28 กุมภาพันธ์ 2561

ทำไมพระเจ้าให้เราเผชิญกับวิกฤติชีวิตอย่างยืดเยื้อ?


บางคนอ่านเรื่องราวยาโคบปล้ำสู้กับบุรุษท่านหนึ่ง(ซึ่งรู้กันว่าคือพระเจ้า)ตลอดคืนยันรุ่งแต่ไม่เอาชนะสักที  บางท่านเกิดคำถามในใจว่า   ยาโคบเก่งแค่ไหนนะพระเจ้าถึงสู้ไม่ชนะสักที?   หรือ ไม่ก็ถามในทำนองที่ว่า  ทำไมพระเจ้าไม่เผด็จศึกเอาชนะยาโคบให้เห็นดำเห็นแดงไปเลย?   ทำไมพระองค์ปล่อยให้การปล้ำสู้ยาวยืดเยื้อจนถึงรุ่งสาง? (ดู ปฐมกาล 32:26)   ท่านเคยมีประสบการณ์ในชีวิตที่ต้องปล้ำสู้กับปัญหาอย่างยาวนานไหม?   ทำไม?

ทำไมพระเจ้าถึงอนุญาตให้วิกฤติชีวิตที่เกิดขึ้นกับเราเป็นไปอย่างยืดเยื้อ(ตามความรู้สึกของเรา  หรือ บางครั้งก็เป็นจริงเช่นนั้น)  ทำไมพระองค์ไม่ลงมือจัดการแก้ไขทันทีเมื่อเราอธิษฐานทูลขอต่อพระองค์   เรามักพบว่า พระเจ้าจะทรงให้วิกฤตินั้นดำเนินต่อไปอีกระยะเวลาหนึ่ง   ทั้งนี้เพราะพระองค์ต้องการที่จะทำให้เรารู้ตัวว่าจริง ๆ แล้วเราได้เชื่อและวางใจในพระองค์แค่ไหน?   และเราแสวงหาพระองค์อย่างสุดจิตสุดใจหรือเปล่า?

การที่พระเจ้าทรงตอบสนองวิกฤติและการอธิษฐานของเราทันทีทันใด   อาจจะสร้างความเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนได้ว่า   การอธิษฐานเป็นเหมือนวิธีการวิเศษ  เมื่อต้องการก็อธิษฐานแล้วมันจะเกิดขึ้นตามที่ต้องการ?   แต่พระเจ้าใช้วิกฤติในการเสริมสร้างคนของพระองค์ให้มีความเชื่อ ไว้วางใจในพระองค์อย่างสุดจิตสุดใจ

บ่อยครั้งที่ผมเห็นเพื่อนคริสตชนจำนวนมาก   ที่อธิษฐานร้องทูลพระเจ้าให้ช่วยปลดหนี้มหาศาล และ หนักอึ้งที่มีในชีวิตของเขา   และทูลขอการอัศจรรย์จากพระเจ้าในการช่วยปลดหนี้ของเขาทันที   เพราะเขาไม่รู้จะไปพึ่งใครที่ไหนได้อีกแล้ว

เขาทูลขอพระเจ้าทำการอัศจรรย์ให้หนี้ของเขาหลุดลอยออกจากชีวิตในทันที!

แต่น่าคิดว่า   เขาได้เรียนรู้หรือไม่ว่า   หนี้สินรุงรังและหนักอึ้งของเขามันเกิดขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ใจ เหนือกฎเกณฑ์ธรรมชาติการเงินและหนี้สินไหม?   แน่นอนว่า หนี้สินที่เกิดขึ้นมีที่มา มีสาเหตุ  เขาและครอบครัวมีส่วนที่ทำให้หนี้สินเกิดและพอกพูนขึ้น   แล้ววันหนึ่ง มาขอพระเจ้าขจัดปัดเปล่าหนี้เหล่านั้นให้อันตรธานหายวับไปชั่วพริบตานั้นถูกต้องแล้วหรือ?   สมมติว่า หนี้นั้นเกิดหลุดลอยไปจริง   เราท่านต่างไม่คิดหรือว่า เขาจะไม่กลับก่อหนี้ยืมสินใหม่อีกหรือ?   เพราะถ้าหนี้ท่วมหัวก็สามารถกลับมาขอให้พระเจ้าปลดหนี้ได้อีก?

พระเจ้าสนใจและใส่ใจหนี้สินที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราทุกคน   พระเจ้าประสงค์ที่จะช่วยเราให้สามารถปลดหนี้   ยิ่งกว่านั้น พระเจ้าประสงค์ให้เราได้เรียนรู้ที่จะไม่กลับไปก่อหนี้ใหม่   ทำอย่างไรที่จะไม่เป็นหนี้อีก  จะใช้จ่ายและบริหารจัดการเงินทองในชีวิตประจำวันอย่างไร  เราจะสามารถหยุดการใช้เงินล่วงหน้า(คือใช้เงินส่วนที่เรายังไม่มี)ได้อย่างไร?  พระองค์ประสงค์ที่จะเสริมสร้างวินัยชีวิตการเงินของเรา   และตลอดระยะเส้นทางการทรงใส่ใจของพระเจ้า   พระองค์เคียงข้างเราในความทุกข์ยากลำบากในชีวิต  จนกว่าเวลาที่โซ่ตรวนหนี้สินหลุดจากชีวิตของเรา

ถ้าขณะนี้ที่กำลังอยู่ในวิกฤติชีวิตเรื่องหนี้สิน   ขอยืนมั่น ณ จุดความจริงนั้น  อย่าท้อถอยยอมแพ้   อย่าหลบหนีจากความจริง    ทุกประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วค่ำคืน   เพราะบางคนใช้เวลาที่ก่อตัวพอกพูนปัญหานั้นมาเป็นระยะเวลายาวนาน   บางท่านอาจจะมีรูปแบบที่ก่อเกิดปัญหาบางปัญหาฝังลึกในตน  ไม่ว่าการตอบโต้กับคนอื่น  วินัยชีวิตเชิงลบ ที่สร้างสั่งสมมาเป็นแรมปี   ขอบอกตรงไปตรงมา ณ ที่นี้ว่า   พระเจ้าจะไม่ลบล้างสิ่งเหล่านั้นออกจากชีวิตของเราหมดไปทันที   พระองค์คอยใส่ใจ และ เสริมสร้างให้เราเรียนรู้ปัญหาที่ซับซ้อนนั้นทีละชั้น   อย่างที่เราลอกหอมหัวใหญ่ทีละชั้น   ค่อย ๆ แกะออกทีละชั้น   แต่ความหวังค่อย ๆ เกิดมากขึ้น   จงมั่นใจเถิดครับ พระเจ้าอยู่กับเรา  พระองค์เคียงข้างเรา   พระองค์ค่อย ๆ บอกให้เรารู้จักที่จะจัดการกับปัญหาในชีวิตของตนเองลึกลงไปทีละชั้น   ด้วยวิธีนี้พระเจ้าช่วยให้เราค้นพบตนเอง และ เรียนรู้การจัดการปัญหาจากพระองค์ไปทีละก้าวทีละขั้น   ให้เราวางใจในการทรงชี้นำและสำแดงให้เราได้เรียนรู้จากพระองค์

อย่าลืมว่า พระเจ้าอยู่เคียงข้างเราในทุกสถานการณ์ชีวิต   พระเจ้ากระทำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเราในชีวิต   เมื่อท่านทูลขอต่อพระองค์ให้ทรงช่วยแก้ปัญหาในชีวิต   ท่านจะต้องวางใจในการทรงประทานของพระองค์ในชีวิตของเรา   แล้วเราจะได้รับประสบการณ์แห่งสันติสุข พระปัญญา  และ พระพรจากพระองค์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง

26 กุมภาพันธ์ 2561

เลิกพยายาม “ฟอกตัว” ว่าตนเองถูก!


เราเคยทำผิดไหม?  ถ้าเคย เราต้องเผชิญกับการตัดสินใจว่า  

เราจะใช้เวลาและพลังชีวิตของเรา  มุ่งไปที่ชีวิตที่เรากำลังเป็นอยู่(ที่ได้กระทำผิด)  หรือ

เราจะมุ่งเน้นไปยังชีวิตควรจะเป็น?

ถึงแม้ว่า เรามีสัจจะและความยุติธรรมที่เคียงข้างในชีวิตของเรา   เราก็ไม่สามารถทำให้สิ่งที่เราทำผิดแล้วให้กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องได้   การที่เราพยายามต่อสู้เพื่อความถูกต้องของตนเองรังแต่จะสร้างความขุ่นเคืองไม่พอใจและโกรธแค้น   ทั้งหมดดังกล่าวเป็นอารมณ์ที่มีแต่พลังการทำลายล้าง   อารมณ์เช่นนี้จะดูดกลืนพลังชีวิตของเรา และ ทำให้เราเป็นคนที่ดูเลวร้าย ขวางโลก   นอกจากนั้นแล้ว คนที่มุ่งที่จะทำให้ตนเองถูกต้อง  คน ๆ นั้นเป็นคนที่มองไปข้างหลังมากกว่าที่จะมองไปข้างหน้า

ถ้าเราหยุดที่จะกังวลเกี่ยวกับความถูกต้องของตนเอง  ก็จะช่วยให้เรามุ่งมองไปสู่ทิศทางการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง  และ ปลดปล่อยให้เราสามารถมีชีวิตที่จาริกไปข้างหน้า   ให้เรารับรู้สิ่งที่เราได้ทำผิด  แต่ไม่ติดยึดกับสิ่งผิด ๆ ที่เราทำลงไป  ให้เราอภัยในการกระทำผิดนั้น  แล้วมุ่งมองไปว่า มีความรับผิดชอบของเราอะไรบ้างที่เราสามารถควบคุมให้ไปข้างหน้า   เมื่อเราทำเช่นนี้ก็เป็นการเพิ่มพลังชีวิตของเรา  เสริมสร้างศักยภาพให้เป็นความสามารถที่สามารถขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย   ทำให้สิ่งที่เราทำมีประสิทธิภาพ และ คุณภาพที่ดียิ่งขึ้น

แต่ปัญหาคือ คนที่คิดว่าตนเป็นคนเก่ง  มักจะมองว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการเสียศักดิ์ศรี เสียฟอร์ม?

ท่านควรมีท่าทีแบบเดียวกับพระเยซูคริสต์
ผู้ทรงสภาพ หรือ เป็นเหมือนพระเจ้า
แต่ไม่ได้ทรงยึดติดในความเท่าเทียมกับพระเจ้า
พระองค์กลับทรงสละทุกสิ่ง
มารับสภาพ หรือ เป็นเหมือนทาส
บังเกิดเป็นมนุษย์ และเมื่อทรงปรากฏเป็นมนุษย์
พระองค์ทรงถ่อมพระองค์ลง
และยอมเชื่อฟังแม้ต้องตายบนไม้กางเขน!
 (ฟิลิปปี 2:5-8 อมธ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง

19 กุมภาพันธ์ 2561

คุณค่าความหมายในชีวิตมาจากการรับใช้คนอื่น


ถ้าท่านต้องการจะพบกับคุณค่าความสำคัญในชีวิต  ท่านต้องทำพันธกิจรับใช้คนอื่น   พันธกิจในที่นี้หมายถึงการที่เราทำดีแก่ผู้อื่นตามพระประสงค์และในพระนามของพระเยซูคริสต์

คุณค่าความสำคัญในชีวิตไม่ได้มาเพราะเรามีตำแหน่ง หรือ ชาติกำเนิด หรือ ฐานะทางสังคม  เศรษฐกิจ   และเราก็ไม่ได้มีคุณค่าเพราะเรามีรถที่ทันสมัยที่สุด  แพงที่สุด  สวยที่สุด  หรือ เพราะของใช้แบรนด์เนมยี่ห้อดัง ๆ ที่คุณถือคุณใช้   การที่เรามีคุณค่าความสำคัญมิใช่เพราะเราได้รับเงินเดือน หรือ รายได้มาก ๆ  หรือมีรายได้มากกว่าคนอื่น ๆ  คุณค่าความสำคัญมิได้มาจากรสนิยม หรือ ประสิทธิภาพทางเพศ

คุณค่าความสำคัญมาจากการที่เรามีชีวิตประจำวันที่รับใช้ผู้คน

คุณค่าความสำคัญเกิดขึ้นได้เมื่อเราเริ่มคิดถึงคนอื่นแทนที่จะคิดถึงแต่ตนเอง

คุณค่าความสำคัญในชีวิตของเรามีได้เพราะเราให้ชีวิตเพื่อคนอื่นจะได้ชีวิตใหม่ โอกาสใหม่

คุณค่าและความหมายในชีวิตไม่สามารถเกิดจากการที่เราคิดเห็นแต่ประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว   แล้วสั่งสมสิ่งที่ได้จากการเห็นแก่ตัวไว้มาก ๆ เพื่อจะมีมากกว่าคนอื่น

เราไม่สามารถที่จะเห็นแก่ตัว และ มีชีวิตที่มีคุณค่าความหมายในเวลาเดียวกัน

ความเชื่อความศรัทธาและการดำเนินชีวิตของคริสตชน บนรากฐานพระวจนะ  ได้กล่าวไว้ว่า  “ตาม​ที่​แต่​ละ​คน​ได้​รับ​ของ​ประ​ทาน ก็​ให้​ใช้​ของ​ประ​ทาน​นั้น​ปรน​นิบัติ​กัน​และ​กัน...” (1เปโตร 4:10 มตฐ.)   ศักยภาพ ความสามารถ และ ของประทานต่าง ๆ ที่พระเจ้าประทานให้ท่าน   มิใช่ให้ท่านมาเพื่อใช้เป็นประโยชน์เพื่อตนเองเท่านั้น   แต่เพื่อประโยชน์สุขสำหรับคนรอบข้างในชีวิตของท่าน   พระเจ้าจะทรงปรับเปลี่ยนเสริมสร้างชีวิตของท่านให้เป็นชีวิตที่มีคุณค่าและความหมาย   และท่านจะพบคุณค่าและความหมายในชีวิตด้วยการที่ท่านใช้ศักยภาพ ความสามารถ และ ของประทานต่าง ๆ ที่พระเจ้าให้ท่านในชีวิตเพื่อรับใช้บริการคนอื่น

ปัญญาจารย์ 4:9-12 กล่าวไว้ว่า  “สอง​คน​ดี​กว่า​คน​เดียว เพราะ​ว่า​เขา​ทั้ง​สองจะช่วยทำให้สำเร็จได้มากยิ่งขึ้น ​  เพราะ​ว่า​ถ้า​คนหนึ่ง​ล้ม​ลง  อีกคน​หนึ่ง​จะ​ได้​พยุง​เพื่อน​ของ​ตน​ให้​ลุก​ขึ้นได้   แต่จะเป็นการเลวร้ายยิ่ง ถ้า​คน​นั้น​ที่​อยู่​คน​เดียว​เมื่อ​เขา​ล้ม​ลง   จะ​ไม่​มี​ใคร​พยุง​เขา​ให้​ลุก​ขึ้นได้?   

อนึ่ง ถ้า​สอง​คน​นอน​อยู่​ด้วย​กัน พวก​เขา​ก็​อบ​อุ่น แต่​ถ้า​นอน​คน​เดียว​จะ​อบ​อุ่น​ได้​อย่าง​ไร?    ศัตรูอาจสามารถเอาชนะคน ๆ เดียวได้   แต่ถ้าสองคนร่วมกันป้องกันต่อต้านศัตรู  เขาทั้งสองก็สามารถปกป้องตนเองได้  

เชือก​สาม​เกลียว​ที่เกี่ยวพันฟั่นเข้าด้วยกันย่อมขาดยาก (ปัญญาจารย์ 4:9-12 สมช.)

การรับใช้ของคริสตชน มิใช่ให้รับใช้ด้วยตัวคนเดียว   แต่ให้เราร่วมกันรับใช้ผู้คนตามพระประสงค์ของพระคริสต์ ในพระนามของพระองค์   และยังหมายถึงการที่เราจะรับใช้ในครอบครัว   ในที่ทำงาน  ในชุมชน/สังคม  ในกลุ่มเพื่อน   มิใช่การรับใช้ในคริสตจักรเท่านั้น

คริสตชนรับใช้ บริการ และให้ชีวิตแก่ผู้อื่นได้ต่อเมื่อชีวิตที่เขามีอยู่เป็นชีวิตของพระคริสต์  และขับเคลื่อนชีวิตประจำวันเคียงข้างไปกับพระองค์ และ ด้วยกำลังหนุนเสริมจากพระวิญญาณบริสุทธิ์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
Prasit.emmaus@gmail.com;  081 289 4499

14 กุมภาพันธ์ 2561

เทศกาลเข้าสู่ธรรม (LENT)


เทศกาลนี้ ในคริสตจักรคาทอลิก เรียกว่า เทศกาลมหาพรต   แต่ในคริสตจักรโปรเตสแตนท์ในประเทศไทยโดยเฉพาะสภาคริสตจักรฯ  ใช้คำว่า เทศกาลเข้าสู่ธรรม เป็นคำที่เป็นทางการ   แต่ก็มีการเรียกอย่างอื่นเช่น  เทศกาลกลับใจใหม่  ช่วงเวลาเริ่มต้นชีวิตสาวกพระคริสต์  คำนี้เรียกกันในสมัยนี้ ซึ่งเป็นยุคสร้างสาวก  หรือ เทศกาลรับการทรงเสริมสร้างชีวิตใหม่   ซึ่งยังใช้กันไม่แพร่หลาย

LENT (เลนท์) เป็นภาษาอังกฤษ   แต่ในภาษาละตินใช้คำว่า QUADRAGESIMA (คัวดราเจสิมา)  ซึ่งมีความหมายว่า ที่สี่สิบ (40)   เทศกาลนี้เริ่มต้นจาก “วันพุธขี้เถ้า” ไปจนถึง “วันพระคริสต์เป็นขึ้นจากความตาย” (อิสเตอร์)  รวมทั้งหมด 40 วัน   ขอตั้งข้อสังเกตว่า ปกติแล้ว เทศกาล และ วันสำคัญของคริสต์ศาสนามักจะตรงกับวันอาทิตย์   แต่เทศกาลนี้เริ่มต้นที่วันพุธ  ก็เนื่องจากให้ช่วงเวลาเทศกาลนี้ครบ 40 วัน  และให้วันเป็นขึ้นจากความตายของพระคริสต์จรงกับวันอาทิตย์   จึงต้องเริ่มที่วันพุธ

ทำไมต้องเลข 40?

หลายท่านคงถามในใจว่า   ทำไมจะต้อง 40 วัน  คริสตชนถือเคล็ดอะไรหรือเปล่า?   เปล่าครับ  40  วันในเทศกาลเข้าสู่ธรรมนี้เป็นการใคร่ครวญถึงเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในพระคัมภีร์คือ...
การใคร่ครวญถึง การทนทุกข์ของพระคริสต์บนกางเขน และ การคืนพระชนม์ของพระคริสต์
การใคร่ครวญถึง 40 วันที่พระเยซูคริสต์อดอาหาร และ การถูกมารทดลองในถิ่นทุรกันดาร หลังการรับบัพติสมาของพระองค์
การใคร่ครวญถึง 40 ปีในการเดินทางในถิ่นทุรกันดารของประชาชนอิสราเอลที่ไปสู่แผ่นดินแห่งพระสัญญา

ในช่วงเข้าสู่ธรรม คริสตชนเขาทำอะไรกัน?

ในช่วงเวลาเทศกาลเข้าสู่ธรรม   คริสตจักรจะใช้เวลา 40 วันนี้ในการทำอะไร?

เป็นช่วงเวลาแห่งการอธิษฐาน  เหมือนกับบุตรคนเล็ก ในคำอุปมาของพระเยซูคริสต์ที่ชีวิตล่มสลายแล้ว  ตัดสินใจกลับมาหาพ่อ   การอธิษฐานของคริสตชนในช่วงนี้เริ่มปฏิบัติอธิษฐานในทุก ๆ ช่วงในชีวิตประจำวันของตน

เป็นช่วงเวลาที่จะมีเวลาเฉพาะเจาะจงที่กำหนดไว้ในการศึกษาพระวจนะของพระเจ้า(ทุกวัน)   เพื่อเราจะมีพระวจนะของพระเจ้าในชีวิตเป็นพลังและชี้นำการขับเคลื่อนชีวิตประจำวันของเรา  เยี่ยงพระคริสต์ทรงใช้พระวจนะพระเจ้าตอบโต้คำล่อลวงของมารในถิ่นทุรกันดาร

เป็นช่วงเวลาของการอด   ในคริสตจักรคาทอลิกจะมี “ศีลอด”  ปกติแล้วคริสตชนมักเน้นไปในการอดอาหาร   แต่ในยุคความทันสมัยนี้  เริ่มมีคริสตจักรเชิญชวนสมาชิกให้มีการ “อด” หรือ “งด” สิ่งเสพติดในชีวิตทั้งหลาย (มิใช่แต่อาหารการกินเท่านั้น)   แต่สิ่งเสพติดอื่น ๆ ในชีวิต  ในยุคนี้เราคงต้องพิจารณา “อด” การเสพสิ่งต่าง ๆ ที่มาจากช่องทางสื่อทันสมัยทั้งหลาย   ให้มีเวลาสงบ สนิท กับพระเจ้า

เป็นช่วงเวลาแห่งการอดเพื่อออม   เป็นช่วงเวลาที่เราระลึกถึงการที่พระคริสต์พระบุตรของพระเจ้าที่มาจากเบื้องบนเข้ามาในโลกนี้เพื่อให้ชีวิตช่วยเราให้หลุดรอดออกจากอำนาจแห่งความบาปชั่ว   ดังนั้น คริสตชนควรใช้เวลาช่วงนี้เริ่มต้น รับการทรงสร้าง และ ฝึกฝนชีวิตสาวกพระคริสต์   เป็นชีวิตที่ “ให้ชีวิตของตน” แก่คนรอบข้าง   เพื่อคนเหล่านั้นจะได้รับโอกาสที่จะมีชีวิตใหม่  เฉกเช่นการให้ชีวิตแบบพระคริสต์

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติชีวิตสาวกพระคริสต์ในเทศกาลนี้ไม่ควรจบสิ้นที่วันคืนพระชนม์ หรือ เพียงในกรอบเวลา 40 วันเท่านั้น   แต่ให้ 40 วันแห่งการเข้าสู่ธรรมเป็นช่วงเวลาเริ่มต้น เวลาที่เข้ารับการสร้างใหม่จากพระเจ้า  และช่วงเวลาแห่งการฝึกฝนชีวิตสาวกพระคริสต์   เพื่อเราจะได้เรียนรู้และมีทักษะชีวิตบนรากฐานพระวจนะธรรมของพระเจ้าในการดำเนินชีวิตประจำวัน  

เพื่อต่อจากนี้  ทุกวันก็เป็นช่วงเวลาของ “การเข้าสู่ธรรม” ทั้งในการเรียนรู้จากพระวจนะ การอธิษฐาน  และ การดำเนินชีวิตตามพระวจนะ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง   เรียบเรียง
Prasit.emmaus@gmail.com;  081 289 4499

12 กุมภาพันธ์ 2561

ทำไมความนึกคิดถึงสำคัญนักหนา?


พระเจ้ามีประสงค์ที่จะเปลี่ยนความนึกคิดของท่านมากกว่าเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมชีวิตของท่าน

เรามักต้องการให้พระเจ้าขจัดปัญหา  ความเจ็บปวด  ความโศกเศร้า  ความเจ็บป่วย  ที่เกิดขึ้นกับเราออกไปเสีย  แต่พระเจ้าประสงค์ที่จะทำการเปลี่ยนแปลงเสริมสร้างความนึกคิดในชีวิตของเราก่อน   เพราะชีวิตของท่านจะเกิดการเปลี่ยนแปลงก็ต่อเมื่อความนึกคิดของท่านได้รับการพลิกฟื้นเปลี่ยนแปลงจากพระเจ้าก่อน   เมื่อความคิดของท่านเปลี่ยน ชีวิต พฤติกรรม ท่าที และ การดำเนินชีวิตในมิติต่าง ๆ ก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย

เรียกว่า  พระเจ้าต้องการเปลี่ยนแปลงที่ต้นเหตุ   มิใช่เปลี่ยนแปลงที่สถานการณ์แวดล้อม  และผลพวงจากความนึกคิด  อันเป็นปลายเหตุ

ทำไมการที่เราเรียนรู้ที่จะจัดการกับความนึกคิดในตัวเราเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง?   มีเหตุผล 3 ประการคือ

ประการแรก   เพราะความคิดเป็นตัวควบคุมชีวิตของเรา

สุภาษิต 4:23 บอกเราว่า  “จงระวังให้ดี  ท่านคิดอย่างไร   ความคิดนั้นจะเป็นตัวกำหนดหล่อหลอมชีวิตของท่าน” (สมช.)   ความคิดของท่านมีพลังมีอานุภาพ และ มีความสามารถอย่างสูงในการหล่อหลอมชีวิตของท่านให้เป็นชีวิตที่ดีหรือเลวก็ได้  ตัวอย่างเช่น   ท่านยอมรับความคิดบางเรื่องที่มีคนบอกท่านว่า  “เมื่อชีวิตของท่านเติบโตขึ้น ชีวิตของท่านไม่มีคุณค่าอะไร  ท่านเป็นคนที่ไม่มีความสำคัญอะไร”   ถึงแม้มันเป็นความคิดที่ผิด  แต่ถ้าท่านรับเอาความคิดนั้นเป็นความคิดของท่าน  ความคิดนี้ก็จะหล่อหลอม และ ตอกย้ำว่าชีวิตของท่านเป็นอย่างความคิดดังกล่าว

ประการที่สอง  ความคิดคือพื้นที่สมรภูมิ ที่มารใช้เป็นพื้นที่ทำสงครามจิตวิญญาณ

การถูกทดลองทั้งสิ้นเกี่ยวข้องพัวพันกับความคิดของคนเราทั้งนั้น  เปาโลกล่าวในโรม 7:22-23 ว่า  “ในส่วนลึกข้าพเจ้าชื่นชมในพระประสงค์ของพระเจ้า   แต่ก็มีอีกสิ่งหนึ่งที่ฝังลึกในธรรมชาติฝ่ายต่ำของข้าพเจ้า   ที่กำลังทำสงครามต่อสู้กับความคิดของข้าพเจ้า  และมันชนะในสงครามครั้งนี้  ทำให้ข้าพเจ้าต้องตกเป็นทาสของความบาปที่ยังฝังอยู่ในชีวิตของข้าพเจ้า   ในความคิดข้าพเจ้าต้องการที่จะเป็นคนรับใช้ที่พระเจ้าต้องการ   แต่ชีวิตของข้าพเจ้ากลับตกเป็นทาสของความบาป” (สมช.)

เหตุผลหนึ่งที่ความนึกคิดของเราอ่อนล้าหมดแรงก็เพราะในสมองของเราทำสงครามต่อสู้กันทั้งวันและคืน  และที่ชีวิตของเราอ่อนเพลียอ่อนกำลังก็เพราะมันต่อสู้กันอย่างเข้มข้น   ทั้งนี้เพราะ  สนามความคิดของเราเป็นสมบัติที่ล้ำค่า   และซาตานต้องการพื้นที่สมบัติอันสำคัญชิ้นนี้ของเราให้อยู่ใต้อำนาจบัญชาการของมัน

ถ้ามารสามารถเข้ายึด และ บงการพื้นที่ความนึกคิดของมนุษย์   มนุษย์ก็ตกอยู่ใต้อำนาจชั่วของมัน   มารจึงสามารถเปลี่ยนชีวิตทั้งชีวิตของมนุษย์ให้เป็นไปตามที่มันต้องการ  และในที่สุดมารก็ใช้มนุษย์ให้เปลี่ยนสังคมโลกทั้งสิ้นให้เป็นไปตามที่มันต้องการ

ประการที่สาม  เพราะความนึกคิดคือหัวใจที่นำไปสู่ศานติสุข

ความนึกคิดที่ไม่มีการควบคุมจัดการนำไปสู่ความตึงเครียด   ส่วนความนึกคิดที่มีการควบคุมจัดการนำไปสู่ความสงบ เยือกเย็น และ สันติ   ความนึกคิดที่ไม่มีการควบคุมจัดการนำไปสู่ความขัดแย้งสับสน   แต่ความนึกคิดที่มีการควบคุมจัดการนำไปสู่ความมั่นคง สงบนิ่ง   ความนึกคิดที่ไม่มีการควบคุมและจัดการนำไปสู่ความเครียดกังวล   เมื่อเราไม่พยายามที่จะควบคุมความนึกคิดของเรา และ นำการนึกคิดของเราเอง   เราจะประสบกับความเครียดมหาศาลในชีวิต   แต่ความคิดที่มีการควบคุมและนำการนึกคิด  จะนำเราไปสู่ความเข้มแข็ง มั่นคง และความสงบ แจ่มใส และ เยือกเย็น  

ในความเป็นจริงด้วยกำลังของเราเองก็ไม่สามารถที่จะฉุดกระชากลากยื้อกับอำนาจแห่งความบาปชั่วที่กำลังสู้กันในพื้นที่สนามความนึกคิดของเราได้   แต่ด้วยการทรงชี้นำจากพระวจนะของพระเจ้า   แบบอย่างชีวิตของพระคริสต์ในการผจญกับอำนาจแห่งความบาปชั่ว   และ พระกำลังจากองค์พระวิญญาณบริสุทธิ์ในชีวิตประจำวันของเรา  จึงช่วยให้เราสามารถที่จะต่อกรกับอำนาจบาปชั่วได้

“การยอมปล่อยให้ความบาปชั่วมาควบคุมชีวิตของท่านนำไปซึ่งความตาย   แต่การยอมให้พระวิญญาณเข้าควบคุมความนึกคิดของท่านนำไปสู่ชีวิตและศานติสุข” (โรม 8:6 สมช.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง

09 กุมภาพันธ์ 2561

ผู้นำการเปลี่ยนแปลง เริ่มที่เปลี่ยนแปลงตนเองก่อน


“ความรอด” เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลง

บ่อยครั้งผู้คนจะมองว่า...
“ความรอด” เป็นนามธรรมที่มองไม่เห็นด้วยตาของเรา
“ความรอด” เรามักคิดถึงชีวิตที่จะไปสวรรค์ที่เรายังไม่เคยไป 
“ความรอด” เป็นเรื่องของความเชื่อศรัทธาที่เราจับต้องสัมผัสไม่ได้  

สำหรับผมในฐานะคริสตชนคนหนึ่ง   “ความรอด” เป็นเรื่องที่เป็นรูปธรรม  สัมผัส จับต้อง รู้สึก และ เห็นได้   ความรอดเป็นเรื่องของชีวิต   เป็นชีวิตที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงจากพระคริสต์   ให้มีชีวิตใหม่ที่ดำเนินชีวิตประจำวันบนเส้นทางของพระคริสต์   เป็นชีวิตที่เกิดการเปลี่ยนแปลงแล้วผู้คนเห็นได้ สัมผัสได้  รู้สึกได้   เป็นชีวิตที่พระองค์ทรงทำการเปลี่ยนแปลงทั้งความคิด มุมมอง จิตใจ  และการตัดสินใจเลือกเส้นทางดำเนินชีวิตในแต่ละวัน  ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และ การดำเนินชีวิต  เป็นชีวิตใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์   เป็นชีวิตที่มีเป้าหมายสูงสุดตามพระประสงค์ของพระคริสต์   ที่นำไปสู่การร่วมงานเสริมสร้างแผ่นดินพระเจ้าร่วมกับพระคริสต์ในชีวิตประจำวัน

ชีวิตใหม่...มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องกับ “ความรอด”   เป็นความจริงที่ว่า ความรอดนั้นคือการมีชีวิตใหม่ในพระคริสต์   ดังนั้น  ความรอดคือการเปลี่ยนแปลงในชีวิต  เป็นชีวิตที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านความคิด มุมมอง การตัดสินใจ  การกระทำ ตลอดถึงการพูดของเรา   ชีวิตใหม่จึงหมายถึงชีวิตที่ได้รับการเปลี่ยนแปลง  อย่างที่กล่าวไว้ใน 2โครินธ์ 5:17 ที่ว่า  ฉะนั้น​ถ้า​ใคร​อยู่​ใน​พระ​คริสต์ เขา​ก็​เป็น​คน​ที่​ถูก​สร้าง​ใหม่​แล้ว สิ่ง​สาร​พัด​ที่​เก่า ๆ ก็​ล่วง​ไป นี่​แน่ะ​กลาย​เป็น​สิ่ง​ใหม่​ทั้ง​นั้น (มตฐ.)  นั่นหมายความชัดเจนว่า  คนที่เข้ามามีชีวิตในพระเยซูคริสต์  คือคนที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงทั้งชีวิตจากพระองค์   ชีวิตใหม่เริ่มเกิดขึ้นแล้ว  ชีวิตเก่าเป็นเรื่องของอดีต   ปัจจุบันเป็นชีวิตใหม่ที่ได้รับการสร้างใหม่จากพระองค์

การเปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่ตามที่พระคัมภีร์อธิบาย   ชีวิตใหม่ในพระคริสต์เกิดขึ้นทันที และ เกิดขึ้นแน่นอน มั่นใจได้  แต่ในเวลาเดียวกัน ชีวิตใหม่ในพระคริสต์เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง   มิใช่เกิดขึ้นเหมือน “เหตุการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิต” แล้วก็เสร็จสิ้นจบหาย   แต่เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่พัฒนาไปสู่ชีวิตที่ครบบริบูรณ์ในพระคริสต์ (ยอห์น 10:10)   นั่นหมายความว่า พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราอย่างต่อเนื่อง   พระองค์ทรงเปิดเผยให้เราเห็นถึงสิ่งที่จะต้องเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเราอย่างต่อเนื่อง  เป็นการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ความครบบริบูรณ์ของชีวิตมากยิ่ง ๆ ขึ้นไป   ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้เจ้าตัวต้องตัดสินใจว่า ตนจะเข้ารับการเปลี่ยนแปลงและร่วมในกระบวนการเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนจากพระคริสต์หรือไม่  

ซึ่งเราพบความจริงว่า  แม้ว่าเราบางคนได้เริ่มเข้ารับการเปลี่ยนแปลงชีวิตในพระคริสต์แล้ว แต่ต่อมาอีกระยะหนึ่งเรากลับต่อต้านหรือไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง  กลายเป็นอุปสรรคสำหรับชีวิตของเราที่จะเจริญเติบโตที่สมบูรณ์   ดังนั้นจึงเกิดผลอย่างมากต่อ “ความเป็นความตาย” ในชีวิตการเป็นสาวกพระคริสต์ของคน ๆ นั้น  และยังเกิดผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้อย่างยิ่งยวดต่อการกระทำตามพระมหาบัญชาของพระองค์ในคน ๆ นั้น   อีกทั้งยังเป็นตัวขัดขวางต่อการเป็นทูตของพระคริสต์ที่สร้างการคืนดี  เมื่อคน ๆ นั้นหยุดที่จะเจริญเติบโตในพระคริสต์  และการมีภาวะผู้นำแบบพระคริสต์ก็จะหยุดชะงักไปด้วย

เป็นสัจจะความจริงว่า  คริสตชน หรือ ผู้นำคริสตชนมิใช่ผู้นำแบบ “ลูกอีช่างสอน หลานอีช่างสั่ง”  แต่บ่อยครั้งมักมิได้ทำในสิ่งที่ตนเองสอน ตนเองพูด หรือ ตนเองเทศน์  ภาวะผู้นำเช่นนี้ไม่สามารถนำการเปลี่ยนแปลงสู่ชีวิตที่ครบบริบูรณ์ได้   พระคริสต์ทรงกระทำหรือปฏิบัติในชีวิตประจำวันให้สาวกและประชาชนเห็นชัดเป็นแบบอย่าง   แล้วจึงค่อยอธิบายและชี้ให้เห็นความสำคัญว่าทำไมพระองค์ถึงทำถึงประพฤติปฏิบัติเช่นนี้   แต่ผู้นำคริสตชนหลายต่อหลายคนในปัจจุบัน “ดีแต่พูด”   แต่ไม่ดำเนินชีวิตประจำวันอย่างที่พูด   เมื่อเป็นเช่นนี้ ชีวิตของผู้นำคริสตชนจึงไม่มีอิทธิพลทั้งต่อชุมชนคริสตจักรของตนเอง และ ชุมชนสังคมด้วย   ชีวิตของผู้นำคริสตชนเหล่านี้จึงไม่มีพลังที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดชีวิตใหม่ในพระคริสต์ได้

ผู้นำคริสตชนเริ่มต้นที่ชีวิตรับการเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น  ผู้นำคริสตชนจึงต้องเริ่มต้นภาวะผู้นำด้วยการยอมรับการเปลี่ยนแปลงตนเองจากพระคริสต์  และร่วมในพระราชกิจของพระเจ้าที่กระทำในชีวิตของตน   จนพัฒนาไปสู่พระราชกิจพระคริสต์ที่กระทำผ่านชีวิตของตนด้วย   ดังนั้น  ผู้คนก็จะเห็นพระคริสต์ผ่านชีวิตประจำวันของผู้นำคริสตชน  นั่นหมายความว่าผู้คนจะเห็นพระประสงค์ของพระเจ้าผ่านการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้นำ   และอยากจะบอกดัง ๆ ว่า การมีชีวิตที่สำแดงพระคริสต์เช่นนี้มีพลัง อิทธิพล และ เสียงดังยิ่งว่า นักเทศน์ชื่อดังและเสียงตะโกนของพวกเขา(เวลาเทศน์)

ในภาวะสังคมโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความอยุติธรรม  การแบ่งแยกกีดกัน และเหยียดผู้อื่นให้ต่ำต้อยด้อยจมดินด้วยวิธีการต่าง ๆ  และการฉ้อฉลคดโกงแบบหน้าด้าน ๆ ที่ดารดาษเต็มไปหมดในสังคมโลก   เริ่มต้นตั้งแต่องค์กร/ชุมชนศาสนาไปจนถึงชุมชนคนขัดสนยากแค้น มิใยที่จะกล่าวถึงชุมชนคนมั่งมีร่ำรวยล้นฟ้าที่ไม่เคยรู้จักพอ 

ดังนั้น ชีวิตที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงและสร้างใหม่จากพระคริสต์เป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดในยุดปัจจุบันนี้

ผู้นำคริสตชนกับการเปลี่ยนแปลงสังคมโลก

ก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงสังคมโลก  เริ่มต้นที่การตรวจสอบใคร่ครวญถึงชีวิตของเราเองว่า  เป็นชีวิตแบบไหน  เป็นสาวกพระคริสต์แบบใด  และเป็นผู้นำที่มีชีวิตเพื่อใคร?   ให้เราเริ่มต้นที่จะใกล้ชิดกับพระเจ้า  เพื่อขอรับการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราให้เป็นชีวิตที่พระองค์ต้องการให้เป็น   ให้เรารับการเปลี่ยนแปลงให้มีวินัยชีวิตอย่างที่พระองค์ประสงค์   ให้เรารับการสร้างใหม่มีชีวิตใหม่ที่พระคริสต์จะใช้ให้เราทำงานของพระองค์ได้

เลิกที่คิดแต่ว่า “เราต้องมาก่อน” สิ่งอื่นใดหรือใคร ๆ (อย่างผู้นำประเทศมหาอำนาจคนหนึ่งได้พูดไว้) แต่ให้เราเริ่มที่จะให้ หรือ มอบชีวิตแด่พระคริสต์   เพื่อพระองค์จะเปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างใหม่เพื่อเราจะสามารถ “ให้” ชีวิตของเราแก่เพื่อนบ้าน  และให้ชีวิตของเราแก่สรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง   พระประสงค์ของพระคริสต์ต้องมาก่อน   แผ่นดินของพระเจ้าต้องมาก่อน  การให้ชีวิตเพื่อให้เกิดชีวิตใหม่ในพระคริสต์ต้องมาก่อน   แล้วเราจะพัฒนาชีวิตไปสู่การเป็นสาวกที่มีชีวิตที่ครบบริบูรณ์คนหนึ่งท่ามกลางผู้คนที่มีชีวิตที่ครบบริบูรณ์ในพระคริสต์

อย่า​ลอก​เลียน​แบบ​อย่าง​คน​ใน​ยุค​นี้ แต่​จง​รับ​การ​เปลี่ยน​แปลง(ความคิดและ)​จิต​ใจ
แล้ว​อุป​นิสัย​ของ​ท่าน​จึง​จะ​เปลี่ยน​ใหม่ เพื่อ​ท่าน​จะ​ได้​ทราบ​พระ​ประสงค์​ของ​พระ​เจ้า
จะ​ได้​รู้​ว่า​อะไร​ดี อะไร​เป็น​ที่​ชอบ​พระ​ทัย และ​อะไร​ดี​ยอด​เยี่ยม (โรม 12:2 สมช.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง

07 กุมภาพันธ์ 2561

เมื่อผู้นำ...ใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล


ถ้าเราต้องการที่จะ “รู้” ว่าคน ๆ นั้นเป็นคนแบบไหน   เราวัดได้จากการใช้อำนาจของเขา   เฉกเช่นกษัตริย์ดาวิด  ใน 2ซามูเอล บทที่ 11   ใช้อำนาจที่ “ละเลย กลบเกลื่อน หรือ มองข้ามไปว่า  ในการที่ผู้นำใช้อำนาจที่มีอยู่ก็เพื่อ... “การรับใช้” เท่านั้น   แต่เมื่อใดก็ตามที่ผู้นำใช้อำนาจที่มีเพื่อตนเอง(และพวกพ้อง)   เมื่อนั้น ผู้นำได้ใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล  

15 ดาวิด​ทรง​เขียน​จด​หมาย​สั่งโยอาบว่า “จง​ตั้ง​อุรี​ยาห์​ให้​อยู่​กอง​หน้า​ของ​การ​รบ​ที่​ดุเดือด​ที่​สุด แล้ว​ให้​พวก​เจ้า​ถอย​ไป​จาก​เขา​เพื่อ​ให้​เขา​ถูก​ฆ่า​ตาย” (2ซามูเอล 11:15 สมช.)

ต่อไปนี้เป็นกระบวนการการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล

ขั้นที่ 1:  เกิดความสนใจ  แล้วก็บอกกับตนเองว่า  “ฉันน่าจะได้สิ่งนี้”  “(ดาวิด) ทอด​พระ​เนตร​จาก​หลัง​คา​เห็น​ผู้หญิง​คน​หนึ่ง​อาบ​น้ำ​อยู่ หญิง​คน​นั้น​สวย​งาม​น่าดู​มาก” (ข้อ 2)   บ่อยครั้งผู้นำมักบอกตนเองว่า “ฉันน่าจะได้สิ่งนั้น”   แม้จะมิใช่สาวสวยอย่างบัทเชบาก็ตาม!

ขั้นที่ 2:  ให้ความสำคัญแก่ตนเอง  “ฉันต้องการสิ่งนี้”  “ดาวิด​ทรง​ส่ง​คน​ไป​ไต่​ถาม​เรื่อง​ผู้หญิง​คน​นั้น...” (ข้อ 3) น่าสังเกตว่า  จากความคิดความรู้สึกที่บอกตนเองว่า “ฉันน่าจะได้สิ่งนั้น”  ถ้าเราไม่หยุดตนเอง  มันก็พัฒนาต่อไปเป็น “ฉันต้องการสิ่งนั้น”

ขั้นที่ 3:  ตอบสนองความพึงพอใจของตนเอง  “ฉันจะทำให้ได้สิ่งนี้”  ดาวิด​ก็​ทรง​ส่ง​พวก​ผู้​สื่อ​สาร​ไป และ​เขา​ก็​นำ​นาง​มา นาง​มา​เฝ้า​พระ​องค์ แล้ว​พระ​องค์​ทรง​หลับ​นอน​กับ​นาง (ข้อ 4)   ไม่ทันรู้ตัว  ผู้นำก็ใช้เครื่องมือ เส้นสาย ที่ตนมีอยู่ไปไขว่คว้าหาสิ่งนั้นมาเป็นของตนจนได้

ขั้นที่ 4:  เห็นแก่ตัว “ฉันสั่งให้จัดการในสิ่งที่ฉันต้องการ”  ดาวิด​ทรง​เขียน​จด​หมาย​สั่งโยอาบ​ว่า “จง​ตั้ง​อุรี​ยาห์​ให้​อยู่​กอง​หน้า​ของ​การ​รบ​ที่​ดุเดือด​ที่​สุด แล้ว​ให้​พวก​เจ้า​ถอย​ไป​จาก​เขา​เพื่อ​ให้​เขา​ถูก​ฆ่า​ตาย” (ข้อ 15)  ในที่สุดผู้นำคนนั้นก็ใช้แผนกลโกงปิดบังความชั่วช้าสามานย์ที่ตนได้ทำลงไป   หาทางป้ายสีความผิดให้แก่คนอื่น (คนอัมโมนเป็นคนฆ่า  ไม่ใช่ดาวิด ไม่ใช่กองทัพอิสราเอล)

เมื่อเราพิจารณาถึง “กลยุทธ์” ที่กษัตริย์ดาวิดวางแผนและใช้ในการทำความผิดบาปร่วมกับนางบัทเชบาครั้งนี้   เราสามารถเห็นถึง การใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลของกษัตริย์ดาวิด 5 ประการด้วยกัน ดังนี้
  1. ผู้นำไม่ได้ประพฤติตามวินัย ระเบียบการดำเนินชีวิตที่ตนต้องการให้ผู้อื่นปฏิบัติ
  2. มองว่า ตนเป็นเจ้าของลูกน้องของตน  ที่ตนจะใช้เขาอย่างไรก็ได้ตามที่ตนต้องการ
  3. มุ่งแต่ทำสิ่งต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น(ตามที่ตนปรารถนา) มากกว่าจะทำสิ่งต่าง ๆ อย่างถูกต้อง
  4. ปฏิเสธ หรือ มองข้ามว่า ตนอาจจะละเลย หรือ มองพระประสงค์ของพระเจ้าอย่างผิดพลาด
  5. เชื่อว่า ลูกน้องที่ยอมทำตามคำสั่งของตน  คือผู้ตามที่ดีและไว้วางใจได้

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง

05 กุมภาพันธ์ 2561

ทุกวัน...เราทำงานร่วมกับพระเจ้าหรือเปล่า?

ถ้าพระเจ้ามิใช่แก่นกลาง หรือ เสาหลักในงานต่าง ๆ ที่เราทำในชีวิตแต่ละวันแล้ว  แรงงานความสามารถที่เราทุ่มเททำไปก็ไร้คุณค่า หาแก่นสารมิได้   ไม่ว่าเราจะทำหน้าที่ผู้นำในกองทัพ  ผู้บริหารในสถาบัน  ผู้นำในหน่วยงาน  การเป็นศิษยาภิบาล  กรรมกรที่ขายแรงงาน  เกษตรกรผู้เพาะปลูก  หรือแม้แต่การทำงานบ้าน  ถ้าเราไม่มีพระคริสต์ทรงเป็นแก่นกลางเสาหลัก หรือ สรณะในการดำเนินชีวิต และ การประกอบอาชีพประจำวันของเราแล้ว   สิ่งต่าง ๆ ที่เราทุ่มเททำไป ในที่สุดก็พบแต่ความว่างเปล่าหาสาระคุณค่ามิได้

พระคริสต์ได้สัญญากับเราว่า  พระองค์จะสถิตกับเราในชีวิตทุกวันจนกว่าจะสิ้นยุค  แต่เราคงต้องตระหนักชัดทุกวันทุกเวลาด้วยว่า  พระคริสต์สถิตกับเรา  แล้วเราให้พระคริสต์สถิต ณ จุดใด ตำแหน่งใดในชีวิตประจำวันของเรา? 

เราให้พระประสงค์ของพระองค์เป็นความต้องการเป้าหมายในชีวิตของเราหรือไม่?  

เราให้พระองค์เป็นแสงสว่างชี้นำทางเรา หรือ เราให้พระองค์วิ่งไล่ตามหลังเรา? 

เราทูลขอให้พระองค์ทำอย่างที่เราต้องการ  หรือ เราพร้อมจะติดตามพระองค์ไป?

เรามุ่งมั่นทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยปัญญาความสามารถของเราเท่านั้น หรือ เราพึ่งพิงในพระปัญญาของพระองค์ด้วย? 

เราพึ่งพิงคนรอบข้าง  เราไว้ใจคนที่จะ “โหวตหรือลงคะแนนเสียงให้เรา” หรือ  ความหวังของเราขึ้นอยู่กับคนรอบข้างที่เรานำ หรือ อนาคต ฐานะ ตำแหน่ง  ความหวังของเราอยู่ที่พระประสงค์ของพระเจ้า?  

ความสำเร็จของเราขึ้นอยู่กับงบประมาณ หรือ ความสำเร็จของเราอยู่ที่พระราชกิจที่ทรงกระทำในสถานการณ์/ชีวิตการงานของเราในแต่ละวัน? 

ทุกวันนี้เราขับเคลื่อนชีวิตการงานแต่ละวันของเราด้วยกำลังของเรา หรือ ขับเคลื่อนชีวิตการงานด้วยพลังชีวิตจากองค์พระวิญญาณบริสุทธิ์ ที่อยู่ในชีวิตเรา?

ทุกวันนี้เราพยายามควบคุมชีวิตของเราให้ดำเนินไปตาม “คำสอน” ของพระคริสต์  หรือ  พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงควบคุม และ ประทาน พลังชีวิตด้านต่าง ๆ แก่เรา ให้ขับเคลื่อนไปตามพระประสงค์ของพระองค์?  

ทุกวันนี้เราพยายามที่จะมีชีวิตและทำสิ่งที่ดีแด่พระคริสต์ หรือ ทุกวันนี้พระคริสต์ทรงเปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างชีวิตของเราขึ้นใหม่ผ่านสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เราเผชิญหน้า   เพื่อเราจะเติบโตเข้มแข็งขึ้น  มีชีวิตที่เกิดผลดีตามพระประสงค์แห่งการทรงสร้างของพระเจ้า “จงเกิดผลดีทวีมากขึ้นทั่วทั้งแผ่นดิน”

สิ่งที่เราจะต้องระมัดระวังคือ...

ในการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา  ถ้าเราคิดที่จะพึ่งพิงกำลังความสามารถของตนเอง หรือ หวังพึ่งกำลังสนับสนุนจาก “ฐานเสียง” หรือ “คนรอบข้าง”  ที่เป็นกำลังความสามารถของเรา และ ผู้สนับสนุนเรา  เมื่อนั้นความทุกข์ยากลำบาก  ปัญหา ความวิบัติก็จะเกิดขึ้น   เพราะสิ่งเหล่านั้น พระเจ้าเท่านั้น ที่จะทรงกระทำได้

หากองค์พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้ทรงสร้างบ้าน
ผู้สร้างลงแรงไปก็เหนื่อยเปล่า
หากองค์พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้ทรงพิทักษ์รักษานคร
คนยามยืนเฝ้าอยู่ก็เหนื่อยเปล่า    (สดุดี 127:1 อมธ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง

02 กุมภาพันธ์ 2561

พระวจนะเปลี่ยนและสร้างชีวิตเราอย่างไร?

ปัญญาจากผู้เฒ่า

มีเรื่องเล่าว่า  มีชายผู้สูงวัยอาศัยอยู่บนภูเขากับหลานชายคนหนึ่ง   ทุกเช้าผู้เป็นปู่จะนั่งที่โต๊ะอาหารในห้องครัวอ่านพระคัมภีร์เล่มเก่าคร่ำคร่าของตน  ผู้เป็นหลานอยากจะเป็นเหมือนปู่ของตน   เขาอยากที่จะอ่านพระคัมภีร์เป็นประจำทุกวัน

วันหนึ่งหลานชายถามปู่ว่า  “ปู่ครับ   ผมพยายามอ่านพระคัมภีร์อย่างปู่  แต่อ่านอย่างไงก็ไม่เข้าใจ  และเมื่อพอจะรู้เรื่องบ้าง   แต่เมื่อปิดพระคัมภีร์ไปไม่เท่าใดก็ลืมเรื่องที่อ่านนั้น   แล้วปู่ว่าการอ่านพระคัมภีร์มันมีประโยชน์อะไร?   อ่านไปทำไมกัน?

ปู่ตอบหลานว่า   “หลานปู่...เอาถังตักน้ำเก่า ๆ ใบนี้ลงเขาไปที่แม่น้ำแล้วตักน้ำหิ้วขึ้นมาบ้านให้ปู่สักถัง”

หลานชายทำอย่างที่ปู่บอกให้ทำ   แต่เมื่อกำลังหิ้วน้ำขึ้นเขามา  ปรากฏว่าน้ำรั่วออกไปจากถัง   เมื่อมาถึงบ้านในถังไม่เหลือน้ำเลย   ผู้เป็นปู่บอกให้หลานลงไปตักใหม่   และให้รีบนำน้ำขึ้นมาบ้านให้เร็วกว่าเดิม   ปู่ทำเช่นนี้กับหลานถึงสามรอบ   และในทุกรอบก็กระตุ้นให้หลานรีบหิ้วน้ำขึ้นมาบ้านให้เร็วกว่าครั้งก่อน   แต่ทุกครั้งหลานก็มาพร้อมกับถังน้ำที่น้ำรั่วไปหมดแล้ว

ในที่สุด  หลานชายกระหืดกระหอบพูดกับปู่ว่า  “ปู่ครับ...ไม่เป็นประโยชน์เลย”

ผู้เฒ่าพูดกับหลานว่า  “ลองดูข้างในถังซิหลานมันมีอะไรเปลี่ยนแปลงไหม?   ถังเก่าใบนี้ดูสะอาดสดใสกว่าเดิมไหม?   หลานเอ๋ย...นี่แหละคือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเราอ่านพระคัมภีร์เป็นประจำทุกวันไม่ย่อท้อ   หลานอาจจะไม่สามารถเข้าใจทุกเรื่องที่อ่าน หรือ จำทุกข้อได้   แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตของหลานคือ  พระวจนะของพระเจ้าเปลี่ยนชีวิตข้างใน เปลี่ยนวิธีคิด มุมมอง การตัดสินใจของหลาน  และ ก็ทำให้ชีวิตภายนอกของหลานเปลี่ยนตามไปด้วย”

ผู้ที่เชื่อศรัทธาในพระเยซูคริสต์ที่อาศัยในโลกที่ทันสมัย วุ่นวาย สับสน แตกแยก เสื่อมเสีย  ทั้งท่านและผมต่างต้องซึมซับเอาพระวจนะของพระเจ้าเข้ามาในความคิดจิตใจทุกวัน   แล้วพระวจนะนั้นจะค่อย ๆ ขัดล้างเปลี่ยนแปลงความคิดจิตใจของเราทุกวันให้ค่อย ๆ สดใสสะอาดขึ้น   แม้ว่าเราบางคนอาจจะไม่สามารถที่จะจดจำหรือเข้าใจพระคัมภีร์ในทุกเรื่องที่เราอ่านและใคร่ครวญ   แต่เราต้องไม่ลืมว่า พระเจ้าทรงใช้พระวจนะของพระองค์ในแต่ละข้อแต่ละตอนที่จะชัดถู ชำระล้าง  และทำให้ความคิดจิตใจของเราสะอาดสดใสขึ้น วันต่อวัน ทุกวัน   เราต้องตระหนักเสมอว่า การอ่านพระวจนะเพื่อให้พลังแห่งพระวจนะเปลี่ยนแปลงเราจากภายในชีวิต  เริ่มต้นที่ความคิด และ จิตใจของเรา

ขอให้เราท่านทุกคน ได้อุทิศถวายชีวิตที่เราเป็นอยู่แด่พระเจ้าในการอ่านพระวจนะของพระองค์เป็นประจำทุกวัน  ด้วยความสัตย์ซื่อ  ด้วยความจงรักภักดี  และด้วยจิตใจที่น้อมถวายแด่พระเจ้า   และให้เราทูลขอต่อพระองค์โปรดใช้พระวจนะของพระองค์ที่จะขัดถูก ชะล้าง  และเสริมสร้างชีวิตประจำวันของเราขึ้นใหม่   ให้มีชีวิตอย่างพระคริสต์มากยิ่ง ๆ ขึ้นทุกวัน

(พระคริสต์)​ตรัส​ตอบ​ว่า “มี​พระ​คัม​ภีร์​เขียน​ไว้ว่า
‘มนุษย์​จะ​ดำรง​ชีวิต​ด้วย​อาหาร​เพียง​อย่าง​เดียว​ไม่​ได้
แต่​ต้อง​ดำรง​ชีวิต​ด้วย​พระ​วจนะ​ทุก​คำ
ซึ่ง​ออก​มา​จาก​พระ​โอษฐ์​ของ​พระ​เจ้า’ ”  (มัทธิว 4:4 มตฐ.)


พระ​องค์​ทรง​ทำ​ให้​ท่าน​ถ่อม​ใจ
ทรง​ปล่อย​ท่าน​ให้​หิว และ​ทรง​เลี้ยง​ท่าน​ด้วย​มานา
ซึ่ง​ท่าน​เอง​หรือ​ปู่​ย่า​ตา​ยาย​ของ​ท่าน​ก็​ไม่​ทราบ​ว่า​เป็น​อะไร
เพื่อ​พระ​องค์​จะ​ทรง​ทำ​ให้​ท่าน​เข้า​ใจ​ว่า
มนุษย์​ไม่​ได้​ดำรง​ชีวิต​อยู่​ด้วย​อาหาร​เพียง​สิ่ง​เดียว
แต่​มนุษย์​จะ​ดำรง​ชีวิต​อยู่​ได้​ด้วย​ทุก​สิ่ง​ที่​ออก​มา​จาก​พระ​โอษฐ์​ของ​องค์พระผู้เป็นเจ้า
(เฉลยธรรมบัญญัติ 8:3 สมช.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง