25 พฤษภาคม 2558

ล้มเหลวที่เกิดผล

ใครบ้างที่อยากล้มเหลว?   ยกมือขึ้นหน่อย!

แต่ถ้าเราจะพูดจากประสบการณ์ตรงของเราทุกคน เราไม่สามารถที่จะปฏิเสธได้ว่า   ความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งหรือก้าวขั้นหนึ่งของชีวิต   เฉกเช่นเด็กจะสามารถเดินได้อย่างแคล่วคล่องก็ต้องผ่านการล้มมาทั้งนั้น   อย่างที่ โธมัส เอ. เอดิสัน   เคยกล่าวประโยคอมตะไว้ว่า  “ข้าพเจ้าไม่ได้ล้ม   แต่ข้าพเจ้าเพียงค้นพบ 10,000 วิธีที่ยังไม่สำเร็จ”  ในชีวิตนักคิดค้นนักประดิษฐ์ที่ลือชื่อของโลกกำลังบอกกับเราว่า   ไม่มีความสำเร็จใดที่ปราศจากความล้มเหลว    

ความล้มเหลวคือก้าวขั้นที่นำไปสู่ความสำเร็จ!

ใครก็ตามที่มุ่งมั่นตั้งใจมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายที่ล้ำค่าของตนมีโอกาสที่จะทำผิด หรือ ตัดสินใจพลาดได้   ดังนั้น  เมื่อมุ่งมั่นตั้งใจก้าวไปให้ถึงเป้าหมายเราต้องคาดหวังด้วยว่า เราจะประสบพบเจอกับความผิดพลาดล้มเหลว  อย่างน้อยที่สุดต้องเตรียมใจรับสถานการณ์ความล้มเหลว   มิใช่การยอมรับมันอย่างสิโรราบแต่เข้มแข็งพอที่จะเปลี่ยนความล้มเหลวเป็นบทเรียนที่จะเป็นพื้นฐานรองรับและหนุนส่งให้เราก้าวไปสู่ก้าวความสำเร็จที่เหมาะสมยิ่งขึ้น    และนี่คือที่มาของก้าวแห่งความสำเร็จที่มาจากความล้มเหลว   และนี่คือบุคลิกอันโดดเด่นของผู้มีภาวะผู้นำ

ในข้อเขียนของ จอห์น แม็กซ์แวลล์  ที่กล่าวถึงเรื่อง “บางครั้งท่านสำเร็จ บางครั้งท่านเรียนรู้” (SOMETIME YOU WIN  SOMETIME YOU LEARN)  หรือ  ในฉบับแปลภาษาไทยใช้ชื่อเรื่องว่า “ล้มเหลวแล้วต้องเรียนรู้”   ได้ให้ข้อคิดที่สำคัญบางประการดังนี้

1.   มองหาสิ่งดี ๆ ในสถานการณ์ที่เลวร้าย

สำหรับ เอดิสัน เขามอง “ความล้มเหลว” ว่าเป็น 10,000 วิธีที่ไม่ใช่”   เขาคาดหวังว่าความล้มเหลวย่อมเกิดขึ้นได้ในการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ และมองค้นหา “ประโยชน์” ที่ได้จากการไม่สำเร็จในครั้งนั้น ดังนั้น เอดิสันจึงสามารถนำเอาสิ่งสำคัญที่ได้จากความล้มเหลวในการสร้างประโยชน์แก่ความสำเร็จ   การมองสิ่งต่าง ๆ ในแง่ดีมีประโยชน์   มิใช่ศักยภาพที่ติดตัวคนใดคนหนึ่ง   แต่เป็นการที่แต่ละคนจะเลือกว่าจะมองในแง่มุมดีมีประโยชน์  หรือ  เลือกที่จะมองหาแต่สิ่งเลวร้ายและทำให้ตนเองมีแต่แย่กับแย่เท่านั้น   นอกจากการมองด้วยสายตามุมมองที่ดี ๆ มีประโยชน์เท่านั้นยังไม่พอ  แต่ผู้มองคนนั้นต้องมีพลังภายในชีวิตที่จะกระตุ้นให้เขามุ่งมั่นยืนหยัด  ด้วยบุคลิกที่เข้มแข็งมั่นคง  

2.   เป็นผู้ที่รับผิดชอบต่อความล้มเหลวด้วยการยอมรับความล้มเหลวที่เกิดขึ้น

เป็นการง่ายที่เราจะหา “แพะรับบาป” ในความล้มเหลวที่เกิดขึ้น   หรืออ้างสาเหตุสัพเพเหระมากมายที่ทำให้เกิดความล้มเหลว อาจจะเป็นคนที่ทำงานด้วย หรือ สภาพแวดล้อมรอบข้าง   แต่เราต้องไม่ลืมว่า ความล้มเหลวเป็นโอกาสของการเรียนรู้   ถ้าเรากล่าวโทษโยนกลองความล้มเหลวให้แก่คนอื่น   ก็เท่ากับว่าเรากำลังหลีกเลี่ยงลี้หนีจากบทเรียนนั้น   เราต้องตระหนักชัดว่าความรับผิดชอบของเราสำคัญยิ่งกว่าชื่อเสียงของเรา ดังนั้นในสถานการณ์แห่งความล้มเหลวเราต้องรับผิดชอบ และจะต้องมีภาวะผู้นำที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น เพราะการที่คนรอบข้างสามารถเห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจและเต็มใจยอมรับผิดชอบในความล้มเหลวที่เกิดขึ้นนั้น ท่านกลายเป็นคนที่ผู้คนเหล่านั้น “ไว้วางใจ” ได้  และในเวลาเดียวกันก็เป็นเวลาที่จะใช้โอกาสที่เกิดความล้มเหลวนั้นที่จะพยายามมุ่งมั่นมากขึ้น

3.   ไม่จมจ่อมอยู่ในความล้มเหลวที่ประสบ

สิ่งสำคัญที่เปลี่ยนความล้มเหลวเป็นการเรียนรู้คือ   เมื่อล้มแล้วต้องสามารถลุกแล้วก้าวขาออกจากความล้มเหลวและมุ่งมั่นตั้งหน้าไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่ได้วางไว้   สิ่งที่จะต้องระมัดระวังคือความมุ่งมั่นตั้งใจของเราที่เอาจริงเอาจังกับสิ่งที่เรามุ่งมั่น  ถ้าเรามุ่งเน้นกับความผิดพลาดล้มเหลวที่ผ่านมา   ความตั้งใจของเราก็จะวนเวียนจมจ่อมอยู่แต่ในความผิดพลาดล้มเหลว   เราจึงไม่ได้ให้ความสนใจมุ่งเน้นของเราในสิ่งที่ถูกต้อง เราจึงเกิดความคิดความรู้สึกว่าเราจมลงในความผิดพลาดล้มเหลวลึกลงเข้าทุกที   จนถึงขั้นไม่สามารถถอนตนขึ้นจากหลุมโคลนแห่งความล้มเหลวนั้น

และต่อไปนี้คือพฤติกรรมของคนที่ไม่สามารถหลุดรอดออกจากสถานการณ์ที่เลวร้ายแห่งความล้มเหลวที่ตนประสบ
  • มักเปรียบเทียบ:   เมื่อประสบกับความล้มเหลวมักเปรียบเทียบความล้มเหลวตนเองกับคนอื่น  หรือไม่ก็เปรียบเทียบสถานการณ์แวดล้อมที่ตนประสบว่ามันเลวร้ายกว่าคนอื่น
  • ขุดค้นหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง:  พยายามบอกกับตนเองและคนอื่น ๆ ว่า ตนต้องมาแบกรับความผิดพลาดและความเจ็บปวดมากกว่าคนอื่น   และเชื่อขนมยายกินได้เลยว่า   แม้จะมีคนที่ช่วยปลอบให้กำลังใจเขา   คนเหล่านั้นก็ไม่ได้เข้าใจสถานการณ์ที่คุณพยายามอธิบาย
  • แยกตัวเองออก:   แยกตนเองออกจากคนอื่น   เพื่อเป็นการหลบเลี่ยงที่จะต้องไปรับมือกับความผิดพลาดล้มเหลวที่เกิดขึ้น   หรือไม่ก็เก็บตัวแล้วสงสารตนเองกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  (หลบออกไปเลียแผลเงียบ ๆ คนเดียว)
  • เศร้าเสียใจ:   คร่ำครวญในสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้น หรือ  พยายามแก้ไขสถานการณ์ที่ผ่านพ้นไปแล้วทั้ง ๆ ที่ไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้
  • ขมขื่นใจ:  เกิดความรู้สึกว่าตนเองตกเป็นเหยื่อของเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นนั้น แล้วกล่าวโทษคนอื่นที่ทำให้เกิดสิ่งเลวร้าย 


4.   ลุกขึ้นเริ่มเผชิญหน้ากับสิ่งที่ท่านกลัว

ความล้มเหลวที่ประสบความสำเร็จ เป็นการตอบสนองของเราต่อความล้มเหลวที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้อง ด้วยการหาสิ่งที่ดี ๆ ในความล้มเหลวเหล่านั้น ด้วยการรับผิดชอบในความล้มเหลวนั้น ลุกขึ้นก้าวออกจากความล้มเหลว แล้วริเริ่มที่จะลงมือทำจากบทเรียนรู้ดี ๆ ของความล้มเหลวนั้น  

แล้วท่านล่ะตอบสนองต่อความล้มเหลวอย่างไร? แล้วท่านจะจัดการอย่างไรต่อพฤติกรรมของตนเองในการเผชิญหน้ากับความล้มเหลวที่เกิดขึ้น?
                                                                                                   
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

21 พฤษภาคม 2558

ก้าวข้ามการมองคนอื่นอย่างอคติ?

การ​นี้​ไม่​มี​กรีก​หรือ​ยิว คน​ที่​เข้า​สุหนัต​หรือ​ไม่​เข้า​สุหนัต   อนารยชน​​และ​คน​ป่า​เถื่อน ไม่​มี​ทาส​หรือ​เสรี​ชน แต่​ว่า​พระ​คริสต์​ทรง​เป็น​ทุก​สิ่ง และ​ทรง​อยู่​ใน​ทุก​สิ่ง (โคโลสี 3:11 มตฐ.)

ศิษยาภิบาลอาวุโสท่านหนึ่ง   ท่านตัดสินใจใช้เวลาเกษียณอายุของท่านขับรถไปเยี่ยมคริสตจักรที่ท่านเคยเป็นศิษยาภิบาล   ท่านขับรถขึ้นเหนือไปคริสตจักรชาติพันธุ์หนึ่งในอำเภอแม่สะเรียง  จังหวัดแม่ฮ่องสอน   ด้วยรถที่มีอายุเก่าแก่เหมือนเจ้าของ    ระหว่างการเดินทางรถของท่านเกิดมีน้ำร้อนพุ่งออกมาจากหัวเครื่องหน้ารถของท่าน   ท่านตกใจไม่รู้จะทำอย่างไร   เพราะรถอยู่บนเส้นทางภูเขา

ศิษยาภิบาลก้มหัวลงอธิษฐานต่อพระเจ้า   “พระเจ้า   ขอโปรดช่วยส่งทูตสวรรค์... อย่างน้อยที่มีความรู้เรื่องการซ่อมเครื่องบ้างมาช่วยลูกด้วย...”   ในเวลาไม่กี่นาที   โค้งถนนข้างหน้าปรากฏชายร่างใหญ่   หนวดเครารุงรังสีดำ  ใส่เสื้อไร้แขนสีดำ  แขนมีรอยสักเต็มไปหมด   ขี่รถมอเตอร์ไซค์ “ชอปเปอร์” ผ่านมา   เขาจอดรถ...หลังจากไถ่ถามรู้ปัญหาแล้วก็ลงมือซ่อม   ใช้เวลาไม่เท่าไหร่รถก็กลับมาใช้ได้ดั่งเดิม

จากนั้นเขาสตาร์ทเครื่องรถจักรยานยนต์ของเขาแล้วก็ขี่จากไป   ศิษยาภิบาลไม่ทันที่จะพูดอะไรมากกว่าเพียงคำขอบคุณเท่านั้น   แต่ก่อนที่ชายร่างใหญ่คนนั้นจะจากไปศิษยาภิบาลอาวุโสได้อ่านข้อความบนหลังเสื้อหนังสีดำของเขาว่า “ทูตจากนรก”   ชายคนนั้นจากไปจนลับหายจากสายตา

เราไม่ควรที่จะตัดสินคนอื่นด้วยเพียงบุคลิกภายนอกที่เรามองเห็นเท่านั้น   เราหลายคนมักจะมองผู้คนเช่นชายคนนี้ด้วยความกลัว  ไม่ไว้วางใจ   ทั้ง ๆ ไม่ได้สัมผัสสัมพันธ์กัน   เพียงมองเห็นมองผ่าน   เราก็จะมีความรู้สึก “ติดลบ”  รู้สึกไม่ดีกับคนบุคลิกเช่นนี้   ยิ่งไปอ่านข้อความอย่างที่ปรากฏหลังเสื้อแล้ว   เราอาจจะตัดสินว่าคนพวกนี้เป็นพวกซาตานนิยม?

อย่าให้การแสดงออก หรือ บุคลิกภายนอกที่มองเห็นเท่านั้นเป็นเครื่องตัดสินคนอื่นด้วยใจอคติของเรา  ด้วยการมองแง่ร้าย   ด้วยกรอบประสบการณ์เดิม ๆ ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าแต่ละคนไม่เหมือนกัน   ในฐานะคริสตชนเราควรมีใจกว้างขวางและพยายามเปิดโอกาสให้ตนเองได้สัมผัสสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างที่เราพบเห็น   เพื่อเราจะได้สัมผัสชีวิตจริง  และรู้จักเขาในทั้งความเป็นคนของเขา   และที่สำคัญเมื่อเราเปิดใจเปิดโอกาสเช่นนี้   เราก็เปิดใจและเปิดโอกาสให้พระเจ้าทรงกระทำงานของพระองค์ในชีวิตจิตใจ และ จิตวิญญาณของเราด้วย

ท่านเคยตกเป็นเหยื่อของการมองคนอื่นอย่างอคติหรือไม่?   และถ้ามีคนที่มองท่านด้วยสายตาที่อคติ   ตัดสินท่านผิด ๆ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้สัมผัสสัมพันธ์กับท่านเลย   ท่านจะรู้สึกอย่างไรบ้าง?   ในชีวิตนี้ท่านต้องปล้ำสู้กับการมองและตัดสินคนอื่นอย่างอคติหรือไม่?   พระคัมภีร์ในวันนี้ได้ตอบโจทย์เรื่องนี้ในใจของท่านอย่างไรบ้าง?

การเปลี่ยนมุมมองให้เห็นถึงคุณค่าที่แท้จริงที่ฝังลึกในชีวิตของแต่ละคนนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย   เราต้องทูลขอพระเจ้าให้เรามีประสบการณ์ชีวิตที่จะช่วยปรับและเปลี่ยนมุมมองของเรา และ ทำงานในจิตใจความคิด และ ความรู้สึกของเราให้มีสายตาเยี่ยงสายพระเนตรของพระองค์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

18 พฤษภาคม 2558

เห็นคุณค่าพระฉายาพระเจ้าในชีวิตคนที่เราพบเห็น

แล้ว​พระ​เจ้า​ตรัส​ว่า ให้​เรา​สร้าง​มนุษย์​ตาม​ฉายา​ของ​เรา ตาม​อย่าง​ของ​เรา ให้​ครอบ​ครอง​ฝูง​ปลา​ใน​ทะเล ฝูง​นก​ใน​ท้อง​ฟ้า​และ​ฝูง​สัตว์​ใช้​งาน ให้​ปก​ครอง​แผ่น​ดินโลก​ทั้ง​หมด และ​สัตว์​เลื้อย​คลาน​ทุก​ชนิด​บน​แผ่น​ดิน​ทั้ง​หมด   พระ​เจ้า​จึง​ทรง​สร้าง​มนุษย์​ขึ้น​ตาม​พระ​ฉายา​ของ​พระ​องค์ ตาม​พระ​ฉายา​ของ​พระ​เจ้า​นั้น พระ​องค์​ทรง​สร้าง​มนุษย์​ขึ้น และ​ทรง​สร้าง​ให้​เป็น​ชาย​และ​หญิง 
(ปฐมกาล 1:26-27)

ในอดีต  ผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  หรือ คนเอเชียใต้  และเอเชียตะวันออก   ต่างก็เคยมีความเชื่อเรื่องมนุษย์บางกลุ่มที่เกิดมาโดยการสืบเชื้อสายจากเทพเจ้า   หรือมีลักษณะของเทพเจ้า   แต่ขอตั้งข้อสังเกตว่า   ผู้ที่เกิดมาด้วยการสืบทอดเชื้อสายอำนาจจากเทพนั้นมักเป็นคนชั้นสูงของสังคม เช่น ผู้ที่บังเกิดมาเป็นกษัตริย์  ราชตระกูล  หรือไม่ก็เกิดมาเป็นผู้นำที่มีอำนาจที่เก่งกาจเกินมนุษย์ปกติธรรมดา   ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าคนในแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกต่างก็มีความเชื่อว่า  มีมนุษย์บางกลุ่มบางคนที่ได้รับสภาพชีวิตในความเป็นเทพเจ้า หรือ พระเจ้า   ซึ่งเป็นความคิดคล้าย ๆ กับความเชื่อตามพระคัมภีร์ในปฐมกาลบทที่ 1  

แต่อะไรที่เป็นความแตกต่างในเรื่องนี้?

ตามที่กล่าวถึงความคิดความเชื่อของเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกแล้วว่า   ผู้ที่จะเกิดมาเป็น “สมมติเทพ” หรือ เป็นคนที่มีความเป็นเทพเจ้าในตัวของผู้นั้นจะเป็นคนชั้นสูง  มีอำนาจ  และมีลักษณะพิเศษเฉพาะในสังคมคือที่เกิดมาเป็นกษัตริย์ พระราชินี  หรือ  นักรบผู้แกร่งกล้า   แต่สำหรับความคิดความเชื่อเรื่องที่มนุษย์ถูกสร้างขึ้นให้มี “พระฉายาของพระเจ้า” นั้นเป็นการสร้างให้มีลักษณะของพระเจ้าในทุกคน   ไม่ว่าคนนั้นจะเกิดมาเป็นยาจก  ยากจน  มั่งมี  หรือมีอำนาจล้นฟ้า   ทุกคนมี “พระฉายาของพระเจ้า” ในชีวิตของเขา   

พระคัมภีร์กำลังชี้ให้เห็นว่า   มนุษย์ทุกคนเกิดมามีคุณค่า   และคุณค่าของมนุษย์มิได้อยู่ที่ฐานะทางสังคม  หรือ ชาติกำเนิด  ตำแหน่ง  อำนาจ หรือ ฐานะทางเศรษฐกิจ   แต่พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ทุกคนให้มีคุณค่าเท่าเทียมกันคือ   ในทุกคนมีพระฉายา หรือ มีความเป็นพระเจ้าอยู่ในตัว คุณค่าในชีวิตของมนุษย์แต่ละคนเป็นของประทานจากพระเจ้า

นอกจากนั้นแล้วพระองค์ยังมอบหมายให้มนุษย์ที่พระองค์ทรงสร้างตามพระลักษณะของพระเจ้านั้นให้เป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบ   ในการปกป้อง  คุ้มครอง  ดูแลสรรพสัตว์ สรรพสิ่ง เพื่อนมนุษย์  และธรรมชาติแวดล้อมทั้งสิ้น   ให้ต่างพึ่งพาอาศัยและส่งผลกระทบที่สร้างสรรค์ และ สร้างเสริมแก่กันและกัน   ตามพระลักษณะของพระเจ้า

คริสตชนเชื่อว่า   การที่พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ตามพระฉายาของพระองค์   พระเจ้ามิได้สร้างเฉพาะคนบางกลุ่มให้มีพระฉายาของพระองค์เท่านั้น  เช่น  ชนชั้นผู้ปกครอง  กษัตริย์  นักการเมือง   พวกยึดครองอำนาจทางเศรษฐกิจของสังคม  หรือ  กลุ่มอำนาจทางวัฒนธรรม  เช่น ผู้นำศาสนาในความเชื่อต่าง ๆ   การที่พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ตามพระฉายาของพระองค์นั้น   มิใช่เพื่อให้ชนกลุ่มหนึ่งมี “อภิสิทธิ์” หรือ “ใช้อำนาจ” เพื่อกีดกัน ลดทอน คุณค่าในความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นลง  และยกฐานะความเป็นมนุษย์ของตนเองสูงเหนือคนอื่น  

แต่พระเจ้าที่สร้างมนุษย์ตามพระฉายาของพระองค์ในพระธรรมปฐมกาลนั้น   ท้าทายต่อพวกผู้ครอบครองอำนาจในลักษณะต่าง ๆ ในสังคมปัจจุบันว่า   พวกเขากำลังใช้อำนาจแห่งพระฉายาของพระเจ้าเหยียบย่ำทำลายทำร้ายความเป็นคนของผู้อื่น กลุ่มอื่น   อันเป็นการใช้พระราชอำนาจแห่งพระฉายาของพระเจ้าไปในทางที่ผิดต่อพระประสงค์ของพระผู้สร้างแห่งสากลจักรวาลนี้หรือไม่?

ในยุคที่ผู้คนในสังคมโลกนี้มีอาชีพการงานที่หลากหลายประเภทและลักษณะ   ให้เราทำงานอาชีพ และ ดำเนินชีวิตประจำวันตามพระประสงค์ของพระเจ้าที่ทรงสร้างเราขึ้นตามพระฉายาของพระองค์   ด้วยการที่เราจะมองเห็นผู้คน เพื่อนร่วมงาน  ลูกค้า  หรือคนที่เราติดต่อสัมพันธ์ให้เห็นถึงคุณค่าแห่งพระฉายาของพระเจ้าในชีวิตความเป็นมนุษย์ของผู้คนเหล่านั้น   เมื่อใดที่เรามองแต่ละคนตามคุณค่าแห่งพระฉายาของพระเจ้าที่มีในตัวเขา   เมื่อนั้นมุมมอง  จิตใจของเรา  การตัดสินคุณค่าของคน ๆ นั้น   และการที่เราจะกระทำต่อเขาย่อมตั้งบนรากฐานแห่งการ “ยำเกรงพระเจ้า” และ “การเทิดพระเกียรติ” แด่พระองค์

วันนี้ท่านเห็นเพื่อนมนุษย์แต่ละคนว่าเป็นคนที่มีคุณค่าแห่งพระฉายาของพระเจ้าหรือเปล่า?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

14 พฤษภาคม 2558

ยิ่งแก่ยิ่งแกร่ง!

ฉะนั้น​เรา​จึง​ไม่​ย่อ​ท้อ ถึง​แม้​ว่า​สภาพ​ภาย​นอก​ของ​เรา​กำ​ลัง​ทรุด​โทรม​ไป
แต่​สภาพ​ภาย​ใน​นั้น​ก็​ได้​รับ​การ​เปลี่ยน​ใหม่​ทุก ๆ วัน
(2 โครินธ์ 4:16 มตฐ.)

วันนี้ผมนั่งคุยกันในกลุ่มคนที่ไม่ได้รับราชการแต่ได้รับเงินเดือนจากรัฐบาลเดือนละหกร้อย/เจ็ดร้อยบาทต่อเดือน   มีคนหนึ่งถามขึ้นมาว่า   ทุกวันนี้อะไรครองโลก?   เพื่อนเราตอบไปต่าง ๆ นานา   ตั้งแต่ เทคโนโลยีสมัยใหม่จนถึงอำนาจแห่งวิญญาณชั่ว  แต่มีเด็กหญิงอายุประมาณ 12 ปีที่คุณตาพามาด้วยพูดขึ้นว่า “คนแก่”

ใช่!  ถ้าคนแก่ครองโลกแล้วโลกนี้จะเป็นอย่างไร?

เมื่อพูดถึงเรื่อง “คนแก่” ใช่ว่าทุกคนจะมีมุมมองเรื่องนี้เหมือนกัน   แต่ก็พอประมวลขมวดเป็น 3 มุมมองหลักคือ

มุมมองแรก   เขามองว่า ความแก่เป็นเรื่องของอายุ  กล่าวคือ มองความแก่ตามอายุจำนวนปีเดือนที่เกิดมาในโลกนี้   ถึงกับมีคำกล่าวว่า “อายุเป็นเพียงตัวเลข”   ตามมุมมองนี้คนเราไม่มีความสามารถที่จะไป “หยุด” การเพิ่มมากขึ้นของอายุ

มุมมองที่สอง   มุมมองความแก่ตามสภาพของร่างกายที่เห็น  โดยธรรมชาติทั่วไปแล้ว  คนที่มีอายุมากขึ้นมักจะมีร่างกายที่เสื่อมโทรม อ่อนแอลงไปเป็นธรรมดาโลก   เช่นมีคำพูดกันว่า  “เขามาเป็นผู้จัดการได้อย่างไร  ดูซิ แก่จนเดินไม่ไหวแล้ว   หาคนหนุ่มสาวที่แข็งแรงกว่านี้ไม่มีแล้วหรือในวงการของเรา?”  

แต่ว่า  บางคนอายุยังไม่เท่าใดแค่ดูหน้าแก่  ผมตกเป็นจำเลยในกรณีนี้  คนรอบข้างมักมองว่าผมแก่กว่าพี่ชาย หรือ พี่ชายดูหนุ่มกว่าผม   แล้วมักทักผมว่า “ได้พบกับน้องชายยัง  เขามาเชียงใหม่วันนี้นะ?”   ใช่ครับ  ผมของผมก็หงอก   แต่พี่ชายมีผมดกดำ (แต่มีบางคนกระซิบบอกผมว่า  พี่เขาย้อมผม)   บนใบหน้าของพี่ชายยังไม่มีรอย “ตีนกา” แต่เพื่อนสนิทของผมเขาบอกว่าผมก็ไม่มีตีนกาเหมือนกัน  แต่เป็น “ตีนอีแร้ง”? (นี่กำลังให้กำลังใจกันหรือเปล่าเนี่ยะ?)   รวมความว่า   คนเรามักมองกันว่าแก่หรือไม่ด้วยสภาพร่างกายของคน ๆ นั้นที่คนอื่นจะมองเห็นได้

มุมมองที่สาม   แก่ไม่แก่มันอยู่ที่ใจ!  คนเรามองกันว่าแก่ไม่แก่ขึ้นอยู่ที่สภาพจิตใจของคนนั้นที่มีอิทธิพลแสดงออกในการดำเนินชีวิตประจำวันของเขา  และที่สำคัญมุมมองที่สามนี้สร้างพลังต่อการรู้สึกของคน ๆ นั้นว่าแก่ไม่แก่แค่ไหน!  

ขอตั้งข้อสังเกตว่า  การมองความหนุ่มสาวแก่หง่อมตามอายุปฏิทินที่มนุษย์คิดสมมติขึ้น   แน่นอนครับเราไปหยุดเวลาตามปฏิทินไม่ได้   แต่ถ้าเราจะใช้มุมมองวัดความแก่ตามสภาพร่างกายแล้ว   ก็ขึ้นอยู่กับว่าคนนั้นเคยใช้ชีวิตและเอาใจใส่สุขภาพร่างกายของตนในอดีตที่ผ่านมามากน้อยแค่ไหน   แต่มารู้ตัวอีกทีดูเหมือนว่า เราจะกลับไปเป็นเหมือนวันเก่าก่อนคงลำบาก   จะย้อนยุคย้อนเวลากลับไปดูแลสุขภาพใหม่ก็ไม่ได้   คนกลุ่มนี้มักรับไม่ได้กับร่างกายที่เสื่อมทรุดโทรมลง   ยิ่งกว่านั้น กลับไปมีจิตใจที่เกาะยึดอยากกลับไปมีชีวิตเหมือนเมื่อยังหนุ่มยังสาว   แต่บางคนที่มีอายุและสภาพร่างกาย 80 ปี  แต่จิตใจของเขาดูเหมือนเพิ่ง 45 ปี  ดูเขาไม่เหมือน “คนแก่” 

ถึงแม้คำว่า “คนแก่” จะมีนัยยะไม่เลวร้ายเท่ากับคำว่า “คนชั่ว”   แต่ในห้วงความคิดและมุมมองของเราส่วนใหญ่ก็ยังมีมุมมองต่อคำว่า “คนแก่” เอียงไปทางลบอยู่ดี   ไม่ว่าจะแก่หง่อมเงอะงะ  โรคภัยรุมสุม  นอนไม่หลับ  ผู้คนที่มาสัมผัสสัมพันธ์ด้วยน้อยลง (ไม่เหมือนตอนเป็น “หมาล่าเนื้อ” ที่มีหน้าที่ตำแหน่งการงาน)   ตาฝ้าฟาง  หูตึง  หลังค่อม  เดินตุปัดตุเป๋  ฯลฯ   แต่เราต้องไม่ลืมคำถามของพระคริสต์ที่ว่า “มี​ใคร​ใน​พวก​ท่าน​ที่​โดย​ความ​กระ​วน​กระ​วาย สามารถ​ต่อ​อายุ​ของ​ตน​ให้​ยืน​นาน​ขึ้น​อีก​นิด​หนึ่ง​ได้” (มัทธิว 6:27 มตฐ.)

แต่เราเคยคิดเคยมองว่า “ยิ่งแก่ชีวิตยิ่งแกร่ง”  หรือไม่?

นี่มิใช่กระบวนการ “หลอกตนเอง”   แต่เป็นกระบวนการที่ต้องเปิดใจยอมรับความจริง   ยอมรับการฝ้าฟางของตา  ความตึงของหู  ความเชื่องช้างุ่มง่ามของร่างกาย  “สภาพภายนอกของเรากำลังทรุดโทรมไป”   ต่อให้ใช้เครื่องสำอางของสำนักไหนก็เอาไม่อยู่   เราอาจจะลบรอยตีนกาบนใบหน้าวันนี้   พรุ่งนี้มันก็กลับมาใหม่

แต่จิตใจและจิตวิญญาณภายในเราไม่ได้แก่ไปพร้อมกับอายุและร่างกาย!  การทำงานภายในชีวิตของเราสวนกระแสกับวิธีทำงานของร่างกายภายนอกและเวลาตามปฏิทิน และที่สำคัญคือ ไม่ควรมี “รอยตีนกา” บนชีวิตจิตวิญญาณของเรา! แต่ให้ชีวิตจิตวิญญาณภายในของเรา “ได้รับการเปลี่ยนแปลงใหม่ทุก ๆ วัน”   ฉบับอมตธรรม แปลว่า “แต่จิตใจภายในของเรากำลังฟื้นขึ้นใหม่ทุกวัน”  คิดถึงการเป็นขึ้นจากความตายและมีชีวิตใหม่ของพระคริสต์

นี่ไงครับที่ว่า “ยิ่งแก่ชีวิตยิ่งแกร่ง”  แกร่งเพราะชีวิตในวัยนี้เกิดคุณค่าและความหมายตามพระประสงค์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

12 พฤษภาคม 2558

ใช้ชีวิตประจำวันอย่างไรถึงมีคุณค่า?

ขอ​ทรง​สอน​ข้า​พระ​องค์​ทั้ง​หลาย​ให้​นับ​วัน​(ที่มีจำกัด)ของ​ตน
เพื่อ​พวก​ข้า​พระ​องค์​จะ​มี​จิต​ใจ​ที่​มี​ปัญญา(เพิ่มพูน) 
(สดุดี 90:12 มตฐ. ในวงเล็บผู้เขียนขยายความ)

สมัยครั้งเมื่อผมทำงานวิจัยเรื่องส่งเสริมการทำบัญชีครัวเรือนในชุมชน   เราได้ขอให้ทุกครัวเรือนบันทึกรายละเอียดรายรับ รายจ่าย และรายจ่ายหนี้สิน (เช่น รายการเงินผ่อน) ที่เราต้องรับผิดชอบในทุกเดือน   นอกจากจะทำให้เจ้าตัว และ คณะทำงานได้เห็นถึงสถานภาพทางเศรษฐกิจในครัวเรือนแล้ว   ยังเป็นสิ่งท้าทายที่ชวนให้ชาวบ้านกลับมาคิดและวางแผนเกี่ยวกับเศรษฐกิจในครัวเรือนของตนใหม่   ตลอดจนการลงทุนทำอาชีพที่กำลังทำอยู่ด้วย

แต่เมื่อเรากำลังศึกษาเรื่องรายรับ-รายจ่ายครัวเรือนในหมู่บ้านหนึ่ง   พ่อหลวงของหมู่บ้านนั้นได้ตั้งข้อสังเกตว่า  “ถ้าเราลองพิจารณาดูรายการรับจ่ายของแต่ละบ้านแล้ว   เราบอกได้เลยว่า พ่อบ้านแม่บ้านในครัวเรือนนั้นเป็นคนที่มีนิสัย ในชีวิตประจำในอย่างไร...”

ใช่สินะ   รายการรับจ่ายสามารถบอกถึงนิสัยใจคอของเราได้อย่างดีว่าเจ้าของรายการรับจ่ายเป็นคนเช่นไร   แต่ถ้าลองให้เราทบทวนความจำและเขียนลำดับรายการที่เราทำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันว่ามีอะไรบ้างแล้ว   จะแสดงให้เราเห็นถึง “ระบบคุณค่า” ได้อย่างชัดเจนในชีวิตของเจ้าของรายการสิ่งที่เขาทำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนั้น

ผู้ประพันธ์สดุดีข้างต้นได้ขอพระเจ้าทรงสอนให้ตนเองรู้จักที่จะ “นับ” วันเวลาชีวิตที่มีจำกัดของตน   ซึ่งเป็นวันเวลาที่พระเจ้าประทานให้แต่ละคน   ที่มีจุดเริ่มต้นและวาระสิ้นสุด    เพื่อที่จะพินิจพิจารณาใคร่ครวญอย่างถ้วนถี่ดูว่า   เราได้ทำอะไรบ้าง ก่อน-หลัง,  มาก-น้อยแค่ไหน   เพื่อที่จะมองย้อนเห็นชีวิตตนเองว่า เราใช้เวลาอย่างไร  และมีอะไรคือสิ่งที่มีค่ามากที่สุดในชีวิตประจำวันของเรา     ผมบอกได้เลยว่า  สิ่งที่พบนี้เป็นความจริงที่ผมไม่อยากยอมรับเลย   แต่ในเวลาเดียวกันเป็นเหมือนเสียงนาฬิกาปลุกให้ตนเองสะดุ้งตื่นจากความเคยชิน   จากการทำในสิ่งที่คุ้นชินที่มิใช่ความตั้งใจที่ผมต้องการจะทำจริง ๆ   ไม่ใช่สิ่งที่เป็นความหวัง  หรือสิ่งที่ผมเห็นว่ามีคุณค่าสูงสุดในชีวิต   แต่ความจริงก็คือ   ผมยังทำสิ่งนั้น อย่างนั้นทุกเมื่อเชื่อวันจริง ๆ

เมื่อพระเจ้าทรงสอนให้ผมกลับมานับ พินิจพิจารณาสิ่งที่ผมทำลงไปทำให้ผมได้คิด  ทำให้ผมเกิดปัญญา  คือปัญญาที่พระเจ้าทรงช่วยให้ผมเห็นความจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของตนเอง   ปัญญาที่ผมได้มีโอกาสสะดุ้งตื่นจากชีวิตประจำวันที่ชินชาที่ผมไม่น่าจะทำเช่นนั้น   นี่เป็นปัญญาที่จุดประกายให้เกิดพลังภายในชีวิตที่จะเริ่มต้นใหม่กับพระเจ้าอีกครั้งหนึ่ง

ที่สำคัญ  พระเจ้าทรงช่วยให้ผมได้ยินเสียงกริ่งเตือนภัยที่ประชิดตัวที่ผมไม่เคยนึกคิดมาก่อน  แต่กลับทำเป็นประจำ   จะบอกว่าไม่ได้ตั้งใจที่จะให้ชีวิตเป็นเช่นนั้น ทำเช่นนั้นก็ได้   ผมพบว่านี่เป็นจิตใจที่มีปัญญาที่พระเจ้าประทานแก่ผม  เมื่อผมรู้จักการ “นับ” (พิจารณาใคร่ครวญ) วันเวลาชีวิตประจำวัน

รายการงานประจำวันที่เราไม่นึกคิดหรือตั้งใจแต่ก็ทำลงไปนั้น   มักเกิดมาจากการกระตุ้นกดดันจากสถานการณ์และพันธสัมพันธ์ที่มีรอบข้างชีวิตประจำวันของเรา   บางครั้งก็ถูกกระตุ้นด้วยความอยากหรืออารมณ์ความรู้สึกของตนเอง   เมื่อผมกลับมาทำรายการลำดับสิ่งที่ทำในแต่ละวันพบพฤติกรรมที่น่าตกใจของตนเองว่า   ในยุคที่เทคโนโลยีการสื่อสารที่ล้ำสมัยนี้   ทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมา  สิ่งแรกที่ผมทำคือ  เปิดเครื่องเช็คอีเมล และ สื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ   สิ่งนี้กลายเป็นสิ่งที่กระทำประจำวันด้วยความคุ้นชินที่ไม่นึกคิดหรือตั้งใจจะทำมาก่อน?   ไม่ใช่เป็นการผิดที่เราจะเปิดอ่านอีเมล หรือ สื่อสังคมออนไลน์

แต่ที่ผิดอย่างน่าตกใจคือ   สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เป็นสิ่งสำคัญประการแรกในชีวิตประวันของเราในอดีตที่ผ่านมาคือการที่เราจะมีเวลาอยู่หน้าต่อหน้าด้วยความสนิทสนมกับพระเจ้า   และฟังเสียงแห่งพระปัญญาจากพระองค์   แต่เดี๋ยวนี้ ทุกเช้าวันใหม่เราสัตย์ซื่ออย่างเป็นนิสัยเข้าเฝ้า และ ฟังเสียงของอีเมลและสื่อออนไลน์เป็นสิ่งแรก   เราเข้าเฝ้าสื่อเหล่านี้ที่ไหนก็ได้  ไม่ว่าบนเตียงนอน  บนโต๊ะ  หรือแม้กระทั่งในห้องน้ำ?

เมื่อมาถึงที่ทำงาน   ในอดีตสิ่งแรกที่เรานั่งลงบนเก้าอี้โต๊ะทำงานของเรา   เราก้มหัวอธิษฐานทูลขอการทรงนำ   แต่ปัจจุบันนี้   ยังเดินไปไม่ถึงโต๊ะทำงานของตน  ถูกเรียกให้ไปช่วยดูคำสั่งงานด่วนที่เข้ามา   ผู้ช่วยมาปรึกษาเรื่องลูกน้องสร้างปัญหาใหม่อีกแล้ว?   เราต้องกระโดดจากงานนี้   วิ่งไปให้ทันการประชุม  กว่าจะกลับมานั่งที่โต๊ะทำงานครั้งแรกวันนี้ก็ปาเข้าไป 11 โมงแล้ว   “ตายจริง... เราลืมไปร่วมกลุ่มอธิษฐานตอนเช้า 15 นาทีประจำสัปดาห์”

เมื่อพระเจ้าสอนให้ผมรู้จักที่จะ “นับ” พินิจพิจารณาเวลาช่วงต่าง ๆ ในวันคืนแห่งชีวิตผมได้รับปัญญาเพิ่มพูนว่า   ที่ดูเหมือนว่า ในหลาย ๆ สถานการณ์แวดล้อมชีวิตประจำวันของเรา   เราเกือบจะไม่สามารถควบคุมสถานการณ์แวดล้อมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น   แต่พระเจ้าดลใจให้มีจิตใจที่สามารถสำนึกได้ว่า  ในทุกสถานการณ์ เหตุการณ์ และสถานที่   พระเจ้าสถิตเคียงข้างเราเสมอ   ไม่ว่าเราจะตกอยู่ในสภาพการณ์เช่นไร   เราอยู่หน้าต่อหน้ากับพระเจ้า   ไม่แตกต่างกับเวลาที่เรานั่งในพระวิหารของพระเจ้าในเช้าวันอาทิตย์เลย   

ใช่ครับ   ทุกวัน เราสามารถที่จะทำชีวิตประจำวันที่เราตั้งใจได้ครับ  ไม่จำเป็นที่จะต้องปล่อยให้ชีวิตประจำวันถูกควบคุมโดยสถานการณ์แวดล้อมรอบข้าง   หรือ ตามเสียงอยากและตามอารมณ์ของเรา   แต่เราสามารถมีชีวิตประจำวันที่ตั้งใจในทุกสถานการณ์ชีวิต  ที่จะสำนึกว่าพระเจ้าอยู่เคียงข้าง  พระเจ้าอยู่หน้าต่อหน้าของเราในทุกสถานการณ์   เราจะขอพระปัญญาว่าเราจะคิด พิจารณา และตัดสินใจเช่นไรในแต่ละเรื่อง  แต่ละสถานการณ์   แต่ละชั่วโมงนาทีที่กำลังเคลื่อนไป   และสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เคลื่อนดาหน้าเข้ามาหาเรา

เราจะไม่ยอมปล่อยให้คนอื่นเข้ามาตัดสินใจชีวิตประจำวันแทนเรา   และจะไม่ยอมให้ความท้อแท้เกียจคร้านเข้ามาฉุดกระชากเราไว้    มีเป้าหมายชัดเจนในการใช้ชีวิตประจำวันของเรา  และตระหนักถึงความจำกัดของวันเวลาที่เรามีอยู่   สำนึกว่าชีวิตประจำวันเป็นของประทานจากพระเจ้า   และ พระเจ้าทรงมีพระประสงค์ และ แผนงานในชีวิตประจำวันที่พระองค์ประทานแก่เรา   ยิ่งกว่านั้น พระองค์ยังพร้อมเสมอที่จะหนุนเสริมเราในแต่ละสถานการณ์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

05 พฤษภาคม 2558

ท่านว่าใครยิ่งใหญ่และสำคัญกว่ากัน?

พระเยซูคริสต์ถามสาวกใกล้ชิดของพระองค์ด้วยคำถามนี้โดยต้องการขุดรากถอนโคนความคิดของสาวกที่ได้รับอิทธิพลวิธีคิดแบบสังคมโลกนี้   และนี่คือเหตุผลว่า คริสตชนต้องตัดสินใจเลือกระหว่าง “พระกิตติคุณของพระคริสต์”  กับ  หลักคิดแบบสังคมโลกนี้

มี​การ​โต้​เถียง​กัน​ใน​พวก​สา​วก​ว่า​ใคร​ใน​พวก​เขา​ที่​นับ​ว่า​เป็น​ใหญ่   พระ​องค์​จึง​ตรัส​กับ​พวก​เขา​ว่า กษัตริย์​ของ​คน​ต่าง​ชาติ​ย่อม​เป็น​เจ้า​นาย​เหนือ​เขา​ทั้งหลาย และ​ผู้​ที่​มี​อำ​นาจ​เหนือ​เขา​นั้น​เรียก​ตัว​เอง​ว่า​เจ้า​บุญ​นาย​คุณ    แต่​พวก​ท่าน​จะ​ไม่​เป็น​อย่าง​นั้น   ใน​พวก​ท่าน​คน​ที่​เป็น​ใหญ่​ต้อง​เป็น​เหมือน​เด็ก(คนใจถ่อม)1   และ​คน​ที่​เป็น​นาย​ต้อง​เป็น​เหมือน​ผู้​ปรน​นิ​บัติ    ใคร​เป็น​ใหญ่​กว่า​กัน ผู้​ที่​นั่ง​รับ​ประ​ทาน​หรือ​ผู้​ปรน​นิ​บัติ? ผู้​ที่​นั่ง​รับ​ประ​ทาน​ไม่​ใช่​หรือ?   แต่​ว่า​เรา​อยู่​ท่าม​กลาง​พวก​ท่าน​เหมือน​กับ​ผู้​ปรน​นิ​บัติ  (ลูกา 22:24-27 มตฐ.)

สองพันกว่าปีที่ผ่านมา   เราก็ยังพบว่า สาวกที่ประกาศตนติดตามพระคริสต์ก็ยังใช้  มุมมอง  วิธีคิด  นิสัย(สันดานดิบ)แบบคนในสังคมทั่วไป   ยัง โต้เถียง แย่งชิงแข่งขันกันว่าใครจะใหญ่กว่ากัน   ใครจะได้ตำแหน่งที่คิดว่าจะเสริมอำนาจและบารมีของตนเอง   โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องการเป็นใหญ่และแฝงด้วยผลประโยชน์แห่งตนและพวกพ้อง   ไม่ต่างอะไรไปจากสาวกคนสนิทของพระเยซูคริสต์เลย!... (น่าเศร้า) 

ชีวิตคริสตชน  เป็นชีวิตที่หยั่งรากลงในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์   และพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เป็นข่าวดีก็เพราะว่า   วิถีแนวทางชีวิตแห่งข่าวดีของพระคริสต์นั้น “แตกต่างสวนทาง” กับแนววิถีชีวิตแห่งสังคมโลกนี้  เป็นแนวคิดและความเชื่อที่ “พลิกคว่ำ” กระแสสังคมโลก  “ขุดรากถอนโคนหลักคิดหลักเชื่อ” จากกระแสงสังคมโลกปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง

เฉกเช่น  เมื่อสาวกโต้เถียงกันว่าใครเป็นใหญ่กว่ากันในพวกเขาบนหลักการแนวคิดตามอิทธิพลของกระแสสังคมโลก(ข้อ 24)   พระเยซูคริสต์ตรัสตำหนิพวกเขาแบบตรงไปตรงมาว่า   พวกเขาก็ไม่แตกต่างจากผู้นำ(บ้าอำนาจ)ในสังคมตอนนั้น   ต้องการมีอำนาจเหนือคนอื่น   ต้องการทำตนให้คนอื่นเห็นว่าตนเป็นผู้มีบารมี  และสร้างบุญคุณเหนือคนอื่น   และหาช่องทางที่จะให้คนอื่นเห็นและยอมรับว่าตนนั้นยิ่งใหญ่สำคัญกว่าคนอื่น! (ข้อ 25)

แต่หลักการวิธีคิดและมุมมองของพระเจ้า ต่างกันอย่างย้ายขั้วเลยทีเดียว  บนวิถีแนวคิดของพระองค์  ผู้ที่ยิ่งใหญ่คือผู้ที่เล็กน้อยถ่อมตน   และคนที่ยอมตนรับใช้คนอื่นคือคนที่สำคัญยิ่งกว่าคนที่ทำตนให้คนอื่นมารับใช้ปรนนิบัติตน (ข้อ 26)  แต่ค่านิยมตามกระแสสังคมโลก   ผู้คนวิ่งล่าไล่ไขว่คว้าเอา “ตำแหน่ง” เพราะคิดว่าตำแหน่งจะเอื้อโอกาสแก่เขาที่จะมีอำนาจ  ที่จะยิ่งใหญ่  อยู่เหนือคนอื่น  และมีความสำคัญกว่าคนอื่น

บนมาตรฐานวิถีการดำเนินชีวิตแบบพระคริสต์กลับตรงกันข้าม   ความยิ่งใหญ่สำคัญมิได้อยู่ที่ “ตำแหน่ง”  แต่อยู่ที่การรับใช้   และการที่ใครจะรับใช้ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีตำแหน่ง   ทุกคนรับใช้คนรอบข้างได้ด้วยชีวิตที่ตนมีอยู่   ซึ่งเป็นของประทานจากพระเจ้า

ดังนั้น   คริสตชนจะต้องเลือกว่าตนจะเลือกดำเนินชีวิตตามค่านิยมและแนวคิดตามกระแสสังคมปัจจุบันนี้   หรือ  ตัดสินใจที่จะยอมคิดยอมเชื่อตามแนววิถีชีวิตแห่งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์   แต่คนที่เรียกตนว่า คริสเตียน  สาวกของพระคริสต์ส่วนหนึ่งก็ยังเลือกวิถีแห่งกระแสโลกนี้   ทั้งนี้ก็เพราะ คนกลุ่มนี้คิดต่างคิดแปลกแยกจากวิถีแนวคิดของพระเจ้า (อิสยาห์ 55:8)2   คนเรามักคิดเข้าข้างตนเองว่าตนคิดถูก  แต่เราต้องตระหนักว่า พระเจ้าทรงพินิจพิจารณาที่จิตใจ (สุภาษิต 21:2)3  และบ่อยครั้งเป็นการตัดสินใจเลือกอย่างด้อยปัญญา (สุภาษิต 12:15)4  

สำหรับคริสตชนแล้ว    พระเยซูคริสต์ทรงเป็นต้นแบบของ “ผู้นำที่รับใช้”   เพราะแม้แต่พระคริสต์ บุตรมนุษย์ พระองค์ประกาศตนว่า  พระองค์มิได้มาเพื่อรับการปรนนิบัติ   แต่มาปรนนิบัติรับใช้คนทั้งปวง   และในการรับใช้ของพระองค์เป็นการรับใช้ด้วยชีวิต   เป็นการให้ชีวิต   เพื่อที่จะให้ผู้คนได้รับชีวิตใหม่ (มัทธิว 20:28)   พระองค์สอนสาวกอีกว่า  คนที่ปรารถนาจะเป็นเอกเป็นใหญ่ให้คนนั้นใช้ชีวิตของตนในการเป็นคนรับใช้คนอื่น (มัทธิว 20:27)   ซึ่งกลับตาลปัตรกับกระแสนิยมแห่งสังคมโลกนี้

พระคริสต์ได้วางแบบอย่างที่ชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมแก่สาวกและคริสตชนทุกคน   ก่อนที่จะถูกตรึงที่กางเขน   พระองค์ทรงล้างเท้าสาวกทุกคนรวมถึงคนที่กำลังจะทรยศขายพระองค์แก่คนที่จะต้องการฆ่าพระองค์   และนี่คือแบบอย่างชีวิตที่ยอมรับใช้ด้วยชีวิตที่สาวกจะต้องเอาเป็นเยี่ยงอย่าง (ยอห์น 13:14)   พระคริสต์ประสงค์ให้สาวกของพระองค์ถ่อมชีวิตจิตใจลงรับใช้ด้วยชีวิตเพื่อให้เกิดชีวิตใหม่   พระองค์ไม่มีพระประสงค์ให้สาวกของพระองค์ห้ำหั่น แย่งชิง  แก่งแย่งตำแหน่งผู้อำนวยการ  กรรมการอำนวยการ  ผู้บริหาร  หรือกรรมการต่าง ๆ ในองค์กรคริสต์ศาสนา    เพื่อตนจะได้อำนาจ ยิ่งใหญ่ สำคัญ และผลประโยชน์  (แต่มักอ้างว่าเพื่อจะมีโอกาสรับใช้  ซึ่งเป็นการอ้างอิงที่ขัดแย้งกับคำสอน หลักคิด หลักเชื่อที่พระคริสต์ได้ให้แก่เรา) 

การรับใช้พระคริสต์ท่ามกลางประชากรแห่งโลกนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการที่เรามีตำแหน่งอะไรหรือไม่   แต่สำหรับพระคริสต์แล้วการรับใช้พระคริสต์ท่ามกลางชีวิตมวลชนนั้นสามารถกระทำได้ในทุกสถานการณ์โอกาสชีวิต  และที่สำคัญกว่านั้นคือ   พระคริสต์ประกาศว่า   การที่เราใช้ชีวิตรับใช้ผู้เล็กน้อยต่ำต้อยเพียงใดในสังคม   เรากำลังรับใช้และปรนนิบัติพระคริสต์ (มัทธิว 25:40)

เปาโล ปราชญ์ในสมัยนั้น  ที่พลิกผันมาหยั่งรากชีวิตของตนในพระกิตติคุณของพระคริสต์   ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้เขาได้รับตำแหน่งแต่งตั้งให้เป็นผู้มีอำนาจทำลายพวกสาวกของพระคริสต์   เปาโลได้กล่าวว่า  คริสตชนอย่า​คิด​ถือ​ตัว​เกิน​ที่​ตน​ควร​จะ​คิด​  (โรม 12:3)  และกล่าวให้สติแก่คริสตชนที่มักใหญ่ใฝ่สูงว่า   อย่า​ทำ​สิ่ง​ใด​ด้วย​การ​ชิง​ดี​หรือ​ถือ​ดี แต่​จง​ถือ​ว่า​คน​อื่น​ดี​กว่า​ตัว​ด้วย​ใจ​ถ่อม (ฟิลิปปี 2:3)

ถ้าวันนี้ เราต้องการที่จะรับใช้พระคริสต์ด้วยความบริสุทธิ์ใจจริง ๆ แล้ว   ให้เรารับใช้คนรอบข้างที่เราพบประสบและสัมผัสกับเขาในวันนี้   ด้วยแบบอย่างการรับใช้แบบพระคริสต์  ด้วยความรักที่เสียสละของพระองค์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

*****
11เปโตร 5:5 อมต.  
2เพราะความคิดของเราไม่ใช่ความคิดของเจ้า   และทางของพวกเจ้าก็ไม่ใช่ทางของเรา”  พระยาห์เวห์ตรัสดังนี้แหละ (มตฐ.)
3ทางทุกสายของมนุษย์ก็ถูกต้องในสายตาของเขาเอง   แต่พระยาห์เวห์ทรงตรวจดูจิตใจ (มตฐ.)
4ทางของคนโง่นั้นถูกต้องในสายตาของเขาเอง   แต่คนมีปัญญาย่อมฟังคำแนะนำ (มตฐ.)

01 พฤษภาคม 2558

ได้ยินเสียงของพระเจ้า หรือ เสียงของตนเอง?

บ่อยครั้ง  ที่เราต้องการได้ยินเสียงจากพระเจ้า   แต่เสียงของเรา และ เสียงแวดล้อมเราเข้ามาครอบครองพื้นที่ช่องสื่อสารแห่งชีวิต   จนดูเหมือนเสียงของพระเจ้าถูกปิดกั้นผลักดันไปจากโสตสัมผัสแห่งชีวิตของเรา  

ทำไมเราถึงตกอยู่ในสภาพเช่นนี้?  

ท่าน​โยบ ขอ​ฟัง​ข้อ​นี้
จง​นิ่ง​พิจารณา​พระ​ราช​กิจ​อัน​อัศจรรย์ของ​พระ​เจ้า...”  
(โยบ 37:14 มตฐ.)

หลายครั้ง  เมื่อเราต้องการให้พระเจ้าช่วยสำแดง หรือ สื่อสาร  ประทานนิมิตทิศทางทางที่ควรมุ่งไปในชีวิตของเรา   ในเวลาเช่นนั้น  หลายท่านคงมีประสบการณ์ว่า   ในสมองห้วงความนึกคิดของเราเต็มไปด้วยคำถามต่าง ๆ ที่เราต้องการให้พระเจ้าช่วยตอบให้ชัด ๆ   หรือไม่ก็กลับมาพิจารณาถึงกลุ่มอธิษฐานของเรา   เรามักเริ่มต้นด้วยใครมีประเด็น หรือ มีเรื่องที่เราจะช่วยกันอธิษฐาน

เราเริ่มต้นที่จะสื่อสารกับพระเจ้า   ด้วยการเข้ามา “ควบคุม” การสื่อสารของเรากับพระเจ้า   ด้วยหัวข้ออธิษฐานของเรา   เท่ากับเรากำหนดว่า   “พระเจ้าผมต้องการคุยกับพระองค์ในเรื่องนี้   ขอพระองค์ตอบผมในเรื่องนี้ว่า  พระองค์เห็นว่าจะเอาอย่างไรดี?”  

แต่แล้วเรากลับพบว่า   พระเจ้าไม่ตอบประเด็นที่เราทูลขอต่อพระองค์!   ทำไมเป็นเช่นนั้น?

เราติดนิสัยที่ต้องการเป็นผู้ควบคุมการสื่อสารในสถานการณ์ต่าง ๆ ในอาชีพการงานและชีวิตประจำวันของเรา   แล้วเราก็ใช้นิสัยนี้กับพระเจ้าด้วย   จะด้วยรู้เท่าทันตนเองหรือไม่ก็ตาม   ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ได้ยินเสียงการทรงนำของพระเจ้า   เพราะเราสนใจแต่  “คำตอบที่เราอยากได้”   แต่ไม่ได้นิ่ง สงบ และเปิดใจรับ  “คำตอบที่พระเจ้าต้องการชี้และนำในชีวิตของเรา”   แล้วเราก็หงุดหงิด  ต่อว่าพระเจ้าในใจใช่ไหม?

พระคัมภีร์ในวันนี้บอกกับเราว่า   ให้เรา นิ่ง  ฟัง  และ พิจารณา ถึงพระราชกิจการอัศจรรย์ของพระเจ้า

เวลาเราที่เราอธิษฐานต่อพระเจ้า   เพื่อขอพระองค์ทรงชี้และนำชีวิตของเราในแต่ละเรื่อง   สิ่งสำคัญคือชีวิตของเราต้อง “นิ่ง” เพราะในความเป็นจริงแล้วในทุกวันนี้ชีวิตของเราไม่นิ่ง  อยู่ไม่สุข วอกแวก  วุ่นวายใจ  วิ่งไล่สิ่งล่อใจจนเหนื่อยอ่อนก็ยังตามไม่ทัน   ถ้าเราต้องการได้ยินการชี้และนำจากพระเจ้าจริง ๆ  สิ่งแรกเราต้องทำในชีวิตคือ  “นิ่ง”  เราต้องไม่มุ่งที่จะไล่ล่า ต่อสู้  ไขว่คว้า  แย่งชิง  ต้องเอาชนะ  หรือ ต้องเอาให้ได้  เราต้อง “นิ่ง”

จากนั้น  เราต้องเปิดชีวิต “ฟัง”  ซึ่งในที่นี้หมายถึงการที่เราจะเปิดพื้นที่ชีวิตประจำวันของเราที่จะกลับมาทบทวน  เปิดรับถึงพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตของเรา   ในชีวิตของชุมชน  สังคม และ โลก   เราต้องนิ่งพอที่จะฟัง “พระประสงค์ของพระเจ้า”  คือสิ่งที่พระเจ้าต้องการบอกเรา   ไม่ใช่  มุ่งแต่ที่จะให้พระเจ้าตอบเราในสิ่งที่เราอยากได้ใคร่มี ใคร่รู้   ซึ่งเป็นการฟังแต่เสียงของตนเองและเสียงรอบข้างมากกว่าเสียงของพระเจ้า

แล้วเราจะต้อง “ใส่ใจ” และ “พิจารณา ใคร่ครวญ” ในสิ่งที่พระเจ้าทรงเปิดเผย  ชี้นำ หรือ ที่ตรัสกับเรา(แม้จะดูเหมือนว่า ไม่เห็นเกี่ยวโยงกับเรื่องที่เราทูลขอพระองค์ไปก็ตาม)   เพราะเราต้องตระหนักชัดว่า  พระเจ้าทรงอยู่และกระทำพระราชกิจของพระองค์ในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่ “ก่อนหน้าเรา” (ไม่ใช่เราอธิษฐานขอพระเจ้าเข้าไปในสถานการณ์นั้นและช่วยเรา?)   ดังนั้น  พระองค์จึงรู้อะไรดีและมากกว่าเรา   และนี่คือคำตอบว่า   ทำไม  พระองค์ทรงตอบและชี้นำเรา  มากกว่า หรือ เหนือกว่าที่เราคาดหวังให้พระองค์ตอบ  

ในเมื่อพระองค์ได้กระทำพระราชกิจของพระองค์  ในสถานการณ์ที่เรากำลังทูลขอต่อพระองค์   แสดงว่าพระองค์ได้กระทำอะไรต่อมิอะไรก่อนหน้าเราจะเข้าไปเผชิญในเหตุการณ์นั้น   เราจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง  นิ่ง  ฟัง  และพิจารณาพระราชกิจที่พระองค์ทรงกระทำมาก่อนแล้วว่าพระองค์ทรงกระทำอะไร และ ทรงกระทำอย่างไร  และขอการทรงชี้และนำว่า   พระองค์มีเป้าประสงค์อะไรในสถานการณ์นั้น   เพื่อเราจะเข้าไปร่วม และ สานต่อพระราชกิจของพระองค์ที่ทรงเริ่มต้นไว้แล้ว  

เมื่อเราพิจารณาเช่นนี้   เราจะอัศจรรย์ใจกับพระราชกิจที่ทรงกระทำมาก่อนที่เราจะเข้าไป   ที่อัศจรรย์ใจเพราะ  ไม่ใช่ตามที่เราเข้าใจว่า เราขอพระเจ้าเข้าไปช่วยชี้นำปัญหาที่เราประสบ   แต่เราพบว่าพระเจ้าอยู่ในสถานการณ์ ในปัญหา ในวิกฤตกาลที่เราพบนั้นก่อนเราเข้าไปเสียอีก  และนี่ที่ทำให้เราอัศจรรย์ใจมิใช่หรือ?

อีกประการหนึ่งที่ทำให้เราอัศจรรย์ใจคือ  คำตอบ การทรงชี้และนำของพระองค์ที่เราเคยรู้สึกคิดเห็นว่า ไม่เห็นเกี่ยวหรือตอบสิ่งที่เราทูลขอต่อพระองค์นั้น   กลับกลายเป็นคำตอบที่ตอบโจทย์ปัญหานั้นที่ลึกซึ้งกว่าที่เราคิดเราคาดหวัง   เราจะพบว่า เป็นคำตอบการทรงชี้และนำที่มิใช่เพื่อแก้ปัญหา  ให้ผ่านพ้นวิกฤติที่กำลังประสบเท่านั้น   แต่เรากลับพบว่า   คำตอบและการชี้และนำนั้นนำไปสู่การทรงสร้างใหม่ในชีวิตผู้คนและชุมชน องค์กรนั้น ๆ  และนี่ก็เป็นการอัศจรรย์ใจในพระราชกิจที่พระองค์ทรงกระทำมาแล้ว

ทั้งสิ้นนี้อยู่ที่ว่า   เราต้องการให้พระเจ้าตอบและทรงชี้และนำในสิ่งที่ใจเราปรารถนาคาดคิดต้องการเท่านั้น หรือ  เราเลือกที่จะนิ่ง ฟัง และพิจารณาถึงพระราชกิจที่พระเจ้าทรงกระทำ   ตามแผนการและพระประสงค์ของพระองค์?   เพื่อเราจะรู้ถึงพระประสงค์แห่งพระราชกิจที่ทรงกระทำก่อนหน้านี้แล้ว   แล้วจะได้ร่วมและสานต่อในพระราชกิจของพระองค์   ตามใจปรารถนาของพระองค์ (ไม่ใช่ตามใจปรารถนาของเรา)

แล้วคริสตชน  ผู้นำองค์กรศาสนาคริสต์   ต้องการได้ยินเสียงตอบ  ชี้ และนำถึงพระราชกิจของพระเจ้าที่ทรงเริ่มต้นไว้   เพื่อสานต่อและร่วมในทีมพระราชกิจของพระเยซูคริสต์   หรือ ได้ยินแต่เสียงใจปรารถนาของตนเอง  พรรคพวก  ตำแหน่ง  ชื่อเสียง  ผลประโยชน์  และการยอมรับ  จนไม่สามารถได้ยินเสียงของพระคริสต์ผู้ทรงเริ่มต้นพระราชกิจของพระองค์   เพื่อที่จะยอมรับใช้พระองค์ตามพระประสงค์ตามใจปรารถนาของพระคริสต์?

คนกลุ่มหลังนี้   เขาจะไม่อัศจรรย์ใจในพระราชกิจของพระเจ้าที่ทรงได้ดำเนินมาแล้ว?   เพราะสนใจแต่จะสร้างให้ “พรรคและพวก” อัศจรรย์ใจในผลงานที่ตนเองทำครับ?   ถ้าเช่นนั้น จะได้ยินเสียงตอบจากพระเจ้าได้อย่างไร?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499