07 กุมภาพันธ์ 2561

เมื่อผู้นำ...ใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล


ถ้าเราต้องการที่จะ “รู้” ว่าคน ๆ นั้นเป็นคนแบบไหน   เราวัดได้จากการใช้อำนาจของเขา   เฉกเช่นกษัตริย์ดาวิด  ใน 2ซามูเอล บทที่ 11   ใช้อำนาจที่ “ละเลย กลบเกลื่อน หรือ มองข้ามไปว่า  ในการที่ผู้นำใช้อำนาจที่มีอยู่ก็เพื่อ... “การรับใช้” เท่านั้น   แต่เมื่อใดก็ตามที่ผู้นำใช้อำนาจที่มีเพื่อตนเอง(และพวกพ้อง)   เมื่อนั้น ผู้นำได้ใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล  

15 ดาวิด​ทรง​เขียน​จด​หมาย​สั่งโยอาบว่า “จง​ตั้ง​อุรี​ยาห์​ให้​อยู่​กอง​หน้า​ของ​การ​รบ​ที่​ดุเดือด​ที่​สุด แล้ว​ให้​พวก​เจ้า​ถอย​ไป​จาก​เขา​เพื่อ​ให้​เขา​ถูก​ฆ่า​ตาย” (2ซามูเอล 11:15 สมช.)

ต่อไปนี้เป็นกระบวนการการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล

ขั้นที่ 1:  เกิดความสนใจ  แล้วก็บอกกับตนเองว่า  “ฉันน่าจะได้สิ่งนี้”  “(ดาวิด) ทอด​พระ​เนตร​จาก​หลัง​คา​เห็น​ผู้หญิง​คน​หนึ่ง​อาบ​น้ำ​อยู่ หญิง​คน​นั้น​สวย​งาม​น่าดู​มาก” (ข้อ 2)   บ่อยครั้งผู้นำมักบอกตนเองว่า “ฉันน่าจะได้สิ่งนั้น”   แม้จะมิใช่สาวสวยอย่างบัทเชบาก็ตาม!

ขั้นที่ 2:  ให้ความสำคัญแก่ตนเอง  “ฉันต้องการสิ่งนี้”  “ดาวิด​ทรง​ส่ง​คน​ไป​ไต่​ถาม​เรื่อง​ผู้หญิง​คน​นั้น...” (ข้อ 3) น่าสังเกตว่า  จากความคิดความรู้สึกที่บอกตนเองว่า “ฉันน่าจะได้สิ่งนั้น”  ถ้าเราไม่หยุดตนเอง  มันก็พัฒนาต่อไปเป็น “ฉันต้องการสิ่งนั้น”

ขั้นที่ 3:  ตอบสนองความพึงพอใจของตนเอง  “ฉันจะทำให้ได้สิ่งนี้”  ดาวิด​ก็​ทรง​ส่ง​พวก​ผู้​สื่อ​สาร​ไป และ​เขา​ก็​นำ​นาง​มา นาง​มา​เฝ้า​พระ​องค์ แล้ว​พระ​องค์​ทรง​หลับ​นอน​กับ​นาง (ข้อ 4)   ไม่ทันรู้ตัว  ผู้นำก็ใช้เครื่องมือ เส้นสาย ที่ตนมีอยู่ไปไขว่คว้าหาสิ่งนั้นมาเป็นของตนจนได้

ขั้นที่ 4:  เห็นแก่ตัว “ฉันสั่งให้จัดการในสิ่งที่ฉันต้องการ”  ดาวิด​ทรง​เขียน​จด​หมาย​สั่งโยอาบ​ว่า “จง​ตั้ง​อุรี​ยาห์​ให้​อยู่​กอง​หน้า​ของ​การ​รบ​ที่​ดุเดือด​ที่​สุด แล้ว​ให้​พวก​เจ้า​ถอย​ไป​จาก​เขา​เพื่อ​ให้​เขา​ถูก​ฆ่า​ตาย” (ข้อ 15)  ในที่สุดผู้นำคนนั้นก็ใช้แผนกลโกงปิดบังความชั่วช้าสามานย์ที่ตนได้ทำลงไป   หาทางป้ายสีความผิดให้แก่คนอื่น (คนอัมโมนเป็นคนฆ่า  ไม่ใช่ดาวิด ไม่ใช่กองทัพอิสราเอล)

เมื่อเราพิจารณาถึง “กลยุทธ์” ที่กษัตริย์ดาวิดวางแผนและใช้ในการทำความผิดบาปร่วมกับนางบัทเชบาครั้งนี้   เราสามารถเห็นถึง การใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลของกษัตริย์ดาวิด 5 ประการด้วยกัน ดังนี้
  1. ผู้นำไม่ได้ประพฤติตามวินัย ระเบียบการดำเนินชีวิตที่ตนต้องการให้ผู้อื่นปฏิบัติ
  2. มองว่า ตนเป็นเจ้าของลูกน้องของตน  ที่ตนจะใช้เขาอย่างไรก็ได้ตามที่ตนต้องการ
  3. มุ่งแต่ทำสิ่งต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น(ตามที่ตนปรารถนา) มากกว่าจะทำสิ่งต่าง ๆ อย่างถูกต้อง
  4. ปฏิเสธ หรือ มองข้ามว่า ตนอาจจะละเลย หรือ มองพระประสงค์ของพระเจ้าอย่างผิดพลาด
  5. เชื่อว่า ลูกน้องที่ยอมทำตามคำสั่งของตน  คือผู้ตามที่ดีและไว้วางใจได้

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น