28 กันยายน 2558

มีเหตุผลอะไรหรือที่เราไม่ต้องวิตกกังวลในชีวิต?

ความวิตกกังวลเกิดขึ้นจากการที่ใครคนใดคนหนึ่งพยายามที่จะควบคุมในสิ่งที่ตนเองไม่สามารถควบคุมได้   เมื่อเราไม่สามารถที่จะควบคุมเกี่ยวกับเศรษฐกิจของเรา  เราก็วิตกกังวลในเรื่องเศรษฐกิจของตน   เมื่อเราไม่สามารถควบคุมบุตรหลานของเรา  เราจึงวิตกกังวลเกี่ยวกับลูกหลานของเรา   เราไม่สามารถควบคุมอนาคตของเรา   เราจึงวิตกกังวลถึงอนาคตของเรา   แต่เราต้องตระหนักชัดว่า ความวิตกกังวลไม่สามารถแก้ไขจัดการปัญหาใดได้เลย   รังแต่จะทำให้เกิดความกลัดกลุ้มใจเท่านั้น

คำเทศนาบนภูเขาของพระเยซูคริสต์ได้ให้เหตุผล 4 ประการว่าทำไมเราถึงไม่ต้องวิตกกังวล

  1. ความวิตกกังวลเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผล:   มัทธิว 6:25 พระคริสต์กล่าวไว้ว่า  “...เรา​บอก​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ว่า อย่า​กระ​วน​กระ​วาย​ถึง​ชีวิต​ของ​ตน​ว่า​จะ​เอา​อะไร​กิน หรือ​จะ​เอา​อะไร​ดื่ม และ​อย่า​กระ​วน​กระ​วาย​ถึง​ร่าง​กาย​ของ​ตน​ว่า​จะ​เอา​อะไร​นุ่ง​ห่ม ชีวิต​สำคัญ​ยิ่ง​กว่า​อาหาร​ไม่​ใช่​หรือ? และ​ร่าง​กาย​สำคัญยิ่ง​กว่า​เครื่อง​นุ่ง​ห่ม​ไม่​ใช่​หรือ?”  (มตฐ.)  พระเยซูคริสต์สอนเราว่า   อย่าวิตกกังวลในสิ่งที่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้   การกังวลในสิ่งที่เราไม่สามารถจัดการเปลี่ยนแปลงได้นั้นไร้ประโยชน์   ดังนั้น จึงไม่เหตุผลใด ๆ ที่จะต้องไปวิตกกังวล
  2. ความวิตกกังวลเป็นเรื่องผิดธรรมชาติ:  พระเยซูคริสต์ได้ยกตัวอย่างจากธรรมชาติจากข้อที่ 26 ว่า “จง​ดู​นก​ทั้ง​หลาย​บน​ฟ้า พวก​มัน​ไม่​ได้​หว่าน ไม่​ได้​เกี่ยว ไม่​ได้​รวบ​รวม​ไว้​ใน​ยุ้งฉาง แต่​พระ​บิดา​ของ​พวก​ท่าน ผู้​สถิต​ใน​สวรรค์​ทรง​เลี้ยง​พวก​มัน​ไว้ ท่าน​ไม่​ประเสริฐกว่า​พวก​มัน​หรือ?” (มตฐ.)  มีอยู่สิ่งเดียวท่ามกลางสรรพสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างที่มีความวิตกกังวล  คือมนุษย์   หรือพูดกันแบบตรง ๆ ก็คือมีมนุษย์เท่านั้นที่พระเจ้าทรงสร้างที่ไม่ไว้วางใจในพระผู้สร้างของตน และมนุษย์กลุ่มนี้ผิดธรรมชาติจริง ๆ
  3. การวิตกกังวลไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น:  พระเยซูกล่าวในคำเทศนาบนภูเขาว่า “มี​ใคร​ใน​พวก​ท่าน​ที่​โดย​ความ​กระ​วน​กระ​วาย สามารถ​ต่อ​อายุ​ของ​ตน​ให้​ยืน​นาน​ขึ้น​อีก​นิด​หนึ่ง​ได้” (มัทธิว 6:27 มตฐ.)  เมื่อเราวิตกในปัญหาที่เกิดขึ้น   มันไม่ได้ช่วยให้เราสามารถพบคำตอบหรือข้อสรุปที่ชัดเจนขึ้นเลย   การวิตกกังวลเป็นเหมือนการนั่งบนเก้าอี้โยก  ที่โยกไปหน้าไปหลัง   ใช้พลังในการขับเคลื่อน  มีการเคลื่อนไหวมากมาย   แต่ไม่ได้ไปถึงไหนเลย   ไร้ซึ่งความก้าวหน้า     ความวิตกกังวลไม่ได้ทำให้สิ่งที่วิตกกังวลดีขึ้นเลย   นอกจากทำให้คนที่วิตกกังวลไม่มีความสุข และ อาจจะถึงขั้นน่าสังเวช
  4. ความวิตกกังวลไม่จำเป็นจะต้องมีในชีวิต:   พระเยซูคริสต์สอนในมัทธิว 6:30 ว่า “...​ถ้า​พระ​เจ้า​ทรง​ตก​แต่ง​หญ้า​ที่​ทุ่งนา​อย่าง​นั้น ซึ่ง​เป็น​อยู่​วัน​นี้​และ​รุ่ง​ขึ้น​ต้อง​ทิ้ง​ใน​เตา​ไฟ โอ พวก​มี​ความ​เชื่อ​น้อย พระ​องค์​จะ​ไม่​ทรง​ตก​แต่ง​ท่าน​มาก​ยิ่ง​กว่า​นั้น​หรือ? (มตฐ.)   ถ้าเราไว้วางใจในพระเจ้า  เราจำเป็นที่จะต้องวิตกกังวลไปทำไมหรือ?   เพราะพระองค์ทรงสัญญาว่าจะเอาใจใส่ชีวิตของเราทุกคน   พระองค์ทรงใส่ใจในทุกรายละเอียดที่เราจำเป็นต้องการ  “...​พระ​เจ้า​ของ​ข้าพ​เจ้า​จะ​ประ​ทาน​ทุก​สิ่ง​ที่​จำเป็น​แก่​พวก​ท่าน​จาก​ทรัพย์​อัน​รุ่ง​โรจน์​ของ​พระ​องค์​ใน​พระ​เยซู​คริสต์” (ฟิลิปปี 4:19 มตฐ.)


ที่กล่าวมานี้รวมถึงหนี้สินที่เรามีหรือไม่?  ใช่แล้ว   และยังรวมถึงความวุ่นวายไม่ชอบมาพากลในที่ทำงาน   และยังรวมถึงความขัดแย้งในความสัมพันธ์   รวมถึงความใฝ่ฝันและเป้าหมายและความปรารถนาอันแรงกล้าของเราด้วย   แล้วก็ไม่ได้ละเว้นเรื่องของสุขภาพที่เราไม่รู้ว่าจะจัดการกับมันอย่างไร  

ใช่แล้วพระเจ้าจะใส่ใจในทุกรายละเอียดในความจำเป็นของเราครับ

วันนี้ท่านต้องเลือกว่าจะวางใจในพระเจ้า หรือ จะวิตกกังวลดี?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

23 กันยายน 2558

พระกิตติคุณตอบโจทย์: ความกังวลในชีวิต

เพราะฉะนั้น  อย่าวิตกกังวลเกี่ยวกับพรุ่งนี้ 
เพราะพรุ่งนี้ก็มีเรื่องวิตกกังวลเกี่ยวกับพรุ่งนี้เอง  
แต่ละวันก็มีความเดือดร้อน (เรื่องวิตกกังวล) ของมันพออยู่แล้ว (มัทธิว 6:34 อมต.)

“แต่ละวันก็มี...พออยู่แล้ว”  ใช่ครับแต่ละวันเราท่านต่างมีความวิตกกังวลมากพออยู่แล้ว!

แล้วในฐานะคริสตชนเราจะรับมือกับ “ความวิตกกังวล” ในชีวิตอย่างไร?   ความวิตกกังวลในชีวิตมักเป็นอาการเมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่เราไม่รู้ว่าจะจัดการกับมันอย่างไรดี   และการที่เราจะสามารถมีความคิด อารมณ์อยู่เหนือความวิตกกังวล  หรือ  การที่เราจะไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของการวิตกกังวลนั้นคือ   การที่คริสตชนยอมจำนนต่อพระเจ้า   เพราะบนรากฐานความเชื่อวางใจพระเจ้าว่า  พระองค์ทรงมีแผนการจัดการกับสิ่งที่เราไม่สามารถจัดการและควบคุมได้   พระเจ้าทรงต่อสู้เพื่อคนที่ยอมจำนนด้วยเชื่อและวางสิ่งเหล่านั้นให้อยู่ในการจัดการของพระองค์ (เนหะมีย์ 4:20; เฉลยธรรมบัญญัติ 3:22; อพยพ 14:14)

สิ่งหนึ่งที่คริสตชนจะต้องสนใจในพระธรรมนี้ (มัทธิว 6:34) คือ   พระธรรมข้อนี้เป็นพระบัญชาของพระคริสต์ เป็นประโยคคำสั่งที่พระองค์ตรัส เป็นคำตรัสสั่งจากพระโอษฐ์ของพระองค์ เพราะพระองค์ตระหนักรู้ว่า การที่เราจะไปวิตกกังวลทั้งเรื่องในวันนี้และในอนาคตไม่ใช่สิ่งดีมีประโยชน์อะไร   เพราะสิ่งที่เราวิตกกังวลคือสิ่งที่เราไม่สามารถเข้าไปควบคุมจัดการได้ด้วยความสามารถของเราเอง

ก่อนที่พระคริสต์จะบัญชาเราเรื่องการวิตกกังวล   พระองค์ให้มุมมองแก่คริสตชน หรือ มุมมองจากพระกิตติคุณว่า  ชีวิตของเรามีคุณค่ามากกว่า เรื่องกินเรื่องดื่ม  เครื่องนุ่งห่ม และรวมไปถึงการงาน  อาชีพ  ฐานะ ตำแหน่ง  ความเด่นดัง  การยอมรับยกย่องจากคนอื่น... แต่สิ่งที่คริสตชนควรแสวงหาคือให้ชีวิตของเราอยู่ภายใต้การปกป้องครอบครองดูแลของพระเจ้า(แผ่นดินของพระเจ้า)  และการไว้วางใจในพระองค์ก่อน (6:33)

ขอตั้งข้อสังเกตว่า มัทธิวบทที่ 6 เริ่มต้นด้วย  เรื่องคริสตชนควรมีท่าทีอย่างไรในการช่วยเหลือคนอื่น (6:1-4)  และพระคริสต์วางแบบอย่างในการอธิษฐาน   ที่สำคัญคือการอธิษฐานมิใช่ศาสนพิธี  หรือทำเป็นพิธีรีตอง   แต่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ในชีวิตของตนกับองค์พระผู้เป็นเจ้า  มิใช่เรื่องที่จะทำอวดคนอื่น  สร้างความสำคัญโดดเด่นแก่ตนเอง (6:5-15)  และการอดอาหารก็เช่นกัน ให้กระทำในที่ลับลี้ (6:16-18) จากนั้น พระองค์พูดถึงเรื่องคนที่พยายามสะสมเงินทองสมบัติเพื่อตนเอง แต่ได้รับความสูญเปล่า (6:19-24

ในที่สุด พระองค์ขมวดลงว่า คนเรามักวิตกกังวลหลายสิ่งในชีวิตที่ตนเองไม่สามารถเข้าควบคุมได้ (6:25-34) แต่พระองค์ได้วางแบบอย่างว่า ชีวิตคริสตชนควรจะเป็นอย่างไร   คริสตชนควรช่วยคนอื่นอย่างไร   ควรอธิษฐานขอการทรงช่วยเหลือเพื่อคนอื่นอย่างไร   คริสตชนจะไม่พึ่งพิงทรัพย์สินเงินทองมรดกสมบัติว่าเป็นแหล่งความช่วยเหลือในชีวิต   และในที่สุดพระคริสต์บัญชาคริสตชนว่า   ไม่ควรมีชีวิตด้วยการที่พยายามเข้าไปควบคุมทุกเรื่องด้วยตนเองแต่ยอมจำนนให้ชีวิตตนอยู่ภายใต้การปกป้อง ดูแลของพระเจ้า   ซึ่งพระองค์จะดูแลสิ่งจำเป็นต้องการต่าง ๆ ในชีวิตของเราด้วย

ในชีวิตคริสตชน เราจะต้องไว้วางใจการปกป้อง ดูแล และการใส่ใจของพระเจ้า   นั่นหมายความว่าเราต้องยอมจำนนชีวิตให้อยู่ใต้การปกครองของพระองค์ (อยู่ในแผ่นดินของพระเจ้า) และไว้วางใจในแผนการแห่งพระคุณของพระเจ้า   ซึ่งหลาย ๆ เรื่องที่เราไม่สามารถควบคุมจัดการได้ด้วยตัวเราเองก็จะอยู่ในการทรงจัดการตามแผนงานและพระประสงค์ของพระเจ้าที่มีต่อชีวิตของเรา

เมื่อเกิดอาการวิตกกังวลขึ้นเมื่อใด   นั่นเป็นอาการชี้วัดว่าเรากำลังขาดพร่องที่จะไว้วางใจในพระเจ้าใช่ไหม?   ในเวลาเช่นนั้นเราจะให้พระกิตติคุณของพระคริสต์ตอบโจทย์ชีวิตของเรา   หรือเราจะพยายามตอบโจทย์ชีวิตนั้นด้วยตัวเราเอง?  

คริสตชนต้องเลือกครับ!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

16 กันยายน 2558

เราจะรอคำตอบจากพระเจ้าอย่างไรดี?

ท่านเคยถามตนเองหรือไม่ว่า   พระเจ้าต้องการให้เราทำอะไรเมื่อกำลังรอคำตอบสำหรับคำอธิษฐานของเรา?   ในสดุดี 37:7  กล่าวไว้ว่า   “จง​สงบ​อยู่​ต่อ​พระ​ยาห์​เวห์ และ​เพียร​รอ​คอย(การตอบสนองของ)​พระ​องค์... (สดุดี 37:7 มตฐ.)  

ขอตั้งข้อสังเกตว่า   บางท่านรอไปก็บ่นไป ตราบใดที่ยังได้บ่นก็ยังรอคอยได้   หรือไม่ก็ทำอย่างที่เราต้องรอคอยเข้าแถวรับบริการของรัฐที่เชื่องช้ายืดยาด   แล้วก็ต่อว่าการทำงานไม่เอาไหนของข้าราชการที่เช้าชามเย็นชาม

แต่พระเจ้าบอกกับเราว่า  เมื่อเรารอคอย   ให้เรารอคอย อย่างสงบด้วยความเพียร

บางครั้งบางคนรอคอยคำตอบจากพระเจ้าแบบเด็กสองขวบที่อยู่ไม่สุข   เรารู้สึกสับสนวุ่นวายใจ   เรารู้สึกว่าเราต้องทำอะไรบางอย่าง   แต่พระเจ้าตรัสว่า  ให้เราเพียรรอคอยอย่างสงบ   อย่าสับสนว้าวุ่นใจ   แล้วอย่าพยายามที่จะจัดการเรื่องที่ท่านได้ทูลต่อพระองค์ด้วยตนเอง

ที่สำคัญ   อย่าให้เราต้องลงมือทำผิดซ้ำอย่างที่อับราฮามได้เคยทำผิดพลาดในเรื่องเช่นนี้มาแล้ว   โดยพยายามที่จะทำอะไรบางอย่างเพื่อเป็นการตอบสนองต่อคำอธิษฐานที่เราทูลต่อพระเจ้า  เพราะการกระทำเช่นนั้นของเราจะทำให้เกิดปัญหาตามมาที่ยุ่งเหยิงยากเย็นในการแก้ไขภายหลัง   

พระเจ้าทรงสัญญากับอับราฮามว่า   พระเจ้าจะทรงกระทำให้อับราฮามเป็นบิดาแห่งชนชาติที่ยิ่งใหญ่   แต่มีปัญหาว่า  ประการแรกอับราฮามอายุปาเข้าไป 99 ปีแล้ว   แล้วยังไม่มีลูกแม้แต่คนเดียว   ประการที่สอง เมื่อมองไปที่ซาราห์ภรรยาของตน   ปัญหาของนางคือเป็นหมัน   แล้วเรื่องที่ตนจะเป็นบิดาของชนชาติใหญ่จะเป็นจริงได้อย่างไร?   เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ “ยากส์ยกกำลังสอง”

ในที่สุดอับราฮามตัดสินใจทำบางอย่างตามคำแนะนำของภรรยา   คือการมีบุตรกับหญิงคนใช้ของซาราห์   อับราฮามคิดว่านี่คือคำตอบจากพระเจ้า (หรือ ช่วยพระเจ้ามีคำตอบ)   ที่ให้ท่านมีบุตรชายเมื่ออายุ 99 ปี  แล้วบุตรคนนี้ได้ชื่อว่าอิชมาเอล   แต่พระเจ้าบอกว่า นี่ไม่ใช่แผนการของพระองค์   อับราฮามคิดเอาเอง  คิดผิด สำคัญผิดไปเสียแล้ว   แต่พระเจ้าทรงประทานบุตรชายแก่อับราฮามทางนางซาราห์ภรรยา   ซึ่งเป็นการอัศจรรย์เหนือความเป็นไปได้ตามธรรมชาติ   บุตรชายที่พระเจ้าประทานมานี้ชื่อว่า อิสอัค  มีความหมายว่า “หัวเราะ”   เพราะนางซาราห์เมื่อได้ยินแผนการที่จะประทานบุตรชายให้อับราฮาม  นางถึงกับหัวเราะ   เพราะนางไม่รู้ว่าจะเชื่อสิ่งที่พระเจ้าบอกได้อย่างไร?

แต่พระเจ้าได้ให้เกิดเสียงหัวเราะที่มาจากความชื่นชมยินดีภายในชีวิต   พระเจ้าประทานอิสอัคแก่อับราฮามและซาราห์   แต่สิ่งที่ตามมา อับราฮามต้องรับมือกับความขัดแย้งถึงกับชีวิต ระหว่างผลที่ตนกระทำลงไปเมื่อกำลังรอคอยการทรงตอบตามพระสัญญา กับสิ่งที่เกิดตามพระสัญญา   เป็นความขัดแย้งขนาดเป็นความเป็นความตายถึงกับชีวิต   และในวิกฤติเช่นนั้นต่างต้องพึ่งพิงพระคุณของพระเจ้า   แต่ความขัดแย้งที่ตึงเครียดรุนแรงนี้ยังสืบทอดยาวนานมาจนทุกวันนี้

อย่าให้เราพยายามที่จะทำอะไรบางอย่างเพื่อให้เป็นคำตอบที่เรากำลังรอคอยคำตอบจากพระเจ้า   ระวังว่านั่นเรากำลังสร้างปัญหาใหม่ ๆ  ความสับสนวุ่นวายที่ไม่รู้จบให้แก่ตัวเราเอง   แต่ให้เราเพียรรอคอยคำตอบจากพระเจ้า ด้วยความสงบ   ที่จะทรงตอบเราในเวลาที่พระองค์กำหนด   ที่เหมาะสมสำหรับสถานการณ์ในชีวิตของเรา

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

14 กันยายน 2558

ตัวปิดกั้น “ความสำเร็จ” ในตัวคุณ!

ท่านตระหนักรู้หรือไม่ว่า   ขณะนี้ท่านกำลังเข้าใกล้ความสำเร็จที่ท่านคาดฝันไว้มากแค่ไหน?

ถ้าเราท่านรู้ว่าเราใกล้ความสำเร็จเข้าทุกที   เราคงจะรีบคว้าความสำเร็จที่อยู่แค่เอื้อมมือใช่ไหม?

ความจริงในชีวิตประการหนึ่งก็คือว่า   ไม่ว่าเราจะรู้สึกว่าเรากำลังล้มเหลวแค่ไหน   ความสำเร็จยังพร้อมที่จะทะลักเข้ามาในชีวิตของเรา   สิ่งสำคัญคือเราต้อง “รื้อ” สิ่งที่ปิดกั้นความสำเร็จที่มีในชีวิตของเราออกเสีย

สิ่งปิดกั้นความสำเร็จในตัวเรา 3 ประการคือ...

1. ลูกอีช่างแก้ตัว:   ถ้าเราพิจารณาถึงชีวิตของบุคคลที่ประสบความสำเร็จเราจะพบว่า  คนพวกนี้ไม่ยอมแก้ตัว   อย่างเช่น สตีฟ จอบส์ เมื่อสิ่งที่เขาคิดเขาทำประสบความล้มเหลว   เขาไม่เคยกล่าวโทษคนอื่น  โยนความผิดให้คนอื่น  หรือ “หาแพะ” มารับบาป   เขาเปิดใจยอมรับความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในสิ่งที่เขาคิด เขาตัดสินใจ และสิ่งที่เขาทำ   เขาไม่พยายามที่จะอ้างโน่นอ้างนี่  รวมถึงอ้างว่าไม่มีทางเลือกที่จะไม่ให้เกิดความล้มเหลว

เขาไม่เป็น “ลูกอีช่างแก้ตัว” เพราะเขาตระหนักรู้แล้วว่า  ความล้มเหลวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้   ยิ่งกว่านั้นความล้มเหลวที่เกิดขึ้นมิใช่ตัวบ่งบอกว่าทุกอย่างถึงกาลอวสาน   แต่เขากลับมองว่า ความล้มเหลวเป็นเพียงย่างก้าวหนึ่งบนวิถีที่นำไปสู่ความสำเร็จ

2. กลัวที่จะล้มเหลว:   ตามที่กล่าวแล้วว่า   ความล้มเหลวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา  และความล้มเหลวมิใช่ตัวบ่งชี้ว่าถึงกาลอวสาน  แต่เป็นอีกย่างก้าวหนึ่งของวิถีที่นำไปสู่ความสำเร็จ

แต่เราพบว่า  คนจำนวนไม่น้อยเลยที่เมื่อต้องพบประสบกับความล้มเหลวแล้วจะรู้สึกและคิดว่า  ตนเองหมดสิ้นทุกอย่าง   เขายกมือยอมแพ้   แต่ไม่รู้ตัวเลยว่าแท้จริงแล้วเขาได้มุ่งเข้าไปใกล้เป้าหมายและความสำเร็จมากขึ้นทุกที

ทั้งนี้เพราะ เขากล่าวโทษตนเองเมื่อเกิดความผิดพลาดล้มเหลว   เขามักคิดว่าตนเองต้องผิดพลาดอะไรสักอย่างหนึ่งถึงทำให้สิ่งที่ตนทำเกิดความล้มเหลว   ดังนั้น เมื่อคนกลุ่มนี้จะทำอะไร  สิ่งที่ผุดขึ้นในความนึกคิดและจิตใจของเขาคือ “กลัวว่าตนจะทำผิดพลาด”  กลัวว่าตนต้องเผชิญหน้ากับความล้มเหลว   ทั้งนี้เขามิได้ตระหนักรู้ชัดว่า ความล้มเหลวหรือความสำเร็จเป็นสิ่งที่อยู่บนเส้นทางเดียวกันที่เขากำลังต้องจาริกไป   และความล้มเหลวเป็นเพียงส่วนหนึ่งในความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่เท่านั้น

เมื่อเกิดความกลัวการล้มเหลว  เขาก็หยุดชะงักที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จ

3. กดดันตนเอง:  เวลาสตีฟ จอบส์,  เอดิสัน,  หรือ ไอสไตน์  ประสบกับความล้มเหลว   คนพวกนี้ตะโกนด่าตนเองในใจว่าตนเองนี้มันงี่เง่า  ขี้เกียจ ทุ่มเทไม่พอ หรือกล่าวด่าทอต่อว่าตนเองต่าง ๆ นานา เช่นนั้นหรือ?   ไม่เลยคนเหล่านี้ไม่ได้ทำเช่นนั้น

คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตจะไม่กดดันตนเองเมื่อต้องพบกับความผิดพลาดล้มเหลว   เพราะพวกเขารู้เท่าทันตนเองว่า  การกดดันตนเองรังแต่จะสร้างอารมณ์โกรธให้เกิดขึ้นในตนเอง   และการกระทำเช่นนี้เท่ากับว่าเขายิ่งผลักดันให้เป้าหมายและความสำเร็จห่างไกลเขาออกไปทุกที    แล้วเขาเองก็ยังรู้สึก “หัวเสีย” อยู่ดี   แต่ผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตเหล่านี้เมื่อประสบความล้มเหลว   เขาได้ปรับให้การไม่ได้ตามที่คาดหวังให้เป็นอารมณ์ที่มีพลังเชิงบวก   เป็นพลังที่เขาจะใช้ในทางที่สร้างสรรค์  เขาใช้ความผิดพลาดล้มเหลวเป็นเชื้อเพลิงที่จะขับเคลื่อนเครื่องยนต์ของตนไปสู่เป้าหมายและความสำเร็จ

อย่าลืมสัจจะความจริงเมื่อเราจะต้องเผชิญหน้ากับความล้มเหลวว่า   เรากำลังเข้าใกล้ความสำเร็จมากกว่าที่เราคิดเราคาด   เพียงให้รู้เท่าทันและหาหนทางในการ “รื้อ” เครื่องปิดกั้นความสำเร็จที่มีในตัวเราออกไปเสีย   เมื่อนั้น เราจะเห็นเป้าหมายและความสำเร็จชัดเจน   ที่สำคัญเราได้ปรับเปลี่ยนเครื่องปิดกั้นความสำเร็จให้กลายเป็นเชื้อเพลิงที่เป็นพลังให้เราขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายและความสำเร็จเพิ่มมากขึ้น

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

07 กันยายน 2558

ท่านจะบ่มเพาะอะไรในลูกหลาน...ชนรุ่นใหม่?

ในพระคัมภีร์ของคริสต์ศาสนา  พระเจ้าทรงเริ่มพระราชกิจของพระองค์   พระคัมภีร์บันทึกไว้ว่าสิ่งที่พระองค์ทรงริเริ่มสร้างสรรค์ล้วนเป็นสิ่งดีทั้งนั้น   จากประสบการณ์ในการดำเนินชีวิตของเราพบว่า  การที่เราเริ่มต้นด้วยดีเป็นพลังและองค์ประกอบที่หนุนนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิต

เมื่อผมมีโอกาสออกเป็นวิทยากรในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ หรือ ในการฝึกอบรมในที่ต่าง ๆ   ผู้เข้าร่วมมักหาเวลาส่วนตัวเพื่อถามไถ่ผมว่า   ทุกวันนี้เราจะเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานของเราอย่างไรดี   อะไรคือสิ่งสำคัญ ๆ ที่เราควรเสริมสร้างให้เกิดขึ้นในลูกหลานและเยาวชนคนรุ่นใหม่ของเรา?   ใช่ครับ  คำถามลักษณะนี้มีความสำคัญยิ่งครับ   เรากำลังมองหาแนวทางในการปลูกฝังทุ่มเทสิ่งดี ๆ ลงในชีวิตให้กับชนรุ่นใหม่ของเรา   เพื่อพวกเขาจะได้เกิดผลดี   และที่สำคัญกว่าคือ  พวกเขาจะได้บรรลุความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่าคนในยุคนี้

ศาสนาจารย์ ดร. จอห์น แม็กซ์แวลล์  นักคิด นักเขียน นักฝึกอบรม   ได้กล่าวถึงผู้ที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองของคนรุ่นใหม่ว่า   ให้เริ่มเสริมสร้างสิ่งดีในชนรุ่นใหม่  เพราะนี่คือสิ่งที่มีคุณค่ามหาศาลในชีวิตของลูกหลาน ชนรุ่นใหม่   เพราะพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นผู้ทำหน้าที่ที่สำคัญและทรงเกียรติอย่างยิ่งที่ช่วยให้ลูกหลานชนรุ่นใหม่เริ่มต้นชีวิตของเขาในทางที่ถูกตั้งแต่เยาว์วัย

1.  ช่วยชนรุ่นใหม่รู้เท่าทันตนเอง
การช่วยให้ชนรุ่นใหม่รู้เท่าทันตนเอง และ เกิดประสบการณ์ชีวิตนั้นสามารถทำได้ในทุกช่วงวัยของลูกหลาน  ไม่มีวัยไหนที่อ่อนเยาว์เกินไปที่จะมีประสบการณ์และเรียนรู้เท่าทันตนเอง   ที่ชนรุ่นใหม่คนนั้นจะเรียนรู้เท่าทันถึงความเข้มแข็งและจุดเปราะบางในชีวิตของตน   นั่นหมายความว่า ยิ่งเราช่วยให้ชนรุ่นใหม่ริเริ่มรู้ที่จะพัฒนาจุดแข็งของตน และ กำจัดจุดอ่อนที่พบตั้งแต่เยาว์วัยในชีวิตของเขา   อย่ามุ่งเน้นที่จะช่วยให้คนรุ่นใหม่รู้เท่าทันเฉพาะแต่ในด้านความรู้วิชาการ(ในโรงเรียนในมหาวิทยาลัย)เท่านั้น   แต่ให้เขารู้เท่าทันตนเองทั้งในด้านบุคลิกภาพ และ ลักษณะและอุปนิสัยของตนด้วย

2.  ช่วยชนรุ่นใหม่รู้จักริเริ่มความสัมพันธ์
คนเราทุกคนไม่ได้เกิดมาพร้อมกับความสามารถที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนฝูง หรือ รับมือกับความขัดแย้งโดยอัตโนมัติ   แต่การเป็นแบบอย่างของผู้ใหญ่รอบข้างคือรูปแบบที่ชนรุ่นใหม่จะเรียนรู้   อีกทั้งยังสามารถที่จะแนะนำให้ชนรุ่นใหม่ทดลองปฏิบัติในแนวทางต่าง ๆ ถึงการรับมือจัดการกับความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์  และวิธีการเสริมสร้างมิตรภาพกับผู้คนรอบข้างที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์   แล้วช่วยชนชนรุ่นใหม่ในการตกตะกอนสิ่งที่เขาเรียนรู้เรื่องนี้จากประสบการณ์ตรงของเขา

3.  ช่วยชนรุ่นใหม่ค้นพบและจัดอันดับสิ่งสำคัญก่อนหลังในชีวิต
ในโลกทุกวันนี้เต็มล้นไปด้วยโอกาสนานาประการ   เป็นการง่ายที่ชนรุ่นใหม่จะถูกโอกาสเหล่านั้นยั่วยวนครอบงำได้ง่าย   โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนรุ่นใหม่ที่กำลังจะก้าวเข้าไปสู่วัยรุ่น   ในเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้พ่อแม่ผู้ปกครองต้องช่วยชนรุ่นใหม่ให้ค้นพบว่า  อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเขา   เพื่อจะช่วยให้คนรุ่นใหม่ใช้เวลาและพลังชีวิตของเขากับสิ่งเหล่านั้น   เยาวชนคนรุ่นใหม่ทุกคนต้องการที่จะมีเวลาพักผ่อนและทำการบ้าน หรือ สิ่งที่เขาต้องรับผิดชอบในแต่ละวัน   ผู้ใหญ่ในวันนี้ต้องช่วยให้ชนรุ่นใหม่เหล่านี้ที่จะเรียนรู้การปฏิเสธในสิ่งที่ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของเขา

4.  ช่วยชนรุ่นใหม่ให้สกัดและตกตะกอนปรัชญาชีวิตของตนเอง
วัยรุ่นชนรุ่นใหม่โหยหาความหมายในชีวิต   เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะช่วยให้วัยรุ่นค้นหาให้พบถึงปรัชญา หรือ เส้นทางการดำเนินชีวิตของเขา   ในฐานะที่เราเป็นคริสตชน   เราต้องหนุนเสริมและช่วยให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ของเรามีประสบการณ์ในความเชื่อศรัทธาของเขา   แล้วช่วยให้ชนรุ่นใหม่เหล่านี้ที่จะตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิต แนวทางการดำเนินชีวิตสำหรับตัวเขาเอง   การที่เราช่วยให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ค้นพบความหมายในชีวิตของเขาตั้งแต่เยาว์วัยจะเป็นประโยชน์และคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับชีวิตของเขาที่เขาจะพบประสบในอนาคต

5.  ช่วยชนรุ่นใหม่บ่มเพาะและหล่อหลอมวินัย/นิสัยชีวิตที่สร้างสรรค์
เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ท่านกำลังดูแลใส่ใจอยู่ในทุกวันนี้  ได้มีเวลานอนพักผ่อนที่เพียงพอหรือไม่?   รับประทานอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกายของเขาหรือไม่?   พวกเขาได้ออกกำลังกายอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอหรือไม่?   พวกเขาทำในสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตก่อนหรือไม่?   ในฐานะผู้สูงอายุ  ผมมองย้อนหลังชีวิตผมด้วยความรู้สึกว่าผมน่าจะบ่มเพาะหล่อหลอมวินัย/นิสัยในตัวผมมาแต่เยาว์วัย    ทุกวันนี้เราเห็นได้ว่าผู้ใหญ่วัยรุ่นไม่สนใจว่าทำอย่างไรที่จะมีสุขภาพที่แข็งแรง   แต่กลับสนใจว่าทำอย่างไรจะได้มั่งคั่งร่ำรวย   แต่เมื่อมองผู้ใหญ่วัยสูงอายุกลับพบว่า   คนกลุ่มนี้แสวงหาว่าจะทำอย่างไรที่จะมีสุขภาพที่แข็งแรง   แม้ว่าจะต้องใช้จ่ายทรัพย์สินมากมายแค่ไหนก็ตาม   แต่ความจริงที่เราพบก็คือว่า   สุขภาพที่แข็งแรงในวัยรุ่นผู้ใหญ่ที่เรายอมสูญเสียไป   ยากที่จะเรียกคืนเมื่อเราอยู่ในวัยสูงอายุ

6.  ช่วยชนรุ่นใหม่ให้เรียนรู้ในสิ่งที่เขาควรเรียนรู้
ทำอย่างไรที่เราจะหนุนเสริมหรือช่วยให้ชนรุ่นใหม่รักที่จะเรียนรู้ในชีวิต  (มิใช่เพื่อจะเอาไปสอบเพื่อได้คะแนน)  เป็นการหนุนเสริมเพิ่มพลังให้ชนรุ่นใหม่ที่จะสนใจและทุ่มเทในการเรียนรู้เพื่อชีวิตจะเจริญเติบโตขึ้น   โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เจ้าตัวมีความสนใจสูง   และในช่วงนี้เป็นโอกาสที่เขาจะพัฒนาความรู้สติปัญญาในสิ่งที่เขาอยากรู้อยากเห็น   ในช่วงเวลาเช่นนี้ผู้ใหญ่ควรหนุนเสริมชนรุ่นใหม่ให้รู้จักที่จะตั้งคำถามกับตนเอง  และรวบรวมประมวลข้อมูลเรื่องราวที่ตนสนใจ   แน่นอนครับ ช่วงนี้ต้องหนุนเสริมให้เขาอ่าน แล้วอ่าน และอ่านให้มากขึ้น

7.  ช่วยชนรุ่นใหม่รู้จักที่จะ “เลือก” ทุ่มเทบางสิ่งในชีวิต
ผมจำได้ว่าในวัยเยาว์วัยรุ่น   ผมดูอะไรต่อมิอะไรก็อยากได้อยากมีอยากเป็นไปทั้งนั้น   แต่เมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้วผมเรียนรู้ว่าชีวิตของเราต้องเลือก   ในฐานะผู้ใหญ่เราควรช่วยให้ชนรุ่นใหม่เรียนรู้วิธีการ/แนวทางในการเลือก   และเรียนรู้ด้วยว่าเราต้องยอมตัดละบางโอกาสก่อน  เช่น  ผมจะเลือกทำการบ้านก่อน หรือ เล่นก่อน   เยาวชนคนรุ่นใหม่สามารถที่จะเลือกทำอะไรก่อนก็ได้   แต่จะต้องยอมรับผลที่จะเกิดขึ้นตามมา   เช่น เลือกที่จะเล่นก่อน   เล่นจนเพลิน  จนไม่มีเวลาที่จะทำการบ้าน   วันรุ่งขึ้นไม่มีการบ้านส่งครู  เขาจะต้องยอมรับผลที่ไม่ได้ทำการบ้าน   แต่ถ้าเขาเลือกที่จะทำการบ้านก่อน  แล้วเล่นเท่าที่เวลาเหลือ   วันรุ่งขึ้นเขามีการบ้านส่งครู  และก็มีเวลาได้เล่น ผู้ใหญ่ควรช่วยชนรุ่นใหม่ในการที่จะรู้จักทุ่มเทชีวิตกับสิ่งที่สำคัญที่สุดในเวลานั้น ๆ ของตน

8.  ช่วยชนรุ่นใหม่เริ่มเตรียมตนเพื่ออนาคต
ในฐานะผู้ใหญ่เราเคยเป็นเยาวชนมาก่อน   เมื่อเป็นเยาวชนเราใช้ชีวิตง่วนอยู่กับสถานการณ์ในเวลานั้น   แต่เมื่อเรามีอายุมากขึ้นเรามุ่งมองไปข้างหน้าของเรา เรามองถึงอนาคตของเรา   ดังนั้น ผู้ใหญ่ควรให้เวลาที่จะพูดคุยกับชนรุ่นใหม่ว่า   เขาต้องการให้ชีวิตในอนาคตของเขาเป็นแบบไหน   ช่วยเขาให้ค้นพบภาพชีวิตในอนาคตของเขา   และนี่จะเป็นตัวกระตุ้นให้เขาเริ่มทุ่มเทใช้ชีวิตกับสิ่งสำคัญที่เขาต้องการให้เกิดขึ้นในอนาคต   และเป็นพลังชีวิตที่จะหนุนเนื่องไปสู่นิมิตหมายในอนาคต

9.  ช่วยชนรุ่นใหม่ให้ค้นพบเป้าหมายในชีวิต
ทุกชีวิตได้รับการทรงสร้างมาอย่างมีเป้าหมายและคุณค่า  ทุกคนมีชีวิตที่มีความสำคัญ  และทุกคนสามารถที่จะบรรลุถึงเป้าหมายที่มีคุณค่าและความสำคัญเหล่านั้น   ถ้าเช่นนั้นเราจะต้องเข้าใจว่า   ความสำเร็จในชีวิตคือการที่คน ๆ นั้นรู้ถึงเป้าหมายในชีวิตของตนเอง  และพัฒนาศักยภาพที่ตนมีในชีวิตให้เป็นความสามารถที่นำมาใช้ได้อย่างเต็มที่   แล้วใช้ความสามารถเหล่านั้นเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นด้วย   และนี่คือสิ่งที่เราควรปลูกฝังในความเข้าใจของชนรุ่นใหม่   แล้วหนุนเสริมให้เขาเริ่มแสวงหาว่า เขาจะทำสิ่งที่มีคุณค่าสูงสุดในชีวิตของเขาด้วยศักยภาพที่รับการพัฒนาเป็นความสามารถ  เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนได้อย่างไร   เมื่อนั้น เราได้ช่วยให้ชนรุ่นใหม่ได้ค้นพบเป้าหมายในชีวิตมิใช่เพื่อตนเองเท่านั้น  แต่เพื่อคนอื่นด้วย

นี่คือ 9 ภารกิจอันสำคัญที่ชนรุ่นสูงอายุควรรับผิดชอบ หว่าน บ่มเพาะ และ เสริมหนุนให้เกิดขึ้นในชนรุ่นใหม่ในวันนี้ครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

04 กันยายน 2558

พลังแห่งแผ่นดินของพระเจ้าจะแผ่ขยายในสังคมชุมชนได้อย่างไร?

ทุกวันนี้ คริสตจักรส่วนใหญ่จะรวมตัวกัน พบปะกัน  หรือทำกิจกรรมด้วยกันภายในขอบรั้วของคริสตจักร   แม้แต่กลุ่มเซลล์ หรือ กลุ่มเล็ก   ก็กระจุกรวมตัวในมุมที่พวกตนรู้สึกปลอดภัยและสะดวกสบาย   ผมเคยเดินถามผู้คนในชุมชนว่า  เขาทำอะไรกันในคริสตจักรของพวกคริสต์   เกือบทั้งหมดจะตอบว่าไม่รู้   นอกนั้นจะตอบว่าเขาไปสวดร้องเพลงกันในโบสถ์

คุณเชื่อไหม ...  ชาวบ้านชาวช่องเขาไม่รู้ว่า เราทำอะไรกันในคริสตจักร!

ผมเคยแบ่งปันเรื่องนี้กับแกนนำคริสตจักรบางคน   เขาตอบผมว่า  “อยากรู้ก็เข้ามาในคริสตจักรสิ!

เออ...ให้มันคิดได้อย่างนี้สิ...!   เขาไม่อยากรู้หรอกว่าเราทำอะไรกันในคริสตจักร   แต่เราคริสตชนต่างหากที่ต้องการให้เขารู้จักพระเยซูคริสต์มิใช่หรือ?   เราต้องการที่จะให้ผู้คนในชุมชนได้มีชีวิตที่มีคุณภาพในแผ่นดินพระเจ้ามิใช่หรือ?   แล้วถ้าสมาชิกคริสตจักรมัวแต่เก็บตัวในรั้วโบสถ์   แล้วคนในชุมชนจะรู้จักพระเยซูคริสต์ได้อย่างไรกัน?

หรือท่านยังยืนยันว่า  ถ้าจะรู้จักคริสตชนและรู้จักพระคริสต์จะต้องเข้ามาในคริสตจักร?

แต่พระเยซูคริสต์ใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตของพระองค์ทำงานคลุกคลีอยู่กับผู้คนต่าง ๆ บนท้องถนน   เข้าไปในชุมชน   เข้าไปในบ้านของชาวบ้าน   พบปะกับคนที่ถูกทอดทิ้ง   ใช้ชีวิตส่วนใหญ่กับประชาชน   จึงไม่น่าแปลกที่ประชาชน คนในสังคมชุมชนรู้จักพระเยซูคริสต์   มากกว่านั้นต้องการเห็น  ต้องการพบปะ  สัมผัส  และต้องการรับการเยียวยารักษาจากพระองค์

ถ้าคริสตจักรจะทำหน้าที่สานต่อพระราชกิจของพระเยซูคริสต์   สมาชิกคริสตจักร  กลุ่มเซลล์ กลุ่มเล็กในคริสตจักร   จะต้องออกจากรั้วรอบขอบชิดของคริสตจักร   ออกจากมุมปลอดภัยสะดวกสบายของตน   เข้าไปสัมผัสและสัมพันธ์กับชีวิตของผู้คนในสังคมชุมชน  

อย่าแค่อธิษฐานเผื่อผู้คนในสังคมชุมชน   แต่ออกไปสำแดงความรักเมตตาของพระคริสต์แก่ผู้คนเหล่านั้น

อย่าแค่อธิษฐานเผื่อประเทศไทย   แต่เข้าร่วมมีส่วนในการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตแห่งแผ่นดินของพระเจ้าในสังคมไทย   เข้าไปใช้ชีวิตรับใช้พระคริสต์ในชุมชนเพื่อสร้างผลกระทบในจุดต่าง ๆ ของชุมชน   และเมื่อนั้นคนในชุมชนจะได้รู้จักและรู้ว่าคริสตจักรเขาทำอะไรกัน!   แต่สำคัญยิ่งกว่านั้น  พระเยซูคริสต์ของคริสตชนมีพลังอำนาจแห่งความรักเมตตาที่สร้างผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขาอย่างไรบ้าง

ถ้าคริสตจักรจะมีชีวิตที่สร้างผลกระทบต่อชีวิตสังคมไทย   มี 4 ประการต้องพิจารณาแล้วลงมือทำ คือ
  1. เต็มใจ และ ตั้งใจ ที่จะก้าวออกจากมุมที่คริสตชนรู้สึกว่าปลอดภัย สะดวกสบาย  ในคริสตจักร   ในบ้านสมาชิก   ก้าวออกจากห้องที่เราใช้พบกลุ่มเซลล์ กลุ่มเล็กของคริสตจักร   แล้วเข้าไปพบพระเยซูคริสต์ที่พระองค์กำลังอยู่ในชุมชน   ท่ามกลางชีวิตของประชาชน   เข้าไปรับใช้พระคริสต์ท่ามกลางคนเหล่านั้นในชุมชน   เข้าไปร่วมพระราชกิจของพระองค์ท่ามกลางชีวิตชุมชน   เพื่อร่วมกับพระเยซูคริสต์ในการนำแผ่นดินของพระเจ้าให้มาตั้งอยู่   เพื่อที่จะร่วมกับพระองค์ในการสำแดงน้ำพระทัยของพระบิดาในแผ่นดินโลกนี้
  2. ถ้าเราจะสร้างผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนในชุมชน   เราต้องเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนั้น   ให้คริสตชนใช้ชีวิตที่สำแดงพระคริสต์ผ่านชีวิตประจำวันของตนท่ามกลางชุมชน   ตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์   พระองค์มีชีวิตประจำวันที่แตกต่างจากศาสดาผู้นำศาสนาอื่น ๆ   พระองค์มิได้ถือศีลภาวนาเก็บตัวอยู่บนยอดเขา   หรือ แสวงหาสัจจะธรรมท่ามกลางป่ารกทึบ   แต่พระองค์ใช้ชีวิตทุกวันท่ามกลางชีวิตประชาชนในชุมชน   ถ้าคริสตชนจะสัตย์ซื่อที่จะประกาศพระเยซูคริสต์ก็จะต้องใช้ชีวิตเยี่ยงพระองค์ท่ามกลางชีวิตของประชาชนในชุมชน   และเมื่อนั้น  ชีวิตคริสตชนของเราก็จะสามารถสำแดงความรักของพระคริสต์แก่ผู้คนในชุมชน  เพื่อประชาชนจะได้สัมผัสสัมพันธ์กับความรักเมตตาของพระองค์ผ่านการดำเนินชีวิตของเรา   ผ่านกลุ่มเซลล์ กลุ่มเล็กของเรา
  3. ผู้คนจะยอมรับความรักของพระคริสต์ก็ต่อเมื่อสมาชิกคริสตจักร  สมาชิกกลุ่มเซลล์  กลุ่มเล็ก  ใช้ชีวิตท่ามกลางชีวิตของชุมชนอย่างต่อเนื่อง  เป็นประจำ  และยาวนาน   มิใช่ทำเป็นกิจกรรมเฉพาะกิจ   เป็นครั้งเป็นคราว   หรือ  เป็นการสร้างกิจกรรมงานใหญ่  ที่เราใช้ภาษาฝรั่งว่า เราทำพันธกิจแบบ “อีเว้นท์” (event)   การกระทำเช่นนี้นอกจากไม่สามารถสร้างผลกระทบต่อชีวิตชุมชนแล้ว   ยังสร้างความไม่แน่ใจถึงขนาดไม่ไว้วางใจว่า ที่พวกสมาชิกคริสตจักรมาทำเช่นนั้นก็เพื่อชักจูงคนอื่นให้เปลี่ยนศาสนาไปเป็นคริสต์หรือไม่?   ชุมชนขาดความไว้วางใจ   ชุมชนยังไม่ยอมรับคริสตชน   ชุมชนก็จะไม่ได้สัมผัสความรักเมตตาของพระคริสต์
  4. คริสตชน  สมาชิกคริสตจักร  และ สมาชิกกลุ่มเซลล์แต่ละคนเมื่อเข้าไปใช้ชีวิตในชุมชนต้องรู้เท่าทัน ตระหนักชัด  และ ใส่ใจว่า   เราเข้าไปในชุมชนในฐานะ “ตัวแทน” “ทูต” ของพระเยซูคริสต์   เพื่อที่จะสำแดงความรักเมตตาที่เสียสละของพระองค์   และตระหนักชัดเสมอว่า พระคริสต์มิได้สำแดงความรักเมตตาที่เสียสละด้วยการอธิษฐานเผื่อผู้คนประชาชนเท่านั้น  แต่พระองค์ทรงกระทำการสัมผัส เยียวยา  รักษา  ช่วยเหลือ  และฟังผู้คนในสังคมชุมชน   ทุกย่างก้าวของเราในชุมชนจะต้องรู้ตัวเสมอว่า เป็นทุกย่างก้าวที่สำแดงความรักเมตตาที่เสียสละแบบพระคริสต์   เพื่อที่จะสำแดงให้ผู้คนในชุมชนได้เห็นและสัมผัสพระคริสต์ผ่านชีวิตของเรา   ให้เราเป็นผู้ที่เชิญชวนให้ผู้คนในชุมชนได้เห็นและสัมผัสกับพระคริสต์ในชุมชนนั้น   มิใช่เชิญชวนผู้คนชุมชนให้มาเห็นและสัมผัสพระคริสต์ในคริสตจักร


วันนี้   คริสตจักรของเราคงต้องถามตนเองว่า  แล้วเราจะก้าวเข้าไปในชีวิตของชุมชนเพื่อสร้างผลกระทบต่อชีวิตชุมชนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ชีวิตชุมชนที่มีคุณภาพชีวิตของแผ่นดินพระเจ้าได้อย่างไร?   เราจะดำเนินชีวิตประจำวันของเราในชุมชนอย่างไรที่จะสำแดงแผ่นดินของพระเจ้า?   เราจะดำเนินชีวิตประจำวันในครอบครัวอย่างไร   ที่ผู้คนในชุมชนจะเห็นถึงความรัก เมตตา และ การใส่ใจกันและกันแบบพระคริสต์ในครอบครัวของเรา?   เราจะมีท่าทีและความสัมพันธ์แบบไหนในกลุ่มเพื่อนฝูง   ที่จะให้คนในกลุ่มเพื่อนสัมผัสถึงความรัก เมตตาที่เสียสละแบบพระคริสต์ผ่านชีวิตของเรา?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

03 กันยายน 2558

ก้าวแรกที่จะรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง

“...​การ​ที่​จะรัก​พระ​องค์​ด้วย​สุด​ใจ สุด​ความ​เข้าใจ และ​สุด​กำ​ลัง และ​รัก​เพื่อน​บ้าน​เหมือน​รัก​ตน​เอง ก็​สำคัญ​กว่า​เครื่อง​เผา​บูชา​และ​ของ​ถวาย​ทั้ง​สิ้น (มาระโก 12:33 มตฐ.)

ในปี 1986 ได้เกิดเหตุการณ์ที่น่าเศร้าสลดขึ้นที่ทะเลดำด้านชายฝั่งของประเทศรัสเซีย   ผู้โดยสารของเรือสองลำต้องเสียชีวิตเมื่อเรือทั้งสองลำชนกัน  ทำให้ผู้โดยสารจำนวนมากต้องกระเด็นออกจากเรือแล้วตกจมลงในทะเลที่เย็นยะเยือกใต้น้ำแข็งในทะเล

สาเหตุของเหตุการณ์ร้ายแรงครั้งนี้มิใช่เพราะเกิดหมอกลงจัด    หรือความผิดปกติเกี่ยวข้องทางเทคนิค   หรือมิใช่เพราะความเลินเล่อของบรรดาเจ้าหน้าที่บนเรือที่ทำให้เกิดการชนกันอย่างแรง   แต่สาเหตุที่แท้จริงเกิดจากการที่กัปตันของเรือทั้งสองต่างไม่ยอมหลีกทางแก่กันและกัน   ต่างเอา “ตัวกู” เป็นใหญ่   กัปตันทั้งสองต่างเห็นเรือที่แล่นมาทางตรงกันข้ามชัดเจน   แทนที่จะยอมหลีกทางให้กัน   ต่างดึงดันที่จะมุ่งไปข้างหน้าไม่ยอมหลีกทางแก่อีกฝ่ายหนึ่ง   และนี่คือสาเหตุของความหายนะมิใช่ชีวิตของกัปตันทั้งสองเท่านั้น   แต่ชีวิตผู้คนจำนวนมากมายของผู้โดยสารในเรือทั้งสองที่ต้องมาจบชีวิตลงเพราะความดึงดันเห็นแก่ตัวของกัปตันทั้งสอง  

บ่อยครั้ง ความเห็นแก่ตัว การดึงดัน เอา “ตัวกู” เป็นใหญ่ที่นำมาซึ่งความหายนะ  อาจจะมิใช่ความหายนะสูญเสียทางร่างกายอย่างเรื่องที่เล่าข้างต้น   แต่ความเห็นแก่ตัว การที่เอา “ตัวกู” เป็นใหญ่อาจสร้างบาดแผลขึ้นทั้งอารมณ์ความรู้สึก และ สัมพันธภาพที่มีต่อกัน   และบาดแผลนี้อาจจะกลัดหนอง เน่าเฟะ นานหลายปี  ในบางรายตลอดชีวิต

การที่พระคริสต์ทรงบัญชาให้เรารักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเองจึงมีความสำคัญมากยิ่ง  ในฐานะที่แต่ละคนเป็นอวัยวะหนึ่งในพระวรกายของพระคริสต์   เราจะต้องตอบสนองต่อพระมหาบัญญัตินี้ที่จะมีชีวิตอยู่และสัมพันธ์ที่สันติสงบสุขกับคนต่าง ๆ   ทั้งเพื่อนผู้เชื่อและเพื่อนบ้านต่างความเชื่อ   ด้วยเหตุนี้เราจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะทำตามใจตนเอง  ทำตาม “ตัวกู” ต้องการ   และเราไม่ควรปล่อยให้ความเห็นแก่ตัวของเรายิ่งใหญ่ครอบงำเหนือความรักสัมพันธ์ที่มีต่อเพื่อนบ้าน

ในแต่ละวัน   ให้เราใส่ใจเจ้า “ตัวกู” ในตนเอง   อย่าให้มันมีอิทธิพลที่จะครอบงำเหนือความสัมพันธ์ที่เรามีต่อผู้คนรอบข้าง   เราต้องถ่อมตนเองลงและยกคนอื่นขึ้น   และนั่นจะเป็นย่างก้าวสำคัญที่เราจะรักคนอื่นเหมือนรักตนเอง

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499