25 พฤษภาคม 2558

ล้มเหลวที่เกิดผล

ใครบ้างที่อยากล้มเหลว?   ยกมือขึ้นหน่อย!

แต่ถ้าเราจะพูดจากประสบการณ์ตรงของเราทุกคน เราไม่สามารถที่จะปฏิเสธได้ว่า   ความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งหรือก้าวขั้นหนึ่งของชีวิต   เฉกเช่นเด็กจะสามารถเดินได้อย่างแคล่วคล่องก็ต้องผ่านการล้มมาทั้งนั้น   อย่างที่ โธมัส เอ. เอดิสัน   เคยกล่าวประโยคอมตะไว้ว่า  “ข้าพเจ้าไม่ได้ล้ม   แต่ข้าพเจ้าเพียงค้นพบ 10,000 วิธีที่ยังไม่สำเร็จ”  ในชีวิตนักคิดค้นนักประดิษฐ์ที่ลือชื่อของโลกกำลังบอกกับเราว่า   ไม่มีความสำเร็จใดที่ปราศจากความล้มเหลว    

ความล้มเหลวคือก้าวขั้นที่นำไปสู่ความสำเร็จ!

ใครก็ตามที่มุ่งมั่นตั้งใจมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายที่ล้ำค่าของตนมีโอกาสที่จะทำผิด หรือ ตัดสินใจพลาดได้   ดังนั้น  เมื่อมุ่งมั่นตั้งใจก้าวไปให้ถึงเป้าหมายเราต้องคาดหวังด้วยว่า เราจะประสบพบเจอกับความผิดพลาดล้มเหลว  อย่างน้อยที่สุดต้องเตรียมใจรับสถานการณ์ความล้มเหลว   มิใช่การยอมรับมันอย่างสิโรราบแต่เข้มแข็งพอที่จะเปลี่ยนความล้มเหลวเป็นบทเรียนที่จะเป็นพื้นฐานรองรับและหนุนส่งให้เราก้าวไปสู่ก้าวความสำเร็จที่เหมาะสมยิ่งขึ้น    และนี่คือที่มาของก้าวแห่งความสำเร็จที่มาจากความล้มเหลว   และนี่คือบุคลิกอันโดดเด่นของผู้มีภาวะผู้นำ

ในข้อเขียนของ จอห์น แม็กซ์แวลล์  ที่กล่าวถึงเรื่อง “บางครั้งท่านสำเร็จ บางครั้งท่านเรียนรู้” (SOMETIME YOU WIN  SOMETIME YOU LEARN)  หรือ  ในฉบับแปลภาษาไทยใช้ชื่อเรื่องว่า “ล้มเหลวแล้วต้องเรียนรู้”   ได้ให้ข้อคิดที่สำคัญบางประการดังนี้

1.   มองหาสิ่งดี ๆ ในสถานการณ์ที่เลวร้าย

สำหรับ เอดิสัน เขามอง “ความล้มเหลว” ว่าเป็น 10,000 วิธีที่ไม่ใช่”   เขาคาดหวังว่าความล้มเหลวย่อมเกิดขึ้นได้ในการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ และมองค้นหา “ประโยชน์” ที่ได้จากการไม่สำเร็จในครั้งนั้น ดังนั้น เอดิสันจึงสามารถนำเอาสิ่งสำคัญที่ได้จากความล้มเหลวในการสร้างประโยชน์แก่ความสำเร็จ   การมองสิ่งต่าง ๆ ในแง่ดีมีประโยชน์   มิใช่ศักยภาพที่ติดตัวคนใดคนหนึ่ง   แต่เป็นการที่แต่ละคนจะเลือกว่าจะมองในแง่มุมดีมีประโยชน์  หรือ  เลือกที่จะมองหาแต่สิ่งเลวร้ายและทำให้ตนเองมีแต่แย่กับแย่เท่านั้น   นอกจากการมองด้วยสายตามุมมองที่ดี ๆ มีประโยชน์เท่านั้นยังไม่พอ  แต่ผู้มองคนนั้นต้องมีพลังภายในชีวิตที่จะกระตุ้นให้เขามุ่งมั่นยืนหยัด  ด้วยบุคลิกที่เข้มแข็งมั่นคง  

2.   เป็นผู้ที่รับผิดชอบต่อความล้มเหลวด้วยการยอมรับความล้มเหลวที่เกิดขึ้น

เป็นการง่ายที่เราจะหา “แพะรับบาป” ในความล้มเหลวที่เกิดขึ้น   หรืออ้างสาเหตุสัพเพเหระมากมายที่ทำให้เกิดความล้มเหลว อาจจะเป็นคนที่ทำงานด้วย หรือ สภาพแวดล้อมรอบข้าง   แต่เราต้องไม่ลืมว่า ความล้มเหลวเป็นโอกาสของการเรียนรู้   ถ้าเรากล่าวโทษโยนกลองความล้มเหลวให้แก่คนอื่น   ก็เท่ากับว่าเรากำลังหลีกเลี่ยงลี้หนีจากบทเรียนนั้น   เราต้องตระหนักชัดว่าความรับผิดชอบของเราสำคัญยิ่งกว่าชื่อเสียงของเรา ดังนั้นในสถานการณ์แห่งความล้มเหลวเราต้องรับผิดชอบ และจะต้องมีภาวะผู้นำที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น เพราะการที่คนรอบข้างสามารถเห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจและเต็มใจยอมรับผิดชอบในความล้มเหลวที่เกิดขึ้นนั้น ท่านกลายเป็นคนที่ผู้คนเหล่านั้น “ไว้วางใจ” ได้  และในเวลาเดียวกันก็เป็นเวลาที่จะใช้โอกาสที่เกิดความล้มเหลวนั้นที่จะพยายามมุ่งมั่นมากขึ้น

3.   ไม่จมจ่อมอยู่ในความล้มเหลวที่ประสบ

สิ่งสำคัญที่เปลี่ยนความล้มเหลวเป็นการเรียนรู้คือ   เมื่อล้มแล้วต้องสามารถลุกแล้วก้าวขาออกจากความล้มเหลวและมุ่งมั่นตั้งหน้าไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่ได้วางไว้   สิ่งที่จะต้องระมัดระวังคือความมุ่งมั่นตั้งใจของเราที่เอาจริงเอาจังกับสิ่งที่เรามุ่งมั่น  ถ้าเรามุ่งเน้นกับความผิดพลาดล้มเหลวที่ผ่านมา   ความตั้งใจของเราก็จะวนเวียนจมจ่อมอยู่แต่ในความผิดพลาดล้มเหลว   เราจึงไม่ได้ให้ความสนใจมุ่งเน้นของเราในสิ่งที่ถูกต้อง เราจึงเกิดความคิดความรู้สึกว่าเราจมลงในความผิดพลาดล้มเหลวลึกลงเข้าทุกที   จนถึงขั้นไม่สามารถถอนตนขึ้นจากหลุมโคลนแห่งความล้มเหลวนั้น

และต่อไปนี้คือพฤติกรรมของคนที่ไม่สามารถหลุดรอดออกจากสถานการณ์ที่เลวร้ายแห่งความล้มเหลวที่ตนประสบ
  • มักเปรียบเทียบ:   เมื่อประสบกับความล้มเหลวมักเปรียบเทียบความล้มเหลวตนเองกับคนอื่น  หรือไม่ก็เปรียบเทียบสถานการณ์แวดล้อมที่ตนประสบว่ามันเลวร้ายกว่าคนอื่น
  • ขุดค้นหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง:  พยายามบอกกับตนเองและคนอื่น ๆ ว่า ตนต้องมาแบกรับความผิดพลาดและความเจ็บปวดมากกว่าคนอื่น   และเชื่อขนมยายกินได้เลยว่า   แม้จะมีคนที่ช่วยปลอบให้กำลังใจเขา   คนเหล่านั้นก็ไม่ได้เข้าใจสถานการณ์ที่คุณพยายามอธิบาย
  • แยกตัวเองออก:   แยกตนเองออกจากคนอื่น   เพื่อเป็นการหลบเลี่ยงที่จะต้องไปรับมือกับความผิดพลาดล้มเหลวที่เกิดขึ้น   หรือไม่ก็เก็บตัวแล้วสงสารตนเองกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  (หลบออกไปเลียแผลเงียบ ๆ คนเดียว)
  • เศร้าเสียใจ:   คร่ำครวญในสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้น หรือ  พยายามแก้ไขสถานการณ์ที่ผ่านพ้นไปแล้วทั้ง ๆ ที่ไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้
  • ขมขื่นใจ:  เกิดความรู้สึกว่าตนเองตกเป็นเหยื่อของเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นนั้น แล้วกล่าวโทษคนอื่นที่ทำให้เกิดสิ่งเลวร้าย 


4.   ลุกขึ้นเริ่มเผชิญหน้ากับสิ่งที่ท่านกลัว

ความล้มเหลวที่ประสบความสำเร็จ เป็นการตอบสนองของเราต่อความล้มเหลวที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้อง ด้วยการหาสิ่งที่ดี ๆ ในความล้มเหลวเหล่านั้น ด้วยการรับผิดชอบในความล้มเหลวนั้น ลุกขึ้นก้าวออกจากความล้มเหลว แล้วริเริ่มที่จะลงมือทำจากบทเรียนรู้ดี ๆ ของความล้มเหลวนั้น  

แล้วท่านล่ะตอบสนองต่อความล้มเหลวอย่างไร? แล้วท่านจะจัดการอย่างไรต่อพฤติกรรมของตนเองในการเผชิญหน้ากับความล้มเหลวที่เกิดขึ้น?
                                                                                                   
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น