30 พฤษภาคม 2561

“การฟัง” เป็นการอภิบาลชีวิตสมาชิกอย่างไร?

ในข้อเขียนนี้   เราจะร่วมกันพิจารณาละเอียดว่า   แนวทางที่ดีที่สุดที่เราจะเข้าถึงและลงลึกในชีวิตของสมาชิกคริสตจักร โดยการสื่อสารด้วยการฟังอย่างใส่ใจที่จะช่วยให้ทีมผู้อภิบาลเข้าใจถึงสภาพชีวิต  จิตวิญญาณของสมาชิกแต่ละคน   สิ่งที่แต่ละคนต้องเผชิญด้วยความทุกข์ยากลำบาก   ความจำเป็นต้องการ     และการถูกทดลองในชีวิตของเขา      เราจะฟังอย่างใส่ใจอย่างไร เพื่อการอภิบาลชีวิตสมาชิก   คริสตจักร?

ต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ท้าชวนให้เราพิจารณาถึงการฟังเป็นการอภิบาลชีวิตผู้คน 6 ประการ

1. การฟังคนอื่นต้องใช้เวลา   การบริหารจัดการเวลาเป็นเรื่องสำคัญยิ่งสำหรับทีมผู้อภิบาลทุกท่าน   เราไม่สามารถที่จะจัดเตรียมเวลา หรือ กันเวลาในการที่เราจะฟังคนอื่นทุกครั้ง   บ่อยครั้งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทันที และศิษยาภิบาลจำเป็นจะต้องให้เวลาที่จะฟังทันทีในเวลานั้น   แน่นอนว่าในทุกคริสตจักรจะมีบางคนที่ต้องให้ผู้อภิบาลฟังเรื่องของตน   อีกทั้งในบางคนบางกรณีที่จะต้องแสวงหาแนวทางออกตามพระคัมภีร์   ดังนั้น คงไม่สามารถคาดหวังว่าผู้อภิบาลจะฟังผู้ที่กำลังประสบปัญหาและได้รับความเจ็บปวดในชีวิตของทุกคนได้   แต่ศิษยาภิบาลสามารถจัดสรรเวลาสำหรับสมาชิกเหล่านี้เพื่อที่จะฟังสมาชิกเต็มกำลังเท่าที่  ศิษยาภิบาลจะทำได้  ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการทำพันธกิจที่สามารถตอบโจทย์ชีวิตของคนในคริสตจักรได้อย่างเป็นรูปธรรม

2. การฟังคนอื่นบังคับให้เราที่จะต้องอดทน   แต่บทเรียนหนึ่งที่ผมได้จากการทำงานอภิบาลคือ   เมื่อผู้ที่ไว้วางใจผมมาขอการปรึกษา   ผมพบว่า เขาไม่ได้ต้องการให้ผมช่วยแก้ไขปัญหาที่เขากำลังประสบ   แต่เขาต้องการให้ผมฟังเขาถึงปัญหาที่กำลังประสบ   ดังนั้น ในฐานะผู้อภิบาลเมื่อสมาชิกมาขอการปรึกษาไม่ว่าจะเป็นประเด็นใด  สิ่งสำคัญคือเราต้องให้ข้อพระวจนะของพระเจ้าที่จะชี้แนะแนวทางออกสำหรับสิ่งที่เขากำลังเผชิญอยู่   และพูดความจริงที่เราได้ยินด้วยรักเมตตา   แต่เราจะต้องฟังเขาด้วยความใส่ใจจนได้ยินถึงความคิดความรู้สึกและความเจ็บปวดในชีวิตของเขา   สถานการณ์ความทุกข์ยากที่เราได้ยินได้ฟังเตือนเราเสมอว่า พระเจ้าเท่านั้นเป็นแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่  เป็นที่ปรึกษามหัศจรรย์  บทบาทของผู้อภิบาลคือผู้ชี้นำให้พวกเขาเข้าถึงพระเจ้า กระตุ้นหนุนเสริมเขาให้ใช้พระวจนะในการตอบโจทย์ชีวิต  และ ให้กำลังใจหนุนเสริมคนเหล่านั้นด้วยความอดทน   หน้าที่ของผู้อภิบาลมิใช่เป็นช่างซ่อมแซมชีวิตของผู้คนที่มาหา!

3. การฟังคนอื่นกระตุ้นเตือนให้เรามีชีวิตที่ภาวนาธิษฐาน   การรับฟังอย่างใส่ใจถึงสถานการณ์แวดล้อมชีวิตของสมาชิกคริสตจักรที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้เราดูแลรับผิดชอบ      เป็นตัวกระตุ้นให้    ศิษยาภิบาลมีชีวิตที่อธิษฐานในเรื่องที่เฉพาะเจาะจงชัดเจน (มิใช่อธิษฐานแบบทั่ว ๆ ไปตามที่คุ้นชิน)   แต่เป็นการอธิษฐานที่กระตุ้นสำนึกของผู้อภิบาลตระหนักรู้ชัดเจนว่า พระเจ้าเท่านั้นที่จะสามารถเอาชนะสิ่งท้าทายในชีวิตของสมาชิก  และนี่เป็นแบบฝึกหัดที่เสริมสร้างความเชื่อศรัทธาของทั้งตัวผู้อภิบาลเองและของสมาชิกคริสตจักรคนนั้นด้วย

4. การฟังสมาชิกคริสตจักรช่วยให้คำเทศนาของเราเป็นเรื่องของชีวิตจริง   ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเอาเรื่องที่เราฟังสมาชิกคนหนึ่งแล้วนำมาใช้ในคำเทศนาของเราทั้งเรื่อง   การกระทำเช่นนั้นเป็นการนำเรื่องราวชีวิตส่วนตัวของคน ๆ หนึ่ง หรือ ความลับของคน ๆ หนึ่ง  มาพูดมาเปิดเผยบนธรรมมาสน์

แต่ในที่นี้หมายถึงว่า  เมื่อเราได้ฟังสมาชิกอย่างใส่ใจทำให้เข้าใจถึงโจทย์ชีวิตของสมาชิกบางคนว่าเป็นเรื่องอะไร   ช่วยให้เรารู้ว่าในการเทศนาของเรา  เราจะนำพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ให้ช่วยตอบโจทย์ชีวิตประจำวันในประเด็นเหล่านั้นที่เราเรียนรู้ได้อย่างไร   ทำให้คำเทศนาสามารถตอบโจทย์ชีวิตของผู้ฟัง   และเขาสามารถแสวงหาแนวทางที่จะรับมือกับโจทย์ชีวิตที่ตนกำลังเผชิญอยู่ได้

5. การฟังคนอื่นอย่างใส่ใจช่วยเราในการนำคนอื่น   จอห์น แม็กซ์แวลล์ ได้กล่าวเรื่องนี้ไว้อย่างเป็น  กระบวนการว่า   ให้เราฟังเพื่อจะเกิดการเรียนรู้  แล้วเชื่อมโยงเรื่องที่เรียนรู้เพื่อใช้ในการนำ   ใช่ครับ ผู้อภิบาลจะต้องนำสมาชิกคริสตจักร   ถ้าเช่นนั้นเราจำเป็นต้องเรียนรู้ถึงชีวิตของเขาแต่ละคน  ว่าเขากำลังเผชิญกับอะไรบ้างในชีวิต   อะไรคือความกลัว ความห่วงกังวล  ความทุกข์ใจ  สิ่งท้าทาย  หรือเขาประสบความสำเร็จในเรื่องอะไร  มีจุดแข็งด้านไหนในชีวิต  และมีของประทานอะไรบ้าง   เราเรียนรู้จักเขาก็ด้วยการฟังอย่างใส่ใจ   ในฐานะผู้อภิบาลเราจัดสรรเวลาที่จะฟังและเรียนรู้จักสมาชิกที่เราได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบ   เราจะเกิดการพัฒนาข้อมูลเชิงลึกที่จะช่วยหนุนเสริมความเป็นผู้นำของเราเป็นอย่างมาก

6. การฟังสมาชิกอย่างใส่ใจทำให้เราใส่ใจในการสร้างสาวก   ผู้อภิบาลคนเดียวต้องทำทั้งหน้าที่ในการให้การปรึกษา  เป็นผู้นำ  ผู้ให้กำลังใจ  และเป็นเพื่อนสนิทของสมาชิก งานมากมายเช่นนี้ผู้อภิบาลทำคนเดียวไม่ไหวแน่  แค่เราฟังเรื่องราวชีวิตของสมาชิกอย่างใส่ใจก็ทำให้ผู้อภิบาลต้องรับภาระจน “หลังแอ่น” แล้ว แต่เหตุการณ์เช่นนี้ช่วยให้เราคิดได้ว่า ทำไมพระเจ้าถึงทรงประทานให้มีสมาชิกคริสตจักร ก็เพื่อที่เราจะสร้างสมาชิกแต่ละคนให้เป็นสาวกของพระคริสต์   เพื่อช่วยสาวกแต่ละคนนำความรักเมตตาในชีวิตออกมาให้แก่เพื่อนสมาชิกคนอื่น ๆ และรับการฝึกฝนในการรับใช้กันและกันตามตะลันต์ตามความสามารถที่พระเจ้าประทานให้แต่ละคน   สอนและฝึกหัดให้แต่ละคนเรียนรู้ที่จะรักเมตตาคนอื่นอย่างพระคริสต์  เรียนรู้ที่จะฟังคนอื่นอย่างใส่ใจ  เรียนรู้ที่จะสื่อสารและสอน   ตลอดจนฝึกฝนในการที่จะนำในหน้าที่การงานต่าง ๆ ที่มีในคริสตจักรและในชุมชน   การสร้างสาวกเป็นหนทางเดียวที่   คริสตจักรจะสามารถอภิบาลชีวิตผู้คนในคริสตจักรและชุมชนได้อย่างครอบคลุมอย่างแท้จริง

ดังนั้น   การฟังอย่างใส่ใจจึงมิเพียงแต่เป็นงานใหญ่ของผู้อภิบาลเท่านั้น   แต่เป็นงานสำคัญที่คนในคริสตจักรที่จะอภิบาลกันและกันดัง “การฟังอย่างใส่ใจ” ด้วยครับ

ในฐานะผู้อภิบาลท่านคิดอย่างไรกับเรื่องนี้?  และ

ในฐานสมาชิกคริสตจักรท่านคิดอย่างไรในเรื่องนี้ครับ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น