15 มกราคม 2557

อาสารับใช้ชุมชนอย่างไร้เงื่อนไข!

ท่ามกลางกลุ่มที่อาสารับใช้ภายหลังโศกนาฏกรรมของพายุร้าย   คริสตจักรร่วมในกลุ่มนั้นด้วย

ภายหลังที่ทอร์นาโดโหมกระหน่ำกวาดล้างสิ่งต่างๆ บนแผ่นดินโอคลาโอมา   คนจากคริสตจักรได้ออกมาช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วยความรักของพระคริสต์ที่ไม่เคยเห็นเช่นนี้มาก่อน   และอาจจะไม่พบเช่นนี้อีกก็ได้   คริสตจักรได้ทุ่มเทชีวิตช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติครั้งนี้โดยมิได้คาดหวังสิ่งตอบแทน

คริสตจักรเปิดพื้นที่และอาคารของคริสตจักรเพื่อให้ผู้ไร้ที่พักพิงกะทันหันได้อยู่อาศัย   สมาชิกคริสตจักรได้เอารถกระบะออกไปรับบริจาคเสื้อผ้า  อาหาร  เครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับผู้คนที่เข้ามาพักพิง   การกระทำทั้งสิ้นนี้เป็นการกระทำด้วยความรักเมตตา  มิใช่คำพูดในคำเทศนาเท่านั้น   แต่เป็นความรักที่แสดงออกมาด้วยการกระทำ   โดยมิได้คาดหวังว่าหลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้แล้วเหยื่อภัยพิบัติจะมาเป็นสมาชิกของคริสตจักรหรือไม่

คริสตจักรต่างๆ ที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ภัยพิบัติต่างก็เข้ามาอาสารับใช้ช่วยเหลือผู้ที่ถูกล้างผลาญทำลายจากพายุทอร์นาโด   คริสตจักรจากโคลัมบัส  โอไฮโอ  ได้รับบริจาครวบรวมเอาแบตเตอรี่  เต็นท์  เป้  ถุงนอน  และเครื่องใช้สำหรับทารกมาให้ผู้ประสบภัย   คริสตจักรในนิวยอร์กได้ส่งทีมอาสาสมัคร มาทำความสะอาดดินโคลนที่ถล่มทับถม   คริสตจักรที่อินเดียนาได้จัดงานคอนเสิร์ตเพื่อหารายได้เพื่อช่วยผู้ประสบภัยในครั้งนี้

การช่วยเหลือของคริสตจักรมากมายเหล่านี้ต่างมิได้คาดหวังที่จะได้สิ่งตอบแทน  หรือมองการอาสารับใช้ช่วยเหลือครั้งนี้ว่าเป็น “การลงทุน”   เขากระทำเพียงเพราะต้องการเป็นคนรับใช้ด้วยความรักของพระคริสต์เท่านั้น

ภายหลังทอร์นาโดพัดผ่านทิ้งไว้แต่ความเสียหายและความโศกเศร้าเจ็บปวด   หนังสือพิมพ์ของโอคลาโอมาขึ้นข่าวหราหน้าแรกเป็นข่าวงานอาสารับใช้ของคริสตจักร   หนังสือพิมพ์กล่าวว่า “ถ้าคุณรอการช่วยเหลือจากภาครัฐ   ชีวิตของคุณก็จะจมจ่อมอยู่ในกองภัยพิบัติเสียหายตลอดไป   แต่คริสตจักรจะจัดการรับใช้ช่วยเหลือให้เหตุรุนแรงนี้เข้าสู่ปกติในวันพรุ่งนี้

คริสตจักรจะรับใช้โดยไม่ต้องคาดหวังให้คนเหล่านั้นมาเป็นคริสเตียนได้ไหม?

แม้ว่าบางครั้ง  เกิดคำถามในจิตใจว่า  ที่เราไปช่วยผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อของภัยพิบัติเช่นนี้เพื่ออะไร?   ในเรื่องนี้สมาชิกและผู้นำคริสตจักรต่างมิได้เห็นด้วยกัน   หรือ เห็นเหมือนกัน ทั้งหมด    แต่จากรายงานข่าวทางโทรทัศน์ทำให้เห็นชัดเจนว่า   สมาชิกของคริสตจักรต่างๆ พยายามและทุ่มเทช่วยประชาชนที่ประสบภัยพิบัติในครั้งนั้น   เพื่อที่จะนำกำลังใจและรอยยิ้มกลับมายังผู้สูงวัย   นำความรักและศักดิ์ศรีความเป็นคนกลับมาให้คนไร้ที่พักอาศัยและแม่ที่ต้องดูแลเด็กน้อย

เมื่อเราเอาคลิปเหล่านี้กลับมาฉายใหม่ในคริสตจักรให้สมาชิกคริสตจักรได้ทบทวนดูอีกครั้งหนึ่ง   มีสมาชิกส่วนหนึ่งจะตั้งคำถามอย่างไม่ค่อยพอใจว่า  “แล้วพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์อยู่ที่ไหน?”   “เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าผู้คนเหล่านั้นจะได้ยินได้ฟังถึงแผนการแห่งการช่วยกู้ให้รอด?”   และสิ่งที่ทำกันไปทั้งหมด  “คุณเรียกมันว่าเป็นพันธกิจของคริสตจักรหรือ?”   “ไม่เห็นมีเสียงสรรเสริญยกย่องคริสตจักรของเรา”   “ไม่เห็นคนมาร่วมนมัสการในวันอาทิตย์เพิ่มขึ้นในคริสตจักรของเรา”

สำหรับหลายต่อหลายคริสตจักรในปัจจุบันนี้  “ความรักเมตตา และ การอาสารับใช้ กับ สิ่งตอบแทนที่เกิดตามมาภายหลัง”  กลายเป็นเงื่อนไขของกันและกัน   หลายคริสตจักรพยายามเสริมสร้างให้คริสตจักรของตนเป็น “คริสตจักรแห่งพันธกิจ”  มีพันธกิจออกไปทำในชุมชน   ออกไปให้ความรักเพียงเพื่อเห็นผลพวงรูปธรรมที่จะเกิดแก่คริสตจักรเป็นการตอบแทนกลับ  หรือเป็นเหมือน “หมูไปไก่มา” อะไรในทำนองนั้น?

แต่พระคริสต์ได้สำแดงให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่า   พระมหาบัญญัติประการที่สองที่ไม่สามารถแยกออกจากประการแรกคือ   ให้คนในคริสตจักรรักเมตตาคนรอบข้างของตนเอง   โดยไม่มีเงื่อนไข!

ปัจจุบัน ส่วนมากสิ่งที่คริสตจักรพูด คริสตจักรสอน  และที่คริสตจักรเทศนาและประกาศมันไม่สามารถเห็นเป็นรูปธรรมในชีวิตจริงของผู้คน

Thom Schultz ได้เล่าว่า   ครั้งเมื่อเกิดภัยพิบัติธรรมชาติที่มิสซูรี ในปี 2011   ผู้อำนวยการ C.J Huff แห่งโรงเรียนของรัฐใน Joplin ได้ตั้งข้อสังเกตว่า   ในการประชุมเพื่อระดมความช่วยเหลือจากองค์กร และ ภาคส่วนต่างๆ ในชุมชน   เขาพบว่าคริสตจักร หรือ ศิษยาภิบาลมิได้เข้าร่วมเลยแม้แต่คนเดียว   ดังนั้น   ท่านผู้อำนวยการเรียกประชุมอีกครั้งหนึ่งโดยเฉพาะสำหรับผู้นำศาสนาในเมืองนั้น   ผู้อำนวยการมาเข้าใจภายหลังว่าทำไมคริสตจักร และ ศิษยาภิบาลไม่เข้าร่วมในการระดมความช่วยเหลือดังกล่าว   เพราะคริสตจักรถูกห้ามการสอนศาสนาในโรงเรียนของรัฐ  

ต่อมาศิษยาภิบาลท่านหนึ่งยืนขึ้นกล่าวแก่สมาชิกในคริสตจักรของตนว่า  “แม้เราไม่สามารถเป็นกระบอกเสียงของพระเจ้าในโรงเรียน   แต่เราสามารถเป็นแขนขาของพระเจ้าในโรงเรียนได้”

ในที่สุดสมาชิกคริสตจักรได้เข้ามาอาสารับใช้การพลิกฟื้นชีวิตของโรงเรียนจากมหันตภัยครั้งนั้น   นักเรียนสัมผัสกับความรักเมตตาและการเอาใจใส่จากการรับใช้อย่างเป็นรูปธรรมในครั้งนั้นจากสมาชิกคริสตจักร   จำนวนนักเรียนที่ลาออกลดน้อยลงอย่างทันตาเห็น

ท่านผู้อำนวยการโรงเรียนกล่าวภายหลังว่า  “ผลที่เกิดขึ้นเห็นได้ชัดเจน   จะเป็นการดีสักเท่าใด  ถ้าชุมชนของเราทำอย่างสมาชิกในคริสตจักรได้กระทำ”

เรามิได้เป็นเพียงกระบอกเสียงของพระเจ้าเท่านั้นครับ

แต่เราสามารถเป็นแขนขาของพระเจ้าได้ในสถานการณ์ต่างๆ ครับ!

คริสตจักรไทยพร้อมแล้วหรือยังที่จะเป็นแขนขาของพระคริสต์ท่ามกลางวิกฤติชีวิตของชุมชนและประเทศอย่างไร้เงื่อนไข?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น