31 ธันวาคม 2556

สะท้อนคิด... คริสต์มาสที่ผ่านมา

เลิกเฉลิมฉลองการมาของพระคริสต์เพียงปีละวัน   แต่ให้พระองค์เข้ามาในชีวิตของเราอีก 364 วันด้วย

พอแล้ว...   คริสเตียนคริสต์มาส! 

อย่าเข้าใจผมผิดนะครับ...   ผมไม่ได้หมายถึงผู้ที่มาในคริสตจักรเฉพาะในช่วงเทศกาลคริสต์มาสเท่านั้น

แต่ผมหมายถึงคนที่มาคริสตจักรเป็นประจำทุกวันอาทิตย์ต่างหากครับ!    ที่ให้เวลา  ให้ของขวัญ  และใส่ใจลูก  คนในบ้าน   และคนอื่นๆ   เฉพาะในวันคริสต์มาสเท่านั้นครับ!

ข้างบ้านผม  เพื่อนบ้านได้ทำฉากการประสูติของพระเยซูคริสต์   ผมได้เดินเลียบๆ เคียงๆ ทุกปี   มีอยู่ปีหนึ่งผมได้ยินเด็กน้อยพูดกับยายของตนว่า  “ยาย  พระเยซูเกิดในสวนสัตว์”   ผมคิดในใจว่า   เอ่อ...จริงของเด็กน้อย   เพราะที่พระเยซูเกิดมีทั้งแกะ  วัว  อูฐ  ไก่(ที่มาคุ้ยฟาง)   และสุนัขมานอนที่ฟางข้างๆ โยเซฟเพราะมันอุ่นดี ...แล้วก็มีตุ๊กตาทารกนอนในรางหญ้า   มีทั้งผู้มาเยี่ยมพระกุมารเป็นพวกนักปราชญ์ และ คนเลี้ยงแกะ  มีมารีย์และโยเซฟ พ่อแม่ของพระเยซูอยู่เคียงข้างรางหญ้า   เมื่อผมเดินเฉียดเข้าใกล้ๆ ฉากที่เพื่อนบ้านสร้างขึ้นได้กลิ่นฟางใหม่ กลิ่นดิน  ทำให้รู้สึกว่าได้บรรยากาศดี   แล้วคิดในใจไปว่า 

“เราต่างต้องพบกับความทุกข์ยากลำบากในเทศกาลคริสต์มาสนี้ด้วยกันทั้งสิ้น” 

นักปราชญ์ต้องเดินทางไกลผ่านทะเลทราย หุบเหวห้วยธารน้ำที่ลำบาก   ชีวิตคนเลี้ยงแกะที่ไม่ต่างจากเกษตรกรรายย่อยในบ้านเมืองไทย   ที่มีความทุกข์ยากลำบากเป็นคู่ชีวิต   ทั้งมารีย์และโยเซฟหาที่ซุกหัวนอนไม่ได้   ต้องมาพึ่งคอกสัตว์เป็นที่เกิดของทารกน้อย   ท่ามกลางอากาศที่หนาวเหน็บมีฟางที่ให้ความอบอุ่นสำหรับคนยากไร้และสัตว์ในละแวกนั้น   ทารกน้อยที่มารีย์รู้ว่าเป็นพระเมสสิยาห์ที่พวกยิวรอคอยกลับต้องมาทนหนาวไร้ที่หลับพักพิง   ต้องมาขอยืมรางหญ้าของสัตว์เลี้ยงในคอกนั้นเป็นเปลนอน   พวกเราเองที่เฉลิมฉลองคริสต์มาสก็ต้องวุ่นวาย จับจ่ายใช้สอยเงินทองในเวลาช่วงนี้ค่อนข้างฟุ่มเฟือย   แต่พวกเราก็ไม่มีเวลาที่จะเอาใจใส่ใกล้ชิดลูกอย่างมารีย์และโยเซฟที่มีเวลากับลูกน้อย   เรามีแต่ของขวัญ  เงินทองที่ให้กับลูก   เราเหน็ดเหนื่อยแต่ก็ต้องอดทน  ใช่ครับ...เราต่างต้องพบกับความทุกข์ยากลำบากในเทศกาลคริสต์มาสมาตลอด

ทำให้ผมสะท้อนคิดถึงชีวิตที่ผ่านมา... แท้จริงเรามิได้ทุกข์ยากลำบากในวันคริสต์มาสเท่านั้น!

ใช่ครับอีก 364 วันในหนึ่งปีของเราก็ทุกข์ยากลำบากด้วยเช่นกัน!    แน่นอนครับ  เราต้องสาละวนอยู่กับการทำมาหากินนั่นเป็นความทุกข์ยากที่หลายคนเห็นว่าไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้   และที่สำคัญคือเราต้องวุ่นวายใจกับการเสริมสร้างปล้ำสู้กับชีวิตของลูก   นอกจากที่ต้องเรียนตามภาคบังคับในโรงเรียนแล้ว   ยังต้องหาที่เรียนพิเศษให้ลูก   หาที่เรียนดนตรี  เล่นกีฬา  เต้นบัลเล่ต์  จ้างครูพิเศษมาสอนทำการบ้านให้ลูก   เพราะต้องการให้ลูกเก่ง เด่น ดี ดัง  และมีอาชีพที่โกยเงินโกยทองได้มากๆ ในอนาคต   และนี่คือที่มาที่พ่อแม่ไม่มีเวลาที่จะอยู่กับลูกอย่างใกล้ชิดด้วยชีวิตสัมพันธ์แบบครอบครัวเลย   ต่างคนต่างไปตามทางของตนเอง   ต่างคนต่างมีกิจกรรมประจำวันของตนเอง   แล้วในที่สุดก็ต่างคนต่างอยู่   ต่างคนต่างคิด   ต่างคนต่างเชื่อ!   และที่สำคัญคือ...

แล้วเราจะให้พระคริสต์อยู่ที่ไหนในชีวิตของเราและครอบครัวอีก 364 วันในหนึ่งปี?

ให้เวลา

ให้เวลากับคนในครอบครัว   ความใกล้ชิดสนิทสัมพันธ์กันในครอบครัว และ การเสริมสร้างกันและกันขึ้นในชีวิตเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง   ไม่มีพระคัมภีร์ตอนใดที่บอกว่า “จงนำให้ลูกหลานของท่านมุ่งกระทำกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละวันตั้งแต่  การเรียนพิเศษ  การเรียนดนตรี  เปียอาโน และฝึกว่ายน้ำ ฯลฯ  เพื่อลูกหลานจะได้เข้าสู่แผ่นดินสวรรค์”   แต่เรากลับพบว่า  พระคัมภีร์กำชับเราผู้เป็นพ่อแม่ว่า “จง​ฝึก​เด็ก​ใน​ทาง​ที่​เขา​ควร​จะ​เดิน​ไป    และ​เมื่อ​เขา​เติบ​ใหญ่ เขา​จะ​ไม่​พราก​จาก​ทาง​นั้น”  (สุภาษิต 22:6 มตฐ.)

นั่นหมายความว่า  เราต้องใส่ใจที่จะเอาสิ่งที่ต้องทำแต่อยู่นอกกรอบกิจกรรมประจำวันเข้ามาเป็นสิ่งกระทำในแต่ละวัน   ไม่ใช่มุ่งแต่เสริมสร้างลูกของเราให้เก่ง เด่น ดัง ด้วยการทุ่มเทเวลาชีวิตกับกิจกรรมที่เรียงรายไว้ทั้งวัน   แล้วในส่วนที่พระเจ้าประสงค์ให้เราบ่มเพาะในชีวิตของลูกกลับไม่ได้ทำ  และพึงระวังว่า การฝึกดนตรี หรือ เปียอาโน การเรียนพิเศษ   การซ้อมกีฬา และกิจกรรมประจำวันที่เต็มเหยียดในชีวิตของลูก  อาจจะกลายเป็นรูปเคารพในชีวิตประจำวันในชีวิตของลูกและพ่อแม่   

เราต้องตระหนักรู้ตัวเสมอว่า “ลูก” เป็นคนที่พระเจ้าประทานและมอบหมายให้เราดูแลรับผิดชอบในการบ่มเพาะ ฟูมฟัก เลี้ยงดู  ไม่มีทางเลี่ยงที่เราจะต้องใส่ใจในความรับผิดชอบที่จะ โค้ช, สอน, เป็นพี่เลี้ยง และ เป็นแบบอย่างแก่ลูกในการเสริมสร้างเขาให้เดิน “ในทางของพระเจ้า”   ในฐานะพ่อแม่เราคงต้องเรียนรู้ที่จะบอกปฏิเสธกับหลายกิจกรรมประจำวัน หรือ ในวันหยุดของลูก   เพียงเพราะเราเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่จะทำให้ลูกของเรา เก่ง เด่น ดัง หรือ ทำเงินได้มากๆ ในอนาคต   แต่ควรหาช่วงเวลาเพื่อให้ลูกมีโอกาสสัมผัสกับ “พันธกิจชีวิต” ที่จะเสริมสร้างเขาเป็นคนที่พระเจ้าพึงประสงค์   สร้างเขาให้เป็นคนอย่างที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้พ่อแม่ใส่ใจดูแล

ให้ตะลันต์ที่มีอยู่

เราสามารถใช้ตะลันต์ที่เรามีอยู่สร้างเสริมประโยชน์ในชีวิตของผู้คน   รวมถึงในชีวิตของลูกด้วย   ตะลันต์ความสามารถที่ว่านี้เป็นความสามารถที่มีในคนธรรมดาอย่างเราท่าน   เช่น  บางคนมีตะลันต์ในการทำอาหารบางอย่าง   ในวันหยุดสุดสัปดาห์ก็อาจจะเปิดบ้านและรวมคนที่สนใจมาร่วมกันทำ  แบ่งปัน  และเรียนรู้จากกันและกัน   และให้ลูกของเรามีส่วนร่วมในการแบ่งปันตะลันต์นั้นด้วย    ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหาร  ขนม  หรือการทำเน็ตติ้ง  การจักสาน  การทำสวนที่บ้าน  นอกจากการที่เราได้เกิดการแบ่งปันเรียนรู้จากกันและกันแล้ว   ลูกของเราจะได้ซึมซับเอาเรื่องของความสัมพันธ์และการเอื้ออาทรที่มีต่อกันเข้าในชีวิตของเขา

พ่อแม่บางท่าน ได้นัดหมายและพาลูกของตนเองไปเยี่ยมคนต่างๆ ที่มีตะลันต์ที่แตกต่างหลากหลาย   เพื่อไปดูและพูดคุย ไถ่ถามถึงการใช้ตะลันต์ของเขาเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นมีความสำคัญและเกิดผลอะไรขึ้นบ้าง   ทั้งนี้ลูกจะได้เรียนรู้ถึงชีวิตที่รับใช้พระเจ้านั้นมีมากมายหลายทาง   และที่สำคัญคือแต่ละคนรับใช้พระเจ้าตามตะลันต์ความสามารถที่ตนมีอยู่   หลายคนที่ได้มีโอกาสใช้ตะลันต์ความสามารถที่ตนมีอยู่รับใช้คนอื่นๆ   และการกระทำเช่นนั้นกลายเป็นสะพานนำคนอื่นเข้ามาร่วมชีวิตในคริสตจักร   “...แต่​ละ​คน​ได้​รับ​ของ​ประ​ทาน ก็​ให้​ใช้​ของ​ประ​ทาน​นั้น​ปรนนิบัติกัน​และ​กัน ดัง​เช่น​ผู้​รับ​มอบ​ฉันทะ​ที่​ดี​เกี่ยว​กับ​พระ​คุณ​นา​นา​ประ​การ​ของ​พระ​เจ้า” (1เปโตร 4:10 มตฐ.) 

ให้สิ่งของ

เรามักคิดว่าเราถวายทรัพย์ในวันอาทิตย์ก็พอแล้ว   ยิ่งกว่านั้นบางคนที่สัตย์ซื่อในการถวายสิบลดก็คิดว่าตนทำได้ดีเยี่ยมตามพระคัมภีร์แล้ว   การให้ทรัพย์สินสิ่งของแก่คนอื่นนั้น   เป็นการสอนและให้แนวทางชีวิตแก่ลูกหลานของเราด้วยเช่นกัน

ในยุควัตถุนิยม   หลายคนในคริสตจักรมีทรัพย์สิ่งของที่เหลือใช้มากมาย   ที่ซุกเก็บไว้ในตู้ในลิ้นชัก  และที่เอาไปเก็บไว้ในห้องเก็บของ(เพราะมันเกะกะบ้าน)  แต่ก็คิดว่าวันหนึ่งอาจจะต้องใช้มัน   แต่จนแล้วจนรอด สิบปี ยี่สิบปี   ก็ไม่ได้เอาไปใช้

บ่อยครั้งที่เราบริจาคสิ่งของเหลือใช้เรามักง่ายครับ   เอาไปให้มูลนิธิ หรือ องค์กรสาธารณกุศลช่วยเอาไปแจกจ่ายแทนเราหน่อย (เราไม่รู้ว่าจะเอาไปให้ใคร หรือ ไม่มีเวลาที่จะมาคิดพิจารณาทำเช่นนั้น?)   การกระทำเช่นนั้นก็เหมือนกับการกวาด “ขยะทรัพย์สมบัติ”  ออกไปจากบ้านเราไปกองไว้ที่องค์กรสาธารณะกุศล

การให้สิ่งของ  ความสำคัญมิได้อยู่ที่สิ่งของที่เราให้ไป   การให้สิ่งของแก่ใครก็ตามความสำคัญอยู่ที่คนที่เราให้และจิตใจน้ำใจของเราที่ต้องการมีความสัมพันธ์ด้วยรักเมตตาที่ลึกซึ้งกับผู้รับ    ดังนั้น   ให้เราเลิกให้ของที่ไม่ดีแล้ว  ไม่ใช้แล้วให้ออกไปจากบ้าน   แต่ให้เราให้ด้วยใจรักผูกพัน   ต้องการช่วยเหลือแบ่งปันกัน    ให้สิ่งที่มีค่าและจำเป็นสำหรับผู้รับ   ให้ด้วยความผูกพันใส่ใจในชีวิตของเขา    การให้สิ่งของแบบนี้ต่างหากที่มีจิตวิญญาณการให้เยี่ยงพระคริสต์ที่จะซึมซับเข้าในจิตใจและจิตวิญญาณของลูกที่ไปกับเราด้วย

สุดท้าย   เช้าวันนี้ผมสะท้อนคิดได้ว่า...  ปีใหม่นี้   ผมจะเอาจริงเอาจังกับการใช้เวลาชีวิตที่ได้รับ   ใช้ตะลันต์ความสามารถที่พระเจ้าประทาน   และใช้ทรัพย์สินสิ่งของที่มีอยู่อย่างรับผิดชอบ    ผมตั้งใจอุทิศสิ่งแรกของแต่ละวันแด่พระองค์   ทุกๆ รุ่งอรุณ  ที่สมองปลอดโปร่ง  แจ่มใส  ความคิดเฉียบคมขอถวายสำหรับพระคริสต์   และให้ทุกเช้าในปีนี้เป็นรุ่งอรุณที่พระคริสต์เข้ามาในชีวิตของผมครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

30 ธันวาคม 2556

ถอดบทเรียนวันที่พระคริสต์มาบังเกิด!

อ่าน ลูกา 2:15-20

เมื่อ​ทูต​สวรรค์​เหล่า​นั้น​ไป​จาก​พวก​เขา​(คนเลี้ยงแกะ) ขึ้น​สู่​สวรรค์​แล้ว
บรรดา​คน​เลี้ยง​แกะ​ก็​พูด​กัน​ว่า
ให้​เรา​ไป​ยัง​เมือง​เบธ​เล​เฮม​ดู​เหตุ​การณ์​ที่​เกิด​ขึ้น​ตาม​ที่​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ทรง​แจ้ง​กับ​เรา   
เขา​ก็​รีบ​ไป แล้ว​พบ​นาง​มา​รีย์​กับ​โย​เซฟ และ​พบ​พระ​กุมาร​นั้น​นอน​อยู่​ใน​ราง​หญ้า    
เมื่อ​พวก​เขา​เห็น​แล้ว​จึง​เล่า​เรื่อง​ที่​เขา​ได้​ยิน​ถึง​พระ​กุมาร​นั้น    
คน​ทั้ง​หลาย​ที่​ได้​ยิน​ก็​ประหลาด​ใจ​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​ที่​คน​เลี้ยง​แกะ​บอก​กับ​เขา    
ส่วน​นาง​มารีย์​ก็​เก็บ​สิ่ง​เหล่า​นั้น​ไว้​และ​รำ​พึง​  (อมตธรรมแปลว่า “ใคร่ครวญ”) อยู่​ใน​ใจ 
(ลูกา 2:15-19 มตฐ.)

การเฉลิมฉลองคริสต์มาสปีนี้ก็คงเสร็จสิ้นไปแล้วนะครับ   โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่บ้านหลายต่อหลายคนต้องอ่อนเปลี้ยเพลียแรงกับการจับจ่ายซื้อของขวัญ และ อาหารสำหรับงานเลี้ยง   บางคนต้องวุ่นวายกับการคิดค้นหาสิ่งที่จะเป็นของขวัญสำหรับคนต่างๆ   ตั้งแต่ลูก คู่สมรส  อาจารย์ที่โบสถ์  เจ้านายที่บริษัท  อีกทั้งเพื่อนฝูงคนสนิท   แล้วบทใคร่ครวญปีนี้มาเสนอให้จัดหาของขวัญสำหรับศัตรูคู่ปรปักษ์อีก   โอ้ย  มันมากมาย  ยุ่งยาก  สับสน  หลายคนเตรียมของขวัญไม่ทัน  บางคนเกือบไม่ทัน   บางคนต้องกลับไปดูตู้เก็บของขวัญที่เคยได้มาในปีก่อนๆแต่ไม่ได้ใช้เอามาห่อเป็นของขวัญสำหรับคนที่ยังหาของขวัญไม่ทัน!

ดูวุ่นวายสับสนเอาการอยู่ใช่ไหมครับ?
แต่มันไม่ใช่แค่นั้นซิ   ยังต้องคิดว่าจะจะเตรียมอาหารอะไรเป็นพิเศษที่จะเลี้ยงกันในครอบครัว
ยิ่งกว่านั้นต้องรีบเพราะมีหน้าที่รับผิดชอบในการเฉลิมฉลองคริสต์มาสที่คริสตจักร
และก็พลาดไม่ได้จะต้องไปร่วมการเฉลิมฉลองคริสต์มาสที่บริษัท หรือ ที่ทำงาน

พอมาถึงวันที่ 27 ธันวาคม   ค่อยหายใจยาวขึ้นได้หน่อย   แต่พอวันที่ 29 ก็ต้องมาคิดเรื่องส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่   คิดถึงที่ต้องอดหลับอดนอนในคืนที่ 31 ธันวาคม  แล้วก็จะต้องเหนื่อยอ่อนใจ   ไม่ไปก็ไม่ได้นั่นเป็นงานที่คริสตจักรที่เรามีส่วนรับผิดชอบด้วย

โอ้ย  “สุขสันติคริสต์มาส”  ทำไมมันถึงยุ่งยาก วุ่นวาย เหนื่อยทั้งกายทั้งใจอะไรเช่นนี้หนอ?   

เมื่อมีเวลามานั่งคิดใคร่ครวญในเช้าวันนี้ก็พบว่า   แท้จริงแล้วไม่จำเป็นที่เราจะต้องยุ่ง วุ่นวาย เหนื่อยยากเช่นนี้เลย   เราคิดเราเชื่ออะไรผิดพลาดไปหรือเปล่าเนียะ?

เมื่ออ่านพระวจนะที่เราได้อ่านกันในตอนนี้   เราเห็นภาพการมาบังเกิดของพระคริสต์   อาจจะสร้างความตื่นเต้น  ประหลาดอัศจรรย์ใจแก่ผู้คนที่ได้ยินได้เห็น  ได้รับการบอกกล่าว   คนเลี้ยงแกะที่ได้รับการเปิดเผยขององค์พระผู้เป็นเจ้าผ่านการแจ้งเล่าข่าวดีของทูตสวรรค์   เมื่อคนเลี้ยงแกะไปตามที่ทูตสวรรค์บอก   และพบสิ่งต่างๆตามที่ทูตสวรรค์เล่า   และตรงกับความคาดหวังในทางความเชื่อของเขา   พวกเขาชื่นชมยินดีและสรรเสริญพระเจ้า   และบอกเล่าข่าวดีที่เขาพบเขาเห็นแก่ผู้คนที่เขาพบเห็น   คนที่ได้รับการบอกเล่าข่าวดีจากคนเลี้ยงแกะก็ประหลาดอัศจรรย์ใจ  ตื่นเต้นไปตามคำบอกเล่าของคนเลี้ยงแกะ

ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า   คนที่ได้ยินคำบอกเล่าของคนเลี้ยงแกะเพียงแค่ประหลาดใจในคำบอกเล่านั้น   แต่พระคัมภีร์มิได้บันทึกว่า  พวกเขารีบไปดูสิ่งที่ประหลาดอัศจรรย์ที่เกิดขึ้น!   ต่างคนต่างยุ่งวุ่นวายท่ามกลางเหตุการณ์ที่ในเมืองนั้น  ที่มีญาติมิตรที่เกิดที่นี่กลับมามากมาย  เพื่อจดทะเบียนสำมโนครัวครั้งใหญ่ตามมหาอำนาจโรมมันสั่งมา   ทั้งนี้เพราะจะมีข้อมูลพื้นฐานเพื่อจัดเก็บภาษีจากคนยิวได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่าเดิม

พวกเขาต้องวุ่นวายจัดหาที่พักหลับนอน   จัดหาอาหารสำหรับรับประทาน   ติดตามหาบ้านญาติ ฯลฯ

พวกเขาต้องว้าวุ่น  วุ่นวายใจ  เหน็ดเหนื่อย  บางคนสิ้นหวัง   และมารีย์ โยเซฟก็ตกในภาวะคับขันเหมือนประชาชนอื่นๆ ในเมืองนั้น   แต่เมื่อสถานการณ์บังคับ   เพราะถึงเวลาที่จะต้องคลอดลูก   เลยต้องเลือกคอกเลี้ยงสัตว์ที่มีลักษณะเป็นถ้ำเป็นที่ให้มารีย์คลอดบุตร   แล้วใช้รางหญ้าต่างเปลนอนให้ทารก

ท่ามกลางความเหนื่อยอ่อนหมดแรง   ท่ามกลางความยุ่งยาก  วุ่นวาย  แก่งแย่งกัน   แล้วยังได้ยินเรื่องประหลาดอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นกับทารกที่เกิดมา   ที่สอดคล้องกับคำทำนายของผู้เผยพระวจนะ   สอดคล้องกับข้อมูลที่ทูตสวรรค์มาปรากฏแก่เธอก่อนหน้านี้เกือบปี   และตรงกับคำทักทายของนางเอลีซาเบ็ธญาติของเธอเมื่อประมาณครึ่งปีที่ผ่าน   เราจะพบในพระคัมภีร์ตอนนี้ว่า   มารีย์ไม่ได้ประหลาดอัศจรรย์ใจอย่างคนอื่นๆ เมื่อได้รับบอกเล่าข่าวดีจากคนเลี้ยงแกะ

แต่มารีย์นำเอาคำบอกเล่าข่าวดีนั้นมา “รำพึง” หรือ “ใคร่ครวญ” ในใจ (ข้อ 19)

มารีย์ไม่ได้เต้นไปตามจังหวะ และ กระแสความวุ่นวาย  สับสน  เหน็ดเหนื่อย   แต่มารีย์มีจิตใจที่สงบท่ามกลางความสับสนว้าวุ่นสิ้นหวัง   แล้ว “รำพึง” “ใคร่ครวญ”  คิดติดตามถึงเหตุการณ์แห่งพระราชกิจของพระเจ้าในชีวิตของเธอ และ ของทารกน้อยที่พระเจ้าทรงให้เธอปกป้องดูแล   แน่นอนครับ มารีย์ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นทั้งในอนาคตอันใกล้ กับอนาคตอันไกล   แต่เธอรู้  เชื่อ  มั่นใจ  และไว้วางใจในพระราชกิจที่พระเจ้ากำลังกระทำ  และคลี่คลายเปิดเผยให้เธอเรียนรู้ไปวันต่อวัน   เหตุการณ์ต่อเหตุการณ์

มารีย์ได้มอบกายถวายชีวิตของเธอแด่องค์พระผู้เป็นเจ้าให้เป็น “ทาสี” ของพระองค์   ชีวิตของมารีย์เป็นชีวิตขององค์พระผู้เป็นเจ้า   เป้าหมายปลายทางชีวิตของเธอคือการรับใช้พระองค์ตามที่พระองค์มีพระประสงค์   ดังนั้นเธอจึงสามารถสงบได้เพราะเธอเชื่อและไว้วางใจว่า   อะไรที่จะเกิดขึ้นในชีวิตของเธอเป็นพระประสงค์อันดีเลิศขององค์พระผู้เป็นเจ้า  

ดังนั้น ชีวิตในทุกวันทุกเหตุการณ์จึงถูกเธอนำมาใคร่ครวญ และ รำพึงภาวนาในจิตใจที่สงบของเธอ

คริสต์มาสที่ผ่านมาเราตื่นเต้น ประหลาดอัศจรรย์ใจ  เหน็ดเหนื่อย  วุ่นวาย  สิ้นหวังเหมือนคนทั้งหลาย

หรือเราสงบ  รับรู้ในทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยจิตใจที่นิ่ง  แล้วนำสิ่งเหล่านั้นใคร่ครวญ  รำพึง  ภาวนา ถึงพระราชกิจและพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตของเราแต่ละคน?   ในแต่ละวัน?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ให้แบบไหนในวันคริสต์มาส

เทศกาลคริสต์มาสเวียนมาอีกรอบหนึ่ง   อย่าให้กรอบคุณค่าของคริสต์มาสตามกระแสสังคมและธุรกิจ  กรอบ  ครอบงำ และคุมขังความความคิดความสนใจของเราอยู่ที่การจับจ่ายใช้เงินทองซื้อหาสิ่งของ  และงานเลี้ยงมากมายในช่วงเวลานี้  

แต่ให้เรามุ่งมองไปที่หัวใจของคริสต์มาสคือ   การสำนึกด้วยจิตใจที่ขอบพระคุณในพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่เหนือที่จะนับและบรรยายได้   ที่พระเจ้าประทานพระเยซูคริสต์พระผู้ช่วยให้รอดของมวลมนุษย์ให้เข้ามาในสังคมโลก   โดยใช้ชีวิตของพระองค์ที่ “ให้” สิ่งที่ดีมีคุณค่าที่สุดแก่มนุษยชาติ   และในที่สุดพระองค์ “ให้” แม้กระทั่งชีวิตทั้งชีวิตของพระองค์เพื่อไถ่ถอนปลดปล่อยให้มวลมนุษย์หลุดรอดออกจากจากอำนาจวงจรอุบาทว์แห่งความบาปชั่วร้าย   “พระเยซูคริสต์มาให้ชีวิตเพื่อเราจะได้ชีวิต”  เรามนุษยชาติจึงมีโอกาสที่จะได้ชีวิตที่มีคุณค่าสูงสุดหรือครบบริบูรณ์

ที่สำคัญคือเรามิได้มุ่งมองคุณค่าสูงสุดดังกล่าวในเทศกาลคริสต์มาสเท่านั้น    แต่วันคริสต์มาสคือ “โอกาส” ที่เราแต่ละคนได้มีเวลา “สงบเงียบ” ในชีวิตส่วนตัวของเรา   ที่จะสำรวจทบทวนว่า  ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเรามุ่งมองหาที่จะ “ได้” ที่จะ “เอา”   หรือเรามุ่งมองหาโอกาสที่จะ “ให้”   ให้อย่างที่พระเยซูคริสต์ที่ให้ด้วยจิตใจที่รักเมตตาและเสียสละ   ขอให้จิตใจที่ “ให้” แบบพระคริสต์ เป็นจิตใจที่เกิดขึ้นในทุกวันตั้งแต่วันคริสต์มาสนี้   เพื่อเราจะได้ประสบพบเจอกับสันติสุขที่ได้รับจากการที่เรา “ให้”    

พระลักษณะการให้ของพระเยซูคริสต์คือ

เหมือน​บุตร​มนุษย์​ (พระเยซูคริสต์) ที่​ไม่​ได้​มา​เพื่อ​รับ​การ​ปรนนิบัติ แต่​มา​เพื่อปรนนิบัติคน​อื่น
และ​ให้​ชีวิต​ของ​ท่าน​เป็น​ค่าไถ่​คน​จำนวน​มาก (มัทธิว 20:28; มาระโก 10:45 มตฐ.)

จง​มี​จิต​ใจ​เช่น​นี้​ใน​พวก​ท่าน​เหมือน​อย่าง​ที่​มี​ใน​พระ​เยซู​คริสต์   
ผู้​ทรง​สภาพ​เป็น​พระ​เจ้า ไม่​ทรง​ถือ​ว่า​ความ​ทัด​เทียม​กับ​พระ​เจ้า​เป็น​สิ่ง​ที่​จะ​ต้อง​ยึด​ไว้    
แต่​ทรง​สละ (ให้) ​พระ​องค์​เอง​และ​ทรง​รับ​สภาพ​ทาส
ทรง​ถือ​กำเนิดเป็น​มนุษย์ และ​ทรง​ปรา​กฎ​อยู่​ใน​สภาพ​มนุษย์ (ฟิลิปปี 2:5-7 มตฐ.)

วันนี้   ผมขออนุญาตแบ่งปันข้อคิดคำคม ของบางท่านที่ผมเคยได้ยินได้ฟังและได้อ่านมา   ที่มุ่งเน้นกับ “การให้” จากจิตใจรักเมตตาแก่ผู้คนในชีวิตของเขา  แน่นอนครับ การให้ทำให้เราได้รับความสุขสันต์ยิ่งกว่าการไขว่คว้าหาเอามาเพื่อเป็นของตนเอง ครับ
  • “เราอยู่รอดจากสิ่งที่เราได้   แต่เราช่วยให้ชีวิตคนอื่นเป็นอยู่ได้ด้วยการให้”    Winston Churchill
  • “เรารู้สึกซาบซึ้งชื่นชมสองสถานด้วยกัน   ประการแรกเป็นการรู้สึกแบบ “ทันที” เมื่อเราได้รับสิ่งหนึ่งสิ่งใด   กับการที่รู้สึกที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นเมื่อเราเป็นผู้ให้”  Edward Arlington Robinson
  • “ท่านไม่สามารถละทิ้งทรัพย์ศฤงคารของท่านทั้งหมดได้   แต่อย่างน้อยที่สุดท่านสามารถเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับทรัพย์สมบัติเหล่านั้นว่า   การที่มุ่งมองไขว่คว้าเพื่อให้ได้สิ่งเหล่านั้นมาเป็นของตน  เป็นการแยกตัวท่านออกห่างจากคนอื่น   แต่การที่ท่านให้ทุกอย่างเป็นการที่ผูกพันท่านเข้ากับคนทั้งหลาย”  St. Francis of Assisi
  • บาง​คน​ยิ่ง​แจก​จ่าย​ยิ่ง​มั่ง​คั่งบาง​คน​ยิ่ง​หวง​สิ่ง​ที่​ควร​จ่าย​แจก​ก็​ยิ่ง​ขัด​สน คน​ใจ​กว้าง​ย่อม​เจริญ​รุ่ง​เรืองคน​ที่​ให้​น้ำ​คน​อื่น​ย่อม​ได้​น้ำ​ตอบ​แทน   (สุภาษิต 11:24-25 มตฐ.)
  • “หัวใจของผู้ให้  ทำให้สิ่งที่ให้น่ารักและล้ำค่า”   Martin Luther 
  • “คุณสามารถให้โดยปราศจากความรักเมตตา  แต่คุณไม่สามารถมีจิตใจที่รักเมตตาโดยไม่มีการให้”   Robert Louis Stevenson
  • “สิ่งที่ผมเห็นว่าเป็นการให้ด้วยใจกว้างขวางคือ   แม้เมื่อคุณให้ทั้งหมด  แต่ก็ยังรู้สึกว่าท่านไม่ได้สูญเสียอะไรเลย”  Simone De Beauvoir 
  • “สิ่งที่เราทำเพื่อตนเองมันก็จบสิ้นพร้อมกับการตายของเรา   แต่สิ่งที่เราทำเพื่อผู้อื่นและทำเพื่อสังคมโลกสิ่งนั้นจะคงอยู่และเป็นอมตะ”   Albert Pike
  • “เป็นการง่ายที่เราจะรับมากกว่าการให้    แต้เป็นคุณธรรมสูงส่งเมื่อเราให้มากกว่าเมื่อเรา “รับ”  และ “เอา”    ความเร้าใจที่ “รับและเอา” ยืดยาวไปแค่วันหนึ่ง   แต่ความชื่นชมตื่นเต้นจาก “การให้” จะยาวนานไปตลอดชีวิต”  Joan Marques
  • “ข้าพเจ้าได้พบว่า “การให้” ปลดปล่อยจิตวิญญาณของผู้ให้”   Maya Angelou
  • “ในเมื่อท่านได้รับความชื่นชมยินดีมากขึ้นจากการให้ความชื่นชมยินดีแก่ผู้อื่น  ท่านพึงให้ความคิดที่มีความสุขศานติแก่ผู้คนตามที่สามารถให้ได้ด้วย”   Eleanor Roosevelt
  • “พึงตระหนักไว้เสมอว่า   คนที่มีความสุขที่สุดมิใช่คนที่ไขว่คว้าเอามาเป็นของตนได้มากที่สุด   แต่คนที่ให้มากต่างหาก”   H. Jackson Brown, Jr.
  • “ข้าพเจ้ามีชื่นชมยินดีที่ยิ่งใหญ่ในการให้   ทำให้เกิดความตื่นเต้นภูมิใจ   ทำให้เกิดความเบิกบาน ร่าเริง และดีอกดีใจ  เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ข้าพเจ้ามีส่วนในการแบ่งปันความรักของตน  ความชื่นชมยินดีของตนแก่ผู้คนรอบข้าง”   W. Clement Stone


การให้ก็มีหลายแบบ และ จากหลายแรงกระตุ้น และ บันดาลใจ
ปีนี้ท่านมีโอกาสที่จะให้แบบพระคริสต์ ที่ให้จากชีวิตจิตใจของท่านหรือไม่?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

23 ธันวาคม 2556

ปีนี้เฮาบ่เล่นคริสต์มาสเน้อ?

อ่านทิตัส 2:11-14

11 เพราะพระคุณของพระเจ้าซึ่งนำความรอดมานั้นได้ปรากฏแก่คนทั้งปวง

12 สิ่งนี้สอนให้เราปฏิเสธความอธรรมและโลกียตัณหา   และสอนเราให้ดำเนินชีวิตในยุคนี้อย่างคนที่รู้จักควบคุมตนเอง   เป็นคนยุติธรรมและอยู่ในทางของพระเจ้า  

13 ขณะที่เรารอคอยความหวังอันเปี่ยมด้วยพระพร  คือการปรากฏของพระองค์อย่างทรงพระเกียรติสิริของพระเจ้าองค์พระผู้ช่วยให้รอดผู้ยิ่งใหญ่ของเราคือพระเยซูคริสต์

14 ผู้ประทานพระองค์เองแก่เราเพื่อไถ่เราให้พ้นจากความชั่วทั้งปวง   และเพื่อชำระเราให้บริสุทธิ์ไว้สำหรับพระองค์   เป็นประชากรของพระเยซูคริสต์เพียงผู้เดียว   เป็นผู้กระตือรือร้นที่จะทำสิ่งดี
(ทิตัส 2:11-14 อมต.)

เมื่อเป็นเด็ก   เวลาคิดถึงวันคริสต์มาส และเมื่อเรานับถอยหลังถึงวันคริสต์มาสทำให้เราตื่นเต้น

อะไรที่ทำให้เราตื่นเต้น?   คงมีหลายอย่างครับ   ประการแรกเราตื่นเต้นเพราะเราคาดหวังว่าเราจะได้ของขวัญ   แม้เราจะไม่มีค่อยมีโอกาสเหมือนเด็กฝรั่งที่เขียนของขวัญที่ต้องการถึง “ซานตาครอส”  แล้วเบื้องหลังพ่อแม่ไปซื้อสิ่งที่ต้องการนั้นมาใส่ถุงของขวัญให้ก็ตาม   แต่เราก็ตื่นเต้นที่จะได้สิ่งของที่เราไม่ต้องจ่ายเงินซื้อเอง   บางครั้งก็ดีกว่าที่เราคาดหวังเสียอีก

ประการที่สองเราจะได้กินขนมมากมาย และ อาหารที่อร่อยมากกว่าปกติ

ประการที่สามเป็นโอกาสที่เราจะได้แสดงบนเวที   ได้รับรางวัล  และที่สำคัญได้รับเสียงปรบมือ   ซึ่งปกติมักไม่ค่อยได้รับ   มันทำให้รู้สึกใจพองโตขึ้นเยอะ   แล้วยังทำให้คนอื่นเห็นว่าเรามีความสามารถนะ

ประการที่สี่   มีโอกาสออกไปร้องเพลงอวยพรตามบ้าน   ซึ่งก็มีโอกาสเพียงปีละครั้งเดียว   ออกไปตามบ้านต่างๆ   แล้วก็ได้รับประทานขนมเหลือเฟือจนทานไม่หมด  แล้วยังหอบกลับมาที่โบสถ์และที่บ้านด้วย

ประการที่ห้า   วันคริสต์มาส ที่โบสถ์มีการตกแต่ง สีสัน สวยงาม  สะดุดตาชวนดู   ทำให้คิดต่อไปว่า  ทำไมเขาไม่ตกแต่งโบสถ์ให้สวยงามน่ามองน่าชม  มีชีวิตชีวา  แต่นี่มักปล่อยให้ซอมซ่อไปเกือบตลอดปี   มาตื่นตาตื่นใจก็ในช่วงคริสต์มาสนี้แหละ

แต่ท่านเชื่อไหมครับ  ความสุข ความปรารถนา และความคาดหวังลึกๆ เหล่านี้ยังติดค้างเมื่อเรามาเป็นผู้ใหญ่   เมื่อถึงเวลาต้องเตรียมงานคริสต์มาสของคริสตจักร   เราพูดปรึกษากันถึงเรื่องอะไรบ้างครับ?   เรื่องใครจะตกแต่งโบสถ์   จะตกแต่งแบบไหนดี?   เราจะเลี้ยงอาหารอะไร?   ใครเป็นคนจัดและรับผิดชอบ?   แล้วปีนี้เราจะแลกของขวัญกัน   ราคาของขวัญต้องชิ้นละไม่ต่ำกว่ากี่บาท?   อ้อ ปีนี้เราจะมีคณะนักร้องออกไปร้องเพลงอวยพรไหม?  ใครจะไปบ้าง?   ใครจะนำ?   บ้านไหนจะเปิดบ้านรับพระพรบ้าง?   แล้วสิ่งที่ไม่น่าจะลืม   ปีนี้เราจะมีการแสดงบนเวทีไหม?   ประเด็นนี้น่าตื่นเต้นสำหรับคนที่เป็น “แม่”  เพราะจะได้ประกวดประชันลูกหลานใครเต้นเก่ง  วาดลวดลายยอดเยี่ยม  แสดงความสามารถได้สุดๆ?   บางคริสตจักรต้องเปิดเวทีค่ำคืนก่อนฉลองคริสต์มาสเพื่อการแสดงโดยเฉพาะ   ลูกหลานสมาชิกวาดลวดลายเต็มที่   ทั้งชุดสั้นโชว์กางเกงใน  โยกหน้า  โยกหลัง   ไม่ผิดกับเวทีแสดงอื่นๆ   หลายรายการไม่แตกต่างกับโชว์ในงานเวทีรำวง!

ทำให้หลายคนต้องถามว่า   นี่มันงานฉลองการเสด็จมาของพระคริสต์พระผู้ช่วยให้รอดหรือ?

ปีนี้เพื่อนผมคนหนึ่งมาแปลกครับ   เขาบอกกับผมว่า  “ปีนี้เฮาบ่อเล่นคริสต์มาสเน้อ!”  (ภาษาไทยกลางหมายความว่า “ปีนี้เราไม่เล่นคริสต์มาสน่ะ”)   เขาหมายความว่า  ปีนี้คริสต์มาสไม่ต้องมีการจับฉลากของขวัญที่แต่ละคนเอามาไหม?   ปีนี้เราไม่ต้องวุ่นวายเลี้ยงข้าวปลาอาหารจะเป็นอย่าไร?   ปีนี้เราไม่จัดแสดงบนเวทีดีไหม?

นอกจากคำเทศนาของนักเทศน์ในวันคริสต์มาส และ เพลงนมัสการ  และเพลงพิเศษในการสรรเสริญพระเจ้าแล้ว   สิ่งอื่นที่คริสตจักรทุ่มแรงทุ่มใจจัดฉลองคริสต์มาสได้สื่อสารความหมายถึงการเสด็จมาของพระคริสต์   เพื่อไถ่ถอนปลดปล่อยให้มนุษย์หลุดรอดออกจากอำนาจความบาปผิดอย่างไร?   และพระองค์มีพลังอำนาจในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราได้อย่างไร?   หรือเรากำลังฉลองฤทธิ์อำนาจของความบาปชั่วที่สามารถครอบงำชีวิตของเราอยู่อย่างเหนียวแน่น   ทั้งๆ ที่พระคริสต์เสด็จมาเพื่อยอมสละชีวิตไถ่ถอนชีวิตของพวกเรามาเป็นเวลากว่า 2000 ปีแล้ว?  

จากพระธรรมทิตัส 2:11-14  ได้เตือนคริสตชนถึงคุณค่าและความหมายของการเสด็จมาของพระคริสต์ว่า
  1. เป็นพระคุณของพระเจ้าที่ทรงไถ่ถอนเราให้หลุดรอดออกมาจากอำนาจของความบาปชั่ว
  2. เป็นการที่พระองค์ประทานชีวิตของพระองค์เพื่อไถ่เราจากอำนาจชั่วนั้น  เพื่อชำระเราให้มีชีวิตที่บริสุทธิ์   ชีวิตที่พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า
  3. เป็นพลังอำนาจที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของเราให้สามารถ ละเลิก ปฏิเสธความปรารถนาตามกระแสสังคมโลก  ความอธรรมทั้งหลาย   และสามารถควบคุมตนเองได้
  4. เป็นพลังเสริมหนุนให้เราเป็นคนที่ยุติธรรม  และ  ดำเนินชีวิตในทางของพระเจ้า
  5. เป็นพลังหนุนเสริมให้เรามีชีวิตที่เป็นของพระคริสต์   และกระตือรือร้นกระทำดีเพราะพระคริสต์เป็นแบบอย่างและมีพระประสงค์เช่นนั้น


ซึ่งสรุปได้ว่า   การเสด็จมาของพระคริสต์ หรือ คริสต์มาสนั้น   คือการที่พระเยซูคริสต์ทรงนำโอกาสมาในโลกนี้เพื่อปวงชนทั้งสิ้นจะได้มีชีวิตที่มีความเป็นคนอย่างสมบูรณ์   ข่าวดีที่พระเยซูคริสต์นำมาก็คือ   ในแต่ละวันเป็นโอกาสที่พระองค์ประทานให้เราได้รับโอกาสที่จะมีชีวิตที่ครบบริบูรณ์มากยิ่งขึ้น    และเมื่อเรามองย้อนหลังในแต่ละวันเราควรจะเห็นพัฒนาการชีวิตคริสเตียนของเราที่ใกล้ชิดและเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้นทุกวัน

ใช่ครับ   ปีนี้เรา “บ่อเล่นคริสต์มาสเน้อ”   แต่เราจะเอาจริงเอาจังกับการเสด็จเข้ามาของพระคริสต์ในชีวิตของเราแต่ละคน  ที่พระองค์เสด็จเข้ามาในครอบครัวของเราแต่ละครอบครัว   และที่พระองค์เสด็จเข้ามาในคริสตจักรและในชุมชนของเรา  และที่พระองค์ไปที่ทำงานกับเราทุกวัน

เราจะละเลิกและปฏิเสธคริสต์มาสที่สร้างความวุ่นวาย ยุ่งเหยิง  เหนื่อยอ่อน  หมดแรงอย่างที่เราฉลองกันได้ไหม?   และใช้ช่วงเวลาแห่งการเตรียมรับเสด็จ และ คริสต์มาสนี้   มีเวลาที่จะสงบ  ใคร่ครวญ   ใกล้ชิด  ฟังถึงพระประสงค์ของพระเจ้า   ขอรับพลังการเปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่จากพระองค์   แล้วใช้ชีวิตที่สงบ สุขุม ใกล้ชิดพระเจ้านี้กระทำในสิ่งที่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้า
  • ปีนี้ท่านคาดหวังอะไรในช่วงเวลาการเตรียมรับเสด็จ และ ช่วงเวลาคริสต์มาส?
  • ท่านเคยคาดหวังที่จะรับการเปลี่ยนแปลงชีวิตของท่านจากพลังอำนาจของพระคริสต์หรือไม่?
  • เมื่อเราคิดถึง “พระกิตติคุณ” ซึ่งเป็นข่าวดีสำหรับชีวิตของเราทุกคน   ท่านคิดอย่างไรว่า  ข่าวดีของพระคริสต์จะมีพลังกระทบต่อชีวิตในปัจจุบันทุกวันนี้ และ อนาคตของเราอย่างไรบ้าง?


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

เก็บเกี่ยวผลดีจากความขัดแย้ง

แต่​ปัญ​ญา​จาก​เบื้อง​บน​นั้น​บริ​สุทธิ์​เป็น​ประ​การ​แรก
แล้ว​จึง​เป็น​ความ​สงบ​สุข
การ​ผ่อน​หนัก​ผ่อน​เบา
การ​ยอม​รับ​ฟัง
การ​เต็ม​เปี่ยม​ด้วย​ความ​เมต​ตา​และ​ผล​ดี​ต่างๆ
ไม่​มี​การ​ลำ​เอียง ไม่​มี​การ​หน้า​ซื่อ​ใจ​คด
และ​พวก​ที่​สร้าง​สันติ ซึ่ง​หว่าน​ด้วย​สันติ ก็​จะ​ได้​รับ​ผล​คือ​ความ​ชอบ​ธรรม
(ยากอบ 3:17-18 มตฐ.)

เมื่อมีใครกระทำผิดต่อเรา   เป็นโอกาสที่จะช่วยเราให้ระลึกว่าพระเจ้าทรงครอบครองสากลจักรวาลด้วยความรักเมตตา   ดังนั้น  เมื่อเราต้องประสบพบกับความยากลำบากในเวลาเช่นนั้นให้เรายกโทษแก่คนๆ นั้น  

  • ใช้เวลาใคร่ครวญว่าพระเจ้าอาจจะทรงใช้โอกาสที่เราถูกทำให้ขุ่นเคืองใจให้เกิดสิ่งที่ดีอย่างไรบ้าง?  
  • นี่มิใช่โอกาสธรรมดาที่จะทำให้เกิดการยกย่องสรรเสริญพระเจ้ามิใช่หรือ?   
  • ในโอกาสพิเศษเช่นนั้นเราจะมีส่วนรับใช้คนอื่นและช่วยเขาให้เติบโตขึ้นในการดำเนินชีวิตได้อย่างไร?   
  • ความบาปและความอ่อนแอของเราอะไรบ้างที่สำแดงออกมา  เพื่อจะช่วยให้เรามีชีวิตที่เติบโตขึ้น?  
  • ในโอกาสพิเศษเช่นนั้นได้ท้าทายให้เราเปลี่ยนแปลงพัฒนาบุคลิกชีวิตของเราในด้านใดบ้าง?  
  • ให้เรามอง(มีมุมมอง)ว่าคนนั้นที่กระทำผิดต่อเรา กำลังเป็นเครื่องมือของพระเจ้าที่จะเปลี่ยนแปลงเสริมสร้างให้เราเติบโตขึ้นในพระคริสต์   เพื่อเราจะรับใช้คนอื่น   และถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า  
  • ถ้าเรามีมุมมองเช่นนี้ต่อคนที่กระทำผิดต่อเราก็จะช่วยให้เราสามารถมีจิตใจที่จะให้อภัยได้ง่ายขึ้น

ความขัดแย้ง  สิ่งเลวร้าย  การทดลอง   ความทุกข์ยาก  การสูญเสีย   และสถานการณ์ที่แย่ๆ ทั้งหลาย   เป็นโอกาสที่พระเจ้าทรงนำสิ่งดีเยี่ยมให้เกิดขึ้นในชีวิตของเรา และ คนล้อมรอบตัวเรา   บ่อยครั้งที่สถานการณ์ความเจ็บปวดสุดแสบในชีวิตที่นำให้เกิดผลดีครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตของเรา   ไม่ต่างอะไรไปจากการเก็บเกี่ยวสิ่งดีๆ ในชีวิตภายหลังสถานการณ์ที่ทุกข์ยาก  เลวร้าย  ลงแรง  ทุ่มเท  เอาใจใส่ด้วยจิตใจเมตตาอดทนและการสร้างสรรค์

ในฐานะที่เราอยู่ในสังคมการเกษตร   การทำเกษตรกรรมของเกษตรกรย่อมคาดหวังการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ดีเลิศ   แต่แน่นอนครับเกษตรกรรู้อยู่แก่ใจว่า   ไม่ว่าจะแห้งแล้ง   ถูกคุกคามจากโรคร้าย  ภัยแมลง/ศัตรูพืช   เกษตรกรจะทุ่มเททั้งกายใจที่จะรับมือและจัดการกับสถานการณ์เลวร้ายที่ไม่พึงประสงค์เหล่านั้น   เพื่อที่จะปกป้อง  และบำรุงเลี้ยงพืชที่ตนปลูกให้เกิดผลเพิ่มพูนทวีคูณ   เวลาแห่งความยากลำบากและเลวร้ายกลับถูกมองว่าเป็นเวลาที่เกษตรกรต้องทุ่มเทเอาจริงเอาใจด้วยความหวังถึงการเก็บเกี่ยวที่อุดมสมบูรณ์

เช่นเดียวกัน   พระเจ้าทรงนำเราในการเผชิญหน้ารับมือและจัดการกับความขัดแย้ง  ในสถานการณ์นั้นเราต้องถูกทดลอง  พบความเลวร้าย  รับความทุกข์ยากลำบาก   แต่นั่นเป็นโอกาสจากพระเจ้าที่นำมาซึ่งการเกิดสิ่งดีๆ ในชีวิต   เกิดการเก็บเกี่ยวผลิตผลจากความทุกข์ยากลำบาก  ขัดแย้ง  ด้วยความรักเมตตาและอดทน    แน่นอนครับสถานการณ์ที่ขัดแย้งเลวร้ายนี้มิใช่จะหายไปชั่วข้ามคืน   แต่ต้องใช้เวลาบางครั้งแรมเดือนแรมปีในความทุกข์โศก  ในการเสียน้ำตา  รับความเจ็บปวดในชีวิต   และใช้เวลาในการบ่มเพาะวินัยชีวิตของเราขึ้นใหม่   และผลที่สุดชีวิตของเราได้รับการปรับเปลี่ยน  แก้ไข  และพัฒนาเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้น    และการที่ชีวิตของเราแต่ละคนจะมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้นนั้นมักผ่านสถานการณ์และเส้นทางชีวิตที่ขรุขระยากลำบาก  ทนทุกข์ และเจ็บปวดทั้งสิ้น   ใครบ้างหนอที่มีชีวิตที่เป็นเหมือนพระคริสต์มากยิ่งขึ้นด้วยเส้นทางชีวิตที่สะดวกสบาย?

ในสถานการณ์ความขัดแย้ง   พระเจ้าประทานโอกาสนั้นเพื่อให้เรามีชีวิตที่ยกย่องและสรรเสริญพระองค์   เป็นโอกาสที่เราจะรับใช้คนอื่น   เปิดโอกาสให้เราเป็นส่วนหนึ่งในการกระทำตามพระราชกิจของพระเจ้า   และได้รับสิ่งดีเลิศที่พระองค์ประทานแก่เราในชีวิต  

แต่บ่อยครั้งเช่นกันที่เราดื้อรั้น  ปฏิเสธที่จะให้อภัย   หรือเราต้องการแสดงให้ผู้คนได้ประจักษ์ว่าเราเป็นฝ่ายถูก   หรือต้องการที่จะแก้เผ็ด   เราไม่ต้องการเป็นเหยื่อของการถูกเอาเปรียบ   เราผิดพลาดและล้มเหลวที่จะจับฉวยโอกาสนี้ที่จะเปลี่ยนแปลง  แก้ไข  และพัฒนาชีวิตของเรา    ใช่ครับ  เราพลาดโอกาสที่จะเก็บเกี่ยวสิ่งดีๆ ในชีวิตที่เราได้ทุ่มเทออกแรง  ทำงานหนัก  เหนื่อยยาก  อาบเหงื่อต่างน้ำ

การหว่าน  การเอาใจใส่ดูแล  และการเก็บเกี่ยวเป็นกระบวนการเดียวกัน ที่ต้องขับเคลื่อนไปตามจังหวะที่สอดคล้องกัน  และไม่สามารถแยกออกจากกันได้   แต่พระวจนะของพระเจ้าให้สัญญาแก่เราว่า   “...พวก​ที่​สร้าง​สันติ ซึ่ง​หว่าน​ด้วย​สันติ ก็​จะ​ได้​รับ​ผล​คือ​ความ​ชอบ​ธรรม” (ยากอบ 3:18)

ให้เราหว่านศานติท่ามกลางความขัดแย้งมุ่งร้ายที่เรากำลังเผชิญอยู่   เพื่อรอการเก็บเกี่ยวผลดีเลิศในชีวิตที่ทรงประทานจากเบื้องบน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

21 ธันวาคม 2556

เมื่อ “พระเมสสิยาห์” เป็นคนละองค์กับที่เราคาดหวัง?

อ่านมัทธิว 11:2-11

ยอห์น​ซึ่ง​อยู่​ใน​คุก ได้​ยิน​เกี่ยว​กับ​งาน​ต่างๆ ของ​พระ​คริสต์​ก็​ใช้​พวก​ศิษย์​ไปทูล​ถาม​พระ​องค์​ว่า
ท่าน​เป็น​คน​ที่​จะ​มา​นั้น หรือ​ว่า​เรา​จะ​ต้อง​รอ​คอย​คน​อื่น?
(มัทธิว 11:2)

ภายหลังที่ยอห์นผู้ให้บัพติศมาคอยสดับตรับฟังถึงสิ่งที่พระเยซูคริสต์กระทำ   ทำให้เขาเกิดความไม่แน่ใจ  จึงส่งลูกศิษย์ของตนเองไปถามพระเยซูว่า  “ท่านเป็นคนที่จะมานั้น  หรือว่าเราต้องรอคอยคนอื่น?”  นี่เป็นคำถามที่วนเวียนอยู่ในห้วงลึกแห่งจิตใจของเขา   เพราะยอห์นเองเข้าใจตนเองว่าเป็นผู้มาเตรียมทางสำหรับพระเมสสิยาห์   แต่เริ่มแรกเขาเข้าใจว่าพระเยซูคริสต์คือพระเมสสิยาห์   แต่เมื่อคอยติดตามพระรากิจของพระองค์   ในคุกที่ๆ เงียบที่เขามีโอกาสใคร่ครวญอย่างสุขุม   เขาเกิดคำถามตนเองว่า   พระเยซูคือคนที่พวกเขารอคอยหรือไม่?

ทำไมยอห์นถึงเกิดคำถามในใจเช่นนี้?

ยอห์นต้องรู้เรื่องราวการตั้งครรภ์และการเกิดของเขากับพระเยซู (ลูกา บทที่ 1)   เขารู้ว่าตนมีหน้าที่ที่จะประกาศถึงการมาของพระเมสสิยาห์   และ ยอห์นเป็นคนที่ให้บัพติศมาแก่พระเยซูด้วยตนเอง   และยังบอกลูกศิษย์ของตนเองว่าคนนี้แหละคือคนที่พระเจ้าส่งมา   เพื่อการปลดปล่อยอิสราเอล   เวลานี้เมื่อต้องอยู่โดดเดี่ยวในคุก   ยอห์นเกิดคำถามในใจของเขาว่า

“ท่านเป็นคนที่จะมานั้น หรือว่าเราต้องรอคอยคนอื่น?”

ในความรู้สึกของยอห์น รู้สึกว่าเหตุการณ์งานของพระเยซูดูจะไม่ได้เป็นไปอย่างที่เขาและผู้คนคาดฝัน   เพราะพระเมสสิยาห์ที่ยอห์นประกาศว่าจะมานั้น   จะมาด้วยการแก้แค้น และ ด้วยอำนาจยิ่งใหญ่   ที่จะนำไปสู่การตั้งอาณาจักรใหม่ที่มีความยุติธรรม   แน่นอนครับ  ยอห์นต้องงงงวยอย่างมาก   พระเยซูไม่มีแนวโน้มที่จะทำอย่างที่อิสยาห์ทำนายและที่พวกเขาคาดหวังว่า 

“...เพื่อ​นำ​ข่าว​ดี​มา​ยัง​คน​ที่​ทุกข์​ใจ
พระ​องค์​ทรง​ส่ง​ข้าพเจ้าไป​เพื่อ​ปลอบ​โยน​คน​ชอก​ช้ำ​ใจ
และเพื่อ​ประกาศ​อิสรภาพ​แก่​บรรดา​เชลย
ทั้ง​ประกาศ​การ​เปิด​เรือน​จำ​แก่​ผู้​ที่​ถูก​จำ​จอง...”  (อิสยาห์ 61:1)

กล่าวคือพวกเขาคาดหวังว่า พระเมสสิยาห์จะต้องมาเพื่อปลดปล่อยด้านการเมืองและการปกครอง  ดังนั้น เขาจึงเกิดคำถามในใจว่า 

ท่านเป็นคนที่จะมานั้น หรือว่าเราต้องรอคอยคนอื่น?”

คำถามนี้เป็นคำถามที่เยี่ยมและเหมาะสมในช่วงเวลาของการเตรียมรับการเสด็จมาของพระคริสต์สู่ชีวิตของเรา   เป็นช่วงเวลาที่เรารอคอยด้วยการคาดหวัง   แต่เป็นช่วงเวลาที่เราควรสงบชื่นชมยินดีแต่กลับถูกครอบงำบดบังด้วยความว้าวุ่นไร้ความสงบในจิตใจ   จิตใจที่ถูกครอบงำและคลุมด้วยความมืด  สลัว และเศร้าหมอง  

เรากำลังรอคอยคาดหวังบางสิ่ง บางคน บางเหตุการณ์ที่แตกต่างจากสิ่งที่พระคริสต์กระทำหรือไม่?

เรารอคอยและคาดหวังในบางสิ่งบางคน และบางเหตุการณ์ที่เราจะมั่นใจ  พอใจ อิ่มใจมากกว่านี้ใช่ไหม?

เรากำลังรอคอยและคาดหวังว่า  ชีวิตเราน่าจะเป็นผู้มีชัยมากกว่านี้หรือเปล่า?

ในช่วงเวลาเตรียมการเข้ามาของพระคริสต์ในชีวิตของเรา   ให้เรากลับทบทวนและใคร่ครวญถึงคำตอบที่พระเยซูคริสต์ฝากลูกศิษย์ไปบอกยอห์นผู้ให้บัพติศมาที่ถูกขังในคุกว่า
...ไป​บอก​ยอห์น​ใน​สิ่ง​ที่​พวก​ท่าน​ได้​ยิน​และ​ได้​เห็นคือ​ว่า...
บรรดาคน​ตา​บอด​เห็น​ได้ พวก​คน​ง่อย​เดิน​ได้
บรรดา​คน​ที่​เป็น​โรค​เรื้อน​หาย​สะอาด
บรรดา​คน​หู​หนวก​ได้​ยิน
บรรดา​คน​ตาย​เป็น​ขึ้น และ​คน​ยาก​จน​ทั้ง​หลาย​ได้​รับ​ข่าว​ดี    
ใคร​ไม่​มี​เหตุ​สะ​ดุด​ใน​ตัว​เรา คน​นั้น​ก็​เป็น​สุข”  (มัทธิว 11:4-6)

คำตอบของพระคริสต์กระตุกจิตสำนึกของผมในช่วงเวลาเตรียมรับเสด็จนี้ว่า

พระเมสสิยาห์ที่เรารอคอยคาดฝันแตกต่างจาก พระเมสสิยาห์ตามพระประสงค์ของพระเจ้า   เราต้องการพระเมสสิยาห์ตามกระแสโลกปัจจุบัน   เราต้องการพระเมสสิยาห์ที่สำแดงพลังอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมและการเมือง    ในขณะที่พระคริสต์สำแดงว่าพระเมสสิยาห์ตามพระประสงค์ของพระเจ้าคือ  ผู้ที่เอาใจใส่คนที่ถูกกระทำในลักษณะต่างๆ  คนที่ไม่สามารถจะมองเห็น   คนที่ไม่สามารถพูดออกมาได้   คนที่ไม่สามารถขับเคลื่อนไปด้วยตนเอง   คนที่ถูกตีตรากล่าวร้ายจนอยู่ในสังคมชุมชนไม่ได้   คนที่มีชีวิตแต่เป็นชีวิตที่ “ตาย” จากศักดิ์ศรีและพระฉายาของพระเจ้า   ข่าวดีของพระคริสต์ประกาศแก่คนเหล่านี้ที่ถูกฉกฉวยและทำลายโอกาสที่พระเจ้าประทานให้   คนยากคนจน   แท้จริงแล้วข่าวดีของพระเยซูคริสต์คือพระองค์ทรงใช้ชีวิตเคียงข้างคนยากคนจน คนเล็กน้อยและคนถูกกระทำ

ถ้าพระคริสต์เข้ามาในชีวิตของเรา   และชีวิตของเราต้องเปลี่ยนไปเป็นเหมือนอย่างพระองค์เป็น พระองค์ทำ   ท่านคิดว่ายังจะต้อนรับพระองค์เข้าในชีวิตอยู่หรือไม่?

พระเมสสิยาห์ของเราเหมือน หรือ แตกต่าง หรือ เป็นพระเมสสิยาห์คนละองค์กับพระเยซูคริสต์?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

18 ธันวาคม 2556

พื้นที่ชีวิตที่ต้องการเยียวยารักษา

อ่าน อิสยาห์ 35:1-10

แล้ว​ตา​ของ​คน​ตา​บอด​จะ​ได้​เห็นและ​หู​ของ​คน​หู​หนวก​จะ​ได้​ยิน
คน​ง่อย​จะ​กระ​โดด​อย่าง​กวางและ​ลิ้น​ของ​คน​ใบ้​จะ​โห่​ร้อง​ยินดี
เพราะ​น้ำ​จะ​พลุ่ง​ขึ้น​มา​ใน​ถิ่นทุรกันดาร       และ​ลำ​ธาร​เกิด​ขึ้น​ใน​ที่​ราบ​แห้ง​แล้ง
(อิสยาห์ 35:5-6 มตฐ.)

อิสยาห์บทที่ 34  เป็นการบรรยายถึงการพิพากษาจากพระเจ้า   แต่พอมาอ่านในบทถัดมาคือบทที่ 35 บรรยากาศและอารมณ์เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ในบทถัดมานี้กล่าวถึงนิมิตหมายของการทรงพลิกฟื้นคืนชีวิตใหม่ที่พระเจ้าทรงกระทำเพื่ออิสราเอล   และการทรงเยียวยารักษาเป็นส่วนหนึ่งในพระราชกิจแห่งการพลิกฟื้นสร้างชีวิตใหม่จากพระเจ้า   การเยียวยารักษานี้กล่าวถึง  คนตาบอดจะได้รับการเบิกตาให้มองเห็น   คนใบ้ คนพูดไม่ได้ สามารถเปิดปากพูดออกมาได้   คนง่อยเปลี้ยเสียขาสามารถเดินได้   คนหูหนวกไม่สามารถได้ยินจะได้ยิน   การทรงเยียวยารักษานี้จะครอบคลุมไปถึงธรรมชาติที่พระเจ้าทรงสร้างจะได้รับพลิกฟื้นคืนชีวิตขึ้นใหม่เช่นกัน   ในที่แห้งเล้งจะกลายเป็นแหล่งน้ำบนแผ่นดิน

นิมิตหมายแห่งความหวังที่อิสยาห์เปิดเผยนี้ทำให้เราเข้าใจถึงพระราชกิจที่พระเยซูคริสต์ทรงกระทำเมื่อมีชีวิตบนโลกนี้   การทรงเยียวยารักษาชีวิตของพระเยซูคริสต์ในชีวิตของประชาชนมิใช่เพียงเพื่อสำแดงความรักเมตตาของพระองค์เท่านั้น    แต่นี่ยังเป็นหมายสำคัญถึงการมาของแผ่นดินของพระเจ้าอย่างเป็นรูปธรรม

เมื่อยอห์น ผู้ให้บัพติศมาไม่มั่นใจว่าพระเยซูเป็นพระคริสต์ หรือ พระเมสสิยาห์ที่ผู้คนรอคอยหรือไม่  หรือพระองค์เป็นใครกันแน่   ยอห์นได้ส่งสาวกของตนไปทูลถามพระเยซูในเรื่องนี้   พระองค์บอกสาวกของยอห์นผู้ให้บัพติศมากลับไปบอกแก่ยอห์นว่า  

“ไป​บอก​ยอห์น​ใน​สิ่ง​ที่​ท่าน​ได้​เห็น​และ​ได้​ยิน คือ​ว่า​คน​ตา​บอด​เห็น​ได้ คน​ง่อย​เดิน​ได้ คน​โรค​เรื้อน​หาย​สะอาด คน​หู​หนวก​ได้​ยิน คน​ตาย​เป็น​ขึ้น​มา และ​พวก​คน​ยาก​จน​ก็​ได้​รับ​ฟัง​ข่าว​ดี...” (ลูกา 7:22)  

เป็นการตอบแก่ยอห์นผู้ให้บัพติศมาว่า  พระเยซูเป็นผู้นั้นที่กระทำให้คำเผยพระวจนะแห่งความหวังของ อิสยาห์เป็นจริง

ในพระเยซูคริสต์ แผ่นดินของพระเจ้าได้มาถึงใกล้แล้ว  เริ่มมาถึงแล้ว  เพียงแต่ยังไม่สำเร็จครบถ้วนสมบูรณ์เท่านั้น   พระราชกิจการเยียวยารักษาชีวิตของผู้คนในโลกปัจจุบันนี้ยังดำเนินต่อไปผ่านคนรับใช้ในที่ต่างๆของพระคริสต์   และชีวิตของเราในทุกวันนี้กำลังได้รับการเยียวยารักษา และ พลิกฟื้นขึ้นใหม่จากพระคริสต์ และ ผ่านทางผู้คนที่เป็นสาวกที่สัตย์ซื่อของพระองค์   ชีวิตของเราทุกวันนี้อยู่ในช่วงเวลาแห่งการเยียวยารักษาและการทรงพลิกฟื้นขึ้นใหม่   แม้จะยังไม่สำเร็จครบถ้วน   แต่ความสำเร็จสมบูรณ์ดังกล่าวกำลังเพิ่มพูนขึ้นจนสำเร็จเสร็จครบในที่สุด   ตามเวลาของพระองค์

ในช่วงเวลาแห่งการเตรียมพื้นที่ชีวิตเพื่อรับการเข้ามาของพระคริสต์ในชีวิตของเรา  

เรายอมและเต็มใจเปิดพื้นที่ชีวิตของเราให้พระคริสต์เยียวยารักษาในส่วนไหนในชีวิตของเราบ้าง?  
มีพื้นที่ชีวิตในส่วนใดบ้างที่เรายังซุกซ่อนจากการเยียวยารักษาของพระองค์?  
ทำไมเราถึงปิดบังซ่อนเร้นพื้นที่ชีวิตส่วนนั้นจากพระองค์?  
ในวันนี้เราประสงค์ให้พระคริสต์เข้ามาเยียวยารักษาในส่วนใดในชีวิตของเรามากที่สุด?  
เพราะเหตุใด?

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้เปี่ยมด้วยพระคุณ   ขอบพระคุณพระองค์ทรงเมตตาเยียวยาในชีวิตของข้าพระองค์ที่ผ่านมา   และถ้าข้าพระองค์แยกจากพระองค์แล้ว   ชีวิตของข้าพระองค์ไม่รู้ว่าจะดำเนินต่อไปได้อย่างไร   ขอบพระคุณพระองค์ที่เอาใจใส่  ทรงเมตตาเยียวยารักษามิเพียงความเจ็บป่วยด้านร่างกายเท่านั้น   แต่ทรงเมตตาเยียวยารักษาทั้งด้านจิตใจ  อารมณ์ความรู้สึก  และจิตวิญญาณของข้าพระองค์ด้วย   นอกจากนั้นแล้ว ขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงช่วยแก้ไขและสร้างเสริมสัมพันธภาพที่ข้าพระองค์มีต่อพระองค์ และ ผู้คนรอบข้าง

ขอสรรเสริญพระองค์ที่ทรงเป็นผู้เยียวยารักษาและพลิกฟื้นชีวิตข้าพระองค์ขึ้นใหม่

ในวันนี้โปรดช่วยข้าพระองค์ให้เป็นคนรับใช้ของพระองค์ที่จะนำการเยียวยารักษาและการพลิกฟื้นชีวิตใหม่ไปถึงผู้คนรอบข้างที่ข้าพระองค์สัมผัสสัมพันธ์ด้วย   ข้าพระองค์ไม่มีพลังความสามารถใดเลยที่จะทำพันธกิจแห่งการเยียวยารักษานี้   แต่ด้วยพระคุณ และ พระกำลังจากพระองค์ที่ทรงให้บังเกิดความชื่นชมยินดีในชีวิตของผู้คนได้

โปรดประทานความเชื่อที่เข้มแข็งมั่นคง   เมื่อข้าพระองค์อธิษฐานเพื่อคนที่เจ็บป่วย   เมื่อข้าพระองค์เอาใจใส่ผู้ที่กำลังได้รับบาดแผลในชีวิต  

โปรดประทานชีวิตและจิตใจที่รักเมตตาแบบพระคริสต์เมื่อข้าพระองค์ยื่นชีวิตเข้าไปในชีวิตของผู้มีชีวิตที่ฉีกขาด  

โปรดประทานความมั่นใจว่า พันธกิจรับใช้ที่ข้าพระองค์กระทำในวันนี้เป็นพระราชกิจแห่งแผ่นดินของพระองค์ที่ข้าพระองค์เข้าไปมีส่วนร่วม   ข้าพระองค์ขอรอคอยด้วยความมั่นใจถึงแผ่นดินของพระองค์ที่จะมาตั้งอยู่อย่างครบบริบูรณ์ในวันข้างหน้า   อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

16 ธันวาคม 2556

บทเพลงสรรเสริญ

บทเพลงแห่งพระราชกิจของพระเจ้าที่ทรงพลิกโลกคว่ำแผ่นดิน
อ่าน ลูกา 1:46-56

พระ​องค์​ทรง​ถอด​เจ้า​นาย​ออก​จาก​บัลลังก์
และ​พระ​องค์​ทรง​ยก​ผู้​น้อย​ขึ้น
(ลูกา 1:52 มตฐ.)

บทเพลงสรรเสริญของสตรีที่ชื่อว่ามารีย์   เธอร้องสรรเสริญพระเจ้าออกมาจากก้นบึ้งแห่งชีวิตจิตใจของเธอที่พรั่งพรูไหลออกมาเปี่ยมล้นด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์   เมื่อเธอได้ยินนางเอลิซาเบธ (มารดาของยอห์น ผู้ให้บัพติศมา)กล่าวทักทายเธอว่า   เธอเป็นผู้ที่ได้รับพระพรจากพระเจ้า   เพราะเธอเป็นมารดาของพระเมสสิยาห์ที่ผู้คนรอคอย   นี่เป็นบทเพลงสรรเสริญ   ในภาษาละตินบรรทัดแรกของเพลงคือ magnificat anima mea Dominum แปลว่า “จิตวิญญาณของข้าพเจ้ายกย่องพระเจ้า”

บทเพลงสรรเสริญของมารีย์เป็นบทเพลงที่กล่าวถึงพระราชกิจอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า   ซึ่งพิจารณาอย่างเจาะลึกลงไปแล้วต้องบอกว่าเป็นเพลงแห่งพระราชกิจของพระเจ้าที่ทรงพลิกโลกคว่ำแผ่นดินเลยทีเดียว   บางคนอ่านแล้วบอกว่า “นี่เป็นบทเพลงของพวกซ้ายตกขอบ” หรือ “ซ้ายสูญพันธุ์” อะไรทำนองนั้น   อย่าฝันหวานไปเลยมันไม่เป็นความจริงหรอก!   อีกพวกหนึ่งก็จะมองว่า   นี่เป็นเพลงพวกหัวรุนแรง  เป็นเพลงปฏิวัตินี่นา!  

ถ้าเป็นเพลงปฏิวัติ  ผมขอเรียนว่าเพลงนี้ร้องโดยหญิงสาวคนหนึ่งที่ไม่มีฐานะตำแหน่งใดๆ    ร้องท่ามกลางสังคมยิวที่กำลังตกเป็นเมืองขึ้นของพวกโรมัน   และสังคมยิวเองก็แบ่งออกเป็นหลายพรรคหลายพวก   ทั้งพวกผู้นำทางการเมือง  ผู้นำศาสนา  และผู้นำกลุ่มแอบแฝงใต้ดินต่างช่วงชิงอำนาจและผลประโยชน์มาเป็นของตนเอง

ให้เราค่อยๆ พิจารณาบทเพลงของมารีย์ว่ามีเนื้อหาความหมายอะไร   ถึงถูกตีตราอันตรายถึงปานนั้น   แต่ผมยืนยันว่าเป็นบทเพลงสรรเสริญที่กล่าวถึงการพลิกโลกคว่ำแผ่นดินโดยพระราชอำนาจของพระเจ้าครับ!

ประการแรก แทนที่พระเจ้าจะทรงเลือกคนที่มีฐานะ อำนาจ และบริวาร มาเป็นผู้ร่วมในพระราชกิจของพระองค์  แต่พระองค์ทรงเลือกคนที่มี “ฐานะต่ำต้อย” ในสายตาของสังคมโลกมาร่วมในพระราชกิจ(ข้อ 48)  

ประการที่สอง  พระราชกิจของพระเจ้าครั้งนี้ “ทรง​ทำ​ให้​คน​ที่​มี​ใจ​เย่อ​หยิ่ง​กระจัด​กระจาย​ไป...” (ข้อ 51)

ประการที่สาม  “พระ​องค์​ทรง​ถอด​เจ้า​นาย​ออก​จาก​บัลลังก์  และ ​พระ​องค์​ทรง​ยก​ผู้​น้อย​ขึ้น” (ข้อ 52)

ประการที่สี่  “พระ​องค์​ทรง​ให้​คน​อด​อยาก​อิ่ม​ด้วย​สิ่ง​ดี  และ  ​ทรง​ทำ​ให้​คน​มั่งมี​ไป​มือ​เปล่า” (ข้อ 53)

จากบทเพลงสรรเสริญของมารีย์บทนี้ชี้ชัดว่า   โครงสร้างสังคมแห่งแผ่นดินของพระเจ้านั้นกลับหัวกลับหางกับโครงสร้างสังคมที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน   ยิ่งกว่านั้นระบบคุณค่า  คุณธรรม  และความสัมพันธ์ ในแผ่นดินของพระองค์ก็แตกต่างจากปัจจุบันราวกับหน้ามือและหลังมือเลยทีเดียว   บทเพลงบทนี้เป็นบทเพลงที่ “กลั่น” ออกมาจากประสบการณ์อันล้ำลึกในชีวิตของมารีย์   ที่ร้องออกมาด้วยความกล้าหาญเพราะพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงหนุนเสริมและเป็นกำลังของเธอ

พวกเราเมื่ออ่านบทเพลงนี้  อาจจะรีบมุ่งมองไปยังพวกนักการเมือง  ข้าราชการ  พวกเจ้านายผู้นำทั้งหลาย   หรือพวกที่ออกมาต่อสู้เรียกร้อง   สิ่งแรกจากบทเพลงของมารีย์  เธอร้องเพลงนี้ด้วยการมองอย่างลึกซึ้งลงในก้นบึ้งแห่งประสบการณ์ชีวิตของเธอ   เธอตรวจสอบชีวิตของเธอต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้า

ในช่วงเวลาแห่งการเตรียมพื้นที่ชีวิตของเราแต่ละคนเพื่อรับพระคริสต์เข้ามาในชีวิต   จำเป็นที่เราจะต้องมีเวลาตรวจสอบชีวิตที่เป็นจริงของเราทุกวันนี้ต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้า  

จริงๆ แล้วบทเพลงบทนี้กำลังกล่าวถึงใคร?

กำลังกล่าวกับชีวิตที่ไม่เข้าท่าเข้าทางตามพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตของเรามิใช่หรือ?

ชีวิตของเรา “เย่อหยิ่ง” ยโส  โอหัง หรือไม่?   แม้เราจะมิใช่ “เจ้านาย” “คนมีอำนาจ”  คนที่นั่งบนบัลลังก์  จิตใจของเรา “เย่อหยิ่ง  ยโส  โอหัง” กับใครบ้าง?

ชีวิตที่ผ่านมานี้   แม้เราจะเป็นผู้มีอำนาจทั้งในการบริหาร  ในองค์กร  หรือไม่ก็ตาม  เราต้องถามตนเองว่า  จิตใจของเราถ่อมลงต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้าท่ามกลางการใช้ชีวิตในครอบครัว  ที่ทำงาน  ในชุมชน  ในคริสตจักร  หรือในกลุ่มเพื่อนฝูงหรือไม่?

คงปฏิเสธลำบากว่า   เกือบทั้งหมดในพวกเราจะบอกว่า เราไม่ใช่เป็นคนมั่งมี   นั่นก็เป็นความจริงถ้าเปรียบเทียบว่าเรามีทรัพย์สินเงินทองมากน้อยแค่ไหนกับคนมั่งมีอื่นๆ   แต่เศรษฐศาสตร์ตามพระคัมภีร์เป็นเรื่องการที่จะมีกินมีอยู่อยู่และอยู่รอดได้ด้วยพระคุณจากพระเจ้า   และด้วยความรักเมตตาเสียสละจากคนที่เชื่อศรัทธาและสัตย์ซื่อในพระองค์ด้วย   ถ้าเช่นนั้น เราน่าจะเป็นคนมั่งมีตามมาตรฐานของพระคัมภีร์   คำถามจากบทเพลงสรรเสริญนี้ก็คือว่า   เราได้ห่วงหาเอาใจใส่ผู้คนรอบข้างที่อดอยากปากแห้ง  ไร้ที่พักพิง หรือไม่?   หรือเราแค่มองผ่านผู้คนกลุ่มนี้อย่างสบายใจ  เพราะเรามีเหตุผลส่วนตัวของเราหรือไม่?

เมื่อเราอ่านบทเพลงสรรเสริญของมารีย์บทนี้ในแต่ละครั้ง เราท่านรู้สึกอย่างไรบ้างครับ?   หรือบอกเพียงว่าเป็นบทเพลงที่ไพเราะและกล้าหาญอะไรอย่างนี้   แล้วเราได้ใส่ใจเนื้อหาใคร่ครวญบทเพลงบทนี้ว่ากำลังบอกและพูดอะไรกับเราบ้าง?

เพลงสรรเสริญของมารีย์บทนี้จะไม่ระคายเคือง หรือ กระตุ้นท้าทาย “สำนึก” ของเราแม้แต่เล็กน้อย   ถ้าเรามองว่าเพลงสรรเสริญบทนี้กำลังว่ากล่าว “คนอื่น”   แท้จริงแล้วเมื่ออ่านเพลงสรรเสริญบทนี้กำลังท้าทายให้เราสำรวจถึงสิ่งที่บกพร่องผิดเพี้ยนไปจากพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตของเรา    เป็นเวลาที่เราต้องถามตนเองอย่างจริงจังว่า   ชีวิตที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้ได้มอบกายถวายทุ่มเทชีวิตแด่พระเจ้ามากน้อยแค่ไหน?   หรือเรามัวแต่แสวงหาความมั่นคงในชีวิต  ชื่อเสียงเกียรติยศ  อำนาจ และ ทรัพย์สินเงินทอง?   บ่อยครั้งสักแค่ไหนที่เรายึดมั่นเกาะแน่นกับพระพรทางทรัพย์สินเงินทอง   จนละเลยมองข้ามที่จะแบ่งปันหนุนช่วยคนยากคนจน และ คนหิวโหย?

บทเพลงสรรเสริญของมารีย์มีพลังกระทบต่อระบบคุณค่า และ เป้าหมายในชีวิตของเราหรือไม่?

แต่ในเวลาเดียวกันผมก็เชื่อว่า บทเพลงสรรเสริญของมารีย์บทนี้ไม่มีจุดประสงค์ที่จะสร้างความรู้สึกไม่สบายใจแก่คริสตชนที่อ่าน   ในเรื่องที่ตนมีทรัพย์สินเงินทองและความมั่นคง    แต่บทเพลงสรรเสริญบทนี้มีจุดประสงค์ที่จะเชิญชวนทรงเรียกให้เรา “ให้ชีวิตของเรา” แด่องค์พระผู้เป็นเจ้าเฉกเช่นมารีย์ที่มอบทั้งชีวิตแด่พระเจ้าทรงใช้ตามพระประสงค์ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น    บทเพลงบทนี้ทรงเรียกให้เราเป็น “คนรับใช้ที่สัตย์ซื่อ” ของพระเจ้าในสังคมชุมชนโลกนี้   เพื่อขยายการปกครองแห่งแผ่นดินของพระเจ้าในโลกนี้ให้กว้างไกลออกไป

บทเพลงสรรเสริญของมารีย์เป็นตัวกระตุ้นเตือนให้เราปรารถนาที่จะดำเนินชีวิตวันนี้ในสิ่งที่สำคัญตามพระประสงค์    เพื่อพระองค์จะทรงใช้ชีวิตของเราตามพระประสงค์   และเพื่อชีวิตของเราจะเป็นที่ถวายพระเกียรติแด่พระองค์ 

ในช่วงก่อนถึงวันคริสต์มาส   พวกเราที่อยู่ในสังคมบริโภคนิยมอาจจะกำลังสาระวนกับการจับจ่ายซื่อหาสิ่งต่างๆ ที่จะเป็น “ของขวัญ” ให้แก่ผู้คน  หรือ เหน็ดเหนื่อยกับการจัดเตรียมงานเลี้ยงคริสต์มาส   บทเพลงสรรเสริญของมารีย์กำลังชี้แนะและหนุนเสริมให้เราลอง “ถอยหลังสักก้าวหนึ่ง” เพื่อจะได้คิดใคร่ครวญว่าอะไรคือระบบคุณค่าในชีวิตของเรา   เรากำลังทุ่มเทชีวิตกับอะไรกันแน่?   แล้วคริสต์มาสปีนี้อาจจะสร้าง “วิถีชีวิตที่แตกต่าง”  

เป็นวิถีแห่งการแสวงหา  
เป็นวิถีแห่งการทุ่มเทรับใช้   และ
เป็นวิถีแห่งการยอมเสียสละเยี่ยงพระคริสต์!
เป็นวิถีชีวิตแบบพระคริสต์ในวิถีชีวิตของเรา

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ทำดีตอบแทนชั่ว

พระประสงค์ของพระเจ้าที่สวนทางกับใจปรารถนาของมนุษย์

อย่า​ให้​ความ​ชั่ว​ชนะ​เรา​ได้ แต่​จง​ชนะ​ความ​ชั่ว​ด้วย​ความ​ดี (โรม 12:21 มตฐ.)
อย่าพ่ายแพ้แก่ความชั่ว  แต่จงชนะความชั่วด้วยความดี (อมตธรรม)

การสร้างศานติมิใช่จะกระทำได้ง่ายอย่างใจปรารถนาเสมอไป   ในสังคมของเราปัจจุบันมีทั้งผู้ที่ต้องการที่จะสร้างศานติ   และก็มีบางพวกบางกลุ่มที่ทำตัวเป็นอุปสรรคขวางกั้นการก่อเกิดศานติ  บ้างก็คอยแต่ปกป้องตนเองและผลประโยชน์ของตนเองจนกลายเป็นตัวต่อต้านการสร้างศานติในชุมชน   หรือบ้างก็ทำตัวต่อต้านการคืนดี  

ในเวลาเดียวกันฝ่ายต่างๆ ก็ขาดความไว้วางใจกันและกัน   มองว่าคนอื่นกลุ่มอื่นอาจจะทำทีว่าขอคืนดีมีแผนซ่อนเร้น  มิใช่ต้องการคืนดีด้วยจริงใจ   ซึ่งเบื้องหลังที่ระวังปกป้องตนเองก็เพื่อจะเอาชนะกลุ่มอื่นในที่สุด  

ด้วยกรอบคิดและมุมมองเช่นนี้ของกลุ่มต่างๆ ในสังคมชุมชน   นอกจากศานติจะไม่บังเกิดขึ้นแล้ว   ยังจะเสริมสร้างความเป็นศัตรูต่อกันที่เข้มแข็งรุนแรงยิ่งขึ้น   แน่นอนครับย่อมนำเอาความสับสน ขัดแย้งเกิดมากยิ่งขึ้นในสังคมชุมชนของเรา

ธรรมชาติในความเป็นมนุษย์ของเรา   เมื่อมีใครกระทำผิดกระทำชั่วต่อเรา   เราส่วนใหญ่มักต้องการที่จะตอบสนองต่อเขาให้สาสมที่เขากระทำต่อเรา   หรืออย่างดีที่สุดก็หยุดที่จะกระทำดีต่อคนเหล่านั้นที่ทำผิดทำชั่วต่อเรา   แต่พระเยซูคริสต์ทรงเรียกร้องและชี้แนวทางของพระเจ้าในการตอบสนองต่อคนเหล่านั้นที่กระทำผิดต่อเรา  หรือสร้างความเจ็บปวดแก่เราในชีวิตว่า 

แต่​เรา​บอก​พวก​ท่าน​ที่​กำ​ลัง​ฟัง​อยู่​ว่า
จง​รัก​ศัตรู​ของ​ท่าน
จง​ทำ​ดี​กับ​คน​ที่​เกลียด​ชัง​ท่าน
จง​อวย​พร​แก่​คน​ที่​แช่ง​ด่า​ท่าน
จง​อธิษฐานเผื่อ​คน​ที่​ทำร้าย​ท่าน
...​จง​รัก​ศัตรู​ของ​ท่าน​และ​ทำ​ดี​ต่อ​เขา
... แล้วบำเหน็จของ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​จะ​มี​บริบูรณ์
แล้ว​ท่าน​จะ​เป็น​บุตร​ของ​องค์​ผู้​สูง​สุด
เพราะ​ว่า​พระ​องค์​ทรง​พระ​กรุณา​ทั้ง​ต่อ​คน​ อกตัญญูและ​คน​ชั่ว
พวก​ท่าน​จง​มี​ใจ​เมตตากรุณา​เหมือน​อย่าง​พระ​บิดา​ของ​ท่าน​มี​พระ​ทัย​เมตตากรุณา
(ลูกา 6:27-28,  35-36 มตฐ.)

ในความคิดความรู้สึกส่วนตัวของเรา   มีคนแบบข้างล่างนี้อยู่ในส่วนลึกชีวิตและความรู้สึกของเราหรือไม่
  • คนที่เป็นศัตรูคู่อาฆาตของเรา
  • คนที่เราเกลียด
  • คนที่เราแช่งชักหักกระดูก
  • คนที่กระทำผิดต่อเรา
  • คนที่ทำให้เราต้องเจ็บปวดในชีวิต


เมื่อถูกกระตุ้นให้สำรวจตนเอง  เราอาจจะเห็นใบหน้าของบางคนผุดขึ้นในห้วงความคิดจินตนาการของเราทันที   หรือบางท่านก็อาจจะบอกว่า   มันบ่งชี้ยากว่ามีใครบ้างที่เป็นคนประเภทที่กล่าวข้างต้น   เอาเป็นว่า ใครที่ทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจ   ใครที่ทำให้เราต้องรู้สึกหรือได้รับความยากลำบาก

แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นคนในกลุ่มไหนประเภทใดที่กล่าวข้างต้นนี้   พระเยซูคริสต์ทรงชี้นำให้เราตอบโต้ต่อพฤติกรรมของคนกลุ่มเหล่านี้ที่แตกต่างจากความเคยชินตามกระแสโลก   พระองค์ทรงเรียกและชี้นำให้เรา “รักเมตตา   กระทำดี   อวยพร  และอธิษฐานเพื่อคนดังกล่าวเหล่านี้”

แต่เราก็ต้องตระหนักชัดอีกเช่นกันว่า   โดยกำลัง ความสามารถ  และพลังภายในชีวิตของเราไม่สามารถกระทำอย่างเชื่อฟังตามพระประสงค์ของพระคริสต์   แต่เราสามารถที่จะทูลขอพระกำลังให้เป็นกำลังชีวิตจิตวิญญาณของเราให้เราเป็นสะพานแห่งพระคุณของพระเจ้าที่ทอดเข้าไปถึงชีวิตของคนเหล่านี้   ถึงแม้เราจะรู้ว่านี่เป็นสิ่งที่จะยากแสนยากที่มนุษย์จะมีจิตใจกระทำอย่างที่พระองค์ทรงเรียกและชี้นำได้ก็ตามก็ตาม   แต่ด้วยพระกำลังของพระคริสต์ผ่านพระราชกิจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่กระทำในชีวิตของเรา   เป็นสิ่งที่สามารถเป็นไปได้

ในช่วงเวลาแห่งการเตรียมพื้นที่ชีวิตรับการมาของพระคริสต์   ให้เรามีพื้นที่ชีวิตประจำวันของเราในการสร้างศานติตามพระประสงค์ของพระเจ้า    โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะวิกฤติขัดแย้งทางการเมือง  สังคม  และความสัมพันธ์ในสังคมประเทศของเรา

ด้วยพระกำลังจากพระคริสต์เราจึงเป็นเครื่องมือแห่งการสร้างชุมชนสังคมศานติแบบแผ่นดินของพระเจ้าในสังคมชุมชนไทยในวันนี้ได้ครับ!

พระเจ้าทรงเรียกเราแต่ละคนให้เป็นผู้สร้างศานติจากสังคม ชุมชน ที่เราดำเนินชีวิตอยู่ในวันนี้ครับ

สำหรับพระคริสต์แล้ว  “ความสุขมีแก่ผู้ที่สร้างสันติ   เพราะเขาจะได้ชื่อว่าบุตรของพระเจ้า” (มัทธิว 5:9 อมต.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

10 ธันวาคม 2556

เตรียมพื้นที่ชีวิตรับพระคริสต์ในภาวะวิกฤติ

อ่านพระกิตติคุณลูกา 3:1-18

ใน​ปี​ที่​สิบ​ห้า​แห่ง​รัช​กาล​ของ​จักร​พรรดิ​ทิ​เบ​ริ​อัส
ปอน​ทิอัส​ปีลาต​เป็น​เจ้า​เมือง​ยูเดีย
เฮ​โรด​เป็น​เจ้า​เมือง​กา​ลิลี
ฟีลิป​น้อง​ชาย​ของ​เฮ​โรด​เป็น​เจ้า​เมือง​อิทู​เรีย​กับ​เมือง​ตรา​
โค​นิ​ติส ลี​ซา​เนียส​เป็น​เจ้า​เมือง​อา​บี​เลน  
และ​อัน​นาส​กับ​คา​ยา​ฟาส​เป็น​มหา​ปุโร​หิต

ช่วง​เวลา​นี้​เอง​ที่​พระ​วจนะ​ของ​พระ​เจ้า​มา​ถึง​ยอห์น​บุตร​เศ​คา​ริยาห์​ใน​ถิ่น​ทุร​กัน​ดาร    
ยอห์น​จึง​ไป​ทั่ว​ลุ่ม​แม่​น้ำ​จอร์​แดน ประ​กาศ​ให้​คน​กลับ​ใจ​ใหม่​และ​รับ​บัพ​ติศ​มา​
เพื่อ​ให้​พระ​เจ้า​ทรง​ยก​โทษ​ความ​ผิด​บาป
ตาม​ที่​มี​เขียน​ไว้​ใน​หนัง​สือ​ที่​เป็น​ถ้อย​คำ​ของ​อิส​ยาห์​ผู้​เผย​พระ​วจนะ​ว่า

มี​เสียง​ของ​ผู้​หนึ่ง​ป่าว​ร้อง​ใน​ถิ่นทุรกันดาร​ว่า
จง​เตรียม​มรร​คา​แห่ง​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า
จง​ทำ​หน​ทาง​ของ​พระ​องค์​ให้​ตรง​ไป
(ลูกา 3:1-4 มตฐ.)

ในทุกวิกฤติชีวิต   เราจะได้เห็นถึงพระประสงค์อันเป็นพระคุณของพระเจ้าที่สำแดงผ่านบุคคลและเหตุการณ์ในเวลานั้น   เมื่อชนชาติอิสราเอลตกอยู่ใต้การปกครองของโรมัน   และศาสนาถูกควบคุมโดยอำนาจผู้นำฝ่ายศาสนายิวที่มีตำแหน่งมหาปุโรหิต   ในเวลาเช่นนั้นเองเป็นเวลาของพระเจ้าที่ทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์บนแผ่นดินโลกนี้ผ่านชีวิตและพระราชกิจของพระเยซูคริสต์เจ้า

นักประวัติศาสตร์และนายแพทย์ลูกา   ได้เริ่มต้นบันทึกเหตุการณ์นี้ในพระกิตติคุณลูกา   ด้วยการเริ่มต้นอย่างนักประวัติศาสตร์คือ   การยืนยันเรื่องราวที่จะเล่าต่อไปนี้เกิดขึ้นในช่วงไหนของประวัติศาสตร์    โดยเริ่มตั้งแต่มหาอำนาจสูงสุดในเวลานั้นคือ   จักรพรรดิทิเบริอัส   แล้วมีปอนทิอัสปีลาตเป็นเจ้าเมืองยูเดีย   และยังอ้างถึงผู้ครองเมืองต่างๆ ในแถบนั้น   ลงมาจนถึงมหาปุโรหิตของยิวในเวลานั้นคืออันนาส และ คายาฟาส   ในด้านหนึ่งผู้อ่านอาจจะมองว่านี่เป็นการยืนยันว่าเรื่องต่อไปนี้เป็นเรื่องจริงในประวัติศาสตร์  

แต่ผมมองอีกมุมหนึ่งว่า    ในช่วงวิกฤติ พระเจ้าทรงเลือกเวลาเช่นนี้กระทำพระราชกิจของพระองค์   พระองค์มิได้สำแดงผ่านผู้ยิ่งใหญ่ทางการเมืองอย่างมหาจักรพรรดิ   หรือเจ้าเมืองต่างๆ   พระเจ้ามิได้ตรัสสำแดงกับคนในราชวัง  และก็ไม่ได้สำแดงผ่านผู้นำศาสนายิวในพระมหาวิหารด้วย  พระเจ้าทรงผ่านข้ามคนเหล่านี้   แต่พระวจนะของพระเจ้ามาถึงยอห์นบุตรเศคาริยาห์   ซึ่งตอนนั้นใช้ชีวิตในถิ่นทุรกันดาร   พระเจ้าตรัสกับคนที่มีพื้นที่ว่างในชีวิตที่จะรับฟังพระองค์ พระองค์ทรงใช้คนที่มีชีวิตเรียบง่ายพร้อมที่จะให้พระองค์ใช้อย่างยอห์นผู้ให้บัพติศมาเป็นผู้นำหน้าประกาศแผนงานของพระองค์

ที่พระเจ้าต้องผ่านข้ามผู้มีอำนาจ  มีตำแหน่ง  มั่งคั่ง  อยู่ในพระมหาราชวัง  อยู่ในพระมหาวิหาร   เพราะคนพวกนี้มี “สิ่งอุดตัน” ในชีวิตมากมาย    ชีวิตของเขาไม่สามารถที่จะเป็นท่อนำเอาพระราชกิจอันเป็นพระคุณของพระเจ้ามายังประชาชนในเวลานั้นได้    แต่ยอห์นที่มีชีวิตเรียบง่าย   มีท่อชีวิตที่โปร่งโล่ง  ที่พระเจ้าสามารถสำแดงพระราชกิจของพระองค์ผ่านชีวิตของยอห์นผู้ให้บัพติศมาได้

ยอห์นจึงได้ประกาศให้ประชาชนกลับใจใหม่รับการทรงยกโทษจากพระเจ้า  รับบัพติศมา   และประกาศให้แต่ละคนเตรียมพื้นที่ชีวิตของตนเอง  ตามที่พระวจนะของพระเจ้าที่เผยในอิสยาห์ 40:3-4 

จง​เตรียม​มรร​คา​แห่ง​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า     จง​ทำ​หน​ทาง​ของ​พระ​องค์​ให้​ตรง​ไป
หุบ​เขา​ทุก​แห่ง​จะ​ถม​ให้​เต็ม        ภูเขา​และ​เนิน​ทุก​แห่ง​จะ​ให้​ต่ำ​ลง
ทาง​คด​จะ​กลาย​เป็น​ทาง​ตรง     และ​ทาง​ที่​สูงๆ ต่ำๆ จะ​เป็น​ทาง​ราบ 
(ลูกา 3:4-5 มตฐ.)

ในช่วงเวลาแห่งการรอคอยนี้   เป็นช่วงเวลาแห่งการเตรียมพื้นที่ชีวิตของตนใหม่   เพื่อพร้อมต้อนรับพระคริสต์ที่เสด็จมาทั้งในพระธรรมอิสยาห์และลูกาต่างใช้ภาพการเตรียมพื้นที่ชีวิตเป็นเหมือนการเตรียม “ทาง” ที่จะรับการเสด็จมาของพระคริสต์   “ทำทางแห่งชีวิตของพระเจ้าให้ตรงไป...หุบเขาถมให้เต็ม...เนินเขาปราบให้ต่ำลง...ทางคดทำให้ตรง...ทางสูงๆ ต่ำๆ ทำให้เรียบ”

การกล่าวเช่นนี้เป็นการเตือนประชาชนและรวมไปถึงผู้มีอำนาจทางการเมือง และ การศาสนาว่า  จะเตรียมชีวิตของตนเช่นไร   ท่านกล่าวเปรียบเทียบว่า  ที่สูงต้องปราบลงให้ราบเรียบ   ที่คดๆ งอๆ ต้องตัดให้ตรง   และนี่คือการกลับใจ

การกลับใจมิใช่เป็นเพียงการตั้งใจเท่านั้น   มิใช่มีใจสำนึกเท่านั้น   การกลับใจมิใช่เรื่องส่วนตัวเท่านั้น   แต่ต้องทำให้เห็นและสร้างผลกระทบของการกลับใจต่อชีวิตในชุมชนด้วย   ยอห์นประกาศอย่างตรงไปตรงมาว่า

จง​พิสูจน์​การ​กลับ​ใจ​ด้วย​ผล​ที่​เกิด​ขึ้น... ฝูง​ชน​จึง​ถาม​ท่าน​ว่า เรา​จะ​ต้อง​ทำ​อย่าง​ไร?    ท่าน​ตอบ​พวก​เขา​ว่า ใคร​มี​เสื้อ​สอง​ตัว​จง​แบ่ง​ปัน​ให้​แก่​คน​ที่​ไม่​มี   และ​ใคร​มี​อาหาร​ก็​จง​ทำ​เหมือน​กัน   สำหรับคนเก็บภาษียอห์น กล่าวแก่พวกเขาว่า อย่า​เก็บ​ภาษี​เกิน​พิกัด   กับพวกทหารท่านบอกพวกเขาว่า  อย่า​กรร​โชก อย่า​ใส่​ความ​เพื่อ​เอา​เงิน แต่​จง​พอใจ​ใน​ค่า​จ้าง​ของ​ตัว​เอง  (ลูกา 3:8-14 มตฐ.)   บัพติศมาเป็นการแสดงถึงการยอมกลับใจใหม่   แต่การกลับใจใหม่สำหรับยอห์นผู้ให้บัพติศมา   พิธีบัพติศมามิได้เป็นเครื่องยืนยันถึงการกลับใจใหม่ของคนๆ นั้น   สิ่งที่ยืนยันถึงการกลับใจใหม่คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตของตน   จากทางที่ลุ่มๆ ดอนๆ  คดๆ เคี้ยวๆ  ให้มีการดำเนินชีวิตที่ตรงตามน้ำพระทัยของพระเจ้า

เทศกาลเตรียมรับเสด็จปีนี้   ประเทศไทยประสบวิกฤติการเมือง  เศรษฐกิจ และสังคม เป็นเวลาที่เราจะต้องเตรียมด้วยการ กลับใจ  รับบัพติศมา  และสำแดงการกลับใจของเราออกมาให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม   เป็นการกระทำที่สร้างผลกระทบที่สร้างสรรค์ต่อชีวิต/สังคม  
สำหรับเราในปีนี้วิกฤติชีวิตที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่ได้บอกให้เราต้องกลับใจในเรื่องอะไรบ้าง?   และการกลับใจดังกล่าวจะต้องสำแดงออกมาในรูปธรรมอย่างไร?   และจะต้องสร้างผลกระทบที่สร้างสรรค์ต่อชีวิต/สังคมอย่างไรบ้าง?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499