31 ตุลาคม 2553

อะไรคือพลังขับเคลื่อนความกระตือรือร้น

พลังแห่งหวังและความใฝ่ฝันในการทำพันธกิจ

เมื่อผมมีโอกาสมองย้อนพิจารณาถึงบางคนที่ตัดสินใจเข้ามาเรียนในวิทยาลัยพระคริสต์ธรรม หรือ ตัดสินใจทุ่มเทชีวิตในการทำพันธกิจในคริสตจักร ดูแล้วเป็นคนที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง ผมได้เคยเห็นชายหนุ่มคนหนึ่งเป็นนักบิน เจ้าตัวตัดสินใจใช้เวลาวันพักของตนจากการบินมาทำงานของพระเจ้าในที่ต่างๆ

ผมยังได้อ่านถึงเรื่องราวของนักบินอีกคนหนึ่ง ที่มีเงินเดือนที่สูง ชีวิตอยู่อย่างหรูหราสะดวกสบายแต่ตัดสินใจลาออกจากงานนักบินไปเรียนพระคริสต์ธรรม ผมมีโอกาสได้รู้จักนักธุรกิจหญิงที่เป็นทั้งเจ้าของและบริหารงานด้านอสังหาริมทรัพย์ตัดสินใจมาเรียนพระคริสต์ธรรมเต็มเวลาด้วยทุนรอนของตนเอง และใช้เวลาส่วนที่เหลือในการบริหารจัดการธุรกิจ

ผมเคยได้ยินเรื่องราวของนักธุรกิจลาวที่เจริญก้าวหน้าในแคนาดา ที่อุทิศกำลังในการอธิษฐาน เวลา และทรัพย์สินเพื่อสนับสนุนพระคริสต์ธรรมต่างๆ รวมทั้งผู้คนด้อยโอกาสต่างๆ ด้วย

มีวิศวกรอีกคนหนึ่งลาออกจากงานที่มีรายได้สูง แล้วย้ายครอบครัวไปอีกเมืองหนึ่งเพื่อเรียนพระคริสต์ธรรมเต็มเวลา เพราะต้องหาเลี้ยงครอบครัวด้วยเขาจึงไปทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยในเวลากลางคืน ผมยังสงสัยว่าแล้วเขาเอาเวลาที่ไหนไปพักผ่อนหลับนอน

ชีวิตของคนเหล่านี้เป็นคนที่น่ายกย่องนับถือ เขามีพลังที่ขับเคลื่อนความกระตือรือร้น ความมุ่งมั่นตั้งใจในชีวิตของเขา

ศิษยาภิบาล และ ผู้อภิบาลชีวิตมนุษย์โลกในลักษณะต่างๆ เป็นตัวอย่างของผู้ที่มีพลังความกระตือรือร้นที่ดี เราเชื่อว่าพระเจ้าทรงเรียกผู้คนเหล่านี้ให้มีความปรารถนาและมุ่งมั่นใช้ชีวิตรับใช้พระราชกิจของพระองค์ท่ามกลางสถานการณ์ชีวิตของผู้คนในชุมชนต่างๆ และนี่คือพลังที่ทำให้ชีวิตของผู้อภิบาลเหล่านี้ขับเคลื่อนไปอย่างน่าสนใจ น่าชื่นชม ยกย่อง ด้วยชีวิตที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงและอุทิศถวายแด่พระเจ้า

ผมมีโอกาสพูดคุยกับนักศึกษาในชั้นเรียนของวิทยาลัยพระคริสต์ธรรมบางแห่งได้พบ “จุดบอด” ของพลังในความกระตือรือร้นของนักศึกษาบางคน เมื่อเราพูดคุยแบ่งปันกันว่า อะไรคือแรงผลักดันให้เรามาเรียนในสถาบันแห่งนี้? ผมได้รับคำตอบหลายอย่าง มีคนหนึ่งตอบว่า “ข้าพเจ้าต้องการที่จะเป็น บิลลี่ เกรย์แฮม ของเมืองไทย” เกิดเสียงผุดขึ้นในความนึกคิดของผมว่า “แล้วความฝันของคุณจะเป็นอย่างที่คุณต้องการหรือ?”

นักศึกษาหญิงท่านหนึ่ง พูดจาฉะฉาน บอกกับพวกเราว่า “ปู่ของหนูเป็นศาสนาจารย์ พ่อหนูก็เป็นศาสนาจารย์ หนูต้องเป็นศาสนาจารย์ด้วย ดังนั้น จึงตัดสินใจเข้ามาเรียนพระคริสต์ธรรม...” ผมคิดในใจ เอ...นี่ การรับใช้พระเจ้าตามสายเลือดหรือเปล่า?

นักศึกษาอีกท่านหนึ่งได้บอกถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่ท่านมาเรียนในพระคริสต์ธรรมว่า “ผมกลับมาเรียนต่อ M.Div. (คริสต์ศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต) เพื่อผมจะได้กลับไปพัฒนาคริสตจักรที่ผมเป็นศิษยาภิบาลให้เป็นคริสตจักรที่มีสมาชิกมากขึ้นเป็นคริสตจักรขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย...” ผมคิดว่าเป็นความยิ่งใหญ่ที่น่าเศร้า!

ผมได้พบและพูดคุยกับนักการเมืองท้องถิ่นที่เป็นคริสเตียนท่านหนึ่ง ท่านทุ่มเท กายใจ เวลา และทรัพย์สินเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในชุมชนของท่าน ท่านบอกกับคนทั้งหลายว่า ที่ทำเช่นนี้เพราะอิทธิพลคำสอนของพระคัมภีร์ที่ว่า ให้รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง และท่านก็เคยบอกว่า ท่านจะต้องเป็น ส.ว. หรือ ส.ส. คริสเตียนให้ได้ เพื่อเราจะได้มีนักการเมืองคริสเตียนในรัฐสภา...

ตอนนี้ในประเทศไทยของเรามีองค์กรรวมคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนท์ที่รู้จักกันดีอย่างน้อย 2 องค์กรด้วยกัน มีอาการแปลกๆ อาการหนึ่งที่เกิดขึ้นในองค์กรรวมของคริสเตียนคือ เรื่องการทรงเรียกกับการเสนอตัว(ตามระบบการเลือกตั้งแบบนักการเมืองปัจจุบัน)เป็นเจ้าหน้าที่ในตำแหน่งบริหารองค์กร เป็นประเด็นที่คริสเตียนต้องชัดเจนถึงจุดยืนจุดเชื่อของตนว่า เรายืนอยู่บนจุดยืนของ “การทรงเรียก” หรือ “การเสนอตัวเอง” ในตำแหน่งเหล่านั้น หรือ ใช้กระบวนการเลือกตั้งเพื่อกำหนดการทรงเลือกจากเบื้องบน? น่าหนักใจครับ

คำถามที่เราแต่ละคนจำเป็นต้องถามตนเองคือ อะไรคือพลังกระตุ้นความกระตือรือร้นของเรา ในการงานรับใช้ในคริสตจักร ในชุมชน ในองค์กรคริสเตียน เพราะพลังความกระตือรือร้นด้วยความตั้งใจที่ดีไม่ได้หมายความว่าเป็นการทรงเรียกเสมอไป บางครั้งบางคนอาจจะสำคัญผิดทึกทักเอาว่า ความใฝ่ฝันปรารถนาของตนเองเป็นเสียงแห่งการทรงเรียก แต่นั่นจะต้องระมัดระวังอย่างสูงที่จะไม่อ้างการทรงเรียกที่เคลือบแฝงด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจส่วนตนเป็นที่ตั้ง

พลังแห่งความกระตือรือร้น มุ่งมั่นตั้งใจของเรา สามารถที่จะเป็นทั้งการมุ่งมั่นตั้งใจที่อุทิศถวายชีวิตแต่พระราชกิจของพระเจ้าด้วยน้ำใสใจจริง แต่ก็ต้องระมัดระวังอีกเช่นกันว่า อย่าพลั้งเผลอที่เคลือบแฝง “สอดไส้” แรงกระตุ้นเพื่อประโยชน์และความปรารถนาแห่งตนเอง

ผมขอตั้งข้อสังเกตว่าในพระคัมภีร์ เมื่อพระเจ้าทรงเรียกหลายๆ คน หลายครั้งที่ผู้รับการทรงเรียกผงะ ถอย และปฏิเสธการทรงเรียกของพระเจ้า เยเรมีย์บอกว่าตนยังเป็นเด็กตนทำไม่ได้, โมเสสปฏิเสธการทรงเรียกเพราะเข็ดหลาบครั้งเมื่อพยายามช่วยแรงงานทาสอิสราเอลในอียิปต์, อิสยาห์ตกใจและปฏิเสธด้วยเหตุผลว่าตนเป็นคนไม่สะอาด คนเหล่านี้เข้าใจว่าการทรงเรียกของพระเจ้าเป็นการที่พระเจ้าต้องการใช้ชีวิตของเขาตามพระประสงค์ของพระองค์ เขาต้องเดินไปบนเส้นทางที่เขามิได้ขีดคิดกำหนดด้วยตนเอง และทุกครั้งที่พระเจ้าทรงเรียกใคร พระองค์แจ้งพระประสงค์ของการทรงเรียกแก่แต่ละคน แต่ในที่สุดคนเหล่านี้ยอมตนแด่พระเจ้าเพราะ พระเจ้าจะทรงสร้างเขาใหม่ และสิ่งที่จะต้องรับใช้นั้นมิใช่อาศัยสติปัญญาและกำลังของพระเอง แต่พระเจ้าจะทรงนำและประทานพละกำลังให้ และที่สำคัญคือ เขาไม่ใช่หัวหน้า หรือ เจ้าของงานนี้แต่เป็นผู้ร่วมงานในพระราชกิจของพระองค์

ดังนั้น การทรงเรียกจึงเป็นพระคุณของพระเจ้า มิใช่เป็นความสามารถและความปรารถนาของตนเอง เมื่อการทรงเรียกเป็น “พระคุณ” ของพระเจ้า ไม่มีสิ่งใดหรือใครที่จะหยุดขัดขวางการทำพระราชกิจนั้นได้ และจะไม่มีวันล้มเหลวเพราะอ่อนแรงหรือหมดแรง ตรงกันข้าม การทรงเรียกที่เป็น “พระคุณ” ของพระเจ้าจะเตือนย้ำให้เราเป็นผู้นำที่ถ่อมตน รับใช้พระเจ้าท่ามกลางการรับใช้ประชาชนของพระองค์ แต่มิใช่การรับใช้ที่เคลือบแฝงด้วยความเห็นแก่ตัว

จดหมายของเปโตรฉบับแรก บทที่ 5 ข้อ 2 บอกว่า ผู้นำคริสตจักรมิใช่ร่วมพระราชกิจของพระเจ้า “ด้วยความฝืนใจ” และ “ด้วยในโลภในทรัพย์สิ่งของ”

2จงเลี้ยงฝูงแกะของพระเจ้าที่อยู่ท่ามกลางพวกท่าน [โดยเอาใจใส่ดูแล]
ไม่ใช่ด้วยความฝืนใจ แต่ด้วยความเต็มใจ [ตามพระประสงค์ของพระเจ้า]
ไม่ใช่ด้วยใจโลภในทรัพย์สิ่งของ แต่ด้วยใจกระตือรือร้น (TBS02b)

เปโตรเตือนเราให้ระมัดระวังว่า มีท่าทีการรับใช้อยู่สองลักษณะที่พึงหลีกเลี่ยงคือ “การรับใช้ด้วยความฝืนใจ” เพราะการรับใช้ตามพระประสงค์ของพระเจ้านั้นแตกต่างจากความปรารถนาของตนเองที่ซ่อนอยู่ในใจ เมื่อต้องทำต่อหน้าผู้คนจึงกระทำอย่างฝืนใจ คนอื่นอาจจะไม่รู้ว่าเราทำด้วยความฝืนใจ แต่ตนเองรู้ และพระเจ้ารู้ ลักษณะที่สองคือ “การรับใช้ด้วยใจโลภในทรัพย์สิ่งของ” สิ่งนี้มักกระทำในที่ลับ อย่างลับๆ บางครั้งเป็นการกระทำอย่างถูกต้องตามหลักการ แต่มีเสียงฟ้องในจิตใจนานเท่านาน

แต่ถ้าใครก็ตาม ในที่สุดยอมตน อุทิศถวายชีวิตของตน ที่จะกระทำตามการทรงเรียก กระทำตามพระประสงค์ เป็นคนร่วมงานในพระราชกิจของพระเจ้า ถ่อมตนลงรับใช้พระเจ้าท่ามกลางประชากรของพระองค์ คนๆ นั้นจะทำงานที่พระเจ้าทรงเรียกและมอบหมายด้วย “ความกระตือรือร้น” เพราะนี่คือพระเจ้าคุณของพระเจ้าที่พระองค์ทรงเรียกใช้ ที่พระองค์ทรงไว้วางใจเรา ที่พระองค์ทำงานผ่านชีวิตของเรา ที่พระองค์ใส่พระปัญญา และ พระกำลังเข้าในชีวิตของเรา และในที่สุดเพื่อพระเจ้าจะเป็นที่สรรเสริญ ผู้ที่ได้รับการทรงเรียกและรับใช้เช่นนี้ เปาโลบอกว่า “คนนั้นก็ปรารถนากิจการงานที่ประเสริฐ”

1คำกล่าวนี้สัตย์จริง คือว่าถ้าใครปรารถนาหน้าที่ผู้ปกครองดูแลคริสตจักร
คนนั้นก็ปรารถนากิจการงานที่ประเสริฐ (1เปโตร 5:2, TBS02b)

ประการสำคัญคือ ความปรารถนาและความกระตือรือร้นของเรา มีจุดเริ่มต้น หรือได้รับการจุดประกายขึ้นจากอะไร? กล่าวคือถูกจุดประกายขึ้นจากความปรารถนาเพื่อตนเอง หรือ ถูกจุดประกายขึ้นจากสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับพระเจ้า จากการที่พระองค์ไว้วางใจเราทรงเรียกเรา และสัญญาว่าจะทรงทำงานผ่านชีวิตของเรา เราเกิดความเชื่อมั่นในพระองค์ เราถวายอุทิศชีวิตให้พระองค์ใช้ตามพระประสงค์

ประการที่จะต้องระมัดระวังเป็นที่สุดคือ ถ้าเรากระทำงานในคราบของงานรับใช้แต่ด้วยใจปรารถนาเพื่อตนเองแล้ว จะต้องระวังว่า เมื่อถึงเวลาหนึ่ง “เครื่องจะตีกลับ” คือสิ่งที่เรากระทำลงไปด้วยความปรารถนาที่แอบแฝงจะตีกลับทำลายและเป็นอันตรายต่อชีวิตของเรา ต่อครอบครัว และ ต่อคริสตจักรที่เราเกี่ยวข้องก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น