08 กุมภาพันธ์ 2554

เมื่อจัดการผิดทาง...?

อพยพ 2:11-25 (TBS71b)
11ครั้นโมเสสเติบใหญ่ขึ้นแล้ว วันหนึ่งจึงไปหาพวกพี่น้อง เห็นเขาต้องทำงานตรากตรำ โมเสสเห็นคนอียิปต์คนหนึ่งกำลังตีคนฮีบรู ซึ่งเป็นชนชาติเดียวกันกับตน 12ท่านมองดูซ้ายขวาเห็นว่าไม่มีผู้ใดอยู่ที่นั่น จึงฆ่าคนอียิปต์นั้นเสีย แล้วซ่อนศพไว้ในทราย

13เมื่อโมเสสออกไปอีกในวันรุ่งขึ้น ก็เห็นชาวฮีบรูสองคนต่อสู้กันอยู่ จึงตักเตือนคนที่ทำผิดนั้นว่า “ท่านตีพี่น้องของท่านเองทำไม”

14เขาตอบว่า “ใครแต่งตั้งท่านให้เป็นเจ้านาย และเป็นตุลาการปกครองข้าพเจ้า ท่านตั้งใจจะฆ่าข้าพเจ้าเหมือนกับที่ได้ฆ่าคนอียิปต์คนนั้นหรือ” โมเสสได้ฟังก็กลัวนึกว่า “เรื่องนั้นได้ลือกันไปทั่วแล้วเป็นแน่” 15เมื่อฟาโรห์ทรงทราบเรื่องก็หาช่องที่จะประหารชีวิตโมเสสเสีย แต่โมเสสหนีฟาโรห์ไปอยู่เมืองมีเดียน เขานั่งลงที่ริมบ่อน้ำแห่งหนึ่ง 16ฝ่ายปุโรหิตของคนมีเดียนมีบุตรีเจ็ดคน หญิงเหล่านั้นพากันมาตักน้ำใส่รางให้ฝูงแพะแกะของบิดากิน 17เวลานั้นมีคนเลี้ยงแกะมาไล่หญิงเหล่านั้น โมเสสจึงลุกขึ้นช่วยหญิงเหล่านั้น และให้สัตว์ของเธอกินน้ำ

18เมื่อหญิงเหล่านั้นกลับไปหาเรอูเอลผู้บิดา บิดาถามว่า “วันนี้ทำไมพวกเจ้าจึงพากันกลับเร็ว” 19เธอตอบว่า “มีชายคนอียิปต์คนหนึ่ง ช่วยพวกฉันให้พ้นจากมือของพวกเลี้ยงแกะ ทั้งยังตักน้ำให้พวกฉัน และให้ฝูงแพะแกะกินด้วย” 20บิดาจึงถามบุตรหญิงของท่านว่า “ชายผู้นั้นอยู่ที่ไหนทำไมจึงทิ้งเขาไว้ล่ะ ไปเชิญเขามารับประทานอาหารซิ”

21โมเสสก็เต็มใจอาศัยอยู่กับเรอูเอล แล้วเรอูเอลก็ยกศิปโปราห์บุตรสาวให้แก่โมเสส 22นางก็คลอดบุตรชายคนหนึ่ง โมเสสตั้งชื่อว่า เกอร์โชม เพราะท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเป็นคนต่างด้าวอาศัยอยู่ต่างประเทศ”
23ครั้นเวลาล่วงมาช้านานกษัตริย์อียิปต์ก็สิ้นพระชนม์ คนอิสราเอลเศร้าใจมากเพราะเหตุที่เป็นทาสเขา จึงร้องคร่ำครวญขอความช่วยเหลือ เสียงร่ำร้องเพราะการที่ต้องเป็นทาสนี้ ดังขึ้นมาถึงพระเจ้า 24พระเจ้าทรงสดับเสียงคร่ำครวญของเขา จึงทรงระลึกถึงพันธสัญญาที่พระองค์ ได้ทรงกระทำไว้กับอับราฮัม อิสอัค และยาโคบ 25พระเจ้าทอดพระเนตรชนชาติอิสราเอล แล้วทรงทราบถึงสภาพความเป็นไปของเขา

เมื่อชีวิตของเราต้องพบกับการท้าทาย คริสเตียนมีแนวทางตอบสนองต่อการท้าทายอย่างน้อยสองทางใหญ่ๆ ด้วยกันคือ เราจะเลือกตอบสนองตามวิธีการของเรา “ตามทางของเรา” หรือ เราจะเลือกตอบสนองด้วยการแสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้าในการท้าทายนั้น เพื่อที่จะเลือกตอบสนองตามแนวทาง “ตามทางของพระเจ้า” แนวทางที่สองนี้บ่อยครั้งเราต้อง “รอคอย” เพื่อพระเจ้าจะทรงเปิดเผยเวลาที่เหมาะสม แนวทางตามพระประสงค์ของพระองค์ และที่สำคัญยิ่งคือพระกำลังจากพระองค์

สำหรับโมเสสตามเรื่องที่อ่านข้างต้นนั้น โดยส่วนลึกในจิตใจแล้วเขารู้ว่าพระเจ้ามีพระประสงค์ที่จะปลดปล่อยคนฮีบรูออกจากการถูกกดขี่ข่มเหงหลุดพ้นจากการตกเป็นทาสในอียิปต์ อาจจะกล่าวได้ว่าโมเสสเลือกทำทั้งสองแนวทาง กล่าวคือ เชื่อมั่นว่าพระเจ้ามีพระประสงค์ที่จะปลดปล่อยคนฮีบรูจากการถูกกดขี่ข่มเหงของคนอียิปต์ แต่เขาทำการปลดปล่อยด้วยการพึ่งในความคิดความสามารถตามแนวทางของเขาเองและตัดสินใจลงมือทำทันที

ถึงแม้โมเสสมีความตั้งใจที่ดี คือต้องการช่วยให้พี่น้องฮีบรูหลุดพ้นจากความทุกข์และการกดขี่ข่มเหง แต่เขากระทำด้วยการพึ่งตนเอง ตามแนวทางของตนเอง และลงมือทำทันที โมเสสจึงได้กระทำอย่างผิดพลาด 5 ประการด้วยกันคือ

1. โมเสสมุ่งมองที่ ตัวปัญหา หรือ ความทุกข์ยากลำบากของคนฮีบรู ที่ได้รับจากการทำร้ายกดขี่ของคนอียิปต์ แทนที่จะมุ่งมองไปที่แนวทางที่พระเจ้าจะทรงใช้ในสถานการณ์นี้ วิธีคิดวิธีตัดสินใจ และการลงมือทำแบบโมเสสท่านฟังแล้วรู้สึกคุ้นๆ หรือเปล่า? เราได้ทำอย่างโมเสสบ่อยครั้งไหมเมื่อการท้าทายมาเผชิญหน้าเรา? เมื่อเราต้องประสบกับการกระทำที่ไม่ยุติธรรม หรือบางคนทำให้ชีวิตของเราต้องเจ็บปวด สถานการณ์ดังกล่าวจะกระตุ้นสุมไฟความเดือดเนื้อร้อนใจของเรา แล้วก็รีบร้อนที่จะลงมือจัดการ แต่เรากลับลืมพระเจ้าผู้ทรงพลานุภาพ เรากลับลืมพระเจ้าที่เป็นเจ้าของพระประสงค์ของพระองค์ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น

2. โมเสสตอบสนอง โดยใช้พลัง อำนาจ และความเข้าใจของตนเอง เมื่อมีวิกฤติ มีปัญหาเกิดขึ้นในชีวิต โดยปกติทั่วไปแล้วเราจะรีบเร่งจัดการสะสางสิ่งผิดให้ถูกต้องด้วยตัวเราเอง

3. โมเสสสำคัญผิดในการใช้ “ตำแหน่ง” เจ้าชายแห่งอียิปต์เข้าจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น ตำแหน่งอาจจะมีอำนาจ แต่อำนาจที่แท้จริงนั้นเกิดจากการ “ยอมรับนับถือ” ของผู้คนที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์นั้น มิใช่ตำแหน่ง ตำแหน่งอาจจะใช้ข่มขู่ “ตีหัวฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย” ได้ในบางครั้ง แต่บางครั้งผู้คนจะลุกขึ้นคัดค้านและไม่ยอมรับ เมื่อถึงเวลานั้นก็สายเกินแก้แล้วอย่างในกรณีที่โมเสสไปเตือนพี่น้องของตน แต่กลับถูกตอบโต้อย่าง “กินใจ” (ดูข้อ 11-14)

4. โมเสสมองปัญหาด้วยการเข้าข้าง “คนพวกเดียวกัน” มักเป็นวิธีคิดของคนทั่วไปและของผู้นำที่พร่องทางหลักคุณธรรมความโปร่งใส เช่นบางครั้งอาจจะได้ยินว่า “ถ้าโมเสสไม่ช่วยคนฮีบรูแล้ว จะให้ไปช่วย... สุนัขที่ไหน?” “คนพวกเดียวกัน” มักถูกใช้เพื่อเอื้ออำนวยผลประโยชน์ เพื่อสั่งสมคนไว้สนับสนุนการตัดสินใจและการกระทำของตน เป็นความสัมพันธ์แบบเอื้อผลประโยชน์ตอบแทนกันและกัน แต่ถ้าวันใดผลประโยชน์ไม่เอื้อ ไม่ลงตัว ความเป็น “คนพวกเดียวกัน” อาจจะย้ายขั้วก็ได้ ดังนั้น การแก้ปัญหาด้วยแนวทางนี้จึงสุ่มเสี่ยงคลอนแคลน

5. โมเสสลงมือจัดการด้วย อารมณ์หุนหันพลันแล่น แทนที่จะมั่นคงต่อหน้าสถานการณ์ท้าทาย เพื่อรอคอยและแสวงหาแนวทางขององค์พระผู้เป็นเจ้า แต่เขารีบเร่งหยุดยั้งปัญหา ขัดขวางสิ่งเลวร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น แต่นี่มักเป็นการตอบสนองแรกๆ ต่อปัญหาของมนุษย์เรา ตอบโต้ด้วยสัญชาตญาณ ด้วยไขสันหลัง(ไม่ใช่ด้วยสมอง) จิตใจรักเมตตาและจิตวิญญาณที่ศรัทธามั่นคง และ สัตย์ซื่อต่อพระเจ้า จึงถูกกีดกันผลักดันออกไป

ในเวลานั้นที่เราตอบสนองต่อสถานการณ์ท้าทาย ต่อปัญหาที่ประดังเข้ามานั้นเราอาจจะรู้สึกว่าเป็นการตอบสนองอย่างมีเหตุมีผล มีความเหมาะสมและถูกต้อง แต่สิ่งที่เราต้องพิจารณาด้วยว่า ถ้าเราเลือกตอบสนองเช่นนั้นจะเกิดผลและมีประสิทธิภาพแค่ไหน? โมเสสต้องการตอบสนองเพื่อจะบรรลุเป้าหมายที่เขามีในใจคือ การช่วยเหลือปลดปล่อยพี่น้องฮีบรูรอดพ้นจากการถูกข่มเหงทำร้าย คนอียิปต์ถูกฆ่าตาย แต่คนฮีบรูมิได้รับการปลดปล่อย และตัวโมเสสเองกลับถูกปฏิเสธจากพี่น้องฮีบรูด้วยกัน(นึกว่าเป็นคนพวกเดียวกันเสียอีก?) โมเสสมีความเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนในวิธีการที่เขาใช้ในการช่วยพี่น้องฮีบรู และเพราะการตัดสินใจใช้แนวทางการแก้ปัญหาของเขานี้เองที่ทำให้ชีวิตของโมเสสต้องผกผัน เขาต้องหนีเข้าไปในทะเลทรายมีเดียน และใช้ชีวิตที่นั่นยาวนานถึง 40 ปี

เราท่านก็ไม่ต่างจากโมเสสในประเด็นนี้ เราต้องทนทุกข์กับจากผลของการตัดสินใจที่พึ่งในความรู้ความเข้าใจและกระทำด้วยกำลังและวิธีการของเราเอง แต่น่าสังเกตว่า แม้โมเสสจะกระทำผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากพระประสงค์และแนวทางของพระองค์ พระเจ้ามิได้ปฏิเสธ หรือ เลิกใช้โมเสส พระเจ้ามิได้ล้มเลิกแผนการของพระองค์ที่ทรงในชีวิตของโมเสส แต่พระเจ้ากลับใช้เวลาหลังจากนั้นในการขัดเกลาชีวิตความนึกคิด และ บุคลิกของโมเสสผ่านการทำงานหนัก ความทุกข์ยากลำบาก เพื่อเตรียมเขาให้เป็นผู้นำในอนาคต พระเจ้าทรงสร้างและประทานโอกาสใหม่แก่โมเสส

ท่านคิดว่า พระเจ้าจะทรงกระทำเช่นนี้กับท่านด้วยหรือไม่?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น