30 พฤษภาคม 2561

“การฟัง” เป็นการอภิบาลชีวิตสมาชิกอย่างไร?

ในข้อเขียนนี้   เราจะร่วมกันพิจารณาละเอียดว่า   แนวทางที่ดีที่สุดที่เราจะเข้าถึงและลงลึกในชีวิตของสมาชิกคริสตจักร โดยการสื่อสารด้วยการฟังอย่างใส่ใจที่จะช่วยให้ทีมผู้อภิบาลเข้าใจถึงสภาพชีวิต  จิตวิญญาณของสมาชิกแต่ละคน   สิ่งที่แต่ละคนต้องเผชิญด้วยความทุกข์ยากลำบาก   ความจำเป็นต้องการ     และการถูกทดลองในชีวิตของเขา      เราจะฟังอย่างใส่ใจอย่างไร เพื่อการอภิบาลชีวิตสมาชิก   คริสตจักร?

ต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ท้าชวนให้เราพิจารณาถึงการฟังเป็นการอภิบาลชีวิตผู้คน 6 ประการ

1. การฟังคนอื่นต้องใช้เวลา   การบริหารจัดการเวลาเป็นเรื่องสำคัญยิ่งสำหรับทีมผู้อภิบาลทุกท่าน   เราไม่สามารถที่จะจัดเตรียมเวลา หรือ กันเวลาในการที่เราจะฟังคนอื่นทุกครั้ง   บ่อยครั้งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทันที และศิษยาภิบาลจำเป็นจะต้องให้เวลาที่จะฟังทันทีในเวลานั้น   แน่นอนว่าในทุกคริสตจักรจะมีบางคนที่ต้องให้ผู้อภิบาลฟังเรื่องของตน   อีกทั้งในบางคนบางกรณีที่จะต้องแสวงหาแนวทางออกตามพระคัมภีร์   ดังนั้น คงไม่สามารถคาดหวังว่าผู้อภิบาลจะฟังผู้ที่กำลังประสบปัญหาและได้รับความเจ็บปวดในชีวิตของทุกคนได้   แต่ศิษยาภิบาลสามารถจัดสรรเวลาสำหรับสมาชิกเหล่านี้เพื่อที่จะฟังสมาชิกเต็มกำลังเท่าที่  ศิษยาภิบาลจะทำได้  ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการทำพันธกิจที่สามารถตอบโจทย์ชีวิตของคนในคริสตจักรได้อย่างเป็นรูปธรรม

2. การฟังคนอื่นบังคับให้เราที่จะต้องอดทน   แต่บทเรียนหนึ่งที่ผมได้จากการทำงานอภิบาลคือ   เมื่อผู้ที่ไว้วางใจผมมาขอการปรึกษา   ผมพบว่า เขาไม่ได้ต้องการให้ผมช่วยแก้ไขปัญหาที่เขากำลังประสบ   แต่เขาต้องการให้ผมฟังเขาถึงปัญหาที่กำลังประสบ   ดังนั้น ในฐานะผู้อภิบาลเมื่อสมาชิกมาขอการปรึกษาไม่ว่าจะเป็นประเด็นใด  สิ่งสำคัญคือเราต้องให้ข้อพระวจนะของพระเจ้าที่จะชี้แนะแนวทางออกสำหรับสิ่งที่เขากำลังเผชิญอยู่   และพูดความจริงที่เราได้ยินด้วยรักเมตตา   แต่เราจะต้องฟังเขาด้วยความใส่ใจจนได้ยินถึงความคิดความรู้สึกและความเจ็บปวดในชีวิตของเขา   สถานการณ์ความทุกข์ยากที่เราได้ยินได้ฟังเตือนเราเสมอว่า พระเจ้าเท่านั้นเป็นแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่  เป็นที่ปรึกษามหัศจรรย์  บทบาทของผู้อภิบาลคือผู้ชี้นำให้พวกเขาเข้าถึงพระเจ้า กระตุ้นหนุนเสริมเขาให้ใช้พระวจนะในการตอบโจทย์ชีวิต  และ ให้กำลังใจหนุนเสริมคนเหล่านั้นด้วยความอดทน   หน้าที่ของผู้อภิบาลมิใช่เป็นช่างซ่อมแซมชีวิตของผู้คนที่มาหา!

3. การฟังคนอื่นกระตุ้นเตือนให้เรามีชีวิตที่ภาวนาธิษฐาน   การรับฟังอย่างใส่ใจถึงสถานการณ์แวดล้อมชีวิตของสมาชิกคริสตจักรที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้เราดูแลรับผิดชอบ      เป็นตัวกระตุ้นให้    ศิษยาภิบาลมีชีวิตที่อธิษฐานในเรื่องที่เฉพาะเจาะจงชัดเจน (มิใช่อธิษฐานแบบทั่ว ๆ ไปตามที่คุ้นชิน)   แต่เป็นการอธิษฐานที่กระตุ้นสำนึกของผู้อภิบาลตระหนักรู้ชัดเจนว่า พระเจ้าเท่านั้นที่จะสามารถเอาชนะสิ่งท้าทายในชีวิตของสมาชิก  และนี่เป็นแบบฝึกหัดที่เสริมสร้างความเชื่อศรัทธาของทั้งตัวผู้อภิบาลเองและของสมาชิกคริสตจักรคนนั้นด้วย

4. การฟังสมาชิกคริสตจักรช่วยให้คำเทศนาของเราเป็นเรื่องของชีวิตจริง   ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเอาเรื่องที่เราฟังสมาชิกคนหนึ่งแล้วนำมาใช้ในคำเทศนาของเราทั้งเรื่อง   การกระทำเช่นนั้นเป็นการนำเรื่องราวชีวิตส่วนตัวของคน ๆ หนึ่ง หรือ ความลับของคน ๆ หนึ่ง  มาพูดมาเปิดเผยบนธรรมมาสน์

แต่ในที่นี้หมายถึงว่า  เมื่อเราได้ฟังสมาชิกอย่างใส่ใจทำให้เข้าใจถึงโจทย์ชีวิตของสมาชิกบางคนว่าเป็นเรื่องอะไร   ช่วยให้เรารู้ว่าในการเทศนาของเรา  เราจะนำพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ให้ช่วยตอบโจทย์ชีวิตประจำวันในประเด็นเหล่านั้นที่เราเรียนรู้ได้อย่างไร   ทำให้คำเทศนาสามารถตอบโจทย์ชีวิตของผู้ฟัง   และเขาสามารถแสวงหาแนวทางที่จะรับมือกับโจทย์ชีวิตที่ตนกำลังเผชิญอยู่ได้

5. การฟังคนอื่นอย่างใส่ใจช่วยเราในการนำคนอื่น   จอห์น แม็กซ์แวลล์ ได้กล่าวเรื่องนี้ไว้อย่างเป็น  กระบวนการว่า   ให้เราฟังเพื่อจะเกิดการเรียนรู้  แล้วเชื่อมโยงเรื่องที่เรียนรู้เพื่อใช้ในการนำ   ใช่ครับ ผู้อภิบาลจะต้องนำสมาชิกคริสตจักร   ถ้าเช่นนั้นเราจำเป็นต้องเรียนรู้ถึงชีวิตของเขาแต่ละคน  ว่าเขากำลังเผชิญกับอะไรบ้างในชีวิต   อะไรคือความกลัว ความห่วงกังวล  ความทุกข์ใจ  สิ่งท้าทาย  หรือเขาประสบความสำเร็จในเรื่องอะไร  มีจุดแข็งด้านไหนในชีวิต  และมีของประทานอะไรบ้าง   เราเรียนรู้จักเขาก็ด้วยการฟังอย่างใส่ใจ   ในฐานะผู้อภิบาลเราจัดสรรเวลาที่จะฟังและเรียนรู้จักสมาชิกที่เราได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบ   เราจะเกิดการพัฒนาข้อมูลเชิงลึกที่จะช่วยหนุนเสริมความเป็นผู้นำของเราเป็นอย่างมาก

6. การฟังสมาชิกอย่างใส่ใจทำให้เราใส่ใจในการสร้างสาวก   ผู้อภิบาลคนเดียวต้องทำทั้งหน้าที่ในการให้การปรึกษา  เป็นผู้นำ  ผู้ให้กำลังใจ  และเป็นเพื่อนสนิทของสมาชิก งานมากมายเช่นนี้ผู้อภิบาลทำคนเดียวไม่ไหวแน่  แค่เราฟังเรื่องราวชีวิตของสมาชิกอย่างใส่ใจก็ทำให้ผู้อภิบาลต้องรับภาระจน “หลังแอ่น” แล้ว แต่เหตุการณ์เช่นนี้ช่วยให้เราคิดได้ว่า ทำไมพระเจ้าถึงทรงประทานให้มีสมาชิกคริสตจักร ก็เพื่อที่เราจะสร้างสมาชิกแต่ละคนให้เป็นสาวกของพระคริสต์   เพื่อช่วยสาวกแต่ละคนนำความรักเมตตาในชีวิตออกมาให้แก่เพื่อนสมาชิกคนอื่น ๆ และรับการฝึกฝนในการรับใช้กันและกันตามตะลันต์ตามความสามารถที่พระเจ้าประทานให้แต่ละคน   สอนและฝึกหัดให้แต่ละคนเรียนรู้ที่จะรักเมตตาคนอื่นอย่างพระคริสต์  เรียนรู้ที่จะฟังคนอื่นอย่างใส่ใจ  เรียนรู้ที่จะสื่อสารและสอน   ตลอดจนฝึกฝนในการที่จะนำในหน้าที่การงานต่าง ๆ ที่มีในคริสตจักรและในชุมชน   การสร้างสาวกเป็นหนทางเดียวที่   คริสตจักรจะสามารถอภิบาลชีวิตผู้คนในคริสตจักรและชุมชนได้อย่างครอบคลุมอย่างแท้จริง

ดังนั้น   การฟังอย่างใส่ใจจึงมิเพียงแต่เป็นงานใหญ่ของผู้อภิบาลเท่านั้น   แต่เป็นงานสำคัญที่คนในคริสตจักรที่จะอภิบาลกันและกันดัง “การฟังอย่างใส่ใจ” ด้วยครับ

ในฐานะผู้อภิบาลท่านคิดอย่างไรกับเรื่องนี้?  และ

ในฐานสมาชิกคริสตจักรท่านคิดอย่างไรในเรื่องนี้ครับ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

28 พฤษภาคม 2561

เมื่อการสูญเสียทำให้ได้รับมากกว่า

แกรี่ โธมัส  กล่าวในหนังสือของเขาถึงเพื่อนคนหนึ่งชื่อไมค์   เขาพบไมค์ในมหาวิทยาลัย  ไมค์เป็นนักศึกษาที่เป็นผู้นำ  มีความพูนครบในทุกด้าน  เป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยม  เป็นนักกีฬาที่มีความสามารถ  เป็นคนที่ดึงดูดความสนใจของผู้คน   และทุกคนต้องการอยู่ใกล้ไมค์   หลายคนต้องการมีชีวิตอย่างที่ไมค์เป็น

หลังจากสำเร็จจากมหาวิทยาลัย 2-3 ปี   ไมค์ต้องพบกับชีวิตที่ทนทุกข์จากเส้นเลือดในสมองแตก  ทำให้เขาสูญเสียสิ่งดีเด่นที่เคยมีในชีวิต   รูปร่างที่ดีหล่อเหลาหมดสิ้นไป   เสียงพูดของเขาพันกันฟังลำบาก   เขาไม่สามารถที่จะสอนหนังสือต่อไป   สิ่งที่ผู้คนชื่นชมในตัวไมค์อันตรธานไปสิ้น

เขาต้องเข้ารับการรักษาอย่างทรหดเหนื่อยอ่อน   แต่ในที่สุดเขากลับมามีชีวิตปกติได้   การถูกล้างผลาญทำลายความสามารถที่มีในตัวของเขา  ได้เกิดสิ่งใหม่มาพร้อม ๆ กันคือพลังอำนาจที่เปลี่ยนแปลงจิตวิญญาณของเขา   เขากลับมาเป็นคนดึงดูดความสนใจคนรอบข้างอีกครั้งหนึ่ง   แต่ในครั้งนี้ ไมค์ไม่ได้ดึงดูดความสนใจมาที่ตัวของเขาเอง   แต่ชีวิตของเขาได้ดึงดูดผู้คนให้สนใจพระเจ้า

แกรี่ โธมัส กล่าวว่า   “ตอนผมเรียนในมหาวิทยาลัย เมื่ออยู่ใกล้ชิดไมค์  ผมต้องการเป็นเหมือนไมค์   แต่เดี๋ยวนี้ หลังจากที่ใช้เวลากับไมค์  ผมต้องการที่จะมีชีวิตเป็นเหมือนพระคริสต์”

“พระ​องค์​ต้อง​ยิ่ง​ใหญ่​ขึ้น แต่​ข้าพ​เจ้า​ต้อง​เล็ก​ลง” (ยอห์น 3:30 สมช.)

หลายคนสิ้นหวังกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย  หลายคนรู้สึกว่าตนแก่ลง แต่แทนที่ทำให้ชีวิตที่แก่ลงทำให้เรามีชีวิตที่ต่ำเตี้ยด้อยค่า แต่ให้เราใช้ความแก่ของเราที่จะสำแดงพระเยซูแก่ผู้คนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น   ดึงดูดคนรอบข้างมาสัมผัสสนิทกับพระคริสต์มากขึ้น

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

25 พฤษภาคม 2561

จะเชื่อวางใจพระเจ้าอย่างไรดี...เมื่อเลี้ยงลูกไม่ได้อย่างที่คาดหวัง?

สิ่งที่ทำให้พ่อแม่ของแซมสันทุกข์อกทุกข์ใจคือ แซมสันทำผิดกฎของการมีชีวิตที่เป็น “นาศีร์สำหรับพระเจ้า” น่าสังเกตว่าเขาไม่สนใจแผนการของพระเจ้า เขาสนใจแต่ความต้องการของตนเองความปรารถนาของตนเอง เขากินน้ำผึ้ง(ซึ่งต้องห้ามสำหรับนาศีร์) (14:6)  ฆ่าคน 30 คนด้วยอารมณ์โกรธพวกฟีลิสเตีย อย่างร้อนแรง (14:19)   ฆ่าคนพันคนด้วยกระดูกขากรรไกรลา (15:15)   เพราะพฤติกรรมที่โหดร้ายรุนแรงของแซมสัน  ภรรยาและครอบครัวของนางถูกพวกฟีลิสเตียเผาทำลาย (15:6)   แม้แต่คนอิสราเอลก็ยังเอือมระอากับพฤติกรรมที่ต่ำทรามเลวร้ายของแซมสัน จนต้องจับแซมสันส่งให้พวกฟีลิสเตีย (15:10-13)

ถ้าท่านเป็นพ่อแม่ของแซมสันท่านจะรู้สึก และ จะทำอย่างไร? 

แซมสันเป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัว และ ผู้เป็นแม่เองก็เป็นหมัน และเกิดมาด้วยพระประสงค์ของพระเจ้าที่พระองค์จะทรงใช้ลูกชายคนนี้ของเธอ และพ่อแม่ก็ตั้งอกตั้งใจที่จะทุ่มเทเลี้ยงดูลูกคนนี้ให้ดีที่สุด แต่เมื่อแซมสันโตขึ้น กลับมีพฤติกรรมชีวิตที่ไปคนละทิศคนละทางกับที่พ่อแม่คาดคิด เขาทั้งสองคงรู้สึกสิ้นหวัง เสียใจ และอับอายด้วย เขาคงสงสัยว่าเขาเลี้ยงลูกผิดพลาดอย่างไร แต่พระคัมภีร์กลับยืนยันว่าพระเจ้าทรงใช้แซมสัน (รายละเอียดสามารถอ่านได้ในข้อเขียนตอนก่อน)

ในพระธรรมฮีบรู มีชื่อของแซมสัน เป็นคนหนึ่งในบรรดาบรรพบุรุษที่เป็นแบบอย่างแห่งความเชื่อ (ฮีบรู 11) แซมสันได้เป็นผู้วินิจฉัยในชุมชนอิสราเอลเป็นเวลา 20 ปีในยุคที่ฟีลิสเตียมีอำนาจ และตอนช่วงสุดท้ายของชีวิตเขาได้ทูลขอกำลังจากพระเจ้าเพื่อที่จะเอาชนะพวกฟีลิสเตีย และพระเจ้าทรงตอบคำอธิษฐานทูลขอของเขา(15:18)  แต่ที่เขาทำเพราะต้องการแก้แค้นพวกฟีลิสเตีย

เรามักพบว่าพระเจ้าทรงใช้คนที่ถ่อมใจ และ ติดตามพระองค์ด้วยอุทิศตน คนที่มีชีวิตที่สำแดงออกถึงผลของพระวิญญาณ หรือ มีชีวิตตามแบบอย่างชีวิตพระคริสต์ บุคคลเหล่านี้เป็นผู้รับใช้พระเจ้าที่รักและสัตย์ซื่อต่อพระเจ้า

แต่ในบางครั้งพระเจ้าทรงใช้คนที่อ่อนแอและมีปัญหาที่จะทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จ  คนที่มุทะลุดุดัน  หุนหันพลันแล่น  คนที่ตัดสินใจเลือกในการดำเนินชีวิตที่ผิดพลาด   ชีวิตของแซมสันไม่ได้ใสสะอาดและเป็นชีวิตที่น่ายกย่องนับถือ   แต่เรารู้ว่าพระเจ้าทรงใช้เขา  หลายครั้งที่พระวิญญาณของพระเจ้าอยู่เหนือเขา (14:6, 19; 15:14)

พระเจ้าทรงใช้เราทุกคนเมื่อเราอ่อนแอ ชีวิตแปดเปื้อนด้วยความบาป  และประสบความล้มเหลว   ถึงแม้ชีวิตที่ล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าก็ตาม   แซมสันเชื่อว่าพระเจ้าจะทรงใช้เขาแม้ชีวิตของเขาล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง   และในพระธรรมฮีบรู บทที่ 11 บรรพบุรุษแห่งความเชื่อเหล่านั้นก็มิใช่ผู้ที่ไม่มีความบาป  พระธรรมฮีบรูเขียนถึงบุคคลแห่งความเชื่อมิใช่เพราะคนเหล่านี้ไม่ได้ทำบาป 

แต่เพราะคนเหล่านี้มีความเชื่อวางใจในพระเจ้า

คุณความดีและความชอบธรรมในชีวิตของเรามิใช่สิ่งที่ทำให้พระเจ้าพอพระทัย  แต่ความเชื่อศรัทธาของเราต่างหากที่เป็นที่พอพระทัย

ชีวิตของแซมสันมิใช่ชีวิตที่เหมาะเป็นแบบอย่าง แต่ชีวิตของเขาแสดงให้เราเห็นว่าพระเจ้าทรงใช้คนที่เชื่อศรัทธาในพระองค์  ดังนั้น  แม้ชีวิตของลูก ๆ ของเราจะเป็นคนหันออกไปจากทางที่เราคาดหวัง  ผิดพลาด  ออกนอกเส้นทางของพระเจ้าที่เราคาดคิด   เขาดำเนินชีวิตตามที่เขาปรารถนาต้องการ  ตามใจของเขา   อย่าเพิ่งสิ้นหวังครับ   การทำงานของพระเจ้าในชีวิตของเขายังไม่จบสิ้นครับ   พระเจ้าอาจจะใช้คนที่มีชีวิตที่เราท่านอาจจะมองว่า พระองค์ไม่น่าจะใช้  เพื่อที่จะทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จในบางประการก็ได้

พ่อแม่ที่มีลูกที่มีชีวิตออกนอกลู่นอกทางอย่าเพิ่ง “ใจสลาย”  อย่าเพิ่งสิ้นหวัง   อย่ามัวนั่งกล่าวโทษตนเอง และอย่าไปฝังใจและรู้สึกผิดที่ลูกเป็นคนที่ไม่เอาไหน รุนแรง หุนหันพลันแล่น ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเองว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเพราะการบ่มเพาะเลี้ยงดูของเรา  

เมื่อพระเจ้ายังไม่เสร็จสิ้นพระราชกิจในชีวิตลูกของเรา   ก็ให้เรากระตุ้นหนุนเสริมให้เขามีชีวิตที่มีวินัย (ฮีบรู 12:5-11) ย้ำเตือนและให้กำลังใจลูกเสมอว่า ให้ไว้วางใจในพระเจ้า และ เมื่อเขาสิ้นทางเลือกให้ลูกเรียกหาพระองค์  และ ให้เขาระลึกเสมอว่า  ความล้มเหลวในชีวิตไม่สามารถขัดขวาง หรือ ลบล้างความรักอันมั่นคงสัตย์ซื่อของพระเจ้าที่มีต่อเขาในชีวิต

เหนือสิ่งอื่นใดครับ จงมอบและวางใจพระเจ้าเกี่ยวกับเรื่องของลูก อย่าลืมนะครับว่า  พระเจ้าทำงานเสริมสร้างในชีวิตลูกของเรายังไม่เสร็จและจบสิ้นครับ  พระองค์ยังคงทำงานในชีวิตลูกอยู่   และพระเจ้าจะไม่เคยทอดทิ้งลูกของเราครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

23 พฤษภาคม 2561

หัวอกพ่อแม่...เมื่อเลี้ยงลูกไม่ได้อย่างที่คาดหวัง?

เมื่อมีโอกาสไปในงานคริสตจักรท้องถิ่น   ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับทั้งผู้นำคริสตจักร  และสมาชิกคริสตจักรบางท่าน   เมื่อพูดคุยถึงชีวิตในปัจจุบัน   มักหนีไม่พ้นที่จะต้องแวะเข้าเรื่องของลูกของแต่ละคนในยุคการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วรุนแรง   ประเด็นหนึ่งที่ได้ยินได้ฟังหนาหูขึ้นคือ   ความรู้สึกท้อแท้ ผิดหวัง ขมขื่น บางคนเจ็บปวดหัวใจ  อันเนื่องจากการที่ลูกของตนเมื่อเติบโตขึ้นกลับ “ทิ้งเรื่องความเชื่อ” “ไม่เอาเรื่องพระเจ้า” ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ไปร่วมในคริสตจักรเท่านั้น   แต่เขา “ทิ้งและไม่เอาพระเจ้า”  

การดำเนินชีวิตของเขาสวนทางกับสิ่งที่เรียนรู้จากชั้นเรียนรวีฯ ในคริสตจักร พฤติกรรมในชีวิตประจำวันสวนทางกับคำสอนในพระคัมภีร์   หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ลูกของเขาในยุคนี้ดูเหมือนเขาตัดสินใจเลือกที่จะมีชีวิตที่พ่อแม่เห็นว่า ท้าทายและเสี่ยงอันตราย   ดูเหมือนพวกเขาเมินเฉยต่อสิ่งที่พ่อแม่เคยสั่งเคยสอน  เป็นคนที่หุนหันพลันแล่นเอาแต่ใจตนเอง ไม่แยแสสนใจว่าคนอื่นจะมองตัวเขาอย่างไร ลึก ๆ พ่อแม่คริสตชนเหล่านี้ท้อแท้และช้ำใจครับ

ผมมักถูกถามแบบตรง ๆ และจริงจังว่า  “เอ๊ะ...เราเลี้ยงลูกผิดอย่างไรหรือ ลูกถึงกลายเป็นคนแบบนี้?”

แล้วจะให้ผมตอบอย่างไรดีครับ???   จริง ๆ แล้วผมไม่รู้จะตอบคำถามเหล่านี้อย่างไรดีครับ!

เหตุการณ์ทำนองนี้มิใช่เป็นปรากฎการณ์ใหม่ แต่เราเคยอ่านพบเหตุการณ์ในยุคในสมัยต่าง ๆ ที่ปรากฏในพระคัมภีร์แล้ว ไม่ว่าเรื่องที่พ่อแม่ของแซมสันประสบ จนมาถึงความรู้สึกของพ่อแม่ที่มีต่อพระเยซูคริสต์ที่พระองค์ไม่ได้เป็นอย่างที่ตนคาดคิด   จนในบางช่วงแม่และน้อง ๆ คิดว่าพระเยซูบ้าหรือเปล่า?

ในข้อเขียนนี้ ขอศึกษาจากเรื่องของแซมสัน (ผู้วินิจฉัย บทที่ 13-16)

ทูตของพระเจ้าปรากฏและแจ้งแก่แม่ของแซมสันซึ่งเป็นหมันว่า  นางจะตั้งครรภ์และมีบุตรชาย  และบุตรชายคนนี้จะเป็น “นาศีร์” สำหรับพระเจ้าตั้งแต่เกิด  และพระเจ้าจะทรงใช้เขาให้ช่วยกู้คนอิสราเอลให้พ้นจากการข่มเหงของพวกฟีลิสเตีย (13:15)

ทั้งพ่อและแม่ของแซมสันดีใจและต้องการทุ่มเททั้งชีวิตในการเลี้ยงดูแซมสัน เพราะเขาจะเป็นคนที่พระเจ้าทรงใช้ให้กอบกู้อิสรภาพแก่อิสราเอลจากการถูกข่มเหงทำร้ายของพวกฟีลิสเตีย ทั้งสองขอให้ทูตของพระเจ้าช่วยสอนเขาว่า เขาจะเลี้ยงดูลูกชายคนนี้อย่างไรที่พระเจ้าจะทรงใช้เขาได้ (13:8) และพ่อแม่หลายต่อหลายคนก็เคยอธิษฐานเช่นนี้ตั้งแต่ลูกอยู่ครรภ์มิใช่หรือ?

พ่อแม่ของแซมสันต้องการรู้ว่าเขาทั้งสองควรจะเลี้ยงดูลูกคนนี้อย่างไร? และชีวิตของแซมสันจะเป็นอย่างไร? (13:12) ด้วยการทรงเรียกครั้งยิ่งใหญ่และสำคัญของพระเจ้า พ่อแม่ของแซมสันคาดหวังอย่างแรงกล้าว่า  ลูกชายของเขาจะต้องเป็นคนที่กล้าหาญ เชื่อฟัง และทำให้คนอิสราเอลชื่นชมยินดีแน่

แซมสันเติบโตขึ้นและพระเจ้าทรงอวยพระพรเขา (13:24) และพระเจ้าทรงใช้เขาที่จะช่วยกอบกู้อิสราเอล แต่แซมสันไม่ได้เป็นลูกที่เชื่อฟังและน่าชื่นชมยินดี  แต่เขากลับกลายเป็นคนที่หุนหันพลันแล่น  บ้าบิ่น  ไม่ยั้งคิด  เอาแต่ใจตนเอง เขากลายเป็นคนตรงกันข้ามกับลักษณะคนดีในพระคัมภีร์  เขาทำตัวไม่สนใจใยดีใครและเห็นแก่ตัว

เมื่อถึงวัยที่จะแต่งงาน พ่อแม่ต้องการให้เขาแต่งงานกับหญิงสาวยิวที่ดี แต่แซมสันดื้อด้านไปแต่งงานกับหญิงฟีลิสเตีย แซมสันพูดกับพ่อแม่ว่า ให้พ่อแม่ไปขอสาวชาวฟีลิสเตียมาให้เขาเป็นเมีย  “...เพราะ​นาง​ต้อง​ตา​ต้อง​ใจ​ลูก​มาก” (14:3)  พ่อแม่คงหนักใจอย่างมากที่ลูกจะแต่งงานกับ “หญิงที่ไม่ได้เข้าสุหนัต”  และคงหนักใจมิใช่น้อยว่า  แล้วคนอิสราเอลจะมองอย่างไร  จะว่าอย่างไร? พ่อแม่ของแซมสันคงถามตนเองว่า ที่ผ่านมาเขาเลี้ยงแซมสันผิดพลาดอย่างไรแซมสันถึงเป็นคนเช่นนี้?

แต่พระคัมภีร์บันทึกไว้ว่า  “บิดา​มารดา​ไม่​ทราบ​ว่า เรื่อง​นี้​เป็น​มา​จาก​พระ​ยาห์​เวห์ เพราะ​พระ​องค์​ทรง​หา​ช่อง​ทาง​ที่​จะ​ต่อ​สู้​พวก​ฟี​ลิส​เตีย ใน​เวลา​นั้น​พวก​ฟี​ลิส​เตีย​มี​อำ​นาจ​เหนือ​อิส​รา​เอล” (14:4 มตฐ.)

แต่ขอตั้งข้อสังเกตว่า   ส่วนตัวแซมสันเองไม่ได้มองว่าที่ตนต้องการหญิงฟีลิสเตียมาเป็นเมีย มิใช่เพราะเขาเห็นว่านั่นเป็นการทำตามแผนการของพระเจ้า แต่พระคัมภีร์บันทึกไว้ว่า แซมสันบอกให้พ่อไปขอนางมา  “... เพราะ​นาง​ต้อง​ตา​ต้อง​ใจ​ลูก​มาก” (14:3) และเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในความคาดคิดของพ่อแม่แซมสันแน่

ขอย้ำว่า...ที่แซมสันต้องการแต่งหญิงฟีลิสเตีย เพราะนางเป็นที่ต้องตาต้องใจแซมสัน ที่เขาต้องการแต่งงานกับสาวฟีลิสเตีย เพราะเขาชอบเขาต้องการเช่นนั้น เขาไม่ได้ตัดสินใจเพราะต้องการทำตามแผนการของพระเจ้า

เมื่อเราตัดสินใจทำสิ่งที่ “ต้องตาต้องใจของเรา” โดยปราศจากการใคร่ครวญ คิด พิจารณาว่า  ถ้าตัดสินใจทำเช่นนั้นแล้วจะเกิดผลอะไร  ส่วนมากแล้วเราก็ตรงรี่เข้าหาความหายนะแห่งชีวิต

ทุกวันนี้คนยุคใหม่ คนทันสมัย  เลือกทำสิ่งต่าง ๆ ตามที่ “ต้องตาต้องใจ” ของตนเองมิใช่หรือ   ที่มักนำสู่จุดสุดท้ายคือความหายนะแห่งชีวิต

เมื่อลูกของเราใช้ค่านิยมตามกระแสสังคมเช่นนี้   แล้วเราจะเชื่อวางใจในพระองค์อย่างไรดี?

และถ้าเกิดขึ้นกับท่านเอง  ท่านจะรับมืออย่างไร?  แล้วจะเชื่อวางใจพระเจ้าอย่างไรดี?

ท่านจะมีคำตอบสำหรับการแบ่งปันครั้งต่อไปอะไรบ้างครับ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

21 พฤษภาคม 2561

สร้างทีมงานก่อนขึ้นเป็นผู้นำ

ถ้าดาวิดมิได้มีภาวะผู้นำ  และถ้าชีวิตของเขาไม่มีอิทธิพลต่อชีวิตของคนวงในที่อยู่กับเขา   แน่นอนว่าเขาจะไม่มีรายชื่อหัวหน้านักรบที่เคียงบ่าเคียงไหล่เมื่อเขาขึ้นมาเป็นกษัตริย์ปกครองประเทศ  จากพระธรรม 1พศด. 11:10   และ ตลอดบทที่ 11-12 ชี้ให้เราเห็นชัดว่า การที่ดาวิดดึงเอาบุคคลสำคัญ ๆ ขึ้นมาเป็นหัวหน้า และเสริมสร้างให้พวกเขาเป็นผู้นำ/หัวหน้าที่เคียงบ่าเคียงไหล่เหล่านี้หนุนเสริมให้ดาวิดขึ้นมาเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ได้  

ต่อไปนี้คือหัวหน้านักรบของดาวิด ซึ่งร่วมกับชนอิสราเอลทั้งปวงเสริมแสนยานุภาพของดาวิดทั่วราชอาณาจักร ตามที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาไว้แล้ว (1พงศาวดาร 11:10 อมธ.)

และเราได้รับบทเรียนจากวิธีการของกษัตริย์ดาวิด ดังนี้

1. ดาวิดเริ่มเสริมสร้างคนใกล้ชิดให้มีศักยภาพ และ ภาวะผู้นำก่อนที่ดาวิดต้องการให้พวกเขาเป็นหัวหน้าในงานต่าง ๆ ดาวิดสร้างทีมงานของตนก่อนที่ตนจะได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์

2. ดาวิดดึงดูด จูงใจ คนที่มีศักยภาพ ทักษะความสามารถ และพรสวรรค์ในด้านต่าง ๆ เข้ามาอยู่ในทีมงานของเขา   ไม่ว่าคนที่มีประสบการณ์ในการศึก ความสามารถในการใช้อาวุธด้านต่าง ๆ วีรบุรุษสงคราม ผู้เคยเป็นแม่ทัพนายกองจำนวนมาก ด้วยความช่วยเหลือจากทีมงานที่เขาสร้างขึ้น ทำให้ดาวิดรู้สึกว่าตนพร้อมที่จะทำการต่าง ๆ ได้

3. ดาวิดทำให้เกิดความจงรักภักดี: เราพบว่าทีมงานที่ติดตามดาวิดมีความจงรักภักดีต่อดาวิดอย่างเหลือเชื่อตลอดชีวิตของดาวิด  คนวงในใกล้ชิดดาวิดเป็นคนที่พร้อมที่จะตายเพื่อเขา

4. ดาวิดแบ่งภาระหน้าที่รับผิดชอบตามทักษะความสามารถของทีมงานแต่ละคน:  ดาวิดมอบหมายอำนาจให้คนในทีมงาน เช่น ทรงมอบหมายให้โยอาบเป็นผู้บัญชาการกองทัพ  และมอบหมายอำนาจให้คนต่าง ๆ ที่จะดูแลปกครองในประเทศในด้านต่าง ๆ

ผู้ที่มีภาวะผู้นำ เขาเป็นผู้นำที่สร้างคนรอบข้างให้เป็นผู้นำ และเขาสร้างทีมงานก่อนที่เขาจะต้องการทีมงาน การที่เขามีทีมงานพร้อมก่อน ทำให้เขามั่นใจในการขึ้นมารับผิดชอบในการบริหารงานต่าง ๆ ดาวิดมิได้รอให้ตนได้เป็นกษัตริย์ก่อนแล้วค่อยมาควานหาทีมงานภายหลัง ถ้าเช่นนั้นเราคงได้แต่ทีมงานที่เป็น “พวกพ้อง” ที่ “เชลียร์!” แต่มีศักยภาพ ความสามารถแค่ไหน เป็นปัญหาใหญ่ เพราะผู้นำคนนี้ไม่พร้อมที่จะบริหารงาน บริหารคริสตจักร  บริหารองค์กร  บริหารประเทศชาติ

ผู้บริหารสภาคริสตจักรที่ขันอาสาเข้ารับการเลือกตั้ง  สร้างทีมงานพันธกิจด้านต่าง ๆ พร้อมแล้วหรือยัง?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

18 พฤษภาคม 2561

พระเจ้าเลือก….และ....ใช้คนอ่อนแอ!

ฮัตสัน เทย์เลอร์  มิชชันนารีผู้บุกเบิกพันธกิจบนแผ่นดินใหญ่จีน   เพื่อนคนหนึ่งของท่านได้ยกย่องท่านถึงความถ่อมของฮัตสัน  ฮัตสันได้ตอบเพื่อนท่านนั้นว่า

“สำหรับผมแล้ว ผมเห็นว่า พระเจ้าทรงแสวงหาคนทั่วโลกเพื่อค้นหาคนที่อ่อนแอพอที่จะทำงานที่พระองค์จะทรงมอบหมายให้ทำ   และในที่สุดเมื่อพระองค์ค้นพบผม  พระองค์ตรัสว่า “คนนี้อ่อนแอพอที่ เขาจะทำงานของเรา” ผู้ยิ่งใหญ่ของพระเจ้าทั้งสิ้นเป็นคนที่อ่อนแอมาก่อนทั้งนั้น   และที่คนเหล่านั้นกระทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่สำหรับพระเจ้า  เพราะเขาตระหนักรู้เสมอว่า พระเจ้าอยู่เคียงข้างเขาเสมอ”

คำกล่าวของ ฮัตสัน เทย์เลอร์ ยังเป็นความจริงอยู่ในยุคสมัยเรานี้   อย่างที่เป็นความจริงตลอดประวัติศาสตร์ของสังคมโลกที่เราสามารถอ่านได้ในพระคัมภีร์   เมื่อพระเจ้าแสวงหาคนที่พระองค์จะทรงใช้   พระองค์ไม่ได้แสวงหาคนที่เข้มแข็งที่สุด  เก่งฉลาดที่สุด   แต่พระองค์แสวงหาคนที่อ่อนแอสุด ๆ และมีจิตใจที่ถ่อมสุภาพ จากนั้นพระองค์ก็เสริมสร้างคน ๆ นั้นให้เป็นคนอย่างที่พระองค์ต้องการใช้เขา และพระเจ้าก็ไม่ได้แสวงหาคนที่ได้รับการเสริมสร้างแล้วเสมอไป แต่พระเจ้าจะเสริมสร้างทุกคนที่พระองค์ทรงเรียกตามที่พระองค์ประสงค์จะใช้เขา เพราะคนเก่ง คนฉลาด คนดัง คนที่ได้รับการเสริมสร้างให้เก่งมาก่อน อาจจะไม่ได้เป็นคนที่พระองค์จะใช้ตามพระประสงค์ของพระองค์ได้

“แต่​พระ​องค์​ตรัส​กับ​ข้าพ​เจ้า​แล้ว​ว่า “การ​มี​พระ​คุณ​ของ​เรา​ก็​เพียง​พอ​กับ​เจ้า เพราะ​ว่า​ความ​อ่อน​แอ​มี​ที่​ไหน ฤทธา​นุ​ภาพ​ของ​เรา​ก็​ปรา​กฏ​เต็ม​ที่​ที่​นั่น” เพราะ​ฉะนั้น ข้าพ​เจ้า​จะ​อวด​บรร​ดา​ความ​อ่อน​แอ​ของ​ข้าพ​เจ้า​ด้วย​ความ​ยินดี​  เพื่อ​​ฤทธา​นุ​ภาพ​ของ​พระ​คริสต์​จะ​อยู่​ใน​ข้าพ​เจ้า  เพราะ​เหตุ​นี้ เพื่อ​เห็น​แก่​พระ​คริสต์ ข้าพ​เจ้า​จึง​พอใจ​ใน​บรรดา​ความ​อ่อน​แอ ใน​การ​ถูก​เยาะ​เย้ย​ต่าง ๆ ใน​ความ​ลำบาก ใน​การ​ถูก​ข่ม​เหง ใน​เหตุ​วิบัติ​ต่าง ๆ เพราะ​ว่า​ข้าพ​เจ้า​อ่อน​แอ​เมื่อ​ใด ข้าพ​เจ้า​ก็​จะ​เข้ม​แข็ง​มาก​เมื่อ​นั้น” (2โครินธ์ 12:9-10 สมช.)

วันนี้ ท่านอาจจะมองว่าตนเองเป็นคนที่อ่อนแอ ชีวิตนี้ของท่านไม่เห็นมีอะไรดีกับเขาบ้างเลย!

นั่นเป็น “โกหกคำโต” ของอำนาจแห่งความชั่วร้ายและทำลาย เพราะความจริงก็คือว่า  พระเจ้าต้องการที่จะใช้คนที่อ่อนแอสำหรับทำการยิ่งใหญ่เพื่อพระองค์  เพียงแต่คนอ่อนแอเหล่านี้ต้องมีจิตใจที่ถ่อมลง ยอมรับการเสริมสร้างใหม่ตามพระประสงค์ของพระองค์   แล้วพระองค์จะทรงใช้ชีวิตท่านให้ทำการยิ่งใหญ่ของพระองค์   แต่ตามที่พระองค์ประสงค์   ไม่ใช่ตามความคิดหรือต้องการของเรา!

วันนี้ให้เราอธิษฐานต่อพระองค์ด้วยความจริงใจ ขอพระองค์ช่วยเปิดเผยความจริงแก่เราว่า พระองค์ต้องการจะใช้ความอ่อนแอของเราเพื่อที่จะรับใช้ให้เกิดผลต่อแผ่นดินของพระองค์ในเรื่องอะไรและอย่างไร?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

16 พฤษภาคม 2561

ชีวิตที่น่ายกย่อง... แต่หลงทาง?


เรื่องราวของเศรษฐีหนุ่มที่มาหาพระเยซูเพื่อแสวงหา “คำยืนยัน” จากพระเยซูว่า เขาจะได้รับชีวิตนิรันดร์   ที่ว่าเช่นนี้เพราะ  เขาเชื่อมั่นว่าการดำเนินชีวิตของเขาตามธรรมบัญญัติของยิว  เขาจะได้รับชีวิตนิรันดร์อย่างแน่นอน  และเขาต้องการให้พระเยซูคริสต์ยืนยันต่อหน้ามหาชนว่า ชีวิตของเขาจะได้ชีวิตนิรันดร์

แต่ภายหลังจากการที่เขาได้สนทนากับพระเยซูคริสต์ต่อหน้ามหาชน  เรากลับเห็นความจริงว่า  เศรษฐีหนุ่มคนนี้เป็นคนที่มีชีวิต “ที่น่ายกย่องสรรเสริญ   แต่ขอโทษครับ...ชีวิตกำลังหลงทาง” 

พระเยซูคริสต์ทรงรักเศรษฐีหนุ่มคนนี้   ดังนั้น กระบวนการที่พระองค์พูดคุยกับเขา  พระองค์ต้องการช่วยให้เขาเผชิญหน้ากับความเป็นจริงที่เป็นอยู่ในชีวิตของเขา   และต้องการให้เขาตัดสินใจเลือกเมื่อเขาเผชิญหน้ากับความจริงในชีวิต

ขอตั้งข้อสังเกตว่า   เรื่องเศรษฐีหนุ่มในพระกิตติคุณสัมพันธ์ทั้ง 3 ฉบับ   พระเยซูคริสต์เริ่มต้นจากสิ่งที่เขาได้กระทำในชีวิตของเขา   ซึ่งเป็นเรื่องในพระมหาบัญญัติประการที่สองคือ รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง  (ซึ่งตามความหมายของยิวในเวลานั้น “เพื่อนบ้าน” มักหมายถึง คนใกล้ชิด คนสนิท คนที่เขามีความสัมพันธ์ด้วย)  และพระเยซูคริสต์ทรงชื่นชมเขาในส่วนที่เขาทำตามพระมหาบัญญัติในข้อที่สอง 

จากนั้น   พระเยซูคริสต์ชี้นำเขาให้ก้าวลงลึกในตัวตนและความเชื่อศรัทธาของเขาเองอีกขั้นหนึ่ง

พระเยซูคริสต์บอกกับเศรษฐีหนุ่มคนนี้ว่า “แต่ท่านยังขาดอยู่สิ่งหนึ่ง  จงไปขายสิ่งของทั้งหมดที่ท่านมีอยู่...” (ลูกา 18:23;  มัทธิว 19:21; มาระโก 10:20)   พระเยซูนำให้เขามาเผชิญหน้ากับตัวตน และ ความเชื่อที่แท้จริงของเขา   ขั้นตอนนี้ พระเยซูคริสต์ท้าชวนให้เศรษฐีหนุ่มตรวจสอบชีวิตและความเชื่อของตนว่า  เขารักพระเจ้าด้วยสุดจิตสุดใจ สิ้นสุดความคิด สิ้นสุดกำลังความสามารถของเขาหรือไม่  ซึ่งเป็นพระมหาบัญญัติข้อที่ 1

พระเยซูคริสต์ได้โค้ชชิ่งเศรษฐีหนุ่มค้นให้พบตนเอง และ โค้ชเขาเพื่อเขาจะตัดสินใจในชีวิตของเขา

พระมหาบัญญัติที่ให้รักพระเจ้าด้วยสุดจิตสุดใจและสิ้นสุดความคิด และ กำลังทั้งสิ้น  มักถูกตีความและเข้าใจคลาดเคลื่อนจากผู้เชื่อในพระเจ้า   เรามักจะคิดว่าคือการที่เราเข้าร่วมและประกอบศาสนพิธีต่าง ๆ ตามกำหนด   ถ้าเป็นคริสตชนปัจจุบัน คงจะมุ่งเน้นที่มาร่วมนมัสการในวันอาทิตย์   การถวายสิบลด  การทำพันธกิจที่คริสตจักรกำหนด หรือ จัดขึ้น   การอธิษฐานส่วนตัว   การอ่านพระคัมภีร์...

แต่ในที่นี้ พระคริสต์ท้าชวนเศรษฐีหนุ่มให้ตรวจสอบตนเองว่า   เขามีพระเจ้าเป็นผู้ที่สูงสุดและสำคัญที่สุดในชีวิตจริงหรือ?   ระหว่างทรัพย์สิ่งของทั้งหมดที่เขามีมากมายในชีวิตสำคัญกว่าพระเจ้า หรือ พระเจ้าสำคัญกว่าทรัพย์สินทั้งสิ้นที่เขามีอยู่   ในที่สุดเขาพบตัวตนที่แท้จริงของเขาคือ   พระเจ้าองค์แท้จริงของเขาในชีวิตคือทรัพย์สิ่งของเงินทองทั้งสิ้นที่เขามีอยู่   และนี่คือรูปเคารพของเศรษฐีหนุ่มในชีวิต   เขารู้แล้วว่าเขาต้องสลัดทิ้งสิ่งเหล่านี้   แล้วมีพระเจ้าเป็นผู้ที่สำคัญที่สุดยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต  

แล้วเศรษฐีหนุ่มตัดสินใจเลือกอย่างไรครับ?

จากพฤติกรรมของเศรษฐีหนุ่ม  เขาตัดสินใจเดินออกจากวงสนทนาด้วยความทุกข์ใจ   แสดงว่า เขาเห็นด้วยกับการชี้แนะของพระเยซูคริสต์   เขามิได้คัดค้าน โต้แย้งความคิดเห็นของพระองค์   เขาเดินออกไปด้วยความทุกข์ใจเพราะเขามีทรัพย์สมบัติเป็นอันมาก   เขายังทิ้งรูปเคารพในชีวิตของเขาไม่ได้ครับ?   พระเจ้าไม่ได้เป็นเอกเป็นต้นเป็นผู้สำคัญที่สุดในชีวิตของเขาครับ?

ทุกวันนี้ คริสตชนของเราที่มีชีวิตที่ดีน่ายกย่องสรรเสริญอย่างเศรษฐีหนุ่มคนนี้   แต่ตัดสินใจยอมหลงทาง  ยังเดินไปในทางของตนเองมีไหมครับ?

คนที่รักเพื่อนบ้าน   คนที่ให้ด้วยใจกว้างขวาง   มิได้บ่งบอกชี้ชัดว่า เขารักพระเจ้าด้วยสุดจิตสุดใจ สิ้นสุดความคิด และสิ้นสุดกำลังทั้งสิ้นที่ตนมีอยู่ เสมอไป   แต่อาจจะให้เพราะมีความคาดหวังซ่อนเร้น   อาจจะให้เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อน   แต่พระเจ้าทรงรักคนนั้นที่ให้เพื่อนบ้านเพราะเขารักพระเจ้าด้วยสุดจิตสุดใจ

คงมิใช่การให้ด้วยเศษเสี้ยวสมบัติสิ่งของที่ตนมีอยู่แก่เพื่อนบ้าน “กลุ่มเป้าหมาย”   แต่ให้ทั้งชีวิตอย่างที่พระคริสต์ทรงให้ทั้งชีวิตอย่างไม่มีเงื่อนไข เพื่อคนทั้งหลายจะได้ชีวิตใหม่ครับ!

ทุกวันนี้เราคงต้องระวังตนเองครับ...   ระวังว่า...ตนเองจะเป็นคนที่น่ายกย่องนับถือที่หลงทางครับ?  

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

14 พฤษภาคม 2561

โอพระเจ้า... พระองค์เป็นพระเจ้าแบบไหนกันนะ?


เรื่องชีวิตจริง ที่พระเจ้าตอบคำอธิษฐานอย่างเหลือเชื่อ บทเรียนสำคัญสำหรับชีวิตของเราครับ!

คำอธิษฐานของหญิงสามัญชน ที่พระเจ้าตอบคำอธิษฐานเรื่องลูก ด้วยการทรงเรียกและทำพระราชกิจเปลี่ยนชีวิตของหมอที่เรืองนาม

กระผมขอขอบคุณ  คุณอนุสรณ์ สมสิริ  ที่ได้กรุณาส่งเรื่องราวนี้มาให้ผมได้อ่าน   ผมเข้าใจเอาเองว่า  ท่านส่งมาเพื่อตอบสนองข้อเขียนก่อนหน้านี้ของผม เรื่อง “ทำอย่างไรดี...เมื่อต้องรอคอยคำตอบจากพระเจ้า?   ผมเลยถือวิสาสะที่จะส่งต่อมายังท่านที่เคารพได้อ่านด้วย  ผมถอดความเรียบเรียงใหม่เป็นภาษาไทย  มิได้แปลจากต้นฉบับโดยตรงครับ

ดร.อับราฮาม  นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคมะเร็ง ที่คนทั่วไปที่รู้จักดี  เขาต้องเดินทางไปร่วมสัมมนาและรับรางวัลจากงานวิจัยทางการแพทย์ของท่านยังต่างเมือง  

เขาได้เดินทางไปในงานนั้นด้วยเครื่องบิน ภายหลังการเหินสู่ฟ้าบินไปได้ประมาณ 2 ชั่วโมง เครื่องบินลำดังกล่าวต้องลงจอดฉุกเฉิน ณ สนามบินที่ใกล้ที่สุด อันเนื่องจากความขัดข้องทางเทคนิค

แต่เนื่องจากท่านกลัวว่าจะไปไม่ทันเวลาของการประชุมดังกล่าว ท่านจึงได้ไปสอบถามข้อมูลรายละเอียดจากเจ้าหน้าที่ของบริษัทเครื่องบิน ท่านได้ข้อมูลว่าเขาจะต้องรอไปอีก 10 ชั่วโมงสำหรับเครื่องบินเที่ยวต่อไป   เขาตัดสินใจเช่ารถขับเองไปยังที่ประชุมซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง

พอเขาขับรถเช่าออกไปได้ไม่เท่าไหร่ อากาศเกิดแปรปรวน พายุเริ่มโหมแรง ฝนที่ตกลงอย่างหนักทำให้ท่านไม่สามารถเห็นถนนได้ชัดเจน ท่านขับเลยแยกที่ควรจะเลี้ยว... คุณหมอหลงทาง

การขับรถหลงทางบนถนนเปลี่ยว รู้สึกอารมณ์เสียและเหน็ดเหนื่อย ท่านพยายามมองหาเครื่องหมายที่จะบอกทางไปในเมือง ท่านได้เจอบ้านที่ซอมซ่อข้างทางหลังหนึ่ง  ท่านจอดและเคาะที่ประตู หญิงสาวสวยคนหนึ่งเปิดประตู ท่านพยายามอธิบายให้หญิงคนนั้นทราบถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายของตน เพื่อจะเป็นเหตุผลขอยืมโทรศัพท์ของเธอ แต่เธอบอกว่าเธอไม่มีโทรศัพท์ แต่หญิงคนนั้นได้เชิญให้ ดร.อับราฮาม ให้เข้ามาในบ้านก่อน   ให้รอจนกว่าฟ้าฝนจะดีขึ้นกว่านี้ค่อยเดินทางต่อ คุณหมอที่กำลังหิวและอ่อนแรงรับคำเชิญ หญิงคนนั้นได้ทำอาหารและเครื่องดื่มให้คุณหมอ

หญิงสาวได้เชิญชวนคุณหมอให้ร่วมอธิษฐานกับเธอ แต่คุณหมอปฏิเสธ สำหรับคุณหมอแล้ว ท่านเชื่อในการทำงานหนัก ไม่ใช่มัวแต่นั่งอธิษฐาน! คุณหมอนั่งอยู่บนโต๊ะและจิบน้ำชาของตน   ท่านสังเกตเห็นหญิงคนนั้นอธิษฐานอย่างมากข้าง ๆ เปลทารกน้อยของเธอ หมอรู้สึกว่าหญิงคนนี้ต้องกำลังเผชิญกับปัญหาหนัก และ ต้องการความช่วยเหลืออย่างแน่นอน คุณหมอได้ถามหญิงนั้นว่า จริง ๆ แล้ว...เธอต้องการอะไรจากพระเจ้า และพระเจ้าเคยฟังและตอบคำอธิษฐานของเธอหรือไม่?

เมื่อคุณหมอถามถึงทารกที่อยู่ในเปล หญิงคนนั้นอธิบายว่า เด็กคนนี้เป็นลูกชายของตน ขณะนี้ป่วยเป็นโรคมะเร็ง และทางโรงพยาบาลได้แนะนำให้เธอพาลูกของเธอไปพบแพทย์ที่ชื่อว่า อับราฮาม หมอคนนี้จะรักษาให้ลูกขอเธอหายได้ แต่เธอบอกว่าเธอไม่มีเงินพอสำหรับค่ารักษาแน่

เธอบอกหมอต่อไปว่า ตอนนี้พระเจ้ายังไม่ได้ตอบคำอธิษฐานของเธอ แต่เธอบอกว่าพระเจ้าจะต้องมีทางออกไม่ทางใดก็ทางหนึ่งในสักวันหนึ่ง และเธอยังบอกอีกว่า...

เธอจะไม่ยอมให้ความกลัวมีชัยเหนือความเชื่อของเธอ

ดร.อับราฮาม ถึงกับตะลึงอึ้งไป และไม่รู้จะพูดอย่างไร คุณหมอเริ่มร้องไห้ แล้วท่านพูดออกมาด้วยเสียงดังว่า “พระเจ้ายิ่งใหญ่จริง ๆ” คุณหมอคิดใคร่ครวญถึงเรื่องของหญิงคนนั้นและสถานการณ์ที่เลวร้ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่เครื่องบินเกิดการขัดข้องทางเทคนิค พายุและฟ้าฝนที่บ้าคลั่ง และการที่เขาหลงทางในการขับรถ   พระเจ้าทรงใช้สถานการณ์เลวร้ายเหล่านี้ที่เกิดขึ้น ในการตอบคำอธิษฐานหญิงที่สัตย์ซื่อมั่นคงในความเชื่อคนนี้   และพระเจ้าต้องการที่จะให้โอกาสแก่ตนอีกครั้งหนึ่ง ให้คุณหมอหลุดออกจากเครื่องพันธนาการทางวัตถุนิยม และ อาชีพการงานในชีวิต เพื่อคุณหมอจะมีเวลาที่จะติดตามพระเจ้า และ มีเวลาที่จะให้แก่คนยากคนจน และพระองค์ตอบคำอธิษฐานแก่หญิงคนนี้ที่ไม่มีความช่วยเหลืออื่นใดนอกจากการอธิษฐานอย่างจริงจังเข้มแข็ง

โอ  พระเจ้า  พระองค์เป็นพระเจ้าแบบไหนกันนะ?

พระเจ้าที่อาจจะไม่ได้ตอบคำอธิษฐานตามที่คนอธิษฐานต้องการหรือคาดหวัง แต่พระองค์ตอบคำอธิษฐานตามวิถีทางของพระองค์เอง

ในเรื่องนี้ เห็นได้ว่าพระเจ้าทรงใช้สถานการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าฟ้าฝนที่เลวร้าย  เครื่องยนต์ที่ขัดข้อง  ความผิดพลาดหลงทาง  ซึ่งดูแล้วเป็นสถานการณ์ที่ร้าย ๆ ทั้งสิ้น แต่พระเจ้าใช้สถานการณ์เหล่านี้เพื่อให้เกิดผลดีต่อชีวิตของคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งเกิดผลดีแก่หมอที่กลับมาไว้วางใจในพระเจ้า และมอบตัวรับใช้พระองค์  เด็กน้อยได้รับการรักษา  คุณแม่เกิดความชื่นชมยินดีในพระเจ้า 

อย่าหยุดที่จะไว้วางใจในพระเจ้า
อย่าหยุดที่จะหวังในพระองค์
พระเจ้ากำลังกระทำกิจของพระองค์ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของท่าน
จงยึดมั่นในพระองค์
จงมั่นคงในพระองค์
มุ่งมองไปยังพระองค์ทุกวัน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

11 พฤษภาคม 2561

ทำอย่างไรดี...เมื่อต้องรอคอยคำตอบจากพระเจ้า?

เราท่านต่างมีประสบการณ์ว่า   เมื่อเราทูลขอหรือปรึกษาพระเจ้า   เราต้องรอคอยคำตอบจากพระองค์   แน่นอนว่าเราต้องการคำตอบทันที ทันเวลา ไม่เนิ่นนาน (เพราะการรอคอยก็เหนื่อยนะ!)  แต่หลายครั้งนักที่เราจะต้องร้องเพลงรอหลาย ๆ รอบเลยทีเดียว   จนเกิดคำถามในใจว่า ทำไมพระเจ้าไม่ตอบเราสักที?

ในสถานการณ์เช่นนี้   บางคนต้องการให้พระเจ้าทำอะไรบางอย่างที่ตนคาดว่า  นั่นน่าจะเป็นคำตอบจากพระเจ้า   แต่บางคนก็ต้องการแน่ใจจากพระเจ้าว่า  พระองค์จะให้ตนทำอย่างนั้นอย่างนี้ดีไหม?   แต่ทั้งสองทางเลือกนี้หลายคนบอกว่าไม่น่าจะใช่เช่นนั้น?   แล้วทางที่ใช่คืออะไรกันแน่ล่ะ?

เมื่อเรากำลังรอคอยคำตอบจากพระเจ้า  พระองค์ประสงค์ให้เราทำอะไรในเวลานั้น?

พระธรรมสดุดี 37:7 กล่าวไว้ว่า 
“จงสงบนิ่งต่อหน้าองค์พระผู้เป็นเจ้าและเพียรรอคอยพระองค์
อย่าเดือดเนื้อร้อนใจเพราะเหตุที่พวกเขาประสบความสำเร็จในทางของเขา
เมื่อแผนชั่วของเขาลุล่วงไปด้วยดี” (อมธ.)

จากประสบการณ์พบว่า  เมื่อเราต้องรอคอยในเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ตาม   ถ้าเราได้บ่นได้พูด ได้ปรึกษาเรื่องนั้นกับใครบางคน  และคนเหล่านั้นฟังเรา เราก็จะยังอดทนไปได้ในช่วงเวลานั้น   ท่านเคยมีประสบการณ์ในทำนองนี้ไหมครับ?

แต่พระเจ้าบอกแก่เราว่า “จงสงบนิ่ง”  เมื่อเราต้องรอคอยคำตอบจากพระองค์

ท่านเคยสังเกตเด็กอายุสักสองขวบไหมครับ   ถ้าเขาต้องรอคอยอะไรบางอย่าง   เด็กคนนั้นดูจะอยู่ไม่สุข  ขยุกขยิกอยู่ไม่นิ่ง  บ่อยครั้งที่เราผู้ใหญ่ที่ต้องรอคอย เรามักกระวนกระวายใจ  ว้าวุ่นใจ   จิตวิญญาณของเราอยู่ไม่สุข  บ้างถึงขั้น “เกิดอาการมึนทางจิตวิญญาณ”

เราเคยรอคอยสักพักหนึ่งแล้วยังไม่ได้มีคำตอบ   เรารู้สึกว่าเราจำเป็นลุกขึ้นทำอะไรบางอย่าง   แต่พระเจ้าบอกกับเราว่า  “รอคอยด้วยความอดทน  จงสงบนิ่ง  แล้วดูสิ่งที่เราจะกระทำ  อย่าเดือดเนื้อร้อนใจ   อย่าประสาทเสีย   แล้วก็อย่าคิดที่จะจัดการเรื่องนั้นด้วยตัวของเจ้าเอง”

ระวังครับ   อย่าทำความผิดพลาดอย่างที่อับราฮามเคยกระทำมาแล้ว!   ที่เขาพยายามที่จะตอบเรื่องที่เขารอคอยจากพระเจ้าเป็นเวลายาวนานด้วยการลงมือจัดการเอง

พระเจ้าให้คำมั่นสัญญากับอับราฮามว่า  พระองค์จะทรงอวยพระพรแก่เขา  และเขาจะเป็นบิดาของชนชาติใหญ่   แต่เขาพบกับปัญหาใหญ่สองปัญหา  ที่เขาคิดว่า การอวยพระพรครั้งนี้เป็นไม่ได้  ถ้าเป็นไปได้ก็ยากอย่างยิ่ง  คือ  ตัวของอับราฮามเองมีอายุปาเข้าไป 99 ปีแล้ว   นั่นยังไม่เท่าไหร่   แต่ที่แย่กว่านั้นคือ ซาราห์ ภรรยาของเขาเป็นหมัน   เมื่อดูสภาพการณ์แล้ว   อับราฮามถึงกับสั่นหัวว่า “ไม่มีทางเป็นไปได้?”   และยิ่งเมื่อต้องรอแล้วรออีก  ไม่ได้คำตอบสักที  ไม่เกิดเป็นจริงตามที่พระเจ้าพระสัญญา   อับราฮามก็ตัดสินใจว่า   ตนต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อจะช่วยให้พระสัญญาของพระเจ้าเป็นจริง

อับราฮามเข้าไปหลับนอนกับสาวใช้ของซาราห์ คือนางฮาการ์  เกิดบุตรชายชื่ออิชมาเอล   อับราฮามบอกพระเจ้าว่าพระสัญญาของพระองค์เป็นจริงแล้ว   แต่พระเจ้าบอกเขาว่า “ไม่ใช่แน่  เจ้าเข้าใจผิด  นั่นไม่ใช่คำตอบสำหรับพระสัญญาของเรา   แต่นั้นเป็นคำตอบของเจ้าที่มีต่อพระสัญญาของเรา   แต่คำตอบของเราตามพระสัญญาคือ   เจ้าจะมีบุตรชายที่เกิดจากนางซาราห์ภรรยาของเจ้า   และให้ตั้งชื่อว่าอิสอัค”  ซึ่งชื่อนี้แปลว่า “หัวเราะ”   เพราะเมื่อพระเจ้าบอกว่านางซาราห์จะตั้งครรภ์และกำเนิดบุตรชาย   เมื่อนางได้ยิน นางถึงกับหัวเราะ   เพราะนางไม่เชื่อว่านั่นมันจะเกิดเป็นจริงได้

ผลที่เราพยายามจะหาคำตอบของพระเจ้า  ด้วยการพยายามทำอะไรบางอย่างเพื่อเป็นคำตอบจากพระเจ้า  แทนที่จะ “นิ่งสงบ...และรอยพระองค์ด้วยความอดทน”   ผลที่เกิดขึ้นคือ  อิชมาเอล และ อิสอัค กลายเป็นสองชาติพันธุ๋ที่แข่งขัน ขัดแย้ง  และต่อสู้กันอย่างไม่รู้จักสิ้นสุดสักทีในประวัติศาสตร์โลก

จากเหตุการณ์ครั้งนั้น   คำตอบสุดท้าย คำตอบที่แท้จริง  เป็นคำตอบจากพระราชกิจที่พระเจ้าเป็นผู้ทรงกระทำ  มิใช่ความพยายามของเราเองที่จะช่วยพระองค์ตอบเรา ในสิ่งที่เรารอคอย   เพราะนั่นไม่ใช่คำตอบจากพระเจ้า   นั่นจะกลายเป็นปัญหาซ้อนปัญหาที่เราทำขึ้นเอง

จงนิ่งสงบ  รอคอยพระเจ้าด้วยความอดทน  เพราะพระองค์กำลังกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตท่านและเหตุการณ์นั้น ๆ   และเมื่อถึงที่สุด  นั่นคือคำตอบจากพระองค์ที่ท่านรอคอย

วันนี้   ท่านอย่าพยายามทำบางสิ่งที่จะช่วยพระเจ้าตอบสิ่งที่ท่านรอคอยจากพระองค์   แต่...

วันนี้   ท่านจงนิ่งสงบ  อยู่ต่อพระพักตร์พระเจ้า  รอคอยพระองค์ด้วยความอดทน   เพราะพระองค์กำลังกระทำพระราชกิจเพื่อให้คำตอบในสิ่งที่เรารอคอย

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

09 พฤษภาคม 2561

คำพูดของพ่อแม่ “สร้างหรือทำลาย” ลูก?

ในฐานะพ่อแม่   หลายครั้งที่ผ่านมาในอดีต เรามักพูดอะไรกับลูกโดยมิได้คิดไตร่ตรองรอบคอบก่อน  แต่เมื่อมีโอกาสกลับมาทบทวนสะท้อนคิด ถึงกับต้องสะดุ้งตกใจว่า ตอนนั้นเราพูดกับลูกเช่นนั้นไปได้อย่างไร?   มารู้สึกมาสำนึกได้ว่าคำพูดเช่นนั้นมันทำร้ายจิตใจของลูก  มันสร้างบาดแผลลึก ๆ ในใจของลูก  ทำลายความสัมพันธ์ที่มีต่อลูก  และที่สำคัญกว่านั้นคำพูดเหล่านั้นมันมีอิทธิพลที่หล่อหลอมกลายเป็นกรอบคิดกรอบเชื่อของลูกโดยเราไม่ตั้งใจ และ ตัวลูกเองก็ไม่รู้ตัวด้วย   เราต้องยอมรับว่า  เพราะคำพูดของเราที่พูดต่อลูกที่ผ่านมาในอดีตที่เป็นอิทธิพลทำให้ลูกเป็นคนอย่างที่เขาเป็นบางด้านในปัจจุบัน

(1)   “ถ้าลูกทำตัวแบบนี้   อย่าหวังว่าจะได้อะไรจากพ่อแม่อีกเลย”  

นอกจากเป็นการข่มขู่สร้างความกลัวแก่ลูกแล้ว   ยังเป็นการสร้างกรอบคิดเรื่องการทำดีทำถูกต้องเป็นการต่อรอง หรือ เพื่อแลกเปลี่ยนสิ่งที่ตนต้องการกับพ่อแม่   คำพูดของพ่อแม่ในทำนองนี้สร้างกรอบคิดผิด ๆ ในตัวลูก  เช่น  ถ้าลูกต้องการอะไรก็ต้องทำตัวอย่างที่พ่อแม่ต้องการหรือพอใจ   การทำดีมิใช่เป็นคุณธรรมหรือค่านิยมในตัวลูก   แต่ที่ลูกทำดีก็เพื่อที่จะแลกเอาบางสิ่งบางอย่างที่ลูกต้องการในเวลานั้น

(2)   การกล่าวโทษ กล่าวร้ายแบบหว่านแห

เช่น  “ทุกวันนี้...ลูกไม่เคยทำสิ่งที่ดีอะไรเลย”  หรือ  “ลูกเป็นคนที่ไม่เอาไหนเสมอ”   “ลูกนอนดึกตื่นสายเสมอ”   คำพูดในทำนองนี้ของพ่อแม่สร้างกรอบคิดในตัวลูกว่าเป็นคนที่ไม่ดีเสมอตลอดเวลา   สร้างความรู้สึกของลูกว่า พ่อแม่ไม่เคยมองเห็นส่วนดีของเขาบ้างเลย  หรือไม่ก็คิดว่าพ่อแม่คอยจับผิดเขาอยู่เสมอ   การพูดแบบนี้ซ้ำ ๆ บ่อย ๆ   เป็นการทำลายความมั่นใจในคุณค่าตัวของลูก   และถ้ามิได้รับการเยียวแก้ไขจนถึงวัยรุ่น หรือ เป็นผู้ใหญ่   เป็นการเปิดช่องให้เขาคิดทำสิ่งที่เลวร้ายแรงมากขึ้น  โดยไม่สำนึกว่าจะเกิดสิ่งเลวร้ายที่รุนแรงมากขึ้น เช่น  “ไหน ๆ เราก็ถูกมองว่าเป็นคนเลวแล้ว   ถ้าจะทำความเลวมากขึ้นอีกครั้งจะเป็นไรไป?” เป็นต้น

(3)   คำกล่าวที่ตัดสินให้ร้ายแก่ลูก

คล้าย ๆ กับประเด็นที่กล่าวมาก่อนนี้  แต่มีความเด่นชัดตัดสินลูกลงไปเลยว่า เป็นคนไม่ดี เป็นคนเลว  “ลูกเป็นคนขี้เกียจหาตัวจับยาก”   “ลูกเป็นนักเรียนที่แย่มาก”   “ทำไมลูกถึงทำตัวเป็นคนที่ไม่น่าคบตลอดเวลา”  นอกจากที่จะสร้างภาพลักษณ์ ตัวตนของลูกในสายตาของลูกเองว่า  เป็นคนเลวแล้ว ยังเป็นการทำร้ายจิตใจลูก และ ทำลายความเชื่อมั่นในตนเอง  และทำลายความมีคุณค่าในตนเอง   หมดความภาคภูมิใจในตนเอง   ทำลายความกล้าในการแสดงออก   และสร้างความกลัวและความกังวลที่จะเป็นคนเปิดเผยในสังคม

(4)   “เห็นไหม...เชื้อไม่ทิ้งแถว  ขี้เกียจตัวขึ้นขนอย่างพ่อมันเลย”   

นอกจากจะพูดตัดสินลูกแล้ว   ยังนำเอาพฤติกรรมของลูกไปเปรียบเทียบกับคนอื่นที่ลูกมีความสัมพันธ์ด้วย   และในบางกรณีใช้เรื่องลูกตีชิ่งกระทบอีกคนหนึ่ง   อย่างประโยคข้างต้น นอกจากกล่าวร้ายต่อลูกแล้วยังตีชิ่งถึงพ่อของลูกอีกด้วย   นอกจากจะเป็นการทำร้ายทำลายจิตใจ ความรู้สึก และ ความมั่นใจ ภูมิใจในตัวลูกแล้ว   ยังทำให้ลูก(คนนี้)มองพ่อในมุมมองลบอีกด้วย   ซึ่งน่าจะมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกคู่นี้แน่นอน   และในเวลาเดียวกัน   การที่พูดร้ายเช่นนี้เป็นการทำลายความสัมพันธ์ระหว่างผู้พูดกับพ่อของเด็กด้วย

(5)   “ทำไมลูกเป็นคนที่ไม่เคยทำอะไรถูกต้องสักเรื่อง”  

คำพูดนี้ลูกคงรู้สึกว่า  ตนเองถูกพ่อแม่เหยียบนอกจากแบนติดพื้นแล้ว ยังถูกกระทบให้จมลงในดินอีกด้วย  ประโยคนี้พ่อแม่กำลังกล่าวหาว่าลูกเป็นคนที่ทำอะไรต่อมิอะไรผิดพลาดทุกเรื่องทุกเวลา   นอกจากจะเป็นการทำร้ายทำลายจิตใจ ความเชื่อมั่นในตนเอง  ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองแล้ว   ยังเป็นประโยคที่ตัดความสัมพันธ์กับลูกโดยไม่รู้ตัวและตั้งใจ   เพราะลูกเกิดความรู้สึกว่า พ่อแม่มองตนอย่างลบ ๆ  และมองว่าตนไม่เคยทำสิ่งที่ถูกต้อง   ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างลูกกับพ่อแม่จะเกิดช่องว่างที่ถ่างห่างออกไป   เมื่อลูกมีเรื่องอะไรในชีวิตก็ไม่คิดที่จะมาปรึกษาพ่อแม่ของเขาอีก   เพราะเขาคิดว่าพ่อแม่ต้องจะมองเขาในแง่ลบแน่นอน   เขาเริ่มไปฟังคำแนะนำจากเพื่อน  จากรุ่นพี่   จากคนในแก๊งที่ตนอยู่ด้วย   เมื่อถึงเวลานั้นอะไรจะเกิดขึ้นครับ?

(6)   “พ่อลำบากกับลูกมากแล้วนะ...ถ้าลูกไม่เกิดมาในบ้านนี้ก็จะดีกว่า”  

ถ้าเป็นไฟฟ้าในบ้าน   ก็เป็นเหมือนฟิวส์ขาด แล้วไฟก็จะดับไปทั้งบ้าน   ประโยคนี้นอกจากจะเป็นการทำร้ายทำลายความรู้สึก ความมั่นใจ ความสัมพันธ์ และ ความสำคัญในตนเองของลูกแล้ว   ยังเป็นเหมือนการไล่ให้ลูกออกจากบ้านโดยพ่อแม่ไม่ตั้งใจและรู้ตัว   เพราะพ่อแม่บอกกับเขาว่า “ถ้าไม่มีลูกในบ้านนี้ก็จะดีกว่า”   นอกจากเขาไม่มีคุณค่าอะไรเลยในชีวิตแล้ว   ยังเป็นเศษขยะชีวิตที่พ่อแม่ต้องการกวาดเขาให้ออกไปจากบ้าน(ในความรู้สึกของลูก)   และถ้าเกิดเรื่องความขัดแย้งขัดใจระหว่างลูกกับพ่อแม่อีกครั้ง   โอกาสที่ลูกจะตัดสินใจหนีออกไปจากบ้านเกิดขึ้นได้เสมอ

ท่านครับ   คำพูดที่พ่อแม่พูดกับลูกในเวลาที่ไม่พอใจ  ต้องการให้ลูกเกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิต  และพูดออกมาโดยขาดการยั้งคิดไตร่ตรอง   มันมิใช่การพูดผิดพูดพลาดไปเท่านั้น    มันเป็นเรื่องอนาคต ความเป็นความตายในชีวิตของลูกครับ

เพราะสิ่งที่พ่อแม่พูดกับลูกต้องตระหนักชัดว่า   เป็นคำพูดที่ “สร้างหรือทำลาย” ลูกของเรานะครับ!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

07 พฤษภาคม 2561

ทำไมพระเจ้าให้เราเผชิญกับวิกฤติชีวิตอย่างยืดเยื้อ?

บางคนอ่านเรื่องราวยาโคบปล้ำสู้กับบุรุษท่านหนึ่ง(ซึ่งรู้กันว่าคือพระเจ้า)ตลอดคืนยังรุ่งแต่ไม่สามารถเอาชนะสักที  บางท่านเกิดคำถามในใจว่า   ยาโคบเก่งแค่ไหนนะพระเจ้าถึงสู้ไม่ชนะสักที?   หรือ ไม่ก็ถามในทำนองที่ว่า  ทำไมพระเจ้าไม่เผด็จศึกเอาชนะยาโคบให้เห็นดำเห็นแดงไปเลย?   ทำไมพระองค์ปล่อยให้การปล้ำสู้ยาวยืดเยื้อจนถึงรุ่งสาง(หมดเวลาสำหรับพระเจ้า???)? (ดู ปฐมกาล 32:26)   ท่านเคยมีประสบการณ์ในชีวิตที่ต้องปล้ำสู้กับปัญหาอย่างยาวนานไหม?   ทำไม?

ทำไมพระเจ้าถึงอนุญาตให้วิกฤติชีวิตที่เกิดขึ้นกับเราเป็นไปอย่างยืดเยื้อ(ตามความรู้สึกของเรา  หรือ บางครั้งก็เป็นจริงเช่นนั้น)  ทำไมพระองค์ไม่ลงมือจัดการแก้ไขทันทีเมื่อเราอธิษฐานทูลขอต่อพระองค์   เรามักพบว่า พระเจ้าจะทรงให้วิกฤตินั้นดำเนินต่อไปอีกระยะเวลาหนึ่ง   ทั้งนี้เพราะพระองค์ต้องการที่จะทำให้เรารู้ตัว หรือ รู้เท่าทันตนเองว่าจริง ๆ แล้วเราได้เชื่อและวางใจในพระองค์แค่ไหน?   และเราแสวงหาพระองค์อย่างสุดจิตสุดใจหรือเปล่า?

การที่พระเจ้าทรงตอบสนองวิกฤติและการอธิษฐานของเราทันทีทันใด   อาจจะสร้างความเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนว่า การอธิษฐานเป็นเหมือนวิธีการวิเศษ เป็นทางลัดสู่ความสำเร็จ  เมื่อต้องการก็อธิษฐาน(กดปุ่ม)แล้วมันจะเกิดขึ้นตามที่ต้องการ?   แต่พระเจ้าใช้วิกฤติในการเสริมสร้างคนของพระองค์ให้มีความเชื่อ ไว้วางใจในพระองค์อย่างสุดจิตสุดใจ และเติบโตขึ้นในความสัมพันธ์และเชื่อศรัทธาในพระองค์

บ่อยครั้งที่ผมเห็นเพื่อนคริสตชนจำนวนมาก   ที่อธิษฐานร้องทูลขอการอัศจรรย์จากพระเจ้าให้ช่วยปลดหนี้มหาศาล หนักอึ้งที่ทับถมในชีวิตของเขา  เพราะเขาไม่รู้จะไปพึ่งใครที่ไหนได้อีกแล้ว

เขาทูลขอพระเจ้าทำการอัศจรรย์ให้หนี้ของเขาหลุดลอยออกจากชีวิตในทันที!

แต่น่าคิดว่า   เขาได้เรียนรู้หรือไม่ว่า   หนี้สินรุงรังและหนักอึ้งของเขามันเกิดขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ใจ เหนือกฎเกณฑ์ธรรมชาติการเงินและหนี้สินไหม?   แน่นอนว่า หนี้สินที่เกิดขึ้นมีที่มา มีสาเหตุ  เขาและครอบครัวมีส่วนที่ทำให้หนี้สินเกิดและพอกพูนขึ้น   แล้ววันหนึ่งก็มาขอพระเจ้าช่วยขจัดปัดเป่าหนี้เหล่านั้นให้อันตรธานหายวับไปชั่วพริบตานั้นถูกต้องแล้วหรือ?   สมมติว่า หนี้นั้นเกิดหลุดลอยไปจริง   เราท่านต่างไม่คิดหรือว่า เขาจะไม่กลับก่อหนี้ยืมสินใหม่อีกหรือ?   เพราะถ้าหนี้ท่วมหัวก็สามารถกลับมาขอให้พระเจ้าปลดหนี้ได้?

พระเจ้าสนใจและใส่ใจหนี้สินที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราทุกคน   พระเจ้าประสงค์ที่จะช่วยเราให้สามารถปลดหนี้   ยิ่งกว่านั้น พระเจ้าประสงค์ให้เราได้เรียนรู้ที่จะไม่กลับไปก่อหนี้ใหม่!   ทำอย่างไรที่จะไม่เป็นหนี้?  จะใช้จ่ายและบริหารจัดการเงินทองในชีวิตประจำวันอย่างไร?  เราจะสามารถหยุดการใช้เงินล่วงหน้า(คือใช้เงินส่วนที่เรายังไม่มี)ได้อย่างไร?  พระองค์ประสงค์ที่จะเสริมสร้างวินัยชีวิตการเงินของเรา   และตลอดระยะเส้นทางการทรงใส่ใจของพระเจ้า   พระองค์ทรงเคียงข้างเราในความทุกข์ยากลำบากในชีวิต   จนเวลาที่โซ่ตรวนแห่งหนี้สินหลุดจากชีวิตของเราพระองค์ก็ยังจะอยู่กับต่อไป

ถ้าขณะนี้ที่กำลังอยู่ในวิกฤติชีวิตเรื่องหนี้สิน   ขอยืนมั่น ณ จุดความจริงนั้น  อย่าท้อถอยยอมแพ้   อย่าหลบหนีจากความจริง    ทุกประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วค่ำคืนเดียว   เพราะบางคนใช้เวลาที่ก่อตัวพอกพูนปัญหานั้นมาเป็นระยะเวลายาวนาน   แต่ละท่านอาจจะมีรูปแบบที่ก่อเกิดปัญหี่แตกต่างกันออกไป  บางปัญหาฝังลึกในตน  ไม่ว่าการตอบโต้สื่อสารกับคนอื่น  วินัยชีวิตเชิงลบ ที่สร้างสั่งสมมาเป็นแรมปี   ขอบอกตรงไปตรงมา ณ ที่นี้ว่า   พระเจ้าจะไม่ลบล้างสิ่งเหล่านั้นออกจากชีวิตของเราหมดไปทันที   พระองค์ยังใส่ใจ และ เสริมสร้างให้เราค่อย ๆ เรียนรู้ปัญหาที่ซับซ้อนนั้นทีละชั้น   อย่างที่เราลอกหอมหัวใหญ่ทีละชั้น   ค่อย ๆ แกะออกทีละชั้น  ความหวังค่อย ๆ เกิดมากขึ้น  บางคนก็แสบตา น้ำตาไหล  แต่จงมั่นใจเถิดครับ พระเจ้าอยู่กับเรา  พระองค์เคียงข้างเรา   พระองค์คอยบอกและค่อย ๆ เอื้อให้เราได้เรียนรู้ที่จะจัดการกับปัญหาในชีวิตของตนเองลึกลงไปทีละชั้น   ด้วยวิธีนี้พระเจ้าช่วยให้เราค้นพบตนเอง และ เรียนรู้การจัดการปัญหาจากพระองค์ไปทีละก้าวทีละขั้น   ให้เราวางใจในการทรงชี้นำและสำแดง   ให้เราได้เรียนรู้จากพระองค์

อย่าลืมว่า พระเจ้าอยู่เคียงข้างเราในทุกสถานการณ์ชีวิต   พระเจ้ากระทำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเราในชีวิต   เมื่อท่านทูลขอต่อพระองค์ให้ทรงช่วยแก้ปัญหาในชีวิต   ท่านจะต้องวางใจในการทรงประทานของพระองค์ในชีวิตของเรา   แล้วเราจะได้รับประสบการณ์แห่งสันติสุข พระปัญญา  และ พระพรจากพระองค์   พร้อมทั้งการทรงช่วยกู้ที่มากยิ่งกว่าความเข้าใจและต้องการของเราเอง

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

04 พฤษภาคม 2561

ผู้นำคริสตจักรที่เป็นพิษ...ไม่นำแต่ผลักดันคนอื่นให้ทำ


ผู้นำที่ไม่นำ   แต่ผลักดันให้สมาชิกทำ!

โค้ชคนหนึ่งได้บอกกับศิษยาภิบาลหนุ่มว่า  สมาชิกในคริสตจักรไม่อยากจะไปที่ไหนทั้งนั้น   นอกจากศิษยาภิบาลเต็มใจไปและตัวศิษยาภิบาลเองต้องไปที่นั่นก่อน   กล่าวอีกนัยหนึ่ง  สมาชิกจะไปในที่ที่ศิษยาภิบาลไป   ศิษยาภิบาลเป็นคนที่นำพวกเขาไปที่นั่น (หมายความว่า  แม้ศิษยาภิบาลบอกให้สมาชิกไป   แต่ตัวศิษยาภิบาลไม่ไป   สมาชิกก็ไม่เต็มใจที่จะไป)

ศิษยาภิบาลส่วนมากมีประสบการณ์ในการผลักดันให้สมาชิกทำพันธกิจด้านต่าง ๆ  ศิษยาภิบาลท่านหนึ่งแบ่งปันในกลุ่มจากประสบการณ์ว่า... 

“ครั้งแรกเมื่อผมพยายามผลักดันให้สมาชิกกลุ่มหนึ่งเข้าไปมีส่วนทำพันธกิจคนที่อยู่ในความทุกข์ยากในชุมชน (และในที่นี้รวมถึง พันธกิจในเรือนจำ  พันธกิจนักเรียนในโรงเรียน  พันธกิจในบ้านพักคนชรา  พันธกิจในการประกาศพระกิตติคุณ  และ พันธกิจเด็กและเยาวชนในคริสตจักร   พันธกิจด้านคริสเตียนศึกษา)   ผมรู้สึกท้อแท้ใจ   เพราะเมื่อผมผลักดันให้ทำพันธกิจใด ๆ   มันจะเคลื่อนไปเพียงนิดเดียวชั่วครั้งชั่วคราวแล้วก็เลิกทำ”  

“ผมมาเรียนรู้ความจริงจากโค้ชศิษยาภิบาลว่า  ถ้าจะให้พันธกิจใดขับเคลื่อนไปอย่างมีพลังและยืนยาวต่อเนื่อง   สิ่งแรก ตัวผมเองในฐานะศิษยาภิบาลจะต้องนำและทำให้พวกเขาเห็น  พวกเขาถึงจะลงไปทำพันธกิจนั้น ๆ   ไม่อย่างนั้น เขาก็ไม่ลงไปทำแน่นอน...”

การที่ศิษยาภิบาล/ผู้นำคริสตจักร (ในที่นี้มิได้หมายถึงศิษยาภิบาลเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ปกครอง มัคนายก และ ผู้นำคริสตจักรต่าง ๆ ด้วย) พยายามผลักดันให้สมาชิกทำพันธกิจ แต่ตนเองมิได้นำลงไปทำ และ ทำให้สมาชิกได้เห็นและเรียนรู้   นั่นเป็นศิษยาภิบาลที่เป็นพิษต่อชีวิตคริสตจักร   เราควรเลิกในการผลักดันสมาชิกคริสตจักรในการทำพันธกิจ   แต่ให้ทำหน้าที่นำและทำพันธกิจนั้นๆด้วยตนเองก่อน  เพื่อนำคนอื่น และ ช่วยให้คนอื่นรู้ว่าจะทำอะไร และทำอย่างไร แล้วค่อยหนุนเสริมจนมีสมาชิกเข้ามารับผิดชอบพันธกิจนั้นอย่างเต็มกำลังและต่อเนื่อง

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

02 พฤษภาคม 2561

ผู้นำคริสตจักรที่เป็นพิษ...ระรานและคุกคาม


พฤติกรรมระรานและคุกคาม ของผู้นำบางคน   เป็นความบกพร่องทาง “กรอบคิด” ของผู้นำคนนั้น   ที่คิดแบบยกตนข่มท่าน   ตนเองสำคัญ ตนเองยิ่งใหญ่   มีภาวะผู้นำที่เผด็จการ   ไม่สามารถที่จะเป็นผู้นำที่ทำงานแบบมีส่วนร่วมได้   ผู้นำประเภทนี้เป็นผู้นำที่มีความบกพร่องทางความเชื่อที่ปล่อยสารพิษเข้าในกระแสเลือดของคริสตจักรได้

ผู้นำที่ระรานและคุกคาม

เมื่อหลายปีก่อน ผมพบผู้ปกครองคริสตจักรท่านหนึ่งที่มีพฤติกรรมระรานคนอื่นในคริสตจักร   เขามองว่าคริสตจักรและการบริหารจัดการทุกเรื่องพระเจ้าประทานสิทธิอำนาจแก่เขา   เขาจึงมีสิทธิอำนาจที่จะบอกให้คนอื่นว่าต้องทำอะไรและไม่ให้ทำอะไร   ใช่อยู่...ที่ว่า พระเจ้าประทานสิทธิอำนาจให้กับผู้นำคริสตจักร   แต่มิได้ประทานให้ใช้อำนาจแบบเผด็จการ   ทำให้บางคนต้องออกจากคริสตจักรเพราะความบ้าอำนาจ และ การแสดงว่าตระกูลของตนเป็นเจ้าของคริสตจักรแห่งนั้น

เวลาใดก็ตามที่ผู้นำคริสตจักรไม่ยอมฟังเสียงของคนอื่นในคริสตจักร   และยังสั่งการให้คนอื่นทำโน่นทำนี่    แต่เจ้าตัวไม่ทำอะไรสักอย่างที่ตนสั่งคนอื่นทำ   นั่นแสดงว่าคริสตจักรนั้นผู้นำกำลังเป็นพิษต่อชีวิตของคริสตจักร   ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ จำเป็นที่จะต้องมีการพูดคุยปรึกษาในคริสตจักร   แม้ศิษยาภิบาลถูกผู้ปกครองคนนั้นมองว่า “เป็นคนกินเงินเดือน” อาจจำเป็นต้องใช้จริยธรรมความกล้าหาญที่จะเผชิญหน้าด้วยความรักและถ่อมสุภาพ   เพื่อเห็นแก่ชีวิตของคริสตจักร

ท่านเคยมีประสบการณ์ในทำนองนี้ในคริสตจักรที่ผ่านมาของท่านหรือไม่ครับ?   ถ้าเคยท่านรับมือ และ จัดการเรื่องเช่นนี้อย่างไรครับ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499