของตนโดยมิได้ใส่ใจถึงความคิดความรู้สึกของลูกสาว   ผู้เป็นพ่อได้สูญเสียโอกาสที่จะได้ยินถึงความคิดความเข้าใจและความต้องการของลูกสาว   และอาจจะสูญเสียความสัมพันธ์กับลูกสาวด้วยก็ได้

เราทุกคนต้องการให้คนอื่นได้ยินได้ฟังในสิ่งที่เราพูด เราคิด เราต้องการ   เราปรารถนาที่จะได้รับการยอมรับ   เราต้องการให้คนอื่นรับรู้ถึงความคิด ความต้องการของเรา   เราต้องการให้คนอื่นยอมรับว่าเรามีคุณค่าอย่างที่เราเป็น   ความปรารถนาของมนุษย์เราแต่ละคนนั้นมีพลังอย่างมากในชีวิต   เรารับไม่ได้ที่ใครบางคนไม่ยอมรับเรา  แล้วมาชี้ผิดชี้ถูกหรือวิพากษ์วิจารณ์เรา  

ความจริงที่เราต้องตระหนักเสมอว่า   การที่เราตอบสนองการวิพากษ์วิจารณ์ของใครก็ตามเราตอบสนองต่อท่าทีของคนๆ นั้นที่มีต่อเรา   มิได้ตอบสนองตามเหตุผลหรือข้อมูลความจริงในเรื่องที่เขาวิพากษ์วิจารณ์เรา

ท่านเคยมีประสบการณ์ในทำนองนี้ไหมครับว่า   มีคนหนึ่งมาวิพากษ์วิจารณ์เราในเรื่องหนึ่ง   แต่เราไม่ยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์นั้น    ภายหลังมีอีกคนหนึ่งมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเดียวกันแต่เรากลับยอมรับ   ทำไมเป็นเช่นนี้ครับ?   ที่เป็นเช่นนี้เพราะเราตอบสนองต่อท่าทีของผู้วิพากษ์วิจารณ์   แต่มิใช่ตอบสนองต่อเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์  

หรือเพราะคนแรกไม่ใช่เพื่อนของเรา   แต่คนหลังเป็นเพื่อนสนิทที่เราไว้ใจกัน?

พูดอีกนัยหนึ่งการที่เราสามารถฟังจนได้ยินถึงความคิด ความรู้สึก และความต้องการของคู่สนทนา  ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนที่พูดกับเรา   ถ้าเช่นนั้น   การที่จะพูดจนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตได้นั้นต้องเป็นการพูดในบรรยากาศที่สร้างสรรค์และเสริมหนุนกันและกัน   และจุดเริ่มต้นที่จะพูดอย่างสร้างสรรค์ 

การที่เราฟังอย่างใส่ใจ  ให้ความสนใจ  และความสำคัญในสิ่งที่คู่สนทนากำลังพูดย่อมเป็นการเสริมสร้างให้เกิดความไว้วางใจและความสัมพันธ์ได้ดีและเร็วกว่าการที่จะฟังเพื่อวิเคราะห์เจาะลึกว่าอะไรถูกอะไรผิด  

กล่าวง่ายๆ คือ   ให้เราเลิกฟังแบบ “จับผิด”   แต่ให้เราฟังแบบ “จับถูก”

จากเรื่องข้างบนนี้   ลูกสาวคงไม่สนใจสิ่งที่พ่อของเธอพูดจนกว่าเธอรู้สึกว่าพ่อยอมรับเธออย่างที่เธอเป็น   และการที่พ่อยังดันทุรังวิพากษ์วิจารณ์ลูกสาวทั้งๆ ที่ลูกสาวไม่ยอมรับในตัวของพ่อ   เป็นการเสี่ยงอย่างยิ่งที่พ่อกำลังทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัว เกิดความร้าวฉานฉีกขาด   แม้ที่พ่อทำไปนั้นจะด้วยความหวังดีขนาดไหนก็ตาม

ฟังอย่างใส่ใจ และ ด้วยการยอมรับ เป็นคุณค่าของการสื่อสารสนทนา   เราทุกคนต้องการสื่อสารสนทนากับคนที่ยอมรับและเห็นถึงคุณค่าของเรา   ดังนั้น  การฟังอย่างใส่ใจ  จดจ่อ ย่อมเป็นการสื่อสารที่มีอิทธิพลต่อคู่สนทนาของเรา   เราต้องตระหนักเสมอว่า  การฟังอย่างใส่ใจนั้นเป็นเครื่องมือที่มีพลังอย่างสูงต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตของคู่สนทนา   เพราะการรับฟังด้วยท่าทีแห่งการยอมรับทำให้คู่สนทนาของเราสนใจและใส่ใจในข้อมูลที่สนทนาสื่อสารมากกว่า ท่าทีและความสัมพันธ์กับอีกฝ่ายหนึ่ง

พลังของการฟังอย่างใส่ใจ

ในวงการโค้ช...

การฟังอย่างใส่ใจเป็นทักษะประการแรกของโค้ช   และความสัมพันธ์ของการโค้ชเริ่มต้นที่การฟัง   เพราะด้วยการฟังอย่างใส่ใจเท่านั้นที่ทำให้เรารู้ว่าคู่สนทนาของเราเป็นอย่างไร  และมีความคิด ความรู้สึกอย่างไร   การฟังอย่างใส่ใจช่วยสร้างบรรยากาศเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญยิ่ง

การเป็นโค้ชที่ดีจะต้องพัฒนาทักษะในการฟังอย่างใส่ใจ   หน้าที่ของโค้ชมิใช่การพยายามแสวงหาวิธีการในการแก้ปัญหาของคู่สนทนา   แต่มีหน้าที่ฟังอย่างใส่ใจ   แล้วคู่สนทนาของท่านจะเป็นคนตอบเองว่าจะแก้ปัญหาของเขาอย่างไร   ดังนั้น  การฟังอย่างใส่ใจของโค้ชจึงมิใช่ฟังเพื่อที่จะตอบปัญหาของคู่สนทนา   และก็ไม่ใช่ฟังด้วยการคิดวิเคราะห์ เพื่อที่จะตั้งคำถามอะไรต่อไปที่จะช่วยให้เกิดการแก้ปัญหาของคู่สนทนา  

เราต้องตระหนักชัดว่า  ผู้ที่แก้ปัญหามิใช่โค้ชแต่คือตัวเจ้าของปัญหาเอง!

บ่อยครั้งที่เราอาจจะรู้สึกว่าการฟังเป็นอาการที่นิ่งเฉย (ดูไม่มีพลัง) ไม่ทำให้เกิดการแก้ปัญหา  แต่แท้จริงแล้วการฟังนั้นปี่ยมด้วยพลังที่นำสู่การเปลี่ยนแปลง   อะไรที่ทำให้คนเผชิญหน้ากับปัญหาแล้วถดถอย  สิ้นหวัง  ไม่สู้   มิใช่เขาไม่มีความคิด ความรู้   แต่เขาขาดความมั่นใจในความคิดของตน   หรือไม่สามารถอธิบายปัญหาของเขาออกมาเป็นคำพูดต่างหาก  

ดังนั้น  การที่เราฟังอย่างใส่ใจเป็นการยืนยันและหนุนเสริมเพิ่มพลังให้เขาอธิบายถึงปัญหาและตัวตนของเขาออกมาด้วยความมั่นใจ   เมื่อท่านฟังอย่างใส่ใจท่าทีของท่านกำลังสื่อสารกับคู่สนทนาของท่านว่า   “คุณเป็นคนสำคัญ   และสิ่งที่คุณพูดเป็นเรื่องที่สำคัญ   คุณเป็นคนที่มีคุณค่า  และสิ่งที่คุณพูดนั้นมีคุณค่าที่จะรับฟัง   ผมเชื่อว่าคุณสามารถคิดและหาทางแก้ไขได้   และเมื่อคุณแสดงออกถึงความเชื่อมั่นในความสามารถของคู่สนทนา    คู่สนทนาของคุณเริ่มชื่อมั่นในตนเองด้วย    

เมื่อเราเริ่มสนทนากัน   แล้วมีผู้ที่ฟังเราอย่างใส่ใจ   มีสิ่งอัศจรรย์เกิดขึ้น   เขาคนนั้นฟังเราอย่างอดทน  คำถามที่เขาถามช่วยเราให้กลับมองย้อนสถานการณ์ของเราในมุมมองใหม่ที่เราไม่เคยมอง   เราเริ่มมองเห็นสัจจะความจริงค่อยๆ ชัดเจนขึ้น   กระตุ้นผลักให้เราออกไปจากความคลุมเครือแห่งหมอกควันทางอารมณ์   หรือกระตุ้นผลักให้เราออกจากกรอบคิดเดิมๆ เพื่อสามารถเห็นคำตอบที่ชัดเจนยิ่งขึ้น   การที่เรามีโอกาสพยายามอธิบายความคิดของเราให้กับคู่สนทนาที่ฟังเราอย่างใส่ใจ   มันช่วยให้เราคิดได้ชัดเจนยิ่งขึ้นและเกิดความมั่นใจมากกว่าการที่เรานั่งคิดอยู่เพียงผู้เดียว

สิ่งที่โค้ชจะให้ได้ในการโค้ชนั้นคือ  การที่ทำให้คู่สนทนาของโค้ชสามารถเล่าหรือบอกถึงเรื่องราวปัญหาของเขา   เพื่อเขาจะสามารถค้นพบคำตอบของตนเอง    สิ่งที่โค้ชจะให้ได้อย่างมีคุณค่ามิใช่การที่จะให้คำตอบในการแก้ปัญหา   แต่สิ่งที่มีคุณค่าที่โค้ชควรให้คือ  การให้บรรยากาศที่จะช่วยให้คู่สนทนาสามารถหาพบทางเลือก   ดังนั้น จึงมิได้ขึ้นอยู่กับว่าเรามีความรู้ในเรื่องนั้นมากน้อยแค่ไหน  หรือมีประสบการณ์ในเรื่องนั้นหรือไม่   แต่การที่เราสามารถหนุนเสริมให้เขาคิดและค้นหาจนพบคำตอบและทางเลือกของเขานั่นคือบทบาทหน้าที่ของโค้ชที่สร้างคุณค่าแก่คู่สนทนา

วันนี้ให้เราเป็น “โค้ชชีวิต” ในผู้คนที่เราพบเห็นสัมพันธ์พูดคุยด้วยดีไหมครับ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น