30 เมษายน 2561

ภาวะผู้นำของทีมงาน


ทีมงานที่ดีไม่ต้องการสมาชิกทีมแบบ “ครับ...เจ้านาย”  “ค่ะ...ท่าน ผอ.”  

แต่ทีมงานที่ดีต้องการการสื่อสารในทีมแบบสัตย์ซื่อ จริงใจ ตรงไปตรงมา   ทีมดีหนุนเสริมให้คนในทีมงานพูดและแสดงออกอย่างเปิดเผย  สื่อสารโดยตรงต่อคนที่ตนต้องการสื่อสารด้วย

ในการประชุมของทีมงานที่ดี   เป็นการร่วมกันระดมความคิดเห็น  เพื่อที่จะเฟ้นหาความคิดเห็นที่ดีเยี่ยมเหมาะสม   เป็นทีมงานที่สมาชิกในทีมช่วยกันแสดงความคิดเห็น ให้ข้อสังเกตที่แหลมคมน่าสนใจ   และที่สำคัญสมาชิกในทีมต่างเปิดใจ เปิดความคิดรับฟังกันและกันอย่างใส่ใจ

ในทีมงานที่ดี   สมาชิกในทีมแสดงความคิดต่างได้อย่างเปิดเผยจริงใจ  ด้วยสุภาพและสร้างสรรค์   และรับฟังกันอย่างสุขุม   ความคิดที่ขัดแย้งไม่ใช่ปัญหา  แต่เป็นปัญญาที่ท้าชวนคนอื่น ๆ ลองพิจารณาและสะท้อนคิดดู   แต่การที่ทีมงานที่ดีที่ไม่เกิดความขัดแย้งกันเมื่อมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันก็เพราะ  สมาชิกในทีมงานนี้มีรากฐานความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเป็นทุนเดิม   จนแต่ละคนกล้าที่จะเอาทุกเรื่องตีแผ่เปิดเผยในที่ประชุม และ ต้องการให้เพื่อนในทีมช่วยคิดช่วยพิจารณา

ทุกความคิดต่าง   ทุกความขัดแย้ง เป็นย่างก้าวที่ทีมงานใช้ในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ และความไว้วางใจในทีม   และเป็นโอกาสเสริมสร้างปัญญาและองค์ความรู้ในการทำงานของตนให้ก้าวไกลกว่าที่เป็นอยู่

ประโยคหนึ่งที่ไม่ควรได้ยินในทีมงานที่ดีเช่นนี้คือ   “ฉันบอกแล้วว่าอย่าทำอย่างนั้น”   “ว่าแล้ว...มันต้องเป็นอย่างงี้”   ที่ไม่ควรเกิดประโยคเช่นนี้ในทีมงานที่ดีเพราะ   ถ้าใครในทีมงานรู้ล่วงหน้าว่าอะไรจะเกิดเขาจะแบ่งปันสิ่งเหล่านั้นในที่ประชุมทีมงานก่อนหน้านี้   หรือ นำสิ่งที่ตนรู้ตนคิดล่วงหน้าปรึกษากับเพื่อนในทีมก่อนแล้ว

การนำทีมมิใช่งานที่ง่าย   เป็นงานหนักที่มีภาระมากที่ต้องรับผิดชอบ

การเป็นผู้นำที่ดีของทีมงาน  ต้องการผู้นำที่ต้องยอมเสียสละส่วนตน (การให้ตนเองแก่คนในทีม)

การเป็นผู้นำที่ดีของทีมงาน  ต้องพบกับการตัดสินใจที่ลำบากและบางคนอาจจะไม่ชอบ

ในฐานะสมาชิกในทีมงาน   เราต้องให้เกียรติคนที่ยอมรับภาระในการนำทีม  โดยเฉพาะความสัตย์ซื่อ จริงใจ และความภักดี

พระ​ราชา​ทรง​โปรดปราน​ปาก​ที่​ชอบ​ธรรม
และ​ผู้​ที่​พูด​ตรงไปตรงมา​นั้น​พระ​องค์​ทรง​รัก
(สุภาษิต 16:13 มตฐ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@g,ail.com
081-2894499

27 เมษายน 2561

ข่าวดีสำหรับผู้นำ “ที่หยุดนำ”

ผู้นำที่ “หยุดนำ” สามารถกลับมานำใหม่ได้ครับ!

ในตอนก่อนเราได้แบ่งปันถึงสาเหตุที่ทำให้ผู้นำ “หยุดนำ” หรือ “ไม่นำ” ในองค์กร หรือ คริสตจักร   และเราแบ่งปันกันอีกว่า   เหตุผลประการหลักที่ผู้นำ “หยุดนำ” หรือ “ไม่นำ”  คือ ความท้อแท้หมดกำลังใจ

บางท่านคิดว่า เมื่อผู้นำ “หยุดนำ” หรือ “ไม่นำ”  คือสัญญาณจุดจบของการเป็นผู้นำหรือเปล่า?
ข่าวดีครับ...   ผู้นำที่ “หยุดนำ” สามารถกลับมานำใหม่ได้ครับ!
คำถามคือ   แล้วจะเริ่มนำใหม่ได้อย่างไร?

1.   ผู้นำครับ...เลี้ยงดู ใส่ใจจิตวิญญาณของตนเองก่อนครับ!

ท่านอาจจำเป็นที่ต้องมีเวลาพักผ่อน  มีที่ปรึกษาที่กอปรด้วยสติปัญญาจากเบี้องบน  และที่สำคัญคือตัวผู้นำเองจะต้องอธิษฐานด้วยความจริงใจอย่างต่อเนื่อง และ อีกสิ่งหนึ่งคือผู้นำจะต้องกลับมาตรวจสอบถึงอารมณ์ จิตวิญญาณของตนว่าเป็นอย่างไร  เพื่อที่ตนจะรู้เท่าทันตนเอง  

ท่านอาจจะจำเป็นหาวันใดวันหนึ่งทั้งวันที่ท่านจะมีเวลาอยู่กับพระเจ้าตัวต่อตัว   เพื่อท่านจะแสวงหาทางที่จะกลับคืนเข้าสู่วิถีชีวิตแห่งการทรงเรียกของท่าน    บางครั้งบางท่านอาจจะจำเป็นหรือต้องการสติปัญญาและกำลังใจจากเพื่อนสนิท  อย่างไรก็ตาม  บางครั้งท่านอาจจำเป็นที่จะต้องขุดค้นลงลึก หรือ ต้องทุ่มเทชีวิตเพื่อให้จิตใจของท่านกลับฟื้นคืนดีสู่เส้นทางการทรงเรียกอีกครั้งหนึ่ง   อย่าลังเลใจที่จะทุ่มเทชีวิตของท่านเพื่อการนี้

2.   พลิกฟื้นคืนดีการทรงเรียกของท่าน

ท่านไม่ควรมีการตัดสินใจใด ๆ เกี่ยวกับการทรงเรียกของพระเจ้าในชีวิตของท่าน  จนกว่าชีวิตจิตวิญญาณของท่านได้รับการพลิกฟื้นคืนดีกับพระเจ้าก่อน   เพื่อท่านจะมีมุมมองในชีวิต และ ความนึกคิดต่อพระประสงค์ของพระเจ้าที่ถูกต้อง  

จากนั้นใช้เวลาในการสะท้อนคิดถึงการทรงเรียกในชีวิตของท่าน...   พระเจ้าตรัสอะไรกับท่านบ้าง?   การทรงเรียกนั้นเปลี่ยนแปลงหรือไม่?   ท่านเชื่อหรือไม่ว่า การทรงเรียกของพระเจ้าให้ท่านรับใช้พระองค์มีมากกว่านี้?  ดูเหมือนว่า พระเจ้าไม่ได้เปลี่ยนความคิดของพระองค์   และพระองค์ยังมีพันธกิจที่มีความหมายที่ให้ท่านรับใช้พระองค์หรือไม่?   การแสวงหาน้ำพระทัยของพระเจ้าเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งต่อภาวะผู้นำในตัวท่าน  พระเจ้ามีพระประสงค์อะไรในชีวิตของท่าน?   แล้วท่านละ  ท่านต้องการอะไรในชีวิตของท่าน?

3.   รู้จักคนที่จะเคียงข้างท่าน

ไม่มีใครถูกกำหนดให้ชีวิตต้องจาริกไปตัวคนเดียว และ รับผิดชอบในการนำไปอย่างโดดเดี่ยวด้วยตนเอง

เป็นเรื่องธรรมชาติปกติที่คนเราจำเป็นต้องมีเพื่อนสนิทบางคนที่ตนเองไว้วางใจได้ และ วางแผนงานพันธกิจด้วยกันได้   ถ้าคริสตจักรของท่านเป็นคริสตจักรขนาดเล็ก   ท่านอาจจะเริ่มมีเพื่อนสนิทคนหนึ่ง  แต่ให้อธิษฐานและมองหาคนต่อ ๆ ไปด้วย   ไม่จำเป็นต้องเป็นกลุ่มเพื่อนสนิทที่ใหญ่โต   และที่ท่านกำลังแสวงหานี้ท่านแสวงหาเพื่อนสนิท  มากกว่าการแสวงหาคนที่เป็นผู้นำ


4.   ชัดเจนในเรื่องที่ท่านนำ

ในการนำท่านไม่จำเป็นที่จะต้องมีความคิดริเริ่มใหม่ ๆ มากมายอะไร   แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้นำคริสตจักรจำเป็นจะต้องทำคือ  เราต้องกล้าก้าวไปล่วงหน้า “หนึ่งก้าว” ก่อนคริสตจักร หรือ คนอื่นในองค์กร  เช่น การเริ่มพันธกิจใหม่ของคริสตจักร หรืออาจจะเป็น “การยกเครื่อง” พันธกิจคริสตจักรใหม่ทั้งหมด   อาจจะเป็นการสร้างอาคารใหม่ของคริสตจักร   หรือ อาจจะเป็นความคิดใหม่ ๆ เกี่ยวกับการนมัสการในคริสตจักร และ ฯลฯ   ประเด็นในที่นี้คือ  ท่านกำลังนำในเรื่องอะไร?   ท่านกำลังก้าวไปสู่ทิศทางไหน?  ในฐานะผู้นำ  ท่านจะต้องมีความชัดเจนสิ่งที่ท่านนำ และ จะนำไปสู่ทิศทางใด?

5.   เริ่มต้นด้วยสิ่งเล็ก ๆ ที่รู้ว่าจะสำเร็จ

บ่อยครั้งที่ผู้นำไม่เห็น หรือ มองข้ามความสามารถ หรือ ศักยภาพ ที่คริสตจักร/องค์กรมีอยู่ (แม้จะเล็กน้อย หรือ ธรรมดา) ว่ามีคุณค่า การที่ผู้คนจะเห็นคุณค่าความสามารถ และ ศักยภาพที่เล็กน้อยธรรมดาเหล่านั้นก็ต่อเมื่อมีผู้กระตุ้นในชุมชนคริสตจักร หรือ องค์กรได้ใช้สิ่งเล็กน้อยและธรรมดาเหล่านั้นมาทำให้เกิดผลและเป็นประโยชน์ก่อน   ทั้งผู้นำและคนในคริสตจักรก็จะกลับมาเห็นคุณค่าของศักยภาพ และ ความสามารถที่ธรรมดาและน้อยนิดเหล่านั้น

ดังนั้นในการเริ่มต้น  ผู้นำสามารถเริ่มต้นจากเป้าหมายเล็ก ๆ ที่เป็นความจำเป็นต้องการของคนในคริสตจักร และ/หรือ คนในชุมชน  ที่ผู้นำและสมาชิกนำเอาความสามารถ หรือ ศักยภาพที่มีอยู่แล้วมาทำให้เป้าหมายสำเร็จเกิดผลตามความต้องการ   ในกระบวนการนี้ให้สมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมด้วย  (มิใช่ผู้นำทำเอง/ทำแทนสมาชิก)   ทั้งนี้เพื่อทั้งผู้นำและทีมงานพันธกิจจะเกิดการเรียนรู้  และได้รับกำลังใจจากชัยชนะครั้งแรกที่เล็กแต่สำเร็จและสำคัญ   ที่จะนำไปสู่การคิด พิจารณา วางแผน และก้าวเดินงานพันธกิจต่อไปที่สำคัญและใหญ่ขึ้น

ศักยภาพ และ ความสามารถที่ธรรมดาและเล็กน้อยเหล่านี้   มิใช่เพียงชัยชนะเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้น   แต่เป็นประกายไฟที่จุดตะเกียงที่จะส่องค้นพบตนเองของผู้นำและคริสตจักรหรือองค์กรในความมืดมิดที่ผ่านมา

ชัยชนะที่ธรรมดาเล็กน้อยนี้เป็นเหมือนเมล็ดผักกาดที่พระเยซูคริสต์เปรียบเทียบ   เมื่อหว่านลงไปในดินแล้วก็จะงอก เติบใหญ่ เกิดดอกออกผล   และขยายพันธุ์ต่อไป   และนี่คือการทำพันธกิจ   และนี่คือลักษณะของแผ่นดินของพระเจ้าที่พระคริสต์อธิบายไว้

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

25 เมษายน 2561

ทำไมผู้นำถึง “หยุดนำ”?


ในตอนก่อนเราได้แบ่งปันกันถึงความจริงว่า  แม้ว่าใครที่มีตำแหน่งผู้นำทั้งในคริสตจักร หรือ ในองค์กร  มิใช่ทุกคนที่จะทำหน้าที่ “นำ” องค์กรของตนเสมอไป   และพบว่า มีผู้นำในตำแหน่งบางคนที่ “ไม่ได้นำ” หรือ “หยุดนำ”  ทั้ง ๆ ที่เราพบว่า เขาทำงานหนัก หรือ วุ่นกับงานในองค์กรของเขา

จากนั้น   เราได้ให้ประเด็นที่ใช้ในการบ่งชี้ว่า  ถ้าผู้นำที่ “นำ” ในองค์กรของตนเอง   จะมี 12 ประเด็นบ่งชี้ที่ชัดเจน  ถึงแม้จะไม่เกิดครบพร้อมทั้ง 12 ประการในครั้งเดียวกันก็ตาม   แต่สามารถประเมินว่า  ผู้นำคนนั้นของเรากำลัง “นำ” หรือ “หยุดนำ” ในฐานะและตำแหน่งผู้นำที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

หลายท่านคงถามต่อในใจว่า  แล้วทำไมจึงมีผู้นำที่ “ไม่นำ” หรือ “หยุดนำ” ล่ะ?

เหตุผล 10 ประการที่ผู้นำ “หยุดนำ”

1.   ผลกระทบสะสมจากการร้องเรียนและวิพากษ์วิจารณ์
การวิพากษ์วิจารณ์ หรือ การร้องเรียน  ทำให้เกิดความท้อแท้ง่ายกว่าการชื่นชม/ชมชื่น

2.  ยิ่งทำงานนานเท่าใด   ยิ่งทำให้จิตวิญญาณเหนื่อยล้ามากเท่านั้น
เราทุกคนต่างได้รับความเหนื่อยอ่อนในชีวิต   แต่ถ้าเมื่อใดที่ฤทธิ์ความเหนื่อยอ่อนแทรกตัวเข้าในไขกระดูกหรือจิตวิญญาณ   ย่อมทำให้คนนั้นยากที่จะก้าวต่อไปในชีวิตของเขา

3.  พยายามทำมากเกินไป  และมักทำงานคนเดียว
แทนที่จะนำ  ผู้นำกลับลงไปทำเอง  บ้างอาจจะเพราะไม่เชื่อ/มั่นใจว่าคนที่เรามอบหมายจะทำอย่างใจได้เลยรีบทำแทนหรือให้ทำตามที่ตนต้องการ  หรือไม่ก็นำแบบตัวคนเดียว ย่อมทำให้งานที่นำนั้นไม่ยั่งยืน

4.  กลัวที่จะประสบความล้มเหลว
ถ้าผู้นำมุ่งที่จะเลือกทำงานที่มีแต่ความปลอดภัย  ยอมเลี่ยงไม่ได้   เพราะตนกลัวว่าจะพบกับความล้มเหลว 

5.  สูญเสียความเชื่อแห่งการทรงเรียก และ แผนการของพระเจ้า
เมื่อผู้นำมืดมัว หรือ คลุมเครือ ไม่มีความชัดเจนในการทรงเรียกของพระเจ้า การอยู่ด้วยของพระองค์ และแผนงานของพระองค์   ผู้นำคนนั้นก็เกือบหมดสภาพในการนำของเขา

6.  ชีวิตส่วนตัวไม่มีการเจริญเติบโต
ไม่มีใครที่จะสามารถนำเกินกว่าประสบการณ์ชีวิตที่ตนผ่านพบและเรียนรู้มา ดังนั้น ถ้าผู้นำหยุดการมีประสบการณ์ใหม่ และ เรียนรู้สิ่งใหม่ชีวิตส่วนตัวไม่เติบโตก้าวหน้า  และก็จะทำให้การนำจมปลักอยู่กับที่

7.  การปล้ำสู้ในชีวิตส่วนตัว
เราต่างต้องเผชิญหน้าสถานการณ์ชีวิตกับการปล้ำสู้ในลักษณะต่าง ๆ เป็นครั้งคราว   แต่การที่จะต้องเผชิญหน้า ปล้ำสู้ ต่อสู้เรื่องนั้น ๆ เป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน เช่น ปัญหาชีวิตสมรส  ชีวิตครอบครัว  ปัญหาเรื่องสุขภาพ  สิ่งเหล่านี้อาจจะทำให้ผู้นำคนนั้นหยุดในการนำของเขาได้

8. ไม่เต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลง หรือ ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง
เป็นไปไม่ได้ที่จะนำให้ก้าวหน้าและประสบความสำเร็จ หรือ ไปถึงอนาคตที่พึงประสงค์โดยไม่ได้นำสู่การเปลี่ยนแปลง

9.  ขาดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและน่าสนใจ
จะนำได้อย่างไรในเมื่อผู้นำเองยังไม่รู้ว่าทิศทางที่จะมุ่งหน้าไปอยู่ที่ไหน  

10. ทุ่มเทและพยายามมาเป็นเวลาที่ยาวนาน
ผู้นำก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง   แต่ถ้าผู้นำคนนั้นนำไปยาวนานแล้วยังไม่เกิดผล   เป็นการนำที่พยายามรักษาสภาพเดิมที่คริสตจักร หรือ องค์กรเป็นอยู่   และผลที่ได้รับก็เป็นไปแบบเดิม ๆ  ย่อม “หยุดนำ” ไปโดยปริยาย

เหตุผลประการหลักที่ผู้นำ “หยุดนำ” หรือ “ไม่นำ”  คือ ความท้อแท้หมดกำลังใจ

ความท้อแท้หมดกำลังใจเป็นผลที่สั่งสมรวมตัวเข้ากันของหลายสาเหตุ   แน่นอนว่าเราคงไม่เคยพบว่ามีผู้นำคนไหนที่ต้องพบกับสาเหตุข้างต้นทุกประการในการเป็นผู้นำของตน   แท้จริงแล้วแค่ สอง-สาม-สี่ ประการก็มากเกินพอแล้วที่จะเป็นสาเหตุร่วมที่ทำให้ผู้นำคนนั้น “หยุดนำ” หรือ “ไม่นำ”

การเริ่มตระหนักรู้ถึงสาเหตุต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้น  เป็นเพียงก้าวแรกที่ผู้นำจะไม่ตกเป็นเหยื่อ หรือ เบี้ยล่างของสาเหตุเหล่านั้น   แต่ทำให้เกิดการใคร่ครวญพิจารณาเพื่อแสวงหาแนวทางที่จะ “สยบ” สาเหตุเหล่านั้นก่อนที่จะตกให้เป็นเหยื่อให้มันจะบดขยี้เอา

เมื่อเราพบสาเหตุที่ทำให้ “หยุดนำ” หรือ “ไม่นำ”  แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไปครับ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
Prasit.emmaus@gmail.com;  081 289 4499

23 เมษายน 2561

“ผู้นำ” ของท่าน...ยังนำอยู่หรือเปล่า?

การที่ใครมีตำแหน่งผู้นำตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งไม่ได้หมายความว่าเขา “ได้นำ” องค์กร หรือ ในคริสตจักรนั้นเสมอไป!

ทุกคนที่มีความรับผิดชอบในการนำต้องสัตย์ซื่อในการตอบคำถามที่ว่า “ท่านกำลังนำอยู่หรือเปล่า?”

เป็นการง่ายที่เราจะวุ่นอยู่กับงาน  หรือทำงานหนัก  หรือ ทำงานจนหมดเรี่ยวหมดแรง   แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเรา “ได้นำ” ก็ได้    ในหลายกรณีที่ผู้นำทำงานอย่างหนัก และ ยุ่งกับงานมากมาย  แต่พวกเขาไม่รู้ตัวว่า “ตนไม่ได้นำ” หรือ “ตนหยุดนำ” (ในฐานะผู้นำ)

12 ประเด็นสำหรับการตรวจสอบว่า เราเป็นผู้นำที่ยังนำหรือไม่

1) ถ้าท่านกำลังนำ  ท่านเป็นคนที่กำลัง “นำหน้า” ในงานนั้นอยู่
2) ถ้าท่านกำลังนำ  ท่านต้องรู้ว่าท่านกำลังไปที่ไหน
3) ถ้าท่านกำลังนำ  ผู้คนในคริสตจักร/องค์กรจะตามท่านไป
4) ถ้าท่านกำลังนำ  ท่านกำลังทำให้งานนั้นก้าวหน้า รุดหน้า ก้าวไกล
5) ถ้าท่านกำลังนำ  ท่านนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่คริสตจักร/องค์กรที่ท่านอยู่
6) ถ้าท่านกำลังนำ  ท่านจะพบกับการต่อต้าน
7) ถ้าท่านกำลังนำ  ท่านต้องมีการตัดสินใจ
8) ถ้าท่านกำลังนำ  ท่านมีการกระทำที่ผิดพลาด
9) ถ้าท่านกำลังนำ  ท่านต้องพบกับการเสี่ยง
10) ถ้าท่านกำลังนำ  จะมีคนที่ไม่ชอบท่าน
11) ถ้าท่านกำลังนำ  ท่านต้องการทรัพยากรเพิ่มขึ้น
12) ถ้าท่านกำลังนำ  ท่านไม่กลัวต่อการตรวจสอบผลที่จะเกิดขึ้น

หมายเหตุ:  สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นทุกวันในการนำของท่าน  แต่ทั้ง 12 ประการเป็นตัวบ่งชี้ถึงชีวิตการเป็นผู้นำที่กำลังนำอยู่ของท่าน)

มีกี่ประการครับที่ตรงกับ “การนำ” ของท่านในทุกวันนี้?

มีกี่ประการครับที่ท่านมองว่า “การนำ” ของท่านที่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น?

ท่านจะทำอย่างไรครับ   ถ้าผู้นำในคริสตจักร หรือ ในองค์กรของท่านที่ไม่ได้มีลักษณะตาม 12 ประการข้างต้น?

เป็นความจริงที่ว่า  ผู้นำทุกคนไม่ได้ตื่นและลุกขึ้นในวันใหม่และนำคริสตจักรหรือองค์กรต่อจากวันที่ผ่านมาเสมอไป   จากการสังเกตพบว่า  บ่อยครั้งเราจะพบผู้นำ “ที่หยุดการนำ”    โดยทั่วไปแล้วจะมิใช่การ “หยุดนำ” อย่างฉับพลัน หรือ กะทันหัน  เพียงแต่มีการตรึกตรองแล้วตัดสินใจที่จะ “ไม่นำ”   แล้วค่อย ๆ ชะลอการนำลงจน “หยุดนำ”

ในภาวะเช่นนี้ ผู้นำคนนั้นยังทำงานหนัก  ยุ่งวุ่นอยู่กับงาน หรือ กับการอภิบาลชีวิตของลูกแกะ   แต่การขับเคลื่อนงานของคริสตจักรหรือองค์กรไม่ก้าวหน้า

ถ้าเป็นเช่นที่ว่านี้  เขาเป็นผู้นำที่ไม่ได้นำครับ!   หรือ เป็นผู้นำที่หยุดนำแล้วครับ

แล้วถ้าผู้นำในองค์กรของท่าน หรือ ในคริสตจักรของท่าน  หรือ ในการเป็นผู้นำของตัวท่านเองเกิดอาการ “หยุดนำ”  แล้วจะทำอย่างไรดีครับ?   เราจะมีการรับมือจัดการอย่างไรบ้างครับ?

หรือ ถ้าผู้นำในคริสตจักร หรือ ในองค์กรของท่าน “หยุดนำ” ในฐานะสมาชิกคริสตจักร หรือ คนทำงานในองค์กร  ท่านจะทำอย่างไรดีครับ?

ขอท่านช่วยแบ่งปันความคิดเห็น ประสบการณ์ หรือ ข้อเสนอแนะด้วยครับ...

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

อ่านข้อเขียน/บทใคร่ครวญก่อนหน้านี้ได้ที่  http://prasitemmaus.blogspot.com/ 

20 เมษายน 2561

หนุนเสริมเพิ่มพลังภาวะผู้นำในคนรอบข้าง


ในภาวะวิกฤติคุณภาพภาวะผู้นำที่จะสานต่อพระราชกิจของพระเยซูคริสต์   ในภาวะวิกฤติที่เราขาดวิสัยทัศน์ หรือ นิมิตหมายที่ชัดเจน ให้มุ่งไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า และ ในวิกฤติความขัดแย้งสูง  มีแต่การ  “ชี้ผิดจับผิด” ขาดการ “ผู้ชี้ถูกจับถูก” มีแต่เสียงให้ “ทำลายคนชั่ว” แต่ไม่รู้จะ “หนุนเสริมคนดีของพระเจ้า” อย่างไร

ในภาวะวิกฤติเช่นนี้คริสตจักรไทยต้องการผู้ที่ “หนุนเสริมเพิ่มพลังคนรอบข้าง” ให้มีภาวะผู้นำที่สามารถสานต่อพระราชกิจของพระคริสต์   เฉกเช่น บารนาบัสได้กระทำเป็นแบบอย่างที่เป็นรูปธรรมและเกิดผลยิ่งใหญ่มาแล้วครับ!

เมื่อเซาโลมาถึงเยรูซาเล็มก็พยายามเข้าร่วมกับเหล่าสาวกแต่เขาเหล่านั้นล้วนกลัวเซาโลไม่เชื่อว่าเขาเป็นสาวกจริง ๆ   

แต่บารนาบัสพาเซาโลไปพบเหล่าอัครทูตและเล่าให้ฟังว่าที่กลางทางเซาโลได้เห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระองค์ตรัสกับเขาอย่างไร และเขาได้เทศนาที่เมืองดามัสกัสในพระนามของพระเยซูโดยไม่เกรงกลัวอย่างไรบ้าง   

ดังนั้นเซาโลจึงได้พักกับพวกเขาและเข้านอกออกในอย่างอิสระในกรุงเยรูซาเล็มและกล่าวในพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยความอาจหาญ (กิจการ 9:26-28 อมธ.)

บารนาบัสหนุนเสริมเพิ่มพลังแก่เซาโล   เพื่อเซาโลจะมีโอกาสที่จะใช้ของประทาน ชีวิต ศักยภาพและความสามารถที่มีอยู่เพื่อสานต่อพระราชกิจของพระคริสต์ ตามพระประสงค์ของพระเจ้าที่ทรงเรียก   ในเวลานั้น แม้เซาโลจะกลับใจและมอบกายถวายชีวิตแด่พระคริสต์  ประกาศพระกิตติคุณของพระองค์ด้วยใจกล้าหาญอย่างเป็นรูปธรรมแล้วก็ตาม   แต่สาวกพระคริสต์ในกรุงเยรูซาเล็มยังไม่เชื่อและวางใจว่า  เซาโลกลับใจจริง   หรือ อาจจะเป็นกลวิธีหลอกล่อพวกคริสตชนเพื่อจะหาทางฆ่าทำลายให้สิ้นซาก

ในภาวะเช่นนี้  บารนาบัสได้เข้ามา “หนุนเสริมเพิ่มพลัง” แก่เซาโล   ด้วยการเอาชีวิตของตนเข้ามา “ค้ำประกันเซาโล”  ว่าได้มาเป็นสาวกพระคริสต์อย่างแท้จริง   ด้วยการพาเขาเข้าไปถึงวงในของพวกอัครทูต  จนเซาโลได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากสาวกพระคริสต์ในกรุงเยรูซาเล็ม  และประกาศพระกิตติคุณของพระคริสต์ด้วยใจกล้าหาญ   เขาได้รับการหนุนเสริมเพิ่มพลัง  อีกทั้งได้รับความเชื่อวางใจ  ทั้งในการประกาศพระกิตติคุณ  และ เป็นคนที่เข้านอกออกในในกลุ่มของอัครทูตด้วย

บารนาบัสหนุนเสริมเพิ่มพลังเซาโล ให้ได้รับความไว้วางใจจากอัครทูต และ สาวกพระคริสต์คนอื่น ๆ  เซาโลมีโอกาสในการเสริมสร้างกระบวนการขับเคลื่อนพระกิตติคุณของพระคริสต์ร่วมกับผู้เชื่อคนอื่น ๆ   เขาได้ใช้ของประทาน  ศักยภาพ ทักษะความสามารถ  ที่พระเจ้าจัดเตรียมเขาตั้งแต่เกิดในการสานต่อพระราชกิจของพระคริสต์เจ้า

คริสตจักรของเราต้องการผู้นำอย่างบารนาบัสครับ   เราต้องการผู้นำที่หนุนเสริมเพิ่มพลังภาวะผู้นำในคนอื่นรอบข้าง   เพื่อเขาจะมีโอกาสรับใช้พระคริสต์อย่างเต็มที่  ด้วยสุดกำลังความคิด จิตใจ และสุดชีวิต

แต่การที่จะเป็นผู้ที่หนุนเสริมเพิ่มพลังภาวะผู้นำในคนรอบข้างนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย   เราต้องทุ่มและลงทุนทั้งชีวิต    เพราะเราต้องเอาชีวิตของเราเข้าค้ำประกัน เสริมหนุนเขาให้มีโอกาสใช้พลังภาวะผู้นำทั้งสิ้นของเขาในการรับใช้สานต่อพระราชกิจของพระคริสต์ในสังคมชุมชนโลกนี้

การที่เราจะทุ่มเทหนุนเสริมเพิ่มพลังแก่คนอื่น   สิ่งที่เราต้องเผชิญ ต้องให้ ต้องทุ่มทั้งชีวิตคือ...

ท่านต้องเสี่ยง   เฉกเช่นบารนาบัสกล้าเสี่ยงที่จะคบสัมพันธ์กับเซาโล ในขณะที่คริสตชนคนอื่น ๆ เห็นว่า เซาโลคือศัตรูตัวร้ายของคริสตจักร

ท่านต้องกล้า   เฉกเช่นบารนาบัสกล้าที่จะพาเซาโลไปพบกับอัครทูต และ ค้ำประกันเซาโลว่าเขากลับใจมาเป็นสาวกพระคริสต์ และ ทุ่มเทชีวิตสานต่อพระราชกิจของพระคริสต์ที่ทรงมอบหมาย   หลายคนไม่กล้าที่จะเสริมเพิ่มพลังคนอย่างเซาโล   เพราะถ้าเซาโลมิได้เป็นอย่างที่ตนค้ำประกันล่ะ   ตนเองจะเสียหายขนาดไหน   หลายคนไม่อยาก “เปลืองตัว”  

ท่านต้องหนุนเสริมต่อเนื่อง   เฉกเช่นบารนาบัส เมื่อเซาโลเข้านอกออกในในกลุ่มอัครทูตได้แล้ว   บารนาบัสไม่ได้หยุดการหนุนเสริมเพิ่มพลังเซาโลเพียงแค่นั้น   แต่เขาตามติดใกล้ชิดและร่วมในการทำพันธกิจของพระคริสต์ไปในที่ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง    เป็นทั้งเพื่อนร่วมงาน   เป็นทั้งโค้ช เป็นทั้งเพื่อนคู่คิดในยามที่พันธกิจเกิดความขัดแย้ง   แล้วร่วมกันรับมือจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างสร้างสรรค์ด้วยกัน

ในการหนุนเสริมเพิ่มพลังผู้คนให้มีพลังภาวะความเป็นผู้นำอย่างเป็นรูปธรรมนั้น   มิใช่เพียงเราเชื่อในศักยภาพว่าเขาจะเป็นผู้นำในเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้อย่างดีเท่านั้น   แต่เราจะต้องก้าวลงไปหนุนเสริมให้เขาพัฒนาศักยภาพเป็นทักษะความสามารถที่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม   ถ้าเราประสงค์ที่จะให้เขาใช้พลังภาวะผู้นำที่มีในตัวเขาอย่างเต็มที่  เราต้องทุ่มเทหนุนเสริมเพิ่มพลังด้วยทั้งชีวิตของเราครับ

การหนุนเสริมเพิ่มพลัง เป็นการทุ่มเทชีวิตแบบตัวต่อตัว (มิใช่ทุ่มเทแบบอุตสาหกรรม สร้างสาวกแบบโหล) เป็นการที่เราหนุนเสริมเพิ่มพลังแก่เขาด้วยพลังชีวิตของเรา  และด้วยเวลาชีวิตของเราด้วย   อยากจะบอกว่า การทุ่มเทเสริมหนุนเพิ่มพลังเช่นนี้สุดจะคุ้มครับ   และพระคริสต์ก็ทำให้เห็นเป็นแบบอย่างด้วยชีวิตของพระองค์ครับ

เพื่อนใกล้ชิดของผมหลายคนถามผมส่วนตัวว่า   การทำเช่นนี้แล้วเราจะได้อะไร?

ผมอยากบอกว่า ได้มากกว่าที่เราท่านคาดหวังครับ   เราจะได้ชีวิตที่มีคุณภาพในแผ่นดินของพระเจ้า   เราจะได้สังคมชุมชนที่พระคริสต์ทุ่มเททั้งชีวิตให้ได้มา   หรืออย่างน้อยที่สุด ตัวท่านเองก็ได้ครับ  การหนุนเสริมเพิ่มพลังภาวะความเป็นผู้นำในคนอื่นจนเกิดผลเป็นรูปธรรม  สิ่งที่ท่านได้คือ ท่านกลายเป็นคนที่คนในองค์กร ในคริสตจักรยอมรับพลัง และ ให้เกียรติในภาวะผู้นำของท่านในองค์กรนั้น    ที่มิได้แลกเปลี่ยนมาด้วยผลประโยชน์ส่วนตน  ด้วยทรัพย์สินเงินทอง หรือ ด้วยตำแหน่งผลประโยชน์  ที่มีผู้มาประเคนให้ท่านครับ

คริสตจักร และ องค์กรคริสตชน ต้องการผู้นำที่หนุนเสริมเพิ่มพลังภาวะผู้นำในผู้คนรอบข้างครับ!

สำหรับคริสตชนแล้ว  คริสตจักรของพระเยซูคริสต์จะต้องมีพลังที่รักเมตตาอย่างไร้เงื่อนไขแบบพระคริสต์    ที่จะมาขับไล่และขจัดอำนาจชั่วร้ายให้ออกจากคริสตจักรและสังคมโลกได้   และนี่คือพระราชกิจของพระคริสต์ที่บัญชาให้เราทุกคนสานต่องานนี้ของพระองค์  

ไม่ใช่ขับไล่อำนาจชั่วด้วยเพียงสำนึกความถูกต้องดีชั่วของเราเอง!  
แต่ขับไล่อำนาจแห่งความบาปชั่วด้วยความรักเมตตาที่ไร้เงื่อนไขแบบพระคริสต์ต่างหาก...ครับ!
ให้เราเริ่มต้นด้วย  รับความรักเมตตาที่ไร้เงื่อนไขแบบพระคริสต์เปลี่ยนแปลงชีวิตของเราก่อนดีไหมครับ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง

18 เมษายน 2561

ทิ้งระบบการเมืองคริสตจักร เข้าถึงพระคริสต์และแผ่นดินของพระเจ้า!

คริสตจักรเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองในสองลักษณะใหญ่ ๆ คือ   การที่คริสตจักรท้องถิ่นเข้าไปข้องเกี่ยวกับการเมืองท้องถิ่น หรือ การเมืองประเทศ   โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเลือกข้างกับการเมืองขั้วใดขั้วหนึ่ง พรรคใดพรรคหนึ่ง   อาการเช่นนี้มักเกิดขึ้นในช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้งในชุมชน/ประเทศ   ในปีนี้จะมีการเลือกตั้งในไทย(???)   คริสตจักรควรมีจุดยืนทางความเชื่อและการปฏิบัติในเรื่องนี้ที่ชัดเจนบนรากฐานพระวจนะของพระเจ้า

ลักษณะที่สองของการที่คริสตจักรไทยนำเอาระบบและกระบวนการการเมืองมาใช้ในการ “เลือกตั้ง” ผู้บริหารคริสตจักรระดับคริสตจักรภาค และ ระดับชาติ   ซึ่งเป็นการใช้ระบบการแข่งขัน  เน้นเรื่องการเลือกตั้งเอาแพ้เอาชนะกันด้วยคะแนนเสียงข้างมาก   จึงมีการหาเสียงกันในลักษณะต่าง ๆ เป้าหมายเพื่อให้ได้เสียงมากที่สุดเพื่อเอาชนะการเลือกตั้ง   กระบวนการทั้งสิ้นนี้  สร้างผลกระทบต่อชีวิตของคริสตจักร   และใช้กระบวนการ “ใฝ่ต่ำ” ที่ตกลงในหลุมพรางแห่งอำนาจชั่ว

ที่ว่า “ใฝ่ต่ำ” เพราะ  คริสตจักรแบ่งเป็นพรรคเป็นพวก แล้วมาต่อสู้เอาแพ้เอาชนะกัน  เบื้องหลังเบี้องลึกคือการช่วงชิงอำนาจเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ตน และพวกตนที่เอื้อผลประโยชน์ต่อกัน  การเอาแพ้เอาชนะเช่นนี้ “เป็นการต่อสู้ด้วยเนื้อหนังและเลือด”  แล้วผู้นำคริสตจักรก็ตกลงไปในหลุมพรางของอำนาจชั่ว   ผู้นำคริสตชนหันไปเลือกใช้อำนาจของ “เทพผู้ครอง” “เทพผู้ทรงอำนาจ” “เทพผู้ทรงเดชานุภาพของโลก”  “เหล่าวิญญาณชั่วในสถานฟ้าอากาศ” (ดู เอเฟซัส 6:12 อมธ.)   และผลที่ตามมาคือ อำนาจชั่วเหล่านั้นได้ทำให้ชุมชนคริสตจักรเกิดการทำร้ายทำลายกันเอง   จนเกิดความเสียหายและเป็นที่หัวเราะเยาะของสังคมโดยรอบ   ถ้าเปาโลมาในยุคของเราก็คงจะเตือนสติเราแรง ๆ อย่างที่เตือนสติคริสตจักรกาลาเทียว่า “แต่​ถ้า​ท่าน​กัด​และ​กิน​เนื้อ​กัน​และ​กัน จง​ระวัง​ให้​ดี ท่าน​จะ​ย่อย​ยับ​ไป​ด้วย​กัน” (5:15 มตฐ.)

ผู้นำคริสตจักร และ สมาชิกคริสตจักร ต้องตัดสินใจว่า   ตนจะเลือกมีชีวิตด้วยระบบคุณค่าใด   กล่าวคือจะเลือกที่จะดำเนินชีวิตด้วยระบบคุณค่าแห่งกระแสสังคมโลกปัจจุบันนี้  หรือ  เลือกที่จะดำเนินชีวิตตามระบบคุณค่าของพระกิตติคุณพระคริสต์ และ แผ่นดินของพระเจ้า

การเลือกผู้นำ ผู้บริหารของคริสตจักร วิธีการที่ดีกว่าที่ใช้ในปัจจุบันไม่มีแล้วหรือ?   เราต่างรู้อยู่กับใจว่า  การเลือกตั้งผู้บริหาร และ กรรมการระดับคริสตจักรชาติ   เป็นการทรงเรียกของพระเจ้า   วิธีการบนรากฐานพระคัมภีร์ จะมีวิธีการที่ดีกว่าที่เราไปลอกเลียนแบบจากการเมืองตามกระแสสังคมและประเทศไหม?

“การเมือง” เป็นเรื่องของการได้มาซึ่งอำนาจ และ การใช้อำนาจ   แต่สำหรับคริสตจักรแล้ว สิทธิอำนาจสูงสุดพระเจ้าทรงมอบไว้ในพระคริสต์แล้ว   และสิทธิอำนาจที่เรารับจากพระคริสต์เป็นสิทธิอำนาจแห่งการ “รับใช้” “สิทธิอำนาจแห่งการให้ชีวิต”  แก่ผู้คนในสังคมโลกนี้   เพื่อคนและสังคมโลกจะได้รับชีวิตใหม่   ดังนั้น อำนาจของผู้นำและผู้บริหารคริสตจักรต้องเป็นสิทธิอำนาจที่ “ได้จากพระคริสต์” และ ใช้สิทธิอำนาจนั้นตามแบบอย่างและพระประสงค์ของพระคริสต์   เป็นการใช้สิทธิอำนาจในการ “รับใช้” และ “ให้ชีวิต” แก่คนทั้งหลายด้วยความรักเมตตาอย่างไร้เงื่อนไขแบบพระคริสต์   เพื่อทุกคนจะได้เข้าถึงชีวิตใหม่ในพระองค์   เป็นประชากรที่อยู่ในแผ่นดินของพระเจ้า

แล้วการเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ หรือ ผู้บริหารคริสตจักรชาติ และ กรรมการระดับสูงของคริสตจักร   ตลอดจนถึงกรรมการระดับอำนวยการของหน่วยงาน กรม กอง ต่าง ๆ  ที่มีการดันเอาคนที่เป็นพวกของตนเข้าไป   มีพรรคมีพวก “หาเสียง” ในรูปแบบต่าง ๆ   วิธีการเหล่านี้ เป็นการได้มาซึ่งสิทธิอำนาจจากพระคริสต์ และ ใช้สิทธิอำนาจเยี่ยงพระคริสต์แล้วหรือ?   รวมถึงกระบวนการใช้สื่อสาธารณะที่ทันสมัยของปัจจุบันทำร้ายทำลายคนอื่น   และบางคนก็รับเป็นมือโปรให้บางฝ่ายที่จะเอาชนะการเลือกตั้งในคริสตจักรชาติให้ได้   การกระทำเช่นนี้ส่อแสดงว่ามีจุดยืนทางความเชื่อศรัทธาของคริสตชนแล้วหรือ?

เราไม่คิดที่จะทุ่มเทในการอธิษฐานทูลขอพระเจ้าทรงประทานสติปัญญา และ เปิดเผยวิธีการจากพระองค์บ้างเลยหรือ?   ให้เรากลับมาหาพระเจ้า  และขอการทรงนำ ทรงช่วย ในเรื่องนี้ได้ไหม?  

ท่านคิดเห็นอย่างไร?   ท่านมีข้อแนะนำบนรากฐานพระคัมภีร์อย่างไรบ้างครับ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง

16 เมษายน 2561

ผู้นำที่แตกต่างย่อมสร้างสิ่งที่แตกต่าง

จากการต่อสู้ของดาวิดเด็กเลี้ยงแกะกับโกลิอัท ทหารยักษ์ผู้ชำนาญศึก   น่าพิจารณาว่าอะไรที่ทำให้ดาวิดกล้ายืนหยัดด้วยความมั่นใจว่าตนจะสู้กับกับทหารร่างยักษ์ชาวฟิลิสเตียคนนี้ได้   ในขณะที่คนอื่น ๆ ในกองทัพอิสราเอลต่างถอยกรูดจนหัวหดด้วยความกล้ว?   ต่อไปนี้คือสิ่งที่ดาวิดมีแตกต่างจากคนอื่น ๆ ในกองทัพ

1) มุมมองของเดวิดแตกต่างจากคนอื่น ๆ ในกองทัพอิสราเอล   คนอื่นมองเห็นแต่ความพ่ายแพ้และการสูญเสีย   แต่ดาวิดกลับมองเห็นโอกกาส

2) วิธีการทำศึกษาต่อสู้ที่แตกต่างกัน   เขาใช้เครื่องมือในการต่อสู้ที่ตนเองมีทักษะ ชำนาญ ที่ตนเคยมีประสบการณ์ในการใช้อย่างคล่องแคล่ว และ เกิดผลมาแล้ว ดังนั้น เขาจึงใช้เครื่องมือดังกล่าวด้วยความมั่นใจว่าตนจะได้ชัยชนะในการต่อสู้

3) ดาวิดมีความเชื่อและความมั่นใจที่แตกต่างจากคนอื่น   เขาได้ยินเสียงโกลิอัทที่ขู่คำรามว่าเป็นการหมิ่นประมาทพระเจ้าของอิสราเอล   และเขามั่นใจว่าพระเจ้าจะทรงเอาชนะและคว่ำเจ้ายักษ์ใหญ่ลงได้  (ดาวิดเห็นว่าชัยชนะนี้เป็นการต่อสู้ของพระเจ้า  ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับความสามารถของตน)

4) นิมิต หรือ วิสัยทัศน์ของดาวิดแตกต่างจากคนอื่น   ดาวิดต้องการให้คนทั้งโลกได้รู้ว่า  พระยาเวห์คือผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ที่สุดในโลกนี้   ในขณะที่คนอื่นมองเห็นว่า  พวกตนมีแต่ความพ่ายแพ้

5) ดาวิดมีประสบการณ์แตกต่างจากคนอื่น   ดาวิดมีประสบการณ์ที่พระเจ้าทรงช่วยเขาเอาชนะสิงโต และ หมีที่มากัดกินแกะของเขา ดังนั้น ดาวิดจึงมิได้กลัวจนหัวหดอย่างคนอื่นเมื่อได้ยินเสียงขู่คำรามของโกลิอัท

6) ดาวิดมีเจตคติ มุมมอง ท่าทีที่แตกต่างจากคนอื่น  เมื่อดาวิดมองโกลิอัทเขามิได้มองที่รูปร่างสูงใหญ่ บึกบึน อาวุธครบครัน   แต่ดาวิดรู้ว่าท่ามกลางความสูงใหญ่ของโกลิอัทมีช่องโหว่ที่เป็นจุดอ่อนที่เขาจะล้มเจ้ายักษ์จอมอหังการตนนี้ได้

7) ดาวิดมองเหตุการณ์วิกฤติครั้งนี้ว่าเป็นพระราชกิจแห่งการทรงช่วยกู้อิสราเอลจากพระเจ้า   ในขณะที่คนอื่น ๆ พยายามหาทางที่จะเอาชนะเจ้ายักษ์อย่างสิ้นหวัง


... “พระยาห์เวห์ผู้ทรงช่วยกู้ข้าพระบาทจากอุ้งเท้าของสิงโต และจากอุ้งเท้าของหมี
จะทรงช่วยกู้ข้าพระบาทจากมือของคนฟีลิสเตียนี้”  (1ซามูเอล 17:37 มตฐ.)

ในเหตุการณ์เดียวกัน   เมื่อผู้นำมีมุมมอง กรอบคิด ที่แตกต่างกัน   ย่อมก่อเกิดผลที่ตามมาที่แตกต่างกัน
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
Prasit.emmaus@gmail.com; 081 289 4499 

13 เมษายน 2561

เริ่มต้นด้วยมุมมองที่ถูกต้อง!


แต่​คา​เลบ​ได้​ให้​ประ​ชา​ชน​เงียบ​ต่อ​หน้า​โมเสส​แล้ว​กล่าว​ว่า “ให้​เรา​ขึ้น​ไป​ทัน​ที​และ​ยึด​แผ่น​ดิน​นั้น เพราะ​เรา​จะ​ชนะ​แน่​นอน” แต่​คน​ทั้ง​หลาย​ที่​เข้า​ไป​สอด​แนม​ด้วย​กล่าว​ว่า “เรา​ไม่​สา​มารถ​เข้า​ไป​และ​ชนะ​คน​เหล่า​นั้น​ได้ เพราะ​พวก​เขา​มี​กำ​ลัง​มาก​กว่า​เรา” (กันดารวิถี 13:30-31 มตฐ.)

จากเหตุการณ์ข้างต้น   เป็นไปได้อย่างไรที่คนไปดูและเห็นในเหตุการณ์เดียวกันแต่มีความเห็นที่แตกต่างกันจากหน้ามือเป็นหลังมือ?  

ทั้งนี้เพราะคนสองกลุ่มนี้มีมุมมอง และ การรับรู้ที่แตกต่างกัน   คนที่มีมุมมองที่สร้างสรรค์ มองในมุมที่บวกเป็นรากฐานทางจิตสำนึก  เป็นก้าวแรกที่นำไปสู่การเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพ   และผู้นำที่จะประสบความสำเร็จจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องวางรากฐานภาวะผู้นำในขั้นนี้ไว้ให้มั่นคงอย่างขาดไม่ได้เลย

แล้วมุมมองที่ว่านี้ต้องเป็นมุมมองแบบไหน อย่างไร?

จากคำพูดและพฤติกรรมของโยชูวาและคาเลบ   เราสามารถสกัดสัจจะความจริงเกี่ยวกับความสำคัญของมุมมอง และ ความสามารถในการรับรู้ได้ดังนี้

1) มุมมองของเราคือตัวกำหนด ท่าที และ วิธีการการจัดการ/กระทำในแต่ละเรื่องในชีวิตของเรา
2) มุมมองของเราคือตัวกำหนดความสัมพันธ์ที่เรามีกับผู้อื่น
3) มุมมองที่แตกต่างนำมาไปถึงซึ่งความสำเร็จ หรือ ล้มเหลว
4) มุมมองของเราย่อมมีผลต่อผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากการทำงานในแต่ละงาน  มากกว่าสาเหตุหรือเงื่อนไขอื่นใด
5) มุมมองของเรามีพลังที่จะเปลี่ยนปัญหาให้เป็นพระพร

แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นที่กล่าวมานี้  มุมมองของเราโดยลำพังไม่สามารถมีพลังได้อย่างที่กล่าวข้างต้น   ถ้ามุมมองนั้นไม่ใช่มุมมองที่มาจากพระเจ้าสำหรับเรา  

ดังนั้น สำหรับคริสตชนแล้ว  นอกจากพลังจากมุมมองเชิงบวกแล้ว มุมมองนั้นต้องเป็นมุมมองที่ได้รับการทรงเปิดเผยชี้นำจากพระเจ้าด้วย

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
Prasit.emmaus@g,ail.com;  081 289 4499

11 เมษายน 2561

วันนี้เราจะเดินบนคลื่นลมไปหาพระเยซูได้อย่างไร?


วันนี้เราสามารถ “เดินบนคลื่นลมทะเล” ไปหาพระเยซูได้ดังนี้

(1) ให้เรามุ่งมองที่พระเยซูคริสต์

อะไรที่ทำให้เปโตรกล้าและมั่นใจเดินไปบนคลื่นทะเล  ความกล้าและความมั่นใจของเปโตรมาจากคำตรัสของพระเยซูคริสต์    เปโตร​จึง​ทูล​ตอบ​พระ​องค์​ว่า “องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า ถ้า​เป็น​พระ​องค์​แน่​แล้ว ขอ​ตรัส​ให้​ข้า​พระ​องค์​เดิน​บน​น้ำ​ไป​หา​พระ​องค์” พระ​องค์​ตรัส​ว่า “มาเถิด” เปโตร​จึง​ลง​จาก​เรือ​เดิน​บน​น้ำ​ไป​หา​พระ​เยซู  (มัทธิว 14:28-29 มตฐ.)   เปโตรขอความกล้าและความมั่นใจจากพระเยซู “ขอตรัสให้ข้าพระองค์เดินบนน้ำไปหาพระองค์”   พระองค์ตรัสว่า “มาเถิด”

แล้วอะไรล่ะที่ทำให้เปโตรเกิดความกลัวและเกือบจมน้ำทะเล  สาเหตุก็เพราะว่า เปโตรเปลี่ยนจากการมุ่งมองที่พระเยซูไปมุ่งมองที่คลื่นลมที่โหมแรงรอบตัวเขา  “แต่​เมื่อ​เขา​เห็น​ลม​พัด​แรง​ก็​กลัว และ​เมื่อ​กำ​ลัง​จะ​จม​ก็​ร้อง​ว่า “องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า ช่วย​ข้า​พระ​องค์​ด้วย” (ข้อ 30)  หลายคนคงคิดในใจว่า  เปโตรน่าจะมุ่งมองที่พระเยซูให้นานกว่านี้   เขาคงเดินบนคลื่นลมทะไปได้นานและไกลกว่านี้แน่ 

(2) ให้เราไว้วางใจฤทธิ์อำนาจของพระองค์

เมื่อเปโตรกำลังจะจมลงเขาร้องว่า  “องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า ช่วย​ข้า​พระ​องค์​ด้วย” (ข้อ 29)  พระ​เยซู​จึง​เอื้อม​พระ​หัตถ์​จับ​เขา​ไว้​ทัน​ที แล้ว​ตรัส​ว่า “ช่าง​มี​ความ​เชื่อ​น้อย ท่าน​สง​สัย​ทำ​ไม? (ข้อ 31)   ในเวลาที่พระเยซูยื่นมือมาคว้ามือเขาไว้   เขารู้ทันทีว่า ทุกอย่างจะปลอดภัยสำหรับเขา ในเวลาที่เปโตรไว้วางใจในฤทธิ์อำนาจของพระเยซูคริสต์ เขาสามารถที่ยื่นมือไปที่พระเยซูคริสต์แล้วยึดมือของพระองค์ไว้แน่น   เช่นกัน...ในชีวิตประจำวันของเรา  ในเวลาที่เราเผชิญกับวิกฤติในชีวิต   เราสามารถที่จะยื่นมือของเราออกไปให้พระเยซูคริสต์คว้ามือของเรา  แล้วให้เราเกาะยึดมือของพระองค์ไว้ให้มั่น...   แล้วพระคริสต์จะช่วยให้ท่านไม่ต้อง “จมลง” ในวิกฤตินั้น

(3) จากนั้นให้ก้าวเดินต่อไป

อะไรจะเกิดขึ้นถ้าเปโตรเกิดความลังเลใจ?   อะไรจะเกิดขึ้นถ้าเปโตรไม่ทูลขอให้พระเยซูสั่งให้เขาเดินบนคลื่นทะเลไปหาพระองค์? โดยปกติในสถานการณ์เช่นนี้ เปโตรจะไม่ลงจากเรือด้วยตัวของเขาเอง  หรือถ้าเขากำลังจมลงในน้ำทะเลเขาต้องพยายามหาทางช่วยตนเองที่จะหาอะไรเกาะไม่ให้จมลงก้นทะเล แต่เพราะเขาเชื่อและไว้วางใจ เขาจึงก้าวลงจากเรือ แล้วเดินบนคลื่นลมทะเลได้ แต่เมื่อเขาวอกแวกเขากำลังจะจมลง เขาร้องให้พระเยซูช่วยเขา พระองค์คว้าเปโตรไว้   เขาสามารถเดินบนคลื่นลมทะเลอีกครั้งหนึ่ง   เขาเดินบนคลื่นลมทะเลต่อไปจนถึงพระองค์  

บนเส้นทางชีวิตประจำวันของเรา   แม้ว่าบางครั้งเราอาจจะเกือบจมลงในมรสุมชีวิต   เมื่อเราร้องให้พระคริสต์ช่วย  และเมื่อพระองค์คว้ามือเราไว้   เราก็สามารถเดินต่อบนวิถีวิกฤติชีวิตนั้นต่อไป  จนถึงพระเยซูคริสต์   บนวิกฤติในชีวิตประจำวันของเรา  เรามีเวลาที่จะ “ขาดความเชื่อ” หรือ “ความเชื่อถดถอยลดน้อยลง” ได้    แต่พระเยซูคริสต์ไม่เคยละทิ้งเรา “เคียงข้าง และ คว้า” เราทันเวลาเสมอ   เราเชื่อว่าพระองค์ทรงมีฤทธิ์อำนาจเหนือวิกฤติและสถานการณ์ที่สุดเลวร้ายในชีวิตของเราหรือไม่?   ท่านไว้วางใจในการทรง “เคียงข้าง” และพร้อมที่จะ “คว้า” ท่านไว้ในทุกวิกฤติชีวิตหรือไม่?

(4) ไปถึงเป้าหมาย

เปาโลได้เป็นพยานชีวิตแก่เราว่า  “พี่​น้อง​ทั้ง​หลาย ข้าพ​เจ้า​ไม่​ถือ​ว่า​ข้าพ​เจ้า​ฉวย​ไว้​ได้​แล้ว แต่​ข้าพ​เจ้า​ทำ​อย่าง​หนึ่ง คือ​ลืม​สิ่ง​ที่​ผ่าน​พ้น​มา แล้ว​โน้ม​ตัว​ไป​ยัง​สิ่ง​ที่​อยู่​เบื้อง​หน้า และ​ข้าพ​เจ้า​บาก​บั่น​มุ่ง​ไป​สู่​หลัก​ชัย เพื่อ​จะ​ได้​รับ​ราง​วัล​คือ​การ​ทรง​เรียก​แห่ง​เบื้อง​บน​ซึ่ง​มี​ใน​พระ​เยซู​คริสต์” (ฟิลิปปี 3:13-14 มตฐ.)   เปาโลรู้ดีว่า  เขาไม่สามารถไปให้ถึงหลักชัยด้วยความสามารถของเขาเอง   แต่ที่เขามุ่งไปข้างหน้าได้เพราะ พระคริสต์ทรงเป็นและอยู่ที่หลักชัย  และทรงเรียกเราให้ไปถึงหลักชัยนั้น   เราก็เช่นกัน  เราไม่สามารถไปให้ถึงเป้าหมายชีวิตด้วยความสามารถของตนเองได้   แต่พระคริสต์ทรงเป็นหลักชัย และ ทรงเรียกเราให้วิ่งไปสู่หลักชัยนั้น   ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในชีวิตของเรา   พระองค์ทรงอยู่ข้างหน้าเรา และ เคียงข้างเรา   และพร้อมเสมอที่จะคว้ามือของเราไว้เมื่อวิกฤติถาโถมชีวิตของเรา

(5) คว้ามือพระคริสต์ไว้

วันนี้ ในการดำเนินชีวิตประจำวันของเราทุกเรื่องทุกขณะ ให้เรามุ่งมองไปที่พระคริสต์   ไม่ใช่มุ่งมองไปที่ปัญหา   อย่ามุ่งมองคลื่นและลมในทะเลชีวิต  แต่ให้เรา  “...​จับ​ตา​มอง​ที่​พระ​เยซู​ผู้​เบิก​ทาง​ความ​เชื่อ และ​ผู้​ทรง​ทำ​ให้​ความ​เชื่อ​นั้น​สม​บูรณ์ พระ​องค์​ทรง​สู้​ทน​ต่อ​กาง​เขน เพื่อ​ความ​ยินดี​ที่​อยู่​ต่อ​หน้า​พระ​องค์ ทรง​ถือ​ว่า​ความ​อับ​อาย​นั้น​ไม่​เป็น​สิ่ง​สำ​คัญ และ​พระ​องค์​ประ​ทับ​เบื้อง​ขวา​พระ​ที่​นั่ง​ของ​พระ​เจ้า” (ฮีบรู 12:2 มตฐ.)  

ถ้าเราไม่มุ่งมองที่พระคริสต์   เราจะคว้ามือของใครบางคนที่เรามุ่งมอง  ที่เราไม่สามารถมั่นใจว่าเขาจะยึดมือของเราไว้แน่นหรือไม่?    ให้เรามุ่งมองที่พระคริสต์ ที่พระองค์พร้อมที่จะคว้ามือของเราไว้   เพื่อที่จะช่วยให้เราไม่จมลงในคลื่นลมทะเลแห่งวิกฤติในชีวิต   และจับมือของเราให้สามารถเดินต่อไปบนทะเลที่บ้าคลั่งนั้น   จนไปถึงพระองค์

วันนี้  การที่เราจะมุ่งเดินไปอย่างไม่สะดุด เราจะต้องมุ่งมองที่พระคริสต์  และมองที่พระองค์เท่านั้น เราต้องไว้วางใจในฤทธิ์อำนาจของพระองค์ เราต้องมุ่งเดินต่อไปข้างหน้า เพื่อเราจะไปถึงหลักชัยคือแผ่นดินของพระเจ้า   และที่สำคัญคือเราต้องเกาะกุมยึดมั่นพระหัตถ์ของพระคริสต์ไว้อย่างไม่ยอมปล่อยเลยทีเดียว

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
Prasit.emmaus@gmail.com;  081 289 4499

09 เมษายน 2561

ขั้นตอน 5-7 ในการรับมือ...จากผลการกระทำผิดพลาด


จากตอนก่อนเราได้แบ่งปันกันถึงขั้นตอนที่ 1-4 ในการรับมือกับผลที่เกิดขึ้นที่มีการกระทำผิด  
(1) ให้เราเป็นคนแรกที่บอกถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น  (2) ระบุถึงความร้ายแรงของปัญหาทั้งหมด  
(3) ยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นทั้งหมด   ถึงแม้ว่าท่านมิใช่ต้นเหตุหลักก็ตาม และ (4) สร้างโอกาสที่ทีมงานจะร่วมกันวิเคราะห์เจาะลึกให้รู้เท่าทันปัญหา   ในตอนนี้จะเป็นสามขั้นตอนสุดท้าย

5.   ต้องการความช่วยเหลือ

โดยธรรมชาติ การยอมรับว่าเป็นการกระทำผิดของตนอาจจะยังมีความรู้สึกอับอาย หรือ กลัวอะไรบางอย่างอยู่  แต่เมื่อเรายอมรับว่านี่เป็นความรับผิดชอบของเรา  ดังนั้นสำนึกที่จะต้องลุกขึ้นรับมือและจัดการผลการกระทำผิด เป็นตัวกระตุ้นให้เราลุกขึ้นเอาชนะความกลัวและความรู้สึกอับอายดังกล่าว

เหมือนกับเรื่องเด็กทำแจกันของแม่ตกแตก  รีบเก็บเศษ และ ชิ้นส่วนของแจกันที่แตกซ่อนไม่ให้ใครเห็น   และพยายามหาทางเชื่อมชิ้นส่วนแจกันนั้นด้วยกาวหวังว่ามันจะกลับมาเป็นแจกันดั่งเดิม  แต่ก็ยังไม่สำเร็จสักที  การซ่อนการกระทำผิดดังกล่าวสามารถซ่อนไปสักชั่วเวลาหนึ่ง   แต่วันหนึ่งความจริงจะต้องปรากฏขึ้น   แต่ที่เลวร้ายคือความสำนึกผิดถึงการกระทำนั้นมันกระตุ้นเตือนให้ความกลัวย้อนกลับมาทับถมเราทุกวัน  ทำให้เกิดความเครียดกังวล  และกลัวว่าแม่จะต้องรู้เข้าสักวัน   การทำเช่นนี้ ผลของการกระทำผิดจะไม่ได้รับการแก้ไขจัดการ   และความกลัวกังวล และ ความเครียดยิ่งทับถมเพิ่มพูนมากขึ้นในตัวคนทำผิดทุกวัน

แต่ถ้าเราเปิดเผยการกระทำผิดพลาดให้กับทีมงานได้รู้เรื่องแต่แรก   สิ่งที่จะตามมาทันทีคือ ผู้นำที่ดีจะนำเราให้ช่วยกันรับมือจัดการกับผลของการกระทำผิดนั้น   การกระทำผิดพลาดและผู้กระทำยอมรับอย่างเปิดเผย  เป็นการเปิดโอกาสให้ทีมงานช่วยกันรับมือ จัดการ และแก้ไขสถานการณ์ได้ทันเวลา

6.   ติดตามผลทันทีและอย่างต่อเนื่อง   จนกว่าผลการกระทำผิดได้รับการแก้ไข

อย่าทำให้ผู้นำทีม หัวหน้า หรือ เพื่อนร่วมทีมถามถึงความเป็นไป ความก้าวหน้าของการจัดการแก้ไขนั้น   แต่ผู้กระทำความผิดพลาดเป็นคนที่จะบอกทุกคนในทีมงานถึงความเป็นไป และ ความก้าวหน้าของเรื่องนี้     ถ้าเป็นได้มีการแจ้งความเป็นไป/ก้าวหน้าเป็นรายวัน  และบอกถึงสถานการณ์มีความรุนแรงแค่ไหน  มีความรีบด่วนที่จะต้องจัดการเท่าใด   เพื่อบอกให้ทุกคนรู้และมั่นใจว่า  ผลของการกระทำผิดนั้นเรามิได้ทิ้ง เฉยเมย  แต่รับมือกับมันอย่างใกล้ชิด

7.   มิใช่เพียงแก้ปัญหา   แต่แก้ไขปรับปรุงระบบการทำงาน  

เมื่อปัญหาได้รับการแก้ไข   ให้ก้าวไปอีกก้าวหนึ่งโดยถามตนเองว่า  “ปัญหาหรือการกระทำผิดนี้  มีทางที่จะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำได้ไหม?  หรือ เราสามารถป้องกันได้โดยการปรับปรุงระบบการทำงานใหม่ให้ดีขึ้นอย่างไร?”

เราตระหนักดีว่า ระบบการทำงานมิใช่สิ่งตายตัวถาวรเปลี่ยนไม่ได้   แต่ตรงกันข้ามระบบการทำงานถูกออกแบบมาเพื่อรับใช้ในการทำงานของทีม   และเป็นกระบวนการที่เราสามารถปรับเปลี่ยนและพัฒนาได้โดยการสังเคราะห์บทเรียนรู้จากการกระทำที่ผ่านมาของเรา  ไม่ว่าจะเป็นการกระทำผิด หรือ ถูกต้องก็ตาม

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้  รวมถึงประสบการณ์ในการรับมือของผู้กระทำผิดพลาดและทีมงาน  ให้เรานำประสบการณ์และสิ่งที่เรียนรู้มาถอดบทเรียน  เพื่อให้ได้บทเรียนรู้ว่า  องค์กรของเราจะต้องมีการปรับปรุง แก้ไข พัฒนา และ เสริมสร้างระบบการทำงานให้ดียิ่งขึ้นอย่างไร  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หาทางพัฒนาระบบการทำงานที่ป้องกันมิให้ปัญหาการกระทำผิดที่ผ่านมาเกิดซ้ำอีกในการทำงานของทีมงานของเรา

ใครก็ตามในทีมงาน ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นหัวหน้า ลูกน้อง สมาชิกในทีมงานคนใดคนหนึ่งที่รับมือจัดการกับผลการกระทำผิดของตน  และ รับมือจัดการกับปัญหาที่เกิดอย่างใส่ใจ จริงจัง จริงใจ และ เปิดใจเช่นนี้   ในสายตาของทีมงานย่อมเกิดการยอมรับ นับถือ และ มั่นใจ ในภาวะผู้นำของคน ๆ นั้น  และประสบการณ์เช่นนี้นำไปสู่การได้รับความไว้วางใจอย่างหนักแน่นมั่นคงขึ้น

แนวทางและกระบวนการการจัดการรับมือกับผลการกระทำผิดข้างต้นนี้  มิใช่สำหรับหัวหน้างาน หรือ ผู้นำทีมงานเท่านั้น   แต่หมายรวมถึงสมาชิกในทีมงานทุกคน   และมิเพียงแต่การทำงานในอาชีพการงานของเราเท่านั้น  แต่รวมไปถึงครอบครัว คริสตจักร กลุ่มเพื่อน  ตลอดจนการมีชีวิตและทำงานในชุมชนสังคมด้วย

จากประสบการณ์ท่านคิดเห็นอย่างไรกับกระบวนการการรับมือและจัดการกับปัญหา และ ผลการะทำผิดที่เกิดขึ้น   ท่านมีอะไรจะเพิ่มเติม  ชี้แนะเพื่อให้มีความสมบูรณ์และประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนจัดการมากกว่านี้ครับ?   กรุณาแบ่งปันประสบการณ์ หรือ ให้ข้อชี้แนะด้วยครับ!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง

06 เมษายน 2561

ขั้นตอน 1-4 ในการรับมือ...จากผลการกระทำผิดพลาด


ในตอนก่อนเราพบว่า   ผู้นำที่ยิ่งใหญ่นั้น   มิใช่ยิ่งใหญ่เพราะไม่เคยกระทำสิ่งที่ผิดพลาด   หรือ  ทำความผิดพลาดเพียงเล็กน้อย   แต่ความจริงก็คือ ที่คน ๆ นั้นเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่เพราะ  เขาสามารถจัดการกับผลของความกระทำผิดพลาดที่ได้ทำลงไปอย่างมีประสิทธิภาพต่างหาก

แต่สัญชาตญานที่แท้จริงของเราเมื่อทำสิ่งผิดพลาด  เรามักปิดบังซ่อนเร้น  เก็นซุกผลของการประทำผิดพลาดไว้ใต้เสื่อไม่ให้ใครได้รู้ได้เห็น!

เมื่อเราได้การกระทำผิดพลาดเช่นนี้ขึ้นในชีวิต   เราจะเอาชนะสัญชาตญาณดังกล่าวได้อย่างไร?  

ขอบพระคุณสำหรับประสบการณ์ที่มีผู้แบ่งปันเมื่อครั้งก่อน  ผมได้ประมวลเข้าเป็นขั้นตอนการรับมือจัดการผลการกระทำที่ผิดพลาดเป็น 7 ขั้นตอนต่อไปนี้   ถ้าเราสามารถที่จะเอาการกระทำ 7 ขั้นตอนดังต่อไปนี้แทนการที่เราจะกระทำตามสัญชาตญาณเมื่อเรากระทำผิดพลาดไป   และนี่อาจจะเป็นสาเหตุที่ช่วยทำให้ คู่ชีวิต  เจ้านาย หรือ ลูกน้อง  ทีมงานเกิดการยอมรับนับถือเรามากยิ่งขึ้น หรือ สร้างความไว้วางใจในตัวเรามากยิ่งขึ้นก็ได้

1. ให้เราเป็นคนแรกที่บอกถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

ตระหนักเสมอว่า  เราจะไม่ซุกซ่อนความผิดพลาดที่เรากระทำ   ให้เราเปิดเผยความผิดพลาดที่เกิดขึ้น  

ผู้นำส่วนใหญ่แล้วไม่ต้องการที่มารู้ภายหลังในความผิดพลาดของเราที่เกิดขึ้น   ดังนั้น ไม่รอให้หัวหน้าหรือคนอื่นจับได้ว่าเราได้กระทำการผิดพลาด   แต่บอกเขาถึงความผิดพลาดที่เราได้ทำลงไป   ให้พวกเขารู้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้   แทนที่ปล่อยให้หัวหน้า/ผู้คนมาทราบเอาเองภายหลัง  การบอกถึงความผิดพลาดที่เราทำลงไปจะไม่ลดความเชื่อถือในตัวเรา   แต่เขาจะเกิดความเชื่อมั่นเราเพิ่มมากขึ้น

ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ จะไม่เก็บซ่อนสิ่งที่ตนทำผิด  แต่จะรีบบอกถึงสิ่งที่ทำผิดต่อหน้าคนที่ตนทำงานด้วยกัน

2.   ระบุถึงความร้ายแรงของปัญหาทั้งหมด

อย่าพยายามที่จะทำให้ปัญหาความผิดพลาดที่เกิดขึ้นให้ดูเบาบางหรือเล็กน้อยลง   เพราะจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าที่ท่านคิด   ให้ระบุความรุนแรงผลจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้นอย่างชัดเจน  ตามความเป็นจริง  อย่าทำให้ปัญหาและผลของปัญหาเบา หรือ หนักกว่าความเป็นจริงที่มันเป็น  แต่ถ้าสามารถบอกถึงแนวโน้มที่อาจจะรุนแรงกว่าที่บอก  แต่ท่านยังไม่แน่ใจว่าจะเกิดความรุนแรงถึงขนาดนั้นหรือไม่? ...ให้บอกด้วยว่า มีเงื่อนไขอะไรบ้างที่จะทำให้รุนแรงกว่าที่คิด

ทั้งนี้เพื่อว่าทั้งหัวหน้า หรือ ทั้งทีมงานสามารถมีโอกาสร่วมกันหาแนวทางในการแก้ความรุนแรงจากความผิดพลาดนั้น หรือ ป้องกันไม่ให้เกิดเงื่อนไขที่จะทำให้ผลความผิดพลาดเกิดความรุนแรงมากขึ้น

ถ้าต่อมาปรากฏว่า ผลของการทำผิดนั้นรุนแรงอย่างที่เราคาดการณ์  ทั้งทีมงานมีโอกาสร่วมกันรับมือจัดการได้ทันเวลา   แต่ถ้าความรุนแรงนั้นไม่เกิดขึ้นตามที่เราคาดการณ์ทุกคนก็จะโล่งใจ

การไม่ปิดบังซ่อนเร้นผลการกระทำผิดพลาดที่ชัดเจน  เปิดโอกาสให้ทั้งทีมงานได้รับรู้เท่าทันสถานการณ์ที่กำลังเป็นอยู่ และ ที่อาจจะเกิดขึ้น   เป็นผลดีที่จะทำให้ทีมงานมีประสบการณ์ร่วมในการรับมือกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในทีม 

3.  ยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นทั้งหมด   ถึงแม้ว่าท่านมิใช่ต้นเหตุหลักก็ตาม

ภาวะผู้นำที่ยิ่งใหญ่ คือผู้นำที่ยอมก้มหัวลงรับผิดชอบต่อการกระทำผิดที่เกิดขึ้นในทีมงาน   แม้ตนเองจะมิใช่ต้นเหตุหลัก  หรือ สาเหตุที่แท้จริงก็ตาม   แต่เราสำนึกเสมอว่า ในฐานะผู้นำ อะไรที่เกิดขึ้นในทีมงานเป็นความรับผิดชอบของผู้นำทีมด้วย

ดังนั้นอย่าเสียเวลาที่จะไป “หาแพะ” หรืออ้างข้าง ๆ คู ๆ ว่า  เวลาตกลงกันเรื่องนี้เราไม่อยู่ในที่ประชุมบ้าง  ตอนดำเนินการเรื่องนี้เราไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์นั้นบ้าง   การบ่ายเบี่ยงว่าตนเองไม่ใช่สาเหตุหลักจะทำให้ความเชื่อมั่นของทีมงานต่อผู้นำลดลง  ผู้นำจะถูกมองว่า “เอาตัวรอด” กลายเป็นผู้นำแบบ “เอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่ลูกน้อง”

แต่การที่ผู้นำทีมลุกขึ้นมารับเอาการกระทำผิดพลาดนั้นเป็นความผิดพลาดของตนเองด้วย   เป็นการเปิดโอกาสให้ทีมงานไม่ต้องเกิดความกลัวต่อการ “สาดโคลน” ความผิดในทีมงาน   แต่ทุกคนลุกขึ้นรับมือจัดการกับปัญหาอย่างผู้นำทีม   โอกาสที่จะจัดการรับมือกับผลการกระทำผิดพลาดจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น   สิ่งที่ตามมาคือ  ทีมงานจะเชื่อมั่นในภาวะผู้นำของตนเพิ่มมากขึ้น

4.   สร้างโอกาสที่ทีมงานจะร่วมกันวิเคราะห์เจาะลึกให้รู้เท่าทันปัญหา

การที่ผู้นำทีมกระโดดลงมารับความผิดพลาดอย่างเต็มตัว  เปิดโอกาสให้ผู้นำสามารถชวนทีมงานได้ร่วมกันพิจารณาและวิเคราะห์ด้วยกันอย่างมีพลังถึงผลความผิดพลาดที่จะเกิด และ ที่อาจจะเกิดขึ้น 

ในเวลานั้นเองที่เราสามารถนำข้อมูลต่าง ๆ ที่เรามีอยู่ในทุกแง่มุมของทีมงานเข้ามาปะติดปะต่อเป็นภาพรวม  ทำให้เราสามารถมาร่วมพลังกันคิดวิเคราะห์เจาะลึกลงในทุกด้าน และ ในประสบการณ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในทีมงาน  จนสามารถเห็นภาพใหญ่ของผลจากความผิดพลาดที่ได้กระทำลงไป

แน่นอนครับ  กระบวนการในการจัดการรับมือกับการกระทำผิดพลาดในองค์กรจะมีพลังในการขับเคลื่อน

นี่จะเป็นการสะท้อนถึงคุณภาพภาวะผู้นำของท่านในสายตา  ความรู้สึก  การยอมรับ  และความน่าเชื่อถือของท่านในฐานะผู้นำจากทีมงาน

และถ้าเป็นความผิดพลาดของคนหนึ่งในทีมงาน  และ รีบเปิดเผยความผิดพลาดต่อผู้นำ  เมื่อนั้น ผู้นำจะร่วมกันเป็นเจ้าของความผิดพลาดที่เกิดขึ้น   และทีมงานคนนั้นจะเป็นคนให้ข้อมูลกับผู้นำทีมและทีมงาน   เพราะตนอยู่กับความผิดพลาดที่ได้ทำลงไป   คนนั้นจะเป็นคนที่เรียนรู้จากประสบการณ์นี้อย่างดี   และในเวลาเดียวกันจะเป็นลูกทีมที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้นำทีม และ เพื่อนร่วมทีมด้วย

(อีก 3 ขั้นตอน (5-6-7) จะนำมาแบ่งปันกันในตอนต่อไปครับ)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง

04 เมษายน 2561

จะทำอย่างไรกับ...ผลการกระทำผิดพลาด?


สิ่งที่ทำให้เราเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ได้ 
มิใช่เพราะเราไม่เคยกระทำความผิดพลาด  
แต่เป็นการรับมือจัดการผลเกิดจากการกระทำผิดพลาดที่เกิดขึ้นมากกว่า

คนส่วนใหญ่มักคิดว่า  ผู้นำแนวหน้าได้เป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่เพราะผู้นำคนนั้นไม่ทำสิ่งที่ผิดพลาด  หรือถ้าทำก็ทำสิ่งที่ผิดพลาดน้อยที่สุด

แต่มาพบความจริงด้วยความฉงนว่า   แท้ที่จริงแล้วสิ่งที่ทำให้ผู้นำคนนั้นเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่  ไม่ใช่เพราะเขาหยุดยั้งที่จะทำผิดพลาด   แต่สิ่งที่ทำให้เขาเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่คือ การที่เขาสามารถรับมือจัดการกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ท่านเชื่อไหมว่า  เมื่อท่านสามารถรับมือจัดการกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกันท่านได้   เป็นสาเหตุใหญ่ที่จะทำให้ผู้คนรอบข้างและทีมงานให้ความยอมรับนับถือในการเป็นผู้นำของท่าน   สิ่งนี้มิใช่ใช้ได้กับการทำงานเท่านั้น   แต่ใช้ได้ดีกับชีวิตของเราอีกด้วย

แน่นอนว่า  เราท่านต่างเคยทำให้คนใกล้ชิดเสียใจ หรือ ไม่พอใจ   ไม่ว่าเป็นคู่ชีวิต  ลูกหลาน  หรือ แม้แต่เพื่อนร่วมงาน   ให้ลองใช้หลักการนี้ในการรับมือจัดการกับความสัมพันธ์ที่พลั้งพลาดลงอย่างใส่ใจที่สุด   และเราจะพบว่า   เราจะมิใช่กลับมามีความสัมพันธ์ดีดั่งเดิมเท่านั้น   แต่เราจะมีความสัมพันธ์ที่หนักแน่น ลึกซึ้งกว่าเดิมด้วย   เพราะเกิดการยอมรับนับถือในความสัมพันธ์ที่หนักแน่น จริงใจ สัตย์ซื่อที่มีต่อกัน

แต่สัญชาตญานที่แท้จริงของเราเมื่อทำสิ่งผิดพลาด  เรามักปิดบังซ่อนเร้น  เก็บซุกใต้เสื่อไม่ให้ใครรู้เห็น!

ต่อสู้กับสัญชาตญาณของตน

โดยสัญชาตญาณ  เมื่อเราทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้นในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง  บ่อยครั้งที่เรารับมือกับสถานการณ์ความผิดพลาดนั้นด้วยการ  ปิดบังซ่อนเร้นเสีย   คาดหวังว่าจะไม่มีใครรู้ใครเห็น   หรือไม่ก็ทำให้ความผิดพลาดที่เราทำให้เบาบางหรือทำให้ความผิดของเราลดขนาดเล็กน้อยลง   หรือไม่ก็โดยการ “หาแพะ”  ที่จะโยนความผิดให้ใครบางคน   หรือ กล่าวโทษคนอื่นว่าเป็นต้นเหตุ   เพื่อสร้างความถูกต้องชอบธรรมกับตนเอง

เมื่อเราได้การกระทำผิดพลาดเช่นนี้ขึ้นในชีวิต   เราจะเอาชนะสัญชาตญาณนี้ได้อย่างไร?  

ถ้าเราสามารถที่จะเอาการกระทำ 7 ลักษณะต่อไปนี้แทนที่การที่เราจะกระทำตามสัญชาตญาณเมื่อเรากระทำผิดพลาดได้   แล้วนี่อาจจะเป็นสาเหตุที่ช่วยทำให้ คู่ชีวิต  เจ้านาย หรือ ลูกน้อง  ทีมงานเกิดการยอมรับนับถือเรามากยิ่งขึ้น หรือ สร้างความไว้วางใจในตัวเรามากยิ่งขึ้นก็ได้

จากประสบการณ์ของท่าน   ท่านจัดการรับมือกับผลของความผิดพลาดที่เกิดขึ้นอย่างไรครับ?   ขอท่านกรุณาแบ่งปันกันได้เลยครับ   แล้วในตอนหน้าเราจะลองมาดูถึง 7 ขั้นตอนของการรับมือนั้นเป็นอย่างไรกันแน่!

02 เมษายน 2561

การพลิกฟื้นคืนดี ขั้นที่เจ็ด: ให้เกิดการคืนดี มิใช่หาข้อตกลงร่วมกัน!


หลักการพลิกฟื้นคืนดีความสัมพันธ์ ขั้นที่เจ็ดคือ มุ่งเน้นที่การคืนดี มิใช่แสวงหาข้อยุติ หรือ ข้อตกลงร่วมกัน

การที่เราคาดหวังว่าในที่สุดแล้วทุกคนจะเห็นด้วยในทุกเรื่องที่ตกลงกัน  เป็นการคาดหวังที่มิได้ยืนอยู่บนความเป็นจริง การคืนดีให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์   ในขณะที่ข้อตกลง หรือ ข้อยุติร่วมกันมุ่งมองไปที่ปัญหา   เมื่อเรามุ่งมองไปที่การคืนดี   ปัญหาจะหมดความสำคัญ

เราสามารถที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ขึ้นใหม่ถึงแม้เราไม่สามารถแก้ไขความแตกต่างของเราได้   คริสตชนแต่ละคนต่างมีความชอบธรรม และ ความจริงใจในสิ่งที่เราไม่ได้เห็นด้วยกัน หรือ มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน   แต่เราสามารถที่จะไม่เห็นด้วยกันโดยไม่ต้องไม่ถูกใจ หรือ ไม่พอใจกัน

เพชรเม็ดเดียวกัน  เมื่อมองจากมุมที่แตกต่างกันย่อมมองเห็นอย่างแตกต่างกัน   พระเจ้าคาดหวังให้เราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน   ไม่ใช่คาดหวังที่จะให้เรามีรูปแบบเหมือนกัน   เราสามารถกอดคอไปด้วยกันได้โดยไม่จำเป็นที่จะต้องมองทุกอย่างเหมือนกัน หรือ เห็นด้วยกันทุกเรื่อง

ทั้งนี้มิใช่เราเลิกราหรือยอมแพ้ที่จะหาคำตอบ หรือ ข้อยุติร่วมกัน   เราจำเป็นที่จะพูดคุยปรึกษากันต่อไป  หรือแม้แต่จะต้องถกเถียงกันก็ได้   แต่เราทำสิ่งนี้ด้วยจิตวิญญาณแห่งความปรองดองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน   การคืนดีหมายถึงการที่เราไม่เอารายละเอียดปลีกย่อยมาทำลายความสัมพันธ์ของเรา   แต่เราสนใจในประเด็นหลักของเรื่องนั้น ๆ ที่เราจะทำด้วยกันอย่างมีความสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อย่างไรต่างหาก

ขั้นที่เจ็ดของการพลิกฟื้นคืนดีความสัมพันธ์เป็นเรื่องธรรมดาพื้นฐาน  แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย    เราต้องการพลังความพยายามทุ่มเทอย่างมากที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ขึ้นใหม่   ดังนั้นเปโตรจึงขอร้องคริสตชนว่า  “ให้​เรา​ใฝ่​หา​เพื่อสันติภาพและมุ่งมั่นเพื่อให้ได้มา” (1เปโตร 3:11 อมธ.)  ดังนั้น การพลิกฟื้นคืนดีมุ่งมั่นในการเสริมสร้างให้ได้มาซึ่งความสัมพันธ์ใหม่   มิใช่แสวงหาข้อยุติตกลงกันอย่างที่สังคมโลกปัจจุบันทำกัน

เมื่อคริสตชนสร้างสันติ  เรากำลังทำในสิ่งที่พระคริสต์ทรงกระทำ   ด้วยเหตุนี้พระเจ้าจึงทรงเรียกคนที่สร้างสันติว่าเป็นบุตรของพระองค์
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
Prasit.emmaus@gmail.com;  081 289 4499