27 กุมภาพันธ์ 2554

เอกภาพ... ความเป็นหนึ่งเดียวกัน

12เหตุฉะนั้นในฐานะที่เป็นพวกซึ่งพระเจ้าทรงเลือกไว้ เป็นพวกที่บริสุทธิ์และเป็นพวกที่ทรงรัก
จงสวมใจเมตตา ใจปรานี ใจถ่อม ใจอ่อนสุภาพ ใจอดทนไว้นาน
13จงผ่อนหนักผ่อนเบาซึ่งกันและกัน
และถ้าแม้ว่าผู้ใดมีเรื่องราวต่อกัน ก็จงยกโทษให้กันและกัน
องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงโปรดยกโทษให้ท่านฉันใด ท่านจงกระทำอย่างนั้นเหมือนกัน
14แล้วจงสวมความรักทับสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด เพราะความรักย่อมผูกพันทุกสิ่งไว้ให้ถึงซึ่งความสมบูรณ์
15และจงให้สันติสุขของพระคริสต์ครองจิตใจของท่าน พระเจ้าทรงเรียกท่านไว้ให้เป็นกายเดียวด้วย...
(โคโลสี 3:12-15)

12เหตุฉะนั้นในฐานะที่เป็นพวกซึ่งพระเจ้าทรงเลือกไว้ เป็นพวกที่บริสุทธิ์

ในพระธรรมโคโลสี 3:1-17 อัครทูตเปาโลได้ชี้ถึงการดำเนินชีวิตตามทางของพระเจ้า เมื่ออ่านพระธรรมตอนนี้ทำให้เราระลึกว่า ในฐานะคริสเตียนเราเป็นผู้ที่พระเจ้าเลือก พร้อมกันนั้นพระองค์ทรงมอบหมายให้เรารับผิดชอบงานที่พระองค์มอบให้เราทำในที่ทำงาน พระคัมภีร์ตอนนี้เป็นเหมือน “แผนที่เส้นทาง” สำหรับเราที่จะทำงานเข้าขากับเพื่อนร่วมงานในที่ทำงาน เพราะว่าเพื่อนร่วมงานก็เป็นคนที่พระเจ้าทรงให้เราทำงานร่วมกัน เพื่อเราจะเติบโตขึ้นในชีวิตการงานที่เราทำ

15และจงให้สันติสุขของพระคริสต์ครองจิตใจของท่าน
พระเจ้าทรงเรียกท่านไว้ให้เป็นกายเดียวด้วย
เพื่อสันติสุขนั้น และท่านจงมีใจกตัญญู
16จงให้พระวาทะของพระคริสต์ดำรงอยู่ในตัวท่านอย่างบริบูรณ์
จงสั่งสอนและเตือนสติกันด้วยปัญญาทั้งสิ้น
จงร้องเพลงสดุดีเพลงนมัสการ และเพลงสรรเสริญด้วยใจโมทนาขอบพระคุณพระเจ้า
17และเมื่อท่านจะกระทำสิ่งใดด้วยวาจาหรือด้วยกายก็ตาม
จงกระทำทุกสิ่งในพระนามของพระเยซูเจ้า และ ขอบพระคุณพระบิดาเจ้า... (โคโลสี 3:15-17)

เอกภาพ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเป็นเรื่องสำคัญในสายพระเนตรของพระเจ้า เพื่อเป็นการเสริมสร้างบรรยากาศในที่ทำงาน ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งคือการยอมยกโทษเพื่อนร่วมงานด้วยความจริงใจและด้วยใจกรุณา พร้อมกันนั้น เราจะต้องเอาชนะความกลัวที่ฝังแน่ในตัวของเรา และความรู้สึกที่ไม่มั่นคงปลอดภัย จงมุ่งมั่นตั้งใจและอุทิศตัวของเราที่จะดำเนินไปบนเส้นทางของพระเจ้า ให้โน้มชีวิตของเราไปยังพระเจ้าเพื่อที่จะขจัดอุปสรรคทั้งหลายที่อยู่นอกเหนือความสามารถการควบคุมของเรา รวมทั้งความไม่สมบูรณ์และความสับสนในตัวเราเอง ในตัวคนอื่นๆ และในองค์กร เพื่อที่เราจะสามารถมุ่งมั่นก้าวไปไม่ว่าจะมีความยากลำบากเพียงใด และ ไม่ว่าหนทางที่จะก้าวเดินไปนั้นจะยาวไกลแค่ไหน

เมื่อพระเจ้าทรงมอบหมายให้เรายอมรับเอาระบบใหม่ และ ฝ่าฟันให้งานที่ทำก้าวไปข้างหน้า ซึ่งเป็นการท้าทาย ที่ต้องการความอดทนและมานะบากบั่น บ่อยครั้ง ความรู้สึกเช่นนี้เป็นเหมือนพระเจ้ากำลังทำงานในตัวของเรา แต่ถ้าเราอุทิศตัวเรายืนหยัดทำงานตามที่พระเจ้าทรงมอบหมาย เพื่อที่จะก้าวมุ่งไปสู่พระประสงค์ของพระองค์ เราจะเป็นพยานของพระเจ้าด้วยการฝ่าฟันไปสู่การเสริมสร้างทางใหม่ให้ไปถึงเอกภาพ ในการนี้รวมถึงการปรับเปลี่ยนจิตใจ มุมมอง และ ทัศนคติในชีวิตของผู้คน กระตุ้น หนุนเสริมผู้คนที่ไม่เต็มใจร่วมงาน ให้ตัดสินใจเลือกด้วยความเต็มใจ

ดังนั้น เอกภาพจึงเป็นกระบวนการ โดยกระบวนการนี้ พระเจ้าทรงหลอมเรา เพื่อนร่วมงานของเรา หัวหน้าของเรา องค์กรของเราด้วย “ความร้อน” ของความกดดัน การที่พระเจ้าให้เราอยู่ในสภาพเช่นนี้ก็เพราะว่า พระองค์พยายามที่จะสอนเรา ชำระเรา เพื่อที่จะให้เราสามารถมีความรับผิดชอบในตำแหน่งงานที่พระองค์ทรงมอบหมายนั้น

อยู่ที่ว่าเราเต็มใจที่จะอยู่ท่ามกลางความกดดันนี้หรือไม่?

เราพร้อมที่จะเปิดใจรับการสอนและการหลอมจากพระองค์หรือไม่? หรือเราไม่สามารถอดรนแล้วก็ทนไม่ได้ในภาวะของการทรงเสริมสร้างเรา เพราะการเห็นแก่ตัวของเรา? ให้เราสังเกตข้อที่ 15 ที่ว่า
“จงให้สันติสุขของพระคริสต์ครองจิตใจของท่าน พระเจ้าทรงเรียกท่านไว้ให้เป็นกายเดียวด้วย”

ให้ความรักที่มาจากพระคริสต์ครอบครองความสัมพันธ์ของเรา เรามักมองคนอื่นด้วยสายตาที่ตัดสิน ด้วยความขมขื่น และมักเกิดความขัดแย้ง ทะเลาะถกเถียงไม่พอใจกัน สิ่งเหล่านี้ นำไปถึงซึ่งสภาพที่ไร้เอกภาพ ไม่สามารถประสานสัมพันธ์กัน ตรงกันข้ามกลับกลายเป็นความแตกร้าว ฉีกขาด สูญเสียพลังร่วม ในสภาพเช่นนี้เองที่เอื้ออำนวยให้ศัตรูมีกำลังมากขึ้นในการทำลายแผนการของพระเจ้า

เส้นทางของเอกภาพคือเส้นทางที่ปูด้วยการยอมกลับใจใหม่ การยอมยกโทษ การยอมที่จะร่วมไม้ร่วมมือกัน และการมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเดินไปบนเส้นทางของพระเจ้าผ่านสถานการณ์แวดล้อมสภาพต่างๆด้วยการทรงนำของพระองค์ ไม่ว่าสถานการณ์จะเกิดขึ้นในสภาพใดก็ตาม

ถ้าท่านกำลังอยู่ในที่ทำงานที่มีสภาพวุ่นวายสับสน ขอท่านทูลถามพระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยเปิดเผยให้รู้ว่าพระเจ้าทรงมอบหมายให้ท่านทำและมีชีวิตเช่นไรในสถานการณ์นั้น ทูลขอให้พระองค์ทรงเปิดเผยให้ท่านเห็นถึงจุดสำคัญและกระบวนการที่ควรขับเคลื่อน ทูลถามพระองค์ว่าท่านควรอธิษฐานเช่นไร และพระองค์มีพระประสงค์ให้ท่านได้เรียนรู้อะไร ทูลขอพระองค์ช่วยท่านให้ได้รับประสบการณ์ตามที่พระองค์ประสงค์ เพื่อว่าท่านจะไม่ต้องเดินวนเวียนเหมือนหนูติดจั่น วนซ้ำแล้วซ้ำอีก

เพื่อท่านจะเดินไปบนเส้นทางนั้นด้วยความถ่อมใจและความสำนึก สรรเสริญพระเจ้าท่ามกลางสถานการณ์เหล่านั้น ยอมตนที่จะเดินไปบนเส้นทางที่พระเจ้าทรงนำ เข้าสู่สถานการณ์ที่พระเจ้าทรงนำด้วยจิตใจที่สงบสันติ จากนั้น ท่านจงนับพระคุณของพระเจ้าที่เกิดขึ้นกับตัวท่าน

24 กุมภาพันธ์ 2554

พระกิตติคุณครึ่งใบ...?

สังคมไทยในทุกวันนี้ถูกแทรกแซง และ แทรกซึมจากวัฒนธรรมกระแสหลักที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักคิดและแนวทางการดำเนินชีวิตเสรีที่แยกส่วนแยกตัวเองออกเป็นเอกเทศ ให้ความสำคัญกับเสรีแบบปัจเจกชน เอาตนเองเป็นศูนย์กลาง ติดยึดกับวัตถุและประโยชน์นิยมเพื่อตนเองและพวกพ้อง มีความสุขกับการบริโภคในรูปแบบต่างๆ กระแสวัฒนธรรมโลกปัจจุบันที่หลอกลวงฉ้อฉลนี้ได้ไหลบ่าอย่างรุนแรง กระแทกชนชีวิตผู้คน ชุมชน ชาติ ไม่ละเว้นแม้แต่พี่น้องชาติพันธุ์ที่อยู่ห่างไกล และคริสตจักรที่บอกตนเองว่าเป็นสาวกของพระคริสต์

วัฒนธรรมกระแสหลักดังกล่าว มิได้ไหลบ่าเข้ามาในชุมชนเท่านั้น แต่แทรกแซงและแทรกซึมลึกลงในจิตวิญญาณ ความเชื่อศรัทธาของบรรดาสมาชิกในคริสตจักร ยังผลให้กลายเป็นคริสเตียนปัจเจกชน ที่เข้าใจพระกิตติคุณเป็นพระกิตติคุณสำหรับแต่ละบุคคล เป็นเรื่องการช่วยกู้และความรอดของแต่ละคน และการเปลี่ยนแปลงตนเองของคริสตจักรที่กำลังเป็นอยู่เช่นนี้ เป็นกระบวนการที่คริสตจักรกำลังทำลายตนเองอย่างไม่รู้เท่าทัน เพราะเป็นอิทธิพลของกระแสพลังแห่งความตายที่กำลังคืบคลานและแฝงตัวครอบงำและวางตัวเป็นใหญ่ในความเชื่อ ความคิด และความเข้าใจของคริสเตียนไทยปัจจุบัน

คริสตจักรปัจจุบันกำลังประกาศ “พระกิตติคุณยอดด้วน” (พระกิตติคุณหัวกุดท้ายด้วน) เรียกให้สุภาพหน่อยว่าเป็น “พระกิตติคุณครึ่งใบ” เพราะมิได้ให้ความสำคัญของพระกิตติคุณที่ครบถ้วน มุ่งเน้นความสำคัญที่ให้คนรับพระเยซูคริสต์ แต่ขาดการสร้างให้เป็นสาวกที่เข้าร่วมในพระวรกายของพระเยซูคริสต์และในการมีชีวิตที่ประกาศ “พระกิตติคุณแห่งแผ่นดินของพระเจ้า” คือการประกาศถึงการที่พระคริสต์ทรงครอบครองชีวิตของผู้คนและสังคม ตลอดถึงระบบสังคมด้วย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเป็นการ “หดย่อพระกิตติคุณ” ที่เน้นเพียงแต่การตัดสินใจรับเชื่อส่วนบุคคล แต่ชีวิตคริสเตียนล้มเหลวต่อพระมหาบัญชาของพระเยซูคริสต์ที่สั่งให้สร้างชุมชนคริสตจักรตามพระประสงค์ขึ้น เพื่อให้ชุมชนคริสตจักรได้สำแดง “แผ่นดินของพระเจ้า” ให้ผู้คนได้เห็นและสัมผัสอย่างเป็นรูปธรรม และถ่ายทอดข่าวสารของพระคริสต์ที่เป็นคำตอบชีวิตและจิตวิญญาณของผู้ที่หลงหายในวัฒนธรรมที่เจริญฟู่ฟ่า ในสังคมที่ชีวิตที่ฉีกขาดและแตกหัก ในชุมชนที่คนเล็กคนน้อยถูกย่ำยี ถูกเอาเปรียบ และถูกปล้นโอกาส และคุณค่าชีวิต

โดยทั่วไปอย่างที่เห็นๆ กัน การประกาศพระกิตติคุณของเราถูกแทรกซึมหรือรับอิทธิพลของความคิดแบบบริโภคนิยม ไม่ต่างจากการโฆษณาขายสินค้าและขายบริการคือเน้นสิ่งที่คนๆ นั้นจะได้ความรอด ความช่วยเหลือ การอวยพระพร และการประกาศแบบนี้มักเป็นการประกาศกับคนห่างไกลหรือคนแปลกหน้า เพราะเป็นการประกาศพระกิตติคุณด้วยชุดหลักการคำสอน(ที่ดูค่อนข้างตายตัว) แต่บ่อยครั้งการแสดงออกในชีวิตประจำวันมิได้ส่อสำแดงถึงพระเยซูคริสต์ แล้วคริสเตียนจะสำแดงพระกิตติคุณแห่งแผ่นดินของพระเจ้าในสังคมทันสมัยแต่มีใจที่คับแคบ สายตาสั้น และลดทอนคุณค่าของชึวิตได้อย่างไร?

ประการที่สำคัญที่สุดคือ คริสเตียนต้องสำแดงชีวิตประจำวันให้ผู้คนรอบข้างได้มองเห็นชัดเจนว่า ชีวิตที่เข้าอยู่ภายใต้การครอบครองของพระคริสต์ในชุมชนคริสตจักรนั้นมีชีวิตและเป็นอยู่ในสภาพเช่นไร เพราะก่อนที่คริสตจักรได้รับการทรงเรียกให้ประกาศ ให้พูดและกระทำสิ่งใดๆ พระคริสต์ทรงเรียกให้ชุมชนคริสตจักรเป็นชุมชนที่มีเอกภาพ รักซึ่งกันและกัน เป็นชุมชนที่ดำเนินชีวิตภายใต้การครอบครองตามพระประสงค์ของพระคริสต์ แต่น่าเศร้าใจที่คริสตจักรในปัจจุบันเกิดรอยร้าว มีแผลฉีกขาด ที่รอการเยียวยา แล้วคริสตจักรจะทำพันธกิจอะไรได้ นอกจากการประกอบศาสนพิธีเท่านั้น

คำเชิญชวนและการทรงเรียกของพระคริสต์นั้นทรงเรียกเรา “ให้เข้าไปในแผ่นดินของพระเจ้า” คือการที่เราเข้าไปเพื่อรับการกอบกู้ออกจากความเป็นปัจเจก และ ความแปลกแยก เข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งในชุมชนประชากรของพระเจ้าที่พระองค์ครอบครอง C.S. Lewis เคยเขียนไว้ในทำนองนี้ว่า เมื่อ คริสเตียนรวมตัวกันในพระวรกายของพระคริสต์ พวกเขารักซึ่งกันและกัน ช่วยกันและกัน ชีวิตที่ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันของพวกเขาได้กลายเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมที่ทำให้ผู้คนได้เรียนรู้ถึงพระเจ้า... เปาโลได้ย้ำเตือนว่า คนต่างชาติซึ่งครั้งหนึ่งถูกแบ่งแยกออกจาก “พลเมืองของอิสราเอล” แต่ได้ถูกนำเข้าใกล้ “โดยพระโลหิตของพระคริสต์” เพื่อพระองค์จะทรงสร้างเขา “ให้เป็นคนใหม่” (มนุษยชาติใหม่) และทำให้ทั้งสองพวกกลายเป็นหนึ่งเดียวกันและเกิดสันติสุข และ “ให้ทั้งสองฝ่ายคืนดีกับพระเจ้าโดยไม้กางเขน” (เอเฟซัส 2:12-16, อมตธรรม) และนี่เป็นความหมายที่ลุ่มลึกของพระราชกิจแห่งการทรงช่วยกู้ของพระเจ้า เป็นแผนการแห่งการทรงกอบกู้ที่มุ่งหน้าจากอิสราเอลสู่การก่อร่างสร้างประชากรแห่งพันธสัญญาใหม่ซึ่งก็คือคริสตจักร จะไม่เป็นยิวหรือคนต่างชาติอีกต่อไปแต่เป็นประชากรใหม่ของพระเจ้า

ในเอเฟซัส 5:30 เปาโลเขียนไว้ว่า “เราทั้งหลายเป็นอวัยวะ(อวัยวะหนึ่ง)ในพระกายของพระองค์” นั่นหมายความว่าเราเป็น สมาชิก(คนหนึ่ง) ในพระกายของพระคริสต์ เรามักเข้าใจคลาดเคลื่อนถึงคำสอนในตอนนี้ เรามักเปรียบการเป็นอวัยวะหนึ่ง เป็นเหมือนเราเป็นสมาชิกคนหนึ่งของคริสตจักร ซึ่งวัฒนธรรมกระแสหลักได้แทรกแซงความคิดความเข้าใจของคริสเตียนในที่นี้ เปาโลพูดชัดเจนว่า คริสเตียนแต่ละคนเป็นอวัยวะหนึ่ง หรือ เป็นคนหนึ่งของพระคริสต์

แต่ความเข้าใจของคริสเตียนการเป็นสมาชิกมักมีความหมายคล้ายกับการเป็นสมาชิกของสมาคม สมาชิกชมรม หรือ กลุ่ม ความหมายการเป็นสมาชิกในที่นี้ คือการที่คนๆ นั้นเต็มใจเข้าร่วมองค์กรนั้น และจะเข้าใจต่อไปว่า เมื่อเข้าเป็นสมาชิกขององค์กรใดองค์กรหนึ่งก็จะมีสิทธิในฐานะสมาชิกขององค์กรนั้น และคริสเตียนกลุ่มนี้ก็จะเข้าใจว่าการเป็นสมาชิกคริสตจักรควรมีสิทธิในฐานะสมาชิกคริสตจักรด้วย ซึ่งแตกต่างจากความจริงในพระคัมภีร์ว่า เราเป็นสมาชิกคริสตจักรหมายความว่า เรามีชีวิตอยู่เพื่อคริสตจักร (พระวรกาย) และคริสตจักรมีชีวิตอยู่เพื่อพระคริสต์ แต่เรามักเข้าใจผิดเสมอว่า คริสตจักรตั้งอยู่เพื่อตัวเรา พระกิตติคุณที่ถูกแทรกซึมจากวัฒนธรรมปัจเจกนิยมจะเข้าใจคริสตจักรว่าตั้งอยู่เพื่อรับใช้หรือตอบสนองความต้องของการสมาชิกที่มาร่วมในคริสตจักร บ่อยครั้ง คริสตจักรจึงกลายเป็นเหมือนห้างสรรพสินค้าพร้อมตอบสนองความต้องการของลูกค้า หรือกลายเป็นที่ผ่อนคลายความเครียดให้ความบันเทิง สมาชิกคริสตจักรทำตัวตามอิทธิพลบริโภคนิยม

เปาโล พยายามให้ความหมายของการเป็นสมาชิกคริสตจักร ในความหมายของการเป็นอวัยวะหนึ่งในพระกายของพระคริสต์ คือแยกออกจากพระองค์ไม่ได้ เพราะแยกจากพระองค์แล้วอวัยวะชิ้นนั้นก็หมดชีวิต แต่อวัยวะในพระวรกายของพระคริสต์จะต้องทำงานประสานเสริมหนุนกันและกัน เป้าหมายของการทำงานประสานกัน ทั้งหมดมุ่งไปสู่ความต้องการของพระกาย คือพระประสงค์ของพระคริสต์

ในตอนท้ายของเอเฟซัสบทที่สอง เปาโลเขียนไว้ว่า “ท่านทั้งหลายได้รับการสร้างขึ้นบนฐานรากของเหล่าอัครทูตและผู้เผยพระวจนะ โดยมีพระเยซูคริสต์เองเป็นศิลามุมเอก ในพระองค์ ทุกส่วนของอาคารทั่วทั้งหมดต่อกันสนิท และประกอบขึ้นเป็นวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ในองค์พระผู้เป็นเจ้า และในพระองค์ท่านก็เช่นกันกำลังรับการทรงสร้างขึ้นด้วยกัน ให้เป็นที่ประทับซึ่งพระเจ้าสถิตอยู่โดยพระวิญญาณของพระองค์” (เอเฟซัส 2:20-22 อมตธรรม) ในที่นี้เน้นชัดถึงแผนการแห่งการช่วยกู้ของพระเจ้าที่เป็นพระราชกิจให้เราร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวของพระองค์ พวกเราทุกคนร่วมกันเข้าเป็นพระวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตของพระวิญญาณบริสุทธิ์ มิใช่ “ข้าพเจ้าเป็นวิหารของพระเจ้า” หรือ “คุณเป็นวิหารของพระเจ้า” ชีวิตคริสเตียนเป็นชีวิตที่ได้รับการทรงเรียกให้เป็น “ชีวิตของเรา” มากกว่า “ชีวิตของฉัน”

อีกประการหนึ่งที่ต้องเข้าใจชัดเจนว่า ชุมชนคริสตจักรมิใช่เป็นที่ที่ผู้คนมาร่วมกันเพราะมีค่านิยมเดียวกัน แต่ชุมชนคริสตจักรเป็นชุมชนที่ต้องการพิสูจน์ให้คนอื่นได้เห็นถึงพระราชกิจแห่งการทรงช่วยกู้ของพระเจ้าในโลกนี้ หรือกล่าวในอีกนัยหนึ่งคือ คริสตจักรคือชุมชนที่มุ่งมั่นตั้งใจจะเป็นพยานถึงแผ่นดินของพระคริสตที่เข้ามาในโลก การเป็นพยานเพื่อพิสูจน์ให้เห็นถึงพระราชกิจของพระเจ้านี้เริ่มต้นที่การกลับใจของแต่ละชีวิตแต่ละคน ที่ทำให้แต่ละคนได้รับการเปลี่ยนแปลงชีวิต พลังการเปลี่ยนแปลงชีวิตนี้เกิดการก่อตัวเป็นพลังร่วมในชุมชนคริสตจักร ชุมชนคริสตจักรมีเจตนาที่จะเป็นพยานถึงการเสริมสร้างสัมพันธภาพใหม่กับพระเจ้า และสัมพันธภาพที่มีต่อกันและกันระหว่างสมาชิกในชุมชนคริสตจักร เป็นชุมชนที่ยอมสละชีวิตของตนเองด้วยความรักกรุณา เพื่อมีชีวิตที่ทวนกระแสวัฒนธรรมหลักปัจจุบัน

พระเยซูคริสต์ทรงตั้งหลักการประการหนึ่งสำหรับความเชื่อศรัทธาที่แจ้งชัดแท้จริงสำหรับคริสตจักรเมื่อพระองค์ตรัสว่า 35ถ้าเจ้าทั้งหลายรักกันและกัน ดังนี้แหละคนทั้งปวงก็จะรู้ได้ว่าเจ้าทั้งหลายเป็นสาวกของเรา” (ยอห์น 13:35 TBS71b) ในคำอธิษฐานของพระเยซูคริสต์ในยอห์นบทที่ 17 ได้กล่าวย้ำว่า เอกภาพในความสัมพันธ์ของเรานั้นทำให้ผู้คนเห็นชัดว่าพระบิดาได้ส่งพระบุตรเข้ามาในโลก เอกภาพในความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นพยานที่มีพลังและอิทธิพลของคริสตจักรในสมัยเริ่มแรกด้วยการที่ “ผู้เชื่อทั้งปวงมีความคิดจิตใจเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่มีใครอ้างว่าทรัพย์สินที่มีอยู่เป็นของตนเอง แต่พวกเขาแบ่งปันทุกสิ่งที่ตนมี” (กิจการ 4:32 อมตธรรม) การที่เขารักกันและกันเป็นพลังที่ดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาร่วมเป็นสาวกในชุมชนคริสตจักร ทำให้เกิดพลังอำนาจในการประกาศว่า พระคริสต์เป็นทั้งองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระผู้ช่วยให้รอด

คำถามที่คริสตจักรจำเป็นจะต้องถามตนเองว่า ปัจจุบันเรากำลังตกเป็นทาสของวัฒนธรรมกระแสหลักเหมือนอิสราเอลที่ต้องตกไปเป็นเชลยที่บาบิโลนหรือไม่? ถ้าใช่ นั่นเป็นข่าวร้ายอย่างยิ่ง แต่ในฐานะชุมชนคริสตจักรของพระคริสต์ ถ้าเรายอมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในพระวรกายของพระคริสต์ และประกาศถึงพระกิตติคุณแห่งแผ่นดินของพระเจ้า ย่างก้าวแรกที่ไม่ต้องสงสัยคือ แต่ละคนต้องกลับใจเสียใหม่ แต่เราจะไม่หยุดเพียงแค่นั้น แต่ยอมมอบกายถวายชีวิตให้เป็นของพระคริสต์ด้วยการมีชีวิตรักกันและกันในชุมชนคริสตจักรซึ่งเป็นพระมหาบัญชาของพระคริสต์ และเป็นชีวิตที่เป็นพยานอย่างเป็นรูปธรรมถึงแผ่นดินของพระเจ้า

ชุมชนคริสตจักรปัจจุบันต้องไม่ยอมมีชีวิตในพระกิตติคุณครึ่งใบเท่านั้น

21 กุมภาพันธ์ 2554

ผู้นำที่เคียงข้างกับผู้ตาม

แล้วข้าพเจ้าบอกพวกเขาว่า
“ท่านเห็นแล้วว่า เรา ทุกข์ใจเพราะเรื่องใด
เยรูซาเล็มปรักหักพัง ประตูเมืองก็ถูกเผา
ให้(พวก)เรา ช่วยกันสร้างกำแพงเยรูซาเล็มขึ้นใหม่เถิด
เรา จะได้ไม่ต้องอับอายขายหน้าอีกต่อไป
เนหะมีย์ 2:17
(อักษรในวงเล็บเพิ่มเติมโดยผู้เขียน)

เนหะมีย์ เป็นคนธรรมดาที่มีตำแหน่งพิเศษเป็นผู้เชิญจอกเสวยของกษัตริย์อาทาเซอร์ซีสแห่งเปอร์เซีย เป็นผู้ที่มีหน้าที่การงานที่มั่นคงและประสบความสำเร็จในชีวิตการงาน เนหะมีย์ไม่มีอำนาจแต่เป็นผู้มีอิทธิพล เป็นที่ไว้วางใจของกษัตริย์ ยำเกรงพระเจ้าและห่วงใยกรุงเยรูซาเล็ม

เมื่อเนหะมีย์ได้ข่าวจากพี่น้องยูดาห์คนหนึ่งที่มาเยี่ยมท่าน ท่านซักถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวยิวในกรุงเยรูซาเล็มที่เหลือรอดพ้นจากการถูกกวาดต้อนมาเป็นเชลย คนจากเยรูซาเล็มเล่าให้ท่านฟังว่า “คนที่เหลือซึ่งรอดพ้นจากการเป็นเชลย...มีความทุกข์และมีความอัปยศอย่างยิ่ง ประตูกำแพงก็ปรักหักพัง ประตูเมืองก็ถูกเผาไปแล้ว” (1:1-3, อมตธรรม)

เมื่อเนหะมีย์ได้ฟังเรื่องราวทั้งหมดแล้ว ท่าน “นั่งลงร้องไห้...ถืออดอาหาร...อธิษฐานต่อพระเจ้า...อยู่หลายวัน” (ข้อ 4) และนี่คือลักษณะผู้นำที่สำคัญเมื่อพบกับปัญหาแล้วนำปัญหานั้นพึ่งพิงในการทรงนำจากพระเจ้า จากนั้นท่านได้ใช้ “ศักยภาพ” หรือ “ของประทานจากพระเจ้า” คือการที่มีตำแหน่งในวังของกษัตริย์ในการจัดการปัญหาที่พบ จนกษัตริย์เป็นผู้ส่งเนหะมีย์ไปเยรูซาเล็มเพื่อจัดการปัญหาดังกล่าว (บทที่ 2) นอกจากลักษณะการเป็นผู้นำที่กล้าเสี่ยงภายใต้การทรงนำของพระเจ้า ยังกล้าที่จะสละตำแหน่งและความสุขส่วนตนเพื่อส่วนรวม ท่านเป็นผู้นำที่ร่วมในความทุกข์กับประชาชนยูดาห์ในกรุงเยรูซาเล็ม

ขอโปรดสังเกตคำว่า “เรา” และ “พวกเรา” ในข้อพระคัมภีร์ที่ยกมาข้างต้น แทนที่เนหะมีย์มาถึงกรุงเยรูซาเล็มเริ่มกระตุ้นให้ชาวเยรูซาเล็มลุกขึ้นสร้างกำแพงขึ้นใหม่ แต่สิ่งแรกที่ผู้นำอย่างเนหะมีย์แสดงออกชัดเจนคือการแสดงตนร่วมในความทุกข์ ปัญหา ความจำเป็นต้องการ และอนาคตของชาวเยรูซาเล็ม ดังนั้น ปัญหาที่พบจึงมิใช่ปัญหาของ “พวกเขา” หรือชาวเยรูซาเล็มต่อไป ตอนนี้เนหะมีย์มองกำแพงเมืองที่ปรักหักพังเป็น “ปัญหาของเรา”

แต่ลองคิดดูว่า ถ้าเนหะมีย์มิใช่ผู้นำแบบนี้แต่เป็นผู้นำที่เราพบมากมายในองค์กร สังคม และประเทศของเรา เมื่อถึงเยรูซาเล็ม และกล่าวกับผู้นำและผู้คนในเยรูซาเล็มเช่นนี้ว่า “พวกท่านกำลังตกในภาวะยุ่งเหยิงเลวร้าย พวกคุณย่อมรู้ดีว่าพวกคุณควรจะทำอย่างไร พวกคุณรู้ว่าจำเป็นต้องทำอะไรบ้าง ผมบอกได้เลยว่าพวกคุณต้องซ่อมแซมและสร้างกำแพงเยรูซาเล็มขึ้นใหม่ ถ้าผมจะช่วยอะไรได้บ้างบอกมาเลย พบผมได้ที่ห้องทำงานของผม ผมยอมรับความจริงว่า คนที่แก้ปัญหานี้ได้ดีที่สุดคือพวกคุณ เพราะนี่คือปัญหาของพวกคุณ ใครจะทำได้ดีกว่าคุณ เพราะคนที่ตกอยู่ในปัญหาย่อมรู้ปัญหาดีกว่าคนอื่น การซ่อมแซมกำแพงเยรูซาเล็มดำเนินการไปอย่างไรแค่ไหน โปรดรายงานให้ผมทราบด้วย ผมสนับสนุนพวกคุณในการแก้ปัญหาของพวกคุณ” ถ้าเนหะมีย์พูดเช่นนี้ ปฏิกิริยาตอบสนองของชาวกรุงเยรูซาเล็มจะเป็นอย่างไร? อย่างไรก็ตาม การพูดในทำนองนี้ของผู้นำฟังดูแล้วคุ้นหูของพวกเราในทุกวันนี้มิใช่หรือ?

การที่ผู้นำเข้าร่วมในความทุกข์ในปัญหาของผู้ที่เขานำย่อมเป็นการกระตุ้นหนุนเสริมที่ให้กำลังใจ และ พลังชีวิตแก่ผู้ตามของตน

ครั้งเมื่อ Lee Iacocca เป็นประธาน และ ซีอีโอ ของบริษัทไคส์เลอร์ (Chrysler)ในเวลานั้นบริษัทกำลังประสบกับวิกฤติปัญหาธุรกิจการผลิตรถยนต์ในปี 1979 เขารู้ว่าเขาจะต้องขอลดเงินเดือนของพนักงานเพื่อไม่ให้บริษัทต้องประสบกับภาวะล้มละลาย เขาพยายามผลักดันให้สภาผู้แทนราษฎรให้ค้ำประกันเงินกู้ของบริษัท แต่เขาก็ยังตกในสภาพที่ไม่เป็นที่ไว้วางใจของสหภาพแรงงาน เขารู้ว่า เขาจะต้องหาทางที่จะโน้มน้าวคนงานของบริษัทให้มีหัวใจร่วมกันให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่ไคส์เลอร์

Iacocca ได้เชิญผู้บริหารหลักของบริษัท และ ผู้บริหารของสหภาพแรงงานเข้าประชุม ในที่ประชุมนั้นเขาได้ประกาศว่า ปีหน้าเงินเดือนตลอดปีของเขาคือ 1 เหรียญสหรัฐ เกมพลิกด้วยการที่เขายอมเสียสละเงินเดือนของเขา Iacocca ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเขาให้ความสำคัญสูงสุดกับความอยู่รอดและความมั่นคงของบริษัทมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตน เขาลงมาร่วมทุกข์กับคนงานในบริษัท เขากล่าวว่า “เราอยู่ในภัยพิบัตินี้ด้วยกัน และด้วยการร่วมมือกันเราสามารถที่จะฝ่าทะลุวิกฤติที่เลวร้ายนี้ได้” เขารู้และสัมผัสได้ว่าคนงานของเขาต้องได้รับความเจ็บปวดในชีวิตเมื่อทุกคนร่วมแรงร่วมใจร่วมชีวิตฝ่าอุปสรรคครั้งนี้

ถ้าผู้ตามรู้ว่าผู้นำร่วมทุกข์กับเขา พวก เขาสามารถร่วมกันในการขยับเคลื่อนภูเขาออกไปได้
สำหรับเนหะมีย์ พวกเขาสามารถซ่อมกำแพงเยรูซาเล็มขึ้นใหม่
ท่านในฐานะผู้นำ(ระดับไหนก็ตาม)ท่านจะร่วมทุกข์กับคนที่ท่านนำได้หรือไม่?
ท่านจะพูดว่า “ให้ พวกเรา ฝ่าทะลุวิกฤตินี้ไปด้วยกัน” ได้หรือไม่?

20 กุมภาพันธ์ 2554

เพิ่มอัตราความล้มเหลวของคุณเป็นสองเท่า

ชาร์ล เวสท์ริล เป็นนักเขียนบทความมือใหม่ในวารสารฉบับหนึ่ง เขาได้เชิญ ที.เจ. วัตสัน รับประทานอาหารกลางวัน(ง่ายๆ) โดยไม่รู้ว่าแขกที่เขาเชิญนั้นคือประธานบริษัทไอบีเอ็ม แต่ก็น่าแปลกใจที่วัตสันรับปาก และเขาเสนอว่า ขอเปลี่ยนที่รับประทานอาหารเป็นที่สำนักงานใหญ่ของบริษัท เมื่อชาร์ล มาถึงที่นัดหมายเขาต้องตกใจอย่างมากเพราะเห็นการนัดหมายถูกจัดเตรียมเป็นพิเศษ วัตสันได้ให้คำแนะนำที่มีผลทำให้ชีวิตของชาร์ลต้องเปลี่ยนแปลง

ในระหว่างการสนทนาวัตสันถามชาร์ลว่า “คุณต้องการได้สูตรของความสำเร็จหรือ?”
แล้ววัตสันพูดต่อไปว่า “ถ้าเช่นนั้นจงเพิ่มอัตราความล้มเหลวของคุณเป็นสองเท่า”

วัตสันกล่าวว่า “การผิดพลาดปกติทั่วไปได้ทำให้ความล้มเหลวกลายเป็นศัตรูตัวฉกรรจ์ของความสำเร็จ ความล้มเหลวอาจจะดูเป็นสิ่งเลวร้าย แต่เป็นครูที่ยอดเยี่ยม...” หลังจากอาหารเที่ยงมื้อนั้น ชาร์ลกลับไปเอาต้นฉบับบทความทั้งหลายที่ถูกบรรณาธิการปฏิเสธกลับขึ้นมาศึกษา เพื่อก้าวเข้าสู่ก้าวย่างแห่งความสำเร็จ

อาสาฟกล่าวในพระธรรมสดุดี 73:26 ว่า

กาย และ ใจของข้าพระองค์อาจเสื่อมถอย
แต่พระเจ้าทรงเป็นพลังใจ
และเป็นส่วนมรดกของข้าพระองค์ตลอดไป
(อมตธรรม, อักษรเอนเพิ่มโดยผู้เขียน)

ความล้มเหลวเป็นกุญแจดอกสำคัญของความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ ด้วยการผิดพลาดล้มเหลวเราได้เรียนรู้ที่จะพัฒนาท่าทีชีวิตและทัศนคติไปสู่อนาคตอันสว่างสดใส

เรียบเรียงจากข้อเขียนของ Howard E. Butt, Jr.

17 กุมภาพันธ์ 2554

พระวจนะพระคริสต์

พระคริสต์ที่สถิตภายในเรา
พระองค์ทรงกระทำกิจ สั่งสอน และหนุนเสริมให้เราเกิดการเรียนรู้

ในชีวิตแต่ละวันเราพบกับโอกาสในการเรียนรู้มากมาย
บ่อยครั้งเราจะพบว่าโอกาสแห่งการเรียนรู้เหล่านั้นมาพร้อมกับความยากลำบาก
ประสบการณ์ที่ได้รับจากการที่เรามุ่งเผชิญหน้าเข้าสู่ในความทุกข์ยากลำบากเหล่านั้น
ก่อให้เราเกิดความเข้าอกเข้าใจที่ยิ่งใหญ่มากขึ้น
เสริมสร้างให้เราเข้าใจชีวิตของตนเองและเข้าใจสังคมโลกได้เจาะลึกลงมากกว่าเดิม

แม้แต่การสอนในห้องเรียน
ผู้สอนใช้วิธีการต่างๆ ที่จะส่งต่อข้อมูล ความรู้ จากตำรับตำรา
ที่ผ่านการประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิต
ผ่านประสบการณ์ที่บ่มเพาะความเชื่อและความเข้าใจให้งอกงามขึ้น
ผ่านกระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์หลากหลาย
จนตกผลึกเป็นภูมิปัญญาส่งทอดเข้าถึงชีวิตของผู้เรียนในชั้นเรียน
มีความพยายามที่จะสื่อสารส่งทอดให้สามารถซึมซับเป็นการเรียนรู้ในชีวิตผู้เรียนอีกหลายคน
แต่ในกระบวนการนี้เองครูกลับเป็นผู้ได้เรียนรู้เพิ่มพูนมากยิ่งจากชั้นเรียนด้วย

การเรียนรู้ในชีวิตมาจากการแบ่งปัน
แบ่งปันสิ่งที่ตนได้รับให้กับอีกคนหนึ่ง
แบ่งปันสิ่งที่ตนได้บ่มเพาะ จนเจริญงอกงาม และเกิดผลในชีวิตไปยังอีกกลุ่มหนึ่ง
แบ่งปันการเรียนรู้และภูมิปัญญาที่ตกผลึกไปยังอีกคนหนึ่ง และ อีกคนหนึ่ง
ในการแบ่งปันนั้นเอง ผู้ให้คือผู้ได้รับ

การแบ่งปันนั้นเองที่ความรักเมตตาเกิดและปัญญาเป็นรูปธรรม
สิ่งเหล่านี้มิใช่หรือที่เป็นพระพรที่ประทานจากเบื้องบน
สำหรับท่านและสำหรับข้าพเจ้า ทรงประทานสำหรับเรา
เป็นพระพรที่ฝังแน่นภายในชีวิตของเราแต่ละคน
ที่ไม่มีใครจะ “ขุดช่องล้วงลักเอาไปได้”

16จงให้พระวจนะของพระคริสต์อยู่ในพวกท่านอย่างบริบูรณ์
จงสั่งสอนและเตือนสติกันด้วยปัญญาทั้งสิ้น
... (โคโลสี 3:16 ฉบับ TBS02b)

15 กุมภาพันธ์ 2554

พระเจ้าทำให้ชีวิตสมรสฟื้นคืนใหม่ได้

ขอนำเรื่องนี้มาถ่ายทอดหลังจากวาเลนไทน์ปีนี้เพิ่งผ่านไปได้ไม่กี่วัน

เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2005 เพื่อนๆ กลุ่มหนึ่งได้มาพบกันที่บ้านของดอนและโจนา เพื่อดูรายการโทรทัศน์ของ Dr. Phil ในรายการ “ชีวิตที่เปลี่ยนแปลง” โจนาได้เขียนบทความได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดเรื่อง “แม่บ้านชั้นเยี่ยม” ดอนและโจนา ได้รับเชิญเป็นแขกพิเศษในรายการของ Dr. Phil เพื่อที่จะให้ดอนและโจนาบอกเล่าชีวิตครอบครัวของเขา เราไม่ต้องไปสนใจว่า Dr. Phil พูดอะไรบ้าง แต่นี่เป็นความทรงจำที่เราได้รับจากรายการนี้

ดอน พบกับ โจนา ทั้งคู่พบกันครั้งแรกเมื่อดอนอายุ 27 ปี ในค่ายรีทรีตของคริสตจักร ในฤดูใบไม้ผลิ ทันทีที่เธอเห็นเขา เธอรู้ว่านี่คือชายที่จะเป็นสามีในฝันของเธอ ดอนเป็นคนที่มีความเชื่อศรัทธาอย่างมั่นคงในพระเจ้า มีหน้าที่การงานที่ดี จบปริญญาจากมหาวิทยาลัย มุ่งมั่นตั้งใจในการสร้างชีวิตสำหรับอนาคต เป็นคนที่ดูดี ร่างกายแข็งแรง ท่าทางเฉลียวฉลาด เป็นคนที่ชอบการผจญภัย หล่อเหลาเอาการอยู่ เป็นคนเรียบง่ายที่ดึงดูดสายตาผู้คน มากกว่านั้น เขาถูกห้อมล้อมด้วยสาวๆ ในค่ายรีทรีตที่ต่างแข่งขันกันทำตัวให้เป็นที่สนใจของดอน

เมื่อกลับบ้านหลังค่ายรีทรีต โจนาไม่เชื่อเลยว่าตนเองจะเป็นคนโชคดีอะไรเช่นนี้ ดอนชวนเธอรับประทานอาหารเย็นด้วยกัน เขาทั้งสองคบหากันเป็นเวลาสามเดือนก่อนที่ดอนจะขอโจนาแต่งงาน ทั้งสองแต่งงานกันในวันที่ 30 มีนาคม 1985 เขาทั้งสองเป็นสามีภรรยากันก่อนค่ายรีทรีตอีกปีหนึ่งจะเริ่มขึ้น

ปีแรกของชีวิตแต่งงานเต็มไปด้วยความสุขดั่งชีวิตท่ามกลางแสงสลัวๆ ของแสงเทียน มีความสัมพันธ์ที่ราบรื่น เขาฉลองบ้านใหม่ด้วยเค้กที่แต่งหน้าด้วยครีมและน้ำตาลเมื่อครบรอบหนึ่งปีของการแต่งงาน ในชีวิตสมรสปีที่สอง ดอนลาออกจากงานเพื่อทำธุรกิจส่วนตัว ชีวิตก้าวหน้าไปสู่ความฝันแบบคนอเมริกันอย่างต่อเนื่อง เมื่อครบการแต่งงานในปีที่สี่ โจนาให้กำเนิดบุตรคนแรกแล้วเข้าร่วมในกลุ่ม “แม่ที่อยู่บ้านเลี้ยงดูลูก” แต่เมื่อธุรกิจของดอนดำเนินไปได้ยี่สิบสี่เดือน ทั้งสองต้องเอาบ้านไปจำนอง สภาพบัญชีในธนาคารเริ่มติดขัด เกิดหนี้สินพอกพูนมากขึ้น สถานการณ์บีบคั้นให้โจนาต้องออกบ้านไปทำงาน เมล็ดแห่งความไม่พึงพอใจเริ่มหยั่งรากในจิตใจ เริ่มไม่ให้ความนับถือดอน ความชื่นชมในตัวดอนสลายหายไปหมดสิ้น

โจนาได้อธิบายต่อไปว่า “ดิฉันโกรธดอนในความผิดพลาดที่เขากระทำ... ในส่วนลึกของฉันแล้ว ฉันต้องการให้ดอนเป็นเหมือนพระเจ้าที่ตอบสนองทุกความปรารถนาและต้องการของฉัน แต่เขาเป็นพระเจ้าที่แย่ที่สุด ในปี 1993 แม่ของดิฉันเสียชีวิต ชีวิตของฉันดิ่งจมลงในความกดดัน ฉันต้องอยู่ที่บ้านนอนบนเตียงเกือบตลอดเวลา ซึ่งในเวลานั้นดิฉันมีลูกสองคน ฉันเลิกทำหน้าที่ความเป็นแม่ และ ภรรยา จากนั้นดิฉันก็เริ่มกิน...กิน...และ กิน น้ำหนักของดิฉันเพิ่มจาก 140 ปอนด์เป็น 240 ปอนด์

ดอนและดิฉันมีงานหมั้นที่สมบูรณ์แบบ มีงานแต่งที่หรูหรา และมีโอกาสดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์เหนือจินตนาการ แต่เมื่อเกิดปัญหาอุปสรรคในชีวิต ดิฉันมิได้รับการเตรียมตัวที่จะรับมือ และ ฝ่าฟันกับเหตุการณ์เลวร้ายนั้น ฉันคิดว่า เรื่องราวที่แท้จริงในชีวิตจะไม่เป็นเช่นนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นนิยายน้ำเน่ามากกว่า

“ดอนเปลี่ยนงานทุกปี แต่อย่างไรก็ตาม เขายังหาเลี้ยงพวกเราตามความจำเป็น การที่เขาไม่มีการงาน รายได้ที่มั่นคงทำให้ฉันคลั่งอย่างแน่นอน”

ดิฉันจำได้ว่า มีอยู่วันหนึ่งดอนพูดกับฉันว่า “ทำไมได้แต่กินจนน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นอย่างงี้?” ฉันตะโกนกลับไปว่า “ก็เพราะฉันไม่ต้องการให้เธอมาแตะตัวฉันนะสิ ฉันจะลดน้ำหนักเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าฉันต้องการ แต่คุณต่างหากที่มีรายได้ลดจนเกือบจะไม่เหลืออะไรอยู่แล้ว” คำต่อคำ โกรธโต้โกรธ ต่างคนต่างปฏิเสธกันและกัน ฉันกำลังทำลายสามีของฉัน ฉันตอบโต้อย่างเจ็บแสบเช่น คุณมันงี่เง่า เต่าตุ่น คุณจะทำอะไรที่มันดีกว่านี้ไม่เป็นหรือ? คำพูดที่เชือดเฉือนปลิวว่อนออกจากปากของฉัน ดิฉันรู้สึกเจ็บปวดในชีวิตและฉันก็ต้องการให้ดอนเจ็บปวดอย่างฉันบ้าง มีอยู่วันหนึ่ง ฉันเขียนรายการความผิดของดอน เขามาพบ แต่ฉันไม่สนใจ

โจนาคิดเสมอว่า ในเมื่อดอนเป็นคริสเตียน เขาจะต้องไม่ทิ้งฉันไป แต่อยู่มาวันหนึ่งเมื่อถึงจุดที่ดอนอดรนทนไม่ได้ต่ออารมณ์อันฉุนเฉียวของฉัน ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2001 ดอนได้ออกไปจากบ้านที่เป็นเหมือนห้องขังที่หวดแซ่ลงในชีวิตของเขา โจนาได้ทำลายชีวิตแต่งงานของเธอพร้อมกับชายคู่ชีวิตของเธอด้วย ในที่สุดทั้งสองหย่าร้างกันในวันที่ 31 มกราคม 2003

โจนาได้อธิบายต่อไปว่า “ภายหลังการหย่าสองเดือน ดิฉันสะดุ้งตื่นขึ้นได้ยินเสียงสงบเบาๆ พูดกับฉันในทำนองที่ว่า นี่เป็นสิ่งที่เธอต้องการหรือ? เธอต้องการการหย่าร้างหรือ? เธอต้องการให้ดอนไปแต่งงานกับหญิงคนใหม่หรือ? เธอต้องการให้ลูกต้องดึงไปดึงมาระหว่างสองบ้านนี้หรือ? เธอต้องการอยู่โดดเดี่ยวเช่นนี้หรือ? เธอได้เป็นภรรยาอย่างที่เราเรียกให้เธอเป็นหรือไม่?

โจนาร้องออกมาว่า “โอพระเจ้า... ฉันได้ทำอะไรลงไปนี่?

พระเจ้าเริ่มทำงานในจิตใจของโจนา ชีวิตของเธอมิได้เปลี่ยนแปลงเพราะตัวเธอเองสามารถเอาชนะสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มิใช่สิบขั้นตอนที่นำความสำเร็จกลับสู่ชีวิตสมรส แต่เพราะการทำงานอันอัศจรรย์ของพระวิญญาณบริสุทธิ์ คุณต้องการทราบหรือไม่ว่าได้เกิดอะไรขึ้น? คุณต้องการที่จะรู้ว่าส่วนที่ Dr. Phil ไม่ได้บอกกับผู้ชมของเขานั้นเป็นเรื่องอะไร? จีบกาแฟของคุณ แล้วอ่านต่อไปได้เลย

พระเจ้าทรงนำโจนามาถึงจุดของการกลับใจใหม่ แล้วทำให้จิตใจของเธออ่อนถ่อมลง ทรงหล่อหลอมและสร้างในส่วนลึกแห่งจิตใจของเธอขึ้นใหม่ นั่นคือสิ่งที่พระเจ้าทรงกระทำ พระเจ้ามิได้พยายามที่จะเชื่อมรอยร้าว ประสานรอยแยก ปะส่วนที่ฉีกขาดในชีวิต พระองค์ทรงเริ่มจากการดึงเธอขึ้นมาแล้วสร้างเธอขึ้นใหม่ ในเวลาที่การหย่าร้างถึงจุดแตกหัก พระเจ้าทรงเริ่มพระราชกิจของพระองค์ในจิตใจของโจนา

โจนาได้อธิบายว่า “พระเจ้าทรงนำฉันมาถึงจุดของการสารภาพกลับใจใหม่ผ่านกลุ่มหนุนเสริมในกลุ่มเล็กเป็นครั้งแรก ฉันมองเห็นชัดว่า ตนเองได้ทำลายชีวิตสมรสของฉัน ฉันจะกล่าวหาตำหนิในปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพราะการเปลี่ยนงานอย่างว่าเล่นของเขา แต่ปัญหาต้นเหตุคือการที่ฉันมิได้ให้การเคารพนับถือต่อคนที่พระเจ้าทรงเลือกให้เป็นหัวหน้าในครอบครัวของดิฉัน ฉันเป็นต้นเหตุโดยแท้และดอนไม่สามารถทนรับกับสภาพการณ์นั้นต่อไป ฉันไม่ยอมรับดอนด้วยคำพูด ท่าทีที่แสดงออก และการที่ไม่ยอมให้เขาแตะเนื้อต้องตัวของฉัน

จะอยู่ในสภาพใดก็ตามพระเจ้าสามารถที่จะกอบกู้ชีวิตสมรสได้ โจนามุ่งมั่นตั้งใจว่า เธอจะยอมให้พระเจ้าเข้ามากอบกู้ชีวิตของเธอ

จิตใจของโจนาโหยหาอยากจะกลับคืนดีกับดอน แต่เป้าหมายสูงสุดในขณะนี้ของเธอคือ เธอต้องการที่จะเป็นสตรีที่พระเจ้าประสงค์ให้เธอเป็น เธอใช้เวลาในการศึกษาพระวจนะและอธิษฐาน ดูแลเอาใจใส่การแต่งตัวและบุคลิกของเธอ และที่น่าสนใจอย่างมากคือ น้ำหนักตัวของเธอได้ลดลง เธอเองไม่เชื่อสายตาของตนเองกับตัวเลขที่เห็นที่เครื่องชั่งน้ำหนัก

“ฉันเริ่มเข้าใจพระวจนะของพระเจ้าที่บอกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา ฉันไม่ใช่พระวิญญาณบริสุทธิ์ของดอน ดิฉันไม่ได้เป็นผู้นำของครอบครัว พระเจ้าทรงเรียกฉันให้เคารพนับถือดอนในฐานะผู้นำครอบครัว ทรงเรียกให้ฉันเคารพนับถือพระเจ้าในฐานะที่ฉันบุตรคนหนึ่งของพระองค์ และให้ฉันรักพระองค์ด้วยทั้งหมดของชีวิต วันหนึ่งเมื่อดอนมารับบุตรชายทั้งสอง ฉันได้เล่าถึงเรื่องที่ฉันได้เรียนรู้

“ฉันบอกดอนว่า ฉันรู้ว่าเราหย่ากันแล้ว แต่ฉันมุ่งมั่นตั้งใจว่าฉันจะยอมอยู่ภายใต้เขา ซึ่งฉันไม่ได้เป็นเช่นนั้นในเวลาที่ผ่านมา”

“ดีนะ” เขากุมมือของฉัน “แต่เธอก็ต้องรู้ว่า ฉันก็ต้องดำเนินชีวิตของฉันต่อไป”

ฉันตอบเขาว่า “ใช่แล้ว คุณสามารถที่จะดำเนินชีวิตของคุณต่อไป แต่ฉันจะมีชีวิตที่นี่”

โจนาให้กำลังใจกับดอน และให้สิ่งเป็น “พร” แก่ดอน

“สิ่งที่เป็น “พร” กับดอนคือ พระพร กระตุ้น แบ่งปัน และ สัมผัส” เธออธิบายต่อไปว่า “ฉันเริ่มสัมผัสเขาเมื่อเขามาแวะเยือนที่บ้าน ฉันตบหลังเขาเบาๆ และโอบเขา เมื่อฉันรู้ว่าเขาจะมาที่บ้าน ฉันจะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่ดีและทำผมให้น่าดู ฉันชมเขาว่า ฉันรู้สึกภูมิใจมากที่เขาเอาใจใส่ลูกทั้งสอง แล้วแบ่งปันให้เขาฟังว่าพระเจ้าได้สอนฉันในเรื่องอะไรบ้าง มีบางคนบอกกับดอนว่า ฉันกำลังคิดอุบาย ดังนั้น ดอนไม่ควรสนใจฉัน แต่นั่นมิใช่กลอุบายใดๆ ทั้งสิ้น พระเจ้าทรงเปลี่ยนแปลงจิตใจของฉันใหม่ และฉันก็ตั้งใจแล้วว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคตระหว่างเราทั้งสอง ฉันจะไม่กลับไปเป็นผู้หญิงที่มีจิตในขมขื่นต่อไปอย่างที่เป็นในอดีต

ชาลอนกล่าวว่า “เธอไม่อยากจะบอกว่า นี่เป็นครั้งแรกที่โจนาอธิษฐานเผื่อดอน” โจนากล่าวว่า “ฉันไม่เคยอธิษฐานเผื่อเขามาก่อนเลย แต่ทุกวันนี้ฉันอธิษฐานเผื่อเขาตลอดเวลา”

โจนาน้ำหนักตัวลดลง 100 ปอนด์ เธอมีใบหน้าที่ยิ้มแย้มสวยงาม ฉันเองยังแปลกใจในตัวเธอ เพราะนี่มันมากกว่าการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและบุคลิกภาพของเธอ พระคริสต์ที่เติบโตในชีวิตของเธอได้ฉายแสงออกมาบนใบหน้าของเธอ

ดอนงุนงงถึงการเปลี่ยนแปลงของโจนา เขาถามเธอว่า “ทำไมเธอถึงคิดว่าฉันเป็นคนดีเยี่ยม อะไรที่ทำให้เธอเปลี่ยนแปลงอย่างหน้ามือเป็นหลังมือเช่นนี้”

โจนาอธิบายแก่ดอนว่า “เพราะเดี๋ยวนี้ฉันมองเธอผ่านสายตาของพระเจ้า ฉันมองเห็นว่าเธอเป็นดีเยี่ยม”
ดอนตกหลุมรักโจนาอีกครั้งหนึ่ง นี่มิใช่กลอุบาย แต่มันเป็นการอัศจรรย์ พระเจ้าให้โอกาสแก่เขาทั้งสองอีกครั้งหนึ่ง เขาแต่งงานใหม่ในวันที่ 24 สิงหาคม 2003 “โอ...ฉันรักพระองค์ พระเจ้าแห่งโอกาสครั้งที่สอง”

ท่านผู้อ่านที่รัก โจนาอนุญาตให้ดิฉันเผยแพร่เรื่องราวของเธอด้วยความยินดี เพราะเธอคิดว่า เธอต้องการทำทุกอย่างเพื่อจะช่วยเพื่อนหญิงของเธอไม่ทำสิ่งผิดพลาดอย่างเธอ เธอร้องไห้แล้วร้องไห้อีกเมื่อเล่าถึงเรื่องราวของตนเอง...เพื่อไม่ให้ท่านต้องตกลงในความทุกข์ยากอย่างเธอที่ผ่านมา โจนาอธิบายในเรื่องนี้ว่า “พระเจ้าทรงอนุญาตให้ฉันตกลงไปในสถานการณ์ชีวิตที่เลวร้ายทุกข์ยาก ฉันอธิษฐานทูลขอว่า อย่าให้คนอื่นต้องตกลงในสถานการณ์เช่นนั้นแล้วค่อยมารู้ตัวภายหลัง ว่าตนได้ทำอะไรกับชายข้างกายของเธอ”

และนี่คือสิ่งที่ Dr. Phil พิธีกรชื่อดังในรายการไม่ได้บอกแก่ผู้ชมในวันนั้น

เก็บความและเรียบเรียงจาก God Can Resurrect Your Marriage from the Ashes
เขียนโดย Sharon Jaynes

13 กุมภาพันธ์ 2554

วิกฤติคือโอกาส...?

วิกฤติคือโอกาส
เป็นประโยคที่ดึงดูดความสนใจ!
เพราะเป็นคำพูดที่ท้าทาย
เพราะเป็นคำพูดที่ดูขัดแย้งกัน
แต่กลับให้มุมมองที่หนุนเสริมกัน

ปกติธรรมดาแล้ว
วิกฤติคือโอกาสที่ตีบตัน
วิกฤติคือชีวิตที่ถึงทางแพ่ง ที่ต้องตัดสินใจเลือก
เลือกที่จะหลีกลี้หนีจากภาวะที่ไม่พึงประสงค์
เลือกที่จะเผชิญหน้าเพราะหวังว่าจะทะลุทางตัน
เลือกที่จะฝ่าวิกฤติเพราะหวังพบโอกาสใหม่

แต่เกิดคำถามขึ้นในใจว่า...
แล้วเป็น โอกาส ของใครกันแน่?
หลายคนคงตอบในใจว่า...ไม่น่าถาม!
ก็เป็นโอกาสของคนที่พบวิกฤตินั่นสิ!

เป็นโอกาสที่เขาจะค้นหา...
ทางออกใหม่
คำตอบใหม่สำหรับชีวิต
ประสบการณ์ใหม่ในชีวิตของตน
แนวทางใหม่ของการขับเคลื่อนชีวิตและการงาน

ถ้าเช่นนั้นพอสรุปได้ไหมว่า...
วิกฤติก็คือโอกาสของคนๆ นั้น
ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิต
เปลี่ยนแปลง มุมมองใหม่
เปลี่ยนแปลง ประสบการณ์ใหม่
เปลี่ยนแปลง การเรียนรู้ใหม่
เปลี่ยนแปลง ระบบคุณค่า และ ความหมายในชีวิต
เปลี่ยนแปลง เป้าหมายชีวิต
เปลี่ยนแปลง แนวทางการขับเคลื่อนชีวิต
เปลี่ยนแปลง ท่าที นิสัยใจคอในชีวิตประจำวัน

แต่ก็เกิดคำถามตามมาอีกว่า...
แล้วใครล่ะ...ที่เอื้ออำนวยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง?

สำหรับบางคนแล้ว
ในวิกฤติชีวิตที่ตนเผชิญอยู่
ตนต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
แต่ต้องการให้...
คนอื่นรอบข้าง เปลี่ยนแปลง
สถานการณ์แวดล้อม เปลี่ยนแปลง
โครงสร้าง และ ผู้นำ เปลี่ยนแปลง
ระบบ ระเบียบ เปลี่ยนแปลง
ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน เปลี่ยนแปลง
เพื่อนฝูง และคนที่เราคบหา เปลี่ยนแปลง
คู่ชีวิตของเรา เปลี่ยนแปลง
คนโน้น คนนี้ เปลี่ยนแปลง

แล้วก็ตามมาด้วย...
ขอให้พระเจ้าช่วยดลบันดาลให้สิ่งต่างๆ ข้างบนนี้เปลี่ยนแปลง (ดั่งใจปรารถนา)
ขอให้พระเจ้าเมตตาเปลี่ยนพระทัยที่จะไม่ลงโทษ (ตามที่ตนเองคาดกลัว)
ขอพระเจ้าโปรดสั่งสอนคนอื่นเหล่านั้น (ตามที่ตนเห็นว่าเขาผิด)

สำหรับคริสเตียนแล้ว...
วิกฤติชีวิตคือโอกาสของพระเจ้า...!
เป็นโอกาสของพระเจ้าที่จะประทานโอกาสชีวิตใหม่แก่เรา

เป็นโอกาสของเรา ที่จะเปลี่ยนท่าทีชีวิตใหม่
เป็นโอกาสของเรา ที่จะถ่อมใจเข้าหาพระเจ้า
เป็นโอกาสของเรา ที่จะยืนหยัดชีวิตด้วยความไว้วางใจในพระองค์
เป็นโอกาสของเรา ที่จะเรียนรู้การเปิดชีวิตของเราเพื่อรับการเปลี่ยนและสร้างใหม่จากพระเจ้า
เป็นโอกาสของเรา ที่จะเติบโตขึ้นในพระประสงค์ของพระเจ้า และเป็นเครื่องมือของพระองค์
เป็นโอกาสของเรา ที่เราจะเกิดผลในชีวิตตามพระประสงค์ของพระเจ้า

เป็นโอกาสที่พระเจ้า จะทรงทำงานตามพระประสงค์ในชีวิตของเรา
เป็นโอกาสที่พระเจ้า จะใช้วิกฤติชีวิตเพื่อเปลี่ยนแปลงและพัฒนาชีวิตของเราตามที่พระองค์ต้องการ
เป็นโอกาสที่พระเจ้า จะทรงหว่านเมล็ดแห่งพระประสงค์ของพระองค์ลงในชีวิตจิตวิญญาณของเรา
เป็นโอกาสที่พระเจ้า จะเป็นเจ้าของและขับเคลื่อนในชีวิตประจำวันของเราตามแผนการของพระองค์
เป็นโอกาสที่พระเจ้า ที่จะทรงอวยพระพรชีวิตของเราให้เป็นพระพรสำหรับคนรอบข้าง
เป็นโอกาสที่พระเจ้าและเรา จะได้เดินเคียงข้างไปด้วยกันใน “สวนเอเดน” ที่ทรงสร้าง

ถ้าเช่นนั้น
วิกฤติชีวิตก็เป็นโอกาสของพระเจ้าที่จะประทาน “ของประทานที่ซ่อนเร้น” เพื่อชีวิตของเรา?

10 กุมภาพันธ์ 2554

ใครเป็นเจ้าของกันแน่...?

พระธรรม 1 พงศาวดาร 29:10-14 (TBS71b)
10เพราะฉะนั้นดาวิดจึงสรรเสริญพระเจ้าต่อหน้าชุมนุมชนทั้งปวง และดาวิดทูลว่า “ข้าแต่พระเยโฮวาห์พระเจ้าแห่งอิสราเอล บรรพบุรุษของข้าพระองค์ทั้งหลาย สาธุการแด่พระองค์เป็นนิตย์และเป็นนิตย์

11ข้าแต่พระเจ้า ความยิ่งใหญ่ ฤทธานุภาพ พระสิริ ชัยชนะ และความโอ่อ่าตระการเป็นของพระองค์ และบรรดาสิ่งที่มีอยู่ในฟ้าสวรรค์ และในแผ่นดินโลกเป็นของพระองค์ ข้าแต่พระเจ้า ราชอาณาจักรเป็นของพระองค์ และพระองค์ทรงเป็นที่ยกย่องเป็นจอมของสิ่งสารพัด 12ทั้งความมั่งคั่งและเกียรติมาจากพระองค์ และพระองค์ทรงครอบครองอยู่เหนือทุกสิ่ง ฤทธานุภาพและมหิทธิฤทธิ์อยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ และอยู่ที่พระหัตถ์ของพระองค์ที่จะทรงกระทำให้ใหญ่ยิ่งและประทานกำลังแก่ทั้งมวล 13บัดนี้ข้าพระองค์ทั้งหลายโมทนาพระคุณพระองค์ ผู้เป็นพระเจ้าของข้าพระองค์ และสรรเสริญพระนามอันรุ่งโรจน์ของพระองค์

14“แต่ข้าพระองค์เป็นผู้ใด และชนชาติของข้าพระองค์เป็นผู้ใด ที่ข้าพระองค์ทั้งหลายจะสามารถถวายแด่พระองค์ด้วยความเต็มใจเช่นนี้ เพราะว่าสิ่งของทุกอย่างมาจากพระองค์ ข้าพระองค์ทั้งหลายได้ถวายของที่เป็นของพระองค์แด่พระองค์เท่านั้น

สดุดีข้างต้นนี้เป็นบทเพลงที่เขียนมาจากก้นบึ้งแห่งความสำนึกและทบทวนไตร่ตรองประสบการณ์ตรงในชีวิตของกษัตริย์ดาวิด ที่ประกาศยืนยันว่า ที่ตนมีชีวิตและเป็นกษัตริย์ได้เช่นนี้ ที่ประเทศเจริญรุ่งเรืองได้เช่นนี้เพราะพระเจ้าทรงเป็นผู้ประทานสิ่งเหล่านี้ให้กับตนและประชาชนของพระองค์ พระเจ้าเป็นผู้ประทานกำลัง ความคิด ความสามารถเพื่อให้ประชากรของพระเจ้าประสบความสำเร็จในชีวิต ดังนั้น จึงไม่สามารถแบ่งแยกทรัพย์สินเงินทองออกจากความสามารถและการได้มาซึ่งความมั่งคั่งที่มีอยู่

สิ่งผิดพลาดสำคัญมหันต์ที่เกิดขึ้นในคริสตจักรคือ มีคริสเตียนส่วนหนึ่งคิดและสำนึกในใจว่า ความเชื่อ กระเป๋าสตางค์ และเกียรติยศชื่อเสียงเป็นคนละเรื่องไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ความจริงก็คือว่า ทรัพย์สินเงินทอง ความมั่งคั่ง ชื่อเสียง ฐานะในสังคม และการเชื่องฟังพระเจ้าเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เพราะพระเจ้าทรงเป็นเจ้าของทุกสิ่ง ฮักกาย 2:8 กล่าวไว้ว่า 8เงินเป็นของเรา และทองคำเป็นของเรา พระเจ้าจอมโยธาตรัสดังนี้แหละ” สดุดี 24:1 ได้เขียนไว้ว่า 1แผ่นดินโลกกับสรรพสิ่งในนั้นเป็นของพระเจ้า ทั้งพิภพกับบรรดาผู้ที่อยู่ในพิภพนั้น” ทรัพย์สิน เงินทอง และวิธีการที่จะได้มาซึ่งความมั่งคั่งเหล่านี้เป็นของประทานมาจากองค์พระผู้เป็นเจ้า เราเป็นเพียงผู้รับไว้ใช้ด้วยความรับผิดชอบต่อพระเจ้า ดั่ง “คนต้นเรือน” หรือ “ผู้จัดการ” ดูแลจัดการทรัพย์สินด้วยความรับผิดชอบต่อเจ้านายของตน

คนต้นเรือน หรือ ผู้จัดการคือผู้ที่จะเอาใจใส่ดูแลและใช้ทรัพย์สินเหล่านั้นที่เป็นของคนอื่น ดังนั้น คนต้นเรือน หรือคนรับใช้ที่ดีจึงตัดสินใจในการใช้ทรัพย์สินเงินทองตามหลักเกณฑ์ของเจ้าของทรัพย์สิน และทำให้ทรัพย์สินที่มีนั้นเพิ่มพูนประโยชน์และคุณค่าตามที่เจ้าของต้องการมากขึ้น สำหรับ คริสเตียนแล้วพระเจ้าได้ทรงกำหนดหลักเกณฑ์ทางด้านทรัพย์สินเงินทองไว้ในพระวจนะของพระเจ้า ซึ่งปัจจุบันนี้เรื่องของเงินทองได้เข้าไปข้องเกี่ยวกับทุกเรื่องทุกด้านในชีวิตของเรา พระคัมภีร์ได้กล่าวถึงเรื่องเงินทองทรัพย์สินไว้ในที่ต่างๆ ถึงประมาณ 2,300 ครั้ง ในสถานการณ์ที่แตกต่างหลากหลาย ตัวอย่างเช่น พระเจ้าทรงกระตุ้นเตือนอิสราเอลให้มีชีวิตที่สัตย์ซื่อต่อคำสอนของพระองค์ และระวังที่จะไม่ตกลงใน กับดักของการคิดพึ่งพิงแต่ตนเองเท่านั้นโดยไม่พึ่งพิงในพระเจ้า พระธรรมเฉลยธรรมบัญญัติ 8:18 กล่าวไว้ว่า 18ท่านทั้งหลายจงจำพระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่านทั้งหลาย เพราะว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ให้กำลังแก่ท่านที่จะได้ทรัพย์สมบัตินี้ เพื่อว่าพระองค์จะทรงดำรงพันธสัญญาซึ่งพระองค์ทรงกระทำโดยปฏิญาณต่อ บรรพบุรุษของท่าน ดังวันนี้” พระเจ้าทรงเตือนอิสราเอลว่า กำลังที่จะสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยนั้นมาจากพระเจ้า

ความผิดพลาดที่คริสเตียนมักกระทำในฐานะคนรับใช้ หรือ คนต้นเรือนที่ดูแลทรัพย์สินที่มาจากพระเจ้าคือ คนเหล่านี้มักทึกทักเอาว่าตนเป็นเจ้าของทรัพย์สินเงินทองที่ตนเป็นผู้จัดการนั้น(หลายครั้งเลอะเลือนหลงเข้าใจไปว่า การรับผิดชอบ = ข้าฯเป็นเจ้าของ ตัดสินใจบริหารจัดการตามความต้องการขององค์กร กรรมการ กลุ่มบุคคล ที่แย่ที่สุดคือพรรคพวก) เขาไม่ปรึกษาหารือกับเจ้าของทรัพย์สมบัติต่อไป และจัดการใช้สอยทรัพย์สินเงินทองเหล่านั้นตามที่ตนเห็นควร ตามที่ตนต้องการหรือเห็นดี เขากลายเป็นคนรับใช้ หรือ คนต้นเรือนที่เอาแต่ใจตนเอง เขาจัดการทรัพย์สินเงินทองด้วยสายตาที่เสื่อมสั้นแทนที่จะบริหารจัดการด้วยมุมมองของพระเจ้าที่เปี่ยมล้นด้วยประสิทธิภาพ และด้วยการทรงนำที่อ่อนโยนและใจกว้างขวาง ดังนั้น เขาจะได้รับความทุกข์ยากลำบากจากผลการฝ่าฝืนแหกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับทรัพย์สินเงินทองในพระวจนะของพระเจ้า

ความเชื่อศรัทธาและทรัพย์สินเงินทองนั้นเกาะเกี่ยวสัมพันธ์ประสานเข้าหากัน พูดกันแบบสุดๆ ก็คือว่า เราไม่สามารถที่จะยื้อทรัพย์สินเงินทองที่เรามีออกจากพระหัตถ์ของพระเจ้า เพราะทั้งสิ้นอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ เราเป็นผู้จัดการใช้สอยมันเท่านั้น และเราจะต้องใช้อย่างรับผิดชอบและชาญฉลาดตามหลักเกณฑ์ของพระคัมภีร์ ผู้ที่เป็นผู้ใหญ่ในความเชื่อศรัทธา ย่อมบริหารจัดการทรัพย์สินเงินทองที่พอกพูนและมีคุณค่า ประโยชน์มากขึ้นตามหลักเกณฑ์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า

08 กุมภาพันธ์ 2554

เมื่อจัดการผิดทาง...?

อพยพ 2:11-25 (TBS71b)
11ครั้นโมเสสเติบใหญ่ขึ้นแล้ว วันหนึ่งจึงไปหาพวกพี่น้อง เห็นเขาต้องทำงานตรากตรำ โมเสสเห็นคนอียิปต์คนหนึ่งกำลังตีคนฮีบรู ซึ่งเป็นชนชาติเดียวกันกับตน 12ท่านมองดูซ้ายขวาเห็นว่าไม่มีผู้ใดอยู่ที่นั่น จึงฆ่าคนอียิปต์นั้นเสีย แล้วซ่อนศพไว้ในทราย

13เมื่อโมเสสออกไปอีกในวันรุ่งขึ้น ก็เห็นชาวฮีบรูสองคนต่อสู้กันอยู่ จึงตักเตือนคนที่ทำผิดนั้นว่า “ท่านตีพี่น้องของท่านเองทำไม”

14เขาตอบว่า “ใครแต่งตั้งท่านให้เป็นเจ้านาย และเป็นตุลาการปกครองข้าพเจ้า ท่านตั้งใจจะฆ่าข้าพเจ้าเหมือนกับที่ได้ฆ่าคนอียิปต์คนนั้นหรือ” โมเสสได้ฟังก็กลัวนึกว่า “เรื่องนั้นได้ลือกันไปทั่วแล้วเป็นแน่” 15เมื่อฟาโรห์ทรงทราบเรื่องก็หาช่องที่จะประหารชีวิตโมเสสเสีย แต่โมเสสหนีฟาโรห์ไปอยู่เมืองมีเดียน เขานั่งลงที่ริมบ่อน้ำแห่งหนึ่ง 16ฝ่ายปุโรหิตของคนมีเดียนมีบุตรีเจ็ดคน หญิงเหล่านั้นพากันมาตักน้ำใส่รางให้ฝูงแพะแกะของบิดากิน 17เวลานั้นมีคนเลี้ยงแกะมาไล่หญิงเหล่านั้น โมเสสจึงลุกขึ้นช่วยหญิงเหล่านั้น และให้สัตว์ของเธอกินน้ำ

18เมื่อหญิงเหล่านั้นกลับไปหาเรอูเอลผู้บิดา บิดาถามว่า “วันนี้ทำไมพวกเจ้าจึงพากันกลับเร็ว” 19เธอตอบว่า “มีชายคนอียิปต์คนหนึ่ง ช่วยพวกฉันให้พ้นจากมือของพวกเลี้ยงแกะ ทั้งยังตักน้ำให้พวกฉัน และให้ฝูงแพะแกะกินด้วย” 20บิดาจึงถามบุตรหญิงของท่านว่า “ชายผู้นั้นอยู่ที่ไหนทำไมจึงทิ้งเขาไว้ล่ะ ไปเชิญเขามารับประทานอาหารซิ”

21โมเสสก็เต็มใจอาศัยอยู่กับเรอูเอล แล้วเรอูเอลก็ยกศิปโปราห์บุตรสาวให้แก่โมเสส 22นางก็คลอดบุตรชายคนหนึ่ง โมเสสตั้งชื่อว่า เกอร์โชม เพราะท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเป็นคนต่างด้าวอาศัยอยู่ต่างประเทศ”
23ครั้นเวลาล่วงมาช้านานกษัตริย์อียิปต์ก็สิ้นพระชนม์ คนอิสราเอลเศร้าใจมากเพราะเหตุที่เป็นทาสเขา จึงร้องคร่ำครวญขอความช่วยเหลือ เสียงร่ำร้องเพราะการที่ต้องเป็นทาสนี้ ดังขึ้นมาถึงพระเจ้า 24พระเจ้าทรงสดับเสียงคร่ำครวญของเขา จึงทรงระลึกถึงพันธสัญญาที่พระองค์ ได้ทรงกระทำไว้กับอับราฮัม อิสอัค และยาโคบ 25พระเจ้าทอดพระเนตรชนชาติอิสราเอล แล้วทรงทราบถึงสภาพความเป็นไปของเขา

เมื่อชีวิตของเราต้องพบกับการท้าทาย คริสเตียนมีแนวทางตอบสนองต่อการท้าทายอย่างน้อยสองทางใหญ่ๆ ด้วยกันคือ เราจะเลือกตอบสนองตามวิธีการของเรา “ตามทางของเรา” หรือ เราจะเลือกตอบสนองด้วยการแสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้าในการท้าทายนั้น เพื่อที่จะเลือกตอบสนองตามแนวทาง “ตามทางของพระเจ้า” แนวทางที่สองนี้บ่อยครั้งเราต้อง “รอคอย” เพื่อพระเจ้าจะทรงเปิดเผยเวลาที่เหมาะสม แนวทางตามพระประสงค์ของพระองค์ และที่สำคัญยิ่งคือพระกำลังจากพระองค์

สำหรับโมเสสตามเรื่องที่อ่านข้างต้นนั้น โดยส่วนลึกในจิตใจแล้วเขารู้ว่าพระเจ้ามีพระประสงค์ที่จะปลดปล่อยคนฮีบรูออกจากการถูกกดขี่ข่มเหงหลุดพ้นจากการตกเป็นทาสในอียิปต์ อาจจะกล่าวได้ว่าโมเสสเลือกทำทั้งสองแนวทาง กล่าวคือ เชื่อมั่นว่าพระเจ้ามีพระประสงค์ที่จะปลดปล่อยคนฮีบรูจากการถูกกดขี่ข่มเหงของคนอียิปต์ แต่เขาทำการปลดปล่อยด้วยการพึ่งในความคิดความสามารถตามแนวทางของเขาเองและตัดสินใจลงมือทำทันที

ถึงแม้โมเสสมีความตั้งใจที่ดี คือต้องการช่วยให้พี่น้องฮีบรูหลุดพ้นจากความทุกข์และการกดขี่ข่มเหง แต่เขากระทำด้วยการพึ่งตนเอง ตามแนวทางของตนเอง และลงมือทำทันที โมเสสจึงได้กระทำอย่างผิดพลาด 5 ประการด้วยกันคือ

1. โมเสสมุ่งมองที่ ตัวปัญหา หรือ ความทุกข์ยากลำบากของคนฮีบรู ที่ได้รับจากการทำร้ายกดขี่ของคนอียิปต์ แทนที่จะมุ่งมองไปที่แนวทางที่พระเจ้าจะทรงใช้ในสถานการณ์นี้ วิธีคิดวิธีตัดสินใจ และการลงมือทำแบบโมเสสท่านฟังแล้วรู้สึกคุ้นๆ หรือเปล่า? เราได้ทำอย่างโมเสสบ่อยครั้งไหมเมื่อการท้าทายมาเผชิญหน้าเรา? เมื่อเราต้องประสบกับการกระทำที่ไม่ยุติธรรม หรือบางคนทำให้ชีวิตของเราต้องเจ็บปวด สถานการณ์ดังกล่าวจะกระตุ้นสุมไฟความเดือดเนื้อร้อนใจของเรา แล้วก็รีบร้อนที่จะลงมือจัดการ แต่เรากลับลืมพระเจ้าผู้ทรงพลานุภาพ เรากลับลืมพระเจ้าที่เป็นเจ้าของพระประสงค์ของพระองค์ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น

2. โมเสสตอบสนอง โดยใช้พลัง อำนาจ และความเข้าใจของตนเอง เมื่อมีวิกฤติ มีปัญหาเกิดขึ้นในชีวิต โดยปกติทั่วไปแล้วเราจะรีบเร่งจัดการสะสางสิ่งผิดให้ถูกต้องด้วยตัวเราเอง

3. โมเสสสำคัญผิดในการใช้ “ตำแหน่ง” เจ้าชายแห่งอียิปต์เข้าจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น ตำแหน่งอาจจะมีอำนาจ แต่อำนาจที่แท้จริงนั้นเกิดจากการ “ยอมรับนับถือ” ของผู้คนที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์นั้น มิใช่ตำแหน่ง ตำแหน่งอาจจะใช้ข่มขู่ “ตีหัวฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย” ได้ในบางครั้ง แต่บางครั้งผู้คนจะลุกขึ้นคัดค้านและไม่ยอมรับ เมื่อถึงเวลานั้นก็สายเกินแก้แล้วอย่างในกรณีที่โมเสสไปเตือนพี่น้องของตน แต่กลับถูกตอบโต้อย่าง “กินใจ” (ดูข้อ 11-14)

4. โมเสสมองปัญหาด้วยการเข้าข้าง “คนพวกเดียวกัน” มักเป็นวิธีคิดของคนทั่วไปและของผู้นำที่พร่องทางหลักคุณธรรมความโปร่งใส เช่นบางครั้งอาจจะได้ยินว่า “ถ้าโมเสสไม่ช่วยคนฮีบรูแล้ว จะให้ไปช่วย... สุนัขที่ไหน?” “คนพวกเดียวกัน” มักถูกใช้เพื่อเอื้ออำนวยผลประโยชน์ เพื่อสั่งสมคนไว้สนับสนุนการตัดสินใจและการกระทำของตน เป็นความสัมพันธ์แบบเอื้อผลประโยชน์ตอบแทนกันและกัน แต่ถ้าวันใดผลประโยชน์ไม่เอื้อ ไม่ลงตัว ความเป็น “คนพวกเดียวกัน” อาจจะย้ายขั้วก็ได้ ดังนั้น การแก้ปัญหาด้วยแนวทางนี้จึงสุ่มเสี่ยงคลอนแคลน

5. โมเสสลงมือจัดการด้วย อารมณ์หุนหันพลันแล่น แทนที่จะมั่นคงต่อหน้าสถานการณ์ท้าทาย เพื่อรอคอยและแสวงหาแนวทางขององค์พระผู้เป็นเจ้า แต่เขารีบเร่งหยุดยั้งปัญหา ขัดขวางสิ่งเลวร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น แต่นี่มักเป็นการตอบสนองแรกๆ ต่อปัญหาของมนุษย์เรา ตอบโต้ด้วยสัญชาตญาณ ด้วยไขสันหลัง(ไม่ใช่ด้วยสมอง) จิตใจรักเมตตาและจิตวิญญาณที่ศรัทธามั่นคง และ สัตย์ซื่อต่อพระเจ้า จึงถูกกีดกันผลักดันออกไป

ในเวลานั้นที่เราตอบสนองต่อสถานการณ์ท้าทาย ต่อปัญหาที่ประดังเข้ามานั้นเราอาจจะรู้สึกว่าเป็นการตอบสนองอย่างมีเหตุมีผล มีความเหมาะสมและถูกต้อง แต่สิ่งที่เราต้องพิจารณาด้วยว่า ถ้าเราเลือกตอบสนองเช่นนั้นจะเกิดผลและมีประสิทธิภาพแค่ไหน? โมเสสต้องการตอบสนองเพื่อจะบรรลุเป้าหมายที่เขามีในใจคือ การช่วยเหลือปลดปล่อยพี่น้องฮีบรูรอดพ้นจากการถูกข่มเหงทำร้าย คนอียิปต์ถูกฆ่าตาย แต่คนฮีบรูมิได้รับการปลดปล่อย และตัวโมเสสเองกลับถูกปฏิเสธจากพี่น้องฮีบรูด้วยกัน(นึกว่าเป็นคนพวกเดียวกันเสียอีก?) โมเสสมีความเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนในวิธีการที่เขาใช้ในการช่วยพี่น้องฮีบรู และเพราะการตัดสินใจใช้แนวทางการแก้ปัญหาของเขานี้เองที่ทำให้ชีวิตของโมเสสต้องผกผัน เขาต้องหนีเข้าไปในทะเลทรายมีเดียน และใช้ชีวิตที่นั่นยาวนานถึง 40 ปี

เราท่านก็ไม่ต่างจากโมเสสในประเด็นนี้ เราต้องทนทุกข์กับจากผลของการตัดสินใจที่พึ่งในความรู้ความเข้าใจและกระทำด้วยกำลังและวิธีการของเราเอง แต่น่าสังเกตว่า แม้โมเสสจะกระทำผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากพระประสงค์และแนวทางของพระองค์ พระเจ้ามิได้ปฏิเสธ หรือ เลิกใช้โมเสส พระเจ้ามิได้ล้มเลิกแผนการของพระองค์ที่ทรงในชีวิตของโมเสส แต่พระเจ้ากลับใช้เวลาหลังจากนั้นในการขัดเกลาชีวิตความนึกคิด และ บุคลิกของโมเสสผ่านการทำงานหนัก ความทุกข์ยากลำบาก เพื่อเตรียมเขาให้เป็นผู้นำในอนาคต พระเจ้าทรงสร้างและประทานโอกาสใหม่แก่โมเสส

ท่านคิดว่า พระเจ้าจะทรงกระทำเช่นนี้กับท่านด้วยหรือไม่?

06 กุมภาพันธ์ 2554

หยั่งรากคุณธรรมผู้นำเพื่อความสำเร็จที่เที่ยงแท้

ไม้ “เรดวูดส์” (Redwoods) ในรัฐคาลิฟอร์เนีย มีขนาดต้นใหญ่มหึมา สูงตระหง่านดูน่าเกรงขาม ซึ่งบางต้นสูงพอๆ กับตึก 30 ชั้น ต้นเรดวูดส์ในคาลิฟอร์เนียเมื่อโตเต็มที่มีน้ำหนักถึงหนึ่งล้านปอนด์ และลำต้นใหญ่โตมหึมาจนบางต้นสามารถเจาะทะลุเป็นอุโมงค์เป็นทางผ่านไปได้

ต้นเรดวูดส์ที่เติบโตและแข็งแรงนั้นไม่มีโรคใดที่จะมาทำลายมันได้ จนถึงทุกวันนี้ยังไม่พบว่าต้นไม้ใหญ่ชนิดนี้มีโรคที่เรารู้จัก และก็ยังไม่พบว่ามีแมลงชนิดใดที่จะเป็นภัยเจาะทำลายต้นไม้นี้ได้ เปลือกที่หนาของมันสามารถทนต่อไฟ สิ่งที่เป็นภัยหายนะสำหรับเรดวูดส์คือพายุที่แรงกล้า ทั้งนี้ก็เพราะว่า แม้ต้นเรดวูดส์ที่สูงพุ่งเสียดแทงฟ้าถึง 350 ฟุต แต่รากของมันหยั่งลึกลงดินเพียง 6 ฟุตเท่านั้น ดินที่เปียกชื้นอ่อนตัวอาจจะทำให้รากไม่สามารถเกาะมั่นยืนอยู่ ลมพายุจึงสามารถโค่นล้มต้นไม้ยักษ์นี้ล้มครืนได้

ต้นเรดวูดส์ในคาลิฟอร์เนียต้องการระบบรากที่แข็งแรงที่จะดูดซึมอาหารจากดินในการหล่อเลี้ยงตนเอง และในเวลาเดียวกันต้องการรากที่หยั่งรากลงลึกในดินเพื่อยึดเกาะให้ต้นมันสามารถยืนตระหง่านสง่าฝ่าลมกล้าพายุร้าย ผู้นำก็เช่นกันต้องการคุณลักษณะที่มี “รากผู้นำ” ที่แข็งแรงด้วย คุณลักษณะต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ค้ำจุนให้การเป็นผู้นำบรรลุผล รากที่แข็งแกร่ง บึกบึน ทรหดเป็นรากฐานที่สำคัญในการหนุนเสริมค้ำชูให้มีความทนทานต่อความว้าวุ่น สับสนอลหม่านในชีวิตของผู้นำ และสถานการณ์ที่เลวร้ายโหมกระหน่ำถาโถมความสูงตระหง่านเมื่อใดก็ได้

ในฐานะผู้นำ ท่านได้พัฒนาระบบรากของบุคลิกภาพภาวะผู้นำในชีวิตของท่านอย่างไรบ้าง?

ความจำเป็นประการแรกในฐานะการเป็นผู้นำ คือการปรับย้ายความสนใจ หรือ การใส่ใจของท่านจาก สิ่งที่ท่านต้องการทำต้องการมี ไปใส่ใจว่า ท่านต้องเป็นคนแบบไหน ท่านอาจจะใจร้อนรีบเร่งทำอะไรต่อมิอะไรที่ท่านคิดอยากทำ แต่ละเลยเอาใจใส่ หรือ ไม่สนใจที่จะเอาใจใส่ในการวางรากฐานชีวิตที่แข็งแรงมั่นคงในคุณธรรม ความสัตย์ซื่อ และความมั่นคงยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้องในชีวิตของท่าน

ความจำเป็นประการที่สอง คือการที่ท่านสามารถแยกแยะคุณลักษณะชีวิตต่างๆ ให้ชัดแจ้งเพื่อที่จะเลือกคุณลักษณะที่มาเป็นส่วนในบุคลิกของท่าน ท่านควรมีเวลาที่จะสะท้อนคิดอย่างขุดลึกในคำถาม เช่น ถ้าวันที่ฉันตายจากโลกนี้ไปแล้ว ฉันต้องการให้คนที่ฉันรู้จักจดจำอะไรเกี่ยวกับชีวิตของฉัน? ขอให้ท่านทบทวน ใคร่ครวญคิดถึงสัมพันธภาพที่เปี่ยมด้วยคุณค่าความหมายในชีวิตของท่าน แล้วลองเขียนการสะท้อนคิดของท่านต่อความสัมพันธ์ดังกล่าว เช่น
  • ท่านคาดหวังให้คนที่เคยร่วมงานกับท่านคิดถึงท่านเช่นไร เมื่อวันที่ท่านต้องย้ายงาน หรือ ต้องเกษียณอายุ
  • ท่านต้องการให้คู่ชีวิตของท่านพูดอย่างไรเกี่ยวกับท่านในวันงานศพของท่าน?
  • ท่านจะส่งต่อมรดกอะไรให้ลูกหลานของท่าน?
  • ท่านต้องการที่จะให้คนในคริสตจักร และ คนในชุมชนพูดถึงการมีส่วนร่วมของท่านอย่างไรบ้าง?

จากนั้นลองพิจารณาคำสำคัญต่างๆ ในคำตอบของท่านอาจจะมีคำว่า การมีใจกว้างขวาง เป็นคนมีน้ำใจ มีความเห็นอกเห็นใจ เป็นคนเอาใจใส่คนอื่น เป็นคนที่มีความกล้าหาญ และ ฯลฯ ท่านควรที่จะหล่อหลอม บ่มเพาะ และลับให้ชีวิตของท่านให้ “แหลมคม” ในคุณลักษณะดังกล่าว

ความจำเป็นประการสุดท้าย คือการที่จะต้องเอาใจใส่ในการบ่มเพาะคุณลักษณะอุปนิสัยเหล่านี้ให้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ในต้นสัปดาห์ของแต่ละอาทิตย์ให้กำหนดแนวทางปฏิบัติในแต่ละคุณลักษณะที่ท่านต้องการให้บรรลุผล เช่น ถ้าท่านต้องการที่จะเป็นคนที่มีใจกว้างขวาง หรือ เป็นคนที่มีน้ำใจ ท่านก็ต้องกำหนดว่าในสัปดาห์นี้ท่านจะให้อะไรได้บ้าง? ถ้าท่านต้องการบ่มเพาะคุณลักษณะที่เห็นอกเห็นใจ เอาใจใส่คนรอบข้าง ในสัปดาห์นี้ท่านจะเอาใจใส่ใครบ้าง? ให้ท่านกำหนดและเขียนถึงสิ่งที่ท่านตั้งใจกระทำเพื่อเป็นการบ่มเพาะอย่างเจาะจงชัดเจน ในทุกวันตลอดสัปดาห์นี้ให้ทบทวนสิ่งกำหนดการบ่มเพาะคุณลักษณะดังกล่าว เมื่อถึงสุดสัปดาห์ให้ท่านประเมินดูว่า ท่านประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหนในการบ่มเพาะคุณลักษณะที่พึงประสงของท่าน?

ถ้าท่านบากบั่นพากเพียรในการบ่มเพาะหล่อหลอมคุณลักษณะในชีวิตของท่าน ถึงแม้ว่าท่านจะต้องบ่มเพาะครั้งแล้วครั้งเล่าสักกี่ครั้งก็ตาม แต่เมื่อท่านได้หยั่งรากแห่งคุณลักษณะภาวะผู้นำอันพึงประสงค์นั้นลงลึกในชีวิต ไม่ว่าจะมีสิ่งหนึ่งสถานการณ์ใดเกิดขึ้น คุณลักษณะเหล่านั้นจำยึดเกาะให้ชีวิตของท่านให้ยืนมั่นอยู่ได้อย่างยั่งยืน แล้วเมื่อนั้นท่านจะได้ลิ้มรสความสำเร็จที่เที่ยงแท้

เรียบเรียงจากข้อเขียนของ John C. Maxwell
เรื่อง Building a Foundation for Success

พระธรรมภาวนา

สุภาษิต 11:24-25(อมตธรรม)
24บางคนยิ่งให้อย่างใจกว้างกลับยิ่งมีเพิ่มมากขึ้น
ส่วนคนที่ยิ่งตระหนี่ถี่เหนียวกลับยิ่งขาดแคลน
25คนใจกว้างจะเจริญรุ่งเรือง
ผู้ที่นำความชุ่มชื่นไปสู่คนอื่น ก็จะได้รับความชุ่มชื่น

สุภาษิต 22:8-9(อมตธรรม)
8ผู้หว่านความอยุติธรรมก็เก็บเกี่ยวความทุกข์ร้อน
อำนาจอันน่าสะพรึงกลัวของเขาจะถูกทำลายลง
9ความสุขมีแก่คนใจกว้าง
เพราะเขาแบ่งปันอาหารแก่คนยากไร้

สดุดี 37:21
21คนอธรรมขอยืม และไม่จ่ายคืน
แต่คนชอบธรรมนั้นใจกว้างขวางและแจกจ่าย

มัทธิว 18:35:
พระบิดาของเราผู้ทรงสถิตในสวรรค์ จะทรงกระทำแก่ท่านทุกคนอย่างนั้น ถ้าหากว่าท่านแต่ละคนไม่ยกโทษให้แก่พี่น้องของท่านด้วยใจกว้างขวาง”

โรม 12:8-21
8ถ้าเป็นการเตือนสติก็จงเตือนสติ ถ้าเป็นการบริจาค ก็จงให้ด้วยใจกว้างขวาง ผู้ที่ครอบครอง ก็จงครอบครองด้วยเอาใจใส่ ผู้ที่แสดงความเมตตา ก็จงแสดงด้วยใจยินดี 9จงรักด้วยใจจริง จงเกลียดชังสิ่งที่ชั่ว จงยึดมั่นในสิ่งที่ดี 10จงรักกันฉันพี่น้อง ส่วนการที่ให้เกียรติแก่กันและกันนั้น จงถือว่าผู้อื่นดีกว่าตัว 11อย่าอ่อนระอา จงมีจิตใจกระตือรือร้นด้วยพระวิญญาณ จงปรนนิบัติองค์พระผู้เป็นเจ้า 12จงชื่นชมยินดีในความหวัง จงอดทนต่อความยากลำบาก จงขะมักเขม้นอธิษฐาน 13จงเห็นอกเห็นใจช่วยธรรมิกชนเมื่อเขาขัดสน จงมีน้ำใจอัธยาศัยไมตรี
14จงอวยพรแก่คนที่เคี่ยวเข็ญท่าน จงให้พร อย่าแช่งด่าเลย 15จงชื่นชมยินดีกับผู้ที่มีความชื่นชมยินดี จงร้องไห้กับผู้ที่ร้องไห้ 16จงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อย่าใฝ่สูง แต่จงถ่อมใจลงยอมทำการต่ำ(หรือ จงคบคนสามัญ) อย่าถือว่าตัวฉลาด 17อย่าทำชั่วตอบแทนชั่วแก่ผู้หนึ่งผู้ใดเลย แต่จงมุ่งกระทำสิ่งที่ใครๆ ก็เห็นว่าดี 18ถ้าเป็นได้ คือเท่าที่เรื่องขึ้นอยู่กับท่าน จงอยู่อย่างสงบสุขกับทุกคน 19ดูก่อน ท่านผู้เป็นที่รักของข้าพเจ้า อย่าทำการแก้แค้น แต่จงมอบการนั้นไว้ แล้วแต่พระเจ้าจะทรงลงพระอาชญา เพราะมีคำเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า “การแก้แค้นเป็นของเรา เราเองจะตอบสนอง” 20อย่าแก้แค้นเลย ถ้าศัตรูของท่านหิว จงให้อาหารเขารับประทาน ถ้าเขากระหายน้ำก็จงให้น้ำเขาดื่ม เพราะว่าการทำอย่างนั้น เป็นการสุมถ่านที่ลุกโพลงไว้บนศีรษะของเขา 21อย่าให้ความชั่วชนะเราได้ แต่จงชนะความชั่วด้วยความดี

2 โครินธ์ 9:11
11โดยทรงให้ท่านทั้งหลายมีสิ่งสารพัดมั่งคั่งบริบูรณ์ขึ้น เพื่อให้ท่านมีแจกจ่ายอย่างใจกว้างขวาง ซึ่งโดยเราจัดแจก จะให้เกิดการขอบพระคุณพระเจ้า

03 กุมภาพันธ์ 2554

ท่านเป็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า

ข้าแต่พระเยซูคริสต์
โปรดเฝ้าคุ้มครอง อวยพระพร และ ดูแลข้าพระองค์ทั้งหลาย

ใช่แล้ว องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงทำเช่นนั้นอยู่แล้ว
จงระลึกไว้แสมอว่า
องค์พระผู้เป็นเจ้านำท่านออกจากความมืดมิดสู่ความสว่าง
องค์พระผู้เป็นเจ้านำท่านออกจากความว้าวุ่นสับสนสู่การผ่อนพักและศานติสุข
องค์พระผู้เป็นเจ้านำท่านออกจากความวุ่นวายสู่ความเป็นระบบระเบียบ
องค์พระผู้เป็นเจ้านำท่านออกจากความผิดพลาดล้มเหลวสู่ความสมบูรณ์ในชีวิต

ดังนั้น จงไว้วางใจพระองค์อย่างสุดจิตสุดใจ
อย่ากลัวเลย
จงเปี่ยมด้วยความหวัง
จงมุ่งมองมาที่องค์พระผู้เป็นเจ้า เพราะพระองค์เป็นความช่วยเหลือที่มั่นคงของท่านเสมอ

องค์พระผู้เป็นเจ้าและพระบิดาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
พระบิดาผู้ทรงสร้างสรรค์…
ความเป็นระบบระเบียบ และ
ความสวยงามแห่งโลกนี้ออกจากความสับสนวุ่นวาย และ ยุ่งเหยิง
แล้วกำหนดจัดวางดวงดาวบนเส้นทางที่มันจะต้องโคจรไป

พระบิดาผู้ทรงสร้างสรรพพืชให้รู้จักฤดูกาลของมัน
แล้วพระองค์จะไม่สามารถนำท่านออกจากความสับสน และ วุ่นวาย
สู่ความสงบ สันติ และ ความเป็นระบบระเบียบหรือ?

พระบิดาและองค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และท่านก็เป็นของพระองค์
เรื่องต่างๆ ในชีวิตของท่านก็เป็นเรื่องของพระองค์ด้วย
เป็นหน้าที่ขององค์พระผู้เป็นเจ้า
เป็นภารกิจของเบื้องบนที่จะทรงนำจัดการกับงานนั้น
ดังนั้น องค์พระผู้เป็นเจ้าจะนำท่านสู่ความเป็นระบบระเบียบและศานติสุขในชีวิต

พระธรรมภาวนา

สดุดี 19:1-9
1ฟ้าสวรรค์ประกาศพระสิริของพระเจ้า
และภาคพื้นฟ้าสำแดงพระหัตถ์กิจของพระองค์

2วันส่งถ้อยคำให้แก่วัน และคืนแจ้งความรู้ให้แก่คืน

3วาจาไม่มี ถ้อยคำก็ไม่มี และไม่มีใครได้ยินเสียงฟ้า

4ถึงกระนั้นเสียงฟ้าก็ออกไปทั่วแผ่นดินโลก และถ้อยคำก็แพร่ไปถึงสุดปลายพิภพ
พระองค์ทรงตั้งเต็นท์ไว้ให้ดวงอาทิตย์ ณ ที่นั้น

5ซึ่งออกมาอย่างเจ้าบ่าวออกมาจากห้องโถงของเขา
และวิ่งไปตามวิถีด้วยความชื่นบานอย่างชายฉกรรจ์

6ดวงอาทิตย์ขึ้นมาจากสุดปลายฟ้าสวรรค์ข้างหนึ่ง และโคจรไปถึงที่สุดปลายอีกข้างหนึ่ง
ไม่มีสิ่งใดสามารถซ่อนให้พ้นจากความร้อนของมันได้

7กฎหมายของพระเจ้ารอบคอบ และฟื้นฟูจิตวิญญาณ
กฎเกณฑ์ของพระเจ้านั้นแน่นอน กระทำให้คนรู้น้อยมีปัญญา

8ข้อบังคับของพระเจ้านั้นถูกต้อง กระทำให้จิตใจเปรมปรีดิ์
พระบัญญัติของพระเจ้านั้นบริสุทธิ์ กระทำให้ดวงตากระจ่างแจ้ง

9ความยำเกรงพระเจ้านั้นสะอาดหมดจด ถาวรเป็นนิตย์
กฎหมายของพระเจ้าก็สัตย์จริง และชอบธรรมทั้งสิ้น

01 กุมภาพันธ์ 2554

สำนึกที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต...

โปรดตระหนักไว้เถิดว่าไม่มีคำภาวนาใดที่ไม่มีคำตอบ
โปรดตระหนักไว้เถิดว่า เมื่อใดก็ตามที่ท่านรู้สึกว่ามีสิ่งผิดเกิดขึ้น
มีบางคนกระทำในสิ่งที่ท่านคิดว่าไม่ควรจะทำ
เวลาเช่นนั้นเองที่เป็นจุดเริ่มต้นของความผูกพันและ

ความรับผิดชอบของท่านที่จะอธิษฐาน
เพื่อสิ่งเหล่านั้นที่ผิดได้รับการปรับเปลี่ยนให้ถูกต้อง
ให้คนเหล่านั้นจะมีพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากเดิม

จงเผชิญหน้ากับความรับผิดชอบของท่าน
อะไรคือสิ่งที่ผิดในครอบครัวของท่าน
อะไรคือสิ่งที่ผิดในที่ทำงานของท่าน
อะไรคือสิ่งที่ผิดในคริสตจักรของท่าน
อะไรคือสิ่งที่ผิดในสภาคริสตจักรฯ ของท่าน
อะไรคือสิ่งที่ผิดในบ้านเมือง ในประเทศของท่าน
คนที่ปกครอง กฎหมาย หรือประชาชน?

จงคิด ใคร่ครวญ ด้วยความสงบ และ
ให้สิ่งผิดเหล่านี้อยู่ในคำภาวนาของท่าน
ท่านจะเห็นชีวิตที่ท่านไม่เคยเข้าไปแตะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง
กฎหมายได้รับการแก้ไขตามที่ท่านร้องทูลขอ
ความชั่วร้ายถูกขจัดออกไป

ใช่แล้ว จงมีชีวิตด้วยความสำนึกที่ยิ่งใหญ่
คือความสำนึกในการรับใช้และการช่วยกู้
ท่านสามารถอยู่ในห้องได้ครั้งละหนึ่งห้องเท่านั้น
แต่ท่านจะเป็นผู้ที่มีพลานุภาพใหญ่ยิ่งสำหรับสิ่งดีในประเทศของท่าน และในโลก

ท่านอาจจะมองไม่เห็นงานมหกิจที่ท่านกระทำ

แต่องค์พระผู้เป็นเจ้าเห็น และ
ความชั่วร้ายมองเห็นด้วย และ
นี่คือชีวิตที่เปี่ยมด้วยเกียรติและบรรเจิดจ้าด้วยความปีติสุข
เพราะเป็นชีวิตที่มีส่วนร่วมในพระราชกิจแห่งการช่วยกู้
ท่านจึงเป็นสหายกระทำพระราชกิจร่วมกับองค์พระผู้เป็นเจ้า
ท่านจะค่อยๆ มองเห็นสิ่งนี้ชัดเจนยิ่งๆ ขึ้น
จงรักองค์พระผู้เป็นเจ้า และ ร่วมทุกข์ร่วมสุขในชีวิตของพระองค์

พระธรรมภาวนา

มัทธิว 5:44-45, 48
44ฝ่ายเรา(พระเยซูคริสต์)บอกท่านว่า จงรักศัตรูของท่าน และจงอธิษฐานเพื่อผู้ที่ข่มเหงท่าน 45ทำดังนี้แล้วท่านทั้งหลายจะเป็นบุตรของพระบิดาของท่านผู้ทรงสถิตในสวรรค์ เพราะว่าพระองค์ทรงให้ดวงอาทิตย์ของพระองค์ขึ้นส่องสว่างแก่คนดีและคนชั่วเสมอกัน และให้ฝนตกแก่คนชอบธรรมและคนอธรรม...เหตุฉะนี้ท่านทั้งหลายจงเป็นคนดีรอบคอบ เหมือนอย่างพระบิดาของท่าน ผู้ทรงสถิตในสวรรค์เป็นผู้ดีรอบคอบ

ฟิลิปปี 4:6
อย่าทุกข์ร้อนในสิ่งใดๆ เลย แต่จงทูลเรื่องความปรารถนาของท่านทุกอย่างต่อพระเจ้า ด้วยการอธิษฐาน การวิงวอน กับการขอบพระคุณ

เอเฟซัส 6:18
จงอธิษฐานวิงวอนทุกอย่าง จงขอโดยพระวิญญาณทุกเวลา ทั้งนี้จงระวังตัวด้วยความเพียรทุกอย่าง จงอธิษฐานเพื่อธรรมิกชนทุกคน

2 โครินธ์ 13:7
เราอธิษฐานต่อพระเจ้าเพื่อท่านทั้งหลายจะไม่กระทำชั่วใดๆ มิใช่ว่าเราจะให้ปรากฏว่าเราชนะการชันสูตร แต่เพื่อท่านจะประพฤติเป็นที่ชอบ ถึงแม้จะดูเหมือนเราเองแพ้การชันสูตร

โรม 12:12
จงชื่นชมยินดีในความหวัง จงอดทนต่อความยากลำบาก จงขะมักเขม้นอธิษฐาน

ลูกา 23:34
ฝ่ายพระเยซูจึงทรงอธิษฐาน(เมื่อถูกตรึงบนกางเขน)ว่า
“โอพระบิดาเจ้าข้า ขอโปรดอภัยโทษเขาเพราะว่าเขาไม่รู้ว่าเขาทำอะไร”

ลูกา 6:28
จงอวยพรแก่คนที่แช่งด่าท่าน จงอธิษฐานเพื่อคนที่เคี่ยวเข็ญท่าน