30 พฤศจิกายน 2561

ผู้นำที่...แตะใจ...ก่อนแตะมือ!

ตลอด 1พงศ์กษัตริย์ บทที่ 11  ได้บันทึกถึงความบาปผิดอันร้ายแรงของโซโลมอน อันเป็นสาเหตุให้แผ่นดินที่พระเจ้าประทานให้ต้องฉีกแยกออกจากกันเป็นสองแผ่นดินคือ อาณาจักรภาคเหนือ (ประกอบด้วย 10 เผ่า ดูข้อ 35) และอาณาจักรภาคใต้ (2 เผ่า)

ความบาปผิดที่รุนแรงของกษัตริย์โซโลมอน ที่ผู้คนชื่นชมถึงสติปัญญาอันเฉียบแหลมและมีชื่อเสียงเลื่องลือไกล  ได้ดำเนินชีวิตฝ่าฝืนพระบัญญัติของพระเจ้า   แต่งงานกับหญิงของชนชาติที่พระบัญญัติห้ามไว้ (ดูข้อ 3)  เพราะหญิงเหล่านี้เองที่เอาพระของตนเข้ามามีอิทธิพลครอบงำเหนือชีวิต ความคิด ปัญญา และการตัดสินใจของโซโลมอน “พระ​องค์​ทรง​มี​มเห​สี 700 คน และ​นาง​ห้าม 300 คน และ​บรร​ดา​มเห​สี​ของ​พระ​องค์​ก็​หัน​พระ​ทัย​ของ​พระ​องค์​ไป​เสีย...บรร​ดา​มเห​สี​ของ​พระ​องค์​ได้​หัน​พระ​ทัย​ของ​พระ​องค์​ไป​ตาม​พระ​อื่น ๆ และ​พระ​ทัย​ของ​พระ​องค์​ไม่​ภักดี​ต่อ​พระ​ยาห์​เวห์ พระ​เจ้า​ของ​พระ​องค์”(ดูข้อ 3, 4 มตฐ.)  เขาสร้างปูชนียสถานสูงบนภูเขาตรงกันข้ามกับกรุงเยรูซาเล็ม(ดูข้อ 7)

ภายหลังการตายของกษัตริย์โซโลมอน  เรโหโบอัมลูกชายของกษัตริย์ก็ขึ้นครองอำนาจต่อจากพ่อ   ฝ่ายเผ่าต่าง ๆ ที่อยู่ทางภาคเหนือยกพวกพร้อมกับเยโรโบอัมบุตรเนบัท ที่กบฏต่อโซโลมอนแล้วหนีไปอยู่ในอียิปต์ (ดูข้อ 26-40)  ก็กลับมาและรวมอยู่กับพวกจากภาคเหนือมาพบกับเรโหโบอัมด้วย

กลุ่มอิสราเอลที่อยู่ภาคเหนือมาร้องขอให้กษัตริย์ใหม่ลดหย่อนการเกณฑ์แรงงานจากพวกเขาให้เบาลงกว่าในสมัยของโซโลมอน   และบอกว่าพวกตนยังจะสวามิภักดิ์รับใช้กษัตริย์องค์ใหม่ต่อไป  เมื่อเรโหโบอัมมาปรึกษากับคณะที่ปรึกษาอาวุโส  ซึ่งเคยให้คำปรึกษาแก่โซโลมอนมาก่อน ได้แนะนำเรโหโบอัม กษัตริย์องค์ใหม่ว่า   หากวันนี้ฝ่าพระบาทจะทรงเป็นผู้รับใช้ประชาชน ปรนนิบัติเขา และตอบตามที่เขาต้องการ พวกเขาก็จะเป็นผู้รับใช้ของฝ่าพระบาทเสมอไป” (ข้อ 7 อมธ.)

แต่เรโหโบอัมเลือกที่จะทำตามคำแนะนำของที่ปรึกษาที่เป็นเพื่อนคนใกล้ชิดของเขาตั้งแต่วัยหนุ่มว่าให้ตอบกลับไปอย่างรุนแรง เรโหโบอัมจึงตรัสกับคนที่มาจากทางภาคเหนือว่า  “เสด็จพ่อของเราวางแอกหนักให้พวกเจ้า เราจะให้หนักยิ่งขึ้นไปอีก เสด็จพ่อของเราเคยใช้แส้เฆี่ยนเจ้า ส่วนเราจะใช้แมงป่องเล่นงานเจ้า”  ” (ข้อ 14 อมธ.)  

ผลที่ตามมาคือความสัมพันธ์แตกหักแยกแผ่นดินกันปกครอง พวกที่มาจากภาคเหนือก็ตอบกษัตริย์เรโหโบอัมแบบตัดเยื่อใยเช่นกันว่า    “เราเกี่ยวข้องอะไรกับดาวิด?   เรามีส่วนอันใดกับบุตรเจสซี?   อิสราเอลเอ๋ย กลับบ้านกันเถิด! ให้ดาวิดดูแลปกครองพวกตัวเองไปก็แล้วกัน!” ดังนั้นชนอิสราเอลจึงพากันกลับบ้าน  (ข้อ 16 อมธ.)  

การเป็นผู้นำเริ่มต้นและมีรากฐานหยั่งลึกในความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำและผู้ตามก่อน   หรืออย่างที่คณะที่ปรึกษาอาวุโสแนะนำเรโหโบอัมว่า ให้กษัตริย์เริ่มต้นด้วยการ “รับใช้ประชาชนก่อน เพื่อที่จะแตะใจ หรือ ได้รับใช้ประชาชน  เพื่อประชาชนจะรู้สึกใกล้ชิดสัมพันธ์กับกษัตริย์ และ ได้ใจของประชาชน  เพื่อที่ประชาชนจะเต็มใจจะรับใช้กษัตริย์ตลอดไป”

ผู้นำจะต้อง “แตะใจ” (ได้ใจ)  ก่อนที่จะ “แตะมือ” (ได้มือ) ของประชาชนที่จะรับใช้พระองค์ตลอดไป

สัมพันธภาพที่ผู้นำจะมีกับผู้ตามมิใช่เรื่องลำบากซับซ้อนอะไร   แต่ผู้นำจะต้องเป็นฝ่ายเริ่มต้นด้วยความเต็มใจและจริงใจ   และสิ่งนี้คือสิ่งที่บุตรชายของโซโลมอนคือเรโหโบอัมได้มองข้ามความสำคัญ   เรโหโบอัมมองข้ามความสำคัญของการเป็นผู้นำในเรื่องอะไรบ้าง?

1.     คนที่ท่านนำย่อมเต็มใจยินดีที่จะทำตามถ้าผู้นำที่เข้าถึง “ใจ” และ “ความรู้สึก” ของเขาก่อน
2.     เมื่อผู้นำเป็นผู้ให้ก่อน คนที่ท่านนำก็จะให้ตอบ   เมื่อท่านรับใช้คนที่ท่านนำก่อน  ผู้คนที่ท่านนำก็จะรับใช้ผู้นำด้วยความเต็มใจ
3.     เมื่อผู้นำให้ใจ ใส่ใจของตนแก่แต่ละคนที่เขานำ   ผู้นำก็จะได้ใจของคนที่ตนนำทั้งหมด
4.     เมื่อผู้นำยื่นมือ ยื่นชีวิต เข้าถึงใจและชีวิตของผู้คนก่อน  ผู้ตามก็จะยื่นมือยื่นชีวิตกลับมายังผู้นำ
5.     ไม่ว่าผู้นำเพิ่งจะเข้ารับตำแหน่งในฐานะผู้นำ  หรือเป็นผู้นำมาช่วงเวลาหนึ่งแล้ว   ถ้าผู้นำจะประสบความสำเร็จในการนำ  ผู้นำจะต้องมีความสัมพันธ์กับคนที่ตนนำอย่างลึกซึ้งและจริงใจเป็นทุนเดิมในการนำก่อน  มิใช่ใช้อำนาจและมีอำนาจ(จากตำแหน่ง)เป็นทุนเดิม

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

28 พฤศจิกายน 2561

เทศกาลรอคอยการมาบังเกิดของพระคริสต์ (2018)

การรอคอย  เป็นช่วงเวลาที่สำคัญในชีวิตของคนเรา   น่าสังเกตว่า  ปฏิทินชีวิตคริสตชนและชีวิตคริสตจักรเริ่มต้นปีใหม่ด้วยเทศกาลรอคอยการมาบังเกิดของพระคริสต์  

ทำไมต้องรอคอย?   เรื่องราวการมาบังเกิดของพระคริสต์เริ่มต้นจากการตั้งครรภ์ของนางมารีย์   การตั้งครรภ์เป็นเวลา “จุติ” เวลาเริ่มต้นของชีวิตใหม่  ชีวิตที่เริ่มต้นจากตัวอ่อนต้องใช้เวลา 9 เดือนโดยประมาณในการก่อร่างสร้างตัวการเติบโตของชีวิตใหม่ในครรภ์มารดา  นี่คือกระบวนการของชีวิตที่พระเจ้าทรงสร้างให้มีและดำเนินไปในมนุษย์ และ นี่คือเหตุผลที่เราต้องรอคอย

เรารอคอยเวลาตามกระบวนการ ตามกำหนดของการทรงสร้าง!

เรารอคอย หรือ ให้เวลากับชีวิตที่เกิดและเติบโตตามกระบวนการแห่งการทรงสร้าง

เรารอคอยด้วยความหวังที่จะได้พบกับ “ชีวิตใหม่” ที่จะคลอดออกมาเป็นทารก เป็นตัวเป็นตนที่เราจะจับต้องได้  อุ้ม โอบกอด ชื่นชม  ทะนุถนอม ฟูมฟัก เลี้ยงดู บ่มเพาะ เสริมสร้าง ให้เป็นชีวิตที่มีคุณค่าและความหมาย และในขั้นตอนนี้ของกระบวนการชีวิตเราก็ยังต้อง “รอคอย” หรือ “ให้เวลา” เช่นกัน และมิเพียงแต่การให้เวลาเท่านั้น ในช่วงเวลาของการ “รอคอย” เราต้องเสริมหนุนให้ชีวิตดังกล่าวเจริญเติบโตและแข็งแรงด้วย

สามขั้นตอน สามลักษณะการรอคอยพระคริสต์

เทศกาลรอคอยการมาบังเกิดของพระคริสต์  มี 3 ขั้นตอน 3 ลักษณะการรอคอยด้วยกันคือ

ž  รอคอยการมาบังเกิดเป็นทารกน้อย ในรางหญ้าที่คอกสัตว์บ้านเบธเลเฮ็ม   พระเจ้ามาบังเกิดรับสภาพชีวิตแบบมนุษย์   มาอยู่เคียงข้างชีวิตของเรา   มาปักหลักตั้งฐานชีวิตร่วมชีวิตกับเรา   เพื่อนำเอาพระคุณ ความรักเมตตา และให้ชีวิตของพระองค์แก่มนุษยชาติ  เพื่อมนุษยชาติจะได้ชีวิตใหม่

ž  รอคอยการมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์ ในอนาคต เมื่อถึงเวลากำหนดของพระเจ้า พระคริสต์จะมาหาเราอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงเวลานี้...พระองค์ทรงจัดเตรียมสิ่งต่าง ๆ เพื่อมนุษยชาติ และประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นพลังชีวิตพร้อมกับเสริมสร้างชีวิตใหม่ในผู้ที่ยอมตนเป็นสาวกของพระคริสต์ และทรงเรียกให้สาวกทุกคนสานต่อพระราชกิจที่พระองค์ได้เริ่มต้นไว้แล้ว จนกว่าจะไปถึงเป้าหมายพระราชกิจของพระคริสต์ และจนกว่าการมาอีกครั้งหนึ่งของพระองค์

ž  รอคอยการมาบังเกิดของพระคริสต์ในกระบวนเหตุการณ์ชีวิตประจำวันของเรา   เป็นการที่เราแต่ละคนรอคอยให้ชีวิตแบบพระคริสต์เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในชีวิตประจำวันของเราแต่ละคน เพื่อชีวิตประจำวันของเราจะสามารถสำแดงพระคริสต์แก่ผู้คนที่เราพบปะสัมผัสและสัมพันธ์ และเป็นไปตามพระสัญญาของพระคริสต์ที่ว่า  พระองค์จะอยู่กับเราด้วยฤทธานุภาพทั้งสิ้น ในสวรรค์ บนแผ่นดินโลกที่พระเจ้ามอบให้แก่พระคริสต์   พระองค์สัญญาว่าจะอยู่กับเรา  เปลี่ยนแปลงหนุนเสริมเรา  เพื่อเราจะสามารถสานต่อพระราชกิจของพระคริสต์เสมอไปเป็นนิจจนกว่าจะสิ้นยุค

คริสตชน และ คริสตจักรไทยรอคอยอะไรในทุกวันนี้?

แล้วคริสตจักรไทย คริสตชนไทยทุกวันนี้ เรากำลังรอคอยอะไร?  

ท่ามกลางสถานการณ์ชีวิตปัจจุบันของเราที่ถูกครอบงำด้วยความมืดมนทั้งในชีวิตส่วนตัว และ สังคมชุมชน   เรารอคอยแสงสว่างที่จะนำวิถีการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา   ให้เห็นเส้นทางชีวิตที่เป็นพระประสงค์ในชีวิตของเรา  

" เพื่อเราจะสามารถลุกขึ้น  แล้วเดินไปบนเส้นทางนั้นด้วยความไว้วางใจในการทรงนำเคียงข้างของพระคริสต์   เพื่อที่จะเรียนรู้จากการก้าวไปตามทางนั้นทีละก้าว ๆ ในแต่ละวัน

" เพื่อเราจะสามารถเลือกและตัดสินใจอย่างถูกต้องตามพระประสงค์ของพระคริสต์ในชีวิตของเรา  ด้วยการดำเนินไปบนเส้นทางชีวิตแห่งพระประสงค์ของพระคริสต์นี้เอง ที่เราจะได้รับการเสริมสร้างใหม่ให้มีชีวิตที่พระคริสต์จะทรงใช้ได้ตามพระประสงค์ของพระองค์

" เพื่อเราจะลุกขึ้นและส่องสว่างแสงแห่งความรักเมตตา และ แสงแห่งชีวิตของพระคริสต์แก่ผู้คนในสังคมโลกปัจจุบันที่เราอยู่ร่วมด้วย ที่ตกอยู่ท่ามกลางความสับสน ว้าวุ่น สิ้นหวัง หมดกำลัง ที่ตกอยู่ในสภาพที่เราไม่สามารถที่จะพึ่งตนเอง  ในสถานการณ์ที่เราไม่สามารถควบคุมได้   เรารอคอยพระคริสต์ที่จะนำเราให้ลุกขึ้นเป็นแสงสว่างของพระองค์   เพื่อทุกคนที่อยู่ร่วมกับเราจะสามารถเห็นและเดินไปตามเส้นทางที่พระองค์ทรงเตรียมไว้   ที่เราจะออกจากสภาวะชีวิตที่สิ้นหวังดังกล่าว

แล้วเราจะรอคอยอย่างไร?

หลายท่านไม่ชอบการรอคอย เพราะมักมีจินตภาพว่า การรอคอยคือการอยู่นิ่ง ๆ เป็นพฤติกรรมเชิงรับ น่าเบื่อ อดรนทนลำบาก เพราะเราอยู่ในสภาพชีวิตจริงที่จะต้องตัดสินใจเลือก ที่จะต้องตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง จะให้อยู่เฉย ๆ ได้อย่างไรกัน?

แต่นั่นเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาด  นั่นเป็นจินตภาพที่คลาดเคลื่อนจากความจริงในพระคริสต์!

การรอคอยของคริสตชนในเทศกาลการรอคอยการบังเกิดชีวิตพระคริสต์ในชีวิตประจำวันของเราเป็นการรอคอยเชิงรุก  การรอคอยที่เป็นการขับเคลื่อนชีวิต   การรอคอยที่ต้องเปิดพื้นที่ชีวิตให้พระคริสต์เสริมสร้างเปลี่ยนแปลงให้เป็นชีวิตใหม่ที่พระองค์จะใช้ตามพระประสงค์ได้ เป็นการรอคอยที่ต้อง “ลงมือทำ” เพื่อเราจะมีประสบการณ์ เพื่อเราจะเกิดการเรียนรู้ และนำสู่การกลับใจและการเปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่จากพระคริสต์

ดังนั้น การรอคอยในเทศกาลนี้จึงมิใช่การเพิ่มเวลา “นั่งบ่นภาวนาในมุมมืด”  เพื่อมิให้ใครเห็นที่จะมารบกวนเรา แต่การรอคอยในเทศกาลนี้ด้วยการมีชีวิตที่เคลื่อนไปตามเส้นทางชีวิตแบบพระคริสต์   ด้วยการทรงนำของพระองค์ และด้วยพลังชีวิตที่หนุนเสริมจากพระวิญญาณบริสุทธิ์  เพื่อพร้อมรับชีวิตพระคริสต์ที่จะเริ่มเติบโตในชีวิตประจำวันของเรา หรือ เพื่อทารกเยซูจะเติบโตเป็นเด็กน้อย เด็กโต วัยรุ่น ผู้ใหญ่แบบพระคริสต์ในชีวิตประจำวันของเราแต่ละคนต่อไป

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

26 พฤศจิกายน 2561

คริสตชนแบบ “ข้าสองเจ้า บ่าวสองนาย”

“คนฉลาด” มิได้ใช้ “ปัญญา” เสมอไป
(เฉกเช่น กษัตริย์โซโลมอน)
“คนฉลาด” ดูรวดเร็ว คล่องแคล่ว ฉับไว
“คนมีปัญญา” ดูสุขุม ลุ่มลึก มั่นคง

ตาอยากดูอะไร ข้าพเจ้าก็ไม่ปฏิเสธตัวเอง
ใจอยากสนุกอย่างไร ข้าพเจ้าก็ไม่ห้าม
ข้าพเจ้าชื่นชมผลงานทั้งปวงของตน
และนี่เป็นรางวัลจากการลงทุนลงแรงของข้าพเจ้า

ถึงกระนั้นเมื่อข้าพเจ้าสำรวจดูทุกสิ่งที่ทำไป
และที่ตรากตรำเพื่อให้ได้มา
ทุกสิ่งล้วนอนิจจัง เหมือนวิ่งไล่ตามลม
ไม่ก่อประโยชน์อะไรขึ้นมาภายใต้ดวงอาทิตย์  (ปัญญาจารย์ 2:10-11 อมธ.)

เราสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดอย่างมหันต์ของกษัตริย์โซโลมอน โซโลมอนไล่ล่าติดตามสิ่งต่าง ๆ ตามใจปรารถนาของตนเอง   ซึ่งในที่สุดกษัตริย์องค์นี้ก็พบว่า เป้าหมายที่เขาไล่ล่าติดตามนั้นไร้ค่าไร้ราคาและสาระ  สิ่งที่เขาได้ก็เป็นเพียงการตอบสนองความอยากได้ใคร่มีของตนเท่านั้น   โซโลมอนเขียนไว้ว่า  เขาบรรลุความสำเร็จในสิ่งที่ตนปรารถนา  เป็นความสำเร็จสูงสุดในชีวิตของเขา   แต่เขาพบความจริงว่า  เขาได้ทุกอย่างที่ปรารถนาที่อยากได้ใคร่มี  แต่ชีวิตยังรู้สึกว่างเปล่า  และนี่คือสัจพจน์ในชีวิตจริง

อย่างที่มีคำกล่าวว่า  “คุณจับปลาสองมือแล้วคุณจะถืออย่างไร”  และในที่สุดก็คือคุณไม่ได้ปลาสักตัว   คุณไล่ล่าทรัพย์สินเงินทอง อำนาจ  และบอกว่าคุณติดตามพระเจ้า   ในที่สุดคุณก็จะไม่ได้ทั้งพระเจ้า และ ทรัพย์สิ่งของเหล่านั้น

เมื่อเราพิจารณาสิ่งที่เราจะตัดสินใจทำนั้นเรามีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้างที่จะใช้พิจารณาว่า เราจะตัดสินใจทำสิ่งนั้น ๆ หรือไม่ แน่นอนว่าเราคงต้องถามตนเองว่าสิ่งที่เราจะทำนั้นสำคัญมากสำหรับเราแค่ไหน? มีค่าต่อเราแค่ไหน? ท่านอาจจะใช้คำถามข้างล่างนี้ในการพิจารณาสิ่งที่ท่านไล่ล่าต้องการทำให้สำเร็จ
·         สิ่งที่เราต้องการทำนี้เป็นสิ่งที่สำคัญอันดับแรกในชีวิตขณะนี้ของเราไหม?
·         สิ่งที่เราต้องการทำนี้อยู่ในข่ายสมรรถนะ ความสามารถที่เรามีหรือเปล่า?
·         มีใครคนอื่นที่ทำสิ่งนี้ได้ดีกว่าเราหรือไม่?
·         เพื่อนสนิทที่เราไว้วางใจมีความเห็นอย่างไรกับสิ่งที่เราต้องการทำให้สำเร็จดังกล่าว
·         ฉันมีเวลาที่จะทำในสิ่งนี้หรือไม่ และที่สำคัญที่สุด...
·         สิ่งที่เราต้องการบรรลุความสำเร็จนั้น  สอดคล้องกันพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับชีวิตของเราหรือไม่?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

23 พฤศจิกายน 2561

ชีวิตประจำวันเป็นอย่างไร ก็บ่งบอกความเชื่อของเราว่าเป็นอย่างนั้น

พูดกันตรงไปตรงมาอย่างไม่เกรงใจ   ทุกวันนี้คริสตชนเรา  ต่างก็รู้อยู่เต็มอกว่า  คำตอบสำหรับความกลัวในจิตใจของเราคือ  การที่เราจะมอบความกลัวทั้งสิ้นที่อาจจะเกิดขึ้นในชีวิตของเราไว้ในพระหัตถ์ของพระบิดาผู้ทรงครอบครองและควบคุมเหนือสรรพสิ่งทั้งสิ้น  ความกลัวจึงถูกแทนที่ด้วยความเชื่อศรัทธา!

แต่ในความจริงแล้ว  เมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์จริงในชีวิตประจำวัน   เหตุการณ์เหล่านั้นกลับทำให้เราหมดทางสู้   ตกอยู่ในวังวนความวิตกกังวลที่กำลังดูดเราลงลึกไปทุกที   ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอนาคตลูกหลานของเรา   สภาพการณ์ชีวิตแต่งงานของเรา  การไม่รู้ว่าจะรับมืออย่างไรในการงานที่รับผิดชอบ   บาดแผลและความเจ็บช้ำจากความสัมพันธ์ในชีวิต   และอีกจิปาถะที่หนักหนาสาหัส

เมื่อเราต้องเผชิญกับสิ่งร้าย ๆ ในชีวิตประจำวันดังกล่าว   เรามองหาคำตอบสำหรับการจัดการวิกฤติในชีวิต   ยุคนี้หลายต่อหลายคนหันหาคำตอบจาก “กูเกิล”  ก่อนที่จะหันหน้าเข้าหา “กำลังและความเข้าใจจากเบื้องบน”  ที่มาจากพระบิดาเจ้าของเรา   เราพยายามที่จะลงมือจัดการด้วยปัญญาและความสามารถอันน้อยนิดและจำกัดของเราเอง   ด้วยคาดหวังว่า จะสามารถจัดการชีวิตของเราตามที่เราต้องการ   ตามกระแสความต้องการของสังคมปัจจุบัน   และมักพบความจริงว่า   เราพยายามจัดการชีวิตของเราไปในทางที่เกิดผลผิดพลาดมากขึ้น   แล้วจนถึงภาวะที่เราไม่สามารถรับมือวิกฤตินั้นต่อไป   แล้วเราก็วนกลับไปกลับมาในวังวนเดิม ๆ   เราได้รับความเจ็บปวดในชีวิตจากบาดแผลที่เผชิญกับสถานการณ์ที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ซ้ำแล้วซ้ำอีก

แล้วนี่เราจะบอกว่า  เราคริสตชนเชื่อว่าพระเจ้าพระบิดาของเราผู้ทรงครอบครองและควบคุมสรรพสิ่งทั้งสิ้นได้อย่างไร?   เราคงอยู่ในความจริงเพียงแค่ว่า   เรา “คิดว่า”  ไม่ใช่  “เราเชื่อว่า”  ถ้าเราเชื่อว่าพระเจ้าพระบิดาทรงเป็นพระเจ้าที่ทรงครอบครองและควบคุมทุกสิ่งในจักรวาลนี้จริง   เราจะต้องวางใจพระเจ้าในเรื่องนั้นต่างหากมิใช่หรือ?

เพราะถ้าเราเชื่อเช่นนั้นจริง ๆ เราควรจะต้อง “ไว้วางใจ” ในพระเจ้าพระบิดาองค์นี้ที่เราเชื่อศรัทธา  

จำเป็นอย่างยิ่งที่คริสตชนต้องกลับมา “คิดใคร่ครวญลงลึก” ว่า การดำเนินชีวิตประจำวันที่แสดงชัดเจนว่า   เราไว้วางใจในพระเจ้าพระบิดาว่าทรงครอบครองและควบคุมทุกสิ่งในสากลจักรวาลแค่ไหน?  

ถ้าเราเชื่อวางใจว่าพระบิดาทรงครอบครองและควบคุมทุกสิ่งในสากลจักรวาลจริง ๆ แล้ว...   
W  เราควรมีการดำเนินชีวิตประจำวันแบบไหน?   
W  เราจะต้องดำเนินชีวิตประจำวันแตกต่างจากที่เรามีอยู่ในตอนนี้อย่างไร?  
W  เราจะไว้วางใจพระเจ้าพระบิดาอย่างไร  แค่ไหน?  
W  เราจะต้องมีชีวิตที่รู้จักและยอมรอคอยอย่างไร?  
W  แล้วเราจะ “ปล่อยและวาง” การติดยึดตามกระแสสังคมโลกนี้อย่างไร?  แค่ไหน?  
W  แล้วหันกลับมามอบกายถวายชีวิตทั้งสิ้นของเราแด่พระเจ้าพระบิดาได้หรือยัง?  

ความจริงก็คือว่า  ความวิตกกังวลไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย   แต่ความไว้วางใจในพระเจ้าต่างหากที่จะเปลี่ยนทุกอย่างได้!
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

21 พฤศจิกายน 2561

ทำอย่างไรที่จะพึงพอใจในทุกสถานการณ์ชีวิต?

ลองคิดถึง ในเวลาที่ท่านมีความรู้สึกพึงพอใจจริง ๆ   อะไรที่ทำให้ให้ท่านรู้สึกดีเช่นนั้น?  

สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว   ความรู้สึกที่พึงพอใจ หรือ เวลาที่เกิดมี “สุขภาวะ” ในชีวิตจิตใจ  มักเกิดขึ้นเมื่อสภาวะแวดล้อมชีวิตของเขาเป็นไปตามที่เขาคาดหวังต้องการ   แต่สำหรับเปาโลหรือบุคคลสำคัญในพระคัมภีร์แล้วมิได้เป็นอย่างที่ว่านี้   เปาโลบอกว่าท่านเรียนรู้ที่จะพึงพอใจในทุกสถานการณ์ชีวิต  ไม่ว่าสภาวะชีวิตแวดล้อมจะดีหรือเลวร้ายปานใดก็ตาม

เราสามารถเรียนรู้บทเรียนสำคัญ ๆ ในเรื่องนี้จากเปาโลและบุคคลในพระคัมภีร์  ความจริงประการแรกที่ปฏิเสธหรือหลีกเลี่ยงไม่ได้คือเราต้องพบกับผู้คนมากมาย  ทั้งคนที่เราไม่อยากพบเจอ และนี่เป็นสภาวะหนึ่ง หรือ สถานการณ์ความทุกข์ยากลำบากประการหนึ่งที่เกิดแก่เรา ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นสำหรับเราแต่ละคนคือ เราจะเผชิญหน้าหรือรับมือกับสถานการณ์ที่ยากลำบากเหล่านั้นด้วยความสุขุมสงบ  มีจิตวิญญาณที่มั่นคงมากกว่าที่จะมีจิตใจที่ว้าวุ่น สับสน กังวลกับสถานการณ์แวดล้อมชีวิตของเราในเวลาเช่นนั้นได้อย่างไร

ความพึงพอใจ ความสุขใจ มิได้เกิดจากสถานการณ์แวดล้อมภายนอก  

การเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมชีวิตที่เกิดขึ้นภายนอกอาจจะสามารถทำให้เราสุขใจหรือพอใจเพียงชั่วขณะหนึ่ง ชั่วครั้งชั่วคราว   แต่ที่สำคัญขึ้นอยู่กับตัวเราเองแต่ละคนว่า  “แต่ละคนคิดอย่างไร” ไม่ใช่ “แต่ละคนมีอะไร เผชิญหน้าอะไร” 

ความสุขใจ ความพึงพอใจเกิดจากมุมมองชีวิตภายในของเรา  

ความสงบสุขุมภายในของสาวกพระคริสต์มาจากฐานคิดฐานเชื่อศรัทธาของสาวกพระคริสต์คนนั้น ๆ ในพระคริสต์   เขาเลือกที่จะไว้วางใจในพระคริสต์พระผู้ช่วยให้รอดในทุกสถานการณ์ ในทุกกรณีชีวิต   เปาโลยอมให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ที่สถิตภายในชีวิตของท่านครอบครองทั้งชีวิตไม่ว่าอารมณ์ ความคิด ความรู้สึก และ เป็นผู้ที่จะเสริมสร้างท่านให้มีปัญญาว่าจะเผชิญหน้าและรับมือกับสถานการณ์ที่เลวร้ายทั้งหลายอย่างไร

ความสุขใจและพึงพอใจเป็นสิ่งที่เรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน  

ความสุขใจและความพึงพอใจมิใช่สิ่งที่ท่านจะไปเอามาจากตำราเล่มไหน หรือ หลักสูตรอะไรได้   เพราะความสุขใจความพึงพอใจเป็นกระบวนการที่ได้จากชีวิตจริงของเราเอง   ที่เราแต่ละคนจะต้องลงมือกระทำด้วยชีวิตของตนเอง  จึงทำให้เราเกิดประสบการณ์ชีวิตจากการกระทำนั้น   แล้วถอดบทเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงในชีวิตดังกล่าว   สำหรับเปาโลแล้ว  หลาย ๆ เรื่องท่านเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงในชีวิต  ไม่ว่าการที่ท่านถูกข่มเหงทางความเชื่อ  การทนทุกข์เพื่อความจริงแห่งชีวิต  การถูกจำขังพันธนาการ   พระเจ้าทรงใช้สถานการณ์ที่ทุกข์ยากลำบากที่เกิดขึ้นในชีวิตของเปาโลที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดความเชื่อของท่าน   แล้วสร้างให้เปาโลเป็นคนใหม่ตามพระประสงค์ของพระคริสต์

สถานการณ์แวดล้อมในชีวิตประจำวันสามารถที่จะทำให้เราเกิดความสับสน วุ่นวายใจ  กังวล  โกรธ  ไม่พึงพอใจ  แต่ในอีกด้านหนึ่งพระเจ้าสามารถใช้สถานการณ์ที่เลวร้ายทุกข์ยากเหล่านั้นที่จะเสริมสร้างให้เรารู้จักที่จะพึงพอใจและสุขใจได้  เมื่อท่านต้องเผชิญหน้าที่สภาวการณ์ที่ทุกข์ยากเลวร้ายก็เป็นโอกาสที่ท่านเรียนรู้ว่าท่านต้องการรับการเสริมสร้างจากพระคริสต์ถึงวิถีใหม่ในการดำเนินชีวิตที่ไว้วางใจในพระองค์ด้วยความชื่นชมยินดี

ข้าพเจ้าพูดอย่างนี้...   เพราะข้าพเจ้าเรียนรู้ที่จะพอใจในสิ่งที่ตนมีไม่ว่าสภาพการณ์จะเป็นเช่นไร   ... ข้าพเจ้ารู้จักเคล็ดลับที่จะพอใจกับสิ่งที่ตนมีในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะอิ่มหนำหรือหิวโหย มั่งมีหรือขัดสน   ข้าพเจ้าทำทุกสิ่งได้โดยพระองค์ผู้ประทานกำลังแก่ข้าพเจ้า (ฟิลิปปี 4:11-13 อมธ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

19 พฤศจิกายน 2561

ท่านคิดอย่างไรกับความทุกข์

ถ้ามีคนมาบอกให้เราเลือกที่จะอยู่ในความทุกข์  เราคงไม่เลือกที่จะเอาความทุกข์ยาก  คนเรามักหลบหลีกจากความทุกข์ยากมากกว่า   แต่ถ้ามีผู้ที่มาบอกเราให้เลือกเอาชีวิตที่ต้องพบกับความทุกข์แล้วชี้ให้เราเห็นว่า  เส้นทางแห่งความทุกข์สายนี้ในที่สุดจะพาเราไปถึงชีวิตที่มีความชื่นชมยินดีตลอดไปล่ะ   ท่านจะตอบสนองอย่างไร?   

โมเสสเลือกที่จะยอมเสียหน้า อับอาย สูญเสียตำแหน่งความยิ่งใหญ่  และสมบัติมากมายในอียิปต์  ในฐานะที่เขาเป็นหลานบุญธรรมของฟาโรห์แห่งอียิปต๋    เขายอมที่ต้องตกเป็นกบฏต่อราชบัลลังก์  ยอมถูกตราหน้าว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งอียิปต์   ยอมที่ต้องหนีเตลิดเอาชีวิตรอดออกจากอียิปต์ (ฮีบรู 11:25-26)   โมเสสเลือกที่ต้องไปทนทุกข์และเผชิญความตายในทะเลทราย   เพื่อหาโอกาสที่จะกลับมากอบกู้ประชากรของพระเจ้าให้ออกจากการเป็นทาสในอียิปต์  

ท่าน(โมเสส)เลือกการร่วมทุกข์กับประชากรของพระเจ้าแทนการเริงสำราญชั่วคราวในบาป   ท่าน(โมเสส)ถือว่าความอับอายขายหน้าเพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าล้ำค่ากว่าสมบัติทั้งหลายของอียิปต์ เพราะท่านเพ่งดูที่ผลที่จะได้รับนั้น (ฮีบรู 11:25-26 สมช.)

โมเสสยอมรับการสูญเสียตำแหน่ง  ความยิ่งใหญ่  ลาภ ยศ สรรเสริญ  ความมั่นคงในชีวิต การเป็นผู้พ่ายแพ้ในสายตาของสังคม  และความทุกข์เสี่ยงต่อความตายในทะเลทราย   เพราะเขาเห็นถึงเป้าหมายปลายทางของการทรงเรียกที่พระเจ้ามีในชีวิตของเขา หรือ ผลที่ได้จากความเชื่อฟังที่ต้องทนทุกข์และเจ็บปวดคือ  ประชากรของพระเจ้าได้รับการทรงช่วยกู้ให้หลุดรอดออกจากการเป็นทาสในอียิปต์   เพื่อมุ่งหน้าเดินทางไปสู่แผ่นดินแห่งพระสัญญา   และในที่สุดพระเจ้าทรงได้รับการยกย่องและเกียรติจากพระสัญญาดังกล่าว

ผู้คนที่พระเจ้าทรงเรียกไม่จำเป็นเป็นผู้ชนะ หรือ ผู้แพ้เสมอไป   เพราะพระเจ้าไม่ได้เรียกเราด้วยชัยชนะ หรือ พ่ายแพ้!

แต่พระเจ้าทรงเรียกเราให้เชื่อฟังพระองค์ในการดำเนินชีวิตท่ามกลางความทุกข์ยากลำบาก  โดยให้เรายอมที่จะเดินไปบนเส้นทางชีวิตแห่งความทุกข์ด้วยความสัตย์ซื่อและจงรักภักดีต่อพระองค์  เพื่อกระทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากการทรงเรียก  ในการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องตามพระประสงค์  ด้วยความอดทนสูงสุดในการทนทุกข์ยากและความเจ็บปวดที่ได้รับในชีวิต  

ทั้งนี้เพื่อ เสริมสร้างเราแต่ละคนให้มีความเชื่ออย่างไม่มีเงื่อนไขเฉกเช่นพระคริสต์   เพื่อกระทำตามพระสัญญาให้เป็นที่พอพระทัยสูงสุดของพระเจ้า  เพื่อพระเจ้าจะได้รับการยกย่องและเกียรติสูงสุดจากพวกเราที่เชื่อฟังในพระองค์

สำหรับคริสตชนแล้ว “ความสุขและความชื่นชมยินดี” มิใช่สิ่งตรงกันข้ามกับ “ความทุกข์ยากลำบาก”   การได้มาซึ่งความสุขของคริสตชนคือการที่คริสตชนตัดสินใจ “เลือก” ที่จะเดินเข้าเผชิญหน้ากับความทุกข์   ด้วยตระหนักรู้ชัดและเชื่ออย่างมั่นคงว่า พระเจ้าทรงเรียกเราให้รับมือกับความทุกข์นั้นอย่างมีพระประสงค์ปลายทางอย่างชัดเจน  พร้อมกับพระสัญญาที่จะทรงชี้นำ ทรงเป็นกำลังทุกด้าน  และเคียงข้างเราในการกระทำตามการทรงเรียกนั้นจนสำเร็จตามที่พระองค์ประสงค์    และในที่สุดผลที่เกิดขึ้นคือ  “พระเจ้าทรงมีชัยชนะเหนือความเลวร้ายของความทุกข์ดังกล่าว”  

รางวัลที่ได้จากการทนทุกข์มีมากกว่า ความภูมิใจ ความพอใจ ความสำเร็จของตนเอง  มิใช่โมเสสเป็นผู้ได้รับรางวัล  แต่ประชาชาติอิสระได้หลุดรอดออกจากการเป็นทาสในอียิปต์อย่างสิ้นเชิง   แม้ต่อมาฟาโรห์ยกกองทัพติดตามไล่ล่าแรงงานทาสยิวให้กลับไปรับใช้พวกเขาอย่างเดิมก็ต้องประสบกับความปราชัย!

ที่ชายฝั่งทะเลแดง   พระเจ้าทรงได้รับเกียรติจากทั้งชนอิสราเอล  และ ประเทศชาติทั้งหลายที่ได้ยินและรู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ที่นั้น   มิใช่โมเสสมีความเชื่อและไว้วางใจมากขึ้นเท่านั้น   แต่ประชาชาติอิสราเอลรุ่นใหม่ได้เรียนรู้จักพระเจ้าที่บรรพบุรุษของเขาเชื่อและวางใจชัดเจนยิ่งขึ้น   เพราะจากเหตุการณ์ครั้งนี้เขาพูดได้อย่างเต็มปากว่า  “พระเจ้ายิ่งใหญ่”   เพราะพวกเขาได้ประสบ พบเห็น ด้วยชีวิตของเขาเอง

นี่คือ “มุมมอง” และ “ความเข้าใจ” ของคริสตชนในเรื่องความทุกข์เจ็บปวดในชีวิต

นี่คือ “เส้นทาง”  และแนวทางในการรับมือกับความทุกข์ลักษณะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราแต่ละคน

นี่คือ “เป้าหมาย” ของความทุกข์สำหรับคริสตชน   “เส้นทางของการเผชิญหน้ากับความทุกข์” แบบคริสตชน   เป้าหมายปลายทางคือทำให้เกิดความชื่นชมยินดีในชีวิตทั้งชุมชน   และที่สำคัญยิ่งคือเพื่อเป็นที่ยกย่องและถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าของเรา

วันนี้   ท่านจะรับมืออย่างไรกับความทุกข์ยากลำบากที่มีในชีวิตของท่าน?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

16 พฤศจิกายน 2561

ภาวะผู้นำและผลของพระวิญญาณ

พระเจ้าทรงเรียกคริสตชนทุกคนให้เติบโตขึ้นในภาวะผู้นำ  ในการรับใช้และดูแล รับผิดชอบต่อสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง

ผลของต้นไม้ไม่ว่าชนิดใดก็ตาม  เกิดขึ้นเพราะการเติบโตเข้มแข็งของตนไม้นั้น ๆ   ต้นไม้นั้นเติบโตขึ้นมาจากต้นอ่อน   ต้นอ่อนงอกและเติบโตขึ้นจากเมล็ด  เช่นกัน  ชีวิตที่จะเกิดผลที่งดงาม  มีรสที่หอมหวานได้นั้นเกิดและเติบโตจากเมล็ดที่มีชีวิต   ผลของพระวิญญาณเป็นผลจากเมล็ดแห่งชีวิตในวิญญาณ  ซึ่งเป็นที่มาของชีวิตคริสเตียน  ดังนั้น  คริสตชนแต่ละคนต้องหมั่นประเมินตรวจสอบภาวะผู้นำของตนเป็นประจำว่า   ชีวิตในแต่ละวันของเรานั้นได้สำแดงผลแห่งพระวิญญาณหรือไม่

“... ผลของพระวิญญาณนั้นคือ ความรัก ความชื่นชมยินดี สันติสุข ความอดทน ความปรานี ความดี ความสัตย์ซื่อ  ความสุภาพอ่อนโยนและการควบคุมตนเอง สิ่งเหล่านี้ไม่มีบทบัญญัติข้อไหนห้ามเลย” (กาลาเทีย 5:22-23 อมธ.)

ในแต่ละวัน เราแต่ละคนควรทบทวนประเมินว่า   ชีวิตเราเกิดผลของพระวิญญาณหรือไม่
|  ความรัก...  ชีวิตประจำวัน  ฉันมีแรงจูงใจที่จะรักเมตตาผู้คนรอบข้างหรือไม่?
|  ความชื่นชมยินดี...  ฉันมีความรักที่ไม่สั่นคลอนหวั่นไหว  ไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆหรือไม่?
|  สันติสุข...  คนรอบข้างได้เห็นสันติสุขและความกล้าหาญในชีวิตประจำวันของฉันหรือไม่?
|  ความอดทน... ฉันมีความอดทน ให้เวลา ต่อผลในการพัฒนาคนและความสำเร็จหรือไม่?
|  ความปรานี...  ฉันให้ความใส่ใจ และ ความเข้าอกเข้าใจแก่ทุกคนที่พบเห็นหรือไม่?
|  ความดี...  ฉันต้องการให้คนอื่นและองค์กรได้รับสิ่งที่ดีเยี่ยมหรือไม่?
|  ความสัตย์ซื่อ...  ฉันได้รักษา พันธสัญญา ข้อตกลง ความรับผิดชอบที่ฉันมีต่อพระเจ้าและผู้อื่นหรือไม่?
|  ความสุภาพอ่อนโยน...  ฉันควบคุมพลังในตัวฉันได้หรือไม่? 
                                         ฉันเป็นผู้ที่บึกบึนแต่สุภาพอ่อนโยนหรือไม่?
|  การควบคุมตนเอง...  ฉันมีวินัยชีวิตที่จะก้าวหน้าไปสู่เป้าหมายตามพระประสงค์ที่วางไว้หรือไม่?

ชีวิตของฉัน  ภาวะผู้นำในตัวฉัน  สำแดงผลของพระวิญญาณหรือไม่?

ขอพระเจ้าโปรดช่วยสร้างลูกให้เป็นคนที่พระองค์ประสงค์ด้วยในวันนี้

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

14 พฤศจิกายน 2561

ลาออกดีไหมเนี่ย?

7 ขั้นตอนใคร่ครวญก่อนการตัดสินใจออกจากงานที่ทำ

หลายต่อหลายคนกำลังทำงานที่ตนไม่ชอบ หรือ ไม่มีความสุขในงานที่ตนทำอยู่   และถ้าท่านเป็นคนหนึ่งในกลุ่มคนที่กำลังคิดและตัดสินใจว่าจะลาออกจากงานที่ทำอยู่ว่าดีไหม?   ข้อเขียนนี้ขอแลกเปลี่ยนความคิดเห็น 7 ขั้นตอนในการทบทวนใคร่ครวญก่อนการตัดสินใจ   เชื่อว่าน่าจะช่วยท่านมองใคร่ครวญงานที่ท่านทำอยู่ในบางมุมมองใหม่

7 ขั้นตอนในการทบทวนใคร่ครวญก่อนการตัดสินใจ “ลาออกจากงาน” มีดังนี้

  1. ท่านมั่นใจว่า ตนได้ดำเนินชีวิตประจำวันไปกับพระเจ้าอย่างสัตย์ซื่อหรือไม่?   ถ้าการดำเนินชีวิตประจำวันของเรามิได้เป็นไปตามที่พระเจ้าประสงค์   ส่วนอื่น ๆ ในชีวิตของเราก็จะเกิดอาการบิดเบี้ยวผิดเพี้ยนสั่นคลอนได้   ถ้าเช่นนั้นเป็นการยากที่เราเห็นสิ่งดีงามในงานอาชีพที่ทำอยู่อย่างชัดเจน   เพราะตาของเราถูกบดบังด้วยเมฆหมอกแห่งความบาปชั่ว
  2. จงขอบพระคุณพระเจ้าที่ท่านมีงานทำ  อาจจะเป็นงานที่ไม่ถูกตาต้องใจที่ท่านต้องการก็ตาม   แต่อย่างน้อยก็ยังมีงานที่ทำ   ขอสำนึกและขอบพระคุณพระเจ้าในของประทานประการนี้
  3. ให้มองว่าพื้นที่ที่ท่านทำอาชีพการงานเป็นพื้นที่การทำพันธกิจ  พระเจ้าอาจจะให้ท่านทำงานในที่นั่นมิใช่เพื่อมีงานทำเท่านั้น   แต่เพื่อเป็นเกลือและแสงสว่างในความฟอนเฟะและความมืดมิดแห่งสังคมในที่นั้น ๆ   อาจจะมีท่านเพียงคนเดียวเท่านั้นที่จะเป็นพยานของพระคริสต์ในที่นั้น
  4. จงอธิษฐานก่อนที่ท่านจะไปทำงาน  อธิษฐานเผื่อเพื่อนร่วมงาน เริ่มต้นตั้งแต่หัวหน้าของท่าน  บางครั้งขณะเราอธิษฐานเผื่อหัวหน้า และเพื่อนร่วมงาน  พระเจ้าจะทรงกระทำให้จิตใจของเราอ่อนโยนลง  ทำให้เรามีจิตใจที่ถ่อมลง
  5. จงทำงานแต่ละวันเพื่อยกย่องสรรเสริญพระเกียรติแด่พระเจ้า  และนี่คือเป้าหมายและแนวทางการดำเนินชีวิตในด้านการงานอาชีพของเรา  ไม่ว่าพระเจ้าจะทรงวางเราลงในงานไหนก็ตาม  จงกระทำทุกอย่างเต็มกำลังเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า (1โครินธ์ 10:31)  คนรอบข้างจะเห็นชีวิตตัวจริงของเราโดยผ่านการดำเนินชีวิตและการทำอาชีพการงานที่เราเป็นอยู่
  6. ฟังเพื่อนร่วมงานและคนรอบข้างอย่างใส่ใจ   และอธิษฐานในจิตใจท่านเผื่อเขาตลอดวันการทำงาน  เราอาจจะได้ยินเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของคนเหล่านั้น  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเจ็บปวดในชีวิต  ความวิตกกังวล  ความโกรธไม่พอใจ  ความสับสนวุ่นวายใจ  และสารพัดเรื่องของชีวิต   และท่านอาจจะเป็นเพียงคนเดียวที่อธิษฐานเพื่อเขาตลอดทั้งวัน   ถ้าเป็นเพื่อนร่วมงานที่สนิทกับท่าน ท่านอาจจะขออนุญาตอธิษฐานเผื่อเขาด้วยกัน   จะมีบางคนจะยอมให้ท่านอธิษฐานเผื่อเขาด้วยกันในบางเรื่อง
  7. ให้ท่านประเมินด้วยจิตอธิษฐานว่า  ท่านควรจะลาออกจากงานนี้หรือไม่   ขอตั้งข้อสังเกตว่า  รายการนี้ผมได้แบ่งปันเป็นรายการท้ายสุด   ให้เราทำในเรื่องอื่นก่อน   แล้วเพ่งพินิจดูว่า  เมื่อทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นแล้ว  พระเจ้าทรงกระทำอะไรในชีวิตของเรา  แล้วจึงค่อยตัดสินใจครับ


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

12 พฤศจิกายน 2561

พระเจ้าทรงเรียกท่านให้เป็นผู้นำ...!

ตลอดเรื่องราวและคำสอนในพระคัมภีร์เราพบว่า  พระเจ้าทรงเรียกมนุษย์ที่พระองค์ทรงสร้างให้มีความรับผิดชอบสานต่อพระราชกิจของพระองค์ในรูปแบบต่าง ๆ หรือ เราอาจจะเรียกในภาษาปัจจุบันว่า   พระเจ้าทรงเรียกมนุษย์ที่ทรงสร้างให้เป็น “ผู้นำ” ในบริบทและรูปแบบต่าง ๆ

พระเจ้าทรงเรียกทุกคนให้เป็นผู้นำที่รับใช้พระองค์ท่ามกลางสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง

แล้ว​พระ​เจ้า​ตรัส​ว่า “ให้​เรา​สร้าง​มนุษย์​ตาม​ฉายา​ของ​เรา ตาม​อย่าง​ของ​เรา ให้​ครอบ​ครอง​ฝูง​ปลา​ใน​ทะเล ฝูง​นก​ใน​ท้อง​ฟ้า​และ​ฝูง​สัตว์​ใช้​งาน ให้​ปก​ครอง​แผ่น​ดินโลก​ทั้ง​หมด และ​สัตว์​เลื้อย​คลาน​ทุก​ชนิด​บน​แผ่น​ดิน​ทั้ง​หมด” (ปฐมกาล 1:26 มตฐ.)

พระเจ้าทรงเป็น “ผู้นำที่ดีเยี่ยมยอดที่สุด”  และพระองค์ทรงเรียกผู้ที่เชื่อและศรัทธาในพระองค์ให้เป็น “ผู้นำที่ดี” ตามอย่างพระองค์ท่ามกลางสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง   แท้จริงแล้ว พระเจ้ามีทางเลือกและวิธีการอื่น ๆ ในการเสริมสร้างผู้ที่จะรับผิดชอบและสานต่อพระราชกิจที่พระองค์ทรงกระทำไว้   แต่พระคัมภีร์บอกชัดเจนว่า พระเจ้าทรงเลือกที่จะเสริมสร้างมนุษย์ให้มีความรับผิดชอบ และ สานต่องานทรงสร้างของพระองค์ต่อจากพระองค์  ด้วยการระบายลมปราณแห่งชีวิตและพระวิญญาณของพระองค์เข้าในชีวิตมนุษย์  ทรงสร้างมนุษย์ตามพระฉายาทั้งลักษณะและศักยภาพอย่างพระองค์ใส่ในชีวิตของมนุษย์ที่พระองค์ทรงสร้าง และให้มนุษย์สามารถติดต่อสัมพันธ์สื่อสารกับพระองค์และติดตามพระองค์  

ยิ่งกว่านั้น สิ่งเหล่านี้พระเจ้ามิได้ “บีบบังคับ” ให้มนุษย์ต้องเป็นอย่างที่พระเจ้ามีพระประสงค์   พระเจ้าให้มนุษย์มีโอกาสที่จะเลือก และ ตัดสินใจด้วยตนเอง  มนุษย์จึงสามารถที่จะตัดสินใจว่า จะเลือกเป็น “ผู้นำ”  ตามพระประสงค์ของพระเจ้า  หรือ จะเป็น “ผู้นำ” ตามใจปรารถนาของตนเอง  หรือเลือกที่จะเป็น “ผู้นำที่เป็นคู่แข่ง หรือ เป็นผู้นำที่สนองตอบพระประสงค์” ของพระเจ้า

แต่เมื่อมนุษย์ตัดสินใจที่จะเป็น “ผู้นำที่เป็นคู่แข่ง และ คู่ขัดพระประสงค์พระเจ้า”  ด้วยเหตุนี้ สรรพสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างจึงได้รับความเสียหาย เกิดความเลวร้าย ถูกทำร้ายทำลาย   ในสถานการณ์เช่นนี้พระเจ้าย่อมมีสิทธิที่จะมีแผนการใหม่ของพระองค์   แผนการการกอบกู้สรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างที่ไม่จำเป็นที่จะมีมนุษย์ต่อไป   แต่ในแผนการใหม่แห่งการกอบกู้ของพระองค์ก็ยังมี “มนุษย์” ที่ทำตัวเป็น “คู่แข่ง และ คู่ขัด” ของพระองค์ร่วมอยู่ด้วย   และพระเจ้ายังให้มนุษย์ที่พระองค์ทรงสร้างยัง “มีอำนาจเหนือ และ ครอบครอง” สรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง (ดู ปฐมกาล 1:28)

พระเจ้าทรงเรียกมนุษย์ที่พระองค์ทรงสร้าง  เป็นกระบวนการทำงานของพระเจ้าที่เกิดขึ้นอย่างตลอดต่อเนื่องทั้งพระคัมภีร์   เมื่อพระเจ้าตัดสินใจเลือกชนเผ่าที่จะเป็นประชาชาติของพระองค์   พระองค์มิได้ทรงเรียกฝูงชนทั้งชนเผ่าดังกล่าว   แต่พระองค์ทรงเรียก “ผู้นำ” คนหนึ่ง คืออับราฮัม ที่จะนำและสร้างชนชาติของพระองค์   และเมื่อพระเจ้าต้องการที่จะช่วยกู้ชนเผ่าอิสราเอลออกจากการเป็นทางทาสในประเทศอียิปต์   พระองค์มิได้นำประชากรชนเผ่าอิสราเอลทั้งหมดเอง   แต่พระเจ้าทรงเรียกโมเสสให้เป็นผู้นำคนในชนเผ่าอิสราเอลออกจากประเทศอียิปต์   และเมื่อประชาชนคนชนเผ่าอิสราเอลจะข้ามแม่น้ำเข้าสู่แผ่นดินแห่งพระสัญญา   ประชาชนอิสราเอลติดตามการนำของโยชูวาที่พระเจ้าทรงเรียกและเลือก

ทุกครั้งเมื่อพระเจ้าประสงค์ในการทำการใหญ่แห่งพระราชกิจของพระองค์   พระองค์ทรงเรียกคนที่จะพระองค์จะทรงใช้ให้เป็น “ผู้นำ” ในงานใหญ่นั้น  

วันนี้พระเจ้าทรงเรียกท่านให้เป็นผู้นำในงานที่พระองค์ประสงค์จะให้ท่านรับผิดชอบ และ สานต่อพระราชกิจของพระองค์   ซึ่งมีทั้งงานใหญ่ หรือ งานเล็กในสายตาของแต่ละคน  

แต่ทุกงานเป็นงานที่สำคัญในสายพระเนตรของพระเจ้า

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

09 พฤศจิกายน 2561

ท่านรู้ว่าท่านคือใคร...การจัดการความเครียดประการแรก

ถ้าท่านไม่รู้ว่า ตนเองเป็นใคร?   ท่านจะพบกับคนประเภทต่าง ๆ มากมาย  ที่จะพยายามบอกท่านว่าจะมีความสุขได้อย่างไร  จะต้องมีชีวิตแบบไหน

ในยุคนี้  คนรอบข้างในสังคมพยายามที่จะหล่อหลอมบ่มเพาะท่านไปในรูปแบบชีวิตต่าง ๆ ตามที่เขาคิดว่าดีในสายตาของเขา ดีสำหรับเขา  เริ่มตั้งแต่พ่อแม่เป็นเบ้าหลอมบ่มเพาะแรก ๆ ในชีวิตของท่าน   เขาพยายามบ่มเพาะและหล่อหลอมชีวิตท่านให้เป็นคนที่เขาคิดว่าท่านควรจะเป็น   เมื่อท่านเติบโตขึ้นอีกหน่อยหนึ่งเพื่อนฝูงรายล้อมตัวท่านก็พยายามทำให้ท่านเป็นคนอย่างที่เขาคิดว่าอยากให้ท่านเป็น   อิทธิพลขั้นต่อมาคือคู่ชีวิตของท่าน   พร้อม ๆ กับอีกกลุ่มหนึ่งคือ เพื่อนฝูงและเพื่อนร่วมงาน   พวกเขาต่างมีความคิดของเขาว่า ท่านควรเป็นคนแบบไหน

แล้วอย่างนี้จะไม่ทำให้ท่านมึน ท่านเครียด หรือ กดดันท่านได้อย่างไร?

การที่เราไม่รู้ว่า เราคือใคร?   แล้วปล่อยให้คนรอบข้างหล่อหลอม-ดัดแต่งเราตามลักษณะที่เขาแต่ละคนคิด (ซึ่งแต่ละคนแต่ละกลุ่มก็คิดไม่เหมือนกัน)  เป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อเกิด “ความเครียดกดดัน” ของคนจำนวนมหาศาลในยุคนี้

พระเยซูคริสต์เป็นแบบอย่างชีวิตแก่เรา  พระองค์ได้เปิดเผยให้เราเห็นว่า  ความชัดเจนในตนเอง   เป็นหลักการแรกของการรับมือและบริหารจัดการความเครียดที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมในชีวิตของพระเยซูคริสต์

พระเยซูคริสต์ไม่มีความสงสัยในอัตลักษณ์ของพระองค์เอง   แต่พระองค์ได้ชี้ชัดบอกกับเราว่าพระองค์เป็นอะไรถึง 18 ครั้งในพระคัมภีร์   ทุกครั้งเมื่อพระองค์บอกถึงอัตลักษณ์ว่าพระองค์เป็นอะไร คือใคร  พระองค์จะตามด้วยสัจจะความจริงในสิ่งที่พระองค์เป็น  ว่าหมายความว่าอย่างไร  และพระองค์จะมีชีวิตอย่างไร

พระเยซูคริสต์บอกว่า  “เราเป็นความจริง  เราเป็นทางนั้น  เราเป็นชีวิต   พระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้า  พระบิดาทรงส่งพระองค์เข้ามาในสังคมโลกนี้   พระองค์เป็นประตู  พระองค์เป็นอาหารแห่งชีวิต  พระองค์เป็นน้ำแห่งชีวิต”

พระเยซูคริสต์รู้ชัดว่าพระองค์เป็นใคร

เราก็จำเป็นที่จะต้องรู้ชัดเจนว่า เราเป็นใคร   อะไรคืออัตลักษณ์ในตัวตนของเราเอง   เราต้องรู้ว่าพระเจ้าทรงสร้างชีวิตของเรามาให้เป็นใคร เป็นคนแบบไหน  พระเจ้าทรงใส่อัตลักษณ์อะไรในตัวตนของเรา

ถ้าเราท่านไม่รู้ชัดถึงอัตลักษณ์ของตนเองว่า  จริง ๆ แล้วเราคือใคร   เราก็จะตกเป็น “เหยื่อของคนรอบข้าง” ที่มาบอกท่านว่า ท่านควรจะเป็นใคร ท่านควรจะเป็นคนแบบไหน  โอกาสที่ท่านจะคล้อยตามความคิดเห็นของคนรอบข้างต่อ “ความเป็นตัวตนของเรา” มากขึ้น   เราต้องรับความคิดเห็นสารพัดจากคนรอบข้าง  จนบางครั้งสับสน  มึนงง  และต้องพบกับความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันของคนต่าง ๆ  ไม่รู้จะตัดสินใจอย่างไร   ก่อเกิดความเครียดกดดันในชีวิต

ความเครียดกดดันเกิดขึ้นเมื่อเราพยายามที่จะเป็นในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของเรา   เรามักตั้งใจที่จะเป็นตัวของตัวเอง   ต้องการเป็นคนอย่างที่พระเจ้าทรงสร้าง   แต่เราไม่รู้ว่าเราคือใคร  พระเจ้าประสงค์สร้างเราให้มาเป็นคนแบบไหน   แล้วมักจบลงด้วยการไป “ลอกเลียนแบบชีวิตของคนอื่น” ที่เราอยากจะเป็นเหมือนเขา   ต้นเหตุก็เพราะเราไม่รู้ชัดแน่ใจว่าเราเป็นใคร

แต่เมื่อใดก็ตามที่ท่านได้เรียนรู้ว่า ท่านเป็นใคร   ท่านก็จะพึ่งการยอมรับจากคนรอบข้างน้อยลง  ท่านก็ตกในภาวะความเครียดกดดันน้อยลงด้วย   ท่านจะทนทานต่อความเครียดและการกดดันได้มากขึ้น

พระกิตติคุณยอห์น 14:6 พระเยซูคริสต์ตรัสว่า  “เราเป็นทางนั้น เป็นความจริง และเป็นชีวิต ไม่มีใครมาถึงพระบิดาได้นอกจากมาทางเรา...” (อมธ.)   พระเยซูคริสต์ไม่จำเป็นที่จะต้องมีใครมาช่วยบอกให้พระองค์รู้ว่า  พระองค์คือใครกันแน่   และท่านก็ไม่จำเป็นต้องให้คนอื่นมาบอกว่าท่านเป็นใครเช่นกัน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499