31 ตุลาคม 2553

อะไรคือพลังขับเคลื่อนความกระตือรือร้น

พลังแห่งหวังและความใฝ่ฝันในการทำพันธกิจ

เมื่อผมมีโอกาสมองย้อนพิจารณาถึงบางคนที่ตัดสินใจเข้ามาเรียนในวิทยาลัยพระคริสต์ธรรม หรือ ตัดสินใจทุ่มเทชีวิตในการทำพันธกิจในคริสตจักร ดูแล้วเป็นคนที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง ผมได้เคยเห็นชายหนุ่มคนหนึ่งเป็นนักบิน เจ้าตัวตัดสินใจใช้เวลาวันพักของตนจากการบินมาทำงานของพระเจ้าในที่ต่างๆ

ผมยังได้อ่านถึงเรื่องราวของนักบินอีกคนหนึ่ง ที่มีเงินเดือนที่สูง ชีวิตอยู่อย่างหรูหราสะดวกสบายแต่ตัดสินใจลาออกจากงานนักบินไปเรียนพระคริสต์ธรรม ผมมีโอกาสได้รู้จักนักธุรกิจหญิงที่เป็นทั้งเจ้าของและบริหารงานด้านอสังหาริมทรัพย์ตัดสินใจมาเรียนพระคริสต์ธรรมเต็มเวลาด้วยทุนรอนของตนเอง และใช้เวลาส่วนที่เหลือในการบริหารจัดการธุรกิจ

ผมเคยได้ยินเรื่องราวของนักธุรกิจลาวที่เจริญก้าวหน้าในแคนาดา ที่อุทิศกำลังในการอธิษฐาน เวลา และทรัพย์สินเพื่อสนับสนุนพระคริสต์ธรรมต่างๆ รวมทั้งผู้คนด้อยโอกาสต่างๆ ด้วย

มีวิศวกรอีกคนหนึ่งลาออกจากงานที่มีรายได้สูง แล้วย้ายครอบครัวไปอีกเมืองหนึ่งเพื่อเรียนพระคริสต์ธรรมเต็มเวลา เพราะต้องหาเลี้ยงครอบครัวด้วยเขาจึงไปทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยในเวลากลางคืน ผมยังสงสัยว่าแล้วเขาเอาเวลาที่ไหนไปพักผ่อนหลับนอน

ชีวิตของคนเหล่านี้เป็นคนที่น่ายกย่องนับถือ เขามีพลังที่ขับเคลื่อนความกระตือรือร้น ความมุ่งมั่นตั้งใจในชีวิตของเขา

ศิษยาภิบาล และ ผู้อภิบาลชีวิตมนุษย์โลกในลักษณะต่างๆ เป็นตัวอย่างของผู้ที่มีพลังความกระตือรือร้นที่ดี เราเชื่อว่าพระเจ้าทรงเรียกผู้คนเหล่านี้ให้มีความปรารถนาและมุ่งมั่นใช้ชีวิตรับใช้พระราชกิจของพระองค์ท่ามกลางสถานการณ์ชีวิตของผู้คนในชุมชนต่างๆ และนี่คือพลังที่ทำให้ชีวิตของผู้อภิบาลเหล่านี้ขับเคลื่อนไปอย่างน่าสนใจ น่าชื่นชม ยกย่อง ด้วยชีวิตที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงและอุทิศถวายแด่พระเจ้า

ผมมีโอกาสพูดคุยกับนักศึกษาในชั้นเรียนของวิทยาลัยพระคริสต์ธรรมบางแห่งได้พบ “จุดบอด” ของพลังในความกระตือรือร้นของนักศึกษาบางคน เมื่อเราพูดคุยแบ่งปันกันว่า อะไรคือแรงผลักดันให้เรามาเรียนในสถาบันแห่งนี้? ผมได้รับคำตอบหลายอย่าง มีคนหนึ่งตอบว่า “ข้าพเจ้าต้องการที่จะเป็น บิลลี่ เกรย์แฮม ของเมืองไทย” เกิดเสียงผุดขึ้นในความนึกคิดของผมว่า “แล้วความฝันของคุณจะเป็นอย่างที่คุณต้องการหรือ?”

นักศึกษาหญิงท่านหนึ่ง พูดจาฉะฉาน บอกกับพวกเราว่า “ปู่ของหนูเป็นศาสนาจารย์ พ่อหนูก็เป็นศาสนาจารย์ หนูต้องเป็นศาสนาจารย์ด้วย ดังนั้น จึงตัดสินใจเข้ามาเรียนพระคริสต์ธรรม...” ผมคิดในใจ เอ...นี่ การรับใช้พระเจ้าตามสายเลือดหรือเปล่า?

นักศึกษาอีกท่านหนึ่งได้บอกถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่ท่านมาเรียนในพระคริสต์ธรรมว่า “ผมกลับมาเรียนต่อ M.Div. (คริสต์ศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต) เพื่อผมจะได้กลับไปพัฒนาคริสตจักรที่ผมเป็นศิษยาภิบาลให้เป็นคริสตจักรที่มีสมาชิกมากขึ้นเป็นคริสตจักรขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย...” ผมคิดว่าเป็นความยิ่งใหญ่ที่น่าเศร้า!

ผมได้พบและพูดคุยกับนักการเมืองท้องถิ่นที่เป็นคริสเตียนท่านหนึ่ง ท่านทุ่มเท กายใจ เวลา และทรัพย์สินเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในชุมชนของท่าน ท่านบอกกับคนทั้งหลายว่า ที่ทำเช่นนี้เพราะอิทธิพลคำสอนของพระคัมภีร์ที่ว่า ให้รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง และท่านก็เคยบอกว่า ท่านจะต้องเป็น ส.ว. หรือ ส.ส. คริสเตียนให้ได้ เพื่อเราจะได้มีนักการเมืองคริสเตียนในรัฐสภา...

ตอนนี้ในประเทศไทยของเรามีองค์กรรวมคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนท์ที่รู้จักกันดีอย่างน้อย 2 องค์กรด้วยกัน มีอาการแปลกๆ อาการหนึ่งที่เกิดขึ้นในองค์กรรวมของคริสเตียนคือ เรื่องการทรงเรียกกับการเสนอตัว(ตามระบบการเลือกตั้งแบบนักการเมืองปัจจุบัน)เป็นเจ้าหน้าที่ในตำแหน่งบริหารองค์กร เป็นประเด็นที่คริสเตียนต้องชัดเจนถึงจุดยืนจุดเชื่อของตนว่า เรายืนอยู่บนจุดยืนของ “การทรงเรียก” หรือ “การเสนอตัวเอง” ในตำแหน่งเหล่านั้น หรือ ใช้กระบวนการเลือกตั้งเพื่อกำหนดการทรงเลือกจากเบื้องบน? น่าหนักใจครับ

คำถามที่เราแต่ละคนจำเป็นต้องถามตนเองคือ อะไรคือพลังกระตุ้นความกระตือรือร้นของเรา ในการงานรับใช้ในคริสตจักร ในชุมชน ในองค์กรคริสเตียน เพราะพลังความกระตือรือร้นด้วยความตั้งใจที่ดีไม่ได้หมายความว่าเป็นการทรงเรียกเสมอไป บางครั้งบางคนอาจจะสำคัญผิดทึกทักเอาว่า ความใฝ่ฝันปรารถนาของตนเองเป็นเสียงแห่งการทรงเรียก แต่นั่นจะต้องระมัดระวังอย่างสูงที่จะไม่อ้างการทรงเรียกที่เคลือบแฝงด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจส่วนตนเป็นที่ตั้ง

พลังแห่งความกระตือรือร้น มุ่งมั่นตั้งใจของเรา สามารถที่จะเป็นทั้งการมุ่งมั่นตั้งใจที่อุทิศถวายชีวิตแต่พระราชกิจของพระเจ้าด้วยน้ำใสใจจริง แต่ก็ต้องระมัดระวังอีกเช่นกันว่า อย่าพลั้งเผลอที่เคลือบแฝง “สอดไส้” แรงกระตุ้นเพื่อประโยชน์และความปรารถนาแห่งตนเอง

ผมขอตั้งข้อสังเกตว่าในพระคัมภีร์ เมื่อพระเจ้าทรงเรียกหลายๆ คน หลายครั้งที่ผู้รับการทรงเรียกผงะ ถอย และปฏิเสธการทรงเรียกของพระเจ้า เยเรมีย์บอกว่าตนยังเป็นเด็กตนทำไม่ได้, โมเสสปฏิเสธการทรงเรียกเพราะเข็ดหลาบครั้งเมื่อพยายามช่วยแรงงานทาสอิสราเอลในอียิปต์, อิสยาห์ตกใจและปฏิเสธด้วยเหตุผลว่าตนเป็นคนไม่สะอาด คนเหล่านี้เข้าใจว่าการทรงเรียกของพระเจ้าเป็นการที่พระเจ้าต้องการใช้ชีวิตของเขาตามพระประสงค์ของพระองค์ เขาต้องเดินไปบนเส้นทางที่เขามิได้ขีดคิดกำหนดด้วยตนเอง และทุกครั้งที่พระเจ้าทรงเรียกใคร พระองค์แจ้งพระประสงค์ของการทรงเรียกแก่แต่ละคน แต่ในที่สุดคนเหล่านี้ยอมตนแด่พระเจ้าเพราะ พระเจ้าจะทรงสร้างเขาใหม่ และสิ่งที่จะต้องรับใช้นั้นมิใช่อาศัยสติปัญญาและกำลังของพระเอง แต่พระเจ้าจะทรงนำและประทานพละกำลังให้ และที่สำคัญคือ เขาไม่ใช่หัวหน้า หรือ เจ้าของงานนี้แต่เป็นผู้ร่วมงานในพระราชกิจของพระองค์

ดังนั้น การทรงเรียกจึงเป็นพระคุณของพระเจ้า มิใช่เป็นความสามารถและความปรารถนาของตนเอง เมื่อการทรงเรียกเป็น “พระคุณ” ของพระเจ้า ไม่มีสิ่งใดหรือใครที่จะหยุดขัดขวางการทำพระราชกิจนั้นได้ และจะไม่มีวันล้มเหลวเพราะอ่อนแรงหรือหมดแรง ตรงกันข้าม การทรงเรียกที่เป็น “พระคุณ” ของพระเจ้าจะเตือนย้ำให้เราเป็นผู้นำที่ถ่อมตน รับใช้พระเจ้าท่ามกลางการรับใช้ประชาชนของพระองค์ แต่มิใช่การรับใช้ที่เคลือบแฝงด้วยความเห็นแก่ตัว

จดหมายของเปโตรฉบับแรก บทที่ 5 ข้อ 2 บอกว่า ผู้นำคริสตจักรมิใช่ร่วมพระราชกิจของพระเจ้า “ด้วยความฝืนใจ” และ “ด้วยในโลภในทรัพย์สิ่งของ”

2จงเลี้ยงฝูงแกะของพระเจ้าที่อยู่ท่ามกลางพวกท่าน [โดยเอาใจใส่ดูแล]
ไม่ใช่ด้วยความฝืนใจ แต่ด้วยความเต็มใจ [ตามพระประสงค์ของพระเจ้า]
ไม่ใช่ด้วยใจโลภในทรัพย์สิ่งของ แต่ด้วยใจกระตือรือร้น (TBS02b)

เปโตรเตือนเราให้ระมัดระวังว่า มีท่าทีการรับใช้อยู่สองลักษณะที่พึงหลีกเลี่ยงคือ “การรับใช้ด้วยความฝืนใจ” เพราะการรับใช้ตามพระประสงค์ของพระเจ้านั้นแตกต่างจากความปรารถนาของตนเองที่ซ่อนอยู่ในใจ เมื่อต้องทำต่อหน้าผู้คนจึงกระทำอย่างฝืนใจ คนอื่นอาจจะไม่รู้ว่าเราทำด้วยความฝืนใจ แต่ตนเองรู้ และพระเจ้ารู้ ลักษณะที่สองคือ “การรับใช้ด้วยใจโลภในทรัพย์สิ่งของ” สิ่งนี้มักกระทำในที่ลับ อย่างลับๆ บางครั้งเป็นการกระทำอย่างถูกต้องตามหลักการ แต่มีเสียงฟ้องในจิตใจนานเท่านาน

แต่ถ้าใครก็ตาม ในที่สุดยอมตน อุทิศถวายชีวิตของตน ที่จะกระทำตามการทรงเรียก กระทำตามพระประสงค์ เป็นคนร่วมงานในพระราชกิจของพระเจ้า ถ่อมตนลงรับใช้พระเจ้าท่ามกลางประชากรของพระองค์ คนๆ นั้นจะทำงานที่พระเจ้าทรงเรียกและมอบหมายด้วย “ความกระตือรือร้น” เพราะนี่คือพระเจ้าคุณของพระเจ้าที่พระองค์ทรงเรียกใช้ ที่พระองค์ทรงไว้วางใจเรา ที่พระองค์ทำงานผ่านชีวิตของเรา ที่พระองค์ใส่พระปัญญา และ พระกำลังเข้าในชีวิตของเรา และในที่สุดเพื่อพระเจ้าจะเป็นที่สรรเสริญ ผู้ที่ได้รับการทรงเรียกและรับใช้เช่นนี้ เปาโลบอกว่า “คนนั้นก็ปรารถนากิจการงานที่ประเสริฐ”

1คำกล่าวนี้สัตย์จริง คือว่าถ้าใครปรารถนาหน้าที่ผู้ปกครองดูแลคริสตจักร
คนนั้นก็ปรารถนากิจการงานที่ประเสริฐ (1เปโตร 5:2, TBS02b)

ประการสำคัญคือ ความปรารถนาและความกระตือรือร้นของเรา มีจุดเริ่มต้น หรือได้รับการจุดประกายขึ้นจากอะไร? กล่าวคือถูกจุดประกายขึ้นจากความปรารถนาเพื่อตนเอง หรือ ถูกจุดประกายขึ้นจากสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับพระเจ้า จากการที่พระองค์ไว้วางใจเราทรงเรียกเรา และสัญญาว่าจะทรงทำงานผ่านชีวิตของเรา เราเกิดความเชื่อมั่นในพระองค์ เราถวายอุทิศชีวิตให้พระองค์ใช้ตามพระประสงค์

ประการที่จะต้องระมัดระวังเป็นที่สุดคือ ถ้าเรากระทำงานในคราบของงานรับใช้แต่ด้วยใจปรารถนาเพื่อตนเองแล้ว จะต้องระวังว่า เมื่อถึงเวลาหนึ่ง “เครื่องจะตีกลับ” คือสิ่งที่เรากระทำลงไปด้วยความปรารถนาที่แอบแฝงจะตีกลับทำลายและเป็นอันตรายต่อชีวิตของเรา ต่อครอบครัว และ ต่อคริสตจักรที่เราเกี่ยวข้องก็ได้

28 ตุลาคม 2553

การทำงานเป็นการนมัสการพระเจ้า

ทุกวันนี้เราทำงานไปทำไม? เป็นคำถามที่ผมชอบถามผู้คนในหลายอาชีพ หลายฐานะเศรษฐกิจ และหลายฐานะในสังคม แม้แต่ในวงสนทนาในคริสตจักรก็ไม่ละเว้นที่ถามคำถามนี้เช่นกัน คุณเชื่อไหม! พอผมโยนคำถามนี้เข้าในวงสนทนา อาการหนึ่งที่เกิดขึ้นเหมือนกันแม้จะมีสภาพชีวิตที่แตกต่างหลากหลายกันก็ตามคือ คนทั้งวงสนทนาเงียบ อึกอัก เอ... คนถามกำลังต้องการอะไรกันนี่?

จากนั้น ก็จะมีบางคนตอบแบบหยั่งเชิงว่า “เราทำงานเพื่อที่จะหาปัจจัยมาเลี้ยงดูครอบครัวของเรา”
อีกคนหนึ่งโพล่งออกมาตรงๆ ว่า “ก็เพื่อหาเงิน”
อีกคนหนึ่งตะโตนตอบมาจากด้านหลังว่า “เพื่อเราจะเป็นคนผู้รับใช้ที่รับผิดชอบ” หยุดไปสักพักหนึ่ง แล้วย้ำหนักแน่นในคำตอบนี้ด้วยการยืนยันหลักฐานว่า “อาจารย์ก็เทศน์ในเรื่องนี้เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา”

อาจารย์ท่านหนึ่งที่ร่วมในวงสนทนาเลยรีบรวบรัดตัดความก่อนที่การสนทนาจะเลยเถิดออกนอกประเด็นว่า “จุดประสงค์ของการที่เราทำงานในชีวิตประจำวันของเราก็เพื่อที่จะเป็นที่สรรเสริญพระเจ้า”

จุดประสงค์การทำงานในชีวิตประจำวันของเราเพื่อสรรเสริญพระเจ้าหรือ? คำตอบนี้กระตุกต่อมความคิดความเชื่อของเราได้แรงทีเดียว คนหนึ่งในกลุ่มพูดออกมาเลยว่า “ใช่ ดิฉันก็เคยคิดเช่นนั้นเหมือนกัน แต่เช้านี้ลืมไป” หลายคนมาพูดกับผมหลังเสร็จสิ้นการสนทนากลุ่มว่า ความคิดนี้กระตุ้นให้เขาต้องกลับมาคิดทบทวนในเรื่องนี้

สำหรับผมแล้ว การทบทวนถึงจุดเชื่อจุดยืน และ มุมมองเกี่ยวกับการทำงานในชีวิตประจำวันของเรานี้มีอิทธิพลต่อชีวิต วิธีคิด ความเชื่อ และการกระทำของเราอย่างมาก นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งความเชื่อ การดำเนินชีวิต และการงานที่เราทำและความรับผิดชอบในชีวิต เพราะช่วยให้เราได้ตระหนักชัดว่า การงานต่างๆ ที่เราทำและรับผิดชอบมิใช่มิติของฝ่ายร่างกายเท่านั้น แต่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องและประสานเป็นเนื้อเดียวกับจิตวิญญาณด้วย

บนรากฐานความเชื่อศรัทธาเช่นนี้ได้เชื่อมโยงให้งานธุรกิจ การบริหารจัดการ การศึกษา การพัฒนาชุมชน การทำงานกับชาวบ้าน การทำอาหาร การทำความสะอาด การเป็นยามหรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เกษตรกร พ่อค้า นักการเมืองระดับชาติ และท้องถิ่น กรรมกร คนรับจ้าง ข้าราชการ นักเรียนนักศึกษา ครู หมอ พยาบาล และ ฯลฯ อาชีพการงานทั้งสิ้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวกับจิตวิญญาณของเรา

การทำงานในแต่ละวันแต่ละอาชีพแต่ละหน้าที่การงานเป็นการทำงานที่รับผิดชอบต่อผู้คนที่เกี่ยวข้อง และ ที่สำคัญกว่านั้นคือ เป็นการกระทำที่รับผิดชอบด้วยความสัตย์ซื่อต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าของเราด้วย

ถ้าเราจะเอาจริงเอาจังในความรักและสัตย์ซื่อต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าในแต่ละวัน เราต้องกระตุ้นย้ำเตือนตนเองทุกวันว่า

“วันนี้ฉันจะเป็นครู/อาจารย์ ที่ทำให้เกิดการยกย่องสรรเสริญพระเจ้าอย่างไร?”
“วันนี้ฉันจะเป็นนักเรียน นักศึกษา เช่นไรที่จะทำให้เกิดการสรรเสริญพระเจ้า?”
“วันนี้ฉันจะบริหารโรงเรียน, บริหารโรงพยาบาล, บริหารองค์กรที่ฉันรับผิดชอบ, ที่ทำให้เกิดการสรรเสริญพระเจ้าได้อย่างไร?”
“วันนี้ฉันจะตรวจและรักษาผู้ป่วย และบริการรับใช้คนไข้และญาติ จนเกิดการสรรเสริญพระเจ้าอย่างไร?”
“วันนี้ฉันจะทำธุรกิจอย่างไรที่ทำให้เกิดการสรรเสริญพระเจ้า?”
“วันนี้ฉันจะบริหารบ้านเมือง ปกครองประเทศ ดูแลประชาชนในท้องถิ่นอย่างไรที่ทำให้พระเจ้าได้รับการสรรเสริญ?” ... ฯลฯ ...

เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจการงานในแต่ละวัน ให้เรามีเวลาที่จะสนทนากับพระเจ้า มีเวลาที่จะประเมินผลชีวิตวันนี้ร่วมกับพระองค์ ว่าชีวิตของเราเป็นที่สรรเสริญพระเจ้ามากน้อยแค่ไหน? ทำอะไรอย่างไรที่นำมาซึ่งการสรรเสริญพระเจ้าอย่างชื่นชมยินดี ทำอะไรอย่างไรที่ทำให้พระเจ้าถูกลบหลู่ดูถูก หรือ สบประมาท มีอะไรที่เราเสียใจที่ได้ทำลงไป ขอพระเจ้าชี้นำว่าควรจะทำอย่างไรในวันใหม่ เราต้องการกำลังในด้านใดเพื่อชีวิตการงานที่ทำจะนำไปสู่การสรรเสริญพระเจ้า

มาร์ค รุสเซล (Mark Russell) ได้เป็นบรรณาธิการหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า “Our Souls at Work” ขออนุญาตแปลตามใจคิดว่า “จิตวิญญาณของเราในสนามงาน” ที่ให้มุมมองและสติปัญญามากมายสำหรับ “ผู้เชื่อในสนามงานธุรกิจ” และเป็นบทความที่นำเสนอในงานสัมมนาของนักธุรกิจคริสเตียน ที่จัดโดย วิทยาลัยบริหารและการจัดการเยล

Dave Gibbons ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือเล่มนี้และนักกิจกรรมสังคม ได้เขียนในบทนำพอสังเขปได้ว่า ...เมื่อเราทำการงานในชีวิตประจำวันอย่างดี ด้วยความรับผิดชอบนั้นเป็นการสะท้อนพระลักษณะของพระเจ้าผ่านการงานที่เรากระทำ สะท้อนถึงความดีและพระเมตตาของพระองค์ให้คนรอบข้างได้เห็นและสัมผัสถึงคุณค่าอันแท้จริง ดังนั้นงานที่เราทำจึงเป็นการนมัสการพระองค์ ไม่มีเส้นแบ่งเขตระหว่างความเชื่อศรัทธาและการทำงาน การทำงานคือการสำแดงออกถึงชีวิตของเราในพระเยซูคริสต์ การที่พยายามแบ่งแยกความเชื่อศรัทธาอออกจากภารกิจการงานที่เราทำ ก็เป็นเหมือนเราพยายามแยก “ชีวิต” ออกจาก “การกระทำ” ผู้คนจะรู้ว่าเราเป็นคนเช่นไรได้อย่างไร ถ้ามิได้พิจารณาจากการกระทำของเรา?

ดังนั้น ชีวิตแห่งความเชื่อศรัทธาของเรา กับ การกระทำกิจการงานของเรา ต้องเป็นเนื้อเดียวกันที่มุ่งไปสู่แผ่นดินของพระเจ้าอย่างมุ่งมั่น ตั้งใจ และอุทิศทั้งชีวิต

พระธรรมภาวนา

สดุดี 104:23-24
23มนุษย์ก็ออกไปทำงานของเขา ไปทำภารกิจของเขาจนเวลาเย็น 24ข้าแต่พระเจ้า พระราชกิจของพระองค์มากมายจริงๆ พระองค์ทรงสร้างการงานนั้นทั้งสิ้นด้วยพระปัญญา แผ่นดินโลกมีสิ่งที่ทรงสร้างเต็มหมด

สุภาษิต 16:3
จงมอบงานของเจ้าไว้กับพระเจ้า และแผนงานของเจ้าจะได้รับการสถาปนาไว้

สุภาษิต 16:9
ใจของมนุษย์กะแผนงานทางของเขา แต่พระเจ้าทรงนำย่างเท้าของเขา

สุภาษิต 19:21
ในใจของมนุษย์มีแผนงานเป็นอันมาก แต่พระประสงค์ของพระเจ้านั่นแหละจะดำรงอยู่ได้

มัทธิว 9:8
เมื่อประชาชนเห็นดังนั้นเขาก็ตระหนกตกใจ แล้วพากันสรรเสริญพระเจ้า ผู้ได้ทรงประทานสิทธิ อำนาจเช่นนั้นแก่มนุษย์

มัทธิว 5:16
ท่านทั้งหลายก็เหมือนกับตะเกียง จงส่องสว่างแก่คนทั้งปวง เพื่อว่าเมื่อเขาได้เห็นความดีที่ท่านทำ เขาจะได้สรรเสริญพระบิดาของท่านผู้ทรงอยู่ในสวรรค์

24 ตุลาคม 2553

เส้นทางที่คนอื่นไม่เดิน

3พระองค์จึงเสด็จออกจากแคว้นยูเดียและกลับไปยังแคว้นกาลิลีอีก
4พระองค์จำต้องเสด็จผ่านแคว้นสะมาเรีย
(ยอห์น 4:3-4)

ชาวยิวที่เคร่งครัดเวลาจะเดินทางจากแคว้นยูเดียไปยังกาลิลีพวกเขาจะไม่เดินผ่านสะมาเรีย เพราะแคว้นสะมาเรียเป็นที่อยู่อาศัยของชาวสะมาเรียที่พวกยิวรังเกียจ นอกจากพวกยิวจะไม่ชอบคนต่างชาติแล้วพวกเขายังรังเกียจคนสะมาเรีย ทั้งๆ ที่ชาวสะมาเรียนเดิมมีเชื้อชาติยิวแต่ไปแต่งงานกับคนต่างชาติจึงกลายเป็นชาวยิวเลือดผสม และถือว่านี่เป็นการกระทำผิดต่อพระบัญญัติของพระเจ้า ถ้าชาวยิวที่เคร่งครัดจะต้องเดินทางจากยูเดียไปกาลิลีหรือ เดินทางจากกาลิลีไปยูเดียเขาจะเลี่ยงที่จะเดินผ่านแคว้นสะมาเรียโดยเด็ดขาด แต่อุตส่าห์เดินข้ามแม่น้ำจอร์แดนไปฝั่งขวา แล้วเดินทางเรียบชายฝั่งจนถึงจุดที่ตนต้องการจะข้ามมาฝั่งซ้ายของจอร์แดนที่เป็นดินแดนของแค้วนกาลิลีหรือยูเดีย ทั้งนี้เพราะพวกเขาไม่ต้องการมีส่วนเกี่ยวข้อง สัมพันธ์ หรือสัมผัสกับพวกสะมาเรียคนยิวที่เลือดไม่บริสุทธิ์อันเป็นพวกที่พึงรังเกียจ (ดูความเป็นมาได้จาก อพยพ 34:15-16; เฉลยธรรมบัญญัติ 7:1-4)

ในพระธรรมยอห์นตอนนี้ ได้บันทึกไว้ว่า “พระองค์จำต้องเสด็จผ่าน” ในที่นี้ผู้บันทึกพระกิตติคุณยอห์นมิได้บอกถึงสาเหตุ หรือ เหตุผลว่าทำไมพระเยซูคริสต์และสาวกต้องเสด็จผ่านสะมาเรีย แต่พระองค์ได้เดินไปในเส้นทางที่ “คนยิวเคร่งครัดปกติ” จะไม่ทำกันเช่นนี้ ถ้ามองเพียงผิวเผินพระเยซูคริสต์และสาวกไม่ทำตามธรรมเนียมปฏิบัติของพวกยิวในเวลานั้น กลายเป็นพวก “แหกกฎ” “ไม่ทำตามระเบียบ” ทำในสิ่งที่คนอื่นเขาไม่ทำกัน

มุมมองในเวลานั้นจะมองดูพระเยซูและสาวกว่า พระองค์สอนและกระทำที่สวนทางกับธรรมเนียมปฏิบัติของยิวในเรื่องคนต่างชาติ และ เรื่องของคนยิวเลือดผสม เพราะพระองค์กลับยอมรับคนสะมาเรีย เราได้เห็นว่า เมื่อทรงสอนด้วยอุปมาพระองค์ทรงให้คนสะมาเรียเป็น “ตัวเอก ตัวดี” ในคำอุปมานั้น เช่น อุปมาเรื่อง “สะมาเรียผู้มีใจเมตตา” (ลูกา 10:25-37) และเราสามารถพิจารณาจากพฤติกรรมของพระองค์ เช่น เรื่องราวที่พระองค์สนทนากับหญิงสะมาเรียที่ข้างบ่อน้ำ (ที่เมืองสิคาร์ แค้วนสะมาเรีย: ยอห์น 4:6-7) พระองค์ทรงรักษาโรคให้แก่คนต่างชาติเหล่านี้ ทรงเรียกให้ลูกของหญิงต่างชาติฟื้นจากความตาย(ลูกา 7:11-17) พระองค์กลับมีมุมมองคนสะมาเรียที่แตกต่างกันคนละมุมมองพวกพวกยิวทั่วไป พระองค์ทรงมองว่านอกจากพวกสะมาเรียเป็นคนที่พระเจ้าทรงสร้าง เป็นคนที่คุณค่า ศักดิ์ศรี และเป็นลูกของพระเจ้าด้วยแล้ว พระองค์ยังมีจุดประสงค์แน่วแน่คือนำ ข่าวดี และ ความรอด จากพระเจ้ามาถึงชีวิตของชาวสะมาเรียและคนต่างชาติด้วย และเหนือสิ่งอื่นใด ยอห์นบันทึกไว้ว่า พระเยซู “จำต้อง” เดินทางแคว้นสะมาเรียในครั้งนี้อย่างจงใจ

พระเยซูคริสต์กระทำพระราชกิจของพระเจ้าในสถานการณ์ที่ขัดแย้งกับธรรมเนียมปฏิบัติ เช่น ทรงหยุดข้างถนนและทักทายกับศักเคียสคนเก็บภาษี แล้วขอไปกินข้าวในบ้านของเขา พระองค์กินและดื่มกับคนที่สังคมตีตราว่า “บาปสกปรก” ที่ผู้นำศาสนาไม่พึงที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนเหล่านี้ (มาระโก 2:15-17) พระองค์เปิดโอกาสให้กับหญิง “ชั่ว” เอาน้ำตาล้างเท้าของพระองค์ แล้วเช็ดด้วยผมของนาง และจูบเท้าของพระเยซู แล้วชโลมด้วยน้ำหอมราคาแพง (ลูก 7:37-38) พระองค์เสี่ยงต่อการถูกตีตราว่าเป็นคนสกปรกเพราะทรงยื่นพระหัตถ์แตะต้องคนโรคเรื้อนเพื่อรักษาพวกเขาให้หายจากโรคเรื้อน (มัทธิว 8:2-4) และที่สำคัญกว่านั้นอีกคือพวกเขาจะสามารถกลับสู่บ้านและสังคมของเขาอย่างไม่ถูกต้องห้าม กีดกัน ตำหนิต่อไป เราจะเห็นชัดเจนว่าพระเจ้ามีพระประสงค์ให้พระเยซูคริสต์กระทำพระราชกิจของพระองค์ในสถานการณ์ที่ไม่ได้เป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติของสังคมและความเชื่อถือคนในและสังคมในเวลานั้น

การเป็นคริสเตียนต้องไม่ยอมให้ธรรมเนียมปฏิบัติมาครอบงำความคิดความเชื่อและการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา การเป็นคริสเตียนไม่ควรให้กฎระเบียบที่มนุษย์สร้างขึ้นมีอำนาจเหนือการคิด ตัดสินใจ และปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตประจำวันของเรา

กฎธรรมเนียมปฏิบัติที่มนุษย์สร้างขึ้นต้องไม่ขัดแย้ง ขัดขวาง หรือมีอำนาจเหนือการทรงนำ พระประสงค์และน้ำพระทัยของพระเจ้า เมื่อคริสเตียนต้องเลือกควรตัดสินใจเลือกพระประสงค์ของพระเจ้าในแต่ละวันก่อนแม้ว่าจะขัดกับสิ่งที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ เพราะบ่อยครั้งที่ผู้นำศาสนาบางคนจะอ้างการทำตามธรรมเนียมปฏิบัติเพื่อเป็นการยกย่องสรรเสริญพระเจ้า (ถ้ากระทำตามธรรมเนียมปฏิบัติที่เขาตีตราหรือกำหนดขึ้น) แต่ละเลยความสนใจว่าในเหตุการณ์นั้น หรือ สถานการณ์นั้นพระเจ้าจะทรงกระทำพระราชกิจอะไร หรือ พระเจ้าจะทรงใช้เราแต่ละคนในการทำอะไรตามพระประสงค์ของพระองค์

อย่าให้กฎระเบียบ หรือ ธรรมเนียมปฏิบัติของคริสตจักร องค์กรคริสเตียน ลัทธินิกาย ยิ่งใหญ่กว่าพระประสงค์ของพระเจ้า และ พระราชกิจของพระองค์ในเวลานั้น แต่ให้กฎระเบียบ ธรรมเนียมปฏิบัติ หรือ แนวทางปฏิบัติสอดคล้องและรับใช้พระประสงค์และพระราชกิจของพระเจ้าในสถานการณ์นั้นๆ

คริสเตียนต้องกล้าที่จะคิดและปฏิบัติออกนอกกรอบที่มนุษย์สร้างหรือกำหนดขึ้น และคริสเตียนกล้าที่จะคิด ตัดสินใจ และกระทำในสิ่งต่างๆ โอกาสต่างๆ และสถานการณ์การต่างๆ ที่สอดคล้องตามพระประสงค์และพระราชกิจของพระเจ้าในเวลานั้นๆ

ถ้าเรายอมให้พระประสงค์และพระราชกิจทรงนำและทรงใช้เราแต่ละวันในชีวิตของเรา เราจะเห็นพระหัตถ์ของพระเจ้า พระพรของพระองค์ เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในชีวิตของเราแต่ละคน และในชุมชนที่คนๆ นั้นดำเนินชีวิตด้วย

ยอห์น บันทึกต่อไปว่า ทำไมพระเยซูคริสต์จึงจำเป็นต้องเดินทางผ่านแคว้นสะมาเรีย เพราะที่นั่นพระองค์จะพบกับหญิงสะมาเรียคนหนึ่งที่คนยิวไม่พึงพบพูดคุยด้วย นอกจากเป็นคน “เลือดผสม ไม่บริสุทธิ์” แล้ว ยังเป็นสตรีที่พวกผู้ชายดูถูก ยิ่งกว่านั้น สตรีคนที่พระเยซูพบและสนทนาด้วยเป็นคนที่ล้มเหลวในชีวิตครอบครัวเพราะเธอแต่งงานมาครั้งแล้วครั้งเล่า ล้มเหลวในชีวิตแต่งรวมถึงผู้ชายคนปัจจุบันที่เธออยู่ด้วย มิใช่ชายยิวรังเกียจเท่านั้น แต่ชาวเมืองสะมาเรียก็ยังดูถูกเธออีกด้วย แต่พระเยซูคริสต์ต้องการเดินผ่านแคว้นสะมาเรีย เพื่อนำข่าวดีมาถึงเธอ และเธอยังนำข่าวดีไปยังชาวสะมาเรียคนอื่นๆ อีกด้วย (ยอห์น 4:39-42)

พระเจ้าทรงมีพระประสงค์ในชีวิตของเราแต่ละคน พระองค์ต้องการที่จะให้ชีวิตประจำวันของเราเข้าถึงชีวิตของคนอื่นๆ เพื่อนำข่าวดีและพระพรเข้าสู่ชีวิตของคนเหล่านั้น เพื่อนำคำตอบเข้าถึงชีวิตของคนที่มีชีวิตสับสนวุ่นวายและสิ้นหวัง นำกำลังใหม่เข้าในชีวิตของคนอ่อนเปลี้ย นำชีวิตที่มีความหวังเข้าถึงชีวิตที่สิ้นหวัง เพื่อยื่นชีวิตของเราเข้าไปยังกลุ่มคนที่ถูกทอดทิ้ง รังเกียจ ไร้ค่าในสายตาของคนทั่วไปและสังคม เฉกเช่นที่พระคริสต์ที่ทรงดำเนินเข้าไปในชีวิตของหญิงสะมาเรียคนนั้น

พระเยซูคริสต์ทรงไปในที่ที่ผู้คนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเช่นใดก็ตาม พระเยซูคริสต์มิเคยสอนว่าให้นำคนมาในคริสตจักร แต่พระองค์ทรงปฏิบัติเป็นแบบอย่างให้คริสตจักรเข้าไปในที่ที่มีคนอยู่ในโลกนี้ เพื่อนำข่าวดี พระพร เข้าไปผู้คนเหล่านั้น เพื่อที่แต่ละคนจะมีชีวิตใหม่ คนใหม่ ที่ได้รับการทรงเปลี่ยนแปลงจากพระองค์

ตอนนี้น่าจะกลับไปอ่านยอห์น บทที่ 4 อีกครั้งหนึ่ง

19 ตุลาคม 2553

พระกิตติคุณกับการแตกแยก

“...51ท่านทั้งหลายคิดว่าเรามาเพื่อจะให้เกิดสันติภาพในโลกหรือ เราบอกท่านว่า มิใช่ แต่จะให้แตกแยกกันต่างหาก 52ด้วยว่าตั้งแต่นี้ไปห้าคนในเรือนหนึ่งก็จะแตกแยกกัน คือสามต่อสองและสองต่อสาม 53พ่อจะแตกแยกจากลูกชาย และลูกชายจะแตกแยกจากพ่อ แม่จากลูกสาว และลูกสาวจากแม่ แม่ผัวจากลูกสะใภ้และลูกสะใภ้จากแม่ผัว”
(ลูกา 12:51-53)

บางคนคิดว่า พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจที่ดีต่อทุกคน ดังนั้น หลายคนเมื่อคิดถึงพระเจ้าก็คิดถึงการได้พระพรจากพระองค์ หรือเมื่อมีความต้องการความช่วยเหลือก็จะร้องทูลต่อพระองค์ เวลาใดที่ทุกอย่างในชีวิตเป็นไปด้วยดีก็ไม่จำเป็นที่จะรบกวนพระองค์ จนลืมพระองค์ไปชั่วเวลาหนึ่ง แต่นั่นมิใช่แนวทางความสัมพันธ์กับพระเจ้าในพระคริสต์ธรรมคัมภีร์ พระเจ้าทรงเป็นความรัก ทรงเมตตา และทรงเอาใจใส่ แต่ในเวลาเดียวกันพระองค์ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ถูกต้อง เกลียดชังสิ่งที่ชั่ว สำหรับคนที่แสวงหาแผ่นดินของพระองค์จะรักพระองค์ แต่คนอื่นๆ จะต่อต้านและไม่ยอมรับการครอบครองของพระองค์ และยังเกลียดชังคนที่รักพระองค์อีกด้วย ทั้งนี้ไม่ยกเว้นคนในครอบครัวของคนที่รักพระเจ้าด้วย

ดังนั้น พระเยซูคริสต์ทรงเตรียมตัวเตรียมใจเหล่าสาวกของพระองค์ให้พร้อมรับสถานการณ์การข่มเหงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ก่อนที่จะมีคริสตจักรด้วยซ้ำ และสิ่งนี้จะเกิดชัดเจนและรุนแรงในครอบครัว แต่พระเจ้าทรงเป็นพระบิดาผู้ยิ่งใหญ่ และพระองค์ทรงเป็นผู้ตั้งสถาบันครอบครัว และเมื่อมีคนที่กบฏต่อต้านกระทั่งต่อสู้ความรักของพระองค์ ปฏิเสธที่จะเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของพระองค์ เขาก็จะปฏิเสธ/ตัดขาดแม้แต่ญาติตามสายเลือดของตนเองที่รักพระเยซูคริสต์ ในที่นี้มิได้หมายความว่าพระเยซูคริสต์เป็นตัวปัญหา แท้ที่จริงแล้วพระองค์ประสงค์ที่จะนำศานติสุขของพระองค์ให้มาถึงทุกคน

ก่อนพระคริสต์จะเข้าไปในครอบครัว ผู้คนในครอบครัวต่างผสมปนเปอยู่ด้วยกัน ทุกคนดูเหมือนกัน ไม่มีใครที่จะคิดจะต่อต้านกัน แต่เมื่อพระคริสต์เสด็จเข้ามาในครอบครัว พระองค์เป็นแสงสว่างที่สาดส่องเข้าไปในชีวิตผู้คนในครอบครัว แสงสว่างของพระคริสต์ส่องเข้าในจิตใจความคิดของผู้คน แสงสว่างนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายต่อชีวิตของผู้คนในครอบครัวอย่างที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน ต่างมองเห็นความมืด จุดบอดในชีวิตและในความสัมพันธ์ และจะมีบางคนที่ปกป้องตนเอง ปฏิเสธความจริงที่มองเห็นเพราะแสงสว่างนั้น ในขณะที่บางคนยอมรับและเปิดใจเปิดชีวิตรับการเปลี่ยนแปลง คนสองกลุ่มนี้ตอบสนองต่อสิ่งท้าทายด้วยท่าทีที่แตกต่างกัน ยิ่งกว่านั้น กลุ่มที่ปฏิเสธความจริงที่แสงสว่างเปิดเผยนอกจากจะต่อต้านแสงสว่างแล้ว เขายังตั้งตนเป็นปรปักษ์กับผู้เปิดชีวิตยอมรับการเปลี่ยนแปลงอีกด้วย

เหตุการณ์ในทำนองเดียวกันยังเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ หลายคนที่ตัดสินใจรับเชื่อในพระเยซูคริสต์ต้องเผชิญหน้าต่อการท้าทายของครอบครัว หลายคนไม่มีทางเลือกอื่น พวกเขายืนหยัดความเชื่อในพระคริสต์ เขาไม่ต้องที่จะ “หันกลับ” หรือ “ถอยหลัง” เพราะเขาได้พบสัจจะความจริงในชีวิต พวกเขาได้รับประสบการณ์กับความเป็นไทในชีวิต หน้าที่ของพวกเขาคือการสำแดงชีวิตที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงจากพระเยซูคริสต์ หาโอกาสที่จะสื่อสารข่าวดีของพระเยซูคริสต์ต่อผู้ที่ต่อต้านหรือข่มเหง อดทนด้วยรักและถ่อม ถ้าเป็นไปได้แล้ว พวกเขาจะอยู่ร่วมและทำตัวด้วยสงบสันติกับทุกคนและในทุกเหตุการณ์ และที่สำคัญแล้วเขาจะไม่ทำการแก้แค้น และกระทำสิ่งที่ชั่วร้ายตอบสนองการกระทำที่ชั่ว(โรม 12:18-19) อย่างไรก็ตาม ให้เราอธิษฐานเพื่อผู้ที่ข่มเหงเรา(ลูกา 6:27-28) ที่สำคัญคือให้มีชีวิตที่เป็นแสงสว่างแห่งพระคริสต์(มัทธิว 5:16) เพื่อคนเหล่านั้นจะได้เห็นพระคริสต์ผ่านชีวิตของเรา และเราไม่ควรคำสอนบนภูเขาของพระเยซูคริสต์ที่ว่า “เมื่อเขาติเตียน ข่มเหง และว่าร้ายท่านทั้งหลายเป็นความเท็จเพราะเราท่านก็เป็นสุข”(มัทธิว 5:11-12) ทั้งนี้เพราะว่าเราไว้วางใจในพระเยซูคริสต์ และคนเหล่านั้นมิได้ต่อสู้เรา แต่เขากำลังต่อสู้กับพระคริสต์ ดังนั้น สงครามชีวิตครั้งนี้พวกเหล่านั้นกำลังทำสงครามกับพระองค์

เหตุการณ์เช่นนี้มิได้เกิดขึ้นในกรณีของผู้เชื่อใหม่เท่านั้น แต่อาจจะเกิดการต่อต้านขัดขวางท่านในที่ทำงาน ในสังคมชุมชน หรือแม้แต่ในคริสตจักร ทั้งนี้เพราะความคิดความเห็นหรือการดำเนินชีวิตของท่านบนวิถีแห่งกางเขนของพระเยซูคริสต์ ได้สาดส่องสว่างเข้าไปในความมืด ทำให้เห็นความจริง ความยุ่งเหยิง และ ฯลฯ ที่ทำให้บางคนที่นี้นั้นไม่พอใจ ไม่ต้องการให้ความจริงเป็นที่ประจักษ์ ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง ไม่ต้องการเป็นคนผิด ไม่ต้องการเสียหน้า ไม่ต้องการต้องเจ็บปวดในชีวิต ไม่ต้องการเสียโอกาส ไม่ต้องการเสียผลประโยชน์ ในสถานการณ์เช่นนั้นท่านต้องเผชิญหน้ากับการท้าทาย การต่อต้าน การสำแดงพระคริสต์บางครั้งแทนที่จะสร้างสุขศานติ แต่นำมาซึ่งความขัดแย้ง การต่อต้านต่อสู้ ถึงขนาดการทำลายทำร้ายกัน

ในเวลาเช่นนี้เราต้องการความรักเมตตาของพระคริสต์อย่างมาก เราไม่มีความประสงค์จะทำร้าย ทำลายใคร แต่อำนาจแห่งความชั่วจะไม่ยอมให้แสงสว่างของพระคริสต์มาแย่งพื้นที่ชีวิตของผู้คนไปจากมัน มันจึงประกาศสงคราม จึงเกิดการต่อต้าน ต่อสู้ และในที่สุดทำร้ายและทำลาย เราควรมีความอดทน เชื่อและไว้วางใจในพระคริสต์ และการสำแดงแสงสว่างของพระคริสต์อย่างต่อเนื่องคือสิ่งที่เราสามารถกระทำได้ ส่วนการศึกสงครามแห่งชีวิตจิตวิญญาณในครอบครัว ในที่ทำงาน ในคริสตจักร ในชุมชน/สังคม เป็นพระราชกิจของพระคริสต์เจ้า พลังแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์เท่านั้นที่จะต่อสู้กับอำนาจแห่งความชั่วร้ายเหล่านี้ได้

เราทุกคนต้องการที่จะให้ผู้คนรายรอบชอบและรักเรา
เราจะรู้สึกไม่สบายใจ หรือ เจ็บปวด เมื่อคนข้างเคียงไม่ยอมรับเรา หรือ บางครั้งเราได้รับการต่อต้าน
เมื่อเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น
บางคนตอบโต้กลับเพื่อจะชี้ให้เห็นว่า “ใครผิดใครถูก”
บางคนเปลี่ยน “จุดยืน” เพื่อประนีประนอมกับผู้ต่อต้าน
บางคนยืนหยัด “ความเชื่อศรัทธา” ในชีวิตด้วยความถ่อม ศานติ รัก อดทน และเสียสละ

ท่ามกลางความขัดแย้ง การต่อต้าน และการต่อสู้
ทั้งสิ้นนี้เป้าหมายมิได้อยู่ที่การแพ้การชนะ
ทั้งสิ้นนี้เป้าหมายมิได้อยู่ที่ใครผิดใครถูก
ทั้งสิ้นนี้เป้าหมายอยู่ที่ เพื่อผู้คนจะได้เห็นและสัมผัสสัจจะ ความจริง ความรักของพระคริสต์
ทั้งสิ้นนี้เป้าหมายอยู่ที่ เพื่อทุกคนจะได้เป็นไทในพระคริสต์ และ รอดในพระคุณของพระองค์
ทั้งสิ้นนี้เป้าหมายอยู่ที่ เพื่อแผ่นดินของพระเจ้าจะมาตั้งอยู่
น้ำพระทัยเป็นอย่างไรในสวรรค์ให้เป็นเช่นนั้นในแผ่นดินโลก

14 ตุลาคม 2553

อย่ากลัวที่จะมีใจกว้างขวาง

อ่านพระธรรมลูกา 12:32-34

32“ฝูงแกะเล็กน้อยเอ๋ย อย่ากลัวเลย เพราะว่าพระบิดาของพวกท่านชอบพระทัยจะประทานแผ่นดินนั้นให้แก่ท่าน 33จงขายของที่ท่านมีอยู่และทำทาน จงทำถุงใส่เงินสำหรับตนซึ่งไม่รู้จักเก่า คือมีทรัพย์สมบัติไว้ในสวรรค์ซึ่งไม่รู้จักหมดสิ้น ที่ขโมยไม่ได้เข้ามาใกล้ และที่ตัวแมลงไม่ได้ทำลาย 34เพราะว่าทรัพย์สมบัติของพวกท่านอยู่ที่ไหน ใจของท่านก็อยู่ที่นั่นด้วย
(ลูกา 12:32-34)

ทำไมคนในครอบครัวของพระเจ้าในยุคนี้ดูเฉื่อยชาลงในเรื่องการที่เป็นคนที่มีจิตใจกว้างขวาง? คำตอบคงธรรมดาสามัญ...ก็เพราะเรากลัวว่าถ้าเราใจกว้างให้ทรัพย์สิน เงินทอง อาหาร สมบัติ เวลา หรือแม้แต่กำลังของเรามันจะไม่มีเหลือพอสำหรับเราเมื่อมีความจำเป็นต้องการในอนาคต ในพระธรรมตอนนี้เราได้ยินได้ฟังถึงคำสั่งสอนของพระเยซูคริสต์ที่มีต่อสาวกของพระองค์ไม่ให้วิตกกังวลในสิ่งใดเลย เพราะพระบิดาทรงเป็นผู้ที่เปี่ยมด้วยเมตตาในการให้

ในพระธรรมโรม 8:32 เปาโลกล่าวไว้ว่า “พระองค์ผู้ไม่ทรงหวงพระบุตรของพระองค์เอง แต่ประทานพระบุตรนั้นเพื่อเราทุกคน ถ้าเช่นนั้นพระองค์จะไม่ประทานสิ่งสารพัดให้เราด้วยกันกับพระบุตรนั้นหรือ?” พระเยซูคริสต์ผู้เป็นพระผู้กอบกู้แห่งโลกนี้ พระองค์ทรงสัญญาว่า พระองค์จะทรงประทานทุกสิ่งแก่ผู้ที่เชื่อในพระองค์

โปรดเข้าใจอย่างถูกต้องว่า ความรอดนั้นเป็นการรอดพ้นจากอำนาจความผิดบาป และ ในเวลาเดียวกันความรอดรวมถึงความจำเป็นต้องการของเราได้รับการทรงตอบสนองจากพระเจ้าด้วย พระเจ้าจะมิทรงยินยอมให้ผู้คนในแผ่นดินของพระองค์ต้องอดอยากขาดแคลนในสิ่งที่จำเป็นในชีวิต โดยความเป็นจริงแล้ว พระเจ้าทรงให้เราเป็น “ตัวแทนของพระองค์” เป็น “ท่อสำหรับพระองค์” ที่จะนำส่งต่อพระเมตตาคุณของพระองค์ไปยังคนอื่นๆ ที่อยู่รอบข้างเรา พระเมตตาคุณของพระเจ้าที่ทรงประทานแก่เรามิได้ทรงให้มาเพื่อให้เรา “เก็บกัก สะสม” เอาไว้ใช้สำหรับตนเอง เพราะถ้าเราทำเช่นนั้น ตัวเราจะกลายเป็นผู้กีดกัน ขัดขวางทำให้คนอื่นไม่ได้รับสิ่งที่สำคัญจำเป็นในชีวิตของพวกเขา และในเวลาเดียวกันพระเมตตาคุณที่เราเก็บกักสะสมเพื่อตนเองก็จะเสียหายไหลรั่วเหมือนกับเงินที่ล่วงหล่นจากกระเป๋าที่มีรูรั่ว แต่ถ้าเราแจกจ่ายพระเมตตาคุณเหล่านั้นที่เราได้รับแก่คนที่มีความจำเป็นรอบข้าง พระพรนั้นก็จะทวีคูณเพิ่มพูนมากขึ้น ความจำเป็นต้องการในแต่ละวันของเราได้รับการตอบสนองจากพระเจ้า และคนอื่นรอบข้างก็ได้รับพระเมตตาคุณของพระเจ้าผ่านทางชีวิตของเรา ทำให้พระองค์ได้รับการยกย่องสรรเสริญ

พระเยซูคริสต์ไม่เคยสอนว่า คุณให้มากเท่าใดคุณก็จะได้รับมากเพิ่มขึ้นเท่านั้น (พระเยซูไม่เคยสัญญาว่า ท่านจะมั่งคั่งร่ำรวย แต่ทรงสัญญาว่าความจำเป็นของแต่ละวันในชีวิตของท่านจะได้รับการทรงตอบสนองจากพระเจ้า)

พระองค์ตรัสว่า ประชากรในแผ่นดินของพระองค์ทุกคนมีความรับผิดชอบในการใช้สิ่งที่พระองค์ทรงประทานให้ เพื่อให้พระนามของพระบิดาเจ้าได้รับการยกย่องสรรเสริญ โดยการที่เรารับผิดชอบตอบสนองความจำเป็นของคนอื่นๆ ในชีวิตของเขาเหล่านั้นด้วยพระเมตตาคุณของพระเจ้าที่เราได้รับจากพระองค์

จุดผิดพลาดคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นเมื่อเราสำคัญผิดคิดว่า สิ่งที่พระองค์ทรงประทานแก่เรานั้นเป็นทรัพย์สมบัติของเรา หรือที่เราสามารถหามาได้เอง เราจึงต้องเก็บกักรักษาไว้สุดชีวิตเพื่อตัวเราเองจะได้ใช้เมื่อมีความต้องการในชีวิต เพื่อความมั่นคง ปลอดภัยแห่งชีวิตของเรา เราจึงไม่คิดว่าทรัพย์สินสิ่งของที่ได้มาเหล่านี้มีมาเพื่อการแบ่งปัน เราจึงกลายเป็นคนที่ขาดความรับผิดชอบต่อทรัพย์สินสิ่งของที่พระเจ้าทรงประทานแก่เรา

แต่ถ้าเรารักพระองค์มากกว่าและเหนือกว่าสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น ทรัพย์สินสิ่งของที่เรามี เราจะสำนึกตลอดเวลาว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของพระเจ้า ทรัพย์สินสิ่งของเหล่านี้ควรถูกใช้เพื่อทำตามพระประสงค์ของพระองค์ และถ้าเราดำเนินบนวิถีชีวิตแบบนี้ชีวิตของเราก็จะไม่มีที่ว่างสำหรับความวิตกกังวล ถ้าเราเชื่อไว้วางใจว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงประทานสิ่งจำเป็นในชีวิตแก่เราในแต่ละวัน เราจึงไม่ต้องสะดุ้งตื่นขึ้นค่ำคืนกลางดึก หรือชีวิตโชกเปียกด้วยความเครียด และนี่จะช่วยปลดปล่อยชีวิตของเราให้เป็นไทในพระองค์ขนาดไหน และก็จะเป็นการช่วยปลดปล่อยให้ผู้คนรอบข้างเราได้เป็นไทในพระคริสต์ด้วยเช่นกัน

คริสเตียนคงต้องกลับมาพิจารณาและปรับมุมมองใหม่ในชีวิตและความเชื่อ
ขอพระเจ้าโปรดเมตตาอภัยโทษสำหรับชีวิตที่ผ่านมาของเราแต่ละคน

ที่มุ่งหาไขว่คว้าทรัพย์สิน เงินทอง สมบัติมาเพื่อกักตุน สะสม กอดแน่นดั่งหนึ่งเป็นที่พึ่งแห่งชีวิต
ที่ทำตัวเหมือนกับว่าไม่มีพระบิดาที่ทรงเมตตาคุณในชีวิตแต่ละวัน
ที่ชีวิตขาดความรับผิดชอบในการส่งต่อและแบ่งปันพระพรแห่งเมตตาคุณของพระเจ้าแก่คนรอบข้าง
ที่ชีวิตตกอยู่ในหุบเหวแห่งความวิตกกังวลว่า จะไม่มีทรัพย์สินเงินทองเพียงพอในชีวิต

ขอพระเจ้าโปรดทรงช่วยเราที่จะเชื่อฟังในการทรงนำของพระองค์
กล้าที่จะให้ตามที่พระองค์ตรัสสั่ง และ ไว้วางใจว่าพระองค์จะทรงเติมเต็มสิ่งจำเป็นในแต่ละวัน
เพื่อคนรอบข้างจะได้เห็นถึงความรัก เมตตา สัตย์ซื่อของพระเจ้าผ่านชีวิตของเราแต่ละคน

12 ตุลาคม 2553

พระเยซูมองข้าม...

พระเยซูมองข้าม “ชื่อเสียง” และ “เกียรติยศ” ของคุณ
พระองค์มองข้าม “ชื่อเสีย” และ “การทรยศ” ของคุณด้วย

อ่านพระธรรมลูกา 19:1-10

8ส่วนศักเคียสนั้นยืนขึ้นทูลองค์พระผู้เป็นเจ้าว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า ทรัพย์สิ่งของของข้าพระองค์ ข้าพระองค์ยอมให้คนยากจนครึ่งหนึ่ง และถ้าข้าพระองค์โกงอะไรของใครมา ก็ยอมคืนให้เขาสี่เท่า” 9พระเยซูตรัสกับเขาว่า “วันนี้ความรอดมาถึงบ้านนี้แล้ว เพราะคนนี้เป็นลูกของอับราฮัมด้วย (ลูกา 19:8-9, TBS02b)

ผมยังจำได้ในตอนที่ผมเป็นอนุชนและสอนรวีวารศึกษาที่คริสตจักร ผมเคยสอนเพลงที่มีประโยคแรกว่า “ศักคายชายร่างเตี้ย เก็บเบี้ยภาษี” ในยุคนี้คงต้องเปลี่ยนใหม่ว่า “ศักเคียสชายร่างเตี้ย เก็บเบี้ยภาษี” ประโยคนี้เคยผ่านหูผ่านตาและยังอยู่ในความทรงจำของท่านหรือไม่? ผมเชื่อว่าท่านต้องรู้เรื่องและจำเรื่องราวของชายเตี้ยคนนี้ได้อย่างแน่นอน!

ตามเนื้อเพลงบอกชัดเจนว่า ศักเคียสมีรูปร่างเด่นชัดคือเตี้ย มีอาชีพการงานที่ประชาชนคนยิวไม่อยากคบค้าสัมพันธ์ด้วย เพราะโดยทั่วไปแล้วคนเก็บภาษีในเวลานั้นมักจะเอารัดเอาเปรียบประชาชน ขูดรีดเงินภาษีจากประชาชนเพื่อส่งให้กับรัฐบาลโรมันแล้วยังเก็บเกินเก็บเลยเพื่อตนเองมากด้วย จึงเป็นคนที่ประชาชนยิวจงเกลียดจงชัง และถูกตีตราว่าเป็นคนทรยศต่อชาติ และ เป็นคนบาปในศาสนาของตนเอง

แต่ศักเคียสก็รู้อยู่เต็มอกว่า มิใช่พวกตนที่เก็บภาษีเท่านั้นที่ยอมคบคิดทำงานกับพวกรัฐบาลโรมัน พวกสภาซันเฮ็ดริน และ พวกฟาริสี ก็สยบยอมพวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลโรมันด้วย เพื่อพวกตนจะได้ดำรงอยู่ในอำนาจทางศาสนาปกครองคนยิวในสมัยนั้น พวกเขาพยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่พูดถึงพระบัญญัติ 10 ประการห้าข้อแรก เพราะทั้งห้าข้อนี้เป็นเรื่องของอำนาจ สิทธิ์ขาดของพระเจ้าที่ปกครองเหนือชุมชนคนยิว อันขัดกับอำนาจสูงสุดของจักรพรรดิโรมันในสมัยนั้น เพราะทั้ง 5 ข้อนี้เป็นเรื่องของอำนาจการเมือง และระบบสังคมตามพระประสงค์ของพระเจ้าที่พวกมีอำนาจโรมันไม่ต้องการให้มีขึ้นในสังคมยิว หรือพูดได้ว่า นักการเมืองในคาบศาสนายิวยอมประนีประนอมกับอำนาจของโรมันเพื่อผลกระโยชน์แห่งตน แต่พระเยซูคริสต์กลับทรงประกาศรื้อฟื้นพระบัญญัติสิบประการ 5 ข้อแรก และเชื่อมโยงกับการประกาศเรื่องแผ่นดินของพระเจ้า และพระองค์ทรงประกาศยืนยันว่า พระองค์มิได้มาเพื่อทำลายและลดความสำคัญของพระบัญญัติ แต่ทรงมาเพื่อทำให้พระบัญญัติของพระเจ้าในสังคมยิวสมบูรณ์

แล้วทำไมประชาชนถึงจงเกลียดจงชังพวกเก็บภาษี แต่กลับยกย่องให้การเคารพต่อพวกฟาริสีที่ชั่วเหมือนตนเอง และพวกคนเก็บภาษีคงพูดกันถึงการวิพากษ์วิจารณ์ของพระเยซูต่อพวกฟาริสีว่า “เป็นคนหน้าซื่อใจคด” พระองค์คบค้าสัมพันธ์กับประชาชนคนยากคนจน คนต่ำต้อย และพวกที่สังคมตราหน้าว่าบาปหนา ทำให้ศักเคียสอยากเห็นพระเยซู เขาต้องการเห็นพระเยซูเท่านั้น

เมื่อรู้ว่าพระเยซูจะผ่านมาทางนี้ เขารีบวิ่งรุดหน้าไต่ขึ้นบนต้นไม้เพื่อจะเอาชนะความเตี้ยแต่กำเนิดของตน ต้องการมองให้เห็นว่า พระเยซูคนนี้หน้าตาเป็นอย่างไร เป็นคนแบบไหน ทำไมประชาชนชื่นชอบ ทำไมกล้าที่จะท้าทายอำนาจของพวกผู้นำศาสนายิว ทำไมสอนไม่เหมือนคนอื่น อยากรู้เหลือเกินว่าพระเยซูคนนี้สังกัดพรรคใต้ดินพรรคไหนกันแน่!

ศักเคียสถึงกับตะลึง มิเพียงแต่ได้เห็นพระเยซูเดินผ่านมาเท่านั้น แต่พระองค์หยุด และทักทายตนเอง ยิ่งกว่านั้นจะไปบ้านของตนเอง ผู้คนในฝูงชนต่างเบียดเสียดยัดเยียดเพื่อจะได้สัมผัสพระเยซู จะได้ใกล้ชิดพระองค์ แต่นี่พระเยซูบอกให้ตนเองลงมาจากต้นไม้ แล้วนำพระองค์ไปบ้านของตน โอกาสที่ไม่คาดฝันกลับเป็นจริง ยิ่งแปลกใจเข้าไปใหญ่ว่าพระเยซูคนนี้เป็นใครกันแน่ ทำอะไรแผลงๆ เสี่ยงต่อการถูกตำหนิติเตียนของประชาชนและผู้นำศาสนายิว แต่ศักเคียสก็ดีใจคว้าโอกาสพิเศษนี้ไว้ไม่ให้หลุดมือ พาพระองค์และพรรคพวกไปบ้านของตน ท่ามกลางเสียงบ่นตำหนิพระเยซูและสาวกที่คบคนชั่วไปกินดื่มในบ้านของคนบาป เกิดคำถามขึ้นในจิตใจว่า หรือพระเยซูจะชวนคนบาปเก็บภาษีคนนี้เข้าเป็นสมาชิกพรรคของพระองค์?

เราไม่รู้ว่า พระเยซูและสาวกทำอะไรกันในบ้านของศักเคียส เราไม่รู้ว่าพวกเขาพูดคุยกันถึงเรื่องอะไรบ้างเมื่อรับประทานอาหารด้วยกันในบ้าน แต่ผลที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งยืนยันว่า ความคิดความเชื่อและเป้าหมายชีวิตของศักเคียสนั้นเปลี่ยนไป เขาประกาศชัดว่า ทรัพย์สินเงินทองครึ่งหนึ่งเขาจะให้กับคนยากคนจน และถ้าเขาโกงของใครมาจะขอชดใช้คืน 4 เท่า

นี่มิใช่ความใจดีของศักเคียส แต่ที่เขาประกาศที่จะทำทั้งหมดนี้เป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติของศาสนายิวในส่วนที่เกี่ยวกับสังคมและระบบสังคม(ที่พวกฟาริสีและผู้นำศาสนายิวไม่ยอมพูดถึง) ด้วยผลที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เราสามารถแกะรอยย้อนกลับไปได้ว่า สิ่งที่พูดคุยกันในวันนั้นหนีไม่พ้นพระบัญญัติ(ต้องห้ามในสมัยโรมัน) ที่เกี่ยวกับสังคมและระบบสังคมตามความเชื่อศรัทธาของยิว ที่ผู้นำศาสนาในสมัยนั้นหลีกเลี่ยง และ “ซุกซ่อน” และไม่พูดถึง แต่ปรากฏการณ์เกิดขึ้นในสังคมยิวตอนนั้น สิ่งที่พวกฟาริสีและปุโรหิต “กดทับ ซุกซ่อน” “หลีกเลี่ยง”ที่จะพูดถึงที่จะสอนประชาชนเพื่อรักษาฐานอำนาจและประโยชน์แห่งตน กลับปรากฏเป็นรูปธรรมผ่านการสนทนาระหว่างพระเยซูกับคนบาปหนาในสายตาของพวกผู้นำศาสนายิว

และนี่ก็คงเป็นปรากฏการณ์หนึ่ง หรือ อีกหลักฐานชิ้นหนึ่ง ที่พวกฟาริสีและผู้นำศาสนายิวจะนำไปฟ้องพวกผู้ปกครองโรมันว่า พระเยซูคนนี้กับพรรคพวกเป็นภัยต่อชาติ เป็นศัตรูตัวฉกรรจ์ต่ออาณาจักรโรมัน ขณะนี้กำลังสมคบกับคนเก็บภาษีบางคน

วันนี้ พระเยซูคริสต์เดินผ่านมาบนเส้นทางชีวิตของท่าน ท่านต้องการที่จะเห็นพระองค์เท่านั้น หรือท่านจะตอบรับและเชิญพระองค์เข้าไปในบ้านของท่าน? ท่านอาจจะคิดในใจว่า ไม่อยากให้พระองค์ต้องมาแปดเปื้อนเพราะ “ชื่อเสีย” หรือ “ความบาปผิด” ของท่าน แต่ที่แน่ชัดคือ พระเยซูเข้ามาในชีวิตของผู้คนมิใช่เพราะคนนั้นมี “ชื่อเสียง” หรือ “เกียรติยศ” ในสังคม หรือคนนั้นมี “ชื่อเสีย” หรือ “การทรยศ” ในชีวิต แต่พระองค์ต้องการมีเวลากับท่าน ในชีวิตของท่าน ส่วนหลังจากนั้นชีวิตของท่านจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายมหาศาลตามพระประสงค์ของพระองค์นั้น เป็นเรื่องแน่นอนธรรมดาที่จะต้องเกิดขึ้น
เราท่านพร้อมที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่มากมายเช่นนั้นในชีวิตของเราหรือไม่?

แต่น่าเสียดายว่า คริสเตียนหลายต่อหลายคนต้องการมองเห็นพระเยซูเท่านั้น แต่ไม่ต้องการมีเวลากับพระองค์เพราะเดี๋ยวชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงมากเกินไป ที่แย่กว่านั้นคือเปลี่ยนไปในทางที่ตนไม่ต้องการ หรือ ที่ตนไม่ได้คาดหวัง! แต่กลับเปลี่ยนไปตามใจของพระเจ้า?

10 ตุลาคม 2553

มองให้เห็นพระหัตถ์ในชีวิตของท่าน

นัยน์ตาทั้งปวงมองดูพระองค์
และพระองค์ประทานอาหารให้ตามเวลา (สดุดี 145:15)

29ท่านทั้งหลายอย่าเสาะหาว่าจะกินอะไรดีหรือจะดื่มอะไร และอย่ามีใจกังวล 30เพราะว่าพวกต่างชาติทั่วโลกเสาะหาสิ่งของทั้งปวงนี้ แต่ว่าพระบิดาของท่านทั้งหลายทรงทราบแล้วว่า ท่านต้องการสิ่งเหล่านี้ 31แต่ท่านทั้งหลายจงแสวงหาแผ่นดินของ พระเจ้า แล้วพระองค์จะทรงเพิ่มเติมสิ่งเหล่านี้ให้ (ลูกา 12:29-31)

พระเจ้าทรงทราบดีว่า มนุษย์ทุกคนมีความจำเป็นที่จะต้องกินและดื่ม และพระองค์ทรงเป็นผู้จัดเตรียมและประทานสิ่งจำเป็นพื้นฐานเหล่านี้ผ่านวิธีการต่างๆ บุคคลต่างๆ แต่คริสเตียนหลายคนยังห่วงหากังวลว่าสิ่งที่มนุษย์จำเป็นจะต้องกินจะต้องดื่มและจำเป็นต้องใช้จะขาดแคลนไม่เพียงพอ การห่วง วิตกกังวลมักเป็นเรื่องเกี่ยวกับอนาคต เป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่เนื่องจากเราไม่สามารถเห็นอนาคตได้จึงมักทำให้เราเกิดความวิตกกังวลว่าอนาคตอาจจะนำความเลวร้ายลำบากขาดแคลน หรือ ผิดหวังมาสู่ชีวิตของเรา และนี่เป็นวิธีการหนึ่งที่เราทำให้ความนึกคิดของเราต้องตกกับดักความทุกข์ ความรู้สึกย่ำแย่ในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงกับเรา และนี่เป็นการตกใต้อำนาจแห่งการทดลองและล่อลวงของมาร

แทนที่เราจะเอาความคิดความรู้สึกของเราไปวิตกกังวลกับอนาคตที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริงและยังมาไม่ถึง หรือเอาความรู้สึกนึกคิดของเราให้ตกอยู่ใต้อำนาจมายาของความทุกข์ยากลำบากที่เรากลัวว่าจะเกิดขึ้นกับตน จนเกิดความรู้สึกและนึกไปว่าตนกำลังตกอยู่ในสภาพที่ทุกข์ยากลำบากที่ไม่พึงประสงค์นั้น(ทั้งๆที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง) เราควรที่จะมุ่งมองไปที่พระประสงค์ของพระเจ้าว่า พระองค์ทรงมีพระประสงค์ที่พิเศษเฉพาะเจาะจงสำหรับชีวิตของเรา และพระองค์กำลังนำเราไปสู่เป้าหมายปลายทางแห่งพระประสงค์ของพระองค์ทีละขั้น ทีละก้าว แต่ละวัน ในเส้นทางและเหตุการณ์ที่ทรงกำหนดไว้ และพระองค์ดำเนินเคียงข้างไปกับเราแต่ละคนไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับชีวิตของเรา ไม่ว่าเราจะต้องเผชิญสถานการณ์เช่นใด ทั้งนี้เพราะว่า “...พระเจ้าทรงช่วยคนที่รักพระองค์ให้เกิดผลอันดีในทุกสิ่ง คือคนทั้งปวงที่พระองค์ได้ทรงเรียกตามพระประสงค์ของพระองค์” (โรม 8:28)

ผู้คนในโลกนี้ส่วนใหญ่แล้วสับสน กังวล และวุ่นวายใจกับอนาคตของตนที่ยังมองไม่เห็น แต่สำหรับคริสเตียนแล้ว ควรจะมีชีวิตและจิตใจที่สงบ มั่นคง และชื่นชมยินดี เพราะคริสเตียนเชื่อและไว้วางใจว่า ในทุกสถานการณ์ชีวิตของเราแต่ละคนอยู่ภายใต้การทรงดูแล ควบคุม และการเอาใจใส่ขององค์พระผู้เป็นเจ้า พระเยซูตรัสสอนว่า แทนที่ท่านจะวุ่นวายใจกับความวิตกกังวลถึงอนาคตมากมายหลายเรื่องและไม่รู้ว่าตนจะจัดการอย่างไรกับชีวิตของตนในวันพรุ่งนี้ พระองค์ทรงชี้แนะว่า วันนี้ ให้ท่านเปิดชีวิตให้องค์พระผู้เป็นเจ้าเข้ามาปกครองและจัดการ พระองค์จะทรงช่วยให้เราเห็นเป้าหมายแห่งพระประสงค์ทีละขั้นทีละก้าว เราจะเดินไปกับพระองค์ด้วยความไว้วางใจ ด้วยความมั่นใจ และด้วยจิตใจที่ชื่นชมยินดี ใครก็ตามที่ยอมทำเช่นนี้นอกจากจะไม่ต้องตกลงในกับดักแห่งความทุกข์ยากลำบากใจแล้ว ชีวิตยังจะเกิดผลด้วยความปีติชื่นชมอีกด้วย

ก้าวแรกก้าวหลักในการดำเนินชีวิตแต่ละวันของเราคือ เรามุ่งมองที่พระประสงค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่จะสำเร็จในชีวิตของเรา มิใช่มุ่งมองไปที่อนาคตที่ไม่แน่นอนและตนเองไม่สามารถที่จะควบคุมและจัดการ

ถ้าคริสเตียนมุ่งมองด้วยความอยากได้ใคร่มีมากยิ่งกว่าสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันแล้ว คริสเตียนท่านนั้นยิ่งตกลงในกับดักแห่งความทุกข์ยากมากยิ่งขึ้น เขาต้องพบกับความวิตกกังวลและถ้าเหตุการณ์มิได้เป็นไปตามที่ตนคาดหวังก็จะเกิดความเสียอกเสียใจ บางครั้งพัฒนาไปสู่ความไม่พอใจพระเจ้า

แต่ถ้าชีวิตของเรามุ่งมองและมุ่งมั่นในองค์พระผู้เป็นเจ้า ไว้วางใจในพระองค์ เปิดชีวิตจิตใจรับการทรงนำและพระเมตตาคุณของพระองค์ ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเลวร้ายแค่ไหน แต่นั่นเป็นโอกาสที่เสริมสัมพันธภาพของคนๆ นั้นกับพระเจ้ามากและมั่นคงยิ่งขึ้น และเมื่อผ่านประสบการณ์ดังกล่าวนี้เขาจะมีความไว้วางใจและเชื่อมั่นในพระองค์ที่หนักแน่นยิ่งกว่าเดิม และนี่คือการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงในชีวิตจิตวิญญาณของเรา

เราจะไม่ตกลงในกับดักแห่งความวิตกกังวลอีกต่อไป เพราะเราไม่ต้องวุ่นวายใจกับการที่เรากลัวว่า อาจจะไม่ประสบความสำเร็จตามแผนการในชีวิตของเราเอง เพราะเรามิได้มุ่งมองที่ความสำเร็จตามแผนการของเรา แต่เรามุ่งมองไปที่พระประสงค์ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงนำเราไปให้ถึงหลักชัยเป้าหมายตามที่พระองค์ทรงวางไว้ แล้วในแต่ละวันเราก็ได้เห็นถึงพระหัตถ์การทรงนำของพระองค์ที่ช่วยให้เราขยับขับเคลื่อนไปทีละเล็กทีละน้อยด้วยความไว้วางใจและชื่นชมยินดี การเปลี่ยนมุมมองในชีวิตเช่นนี้มีผลให้ความเชื่อของเราเปลี่ยนแปลงและกล้าแกร่งขึ้นด้วย และทุกเช้าเราจะตื่นขึ้นด้วยความตื่นเต้นที่จะมุ่งมองหาพระหัตถ์อันทรงฤทธิ์ที่จะขยับขับเคลื่อนแผนการของพระองค์ผ่านชีวิตในวันใหม่ของเรา

ดูเถิด ตาของผู้รับใช้มองดูมือนายของตนฉันใด
และตาของสาวใช้มองดูมือนายหญิงของตนฉันใด
ตาของข้าพเจ้าทั้งหลายมองดูพระเจ้าของข้าพเจ้าทั้งหลาย
จนกว่าพระองค์จะมีพระกรุณาต่อข้าพเจ้าทั้งหลายฉันนั้น (สดุดี 123:2)

07 ตุลาคม 2553

วิตกกังวล: โรคฮิตประจำยุคปัจจุบัน

22พระเยซูตรัสกับพวกสาวกของพระองค์ว่า
“เพราะเหตุนี้เราบอกท่านทั้งหลายว่า อย่ากระวนกระวายถึงชีวิตว่า
จะเอาอะไรกิน และอย่ากระวนกระวายถึงร่างกายว่า จะเอาอะไรนุ่งห่ม
23เพราะว่าชีวิตสำคัญยิ่งกว่าอาหาร และร่างกายสำคัญยิ่งกว่าเครื่องนุ่งห่ม
24จงพิจารณาดูนก มันไม่ได้หว่าน ไม่ได้เกี่ยว และไม่ได้มียุ้งหรือฉาง
แต่พระเจ้ายังทรงเลี้ยงมันไว้ พวกท่านประเสริฐกว่านกมากทีเดียว
25มีใครในพวกท่านโดยความกระวนกระวายสามารถต่ออายุของตนให้ยืนนานอีกนิดหนึ่งได้?
26เพราะฉะนั้นถ้าสิ่งเล็กน้อยยังทำไม่ได้ ท่านยังจะกระวนกระวายถึงสิ่งอื่นทำไมอีกเล่า?
(ลูกา 12:22-26)

ความกังวลเป็นอาการกลัวที่เรื้อรัง ความกังวลเป็นตัวฉุดรั้งให้ความคิดไม่เคลื่อนตัวและทำให้ไม่สามารถตัดสินใจ ถ้าความกังวลเข้ามาครอบงำความนึกคิดของเราก็จะทำให้ทุกความนึกคิดต้องเข้าไปวนเวียนสับสนกับความกังวลนั้น ก่อเกิดความเครียด ความกังวลจะแย่งชิงยึดครองพื้นที่ของสิ่งอื่นๆ ที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเรา

พระเยซูตรัสว่า อย่าวิตกกังวล เพราะความวิตกกังวลนั้นกีดกันผลักเบียดให้พระเจ้าออกจากพื้นที่ในความนึกคิดของเรา ตรงกันข้าม ถ้าเราเชื่อ ศรัทธา และไว้วางใจในพระเจ้า เราสามารถติดตามพระเยซูคริสต์ไปในทุกสถานการณ์ชีวิต ถึงแม้จะเลวร้าย มืดมน ไม่แน่นอน ไม่คาดหวัง ไม่เข้าใจก็ตาม

แต่ถ้าเวลาใดก็ตามที่เราเปิดช่องว่างในชีวิตของเราให้ความวิตกกังวลแทรกตัวเข้ามา เท่ากับเราเปิดให้ความวิตกกังวลเข้ามากระชากพระเจ้าออกจากสายใยแห่งชีวิตของเรา ทำให้พระวิญญาณบริสุทธิ์เสียพระทัย และทำให้ความชื่นชมยินดีรั่วไหลออกจากจิตวิญญาณของเรา

พระเจ้าทรงเป็นผู้ให้กำเนิดแก่สรรพสิ่ง ยิ่งกว่านั้นพระองค์ยังดูแลเอาใจใส่ในรายละเอียดในทุกสรรพสิ่งที่ทรงสร้าง พระองค์ทรงสำแดงความรักเมตตา ปกป้อง คุ้มครองทุกสิ่งและทุกคนที่ไว้วางใจในฤทธานุภาพ และ ความรักของพระองค์

ในแต่ละวัน ผู้ที่เชื่อวางใจในพระเจ้าควรมีชีวิตที่ชื่นชมปีติในพระองค์ทุกวัน เพราะที่เราเป็นอยู่ได้จนถึงวันนี้ก็เพราะพระองค์ เพราะการทรงเลี้ยงดูเอาใจใส่ที่มิได้ขาดตกบกพร่องในสิ่งที่จำเป็นในการดำรงอยู่ของชีวิต

พระเยซูยกตัวอย่างชีวิตของนกที่พระเจ้าทรงเลี้ยงดูเอาใจใส่ พระเยซูให้เราไว้วางใจในการเอาใจใส่ของพระเจ้าสำหรับอาหารที่จำเป็น (ลูกา 11:3, 9-10) และพระองค์ถามตรงว่า มนุษย์เราไม่สำคัญยิ่งกว่านกในสายพระเนตรของพระเจ้าหรือ เพราะมนุษย์มิใช่สัตว์โลกที่มีสมองก้อนโตในหัวที่ทำให้เราสำคัญกว่าสัตว์อื่นๆ แต่ที่มนุษย์สำคัญในสายพระเนตรของพระเจ้าเพราะมนุษย์ถูกสร้างขึ้นตามพระฉายาของพระเจ้า (ปฐมกาล 1:26) มนุษย์สำคัญกว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายเพราะ มนุษย์สามารถติดต่อสัมพันธ์กับพระเจ้า ยิ่งกว่านั้นเรายังสามารถสัมผัสรับรู้ถึงความรักเมตตา และพระคุณของพระองค์ ยิ่งกว่านั้น ชีวิตมนุษย์ยังสามารถที่จะตอบสนองต่อพระประสงค์และน้ำพระทัยของพระเจ้า เป็นผู้ที่พระเจ้าทรงเรียกและทรงใช้ให้ทำงานตามแผนการของพระองค์ได้ ถึงขนาดนี้แล้วเรายังไม่ไว้วางใจในการเอาใจใส่ และ การทรงช่วยของพระองค์อย่างสุดจิตสุดใจอีกหรือ? เปาโลกกล่าวว่า “19...พระเจ้าของข้าพเจ้าจะประทานทุกสิ่งที่จำเป็นแก่พวกท่านจากทรัพย์อันรุ่งโรจน์ ของพระองค์ในพระเยซูคริสต์” (ฟิลิปปี 4:19)

สิ่งที่เราพึงแยกแยะให้ชัดเจนคือ สิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตของเราแต่ละคน กับ สิ่งที่เราอยากได้ใคร่มีในชีวิตแต่ละวันซึ่งได้รับอิทธิพลจาก “ความโลภ” และ การใช้ชีวิตอย่าง “ฟุ่มเฟือย” (ที่เราได้ใคร่ครวญไปในบทก่อน) และนี่คือช่องทางที่ทำให้คนๆ นั้นต้องตกลงในสภาพชีวิตที่วิตกกังวลที่หลงวนจนบางคนหาทางออกไม่ได้ พระเจ้าทรงประทานสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตของเรา มิใช่ให้ในสิ่งที่เราอยากได้ใคร่มี พระองค์มิเพียงแต่ประทานสิ่งจำเป็นในชีวิตแก่เราเท่านั้น แต่พระองค์ยังเสริมหนุนให้เราสามารถที่จะรับผิดชอบใช้สิ่งที่พระองค์ประทานแก่เราในการรับใช้ตอบสนองต่อพระประสงค์ของพระเจ้าด้วย

แต่ตัวตนที่แท้จริงภายในของเราบ่อยครั้งที่ถูกครอบงำให้กระหายใช้ของประทานเพื่อบำรุงบำเรอความต้องการของตนเอง ทำให้ชีวิตภายในของเราไม่มีพื้นที่สำหรับพระประสงค์ของพระเจ้า แต่ผลที่เกิดขึ้นคือความอยากได้ใคร่มีก่อเกิดความรู้สึกไม่พอ ความกลัว และความวิตกกังวลให้เป็นบาดแผลในชีวิตของเรา แต่เมื่อชีวิตตกลงในวงจรอุบาทว์แห่งความวิตกกังวล พระเจ้ากลับทรงสัตย์ซื่อและเที่ยงธรรม มิได้ทอดทิ้งเราไป ผู้ประพันธ์สดุดี 37:25 ได้กล่าวไว้ว่า
25ข้าพเจ้าเคยหนุ่ม และเดี๋ยวนี้แก่แล้ว
แต่ข้าพเจ้ายังไม่เคยเห็นคนชอบธรรมถูกทอดทิ้ง
หรือลูกหลานของเขาขอทาน

ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่บนพื้นโลกนี้มีเพียงช่วงชีวิตที่จำกัด พระองค์ทรงทราบว่าชีวิตของเราแต่ละคนจะดำเนินไปถึงเวลาใด พระองค์ทรงประทานสิ่งจำเป็นในชีวิตแก่แต่ละคน ดังนั้น มีเหตุผลอะไรที่ผู้ไว้วางใจในพระเจ้าจะต้องวิตกกังวล การที่คริสเตียนวิตกกังวลในชีวิตแสดงให้ผู้คนทั้งหลายเห็นว่า ความไว้วางใจของคริสเตียนต่อความรักเมตตากรุณาของพระเจ้าได้ระเหยหายไปจากชีวิตของคริสเตียนคนนั้น

ถ้าเรารู้ว่าจุดหมายปลายทางในชีวิตของเราได้รับการกอบกู้โดยพระคริสต์ และตลอดช่วงชีวิตบนพื้นโลกนี้อยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์...แล้วทำไมเราถึงต้องวิตกกังวล ในเมื่อพระเจ้าทรงสัญญาว่า จะประทานสิ่งที่จำเป็นในชีวิตให้เราวันต่อวัน ทุกวัน...ทำไมเราถึงจมจ่อมอยู่ในความวิตกกังวลอย่างคนสิ้นคิดและสิ้นหวัง

เราจำเป็นที่จะต้องสารภาพต่อพระเจ้า และขอโปรดยกโทษเรา
ที่มีความวิตกกังวลอย่างใหญ่หลวงแต่มีความเชื่อวางใจในพระองค์แต่น้อยนิด
ให้เราขอบพระคุณพระเยซูคริสต์ที่ยืนยันให้เรามั่นใจอีกครั้งหนึ่ง
ว่าพระเจ้าจะทรงประทานสิ่งจำเป็นในแต่ละวันแก่ชีวิตของเราแต่ละคน
ดังนั้น ให้เราชื่นชมยินดีในของประทานในแต่ละวันจากพระเจ้า และ
นี่คือข่าวดีของพระเจ้าสำหรับเรา และ คนรอบข้างของเรา

06 ตุลาคม 2553

โลภ และ ฟุ่มเฟือย

คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้ต้องการที่จะมีเงินและทรัพย์สินจำนวนเพิ่มพูนมากขึ้น เพราะมักคิดกันว่าทรัพย์สินเงินทองจะทำให้เกิดความมั่นคงในชีวิต และมักเผลอคิดไปว่าจะทำให้ชีวิตไม่ต้องตกอยู่ในภาวะความเครียดเพราะสามารถมีทุกสิ่งที่ตนต้องการ

คณะธรรมกิจหลายต่อหลายคริสตจักรที่คิดในทำนองเดียวกันนี้ จะพยายามสะสมให้คริสตจักรมี “กองทุน” ที่เพิ่มใหญ่ขึ้นทุกปีด้วยความภาคภูมิใจ (การสะสมกองทุนสำคัญยิ่งกว่าการทำพันธกิจ ดังนั้น คณะธรรมกิจจึงเลือกที่จะเอาเงินทองที่มีอยู่สะสมเป็นกองทุน มากกว่าที่จะเอาทรัพย์สินไปทำพันธกิจ) เพราะคณะธรรมกิจมักมีกรอบคิดว่า ยิ่งมีกองทุนใหญ่โตแค่ไหนก็ยิ่งรู้สึกว่าคริสตจักรมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้นเท่านั้น และคริสตจักรไทยก็มักจะอ้างเสมอว่า “กองทุน” ที่สะสมใหญ่ขึ้นนั้นเป็นพระพรของพระเจ้า ทำให้เกิดคำถามว่า การที่งดเว้นทำพันธกิจคริสตจักรแล้วเอาเงินนั้นมาสะสมไว้ จะเป็นพระพรจากพระเจ้าได้เช่นไร?

ทำให้เกิดความสนเท่ห์ หรือ ไม่ก็เกิดคำถามขึ้นว่า แล้วปัจจุบันนี้ คริสเตียน คริสตจักรท้องถิ่น คริสตจักรภาค หรือคริสตจักรระดับชาติฝากความรู้สึกมั่นคงไว้ในการทรงนำของพระเจ้าและในการทำพันธกิจของพระองค์ ในการนำพระพรไปสู่สังคมโลก หรือ รู้สึกมั่นใจในกองทุนที่ใหญ่ขึ้น ถ้าคริสเตียนและคริสตจักรฝากความมั่นคงมั่นใจในทรัพย์สินที่พอกพูนขึ้นก็ไม่ต่างอะไรกับพวกโจรหรือหัวขโมย, นักการพนัน, หรือนักลงทุนแบบกล้าได้กล้าเสี่ยง หรือไม่ก็พวกหวังชีวิตจะมั่นคงจากความร่ำรวยในกองมรดกที่จะเป็นของตนในอนาคต คนกลุ่มเหล่านี้ก็มีความคิดความเชื่อในทำนองนี้ แล้วคริสตจักรจะคิดจะเชื่อเหมือนกับคนกลุ่มเหล่านี้หรือ?

เหตุการณ์ในทำนองเดียวกันนี้ได้เกิดขึ้นในสมัยของพระเยซูคริสต์เช่นกัน ลูกา 12:16-21 (TBS02b) ได้บันทึกไว้ว่า
15แล้วพระองค์ตรัสกับพวกเขาว่า “ระวังให้ดี จงหลีกเลี่ยงจากความโลภทุกอย่าง เพราะว่าชีวิตของคนไม่ได้อยู่ที่การมีของฟุ่มเฟือย”
16แล้วพระองค์ตรัสอุปมาเรื่องหนึ่งให้เขาฟังว่า “ไร่นาของเศรษฐีคนหนึ่งเกิดผลบริบูรณ์มาก 17เศรษฐีคนนั้นจึงคิดในใจว่า 'ข้าจะทำอย่างไรดี? เพราะว่าข้าไม่มีที่ที่จะเก็บพืชผลของข้า' 18เขาจึงคิดว่า 'ข้าจะทำอย่างนี้ คือจะรื้อยุ้งฉางของข้าและจะสร้างใหม่ให้ใหญ่โตขึ้น แล้วข้า จะรวบรวมข้าวและสมบัติทั้งหมดของข้าไว้ที่นั่น
19แล้วจะบอกกับจิตใจของข้าว่า “จิตใจเอ๋ย เจ้ามีทรัพย์สมบัติมากเก็บไว้พอหลายปี
จงอยู่สบาย กิน ดื่ม และรื่นเริงเถิด' ”
20แต่พระเจ้าตรัสกับเขาว่า 'โอ คนโง่ ในคืนวันนี้ชีวิตของเจ้าจะต้องเรียกเอาไปจากเจ้า
แล้วของที่เจ้ารวบรวมไว้นั้นจะเป็นของใคร?'
21คนที่สะสมทรัพย์สมบัติไว้สำหรับตัว และไม่ได้มั่งมีฝ่ายพระเจ้าก็เป็นเช่นนั้นแหละ”

ตามหลักคิดหลักเชื่อในบทบัญญัติของพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม เศรษฐี หรือ คนมั่งมีในสายพระเนตรของพระเจ้าต้องเป็นคนที่เอาใจใส่คนยากจน คนเล็กน้อย คนทุกข์ยาก คนถูกทอดทิ้งย่ำยี หญิงหม้าย ลูกกำพร้า แรงงานต่างชาติให้สามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่าศักดิ์ศรีที่เป็นคนหนึ่งที่พระเจ้าทรงสร้าง พระเจ้าทรงมีพระประสงค์ให้คนที่ “มั่งมี” ได้เป็นตัวแทนของพระองค์ที่จะเอาใจใส่ดูแลคนที่ปกป้องตนเองไม่ได้และคนเล็กน้อยเหล่านั้นตามที่กล่าวข้างต้น

พระเจ้าในคริสต์ศาสนามิได้รังเกียจคนมั่งมี หรือ เศรษฐี แต่ที่ใครมั่งมีนั้นพระเจ้ามีพระประสงค์ให้ใช้ความมั่งมีที่ได้รับนั้นตามพระประสงค์ของพระเจ้า เศรษฐีจึงเป็นคนหนึ่งที่ได้รับเกียรติจากพระเจ้าให้เป็นผู้เอาใจใส่คนเล็กคนน้อย คนยากคนจน คนที่ถูกทอดทิ้งในนามของพระองค์ เฉกเช่น ศักเคียส หลังจากพบกับพระเยซูแล้ว จึงประกาศมอบทรัพย์สมบัติครึ่งหนึ่งให้กับคนยากคนจน และพระเยซูคริสต์ยืนยันว่าความรอดได้มาถึงครอบครัวของศักเคียสแล้ว เพราะเขาก็เป็นบุตรของพระเจ้าด้วย หรือ เศรษฐีเจ้าของสวนองุ่นที่ให้ค่าจ้างแม้คนที่มาสุดท้ายสุดจะทำงานได้เพียงชั่วโมงเดียว แต่เจ้าของสวนองุ่นก็ให้แรงงานสำหรับหนึ่งวันเช่นเดียวกับคนอื่นๆ เพื่อทุกคนจะได้มีเงินที่จะซื้อหาอาหารไปเลี้ยงครอบครัวและตนเองด้วย

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นสำหรับคนส่วนใหญ่ที่ได้รับทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมกลับเป็นคนที่ “โลภ” และ มีชีวิตที่ “ฟุ่มเฟือย” จะทำสิ่งที่ต่อต้าน หรือ เป็นกบฏต่อพระประสงค์ของพระเจ้า แทนที่จะเป็นคนที่รับผิดชอบต่อทรัพย์สินเงินทองที่มีเพิ่มพูนมากขึ้นเพื่อทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า เพื่อช่วยคนยากจน คนเล็กน้อย คนถูกทอดทิ้ง แต่เพราะ “วิญญาณแห่งความโลภ” และ “วิญญาณแห่งความฟุ่มเฟือย” เขาจึงกอบโกยเก็บกักทรัพย์ที่ได้มาทั้งหมดเพื่อตนเอง และเพื่อตนเองเท่านั้น

ความมั่นใจและความไว้วางใจของเขาคือ จำนวนทรัพย์สมบัติที่เขาสะสมเพิ่มพูนขึ้น และเขาคุยฟุ้งกับตนเองว่า “จิตใจเอ๋ย เจ้ามีทรัพย์สมบัติมากเก็บไว้พอหลายปี จงอยู่สบาย กิน ดื่ม และรื่นเริงเถิด” คนมั่งมีหรือเศรษฐีเช่นนี้พระเยซูชี้ชัดว่า “เขาไม่ได้มั่งมีฝ่ายพระเจ้า” เพราะเขามั่งมีฝ่ายตนเองแห่งโลกนี้ และพระเยซูคริสต์เรียกคนมั่งมี หรือ เศรษฐีพวกนี้ว่า “โง่”

สำหรับพระเยซูคริสต์แล้วคน “โง่” ไม่ใช่คนไม่รู้ แต่คนโง่คือคนที่ไม่ยอมทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าทั้งๆ ที่รู้ คนโง่สำหรับพระเยซูคริสต์คือคนที่เก็บสั่งสมเพื่อตนเอง ทำเพื่อตนเอง มีชีวิตเพื่อตนเอง ทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มอกว่า ความมั่งคั่งมั่งมีที่ตนได้รับนั้นต้องนำไปทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า

คนโง่ คือคนที่ “โลภ” และ มีวิถีชีวิตแบบ “ฟุ่มเฟือย” จึงทำให้เป็นคนเห็นแก่ตัว คิดถึงแต่ตัวเอง เมื่อเขาหลับตาเมินเฉยต่อพระประสงค์ของพระเจ้าเขาจึงมองไม่เห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีของคนอื่นแม้จะอยู่ใกล้ชิดรอบข้างตนก็ตาม เมื่อเขาไม่สามารถมองเห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีของคนเล็กน้อยรอบข้าง ในที่สุดเขาก็มองไม่เห็นศักดิ์ศรีและคุณค่าในชีวิตของตนเองด้วย แต่กลับไปหลงผิดและมองเห็นว่า สิ่งที่มีคุณค่าที่แท้จริงคือทรัพย์สินเงินทองมากมายที่ตนมีอยู่แล้ว และที่ตนอยากได้มากขึ้น

“ความโลภ” คือการที่เขาไปทำตัวเป็นเจ้าของในสิ่งที่ไม่ใช่ของตน หรือความอยากที่จะเป็นเจ้าของในสิ่งที่เป็นของคนอื่น เพราะคิดว่าตนจะมีความสุข ความมั่นคงในชีวิตถ้าได้ครอบครองสิ่งเหล่านั้นยิ่งมากยิ่งมีอำนาจ ก็จะทำให้มีความสุขมากขึ้น ความโลภจึงทำให้จิตใจของคนๆ นั้นไม่สงบสุขจนกว่าจะได้สิ่งที่ตนเองต้องการ

“ฟุ่มเฟือย” คือการใช้สอยทรัพย์สินสิ่งของเพื่อตนเอง ตามใจตนเอง แต่มิได้คำนึงถึงการใช้ทรัพย์สินเงินทองเหล่านั้นตามพระประสงค์ของพระเจ้าผู้เป็นเจ้าของ มุ่งเน้นการสร้างสุขและคุณค่าในชีวิตด้วยทรัพย์สินเงินทองมากกว่าสัมพันธภาพระหว่างตนกับพระเจ้า และระหว่างคนในครอบครัว คนรอบข้างในที่ทำงาน และคนที่พบปะในชุมชน

ในแผ่นดินของพระเจ้า ต้องการคนที่มีความตั้งใจที่จะใช้ชีวิตและทุกสิ่งที่ตนมีอยู่ตามพระประสงค์ของพระเจ้า ดำเนินชีวิตประจำวันตามน้ำพระทัยของพระองค์ ขอให้แผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่ น้ำพระทัยของพระองค์เป็นอย่างไรในสวรรค์ ขอให้เป็นจริงเช่นนั้นในแผ่นดินโลก ให้เราดำเนินชีวิตตามคำอธิษฐานนี้

สัจจะความจริงประการสุดท้ายในวันนี้คือ ชีวิตเป็นของประทานจากพระเป็นเจ้า พระองค์เป็นเจ้าของชีวิต มิใช่เราเป็นเจ้าของชีวิต แต่คนเรามักหลงผิดคิดไปว่า ตนเป็นเจ้าของชีวิต ตนสามารถจัดการกำกับชีวิตของตนเองได้ แต่พระเยซูคริสต์เตือนในคำอุปมาว่า ชีวิตเป็นของประทานจากพระเจ้า และพระองค์เป็นผู้กำหนดและกำกับชีวิตของแต่ละคน ถ้าไม่มีชีวิตแล้ว ทรัพย์สินเงินทองกองใหญ่กองโตที่อุตส่าห์สั่งสมมาจะมีค่าและเป็นประโยชน์อันใด แม้ว่าจะมีทรัพย์สินเงินทองกองใหญ่กองโตแต่มิได้ใช้เพื่อพระประสงค์ของพระเจ้า แล้วจะเป็นประโยชน์อะไรในสายพระเนตรของพระองค์

ทุกเช้าที่ตื่นขึ้น ให้ตั้งจิตอธิษฐานต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าว่า ทุกสิ่งที่ข้าพระองค์มีในวันนี้ขอใช้สำหรับทำพระราชกิจตามพระประสงค์ของพระองค์ เพื่อสิ่งเหล่านั้นจะเป็นพระพรจากพระเจ้าสำหรับผู้คนเล็กน้อย ผู้คนยากไร้ ผู้คนทุกข์ยาก ถูกเอารัดเอาเปรียบ และใช้ทรัพย์สินเงินทองเหล่านี้เพื่อสร้างเสริมคุณค่า และ ความหมายชีวิตของผู้คนรอบข้างที่ผ่านพบในวันนี้ เพื่อผู้คนจะได้รับพระพรตามพระประสงค์ของพระเจ้า

ขอพระเจ้าโปรดช่วยกระตุ้นเตือนเราที่จะใช้ทรัพย์สินเงินทองที่เราได้รับให้สอดคล้องตามพระประสงค์ของพระองค์ในวันนี้ด้วยความรับผิดชอบ โปรดช่วยให้เรารอดพ้นจากการถูกล่อลวงที่จะ “โลภ” เอาทรัพย์สินเงินทองเพื่อใช้สำหรับตนเอง โปรดประทานจิตใจที่เมตตาในการตัดสินใจใช้ทรัพย์เพื่อเสริมสร้างคุณค่า และ ศักดิ์ศรีผู้คนรอบข้างตามพระฉายาของพระองค์ และให้พ้นจากอำนาจที่จะครอบงำให้เราใช้ทรัพย์สินสมบัติอย่าง “ฟุ่มเฟือย” เพื่อความสุข มั่นคงจอมปลอมของตนเอง

05 ตุลาคม 2553

ก้าวสู่คริสตจักรคนรับใช้

หลายคนในคริสตจักรปัจจุบันนี้ มักจะมีมุมมองเรื่องชุมชนและภาวะผู้นำที่คับแคบและตายตัว และมักมองว่าชุมชนคริสตจักรเป็นเป้าหมายในตัวของมันเอง ดูเหมือนจะลืมไปว่าที่คริสตจักรตั้งอยู่และมีชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบันนี้ก็เพื่อที่จะรับใช้โลกทั้งใบนี้

เวลาเราพูดถึงชุมชนคริสตจักรเรามักคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นหรือกิจกรรมที่ทำกันในวันอาทิตย์เท่านั้น บ่อยครั้งที่เราปล่อยปละละเลยยอมให้ภาพของ “วันอาทิตย์” ในคริสตจักร มาควบคุมครอบงำภาพจริงๆ ที่กว้างไกลของชีวิตและพันธกิจของคริสตจักร แท้จริงแล้ว คริสตจักรก็คือท่าน ข้าพเจ้า และพวกเราทุกคนที่นำเอาพระประสงค์แห่งแผ่นดินของพระเจ้าไปบ่มเพาะให้เกิดชีวิตขึ้นในทุกที่ที่เราอยู่ ในทุกที่ที่เราทำงาน ในทุกที่ที่เราสนุกสนาน ในชีวิตประจำวันทุกวันที่เราประสบพบเจอ

ด้วยการที่เราสนิทสนมเป็นหนึ่งเดียวในพระคริสต์ เราจะรู้สึกมั่นใจในชีวิตที่ก้าวไปด้วยภาวะผู้นำในตัวเราแต่ละคน กล่าวคือด้วยความรักแบบพระคริสต์นั้นต้องการที่จะช่วยให้คนรอบข้างที่เราพบเห็นเป็นคนที่ยิ่งใหญ่ สำคัญ และมีคุณค่า (ซึ่งแตกต่างและตรงกันข้ามกับการวิพากษ์ลดทอน และ การเหยียบย่ำให้คนอื่นด้อยค่าลงให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อจะเป็นการยกตนเองให้สำคัญและมีคุณค่ามากขึ้น บนการถูกเหยียดหยามของคนอื่น) นี่เป็นสิ่งใหม่อย่างสิ้นเชิงสำหรับสังคมชุมชนมนุษย์ และนี่คือสิ่งที่ควรเกิดขึ้นเป็นจริงและเป็นรูปธรรมในชุมชนคริสตจักรไทยปัจจุบัน

สิ่งใหม่นี้จะเกิดขึ้นในชุมชนคริสตจักรได้นั้น แต่ละคนจะต้องเปลี่ยนมุมมอง หรือ กระบวนทัศน์ใหม่ เปลี่ยนจากมุมมองที่ผู้นำ หรือ คนที่ต้องการเป็นผู้นำด้วยการสร้างความเด่นดัง สำคัญ และคุณค่าแก่ตนเอง เพื่อสร้างความเหมาะสมชอบธรรมแก่ตนเองที่จะเป็นผู้นำ ไปสู่มุมมองใหม่ กระบวนทัศน์ใหม่ตามพระเยซูคริสต์คือ ใครที่ต้องการเป็นใหญ่ให้คนนั้นเป็นคนรับใช้ เสริมสร้าง สนับสนุนผู้คนรอบข้างให้มีชีวิตที่สำคัญ มีคุณค่า และสร้างเสริมประโยชน์แก่กันและกันในชุมชนคริสตจักร

มุมมอง และ กระบวนทัศน์แบบพระคริสต์เช่นนี้ ผู้นำคริสตจักรจะต้องบ่มเพาะ ฟูมฟัก ให้เกิดขึ้นแพร่กระจายฝังลึกลงในชีวิตของแต่ละคน(เริ่มต้นที่ตนเองก่อน) เพื่อสมาชิกแต่ละคนจะกลายเป็นผู้นำที่มุ่งรับใช้เพื่อเสริมสร้างคุณค่า ความสำคัญ ความดีเด่นแห่งแผ่นดินของพระเจ้าในแต่ละคนด้วยความรัก เมตตา และเสียสละเยี่ยงพระคริสต์

ขอย้ำเตือนในที่นี้ว่า ภาวะผู้นำแบบคนรับใช้ที่กล่าวนี้ มีความสำคัญมากมายเหนือกว่าเรื่องทฤษฎีการบริหารจัดการที่ทันสมัยในปัจจุบันนี้ เพราะนี่มิใช่หลักการความรู้เท่านั้น แต่การมีภาวะผู้นำแบบคนรับใช้นี้เป็นสิ่งที่จะต้องบ่มเพาะ ปลูกฝัง ฟูมฟักให้เจริญเติบโตขึ้นในแต่ละตัวคน

การปลูกฝังที่สำคัญคือการติดสนิทกับพระคริสต์ ซึมซับเอาความรักที่เสียสละ น้ำพระทัยที่ทรงต้องการเสริมสร้างคุณค่าความสำคัญของคนเล็กคนน้อย และพระประสงค์ที่จะนำมาซึ่งชุมชนแห่งแผ่นดินของพระเจ้าตามน้ำพระทัยของพระบิดาให้เกิดขึ้นเป็นจริงในปัจจุบันนี้

เมื่อน้ำพระทัยแห่งการรับใช้ด้วยความรักที่เสียสละและน้ำพระทัยที่จะเสริมสร้างผู้อื่นถูกแผ่กระจายบ่มเพาะ ฟูมฟัก ในผู้คนต่างๆ ที่มีความแตกต่างหลากหลาย น้ำพระทัยแบบพระคริสต์ก็ถูกส่งต่อออกไปจากคนต่างๆ เหล่านี้ ผ่านศักยภาพความสามารถที่หลากหลายมากมายของคนเหล่านั้นที่มีน้ำพระทัยแบบพระคริสต์ เป็นอันว่า ภาวะผู้นำแบบคนรับใช้ได้เกิดขึ้นมากมายหลายคนและร่วมกันทำงาน มิใช่มีเพียงคนสองคนที่เป็นผู้นำที่เด่นดังขึ้นมาเท่านั้น เพราะเพียงผู้นำคนสองคนไม่พอสำหรับการเสริมสร้างและการขยายชุมชนคริสตจักรที่มีชีวิตตามกระบวนชีวิตแบบแผ่นดินของพระเจ้า แต่ภาวะผู้นำแบบพระคริสต์จะเกิดขึ้นในคนต่างๆ หลากหลายศักยภาพ เพื่อร่วมกันรับใช้พระราชกิจในแผ่นดินของพระเจ้า และนี่คือข่าวดีของพระเยซูคริสต์สำหรับคริสตจักรของพระองค์

สำหรับคริสเตียนแตกต่างจากความเชื่อแบบศาสนายิว เพราะในพระเยซูคริสต์เราไม่จำเป็นต้องมีคนกลางอีกต่อไป ทุกคนเป็น “ปุโรหิต” ที่สามารถติดต่อสัมพันธ์และติดสนิทกับพระเจ้าโดยตรงด้วยตัวของผู้เชื่อแต่ละคน ไม่ต้องผ่านศิษยาภิบาล ศาสนาจารย์ หรือคนในตำแหน่ง หรือ สมณศักดิ์ใดทั้งสิ้น แต่เรากลับต้องร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะน้ำพระทัยของพระคริสต์ต้องการให้เราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และรับใช้ เสริมสร้าง สนับสนุนกันและกันในคริสตจักร แล้วคริสตจักรมีผู้ปกครอง ศิษยาภิบาล ผู้ช่วยศิษยาภิบาล และศาสนาจารย์ไปทำไมล่ะ? ท่านเหล่านี้พระเจ้าทรงเรียกให้มาอยู่ในฐานะคนใช้ ที่จะรับใช้คนรอบข้างในพระนามของพระคริสต์ ด้วยความรักที่เสียสละ ด้วยน้ำใจแห่งการหนุนช่วย ด้วยจิตใจที่ถ่อม และด้วยเป้าประสงค์ให้แผ่นดินของพระเจ้ามาตั้งอยู่

ดังนั้น ข่าวดีของพระเยซูคริสต์จึงมิใช่ข่าวดีสำหรับ “ส่วนบุคคล” เท่านั้น แต่เป็นข่าวดีของชุมชนและสังคมด้วยเช่นกัน นี่เป็นข่าวดีสำหรับสังคมในโลกนี้ สำหรับมวลมนุษย์ สำหรับคนในกลุ่มของเรา สำหรับคนในสำนักงานที่เราร่วมทำงาน สำหรับการปกครองในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และสำหรับผู้ปกครองประเทศของเรา เป็นข่าวดีสำหรับคริสตจักรของเรา

การปรับเปลี่ยนหรือการสร้างชุมชน สังคม ขึ้นใหม่บนหลักการแห่งการรับใช้ด้วยน้ำใจที่เสริมสร้างสนับสนุนแบบพระคริสต์ย่อมเสริมสร้างคุณค่า และ เอื้อให้ชุมชนเติบโตเข้มแข็งขึ้น แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการเปลี่ยนแปลงแบบการต่อต้าน การกบฏ การกดขี่เกรี้ยวกราดรุนแรง ที่เห็นอยู่ทั้งในสังคมและในคริสตจักร เพราะด้วยกระบวนการนี้เราไม่ต้องใช้เวลามากมายที่จะทำการ “ต่อสู้ห้ำหั่น” กันด้วยหน้าเนื้อใจเสือ ในความเป็นจริงแล้วเราจะรู้สึกผ่อนคลายและทำตัวให้พร้อมที่พระเจ้าจะทรงใช้เราในพระราชกิจแห่งแผ่นดินของพระองค์ การกลับใจกลายเป็นสื่อนำให้คนๆ นั้นมอบกายถวายชีวิตเพื่อที่จะรับใช้พระคริสต์ ความเชื่อศรัทธานำไปถึงซึ่งความมั่นใจในพระกำลังที่ทรงประทานแก่เรา

“ใหญ่” ผู้บริหารสูงสุด (CEO) ของโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง ในวันสำคัญวันหนึ่งของโรงพยาบาลเขาเดินแจกไอศกรีมตลอดวัน แก่เจ้าหน้าที่ทุกระดับ พยาบาล แพทย์ ญาติผู้ป่วย และแขกที่ผ่านเข้ามาในโรงพยาบาล ไอศกรีมหมดไปถังแล้วถังเล่า

ในค่ำคืนนั้น “จิมส์” นำไอศกรีมไปบริการแจกแก่เจ้าหน้าที่ พยาบาล แพทย์ ที่ต้องอยู่เวรดูแลผู้ป่วยในอาคารต่างๆ รวมทั้งสิ้นสิบชั้น เขาคือผู้บริหารสูงสุด แต่เขาให้บริการไอศกรีมตลอดคืนนั้น

“ใหญ่” เป็นซีอีโอแบบผู้รับใช้ หรือ ผู้นำแบบคนรับใช้ด้วยการบริการแจกไอศกรีม เขามิได้เป็นคนคิดประดิษฐ์รูปแบบการเป็นผู้นำแบบรับใช้นี้ แต่พระเจ้าต่างหากเป็นผู้ทรงกระทำ น้ำพระทัยของพระคริสต์ที่ทรงซึมซับจนเติบโตมีพลังขึ้น (Incarnate) ในตัวของ “จิมส์” พระคริสต์ผู้เป็นพระบุตรของพระเจ้าแต่มีทัศนคติของการเป็นพระบุตรว่า เป็นผู้ที่รับใช้บริการคนอื่น เสริมหนุน เสริมสร้างคนอื่นให้สำคัญ มีคุณค่า พระคริสต์ล้างเท้าของสาวก แตะต้องคนโรคเรื้อเพื่อเขาจะหายกลับเป็นคนปกติที่มีคุณค่าในสังคม และในที่สุดยอมมอบกายและชีวิตเพื่อไถ่ถอนมนุษย์ให้หลุดออกจากกงเล็บแห่งอำนาจของบาป

ถ้าท่านประสงค์ที่จะให้ผู้คนรอบข้างมองเห็นพระคริสต์ผ่านการกระทำและการดำเนินชีวิตของเรา เราจะต้องมีทัศนคติ และ กระบวนทัศน์ภาวะผู้นำแบบคนรับใช้ในชีวิตคริสเตียนของเรา

พระธรรมภาวนา

มัทธิว 12:18
ดูเถิด ผู้รับใช้ของเราซึ่งได้เลือกสรรไว้
ที่รักของเรา ผู้ซึ่งเราโปรดปราน
เราจะเอาวิญญาณของเราสวมท่านไว้
ท่านจะประกาศความยุติธรรมไปให้แก่บรรดาประชาชาติ

มัทธิว 12:20
ไม้อ้อช้ำแล้วท่านจะไม่หัก
ไส้ตะเกียงเป็นควันจวนดับแล้วท่านจะไม่ดับ
กว่าท่านจะได้นำความยุติธรรมให้มีชัยชนะ

ลูกา 4:43
แต่พระองค์(พระเยซูคริสต์)ตรัสแก่เขาว่า
“เราต้องไปประกาศข่าวประเสริฐแห่งแผ่นดินของพระเจ้าแก่เมืองอื่นด้วย
เพราะว่าที่เราได้รับใช้มาก็เพราะเหตุนี้เอง”


ลูกา 22:27
(พระเยซูคริสต์ตรัสว่า)...แต่ว่าเราอยู่ท่ามกลางท่านทั้งหลายเหมือนผู้รับใช้

2 ทิโมธี 1:9
...ให้เรามาเป็นผู้รับใช้ของพระองค์ ไม่ใช่เพราะเห็นแก่การดีที่เราได้กระทำ แต่เพราะเห็นแก่พระประสงค์ของพระองค์เอง และพระคุณซึ่งทรงประทานแก่เรา...

2 ทิโมธี 2:24
ฝ่ายผู้รับใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้าต้องไม่เป็นคนที่ชอบการทะเลาะวิวาท แต่ต้องมีใจเมตตาต่อทุกคน เป็นครูที่เหมาะสมและมีความอดทน

กาลาเทีย 5:13
ดูก่อนพี่น้องทั้งหลาย ที่ทรงเรียกท่านก็เพื่อให้มีเสรีภาพ อย่าเอาเสรีภาพของท่านเป็นช่องทางที่จะปล่อยตัวไปตามเนื้อหนัง แต่จงรับใช้กันและกันด้วยความรักเถิด

2 โครินธ์ 11:15
เหตุฉะนั้นจึงไม่เป็นการแปลกอะไรที่คนรับใช้ของซาตาน จะปลอมตัวเป็นคนรับใช้ของความชอบธรรม ท้ายที่สุดของเขาจะเป็นไปตามการกระทำของเขา