30 ตุลาคม 2563

การประกาศพระกิตติคุณด้วย “กลยุทธ์การเสนอขาย”?????

เมื่อเราบังเกิดใหม่ มีชีวิตใหม่ ประสบการณ์ใหม่ เราประกาศพระกิตติคุณอย่างไร?

เราประกาศพระกิตติคุณแบบกลยุทธ์ “การเสนอขาย” สินค้าหรือเปล่า?

พระเยซูคริสต์บอกกับคนที่ติดตามพระองค์ว่า พระองค์จะทำให้เราเป็น “ผู้จับคน ดั่งชาวประมงจับปลา” (มัทธิว 4:19) พระองค์บอกอีกว่า เราจะได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์และเป็นพยานของพระองค์ (กิจการ 1:8) พระธรรมทั้งสองข้อนี้บ่งชี้ชัดเจนว่า คริสตชนหรือคนที่ติดตามเป็นสาวกของพระองค์จะต้องเป็น “ผู้ประกาศข่าวดีของพระเยซูคริสต์”

อย่างไรก็ตามเกิดคำถามว่า การประกาศหรือเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์นั้น เป็นการที่เราเป็นพยานชีวิตถึงประสบการณ์ตรงที่เราประสบสัมพันธ์กับพระคริสต์ หรือ การเป็นผู้เสนอ “สินค้าชิ้นใหม่” ที่ชื่อว่าพระเยซูคริสต์กันแน่?

การเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์ ต่อผู้อื่นควรทำในฐานะ ผู้มีประสบการณ์ตรงกับพระองค์เป็นประสบการณ์ที่เราเองพึงพอใจและต้องการให้คนอื่นที่เราแบ่งปันมีประสบการณ์ให้ได้รับสิ่งพึงพอใจเหล่านั้น แต่การเป็นพยานของพระเยซูคริสต์มิใช่การเป็น “พนักงานขาย” มิใช่การเสนอให้ใครบางคน “ซื้อ” สินค้า(พระเยซูคริสต์)ที่เราเสนอขาย 

การประกาศ หรือ เป็นพยานชีวิตถึงพระเยซูคริสต์ เป็นการชวนให้คน ๆ นั้นมามีประสบการณ์ตรงกับพระเยซูคริสต์ในชีวิตของตนอย่างที่เราได้รับประสบการณ์ตรงจากพระองค์มาแล้วด้วยความพึงพอใจ 

กลยุทธ์การขาย

“ผู้เสนอขายที่ดี” ในร้านขายรถยนต์ คือคนที่สามารถเสนอขายจนผู้มาดูรถตัดสินใจซื้อรถจากร้านของเขา ผู้เสนอขายรู้ถึงวิธีที่จะทำให้ “ลูกค้า” ที่มาดูรถเกิดความสนใจสูง เขาจะนำลูกค้าไปนั่งในที่คนขับ แล้วอธิบายถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีในรถว่าเป็นประโยชน์อย่างน่าสนใจ และทำให้เห็นว่าเราสามารถใช้อุปกรณ์เหล่านั้นอย่างง่ายดาย มีอุปกรณ์ที่ควบคุมรถอย่างสวยหรูและสูงด้วยประสิทธิภาพในการสั่งงาน มีอุปกรณ์สร้างความบันเทิงที่เป็นระบบที่ทันสมัย นอกจากนั้นยังมีระบบควบคุมอุณหภูมิในรถยนต์ให้เป็นอย่างที่เราต้องการ ด้วยวิธีที่ง่ายดาย

จากนั้น ก็จะพาลูกค้าไปข้างหน้าแล้วเปิดฝากระโปรงรถยนต์ เพื่อแสดงให้ลูกค้าเห็นเครื่องยนต์ที่เพรียวบางแต่ทรงพลังและขัดจนเงาวับจากโรงงาน และชี้ให้เห็นข้อดีและประโยชน์ที่พึงปรารถนาอื่น ๆ อีกมากมายของรถ ผู้เสนอขาย เสนอสิ่งดีเยี่ยมมากมายจนคนมาดูรถรู้สึกว่า มีแต่คนโง่เท่านั้นที่จะปฏิเสธซื้อรถคันนี้

ผู้เสนอขายอาจจะเชื่อว่า รถคันนี้ดีเยี่ยมอย่างที่เขาพรรณนาก็ได้ และเขาอาจจะมีความประสงค์จริง ๆ ที่จะให้คนมาดูได้รถที่ดีเยี่ยมในราคาที่คุ้มค่า แต่อย่างไรก็ตาม ความปรารถนาจริง ๆ ที่แรงกล้าของผู้เสนอขายคือ “เขาต้องการขายรถคันนั้นให้ได้” ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าคนที่เขาชวนซื้อในขณะนี้ หรือ คนต่อไปก็ไม่สำคัญ ตราบใดที่มีคน “ถอย” รถคันนี้ออกร้านของเขา และเขาได้รับ “แต้ม” จากการขาย นี่คือเป้าหมายสูงสุดของเขา นี่ไงครับ กลยุทธ์ของคนขาย

ความพึงพอใจของคนซื้อรถ

เป็นอันว่า ลูกค้าที่มาดูรถตัดสินใจซื้อรถคันนั้น และลูกค้าก็ขับรถใหม่เอี่ยมของเขาไปที่บริษัทที่เขาทำงาน ไปจอดในที่จอดรถของบริษัท เขามีความสุขที่ได้ซื้อรถคันนี้ เขาขับรถไปฟังเพลงจากเครื่องเสียงในรถ และมีความสุขที่ขับเคลื่อนไปด้วยความนุ่มนวล พร้อมกับกลิ่นหอมของรถคันใหม่ เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งในบริษัทเดินมาหาเขาที่รถใหม่ เขาออกจากรถพอดี เพื่อนถามเขาถึงเรื่องของรถคันใหม่

เขาเปิดประตูรถกว้างให้เพื่อนคนนั้นเข้าไปดูอุปกรณ์ที่สวยหรูและทันสมัยในรถของเขา แล้วทำคล้ายอย่าง “เซลแมน” ที่เสนอขายรถคันนี้ แต่เขาไม่ได้ “พยายามขายรถ” คันนี้ให้แก่เพื่อนร่วมงาน แต่เขาพยายามอธิบายถึงประสบการณ์ที่ดีเยี่ยมที่เขาได้ขับรถใหม่คันนี้ และเขาบอกว่าเขารักรถใหม่คันนี้อย่างไร และเขาบอกเพื่อนว่า เขาเชื่ออย่างมั่นใจว่า ถ้าเพื่อนมีโอกาสขับรถคันนี้จะต้องชอบแน่ๆ

การมีส่วนร่วมในการทำพันธกิจ

การประกาศพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ จะมีลักษณะเหมือนกับคนที่ซื้อรถใหม่ มากกว่าคนที่เสนอขายรถในร้าน  การประกาศพระกิตติคุณคือการแบ่งปันประสบการณ์ เราบอกถึงบางเรื่องที่เรารู้และเข้าใจจากประสบการณ์ และก็ยอมรับว่ายังมีอีกหลายเรื่องราวที่เรายังไม่รู้ไม่เข้าใจ เราจะไม่สร้างความกดดันหรือแรงกระตุ้นให้เพื่อนของเราซื้อรถคันใหม่อย่างเรา ถ้าเพื่อนของเราไม่สนใจที่จะมีรถใหม่ หรือเขาอาจจะไม่ชอบรถคันใหม่ก็ไม่เป็นไร แต่เราบอกเพื่อนว่าเรามีประสบการณ์ในการขับรถคันนี้และเราชอบมัน และในอนาคต ถ้าเพื่อนของเราตัดสินใจที่จะซื้อรถคันใหม่อย่างของเราและต้องการรู้ว่าไปซื้อที่ร้านไหน แน่นอนเราเต็มใจอย่างยิ่งที่จะแนะนำ

พระเยซูคริสต์บอกกับสาวกว่า “...พระบิดาได้ทรงส่งเรามาฉันใดเราก็ส่งพวกท่านไปฉันนั้น” (ยอห์น 20:21 อมธ.)  พระเจ้าประทานโอกาสแก่ท่านในการที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในพระราชกิจแห่งการคืนดีด้วยการประกาศข่าวดี หรือ พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์แก่คนในโลกนี้ ชีวิตของเราได้รับการเปลี่ยนแปลงจากพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ และเรามีความพึงพอใจในประสบการณ์ชีวิตที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เรามิได้ประกาศพระกิตติคุณเพื่อที่จะได้ “สะสมแต้ม” เพื่อไปแสดงผลงานและรับรางวัลจากพระเจ้า เราบอกคนอื่นถึงความหวัง ความชื่นชมยินดี การยกโทษบาป และเป้าหมายชีวิตที่เราพบในพระเยซูคริสต์ เราได้ “ชิม” และ “เห็น” และมีประสบการณ์ตรงถึงความดีขององค์พระผู้เป็นเจ้า

เรารักผู้คน และ เรารักพระเจ้า การประกาศพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ของเราควรเป็นความพยายามที่จะนำความรักทั้งสองนี้ร่วมกันไปถึงผู้คนที่เราเกี่ยวข้องสัมพันธ์

ทุกวันนี้ท่านประกาศพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์แบบไหนครับ? แบบเซลแมนคนเสนอขายสินค้า หรือผู้ที่บอกเพื่อนถึงประสบการณ์ที่เป็นคำตอบชีวิตที่ดีเยี่ยมที่เราได้สัมผัสกับพระเยซูคริสต์?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



28 ตุลาคม 2563

การเชื่อฟัง: ดูเล็กน้อยแต่ทรงพลัง

สิ่งที่ทำให้เรามีความสำเร็จพิเศษเยี่ยมยอดไม่ใช่ของประทาน ตะลันต์ ความสามารถที่มีในชีวิตเรา แต่เป็นความเต็มใจที่ให้พระเจ้าทรงใช้ทั้งชีวิตของเรา ทรงกระทำพระราชกิจตามพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตและการงานที่เราทำ

พระเจ้าจะกระทำพระราชกิจของพระองค์ให้สำเร็จในชีวิตและการงานของเราได้มากขึ้นเมื่อเราเชื่อฟังพระองค์อย่างจริงใจและเต็มใจ และความสำเร็จดังกล่าวยิ่งใหญ่มากมายเกินกว่าผู้นำที่มีความสามารถมากที่สุดจะทำได้ตลอดชั่วชีวิตของเขาด้วยตัวเขาเองได้

โดยปกติ คริสตจักรภาคของพี่น้องชาติพันธุ์จะเป็นภาคที่มีคริสตจักรในพื้นที่สูงตามถิ่นฐานที่ชาติพันธุ์นั้นอาศัยอยู่  และอาจจะมีพี่น้องชาติพันธุ์ที่มาทำงานในเมืองใหญ่ และได้ตั้งคริสตจักรท้องถิ่นสำหรับชาติพันธุ์ของตนที่มาทำงานและอาศัยในเมืองใหญ่นั้น ๆ

แต่ผมพบอาจารย์ท่านหนึ่งในคริสตจักรภาคที่ 21 ชาติพันธุ์ลาหู่ ที่มีเชื้อสายลาหู่เต็มตัว แต่ท่านมารับใช้พระเจ้าในพื้นที่ราบทางภาคอีสาน ที่อำเภอพยัคฆ์ภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม

ท่านและครอบครัวของท่านมาตั้งคริสตจักรที่นั่นครับ ท่านชื่อ อาจารย์เนหะมีย์ (อ่านตามภาษาอังกฤษครับ) ท่านทุ่มสุดตัวสำหรับงานนี้ของพระเจ้า วิธีการทำงานของท่านก็เป็นไปอย่างเรียบง่ายตามพระคัมภีร์ แต่ที่สำคัญท่านบอกผมว่า สิ่งสำคัญคือการที่ท่าน “ยอมเชื่อฟัง” ทำตามพระมหาบัญชาของพระเยซูคริสต์ และนี่คือหัวใจสำคัญในการรับใช้ของท่าน

แนวทางการทำพันธกิจในการประกาศฯ ของท่าน เมื่อมีคนที่มารับเชื่อ และ ถวายชีวิตให้กับพระเยซูคริสต์ ท่านจะฟูมฟักผู้เชื่อใหม่เหล่านี้ให้ออกไปบอกกับคนที่เขาตั้งใจให้รู้จักและรับการสัมผัสจากพระเยซูคริสต์ และจากการปฏิบัติพบความจริงว่า แต่ละคนได้นำญาติ เพื่อนบ้าน หรือคนที่ต้องการความช่วยเหลือในชีวิตให้มาเชื่อและรับพระเยซูคริสต์ ขณะที่ผู้เชื่อใหม่เหล่านี้ออกไปประกาศฯ อาจารย์เนหะมีย์ก็มีกระบวนการสอนความเชื่อและการดำเนินชีวิตต่าง ๆ เพื่อที่พวกเขาจะได้รู้จักคำสอนและพระราชกิจของพระเยซูคริสต์มากยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมพวกเขาที่จะตั้งคริสตจักรของพระเยซูคริสต์สำหรับพวกเขาเอง

กระบวนการประกาศฯ และการตั้งคริสตจักรใหม่ ๆ เกิดขึ้นเพิ่มพูนอย่างน่าตื่นเต้น จนมีบรรดาอาจารย์ ผู้ใหญ่ทั้งในและนอกสภาคริสตจักรฯ มาเยี่ยมเยียน ดูงาน และอธิษฐานเผื่อมากมาย

เมื่อผมขอเรียนรู้พูดคุยกับอาจารย์เนหะมีย์ ท่านพูดชัดว่า งานที่ท่านรับใช้คือการประกาศฯ ให้ผู้คนได้เชื่อในพระเยซูคริสต์ แล้วเลี้ยงดูฟูมฟักเขาให้เติบโตขึ้นเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์ ท่านเน้นชัดเจนว่า ท่านทำงานด้วย “การเชื่อฟัง” และ “ทำตามพระมหาบัญชาของพระคริสต์” เป็นหัวใจสำคัญในการรับใช้ ส่วนผลที่จะเกิดขึ้นมากมายนั้นเป็นพระราชกิจของพระเจ้า และเป็นพระพรจากพระองค์สำหรับผู้คนที่มาเชื่อเหล่านั้น นั่นหมายความว่า ความสำเร็จและผลที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพราะพระราชกิจของพระเจ้ากระทำในชีวิตและการงานที่ท่านทำ

อาจารย์เนหะมีย์ไม่มี “สูตรความสำเร็จ” ในการประกาศฯ ที่เกิดผล และ การสร้างสาวกที่มีประสิทธิภาพ เพราะนั่นเป็นพระราชกิจของพระเจ้า และ เป็นพระพรสำหรับมนุษยชาติที่ยอมรับเชื่อในพระองค์

ถ้าใครคิดจะไปดูงานพันธกิจที่อาจารย์เนหะมีย์ทำ แล้วคาดหวังจะไปขอ “สูตรความสำเร็จ” หรือ แม่แบบวิธีการจากอาจารย์เนหะมีย์ คงต้องผิดหวัง ถึงแม้นำมาแล้วก็ไม่สามารถที่จะทำเลียนแบบตามวิธีการการประกาศ และ การเพิ่มพูนคริสตจักรอย่างอาจารย์เนหะมีย์ได้ เพราะผมประมวลพบว่า หัวใจของการรับใช้ที่เกิดผล (1) เกิดจากการที่เราแต่ละคนจะยอมเชื่อฟังพระเยซูคริสต์ ทำตามพระบัญชาของพระองค์ สิ่งที่ไปดูงานอีกสิ่งหนึ่งที่ควรจะมองให้เห็นชัดคือ (2) พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจอะไรอยู่ในพื้นที่ที่อาจารย์เนหะมีย์และผู้เชื่อเหล่านั้นกำลังกระทำ ไปดูงานควรมองให้เห็นถึงพระหัตถ์ของพระเจ้าที่กำลังกระทำพระราชกิจในชีวิต และ การงานของอาจารย์เนหะมีย์และ ผู้เชื่อทั้งหลายที่นั่น

เพราะด้วยพระราชกิจของพระเจ้าที่ทรงกระทำในชีวิตและการงานที่เราทำต่างหาก มิใช่ด้วยความสามารถที่มีอยู่ในตัวเรา แต่เป็นความเต็มอกตั้งใจของเราที่ยอมให้พระเจ้าทรงใช้ตามพระประสงค์ของพระองค์ จึงเกิดความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตของเรา! 

ให้ชีวิตของเราสำแดงให้โลกได้เห็นถึงการที่พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของคน ๆ หนึ่งที่ยอมจำนนต่อพระองค์ ให้พระองค์ใช้ทั้งชีวิตตามพระประสงค์ เพื่อโลกจะได้เห็นพระเจ้าผ่านชีวิตของเขา และผ่านทางพระราชกิจที่กระทำในชีวิตของเขา ความสำเร็จของพระเจ้าในชีวิตของผู้รับใช้จะเปิดตาคนในสังคมโลกได้เห็นถึงความรักเมตตา และ พระกรุณาธิคุณของพระองค์อย่างเป็นรูปธรรมบนแผ่นดินโลกนี้ 

ในเวลานี้ ให้ท่านใคร่ครวญ ฟีลิปปี 2:8  แล้วทบทวนว่า ในชีวิตของท่าน พระเจ้าได้ทรงกระทำพระราชกิจเช่นนี้อะไรบ้างไหม จนกลายเป็นความสำเร็จที่สำคัญในชีวิตของท่าน? และในเหตุการณ์ความสำเร็จนั้น อะไรที่เป็นบทบาทความรับผิดชอบที่แท้จริงของตัวท่านเอง? ท่านได้ทำอะไรบ้างในบทบาทและความรับผิดชอบดังกล่าว?   ทำไมถึงทำเช่นนั้น?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



26 ตุลาคม 2563

...ความรู้สึก “คู่ขนาน” ของนักเทศน์

นักเทศน์ส่วนใหญ่รู้สึกตื่นเต้นที่จะเทศนา แต่ในเวลาเดียวกันก็รู้สึกหนักอกหนักใจด้วย นักเทศน์ใช้เวลามากมายในการอธิษฐานเพื่อเตรียมการเทศนา และยังขอให้คนอื่นอธิษฐานเผื่อการเตรียมเทศน์ และ การเทศน์ของตนด้วย

ในฐานะนักเทศน์ ท่านมีความรู้สึกอย่างที่กล่าวต่อไปนี้...หรือเปล่าครับ?

1. เรารักในการเทศนา แต่เราก็รู้อยู่เต็มอกว่า เป็นภาระที่หนักอึ้ง

เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นผู้กล่าวถึง “ข่าวดีที่ดีที่สุด” สำหรับมนุษยชาติ แต่เรารู้สึกว่างานนี้เป็นภาระที่หนักหนาเอาการอยู่

2. เรายืนอยู่ในฐานะ “ผู้นำ” ที่พระเจ้าทรงเรียก แต่เราก็รู้ด้วยว่าเราจะต้องตอบสนองพระองค์ในฐานะ “คนรับใช้” ของพระองค์ 

สิ่งแรกเป็นความเชื่อที่ครอบคลุมความคิดของเราอย่างเต็มที่ ส่วนประการที่สองเป็นความเชื่อมั่นที่หยั่งรากลงลึกในชีวิตของเรา

3. เราตื่นเต้นที่ได้เห็นผู้คนยืนยันเห็นพ้องกับพระกิตติคุณ แต่เราก็รู้อยู่ว่าจะมีบางคนที่จะเดินจากไปโดยชีวิตไม่มีการเปลี่ยนแปลง  

แม้มีคนได้รับความรอด แต่ก็มีคนที่แข็งขืนไม่ยอมรับ เรานักเทศน์มักรู้สึกเสียใจอย่างมากสำหรับคนกลุ่มหลังนี้

4. เราศึกษาค้นคว้าอย่างหนัก (ผมเชื่อเช่นนั้น...) แต่เราก็รู้แน่แก่ใจว่าเราไม่สามารถที่จะสื่อสารเนื้อหาเรื่องราวที่เราต้องการสื่อสารได้ดีเต็มที่ดั่งตั้งใจ  

และจะมีนักเทศน์บางคนจมจ่อมอยู่กับจุดอ่อนในการเทศน์ของตน แทนที่จะยืนมั่นอยู่บนจุดแข็งในการเทศนาของตน

5. เรานักเทศน์ได้อธิษฐานเพื่อเนื้อหา และการเทศนาของตน แต่เราไม่เคยมั่นใจเลยว่าเราอธิษฐานเพียงพอ  

นักเทศน์มากมายที่ผมได้พบผ่านมาต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เราควรใช้เวลาในการอธิษฐานมากกว่านี้ในการเตรียมเทศนา แล้วจะเกิดอะไรขึ้น หรือ เป็นอย่างไรถ้าเราอธิษฐานมากกว่าที่เคยทำ

6. เรารู้สึกถ่อมตัวกับสิทธิพิเศษในการเทศนา แต่เราก็ต้องยอมรับว่าในส่วนลึกจิตใจของเราชอบให้คนฟังยอมรับในทักษะการเทศนาของเรา  

เรายอมรับว่าเรามีทั้งความรู้สึกที่เราต้องการให้พระเจ้าทรงใช้เราด้วยฤทธานุภาพของพระองค์ และ ความรู้สึกต้องการให้ผู้คนรับรู้ว่าพระเจ้าทรงใช้เรามากแค่ไหน

7. เรารู้สึกปลื้มอกพอใจที่มีคนมานั่งฟังการเทศนาของเรา แต่บางครั้งเราก็ไม่มั่นใจว่าถ้าเราเทศน์ทางออนไลน์จะมีคนตั้งใจฟังเทศน์ของเรามากน้อยแค่ไหน  

ในส่วนลึกของเราหลายคนไม่ชอบที่ต้องเทศนาอยู่กับหน้ากล้องวีดีโอ เราต้องการให้คนกลับมาร่วมนมัสการที่โบสถ์อย่างพร้อมเพียงกันในการนมัสการพระเจ้าด้วยกันมากกว่า

8. เราต่างตั้งใจที่ต้องการสื่อสารพระกิตติคุณให้ดีที่สุด แต่ก็รู้ว่า การสนทนาในบางเรื่องกับผู้คนก่อนการเทศนาอาจจะรบกวนจิตใจ และ เป็นสิ่งรบกวนใจของเขาเมื่อฟังเทศนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราอยู่ในคริสตจักรที่อยู่ในภาวะที่ยากลำบาก  

การเทศนาเป็นทั้งความชื่นชมยินดี แต่เราก็รู้ว่า ปัญหาต่าง ๆ ที่เราพูดคุยกับบางคนก่อนการเทศนาก็ยังแฝงตัวและรบกวนความคิดจิตใจของผู้ฟังเทศน์เหล่านั้น และติดออกไปหลังการเทศนาจบอีกด้วย

ในฐานะนักเทศน์ ท่านมีความรู้สึกอะไรอีกครับ? และรับมืออย่างไรกับความรู้สึกเหล่านี้? ขอคำแนะนำด้วยครับ...

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



23 ตุลาคม 2563

เทศนาเพื่อให้เกิดการปฏิบัติจริง

                พระเยซูคริสต์เทศนาให้เกิดการกระทำตาม

                ไม่ใช่เทศน์เพื่อให้คนฟังเกิดความรู้เท่านั้น

การเทศนาของพระเยซูคริสต์ เป็นการเทศนาเพื่อให้ผู้ฟังนำไปปฏิบัติจริง เป็น “ปัญญาปฏิบัติ” มิได้เป็นเพียง “ปัญญาประดับ” คำเทศนาของพระองค์ชัดเจน เหมาะสมกับบริบท และสถานการณ์ชีวิตของผู้ฟัง และเป็นคำเทศนาที่ผู้ฟังนำไปปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวัน เป็นคำเทศนาที่เรียบง่ายแก่การเข้าใจของสามัญชนคนทั่วไป   คำเทศนาของพระองค์มิใช่เป็นเพียง “คำสอน” เท่านั้น

เราสามารถพิจารณาได้จากคำเทศนาชุดโด่งดังเป็นที่รู้จักทั่วไป “คำเทศนาบนภูเขา” หรือ “การเทศนาบนเนินเขา”  เป็นคำเทศนาของพระเยซูคริสต์ที่มีลักษณะเด่นดังนี้

[1] เป็นคำเทศนาที่ชี้ชัดถึงหลักปฏิบัติที่นำไปสู่ “ความสุขในชีวิต”

[2] เป็นการสนทนาถึงการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย การควบคุมความโกรธ การพลิกฟื้นคืนดีความสัมพันธ์ และประเด็นการกระทำผิดทางเพศ และ การหย่าร้าง

[3] จากนั้น พระองค์พูดถึงการรักษาคำสัญญา และ การกระทำดีตอบแทนการกระทำชั่ว

[4] พระองค์ชี้ชัดถึงการปฏิบัติในประเด็น “ชีวิตภายในของตน” เช่น การให้และถวายด้วยท่าทีทัศนะที่ถูกต้อง หลักปฏิบัติในการอธิษฐาน การเพิ่มพูน “ทรัพย์สมบัติในสวรรค์” และการรู้เท่าทันและเอาชนะความวิตกกังวลในชีวิต

[5] แล้วพระองค์ขมวดท้ายการเทศนาเชิงปฏิบัติของพระองค์ด้วยการไม่ตัดสินคนอื่น และให้อธิษฐานทูลขอต่อพระเจ้าเกี่ยวกับสิ่งจำเป็นต้องการในชีวิตของตนด้วยความเพียรรอคอย ด้วยความยืนหยัด อดทน และ เตือนให้ผู้ฟังระมัดระวังคำสอนเทียมเท็จ

[6] พระองค์ลงท้ายด้วยเรื่องเล่าที่เข้าใจง่าย ที่มุ่งเน้นถึงการเป็นผู้ฟังที่เกิดผลคือผู้ฟังที่ใส่ใจในการปฏิบัติตามคำสอนที่ตนได้ยินได้ฟังจากพระองค์ เพื่อให้เป็นความเชื่อที่เป็น “ปัญญาปฏิบัติ” มิใช่เป็นเพียง “ปัญญาประดับ” เท่านั้น

นี่คือคำเทศน์/การเทศน์ ที่เราจำเป็นต้องมีในปัจจุบันนี้ เป็นคำเทศน์ที่เปลี่ยนแปลงชีวิต การเทศนาแบบนี้ไม่ใช่เป็นเพียงการประกาศว่า “พระคริสต์คือคำตอบ” แต่ต้องแสดงให้ผู้ฟังเห็นชัดเจนว่า “พระคริสต์เป็นคำตอบอย่างไร”

คำเทศนาจำนวนมากในปัจจุบันเป็นคำเทศนาแบบ “บ่น วิพากษ์ ตีตราว่าร้าย” เป็นคำเทศน์ที่มีแต่บ่นว่าสถานการณ์และผู้คนเลวร้ายในสังคมปัจจุบัน ใช้เวลาวิเคราะห์เพื่อวิพากษ์และตีตราว่าร้ายสังคมและผู้คนในสังคมแต่ไม่พบแนวทางที่จะ “เยียวยารักษา” ความเหลวแหลกของผู้คนสังคมในปัจจุบัน และมักกล่าวถึงคริสตชนเองเป็นคนดี คนข้างนอกเป็นคนชั่ว แต่ไม่ได้มีการชี้วิธีและแนวทางในการแก้ไข ฟื้นฟูให้ดีขึ้น คำเทศนากลุ่มนี้ไม่ได้ทำตามคำเทศนาของพระเยซูคริสต์ที่ว่า ให้เราจุดตะเกียงแล้ววางไว้ที่สูงเพื่อให้ส่องสว่างแก่ผู้คนในห้องนั้น การเทศน์ของคริสตชนกลุ่มนี้ควรหยุดที่จะแช่งด่าความมืด สาเหตุของความมืด แต่ทำแบบพระเยซูคริสต์ที่จะเป็นแสงสว่างเพื่อให้ผู้คนได้ยินได้ฟังและได้เห็น “ทางออก” แนวทางการแก้ไข เยียวยา รักษาชีวิตของสังคมและผู้คนในสังคมนั้น

เมื่อผมไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล สิ่งที่ผมต้องการได้ยินได้ฟังคือ สุขภาพของผมตอนนี้มีอะไรที่ผิดปกติ แล้วต้องการคำชี้แนะจากแพทย์ถึงแนวทางขั้นตอนที่ชัดเจนว่า ผมจะต้องทำอย่างไรที่จะป้องกัน รักษา เยียวยาความผิดปกติในตัวผม ที่จะทำให้ชีวิต สุขภาพ ความเป็นอยู่ของผมดียิ่งขึ้น ผู้ป่วยไม่ต้องการฟังเพียง “ข่าวร้าย” ในสุขภาพของเขา แต่เขาต้องการขั้นตอนที่จะแก้ไข พลิกฟื้น รักษา สุขภาพของตนให้ดีขึ้น “ได้อย่างไร?”

การเทศนาที่ตีตราว่าร้ายเท่านั้น โดยปราศจากแนวทาง วิธีการแก้ไข เปลี่ยนแปลง ฟื้นฟู และพัฒนาที่เป็นขั้นตอนการปฏิบัติที่ชัดเจน รังแต่จะสร้างความวุ่นวาย สับสนห่วงกังวลใจแก่ผู้ฟังเทศน์เท่านั้น

พระคัมภีร์มิได้มีไว้เพิ่มพูนความรู้ปัญญาของเราเท่านั้น แต่พระคัมภีร์ต้องการเปลี่ยนแปลง สร้างเสริมพัฒนา และพลิกฟื้นชีวิตของคนอ่านคนฟังให้มีคุณภาพชีวิตรอบด้านดียิ่งขึ้น และเป้าหมายปลายทางของการเปลี่ยนแปลงคือ การที่เราแต่ละคนมีชีวิตประจำวันที่เป็นเหมือนคุณภาพชีวิตแบบพระคริสต์มากยิ่งขึ้นทุกวัน

พระเยซูคริสต์บอกอย่างชัดเจนว่า “...เราได้มาเพื่อเขาทั้งหลายจะมีชีวิตและมีชีวิตอย่างครบบริบูรณ์” (ยอห์น 10:10 อมธ.) พระเยซูคริสต์ไม่ได้บอกว่า “เรามาเพื่อเขาทั้งหลายจะมีศาสนาที่ถูกต้อง...” พระเยซูคริสต์ไม่ได้มาสอนศาสนาที่ดีเที่ยงแท้ แต่พระองค์มาในสังคมโลกเพื่อให้เราท่านได้ชีวิตที่สมบูรณ์พูนครบ ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงเป็น “นักเทศน์เพื่อชีวิต เพื่อการปฏิบัติ” และยิ่งชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อพระองค์เทศน์เสร็จ พระองค์บอกกับฝูงชนคนฟังเทศน์ในครั้งนั้นว่า “ท่านจงไปทำเหมือนอย่างนั้น” (ลูกา 10:37 มตฐ.)

การเทศนาแบบพระเยซูคริสต์ เป็นการเทศนาที่อธิบายถึงชีวิตของประชาชนคนฟังเทศน์ แล้วเน้นย้ำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิตที่แต่ละคนเป็นอยู่ ชีวิตที่เป็นอย่างคำสอนคำเทศนาของพระคริสต์มิใช่เพียงแต่ “รู้และเชื่อในคำสอน” ของพระเยซูคริสต์เท่านั้น แต่เป็นชีวิตที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงจากคำสอนของพระคริสต์ คำสอนของพระคริสต์เปลี่ยนแปลงชีวิตของเราโดยการที่แต่ละคนยอมรับเอาคำสอนของพระองค์และประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันของตน คนฟังเทศน์ในยุควิกฤติชีวิตเฉกเช่นปัจจุบัน โดยแสวงหาว่า เขาจะมีชีวิตที่มีคุณภาพได้อย่างไร การเทศนาแบบพระเยซูคริสต์จึงยังคงเป็นสิ่งที่ผู้คนแสวงหาอยู่ในปัจจุบัน

เราต้องตระหนักชัดเสมอว่า คนที่ยังไม่ได้เชื่อในพระเยซูคริสต์ ไม่ได้ขอให้เปลี่ยนข่าวสารคำสอนคำเทศน์ของพระเยซูคริสต์ หรือ ลดความเข้มข้นคำสอนของพระองค์ลง แต่พวกเขาต้องการให้เราทำให้เขาเห็นชัดเจนว่า การกระทำอย่างไรที่เหมาะสมเป็นคำตอบชีวิตที่เขากำลังเผชิญหน้าอยู่ คำถามใหญ่ของคนกลุ่มนี้คือ แล้วทำไมจะต้องทำอย่างนั้น? คนที่ยังไม่เชื่อมีความสนใจในหลักข้อเชื่อ/คำสอนเชิงปฏิบัติ และ วิธีการปฏิบัติที่ตอบโจทย์ชีวิต ที่ประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริงในแต่ละวันได้อย่างไรมากกว่า

ถ้าเราจะให้คนฟังทั้งคนที่เชื่อและยังไม่เชื่อสนใจในเนื้อหาสาระที่เราเทศน์ เราต้อง “ชี้ชัด” คำเทศน์คำสอนจากพระคัมภีร์ให้ตอบโจทย์ชีวิตของเขา หรือ เข้ากับวิถีชีวิตของคนฟัง

เราไม่ต้อง “ปรับเปลี่ยนคำเทศน์คำสอนจากพระคัมภีร์” แต่เราต้องอธิบายให้พวกเขาเห็นภาพและความหมายของพระคัมภีร์ข้อนั้น ๆ และชี้นำต่อไปว่า มีวิธีการ ขั้นตอนปฏิบัติอย่างไรที่ผู้ฟังสามารถนำไปประยุกต์ใช้จริงในชีวิตประจำวัน

เราไม่ต้องปรับเปลี่ยนพระวจนะให้สอดคล้องกับชีวิตในเวลานี้ แต่ให้พระวจนะปรับเปลี่ยนชีวิตที่เรากำลังเป็นอยู่ให้เป็นเหมือนพระคริสต์มากยิ่งขึ้นทุกวัน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



21 ตุลาคม 2563

“หลุมพราง”... การเทศนา

การเทศนาก็มีหลุมพรางที่บางครั้งเหมือนเส้นผมบังภูเขา

1. นักเทศน์มักเข้าใจผิดว่า คนที่ยังไม่เชื่อมีความกระตือรือร้นอยากจะได้ยินสัจจะความจริง

ในปัจจุบันนี้ คนที่ยังไม่เชื่อไม่ได้สนใจในสัจจะความจริงเลย จากการสำรวจพบว่า คนส่วนใหญ่ปฏิเสธความคิดเรื่องสัจจะความจริง

นี่คือรากเหง้าของปัญหาทั้งหลายในสังคมของเราปัจจุบันนี้ ผู้คนให้คุณค่าแก่ความอดทนมากกว่าคุณค่าของสัจจะความจริง ผู้คนบ่นเกี่ยวกับอาชญากรรม การเสพยาเสพติด ครอบครัวแตกแยก และปัญหาอื่น ๆ ในวัฒนธรรมทันสมัยของเราในทุกวันนี้ แต่กลับไม่รู้ว่าอะไรคือสาเหตุของปัญหาเหล่านั้น  

รากเหง้าของปัญหาเหล่านี้มาจากการที่เขาปฏิเสธไม่ยอมรับสัจจะความจริง

รากเหง้าความสัมพันธ์เชิงจริยธรรมเป็นรากเหง้าของความผิดพลาดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมของเราปัจจุบัน แต่ในเวลาเดียวกันเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ของเราที่คิดว่า คนที่ยังไม่เชื่อจะวิ่งไปโบสถ์หากเราเพียงแค่ประกาศว่า “เรามีสัจจะความจริง”

ผู้ประกาศความจริง/พระกิตติคุณไม่ได้รับความสนใจมากนักในสังคมที่ลดคุณค่าของความจริงเพื่อที่จะเอาชนะสถานการณ์ดังกล่าว นักเทศน์บางคนพยายาม “เทศน์ตะโกนเสียงดังยิ่งขึ้น” แต่การเทศนาเสียงดัง ๆ แรง ๆ ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาความไม่แยแส/ไม่สนใจของผู้คน ทางแก้ปัญหาเริ่มต้นที่ตัวนักเทศน์ต้อง “...เฉลียวฉลาดเหมือนงู และไม่มีพิษมีภัยเหมือนนกพิราบ” (มัทธิว 10:16 มตฐ.)

2. ในขณะที่ผู้ที่ยังไม่เชื่อส่วนใหญ่ไม่ได้มองหาสัจจะความจริง แต่พวกเขาแสวงหาความช่วยเหลือ การปลดปล่อย และนี่คือโอกาสของเราที่จะนำพวกเขาให้เกิดสนใจในสัจจะความจริง/พระกิตติคุณ

เราพบว่า เมื่อเราสอนพระกิตติคุณที่เยียวยารักษาความเจ็บป่วยหรือบาดแผลในชีวิตจิตใจของเขา และช่วยแก้ปัญหาที่เขาประสบ ผู้ที่ยังไม่เชื่อจะบอกเราว่า “ขอบคุณมากสำหรับความช่วยเหลือ มีสัจจะความจริงอะไรอื่นอีกไหมในหนังสือเล่มนี้ (หมายถึงพระคัมภีร์)?”  

การที่เราแบ่งปันถึงหลักการของพระคัมภีร์ ที่เป็นคำตอบต่อความจำเป็นต้องการในชีวิตของเขา สร้างความกระหายอยากรู้เกี่ยวกับสัจจะความจริงมากยิ่งขึ้น

พระเยซูเข้าใจเรื่องนี้อย่างดี น้อยคนนักที่มาหาพระเจ้าเพื่อแสวงหาสัจจะความจริง แต่พวกเขาแสวงหาความช่วยเหลือ การเยียวยารักษา และการปลดปล่อยจากพระองค์ ดังนั้นพระเยซูจะตอบสนองความจำเป็นต้องการในชีวิตของเขาก่อน ไม่ว่าคนที่เป็นโรคเรื้อน คนตาบอด คนหลังโก่ง และเมื่อความจำเป็นต้องการในชีวิตของเขาได้รับการใส่ใจและได้รับการตอบสนอง พวกเขาก็เกิดความอยากรู้อยากเห็นถึงสัจจะความจริงเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ ที่พระองค์ช่วยพวกเขาในปัญหาที่พวกเขาไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง

เอเฟซัส 4:29 กล่าวไว้ว่า “...จงกล่าววาจาอันเป็นประโยชน์เพื่อเสริมสร้างผู้อื่นขึ้นตามความจำเป็นของเขา จะได้เป็นผลดีแก่ผู้ฟัง” (อมธ.) ขอตั้งข้อสังเกตว่า แล้วใครเป็นผู้กำหนดว่าเราจะต้องพูดเรื่องอะไรบ้าง ความต้องการของผู้ฟังเหล่านั้นเป็นตัวชี้ถึงประเด็นของเราที่เราจะเทศนาสื่อสาร เราจะสื่อสารในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ฟังของเราก่อน  

น่าเสียดายที่ศิษยาภิบาลหลายท่านกำหนดประเด็นของคำเทศนาตามสิ่งที่พวกเขารู้สึกเองว่าจำเป็นต้องพูด มากกว่าสิ่งที่ผู้ฟังมีความจำเป็น/ต้องการในชีวิตของพวกเขา

3. ผู้เตรียมเทศน์มักถามคำถามที่ผิด

แทนที่เราจะถามว่า “วันอาทิตย์นี้ฉันควรจะเทศน์เรื่องอะไร?” เราควรเริ่มด้วยการถามว่า “ฉันจะเทศน์ให้ใครฟัง?”   เพียงแค่คิดตามความจำเป็นต้องการของผู้ฟังก็จะช่วยชี้นำถึงเป้าประสงค์สำหรับเนื้อหาในคำเทศน์อาทิตย์นั้น

เพราะพระเจ้าทรงทราบล่วงหน้าแล้วว่าใครบ้างที่จะเข้ามาร่วมในการนมัสการในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ พระองค์จะไม่ประทานสาระเนื้อหาคำเทศน์ที่เหมาะสมสอดคล้องกับความจำเป็นต้องการของคนที่จะเข้าร่วมนมัสการนี้หรือ? เราเชื่อมั่นว่า พระเจ้าจะประทานเนื้อหาสาระแก่ผู้เทศน์เพื่อเป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้ฟังพระวจนะพระเจ้าในวันอาทิตย์นี้ เราเชื่อว่าความต้องการเฉพาะหน้าของผู้คนเป็นกุญแจดอกสำคัญที่พระเจ้าจะให้เราเริ่มพูดในโอกาสนั้น ๆ

สิ่งที่ต้องการบอกในตอนนี้คือ ผู้ฟังมิใช่เป็นผู้กำหนดว่านักเทศน์ควรจะสื่อสารสัจจะความจริงหรือไม่? สัจจะความจริงมิใช่สิ่งที่ผู้ฟังจะเลือกฟังหรือไม่ฟัง แต่ความจำเป็นต้องการ ปัญหา และความสนใจของผู้ฟังช่วยให้ผู้เทศน์ใช้เป็นประเด็นที่จะเทศนาสัจจะความจริง/พระกิตติคุณที่จะตอบสนองชีวิตของผู้ฟัง และ สำหรับผู้ที่ยังไม่เชื่อ เป็นความจริงบางอย่างว่า มีความเกี่ยวข้องกับความจำเป็นต้องการในชีวิตของผู้ฟังมากกว่าสัจจะความจริงประเด็นอื่น ๆ

4. ถ้าอย่างนั้น จะมีสิ่งที่เป็นสัจจะความจริง แต่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นความจำเป็นต้องการในชีวิตของผู้ฟังขณะนั้นไหม? มีแน่นอน!

ผมคิดถึงครั้งที่ป่วยในขั้นวิกฤติจนถูกนำส่งโรงพยาบาลในห้องฉุกเฉิน ผมก็คิดย้อนกลับไปในเหตุการณ์วันนั้น (ถ้า) แพทย์วิ่งมาหาผมที่เตียงในห้องฉุกเฉิน แล้วเริ่มต้นอธิบายคำศัพท์ที่แพทย์-พยาบาลใช้ในเวลานั้นแก่ผมว่า ศัพท์แพทย์คำนั้นคำนี้หมายความว่าอะไร หรือแพทย์พยายามอธิบายถึงประวัติความเป็นมาของการพัฒนา “หูฟัง” ที่แพทย์ใช้ตรวจโรค สิ่งเหล่านี้ที่แพทย์ทำเป็นสัจจะความจริงทั้งนั้น แต่มันไม่ช่วยให้ผมรอดพ้นจากภาวะความเจ็บป่วยวิกฤติในเวลานั้นเลย มันเป็นสัจจะความจริงที่ไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับความจำเป็นต้องการในเวลานั้น

แต่ในครั้งนั้น แพทย์ที่มารีบฟังหัวใจและปอด แล้วสั่งให้นำผมเข้าห้องไอซียูความดันต่ำทันที แล้วให้นำเครื่องเอกซเรย์แบบเคลื่อนที่ทำการตรวจตามที่แพทย์สั่ง ให้ห้องแลปตรวจสิ่งต่าง ๆ ของผมตามที่แพทย์อยากรู้   ให้พยาบาลติดต่อแพทย์ที่เชี่ยวชาญทางปอดมาร่วมในการวินิจฉัยและรักษา เพราะแพทย์ท่านนั้นต้องการช่วยชีวิตผมให้รอดจากวิกฤติในเวลานั้น และนี่ก็เป็นสัจจะความจริงในการเยียวรักษาที่เหมาะสมสอดคล้องกับการกู้ชีวิตของผมให้หลุดออกจากภาวะวิกฤติในเวลานั้น

แต่เมื่อหวนกลับมาคิดถึงการเทศนาของนักเทศน์หลายท่าน มักเริ่มต้นด้วยการอรรถาธิบายความหมายของศัพท์แสงที่ใช้ในพระคัมภีร์ และ ศาสนศาสตร์ มาจากรากศัพท์คำไหน มีความหมายว่าอะไรให้ผู้ฟังเทศน์เข้าใจ หรือ เจาะลึกลงไปว่าพระคัมภีร์ตอนนั้นมีสถานการณ์เบื้องหลังอะไร เขาบันทึกและส่งต่อมาถึงเราได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นสัจจะความจริงและเป็นความรู้เข้าใจที่สำคัญและจำเป็น แต่ไม่เหมาะสมสอดคล้องกับวิกฤติชีวิตของผู้ฟังเทศน์   สิ่งเหล่านี้มิได้กอบกู้ชีวิตของผู้ฟังเทศน์หลุดรอดจากภาวะวิกฤติชีวิตที่เขากำลังติดพันอยู่ ไม่ได้เป็นคำตอบสำหรับชีวิตที่ฉุกเฉินวิกฤติของผู้ฟังเทศน์

สิ่งที่นักเทศน์พึงตระหนักชัดเสมอคือ ผู้ฟังเทศน์ตั้งใจฟังว่าผู้เทศน์เริ่มต้นการสื่อสารสาระข่าวสารการเทศนาของเขาอย่างไร ยิ่งถ้าผู้ฟังที่ยังไม่ได้เชื่อ แล้วเราใช้เวลาช่วงแรกที่อธิบายถึงเบื้องหลังประวัติศาสตร์ความเป็นมาของพระคัมภีร์ที่เราใช้เทศน์ในวันนั้น แล้วค่อยนำเข้าสู่ความหมาย และ การประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง ผู้ฟังเทศน์หมดความสนใจในคำเทศน์ตั้งแต่เราได้เริ่มต้นแล้ว  

เมื่อเรานำเสนอคำเทศนาแก่ผู้ฟังที่ยังไม่เชื่อ หรือ รับเชื่อแล้วก็ตาม เราจำเป็นจะต้องเริ่มต้นการสื่อสารเทศนาจาก “ตอนจบของคำเทศน์”!

ทุกวันนี้ ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ และ การพูดดูถูกว่า “การเทศนาที่ตอบสนองต่อความจำเป็นต้องการ” ของผู้ฟัง  เป็นเหมือนการเสนอขายพระกิตติคุณ เป็นการเทศนาใต้อิทธิพลของ “บริโภคนิยมและการตลาด” ขออนุญาตอธิบายในประเด็นนี้ให้เข้าใจชัดเจนเท่าที่จะทำได้

การเริ่มต้นการสื่อสารเทศนาด้วย “ความจำเป็นต้องการของผู้ฟัง” มิใช่วิธีการที่เพิ่งมาใช้ใน “ยุคทันสมัย ยุคบริโภคนิยม หรือ ยุคระบบการตลาด” แต่เป็นแนวทางที่พระเยซูคริสต์ใช้เทศนาในสมัยของพระองค์

เราพบความจริงในพระคัมภีร์หลายเรื่องราวว่า พระเจ้าทรงสำแดงพระองค์ต่อมนุษย์ตามความจำเป็นต้องการของคนๆนั้น/กลุ่มนั้น/ในบริบทนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวในพระคัมภีร์เดิม หรือ พันธสัญญาใหม่ ที่เราสามารถเห็นตัวอย่างมากมาย

เราจะพบเรื่องราว หรือ เหตุการณ์ในทำนองนี้ ตลอดพระคัมภีร์ พระเจ้ามาพบหรือเผชิญหน้าเราในสภาพชีวิตที่เราเป็นอยู่ในเวลานั้น ในสถานการณ์นั้น การเทศน์ที่เริ่มต้นตอบสนองต่อความจำเป็นต้องการของกลุ่มเป้าหมายเป็นหลักการหนึ่งในคริสต์ศาสนศาสตร์ ที่นำผู้คนให้ได้มีโอกาสสัมผัสจากพระเจ้า และรู้จักพระองค์ผ่านการตอบสนองของพระเจ้าต่อความจำเป็นต้องการของเขาในชีวิตจริงในเวลานั้น และเป็นแนวทางที่นำคนนั้นสู่การมีชีวิตที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงจากพระเจ้าในพระเยซูคริสต์

การเทศนาที่เปลี่ยนแปลงชีวิต เป็นกระบวนการที่นำเอาสัจจะความจริงจากพระวจนะของพระเจ้ามาเผชิญหน้าและเป็นคำตอบสำหรับความจำเป็นต้องการ ปัญหาวิกฤติในชีวิตของผู้ฟังเทศน์ และความสนใจของผู้ฟัง ด้วยการประยุกต์ใช้สัจจะความจริง/พระกิตติคุณพระคริสต์ ในชีวิตประจำวันของผู้ฟังเทศน์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



19 ตุลาคม 2563

เทศนา...ที่ผู้ฟังเป็นศูนย์กลาง

การเทศนาของพระเยซูดึงดูดฝูงชนจำนวนมหาศาลและพระคัมภีร์มักจะบันทึกปฏิกิริยาเชิงบวกของฝูงชนเหล่านั้นที่มีต่อคำสอนของพระองค์ เช่น

[1] มัทธิว 7:28 “...ฝูงชนก็พากันเลื่อมใสในคำสอนของพระองค์” (อมธ.)

[2] มัทธิว 22:33 “...เมื่อประชาชนได้ยินดังนี้ก็เลื่อมใสในคำสอนของพระองค์” (อมธ.)

[3] มาระโก 11:18 “...ประชาชนทั้งปวงเลื่อมใสในคำสอนของพระองค์” (อมธ.)

[4] มาระโก 12:37 “...ฝูงชนกลุ่มใหญ่ฟังพระองค์ด้วยความชื่นชมยินดี” (อมธ.)

ฝูงชนไม่เคยได้ยินใครสอนอย่างที่พระเยซูคริสต์ได้สอน พวกเขาทั้งเลื่อมใส ชื่นชมยินดี และประหลาดใจ

การเทศน์และสอนที่ดึงดูดความสนใจของผู้ที่ยังไม่เชื่ออย่างพระเยซูคริสต์ พระองค์ต้องสื่อสารสัจจะความจริงด้านจิตวิญญาณตามแนวทางของพระองค์ ผมเชื่อว่า พระเยซูคริสต์เท่านั้นที่เป็นแบบอย่างในการเทศนาของเรา แต่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่นักเทศน์ส่วนหนึ่งที่ให้ความสำคัญในการตีความหมายของศัพท์แสงภาษาที่ใช้ในคำเทศน์   ตามหลักการวาทศิลป์ของอริสโตเติล และ กรีก มากกว่าที่จะเรียนจากแบบอย่างการสอนการเทศน์ของพระเยซูคริสต์

ในยอห์น 12:49 ยืนยันว่า “เพราะเราไม่ได้พูดตามใจของเราเองแต่พระบิดาผู้ทรงส่งเรามาได้ทรงบัญชาเราว่าจะพูดอะไรและพูดอย่างไร” (อมธ.) นี่หมายความว่า ทั้งเนื้อหา และ วิธีการ กระบวนการสื่อสารนั้นมาจากพระบิดา นี่เป็นประเด็นน่าสังเกตที่สำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งเรามักจะมองข้ามมุมมอง ท่าทีในการเทศนาของพระเยซูคริสต์

มีหลายสิ่งที่เราจะต้องเรียนรู้จากแบบอย่างและกระบวนการสื่อสารของพระเยซูคริสต์ มิใช่เพียงแต่เนื้อหาเท่านั้น  แต่ในที่นี้ขอชี้ถึงตัวอย่างวิธีการเทศนาของพระเยซู 3 ประการด้วยกัน ดังนี้

พระเยซูเริ่มต้นกล่าวถึง “ความจำเป็นต้องการ” บาดแผลและความเจ็บปวด” และ “ความสนใจ” ในชีวิตของผู้ฟัง

ปกติ พระเยซูคริสต์จะสอนเพื่อตอบประเด็นคำถาม และ ตอบสนองปัญหาเร่งด่วนในชีวิตของฝูงชนกลุ่มนั้น ๆ ที่กำลังฟังพระองค์ เรียกได้ว่าพระองค์เกาถูกที่คันของประชาชนคนฟัง คำเทศนาของพระองค์เป็นไปแบบตรงไปตรงมา พระองค์จะตอบสนองตรงประเด็น และ จุดมุ่งหมายในเวลานั้นเสมอ

เมื่อพระเยซูเทศนาครั้งแรกที่นาซาเร็ธ พระองค์อ่านจากพระธรรมอิสยาห์ที่ประกาศถึงว่า พันธกิจและการเทศนาของพระองค์เป็นการทำอะไร ทำกับใคร และทำให้เกิดอะไร ว่า...

“พระวิญญาณขององค์พระผู้เป็นเจ้าทรงอยู่เหนือข้าพเจ้า
เพราะพระองค์ทรงเจิมตั้งข้าพเจ้าไว้
ให้ประกาศข่าวดีแก่ผู้ยากไร้
พระองค์ทรงใช้ข้าพเจ้ามาประกาศอิสรภาพแก่ผู้ถูกจองจำ
และให้คนตาบอดมองเห็น
ให้ปลดปล่อยผู้ที่ถูกกดขี่
ให้ประกาศปีแห่งความโปรดปรานขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (ลูกา 4:18-19 อมธ.)

ขอตั้งข้อสังเกตว่า ทั้งสิ้นนี้เป็นการเน้นย้ำถึงการตอบสนองความจำเป็นต้องการ การเยียวยารักษาบาดแผลและความเจ็บป่วย การปลดปล่อยคนที่ถูกกดขี่ พระเยซูคริสต์มี “ข่าวดี” ที่จะแบ่งปันกับผู้คน และประชาชนต้องการที่จะฟังเรื่องราวเหล่านี้ พระเยซูคริสต์มีข่าวสารที่ให้ประโยชน์ในทางปฏิบัติสำหรับชีวิตของประชาชนที่กำลังฟังพระองค์  สัจจะ/ข่าวดีของพระองค์จะ “ปลดปล่อยผู้คนให้เป็นอิสระ” และนำพระพรจากพระเจ้าเข้ามาในชีวิตของประชาชน

ดังนั้น ประชาชน/ผู้ฟังของพระเยซูคริสต์เป็นศูนย์กลางในการสอนการเทศน์ของพระองค์ และพระองค์มี “ข่าวดี” หรือ “พระกิตติคุณ” ที่จะเป็นคำตอบเชิงรูปธรรมต่อ “ความจำเป็นต้องการ” “บาดแผลและความเจ็บปวดในชีวิต”  และ “ความสนใจ” ของผู้ฟัง

สาระข่าวสารรากฐานสำหรับ “ผู้หลงหาย” จะต้องเป็น “ข่าวดี”

ถ้ามิใช่ “ข่าวดี” นั่นก็ไม่ใช่พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ เราต้องเรียนรู้ในการสื่อสารแบ่งปันพระกิตติคุณที่แสดงออกชัดถึง “สาระข่าวสาร” และ “สิ่งที่ดี” พระกิตติคุณเป็นเรื่องของพระราชกิจของพระเจ้าที่กระทำเพื่อเรา และ เป็นโอกาสที่เราจะมีชีวิตในพระคริสต์ ความจำเป็นต้องการที่ล้ำลึกในชีวิตของเราคือการที่เราจะมีสัมพันธภาพส่วนตัวกับพระคริสต์ ข่าวดีหรือพระกิตติคุณนำเสนอสิ่งที่ “ผู้หลงหาย” ได้รับการอภัยโทษบาป เป็นไทจากสิ่งที่ครอบงำในชีวิต เสริมสร้างความมั่นคงในชีวิต ชีวิตที่มีเป้าหมาย มีความรักเมตตา ได้รับการยอมรับจากพระเจ้า และพลังในการดำเนินชีวิต ข่าวดีของพระเยซูคริสต์เป็นการชำระความผิดบาปในอดีต ให้ความมั่นใจในอนาคต และการหนุนเสริมคุณค่าความหมายของชีวิตในปัจจุบัน

ผู้คนต่างหลั่งไหลมาหา “ข่าวดี” เสมอ

ในทุกวันนี้ สังคมโลกเต็มล้นไปด้วย “ข่าวร้าย” และสิ่งสุดท้ายที่ผู้คนได้ยินคือข่าวร้ายในคริสตจักร ผู้คนทั้งหลายต่างมุ่งมองหาความหวัง ความช่วยเหลือ และกำลังใจ พระเยซูคริสต์เข้าใจอย่างดีในเรื่องนี้ และนี่คือสาเหตุที่พระเยซูคริสต์รู้สึกสงสารประชาชน พระองค์รู้ชัดแจ้งว่า ฝูงชนนั้นเป็นเหมือนฝูงแกะ “ที่...ถูกรังควานและไร้ที่พึ่งเหมือนลูกแกะขาดคนเลี้ยง” (มัทธิว 9:36 อมธ.)

เมื่อเราเทศนา ให้เราเริ่มต้นการเทศน์ของเราด้วยความจำเป็นต้องการของผู้คนที่ฟังเทศน์ ท่านจะได้รับความสนใจจากผู้ฟังทันที นักสื่อสารทุกคนเข้าใจและใช้หลักการนี้ ยกเว้นศิษยาภิบาลจำนวนหนึ่ง!?

ครูที่มีปัญญาย่อมรู้ว่าเขาจะต้องเริ่มสอนจากสิ่งที่ผู้เรียนสนใจ แล้วนำไปสู่บทเรียนที่ต้องการจะสอนผู้เรียน

ผู้เสนอขายสินค้ารู้เสมอว่า เขาจะต้องเริ่มต้นการเสนอขายสิ่งที่เป็นความต้องการจำเป็นของลูกค้า ไม่ใช่เริ่มต้นจากสินค้าที่ตนอยากจะขาย ผู้จัดการที่อัจฉริยะย่อมรู้ว่าเขาจะเริ่มการบริหารจัดการจากการร้องเรียนของคนงาน มิใช่เริ่มต้นในสิ่งที่ผู้จัดการต้องการทำ ให้เราเริ่มต้นจากจุดที่กลุ่มชนเป้าหมายตามที่เขาเป็นอยู่ หรือ ประสบอยู่เพื่อนำพวกเขาไปยังจุดหมายปลายทางที่เราต้องการให้เขาไปให้ถึงคือพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

ถ้าเราเรียนรู้จากตำราเกี่ยวกับสมอง เราจะเรียนรู้ว่าที่ฐานของก้านสมองมีตัวกรองที่เรียกว่า Reticular Activating System พระเจ้าทรงเมตตาเราโดยใส่ตัวกรองนี้ไว้ในความนึกคิดของเรา ทั้งนี้เพื่อช่วยไม่ให้เราอยากรู้อยากเห็นสิ่งเร้ามากมายที่เกิดขึ้นรอบตัวเราในทุกเรื่อง ดังนั้นเราจึงไม่จำเป็นต้องตอบสนองต่อสิ่งเร้านับล้านที่มันกระหน่ำเข้ามาในแต่ละวันอย่างมีสติ มันจะเคลื่อนย้ายและจัดเรียงสิ่งที่เราเห็น ได้ยิน และได้กลิ่นอย่างต่อเนื่องโดยส่งต่อสิ่งเร้าเพียงไม่กี่อย่างไปยังจิตสำนึกของเรา ด้วยการกระทำนี้ช่วยให้สิ่งเร้าไม่ประเดประดังเข้ามาจนเรารับไม่ไหว หากเราต้องตอบสนองสิ่งเร้าทุกอย่างที่รับรู้ของเรา เราคงแทบคลั่ง! แต่พระเจ้าให้เรามีตัว Reticular Activating System ช่วยตัดสินใจว่าจะเลือกสนใจสิ่งเร้าตัวไหน

อะไรที่ผู้คนสนใจ? มีสามสิ่งที่ผ่านระบบ Reticular Activating System  คือ “สิ่งที่เราให้คุณค่า” สิ่งที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะ” และ “สิ่งที่คุกคาม หรือ ที่ทำให้เรากลัว” นี่เป็นสิ่งที่มีความหมายอย่างลึกซึ้งต่อวิธีการเทศนาและสั่งสอนของศิษยาภิบาล หากเราต้องการดึงดูดความสนใจของคนที่ไม่สนใจ เราจะต้องมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งในสามสิ่งที่กล่าวข้างต้นมาใช้ในการสื่อสารสาระข่าวสารเพื่อให้ผู้ฟังเกิดความสนใจ  

ในการสื่อสารแบ่งปัน “ข่าวดี” ในลักษณะเฉพาะเพื่อจะดึงดูความสนใจของผู้ฟังที่ยังไม่เชื่อ เราเรียนรู้ว่าการแสดงคุณค่าต่อผู้ฟังคนนั้นสอดคล้องกับวิธีที่พระคริสต์ใช้สอนมากที่สุด พระเยซูทรงสอนในแบบที่คนฟังเข้าใจถึงคุณค่า และ ประโยชน์ของสิ่งที่พระองค์กำลังพูด พระองค์ไม่ได้คุกคามหรือสร้างความหวาดกลัวแก่ผู้ที่ยังไม่เชื่อด้วยเรื่องที่น่ากลัว ความจริงแล้ว การคุกคามพระองค์ทรงใช้กับพวกผู้นำศาสนาที่คิดในแนวคิดตามประเพณีนิยม แต่สำหรับคนที่ทุกข์ยากลำบากพระองค์ให้การปลอบโยน

กระบวนการเทศนาของพระเยซูคริสต์ที่ทรงพลังเข้าถึงชีวิตจิตใจผู้ฟังเทศน์ พระองค์เริ่มต้นจากการรู้เท่าทันความเป็นจริงในชีวิตของผู้ฟัง และ ให้ความสำคัญกับ “ความจำเป็นต้องการ” และ “บาดแผลความเจ็บปวดที่ผู้ฟังกำลังประสบ” และ “ความสนใจของผู้ฟังในขณะนั้น” แล้วพระองค์ใช้ “ข่าวดี” หรือ “พระกิตติคุณของพระองค์” เป็นคำตอบต่อความจำเป็นต้องการ บาดแผลและความเจ็บปวดในชีวิต ความสนใจของพวกเขา เพื่อผู้ฟังจะสัมผัสกับ “พระกิตติคุณ” ด้วยชีวิตของตนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะเกิดประสบการณ์ที่นำไปสู่ชีวิตที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงจากพระเยซูคริสต์ในชีวิตประจำวันของเขา

การเทศนาของเราเข้าถึงและรู้เท่าทันชีวิตจริงของผู้ฟังมากน้อยแค่ไหน? และคำเทศนาของเราได้ช่วยให้ผู้ฟังได้รับ “คำตอบสำหรับชีวิตของเขา” อย่างเป็นรูปธรรมจาก “ข่าวดี/พระกิตติคุณ” ของพระเยซูคริสต์หรือไม่? จนผู้ฟังยอมมอบกายถวายชีวิตทำตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์หรือเปล่า?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



18 ตุลาคม 2563

“ผู้เผยพระวจนะที่หลงหาย”

บางคนห่วงกังวลว่า ผู้เชื่อใหม่มีการเปลี่ยนแปลงเติบโตในชีวิตอย่างเชื่องช้า แต่เราน่าจะห่วงกังวลผู้เชื่อเก่าที่หยุดการเปลี่ยนแปลงเติบโตในชีวิตมานานแล้วมากกว่า?

ผู้เชื่อใหม่เพิ่งพบกับความเชื่อศรัทธาใหม่ เขาต้องพบกับสิ่งใหม่ ความไม่คุ้นชินเกี่ยวกับชีวิตใหม่ หรือบ้างอาจจะเผลอพลาดทำผิดตามความคุ้นชินในอดีต หรืออิทธิพลที่ชั่วร้ายในตัวเขายังขจัดออกไปไม่หมด และมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงเติบโตเพียงเล็กน้อย นั่นเป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจกันได้

โดยปกติเราจะอดทนกับลักษณะชีวิตของผู้เชื่อใหม่ที่กล่าวข้างต้น แต่ที่น่าห่วงกังวลและต้องใส่ใจคือคนที่มีความเชื่อศรัทธาที่ยาวนานพอประมาณแต่ชีวิตกลับหยุดชะงักในการเปลี่ยนแปลงและเติบโตมานานแล้ว กลายเป็นคนที่อารมณ์ฉุนเฉียว ใจแคบ แต่พวกนี้มักเก่งในการอ้างข้อพระคัมภีร์ป้องกันตนเองเสมอ

คนกลุ่มนี้จะวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นอย่างรุนแรงเสียดแทงให้เจ็บปวดด้วยจิตใจขมขื่นของตน พันธกิจแนวใหม่ของเขาคือการฉุดลากทำร้ายคนอื่นให้เสียหายบาดเจ็บ พวกนี้เปลี่ยนจากที่เคยทุ่มเทชีวิตให้แก่การประกาศพระกิตติคุณเป็นนักวิพากษ์วิจารณ์คริสตชนคนอื่น ๆ อย่างเสียหาย

อะไรเกิดขึ้นกับคนพวกนี้หรือ? ทำไมเขาถึงกลายมาเป็นคนแบบนี้? ทำไมเขาถึงหยุดที่จะเดินไปกับพระคริสต์   ชีวิตของคริสตชนกลุ่มนี้หยุดการเปลี่ยนแปลงเติบโต

เมื่อเราอ่านถึงโยนาห์บทที่ 4 เราจะเห็นเหตุการณ์ในทำนองนี้เกิดขึ้น โยนาห์เป็นคนที่มีวุฒิภาวะในความเชื่อมาก่อน   เขาน่าจะมีความรู้มากมาย แต่ชีวิตและความเชื่อของเขากลับทรุดเลวร้ายไปเป็นชีวิตอย่างเดิมของเขา ถ้าจะกล่าวว่า โยนาห์เป็นผู้เผยพระวจนะที่หลงหายคงไม่ผิด และเขามีความโกรธและรู้สึกขมขื่นต่อพระเจ้า

“...เหตุการณ์นี้ไม่เป็นที่พอใจโยนาห์อย่างยิ่ง และท่านโกรธ” (โยนาห์ 4:1 มตฐ.) 

พระเจ้าทรงช่วยผู้คนต่าง ๆ ได้อย่างน่าทึ่ง และพวกเขาอาจจะกระทำสิ่งผิดพลาดที่ร้ายแรงและกระทำผิดบาปในเวลาต่อมา เราสามารถเห็นสิ่งเหล่านี้ในชีวิตของอับราฮัม โมเสส แซมสัน ดาวิด และ ซีโมน เปโตร

โยนาห์นั่งรอเวลาการพิพากษาเมืองนีนะเวห์จากเบื้องบน แต่ปรากฏว่ากลับเป็นพระเมตตาคุณของพระเจ้าหลั่งไหลลงสู่เมืองนีนะเวห์ ในทำนองเดียวกัน คริสตชนคนบางกลุ่มมักมีฐานเชื่อ กระบวนคิด และ มุมมองต่อคนที่กระทำความผิดบาปว่า คนพวกนี้ไม่มีความหวัง ไม่มีทางที่จะพบกับความรอด แต่กลับมองไม่เห็นความบาปผิดของตนเอง   และสำคัญผิดคิดว่าตนเองเป็นผู้ถูกต้องชอบธรรมเสมอ คนกลุ่มนี้จึงมักหลีกเลี่ยงการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับคนผิดคนบาปในสายตาของเขา เขาไม่เคยคาดคิดเลยว่าคนบาปคนชั่วในสายตาของเขาจะมีทางกลับใจใหม่ มีแต่การสาปแช่งและความตายเท่านั้นที่จะมาถึงคนพวกนี้

ยิ่งกว่านั้น ผู้รับใช้อย่างโยนาห์กลับโกรธและต่อว่าพระเจ้า ที่ทำให้คนนีนะเวห์กลับใจใหม่ แต่ต้นไม้บังแดดของตนกลับเหี่ยวเฉา เขาโกรธและต่อว่าพระเจ้าว่า ทำไมไม่ช่วยตนเองแต่กลับไปช่วยคนผิดคนบาปในเมืองนีนะเวห์   แล้วพูดประชดพระเจ้าว่า “(ให้)ข้าตายเสียก็ดีกว่าอยู่” (4:8)

พระเจ้าทรงตำหนิโยนาห์คิดแต่ความสำคัญและคุณค่าในชีวิตของตนเอง และหวงแม้แต่ทรัพย์สินสิ่งของที่ให้ประโยชน์แก่ตนเอง แต่กลับไม่เห็นคุณค่าชีวิตคนในเมืองนีนะเวห์ 

พระยาห์เวห์ตรัสแก่โยนาห์ว่า “เจ้าหวงต้นไม้ซึ่งเจ้าไม่ได้ลงแรงปลูกและไม่ได้ทำให้มันเจริญ มันงอกเจริญขึ้นในคืนเดียว แล้วก็ตายไปในคืนเดียว ไม่สมควรหรือที่เราจะห่วงใยนีนะเวห์นครใหญ่นั้น ซึ่งมีพลเมืองมากกว่า 120,000 คน ผู้ไม่ทราบว่าข้างไหนมือขวาข้างไหนมือซ้าย และมีสัตว์เลี้ยงจำนวนมากด้วย” (4:10-11)

พระเจ้าจะต่อว่าเรา อย่างที่ตำหนิต่อว่าโยนาห์ได้หรือไม่หนอ? เราเป็น “ผู้เผยพระวจนะที่หลงหาย” “ผู้รับใช้ที่หลงหาย” “คริสตชนที่หลงหาย” “ลูกของพระเจ้าที่หลงหาย” หรือเปล่า?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



16 ตุลาคม 2563

เทศนาไปทำไม?...ฟังเทศน์เพื่อให้เกิดอะไร?

ท่านเชื่อไหมว่า การเทศนา และ การสอน อาจจะเสริมหนุนคริสตจักรให้เข้มแข็งเติบโตขึ้น หรือไม่ก็ทำให้แตกแยก  อ่อนแอหมดแรงไปก็ได้?

พระเจ้าทรงมีจุดประสงค์เฉพาะสำหรับการเทศนา และพระประสงค์ของพระองค์สำคัญกว่าจุดประสงค์อื่นใด และสำคัญกว่าจุดประสงค์ของเราเองในการเทศนา 

ในใจของมนุษย์มีแผนงานมากมาย แต่พระประสงค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าจะสำเร็จ” (สุภาษิต 19:21 อมธ.)

แล้วพระเจ้ามีพระประสงค์อะไรในการเทศนาของเรา? พระองค์มีพระประสงค์อะไรให้เราฟังเทศน์?

เราเทศนาไปทำไม? ... ฟังเทศน์ไปทำไม?

การเทศนาเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการชี้นำสมาชิกคริสตจักรที่ฟังเทศน์ คำเทศนาที่ทำอย่างมีเป้าหมายชัดเจนจะเสริมสร้างให้สมาชิกมีสุขภาพจิตใจ-จิตวิญญาณที่แข็งแรง เป็นการหนุนเสริมให้ชีวิตของสมาชิกมีชีวิตชีวาและมีพลัง และทำให้เกิดการเจริญเติบโตขึ้น ขอตั้งข้อสังเกตว่า การเทศนาและฟังเทศนาเป็นวิธีการเดียวที่สมาชิกทั้งหมดหรือเกือบทุกคนที่มาคริสตจักรในวันอาทิตย์ได้ฟังเทศนาอย่างพร้อมเพรียงกัน แต่น่าเสียดายและเสียใจที่หลายแห่งเป็นเพียงการพูดและการฟังเท่านั้น แต่ไม่ได้นำไปสู่การกระทำตามพระวจนะที่เทศนานั้น

2 โครินธ์ 3:18 กล่าวว่า “...เรากำลังรับการเปลี่ยนแปลงให้เป็นเหมือนพระองค์...ซึ่งมาจากองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเป็นพระวิญญาณ” (อมธ.) เป้าหมายประการสำคัญสุดของการเทศนาก็เพื่อทำให้เราทุกคนมีชีวิตที่เป็นเหมือนพระคริสต์ กล่าวคือ

[1] คิดเหมือนกับพระเยซูคริสต์ “...มีจิตใจ...เหมือนอย่างที่มีในพระเยซูคริสต์” (ฟีลิปปี 2:5 มตฐ.)  

[2] มีบุคลิกภาพ ท่าทีชีวิต อารมณ์ความรู้สึกเหมือนพระเยซูคริสต์ “ให้สันติสุขของพระคริสต์ครองใจท่าน...” (โคโลสี 3:15 อมธ.) 

[3] มีการกระทำเหมือนกับพระเยซูคริสต์ “...ทำทุกสิ่งในพระนามขององค์พระเยซูเจ้า...” (โคโลสี 3:17 อมธ.)  

ดังนั้น เป้าหมายของการเทศนาคือการบ่มเพาะเพื่อเสริมสร้างให้ชีวิตของผู้ฟังเทศน์ทุกคนมีชีวิตที่เป็นเหมือนพระเยซูคริสต์

แต่จงเป็นผู้ประพฤติตามพระวจนะ ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ฟังเท่านั้น มิฉะนั้นจะเป็นการหลอกตัวเอง...แต่ผู้ที่พินิจพิจารณาธรรมบัญญัติอันสมบูรณ์แบบซึ่งเป็นธรรมบัญญัติแห่งเสรีภาพและตั้งมั่นในธรรมบัญญัตินั้น ไม่ได้เป็นผู้ที่ฟังแล้วก็ลืม แต่เป็นผู้ที่ประพฤติตาม ผู้นั้นจะได้รับความสุขในการประพฤติของตน” (ยากอบ 1:22, 25 มตฐ.)

เมื่อเราช่วยให้ผู้คนได้ “อ่าน” พระวจนะ และ “จดจำ” พระวจนะ แล้ว “กระทำตาม” พระวจนะ ชีวิตของคน ๆ นั้นจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเลี่ยงไม่ได้ และนี่คือฤทธานุภาพแห่งพระวจนะของพระเจ้า

แก่นหลักของปัญหาคือ ศิษยาภิบาลหลายท่านมักจะให้สมาชิกอ่านพระวจนะ หรือ ฟังพระวจนะ แต่ไม่ใส่ใจที่จะนำสมาชิกให้จดจำพระวจนะ และ กระทำตามพระวจนะ การกระทำดังกล่าวคือวิธีการหนึ่งที่ทำลายชีวิตสมาชิกโดยไม่ตั้งใจและคิดไม่ถึง

ถ้าผู้เทศน์เบลอในจุดประสงค์ของการเทศนา ผู้ฟังเทศน์ก็จะฟังเทศน์เพื่อรู้เรื่องราวในพระคัมภีร์ หรือมีจุดประสงค์เพื่อได้มีส่วนร่วมในการนมัสการ หรือไม่ก็คิดว่า ขอมีโอกาสอาทิตย์ละครั้งได้นั่งฟังเทศนาเพื่อพระเจ้าจะพอพระทัย? ส่วนที่จะรู้หรือไม่รู้เรื่อง จะเป็นประโยชน์อย่างไรหรือไม่ ไม่ได้ใส่ใจ? 

ท่านศิษยาภิบาลครับ ถ้าผู้ฟังพระวจนะฟังการเทศนาของท่าน แต่ไม่ได้กระทำตามพระวจนะที่ท่านเทศนานั้น ท่านอาจจะต้องกลับมาพิจารณาถึงเป้าหมายในการเทศนาของท่านใหม่ เพื่อท่านจะเทศนาตามเป้าหมายที่พระเจ้าประสงค์ และทูลขอพระองค์ช่วยท่านในการเตรียมคำเทศนา และ เสริมหนุนท่านในการเทศนาให้เกิดผลตามเป้าหมายของพระองค์ที่ทรงเรียกให้ท่านเทศนา

ตัวชี้วัด ประสิทธิภาพ และ การบรรลุเป้าหมายในการเทศนาของท่านคือ สมาชิกที่ฟังเทศน์แล้วกระทำตามพระวจนะในคำเทศนานั้นหรือไม่?

แล้วเราจะเตรียมเทศนาอย่างไร และ เทศนาอย่างไร ที่กระตุ้นหนุนเสริมให้สมาชิกกระทำตามพระวจนะในคำเทศนาในชีวิตประจำวันของเขา? (ซึ่งเราจะพิจารณาเรื่องนี้ต่อไป)

ตลอดสัปดาห์นี้ให้เราลองประเมินชี้วัดประสิทธิภาพ และ การบรรลุเป้าหมายในการเทศนาที่ผ่านมาของเรา ด้วยตัวชี้วัดที่ว่า คนที่ฟังเทศนาในวันอาทิตย์ที่ผ่านมามีกี่คนที่ทำตามพระวจนะในคำเทศน์ของเรา? มีกี่คนที่ยังไม่ได้กระทำตามพระวจนะตามคำเทศน์ของเรา? อันไหนที่มากกว่ากัน? และอธิษฐานใคร่ครวญต่อพระพักตร์พระเจ้า   และแสวงหาน้ำพระทัยของพระองค์ที่ทรงมอบหมายให้เราเทศนาพระวจนะของพระองค์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



14 ตุลาคม 2563

7 คำถามสำหรับการเตรียมเทศน์

แบบอย่างการเทศนาที่ดี คือแบบอย่างการเทศน์ของพระเยซูคริสต์ ไม่ใช่เทศน์แบบ ยอห์น ผู้ให้บัพติสมา หรือ อย่างเปาโล หรือ นักเทศน์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยปัจจุบันนี้ พระเยซูคริสต์เป็นนักสื่อสารตัวยงต้นแบบ ในพระคัมภีร์มัทธิว 7:28 กล่าวไว้ว่า “เมื่อพระเยซูตรัสสิ่งเหล่านี้จบแล้ว ฝูงชนก็พากันเลื่อมใสในคำสอนของพระองค์” (อมธ.) ทำไมประชาชนถึงเลื่อมใสในคำสอนของพระองค์? เพราะทั้งเนื้อหา และ วิธีการ กระบวนการนำเสนอสื่อสารของพระองค์มาตรงจากพระบิดา พระเยซูคริสต์กล่าวว่า “เพราะเราไม่ได้พูดตามใจของเราเองแต่พระบิดาผู้ทรงส่งเรามาได้ทรงบัญชาเราว่าจะพูดอะไรและพูดอย่างไร” (ยอห์น 12:49 อมธ.)

จากประสบการณ์ของ ริก วอร์เรน ได้เล่าว่า เมื่อเขาเตรียมคำเทศนา เขาใช้ชุดคำถามในการเตรียมเทศน์ ข้างล่างนี้ สองคำถามแรกเป็นคำถามเกี่ยวกับเนื้อหาของคำเทศนา ส่วนอีกห้าคำถามเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีการนำเสนอสื่อสารอย่างไร

1. เราจะเทศนาให้ใครฟัง ใครเป็นผู้ฟังคำเทศน์นี้?

ถ้าพูดในภาษาปัจจุบัน การเทศนาของพระเยซูคริสต์มีผู้ฟังเป็นศูนย์กลาง พระองค์เริ่มต้นการเตรียมเทศน์จากการรู้เท่าทันชัดเจนว่าใครคือผู้ฟังพระองค์ พระองค์รู้จักคนฟังของพระองค์ พระองค์รู้เท่าทันแม้แต่ความนึกคิดของผู้ฟัง   ดังนั้น คำถามแรกที่เราถามตัวเราเองคือ ใครคือผู้ฟังเทศนาที่เรากำลังเตรียมนี้ แล้วพยายามที่จะเห็นภาพของผู้คนเหล่านั้นในความนึกคิดของเรา โดยทั่วไปแล้วมี 3 แนวทางในการกระตุ้นดึงดูดความสนใจของผู้ฟังด้วยเนื้อหาดังนี้

[1] พูดในสิ่งที่ “มีคุณค่า” สำหรับผู้ฟัง

[2] พูดในสิ่งที่ “น่าสนใจ” สำหรับผู้ฟัง

[3] พูดในสิ่งที่ “สร้างความแปลกประหลาดใจ” สำหรับผู้ฟัง

สิ่งกระตุ้นดึงดูดความสนใจทั้ง 3 ประการร่วมกันจะสามารถที่จะทะลุทะลวงอุปสรรคการฟังโดยทั่วไปของของผู้คน   เป้าหมายของการเทศนาคือการที่จะขับเคลื่อนแต่ละคนจากจุดที่ชีวิตของเขาเป็นอยู่ไปสู่จุดที่พระเยซูคริสต์ประสงค์ให้ผู้ฟังแต่ละคนมีชีวิตเป็นอยู่ ตระหนักชัดเสมอว่าให้เราเริ่มต้นจากชีวิตที่เขาเป็นอยู่จริงในขณะนี้

2. พระคัมภีร์ว่าอย่างไรในสิ่งจำเป็นต้องการของผู้ฟัง?

ริก วอร์เรน บอกว่า เขาจะค้นหาทุกคำตอบต่อประเด็นความจำเป็นต้องการของผู้ฟังจากพระคัมภีร์ และยังใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่ช่วยการขุดค้นหาคำตอบจากพระคัมภีร์เท่าที่เขาจะหาได้ รวมทั้งเครื่องมือช่วยค้นหาต่าง ๆ ที่มีทางออนไลน์มากมายในปัจจุบัน ความเข้าใจถึงจุดประสงค์ของพระคัมภีร์เป็นตัวกำหนดรูปแบบการนำเสนอด้วยการเทศนา ความเข้าใจถึงจุดประสงค์สูงสุดของพระคัมภีร์ไม่ใช่เพื่อมีไว้สอนประวัติศาสตร์ของอิสราเอล หรือ มิใช่เพียงการสอนข้อเท็จจริงของหลักความเชื่อจากพระคัมภีร์ แต่พระคัมภีร์มีจุดประสงค์สูงสุดคือเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้อ่านผู้ฟังแต่ละคน เป็นการเปลี่ยนแปลงความคิด มุมมอง บุคลิกภาพ ท่าที พฤติกรรมในชีวิตของผู้ฟังแต่ละคน  เพราะ “พระคัมภีร์ทุกตอนได้รับการดลใจจากพระเจ้า และเป็นประโยชน์ในการสั่งสอน การว่ากล่าวตักเตือน การแก้ไขข้อบกพร่อง และการฝึกฝนในความชอบธรรม” (2ทิโมธี 3:16 อมธ.) นั่นหมายความว่า การเทศนาจะต้องเกี่ยวข้องกับชีวิตเสมอ

การเทศนาเป็นกระบวนการรวบรวมข้อพระคัมภีร์ที่จำเป็นและสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของผู้ฟังเข้าด้วยกัน ที่นำไปสู่การประยุกต์ใช้ในแต่ละบริบทของชีวิตจริง การเทศนาคือการที่ผู้เทศน์นำให้ผู้ฟังร่วมค่อย ๆ เจาะลึกลงในความหมายของข้อพระคัมภีร์ที่รวบรวมมา ทั้งความเชื่อมโยงของข้อพระคัมภีร์ที่กล่าวในเรื่องเดียวกัน และการอธิบายความหมายของข้อพระคัมภีร์ที่รวบรวมมา ด้วยการเทศนาเช่นนี้จะช่วยให้คริสตจักรแข็งแรงขึ้น

3. เราจะสื่อสารด้วยภาษาเชิงปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดได้อย่างไร?

ในพระธรรมยอห์น 10:10 จุดประสงค์ของการมาของพระเยซูคือ “...เราได้มาเพื่อเขาทั้งหลายจะมีชีวิตและมีชีวิตอย่างครบบริบูรณ์” (อมธ.) การเทศนาคือการที่จะช่วยให้ผู้ฟังรู้เห็นชัดเจนว่าเขาควรจะดำเนินชีวิต (เชิงปฏิบัติ) อย่างไร หลักคำสอนของพระเยซูคริสต์จะสอนในรูปแบบของการปฏิบัติเสมอ เพราะจุดประสงค์ของพระองค์คือการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ฟัง โดยเริ่มจากความเชื่อสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม

4. การนำเสนอแบบไหนที่ให้กำลังใจที่สุด?

ในทุกสัปดาห์ผู้มาฟังเทศนามีความจำเป็นต้องการ 3 ประการหลักคือ ได้รับการเสริมหนุนเพิ่มพลังทางความเชื่อ ฟื้นฟูความหวังในชีวิตของเขา และ ความรักเมตตาของเขาได้รับการพลิกฟื้นเพิ่มพลังใหม่

เมื่อเราเทศนา เราคาดการณ์ว่าผู้ฟังต้องผ่านความทุกข์ยากลำบากด้านต่าง ๆ มาตลอดสัปดาห์ บทบาทของผู้เทศนาคือให้กำลังใจหนุนเสริมพวกเขาอย่ายอมแพ้ เมื่อเราเทศนาแก่คนที่มีบาดแผลหรือบาดเจ็บในชีวิตจิตใจ   เราควรใช้วิธีการสื่อสารที่เหมาะสม สิ่งที่ต้องระวังคือจะไม่มีการสื่อสารแบบคำสั่งเช่น “คุณต้องทำอย่างงี้ซิ”  “ผมทำมาแล้วและประสบความสำเร็จ คุณควรทำตามผม” แต่น่าจะนำเสนอในทำนอง  “ลองทำเช่นนี้ดีไหม...น่าจะเกิดผลดี...” “ในชีวิตจริงของท่านทำเช่นนี้ได้ไหม? หรือ ควรมีการปรับแก้อย่างไรดีที่เหมาะสมสำหรับท่านมากที่สุด?”

ผู้เทศน์ควรหลีกเลี่ยงการนำเสนอที่ “ผู้เทศน์เหนือกว่าผู้ฟัง” “ผู้เทศน์ประสบความสำเร็จ”  “ผู้ฟังเทศน์พบแต่ความล้มเหลวในชีวิต” อย่ามัวแต่ตอกย้ำถึงความล้มเหลว เจ็บปวดของผู้ฟัง แต่กระตุ้นหนุนเสริมถึงความหวังที่รออยู่ข้างหน้า ที่เราจะไปให้ถึงด้วยกัน

5. เราจะนำเสนอด้วยวิธีการที่เรียบง่ายที่สุดได้อย่างไร?

พระเยซูคริสต์สั่งสอนสัจจะความจริงที่ลึกซึ้งด้วยวิธีการสื่อสารที่เรียบง่าย แต่เรามักทำตรงกันข้ามกับพระเยซูคริสต์  (เรามักทำสิ่งที่เข้าใจง่ายให้เข้าใจยาก) ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะทำให้เรารู้สึกและต้องการให้คนอื่นเห็นว่าเรามีความเข้าใจที่ลุ่มลึกกว่าคนอื่นหรือเปล่า?  

ความเรียบง่ายไม่ได้เป็นเหมือนความผิวเผิน ตื้นเขิน ไม่ลึกซึ้ง ทักษะที่ดีเลิศของพระเยซูคริสต์คือ การทำให้สัจจะความจริงที่ลึกซึ้งให้เป็นสัจจะความจริงที่เข้าใจง่าย

6. เราจะนำเสนออย่างเป็นกันเองได้อย่างไร?

ถ้าเราดูจากโฆษณาในโทรทัศน์ หรือ ออนไลน์มักจะเป็นการโฆษณาด้วยการมีคนเป็นพยานถึงประสบการณ์ของตน  หรือไม่ก็เป็นการเล่าเรื่องให้ฟัง ตัวอย่างเช่น พวกฟาริสีเมื่อพูดถึงคำสอนพวกเขาจะอ้างอิงบทบัญญัติต่าง ๆ แต่พระเยซูคริสต์กลับเล่าเรื่องสอนความจริง หรือ อุปมาเปรียบเทียบ จากสิ่งที่พบเห็นประสบตรงในชีวิตประจำวันของผู้ฟัง  และผู้เทศน์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องโปร่งใส ถ่อมตน และในหลายครั้งที่ต้องสารภาพถึงความอ่อนแอ ล้มเหลวของตนในการเทศนาของเราด้วยสติปัญญา นักสื่อสารที่ยิ่งใหญ่สำคัญจะถอด “หน้ากาก” ออก และสื่อสารด้วยความเป็นกันเอง หรือ เป็นเหมือนการสื่อสารแบบตัวต่อตัวกับผู้ฟังเทศน์

7. การนำเสนอแบบไหนที่น่าสนใจมากที่สุด? 

เราคงเคยได้ยินบางท่านบอกว่า ศิษยาภิบาลไม่ควรเทศนาแบบ “สาระบันเทิง” แต่ความหมายที่แท้ในที่นี้คือการใช้การสื่อสารที่บันเทิงเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้คนให้ไปสู่ประเด็นที่เป็นสัจจะความจริงในชีวิต แต่การเทศนาไม่ควรลดคุณค่าลงมาเป็นเหมือนการเล่าเรื่องตลกปกฮาให้คนได้หัวเราะเท่านั้น บ่อยครั้ง ผู้ฟังเทศน์จำได้แต่เรื่องตลกที่ผู้เทศน์เล่าแต่ไม่รู้ว่าอะไรคือสัจจะสาระความจริงสำหรับการดำเนินชีวิตคริสตชน การที่มีความบันเทิงเราไม่ว่ากัน   แต่อย่าให้มีแต่บันเทิงจนทำให้จิตวิญญาณของผู้ฟังเหี่ยวเฉา เราไม่ควรที่จะตกอยู่ในกับดักกลัวว่าคนจะไม่สนใจคำเทศนาของเรา

แล้วท่านเตรียมเทศน์อย่างไรครับ? แบ่งปันกันในที่นี้ได้นะครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499