29 เมษายน 2564

เปลี่ยน!... “ปณิธาน ที่ อันตรธาน” เป็น...ความมุ่งมั่น 5 ขั้นตอนของผู้นำคริสตจักร (2)

แทนที่มัวแต่คิดที่จะทำอะไรต่อมิอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงเสริมสร้างคนอื่น แต่ให้เราเปลี่ยนมุมมองใหม่ให้เป็นการเริ่มคิดเริ่มทำในการเปลี่ยนแปลงเสริมสร้างชีวิตจิตวิญญาณของตนเองก่อน โดยมุ่งเน้นที่ตนจะรับการเปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างจากพระคริสต์ภายในชีวิตของเราให้เป็นสาวกของพระองค์ เริ่มต้นที่รับการทรงเสริมสร้างให้ตนเองเป็นสาวกพระคริสต์ และใส่ใจที่จะฟูมฟัก ฝึกฝน ให้จิตวิญญาณของตนมีพลังเข้มแข็งเพื่อที่พร้อมรับใช้คนอื่นในพระนามของพระคริสต์

ข้อเขียนตอนนี้เป็นการนำเสนอ 5 ขั้นตอนของการมุ่งมั่นตั้งใจของผู้นำคริสตจักร ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ 2 และ 3

2.  ยืนหยัดมุ่งเน้นให้ชีวิตของตนเป็นสาวกของพระคริสต์อย่างแท้จริง

คุณภาพชีวิตการเป็นสาวกพระคริสต์ในตัวผู้นำคริสตจักรมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตคริสตจักร   เพราะเราไม่สามารถที่จะนำคนอื่นมาเป็นสาวกพระคริสต์ ถ้าเรายังไม่มีชีวิตประจำวันที่สำแดงถึงชีวิตที่เป็นสาวกของพระคริสต์อย่างแท้จริง

ชีวิตที่เป็นสาวกพระคริสต์จะต้องเดินเคียงคู่ไปกับองค์พระวิญญาณบริสุทธิ์ และ มีชีวิตตามพระวจนะของพระเจ้า ชีวิตของคน ๆ นั้นจะเกิดการเปลี่ยนแปลงให้มีชีวิตเหมือนพระคริสต์มากยิ่งขึ้นทุกวัน

สำหรับในฐานผู้นำ ในการสำแดงภาพลักษณ์ของพระเยซูคริสต์ผ่านชีวิตของเราคือ การที่เรารักพระเจ้าด้วยสุดจิตสุดใจ สิ้นสุดความคิด จิตวิญญาณ และด้วยสุดกำลังชีวิตของเรา และรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง

ยิ่งชีวิตประจำวันของเรามีชีวิตการเป็นสาวกพระคริสต์มากเท่าใด เรายิ่งจำเริญขึ้นในความรักเมตตาของพระคริสต์มากแค่นั้น ความรักเมตตานี้เป็นเหมือนผลของพระวิญญาณ ผลของความรักเมตตาคือความอดทน ความเมตตา การบังคับตน ความเชื่อที่สัตย์ซื่อ มีชีวิตทุกแง่มุมที่งดงามในทุกด้าน

เราต้องร่วมกับพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราต้องบ่มเพาะปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ให้งอกงามในชีวิตประจำวันของเราก่อน สิ่งเหล่านี้เป็นของขวัญอันล้ำค่าที่เราสามารถให้แก่คนในครอบครัว  ในคริสตจักร ในสังคม และคนที่เราพบเห็นในแต่ละวัน

3.  มุ่งมั่นใส่ใจจิตวิญญาณของทีมผู้นำของคริสตจักร แทนการมุ่งสนใจในผลงานที่เกิดขึ้น

คริสตจักรควรมีกำหนดช่วงเวลาชัดเจนที่ผู้นำจะมาพบปะกันเป็นประจำ “สำหรับรับการเปลี่ยนแปลงเสริมสร้าง” ชีวิตจิตวิญญาณให้เติบโต เข้มแข็ง และเกิดผล ในการพบปะกันเช่นนี้ยังเปิดกว้างสำหรับคนที่ทำพันธกิจต่าง ๆ ในชุมชนที่จะเข้าร่วมด้วย ด้วยกระบวนการนี้จะหนุนเสริมให้บรรดาทีมผู้นำของคริสตจักรเข้มแข็งขึ้นในด้านจิตวิญญาณ และคนทำงานพันธกิจที่เข้ามาร่วมก็จะเติบโตเข้มแข็งขึ้นและเข้ามาร่วมในทีมผู้นำคริสตจักรในเวลาต่อมา

สิ่งสำคัญที่คริสตจักรไม่ควรมองข้ามคือ คริสตจักรควรมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่ชัดเจนและยึดถือดำเนินการสม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง ในการมีช่วงเวลาเสริมสร้างคุณภาพชีวิตการเป็นสาวกพระคริสต์ในบรรดาทีมผู้นำของคริสตจักร มิใช่มุ่งที่จะพัฒนาเพื่อให้ทำพันธกิจให้เกิดผลตามที่กำหนดเท่านั้น ที่ผ่านมาเรามุ่งแต่สร้างชีวิตสาวกพระคริสต์ในบรรดาผู้เชื่อใหม่ หรือ สมาชิกใหม่   แต่ละเลยที่จะเปลี่ยนแปลง และ เสริมสร้างชีวิตผู้นำของคริสตจักรให้มีคุณภาพชีวิตการเป็นสาวกพระคริสต์ที่เติบโตและเกิดผล

การที่ผู้นำคริสตจักรมุ่งมั่นอุทิศทุ่มเทในการทำพันธกิจรับใช้ให้งานเกิดผลตามกำหนด แต่ชีวิตมิได้เติบโตขึ้นในการเป็นสาวกของพระคริสต์นั่นเป็นความล้มเหลวอย่างยิ่ง ชีวิตที่เป็นสาวกพระคริสต์ เป็นชีวิตที่เลียนแบบลักษณะชีวิตของพระคริสต์ เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการสร้างความเป็นผู้นำที่เข้มแข็งและเกิดผล

บ่อยครั้ง คริสตจักรใส่ใจแต่ความสามารถในการทำพันธกิจมากกว่าคุณลักษณะของชีวิตผู้นำ   คริสตจักรต้องพัฒนาผู้นำคริสตจักรที่มีบุคลิกคุณลักษณะแบบพระคริสต์ และ มีความสามารถในการทำตามแบบอย่างของพระองค์

ดังนั้น คุณภาพชีวิตสาวกพระคริสต์ในตัวผู้นำ และ อาสาสมัครของคริสตจักรจะต้องมาก่อนความสามารถในการทำพันธกิจ และนี่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากที่คริสตจักรต้องใส่ใจ

(จะนำเสนอข้อเขียนตอนต่อไปในครั้งหน้า)




28 เมษายน 2564

เปลี่ยน!... “ปณิธาน ที่ อันตรธาน” เป็น...ความมุ่งมั่น 5 ขั้นตอนของผู้นำคริสตจักร (1)

เมื่อเริ่มต้นปีใหม่ทุกปี คริสตจักร ศิษยาภิบาล ผู้นำคริสตจักรมักจะพูดถึงการจัดทำ “ปณิธานสำหรับปีใหม่” แล้วก็กำหนดเป้าหมายที่จะทำกันในช่วงท้ายเดือนธันวาคม สิ่งนี้เป็นสิ่งดี แต่ที่เราพบเป็นประจำทุกปี มักเป็นปณิธาน และ เป้าหมายที่พูดถึงไม่เกินเดือนเมษายน แล้วก็เงียบ หรือ เลิกพูดถึง เพราะไม่ได้ทำตามปณิธาน และเป้าหมายที่วางไว้

กลายเป็น “ปณิธาน ที่ อันตรธาน”

ในปี 2021 นี้ แทนที่จะมีเพียงปณิธานปี 2021 แล้วก็ไม่ได้ทำให้เป็นไปตามที่ตั้งไว้ ขอเสนอให้เราพิจารณาการทำพันธกิจ 5 ขั้นตอน จากนั้นค่อย ๆ ทำให้แต่ละขั้นตอนก้าวไปให้สำเร็จเป็นรูปธรรม และมีโอกาสที่จะทบทวนไตร่ตรองในแต่ละขั้นตอนว่า เราได้เห็นพระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจอะไรบ้างในการขับเคลื่อนพันธกิจในคริสตจักรของเรา ตาม 5 ขั้นตอนข้างล่างนี้...

1. เลือกทำพันธกิจที่เราได้รับมอบหมายจากพระคริสต์ แทนพันธกิจที่เราอยากทำ

2. ยืนหยัดมุ่งเน้นให้ชีวิตของตนเป็นสาวกของพระคริสต์อย่างแท้จริง

3. มุ่งมั่นใส่ใจจิตวิญญาณของทีมผู้นำของคริสตจักร แทนการมุ่งสนใจให้เกิดผลงาน

4. มุ่งมั่นทุ่มเทใส่ใจชีวิตจิตวิญญาณของสมาชิกแต่ละคน

5. มุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนจากสมาชิกที่คอย “รับ” ไปเป็นสาวกพระคริสต์ที่ “ให้และมีส่วนร่วม”

1.  เลือกทำพันธกิจที่เราได้รับมอบหมายจากพระคริสต์ แทนพันธกิจที่เราอยากทำ

เมื่อเราตั้งปณิธานในปีใหม่ เรามักมุ่งเน้นไปที่ “สิ่งที่เราจะทำ”  แต่ผมคิดว่าน่าจะเป็นการที่เรามุ่งเน้นไปที่ “พระคริสต์กำลังทำอะไรเพื่อเรา” มากกว่า จากนั้นเราคอยสังเกตว่าพระเจ้าทรงมอบหมายพันธกิจอะไรให้เรารับผิดชอบ

ในฐานะผู้นำในการทำพันธกิจ สำคัญอย่างมากที่เราจะต้องมุ่งเน้นไปที่ “การได้รับมอบหมายพันธกิจจากพระคริสต์” ก่อนที่เราจะ “ทำพันธกิจในชีวิตของเรา”

บ่อยครั้งที่เรายอมให้การทำงาน “เพื่อพระเจ้า” ของเราทำลายพันธกิจของพระองค์ในตัวเรา   และเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ที่เราคิดว่าการทำพันธกิจเพื่อพระเจ้ามีความสำคัญอย่างมากต่อการมีชีวิตในพระคริสต์

พระเจ้าไม่จำเป็นที่จะต้องมีเราในการทำพันธกิจเพื่อพระองค์ แต่พระองค์เปิดโอกาสให้เราได้เข้าไปมีส่วนร่วมในพระประสงค์แห่งการกอบกู้และไถ่ถอนของพระองค์เพราะพระองค์ทรงรักเรา   และความรักที่มากล้นนั้นคือการที่พระองค์กระทำพันธกิจของพระองค์ผ่านชีวิตของเรา ดังนั้นเราจะต้องยึดมั่นที่จะมุ่งเน้นที่ความสัมพันธ์อันล้ำลึกระหว่างตัวเราเองกับพระคริสต์

และนี่คือ “น้ำพระทัย” ของพระเจ้าที่มีต่อเรา พระองค์ทรงกระทำสิ่งต่าง ๆ เพราะพระองค์รักเรา   แต่บ่อยครั้งเราละเลยหลงลืมความรักแท้ของพระเจ้าที่มีต่อเรา คือต้องการให้เรากับพระองค์มีความสัมพันธ์ที่สนิทชิดเชื้อกัน แทนที่เราจะ “ทำอะไรบางอย่างเพื่อพระองค์” เพื่อพระองค์จะรักเรา แต่ความรักแท้ของพระองค์ประสงค์ให้เราอยู่ใกล้ชิดกับพระองค์

เมื่อเราพยายามทำพันธกิจเพื่อพระเจ้า การทำพันธกิจเช่นนั้นนำมาซึ่ง “การสิ้นแรงหมดพลังชีวิต” สิ่งที่เราทำกลายเป็นรูปเคารพ เพราะเราให้ความสำคัญแก่การทำพันธกิจเหนือสัมพันธภาพใกล้ชิดกับพระเจ้า และมักทำให้เราโอหังลำพองตน คิดว่าตนสำคัญเพราะตนได้ทำพันธกิจเพื่อพระเจ้า

การที่เราเลือกที่จะมีชีวิตอยู่ใกล้ชิดสนิทกับพระเจ้านำเราเข้าสู่การมีจิตใจที่จะนมัสการ เทิดทูน ยกย่องสรรเสริญพระองค์ พระเจ้าต้องการให้เรายึดมั่นในพระองค์ เพราะพระองค์ทรงเป็นเจ้าของชีวิตของเราและค้ำชูชีวิตของเราไว้ ให้พันธกิจที่เราทำสำแดงชัดเจนถึงหมายสำคัญของการสถิตอยู่ หรือ การประทับอยู่ด้วยของพระเจ้า

(จะนำเสนอข้อเขียนตอนต่อไปในครั้งหน้า)



26 เมษายน 2564

ทำไม?....สมาชิกที่ทำพันธกิจจึงหาทำยายากแสนยาก?

ศิษยาภิบาลหลายท่านมักบ่นให้ได้ยินว่า สมาชิกมาโบสถ์เกือบทั้งหมดเป็นสมาชิกประเภท “นั่ง” สมาชิกประเภท “ลุกขึ้น” และ “ลงมือทำ” หาทำยายากในทุกวันนี้  

ท่านหมายความว่าสมาชิกที่มาโบสถ์เกือบทั้งหมดมาเพื่อร่วม “พิธีนมัสการพระเจ้า” เท่านั้น   แต่ชีวิตของเขาไม่ยุ่งเกี่ยวอะไรกับงานพันธกิจคริสตจักร และพันธกิจชีวิตสาวกพระคริสต์ในชีวิตประจำวัน

คริสตจักรที่ท่านไปร่วมนมัสการพระเจ้าในวันอาทิตย์เป็นประจำเป็นอย่างไรบ้างครับ?   คริสตจักรที่ท่านเป็นศิษยาภิบาลเป็นอย่างไรบ้างครับ? สมาชิกที่มาร่วมส่วนมากร่วมนมัสการพระเจ้าในวันอาทิตย์ ได้มีส่วนร่วมในพันธกิจต่าง ๆ ของคริสตจักรด้วยหรือเปล่า? หรือส่วนใหญ่มาร่วมการนมัสการพระเจ้าแล้วก็กลับบ้าน แม้จะจัดให้มีการกินข้าวกลางวันด้วยกัน แต่พอกินเสร็จก็กลับบ้าน แล้วรออาทิตย์หน้ามาโบสถ์ใหม่  

เมื่อมีโอกาสพูดคุย ถามไถ่ สัมภาษณ์บรรดาสมาชิกที่มาร่วมนั่งนมัสการพระเจ้าในวันอาทิตย์มักจะได้คำตอบว่า นั่นเป็นหน้าที่ของคริสตชนทุกคนจะต้องทำ แล้วทำจนเคยชินเป็นกิจวัตรประจำสัปดาห์ก็ว่าได้ แต่เมื่อถามและชวนพูดคุยค้นหาว่า ทำไมสมาชิกส่วนใหญ่ถึงมานั่งนมัสการพระเจ้าในวันอาทิตย์เท่านั้น ไม่ทำพันธกิจอื่นใดอีกเลยทั้งในวันอาทิตย์ และในวันอื่น ๆ ของสัปดาห์ ซึ่งพอจะประมวลคำตอบความคิดเห็นได้ดังนี้ครับ

1. เพราะคริสตจักรยอมและปล่อยให้พวกเขาทำเช่นนั้น

คริสตจักรไทยเราส่วนใหญ่มักไม่ได้พูด สอน และอธิบายแก่สมาชิกของตนแต่ละคนอย่างชัดเจนถึงความคาดหวังว่า คริสตจักรคาดหวังให้คริสตชนแต่ละคนมีชีวิตแบบไหน คาดหวังให้ทำอะไรที่ต้องทำ และคาดหวังให้เขาเข้าร่วมพันธกิจอะไร อย่างไรบ้าง  

คงไม่ต้องแปลกประหลาดใจเลยครับว่า ทำไมสมาชิกและคนที่มาร่วมนมัสการพระเจ้าถึงไม่ทำอะไร เอาแต่มาร่วมในการนมัสการพระเจ้าเท่านั้น เพราะใคร ๆ ก็ทำอย่างนี้เหมือนกัน และคริสตจักรก็ไม่มีใครว่าอะไร?

2. สมาชิกกลุ่มนี้บอกว่า ไม่เคยมีใครมาเชิญชวนท้าทายให้พวกเขาเข้าร่วมในงานพันธกิจใดพันธกิจหนึ่งเลย

การประกาศงานบนธรรมาสน์ หรือ การประกาศงานพันธกิจในท้ายระเบียบการนมัสการพระเจ้าของแต่ละอาทิตย์ไม่ได้เชิญชวนท้าทายผู้คนให้เขาร่วมในพันธกิจเลย แต่เป็นเพียงประกาศให้รู้ว่าคริสตจักรมีงานอื่นอะไรบ้างนอกจากการนมัสการเช้าวันอาทิตย์ เชิญเข้าร่วมตามชอบตามสะดวก ขอเราย้อนกลับไปดูแบบอย่างของพระคริสต์ พระเยซูคริสต์เรียกผู้คนทีละคนเป็นการส่วนตัว และบอกชัดเจนว่าพระองค์เชิญชวนท้าทายให้เขาเข้ามาร่วมในงานอะไร และพระองค์คาดหวังชีวิตแบบไหนบ้างในชีวิตประจำวันของเขา

3. หมดแรงขาดพลัง

สมาชิกบางคนเหน็ดเหนื่อยจากการทำพันธกิจที่ผ่านมา พวกเขาเพียงต้องการเวลาที่จะพัก  และมีการเพิ่มแรงเสริมพลังชีวิตใหม่ เพื่อที่จะสามารถเข้าร่วมในการทำพันธกิจครั้งใหม่ต่อไป   ในกลุ่มนี้หลายคนที่ต้องการการอภิบาลฟูมฟักพลิกฟื้นพลังชีวิตใหม่ที่ศิษยาภิบาลต้องไม่มองข้าม มิเช่นนั้น คริสตจักรอาจจะสูญเสียสมาชิกที่แข็งขันในพันธกิจของคริสตจักรก็ได้

4. สมาชิกส่วนใหญ่ไม่เห็นความจำเป็นสำคัญที่ต้องทำพันธกิจอะไร

สมาชิกที่มาคริสตจักรแล้วนั่งนมัสการพระเจ้าร่วมกับคนอื่น พวกเขาอาจจะไม่เห็นถึงความจำเป็นต้องการของคริสตจักร เพราะเขาจะมองเห็นในแต่ละวันอาทิตย์ว่า ดูงานทุกอย่างดำเนินไปด้วยดีคล่องตัว ไม่มีใครพูดกับเขาว่าคริสตจักรต้องการและจำเป็นในเรื่องอะไรบ้าง ดังนั้น สมาชิกกลุ่มนี้จึงมาเพียงร่วมในการนมัสการเท่านั้น การที่จะให้สมาชิกแต่ละคนเข้ามาร่วมรับผิดชอบในพันธกิจต่าง ๆ นั้น ต้องเป็นการเชิญชวนแบบตัวต่อตัว เป็นการเชิญชวนท้าทายเป็นการส่วนตัวจากคริสตจักร

5. สมาชิกส่วนใหญ่ไม่มั่นใจว่าตนจะได้รับการหนุนเสริมให้ทำพันธกิจจนสำเร็จ

สมาชิกบางคนในกลุ่มนี้อาจจะเคยมีประสบการณ์ว่าเมื่อตนเข้าไปร่วมทำพันธกิจ กลับถูกปล่อยลอยแพให้ทำพันธกิจไปด้วยตนเองเท่านั้น ขาดการอธิบาย สอน ฝึกอบรม ฝึกปฏิบัติและติดตามหนุนเสริมการทำพันธกิจนั้นให้สามารถทำอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผล สมาชิกกลุ่มนี้จึง “กลัว” ที่จะถูกลอยแพให้เข้าไปทำพันธกิจเองอย่างไม่ได้รับการหนุนเสริมจากคริสตจักร

6. บางคนในกลุ่มนี้ไม่รู้ว่าตนเชื่ออะไร

แม้ว่าเขาอาจจะเป็นสมาชิกคริสตจักรมายาวนาน เขาอาจจะเติบโตในครอบครัวคริสตชนในหลายชั่วอายุคน แต่เขาไม่ได้รับการบ่มเพาะ วางรากความเชื่อที่แท้จริงในพระเจ้า ดังนั้น คนเหล่านี้จึงไม่รู้ว่าตนเชื่ออะไรในชีวิต รู้เพียงว่าตนเองเป็นคริสตชนต้องมานมัสการพระเจ้าในวันอาทิตย์เท่านั้น ในกรณีนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่คริสตจักร และ ศิษยาภิบาลจะต้องใส่ใจ ทุ่มเท ที่จะเสริมสร้าง วางรากฐานความเชื่อของสมาชิกแต่ละคนก่อนว่า ที่ตนเป็นคริสตชนนั้น ตนเชื่อและวางใจในเรื่องอะไรบ้าง และตนจะต้องมีความเชื่อที่รับผิดชอบต่อการทรงเรียกของพระเจ้า และพระบัญชาของพระองค์ในเรื่องอะไรบ้าง 

7. สมาชิกบางคนในกลุ่มนี้มีกิจการงานมากมาย

สมาชิกกลุ่มนี้เป็นสมาชิกที่มีกิจการงานรับผิดชอบมากมาย ถึงแม้มีพันธกิจมากมายในคริสตจักรแต่พวกเขาไม่มีเวลาที่จะเจียดให้ได้ การที่จะเชิญชวน มอบหมาย หรือท้าทายให้เขาทำพันธกิจบางอย่างดูจะเป็นไปไม่ได้ หรือ ไม่ได้รับการตอบสนองที่ดี ข้ออ้างของสมาชิกกลุ่มนี้คือ เขาเห็นความสำคัญของพันธกิจดังกล่าว แต่ตนเองยุ่งมากไม่มีเวลาที่จะมาช่วยได้ คริสตจักรและศิษยาภิบาลอาจจะจำเป็นที่ต้องพิจารณาถึงการเสริมสร้างความเชื่อและความเข้าใจถึง “เป้าหมายชีวิต” ของคริสตชนนั้นคืออะไรกันแน่!

8. ชีวิตของสมาชิกบางคนในกลุ่มนี้ถูกครอบงำควบคุมด้วยอำนาจความผิดบาป

สำหรับคนที่ตกอยู่ใต้การครอบงำของอำนาจความบาปผิด คงยากที่จะเปิดตัวเปิดใจรับใช้พระเจ้า พวกเขาคงเลือกที่แฝงตัวเงียบ ๆ ท่ามกลางกลุ่มสมาชิก หรือ รอจังหวะฉกฉวยผลประโยชน์และอำนาจในคริสตจักรเท่านั้น

9. สมาชิกบางคนในกลุ่มนี้อาจจะไม่เคยอ่านและเข้าใจถึง 1โครินธ์ บทที่ 12

น่าคิดว่า บ่อยครั้งเมื่อสมาชิกเริ่มมีความเข้าใจถึงของประทานของพระเจ้าในชีวิตของแต่ละคน   และการทำงานพันธกิจร่วมกันแบบประสานหนุนเสริมเฉกเช่นร่างกายเดียวกัน ผู้คนจะเริ่มมั่นใจมากขึ้นในการเข้ามาร่วมทำพันธกิจแบบอวัยวะของร่างกายทำงานร่วมกัน ดังนั้น คริสตจักรต้องใส่ใจที่จะสอนและเสริมสร้างสมาชิกให้ทำงานร่วมกันแบบหนุนเสริมกันและกัน

10. ไม่มีใครอธิษฐานทุ่มเท เจาะจง และจริงจังสำหรับคนที่จะทำพันธกิจ

พระเยซูคริสต์บอกสาวกที่ทำการเก็บเกี่ยวให้อธิษฐานทูลขอพระเจ้าประทานให้มีคนทำงานมากขึ้น (ลูกา 10:1-2) เมื่อคริสตจักรของเรามิได้ยึดมั่นเหนียวแน่ในการอธิษฐานอย่างใส่ใจและตั้งใจ และการอธิษฐานมิได้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์งานพันธกิจของเรา ก็ไม่ต้องคาดหวังว่าเราจะมีคนงานสำหรับพันธกิจในคริสตจักรเพิ่มมากขึ้น

ในคริสตจักรของท่าน มีสาเหตุอะไรบ้างที่ค้นหาสมาชิกคริสตจักรที่ทำพันธกิจของพระเจ้าได้ยากเย็นเข็ญใจครับ?



25 เมษายน 2564

จะกลัว หรือ จะกล้าอย่างเด็กเลี้ยงแกะคนนั้น?

เรื่องราวดาวิดกับโกลิอัทเป็นเรื่องที่เราท่านรู้จักกันดี ดาวิดคนเลี้ยงแกะได้มาถึงสนามรบพบว่าพวกทหารอิสราเอลต่างสั่นกลัวกองทัพของฟีลิสเตีย เพราะในกองทัพศัตรูมีทหารยักษ์ร่างใหญ่น่ากลัวออกมาท้าพวกอิสราเอลให้มาสู้กันแบบตัวต่อตัว แต่ดาวิดกลับเดินเลือกหินผิวเกลี้ยงจากลำธารอย่างมีสติ สมาธิ สงบสุขุม เขาเลือกมาได้ 5 ก้อน

ทำไมดาวิดถึงมีความมั่นใจ กล้าหาญ อย่างสงบสุขุมเช่นนี้ ท่ามกลางเสียงท้าทายที่หยาบคาย  และความกลัวลานหัวหดของทหารทั้งกองทัพอิสราเอล? รวมทั้งกษัตริย์ซาอูลด้วย!

เราก็ต้องการความมั่นใจ กล้าหาญ สงบสุขุมเช่นนั้นในวิกฤติร้อนแรงของการแพร่ขยายอย่างรวดเร็วรุนแรงของไวรัสโควิด 19 และผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคนทั่วโลก โดยเฉพาะสังคมไทย คนไทยในยามนี้

เราต้องไม่ลืมว่า พระคัมภีร์ในบทก่อนหน้านี้หนึ่งบท ผู้เผยพระวจนะซามูเอลมาที่บ้านเจสสีบิดาของดาวิด เพื่อมาเลือกลูกชายคนหนึ่ง และได้เลือกดาวิดแล้วเจิมเขาด้วยน้ำมัน ซึ่งแสดงถึงพระวิญญาณสถิตอยู่กับดาวิด เพื่อเลือกให้เป็นกษัตริย์ของอิสราเอล พระคัมภีร์บอกว่า “ซามูเอลจึงนำเขาสัตว์ที่มีน้ำมัน เจิมเขาไว้ท่ามกลางพวกพี่ชายของเขา และพระวิญญาณของพระยาห์เวห์ทรงสวมทับดาวิดตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป...”  (1ซามูเอล 16:13 มตฐ.)

เพราะองค์พระวิญญาณบริสุทธิ์ที่สถิตในชีวิตของดาวิดนี้เองที่ประทานสติปัญญา ความกล้าหาญ สุขุม สงบ และทักษะมั่นใจแก่ดาวิด เมื่อเผชิญหน้ากับเจ้ายักษ์โกลิอัทจอมอหังการ

เราท่านคงต้องการได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า เราต้องการองค์พระวิญญาณบริสุทธิ์สถิตในชีวิตของเรา ให้เราทูลขอต่อพระเจ้าที่จะทรงเสริมพลังชีวิตแก่เราทุกคนและให้พระวิญญาณของพระองค์ที่สถิตในชีวิตเราเป็นพลังในชีวิตของเราในทุกวัน และ ทุกการเผชิญหน้ากับ “ยักษ์โกลิอัท” ที่มาในทุกรูปแบบปัจจุบัน ไม่ว่า “ยักษ์โกลิอัทในบ้าน-ครอบครัว  ในที่ทำงาน ในสังคมชุมชนกลุ่มเพื่อน ในคริสตจักร เศรษฐกิจความอยู่รอด ในด้านการเมืองความสัมพันธ์ และความขัดแย้ง ในด้านสวัสดิภาพของชีวิตและสุขภาพ และ ฯลฯ

ถ้าเราจะมีชีวิตที่รับใช้องค์พระผู้เป็นเจ้า ทั้งในชีวิตประจำวันและในคริสตจักร เราต้องได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์จากองค์พระผู้เป็นเจ้า ถ้าเรามิได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์อย่างดาวิด เราก็จะไม่มีพลังชีวิตจากองค์พระผู้เป็นเจ้าที่จะรับใช้พระองค์และร่วมทำงานในพระราชกิจของพระองค์ได้อย่างมีพลัง

แล้วดาวิดก็พูดกับคนฟีลิสเตียคนนั้นว่า “ท่านมาหาข้าด้วยดาบ ด้วยหอกและด้วยหอกซัด แต่ข้ามาหาท่านในพระนามแห่งพระยาห์เวห์จอมทัพ พระเจ้าแห่งกองทัพอิสราเอล ผู้ซึ่งท่านได้ท้าทาย” (1ซามูลเอล 17:45 มตฐ.)

ที่ดาวิดกล่าวเช่นนี้ได้ก็เพราะ พระวิญญาณบริสุทธิ์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าสถิตในชีวิตและการกระทำงานต่าง ๆ ของดาวิด และท่านก็เป็นอย่างดาวิดในเรื่องข้างต้นนี้ได้เช่นกัน

พระเยซูคริสต์บอกสาวกว่า “อย่าออกจากกรุงเยรูซาเล็มแต่จงรอคอยของประทานที่พระบิดาของเราได้ทรงสัญญาไว้ ดังที่พวกท่านได้ยินเรากล่าวไว้  ด้วยว่ายอห์นให้บัพติศมาด้วยน้ำแต่อีกไม่กี่วันพวกท่านจะได้รับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์” (กิจการ 1:8 อมธ.)

“เมื่อถึงวันเพ็นเทคอสต์ พวกเขาทั้งหมดมารวมอยู่ในที่เดียวกัน  ทันใดนั้นก็มีเสียงจากฟ้าสวรรค์เหมือนเสียงพายุกล้าดังก้องไปทั่วทั้งบ้านที่เขานั่งอยู่ พวกเขาเห็นสิ่งที่ดูเหมือนเปลวไฟรูปร่างคล้ายลิ้นกระจายออกและมาอยู่เหนือพวกเขาแต่ละคน ทุกคนเปี่ยมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์” (กิจการ 2:1-4 อมธ.)

ทุกวันนี้ ท่านสามารถที่จะมีความกล้าหาญ สุขุม สงบ มั่นใจ อย่างมีพลัง ถ้าท่านเปิดชีวิตยอมรับองค์พระวิญญาณบริสุทธิ์เข้ามาครอบครอง ควบคุม ทำงานเป็นพลังในชีวิตของท่าน



23 เมษายน 2564

ใครจะเป็นกำลังใจให้คุณ...?

วันนี้ท่านต้องการได้รับกำลังใจไหม?

ถ้าท่านรู้สึกอยากยอมแพ้ยกธงขาว พระเจ้ายังจะเคียงข้างท่านไม่ทอดทิ้ง พระองค์เข้าใจอย่างดีในสถานการณ์ชีวิตของท่าน เพราะพระองค์ก็เคยผ่านพบวิกฤติชีวิตเช่นเดียวกันนี้มาก่อนเหมือนกัน พระองค์จะช่วยท่านให้สามารถยืนหยัดมั่นคงด้วยการหนุนช่วยจากพระคุณของพระองค์ ถ้าท่านสะดุดล้มลง พระองค์จะก้มลงพยุงท่านให้ลุกขึ้นใหม่

“ข้าพเจ้าเขียนมาถึงท่านสั้น ๆ ... มาให้กำลังใจท่านและเป็นพยานว่า
ทั้งหมดนี้คือพระคุณที่แท้จริงของพระเจ้า
จงยืนหยัดมั่นคงในพระคุณนี้”
(1เปโตร 5:12 อมธ.)

มิใช่เพราะท่านสมควรที่จะได้รับพระคุณของพระองค์ และท่านเองก็ไม่สามารถที่จะไขว่คว้าเอาพระคุณนั้นมาเป็นของท่านเอง แต่พระคุณพระเจ้าเป็นของประทานจากพระเจ้าที่มิได้คิดค่าราคาอะไรจากท่าน

พระคุณพระเจ้าที่หนุนเสริมท่าน พระคุณนี้จะให้ “ปัญญาที่รอบรู้และรอบคอบ”  ในเวลาที่ท่านถูกการทดสอบและทดลอง พระคัมภีร์ให้คำมั่นสัญญาว่า พระเจ้าจะประทานหนทางที่ท่านจะสามารถจะหลบหลีกหมากกลการล่อลวงนั้น เช่น อาจจะเป็นการที่ปิดการดูคลิปภาพเปลือยที่กำลังดูอยู่ หรือ การเดินเลี่ยงออกจากสถานการณ์ที่ไม่พึงอยู่ด้วย หรือ อาจจะเป็นการเปลี่ยนมุมมอง หรือ แนวคิดของท่าน พระเจ้าจะประทานช่องทางที่ท่านจะหลีกลี้หนีออกจากกับดักของการทดลองนั้น ๆ

พระคุณพระเจ้าที่หนุนเสริมพลังชีวิตในเวลาที่ท่านเหน็ดเหนื่อยท้อแท้ ขอตั้งข้อสังเกตว่า “สิ่งที่ถูกต้อง” กับ “สิ่งที่ง่าย” ไม่เหมือนกันเสมอไปใช่ไหม? พระเจ้าประทานกำลังชีวิตแก่ท่านให้สามารถทำใน “สิ่งที่ถูกต้อง” ในเวลาที่ท่านเหนื่อยล้า หมดกำลังใจ ไม่ใช่ประทาน “สิ่งที่ง่าย”  อย่างที่ใจปรารถนาของเรา

ทุกสิ่งที่ท่านมีประสบการณ์ในชีวิต มีทั้งประสบการณ์ชีวิตที่เยี่ยมยอด กับ ประสบการณ์ชีวิตที่ย่ำแย่ แต่ทุกสถานการณ์ชีวิตของท่านอยู่ภายใต้การควบคุมของพระเจ้า พระองค์คือผู้เดียวที่จะเสริมหนุนท่านผ่านทางพระคุณของพระองค์


21 เมษายน 2564

คริสตชนจะตอบสนองต่ออิทธิพลวัฒนธรรมสังคมอย่างไร?

ในฐานะผู้ติดตามพระคริสต์เราจะไม่ยอมตนสอดรับเข้ากับโลกที่เราอาศัยอยู่ทุกเรื่องเสมอไป ในความเป็นจริงเรามักจะพบว่าตัวเองกำลังต่อต้าน-สวนกระแสวัฒนธรรมสังคมที่เป็นที่นิยมในบางด้านของชีวิต จำเป็นที่เราจะต้องมีรากฐานทางพระคัมภีร์ที่มั่นคงเพื่อยืนหยัดท่ามกลางอิทธิพลทางกระแสทางวัฒนธรรมสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

เราจำเป็นจะต้องรู้ว่า พระวจนะของพระเจ้าหล่อหลอมความเข้าใจของเราเกี่ยวกับประเด็นปัญหาต่าง ๆ ในปัจจุบัน แล้วเราจะแบ่งปันพระกิตติคุณอย่างมีจิตเมตตาและด้วยความกล้าหาญกับผู้คนรอบตัวเราได้อย่างไร

มี 4 ทางเลือกในการตอบสนองต่อวัฒนธรรมสังคมที่เปลี่ยนแปลงในยุคนี้

1. เออออไปตามกระแสวัฒนธรรมสังคม (ทำตามกระแสวัฒนธรรมสังคม)

เราเริ่มประนีประนอมความเชื่อ และ การดำเนินชีวิตของเรากับวัฒนธรรมสังคมรอบข้าง   เพื่อเอาใจคนในสังคมนั้นโดยหวังว่าวิธีการนี้จะเป็นการดึงดูดใจคนในวัฒนธรรมสังคมนั้น เราอาจเชื่ออย่างจริงใจว่า การทำเช่นนั้นเป็นทั้งความรักและกลยุทธ์หวังว่าจะดึงดูดผู้คนให้สนใจพระเยซูคริสต์ ด้วยวิธีการที่ทำให้คนรอบข้างมีการต่อต้านคริสต์ศาสนาน้อยลง และในที่สุดคนเหล่านั้นจะมาถึงซึ่งความรอด  

อย่างไรก็ตาม เราต้องรู้ชัดว่า เป้าหมายของเรามิใช่การที่จะหาวิธีให้คนมาติดตามเป็นสาวกพระคริสต์ง่ายขึ้น ข่าวสารของพระกิตติคุณหนีไม่พ้นที่จะต่อต้านวัฒนธรรมสังคม และสร้างความยุ่งยากขุ่นเคืองใจแก่ผู้คนอย่างไม่มีทางเลี่ยง   

2. แยกตัวออกจากกระแสวัฒนธรรมสังคม 

ทางตรงกันข้ามอย่างสุดขั้วคือการแยกตัวออกจากวัฒนธรรมสังคม วางตัวเราออกห่างอย่างสิ้นเชิงและไม่มีปฏิสัมพันธ์กับสังคมโลกรอบตัว และอาจจะมีเจตนาที่ต้องการเป็นการให้เกียรติแด่พระเจ้า และเป็นการกระทำอย่างจริงใจที่ต้องการกำจัดแม้กระทั่งรูปลักษณ์ของความชั่วร้ายและการล่อลวงของบาป  

แต่พระเยซูคริสต์ได้อธิษฐานเผื่อสาวกที่ติดตามพระองค์ว่า “ข้าพระองค์ไม่ได้อธิษฐานขอให้พระองค์ทรงเอาพวกเขาออกไปจากโลก แต่ขอให้พระองค์ทรงปกป้องพวกเขาให้พ้นจากผู้ชั่วร้าย...” (ยอห์น 17:15-16 อมธ.) โลกรอบตัวเราต้องการพลังเปลี่ยนแปลงชีวิตของพระกิตติคุณอย่างยิ่ง การแยกตัวออกจากสังคมสร้างวัฒนธรรมย่อยของตนเอง ไม่ใช่วิธีการตอบสนองที่เหมาะสมตามแนวทางของพระเยซูคริสต์

3. ต่อต้านกระแสวัฒนธรรมสังคม

แนวทางการตอบสนองต่อกระแสวัฒนธรรมสังคมแบบนี้เป็นการตอบโต้ด้วยการเป็นปฏิปักษ์ และ การปกป้องตนเอง โดยตัวเจตนาตอนเริ่มต้นนั้นเคลื่อนไปในทางที่ถูกต้อง   ปฏิเสธที่จะยอมจำนนต่อกระแสวัฒนธรรมสังคมรอบตัวเราที่ถาโถมเข้ามา แต่เป็นการขับเคลื่อนพลาดจากหัวใจของพระคริสต์ การตอบสนองแบบนี้จะมองกระแสวัฒนธรรมสังคมเป็นศัตรูที่เราจะต้องเอาชนะ แทนที่จะมองว่าคนในสังคมนั้น ๆ จะต้องได้รับความรอด 

ความปรารถนาของเราต้องไม่ใช่เพื่อพิสูจน์ว่าตัวเราเองถูกต้อง หรือเพื่อบังคับผลักดันให้สังคมโลกต้องเปลี่ยนไปตามวิถีการดำเนินชีวิตแบบเรา แต่เป้าหมายของเราคือแสดงให้ผู้คนได้เห็นและตระหนักรู้ว่า พระคริสต์ทรงเป็นสัจจะความจริงและมีคุณค่าต่อชีวิตของเขา แต่ก็จะเป็นการผิดอย่างมหันต์ถ้าเราต่อต้านเอาแพ้เอาชนะกระแสวัฒนธรรมสังคม เพราะนั่นเป็นการทำให้ผู้คนหลบหนีออกไปจากคริสตจักร ความแตกต่างจากพลังกระแสวัฒนธรรมสังคมไม่ได้หมายความว่า เรามุ่งต่อสู้โจมตีอิทธิพลกระแสวัฒนธรรมสังคม แต่เรามุ่งมองหาทางที่จะช่วยให้คนในสังคมได้พบและรับเอาความรอดในพระเยซูคริสต์  

เราต้องตระหนักว่า โดยสาระข่าวสารของพระกิตติคุณนั้นสวนกระแสวัฒนธรรมสังคมอยู่แล้ว และสร้างความขุ่นเคืองใจให้แก่คนในสังคมอย่างแน่นอน

4. เดินสวนกระแสวัฒนธรรมสังคม (อยู่ในกระแสวัฒนธรรมสังคมแต่ก้าวย่างตามพระคริสต์)

การสวนกระแสวัฒนธรรมสังคม หมายถึงการเข้าไปในกระแสวัฒนธรรมสังคมด้วยความเชื่อมั่นคงและมีเมตตาจิต เรายืนมั่นบนสัจธรรมของพระเจ้า ได้รับการหนุนเสริมเพิ่มกำลังจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ เพื่อที่จะส่งต่อขยายความรักของพระคริสต์ให้แก่คนในสังคมโลก ความปรารถนาของเรามิใช่เพื่อเอาชนะพลังของกระแสวัฒนธรรมสังคม แต่เพื่อเป็นการกอบกู้คนในสังคมและวัฒนธรรมนั้น ความสำคัญอยู่ที่ว่าเราจะทำอะไร เราจะทำอย่างไร และเราทำเช่นนั้นไปทำไม

ทุกดวงใจของคริสตชนควรจะร้อนรนด้วยความปรารถนาให้เป็นที่ถวายพระเกียรติพระเจ้า   เราคริสตชนไม่สามารถที่จะนั่งนิ่งเฉยหรือถอยห่างออกมาในขณะที่พระเจ้ามิได้รับการยกย่องสรรเสริญ และผู้คนกำลังเดินอยู่บนเส้นทางชีวิตที่กำลังทำร้ายทำลายตนเอง เราต้องทูลขอต่อพระเจ้าให้พระนามของพระองค์เป็นที่รู้จักและเป็นที่รักของคนในวัฒนธรรมที่เราอยู่ด้วยนี้ และนี่มิเป็นเพียงความปรารถนาที่จะขับเคลื่อนชีวิตส่วนตัวของเราเท่านั้น แต่รวมไปถึงทูลขอให้ชีวิตในที่สาธารณะของเราขับเคลื่อนเช่นนั้นในชีวิตประจำวันด้วย

การที่เราตอบสนองต่อกระแสวัฒนธรรมสังคมนั้น เพราะเป็นเรื่องความเป็นความตายของผู้คนในสังคมที่เกิดจากผลกระทบจากอิทธิพลวัฒนธรรมสังคมนั้น ๆ  

ทุกวันนี้ คริสตชน คริสตจักรไทยเลือกตอบสนองอิทธิพลกระแสสังคมแบบไหนมากที่สุดครับ? ทำไมถึงเลือกการตอบสนองแบบนั้นครับ?

แล้วท่านเลือกที่จะตอบสนองอิทธิพลกระแสงสังคมวัฒนธรรมไทยปัจจุบันแบบไหน?   ทำไมท่านถึงเลือกที่จะตอบสนองเช่นนั้นครับ?



19 เมษายน 2564

ลักษณะแผ่นดินของพระเจ้าที่ “กลับตาลปัตร” กับความคาดหวังของประชาชนคนยิว (และเราด้วย?)

ข้อเขียนนี้ยาวมาก... แต่สำคัญมากเช่นกันครับ... และนี่คือ “มุมมอง” ของพระเยซูคริสต์ ที่พระองค์ประสงค์ให้เป็น “แว่นตาชีวิต” ของเราแต่ละคนในแต่ละวันครับ

ประชาชนคนชนชาติยิวที่กลับจากการเป็นเชลยศึกในบาบิโลน ตั้งหน้าตั้งตารอคอยการพลิกฟื้นอาณาจักรอิสราเอลขึ้นใหม่ พวกเขาคาดหวังที่จะเป็นอาณาจักรมหาอำนาจของโลก ปกครองโดยผู้นำที่สืบเชื้อสายจากกษัตริย์ดาวิด โดยมีกรุงเยรูซาเล็มเป็นศูนย์กลางในการบริหารอำนาจและการปกครอง แต่ผ่านไปแล้วหลายศตวรรษ พวกเขายังตกอยู่ใต้การปกครองของอำนาจจักรวรรดิแห่งโลกนี้ จากมหาอำนาจหนึ่งเปลี่ยนไปยังอีกมหาอำนาจหนึ่ง จนหลายต่อหลายคนเกิดความสงสัยในใจว่า แผ่นดินของพระเจ้าที่ทรงสัญญายังจะมาอยู่หรือไม่?

แล้วการมาประกาศเรื่องแผ่นดินของพระเจ้าที่กำลังมาในโลกนี้ ที่ให้ความหวังสำหรับผู้คนชนยิวทั้งหลาย เป็นอาณาจักรที่พวกยิวมุ่งมองหาอาณาจักรที่พวกเขาโหยหาให้เกิดขึ้นเป็นจริงหรือไม่? พระเยซูจะนำกองกำลังกบฏ หรือ จะเรียกว่ากองกำลังปฏิวัติเพื่อคว่ำล้มอำนาจทรราชโรมันแล้วสร้างอาณาจักของพวกยิวขึ้นใหม่หรือไม่?

แน่นอนเลยว่า ที่พระเยซูเข้ามาในโลกนี้ก็เพื่อที่จะนำอาณาจักรแห่งพระสัญญาเข้ามาในโลกนี้  และเสริมสร้างความหวังแก่ผู้คนมากมายหลากหลาย แต่กลับไม่เป็นอาณาจักรที่พวกยิวคาดหวังกัน ซึ่งมีเรื่องราว เนื้อหามากมายที่จะสามารถพรรณนาถึงเรื่องแผ่นดินของพระเจ้าที่พระเยซูคริสต์นำมาในโลกนี้  

แต่ข้อเขียนนี้มุ่งเน้นแสวงหาประเด็นที่เฉพาะเจาะจงคือ ประเด็นมุมมองเกี่ยวกับแผ่นดินของพระเจ้าที่พระเยซูคริสต์นำมาที่มีลักษณะ “กลับตาลปัตร” กับแผ่นดินของพระเจ้าที่พวกยิวคาดหวังกันมาเป็นเวลาหลายศตวรรษหลายชั่วอายุคน

ลักษณะแผ่นดินของพระเจ้าที่ “กลับตาลปัตร” (กลับหัวกลับหาง) ที่พระเยซูคริสต์นำมามีดังนี้...

(1)  ผู้นำที่เป็น...ผู้รับใช้ที่ต้องทนทุกข์

แห่งแรกที่กล่าวถึงความแตกต่างเกี่ยวกับแผ่นดินของพระเจ้าที่พระเจ้าจะนำเข้ามาในโลกเป็นบทเพลงของอิสยาห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทเพลงเรื่องผู้รับใช้ที่ทนทุกข์ (อิสยาห์ 52:13-53:12) ในบทเพลงนี้กล่าวถึง ผู้รับใช้ที่ถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม ถูกปฏิเสธ ถูกกดขี่ ถูกโบยตี  ได้รับความเจ็บปวด และถูกประหารเพราะความบาปผิดของประชากรของพระองค์ ผู้รับใช้คนนี้ได้ถวายบูชาชีวิตของตนเองเพื่อเข้ารองรับเอาการลงโทษทัณฑ์ที่ประชาชนควรได้รับด้วยชีวิตของผู้รับใช้เอง

ตอนช่วงท้ายของบทเพลงผู้รับใช้บทนี้ พระเจ้าได้กล่าวถึงผลที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้รับใช้คนนี้ ว่า...

“ด้วยเหตุนี้เราจะให้เขามีส่วนแบ่งแก่คนมากมาย (หรือในหมู่ผู้ยิ่งใหญ่)
        และเขาจะแบ่งรางวัลกับคนจำนวนมาก (หรือผู้แข็งแกร่ง)
        เนื่องจากเขายอมพลีชีวิต
        และถูกนับเป็นพวกเดียวกับคนที่ล่วงละเมิด
        เพราะเขาแบกรับบาปของคนเป็นอันมาก
        และทูลวิงวอนเพื่อคนที่ล่วงละเมิด”  (อิสยาห์ 53:12 สมช.)

ผู้รับใช้ตามบทเพลงดังกล่าว เราเข้าใจว่าคือองค์พระเยซูคริสต์เจ้า เพราะพระองค์ยอมถวายชีวิตของตนเป็นเครื่องบูชาเพื่อลบล้างความบาปผิดของผู้คน พระองค์แบ่งส่วนแบ่งของประทาน (การลบล้างความผิดบาป) ที่ผู้รับใช้ท่านนี้ได้รับจากพระเจ้า แล้วแบ่งปันแก่ผู้คนมากมาย   เพราะท่านเป็นผู้ที่ยอมมอบชีวิตทั้งสิ้นของตนรับใช้ และยอมพลีชีวิต เสียสละถวายชีวิตเป็นเครื่องบูชาเพื่อคนอื่นมากมาย ดังนั้น พระเจ้าจึงทรงยกย่องให้ผู้รับใช้คนนี้เป็นผู้ใหญ่ยิ่งสำคัญในแผ่นดินของพระเจ้า

(2)  ชนะด้วยการยอมตาย

“ท่านซึ่งตายแล้วเนื่องด้วยการละเมิดทั้งหลาย และเนื่องด้วยการไม่ได้เข้าสุหนัตในเนื้อหนังของพวกท่าน พระองค์ทรงทำให้พวกท่านมีชีวิตร่วมกับพระคริสต์ และทรงให้อภัยการละเมิดทั้งหลายของเรา พระองค์ทรงฉีกเอกสารหนี้ที่มีคำสั่งต่าง ๆ ซึ่งต่อสู้และขัดขวางเรา และทรงขจัดไปเสียโดยตรึงไว้ที่กางเขน พระองค์ทรงปลดเทพผู้ทรงเดชานุภาพและเทพผู้ทรงอำนาจต่าง ๆ ลง พระองค์ได้ทรงประจานและพิชิตพวกนี้โดยกางเขนนั้น” (โคโลสี 2:13-15 สมช.)

พระเยซูคริสต์ได้ทุ่มและเทชีวิตของพระองค์จนยอมสิ้นชีวิตเพื่อแบกรับความบาปผิดของเรา อันเป็นผลจากการที่เราถูกพลังความบอดมืดแห่งโลกนี้ที่ทำให้เราหลงทางและตกไปเป็นทาสของอำนาจบาปชั่วเหล่านั้น เพื่อทดแทนชดใช้ความบาปผิดที่เราควรจะได้รับ เพื่อปกป้องรักษาชีวิตของเราไว้ด้วยการที่พระองค์ยอมถูกตรึงสิ้นชีวิตบนกางเขา พระองค์ยอมที่จะเป็นผู้รับความพ่ายแพ้อดสูรับเอาความบาปผิดของเรา ทำให้พระองค์ต้องพบกับความอัปยศอดสูจากอำนาจชั่ว  

เพราะการที่พระเยซูคริสต์ยอมให้ชีวิตของพระองค์เอง พระองค์จึงได้รับชัยชนะ และสิ่งนี้ก็เป็นความจริงสำหรับเราทุกคนด้วย ในกาลาเทีย 2:20 เปาโลกล่าวว่า ท่านได้ถูกตรึงไว้กับพระคริสต์แล้ว และขณะนี้ท่านจึงมีชีวิตเป็นขึ้นมาใหม่กับพระคริสต์โดยความเชื่อ ใน กาลาเทีย 5:24 เปาโลกล่าวว่า “ผู้ที่อยู่ฝ่ายพระเยซูคริสต์ได้ตรึงเนื้อหนังไว้ที่กางเขน (หรือ ทำลายความต้องการของเนื้อหนัง) พร้อมกับราคะและตัณหาแล้ว” (สมช.) เราจึงมีชีวิตในพระคริสต์ และทำให้ชีวิตของเราได้รับชัยชนะได้

(3)  ฐานเชื่อ มุมมองใหม่เกี่ยวกับชีวิตและความสัมพันธ์

สิ่งที่แสดงถึงการกลับตาลปัตรถึงแผ่นดินของพระเจ้าที่พระเยซูคริสต์นำมาปรากฏในคำสอนแรก ๆ หรือที่เรารู้จักกันคือ ชุดคำสอนที่เนินเขา  ในมัทธิว บทที่ 5-7 ในชุดคำสอนมหาพร พระองค์ได้สอนถึงพระพรในลักษณะต่าง ๆ ที่ประชาชนจะได้รับ หรือ เป็นชุดคำสอนที่ว่าด้วยเรื่องความสุขในชีวิต เป็นพระพร หรือ ความสุขของผู้ที่ ยากจนในจิตวิญญาณ คนที่โศกเศร้า ถ่อมสุภาพ ผู้หิวกระหายความชอบธรรม มีใจเมตตา ใจบริสุทธิ์ และ ผู้สร้างสันติ

คนทั่วไปในโลกนี้ จะมองคนที่พระเยซูสอนว่าจะมีความสุขว่า เป็นคนที่ไม่มีความสำคัญ หรือ เป็นคนที่เขาไม่พึงปรารถนา แต่พระเยซูกลับสอนว่าคนประเภทเหล่านี้คือประชากรในแผ่นดินของพระเจ้า เป็นผู้ที่จะรับมรดกแห่งแผ่นดินโลก และ เป็นพระบุตรของพระเจ้า มุมมองที่กระแสสังคมโลกใช้มองคนไม่เหมือนกับมุมมองที่พระเจ้ามอง คนประเภทที่สังคมโลกดูหมิ่นดูถูกกลับกลายเป็นคนที่มีคุณค่าในแผ่นดินของพระเจ้า

เมื่อใครก็ตามที่อ่านคำเทศนาบนเนินเขาของพระเยซูคริสต์ ก็จะเห็นชัดเจนว่า คำสอนของพระองค์สวนกระแสคำสอนของสังคมโลก หรือแม้กระทั่งขัดแย้งแตกต่างจากคำสอนของพวกยิวด้วยกัน ครั้งแล้วครั้งเล่าที่เราจะอ่านพบคำกล่าวของพระเยซูคริสต์ที่ว่า “ท่านทั้งหลายได้ยินคำซึ่งกล่าวไว้...  แต่เราบอกพวกท่านว่า...” (ตัวอย่างเช่น มัทธิว 5:21-22)

ผู้คนในโลกนี้นิยมที่จะทำให้คนที่เห็นตน ยอมรับและนิยมชมชอบตนเอง แต่ในแผ่นดินของพระเจ้าเราจะกระทำการดีต่าง ๆ อย่างเป็นการลับ เพราะเราจะได้ความชื่นชมหรือบำเหน็จจากพระเจ้าพระบิดา เราจะช่วยเหลือคนยากจนขัดสน เราจะช่วยอย่างเป็นการลับ มิใช่เพื่อให้คนอื่นได้เห็น การที่คนในแผ่นดินของพระเจ้าจะช่วยเหลือคนอื่นเป็นการลับเพราะเชื่อว่าพระเจ้าทรงเห็นแล้ว

คนในแผ่นดินของพระเจ้าจะไม่ดำเนินชีวิตประจำวันด้วยความห่วงกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปของชีวิต อาหารการกิน เครื่องนุ่งห่ม อย่างที่คนในสังคมโลกเป็นกัน แต่คนในแผ่นดินของพระเจ้าจะไว้วางใจในพระเจ้า พระองค์ทรงรอบรู้ลึกซึ้งถึงความจำเป็นต้องการของเราแต่ละคนแต่ละชีวิต และพระองค์จะใส่ใจต่อความจำเป็นต้องการเหล่านั้น

ในแผ่นดินของพระเจ้าสังคมจะไม่ตีตราว่าร้ายตัดสินชีวิตของคนอื่น แต่กลับมุ่งเน้นให้ใส่ใจความบาปผิดที่ตนเองอาจจะพลั้งพลาดหรือตั้งใจกระทำลงไป วิถีการดำเนินชีวิตของคนในแผ่นดินของพระเจ้าเป็นวิถีทางที่คับและแคบ ที่มักประสบกับความยากลำบาก ที่กระตุ้นเตือนให้ดำเนินชีวิตด้วยความระมัดระวัง จนบางครั้งดูเชื่องช้า  มิใช่วิถีทางที่กว้างขวางสะดวกสบาย ที่เอื้อให้ชีวิตของผู้คนบนเส้นทางนี้ดำเนินไปอย่างเร่งรีบ

(4)  ผู้เล็กน้อยคือผู้ยิ่งใหญ่

พระเยซูคริสต์สอนว่า“คนที่เป็นใหญ่ในพวกท่านย่อมต้องปรนนิบัติท่าน ใครยกตัวขึ้นจะต้องถูกทำให้ต่ำลง ใครถ่อมตัวลง จะได้รับการยกขึ้น” (มัทธิว 23:11-12 มตฐ.) และนี่ก็เป็นระบบคุณค่าที่กลับตาลปัตรกับระบบคุณค่าของสังคมในเวลานั้นและในเวลานี้ด้วยเช่นกัน เรามักมีมุมมองว่าคนที่มั่งคั่งและมีอำนาจคือคนที่มีอิทธิพลในสังคมมากที่สุด เราจะเรียกคนพวกนี้ว่าเป็น “ผู้ยิ่งใหญ่” แต่ในแผ่นดินของพระเจ้ามีระบบคุณค่าที่สวนกระแส ที่ตรงกันข้าม ที่กลับตาลปัตรกับกระแสอิทธิพลแห่งสังคมโลกนี้

พระเยซูคริสต์มิเพียงแต่สอนที่กลับตาลปัตรเท่านั้น แต่พระองค์ปฏิบัติเป็นรูปธรรมแก่สาวกของพระองค์ด้วยการล้างเท้าของสาวกที่สกปรก (ยอห์น 13:1-17) พระคริสต์กระทำบทบาทของการเป็นคนใช้ของสาวก แล้วพระองค์บอกกับสาวกว่า สาวกต้องทำตามแบบอย่างที่พระองค์ได้วางไว้

แต่แบบอย่างที่เป็นรูปธรรมที่พระเยซูคริสต์ได้กระทำให้เห็นที่ยิ่งใหญ่ คือการสำแดงแบบอย่างรูปธรรมบนกางเขน ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในสากลโลกจักรวาล ยิ่งใหญ่กว่าทุกสิ่งยกเว้นพระบิดา ได้เข้ามาในสังคมโลกนี้ด้วยการให้ชีวิตของตนแก่สรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง แทนที่จะมาในสังคมโลกด้วยการเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่อย่างที่คนทั้งหลายคาดหวังกัน แต่พระองค์ต้องการให้คนชาวโลกเข้าใจใหม่ให้ถูกต้องว่า พระองค์เข้ามาในสังคมโลกในฐานคนรับใช้ที่ทนทุกข์อย่างที่เผยล่วงหน้าใน อิสยาห์ บทที่ 53 ซึ่งจะไม่มีใครที่จะจินตนาการว่าผู้สร้างสรรพสิ่งในสากลโลกจักรวาลต้องมาตายด้วยกางเขนประหารอาชญากร แต่นั่นคือสิ่งที่องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราได้กระทำ

(5)  ทรงเลือกคนโง่ที่จะทำให้คนฉลาดได้อาย

องค์กร องค์การต่าง ๆ ในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศชาติ หรือ บริษัททั้งหลาย ต่างแสวงหาคนที่เข้มแข็ง ฉลาดปราดเปรื่อง มาดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจ เราต้องการคนที่มีประสิทธิภาพ  สมรรถนะ และ ที่สามารถนำความสำเร็จมาสู่องค์กรเป็นผู้นำของเรา เพราะผู้ที่ว่านี้จะเป็นผู้ที่ช่วยให้เราประสบความสำเร็จสูงสุดและความมั่งคั่งมั่นคง

แต่ในแผ่นดินของพระเจ้ามีมุมมองกระบวนคิดที่แตกต่างจากที่ว่านี้อย่างสิ้นเชิง ใน 1โครินธ์ 1:18-31 เปาโลได้กล่าวถึงลักษณะคนที่พระเจ้าทรงเลือกให้เป็นคนหนึ่งในแผ่นดินของพระองค์   ซึ่งเราส่วนใหญ่จะไม่เลือกอย่างที่พระเจ้าทรงเลือก เปาโลบอกเราว่า “พระเจ้าได้ทรงเลือกพวกที่โลกถือว่าโง่ เพื่อทำให้พวกมีปัญญาอับอาย และได้ทรงเลือกพวกที่โลกถือว่าอ่อนแอ เพื่อทำให้พวกที่แข็งแรงอับอาย พระเจ้าได้ทรงเลือกพวกที่โลกถือว่าต่ำต้อยและดูหมิ่น และเห็นว่าไม่สำคัญ เพื่อทำลายสิ่งซึ่งโลกเห็นว่าสำคัญ  เพื่อไม่ให้มนุษย์สักคนหนึ่งโอ้อวดเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าได้” (ข้อ 27-28 มตฐ.)

พระเจ้ามิได้เลือกคนที่โลกเห็นว่าฉลาดปราดเปรื่องและคนที่เข้มแข็ง แต่พระองค์กลับเลือกคนที่คนทั้งหลายเห็นว่าอ่อนแอและโง่ และคนที่ต่ำต้อย สิ่งที่สำคัญในแผ่นดินของพระเจ้ามิใช่ความก้าวหน้าสำเร็จของมนุษย์ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งคือพระราชกิจของพระเจ้าที่ทรงกระทำในชีวิตของผู้คนแต่ละคน พระเจ้าทรงเป็นแก่นกลาง เสาหลัก หรือ หัวใจแห่งแผ่นดินของพระองค์   ไม่ใช่มนุษย์และความสำเร็จของมนุษย์

(6)  ฤทธานุภาพของพระเจ้าชัดแจ้ง (สมบูรณ์) ในความอ่อนแอ (ของมนุษย์)

ใน ฟีลิปปี 3:4-6 เปาโลพรรณนาถึงสิ่งดีเด่นที่ตนมีอยู่เมื่อเปรียบกับคนดีคนเด่นในสังคมของเขา   แต่เขากลับเห็นว่าสิ่งเหล่านั้นไร้คุณค่า สิ่งที่มีคุณค่าสุดคือ การที่เขาได้รู้จักพระคริสต์ (ข้อ 7-8)   นอกจากนี้เปาโลยังได้รับความทุกข์ทรมานจากความบาดเจ็บทางกายที่บั่นทอนในการปฏิบัติงานของเขาที่ได้รับมอบหมายจากพระเจ้า และเปาโลเองก็ได้อธิษฐานขอพระเจ้ายกเอาความอ่อนแอทางสุขภาพของเขาออกไป เพื่อเขาจะทำงานให้เกิดผลมากกว่านี้ แต่พระเจ้าบอกเปาโลว่า“เพราะว่าความอ่อนแอมีที่ไหน ฤทธานุภาพของเราก็ปรากฏเต็มที่ที่นั่น” (2โครินธ์ 12:7-10)

ในโลกนี้เราชื่นชมกับความสำเร็จของมนุษย์ เรายกย่องคนที่สามารถปีนขึ้นสู่ยอดเขาแห่งความสำเร็จในชีวิต คนที่ชนะในการแข่งขัน คนที่สามารถทำเงินได้เป็นหลาย ๆ ล้าน และความสำเร็จที่น่าติดตามอื่น ๆ คนประเภทเหล่านี้ที่คนเราในโลกมุ่งมองแสวงหา แต่ไม่ใช่วิถีชีวิตของคนที่อยู่ในแผ่นดินของพระเจ้า

สำหรับสิ่งที่สำคัญยิ่งในแผ่นดินของพระเจ้าคือ พระราชกิจของพระเจ้าที่ทรงกระทำในชีวิตของมนุษย์ที่ยอมตนต่อพระองค์ อย่างที่เปาโลเคยกล่าวไว้ว่า ที่เขามีชีวิตเช่นนี้ได้ก็เพราะพระเจ้าที่ทรงกระทำให้เขาเป็นคนอย่างที่เขาเป็น

(7)  กลับหัวกลับหาง  กลับตาลปัตร

ความคิดที่ท้าทาย และ น่าชื่นชมที่สุดเกี่ยวกับสังคมแห่งแผ่นดินของพระเจ้ามักจะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าเล็กน้อยในสายตาแห่งสังคมโลกนี้ ในทางกลับกัน สิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่งใหญ่ในมุมมองของสังคมโลกนี้ก็มีคุณค่าเพียงน้อยนิดในแผ่นดินของพระเจ้า ดั่งคำสอนบนเนินเขาของพระเยซูคริสต์ที่ฟังขัดแย้งกับภูมิปัญญาของมนุษย์ส่วนใหญ่ พระเจ้าสถาปนาแผ่นดินของพระเจ้าบนแผ่นดินโลกนี้ด้วยชีวิตและความตายของพระเยซูคริสต์ มิใช่ด้วยภูมิปัญญาของมนุษย์ที่มักเป็นหินสะดุดในโลกนี้ ในแผ่นดินของพระเจ้า ได้ยกชูเอาความอ่อนแอและความโง่เขลา  และพระราชกิจของพระเจ้าที่กระทำให้ชีวิตของแต่ละคนเกิดคุณค่าในชีวิตมนุษย์และระบบสังคม

ลักษณะเฉพาะสังคมแห่งแผ่นดินของพระเจ้าแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากสังคมโลกนี้ ระบบคุณค่าของสังคมแห่งโลกนี้มีคุณค่าเพียงเล็กน้อยในแผ่นดินของพระเจ้า และระบบคุณค่าในแผ่นดินของพระเจ้ามักด้อยค่าในสังคมแห่งโลกนี้ เราไม่สามารถที่จะรู้ถึงระบบคุณค่าแห่งแผ่นดินของพระเจ้า หรือ เข้าไปในแผ่นดินของพระเจ้าด้วยตัวของเราเองได้ แต่ด้วยพระเมตตาคุณของพระเจ้าเราถึงจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในแผ่นดินของพระองค์ได้



18 เมษายน 2564

กางเขนเท่านั้นไม่พอ... เราต้องเป็นขึ้นใหม่กับพระคริสต์ด้วย!

หลุดรอดออกจากอำนาจแห่งความบาปชั่วเท่านั้นไม่เพียงพอ เราต้องได้รับชีวิตใหม่ในพระคริสต์ด้วย และนี่คือชีวิตที่ครบบริบูรณ์ (ยอห์น 10:10) ที่พระคริสต์ต้องการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราในแผ่นดินของพระเจ้าในสังคมโลกนี้

ถ้าปราศจากการเป็นขึ้นจากความตายเราก็ไม่มีความหวังในชีวิตนิรันดร์ การสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์บนกางเขนไม่เพียงพอที่จะให้เราได้มีชีวิตที่ครบบริบูรณ์ตามพระสัญญาของพระคริสต์   แต่การเป็นขึ้นจากความตายคือ การที่เราได้รับการเปลี่ยนแปลงเสริมสร้างใหม่จากพระคริสต์   ให้ชีวิตของเราเป็นชีวิตใหม่โดยพระคริสต์ เป็นชีวิตในแผ่นดินของพระเจ้าที่พระองค์นำมาสถาปนาขึ้นบนแผ่นดินโลกนี้

เปาโล เชื่ออย่างแข็งขันว่า กางเขนเท่านั้นไม่เพียงพอ ให้เราอ่านจดหมายที่เปาโลเขียนถึงคริสต์ชนในเมืองโครินธ์ที่ว่า 

“...ถ้าพระคริสต์ไม่ได้ทรงถูกทำให้เป็นขึ้นมา ความเชื่อของพวกท่านก็ไร้ประโยชน์ ท่านก็ยังคงอยู่ในบาปของตน  และถ้าอย่างนั้นคนทั้งหลายที่ล่วงหลับในพระคริสต์ก็พินาศไปด้วย  ถ้าเรามีความหวังในพระคริสต์เพียงแค่ในชีวิตนี้ เราก็เป็นพวกน่าเวทนาที่สุดของคนทั้งหมด” (1โครินธ์ 15:17-19 มตฐ.)

เปโตรรู้ชัดว่า ความหวังที่นิรันดร์ของเราขึ้นอยู่กับการเป็นขึ้นมาจากความตายของพระคริสต์  ท่านกล่าวว่า

“สรรเสริญพระเจ้าพระบิดาขององค์พระเยซูคริสต์เจ้าของเรา! ด้วยพระเมตตายิ่งใหญ่พระองค์ทรงให้เราทั้งหลายบังเกิดใหม่เข้าในความหวังอันยืนยงโดยการเป็นขึ้นจากตายของพระเยซูคริสต์  และเข้าในมรดกอันไม่มีวันเสื่อมสลาย เน่าเสียหรือเลือนหายไป...” (1เปโตร 1:3-4 อมธ.)

บ่อยครั้งนักที่เราพบว่า นักเทศน์ นักประกาศฯ มิชชันนารีหลายท่านที่เน้นความสำคัญที่กางเขนเท่านั้น  คือการที่พระคริสต์ได้ตายเป็นการกอบกู้ไถ่ถอนเราให้หลุดรอดออกจากกงเล็บอำนาจแห่งความบาปชั่ว แล้วก็ชื่นชมยินดีที่มีผู้มาเชื่อ แต่มิได้นำผู้รอดใหม่คนนั้นเข้ารับการทรงเสริมสร้างชีวิตที่เป็นขึ้นใหม่ในพระคริสต์

แน่นอนครับ  การยอมสิ้นชีวิตของพระคริสต์บนกางเขนที่กลโกธา เป็นการทรงชดใช้ความบาปผิดของเราแต่ละคน เราที่เป็นคนบาปสมควรที่จะต้องตายในความบาปผิดของเรา ความบาปของเรานำชีวิตจิตวิญญาณของเราไปสู่ความตาย และเป็นชีวิตที่ถูกแยกออกห่างจากพระเจ้า แต่พระคริสต์มาเพื่อรับความบาปผิดของเราทั้งหลายแทนพวกเรา ถ้าปราศจากกางเขนของพระคริสต์เราก็ยังจะจมจ่อมนอนแช่อยู่ในความตายแห่งความบาปชั่วของเรา แต่สิ่งนี้เป็นเพียง “พระกิตติคุณครึ่งใบ” เท่านั้น

ใน 1โครินธ์ 15 เปาโลกล่าวถึงข่าวดีอย่างรวบรัด และท่านได้ตกผลึกข่าวดีที่ท่านประกาศนั้นถึงองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดว่า

“เพราะเรื่องที่ข้าพเจ้าได้รับมานั้นเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด  และข้าพเจ้าได้ถ่ายทอดให้ท่านคือ พระคริสต์ทรงวายพระชนม์เพราะบาปของเราตามที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์  ทรงถูกฝังไว้และในวันที่สามพระเจ้าทรงให้พระองค์เป็นขึ้นจากตายตามที่พระคัมภีร์ระบุไว้” (1โครินธ์ 15:3-4 อมธ.)

เราจำเป็นและต้องได้รับชีวิตที่เป็นขึ้นใหม่จากพระคริสต์ เพราะ...

การสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์เป็นการที่พระคริสต์ยอมชดใช้ผลของความบาปชั่ว (หรือ ผลกรรม  ผลการกระทำ) ในชีวิตของเราแทนเรา แต่การเป็นขึ้นจากความตายของพระคริสต์ได้ให้ความหวังในชีวิตแก่เรา และทั้งสองประการนี้เราได้รับจากพระองค์ ที่เริ่มต้นเมื่อเราได้รับชีวิตใหม่จากพระองค์ และจะเป็นชีวิตใหม่ที่ครบบริบูรณ์ตลอดไปในพระคริสต์ และนี่คือองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ และชีวิตของเราที่เป็นขึ้นใหม่กับพระเยซูคริสต์มีความสำคัญมากดังนี้...

1) การเป็นขึ้นจากความตายของพระคริสต์เป็นหลักฐานประจักษ์แสดงว่าสิ่งที่พระคริสต์สอนและกระทำเป็นความจริงแท้  (ดู ยอห์น 14:20)

2) การเป็นขึ้นจากความตายของพระคริสต์  เป็นชัยชนะของพระองค์ และชัยชนะของเรา (ดูโรม 6:9 และ 14)

3) การเป็นขึ้นจากความตายของพระคริสต์ได้ประทานชีวิตใหม่ในพระเจ้าแก่เรา (โรม 6:10, โคโลสี 3:1)

4) การเป็นขึ้นใหม่ของพระคริสต์เป็นเครื่องหมายยืนยันการเป็นขึ้นใหม่ของร่างกายของเราด้วย (ดู โรม 8:11, 1โครินธ์ 15:20-21)

5) การเป็นขึ้นจากความตายของพระคริสต์ได้ประทานพลังชีวิตปัจจุบันนี้แก่เราด้วย  (ดู ฟีลิปปี 3:10,  โรม 8:11)

การเป็นขึ้นจากความตายเป็นฤทธิ์อำนาจของพระเจ้าสำหรับผู้ที่เชื่อในพระองค์! เพราะพระคริสต์ได้รับการทรงกระทำให้เป็นขึ้นจากความตาย พระองค์ก็จะทรงทำให้ผู้ที่เชื่อในพระองค์เป็นขึ้นจากความตายด้วย เราได้รับฤทธิ์อำนาจเดียวกันที่ทรงกระทำให้พระคริสต์ให้เป็นขึ้นจากความตาย  

แล้วท่านได้รับพลังชีวิตที่เป็นขึ้นจากความตายจากองค์พระผู้เป็นเจ้าแล้วหรือยัง? หรือเคยได้รับความรอดแล้ว แต่ยังกลับไปมีชีวิตที่ตกใต้อำนาจบาปชั่วอีก ชีวิตที่เป็นขึ้นจากความตายของพระคริสต์มีฤทธิ์อิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของเราในทุกวันนี้หรือไม่?



16 เมษายน 2564

คุณลักษณะคริสตจักรที่เตรียมธรรมิกชน... มีอะไรบ้าง?

ตามพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ หน้าที่ที่สำคัญมากประการหนึ่งของคริสตจักรท้องถิ่นคือ  การเตรียมและเสริมสร้างธรรมิกชนให้เป็นผู้ที่ปรนนิบัติรับใช้พระคริสต์ในสังคมโลกปัจจุบัน และร่วมในพันธกิจการเสริมสร้างพระกายของพระคริสต์ให้แข็งแรง และมีประสิทธิภาพตามพระประสงค์มากขึ้น

“เพื่อเตรียมธรรมิกชนสำหรับการปรนนิบัติและการเสริมสร้างพระกายของพระคริสต์”

(เอเฟซัส 4:12 มตฐ.) 

แต่ในความเป็นจริง  มิใช่ทุกคริสตจักรที่เลี้ยงดู บ่มเพาะ เสริมสร้างสมาชิกของตนตามเป้าหมายแห่งพระประสงค์ของพระคริสต์ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า คริสตจักรของเรามีการเตรียม เลี้ยงดู บ่มเพาะ เสริมสร้างสมาชิกตามเป้าหมายข้างต้นหรือไม่?  

ต่อไปนี้เป็นตัวชี้วัด 14 ประการที่สามารถใช้ในการประเมินชีวิตและพันธกิจของแต่ละคริสตจักรท้องถิ่นว่า เป็นคริสตจักรที่มีคุณลักษณะในการในการเลี้ยงดู บ่มเพาะ เสริมสร้างสมาชิกให้เป็นผู้ปรนนิบัติรับใช้  และร่วมกันเสริมสร้างพระกายของพระคริสต์ให้แข็งแรง และ มีประสิทธิภาพตามพระประสงค์มากน้อยแค่ไหน

1. เป็นคริสตจักรที่คาดหวังว่าสมาชิกทุกคนในพระกายของพระคริสต์จะเป็นคนรับใช้ด้วยความสามารถด้านใดด้านหนึ่งที่ตนมีศักยภาพ โดยคริสตจักรมีกระบวนการฝึกฝนสมาชิกแต่ละคนให้ใช้ศักยภาพที่ตนมีอยู่รับใช้ในงานพันธกิจคริสตจักร

2. ศิษยาภิบาลจะเป็นพี่เลี้ยงของผู้นำ 2-3 คนในแต่ละครั้ง เพื่อสร้างเสริมและฝึกฝนพวกเขาให้สามารถทำพันธกิจใดพันธกิจหนึ่ง และมอบหมายให้เขาออกไปทำพันธกิจนั้น ๆ ตามที่ได้รับการฝึกฝน (มิใช่เปิดชั้นเรียน มีสมาชิกมาเรียน แต่เรียนแล้วไม่มีใครรับใช้)

3. สมาชิกคริสตจักรแต่ละคนได้รับการฝึกฝนเตรียมพร้อมให้เป็นพยานถึงพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ และได้รับการท้าทายให้เข้าไปเป็นพยานถึงพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ในชุมชน-เพื่อนบ้านข้างเคียง และ พื้นที่ที่ตนทำงานประจำวัน

4. คริสตจักรมีวิธีการ กระบวนการ เครื่องมือ ในการฝึกอบรมเสริมสร้างสมาชิกให้ออกไปเป็นพยานชีวิตถึงพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ โดยสมาชิกเหล่านี้ต่างได้ออกไปเป็นพยานชีวิตและนำผู้เชื่อใหม่เข้ามาร่วมในคริสตจักร และรับการเลี้ยงดูเสริมสร้างให้มีวุฒิภาวะในชีวิตแห่งความเชื่อต่อไป

5. ผู้เชื่อใหม่แต่ละคนจะมีพี่เลี้ยงที่เคียงข้างชีวิตของเขาเพื่อคอยหนุนเสริม เมื่อผู้เชื่อใหม่เริ่มต้นในการดำเนินชีวิตบนเส้นทางชีวิตของพระเยซูคริสต์

6. สมาชิกที่มีศักยภาพในการสื่อสารสั่งสอน จะได้รับการเสริมสร้างฝึกฝนให้มีความสามารถในการสื่อสารสั่งสอน และได้รับมอบหมายให้เป็นผู้สอนในคริสตจักร

7. ผู้นำที่สอนถึงหลักการความเชื่อตามพระคัมภีร์ จะเน้นย้ำถึงวิธีการและแนวทางการใช้หลักข้อเชื่อแต่ละข้อในการปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวัน

8. ผู้นำที่ผ่านการฝึกอบรมให้มีความสามารถในการสื่อสารสั่งสอน จะทำหน้าที่ในการสอนในกลุ่มต่าง ๆ ที่กำหนด โดยผลัดเปลี่ยนกับผู้นำในการสื่อสารสั่งสอนคนอื่น ๆ พร้อมกันนั้นจะเสริมสร้างคนใหม่ ๆ ให้มีความสามารถในการสื่อสารสั่งสอนต่อไปด้วย

9. คณะนักร้องสรรเสริญพระเจ้า จะได้รับการเรียนรู้ ฝึกฝนจนมีทักษะในด้านการดนตรีและการขับร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า และนำเพื่อนสมาชิกเข้าร่วมสรรเสริญพระเจ้าด้วยกัน

10. ผู้ที่เข้าร่วมในการนมัสการพระเจ้าได้เรียนรู้ถึงการนมัสการพระเจ้าที่แท้จริง และ ได้รับการนำเข้าสู่การนมัสการพระเจ้าด้วยจิตวิญญาณและความจริง

11. สมาชิกคริสตจักรทุกคนได้รับการสอนสร้างให้มีวินัยชีวิตจิตวิญญาณ คริสตจักรท้าทายให้สมาชิกทุกคนดำเนินชีวิตตามวินัยชีวิตจิตวิญญาณดังกล่าว

12. มัคนายกได้รับการฝึกฝนทักษะการดูแลเอาใจใส่และรับผิดชอบในการทำพันธกิจการรับใช้ในด้านต่าง ๆ

13. ศิษยาภิบาล และ คณะผู้อภิบาลจะต้องรับผิดชอบต่อการเจริญเติบโตด้านจิตวิญญาณของตนเอง รวมถึงการดำเนินชีวิต และในการทำพันธกิจ

14. มีการประเมินผลถึงกระบวนการเสริมสร้างฝึกฝนชีวิตจิตวิญญาณสมาชิกของคริสตจักร และจะต้องมีการประเมินผลอย่างเป็นระบบ และต่อเนื่อง

แน่นอนครับ  ท่านผู้อ่านแต่ละท่านย่อมมีประสบการณ์ในเรื่องการเสริมสร้างสมาชิกคริสตจักรให้เป็นผู้รับใช้พระคริสต์ จะมีตัวชี้วัดที่ผมมิได้กล่าวถึงในที่นี้  โปรดกรุณาแบ่งปันในที่นี้ เพื่อการเรียนรู้และเกิดประโยชน์ร่วมกันครับ



14 เมษายน 2564

เทศนาแบบ “เฟอร์นิเจอร์กระดาษอัด”

การเทศนาที่นำเสนอ การดำเนินชีวิตทางจริยธรรม, รูปแบบระบบการเมือง,  การปฏิบัติในเชิงเศรษฐกิจ.... แต่ปราศจากรากฐานทางความเชื่อ  กระบวนคิด และการปฏิบัติบนรากฐานพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์  เป็นเหมือนดอกไม้ในแจกันบนธรรมมาสน์แต่ละวันอาทิตย์  เป็นความสวยงามที่ไร้ราก  ที่รอเวลาเหี่ยวเฉา เป็นความงามเฉพาะกิจ แล้วต้องหาดอกไม้ชุดใหม่มาจัดแจกันสำหรับวันอาทิตย์ต่อไป

“เฟอร์นิเจอร์สะดวกใช้” หรือ เฟอร์นิเจอร์กระดาษอัด สวย ราคาถูก น้ำหนักเบา สะดวกใช้  แต่ไม่แข็งแรงและไม่คงทน เพราะทำมาจากกระดาษ ขี้เลื่อย และ กาว ไม่เหมาะที่จะถูกน้ำ อยู่ในที่ชื้น หรือเปียกแฉะ ใช้นานไปมักเปื่อยยุ่ย หรือถูกแมลงกัดแทะ

บ่อยครั้งที่เรามักได้ยินได้ฟังคำเทศนาที่ดูดี มีแนวปฏิบัติแบบสำเร็จรูป ที่สามารถนำไปปฏิบัติใช้ในสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ แต่ผู้ฟังพึงระมัดระวังว่า หลักคิดหลักปฏิบัติดังกล่าวมิได้หยั่งลงลึกในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ หรือ มิได้ยืนหยัดบนราฐานความเชื่อและกระบวนคิดแบบพระเยซูคริสต์ 

ขอเน้นย้ำอีกครั้งว่า คำเทศนาที่เน้นหลักการและแนวทางในการปฏิบัติในชีวิตประจำวันนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ต้องเป็นแนวทางการปฏิบัติที่ยืนหยัดหยั่งรากลงในคำสอนและแบบอย่างชีวิตของพระเยซูคริสต์ มิใช่ตามทฤษฎีต่าง ๆ ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และระบบคุณค่าของสังคมปัจจุบัน

ปัจจุบันเรามักพบว่า คำเทศนาหลายครั้งที่เป็นคำเทศนาที่เสนอแนวปฏิบัติทางจริยธรรม การบริหารจัดการชีวิต หรือ การโค้ชชีวิต แนวทางทางการเมืองร่วมสมัย หรือเรียกร้องให้เป็นนักกิจกรรมทางสังคม หรือการเมือง หรือเรียกร้องให้ทำดีชอบธรรมเพื่อใครบางคน 

การเรียกร้องให้มาชุมนุมใหญ่ทางจิตวิญญาณที่มีบางสิ่งบางอย่างบิดเบือนซ่อนเร้นจากความถูกต้องทางพระคัมภีร์ สิ่งดีดีที่นำเสนอผ่านทางเทศนาเหล่านี้คือ “คำเทศนาแบบเฟอร์นิเจอร์กระดาษอัด” อย่างที่กล่าวข้างต้นมาแล้วว่า คำเทศนาแบบเฟอร์นิเจอร์กระดาษอัดนั้น ดูสวยงาม กะทัดรัด สะดวกใช้ ฯลฯ แต่เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ได้ไม่คงนาน คำเทศนาแบบนี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตจิตวิญญาณของผู้ฟังเทศน์ (1โครินธ์ 3:11-15) เป็นคำเทศนาที่มิได้เสริมสร้างความแข็งแรงมั่นคงในชีวิตจิตวิญญาณของผู้ฟังให้อยู่คงทนได้

คำเทศนาประเภทนี้ ได้รับการเตรียมเทศน์จากปัญหาที่ผู้เทศน์กำลังประสบอยู่และมีความสนใจ  ใส่ใจวิธีคิด มุมมอง ของปัญหาที่กำลังเกิด และแสวงหาแนวทางการแก้ปัญหาตามฐานเชื่อกระบวนคิดทฤษฎีในเรื่องนั้น ๆ ที่ตนได้รับอิทธิพลจากกระแสสังคม แต่มิได้ใส่ใจทุ่มเทในการค้นคว้า ศึกษาเจาะลึกลงในพระวจนะของพระเจ้า ว่าอะไรคือจุดยืนฐานรากทางความเชื่อตามพระคัมภีร์ในเรื่องนั้น และพระคัมภีร์ได้ชี้ทางออกอย่างไร แต่รีบกระโดดข้ามไปเสนอแนวทางปฏิบัติตามหลักคิดทฤษฎีที่ตนได้รับจากอิทธิพลของกระแสสังคมในเวลานั้น ๆ

นักเทศน์กลุ่มนี้มักไม่ได้ใส่ใจถามและค้นหาคำตอบว่า แล้วพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์มีมุมมองในเรื่องนี้อย่างไร? พระกิตติคุณได้เสนอทางออกว่าอย่างไร? พระกิตติคุณได้ชี้นำทิศทางที่จะมุ่งไปในเรื่องนี้ว่าคริสตชนในฐานะสาวกของพระคริสต์จะต้องดำเนินชีวิตไปยังทิศทางไหน?

นักเทศน์จำเป็นจะต้องหันกลับมาหาสัจจะความจริงจากพระคัมภีร์ สัตย์ซื่อต่อการทรงเรียกและการชี้นำของพระเจ้า ทุ่มเทอย่างมุ่งมั่นที่จะวางรากฐานชีวิตจิตวิญญาณของผู้ฟังเทศน์ให้หยั่งรากมั่นคงในพระวจนะของพระเจ้า และ เสริมหนุนชีวิตผู้ฟังเทศน์ให้ย่างก้าวไปบนเส้นทางชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ปฏิบัติชีวิตประจำวันตามคำสอนและแบบอย่างการดำเนินชีวิตแบบพระเยซูคริสต์ โดยเริ่มต้นจากชีวิตของตนเองก่อน เพื่อให้เป็นแบบอย่างชีวิตที่สำแดงออกมาจากชีวิตประจำวันของผู้เทศน์เป็นคำเทศนาเชิงปฏิบัติที่มีฐานรากความเชื่อและกระบวนคิดบนรากฐานสัจจะพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

ความเข้าใจหยั่งรู้ในพระวจนะของพระเจ้า เป็นเรื่องของแต่ละคนที่จะมีเวลาที่จะติดสนิทกับพระเจ้า ด้วยการภาวนาอธิษฐาน การใคร่ครวญไตร่ตรองพระวจนะของพระเจ้าอย่างมุ่งมั่นไม่ท้อถอย   “ชาวเมืองเบเรอามีจิตใจสูงกว่าชาวเมืองเธสะโลนิกาเพราะพวกเขารับเรื่องนี้ด้วยความกระตือรือร้นและค้นพระคัมภีร์ทุกวันเพื่อตรวจสอบว่าสิ่งที่เปาโลกล่าวเป็นจริงหรือไม่” (กิจการ 17:11 อมธ.) ยิ่งเรารู้และเข้าใจถึงพระวจนะของพระเจ้ามากแค่ไหน เราก็ยิ่งต้องการประกาศฯ หรือ เผยพระวจนะด้วยความสัตย์ซื่อต่อการถูกตรึงและการเป็นขึ้นจากความตายของพระคริสต์มากแค่นั้น



12 เมษายน 2564

พฤติกรรมของผู้นำคริสตจักร**ที่เป็นพิษ

ผู้นำคริสตจักรส่วนมากเป็นผู้เชื่อในพระเจ้าและเป็นผู้เชื่อที่เข้มแข็ง ผู้นำคริสตจักรที่เป็นพิษมีจำนวนไม่มากนัก แต่ผู้นำกลุ่มเล็ก ๆ นี้ที่สร้างความเจ็บปวด ทำร้าย อันตราย และหายนะแก่ชีวิตคริสตจักร และ องค์กรคริสตชนส่วนใหญ่  และมีอิทธิพลแพร่ระบาดรุนแรงและร้ายแรงอย่างเช่นเชื้อร้ายที่กำลังแพร่ในขณะนี้ (อ้อ...ระวังมันกำลังกลายพันธุ์ด้วย)

ข้างล่างนี้คือพฤติกรรมของผู้นำคริสตจักรและผู้นำองค์กรคริสตชนที่เป็นพิษ

1. ผู้นำคริสตจักรที่เป็นพิษไม่ค่อยแสดงให้เห็นถึงผลของพระวิญญาณ  

เปาโลได้กล่าวถึงคุณลักษณะที่เป็นผลของพระวิญญาณในกาลาเทีย 5:22-23 ดังนี้คือ  ความรัก ความยินดี สันติสุข ความอดทน ความกรุณา ความดี ความซื่อสัตย์ ความสุภาพอ่อนโยน การรู้จักบังคับตน  คุณลักษณะเหล่านี้มักไม่ค่อยปรากฏในผู้นำคริสตจักรที่เป็นพิษ

2. ผู้นำคริสตจักรที่เป็นพิษ แสวงหาวิธีการนำที่มีความรับผิดชอบให้น้อยที่สุด  

ถ้าเป็นไปได้แล้วพวกเขาจะทำอย่างที่ไม่ต้องรับผิดชอบ และมักนิยมการใช้อำนาจการนำอย่างเผด็จการอย่างเบ็ดเสร็จจากบนลงล่าง

3. ผู้นำคริสตจักรที่เป็นพิษ คาดหวังให้คนอื่นมีพฤติกรรมตามที่ตนต้องการ แต่ไม่คาดหวังว่าตนต้องมีพฤติกรรมเช่นนั้น

“จงทำอย่างที่ฉันสั่ง แต่อย่าทำตามที่ฉันทำ”

4. ผู้นำคริสตจักรที่เป็นพิษจะมองคนอื่น ๆ ด้อยกว่าตนทั้งสิ้น  

เราจะได้ยินผู้นำพวกนี้วิพากษ์วิจารณ์ผู้นำอื่น ๆ เพื่อที่จะทำให้ตนเองโดดเด่นขึ้น

5. ผู้นำคริสตจักรที่เป็นพิษจะเป็นผู้นำที่มีความลำเอียง 

เป็นผู้นำที่นิยมชมชอบผู้คนเพียงไม่กี่คน ในขณะที่คนอื่น ๆ ส่วนมากถูกเหยียดให้ด้อยลง

6. ผู้นำคริสตจักรที่เป็นพิษมักเป็นผู้นำที่อารมณ์ฉุนเฉียว 

เขามักแสดงพฤติกรรมเช่นนี้เมื่อคนอื่น ๆ ไม่ทำอย่างที่ตนต้องการ  

7. ผู้นำคริสตจักรที่เป็นพิษ เป็นผู้นำที่พูดกับบางคนอย่างหนึ่ง แต่พูดแตกต่างกับคนอื่น ๆ พูดง่าย ๆ คือเขาพูดโกหกหลอกลวง

8. ผู้นำคริสตจักรที่เป็นพิษจะเหยียดคนที่เขาจะพัฒนาให้ต่ำต้อยด้อยค่าก่อน  

มองคนอื่นอย่างต่ำต้อยด้อยค่า มองคนอื่นเป็นแค่วัตถุสิ่งของ มิได้มองคนเหล่านั้นว่าเป็นประชากรของพระเจ้าที่ต้องการการเสริมสร้างพัฒนา

9. ผู้นำคริสตจักรที่เป็นพิษ เป็นผู้นำที่บิดเบือน เอารัดเอาเปรียบ 

มักใช้กลโกงด้วยความจริงบางส่วนให้เป็นประโยชน์แก่ตนเอง

10. ผู้นำคริสตจักรที่เป็นพิษ เป็นผู้นำที่ขาดความโปร่งใส  

ผู้นำที่เผด็จการมักเป็นผู้นำที่ไม่มีความโปร่งใส เพราะหากถูกจับได้ว่าเขาใช้อำนาจไปในทางที่ผิด  เขาอาจจะได้รับความเสียหาย

11. ผู้นำคริสตจักรที่เป็นพิษ  เป็นผู้นำที่ไม่ต้องการให้ใครโต้แย้งหรือไม่เห็นด้วย 

ถ้ามีบางคนที่ไม่เห็นด้วยกับเขา คน ๆ นั้นจะตกเป็นเหยื่อของความโมโหโทโสของผู้นำ หรือถูกผู้นำทำให้เป็นคนต่ำต้อยด้อยค่าทันที

12. ผู้นำคริสตจักรที่เป็นพิษ มักห้อมล้อมไปด้วยคนสอพลอประจบประแจง   

คนวงในของเขามักจะเป็นพวกคนสนิทและเครือญาติ และคนประเภท “ครับเจ้านาย”

13. ผู้นำคริสตจักรที่เป็นพิษ เป็นผู้นำที่สื่อสารอย่างด้อยคุณภาพ 

โดยพื้นฐานแล้ว การสื่อสารที่ชัดเจนตรงไปตรงมามักแสดงออกให้คนอื่นเห็นถึงพฤติกรรมเผด็จการของเขา  ดังนั้น เขาจึงพยายามทำให้การสื่อสารของเขาดูคลุมเครือเข้าใจยาก

14. ผู้นำคริสตจักรที่เป็นพิษ  เป็นผู้นำที่หมกมุ่นอยู่กับตนเอง  

ในความเป็นจริงแล้ว ผู้นำพวกนี้ไม่ต้องการเห็นตนเองที่แสดงออกถึงพฤติกรรมหรืออาการเหล่านี้  แต่....?

ใช่ครับ ผู้นำคริสตจักรที่เป็นพิษเหล่านี้เป็นเพียงคนกลุ่มเล็ก ๆ ในหมู่ผู้นำคริสตชน แต่คนกลุ่มนี้สามารถทำให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายต่อผู้นำคริสตชนกลุ่มใหญ่ และองค์กรคริสตชนและคริสตจักรได้   และพวกเขาสามารถมีพฤติกรรมอย่างที่เขาเป็นไปได้ยาวนานหลายปี เพราะผู้นำกลุ่มนี้เป็นผู้นำมักมีบารมีในบางด้าน ที่มีบุคลิกที่ดึงดูดความสนใจและมีเสน่ห์สำหรับคนที่แสวงหาผลประโยชน์สำหรับตนเอง

ท่านเคยรู้จักกับผู้นำคริสตจักรที่เป็นพิษบ้างไหม? พฤติกรรม หรือ อาการเหล่านี้ดูคุ้น ๆ หรือเปล่าครับ?   ท่านคิดจะไปร่วมไม้ร่วมมือกับเขาด้วยหรือไม่?

** หมายเหตุ: 

ผู้นำที่กล่าวในข้อเขียนนี้หมายถึงทั้งผู้นำในคริสตจักรท้องถิ่น คริสตจักรระดับภูมิภาค คริสตจักรในระดับชาติ และรวมถึงผู้นำในสถาบัน-องค์กรคริสตชน ในที่นี้รวมถึง ศิษยาภิบาล คณะธรรมกิจ-คณะกรรมการในคริสตจักรท้องถิ่น ภูมิภาค และกรรมการต่าง ๆ ในคริสตจักรระดับชาติ กรรมการอำนวยการในหน่วยงาน สถาบัน และองค์กรคริสตชน