30 ธันวาคม 2554

หัวใจพระกิตติคุณ... พระคริสต์ไว้ใจได้ในทุกวิกฤติ

แต่ทันใดนั้นพระเยซูตรัสกับพวกเขาว่า “ทำใจเข้มแข็งไว้! นี่เราเองอย่ากลัวเลย”
เปโตรทูลว่า “พระองค์เจ้าข้า หากใช่พระองค์ ขอทรงบอกให้ข้าพระองค์เดินบนน้ำไปหาพระองค์”
พระเยซูตรัสว่า “มาเถิด”
เปโตรจึงลงจากเรือเดินบนน้ำไปหาพระเยซู แต่พอเขาเห็นว่าลมพัดแรงก็กลัว และเมื่อกำลังจะจมก็ร้องว่า “พระองค์เจ้าข้า ช่วยด้วย!”
พระองค์ทรงยื่นพระหัตถ์จับเขาไว้ทันทีและตรัสว่า “ท่านผู้มีความเชื่อน้อย เหตุใดท่านจึงสงสัย”
(มัทธิว 14:27-31 อมตธรรม)


ในขณะนั้นเป็นเวลาค่ำคืน และเกิดพายุรุนแรง แทนที่พวกสาวกจะอยู่ภายในบ้านที่อบอุ่น... แต่พวกเขาอยู่ในเรือที่กำลังถูกกระหน่ำและถูกปะทะด้วยแรงลมพายุในเวลานั้น เรืออยู่กลางทะเล ไม่มีฝั่งที่จะเข้าหลบภัยได้ คนในเรือลำนั้นกำลังตระหนกตกใจและเสียขวัญ

ท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังว้าวุ่นในเรือลำนั้น พระเยซูคริสต์ทรงดำเนินไปบนทะเลที่คลื่นลมโหมกระหน่ำแรง

เหล่าสาวกต้องตระหนกวุ่นวายไม่ได้สติเข้าไปอีก เพราะมองพระเยซูท่ามกลางพายุในทะเลว่าเป็นผีทะเล พากันร้องไม่ได้สรรพเพราะความกลัว

ท่ามกลางความสับสนวุ่นวาย และตกใจกลัวนั้น พระเยซูตรัสกับพวกเขาว่า “ทำใจเข้มแข็งไว้ นี่เราเอง อย่ากลัวเลย”

ทันทีเปโตรทูลขอเข้าไปร่วมเดินบนคลื่นพายุนั้นร่วมกับพระเยซูคริสต์

พระเยซูตรัสว่า “มาเถิด”


อะไรคือคลื่นลมพายุในชีวิตของท่านในวันนี้? ความสำคัญมิได้อยู่ที่ลมพายุนั้นพัดกระหน่ำรุนแรงแค่ไหน ปัญหามิได้อยู่ที่อุปสรรคปัญหาในงานที่ทำหนักหนาสาหัสเพียงใด ความตีบตันของทางออก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับใครหวังดีที่ประสงค์ร้าย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับโอกาสที่ท่านจะได้ทำงานนี้ไปอีกนานเท่าใด

แต่สิ่งที่สำคัญคือเมื่อท่านมองเข้าไปในพายุที่กำลังโหมพัดอย่างบ้าระห่ำ ท่านมองเห็นผีทะเล หรือพระเยซูคริสต์ ท่ามกลางความตื่นตระหนก และสับสนวุ่นวาย ท่านได้ยินแต่เสียงลมพายุและเสียงร้องอื้ออึงของคนรอบข้าง หรือท่านได้ยินเสียงของพระเยซูคริสต์ว่า คือเราเอง ทำใจเข้มแข็งมั่นคงไว้

สิ่งสำคัญคือ ท่ามกลางวิกฤติพายุชีวิตพระคริสต์อยู่ในวิกฤตินั้น เราเห็นพระองค์หรือไม่ เราได้ยินคำตรัสของพระองค์หรือไม่

สิ่งสำคัญคือ ท่ามกลางความสับสนว้าวุ่น พระคริสต์ตรัสกับเรา ให้กำลังใจแก่เรา เราได้ยินเสียงของพระองค์หรือเปล่า

สิ่งสำคัญคือ ท่านกล้าที่จะตัดสินใจออกจากเรือและเดินบนคลื่นแห่งพายุไปหาพระคริสต์ด้วยความไว้วางใจในพระองค์หรือเปล่า

สิ่งสำคัญคือ เมื่อท่านจะต้องจมลงในคลื่นทะเลด้วยความสงสัยนั้น ท่านจะเรียกร้องให้พระคริสต์ช่วย หรือเรียกให้ใครช่วย

สิ่งสำคัญคือ มิใช่ว่าท่านมีความเชื่อเข้มแข็งมั่นคงแค่ไหน แต่พระคริสต์ทรงพร้อมฉุดช่วยเมื่อท่านจะจมน้ำต่างหาก

สิ่งสำคัญคือ ท่านเชื่อมั่นในตนเอง หรือ เชื่อว่าการที่จะปลอดภัยจากพายุร้ายอยู่ที่การทรงปกป้องชูช่วยของพระคริสต์

หัวใจของพระกิตติคุณในวันนี้คือ พระเยซูคริสต์เป็นผู้ที่เราไว้วางใจได้ในทุกวิกฤติชีวิต พระองค์พร้อมที่จะฉุดช่วยท่านจากการโหมกระหน่ำจากพายุบ้าในทะเลแห่งชีวิต พระองค์พร้อมที่จะชูช่วยท่านที่มิได้ขึ้นกับเงื่อนไขความมากน้อยของความเชื่อศรัทธาที่มีอยู่ในตัวท่าน ไม่ได้ขึ้นกับว่าท่านถวายทรัพย์สินมากน้อยกับพระองค์ ไม่ได้ขึ้นกับว่าท่านเคยรับใช้พระองค์มามากน้อยแค่ไหน ไม่ได้ขึ้นกับว่าท่านมีตำแหน่งสำคัญสูงส่งในคริสตจักร ในสังคม ในประเทศ ที่พระองค์ทรงฉุดช่วย ไม่ได้เพราะต้องการปกป้องศักดิ์ศรี ชื่อเสียงของท่านหรือสถาบันที่ท่านรับผิดชอบ แล้วก็ไม่ได้ขึ้นกับว่าท่านเป็นศาสนาจารย์ ศิษยาภิบาล หรือผู้ปกครองคริสตจักรหรือเปล่า

แต่พระคริสต์พร้อมฉุดช่วยท่านอย่างเหมาะสมเสมอ ตามแผนการ และ วิธีการของพระองค์ เมื่อท่านเปิดชีวิตอนุญาตให้พระองค์ช่วยด้วยจริงใจไร้เงื่อนไขต่อรอง และที่เป็นพระกิตติคุณและข่าวดีคือ ในทุกวิกฤติชีวิตที่เราเผชิญ แล้วเราขอพระองค์ทรงชูช่วยเราตามแผนการณ์แนวทางของพระองค์ แม้ว่าเราอาจจะต้องได้รับความเจ็บปวดในชีวิต แต่พระองค์ทรงปรับใช้วิกฤตินั้นเป็นเครื่องมือในการหล่อหลอมบ่มเพาะชีวิตของเราให้เติบโต แข็งแกร่ง และเกิดผลตามพระประสงค์ของพระองค์

นี่เป็นข่าวดีแห่งพระคุณของพระเยซูคริสต์สำหรับชีวิตของท่านและผมครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
089-2628-310

28 ธันวาคม 2554

หัวใจพระกิตติคุณ...การทรงอภัยจากเบื้องบน

หลังเทศกาลคริสต์มาส และ การเข้าสู่ปีใหม่ ให้เราใคร่ครวญถึงหัวใจของพระกิตติคุณ

อ่านเยเรมีย์ 31:31-34

“...ทุกคนจะไม่สอนเพื่อนบ้านและพี่น้องของตนแต่ละคนอีกว่า
“จงรู้จักพระยาเวห์” เพราะเขาทุกคนจะรู้จักเราตั้งแต่คนเล็กน้อยที่สุดถึงคนใหญ่โตที่สุด”
พระยาเวห์ตรัสดังนี้แหละ
“เพราะเราจะอภัยความบาปผิดของเขา และจะไม่จดจำบาปของเขาอีกต่อไป”
(เยเรมีย์ 31:34 ฉบับมาตรฐาน)

ในเทศกาลการเตรียมการเสด็จ เป็นการเตรียมการเฉลิมฉลองที่พระคริสต์เสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ในเทศกาลคริสต์มาสตามปฏิทินคริสตจักร และเป็นเวลาที่เราจะใคร่ครวญถึงชีวิตที่จะรับเอาพระประสงค์ของพระเจ้าเข้าในชีวิตของเราแต่ละคน เฉกเช่นพวกอิสราเอลที่เคยรอคอยการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ และเราเตรียมชีวิตของเราให้พร้อมที่จะรับการเสด็จมาครั้งที่สองตามพระสัญญาของพระเยซูคริสต์

การที่ชนชาติอิสราเอลต้องประสบกับความหายนะ บ้านแตกเมืองพินาศ เพราะเขากบถต่อพระเจ้าที่ทรงช่วยกอบกู้และไถ่เขาออกจากการเป็นทาสในประเทศอียิปต์ และประทานผืนแผ่นดินแห่งพระสัญญาแก่เขา

พระเจ้าตรัสกับเยเรมีย์ว่า “เพราะพงศ์พันธุ์อิสราเอลและพงศ์พันธุ์ยูดาห์ทำแต่ความชั่วในสายตาของเรา... ได้ยั่วเย้าเราให้โกรธด้วยผลงานแห่งมือของเขา(32:30 ฉบับมาตรฐาน)...ทั้งตัวเขา บรรดากษัตริย์และเจ้านายของเขา บรรดาปุโรหิตและผู้เผยพระวจนะของเขา คนยูดาห์ชาวกรุงเยรูซาเล็ม(ข้อ 32)...พวกเขาได้หันหลังให้เราแทนที่จะหันหน้า แม้ว่าเราได้สอนเขาครั้งแล้วครั้งเล่า เขาก็ไม่ได้ฟังเพื่อรับการสั่งสอน(ข้อ 33)... พวกเขาตั้งสิ่งน่าสะอิดสะเอียนของเขาไว้ในนิเวศซึ่งเรียกตามชื่อของเราทำให้มีมลทิน(ข้อ 34)...สร้างปูชนียสถานสูงสำหรับพระบาอัล...เพื่อถวายบุตรชายหญิงของเขาแก่โมเลค(ข้อ 35)...”

ผู้คนในชนชาติยูดาห์รู้ดีว่า เพราะการที่พวกเขากระทำความบาปชั่วต่อพระเจ้าชีวิตของเขาจึงตกต่ำลง ประสบหายนะ ทั้งคนและสังคมยิวจึงถูกทำลายอย่างย่อยยับ ทั้งๆ เมื่อพระเจ้านำเขาออกจากการเป็นทาสในประเทศอิยิปต์ด้วยพระสัญญาที่ยูดาห์จะมีชีวิตที่ได้รับพระพรมั่งคั่งและมั่นคงถ้าพวกเขาสัตย์ซื่อรักษาและดำเนินชีวิตตามพันธสัญญาตามพระบัญญัติ ที่เขาได้ให้สัญญาและพันธะผูกพันไว้กับพระเจ้า แต่ครั้งแล้วครั้งเล่าในการดำเนินชีวิตของยูดาห์กลับเป็นการปฏิเสธที่จะมีพระเจ้าเป็นเอกในชีวิต และไม่ยอมดำเนินชีวิตตามเส้นทางของพระเจ้า ผลที่เกิดขึ้นคือการพิพากษาของพระเจ้ามาถึงชีวิตของพวกเขา พวกเขาต้องพ่ายแพ้สงครามถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยในต่างแดน และชนที่เหลือตกเป็นเมืองขึ้นปกครองโดยคนต่างชาติ

ต่อมาประชากรยูดาห์โหยหารอคอยการยกโทษบาปผิดจากพระเจ้า มิเพียงแต่ความบาปผิดของประชายูดาห์แต่ละคนเท่านั้น แต่รวมถึงความบาปผิดแห่งประชาชาติยูดาห์ด้วย การซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ความสัมพันธ์ในการเป็นประชาชาติแห่งประชากรของพระเจ้าขึ้นใหม่ได้นั้น การได้รับการอภัยโทษจากพระเจ้าเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง และการอภัยโทษคือประตูที่เปิดออกสำหรับคนที่จะหันกลับมามีชีวิตภายใต้การปกครองในแผ่นดินของพระเจ้าอีกครั้งหนึ่ง

ในเทศกาลเตรียมรับเสด็จเป็นช่วงเวลาสำหรับเราคริสเตียนที่จะใคร่ครวญภาวนาเพื่อขอรับการทรงอภัยโทษจากพระเจ้าในชีวิตที่ผิดพลาดบาปผิด เอาตนเองเป็นใหญ่แทนที่จะมีพระเจ้าเป็นเอกเป็นต้นในชีวิต เป็นเวลาที่เราตั้งใจที่จะดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ของพระองค์ รับการอภัยโทษเพื่อชีวิตจะพร้อมรับเอาพระประสงค์ของพระเจ้าเป็นเป้าหมายปลายทางและเส้นทางที่จะจาริกไปสู่พระเยซูคริสต์

พระยาเวห์ตรัสกับเยเรมีย์ว่า ผู้คนยูดาห์ทุกคนรู้จักพระยาเวห์ จนการสอนเรื่องนี้มิใช่ประเด็นใหญ่ในสายพระเนตรของพระเจ้า แต่การที่จะได้รับการอภัยโทษบาป และ กลับมาคืนดีมีสัมพันธภาพที่สนิทแน่นกับพระเจ้าเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า โอกาสใหม่ที่พระเจ้าประทานให้มิใช่เป็นสิ่งที่มนุษย์จะสามารถแสวงหามาได้เอง แต่เป็นพระคุณของพระเจ้า

ในเทศกาลรับการเสด็จมาของพระคริสต์ คือการที่เราเปิดชีวิตจิตใจของเรายอมรับการอภัยโทษจากพระเจ้า เป็นการแสวงหาสัมพันธภาพที่สนิทใกล้ชิดกับพระเจ้าใหม่ เป็นโอกาสใหม่ที่จะเราจะดำเนินชีวิตในทางของพระยาเวห์ ที่มีพระองค์ดำเนินไปเคียงข้างเราเสมอ และด้วยโอกาสใหม่เช่นนี้เองเราจะได้เรียนรู้จักพระเจ้ามากยิ่งขึ้นจากประสบการณ์ความสัมพันธ์ตรงกับพระองค์

สำหรับในสายพระเนตรของพระเจ้าแล้ว มิใช่การที่เราต้องเรียนรู้จักพระยาเวห์ให้มากมายชัดเจนก่อนแล้วถึงจะมีความสัมพันธ์ที่สนิทสนมกับพระองค์ได้ แต่การที่พระเจ้าเปิดทางให้เรามีโอกาสใหม่ด้วยการให้อภัยโทษบาปอีกครั้งหนึ่งที่จะเข้าใกล้ชิดติดสนิทกับพระองค์ต่างหากที่เราจะได้เรียนรู้จักพระยาเวห์มากยิ่งขึ้น หมายความว่ามิใช่ให้เราเรียนรู้จักพระเจ้าอย่างดีก่อนเพื่อเราจะมีความสัมพันธ์สนิทสนมของพระเจ้า แต่ให้เราสนิทสนมกับพระเจ้าก่อนแล้วเราจะมีประสบการณ์กับพระองค์ เราจึงจะเรียนรู้จักพระองค์มากยิ่งขึ้น

แต่ทุกวันนี้เราก็ต้องยอมรับว่า แม้เราจะรู้ถึงพระราชกิจแห่งการอภัยโทษบาปและการกอบกู้จากพระเจ้า แต่เรายังไม่ได้รับการอภัยโทษบาปและรับการไถ่ให้รอดพ้นออกจากการอยู่ใต้การบงการของอำนาจแห่งความบาป เราจะเปิดชีวิต โหยหา ยอมรับการทรงอภัยและกอบกู้ที่สมบูรณ์จากพระเจ้า ซึ่งพระเจ้าจะทรงกระทำพระราชกิจนี้ในชีวิตของเราจนเสร็จสำเร็จสมบูรณ์

ในเทศกาลนี้จึงเป็นโอกาสที่เราจะใคร่ครวญแสวงหาเปิดชีวิตรับการอภัยโทษ การสร้างใหม่ และได้มีชีวิตภายใต้การปกครองของพระเจ้าในแผ่นดินของพระองค์ในที่สุด

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญและอภิปราย

1. การที่พระเจ้าทรงอภัยโทษแก่ท่านมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตของท่านอย่างไรบ้าง?

2. เพื่อชีวิตของท่านจะได้รับการสร้างใหม่ ท่านกำลังรอคอยการอภัยโทษที่สมบูรณ์ในด้านใดบ้าง?

ใคร่ครวญภาวนา

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า ขอบพระคุณพระองค์สำหรับพระคุณของพระองค์ที่ทรงให้โอกาสใหม่แก่ชีวิตของข้าพระองค์ ด้วยการทรงอภัยบาปชั่วที่ได้กระทำในชีวิต เป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งสำหรับข้าพระองค์ เพราะโดยการทรงอภัยโทษของพระองค์ ข้าพระองค์จึงมีโอกาสที่จะเข้าใกล้ชิดติดสนิทกับพระองค์ด้วยความมั่นใจ และได้เรียนรู้จักพระองค์มากยิ่งขึ้น

ในช่วงเวลาแห่งการเตรียมรับการเสด็จมาและการบังเกิดของพระองค์ ขออัญเชิญพระองค์โปรดเสด็จเข้าในชีวิตของข้าพระองค์ พระประสงค์ของพระองค์เป็นทั้งเป้าหมายปลายทางและแนวทางในการดำเนินชีวิตของข้าพระองค์ เพื่อข้าพระองค์จะได้รับการทรงอภัยไถ่ถอนออกจากการครอบงำของอำนาจแห่งความบาป และสิ่งนี้จะค่อยๆ สมบูรณ์ขึ้น จนชีวิตทั้งสิ้นของข้าพระองค์จะได้อยู่ในแผ่นดินของพระเจ้า และสังคมชุมชนของมนุษยชาติจะได้ดำเนินอยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์ที่สมบูรณ์ กลายเป็นคนใหม่ สังคมใหม่ และโลกใหม่ของพระองค์ อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
089-2628-310

26 ธันวาคม 2554

ถอดบทเรียนจากการเตรียมรับเสด็จและคริสต์มาส

เราเอาใจใส่จิตวิญญาณของเราอย่างไรในช่วงเทศกาลนี้

เสียงโทรศัพท์ หรือไม่ก็อีเมล์ส่งกันว่อน เพื่อที่พยายามที่จะนัดวันพบปะฉลองวันคริสต์มาสกันให้ได้...

วันที่สิบธันวาเธอได้ไหม?

ไม่ได้ ฉันต้องไปคริสต์มาสกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน วันที่สิบเจ็ดเป็นยังไง?
สิบเจ็ดฉันต้องไปจัดคริสต์มาสให้เด็กกำพร้า เอาอย่างงี้วันที่สิบเก้าเลื่อนไปอีกสองวันเธอได้ไหม?
สิบเก้าออฟฟิตฉันเขาฉลองคริสต์มาส ตอนเย็นต้องไปร้องเพลงบ้านผู้บริหารอีกด้วย งานนี้ขาดไม่ได้
ฉันเหลืออีกวันเดียวเท่านั้น วันที่ยี่สิบสองเฉพาะตอนเย็นหลังหกโมงแล้ว เธอได้ไหม?
จริงๆ แล้ววันนั้นฉันก็ติดคริสต์มาสกับคณะนักร้องที่โบสถ์ แต่ฉันเบี้ยวได้ แต่อ้ายเพื่อนยากอีกสามคนมันติดงานเลี้ยงที่บ้านเจ้านายของมันจัดขึ้นปีละครั้ง ฉันว่าพวกมันมาไม่ได้หรอกวันที่ยี่สิบสอง

ถ้าเราดูตามปฏิทินของคริสตจักร ช่วงเวลาการเตรียมรับเสด็จ 4 สัปดาห์ก่อนวันคริสต์มาส แท้จริงแล้วคริสตจักรจัดให้เป็นช่วงเวลาให้คริสตชนได้มีเวลาใช้ชีวิตที่สงบ ใคร่ครวญ ไตร่ตรองถึงการดำเนินชีวิตของตนกับพระประสงค์ของพระเจ้า เทศกาลเตรียมรับเสด็จ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Advent ซึ่งมาจากภาษาละตินคำว่า “adventus” ซึ่งแปลว่ากำลังมา หมายถึงการที่พระคริสต์กำลังเสด็จมา ในช่วงเวลานี้คือการเตรียมรับการเสด็จมาของพระเยซูคริสต์ เข้ามาอยู่ในชีวิตของเรา (อิมมานูเอล)

ดังนั้น เทศกาลเตรียมรับเสด็จจึงมิใช่การนับถอยหลัง หรือ “เค้าท์ดาวน์” วันคริสต์มาส ไม่ใช่ช่วงเวลาของการสังสรรค์ ปาร์ตี้ เฮฮา พบเพื่อนฝูงฉลองร่วมกับเพื่อนเก่า และก็ไม่ใช่เวลาของการให้ของขวัญหรือแลกของขวัญกัน แต่เป็นช่วงเวลาที่คริสตชนจะมีชีวิตที่สงบ นิ่ง เงียบ ที่ใคร่ครวญถึงการที่องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้สูงสุดเสด็จลงมาเป็นมนุษย์ และเป็นมนุษย์ที่อยู่ร่วมกับผู้คนที่ต่ำต้อยสุดๆ ในสังคม เป็นช่วงเวลาที่พระองค์มาเพื่อที่จะช่วยกอบกู้มนุษย์ให้หลุดรอดออกจากอำนาจแห่งความชั่วร้าย เป็นช่วงเวลาแห่งการสร้างการคืนดี การอภัย และการถ่อมใจลงต่อหน้าพระเจ้า แสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้า(แผ่นดินของพระเจ้า) แสวงหาความเข้าใจว่าพระเจ้ามีพระประสงค์อะไรในชีวิตของตน และเราจะเชื่อฟังและดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ดังกล่าวอย่างไร

เราคงต้องถามตนเองว่า ในเทศกาลเตรียมรับเสด็จ และ เทศกาลคริสต์มาสในปีนี้ เราได้เอาใจใส่จิตวิญญาณของเราอย่างไรบ้าง? เราใช้ช่วงเวลาดังกล่าวมุ่งมองหาแสงสว่างของพระคริสต์เช่นไรบ้าง? หรือช่วงเวลาเทศกาลรับการเสด็จมาของพระคริสต์และคริสต์มาสในปีนี้เราต้องเครียดกับโบนัสที่ลดน้อยถอยลง หรือบางคนโบนัสที่หลุดลอยหายไป พร้อมกับการตกงาน หรือไม่บางก็คนต้องพบกับภาวะกดดันอย่างหนัก ต้องหาทางเอาชนะความกดดันนั้นให้ได้ หรือผู้นำคริสตจักรและสถาบันคริสเตียนต้องวุ่นวายสับสนจนอ่อนเพลียกับการจัดงานและไปงานเลี้ยงอย่างไม่หยุดหย่อน ช่วงเวลาเตรียมรับเสด็จและคริสต์มาสกลายเป็นเวลาแห่งความเครียด และพบว่าชีวิตฉีกขาด ตกต่ำ เจ็บปวด สิ่งที่เหลือหลังเทศกาลเตรียมรับเสด็จและคริสต์มาสคือความอ่อนเพลียกาย อ่อนระอาใจ ความมืดมนสับสน แทนที่จะเป็นช่วงเวลาที่ได้รับกำลังแห่งชีวิตจิตวิญญาณ และความชัดเจนยิ่งขึ้นในการดำเนินชีวิตตามทางแห่งพระประสงค์ เพราะในช่วงเทศกาลการเตรียมรับเสด็จและ คริสต์มาสเป็นช่วงเวลาของการใคร่ครวญ ไตร่ตรอง ภาวนา และแสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้า

สิ่งที่เราคิด เราทำ ในช่วงเทศกาลเตรียมรับเสด็จและคริสต์มาส เป็นการแสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้าที่พระองค์ต้องการมีในชีวิตทุกมิติของเรา เราอาจจะสามารถใช้วิธีง่ายๆ ในการใคร่ครวญและแสวงหาน้ำพระทัยของพระคริสต์ เช่น ถ้าเราจะต้องตัดสินใจในเรื่องนี้เราจะถามว่า ถ้าพระเยซูคริสต์อยู่ในชีวิตของเราพระองค์จะตัดสินใจเรื่องนี้อย่างไร? พระองค์จะมีท่าทีต่อคนนี้อย่างไร? พระองค์จะพูดกับคนนี้อย่างไร? พระองค์จะทำอะไรในสถานการณ์นี้ แต่ก็คงไม่ใช่ถามว่า แล้วสังคมว่าอย่างไร? กฎระเบียบเขียนไว้ว่าอย่างไร? กฎหมายตราไว้ว่าอย่างไร? หรือเราจะเอาชนะเรื่องนี้อย่างไร?

ในเทศกาลเตรียมรับเสด็จและคริสต์มาสเป็นช่วงเวลาของการที่จะฝึกหัดความเข้มแข็งในความกล้าหาญ ที่จะบอกอย่างสุภาพว่า “ไม่” หรือ “ใช่” อย่างตระหนักเท่าทัน เป็นช่วงเวลาที่เราจะต้องเลือกและตัดสินใจในการกระทำและดำเนินชีวิตประจำวัน เป็นเวลาที่เราจะกล้าบอกว่า “ไม่” กับคำเชิญชวนที่เราใคร่ครวญ ไตร่ตรองแล้วว่า ถ้าพระเยซูคริสต์ถูกชวนเช่นนี้พระองค์จะตอบปฏิเสธ หรือตอบว่า “ได้ หรือ ใช่” ในเรื่องที่เราตระหนักชัดว่า นี่เป็นพระประสงค์ของพระเยซูคริสต์ และขอพระองค์ทรงเสริมกำลังของเราที่จะกระทำเรื่องนั้นเพื่อสำแดงถึงความรักของพระคริสต์ต่อชีวิตของคนๆ นั้น หรือ กลุ่มนั้นๆ

การกระทำเช่นนี้เป็นการที่เราเอาใจใส่ต่อสุขภาพชีวิตจิตวิญญาณของเราในเทศกาลเตรียมรับเสด็จและ คริสต์มาสครับ

ประเด็นสำหรับใคร่ครวญและอภิปราย

1. ตลอดเทศกาลเตรียมรับเสด็จมาของพระเยซูคริสต์ กับ เทศกาลคริสต์มาสในปีนี้ที่ผ่านไปแล้ว ท่านได้ใช้เวลาช่วงนี้อย่างไรบ้าง? ท่านรู้สึกอย่างไรบ้าง? อะไรที่ทำให้ท่านรู้สึกเช่นนั้น?

2. ชีวิตที่ผ่านมาในเทศกาลเตรียมรับเสด็จและการบังเกิดของพระคริสต์ มีผลกระทบต่อการตัดสินใจในการดำเนินชีวิตของท่านอย่างไรบ้างในปีใหม่ที่อยู่ข้างหน้าท่าน? อะไรคือพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตของท่านในปีที่อยู่ข้างหน้า? แล้วตัวท่านเองจะก้าวไปสู่ทิศทางไหน?

ใคร่ครวญภาวนา

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดให้ช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่สงบอยู่ต่อหน้าพระองค์

ด้วยใจสงบข้าฯคอยพระองค์ ตามพระประสงค์ข้าฯพร้อมกระทำ
ขอเปิดดวงตารับการทรงนำ จากพระวิญญาณ
ด้วยใจสงบข้าฯคอยพระองค์ ตามพระประสงค์ข้าฯพร้อมกระทำ
หูข้าฯขอทรงเปิดรับการทรงนำ จากพระวิญญาณ
ด้วยใจสงบข้าฯคอยพระองค์ ตามพระประสงค์ข้าฯพร้อมกระทำ
ขอเปิดจิตใจรับการทรงนำ จากพระวิญญาณ
อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
089-2628-310

23 ธันวาคม 2554

การนมัสการพระเจ้าในภาวะที่กดดัน

เตรียมรับเสด็จพระคริสต์ภายในชีวิต ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทย

อ่านพระกิตติคุณลูกา 22:39-46

ข้าแต่พระบิดา
ถ้าพระองค์พอพระทัยขอทรงเอาถ้วยนี้ไปจากข้าพระองค์
อย่างไรก็ตามอย่าให้เป็นไปตามใจของข้าพระองค์
แต่ให้สำเร็จดังพระประสงค์ของพระองค์
(ลูกา 22:42 อมตธรรม)

จากการมีโอกาสร่วมกับทีมวิจัยของคณาจารย์วิทยาลัยพระคริสต์ธรรมแมคกิลวารี ลงสนามวิจัยในคริสตจักรบริบทที่หลากหลายแตกต่าง สิ่งหนึ่งที่พบว่าเหมือนกันคือ ทุกคริสตจักรเน้นความสำคัญของพันธกิจในเช้าวันอาทิตย์คือการนมัสการพระเจ้าประจำสัปดาห์ (นมัสการพระเจ้าอาทิตย์ละครั้งหรือ สี่ครั้งในคริสตจักรชาติพันธุ์) เป็นกิจกรรม หรือ พิธีกรรมที่มีคนมาร่วมมากที่สุดในแต่ละสัปดาห์เมื่อเปรียบเทียบกับกิจกรรมอื่นๆ

สิ่งที่พบมากในหลายๆ คริสตจักรที่ลงไปทำวิจัยคือ ทุกคนให้ความสำคัญกับ “พิธี” การนมัสการพระเจ้า บางคริสตจักรเน้นความสำคัญที่จะต้องจัดระเบียบนมัสการให้ถูกต้อง บางคริสตจักรกลับปล่อยตามอิสระที่สมาชิกแต่ละคนจะแสดงออก บางคริสตจักรเน้นเรื่องการร้องเพลงสรรเสริญ เช่น ในคริสตจักรของพี่น้องชาติพันธุ์ ที่มีของประทานในการร้องเพลงประสานเสียงสรรเสริญพระเจ้า คริสตจักรเหล่านี้จะร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าเป็นชีวิตจิตใจ และก็พบว่า ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการฟังพระวจนะของพระเจ้า และดูเหมือนว่านี่คือโอกาสครั้งเดียวสำหรับสมาชิกในการฟังพระวจนะในหนึ่งสัปดาห์

การนมัสการพระเจ้าเป็นเรื่องที่เขาทำกันในโบสถ์ในพระวิหารของพระเจ้า แต่การนมัสการพระเจ้าในชีวิตส่วนตัว ในชีวิตครอบครัว ในชีวิตการงานเป็นเรื่องแปลกประหลาดที่อยู่ห่างไกลจากความเข้าใจของสมาชิกส่วนใหญ่ ยิ่งการนมัสการที่มีความหมายถึงการที่มีพระเจ้าทรงเป็นเอกเป็นต้น เป็นใหญ่ในการดำเนินชีวิตของผู้ที่เชื่อดูแล้วคงเป็นไปได้ยากในชีวิตสมาชิกส่วนมากเกือบทุกคริสตจักรที่เราไปสัมผัสมา

หัวใจของการนมัสการพระเจ้า เราพบเห็นได้จากพระเยซูคริสต์ในสวนเกทเสมนี พระองค์คุกเข่า ถ่อมตัวลง ซบหน้าลงกับพื้นดิน และที่สำคัญคือเปิดชีวิตจิตใจแก่พระเจ้าอย่างไม่มีสิ่งใดปิดบังซ่อนเร้น พระองค์ทูลต่อพระบิดาอย่างจริงใจ ปรึกษาพระบิดาแบบเปิดเผยตรงไปตรงมา ถ้วยแห่งความทุกข์ยาก เจ็บปวด ความตายและการถูกแยกจากพระบิดาถ้วยนี้ขอพระเจ้าเอาออกไปได้ไหม มีทางเลือกอื่นไหม

สิ่งสำคัญกว่าการเปิดใจอย่างไม่มีเงื่อนไขนี้คือ การยืนยันว่า พระบิดาเป็นเอกเป็นใหญ่ที่สุดในชีวิตของพระเยซู คือพระประสงค์ของพระเจ้ามาก่อนความต้องการของข้าพระองค์ การที่ตัดสินใจเช่นนี้ได้นั้น ผู้นั้นต้องมอบกายถวายชีวิตทั้งสิ้นแด่พระเจ้า เพื่อให้พระองค์ใช้ตามพระประสงค์ของพระองค์ พระเยซูคริสต์ทูลพระบิดาว่า แต่ขอให้เป็นไปตามน้ำพระทัยของพระบิดา มิใช่เป็นไปตามความต้องการของพระองค์เอง

หัวใจของการนมัสการพระเจ้าคือ การที่ผู้นมัสการได้มอบถวายชีวิตทั้งชีวิตแด่พระเจ้า ยอมตนให้พระองค์ทรงครอบครอง ควบคุม และทรงใช้ตามพระประสงค์ของพระบิดา

ในภาวะวิกฤติ ภาวะกดดันในชีวิต เป็นโอกาสที่เราจะนมัสการพระเจ้าอย่างแท้จริง ในภาวะกดดันในชีวิตเป็นเครื่องตรวจสอบตัวเราว่าแท้จริงแล้วเรานมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้า หรือเรากำลังนมัสการบูชาตนเอง หรือเรากำลังกราบไว้นมัสการสิ่งอื่น

ในเทศกาลเตรียมรับเสด็จ และ คริสต์มาส เราท่านกำลังนมัสการพระเจ้าอย่างพระเยซูคริสต์หรือไม่?

ประเด็นสำหรับใคร่ครวญและอภิปราย

1. ท่านเคยคิดว่าการนมัสการคือการที่ท่านมอบกายถวายชีวิตที่ท่านมีอยู่ให้เป็นของพระเจ้าหรือไม่?

2. ในสถานการณ์เช่นไรบ้างที่เรานมัสการพระเจ้า?

3. สำหรับท่านแล้ว เวลานมัสการพระเจ้าคือโอกาสที่ท่านจะยอมตนและถวายชีวิตแด่พระเจ้าหรือไม่ อย่างไร?

4. ท่านเห็นว่าภาพของพระเยซูในสวนเกทเสมนีช่วยให้ท่านเข้าใจการที่ท่านจะนมัสการพระเจ้าอย่างไรบ้าง?

5. ในเทศกาลเตรียมรับพระประสงค์ของพระคริสต์ และ การบังเกิดของพระองค์ ท่านได้นมัสการพระเจ้าแบบไหน?

ใคร่ครวญภาวนา

พระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์ ขอบพระคุณสำหรับแบบอย่างการนมัสการที่ทรงพลังที่ได้สำแดงในเวลาวิกฤติในสวนเกทเสมนี ขอบพระคุณที่ทรงสอนด้วยแบบอย่างการนมัสการของพระองค์ที่มอบถวายชีวิตทั้งสิ้นแด่พระบิดา ด้วยการยอมตนทุกอย่างให้เป็นไปตามพระประสงค์ ข้าพระองค์ขอ “ถอดมงกุฎแห่งความยะโสโอหัง” ความสำคัญ ความยิ่งใหญ่ของตนเองออกต่อเบื้องหน้าองค์พระผู้เป็นเจ้า

โปรดช่วยข้าพระองค์ให้นมัสการพระองค์ในทางที่ถูกต้องเยี่ยงพระคริสต์ โปรดช่วยให้ข้าพระองค์กล้าที่จะปลดแอกออกจากการครอบงำการนมัสการตามประเพณีที่ส่งทอดกันมา และ ประเพณีนิยมตามกระแสทันสมัย แต่มีเสรีที่จะนมัสการพระองค์ด้วยจิตวิญญาณและความจริง ด้วยเครื่องบูชาที่มีชีวิตอยู่คือชีวิตของข้าพระองค์ที่เป็นอยู่ และโปรดปลดปล่อยข้าพระองค์ให้หลุดออกและเป็นไทจากโซ่ตรวนแห่งการนมัสการพระองค์เฉพาะเช้าวันอาทิตย์ แต่มีชีวิตที่นมัสการทุกวัน ทุกกิจกรรมชีวิต ด้วยความเต็มใจและถ่อมใจ ด้วยความกระหายหาการได้ใกล้ชิดกับพระองค์

ข้าพระองค์ขอสยบยอมต่อพระองค์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์ อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
089-2628-310

21 ธันวาคม 2554

จากสงสัยสู่สรรเสริญ

เตรียมรับเสด็จพระคริสต์ภายในชีวิต ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทย

อ่านลูกา 1:5-23

ทูตนั้นกล่าวกับเขา(เศคาริยาห์)ว่า “เศคาริยาห์เอ๋ยอย่ากลัวเลย พระเจ้าทรงได้ยินคำอธิษฐานของท่านแล้ว เอลีซาเบธภรรยาของท่านจะคลอดบุตรชาย...เขาจะยิ่งใหญ่ในสายพระเนตรขององค์พระผู้เป็นเจ้า...เขาจะเปี่ยมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์...เขาจะนำอิสราเอล...กลับมาหาองค์พระผู้เป็นเจ้า...เขาจะนำหน้าองค์พระผู้เป็นเจ้า...”

เศคาริยาห์ถามทูตนั้นว่า “ข้าพเจ้าจะแน่ใจเรื่องนี้ได้อย่างไร ตัวข้าพเจ้าก็ชราและภรรยาก็อายุมากแล้ว”
ทูตนั้นตอบว่า “เราคือกาเบรียล...พระเจ้าทรงใช้เรามาพูดกับท่านและให้บอกข่าวดีนี้แก่ท่าน บัดนี้ท่านจะเป็นใบ้ตราบจนวันที่สิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะท่านไม่เชื่อคำของเราซึ่งจะเป็นจริงเมื่อถึงเวลากำหนด”
(ลูกา 1:13-19 อมตธรรม)

ในสังคมโลกที่มีแต่ความสับสนวุ่นวาย ในความสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดความเครียดและสงสัย มีผลทำให้คนจำนวนมากในปัจจุบันที่มองเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแง่ร้ายแง่ลบ และผมเองก็ใช่ว่าจะหลุดรอดจากผลกระทบเช่นว่านี้ได้ แต่ท่ามกลางสถานการณ์ที่เลวร้าย คริสตชนค่อยๆ เรียนรู้ว่าพระเจ้าทรงมีแผนการในการเสริมสร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นแก่เราท่ามกลางสถานการณ์ที่เลวร้ายนั้น

แม้จะเป็นผู้ที่เชื่อศรัทธามั่นคงในพระเจ้าก็ตาม แต่ประสบการณ์ที่ติดลบที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในชีวิต หรือเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องย่อมสร้างผลกระทบให้เกิดมุมมอง หรือ ทัศนคติที่ติดลบได้อย่างมาก และที่น่าหวั่นกลัวคือมันเกิดขึ้นในตัวตนของเราโดยที่เราไม่รู้เท่าทัน และมีผลต่อความเชื่อศรัทธาของเราอีกด้วย

หมอลูกาบันทึกรายละเอียดไว้ว่า ทั้งคู่คือเศคาริยาห์และเอลีซาเบธเป็นคนชอบธรรมในสายพระเนตรของพระเจ้า ยึดถือบัญญัติและกฎเกณฑ์ทั้งปวงขององค์พระผู้เป็นเจ้าไม่มีที่ติ (ลูกา1:6 อมตธรรม) และหมอลูกายังบอกอีกว่า แต่ทั้งสองไม่มีบุตร เพราะเอลีซาเบธเป็นหมัน และทั้งสองก็ชราแล้ว หมอลูกาบอกสองเงื่อนไขใหญ่ที่แน่นอนชัดเจนว่าทั้งสองจะไม่มีบุตรได้เลยคือ ฝ่ายหญิงเป็นหมัน และขณะนี้อายุก็แก่ชราเกินวัยที่จะสามารถมีบุตรแล้ว

เศคาริยาห์ และ เอลีซาเบธ ได้ทูลขอบุตรจากพระเป็นเจ้าอย่างแน่นอน และจะต้องเป็นการทูลขออย่างยาวนาน จากคำกล่าวของทูตกาเบรียลที่แจ้งข่าวการตั้งครรภ์และมีบุตรของเอลีซาเบธกล่าวว่า “...พระเจ้าทรงได้ยินคำอธิษฐานของท่านแล้ว...”(ข้อ 13) และทั้งสองต้องทูลขอบุตรจากพระเจ้า เพราะในวัฒนธรรมและความเชื่อของคนยิวมองว่าถ้าสามีภรรยาคู่ไหนไม่มีบุตรแสดงว่าไม่เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าและไม่ได้รับพระพรจากพระองค์ จนถึงขนาดที่มองว่าเป็นสิ่งที่น่าอดสู เมื่อเศคาริยาห์หมดหน้าที่ในพระวิหารกลับบ้าน เอลีซาเบธตั้งครรภ์นางเก็บตัวถึง 5 เดือน นางกล่าวว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกระทำการนี้เพื่อข้าพเจ้า บัดนี้พระองค์ทรงสำแดงความโปรดปรานและทรงขจัดความอดสูของข้าพเจ้าในหมู่ผู้คนไป” (ข้อ 25 อมตธรรม) เป็นที่ประจักษ์แน่นอนแล้วว่าทั้งเศคาริยาห์และเอลีซาเบธได้ทูลขอบุตรจากพระเจ้าแน่นอน

การทูลขอบุตรมาอย่างยาวนาน จนทั้งสองอาจจะคิดว่าคงไม่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้าที่จะให้ตนมีบุตร และก็หมดเวลาของการที่จะมีบุตรแล้วเนื่องด้วยสังขาร จนเลิกคิดเกี่ยวกับเรื่องการมีบุตร แต่จู่ๆ วันหนึ่งทูตสวรรค์มาแจ้งให้ทราบว่าภรรยาของเขาจะตั้งครรภ์และมีบุตรชาย และก็ไม่ใช่บุตรชายธรรมดา แต่เป็นบุตรชายที่จะ “เปี่ยมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์...นำอิสราเอลกลับมาหาองค์พระผู้เป็นเจ้า...นำหน้าองค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยจิตใจและฤทธิ์อำนาจของเอลียาห์...และเตรียมชนชาติหนึ่งไว้สำหรับองค์พระผู้เป็นเจ้า”(1:15-17) นี่มันยิ่งกว่าข่าวดีเสียอีก!

เศคาริยาห์ถามทูตสวรรค์อย่างเปิดใจและถามแบบตรงไปตรงมาว่า “ข้าพเจ้าจะแน่ใจเรื่องนี้ได้อย่างไร ตัวข้าพเจ้าก็ชราและภรรยาก็อายุมากแล้ว” เศคาริยาห์ต้องการความมั่นใจ ใช่เขาสงสัย เขาจะเชื่อได้อย่างไรว่าสิ่งที่ทูตกาเบรียลว่าเป็นข่าวดีนี้จะเป็นข่าวที่เป็นจริงอย่างที่แจ้ง เป็นเหมือนขอหลักฐาน ขอเหตุผล ขอหมายสำคัญ และสิ่งที่เศคาริยาห์ได้รับคือ เขาเป็นใบ้พูดไม่ได้ตั้งแต่เวลานั้นจนถึงวันที่บุตรกำเนิด

ตั้งแต่ผมเป็นเด็กจนถึงเป็นผู้ใหญ่และเข้าสู่วัยผู้สูงอายุพบว่า คริสตชนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าการที่เศคาริยาห์ไม่เชื่อหรือสงสัยข่าวดีจากพระเจ้าที่กาเบรียลนำมาแจ้งดังนั้นเขาจึงต้องเป็นใบ้ มักเข้าใจว่าเป็นเหมือนการถูกลงโทษจากพระเจ้า จริงอยู่การตอบสนองพระประสงค์ของพระเจ้าที่มีในชีวิตของเศคาริยาห์นั้นแตกต่างจากมารีย์ที่เมื่อรู้ว่านี่เป็นพระประสงค์และแผนการของพระเจ้าจึงยอมตนรับเอาพระประสงค์ดังกล่าว “...ขอให้เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าตามที่ท่านกล่าวเถิด”(1:38) แต่เศคาริยาห์ถามหาความมั่นใจ ถามหาหมายสำคัญเครื่องยืนยัน และพระเจ้าทรงให้การเป็นใบ้เป็นหมายสำคัญ ทั้งเศคาริยาห์ และ เอลีซาเบธต่างมั่นใจในแผนการของพระเจ้าครั้งนี้เพราะได้รับหมายสำคัญคือเศคาริยาห์เป็นใบ้ และคนทั้งหลายที่อยู่นอกพระวิหารเมื่อเห็นเศคาริยาห์เป็นใบ้ก็ตระหนักรู้ได้ว่าเศคาริยาห์ได้เห็นนิมิต สำหรับผมแล้วเห็นว่าการเป็นใบ้นอกจากทำให้คนทั้งหลายรู้ว่านี่เป็นพระราชกิจของพระเจ้าแล้ว เศคาริยาห์ไม่ต้องตอบคำถามอีกหลายๆ คำถามที่เขายากที่จะหาคำตอบมาให้ผู้ถามได้

น่าสังเกตว่า แม้มนุษย์จะขาดความเชื่อ มนุษย์เกิดความสงสัย ไม่มั่นใจในพระประสงค์และแผนการของพระเจ้า สิ่งนี้ไม่สามารถขัดขวางหรือหยุดพระราชกิจของพระองค์ได้ ท่ามกลางอุปสรรค ปัญหา สิ่งกีดขวางพระเจ้าทรงกระทำ “ข่าวดี” ที่เป็นพระราชกิจของพระองค์ให้เกิดขึ้นดำเนินต่อไป ท่ามกลางความไม่เชื่อและสงสัยพระเจ้าทรงอดทนและกระทำกิจของพระองค์เพื่อคนของพระองค์จะได้มีความเชื่อและเติบโตขึ้นในพระคุณของพระองค์เฉกเช่นเศคาริยาห์และเอลีซาเบธ และเมื่อครบเวลากำหนดของพระเจ้า เอลีซาเบธคลอดบุตร เศคาริยาห์หายใบ้พูดได้ สิ่งแรกที่เศคาริยาห์ทำคือ “เขาก็เริ่มกล่าวสรรเสริญพระเจ้า”(ข้อ 64) และเปี่ยมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และกล่าวพยากรณ์ (ดูข้อ 67-79)

เนื่องจากการเป็นใบ้ของเศคาริยาห์เมื่อออกมาจากพระวิหารไม่สามารถพูดกับประชาชน คนทั้งหลายจึงตระหนักว่าเศคาริยาห์ได้เห็นนิมิตในพระวิหาร(ข้อ 22) และเมื่อวันที่เอลีซาเบธคลอดบุตรชายแล้วเศคาริยาห์กลับพูดได้ หมอลูกาบันทึกไว้ว่า “เพื่อนบ้านของเขาล้วนเต็มไปด้วยความเกรงกลัวและผู้คนพากันโจษจันเรื่องนี้ทั่วแดนเทือกเขาแห่งยูเดีย ทุกคนที่ได้ยินเรื่องนี้ก็ประหลาดใจและถามกันว่า “ต่อไปทารกนี้จะเป็นอย่างไรหนอ” เพราะพระหัตถ์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าอยู่กับเขา” (ข้อ 65-66 อมตธรรม) ท่ามกลางสถานการณ์ในสายตาของเราท่านอาจจะเห็นว่าเป็นสิ่งที่เลวร้าย เป็นการลงโทษจากพระเจ้า แต่ท้ายสุดกลับพบว่านั่นเป็นพระราชกิจของพระเจ้าที่ทรงกระทำสิ่งดียิ่งใหญ่แก่มนุษย์

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญและอภิปราย

ให้เราลองทบทวนความทรงจำของเราว่า

1. ที่ผ่านมาเมื่อชีวิตของเราต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่เลวร้าย เหตุร้าย หรือ ความทุกข์ยากที่เราไม่คาดคิด สิ่งแรกที่ท่านตอบสนองในเวลานั้นคืออะไร?
  • บ่น ต่อว่า?
  • หาทางแก้ตัว?
  • หาแพะมารับผิด? หรือ
  • อวดอ้างมั่นใจว่าตนเองสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างสบาย? หรือ
  • กล่าวโทษโชคชะตาที่เลวร้าย?

2. ในที่สุดเหตุการณ์นั้น(ของท่าน)ลงเอยเช่นไร?
  • ในเหตุการณ์นั้นช่วยให้ท่านและคนรอบข้างเห็นถึงพระหัตถ์อันทรงฤทธิ์ของพระเจ้าหรือไม่?
  • เห็นถึงพระคุณและพระเมตตาของพระเจ้าหรือเปล่า?
  • จบลงด้วยการสรรเสริญจากปากของท่านหรือไม่?

ใคร่ครวญภาวนา


ข้าแต่พระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยพระเมตตาคุณ
เมื่อข้าพระองค์จะต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่สงสัยไม่มั่นใจอย่างเศคาริยาห์
ขอโปรดเมตตาข้าพระองค์อย่างที่ทรงเมตตาเศคาริยาห์
ขอโปรดประทานความมั่นใจ เวลาที่จะสงบ และการไตร่ตรองใคร่ครวญ
ขอโปรดประทานความอดทนในการรอคอยให้ถึงเวลาที่พระองค์กำหนด
เพื่อเมื่อถึงเวลานั้น ข้าพระองค์จะได้สรรเสริญพระองค์จากก้นบึ้งแห่งจิตใจและประสบการณ์ชีวิต

โปรดเปิดตาของข้าพระองค์ให้เห็นถึงสิ่งดีที่ทรงประทานในสถานการณ์ที่เลวร้าย
โปรดเปิดใจของข้าพระองค์ที่จะยอมรับเอาพระประสงค์ แผนการ และพระราชกิจที่ทรงกระทำ
โปรดเปิดชีวิตทั้งสิ้นของข้าพระองค์ที่จะไว้วางใจในการทรงนำ และ การทรงครอบครองของพระองค์
เพื่อข้าพระองค์จะเปิดปากสรรเสริญพระองค์จากทั้งสิ้นในชีวิตของข้าพระองค์

องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์
โปรดเสด็จเข้ามาในชีวิตข้าพระองค์
โปรดทรงสร้างข้าพระองค์ใหม่ให้เป็นของพระองค์
ให้เป็นคนที่พระองค์ประสงค์ และมีชีวิตตามแผนการของพระองค์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
089-2628-310

19 ธันวาคม 2554

บทเพลงปฏิวัติ หรือ บทเพลงแห่งพระประสงค์?

เตรียมรับเสด็จพระคริสต์ภายในชีวิต ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทย

มารีย์จึงกล่าวว่า
“จิตใจของข้าพเจ้าสรรเสริญยกย่องพระเจ้า
และจิตวิญญาณของข้าพเจ้าชื่นชมยินดีในพระเจ้า พระผู้ช่วยให้รอดของข้าพเจ้า
เพราะพระองค์ทรงเอาพระทัยใส่ ฐานะอันต่ำต้อยของผู้รับใช้ของพระองค์
นับแต่นี้ไปคนทุกชั่วอายุจะเรียกข้าพเจ้าว่าผู้ได้รับพร
เพราะว่าองค์ทรงฤทธิ์ได้ทรงกระทำสิ่งยิ่งใหญ่เพื่อข้าพเจ้า
พระนามของพระองค์บริสุทธิ์
พระเมตตาของพระองค์แผ่มาถึงบรรดาผู้ที่ยำเกรงพระองค์ทุกชั่วอายุสืบไป

พระองค์ทรงประกอบกิจอันยิ่งใหญ่ด้วยพระกรของพระองค์
พระองค์ทรงกระทำให้ผู้ที่ผยองในส่วนลึกของความคิดกระจัดกระจายไป
พระองค์ทรงปลดเจ้านายลงจากบัลลังก์ แต่ทรงยกผู้ต่ำต้อยขึ้น
พระองค์ทรงให้ผู้หิวโหยอิ่มเอมด้วยสิ่งดี แต่ทรงส่งคนมั่งมีไปมือเปล่า
พระองค์ทรงช่วยอิสราเอลผู้รับใช้ของพระองค์ ทรงไม่ลืมที่จะเมตตา
ต่ออับราฮัมและวงศ์วานของเขาตลอดไป ตามที่พระองค์ได้ตรัสไว้กับบรรพบุรุษของเรา”
(ลูกา 1:46-55 อมตธรรม)

พระธรรมลูกา 1:46-55 เป็นบทเพลงสรรเสริญของมารีย์ ที่กลั่นกรองออกมาจากส่วนลึกแห่งจิตใจของเธอ เมื่อนางเอลีซาเบธญาติของเธอที่ตั้งครรภ์ยอห์นผู้ให้บัพติสมา ได้ทักมารีย์ว่าเป็นพระมารดาของพระเมสสิยาห์ที่มาบังเกิดตามคำพยากรณ์ ถ้าใครได้มีโอกาสอ่านหนังสืออรรถาธิบายพระคัมภีร์ชุดที่ชื่อว่า The Gospel in Solentiname” (พระกิตติคุณในโซเลนตินัม) ที่เรียบเรียงโดย Ernesto Cardenal จากการศึกษาพระคัมภีร์แบบกลุ่มเล็กในโซเลนตินัม ได้เรียกพระคัมภีร์ตอนนี้ว่าเป็นบทเพลงปฏิวัติของมารีย์ ซึ่งถ้าดูเนื้อหาในบทเพลงก็คงปฏิเสธยากว่านี่ไม่ใช่บทเพลงปฏิวัติ แต่สำหรับผมแล้วกลับมองว่านี่เป็นบทเพลงแห่งพระประสงค์ของพระเจ้า เป็นเพลงแห่งพระคุณสำหรับคนรับใช้ที่เล็กน้อยของพระองค์ และเป็นบทเพลงที่กล่าวถึงพระประสงค์ของพระเจ้าที่เปลี่ยนแปลง(ปฏิวัติ)ชีวิตของคนที่ยอมรับพระประสงค์

บทเพลงสรรเสริญของมารีย์เป็นบทเพลงที่มุ่งมองไปที่พระราชกิจอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า และเป็นพระราชกิจที่พลิกคว่ำทั้งวิธีคิดวิธีเชื่อ ระบบคุณธรรมและคุณค่า และกระบวนการและวิธีการกระทำที่แตกต่างจากหน้ามือเป็นหลังมือกับกระแสสังคมโลกในปัจจุบัน กล่าวได้ว่าเป็นพระราชกิจที่พลิกคว่ำแผ่นดินเลยทีเดียว เช่น

พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่ ฐานะอันต่ำต้อยของผู้รับใช้ของพระองค์ (ข้อ 48) เมื่อพระเจ้าทรงเลือกผู้ที่จะมาเป็นพระมารดาของพระเมสสิยาห์ พระองค์ทรงเลือกเอาหญิงสาวชาวบ้านให้เป็นผู้รับใช้ของพระองค์ในพระประสงค์อันยิ่งใหญ่นี้ ในที่นี้ใช้คำว่าพระเจ้าทรง “เอาใจใส่” ฐานะอันต่ำต้อย เป็นพระประสงค์ที่ทวนกระแสสังคม วัฒนธรรม และระบบคุณค่าคุณธรรมของสังคมในสมัยนี้

ทำให้คริสเตียนไทยปัจจุบันต้องกลับหันมามองตนเองว่า สิ่งที่เรากระทำอยู่สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้าหรือไม่? หรือเป็นการกระทำที่ทวนกระแส และ ต้านกระบวนการแห่งพระประสงค์ของพระเจ้าหรือเปล่า? โรงเรียนคริสเตียน มหาวิทยาลัยคริสเตียน โรงพยาบาลคริสเตียน สถาบันที่ทำพันธกิจเพื่อผู้เล็กน้อยที่มีฐานะอันยากต่ำในสังคมในพระนามของพระเยซูคริสต์กำลังทำอะไรกันอยู่? ได้ตอบสนองต่อพระประสงค์ของพระเจ้าหรือไม่? เราพุ่งความสนใจของเราไปที่พระราชกิจของพระเจ้าในสถาบันและหน่วยงานเหล่านี้หรือเรามุ่งมองหาทางสร้างความอยู่รอด ความมั่นคงของสถาบัน ทำธุรกิจหารายได้(โดยอ้างว่าจะเอาไปทำพันธกิจ จริงหรือโกหก?) แท้จริงแล้วหน่วยงานและสถาบันเหล่านี้ต้องทำพันธกิจ “เอาใจใส่ฐานะต่ำต้อย” ของผู้คนที่พระเจ้าทรงสร้าง เพื่อตอบสนองต่อพระประสงค์ของพระองค์

ในเทศกาลของการรับการเสด็จมาของพระประสงค์ของพระเจ้าเข้าในชีวิตของเรา เข้าในบ้านของเรา เข้าในองค์กรสถาบันที่เราทำงาน เราได้ “เอาใจใส่ฐานะอันต่ำต้อย” ของผู้คนที่เราต้องเกี่ยวข้องแต่ละวันในที่ต่างๆอย่างไร ในฐานะอาจารย์พระคริสต์ธรรม ศาสนาจารย์ ศิษยาภิบาล ผู้ปกครอง และมัคนายกคริสตจักร ผู้อำนวยการ อธิการ นายกฯ ผู้บริหารองค์กรคริสเตียนระดับชาติ ระดับภาค ทุกวันนี้เราได้ “เอาใจใส่ฐานะอันต่ำต้อย” ของผู้คนที่เราพบเห็นสัมผัสสัมพันธ์อย่างไรบ้าง พระประสงค์ของพระเจ้าประการนี้ในชีวิตของเราแต่ละวันเป็นจริงและรูปธรรมแค่ไหน?

แต่ความเป็นจริงของคริสตจักร หน่วยงานสถาบันคริสเตียน และคริสตชนกลับพบว่าส่วนใหญ่เลือกเดินวิ่งไปบนเส้นทางที่สวนกระแสและสวนทางกับพระประสงค์ของพระเจ้า แทนที่จะเอาใจใส่ฐานะต่ำต้อยของประชากรของพระเจ้า มุ่งแต่แสวงหาสนใจเอาใจใส่ถึงความมั่งคั่ง มั่นคง และอำนาจของตนเอง ความคิดในใจลึกๆ คือ “ความสำเร็จของฉัน ชัยชนะของฉัน อำนาจของฉัน ผลประโยชน์ของฉัน...ฯลฯ” ไต่เต้าบันไดแห่งความสำเร็จ อำนาจ หน้าตาในสังคม จึงไม่แปลกที่เกิดการนำระบบ “การหาเสียง” สร้างคุณค่าของประชานิยมขึ้นในคริสตจักร แทนพระประสงค์นิยมที่เคยมีในอดีต จึงเกิดการแก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่น ทำร้ายทำลายกันด้วยวิธีล้ำลึก เพื่อตนจะได้สิ่งที่ตนต้องการ ออกเงินออกทองสนับสนุนกลุ่มคนหาเสียงที่เป็นพวกเดียวกับตนที่จะนำพาตนขึ้นมีอำนาจด้วย

แต่บทเพลงสรรเสริญของมารีย์ได้บ่งชี้ชัดเจนถึงพระประสงค์ของพระเจ้าว่า “พระองค์ทรงกระทำให้ผู้ที่ผยองในส่วนลึกของความคิดกระจัดกระจายไป” (ข้อ 51) “พระองค์ทรงปลดเจ้านายลงจากบัลลังก์ แต่ทรงยกผู้ต่ำต้อยขึ้น” (ข้อ 52) นี่เป็นบทเพลงสรรเสริญของมารีย์เมื่อรู้ว่าพระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ นี่เป็นบทเพลงแห่งพระประสงค์ของพระเจ้า แต่ก็หนีไม่พ้นที่ผู้คนที่จะสูญเสียอำนาจ ชื่อเสียง เกียรติยศ และความมั่นคงในชีวิตจะมองว่า “มารีย์ร้องเพลงฝ่ายซ้าย?” มารีย์ร้องเพลงปฏิวัติ พวกนี้ไม่รักษาความสงบ? แต่ที่เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ มารีย์ร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าในพระประสงค์อันชอบธรรมของพระองค์ต่างหาก!

สิ่งที่น่ากลัวที่พึงตระหนักในปัจจุบันนี้คือ หลายต่อหลายคนมักคิดในใจและพูดกับตนเองว่า “เจ้ามีของดีมากมายเก็บไว้พอสำหรับหลายปี ใช้ชีวิตให้สบาย กิน ดื่ม และรื่นเริงเถิด” (ลูกา 12:19 อมตธรรม) แล้วพระเยซูคริสต์ตรัสต่อไปว่า “เจ้าคนโง่! คืนนี้ชีวิตของเจ้าจะถูกเรียกคืนจากเจ้า แล้วใครเล่าจะเป็นผู้ได้รับสิ่งที่เจ้าเตรียมไว้สำหรับตัวเอง” และตรัสต่อไปว่า “ผู้ใดสะสมสิ่งของไว้สำหรับตนแต่ไม่มั่งมีต่อหน้าพระเจ้าก็เป็นเช่นนี้” (ลูกา 12:20-21 อมตธรรม) สอดคล้องในบทเพลงแห่งพระประสงค์ของพระเจ้าที่มารีย์ขับร้องคือ “พระองค์ทรงให้ผู้หิวโหยอิ่มเอมด้วยสิ่งดี แต่ทรงส่งคนมั่งมีไปมือเปล่า” (ข้อ 53)

ใคร่ครวญถึงที่นี่แล้วทำให้ตั้งคำถามตนเองว่า คริสต์มาสแต่ละปีมักใช้การเลี้ยงด้วยอาหารมากมายใหญ่โต ไม่บุฟเฟ่ต์ ก็ข้าวหม้อแกงหม้อ หรือ เอาอาหารมาคนละอย่างสองอย่าง เลี้ยงฉลองกินกันจนอิ่มเอม (อ้วนแล้วต้องไปลดน้ำหนักอีก) ถามตรงว่า นี่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้าหรือไม่เนี่ย! เป็นการเฉลิมฉลองพระประสงค์ของพระเจ้า หรือเป็นการเฉลิมฉลองเพื่อความอิ่มหมีพีมันสนุกสนานเท่านั้น?

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญและอภิปราย

1. ในเทศกาลเตรียมรับเสด็จ และ คริสต์มาสปีนี้ ท่านมุ่งให้ความสนใจที่ตนเองหรือพระประสงค์ของพระเจ้า? ทำไมท่านถึงคิดเช่นนั้น? ยกเรื่องราวที่เป็นรูปธรรมแบ่งปันกันในกลุ่ม

2. ในปีนี้ท่านมีโอกาสรับการเสด็จมาของพระประสงค์ของพระเจ้าหรือไม่? อะไรที่หนุนเสริมให้ท่านได้รับพระประสงค์เข้าในชีวิต? อะไรที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการเปิดรับพระประสงค์ของพระเจ้าเข้าในชีวิตของท่าน?

3. ถ้าให้คริสต์มาสปีนี้เป็นจุดริ่มต้นที่ท่านจะเปิดชีวิตรับพระประสงค์ของพระเจ้า ให้พระเจ้าทรงทำพระราชกิจของพระองค์ผ่านชีวิตประจำวันของท่าน ท่านจะมีการเริ่มต้นได้อย่างไรบ้าง? และสมาชิกในกลุ่มนี้จะมีทางหนุนเสริมท่านได้อย่างไรบ้าง?

ใคร่ครวญภาวนา

ข้าพระองค์ขอร่วมร้องสรรเสริญพระประสงค์ของพระองค์พร้อมกับมารีย์
ข้าพระองค์ขอบพระคุณและชื่นชมยินดีในพระองค์
พระองค์ผู้ทรงฤทธิ์สูงสุด แต่ทรงกระทำพระราชกิจกับผู้เล็กน้อยต่ำต้อยในสังคมโลกนี้

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า
บทเพลงสรรเสริญของมารีย์ท้าทายทั้งความคิดและการตัดสินใจในการดำเนินชีวิตของข้าพระองค์
โปรดประทานความกล้าหาญแก่ข้าพระองค์พอที่จะเปิดใจยอมรับการ “พลิกคว่ำ” ในชีวิตจากพระองค์
เพื่อข้าพระองค์จะได้มีสิทธิ์และมีส่วนในแผ่นดินของพระองค์
โปรดเมตตาข้าพระองค์ที่มุ่งแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเอง วิ่งตามไล่ล่าตามกระแสแห่งโลกนี้
ข้าแต่พระเจ้า ข้าพระองค์เหนื่อย หมดแรง สิ้นหวัง โปรดเมตตาข้าพระองค์ด้วย

ในช่วงเวลาของการรับเสด็จพระประสงค์ของพระองค์
โปรดรับข้าพระองค์ให้เป็นคนใช้คนหนึ่งของพระองค์ท่ามกลางผู้คนทั้งหลาย
โปรดช่วยให้ข้าพระองค์ได้ตระหนักชัดถึงของพระประทานและโอกาสจากพระองค์
ที่ข้าพระองค์จะรับใช้พระองค์ท่ามกลางชีวิตของเพื่อนมนุษย์
ให้ข้าพระองค์ได้ติดตามและแสวงหาแผ่นดินของพระองค์
ด้วยการกระทำตามพระประสงค์ของพระองค์ และมอบถวายชีวิตทั้งสิ้นแด่พระองค์ อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
089-2628-310

16 ธันวาคม 2554

ตอบสนองพระประสงค์ของพระเจ้าแบบไหน? (1)

ในเดือนที่หกพระเจ้าส่งทูตกาเบรียลมายังเมืองนาซาเร็ธในแคว้นกาลิลี ให้มาหาหญิงพรหมจารีชื่อมารีย์คู่หมั้นของโยเซฟผู้สืบเชื้อสายจากดาวิด ทูตสวรรค์นั้นไปหามารีย์และกล่าวว่า “หญิงเอ๋ย พระเจ้าทรงโปรดปรานเธอยิ่งนัก! องค์พระผู้เป็นเจ้าสถิตกับเธอ”

มารีย์ฟังคำนี้แล้วก็วุ่นวายใจนักและสงสัยว่าการทักทายเช่นนี้หมายถึงอะไร แต่ทูตนั้นกล่าวว่า “มารีย์เอ๋ย อย่ากลัวเลย เธอเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า เธอจะตั้งครรภ์และคลอดบุตรชาย จงตั้งชื่อบุตรนั้นว่าเยซู พระองค์จะทรงยิ่งใหญ่และได้ชื่อว่าพระบุตรของพระเจ้าสูงสุด พระเจ้าจะประทานบัลลังก์ของดาวิดบรรพบุรุษของพระองค์แก่พระองค์ และพระองค์จะทรงครอบครองพงศ์พันธุ์ของยาโคบตลอดไป อาณาจักรของพระองค์จะไม่มีวันสิ้นสุดเลย”

มารีย์ถามทูตสวรรค์นั้นว่า “จะเป็นเช่นนั้นได้อย่างไรในเมื่อข้าพเจ้าเป็นสาวพรหมจารี”

ทูตนั้นตอบว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์จะเสด็จมาเหนือเธอและฤทธิ์อำนาจขององค์ผู้สูงสุดจะปกคลุมเธอ ดังนั้น องค์บริสุทธิ์ที่ประสูติมาจะได้ชื่อว่าพระบุตรของพระเจ้า แม้แต่เอลี-ซาเบธญาติของเธอยังได้บุตรชายทั้งๆ ที่ชราแล้ว เพราะไม่มีสิ่งใดเป็นไปไม่ได้สำหรับพระเจ้า”

มารีย์กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้า ขอให้เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าตามที่ท่านกล่าวเถิด” แล้วทูตสวรรค์นั้นก็จากนางไป (ลูกา 1:26-38 อมตธรรม)


การมาปรากฎและคำทักทายของทูตสวรรค์กาเบรียลทำให้มารีย์เกิดความ “สับสนและสงสัย” ในคำทักทายนั้นอย่างยิ่ง

คำทักทายแรก “...พระเจ้าทรงโปรดปรานเธอยิ่งนัก...”(ข้อ 29) มารีย์สับสนและสงสัยว่าคำทักทายเช่นนี้หมายความว่าอะไรกันแน่ ในวัฒนธรรมของยิวในเวลานั้นให้ความสำคัญแก่ผู้ชายมากกว่าผู้หญิง การที่หญิงสาวคนหนึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าดูจะแปลกประหลาดอย่างมากจากวัฒนธรรมที่มารีย์มีชีวิตอยู่ ทำไมพระเจ้าสนใจเธอที่เป็นเพียงหญิงสาวยิวคนหนึ่งเท่านั้น นี่ทูตสวรรค์หมายความว่าอะไรกันแน่?

คำทักทายที่สอง “...เธอจะตั้งครรภ์และคลอดบุตรชาย...” มารีย์ยิ่งสับสนและสงสัยเป็นอย่างยิ่ง เธอซึ่งเป็นหญิงสาว ยังไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กับชายใด จะตั้งครรภ์และมีบุตรชายได้อย่างไร? หรือเธอจะตั้งครรภ์ภายหลังที่แต่งงานกับโยเซฟคู่หมั้นในขณะนี้ของเธอแล้ว? ดังนั้นจะเป็นบุตรที่มีคู่หมั้นคือโยเซฟเป็นพ่อของทารก แต่ถ้ามิได้เป็นไปตามเช่นนั้น เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นจริงเธอจะอธิบายให้คู่หมั้นของเธออย่างไรว่าเธอไม่ได้มีชู้? แล้วคนในหมู่บ้านจะคิดจะทำอย่างไรกับเธอ? แต่ที่สำคัญเรื่องผิดธรรมชาติเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร? นี่เป็นข่าวที่สร้างความงงงวย สับสนอย่างยิ่ง เหตุการณ์นี้ได้สร้างภาวะกดดันในชีวิตของเธออย่างแน่นอน

ดังนั้น มารีย์จึงถามทูตสวรรค์กาเบียลว่า “จะเป็นเช่นนั้นได้อย่างไรในเมื่อข้าพเจ้าเป็นสาวพรหมจารี” แต่คำตอบทำให้มารีย์ยิ่งกดดันเป็นอย่างยิ่ง เพราะมิได้ตั้งครรภ์เพราะการแต่งงานกับโยเซฟ แต่เป็นการตั้งครรภ์นอกสมรส ที่เกิดขึ้นได้เพราะเป็นพระราชกิจของพระเจ้าที่จะทรงกระทำผ่านชีวิตในสภาพชีวิตที่เธอยังเป็นหญิงสาวพรหมจารี “เพราะไม่มีสิ่งใดเป็นไปไม่ได้สำหรับพระเจ้า” ดังนั้น บุตรที่เกิดมาจึงเป็นบุตรของพระเจ้าสูงสุด

นี่เป็นทั้งข่าวดีที่เธอและคนยิวรอคอยมานาน แต่ก็เป็นข่าวร้ายที่จะเกิดแก่ชีวิตของเธอ นี่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้าแต่สร้างภาวะกดดันในชีวิตของเธอ เธอจะอธิบายเรื่องนี้อย่างไรให้โยเซฟเข้าใจและยอมรับ? เธอจะอธิบายอย่างไรให้ครอบครัวของเธอเข้าใจและไม่เฉดหัวเธอออกจากบ้าน? นี่เป็นภาวะกดดันมากครับในชีวิตหญิงสาวพรหมจารีชาวบ้านคนหนึ่งที่ชื่อมารีย์

คำทักทายที่สาม “...จงตั้งชื่อบุตรนั้นว่าเยซู พระองค์จะทรงยิ่งใหญ่และได้ชื่อว่าพระบุตรของพระเจ้าสูงสุด...อาณาจักรของพระองค์จะไม่มีวันสิ้นสุดเลย” ที่ทูตกาเบรียลพูดถึงนี้หมายความว่าทารกที่จะเกิดมานี้เป็นพระเมสสิยาห์ที่ชาวยิวรอคอยเช่นนั้นหรือ? เธอจะต้องเป็นแม่ของผู้นำการปฏิวัติเช่นนั้นหรือ? เธอจะต้องเป็นผู้เลี้ยงดูพระเมสสิยาห์ที่จะปลดปล่อยอิสราเอลออกจากแอกการปกครองของโรมันหรือ? ชีวิตข้างหน้าของทารกคนนี้จะเป็นเช่นไรหนอ? ต้องซ่อนตัว ต้องหนีระหกระเหิน ชีวิตต้องตกอยู่ในอันตรายหรือไม่? ชีวิตจะถูกไล่ล่าอย่างไร? ไม่มีใครรู้!

นี่เป็นข่าวดีเพราะเป็นเรื่องที่รอคอยมานมนานได้กลายเป็นจริงในยุคชีวิตของเธอ ยิ่งกว่านั้น เธอยังจะมีส่วนร่วมในพระราชกิจการทรงปลดปล่อยอิสราเอลของพระเจ้า แต่ก็เป็นข่าวร้ายอย่างยิ่ง ชีวิตครอบครัวที่จะมีปกติสุขในอนาคตต้องเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน ความผันผวนไม่แน่นอนรออยู่ข้างหน้า

ทูตสวรรค์กาเบรียลได้ยืนยันว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นนี้มิได้เป็นผลงานของธรรมชาติ มิใช่เพราะการกระทำของมนุษย์ เพราะนี่เป็นพระประสงค์ เพราะนี่เป็นแผนงานของพระเจ้า และนี่คือสิ่งที่พระเจ้าทรงเป็นผู้กระทำ ดังนั้น ไม่มีสิ่งใดที่เป็นไปไม่ได้สำหรับพระเจ้า

ด้วยความไว้วางใจในพระประสงค์ของพระเจ้า เชื่อมั่นในการทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ที่จะทรงกระทำผ่านชีวิตของเธอ เธอจึงตอบสนองด้วยความหนักแน่นต่อการแจ้งข่าวของทูตกาเบรียลว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้า ขอให้เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าตามที่ท่านกล่าวเถิด”(1:38) คำตอบสนองของมารีย์ครั้งนี้ทำให้ผมคิดถึงคำอธิษฐานของพระเยซูคริสต์ในภาวะกดดันในสวนเกทเสมนีที่ว่า “อย่าให้เป็นไปตามใจของข้าพระองค์ แต่ให้สำเร็จดังพระประสงค์ของพระองค์” (ลูกา 22:42 อมตธรรม)

พระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตของเราแต่ละคน เป็นทั้งข่าวดีและข่าวร้ายสำหรับเราในเวลาเดียวกัน บ่อยครั้งพระประสงค์ของพระเจ้าสร้างภาวะกดดันในชีวิตของเรา เรามีทางเลือกที่จะดำเนินชีวิตรองรับตามพระประสงค์ หรือเราสามารถเลือกที่จะไปตามทางที่เราเห็นว่าดีว่าควรที่จะเป็นและจะไป หรือเราสามารถที่จะเลือกที่จะดำเนินชีวิตตามเป้าหมายและจุดประสงค์ของเราเอง อยู่ที่เราแต่ละคนจะตอบสนองต่อการทรงเรียก ต่อพระประสงค์ของพระเจ้าที่มีในชีวิตของเรา เราจะตอบสนองเลือกที่จะยอมทนทุกข์เพื่อพระประสงค์ของพระเจ้าให้สำเร็จในชีวิตของเรา หรือเราจะเลือกที่จะเอาชนะ เลือกที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตของเรา นั่นเป็นเสรีภาพที่เราจะเลือก

ในเทศกาลรับการเสด็จมาของพระประสงค์ของพระเจ้าท่านจะตอบสนองการกดดันจากพระประสงค์ของพระเจ้าเช่นไร? สำหรับมารีย์เธอได้เลือกแล้วว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้า ขอให้เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าตามที่ท่านกล่าวเถิด”(1:38) สำหรับพระเยซูคริสต์พระองค์ทูลตอบพระบิดาว่า “...อย่าให้เป็นไปตามใจของข้าพระองค์ แต่ให้สำเร็จดังพระประสงค์ของพระองค์”

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญและอภิปราย

1. ในชีวิตของท่านเคยมีโอกาสตอบสนองต่อพระประสงค์ของพระเจ้าอย่างเช่นมารีย์หรือไม่? ในสถานการณ์อะไร? และท่านตอบสนองอย่างไร?

2. อะไรที่ช่วยท่านให้มีความเข้มแข็งในความเชื่อศรัทธาจนตอบสนองอย่างมารีย์ได้?

3. ในปัจจุบันนี้พระเจ้ามีพระประสงค์ในชีวิตของท่านในเรื่องอะไร ที่ท่านเห็นว่าควรตอบสนองพระองค์อย่างเช่นมารีย์? ทำไมถึงคิดและเชื่อเช่นนั้น?

ใคร่ครวญภาวนา

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า
ขอบพระคุณพระองค์สำหรับมารีย์
ที่ยอมรับเอาภาวะกดดันที่เกิดจากการยอมรับเอาพระประสงค์ของพระองค์เข้าในชีวิตของเธอ
ยอมรับเอา “พระวาทะ” ให้มาบังเกิดในชีวิตของเธอ
แม้การรับเช่นนั้นจะเป็นการพลิกคว่ำชีวิตของเธอเองจากหน้ามือเป็นหลังมือก็ตาม
แต่ขอบพระคุณพระองค์สำหรับแบบอย่างชีวิตของมารีย์
ชีวิตที่รับเอาพระประสงค์ของพระเจ้าให้สำเร็จเป็นรูปธรรมในชีวิตของเธอ

ในเทศกาลการรับการเสด็จมาของพระประสงค์ของพระเจ้า
ข้าพระองค์ต้องการมีชีวิตอย่างเช่นมารีย์ที่เปิดชีวิตรับเอาพระประสงค์ของพระองค์
ไม่ว่าการรับพระประสงค์จะก่อเกิดความสุขสันติหรือความกดดันในชีวิตของข้าพระองค์เช่นไรก็ตาม
ข้าพระองค์ขอเป็นคนรับใช้ของพระองค์ ที่จะรับใช้ตามพระประสงค์ของพระองค์
จึงขอมอบชีวิต จิตใจ และจิตวิญญาณให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์ อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
แม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
089-2628-310

14 ธันวาคม 2554

คำอธิษฐานที่กดดัน...ในชีวิต

เตรียมรับเสด็จพระคริสต์ภายในชีวิต ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทย

อ่านพระกิตติคุณลูกา 22:39-46

ข้าแต่พระบิดา
ถ้าพระองค์พอพระทัยขอทรงเอาถ้วยนี้ไปจากข้าพระองค์
อย่างไรก็ตามอย่าให้เป็นไปตามใจของข้าพระองค์
แต่ให้สำเร็จดังพระประสงค์ของพระองค์
(ลูกา 22:42 อมตธรรม)


ท่านเคยรู้สึกอย่างงี้ไหมครับ? เวลาอธิษฐานเป็นเพียงการสรรหาคำเพราะๆ ทูลต่อพระเจ้า เราคงรู้สึกสบายใจที่ได้อธิษฐานด้วยคำที่สวยหรู เพราะพริ้ง ฟังดูดี (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออธิษฐานในที่สาธารณะ ในที่ชุมนุมชน) มีคริสเตียนต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยนานได้แสดงความคิดเห็นว่า คริสเตียนไทยอธิษฐานได้เพราะที่สุด เพื่อนๆ ที่ไม่ได้เป็นคริสเตียนจะหยอกล้อผมว่า นอกจากพวกเล่นลิเกแล้ว คริสเตียนเป็นคนที่ใช้ราชาศัพท์มากที่สุด (ผิดถูกเป็นอีกเรื่องหนึ่ง) สิ่งที่พบบ่อยครั้งในบรรดา คริสเตียนที่อธิษฐานมักเป็นการทำตามพิธี อธิษฐานจบก็เป็นเสร็จพิธีการอธิษฐาน คำที่พวกคริสเตียนพูดกับพระเจ้าก็ถูกทิ้งกองไว้ที่เขายืนอธิษฐานนั้น เพราะไม่เห็นคนอธิษฐานและคนร่วมในการอธิษฐานครั้งนั้นสนใจที่ทำตามที่ตนได้ทูลต่อพระเจ้าเลย แต่ที่แย่และพบบ่อยคือ อธิษฐานอย่างแต่ทำอีกอย่าง?

คริสเตียนที่ผมพบในประเทศไทยมักจะไม่ค่อยรับผิดชอบในสิ่งที่เขาอธิษฐานต่อพระเจ้า! แต่พวกเขามักคาดหวังให้พระเจ้ารับผิดชอบตามสิ่งที่พวกเขาขอให้พระองค์ทำตามที่เขาอธิษฐาน

เวลาท่านอธิษฐานตามแบบที่พระเยซูคริสต์ทรงสอน ท่านคิดอย่างไร ท่านรู้สึกอย่างไร ท่านตั้งจิตภาวนาต่อพระเจ้าอย่างไร? หรือแค่เป็นการท่องจำคำอธิษฐานที่พระองค์สอน เหมือนนักเรียนท่องบทอาขยานต่อหน้าครูเท่านั้นหรือ? หรือเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการประกอบศาสนพิธีแบบคริสเตียนเท่านั้นหรือ? หรือเป็นการทำตามที่ผู้นำการนมัสการ นำกลุ่ม บอกให้ทำเท่านั้น?

เมื่อท่านอธิษฐานตามแบบพระเยซูคริสต์สอนแล้ว ท่านรู้สึกอย่างไร? ท่านตั้งจิตตั้งใจอะไร? ท่านรู้สึกหนักใจไหม? เวลาท่านอธิษฐานตามแบบพระเยซูคริสต์ท่านคิดถึงอะไรในแต่ละครั้ง เหมือนกันทุกครั้งไหม? หรือแตกต่างกันไปแต่ละครั้ง? หรือเพียงพยายามท่องคำอธิษฐานให้ถูกต้องตามพระคัมภีร์เท่านั้น?

พระเยซูคริสต์อธิษฐานในสวนเกทเสมนี พระองค์อธิษฐานว่า “...ถ้าพระองค์พอพระทัยขอทรงเอาถ้วยนี้ไปจากข้าพระองค์ อย่างไรก็ตามอย่าให้เป็นไปตามใจข้าพระองค์ แต่ให้สำเร็จตามพระประสงค์ของพระองค์” (อมตธรรม) ทำให้ผมคิดถึงคำอธิษฐานของพระเยซูคริสต์ทรงสอนในตอนที่ว่า “ขอให้แผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่ ขอให้เป็นไปตามน้ำพระทัยของพระองค์ ในสวรรค์เป็นอย่างไรก็ให้เป็นอย่างนั้นในแผ่นดินโลก” (มัทธิว 6:10 ฉบับมาตรฐาน)

การอธิษฐานของพระเยซูคริสต์ในสวนเกทเสมนี และ คำอธิษฐานที่พระองค์สอนสาวกนั้น มีพระประสงค์ของพระเจ้าเป็นศูนย์กลางหรือหัวใจของการอธิษฐาน มิใช่การอธิษฐานที่มีความต้องการของผู้อธิษฐานเป็นศูนย์กลาง ดังนั้น ในการอธิษฐานเราเคารพและน้อมรับพระประสงค์ของพระองค์ มิใช่ให้พระเจ้ายอมรับและทำตามสิ่งที่เราปรารถนา

การอธิษฐานคือการที่เรามอบชีวิตทั้งสิ้นที่เราเป็นอยู่ให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า ให้แผ่นดินของพระองค์ในโลกนี้เป็นไปตามที่พระองค์ประสงค์ เป็นอย่างที่เป็นในแผ่นดินสวรรค์ การอธิษฐานคือการที่เราปรึกษากับพระเจ้าได้ในทุกเรื่อง และในที่สุดเราจำนนต่อพระประสงค์ของพระองค์ เรายอมมอบกายถวายชีวิตให้พระองค์ทรงเปลี่ยนแปลงและสร้างเราขึ้นใหม่ ให้มีจิตใจและความปรารถนาตามพระประสงค์ของพระองค์

แต่ความจริงที่เราหลีกเลี่ยงไม่พ้นคือ การอธิษฐานที่ว่า “ขอให้เป็นไปตามน้ำพระทัยของพระองค์นั้น” และที่เราอธิษฐานด้วยความจริงใจเช่นนั้น เป็นการอธิษฐานที่สร้างความยากลำบากใจแก่เรามากที่สุด อย่างที่พระคริสต์อธิษฐานในสวนเกทเสมนีนั้นเป็นคำอธิษฐานที่แสนยากกว่าครั้งใดๆ ในการอธิษฐานของพระองค์

การอธิษฐานของพระเยซูคริสต์เป็นแบบอย่างสำหรับผู้ตัดสินใจมีชีวิตติดตามพระองค์ แม้ในการอธิษฐานเราต้องการลึกๆ ว่า อยากให้พระเจ้าอวยพรให้สำเร็จตามใจปรารถนาของเรา และในเวลาเดียวกันเราก็ไม่แน่ใจว่าอะไรคือพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตของเรา ในการอธิษฐานเป็นเวลาที่เรายอมจำนนต่อพระประสงค์ของพระเจ้า เป็นเวลาที่เรายอมมอบกายถวายชีวิตทั้งสิ้นให้พระองค์ทรงใช้ สิ่งที่เราเชื่ออย่างมั่นคงในเวลาอธิษฐานคือ พระเจ้าทรงมีพระประสงค์ที่ดีเลิศสำหรับชีวิตของเรา

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญและอภิปราย

1. ท่านลำบากใจที่จะอธิษฐานต่อพระเจ้าว่า “ขอให้เป็นไปน้ำพระทัยของพระองค์” หรือไม่? ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

2. ในปัจจุบันนี้มีส่วนใด หรือ ด้านใดในชีวิตของท่านที่ต้องปล้ำสู้เพื่อที่จะ “ยอมจำนน” หรือ “มอบถวาย” ชีวิตส่วนนั้นแด่พระองค์?

3. อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าวันนี้ท่านจะอธิษฐานว่า “ขอให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์” เพื่อถวายทั้งชีวิตสำหรับที่พระองค์จะใช้ตามพระประสงค์ของพระองค์?

ใคร่ครวญภาวนา

ข้าแต่พระเจ้า...
ข้าพระองค์อธิษฐานว่า“ขอให้สำเร็จตามพระประสงค์ของพระองค์” ได้
แต่ชีวิตและความตั้งใจของข้าพระองค์ยังมิได้เป็นเช่นนั้น

ข้าพระองค์อธิษฐานว่า“ขอให้สำเร็จตามพระประสงค์ของพระองค์” ได้
แต่ชีวิตข้าพระองค์ยังมิได้หันกลับมาหาพระองค์?

ข้าพระองค์อธิษฐานว่า“ขอให้สำเร็จตามพระประสงค์ของพระองค์” ได้
แต่ข้าพระองค์ยังไว้วางใจพระองค์น้อยกว่าความสะดวกสบายในชีวิต?

ข้าพระองค์อธิษฐานว่า“ขอให้สำเร็จตามพระประสงค์ของพระองค์” ได้
แต่ข้าพระองค์ยังไม่พร้อมที่จะมอบกายถวายชีวิตทั้งสิ้นแด่พระองค์?

ข้าพระองค์อธิษฐานว่า“ขอให้สำเร็จตามพระประสงค์ของพระองค์” ได้
แต่ข้าพระองค์ยังมีแนวโน้มที่ต้องการควบคุมบังเหียนชีวิตของตนเอง?

ขอพระคุณของพระองค์ และ องค์พระวิญญาณบริสุทธิ์
โปรดช่วยให้ข้าพระองค์อธิษฐานได้ว่า “ขอให้สำเร็จตามพระประสงค์ของพระองค์”
และมีชีวิตเป็นจริงตามคำอธิษฐานนี้ด้วย อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
089-2628-310

12 ธันวาคม 2554

ความล้ำลึก...ในภาวะที่กดดัน

เตรียมรับเสด็จพระคริสต์ภายในชีวิต ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทย

อ่านพระกิตติคุณลูกา 22:39-46

ข้าแต่พระบิดา
ถ้าพระองค์พอพระทัยขอทรงเอาถ้วยนี้ไปจากข้าพระองค์
อย่างไรก็ตามอย่าให้เป็นไปตามใจของข้าพระองค์
แต่ให้สำเร็จดังพระประสงค์ของพระองค์
(ลูกา 22:42 อมตธรรม)


พระเยซูคริสต์เริ่มการอธิษฐานด้วยการทูลปรึกษากับพระบิดาว่า ถ้าพระบิดาพอพระทัย ขอทรงเอาถ้วยนี้ที่พระเยซูจะต้องดื่มไปจากพระองค์ พระองค์มองเห็นถึงความร้ายกาจและน่ากลัวของพันธกิจบนกางเขนที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า พระองค์เกิดคำถามในจิตใจว่าจะมีแนวทางเลือกอื่นไหมที่จะทำให้พันธกิจที่เป็นพระประสงค์ของพระบิดาสำเร็จเป็นจริง เมื่อคิดถึงเวลาที่พระองค์จะต้องถูกแยกออกไปจากพระบิดานั้นพระองค์รู้สึกเจ็บปวดอย่างน่าประหวั่นพรั่นพรึงและเป็นเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้นี้

แต่สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งในที่นี้คือ แม้พระเยซูทูลปรึกษาพระบิดาถึงการเอาถ้วยนี้ออกไป แต่พระองค์มีจุดยืนที่แน่นอนสำคัญกว่านั้นคือ แต่พระประสงค์ของพระบิดาต้องมาก่อนเรื่องอื่นใดทั้งสิ้น “แต่ให้สำเร็จดังพระประสงค์ของพระองค์” แต่ไม่ใช่ “เป็นตามใจของข้าพระองค์” (ข้อ 42 อมตธรรม) ในหลายศตวรรษที่ผ่านมานี้ประเด็นนี้เป็นกรณีถกเถียงกันในหมู่นักศาสนศาสตร์ว่า เป็นไปได้อย่างไรที่พระประสงค์ในชีวิตของพระเยซูจะแตกต่างไปจากพระประสงค์ของพระบิดาในสวรรค์? พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระเจ้าแท้และมนุษย์จริงมิใช่หรือ? พระเยซูอธิษฐานเช่นนี้ได้อย่างไรกัน?

การถกเถียงอย่างไม่จบสิ้นของพวกนักศาสนศาสตร์กลายเป็น “ความสุข” อย่างหนึ่งของคนพวกนี้ ที่ต้องการแสวงหา “ความก้าวหน้าของวิชาการ” ดังนั้น ความนึกคิดของคนพวกนี้จึงต้องสาละวนอยู่กับการหาหลักฐาน เหตุผล และการเชื่อมโยงเหตุการณ์ เพื่อพิสูจน์ข้อคิด ความเข้าใจ หรือคำถามล้ำลึกในจิตใจของพวกเขา ความจริงก็คือว่า มนุษย์มีความสามารถในด้านต่างๆ ที่จำกัด และผมคงไม่ลงมาถกเถียงหรือหาตรรกะเหตุผลเพื่อพิสูจน์ความเชื่อศรัทธานี้กับพวกเขา

ในที่นี้ถ้าถกเถียงค้นหาไปก็จะพัวพันไปถึงศาสนศาสตร์ในหัวเรื่องใหญ่ๆ เช่น สัมพันธภาพของตรีเอกานุภาพ พระวาทะมาบังเกิดเป็นเนื้อหนัง (Incarnation พระเจ้ามาเกิดเป็นมนุษย์อย่างเต็มตัว) และเรื่องพระคุณของพระเจ้า

แต่สิ่งที่สำคัญคือ ความเชื่อศรัทธาและการที่มีพระบิดาเป็นเอกเป็นหนึ่งในชีวิต ดังนั้น จุดยืนที่มั่นคงของพระเยซูคริสต์คือ ทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นในชีวิตของพระองค์เป้าหมายสูงสุดคือ ให้สำเร็จตามพระประสงค์ของพระบิดา มิใช่สำเร็จตามความต้องการหรือความประสงค์ของตนเอง

สำหรับผู้ที่ต้องการคำอธิบายในทุกสิ่งที่เกิดขึ้นหนีไม่พ้นที่ต้องเจอตอปัญหา นักศาสนศาสตร์หรือผู้เชื่อกลุ่มนี้จะถามว่า เป็นไปได้อย่างไรที่เราจะเชื่อว่ามีบางเรื่องที่เราไม่สามารถเข้าใจอย่างเต็มที่สมบูรณ์ได้? แต่ผู้เชื่ออีกกลุ่มหนึ่งก็จะบอกว่า มีบางเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้าที่เราไม่สามารถเข้าใจได้ทั้งหมด เป็นเรื่องเหนือที่เราจะรับรู้ได้เหนือความคาดหมาย แท้จริงแล้วสิ่งเหล่านี้กลับกลายเป็นเรื่องประหลาดอัศจรรย์สำหรับคนกลุ่มนี้ ความล้ำลึกในสิ่งเหล่านี้มิได้มีไว้เพื่อสร้างความสงสัย แต่มีขึ้นเพื่อเราจะยอมให้พระเจ้าทรงเป็นเอกเป็นต้นในชีวิตของเรา ดังที่เปาโลได้เขียนใน โรม 11:33-36 ว่า

โอ ความมั่งคั่งแห่งพระปัญญา และความรอบรู้ของพระเจ้าช่างล้ำลำยิ่งนัก
ข้อวินิจฉัยของพระองค์สุดที่จะหยั่งคะเน
และวิถีทางของพระองค์เกินกว่าจะสืบเสาะ!
ใครเล่าจะหยั่งรู้พระทัยขององค์พระผู้เป็นเจ้า
หรือใครเล่าเป็นที่ปรึกษาของพระองค์
ใครเล่าเคยถวายสิ่งใดให้พระเจ้า ที่พระเจ้าจะต้องชดใช้(หรือ ตอบแทนบุญคุณของ)เขา
เพราะสิ่งสารพัดมาจากพระองค์ โดยพระองค์ และเพื่อพระองค์
ขอพระเกียรติสิริจงมีแด่พระองค์ตลอดนิรันดร์! อาเมน (อมตธรรม ในวงเล็บผู้เขียนเพิ่มเติม)


ประเด็นเพื่อการใคร่ครวญและอภิปราย

1. ท่านคิดอย่างไร และ จะพูดคุยอย่างไรเกี่ยวกับความจริงมากมายที่เรายังไม่สามารถเข้าใจได้อย่างชัดเจน?

2. ทำไมความล้ำลึกเหล่านี้ ทำให้บางคนปฏิเสธพระเจ้า และ บางคนที่ยึดมั่นให้พระเจ้าเป็นเอกเป็นที่หนึ่งในชีวิต?

3. ชีวิตในทุกวันนี้ ท่านแสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตของท่าน หรือ ท่านแสวงหาทุกวิถีทางที่จะทำให้ความประสงค์ต้องการของท่านสำเร็จเป็นจริง? ผลเป็นอย่างไรบ้าง?

ใคร่ครวญภาวนา

พระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์
คำอธิษฐานของพระองค์ในสวนเกทเสมนียังสร้างความฉงนและสนใจของข้าพระองค์ไม่หาย
เมื่อพระองค์อธิษฐานเช่นนั้นแล้วพระองค์ได้รับประสบการณ์เช่นไร
ที่พระองค์ทูลต่อพระบิดาว่า “แต่ให้สำเร็จตามพระประสงค์ของพระองค์ อย่างไรก็ตามอย่าให้เป็นไปตามใจของข้าพระองค์” พระองค์หมายความว่าอย่างไร

ข้าแต่พระเจ้า
โปรดช่วยให้ข้าพระองค์เรียนอย่างสัตย์ซื่อ ในเรื่องที่ข้าพระองค์ควรเรียนรู้
โปรดช่วยข้าพระองค์ที่จะเรียนชัดเจนขึ้นจากคนรอบข้าง
และรักพระองค์ด้วยสิ้นสุดจิตใจและความคิด

ในเวลาเดียวกัน ข้าพระองค์ตระหนักรู้ว่า
ข้าพระองค์ไม่สามารถหยั่งลึกลงรู้ทุกสิ่งในความล้ำลึกของพระเจ้า
โปรดทรงเรียกให้ข้าพระองค์มีชีวิตจิตใจที่ถ่อมลงและยกย่องพระองค์ขึ้นสูงสุดในชีวิต
และประกาศยืนยันความเชื่อของข้าพระองค์อย่างเปาโลว่า

โอ ความมั่งคั่งแห่งพระปัญญา และความรอบรู้ของพระเจ้าช่างล้ำลำยิ่งนัก...
ขอพระเกียรติสิริจงมีแด่พระองค์ตลอดนิรันดร์! อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
089-2628-310

09 ธันวาคม 2554

จุดประสงค์...ในภาวะที่กดดัน

เตรียมรับเสด็จพระคริสต์ภายในชีวิต ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทย

อ่านกิตติคุณลูกา 22:39-46

ข้าแต่พระบิดา
ถ้าพระองค์พอพระทัยขอทรงเอาถ้วยนี้ไปจากข้าพระองค์
อย่างไรก็ตามอย่าให้เป็นไปตามใจของข้าพระองค์
แต่ให้สำเร็จดังพระประสงค์ของพระองค์
(ลูกา 22:42 อมตธรรม)

จากเหตุการณ์ชีวิตของพระเยซูคริสต์ในสวนเกทเสมนีครั้งนี้ เราได้เห็นพระเยซูคริสต์ตกลงสู่สภาพชีวิตที่กดดัน พระองค์รู้ว่าความเจ็บปวด การทรมาน และความตายรออยู่ข้างหน้า สิ่งที่พระองค์ทรงกระทำคือ หันหน้าเข้าหาพระเจ้า และใกล้ชิดติดสนิทกับพระบิดา ยิ่งมีความกดดันสูงแค่ไหนยิ่งสนิทกับพระเจ้ามากขึ้นแค่นั้น ยิ่งทุ่มเทชีวิตในการอธิษฐานมากขึ้นแค่นั้น ในภาวะความกดดันดังกล่าว พระเยซูคริสต์เปิดชีวิตจิตใจ และจิตวิญญาณกับพระบิดา และปรึกษากับพระบิดาอย่างเปิดใจและความคิดว่า “ถ้วย” แห่งการพิพากษา ถ้วยแห่งความทุกข์นี้เลี่ยงได้หรือไม่ แต่พระองค์มีจุดยืนในชีวิตของพระองค์มั่นคงว่า ให้ทุกอย่างเกิดขึ้นและสำเร็จตามพระประสงค์ของพระบิดา มิใช่ให้พระบิดาทำและสำเร็จตามที่ตนเองต้องการ

ในชีวิตปัจจุบันของเราท่าน บางครั้งและบ่อยครั้งที่ชีวิตของเราตกลงในสภาพความกดดันที่มีหลากหลายลักษณะ หลากหลายเรื่องราวในชีวิต แต่ส่วนใหญ่แล้วความกดดันในชีวิตของเรามักเกิดขึ้นเพราะสถานการณ์ต่างๆ ที่กำลังจะเป็นไป ดูเหมือนมันไม่เป็นไปอย่างที่เราต้องการให้เกิดขึ้น ที่เกิดความกดดันเพราะเรากลัวว่าอาจจะไม่ได้อย่างที่เราอยากได้ใคร่มี ที่กดดันเพราะเรารู้สึกว่าเราต้องต่อสู้ต้องทำทุกหนทางเพื่อให้สิ่งที่ตนเองคิดตนเองต้องการ สิ่งที่ตนเองเห็นดีถูกต้องที่สุด ดีที่สุดประสบความสำเร็จ ในภาวะความกดดันนั้นเราหันหน้าเข้าหาพระเจ้า ทูลขอต่อพระองค์ ต่อรองกับพระบิดา และแจ้ง “ความประสงค์ของเรา” ในเรื่องนั้นแก่พระองค์ แล้วมักลงท้ายด้วยการอ้อนพระเจ้าให้ช่วยทำให้ความประสงค์ของเราสำเร็จ แล้วก็เปิดช่องว่างหน่อยหนึ่งให้พระเจ้ากระทำตามน้ำพระทัยของพระองค์ ซึ่งความหมายลึกๆ มักหมายความว่า ให้พระเจ้ากระทำตามวิธีการที่พระองค์เห็นเหมาะสม แต่ยังซ่อนความรู้สึกลึกๆ ไว้ว่า แต่ให้สำเร็จตามความต้องการที่เราทูลขอต่อพระเจ้า

นี่คือความแตกต่างของท่าทีเมื่อหันหน้าเข้าหาพระเจ้าในภาวะความกดดันในชีวิตของเรากับของพระเยซูคริสต์ แต่ส่วนที่แตกต่างที่สำคัญกว่านี้คือ ความแตกต่างที่รากฐานจุดยืนในชีวิต และ เป้าหมายในการดำเนินชีวิต ที่เป็นตัวกำหนดการตัดสินใจ ท่าที และพฤติกรรมที่แสดงออกในชีวิตประจำวัน

แล้วอะไรเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตของพระเยซูคริสต์? ที่พระเยซูทูลต่อพระบิดาว่า “แต่ให้สำเร็จดังพระประสงค์ของพระองค์” ในพระกิตติคุณยอห์นได้บันทึกพระประสงค์นี้ไว้ว่า “จงดูพระเมษโปดก(ลูกแกะ)ของพระเจ้า ผู้ทรงรับบาปของโลกไป” (1:29 ฉบับมาตรฐาน) และในพระธรรมฮีบรูได้อธิบายพระประสงค์นี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า “(พระเยซูคริสต์)...ทรงปรากฎพระองค์เพียงครั้งเดียวเท่านั้นในปลายยุค เพื่อกำจัดบาปให้หมดสิ้นไปโดยการถวายพระองค์เองเป็นเครื่องบูชา (9:26) เปาโลได้อธิบายพระประสงค์ของพระเจ้าในเรื่องนี้ว่า “พระเจ้าทรงกระทำพระองค์(พระเยซูคริสต์)ผู้ทรงไม่มีบาปให้บาปเพราะเห็นแก่เรา เพื่อเราจะได้เป็นคนชอบธรรมของพระเจ้าทางพระองค์(พระเยซูคริสต์) (2โครินธ์ 5:21 ฉบับมาตรฐาน)

ในที่สุด พระเยซูคริสต์ตัดสินใจยืนหยัดดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ของพระบิดา พระเยซูดื่ม “ถ้วย” แห่งความทุกข์ยาก ถ้วยแห่งการพิพากษา แบกรับเอาความบาปผิดของมนุษยชาตินี้ไป นี่คือรากฐานสัจจะความจริงของคริสต์ศาสนศาสตร์ที่มิสามารถปฏิเสธหรือหลีกเลี่ยงได้ และด้วยรากฐานสัจจะประการนี้เองที่ทำให้ชีวิตของเราท่านต้องเปลี่ยนแปลงไป พูดง่ายๆ ก็คือ พระเยซูคริสต์ได้ดื่ม “ถ้วย” แห่งความทุกข์ยากและถ้วยแห่งการพิพากษาของท่านและของผม พระเยซูคริสต์ได้แบกรับเอาความบาปผิดของท่านและของผมที่ต้องรับการพิพากษาจากพระเจ้าไปเป็นของพระองค์เอง และนี่คือ “พระคุณของพระเยซูคริสต์” ที่ทำให้เราต้องประหลาดใจจนทุกวันนี้

ดังนั้น เรื่องราวของพระเยซูคริสต์ในสวนเกทเสมนีมิได้บอกเราเพียงว่า พระเยซูคริสต์สิ้นพระชนม์เพื่อความบาปผิดของโลกนี้ ใช่ สิ่งนี้เป็นสัจจะความจริงที่ไม่มีใครจะลบล้างออกไปได้ แต่สัจจะความจริงที่ชัดเจนกว่านั้นคือ พระเยซูคริสต์ยอมตายเพื่อยกเลิกความบาปผิดของผมและของท่าน เพื่อเราจะไม่ต้องถูกแยกออกจากพระเจ้าพระบิดาเพราะความบาปผิดของเรา ตรงกันข้าม พระคริสต์ได้ช่วยเชื่อมให้เราสามารถเข้าใกล้ชิดติดสนิทกับพระบิดา แทนที่จะถูกพิพากษาและลงโทษ นั่นหมายความว่าเราสามารถเข้ามาอยู่ต่อหน้าบัลลังก์ของพระเจ้าด้วยพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพระคริสต์ด้วยความมั่นใจ ได้รับพระเมตตา และพบพระคุณที่ช่วยเราในยามที่ต้องการ (ฮีบรู 4:16 ฉบับมาตรฐาน)

นี่มิได้เป็นเพียงสัจจะความจริงที่ไม่สามารถลบล้างได้เท่านั้น แต่มีสัจจะความจริงแห่งการทรงช่วย ทรงไถ่ และทรงลบล้างความบาปผิดของมนุษยชาติ และเป็นสัจจะความจริงที่สามารถช่วยและเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนในโลกปัจจุบันได้ด้วย

ประเด็นเพื่อการใคร่ครวญและอภิปราย

1. ถ้าท่านดำเนินชีวิตด้วยสัจจะความจริงที่ว่า พระเยซูคริสต์ได้ดื่ม “ถ้วย” แห่งความทุกข์ยากและการพิพากษาของท่าน ความเชื่อตระหนักชัดในประการนี้จะสร้างความแตกต่างอะไรบ้างในชีวิตของท่าน?

2. ถ้าท่านเชื่ออย่างแท้จริงว่า ท่านได้รับการปลดปล่อยออกจากอำนาจของความบาป และ ความตายสู่ความเป็นไทและชีวิต ท่านจะดำเนินชีวิตเช่นไร?

ใคร่ครวญภาวนา

ในเวลานี้ ข้าพระองค์ขอสำนึกถึงพระคุณที่เหลือจะพรรณนาได้ครบถ้วน ที่พระองค์ทรงกระทำและให้แก่ข้าพระองค์ในทุกวันนี้ ขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงดื่มถ้วยแห่งการพิพากษาของข้าพระองค์ และ ของมนุษยชาติในโลกนี้ แทนที่ข้าพระองค์ต้อง “ดื่ม” หรือ แบกรับความบาปผิดของตนเอง แต่ด้วยพระคุณดังกล่าวพระองค์ทรงแบกรับแทนข้าพระองค์ ข้าพระองค์จึงได้รับการยกโทษจากพระบิดา

ในวันนี้ พระดำรัสของพระเยซูได้ผุดขึ้นในห้วงสำนึกของข้าพระองค์ ที่พระองค์เคยถามสาวกสองคนนั้นที่มาขอตำแหน่งซ้ายขวาจากพระองค์ และพระองค์ถามเขาทั้งสองว่า “ถ้วยที่เราจะดื่มนั้น ท่านจะดื่มได้หรือ?” คำถามนั้นกำลังถามข้าพระองค์ด้วย และในเวลาเดียวกันข้าพระองค์ระลึกถึงคำสอนในการอธิษฐานว่า “ขอทรงยกบาปผิดของพวกข้าพระองค์ เหมือนพวกข้าพระองค์ยกโทษบรรดาคนที่ทำผิดต่อข้าพระองค์”

ข้าแต่พระเจ้า ในวันนี้โปรดช่วยข้าพระองค์ให้ดำเนินชีวิตด้วยความสำนึกในพระคุณแห่งการปลดบาปล้างโทษที่ทรงกระทำเพื่อข้าพระองค์ โปรดช่วยข้าพระองค์ที่จะดำเนินชีวิตในความเป็นไทที่ทำตามพระประสงค์ของพระองค์ มิใช่ตามความต้องการของข้าพระองค์เอง โปรดช่วยข้าพระองค์ในการสำแดงความรักเมตตาที่เสียสละและพระคุณของพระคริสต์แก่ผู้คนที่ข้าพระองค์พบเห็นและสัมพันธ์ อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
089-2628-310

08 ธันวาคม 2554

รอคอยแบบไหน?

เทศกาลเตรียมรับการเสด็จมาของพระเยซูคริสต์เป็นช่วงเวลาแห่งการรอคอย แต่การรอคอยเป็นสิ่งที่ไปคนละทางกับวัฒนธรรมสมัยใหม่ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ขาดความอดทนในการรอคอย

วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป: จากการรอคอยสู่ความรีบเร่ง

อย่างที่เราท่านมีประสบการณ์ตรงในชีวิตประจำวันแล้วว่า ในสังคมสมัยใหม่หรือสังคมแห่งความทันสมัยนี้เป็นวัฒนธรรมให้คุณค่ากับการเกิดผลิตผล ผลงานที่เกิดขึ้น ประโยชน์ที่ได้รับ และความสำเร็จในชีวิต ยิ่งมีคุณค่ามากขึ้นถ้าเราสามารถได้สิ่งเหล่านี้โดยการลงทุนลงแรงและใช้ความพยายามที่น้อยลง ใช้เวลาน้อยลง เอื้ออำนวยความสะดวกสบายมากขึ้นและรวดเร็วขึ้น เช่น การซักผ้าด้วยเครื่องซักผ้า และในเวลาเดียวกันเราก็เกิดความรู้สึกที่ต้องเร่งรีบไปด้วยอย่างไม่รู้ตัว

ชีวิตทุกวันนี้ตกอยู่ในสภาพเร่งรีบ เร่งรัดมิใช่หรือ? แม้แต่อาหารเช้าของฝรั่งเขายังเรียกว่า “หยุดความรีบเร่ง” (breakfast) นี่แสดงว่ายังรู้ตัวอยู่บ้างนะ แต่กลับยอมรับความรีบร้อนเป็นบรรทัดฐานในวิถีชีวิตของคนเราในปัจจุบัน

สิ่งสำคัญคือเราท่านถูกเลี้ยงดูหล่อหลอมให้เติบโตในวัฒนธรรมความรีบร้อน มีความอดทนรอคอยลดน้อยลง และเยาวชนคนรุ่นใหม่ก็ถูกคนรุ่นเราหล่อหลอมต่อไป อิทธิพลวัฒนธรรมความรีบเร่งรีบร้อนนี้กำลังแผ่ขยายออกไปเป็นวงกว้างสู่สังคมชนบท และ ชุมชนพี่น้องชาติพันธุ์ เฉกเช่นการแพร่กระจายของเชื้อโรค

ผมมีโอกาสไปทำวิจัยในชุมชนหนึ่งในพื้นที่ทำการเกษตรในพื้นที่ภูเขาอำเภอแม่ออน เชียงใหม่ ของ “คนเมือง” เขาเปลี่ยนไปทำไร่ข้าวโพดอ่อนส่งบริษัท จากการสนทนากลุ่ม ชาวบ้านได้เล่าว่า “ตอนนี้พวกเรากำลังปลูกพืชไร้ญาติ” ทำให้ผมงงอย่างยิ่ง จนออกปากถามว่าทำไมถึงว่าอย่างนั้นครับ? พวกเขาช่วยกันอธิบายว่า เมื่อก่อนนี้เวลามีงานแต่ง งานตาย งานบุญ พวกเราจะไปร่วมทุกข์ร่วมสุขกันในฐานะเป็นญาติพี่น้องเป็นคนในชุมชนด้วยกัน แต่เมื่อมาทำไร่ข้าวโพดอ่อนเราไม่มีเวลาไปงานเช่นนั้น ได้แต่ฝากซองไปเท่านั้น ทำให้เราเห็นชัดว่าเราไม่มีความสัมพันธ์อย่างในวัฒนธรรมเดิมของเรา ปัจจุบันพวกเราเป็นเหมือนคนไม่มีญาติ ไม่มีมิตร มีแต่การเป็นสมาชิกสหกรณ์เท่านั้น

วัฒนธรรมทันสมัยแห่งความรีบเร่ง รีบร้อน และการทุ่มเทชีวิตเวลาทั้งหมดที่เรามีให้กับ “ผลผลิตและรายได้” จนต้องตัดสิ่งที่เคยมีค่าอื่นๆ ออกไปจากชีวิต แล้วกลับมารับเอาบรรทัดฐานคุณค่าชีวิตระบบใหม่คือ “ผลผลิตและรายได้” คือคำตอบของชีวิต ดังนั้น จึงทุ่มเททุกวิถีทางให้ได้ผลผลิตและรายได้ให้มากที่สุด ลงแรงลงทุนน้อยที่สุด หรือถ้าจำเป็นต้องทำบางสิ่งบางวิธีที่อาจจะขาดด้อยด้านศีลธรรม จริยธรรม หรือ ตัดทอนความเชื่อความศรัทธาบางประการออกไปก็ยอมทำ ขอให้ได้มาเพียง “ผลผลิตและรายได้ และ ความสำเร็จ” ที่อยู่ข้างหน้า(และอยากได้มากขึ้น)

เมื่อไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสร่วมทีมวิจัยเรื่องชีวิตและการทำพันธกิจของคริสตจักรท้องถิ่นในบริบทต่างๆ เช่น พี่น้องชาติพันธุ์กะเหรี่ยง พี่น้องชาติพันธุ์ลาหู่ พี่น้องคริสตจักรในพื้นที่ราบทั้งในเมืองใหญ่ ชานเมือง และชนบท สิ่งที่ผมพบว่าในทุกบริบทมีเหมือนกันคือ วัฒนธรรมความรีบเร่งรีบร้อนในชีวิตคริสเตียน เวลาที่เราจะมีสัมพันธภาพกันอย่างที่ผ่านมาในอดีตน้อยลงจนเกือบขาดหายไป แต่ที่น่าตกใจครับ เราพบความจริงว่า สมาชิกส่วนใหญ่ในคริสตจักรทุกบริบทไม่เว้นแม้แต่ในคริสตจักรของพี่น้องชาติพันธุ์ที่เราเข้าใจว่า “เคร่งครัด” และมีชีวิตใกล้ชิดติดสนิทกับพระเจ้า กลับเปลี่ยนเป็นชีวิตที่รีบเร่งและรีบร้อนที่ต้องทำมาหาเลี้ยงชีวิตในแต่ละวัน จนไม่มีเวลาที่จะสงบใจอธิษฐานกับพระเจ้า และ ใคร่ครวญถึงพระวจนะของพระองค์ เพราะต้องใช้เวลาในการทำมาหากิน เวลาสุมหัวรวมกลุ่มพูดคุยกันก็จะพูดคุยในเรื่องการทำมาหากิน และ สาระบันเทิงเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจจากสื่อต่างๆ ในปัจจุบัน เพราะรู้สึกว่าชีวิตนี้ทำงานหนักมาตลอดทุกวัน ต้องการการพักผ่อน ต้องการความบันเทิงในชีวิต โทรทัศน์รายการต่างๆ ละครสำหรับแม่บ้านและเยาวชนคนหนุ่มสาว มวยสำหรับพ่อบ้านและผู้ชาย ตั้งวงสนทนาแล้วดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่อนคลายความเหนื่อยอ่อน และ ฯลฯ ระบบคุณค่าในชีวิตและชุมชนแม้แต่คริสตจักรเปลี่ยนไปมากแล้วครับ

โอกาสพลิกฟื้นรับพระคริสต์เข้าในชีวิตประจำวัน

แล้วช่วงเวลาของเทศกาลเตรียมชีวิตรับการเสด็จมาของพระเยซูคริสต์จะเกิดขึ้นได้จริงหรือครับ? นอกจากการประกอบศาสนพิธีในโบสถ์วันอาทิตย์ที่ศาสนาจารย์ ศิษยาภิบาล และผู้ปกครองพยายามทำให้มีขึ้นตามเทศกาล สมาชิกแต่ละคน ผู้ปกครองแต่ละท่าน ศิษยาภิบาลแต่ละครอบครัวจะสามารถเอาชนะวัฒนธรรมสมัยใหม่แห่งความรีบร้อนเร่งรัดนี้ได้เช่นไร คริสตจักรปัจจุบันจะช่วยให้สมาชิกคนในคริสตจักรที่จะ “รอคอย” พระเจ้า ใคร่ครวญถึงน้ำพระทัยของพระองค์ แสวงหาความเข้าใจถึงพระประสงค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร? เราจะแน่ใจได้ไหมว่า ระบบคุณค่าของศิษยาภิบาล ผู้ปกครอง มัคนายก และสมาชิกวัยต่างๆ ในคริสตจักรมิได้เปลี่ยนแปลงและถูกครอบงำโดยวัฒนธรรมทันสมัยที่เร่งรัดรีบเร่งดังกล่าวมาแล้ว?

ในช่วงเวลาของการเตรียมชีวิตรับการเสด็จมาของพระคริสต์ในชีวิตของเราน่าจะเป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่าในการพลิกฟื้นชีวิตและจิตวิญญาณของเราให้เข้มแข็ง มีพลัง เติบโตขึ้นในพระคริสต์ขึ้นใหม่ ทุกวันในช่วงเวลานี้วันหนึ่งอย่างน้อย 10-15 นาทีขึ้นไปเราควรจะ “หยุด” ความรีบเร่งรีบร้อนในชีวิตของเรา เหมือนเราหยุดรถเมื่อมาถึงทางแยก เพื่อดูซ้ายดูขวา ดูหน้าดูหลัง ก่อนจะตัดสินใจเคลื่อนรถต่อไป

ในความรีบเร่งเราจะไม่หยุดรถ เพราะเราคิดว่า “เราเป็นทางเอก” รถคันอื่นต้องหยุดให้ฉันผ่านไปก่อน หรือไม่ก็คิดว่าถนนน่าจะว่างเลยไม่หยุดรถดูซ้ายดูขวา หรือเพราะไฟมันสีเหลืองแล้ว เร่งส่งให้ทันพ้นก่อนไฟแดง หรือไม่ก็บอกกับตนเองว่า ไฟเพิ่งสีแดง ไฟของแยกอื่นยังไม่เขียว รีบเร่งข้ามไปก่อนที่จะต้องเสียเวลารออีก 4-5 นาที และเราก็ใช้นิสัยนี้กับชีวิตและความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้าด้วยครับ (จะรู้ตัวหรือไม่ก็มีค่าเหมือนกันครับ)

ให้เรา “หยุด” ความรีบเร่งร้อนใจในชีวิตของเราแต่ละวันอย่างน้อยครั้งละ 10-15 นาทีเพื่อที่จะสงบใจกลับมาอยู่ตรงหน้าพระเจ้า มีเวลาใคร่ครวญถึงพระวจนะของพระองค์ มีเวลาที่จะสนทนาและฟังเสียงของพระองค์ในห้วงสำนึก ความคิด และในจิตวิญญาณของเรา อธิษฐานต่อพระองค์ แสวงหาน้ำพระทัยและพระประสงค์ของพระองค์

จากนั้น ในช่วงที่เราดำเนินชีวิต ทำการงานในวันนั้น ให้เราไวและสนใจว่า พระเจ้าสำแดงพระประสงค์ ผ่านการงานและชีวิตของเพื่อนรอบข้างอะไรบ้าง พระเจ้าตรัสผ่านเพื่อนฝูงคนสนิทอะไรบ้าง แล้วคิดใคร่ครวญว่าเราจะตอบสนองพระองค์อย่างไรท่ามกลางธุรกิจการงาน ความรับผิดชอบ และสัมพันธภาพที่เรามีต่อคนรอบข้าง พระเจ้าทรงอยู่เคียงข้างเรา พระองค์สำแดงอะไรบ้างแก่เราในวันนี้ เราจะตอบสนองพระองค์อย่างไร?

แท้จริงแล้ว การรอคอยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน หรือเราคุ้นชินกับการรอคอย

หลายคนมีประสบการณ์เชิงลบกับการรอคอย หลายคนไม่ชอบการรอคอย จนมีเพลงเก่าแก่เพลงหนึ่งบอกว่า “การรอคอยคือความเจ็บปวด”

เรารอคอยในลักษณะที่แตกต่างกัน บางคนรอคอยการกลับมาของลูกที่ไปทำงานในต่างจังหวัด/ต่างแดน วันนี้บางคนต้องยืนแถวรอคอยที่จะคิดเงินและจ่ายเงินในห้างสรรพสินค้า บางคนรอยคอยคำตอบจากบริษัทที่ตนไปสมัครงานไว้ บางคนรอคอยที่จะมีบุตร บางคนรอคอยว่าปีนี้จะได้เงินโบนัสเท่าไหร่ บางคนรอคอยที่จะมีคนมาซื้อที่ดินของตน หรือบางคนรอคอยว่าธนาคารจะตอบอย่างไรกับเงินที่ไปทำเรื่องกู้ไว้ หลายต่อหลายคนรอคอยว่าเมื่อไหร่ที่วิกฤติเศรษฐกิจจะผ่านพ้นไปสักที และเมื่อไหร่หนอโอกาสทองทางเศรษฐกิจจะมีมาอีกคำรบหนึ่ง?

รอคอยแบบไหน?

ประสบการณ์การรอคอยในช่วงเวลาการเตรียมชีวิตรับการเสด็จมาของพระคริสต์จะแทรกซึมเข้าในจิตวิญญาณ และช่วยให้การรอคอยในชีวิตในภาวการณ์ต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นให้เป็นการรอคอยที่มีคุณค่าและความหมายในชีวิตได้อย่างไร?

การรอคอยโดยทั่วไปแล้ว เรารอคอยผลที่เราคาดหวังหรือต้องการให้เกิดขึ้น สิ่งที่ทำให้เรา “อดทน” คือความหวังนั้น ถ้าสิ่งที่เราคาดหวังเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากเท่าใดในชีวิตของเรา เราก็จะอดทนได้มากเท่านั้น สิ่งที่เกิดตามมาก็คือ ถ้าในที่สุดสิ่งที่เราคาดหวังเกิดขึ้นเป็นจริง เราก็ดีใจ เรารู้สึกว่าการรอคอยของเราประสบความสำเร็จ เรามีประสบการณ์เชิงบวกต่อการรอคอย และจะส่งผลต่อการรอคอยครั้งต่อๆ ไปในชีวิต

ถ้าการรอคอยนั้นไม่เกิดผลตามคาดหวัง เราจะรู้สึกว่า “เสียเวลา” ที่รอคอย เกิดความไม่พอใจ จะรุนแรงแค่ไหนขึ้นอยู่กับความคาดหวังในการรอคอยครั้งนั้นว่ามากน้อยแค่ไหน และแน่นอนครับ ประสบการณ์การรอคอยครั้งนี้ก็จะประทับตราเชิงลบในชีวิตจิตใจของเราและมีผลกระทบต่อการรอคอยครั้งต่อๆ ไปในชีวิตด้วยเช่นกัน

แต่การรอคอยในช่วงเวลาการเตรียมชีวิตรับการเสด็จมาของพระคริสต์นั้นแตกต่าง! อย่างน้อยที่สุดมุมมองของการรอคอยการเสด็จมาของพระคริสต์มิใช่การรอคอยในสิ่งที่เราต้องการและคาดหวังในสิ่งที่เราต้องการ แต่เป็นการรอคอยที่แสวงหาว่า ในเหตุการณ์ต่างๆ ที่เราผ่านพบในแต่ละวันนั้น พระคริสต์มีพระประสงค์ให้เราทำอะไร ทำอย่างไร ทำกับใคร ทำเพื่ออะไร? นั่นหมายความว่า การเตรียมรับการมาของพระคริสต์คือการเตรียมรับพระประสงค์ของพระเจ้าในเหตุการณ์ที่เราพบเจอในแต่ละวัน เป็นพระประสงค์ของพระคริสต์ที่ต้องการให้เรามีส่วนร่วมกับพระองค์ ที่เราพบเจอในที่ทำงาน ที่เราพบเจอในชุมชน และที่เราพบเจอในคริสตจักรด้วย

ดังนั้น จึงเป็นช่วงเวลาของการรอคอยที่แสวงหาพระประสงค์ที่เราจะร่วมพระราชกิจกับพระเจ้าท่ามกลางสถานการณ์ที่เราพบในชีวิตของเรา การที่เราต้องเผชิญกับเหตุการณ์ต่างๆ ในแต่ละวัน ทั้งที่เราพึงพอใจและสลดท้อแท้ใจ จึงเป็นเวลาที่เราจะใคร่ครวญ แสวงหา ฟังพระสุรเสียงภายในชีวิตจิตใจของเราว่า พระองค์มีพระประสงค์อะไร เพื่อเราจะรับการมาของพระประสงค์นั้น และมอบกายถวายชีวิตเพื่อทำตามพระประสงค์ดังกล่าว ถ้าเรายอมให้พลังแห่งการเสด็จมาของพระคริสต์แทรกซึมเข้าในชีวิตจิตวิญญาณของเราเพื่อขับเคลื่อนชีวิตในสถานการณ์ต่างๆ เช่นนี้แล้ว แน่นอนครับ เราจะประสบพบกับคุณค่าและความหมาย และความชื่นชมยินดีในการเสด็จมาของพระคริสต์ครับ

ถ้าเช่นนั้น ในช่วงเวลาแห่งการเสด็จมาของพระคริสต์ในชีวิตของเราและที่พระคริสต์ทรงบังเกิดในชีวิตของเรา จึงเป็นช่วงเวลาและโอกาสในชีวิตของเรา ที่จะสำแดงน้ำพระทัยของพระคริสต์ที่ทรงเอาใจใส่ปกป้อง ปลอบประโลม ช่วยกอบกู้ผู้เล็กน้อยผู้ด้อยโอกาส และผู้ที่ถูกกดขี่ข่มเหง และการถูกเอารัดเอาเปรียบจากคน และ ระบบสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ที่มนุษย์กลุ่มต่างๆ สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์แห่งตน

ให้จิตวิญญาณแบบพระคริสต์บังเกิดแทรกซึมเข้าเปลี่ยนแปลงชีวิตจิตวิญญาณของเรา เฉกเช่น พระราชกิจของพระเมสสิยาห์ตามอิสยาห์ 40:1-11 พระเมสสิยาห์เป็นเหมือนผู้เลี้ยงแกะที่อิสราเอลรอคอย และนี่เป็นพระราชกิจที่พระคริสต์รอคอยให้เราท่านเข้ามีส่วนร่วมตามลักษณะการกระทำพระราชกิจของพระองค์ที่ว่า

พระองค์ทรงเลี้ยงฝูงแกะของพระองค์เหมือนผู้เลี้ยงแกะ
พระองค์ทรงรวบรวมลูกแกะไว้ด้วยพระกรของพระองค์
พระองค์ทรงอุ้มไว้ที่พระทรวง
และจะค่อยๆ นำแม่แกะที่มีลูกอ่อน(ไปพร้อมกับพระองค์)
(อิสยาห์ 40:11 ฉบับมาตรฐาน ในวงเล็บเพิ่มเติมโดยผู้เขียน)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
089-2628-310

07 ธันวาคม 2554

คำอธิษฐานในภาวะที่กดดัน (3)

เตรียมรับเสด็จพระคริสต์ภายในชีวิต ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทย

อ่านกิตติคุณลูกา 22:39-46

ข้าแต่พระบิดา
ถ้าพระองค์พอพระทัยขอทรงเอาถ้วยนี้ไปจากข้าพระองค์
อย่างไรก็ตามอย่าให้เป็นไปตามใจของข้าพระองค์
แต่ให้สำเร็จดังพระประสงค์ของพระองค์
(ลูกา 22:42 อมตธรรม)


เมื่อพระเยซูคริสต์อธิษฐานในสวนเกทเสมนี พระองค์ทูลขอต่อพระบิดาว่า “ถ้าพระองค์พอพระทัยขอทรงเอาถ้วยนี้ไปจากข้าพระองค์” (22:42) แล้ว “ถ้วย” ที่พระองค์อธิษฐานนี้หมายถึงอะไรกันแน่?

แน่นอนว่า “ถ้วย” ที่พระเยซูคริสต์กล่าวถึงในตอนนี้มีความหมายที่เกี่ยวข้องกับ “ถ้วยแห่งการทนทุกข์” แต่ความหมายของ “ถ้วยแห่งการทนทุกข์” ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมดูเหมือนว่าไม่ได้ตรงตามความหมายของพระเยซูเสียทั้งหมด

ถ้าเราศึกษาจากพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม เราได้พบมีการเปรียบเทียบ “ถ้วย” เป็นเหมือนชีวิตของคนเรา ที่ได้รับการเติมเต็มด้วยสิ่งต่างๆ “ถ้วย” ชีวิตของเราอาจจะได้รับการเติมเต็มด้วยพระพรและความรอด (สดุดี 23:5 “...ถ้วยของข้าพระองค์ก็ล้นอยู่” ; 116:13 “ข้าพเจ้าจะยกถ้วยแห่งความรอด และร้องออกพระนามพระยาเวห์” ) หรือ “ถ้วย” ชีวิตนั้นอาจจะถูกใส่ด้วยพระพิโรธ “...เยรูซาเล็มเอ๋ย ท่านผู้ได้ดื่มจากพระหัตถ์ของพระยาเวห์ คือจอกแห่งพระพิโรธของพระองค์ ท่านได้ดื่มจากถ้วยแห่งความโซเซจนถึงก้นตะกอน” (อิสยาห์ 51:17) บ่อยครั้งที่ “ถ้วย” มุ่งหมายถึงการพิพากษาของพระเจ้า ดั่งในอิสยาห์ 51:17 ที่กล่าวข้างต้น หลายครั้ง ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมจะเปรียบ “ถ้วย” กับการพิพากษาที่ร้อนแรงจากพระเจ้า

ดังนั้น เมื่อพระเยซูคริสต์อธิษฐานขอให้พระบิดา “เอาถ้วยนี้ออกไป” พระองค์หมายถึงความหมายของถ้วยในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม การที่พระองค์ก้าวเดินไปสู่กางเขน พระองค์กำลังจะดื่มจากถ้วยแห่งพระพิโรธของพระเจ้า และการดื่มนี้ดื่มจนถึง “ก้นตะกอน” พระองค์ต้องแบกรับเอาการพิพากษาจากเบื้องบน แท้จริงแล้วเป็นการพิพากษาที่อิสราเอลและมวลมนุษยชาติต้องแบกรับการพิพากษาของตนนั้น ในกระบวนการนี้พระองค์ต้องรับการทนทุกข์อย่างน่าขนพองสยองเกล้า ทั้งในมิติด้านร่างกาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านจิตวิญญาณ เมื่อพระองค์ต้องตกลงในสภาพที่ถูกแยกขาดจากพระบิดา

เมื่ออ่านถึงเรื่องราวตอนนี้ของพระเยซู คริสเตียนหลายคนไม่สบายใจว่า ทำไมพระเยซูถึงอธิษฐานขอให้พระบิดานำ “ถ้วย” นี้ไปเสียจากพระองค์ แท้ที่จริงแล้วพระเยซูคริสต์เสด็จมาเพื่อจะตายมิใช่หรือ? และนี่ไม่ใช่พันธกิจที่พระองค์ต้องกระทำหรือ? นี่เป็นไปตามคำของผู้เผยพระวจนะใช่ไหม? เป็นไปได้อย่างไรที่พระเยซูทูลขอพระบิดาสำหรับทางออกในแนวทางอื่น? ผมเองก็ไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้จนจุใจพอใจของผู้ถาม แต่สิ่งที่ผมเห็นจากคำอธิษฐานของพระเยซูนี้ทำให้ผมเห็นถึงความเป็นมนุษย์แท้ของพระเยซูคริสต์ พระองค์ที่เป็นพระบุตรของพระเจ้าและในขณะเดียวกันก็เป็นมนุษย์อย่างเต็มตัว

สิ่งที่ผมเห็นพระเยซูคริสต์ในตอนนี้คือชีวิตตกอยู่ในภาวะความกดดัน ในภาวะที่ต้องการหาทางออก ภาวะที่เห็นความทุกข์ทรมาน เจ็บปวด และความตายที่รออยู่ข้างหน้า เป็นเส้นทางที่จะต้องเดินไป แต่มีทางอื่นไหมที่ดีกว่านี้ที่พระองค์จะเลือกได้ ถ้าไม่ไปบนเส้นทางนี้ พระบิดามีเส้นทางอื่นไหม? แต่นี่คือการถามตรงด้วยความจริงใจที่เปิดใจออกในการสนทนาอย่างใกล้ชิดสนิทที่พระคริสต์มีต่อพระบิดา

อีกประเด็นหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้จากพระเยซูคริสต์ในตอนนี้คือ พระองค์เป็นมนุษย์อย่างเต็มตัว พระองค์เผชิญหน้ากับความทุกข์ที่น่าสะพรึงกลัว ที่ผมสบายใจที่จะติดต่อสัมพันธ์กับพระองค์ และทำให้ผมมีความหวังในชีวิตว่าสิ่งสำคัญยิ่งใหญ่ตามพระประสงค์ของพระเจ้าสามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตคนธรรมดาอย่างเราท่าน เพราะพระประสงค์ที่ยิ่งใหญ่สำคัญได้เกิดเป็นจริงแล้วในพระเยซูคริสต์ที่เป็นมนุษย์แท้ ที่มิใช่เป็นคนประเภทเหนือมนุษย์ หรือ ซุปเปอร์แมน แต่สิ่งเราพบเห็นคือพระเยซูคริสต์ก้าวเดินเข้าไปสู่กางเขนอย่างไม่ลังเล หรือ เตรียมทางหลีกลี้ แม้แต่น้อย แต่สิ่งที่พระองค์ถามหาในวิกฤติชีวิตเช่นนี้คือ พระประสงค์ของพระเจ้า

ประเด็นเพื่อการใคร่ครวญและอภิปราย

1. ในเมื่อผู้เผยพระวจนะได้ทำนายถึงการทนทุกข์และความตายของพระเยซูคริสต์แล้ว ท่านคิดว่าทำไมพระเยซูถึงอธิษฐานขอให้พระบิดา “เอาถ้วยนี้ไปจากพระองค์”?

2. คำทูลขอของพระเยซูคริสต์ได้บ่งบอกถึงลักษณะของพระเยซูคริสต์อย่างไรบ้าง?

3. พระคัมภีร์ตอนนี้ได้ชี้ให้เราเห็นถึงการอธิษฐานไว้อย่างไรบ้าง?

ใคร่ครวญภาวนา

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์ทั้งหลาย ท่ามกลางภาวะกดดันในชีวิต พระองค์เลือกที่จะหันหน้าเข้าหาพระบิดา เปิดชีวิตจิตใจ เทใจและชีวิต เปิดเผยทั้งความคิด ความรู้สึก ความปรารถนา และความตั้งใจต่อพระบิดาอย่างไม่ปิดบังสิ่งใดไว้ และนี่คือการอธิษฐานของพระองค์

ขอบพระคุณพระเยซูคริสต์ ที่ทำให้ข้าพระองค์ได้เรียนรู้และเข้าใจว่า แท้จริงแล้วการอธิษฐานคือการบอกความในใจกับพระองค์อย่างตรงไปตรงมา แต่สำคัญกว่านั้น ข้าพระองค์เข้าใจมากขึ้นว่า แท้จริงแล้วการอธิษฐานคือโอกาสแห่งการแสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตของข้าพระองค์

ในวันนี้ ท่ามกลางชีวิตที่กดดัน ทุกข์ยาก นานาลักษณะ โปรดช่วยให้ข้าพระองค์เผชิญหน้าสิ่งเหล่านั้นสอดคล้องตามพระประสงค์ของพระองค์ ด้วยการได้รับการทรงชูช่วยและพระกำลังจากพระองค์ ทั้งสิ้นนี้ขอให้สำเร็จดังพระประสงค์ของพระองค์ อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
089-2628-310

05 ธันวาคม 2554

คำอธิษฐานในภาวะที่กดดัน (2)

เตรียมรับเสด็จพระคริสต์ภายในชีวิต ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทย

อ่านกิตติคุณลูกา 22:39-46

ข้าแต่พระบิดา
ถ้าพระองค์พอพระทัยขอทรงเอาถ้วยนี้ไปจากข้าพระองค์
อย่างไรก็ตามอย่าให้เป็นไปตามใจของข้าพระองค์
แต่ให้สำเร็จดังพระประสงค์ของพระองค์
(ลูกา 22:42 อมตธรรม)

ที่ภูเขามะกอกเทศ พระเยซูคุกเข่าลงอธิษฐานต่อพระบิดา เริ่มต้นด้วยวลีที่น่าสนใจอย่างมากว่า ถ้าพระองค์พอพระทัย... เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้เกิดคำถามในใจว่า ทำไมพระเยซูคริสต์ถึงอธิษฐานเช่นนี้ แล้วเราควรเอาเป็นแบบอย่างในการอธิษฐานของเราหรือไม่?

ไม่ปรากฎ หรือเราไม่พบว่า พระเยซูอธิษฐานเช่นนี้ในที่อื่นๆ ในพระกิตติคุณ และพระเยซูก็ไม่ได้สอนให้สาวกของพระองค์ให้อธิษฐานด้วยวลีที่ว่า “ถ้าพระองค์พอพระทัย” คำอธิษฐานที่พระเยซูคริสต์ทรงสอนสาวกในพระธรรมมัทธิว พระองค์สอนให้สาวกอธิษฐานว่า “ขอให้แผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่ขอให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์ ในสวรรค์เป็นอย่างไรก็ให้เป็นอย่างนั้นในแผ่นดินโลก” (ขอให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จในโลกเช่นเดียวกับในสวรรค์ อมตธรรม)” (6:10 ฉบับมาตรฐาน)

จากพระธรรมตอนนี้ทำให้เราเข้าใจว่า การอธิษฐานคือการแสวงหาน้ำพระทัยของพระเจ้า เป็นการเปิดใจและชีวิตเพื่อจะรับเอาพระประสงค์ของพระองค์เข้ามาในชีวิตของเรา แต่การอธิษฐานมิใช่การที่เราพยายามทูลขอต่อพระเจ้าให้ช่วยทำให้เป้าประสงค์หรือความคิด ความต้องการของเราสำเร็จ และบางครั้งเราก็ทูลขอว่า ให้พระเจ้าช่วยทำให้ความประสงค์ของเราสำเร็จตามวิธีการของพระองค์ แต่พระเยซูมิได้ทำเช่นนั้น! พระองค์ทูลขอพระบิดาว่า “ถ้าพระองค์พอพระทัย” หรือ ถ้าสิ่งนั้น สถานการณ์นั้นเป็นน้ำพระทัยและเป็นพระประสงค์ของพระองค์ก็ให้เป็นไปตามนั้น

ดังนั้น การอธิษฐานจึงเป็นการแสวงหาน้ำพระทัยและพระประสงค์ของพระเจ้า และให้พระประสงค์ของพระองค์ได้สำเร็จเป็นรูปธรรมในโลกนี้เฉกเช่นที่สำเร็จในแผ่นดินสวรรค์ ในที่นี้การอธิษฐานของพระเยซูคริสต์ เอาพระประสงค์ของพระเจ้าเป็นรากฐานของการทูลขอ มิใช่ทูลขอตามสิ่งที่เราต้องการ หรือที่เราคาดหวังให้เกิดขึ้น หรือแม้แต่การอ้างอิงให้พระเจ้าทำตาม “นิมิต” ของเรา หรือตามนิมิตคริสตจักรของเรา

การเริ่มต้นการอธิษฐานด้วยวลีที่ว่า “ถ้าเป็นน้ำพระทัยของพระองค์...” เป็นการย้ำเตือน และ ยืนยันว่า เรามีชีวิตอยู่ก็ด้วยน้ำพระทัยของพระเจ้า และที่เราดำเนินชีวิตทุกวันนี้ก็เพื่อพระประสงค์ของพระองค์ และเป็นการเตือนเราด้วยว่า เรามิใช่ผู้ที่สามารถควบคุมความเป็นไปของชีวิต และ สากลจักรวาลทั้งสิ้น แต่พระเจ้าต่างหากที่ทรงเป็นพระผู้สร้างและพระองค์ทรงสร้างอย่างมีพระประสงค์ และทรงควบคุมความเป็นไปของสิ่งที่ทรงสร้าง และที่สำคัญคือพระเจ้าทรงสนพระทัยใกล้ชิดในชีวิตและความเป็นไปของเราแต่ละคน และทรงมีพระประสงค์ในแต่ละสถานการณ์ชีวิตของเราด้วย และพระเจ้าสนพระทัยในชีวิตการอธิษฐานของเราเช่นกัน

เมื่อพระเยซูคริสต์อธิษฐานว่า “ถ้าพระองค์พอพระทัย...” ที่ภูเขามะกอกเทศ(ในสวนเกทเสมนี) สะท้อนให้เห็นถึงภาวะการต่อสู้ในจิตใจ ก่อนหน้านี้พระองค์ได้กล่าวกับสาวกถึงการที่พระองค์จะถูกจับ การทนทุกข์ และถูกประหารให้สิ้นชีวิต พระองค์เชื่อว่านี่เป็นแผนการที่พระบิดาได้กำหนดไว้ เป็นพระประสงค์ของพระบิดาในชีวิตของพระเยซูคริสต์ แต่เมื่อเวลาที่กำหนดเข้าใกล้และกระชั้นเข้าทุกที พระเยซูคริสต์ยังอยู่ในภาวะที่ “ปล้ำสู้” กับน้ำพระทัยและพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิต เกิดคำถามในใจของพระเยซูว่า นี่เป็นสิ่งที่พระบิดาประสงค์จริงๆหรือ? พระองค์ต้องการให้เหตุการณ์เป็นไปอย่างที่เข้าใจหรือ? ไม่มีทางอื่นวิธีอื่นแล้วหรือ? ในขณะที่ภายในจิตใจของพระเยซูคริสต์ค้นหาทางเลือกอื่น พระองค์ขอให้น้ำพระทัยและพระประสงค์ของพระบิดาได้ครอบครองและคุ้มครองจิตใจความนึกคิดของพระองค์ และนี่เป็นสิ่งที่เราจำเป็นและต้องการอย่างยิ่งเมื่อชีวิตตกอยู่ในภาวะ “ทุกข์ยากหนักใจ” ที่เผชิญกับวิกฤติกดดันจนหาทางออกไม่ได้

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญและอภิปราย

1) ท่านเคยอธิษฐานว่า “ถ้าเป็นน้ำพระทัยของพระองค์...” หรือ “ถ้าสิ่งนี้เป็นพระประสงค์ของพระองค์...” หรือไม่? ท่านอธิษฐานในสถานการณ์อะไร? ทำไมท่านถึงอธิษฐานเช่นนั้น?

2) แล้วอะไรเกิดขึ้นบ้างเมื่อท่านอธิษฐานเช่นนั้น?

3) ท่านอธิษฐานด้วย “ความกล้าหาญ” “ความถ่อมใจ” หรือ “ด้วยการเปิดใจเปิดชีวิต” แด่องค์พระผู้เป็นเจ้า? เหตุใดท่านถึงอธิษฐานด้วยท่าทีเช่นนั้น?

ใคร่ครวญภาวนา

พระบิดาแห่งข้าพระองค์ทั้งหลาย
ถ้าเป็นพระประสงค์ของพระองค์
โปรดให้ข้าพระองค์แสวงหาพระประสงค์นั้นเหนือกว่าการแสวงหาสิ่งอื่นใด

ถ้าเป็นพระประสงค์ของพระองค์
โปรดให้ข้าพระองค์ได้รู้ถึงพระประสงค์ของพระองค์
เพื่อข้าพระองค์จะได้อธิษฐานในสิ่งที่พระองค์ปรารถนา

ถ้าเป็นพระประสงค์ของพระองค์
โปรดให้ข้าพระองค์เติบโตขึ้นในการเข้าใจถึงความล้ำลึกแห่งการอธิษฐาน

ในวันนี้ โปรดใช้ชีวิตที่ข้าพระองค์เป็นอยู่เป็นเครื่องบูชา เพื่อรับใช้พระองค์ในสังคมโลกนี้
เพื่อให้แผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่
พระประสงค์ของพระองค์เป็นเช่นไรในสวรรค์
ก็ให้เป็นเฉกเช่นนั้นในแผ่นดินโลกนี้ อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
089-2628-310

02 ธันวาคม 2554

คำอธิษฐานในภาวะที่กดดัน (1)

เตรียมรับเสด็จพระคริสต์ภายในชีวิต ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทย

อ่านกิตติคุณลูกา 22:39-46

ข้าแต่พระบิดา
ถ้าพระองค์พอพระทัยขอทรงเอาถ้วยนี้ไปจากข้าพระองค์
อย่างไรก็ตามอย่าให้เป็นไปตามใจของข้าพระองค์
แต่ให้สำเร็จดังพระประสงค์ของพระองค์
(ลูกา 22:42 อมตธรรม)

ในสองตอนก่อน เราได้ใคร่ครวญถึงชีวิตในภาวะกดดันของพระเยซูคริสต์ในสวนเกทเสมนี เราเรียนรู้ว่ายิ่งพระองค์ประสบพบกับความทุกข์ยากโศกเศร้ามากเท่าใด พระองค์ยิ่งทุ่มเทชีวิตในการอธิษฐานมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อชีวิตและจิตใจของพระองค์จะไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของความชั่วร้าย จิตวิญญาณไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งการทดลอง

ในคำอธิษฐานของพระเยซูคริสต์มีลักษณะที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากการอธิษฐานของคนยิวในสมัยของพระองค์คือ เมื่ออธิษฐาน พระองค์จะเรียกพระเจ้าว่า “พระบิดา” พระองค์ทรงเรียกพระเจ้าว่าเป็นพ่อ ซึ่งคนในสมัยของพระเยซูจะไม่ได้ยินคำอธิษฐานเช่นนี้เลย เพราะคนยิวจะเทิดทูนพระเจ้าไว้อย่างสูงส่งที่ไม่มีใครจะเทียบเคียงกับพระองค์ได้ พระเจ้าของยิวอยู่ที่สูง ห่างไกล แยกออกเฉพาะ เพราะพระเจ้าทรงบริสุทธิ์ การเรียกพระเจ้าว่าเป็น “พ่อ” หรือ “พระบิดา” จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อประเพณีปฏิบัติของศาสนายิวในเวลานั้น เป็นการ “ยกตนไปเทียบเท่า” พระเจ้าผู้สูงส่งเกินที่ใครจะเอื้อมถึงได้ เป็นการกระทำผิดต่อข้อปฏิบัติที่ผู้นำศาสนายิวกำหนดขึ้น

ทำให้ผมหวลระลึกถึงครั้งเมื่อพระเยซูคริสต์ทรงสอนสาวกของพระองค์อธิษฐาน พระองค์ก็สอนให้สาวกเริ่มต้นอธิษฐานว่า “โอ พระบิดาแห่งข้าพระองค์ทั้งหลาย...” เป็นพระบิดาที่เป็นพระเจ้าผู้สูงสุด “...พระนามของพระองค์เป็นที่เคารพสักการะ” ประโยคหลังนี้มิใช่เพียงแต่ฝ่าฝืนประเพณีปฏิบัติของยิวเท่านั้น แต่เป็นการแสดงออกชัดเจนว่า กบฏต่อจักรพรรดิ์ซีซาร์ที่เป็นเทพเจ้าที่ยิ่งใหญ่สูงสุด แต่พระเยซูคริสต์ อธิษฐานต่อพระเจ้าผู้เป็นพระบิดาและผู้ที่สูงสุดในชีวิตและในโลกจักรวาลนี้

ในเวลาที่ตกอยู่ในภาวะกดดันแห่งชีวิตนอกจากที่พระองค์หันหน้าเข้าใกล้ชิดพระเจ้าแล้ว พระเจ้าของพระเยซูคริสต์เป็นเหมือน “พ่อ” ที่เป็นแหล่งแห่งชีวิตของลูก เป็นความช่วยเหลือที่พร้อมทุกเมื่อด้วยพระทัยที่รักเมตตากรุณา พระเยซูมั่นใจว่าพระเจ้าพระบิดาจะเอาใจใส่ต่อภาวะวิกฤติกดดันที่เกิดขึ้นในชีวิต และทรงเชื่อในแผนการและการทรงนำของพระบิดา ยิ่งกว่านั้น พระองค์ทรงเชิญชวนเราทุกคนที่ชีวิตพบเจอกับความทุกข์โศกเศร้า วิกฤติ ถูกกดดัน ชีวิตเจ็บปวดจากความฉีกขาดภายในชีวิต ให้อธิษฐานต่อพระเจ้าผู้ทรงเป็นพระบิดาแห่งมวลมนุษยชาติ พระบิดาของเราแต่ละคน

ในเวลาใดก็ตาม เมื่อเราประสบกับชีวิตที่รับไม่ไหวกับความเจ็บปวดสุดที่จะทนในชีวิต พบกับสภาพจิตวิญญาณที่ถูกครอบงำกดทับด้วยความโศกเศร้า ในเวลาที่เรารู้สึกไม่อยากเรียกหาพระเจ้า ไม่คุ้นชินที่เรียกพระเจ้าว่าเป็นพ่อได้อย่างเต็มปาก รู้สึกว่าพระเจ้าช่างอยู่ไกลโพ้นจากเราในขณะนี้ พระองค์ไม่เห็นเอาใจใส่เรา ไม่เห็นเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ชีวิตที่เรากำลังต้องเผชิญอยู่ ในเวลาเช่นนั้น ขอท่านได้โปรดสงบและมั่นใจที่จะเรียกพระเจ้าว่า “พระบิดา” อย่างเช่นที่พระเยซูได้ทำมาแล้ว ให้เราเปิดชีวิตจิตใจและจิตวิญญาณของเราต่อพระบิดา พ่อของเรา ถึงแม้ว่าเราไม่รู้ หรือ ไม่มั่นใจว่าพระองค์จะจัดการอย่างไรกับชีวิตจิตวิญญาณของเรา แต่ให้เรามั่นใจเถิดว่า พระเจ้าพระบิดาอยู่เคียงข้างเราในเวลาเช่นนี้ และพระองค์อยู่ที่นี่เพื่อชีวิตจิตวิญญาณของเรา และความรักเมตตากรุณาของพระองค์นั้นไม่มีทางที่จะทำให้ชีวิตของเราต้องฉีกขาดอีก

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญและอภิปราย

1. ในชีวิตที่ผ่านมา ท่านเคยสนทนา พูดคุย กับพระเจ้าด้วยความสนิทสนมเป็นเหมือนพ่อ-ลูกกันหรือไม่?

2. ทำไมท่านถึงทำเช่นนั้น หรือ ทำไมท่านถึงไม่ได้ทำเช่นนั้น?

3. ในเวลาที่ท่านต้องตกอยู่ในภาวะที่ทุกข์ยาก โศกเศร้า ท่านยังสามารถที่จะอธิษฐานอยู่หรือไม่? เพราะเหตุใด?

4. ท่านเชื่อหรือไม่ว่า พระเจ้าทรงเป็นพระบิดาที่รักท่าน ถึงแม้เป็นการยากที่ท่านจะรู้สึกถึงการทรงสัมผัสด้วยความรักเมตตาของพระองค์ก็ตาม?

ใคร่ครวญภาวนา

โอ พระบิดา... เป็นความมั่นใจ และ รู้สึกสงบเพียงใดที่ข้าพระองค์ได้มี “พระบิดา” อยู่เคียงข้างในยามที่ทุกข์ยาก เจ็บปวดในชีวิต ที่รู้ว่าข้าพระองค์มิได้ถูกทอดทิ้งให้อยู่โดดเดี่ยวตรมตรอมในความทุกข์สิ้นหวัง แต่อยู่ในบ้านที่มีพ่อที่มีจิตใจเมตตาเอาใจใส่ต่อชีวิตของลูกๆ แต่ละคน

ข้าแต่พระเจ้า ในเวลาใดก็ตามที่ชีวิตของลูกตกอยู่ในความเจ็บปวดรวดร้าว กดดันสิ้นทางออก โปรดทรงเรียกและกระตุ้นเตือนให้ลูกคุกเข่าชีวิตและซบหน้าลงกับพื้นเพื่อขอน้อมรับความมั่นใจในชีวิตและความรักเมตตาของพระองค์ เพื่อลูกจะได้มีโอกาสเปิดใจ เปิดชีวิต กับพระองค์อย่างเปิดเผย

ในวันนี้ โปรดให้ข้าพระองค์ไวต่อความรู้สึกของผู้คนที่พบเห็นสัมพันธ์ ที่จะรู้ถึงความรู้สึกทุกข์ยาก เจ็บปวดในชีวิตของเขา และโปรดใช้ชีวิตของข้าพระองค์เป็นสะพานที่เขาจะสามารถเดินข้ามมาสัมผัสกับความรักเมตตาของพระองค์ ข้าแต่พระบิดา บางคนอาจจะยังมีบาดแผลในชีวิตทั้งด้านอารมณ์ ความรู้สึก และสิ่งที่ฝังใจต่อประสบการณ์ชีวิตในอดีต ที่พ่อคือผู้ทำร้าย ผู้สร้างความเจ็บปวดในชีวิตของเขา โปรดใช้ข้าพระองค์ให้เป็นเครื่องมือแห่งการเยียวยาและปะชุนชีวิตเพื่อเขาจะมีประสบการณ์ใหม่กับ “พระบิดา” ที่จะเป็นพ่อที่รักเมตตาและเคียงข้างชีวิตของเขาต่อไป อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
089-2628-310