28 มกราคม 2558

สุขศานติ์วันทำงาน...เพราะ...

สัปดาห์นี้ เป็นสัปดาห์สุดท้ายของเดือนแรกในการทำงานของปีใหม่ 2015

พูดได้ว่าเราก้าวเท้าข้ามธรณีประตูเข้าสู่วันทำงานในปี ค.ศ. 2015 ไปได้เกือบหนึ่งเดือนแล้วครับ   ไม่ว่าจะเป็นงานในบริษัท   ในทุ่งนา  ในตลาด  ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย   ในโรงพยาบาลหรือในสำนักงาน  ในตลาดหุ้น  ในห้างสรรพสินค้า  หรือ  แม้แต่การทำงานในบ้านก็ตาม

ในฐานะคริสตชนสิ่งหนึ่งที่จำเป็นจะต้องตระหนักเสมอในการทำงานตลอดปีใหม่นี้คือ...

พระเจ้าไม่ได้มายืนส่งเราที่หน้าบ้าน   เมื่อเราหิ้วกระเป๋า หรือ สะพายเป้ออกจากบ้านไปที่ทำงาน   แล้วกล่าวกับเราว่า   “บ้ายบาย...   มีความสุขกับการทำงานนะ...  แล้วพบกันเย็นนี้”

แต่ในความเป็นจริงที่เราคริสตชนต้องตระหนักชัดเสมอคือ   พระเจ้าไปที่ทำงานกับเรา   พระองค์อยู่กับเราในที่ทำงานของเรา   พระองค์อยู่ด้วยในทุกสถานการณ์   พระองค์จะไม่ละทิ้งเราให้เผชิญสภาวการณ์ต่าง ๆ ด้วยตนเอง   พระองค์พร้อมกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของเรา  ผ่านชีวิตของเรา   ในเวลาที่เราทำงานที่โต๊ะทำงาน   เมื่อต้องพบกับเจ้านาย   เมื่อต้องปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน   ลูกค้า  คนที่มารับบริการ  หรือแม้แต่เจ้าหนี้ที่มาทวงถามหนี้ที่เราคั่งค้างอยู่!

พระเจ้าทรงสัญญาว่าพระองค์จะสถิตอยู่กับเราเสมอ

พระองค์จะประทานพระผู้ช่วยเราคือองค์พระวิญญาณบริสุทธิ์ให้สถิตอยู่กับเรา   ให้เป็นกำลังด้านต่าง ๆ ของเรา   ทั้งกำลังในความคิด  เป็นปัญญาในการตัดสินใจ   และ เป็นความกล้าหาญในการเผชิญหน้ากับวิกฤติต่าง ๆ ที่ดาหน้าเข้าหาเรา  

นอกจากที่พระเจ้าจะทรงปกป้องเราจากสิ่งที่เลวร้ายเหลือกำลังที่เราจะรับมือไว้ได้ด้วยตนเองแล้ว

พระเจ้าจะทรงให้ “คำพูด” “การตอบโต้” “การแสดงความคิดเห็น”  หรือ  “สิ่งที่เราจะต้องพูด”  แก่เราในเวลาคับขันที่เราจะต้องสื่อสาร (ลูกา 12:12)

ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้มิใช่พระเจ้าทำแทนเรา  แล้วเราเพียงอยู่เฉย ๆ ไม่ต้องทำอะไร

แต่ทั้งสิ้นนี้กำลังบอกว่า   ให้เราตระหนักชัดถึงการที่พระเจ้าทรงอยู่ด้วยกับเราเสมอในทุกที่ทุกสถานการณ์   แล้วพระองค์ยังทรงทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของเรา   เพื่อจะทรงฝึกฝน เสริมสร้างให้เรามีชีวิตที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ในพระคริสต์   ที่พระองค์จะทรงทำงานผ่านชีวิตของเรา  คือพระองค์สามารถใช้เราตามพระประสงค์ของพระองค์

ในปีนี้โปรดตระหนักชัดว่า พระเจ้าทรงอยู่กับท่านในทุกที่ทำงาน  ทุกสถานการณ์ และ ทุกเวลาวันคืนแห่งชีวิต   พระองค์มิได้อยู่กับเราเฉย ๆ เท่านั้น   แต่ทรงทำงานในชีวิตของเรา  เพื่อเสริมสร้างเราให้เป็นคนที่พระองค์จะทรงใช้ได้

เมื่อพระองค์อยู่กับเราทุกที่   เราต้องไม่หลงลืมละทิ้งให้พระองค์ต้อง “โดดเดี่ยว” ในชีวิตของเรา!?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

19 มกราคม 2558

ติดสนิทแค่ไหน?

และบัดนี้ลูกทั้งหลายเอ๋ย จงอยู่ในพระองค์
(1ยอห์น 2:28 มตฐ.)

คนที่เคยปลูกและดูแลต้นไม้ย่อมรู้ดีว่า   กิ่งจะเกิดดอกออกผลได้ก็ต่อเมื่อกิ่งนั้นยังติดสนิทอยู่กับลำต้น   แต่ถ้ากิ่งไหนถูกตัดให้ขาดจากลำต้น  กิ่งนั้นก็ไม่สามารถเกิดผล   ทำไมหรือ?   เพราะท่อน้ำเลี้ยงที่ส่งอาหารจากรากขึ้นลำต้นและจากลำต้นที่ไปเลี้ยงกิ่งก้านเล็กใหญ่ถูก “ตัดขาด”  ดังนั้นจึงไม่มีอาหารหรือน้ำเลี้ยงไปเป็นอาหารเลี้ยงกิ่งนั้น   กิ่งจึงต้องติดสนิทแนบกับลำต้น   มีท่อน้ำเลี้ยงจากลำต้นไปยังส่วนต่าง ๆ ของกิ่ง   เพื่อน้ำเลี้ยงจะสามารถเข้าไปอยู่ในกิ่งนั้นแล้วเป็นอาหารเลี้ยงกิ่งนั้นให้มีชีวิต เติบโต แข็งแรง  เกิดดอกออกผลได้

ชีวิตคริสตชนก็เช่นกัน  พระเยซูคริสต์ชี้ประเด็นนี้แก่สาวกว่า “เรา​เป็น​เถา​องุ่น ท่าน​ทั้ง​หลาย​เป็น​แขนง ผู้​ที่​เข้า​สนิท​อยู่​ใน​เรา​และ​เรา​เข้า​สนิท​อยู่​ใน​เขา ผู้​นั้น​ก็​จะ​เกิดผล​มาก เพราะ​ถ้า​แยก​จาก​เรา​แล้ว​ท่าน​จะ​ทำ​สิ่ง​ใด​ไม่ได้​เลย”​ (ยอห์น 15:5, 1971)   ในที่นี้พระเยซูคริสต์ชี้ชัดลงไปว่า   มิใช่แค่ให้กิ่งติดอยู่กับลำต้นเท่านั้น   แต่ท่อน้ำเลี้ยงจากลำต้นต้องต่อสนิทและสามารถเป็น “ท่อ” ส่งน้ำเลี้ยงจากลำต้นไปเลี้ยงบำรุงกิ่งได้อย่างดีด้วย   ที่กล่าวเช่นนี้เพราะพระเยซูคริสต์อธิบายว่า  “ผู้ที่เข้าสนิทอยู่ในเรา และ เราเข้าสนิทอยู่ในผู้นั้น”  จะเกิดผลมาก

ขอตั้งข้อสังเกตว่า   มิเพียงแต่ให้เราเข้าสนิทในพระเยซูเท่านั้น   แต่พระเยซูคริสต์เข้าสนิท “อยู่ในผู้นั้น” ด้วย   ในที่นี้หมายความว่า   แค่การที่กิ่งอยู่ติดกับต้นนั้นไม่เพียงพอ   แต่อาหารจากลำต้นต้องสามารถส่งผ่านเข้าไปเลี้ยงกิ่งนั้น ๆ ได้ด้วย   คำที่สำคัญที่พระคริสต์ชี้ชัดคือ “เราเข้าสนิทอยู่ในเขา”  คือการที่พระเยซูคริสต์เข้าสนิทและอยู่ในชีวิตของเราแต่ละคน  

และที่เราเกิดผลเพราะพระคริสต์เป็นผู้กระทำพระราชกิจในชีวิตของเรา

นั่นหมายความว่า  การที่คริสตชนแต่ละคนสามารถเติบโต เข้มแข็ง และเกิดดอกออกผลได้นั้น   เพราะพระคริสต์ทรงสถิตและเป็นน้ำเลี้ยงชีวิตของคริสตชนคนนั้น ๆ พระองค์กระทำให้ชีวิตที่เข้าไปอยู่ด้วยนั้นเติบโต   และพระวิญญาณของพระเจ้าทรงเป็นกำลังที่เข้มแข็งของเขา   แล้วพระคริสต์ทรงกระทำให้ชีวิตของเขาให้เกิดผลตามพระประสงค์ของพระองค์

ถ้าเช่นนั้น  คริสตชนคงต้องกลับมาพิจารณาถึงชีวิตที่ “ติดสนิทกับพระเจ้า” ให้ถ้วนถี่อีกสักครั้งหนึ่ง

ทุกวันนี้เราติดสนิทกับพระเจ้าในระดับไหน?   เราติดสนิทกับพระเจ้าเพราะเราอธิษฐานทุกวัน   เราไปนมัสการพระเจ้าในเช้าวันอาทิตย์   เราไปร่วมกลุ่มแจกใบปลิว   เราไม่ขาดการถวายทรัพย์  ฯลฯ   แต่ขอถามว่า  แล้วพระเยซูคริสต์  เข้าไปเป็นน้ำเลี้ยงในชีวิตประจำวันของเราหรือไม่?   พระเยซูคริสต์ทรงกระทำพระราชกิจในชีวิตของเราหรือไม่?   พระเจ้าทรงเป็นกำลังในทุกสถานการณ์ชีวิตของเราหรือไม่?   ท่านได้เปิดชีวิตให้พระคริสต์เข้าสนิทอยู่ในชีวิตของท่านแล้วหรือยัง?

เราอาจจะทำศาสนพิธีในรูปแบบต่าง ๆ มากมายเป็นประจำ   แต่เราต้องให้ท่อน้ำเลี้ยงชีวิตจากพระคริสต์เข้าในชีวิตของเราเป็นท่อที่ต่อติดสนิทกับพระคริสต์ที่น้ำเลี้ยงชีวิตจากพระองค์สามารถไหลเข้าในชีวิตของเราได้   และที่สำคัญกว่านั้นคือ   การที่เรายอมเปิดชีวิตของเราให้พระคริสต์ทรงกระทำพระราชกิจตามพระประสงค์ของพระองค์   เพื่อชีวิตของเราจะเกิดดอกออกผลตามที่พระองค์ทรงต้องการ (มิใช่ที่เราปรารถนา)

จากประสบการณ์ชีวิตในพระเยซูคริสต์   การติดสนิทกับพระเจ้า  และพระคริสต์ทรงเข้าอยู่ในชีวิตและกระทำพระราชกิจในชีวิตของเรานั้น   เป็นประเด็นและจุดประสงค์หลักของการที่เราเชื่อศรัทธาในพระเยซูคริสต์   แต่เป็นสิ่งที่ต้องปล้ำสู้มาตลอดเวลาของชีวิต   ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยากมากในชีวิตคริสตชน   ทั้งนี้เพราะพลังอำนาจแห่งความบาปชั่วในรูปแบบต่าง ๆ ที่แผ่ขยายครอบงำในโลกนี้   จะต่อต้านขัดขวางทุกหนทางเพื่อมิให้คริสตชนติดสนิทกับพระเจ้าจนเปิดชีวิตให้พระคริสต์เข้าไปครอบครองในชีวิตของตน   เพราะนั่นเท่ากับอำนาจบาปชั่วต้องพ่ายแพ้  

ดังนั้นมารจึงพยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้คริสตชนรู้สึกสบายใจที่ได้ทำความดี   ที่ได้ทำศาสนพิธี   แต่จะมีพลังขวางต้านทุกครั้งเมื่อเราคิดจะเอาจริงเอาจังที่จะให้พระคริสต์เป็นใหญ่ในชีวิตของตน   และประเด็นที่ต้องระวังคือ   การที่คริสตจักรพยายามจัดให้มีกิจกรรมมากมายที่จะทำในคริสตจักร   แล้วทำให้สมาชิกรู้สึกสบายใจที่ได้ร่วมในกิจกรรมเหล่านั้น    ระวังที่คริสตจักรจะมีงานมากมายจนไม่สามารถที่จะช่วยให้สมาชิกของตนเรียนรู้ที่จะมี “ท่อน้ำเลี้ยงชีวิต”  ที่ต่อติดสนิทจนน้ำเลี้ยงชีวิตจากพระคริสต์เข้ามาอยู่ในชีวิตของสมาชิก   และให้พระคริสต์กระทำพระราชกิจในชีวิตของคริสตชนแต่ละคน

คริสตชนต้องระวังว่า   เราอาจจะง่วนอยู่กับการกระทำความดีให้ผู้คนพอใจ  และตนเองภูมิใจ  ใช้เวลากับศาสนพิธี   ทำกิจกรรมมากมายที่คริสตจักรได้จัดขึ้น   จนเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าในวันอาทิตย์   และต้องระวังว่า เรากำลังทำผิดพระมหาบัญญัติที่ว่า   รักพระเจ้าด้วยสุดจิตสุดใจและความนึกคิดของเรา   เพราะเรามิได้มีพระเจ้าทรงเป็นเอกเป็นต้นในชีวิตของเรา   แต่เรากลับไปให้สิ่งอื่นที่ทำเป็นเรื่องสำคัญกว่าการที่จะมีชีวิตที่พระเจ้าทรงเป็นผู้ครอบครอง

การตัดท่อน้ำเลี้ยงแห่งชีวิตจากพระคริสต์   คือการแยกขาดคริสตชนออกจาการติดสนิทกับพระคริสต์  ขวางการทำงานของพระคริสต์ในชีวิตคริสตชน   และนี่คือยุทธการของมารที่ต้องการทำให้ชีวิตของคริสตชนแห้งเฉาไปในที่สุด   ไม่มีกำลังในตนเอง   ง่ายที่มารจะครอบงำตามใจปรารถนาของมันต่อไป

ประเด็นใคร่ครวญ
  1. ทุกวันนี้เราได้ทุ่มเท และ ทำอะไรบ้างที่ให้เวลามากกว่าการติดสนิทสัมพันธ์ให้พระคริสต์  เพียงมีเวลาอ่านพระคัมภีร์  อธิษฐาน  ร่วมนมัสการเช้าวันอาทิตย์  ประกอบศาสนพิธี  หรือร่วมกิจกรรมคริสตจักร?
  2. ท่านทำอะไรที่แสดงถึงการที่ท่านให้ความสำคัญลำดับต้น ๆ ของการมีชีวิตที่เติบโต แข็งแรง  และเกิดผลในจิตวิญญาณ?   ท่านคิดว่าอะไรคือรากฐาน หรือ สาเหตุหลักของการเติบโต แข็งแรง เกิดผลในชีวิตท่าน?
  3. ท่านคิดว่า  ท่านจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในชีวิต   ที่ท่านจะมีชีวิตที่ติดสนิทกับพระคริสต์  จนพระคริสต์สนิทและทำพระราชกิจในชีวิตของท่าน?


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

16 มกราคม 2558

ท่านเป็นผู้นำแบบไหน?:

ช่วยให้ทีมงานพบความคิดของตนเอง หรือ ใส่ความคิดให้กับทีมงาน?

โดยทั่วไปแล้ว ผู้นำมักมองตนเองหรือบ่อยครั้งที่คนอื่นมองว่า “ผู้นำ” ต้อง “เก่ง” กว่าคนอื่นในทีมงาน   โดยเฉพาะอย่างยิ่งมักคิดว่า “ผู้นำ” ต้องเป็นคนที่มีความรู้  มีข้อมูล ที่รอบด้าน  ที่เป็นปัจจุบัน และ ครบถ้วนกว่าลูกน้องในทีมงาน   ดังนั้น ผู้นำประเภทนี้จึงมักทำหน้าที่ “ใส่” ข้อมูล ความรู้ และวิธีการให้แก่ลูกน้องในทีมงาน   เพื่อพวกเขาจะทำงานที่มีประสิทธิภาพ และ เกิดประสิทธิผล (ตามที่ตนต้องการ) มากยิ่งขึ้น

และนี่เป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นกรอบความคิดของผู้นำที่ “หลอกตนเอง”   เป็นความจริงและเป็นความรับผิดชอบของผู้นำที่จะต้องทำให้ทีมงานมีความรู้ ข้อมูล และวิธีการทำงานที่มีประสิทธิภาพและเป็นปัจจุบัน   แต่ผู้นำไม่จำเป็นจะต้องเป็น “ผู้รอบรู้” แต่เพียงผู้เดียว   เพราะในความจริงแล้วสิ่งที่ผู้นำรู้  อาจจะมีคนอื่นในทีมงานที่รู้ด้วย   เพียงแต่เขาอาจจะมีวีการนำเสนอ  กระบวนการสื่อสารที่แตกต่างจาก “ผู้นำ” เท่านั้น   และในความแตกต่างกันนั้นมิใช่ของผู้นำดีกว่ามีประสิทธิภาพกว่า คนในทีมงานคนอื่น ๆ เสมอไป

หน้าที่ของ “ผู้นำ” คือ ทำอย่างไรที่จะให้ทีมงานมีข้อมูล ความรู้ และทักษะวิธีการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด   จะด้วยการนำเสนอ หรือ การสื่อสารแบ่งปันของผู้นำต่อทีมงาน   หรือ  การทำหน้าที่กระตุ้น หนุนเสริม หรือ ดูดดึงความคิด ข้อมูล หรือ ทักษะดังกล่าวจากทีมงานบางคนที่มีความสามารถ  และที่เราไว้เนื้อเชื่อใจ   ให้เขาเป็นผู้ที่นำเสนอความคิด ข้อมูล วิธีการใหม่ ๆ สำคัญ ๆ แก่ทีมงาน

ผู้นำบางคนอาจจะรู้สึกว่า   ตนไม่ได้แสดงถึงภาวะผู้นำของตนต่อทีมงาน   และเกรงว่าภาวะผู้นำของตนจะลดทอนลง และ คนอื่นในทีมจะมีความสามารถมีอิทธิพลต่อการนำทีมขยับมากขึ้นกว่าตน   จนกลายเป็นความคิดที่หลอกตนเองว่า  “ภาวะผู้นำคือการที่เราต้องเหนือกว่าคนอื่น ๆ ทีมงาน”   “ภาวะผู้นำคือคนที่รู้ทุกเรื่อง ทำทุกสิ่งได้ดีกว่าคนอื่น”   ถ้าผู้นำที่มีความคิดที่ “หลอกตนเอง” เช่นนี้ย่อมจะไม่ค่อยเปิดโอกาสให้คนอื่นแสดงความรู้ ความคิด ข้อมูล และ วิธีการที่สำคัญแก่ทีมงาน   เพราะ “กลัว” ลูกทีมบางคนจะเกินหน้า   และนี่คือจุดแห่งภาวะถดถอยขององค์กร

ผู้นำต้องยอมรับความจริงอีกประการหนึ่งว่า   ไม่ใช่ทุกเรื่องที่ผู้นำนำเสนอ หรือ ใส่ข้อมูลลงไปในทีมงานจะเป็นที่ “ยอมรับ” ของลูกทีมเสมอไป   แต่ผู้นำกลับมาคิดน้อยอกน้อยใจเมื่อคนในทีมงานเสนอเรื่องเดียวกัน   แต่อาจจะมีวิธีการสื่อสารนำเสนอที่แตกต่างกัน   กลับเป็นที่ยอมรับและเป็นที่เข้าอกเข้าใจของทีมงาน   ผู้นำที่หลอกตนเองก็จะพยายามชี้ให้คนอื่นในทีมงานเห็นว่า   สิ่งที่คนนั้นนำเสนอก็เรื่องเดียวกันกับที่เขาได้นำเสนอมาก่อนหน้านี้   พยายามทำตนเป็น “เจ้าของความคิด”    ไม่ต่างอะไรกับอาการของสุนัขที่ถ่ายปัสสาวะรดที่ต่าง ๆ เพื่อประกาศความเป็นเจ้าของอาณาเขตเช่นใดเช่นนั้น

การกระทำเช่นนี้ของ “ผู้นำที่หลอกตนเอง” กลับสร้างความขัดแย้งในใจของลูกน้องในทีมงาน  หรือทำให้คนอื่นในทีมงานเห็นว่า ผู้นำจิตคับใจแคบไม่ยอมรับความคิดเห็น หรือ ข้อเสนอของคนอื่นในทีมงาน   และในความเป็นจริงหนึ่งคือ ตัวผู้นำเองมีศักยภาพความสามารถในการสื่อสารในบางเรื่องที่อาจจะด้อยกว่าคนในทีมงานก็ได้

การที่ผู้นำยอมรับความจริงเหล่านี้   แทนที่ผู้นำจะแสดงออกถึงการที่ตนเองเป็นผู้รู้ทุกเรื่องเก่งในทุกสิ่ง   แต่กลับเสาะแสวงหาทีมงานที่มีข้อมูลความรู้ และ ทักษะความสามารถในด้านต่าง ๆ   แล้วช่วยดูดและดึงเอาสิ่งดี ๆ เหล่านั้นออกมาจากคน ๆ นั้น   แล้วให้เขานำเสนอสื่อสารกับทีมงาน   การกระทำเช่นนี้ เป็นการเสริมสร้างความมั่นใจและคุณค่าในตัวทีมงานแต่ละคน   อีกทั้ง คนในทีมได้เห็นถึงความใจกว้างและความใส่ใจในการหนุนเสริมคนในทีมงานของผู้นำ   ทีมงานจะยอมรับในตัวผู้นำมากยิ่งขึ้น   และไว้วางใจผู้นำของตนอย่างไม่คลางแคลงใจใด ๆ    และนี่เป็นสายร้อยรัดเชื่อมประสานให้ทีมงานมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากยิ่งขึ้น

ผู้นำในวันนี้เขาเลิกที่จะทำตัวเป็น “พระเอก” ในทีมงาน   แต่มุ่งสร้างพระเอกในทีมงานให้มีหลากหลายคนหลากหลายบทบาทที่หนุนเสริมกันและกัน   นำไปสู่ทีมงานที่ทรงประสิทธิภาพและขับเคลื่อนไปอย่างมีคุณภาพ

ณ วันนี้   เราต้องการผู้นำที่มีความสามารถในการดูดดึงความคิดความสามารถให้ออกมาจากจากทีมงานแต่ละคนให้มากมายหลากหลายที่สุด   เพราะนั่นเป็นการเสริมสร้างศักยภาพและพลังความสามารถแก่การทำงานของทีมงาน   อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างเติมเต็มพลังใจ   ความไว้เนื้อเชื่อใจกันในทีมงาน   และการขับเคลื่อนที่ประสานหนุนเสริมกันและกันอย่างเป็นระบบ   และทีมงานแต่ละคนทำงานด้วยความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองด้วย

วันนี้เราต้องการผู้นำที่ “สร้างพระเอก” ในทีมงานให้มีมากมายหลากหลาย   มากกว่าผู้นำที่ทำตัวเป็น “พระเอก” ในทีมงานเสียเอง   เราต้องการทีมงานที่ทุกคนเป็นเจ้าของ   ที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการคิด การแสดงความคิดเห็น   มีส่วนในการวางแผน  และมีส่วนในการขับเคลื่อนตามศักยภาพและความสามารถของแต่ละคนในทีมงาน   เราไม่ต้องการทีมงานของผู้นำที่เป็นคนเก่งอยู่เพียงคนเดียว

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

13 มกราคม 2558

ปณิธาน...เมื่อชีวิตต้องเลือก:

ฉันเลิกที่จะเลือก “มีชีวิตเพื่อพระคริสต์”
แต่ฉันเลือกที่จะมีชีวิตของพระคริสต์   ให้พระองค์ทำงานในชีวิตและผ่านชีวิตของฉันตามพระประสงค์

วันนี้...
ฉันขอเลือกการมีชีวิตที่สานต่อพระราชกิจของพระคริสต์  ในบริบทและสถานการณ์ชีวิตที่ฉันเป็นอยู่
ฉันเลือกเส้นทางนี้  แม้ชีวิตจะต้องสุ่มเสี่ยง  แทนที่ชีวิตจะมีความสงบ อยู่รอด มั่นคง ปลอดภัย  และได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง   อย่างที่เคยผ่านมา

ฉันตัดสินใจลุกขึ้นเดินออกจากซอกมุมชีวิตที่สงบ ปลอดภัย และอบอุ่น
เดินออกจากกำบังชีวิตที่เคยปกป้องตนเอง
เดินออกจาก “คลัง” แห่งการทุ่มเทเพื่อทำให้คนอื่นยอมรับตนเอง

ฉันตัดสินใจเลือกที่จะ “ให้ชีวิต”  แทนที่จะ “ปกป้อง” ชีวิตของตน
ฉันตัดสินใจที่จะให้ชีวิตตามพระประสงค์ของพระคริสต์   แทนการให้ตามใจปรารถนาของตนเอง

ถึงแม้ว่า ทางที่ฉันเลือก   จะเป็น “เส้นทางแห่งกางเขน”  ที่พระคริสต์ได้เลือกและเดินไปล่วงหน้าแล้ว
เป็นเส้นทางที่ถูกปฏิเสธ  ต่อต้าน  กล่าวร้าย  ถูกทำร้าย  ทำลาย เฉกเช่นพระคริสต์ได้รับมาก่อนแล้ว
เป็นเส้นทางที่คนเคยสนิทชิดเชื้อจะทอดทิ้งตัดขาดความสัมพันธ์  
คนที่เคยยกย่องยอมรับเรากลับปฏิเสธเฉดหัวเราออกจากพวกเขา

บนเส้นทางที่เลือกนี้จะเหลือแต่จิตใจที่รัก เมตตา กรุณา เสียสละ   ที่เสริมสร้างการเอใจใส่ดูแลแทนการควบคุมและครอบครอง   จิตใจที่อภัยและยกโทษ  และวางใจในพระประสงค์ของพระเจ้าท่ามกลางความเจ็บปวดในชีวิต

แต่เส้นทางนี้...คือเส้นทางแห่งการสานต่อพระราชกิจของพระคริสต์   เป็นเส้นทางแห่งกางเขนที่นำไปสู่ “แผ่นดินของพระเจ้า”   สู่สังคมโลกที่เป็นไปตามน้ำพระทัยของพระบิดาที่เป็นรูปธรรม

บนเส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่ฉันเลือก  ที่ทูลขอพระคริสต์โปรดกระทำพระราชกิจในชีวิต และ ผ่านชีวิตของฉัน
แทนที่เคยคิดว่า  “ชีวิตฉันอยู่และทำเพื่อพระคริสต์”
ฉัน “ไม่เก่งกาจสามารถ” ถึงปานนั้นหรอกที่จะทำอะไรต่อมิอะไร “เพื่อพระคริสต์”  
แต่พระคริสต์ต่างหากที่ทรงกระทำสิ่งยิ่งใหญ่เพื่อฉัน!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

08 มกราคม 2558

ความฝันในชีวิต...การทรงเรียกจากพระเจ้า

คุณมีเสรีที่จะ “ฝัน”  
แต่คุณจะต้องจาริกไปบนเส้นทางที่จะไปถึงฝันนั้น   ความฝันถึงจะเป็นจริงได้
คุณจะต้องทำการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่คุณเชื่อ   ให้ปรากฏจริงเป็นรูปธรรมที่คุณทำ
ไม่มีความฝันใดที่จะเป็นจริงได้โดยไม่ต้องจ่ายค่างวดราคาแห่งชีวิต
ถ้าคุณต้องการให้ความฝันก้าวเข้าสู่ความจริง
คุณต้องเต็มใจที่จะลงมือทำ  ทุ่มเท  ทุ่มชีวิตของคุณ  กล้าเผชิญสิ่งต่าง ๆ
มิใช่เพียงนั่งฝัน...รอให้ความฝันปรากฏเป็นจริง...เป็นรูปธรรม
คุณต้องยอมเสียสละความสะดวกสบายในชีวิต 
ทรัพย์สินเงินทอง   เวลา  พละกำลัง  เพื่อทำฝันนั้นให้เป็นจริง
อะไรคือความ “ฝัน” “ความใฝ่ฝัน” “นิมิต” ที่คุณมีในชีวิต  ในองค์กรของคุณ?
ถ้าจะให้ “ความฝัน” นั้นสำเร็จเป็นรูปธรรม   คุณต้องเสียสละ ทุ่มเทอะไรบ้าง?

สำหรับคริสตชนแล้ว  การทรงเรียกของพระเจ้าคือ “ความฝัน” ที่เราต้องการไปให้ถึง
เมื่ออับราฮามฝันถึง “แผ่นดินที่อุดมด้วยน้ำนมและน้ำผึ้ง” 
นั่นเป็นการทรงเรียกของพระเจ้า
นั่นเป็นพระสัญญา  เป็นแผ่นดินแห่งพระสัญญาจากพระเจ้า

แต่การที่อับราฮามจะได้ครอบครองแผ่นดินแห่งทรงสัญญานั้น
อับราฮามจะต้องยอม “ให้” ค่างวดราคาแห่งชีวิต

อับราฮามต้อง “ออกจากดินแดนที่เขาคุ้นชิน”
ต้องออกจากความสัมพันธ์ที่เขามีอย่างใกล้ชิดในวงศาคณาญาติ
ออกจากความนับถือที่เขาได้รับจากคนในครอบครัวและบ้านเกิด
ออกจากที่ที่เขาจะได้รับเป็นมรดกจากบิดา
ออกจากความมั่งคั่ง  มั่นคง  และปลอดภัยในชีวิต

เขาต้องพเนจรไป
เขาต้องเผชิญความยากลำบาก
เขาต้องฝ่าฟันอันตราย
เขาต้องเดินไปบนเส้นทางชีวิตที่ไม่แน่นอน

อับราฮามจาริกไปเพื่อให้ถึงดินแดนแห่งพระสัญญา
ไปยังดินแดนที่เขาจะสร้างชาติที่พระเจ้าทรงอวยพระพร
เป็นชนชาติที่ยิ่งใหญ่
เป็นชนชาติที่มีชื่อเสียง
เป็นชนชาติที่นำพระพรไปถึงชนชาติอื่น ๆ
อับราฮามไม่ได้นั่งจับเจ่าฝันแล้วฝันเล่า
เขามิได้นั่งรอคอยให้แผ่นดินพระสัญญาเคลื่อนตัวเข้ามาหาเขา
แต่อับราฮาม “ออกจาก...”  แล้ว  “ไปยัง...”  ที่ที่พระเจ้าทรงเรียกให้ไป

พระเจ้าทรงเรียกเพื่อเราจะมีเป้าหมายในชีวิต
เพื่อเราจะจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิต
เพื่อเราจะเรียนรู้และเติบโตเข้มแข็งขึ้น
เพื่อเราจะสานต่อพระราชกิจของพระองค์
เพื่อเราจะเป็นพระพรสำหรับคนอื่น

เจ้า​จง​ออก​จาก​ดิน​แดน​ของ​เจ้า
จาก​ญาติ​พี่​น้อง​ของ​เจ้า
จาก​บ้าน​บิดา​ของ​เจ้า
ไป​ยัง​ดิน​แดน​ที่​เรา​จะ​สำแดง​แก่​เจ้า
เรา​จะ​ให้​เจ้า​เป็น​ชน​ชาติ​ใหญ่
เรา​จะ​อวย​พร​เจ้า
จะ​ให้​เจ้า​มี​ชื่อ​เสียง​ใหญ่​โต
แล้ว​เจ้า​จะ​เป็น​พร...”  (ปฐมกาล 12:1-2 มตฐ.)

วันนี้  พระเจ้าทรงเรียกท่านให้ไปที่ไหน? 
เพื่อพระประสงค์อะไรบ้างในชีวิตของท่าน?

ยินดีต้อนรับผู้บริหารสภาคริสตจักรในประเทศไทยชุดใหม่
ท่านผู้บริหารสภาคริสตจักรในประเทศไทยครับ
พระเจ้าทรงเรียก “สภาคริสตจักรในประเทศไทย” ไปยังที่ไหนครับ?
แล้วทรงเรียกท่านให้รับใช้อะไรตามพระประสงค์แห่งการทรงเรียกของพระองค์ครับ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

06 มกราคม 2558

ชีวิตใหม่...เริ่มที่ความคิดจิตใจ!

จุดเริ่มต้นที่มนุษย์ตกใต้การครอบงำของอำนาจแห่งความบาปชั่ว  เริ่มต้นจากความคิดและความรู้สึกจากใจของเขาคนนั้นที่ต้องการเป็นเหมือนพระเจ้า   ต้องการให้ตนเองมีอำนาจเหมือนพระเจ้า   จนทำให้ยอมตัดสินใจที่กล้าขัดขืนหรือไม่เชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้า   พลังอำนาจแห่งความบาปชั่วเข้ามาครอบงำในชีวิตของมนุษย์ด้วยการกำกับควบคุมกระบวนการคิดของมนุษย์   และพลังจากความคิดนั้นเองที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของมนุษย์   การตัดสินใจนำสู่การกระทำแม้จะขัดต่อพระบัญชาของพระเจ้าก็ตาม   เพราะในเวลาที่ความคิดของมนุษย์ถูกครอบงำจากอำนาจของบาปผิด   มนุษย์คิดว่าตนเป็นใหญ่ในชีวิตของตนแทนพระเจ้าที่ทรงเป็นเอกเป็นตันในชีวิตของเขา

ก่อนที่พระเจ้าจะทรงให้น้ำท่วมโลกในสมัยโนอาห์   พระเจ้าทรงเห็นว่า “...​ความ​ชั่ว​ร้าย​ของ​มนุษย์​มี​มาก​บน​แผ่น​ดิน และ​ทรง​เห็น​ว่า​เค้า​ความ​คิด​ใน​ใจ​ทั้ง​หมด​ของ​เขา​ล้วน​เป็น​เรื่อง​ชั่ว​ร้าย​ตลอด​เวลา” (ปฐมกาล 6:5 มตฐ.)

เมื่อพระเยซูคริสต์เสด็จมาในโลกนี้เพื่อสานต่อพระราชกิจของพระบิดา   อันเป็นพระราชกิจแห่งการกอบกู้  พลิกฟื้นและการทรงสร้างใหม่นั้น   จุดเริ่มต้นประการแรกในพระราชกิจของพระเยซูคริสต์คือ  พระองค์ทรงประกาศเรียกร้องให้มนุษย์ “จงกลับใจเสียใหม่”   เพราะแผ่นดินของพระเจ้ามาใกล้แล้ว

รากศัพท์ของคำว่า “กลับใจใหม่” ในภาษากรีก  มีความหมายว่าให้เปลี่ยนวิธีคิด
  • ให้เปลี่ยนวิธีคิด และ ความคิดของเรา  
  • ให้คิดแตกต่างจากวิธีที่เคยคิด หรือ ที่คุ้นชินกับความคิดนั้น  
  • ปรับเปลี่ยนกรอบคิด มุมมองเสียใหม่  


เมื่อความคิดและวิธีคิดของใครเปลี่ยนไป   แน่นอนว่า ท่าที การแสดงออก  การกระทำก็จะเปลี่ยนไปด้วย   ดังนั้น การที่ชีวิตของเราจะเกิดผลเช่นไรก็จะต้องเริ่มต้นเปลี่ยนที่ความคิดและวิธีคิด    เพราะวิธีคิดและความคิดมีอิทธิพลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตของเรา  

ดังนั้น   การที่จะให้ชีวิตของเราเกิดการเปลี่ยนแปลงและเป็นชีวิตที่เกิดผลตามพระประสงค์ของพระเจ้า   สิ่งแรกที่จะต้องเปลี่ยนแปลงคือ   ต้องเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนวิธีคิด  เปลี่ยนสิ่งที่อยู่ในหัว และ ในจิตใจของเราก่อน   และนี่คือสิ่งแรกที่จะต้องเกิดขึ้น

เปาโลชี้ชัดว่า  การที่มนุษย์เรามีชีวิตที่แปลกแยกตัดขาดจากพระเจ้า  สิ่งแรกที่เกิดขึ้นคือเกิด “สงคราม” หรือ “การต่อสู้กัน” ในความคิดจิตใจของเรา​   “...เมื่อ​ก่อน​นี้​พวก​ท่าน​ถูก​ตัด​ขาด​จาก​พระ​เจ้า และ​เป็น​ศัตรู​ใน​ใจ​โดย​การ​ทำ​ชั่ว​ต่าง ๆ ” (โคโลสี 1:21 มตฐ.)   และการที่มนุษย์ดำเนินชีวิตหรือประพฤติที่ผิดและไม่เหมาะสมก็เพราะมนุษย์มี “จิตใจที่เสื่อมทราม” (โรม 1:28 มตฐ.)   และครั้งเมื่อพระเยซูคริสต์ทรงดุว่าเปโตร  ถึงขนาดเรียกว่าซาตาน   เพราะเปโตร  “ไม่ได้คิดอย่างพระเจ้า”  แต่เขา “คิดอย่างมนุษย์” (มัทธิว 16:23 มตฐ.)   เมื่อมนุษย์คิดแตกต่างจากพระเจ้าก็เพราะความคิดของมนุษย์ถูกครอบงำจากอำนาจแห่งความบาปชั่ว

พระคัมภีร์กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงพลิกฟื้นความคิดเป็นเหมือนการเปลี่ยนแปลงและพลิกฟื้นชีวิตของเรา   กล่าวคือเราจะต้องมี “ความคิดและวิธีคิดแบบพระคริสต์”  หรือ “มีจิตใจ (คิดและรู้สึก) ที่เป็นเหมือนพระคริสต์” หรือ  “มีพระทัยพระคริสต์” (1โครินธ์ 2:16 มตฐ.) 

เปาโลกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า   การเริ่มต้นเปลี่ยนแปลง “จิตใจ” ของเรานั้นทำให้เราได้เรียนรู้ว่า  อะไรคือพระประสงค์ของพระเจ้า(ดู โรม 12:2 อมต.)  การที่เราได้ “​...​รับ​การ​เปลี่ยน​แปลง​จิต​ใจ”   ส่งผลให้เราเกิดการเปลี่ยนแปลงด้าน​อุป​นิสัย​ (โรม 12:2 มตฐ.)     

ตลอดพระคัมภีร์ทั้งเล่มสิ่งที่เราพบและเรียนรู้คือ  สิ่งที่เกิดขึ้นกับวิธีคิดและความคิดของมนุษย์สร้างผลกระทบต่อทั้งชีวิตของมนุษย์  สังคมมนุษย์  และสภาพแวดล้อมทั้งสิ้นของมนุษย์ด้วย   เราคิดอย่างไรเราก็จะมีชีวิตเช่นนั้น   การคิดคือตัวกำหนดเป้าหมายปลายทางชีวิตของเรา   ถ้าเราคิดอย่างพระคริสต์เราก็จะมีชีวิตอย่างพระคริสต์   และผลที่ตามมาคือเราจะมีเป้าหมายชีวิตที่ร่วมสานต่อพระราชกิจแห่งการพลิกฟื้นและการทรงสร้างใหม่ของพระคริสต์

ดังนั้น ภารกิจหลักของการสร้างสาวกของพระคริสต์คือ   การที่ช่วยให้สาวกเหล่านั้นได้รับการเปลี่ยนแปลงความคิดจิตใจจากพระคริสต์   ซึ่งมีสองประการที่สำคัญในกระบวนการนี้คือ

ประการแรก  ให้ชีวิตของคน ๆ นั้นเปี่ยมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์   ดำเนินชีวิตด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์   คือเป็นชีวิตที่ได้รับการเติมเต็มให้เป็นชีวิตที่มีเป้าหมายตามน้ำพระทัยของพระคริสต์   และได้รับพระกำลังหนุนเสริมให้สามารถกระทำตามพระประสงค์ของพระองค์

ประการที่สอง   ชีวิตของคน ๆ นั้นต้องจับจ้องมุ่งมองที่พระเยซูคริสต์  รัก ใคร่ครวญ ไตร่ตรองถึงพระคริสต์   “...(ให้เรา)​มอง​ดู​พระ​รัศมี​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า แล้ว​เรา​ก็​ได้​รับ​การ​เปลี่ยน​แปลง​ให้​เป็น​เหมือน​พระ​ฉายา​ของ​พระ​องค์​โดย​มี​ศักดิ์​ศรี​เป็น​ลำ​ดับ​ขึ้น​ไป เหมือน​อย่าง​ศักดิ์​ศรี​ที่​มา​จาก​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ผู้​ทรง​เป็น​พระ​วิญ​ญาณ” (2โครินธ์ 3:18 มตฐ.)    ยิ่งเรามุ่งมองจับจ้องคิดไตร่ตรองถึงองค์พระคริสต์มากเท่าใด   เราก็จะมีชีวิตที่เป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้นเท่านั้น   เราจะคิดอย่างที่พระองค์คิด   เพราะวิธีคิดและความคิดของพระองค์จะซึมซับเข้าไปในความคิดของเรา   แล้วการมีชีวิตของพระคริสต์ก็จะแผ่ซ่านเข้าไปทั่ววิถีการดำเนินชีวิตของเรา

ความคิดของเรา วิธีคิดของเราจะเปลี่ยนแปลงเมื่อเราดำเนินชีวิตเคียงข้างไปกับพระองค์  เมื่อถึงเวลานั้น  เราไม่จำเป็นที่จะต้องลงแรงทุ่มเทสุดกำลังในการเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของเรา   เพราะเมื่อความคิดและวิธีคิดของเราเปลี่ยนไปเป็นเหมือนพระคริสต์  สิ่งอื่น ๆ ในชีวิตก็จะเปลี่ยนแปลงตามมาด้วย

ปีใหม่นี้เราต้องเริ่มต้นที่จะยอมรับการเปลี่ยนความคิดและวิธีคิดไปเป็นอย่างพระคริสต์!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499