21 ตุลาคม 2563

“หลุมพราง”... การเทศนา

การเทศนาก็มีหลุมพรางที่บางครั้งเหมือนเส้นผมบังภูเขา

1. นักเทศน์มักเข้าใจผิดว่า คนที่ยังไม่เชื่อมีความกระตือรือร้นอยากจะได้ยินสัจจะความจริง

ในปัจจุบันนี้ คนที่ยังไม่เชื่อไม่ได้สนใจในสัจจะความจริงเลย จากการสำรวจพบว่า คนส่วนใหญ่ปฏิเสธความคิดเรื่องสัจจะความจริง

นี่คือรากเหง้าของปัญหาทั้งหลายในสังคมของเราปัจจุบันนี้ ผู้คนให้คุณค่าแก่ความอดทนมากกว่าคุณค่าของสัจจะความจริง ผู้คนบ่นเกี่ยวกับอาชญากรรม การเสพยาเสพติด ครอบครัวแตกแยก และปัญหาอื่น ๆ ในวัฒนธรรมทันสมัยของเราในทุกวันนี้ แต่กลับไม่รู้ว่าอะไรคือสาเหตุของปัญหาเหล่านั้น  

รากเหง้าของปัญหาเหล่านี้มาจากการที่เขาปฏิเสธไม่ยอมรับสัจจะความจริง

รากเหง้าความสัมพันธ์เชิงจริยธรรมเป็นรากเหง้าของความผิดพลาดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมของเราปัจจุบัน แต่ในเวลาเดียวกันเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ของเราที่คิดว่า คนที่ยังไม่เชื่อจะวิ่งไปโบสถ์หากเราเพียงแค่ประกาศว่า “เรามีสัจจะความจริง”

ผู้ประกาศความจริง/พระกิตติคุณไม่ได้รับความสนใจมากนักในสังคมที่ลดคุณค่าของความจริงเพื่อที่จะเอาชนะสถานการณ์ดังกล่าว นักเทศน์บางคนพยายาม “เทศน์ตะโกนเสียงดังยิ่งขึ้น” แต่การเทศนาเสียงดัง ๆ แรง ๆ ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาความไม่แยแส/ไม่สนใจของผู้คน ทางแก้ปัญหาเริ่มต้นที่ตัวนักเทศน์ต้อง “...เฉลียวฉลาดเหมือนงู และไม่มีพิษมีภัยเหมือนนกพิราบ” (มัทธิว 10:16 มตฐ.)

2. ในขณะที่ผู้ที่ยังไม่เชื่อส่วนใหญ่ไม่ได้มองหาสัจจะความจริง แต่พวกเขาแสวงหาความช่วยเหลือ การปลดปล่อย และนี่คือโอกาสของเราที่จะนำพวกเขาให้เกิดสนใจในสัจจะความจริง/พระกิตติคุณ

เราพบว่า เมื่อเราสอนพระกิตติคุณที่เยียวยารักษาความเจ็บป่วยหรือบาดแผลในชีวิตจิตใจของเขา และช่วยแก้ปัญหาที่เขาประสบ ผู้ที่ยังไม่เชื่อจะบอกเราว่า “ขอบคุณมากสำหรับความช่วยเหลือ มีสัจจะความจริงอะไรอื่นอีกไหมในหนังสือเล่มนี้ (หมายถึงพระคัมภีร์)?”  

การที่เราแบ่งปันถึงหลักการของพระคัมภีร์ ที่เป็นคำตอบต่อความจำเป็นต้องการในชีวิตของเขา สร้างความกระหายอยากรู้เกี่ยวกับสัจจะความจริงมากยิ่งขึ้น

พระเยซูเข้าใจเรื่องนี้อย่างดี น้อยคนนักที่มาหาพระเจ้าเพื่อแสวงหาสัจจะความจริง แต่พวกเขาแสวงหาความช่วยเหลือ การเยียวยารักษา และการปลดปล่อยจากพระองค์ ดังนั้นพระเยซูจะตอบสนองความจำเป็นต้องการในชีวิตของเขาก่อน ไม่ว่าคนที่เป็นโรคเรื้อน คนตาบอด คนหลังโก่ง และเมื่อความจำเป็นต้องการในชีวิตของเขาได้รับการใส่ใจและได้รับการตอบสนอง พวกเขาก็เกิดความอยากรู้อยากเห็นถึงสัจจะความจริงเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ ที่พระองค์ช่วยพวกเขาในปัญหาที่พวกเขาไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง

เอเฟซัส 4:29 กล่าวไว้ว่า “...จงกล่าววาจาอันเป็นประโยชน์เพื่อเสริมสร้างผู้อื่นขึ้นตามความจำเป็นของเขา จะได้เป็นผลดีแก่ผู้ฟัง” (อมธ.) ขอตั้งข้อสังเกตว่า แล้วใครเป็นผู้กำหนดว่าเราจะต้องพูดเรื่องอะไรบ้าง ความต้องการของผู้ฟังเหล่านั้นเป็นตัวชี้ถึงประเด็นของเราที่เราจะเทศนาสื่อสาร เราจะสื่อสารในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ฟังของเราก่อน  

น่าเสียดายที่ศิษยาภิบาลหลายท่านกำหนดประเด็นของคำเทศนาตามสิ่งที่พวกเขารู้สึกเองว่าจำเป็นต้องพูด มากกว่าสิ่งที่ผู้ฟังมีความจำเป็น/ต้องการในชีวิตของพวกเขา

3. ผู้เตรียมเทศน์มักถามคำถามที่ผิด

แทนที่เราจะถามว่า “วันอาทิตย์นี้ฉันควรจะเทศน์เรื่องอะไร?” เราควรเริ่มด้วยการถามว่า “ฉันจะเทศน์ให้ใครฟัง?”   เพียงแค่คิดตามความจำเป็นต้องการของผู้ฟังก็จะช่วยชี้นำถึงเป้าประสงค์สำหรับเนื้อหาในคำเทศน์อาทิตย์นั้น

เพราะพระเจ้าทรงทราบล่วงหน้าแล้วว่าใครบ้างที่จะเข้ามาร่วมในการนมัสการในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ พระองค์จะไม่ประทานสาระเนื้อหาคำเทศน์ที่เหมาะสมสอดคล้องกับความจำเป็นต้องการของคนที่จะเข้าร่วมนมัสการนี้หรือ? เราเชื่อมั่นว่า พระเจ้าจะประทานเนื้อหาสาระแก่ผู้เทศน์เพื่อเป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้ฟังพระวจนะพระเจ้าในวันอาทิตย์นี้ เราเชื่อว่าความต้องการเฉพาะหน้าของผู้คนเป็นกุญแจดอกสำคัญที่พระเจ้าจะให้เราเริ่มพูดในโอกาสนั้น ๆ

สิ่งที่ต้องการบอกในตอนนี้คือ ผู้ฟังมิใช่เป็นผู้กำหนดว่านักเทศน์ควรจะสื่อสารสัจจะความจริงหรือไม่? สัจจะความจริงมิใช่สิ่งที่ผู้ฟังจะเลือกฟังหรือไม่ฟัง แต่ความจำเป็นต้องการ ปัญหา และความสนใจของผู้ฟังช่วยให้ผู้เทศน์ใช้เป็นประเด็นที่จะเทศนาสัจจะความจริง/พระกิตติคุณที่จะตอบสนองชีวิตของผู้ฟัง และ สำหรับผู้ที่ยังไม่เชื่อ เป็นความจริงบางอย่างว่า มีความเกี่ยวข้องกับความจำเป็นต้องการในชีวิตของผู้ฟังมากกว่าสัจจะความจริงประเด็นอื่น ๆ

4. ถ้าอย่างนั้น จะมีสิ่งที่เป็นสัจจะความจริง แต่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นความจำเป็นต้องการในชีวิตของผู้ฟังขณะนั้นไหม? มีแน่นอน!

ผมคิดถึงครั้งที่ป่วยในขั้นวิกฤติจนถูกนำส่งโรงพยาบาลในห้องฉุกเฉิน ผมก็คิดย้อนกลับไปในเหตุการณ์วันนั้น (ถ้า) แพทย์วิ่งมาหาผมที่เตียงในห้องฉุกเฉิน แล้วเริ่มต้นอธิบายคำศัพท์ที่แพทย์-พยาบาลใช้ในเวลานั้นแก่ผมว่า ศัพท์แพทย์คำนั้นคำนี้หมายความว่าอะไร หรือแพทย์พยายามอธิบายถึงประวัติความเป็นมาของการพัฒนา “หูฟัง” ที่แพทย์ใช้ตรวจโรค สิ่งเหล่านี้ที่แพทย์ทำเป็นสัจจะความจริงทั้งนั้น แต่มันไม่ช่วยให้ผมรอดพ้นจากภาวะความเจ็บป่วยวิกฤติในเวลานั้นเลย มันเป็นสัจจะความจริงที่ไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับความจำเป็นต้องการในเวลานั้น

แต่ในครั้งนั้น แพทย์ที่มารีบฟังหัวใจและปอด แล้วสั่งให้นำผมเข้าห้องไอซียูความดันต่ำทันที แล้วให้นำเครื่องเอกซเรย์แบบเคลื่อนที่ทำการตรวจตามที่แพทย์สั่ง ให้ห้องแลปตรวจสิ่งต่าง ๆ ของผมตามที่แพทย์อยากรู้   ให้พยาบาลติดต่อแพทย์ที่เชี่ยวชาญทางปอดมาร่วมในการวินิจฉัยและรักษา เพราะแพทย์ท่านนั้นต้องการช่วยชีวิตผมให้รอดจากวิกฤติในเวลานั้น และนี่ก็เป็นสัจจะความจริงในการเยียวรักษาที่เหมาะสมสอดคล้องกับการกู้ชีวิตของผมให้หลุดออกจากภาวะวิกฤติในเวลานั้น

แต่เมื่อหวนกลับมาคิดถึงการเทศนาของนักเทศน์หลายท่าน มักเริ่มต้นด้วยการอรรถาธิบายความหมายของศัพท์แสงที่ใช้ในพระคัมภีร์ และ ศาสนศาสตร์ มาจากรากศัพท์คำไหน มีความหมายว่าอะไรให้ผู้ฟังเทศน์เข้าใจ หรือ เจาะลึกลงไปว่าพระคัมภีร์ตอนนั้นมีสถานการณ์เบื้องหลังอะไร เขาบันทึกและส่งต่อมาถึงเราได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นสัจจะความจริงและเป็นความรู้เข้าใจที่สำคัญและจำเป็น แต่ไม่เหมาะสมสอดคล้องกับวิกฤติชีวิตของผู้ฟังเทศน์   สิ่งเหล่านี้มิได้กอบกู้ชีวิตของผู้ฟังเทศน์หลุดรอดจากภาวะวิกฤติชีวิตที่เขากำลังติดพันอยู่ ไม่ได้เป็นคำตอบสำหรับชีวิตที่ฉุกเฉินวิกฤติของผู้ฟังเทศน์

สิ่งที่นักเทศน์พึงตระหนักชัดเสมอคือ ผู้ฟังเทศน์ตั้งใจฟังว่าผู้เทศน์เริ่มต้นการสื่อสารสาระข่าวสารการเทศนาของเขาอย่างไร ยิ่งถ้าผู้ฟังที่ยังไม่ได้เชื่อ แล้วเราใช้เวลาช่วงแรกที่อธิบายถึงเบื้องหลังประวัติศาสตร์ความเป็นมาของพระคัมภีร์ที่เราใช้เทศน์ในวันนั้น แล้วค่อยนำเข้าสู่ความหมาย และ การประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง ผู้ฟังเทศน์หมดความสนใจในคำเทศน์ตั้งแต่เราได้เริ่มต้นแล้ว  

เมื่อเรานำเสนอคำเทศนาแก่ผู้ฟังที่ยังไม่เชื่อ หรือ รับเชื่อแล้วก็ตาม เราจำเป็นจะต้องเริ่มต้นการสื่อสารเทศนาจาก “ตอนจบของคำเทศน์”!

ทุกวันนี้ ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ และ การพูดดูถูกว่า “การเทศนาที่ตอบสนองต่อความจำเป็นต้องการ” ของผู้ฟัง  เป็นเหมือนการเสนอขายพระกิตติคุณ เป็นการเทศนาใต้อิทธิพลของ “บริโภคนิยมและการตลาด” ขออนุญาตอธิบายในประเด็นนี้ให้เข้าใจชัดเจนเท่าที่จะทำได้

การเริ่มต้นการสื่อสารเทศนาด้วย “ความจำเป็นต้องการของผู้ฟัง” มิใช่วิธีการที่เพิ่งมาใช้ใน “ยุคทันสมัย ยุคบริโภคนิยม หรือ ยุคระบบการตลาด” แต่เป็นแนวทางที่พระเยซูคริสต์ใช้เทศนาในสมัยของพระองค์

เราพบความจริงในพระคัมภีร์หลายเรื่องราวว่า พระเจ้าทรงสำแดงพระองค์ต่อมนุษย์ตามความจำเป็นต้องการของคนๆนั้น/กลุ่มนั้น/ในบริบทนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวในพระคัมภีร์เดิม หรือ พันธสัญญาใหม่ ที่เราสามารถเห็นตัวอย่างมากมาย

เราจะพบเรื่องราว หรือ เหตุการณ์ในทำนองนี้ ตลอดพระคัมภีร์ พระเจ้ามาพบหรือเผชิญหน้าเราในสภาพชีวิตที่เราเป็นอยู่ในเวลานั้น ในสถานการณ์นั้น การเทศน์ที่เริ่มต้นตอบสนองต่อความจำเป็นต้องการของกลุ่มเป้าหมายเป็นหลักการหนึ่งในคริสต์ศาสนศาสตร์ ที่นำผู้คนให้ได้มีโอกาสสัมผัสจากพระเจ้า และรู้จักพระองค์ผ่านการตอบสนองของพระเจ้าต่อความจำเป็นต้องการของเขาในชีวิตจริงในเวลานั้น และเป็นแนวทางที่นำคนนั้นสู่การมีชีวิตที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงจากพระเจ้าในพระเยซูคริสต์

การเทศนาที่เปลี่ยนแปลงชีวิต เป็นกระบวนการที่นำเอาสัจจะความจริงจากพระวจนะของพระเจ้ามาเผชิญหน้าและเป็นคำตอบสำหรับความจำเป็นต้องการ ปัญหาวิกฤติในชีวิตของผู้ฟังเทศน์ และความสนใจของผู้ฟัง ด้วยการประยุกต์ใช้สัจจะความจริง/พระกิตติคุณพระคริสต์ ในชีวิตประจำวันของผู้ฟังเทศน์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น