27 เมษายน 2560

จะจัดการอย่างไรเมื่อชีวิตเจ็บปวดสิ้นหวัง?

การหนุนช่วยในยามที่ชีวิตประสบความเจ็บปวด  
เพื่อน...จะมีส่วนร่วมทุกข์ร่วมสุขในภาวะเช่นนั้นได้อย่างไร?  
ในเวลาที่ชีวิตเจ็บปวดและสิ้นหวัง อะไรที่เราคาดหวังจากเพื่อนที่เราไว้วางใจมากที่สุด?  
กลุ่มเล็กที่เราเป็นสมาชิกควรจะมีส่วนเช่นไรบ้างในเวลาดังกล่าว?

เมื่อเราต้องตกลงในภาวะที่สิ้นหวัง วิกฤติขวางอยู่ข้างหน้า หรือ ในเวลาที่ต้องพบกับการสูญเสียครั้งใหญ่ในชีวิต  ในเวลาเช่นนั้นเราต้องการเพื่อน   ในเวลามืดมิดเช่นนี้เราต้องการเพื่อนคู่คิดมิตรคู่กาย   เราต้องการคนที่จะเคียงข้างร่วมทุกข์ร่วมสุข   ในเวลาเช่นนั้นเราต้องเปิดใจยอมรับ “มือ” และ “น้ำใจ” ที่ยื่นเข้ามาข้างหน้า และ ในชีวิตของเรา  

ในเวลาเช่นนี้พระเจ้าไม่พระประสงค์ที่จะให้เรารับมือและจัดการวิกฤติ  ความเจ็บปวด  และความสิ้นหวังทั้งสิ้นในชีวิตที่เราเผชิญด้วยตัวของเราเอง   ชีวิตที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้น พระเจ้าไม่ได้ทรงสร้างแต่ละชีวิตให้ขับเคลื่อนไปอย่างโดดเดี่ยวเสรี   แต่ทุกชีวิตมีเยื่อใยสายสัมพันธ์กับชีวิตคนอื่น ๆ รอบข้าง   ชีวิตมนุษย์ถูกสร้างขึ้นให้เป็นสังคมแห่งสายสัมพันธ์   ให้เราระลึกถึงการทรงสร้างมนุษย์ในสวนเอเดนว่า  “ไม่ควรให้ชายผู้นี้อยู่คนเดียว  เราจะสร้างผู้อุปถัมภ์ที่เหมาะสมเท่าเทียมกับเขา” (ปฐมกาล 2:18 อมต.)  พระเจ้าสร้างผู้ที่จะอุปถัมภ์กันและกันที่เหมาะสม  มิใช่สร้างผู้ที่มีสิทธิ และ สิ่งดี ๆ ในชีวิตที่เหมือนและเท่าเทียมกันและกัน  ความสำคัญคือการอุปถัมภ์มิใช่การเท่าเทียมกัน   หรืออุปถัมภ์กันและกันด้วยสิ่งดีที่เรามีและสิ่งดีที่เพื่อนต้องการ

บางครั้ง เราอาจจะมีเพื่อนที่เชื่อในพระเจ้า   แต่เพราะเขาต้องเผชิญกับความทุกข์ยากเจ็บปวดอันใหญ่หลวง  จนพูดออกมาว่า  “แล้วจะให้ฉันเชื่อพระเจ้าต่อไปได้อย่างไร”   ในเวลาเช่นนั้น   เขาต้องการพลังหนุนเสริมจากเราผู้เป็นเพื่อน   เราสามารถยืนยันกับเขาได้ว่า   เพราะเราเชื่อพระเจ้า  ดังนั้น เราจึงยังยืนหยัดเคียงข้างกับเพื่อนไม่ว่าสถานการณ์มันจะเลวร้ายปั่นป่วนสักปานใดก็ตาม

ดังในพระธรรมโยบกล่าวไว้ว่า  “ถึงแม้ว่าคนสิ้นหวังจะหมดความยำเกรงองค์ทรงฤทธิ์   แต่เขายังสมควรได้รับความเห็นอกเห็นใจจากเพื่อนฝูง” (โยบ 6:14 อมต.)

ในพระธรรมกาละเทียบอกกับคริสตชนว่า   “(พี่น้องทั้งหลาย)จงช่วยรับภาระของกันและกัน  ดังนี้แล้วท่านก็ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระคริสต์ (กาลาเทีย 6:2 อมต.)   ที่ว่า “...ท่านได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระคริสต์”  แล้วอะไรคือบทบัญญัติของพระคริสต์ล่ะ?   ก็คือพระมหาบัญญัติของพระองค์คือ  “...(และ)...รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง”   พระคัมภีร์บอกให้คริสตชนให้ยืนหยัดเคียงข้างผู้ที่กำลังเผชิญหน้ากับความสิ้นหวัง  เจ็บปวดทุกข์ระทม  หมดกำลังหมดความเชื่อ   เพราะการทำเช่นนั้นคือการรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง   การทำเช่นนี้คือการที่เราปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระคริสต์

เมื่อเราตกอยู่ในภาวะวิกฤติในชีวิต  ท่ามกลางความทุกข์ระทม  พบกับสถานการณ์ที่สิ้นหวัง  เราหนีไม่พ้นที่จะเกิดความเครียด   ในเวลาเช่นนั้นเรามักสิ้นหวัง  หมดกำลังใจ  อ่อนแรงกาย ใจ และจิตวิญญาณ  ขาดสมาธิและปัญญาในการรับมือจัดการกับสิ่งที่ถาโถมเข้ามาในชีวิตของเรา   ในเวลาเช่นนั้นเราต้องยอมรับความช่วยเหลือ   ถึงแม้บางท่านอาจจะหมดความเชื่อที่จะพึ่งความช่วยเหลือจากเบื้องบน   แต่ให้เปิดใจยอมรับความช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมคือความช่วยเหลือจากเพื่อนใกล้ชิด   ให้โอกาสเพื่อนใกล้ชิดที่จะเคียงข้างร่วมทุกข์ร่วมสุขกับท่านในเวลาเช่นนี้

ในเวลาเช่นนั้น   แม้เริ่มแรกเราอาจจะมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง หรือ บางครั้งมองไม่เห็นความเป็นไปได้   แต่เราเชื่อว่าท่ามกลางความสิ้นหวัง  หรือ  ท่ามกลางที่ความหวังริบหรี่พระเจ้าทรงกระทำงานตามแผนการที่ดีเลิศของพระองค์เพื่อให้เกิดสิ่งดีแก่ชีวิตของเรา

ข้อคิดประเด็นใคร่ครวญ
  • ใครคือผู้ที่จะหนุนเสริมท่านในเวลาที่เกิดวิกฤติ ทุกข์ยาก และ สิ้นหวังในชีวิต?   ในทางกลับกัน ท่านจะเป็นผู้หนุนเสริมเขาในเวลาที่เขาเกิดวิกฤติในชีวิตได้หรือไม่?
  • เมื่อท่านต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ทุกข์ระทมลำบาก   อะไรคือสิ่งที่จะเป็นประโยชน์สำหรับท่านในเวลานั้นมากที่สุด?
  • ท่านคิดว่าเพื่อนในกลุ่มเล็กสามารถให้การหนุนเสริมท่านอย่างไรที่จะเป็นความช่วยเหลือในเวลาเช่นนั้นที่ดีที่สุด?
  • เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างผ่านการเสริมหนุนจากเพื่อนสนิทคริสตชนของเราในเวลาแห่งความทุกข์ยาก?


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

24 เมษายน 2560

พระเจ้าเปลี่ยน “ความอ่อนแอ” เป็นโอกาสในชีวิต

ใคร ๆ ก็ไม่ต้องการให้ชีวิตของตนเป็นชีวิตที่อ่อนแอ  อ่อนด้อย   อมทุกข์ไร้สุข

แต่ในความเป็นจริง   เราทุกคนต่างก็มีชีวิตที่เคยเผชิญกับชีวิตที่อ่อนเปลี้ย สิ้นพลัง  และสิ้นหวัง   คนเราประสบพบกับชีวิตที่อ่อนแอในลักษณะต่าง ๆ เช่น  ความอ่อนแอทางด้านร่างกาย   เกิดบาดแผลในจิตใจ  ต้องทนทุกข์ด้วยอารมณ์ที่ปวดร้าว   ความสัมพันธ์ฉีกขาดบาดลึก   การทำงานในด้านสมอง/ประสาทไม่ปกติ และ ฯลฯ

ความจริงก็คือ  เราแต่ละคนไม่สามารถหลบลี้หนีจากความทุกข์อันเกิดจากความอ่อนแอในลักษณะที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา   และที่ต้องเข้าใจชัดเจนคือ พระเจ้าก็ไม่ประสงค์ที่จะให้ชีวิตของเราต้องประสบพบกับความอ่อนแอในชีวิตของเรา

แต่ความจริงอีกด้านหนึ่งก็คือ   เมื่อต้องตกอยู่ในสภาพที่ชีวิตอ่อนกำลัง   พระเจ้ามิได้ปล่อยให้เราต้องช่วยตนเอง พึ่งตนเอง ที่จะเอาชนะความอ่อนแอของเราในชีวิตตามลำพัง   แต่พระองค์กลับใช้ความอ่อนแอในชีวิตของเราเป็นโอกาสที่จะเสริมสร้างชีวิตที่อ่อนแอของเรากลับเข้มแข็ง มีพลังขึ้น   ที่สำคัญเป็นสะพานที่เชื่อมต่อให้เราได้พบเจอ และ สัมผัสกับพระคริสต์ในชีวิตประจำวันของเรา  

ยิ่งกว่านั้น พระองค์ยังทรงเสริมสร้างให้เรามีชีวิตเข้มแข็งและมีพลังที่จะใช้ชีวิตประจำวันของเราให้เกิดผลดีทั้งต่อผู้อื่นและตนเอง   ตามพระประสงค์สำหรับชีวิตของเรา   จากชีวิตที่อ่อนแอที่เรามองว่าไร้คุณค่า   เปลี่ยนแปลงไปสู่ชีวิตที่เข้มแข็งขึ้นเพื่อรับใช้ตามพระประสงค์   และนี่คือสายใยอันเหนียวแน่นที่ร้อยรัดตลอดเรื่องราวในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

พระเจ้าทรงเปลี่ยน “หุบเหวความอ่อนแอในชีวิต” ที่เราไม่สามารถจัดการกับชีวิตของเราเองได้   ให้เป็นสะพานที่เชื่อมต่อ “สภาพชีวิตที่อ่อนแอทำอะไรไม่ได้” ให้เราสามารถเดินข้ามไปยัง “สภาพชีวิตที่เราควรจะเป็น”   เราสามารถเรียนรู้ได้จากพระราชกิจที่พระคริสต์ทรงกระทำ   ไม่ว่าหญิงหลังโก่งในธรรมศาลา หรือ ชายตาบอดที่ร้องขอความเมตตาจากพระคริสต์  หรือ  ชายที่ถูกผีสิงที่อาศัยในสุสาน หรือ แม้แต่คนโรคเรื้อนที่ต้องระหกระเหินออกจากครอบครัวและสังคมของตนเอง   เพราะความอ่อนแอของคนเหล่านี้และสังคมที่กระตุ้นผลักดันให้เขาต้องการการสัมผัสจากพระคริสต์   ด้วยความเมตตากรุณาของพระคริสต์   พระองค์ทรงเปลี่ยนแปลงความอ่อนแอในชีวิตของผู้คน   ให้เป็นโอกาสที่เขาได้สัมผัสและประจักษ์ชัดถึงความรักเมตตาของพระเจ้า   ให้ชีวิตของคนเหล่านี้ได้มีชีวิตที่เปลี่ยนไปสู่ชีวิตที่ควรจะเป็น   ให้เปลี่ยนไปสู่ชีวิตที่พบคุณค่า

“มี​ผู้​หญิง​คน​หนึ่ง​เป็น​โรค​โล​หิต​ตก​มา​สิบ​สอง​ปี​แล้ว  เธอ​ทน​ทุกข์​ลำ​บาก​มาก​กับ​หมอ​หลาย​คน และ​สูญ​สิ้น​ทรัพย์​ที่​เธอ​มี แต่​โรค​นั้น​ก็​ไม่​ได้​บรร​เทา กลับ​ยิ่ง​กำ​เริบ​หนัก​ขึ้น    เมื่อ​หญิง​ผู้​นั้น​ได้​ยิน​ถึง​เรื่อง​พระ​เยซู เธอ​ก็​เดิน​เข้า​ไป​ใน​ฝูง​ชน​ที่​มา​ทาง​ข้าง​หลัง​พระ​องค์ และ​แตะ​ต้อง​ฉลอง​พระ​องค์    เพราะ​คิด​ว่า “ถ้า​ฉัน​ได้​แตะ​ต้อง​เพียง​ฉลอง​พระ​องค์​ฉัน​ก็​จะ​หาย​โรค”  ทัน​ใด​นั้น​โล​หิต​ที่​ตก​ก็​หยุด​แห้ง​ไป และ​หญิง​ผู้​นั้น​รู้​สึก​ตัว​ว่า​โรค​หาย​แล้ว” (มาระโก 5:27-29 มตฐ.)

หญิงโลหิตตกมา 12 ปี   หมดเนื้อหมดตัวกับการรักษาแต่ไม่สามารถหายได้   ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป   ผลักดันให้เขามีทางเลือกเพียงหวังในการรักษาของพระเยซูคริสต์   เธอตัดสินใจแทรกตัวเข้าไปในฝูงชน  ยื่นมือแตะชายฉลองของพระคริสต์   โดยฤทธิ์อำนาจแห่งความรักเมตตาของพระคริสต์   เธอรู้ตัวว่าหายจากโรคโลหิตตก   จุดอ่อนแอในชีวิตของเธอได้รับการขจัดออกไปจากชีวิต  แต่ที่สำคัญกว่านั้น   เธอมีโอกาสที่จะกลับไปมีความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ อย่างเป็นปกติ   แต่ที่สำคัญกว่านั้น เธอสัมผัสกับความจริงในความรักเมตตาของพระเจ้าที่เปลี่ยนสภาพและสถานะชีวิตของเธอไปอย่างสิ้นเชิง

ในวันนี้  เวลาใดก็ตามที่เราเผชิญกับชีวิตที่อ่อนแอ  ไม่รู้จะจัดการ หรือ ขจัดมันออกไปจากชีวิต   โปรดตระหนักชัดว่า ความอ่อนแอในชีวิต เป็นโอกาสที่ “ขับดัน” เราให้เข้าถึงพระคริสต์   เพื่อขอให้พระองค์ทรงจัดการปรับเปลี่ยนชีวิตของเรา  ด้วยความรักเมตตา และ ตามพระประสงค์ของพระองค์   ความอ่อนแอในชีวิตของเราจะเป็นโอกาสที่เราจะได้เผชิญหน้าและสัมผัสกับความเมตตาของพระองค์   แล้วชีวิตของเราจะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมอีกเลย

เพราะพระคริสต์เป็นความเข้มแข็งและพลังในชีวิตของเราในวันนี้

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

20 เมษายน 2560

พระเจ้าแต่งตั้งได้...พระองค์ก็ทรงถอดถอนได้!

ผู้นำฝ่ายจิตวิญญาณที่อิสราเอลมีอยู่กำลังตกอยู่ในภาวะอันตรายอย่างยิ่ง…
แทนที่จะนำให้ประชาชนนมัสการพระเจ้าด้วยความยำเกรง
แต่กลับกระทำเป็นการดูหมิ่นพระเจ้า
และเป็นการเหยียบย่ำ “หัวใจ” ประชากรของพระองค์ที่มาถวายบูชาด้วย!

จากตอนท้ายของพระธรรมผู้วินิจฉัย กับบทเริ่มต้นของพระธรรม 1ซามูเอล เป็นช่วงเวลาที่อิสราเอลไม่มีผู้นำประเทศ “ในสมัยนั้นไม่มีกษัตริย์ในอิสราเอล ต่างก็ทำตามที่ตนเองเห็นชอบ” (ผู้วินิจฉัย 21:25 มตฐ.) เท่าที่มีอยู่ก็เป็นผู้นำฝ่ายจิตวิญญาณของอิสราเอล เอลีเป็นปุโรหิต และ มีบุตรชายสองคนที่ทำหน้าที่รับผิดชอบงานที่แท่นถวายบูชาแด่พระเจ้า

“...ในสมัยนั้นพระดำรัสของพระยาห์เวห์มีมาแต่น้อย ไม่มีนิมิตบ่อยนัก...” (1ซามูเอล 3:1ข. มตฐ.)

“...บุตรทั้งสองของเอลีเป็นคนอันธพาล(คดโกง) ไม่รู้จักพระยาห์เวห์... คนหนุ่มทั้งสองนั้นได้ดูหมิ่นเครื่องถวายบูชาแด่พระยาห์เวห์” (1ซามูเอล 2:12, 17 มตฐ.) คนของพระเจ้าได้มากล่าวโทษครอบครัวเอลีว่า “...เหตุใดพวกเจ้าจึงเหยียบย่ำเครื่องสัตวบูชาของเรา และของที่เขาถวายตามบัญชาสำหรับที่ประทับของเรา และให้เกียรติแก่บุตรทั้งสองของเจ้าเหนือเรา และ ทำให้ตัวของพวกเจ้าอ้วนพี ด้วยส่วนที่ดีที่สุดจากของถวายทุกรายจากอิสราเอลชนชาติของเรา? (2:29 มตฐ.)

ผู้นำฝ่ายจิตวิญญาณที่อิสราเอลมีอยู่กำลังตกอยู่ในภาวะอันตรายอย่างยิ่ง แทนที่จะเป็นผู้นำให้ชนชาติอิสราเอลยำเกรงนมัสการพระเจ้า มีพระองค์เป็นเอกเป็นต้นในชีวิตประจำวัน แต่กลับทำตัวเป็นอันธพาล คดโกง ดูหมิ่นเหยียบย่ำของถวายแด่พระเจ้า แทนที่จะนำให้ประชาชนนมัสการพระเจ้าด้วยความยำเกรง แต่กลับกระทำเป็นการดูหมิ่นพระเจ้า และเป็นการเหยียบย่ำ “หัวใจ” ประชากรของพระเจ้าที่มาถวายบูชาด้วย!

จากเหตุการณ์ข้างต้นเริ่มเป็นสัญญาณบอกเหตุว่า อิสราเอลจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง ประการแรก เราได้เห็นถึงความไม่ชอบมาเป็นกลของผู้ที่จะสืบทอดอำนาจนั้นไม่มีสมรรถภาพ ผู้นำไม่สามารถ ห้ามปราม แก้ไขคนที่จะสืบทอดที่กระทำผิด และถ้าคนสืบทอดเหล่านั้นขึ้นมามีอำนาจก็จะเป็นการใช้อำนาจที่ไม่สัตย์ซื่อชอบธรรม และการปกครองด้วยความฉ้อฉลดังกล่าวของลูกสองคนของเอลีย่อมนำความหายนะเกิดแก่อิสราเอล และที่เห็นชัดคือประชาชนไม่ศรัทธาในภาวะผู้นำของลูกทั้งสองของเอลี ประชาชนเริ่มแยกตัวออกห่างจากผู้นำที่ชั่วฉ้อฉลแม้ผู้เป็นพ่อจะมีตำแหน่งอันสูงตามบทบัญญัติกำหนดก็ตาม

ลูกทั้งสองของเอลีกระทำต่อพระราชกิจของพระเจ้าที่ทรงมอบหมายให้กระทำด้วยการลดค่าที่เป็นการทำในฐานะผู้รับใช้ในพระราชกิจของพระเจ้า กลายเป็นธุรกิจครอบครัว ที่ทั้งสองอยากทำอย่างไรก็ทำตามใจชอบ การทำงานที่หน้าแท่นถวายบูชาเป็นการกระทำรับใช้พระราชกิจของพระเจ้ากลับถูกกระทำเป็นเหมือน ธุรกิจในครอบครัวของตน” (ทำพระราชกิจเพื่อพระเจ้าที่แท่นบูชากลายเป็นธุระกิจการทำมาหากินของตน) ตนอยากทำอย่างไรก็ตามตามใจชอบ (ดู 1ซามูเอล 2:12-17) ใช้ระบบครอบครัวและพรรคพวกเข้ามาแทนที่้ “พระราชอำนาจของพระเจ้า” แม้การกระทำดังกล่าวจะเป็นการกระทำที่ผิดต่อบทบัญญัติ และวินัยชีวิตของผู้รับใช้พระเจ้าก็ตาม และนี่คือความเสียหายร้าวฉานในพระราชกิจของพระเจ้าที่ทรงมอบหมายให้ผู้นำรับผิดชอบ

สิ่งที่ต้องพึงตระหนักชัดเจนว่า พระราชกิจของพระเจ้า และ พันธกิจแห่งแผ่นดินของพระเจ้านั้น ไม่ควรทำให้เป็นธุรกิจครัวเรือน หรือ ธุรกิจการเมืองของพรรคและพวก อย่างที่เกิดแก่ครอบครัวของเอลี ที่อันตรายคือ สิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นแก่ประชากรของพระเจ้า และ การถวายเกียรติแด่พระองค์ ถูกมองและปล้นมาเป็นผลประโยชน์ครอบครัว และ ผลประโยชน์ที่แบ่งสันปันส่วนในกลุ่มพรรคและพวก เมื่อเกิดความฉ้อฉลเช่นนี้ก็เกิดความแตกแยกอันเกิดจากการแก่งแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ ซึ่งแท้ที่จริงเป็นของพระเจ้า และประชากรของพระองค์ ผลปลายทางที่เกิดขึ้นคือ ประชากรของพระเจ้าถูกปล้นเอาพระพรไปกลายไปเป็นผลประโยชน์กับกลุ่มที่ดูแลพันธกิจและ พระราชกิจที่พระเจ้ามอบหมายให้รับผิดชอบ ความหายนะเกิดขึ้นแก่องค์กร และ ชุมชน

จากเรื่องครอบครัวเอลี และ การส่งทอดอำนาจการปกครองทั้งในระดับรัฐบาล คริสตจักร การเมืองและองค์กรธุรกิจ และองค์กรอื่น ๆ ต้องระวังที่จะไม่ปล้นเอาพระราชอำนาจของพระเจ้า และ ประโยชน์(พระพร)จากประชาชนและชุมชน และผู้นำองค์กรเหล่านี้ต้องตระหนักชัดว่า ตนเองเข้ามาเพื่อรับใช้ให้เกิดสิ่งดี ๆ แก่ชีวิตประชากรและชุมชน และที่สำคัญคือ ผู้นำทั้งภาครัฐ คริสตจักร เอกชน และองค์กรต่าง ๆ ต้องไม่ฉ้อฉล ดังที่ปัญญาจารย์ได้วิพากษ์เรื่องนี้ไว้ว่า...

ข้าพเจ้าเกลียดการตรากตรำทั้งสิ้น ซึ่งข้าพเจ้าตรากตรำอยู่ภายใต้ดวงอาทิตย์ เพราะข้าพเจ้าจำต้องละการนั้นไว้ให้แก่คนที่มาภายหลังข้าพเจ้า แล้วใครจะไปทราบว่าเขาคนนั้นจะเป็นคนมีสติปัญญาหรือคนเขลา กระนั้นเขาก็ครอบครองการตรากตรำทุกอย่างของข้าพเจ้า ที่ข้าพเจ้าได้ตรากตรำมาและใช้สติปัญญาทำภายใต้ดวงอาทิตย์...” (ปัญญาจารย์ 2:18-19 มตฐ.) และนี่คือสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในยุคของเรามิใช่หรือ?

เมื่อพระเจ้าแต่งตั้งได้ พระองค์ก็ทรงถอดถอนได้ พระองค์ถอดถอนทั้งเอลี และ ลูกทั้งสอง ทั้งครอบครัวออกจากการรับใช้พระองค์ แล้วพระองค์ทรงแต่งตั้งคนที่เล็กน้อยสุด ๆ ที่ไม่มีใครคาดคิดล่วงหน้าอย่างซามูเอล ให้มารับผิดชอบในงานใหญ่ที่พระเจ้ามอบหมายในเวลาของพระองค์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย
สันทราย เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

16 เมษายน 2560

อิสเตอร์ "รุ่งอรุณแห่งการเสริมสร้างความเชื่อ"

ในกลุ่มสาวกมีใครบ้างที่มีความเชื่อเรื่องพระเยซูคริสต์จะเป็นขึ้นจากความตายในวันที่สาม?
เท่าที่ผมพยายามทบทวนความจำจากการอ่านพระคัมภีร์ ผมไม่พบว่าใครที่เชื่อ!
แม้แต่เปโตร คัดค้านความคิดและการกล่าวเช่นนี้ของพระคริสต์
และขอเหตุการณ์การถูกทำร้ายและทำลายพระคริสต์อย่าได้เกิดขึ้น
และเขาคงคิดว่า ไม่มีใครที่จะมาทำร้ายพระองค์ได้
เพราะพระองค์มีฤทธิ์อำนาจเหนือการกระทำร้ายเหล่านั้น
ส่วนเรื่องการเป็นขึ้นจากความตายของพระองค์ไม่ต้องกล่าวถึงเลย
เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่อยู่นอกกรอบเชื่อกรอบคิดของสาวก
หรือ จะพูดว่า พวกสาวกไม่ได้คิด ไม่ได้เชื่อเช่นนี้ ก็คงไม่ผิด?

โดยปกติทั่วไปแล้ว คริสตชนจะบอกว่า...
"ความ​เชื่อ​คือ​ความ​มั่น​ใจ​ใน​สิ่ง​ที่​หวัง​ไว้ เป็นความแน่ใจใน​สิ่ง​ที่​มอง​ไม่​เห็น" (ฮีบรู 11:1 มตฐ.)
ถ้าเช่นนั้น เราจะพูดได้ไหมว่า ในตอนนี้สาวกไม่ได้เชื่อในเรื่องพระคริสต์จะเป็นขึ้นจากความตาย?

รุ่งอรุณหลังวันสะบาโตที่พระคริสต์ถูกฝังในอุโมงค์ของโยเซฟแห่งอริมาเธีย
มารีย์และกลุ่มสตรีใจกล้ามาที่อุโมงค์ฝังศพพระเยซูแต่เช้ามืด
จุดประสงค์เพื่อที่จะมาชโลมพระศพของพระคริสต์ด้วยเครื่องหอม
ตอนนี้พวกเธอยอมรับแล้วว่าพระคริสต์ต้องตาย และ พระองค์ได้ตายจริง ๆ
แต่... ในกรอบคิดกรอบเชื่อของพวกเธอ ไม่ได้คิดและเชื่อว่าพระคริสต์จะเป็นขึ้นจากความตาย?
พวกเธอต้องการมาชโลมพระศพพระองค์ด้วยเครื่องหอมตามประเพณีปฏิบัติ
พวกเธอไม่ได้คิดว่า พระอาจารย์ของตนจะเป็นขึ้นจากความตาย
เพราะเขาคาดหวังจะได้พบกับ "พระศพ"

แต่พวกเธอต้องผิดคาด..
พวกเธอพบว่า หินมหึมาที่ปิดปากอุโมงค์เปิดออกแล้ว! เกิดคำถามว่า...
ใครมาเปิดออก (มันหนักจะตาย!) เปิดไปทำไม?
เมื่อเข้าไปในอุโมงค์ ต้องตกใจ เพราะไม่พบพระศพตามที่คาดหวังไว้?
เกิดคำถามว่า... แล้วใครเอาพระศพของพระเยซูไป? แล้วเอาไปไว้ที่ไหน?
มารีย์เสียใจมาก เธอร้องไห้...?

คริสตชนปัจจุบันบางคนมองเหตุการณ์นี้แล้วมักตัดสินลงไปว่า...
เพราะมารีย์และสตรีเหล่านั้น "ขาดความเชื่อ"
ดังนั้น พวกเขาจึงตกใจ พวกเธอจึงโศกเศร้า พวกนางจึงเสียใจ?

แต่พระคัมภีร์กลับบันทึกไว้ว่า...
ในสถานการณ์ชีวิตที่มืดมน สับสน ไม่เข้าใจ มีแต่คำถามว่า "ทำไม?"
เราพบว่า ในเวลาเช่นนั้น
มิใช่โอกาสของการ "ตัดสิน" ว่าใครมีความเชื่อ หรือไม่มีความเชื่อ
ไม่ใช่เวลามาชี้ชัดว่า "ความเชื่อใครผิด แล้วความเชื่อใครถูก?"

แต่ในเวลาเช่นนั้น... เป็นโอกาสของการเสริมสร้างความเชื่อให้เกิดขึ้นในคนต่าง ๆ
ทูตสวรรค์ปรากฎ แล้วทบทวนความทรงจำของมารีย์และพวก...
ถึงสิ่งที่พระเยซูคริสต์ได้เคยบอกพวกเขาล่วงหน้าแล้ว
"...พวก​ท่าน​แสวง​หา​คน​เป็น​ใน​พวก​คน​ตาย​ทำไม?
พระ​องค์​ไม่​ได้​อยู่​ที่​นี่ แต่​ทรง​เป็น​ขึ้น​มา​แล้ว
จง​ระลึก​ถึง​คำ​ที่​พระ​องค์​ตรัส​กับ​พวก​ท่าน​ขณะ​ที่​พระ​องค์​ยัง​อยู่​ใน​แคว้น​กา​ลิลี..." (ลูกา 24:5-6 มตฐ.)
"พวก​นาง​จึง​ระลึก​ถึง​พระ​ดำ​รัส​ของ​พระ​องค์" (ข้อ 8)

ความเชื่อศรัทธา ที่เกิดจากการทรงสัมผัสจากเบื้องบน
พวกเธอได้รับการทรงสัมผัสทั้ง ความคิด ความรู้สึก เกิดประสบการณ์ตรง และ การทบทวนยืนยัน
จากความเชื่อเรื่องการเป็นขึ้นจากตาย ที่ไม่มีในกรอบคิดกรอบเชื่อของพวกเธอ
รุ่งอรุณแห่งยุคใหม่ ความเชื่อเรื่องการเป็นขึ้นใหม่จากความตาย ได้งอกขึ้นผ่านประสบการณ์ตรง
ความเชื่อใหม่ได้หยั่งรากลึกลงในชีวิตจิตใจของพวกเธอ
ชีวิตจิตใจของเธอน้อมรับความเชื่อที่เบื้องบนได้ประทานให้
พวกเธอ อุทิศ ทุ่มเท ทั้งชีวิต เพื่อความเชื่อใหม่นี้
ที่ความเชื่อมีพลังเช่นนี้เพราะ ความเชื่อนี้เป็นความเชื่อที่พวกเธอประจักษ์สัมผัสด้วยชีวิตของเธอเอง
เป็นความเชื่อที่พวกเธอมั่นใจ เป็นความเชื่อที่เป็น "หัวใจ" แห่งชีวิตของพวกเธอ
เป็นความเชื่อที่พุ่งล้นขึ้นที่เป็นความชื่นฉ่ำแก่ชีวิตอื่น ๆ ที่ล้อมรอบชีวิตประจำวันของเธอ
เป็นชีวิตที่คนรอบข้างสามารถสัมผัสกับการเสริมสร้างจากเบื้องบน
เป็นชีวิตที่อุทิศมุ่งนำความเชื่อศรัทธานี้ให้คนอื่นได้สัมผัสด้วย

พวกนางรีบวิ่งกลับไปบอกสาวกคนอื่น ๆ ที่กำลังซ่อนตัวที่ในห้องแห่งหนึ่ง
" พวก​นาง​ก็​เล่า​เหตุ​การณ์​นี้​ทั้ง​หมด​แก่​สา​วก​สิบ​เอ็ด​คน​และ​คน​อื่น ๆ ...
แต่​พวก​อัคร​ทูต​ไม่​เชื่อ เห็น​ว่า​เป็น​คำ​เหลว​ไหล" (ข้อ 9-11 มตฐ.)
เราไม่ควรตีตราว่าร้ายที่สาวกเหล่านี้ "ไม่เชื่อ" ในเรื่องที่พวกเธอประสบพบเจอและมีประสบการณ์
ที่พวกเขายังไม่ยอมเชื่อเพราะ พวกเขายังต้องการการเห็นจริงผ่านประสบการณ์ชีวิตของตนเอง

แม้เปโตรเมื่อได้ยินเรื่องเล่าเช้านี้จากกลุ่มสาวกสตรี
ด้วยความที่เป็นคนที่จริงจัง เปโตรวิ่งไปที่อุโมงค์ เขาพบอุโมงค์เปิดออก
และสภาพอุโมงค์เป็นอย่างที่สตรีเหล่านั้นรายงาน
แต่เขาไม่ได้พบทูตสวรรค์อย่างที่สาวกสตรีเล่า เขายังไม่มีประสบการณ์ตรง
เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้มีผลเพียงทำให้เปโตร "ประหลาดใจ" ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (ข้อ 12 มตฐ.)

ความเชื่อที่จะมีความเข้มแข็ง มั่นคง และมีพลังขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงชีวิตและโลกได้
เป็นความเชื่อศรัทธาที่คน ๆ นั้น...
ได้เผชิญหน้า ประสบพบ และสัมผัสตรงกับพระเจ้า (Encounter with God)
เป็นความเชื่อศรัทธาที่คน ๆ นั้นมีประสบการณ์ตรงกับพระเจ้า

เป็นการสัมผัสที่ทำให้เขาผู้นั้นมีความสัมพันธ์ลุ่มลึกกับพระองค์
เป็นความเชื่อที่สัมพันธ์หยั่งลึกลงถึงรากฐานชีวิต เกิดการอุทิศทั้งชีวิตเพื่อพระองค์
ความเชื่อศรัทธาที่มีพลังชีวิต...ที่มาจาก...
ความเชื่อศรัทธาที่เผชิญหน้า และ มีประสบการณ์ชีวิตตรงกับพระเจ้า (Encounter with God)

เช้าวันอิสเตอร์ปีนี้... ขอให้เราเริ่มเช้าวันใหม่ด้วยคำถามตนเองว่า...
ความเชื่อของฉันทำให้ฉันรู้สึก "ประหลาดใจ" อย่างเปโตร
หรือ เป็นความเชื่อที่มีพลังจากประสบการณ์ตรงกับพระเจ้าอย่างมารีย์ มักดาลา และ พวก?


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

13 เมษายน 2560

อิสเตอร์นี้...เลิกอยู่เพื่อพระคริสต์ และ แค่ทำดีเพื่อพระองค์เถอะ?

พระเยซูคริสต์เคยกล่าวไว้ว่า  “อาจจะมีคนที่ยอมพลีชีวิตเพื่อคนดี  แต่...”

ใช่ครับ...มีหลายต่อหลายคนที่รู้สึกว่า   ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องทำดีเพื่อบางคนที่เรารักเราบูชา... นั่นมิใช่สิ่งผิดแปลกประหลาดอะไร  แต่เป็นสิ่งดีด้วยซ้ำไป   เพราะเห็นแก่คนที่เรารักบูชา ทำให้เราต้องการเป็น “คนดี” บ้างอย่างคน ๆ นั้น   จึงไม่แปลกที่คริสตชนหลายคนจึงยืนยันว่าตนเองมีชีวิต “อยู่เพื่อพระคริสต์”

เมื่อพระคริสต์รับบัพติสมา   สิ่งสำคัญและมีคุณค่ายิ่งสำหรับพระองค์คือ   คำตรัสจากเบื้องบนที่ว่า  “ท่านนี้เป็นบุตรที่รักของเรา  เราชอบใจท่านมาก...”   เสียงจากพระบิดาที่ชื่นชอบพระคริสต์คือ  “เป็นบุตรที่รัก”   เป็นบุตรที่มีความสัมพันธ์กับพระบิดา   เป็นบุตรที่ “อยู่กับพระบิดา”  มิใช่เป็นบุตรที่ “ทำดีเพื่อพระบิดา”

ความเข้าใจนี้จะชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อพระเยซูคริสต์ได้เล่าคำอุปมาเรื่อง “บุตรสองคน”   หรือที่เรามักชอบตั้งชื่ออุปมาเรื่องนี้ว่า “บุตรน้อยหลงหาย”   เขาหลงหายออกไปจากความสัมพันธ์กับพ่อในบ้านไประเริงชีวิตในเมืองไกล   แต่เมื่อเราอ่านอย่างใคร่ครวญแล้วเราพบด้วยว่า  “พี่ใหญ่ก็เป็นบุตรหลงหายด้วย”   และ เขาหลงหายในวังวนหรือเขาวงกตทรัพย์สมบัติในบ้านของพ่อ 

เมื่อพ่อชวนลูกคนโตมาร่วมงานชื่นชมยินดีกับการกลับมาของน้องเล็ก   พี่คนโตไม่พอใจและไม่ยอมเข้าร่วม(สัมพันธ์)กับพ่อและ “คนผลาญทรัพย์สมบัติด้วยการทำชั่ว”  แล้วยังมีหน้ากลับมาเสนอตัวกับพ่อ   นอกจากนั้น ลูกคนโตไม่พอใจการกระทำของพ่อที่เอาสมบัติในบ้านไปเลี้ยงดูจัดงานให้กับคนที่ทำชั่วอย่างน้อง

พี่ชายคนโตรู้สึกว่า   ตลอดชีวิตของตน “ทำดีเพื่อพ่อ”  ดูและบริหารจัดการทรัพย์สมบัติทั้งหลายในบ้านเพื่อพ่อ   แต่พ่อลำเอียงกลับเอาทรัพย์สมบัติที่เป็นน้ำพักน้ำแรงของตนไปเลี้ยงฉลองน้องสารเลวคนนี้ที่เพิ่งกลับจากการผลาญทรัพย์สมบัติจนหมดเนื้อหมดตัว

แต่ผู้เป็นพ่อกลับมองว่า   ลูกคนเล็กที่หายไปนั้นกลับได้พบกันอีก   ตายไปแล้วแต่กลับมีชีวิต   ลูกคนเล็กไม่ได้กลับมาเพราะมีสิ่งดี ๆ เพื่อพ่อ   ชีวิตที่เคยตัดสินใจเดินห่างออกไปจากพ่อเพราะคิดว่าตนมีทรัพย์สมบัติมากมาย   แต่ต้องเดินกลับมาขออยู่กับพ่อเพราะหมดเนื้อหมดตัว   คุณค่าของบุตรน้อยในสายตาของพ่อคือ “เขาตายแล้วแต่กลับมีชีวิตอีก”   ช่างเป็นมุมมองที่แตกต่างราวฟ้ากับดินครับกับมุมมองของพี่คนโตที่ทำดีเพื่อพ่อ

ผู้เป็นพ่อดีใจที่ลูกคนเล็กกลับมาบ้าน   เพราะเขามาครั้งนี้เพื่อที่จะ “อยู่กับพ่อ”  มิใช่  “อยู่เพื่อพ่อ”   น่าสังเกตว่า  ลูกคนเล็กบอกว่าตนไม่สมควรที่จะเป็น “ลูกของพ่อ”   ขอเป็นเพียงคนใช้ในบ้านพ่อ   แต่ปรากฏว่า ผู้เป็นพ่อกลับตอบสนองคำกล่าวนั้นด้วยการให้คนใช้ทำทุกอย่างเพื่อแสดงให้เห็นชัดว่า ลูกคนเล็กกลับมาเป็น "บุตรที่รัก” ของพ่ออีกครั้งหนึ่ง

คริสตชนเมื่อกล่าวถึงพระมหาบัญชาของพระเยซูคริสต์   เราท่านมักไปเน้นความสำคัญที่  “...นำชนทุกชาติให้มาเป็นสาวกของพระคริสต์...”   แต่เรามักไม่ค่อยสนใจต่อพระสัญญายืนยันของพระคริสต์ที่ว่า  “นี่แน่ะ...เราจะอยู่กับท่านทั้งหลายตลอดไปจนกว่าจะสิ้นยุค”   ใช่ครับเรามักให้ความสำคัญในสิ่งที่เราจะทำเพื่อพระคริสต์   มากกว่าการที่พระคริสต์ทรงอยู่กับเรา   ลองคิดใหม่อีกสักครั้งหนึ่งว่า   ถ้าพระคริสต์ไม่ได้อยู่กับเรา   แล้วเรามีน้ำยาอะไรกับการที่จะไปนำชนทุกชาติให้มาเป็นสาวกของพระองค์?

อิสเตอร์ปีนี้...เลิกทำดีเพื่อพระคริสต์เถิดครับ   แต่ให้เราเป็นชีวิตที่ “ตายแล้วแต่กลับมีชีวิตใหม่”  เป็นชีวิตที่อยู่กับพระคริสต์   เป็นลูกที่รักของพระบิดา”  อย่ามัวคิดที่จะนำคนอื่นให้มาเป็นสาวกของพระคริสต์   แต่ตนเองกลับมีชีวิตที่มีช่องว่างในความสัมพันธ์กับพระองค์   ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้หนีไปไหน   แต่ห่างไกลจากพ่อในบ้านหลังเดียวกัน?

สำหรับคริสตชนแล้ว   เรามิได้มุ่งเน้นความสำคัญในความสำเร็จของชีวิต   แต่เรามุ่งเน้นความสัมพันธ์ในชีวิต...   ทั้งความสัมพันธ์กับพระเจ้า   ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว   ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง   ความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและสรรพสิ่งของพระเจ้า   และความสัมพันธ์กันตัวตนในตนเอง

อย่าหลงไปนะครับ   ที่มัวแต่เน้นความสำคัญของพระมหาบัญชาจนสำคัญยิ่งกว่า “พระคริสต์”   เน้นความสำเร็จ  มากกว่าความสัมพันธ์ที่พระเจ้าคาดหวังให้เกิดขึ้นในชีวิตของเรา?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

10 เมษายน 2560

เรากำลัง...นมัสการพระเจ้า หรือ นมัสการรูปเคารพ?

สิ่งหนึ่งที่ทุกคนมีคือ “นิสัย”

นิสัยคือพฤติกรรมที่คน ๆ นั้นทำอย่างคุ้นชิน   บ่อยครั้ง ทำโดยไม่จำเป็นต้องคิดไตร่ตรอง   บ่อยครั้งที่ทำเพราะพลังของจิตใต้สำนึก   เมื่อนิสัยเป็นสิ่งที่เรากระทำด้วยความคุ้นชินเช่นนี้   หลายครั้งเราจึงทำอะไรต่อมิอะไรโดยไม่ต้องถามตนเองว่า “ทำไมถึงคิด ถึงทำเช่นนั้น?”   น่าอันตรายคือ “นิสัย” กลายเป็นตราประทับว่า  สิ่งที่ทำนั้นถูกต้องควรทำโดยไม่จำเป็นต้องคิดทบทวนใคร่ครวญอะไร   และแย่ยิ่งกว่านั้น นิสัยมีอิทธิพลต่อการขีดกรอบคิด/กล่องคิด หรือ มุมมองของเราในเรื่องต่าง ๆ  ที่ไม่แตกต่างไปจากความคุ้นชินของเราทำใช่ไหม?   ดังนั้น เมื่อทำอะไรเป็นนิสัยจึงเป็นความยากที่เราจะเปิดใจรับสิ่งใหม่ถึงแม้สิ่งใหม่จะมีความสำคัญแค่ไหนก็ตาม

ทุกวันนี้  เราเข้าร่วมนมัสการพระเจ้าด้วยความคุ้นชินสิ่งต่าง ๆ ที่เราทำมาเป็น “นิสัย” หรือไม่?   ถ้าใช่  นั่นกำลังเป็นสัญญาณบอกถึงอันตรายในการนมัสการพระเจ้าของเรา

การนมัสการพระเจ้าอย่างคุ้นชิน   เกิดจากประสบการณ์และนิสัยที่ถูกหล่อหลอมจนตกตะกอนเป็นนิสัยของแต่ละคน และ เป็น “นิสัยร่วม” ของกลุ่มคนที่มานมัสการพระเจ้าร่วมกัน   คนกลุ่มนี้จึงคุ้นชินกับวิธีการนมัสการที่เคยทำกันมาและยากที่จะเปลี่ยนแปลง   เพราะเขาเชื่อว่านี่เป็นวิธีที่เป็นสัจจะถูกต้อง!   เป็นการนมัสการพระเจ้าไปตามขั้นตอนวิธีการที่กำหนดมาแล้ว   ทำตามที่ผู้นำได้เตรียมและได้นำ   และขอตั้งข้อสังเกตว่า   การนมัสการพระเจ้าที่ว่านี้มิได้พุ่งล้นจากภายในจิตใจ ความคิด ส่วนลึกของชีวิตของผู้คนที่นมัสการพระเจ้า

ทั้ง ๆ ที่ “หัวใจของการนมัสการมิใช่เพลง ดนตรีที่ใช้  เครื่องเสียง และ สไตล์การนำนมัสการ และ การเทศนาของผู้นำ  แต่เป็นเรื่องของ “จิตใจ” และ “ความคิด” และ ทั้งชีวิตที่ชื่นชมยินดีด้วยความยำเกรงในองค์พระเยซูคริสต์” 

Matt Redman ซึ่งเป็นนักประพันธ์เพลงนมัสการ และ ผู้นำนมัสการในคริสตจักร   ได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในคริสตจักรที่เขาร่วมนมัสการพระเจ้าว่า   ผู้เข้าร่วมนมัสการพระเจ้าคุ้นชินจนติดยึดกับบทเพลงที่ใช้   ประเภทเพลงที่เลือกร้อง   วิธีการร้องเพลง และเครื่องดนตรีที่ใช้ในการนมัสการพระเจ้า   ตลอดจนเครื่องเสียงที่ใช้ในพระวิหารของคริสตจักรแห่งนั้น   ศิษยาภิบาลของคริสตจักรแห่งนี้ตัดสินใจอย่างกล้าหาญที่จะนำสมาชิกในคริสตจักรของตนให้นมัสการพระเยซูคริสต์อย่างถูกต้องแท้จริง   แทนที่จะหลงจากทางในการนมัสการพระเจ้า  ไปนมัสการ “รูปเคารพ” คือ ประเภทเพลง  วิธีร้องเพลง  วิธีอธิษฐาน  วิธีนำเพลง  เครื่องดนตรี  เครื่องเสียง สไตล์การนำนมัสการ และ การเทศนา ฯลฯ

ศิษยาภิบาลแห่งนี้ได้ปรึกษา ตกลง และ นำคริสตจักรแห่งนี้ให้เข้าสู่การนมัสการพระเจ้าอย่างแท้จริงด้วยการงดการใช้เครื่องดนตรีต่าง ๆ   ไม่กะเกณฑ์รูปแบบการนำนมัสการ   การอธิษฐาน และ การร้องเพลง   แต่ให้สมาชิกแต่ละคนนมัสการ อธิษฐาน และ ร้องเพลงจาก “ชีวิต จิตใจ และ ความนึกคิด” ของตนที่ต้องการยกย่องนมัสการพระเจ้าให้เป็นที่หนึ่งในชีวิตของตน และ ของชุมชนคริสตจักร   ให้ทุกคนหันความคิดจิตใจและชีวิตของตน   ทิ้งทุกสิ่งที่เกาะกุมชีวิต ความคิด และ จิตใจที่นมัสการพระเจ้าออกไป   กลับมาติดสนิทใกล้ชิดกับพระเยซูคริสต์ในการนมัสการพระเจ้า

ในการนมัสการพระเจ้าของคริสตจักรแห่งดังกล่าว   ศิษยาภิบาลท้าทายให้ทุกคนในที่นมัสการพระเจ้า  เป็นผู้ที่เข้าร่วมในการยกย่อง นมัสการ และขอบพระคุณพระคุณของพระเจ้า   มิใช่ “ผู้ชม”  “ผู้แสวงหาเพื่อบริโภคพระคุณ”  แต่เข้ามาร่วมนมัสการพระเจ้าด้วยชีวิต ความคิด จิตใจที่ต้องการใกล้ชิดผูกพันชีวิตตนกับพระเจ้า ศิษยาภิบาลต้องการให้สมาชิกทุกคนเข้ามาร่วมในฐานะ “ผู้ที่ยกย่องนมัสการพระเจ้า” จากชีวิตจริงของตน   มิใช่ผู้เข้าร่วม “ชม” “มีอารมณ์ร่วม” อย่างกับไปชมคอนเสิร์ท หรือ การแสดง   จากการที่งดใช้เครื่องดนตรี เครื่องเสียง และ การเข้าร่วมตามสไตล์ที่กำหนด  สมาชิกร้องเพลงนมัสการพระเจ้าด้วยปากเปล่าของแต่ละคนร่วมกัน   สิ่งเหล่านี้เป็นประสบการณ์และบทเรียนล้ำค่าสำหรับทุกคนที่เข้าร่วมนมัสการพระเจ้า   ประสบการณ์และบทเรียนชีวิตการนมัสการพระเจ้าในครั้งนี้เป็นพลังที่เปลี่ยนแปลง “นิสัย” “ความคุ้นชิน” การนมัสการแบบเดิม ๆ ไปสู่การนมัสการพระเจ้าด้วยจิตวิญญาณและความจริง (ยอห์น 4:24)   ตามที่พระคริสต์ประสงค์ให้สาวกของพระองค์ทุกคนนมัสการพระเจ้าเช่นนั้น

ชุมชนคริสตจักรแห่งนี้ได้รับประสบการณ์ เรียนรู้  และเกิดมุมมองใหม่ว่า  พระคริสต์ทรงเป็นแก่นหลักศูนย์กลางของการนมัสการ   ที่ผู้เข้าร่วมนมัสการทุกคนยกย่องพระเจ้าจากส่วนลึกก้นบึ้งแห่งจิตใจ ความคิด และ ความรู้สึกของตนต่อพระเจ้า   และนี่คือหัวใจของการนมัสการที่ปรากฏเป็นจริงอย่างเป็นรูปธรรม  และย้อนกลับเป็นพลังหนุนเสริมการดำเนินชีวิตของผู้เข้าร่วมนมัสการทุกคน

เราไม่ปฏิเสธการมีเครื่องดนตรีชั้นเยี่ยม   นักดนตรีมืออาชีพ  นักร้องเสียงทอง  มือกลองจังหวะหนักแน่น  คณะนักร้องที่ประสานไพเราะ   ผู้นำเพลงที่เข้าถึงอารมณ์ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งดีทั้งนั้น   แต่ในการนมัสการพระเจ้าต้องการสิ่งดีกว่านั้นคือ  จิตใจ และ ความคิดที่ถ่อมลงต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้า  ที่ซ้องสรรเสริญถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าที่ทรงมีในชีวิตของแต่ละคนในเวลาที่ผ่านมา   รับการทรงสัมผัสจากพระวิญญาณบริสุทธิ์   รับการทรงเปิดเผยและทรงชี้นำชีวิตข้างหน้าของเราแต่ละคน   การนมัสการเป็นเรื่องของจิตวิญญาณและความจริง  ด้วยจิตใจและความคิดทั้งสิ้นทั้งชีวิต

ความสำคัญของการนมัสการพระเจ้าจึงมิใช่สิ่งสรรพที่สำคัญภายนอก   ไม่ใช่เครื่องดนตรี  กลองชุดราคาหลายหมื่น  เครื่องเสียงไมโครโฟนราคาหลายแสน  คณะนักร้องที่ประสานไพเราะ คนนำนมัสการที่เข้าถึงอารมณ์   การร้องเพลงและอธิษฐานที่เปี่ยมด้วยพลัง นักเทศน์ที่มีชีวิตชีวา  ที่เทศน์ได้จับใจ  ขอให้เราไม่ติดยึดกับสิ่งภายนอกเหล่านี้  ถ้าเรายึดว่าสิ่งเหล่านี้คือการนมัสการพระเจ้า หรือ นำเราเข้านมัสการพระเจ้าแล้ว   เรากำลังกราบไหว้รูปเคารพ  เรากำลังเทิดทูน “วัวทองคำ” แทนพระเจ้าที่ทรงเป็นเจ้าชีวิตของเรา

ให้เราหันกลับมานมัสการพระเจ้า   ด้วยจิตใจที่สารภาพ  ด้วยความคิดที่หันกลับมาหาพระเจ้า    ให้เราเข้าร่วมนมัสการพระเจ้า  มิใช่ร่วมในพิธีนมัสการเท่านั้น   ไม่ใช่แค่ถวายทรัพย์สิ่งของเท่านั้น  แต่มอบทั้งชีวิตและจิตใจแด่พระองค์   มิใช่แค่ร้องซ้องสรรเสริญเสียงดัง  หรือ  ร่วมในการอธิษฐานออกเสียงดังกระหึ่มและเปี่ยมด้วยพลังเท่านั้น   แต่ก้มกราบถ่อมทั้งชีวิต จิตใจ และ ความคิดของเราต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้า  ให้เราฟังสิ่งที่พระองค์ตรัสแก่เราด้วยใจจดจ่อ   เพราะนั่นเป็นพระประสงค์ของพระองค์สำหรับชีวิตเราแต่ละคน   ที่ทรงต้องการให้เราดำเนินชีวิตประจำวันตามพระประสงค์นั้น   และนั่นคือการนมัสการพระเจ้าด้วยชีวิตจิตใจ   ที่มิได้นมัสการพระองค์จำกัดในโบสถ์ ในพระวิหารเท่านั้น   แต่เรานมัสการพระองค์ในพื้นที่ชีวิตประจำวันทุกเวลา และ ทุกบริบท

ระวังที่จะไม่ให้การนมัสการของเราเป็นการนมัสการรูปเคารพ  แทนการนมัสการพระเจ้าองค์เที่ยงแท้   ให้เรานมัสการพระเจ้าด้วยจิตวิญญาณและความจริง   และนมัสการพระองค์ด้วยจิตใจ ความคิดและชีวิตทั้งสิ้นในชีวิตประจำวัน   ที่เป็นการนมัสการด้วยการดำเนินชีวิตในทุกสถานการณ์ และ บริบท


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

07 เมษายน 2560

ขอโทษ...ผมไม่ได้ตั้งใจครับ

เราท่านต่างคงเคยมีประสบการณ์ในชีวิตที่ “ทำในสิ่งที่ตนไม่คาดคิด หรือ ที่ตนคิดว่า ตนจะไม่ทำในสิ่งนั้นอย่างเด็ดขาด” ใช่ไหม?   มารู้สึกตัว หรือ มารู้ตัวอีกครั้งหนึ่งก็ปรากฏว่าเราได้ทำสิ่งเหล่านั้นลงไปเรียบร้อยแล้ว   เกิดความรู้สึกผิด  ภาวะจิตใจแตกหักฉีกขาด   ความรู้สึกอับอายไร้ค่าในตนเองเข้ามาหลอกหลอน  ถาโถมโจมตีคุณค่าในตนเอง   จนหลายคนต้องหลบหน้า ล่าถอยจากเพื่อนฝูงในสังคม  ครอบครัว  แยกตัว ออกห่างแม้แต่พระเจ้า   แต่ชีวิตก็พบว่า ก็ยังไม่สามารถหลบซ่อนจากความรู้สึกอับอายตนเองที่เกิดขึ้น   ความรู้สึกอับอายนี้ตามติดตามล่าความรู้สึกของเราอย่างติดหนึบ  แล้วสร้างความสับสน  เสียจุดยืนในชีวิต   จนชีวิตอยู่ในภาวะ “แตกหักและฉีกขาด”

แต่​เป​โตร​เริ่ม​สบถ​สา​บาน​ใหญ่​ว่า “คน​ที่​เจ้า​พูด​ถึง​นั้น​ข้า​ไม่​รู้จัก”  ทัน​ใด​นั้น​ไก่​ก็​ขัน​เป็น​ครั้ง​ที่​สอง เป​โตร​จึง​ระ​ลึก​ถึง​ถ้อย​คำ​ที่​พระ​เยซู​ตรัส​กับ​เขา​ว่า “ก่อน​ไก่​ขัน​สอง​หน ท่าน​จะ​ปฏิ​เสธ​เรา​สาม​ครั้ง” เป​โตร​กลั้น​ความ​รู้​สึก​ไม่​อยู่​ก็​ร้อง​ไห้  (มาระโก 14:71-72 มตฐ.;  เทียบมธ. 26:34; ลก. 22:61; ยน. 13:38; ยน. 18:27)

ก่อนหน้านี้ พระเยซูบอกสาวกล่วงหน้าให้รู้ก่อนว่า  พวกสาวกจะทอดทิ้งพระองค์ (มก.14:27)  เปโตรปฏิเสธเสียงแข็งว่า คนอื่นไม่รู้  แต่ตนจะไม่ทำเช่นนั้นอย่างแน่นอน   แต่พระเยซูคริสต์บอกเปโตรว่า  “เรา​บอก​ความ​จริง​กับ​ท่าน​ว่า ใน​วันนี้​คือ​ใน​คืน​นี้​เอง ก่อน​ไก่​ขัน​สอง​หน ท่าน​จะ​ปฏิ​เสธ​เรา​สาม​ครั้ง” (ข้อ 30)   แต่เปโตรโพล่งสวนกลับพระเยซูอย่างแข็งขันว่า  “แม้​ว่า​ข้า​พระ​องค์​จะ​ต้อง​ตาย​กับ​พระ​องค์ ข้า​พระ​องค์​ก็​จะ​ไม่​ปฏิ​เสธ​พระ​องค์​เลย” เหล่า​สา​วก​ก็​ทูล​เช่น​นั้น​เหมือน​กัน​ทุก​คน (ข้อ 31)

ในบริบท สถานการณ์ และในเวลานั้น เปโตรเชื่อมั่นในตนเองอย่างเต็มร้อยว่า   ตนไม่มีวันที่จะปฏิเสธว่าตนเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์   สาวกคนอื่นก็เช่นกัน แต่ละคนพร้อมที่จะตายเพื่อพระเยซูคริสต์  ดังนั้น ไม่มีวันที่ตนจะปฏิเสธพระองค์ต่อหน้าคนอื่นอย่างแน่นอน

แต่เมื่อสถานการณ์จริงเกิดขึ้น   ปรากฏว่าสาวกกลับทำในสิ่งตรงกันข้ามกับที่ตนเคยรู้สึกเคยยืนยันกับพระอาจารย์ว่า  จะไม่ทิ้งพระองค์ และที่สำคัญพร้อมที่จะยอมตายเพื่อพระองค์   แต่สำหรับเปโตรสถานการณ์หนักไปกว่านั้น   เขาปฏิเสธหน้าฝูงชนถึงการเป็นสาวกและรู้จักพระเยซูคริสต์   เปโตรทำสิ่งที่ตนไม่คาดคิดว่าจะทำ   เขาทำในสิ่งที่เขามั่นใจว่าคนอย่างตนเองจะไม่ทำเช่นนี้แน่!

แต่เสียงไก่ขันครั้งที่สอง  เป็นเสียงปลุกให้เปโตรตื่นจากความมั่นใจในตนเอง  ปลุกจิตสำนึกของเขา ปลุกเขาให้พบความจริงว่า เขาได้ทำสิ่งที่ตนคิดว่าตนจะไม่ทำเช่นนั้นอย่างแน่นอนในชีวิตนี้   เมื่อเขาพบกับความเป็นจริงในตัวตนของตนเองที่ทำในสิ่งที่เขาคิดและมั่นใจว่าตนไม่มีทางทำเช่นนั้น   เขาถึงกับเสียใจจนเหมือนอกจะแตกเป็นเสี่ยง ๆ  เขารีบหนีออกไปร้องไห้ (ข้อ 72)   จิตใจของเขาถูกย่ำยีจนแหลกลาญจากความรู้สึกผิด รู้สึกอับอาย ที่ตนทำในสิ่งที่ตนเคยยืนยันว่าจะไม่ทำเช่นนั้น

ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปีที่ผ่านมาในชีวิตของผม   ผมได้พบกับผู้คนที่ทำในสิ่งที่ตนเองมั่นใจว่าจะไม่มีทางทำเช่นนั้น   แต่กลับทำสิ่งนั้นลงไป   หลายคนมั่นใจและตั้งใจแน่วแน่ว่า ชีวิตสมรสของตนจะไม่จบสิ้นด้วยการหย่าร้าง   คนที่เป็นพ่อแม่หลายต่อหลายคนที่สัญญากับตนเองว่า ตนจะไม่เลี้ยงลูกด้วยอารมณ์ร้ายรุนแรง   หลายคนที่ทำงานอย่างตั้งใจสัตย์ซื่อ  และปฏิญาณกับตนเอง สัญญากับพระเจ้า  และบอกกับคนอื่น ๆ ว่า   ไม่มีทางที่ตนจะฉ้อโกง   ผมพบกับคนที่เคยใช้สารเสพติด หรือ ติดแอลกอฮอล์   ที่ตั้งอกตั้งใจอย่างแข็งขันว่า   ครั้งนี้จะเลิกสิ่งเลวร้ายเหล่านี้อย่างแน่นอน   แต่ก็ต้องกลับไปเสพไปดื่มอีก   เขาต้องกลับไปติดกับดักเดิม ๆ  สุขภาพเสื่อมโทรม   ทำให้คนรอบข้าง “อกแตกใจสลาย”

ไม่ใช่คริสตชนทุกคนที่เป็นเช่นที่กล่าวมาแล้ว   แต่ในชีวิตของผมก็พบคริสตชนมากมายที่มีชีวิตที่ทำในสิ่งที่ตนเองตั้งใจจะไม่ทำ   ทำในสิ่งที่ตนเองมั่นใจว่า ตนจะไม่มีทางทำเช่นนั้น   แต่ก็ได้ทำลงไปแล้ว   เพียงแต่ว่า  แต่ละคนทำในสิ่งที่แตกต่างกันออกไปเท่านั้น   ไม่ว่าคนนั้นจะมีตำแหน่งสูงในองค์กรคริสตชน หรือ เป็นพระใน ศาสนจักร   และพบความจริงว่า  หลายคนนักที่ทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ตนตั้งใจ   ทำในสิ่งที่ตนคิดว่าไม่มีทางที่ตนจะทำเช่นนั้น  

ผู้นำในองค์กรคริสตชนหลายคนบอกว่า  เขาไม่มีทางที่จะคิดคดกระทำฉ้อฉล   แต่มาพบอีกทีกลับเห็นว่าตนได้ทำลงไปแล้ว   หลายคนบอกว่า เขาไม่ได้ติดยึดอยู่กับตำแหน่ง   แต่เมื่อให้ลงจากตำแหน่งนั้น กลับมีอาการต่อต้าน กระฟัดกระเฟียด  ต่อลองขออยู่ต่ออีกปีได้ไหม?   เกือบทุกคนในกลุ่มนี้ยืนยันมั่นเหมาะแข็งขันว่า   ตนขึ้นมาทำงานในตำแหน่งนี้มิใช่เพื่อ “เงิน”   แต่เพื่อ “พระเจ้า”   แต่เมื่อขอให้ลงจากตำแหน่งนี้กลับคร่ำครวญว่า ช่วงนี้ตนยังจะต้องใช้เงินในการผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ล่งลูกเรียน ฯลฯ  องค์กรจะต้องเห็นใจและเข้าใจตน

แต่เรื่องไม่จบแค่นั้น  เพราะเมื่อทำในสิ่งที่ตนคิดว่าตนจะไม่ทำเช่นนั้น   ผลการกระทำเช่นนั้นกลับมีพลังเข้ามาเกาะกุมรั้งยึดความรู้สึกผิดของคน ๆ นั้น  ลึก ๆ เกิดความรู้สึกอับอายตนเองที่ทำเช่นนั้นลงไป   และคน ๆ นั้นก็ตอบสนองด้วยการหลบลี้หนีหน้า   ทำตัวห่างออกไป  เกิดช่องว่างความสัมพันธ์ในชีวิต   อาการเช่นนี้คน ๆ นั้นก็ทำกับพระเจ้าด้วย   แต่การที่เรา “ออกห่าง ถ่างถอย” ไกลจากพระเจ้ามิได้ทำให้เราหลุดรอดจากการกระหน่ำซ้ำเติมจากความรู้สึกอับอายในตนเอง   แต่กลับทำให้เราเห็นชัดว่า  ชีวิตของตน “แปดเปื้อนและน่าอับอาย ด้อยค่า”

เรื่องในพระกิตติคุณมิได้จบ ณ จุดนี้   แต่หลังจากการ “เป็นขึ้นจากความตาย” ของพระคริสต์   ท่ามกลางชีวิตจิตใจที่ฉีกขาดแตกสลายของเปโตร   พระคริสต์ตามหาเปโตร  ฉุดเขาขึ้นจากโคลนตมแห่งความรู้สึกผิด อับอาย สิ้นหวัง ไร้ค่าในชีวิต   พระองค์พลิกฟื้นชีวิตของเปโตรขึ้นใหม่   ให้มีชีวิตที่เป็นขึ้นจากความตายเหมือนพระองค์   ชีวิตที่ฉีกขาด พ่ายแพ้ เป็นโอกาสที่พระคริสต์ทรงเรียกเปโตรใหม่อีกครั้งหนึ่ง   เป็นโอกาสใหม่ที่จะเริ่มต้นใหม่ในชีวิตการเป็นสาวกและรับใช้พระองค์   และนี่คือการเป็นขึ้นจากความตายของเปโตร 

การเป็นขึ้นจากความตายของพระคริสต์   มิเพียงแต่พระองค์อภัยให้แก่เปโตรที่ปฏิเสธพระองค์   แต่ทรงสร้างเขาใหม่จนในที่สุดเป็นผู้นำแนวหน้าในกลุ่มสาวกที่ติดตามพระองค์

ทุกชีวิตที่กำลังติดกับดักของความรู้สึกผิด และ อับอายตนเอง  ที่กระทำในสิ่งที่ไม่คิดว่าตนจะทำเช่นนั้น   ในช่วงเวลานี้เป็นโอกาสใหม่ที่พระคริสต์ให้แก่เรา   โอกาสที่จะเป็นขึ้นใหม่ มีชีวิตใหม่ในพระคริสต์   โอกาสที่เราจะรับใช้พระองค์ด้วยความตั้งใจ สัตย์ซื่อ แต่ครั้งนี้เป็นการขับเคลื่อนชีวิตที่เป็นขึ้นใหม่ภายใต้การครอบครองควบคุมของพระวิญญาณบริสุทธิ์   วันนี้ให้เราเป็นขึ้นจากความตายและรับชีวิตใหม่  โอกาสใหม่ การทรงเรียกใหม่   การรับใช้ใหม่  และพลังชีวิตใหม่จากพระคริสต์


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

04 เมษายน 2560

การรอคอย “เวลาจากเบื้องบน”: คุณธรรมประการหนึ่งของผู้นำคริสตชน

สำหรับคนที่เป็นผู้นำแล้ว “เวลาที่ถูกต้องเหมาะสม” ของแต่ละเรื่องในการนำของเขาเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง

  แล้ว​พระ​ราชา​ตรัส​กับ​ข้าพเจ้า​ว่า “เจ้า​ต้อง​การ​อะไร?
ข้าพ​เจ้า​จึง​อธิษฐาน​ต่อ​พระ​เจ้า​แห่ง​ฟ้า​สวรรค์ (เนหะมีย์ 2:4)

ในพระธรรมตอนนี้ กล่าวถึงเนหะมีย์ทูลเรื่องกำแพงเยรูซาเล็มที่พังทลายแก่กษัตริย์ ​อาร​ทา​เซอร์​ซีส   ขอตั้งข้อสังเกตว่า   พระคัมภีร์บันทึกไว้ชัดเจนว่า   เมื่อเนหะมีย์รู้เรื่องราวกำแพงเมืองเยรูซาเล็มที่พังทลายมิได้ทูลขอความช่วยเหลือจากพระราชาทันที    แต่สิ่งแรกที่เนหะมีย์ทำคืออธิษฐานต่อพระเจ้า   นักวิชาการทางพระคัมภีร์ชี้ไว้ว่า   จากเวลาที่เขารู้เรื่องกำแพงเยรูซาเล็มพังถึงเวลาที่เขาทูลเรื่องนี้แก่พระราชาห่างกันประมาณ 4 เดือน

ทำไมเนหะมีย์ถึงเสียเวลารอตั้ง 4 เดือน?   ทำไมเขาถึงไม่รีบทูลเรื่องนี้แก่พระราชาทันที   เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องคอขาดบาดตายสำหรับ “นครของพระเจ้า”?   แล้วจะได้รีบลงมือจัดการสร้างกำแพงขึ้นใหม่?

“เวลาที่ถูกต้องเหมาะสม” เป็นเรื่องสำคัญมากเรื่องหนึ่งของบรรดาผู้นำมืออาชีพ!   ที่แตกต่างกันอยู่ที่ผู้นำมืออาชีพเหล่านั้นมีวิธีอะไรบ้างที่จะรู้ว่าเวลาใดที่ถูกต้องเหมาะสม   ซึ่งผู้นำแต่ละคนเลือกใช้ที่แตกต่างกันไป   อีกประการหนึ่ง แต่ละคนย่อมมีความ “อดทน” ที่จะรอคอยให้ถึงเวลาที่ถูกต้องเหมาะสมที่ไม่เท่ากัน 

มีบางหลักเกณฑ์ที่ผู้นำมืออาชีพใช้ในการพิจารณาตัดสินเลือก “เวลาที่ถูกต้องเหมาะสม” ในการจัดการเหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ใดโดยทั่วไปเช่น...

  1. ผู้นำมีภาระใจ หรือ เห็นว่าตนมีความรับผิดชอบในเหตุการณ์นั้นหรือไม่? แค่ไหน?
  2. ผู้นำมีเป้าหมายปลายทางในการเข้าไปจัดการให้เหตุการณ์นั้นที่ชัดเจนหรือไม่? แค่ไหน?
  3. ผู้นำรู้สึกว่าตนมีความพร้อม  ศักยภาพ ความสามารถ  และพลังที่จะจัดการให้สำเร็จหรือไม่
  4. ในเรื่องของเนหะมีย์   เขาต้องประเมินให้ดีว่า  ในช่วงเวลานั้น ๆ จิตใจ อารมณ์ของพระราชาเป็นอย่างไรบ้าง?   พร้อมที่จะรับรู้ หนุนเสริม หรือ กำลังวุ่นวายใจ หรือ อารมณ์เสีย
  5. ความสัมพันธ์ระหว่างเนหะมีย์ กับพระราชา  เหนียวแน่นลึกซึ้งพอที่จะปรึกษาและขอความช่วยเหลือได้ไหม?   มีความไว้วางใจต่อกันมากน้อยแค่ไหน?
  6. สภาพแวดล้อม เช่น  อากาศ  ฤดูกาลใดที่เอื้ออำนวยต่อการจัดการเดินทางกลับไปสร้างกำแพงกรุงเยรูซาเล็มขึ้นใหม่น่าจะเป็นช่วงเวลาใด?
    แต่สำหรับเนหะมีย์แล้ว   ประการหลักประการสำคัญคือ ประการที่ 7 ...
  7. เนหะมีย์เริ่มแสวงหา “เวลาที่สำคัญเหมาะสม” สำหรับเรื่องกำแพงเมืองเยรูซาเล็มด้วยการ อธิษฐาน  เขาใช้เวลาอธิษฐานในเรื่องนี้เป็นเวลาประมาณ 4 เดือนก่อนที่เขาจะเข้าพบพระราชและทูลเรื่องนี้ต่อพระองค์


ขอตั้งข้อสังเกตว่า   ในช่วงเวลา 4 เดือน ที่เนหะมีย์มุ่งมั่นในการอธิษฐานต่อพระเจ้า  เขามีโอกาสใคร่ครวญถึงรายละเอียดของ เวลา ความพร้อม ความสำคัญ และความเหมาะสม ของการจะดำเนินการในเรื่องกำแพงเมืองเยรูซาเล็ม ทั้ง 6 ประการที่กล่าวข้างต้น   ผ่านการใคร่ครวญอธิษฐานต่อพระเจ้า   นั่นหมายความว่า  เมื่ออธิษฐานต่อพระเจ้า  พระองค์จะทรงค่อย ๆ เปิดเผยถึง “เวลาที่สำคัญและเหมาะสม” ในเรื่องนี้แก่เนหะมีย์   แม้แต่เมื่อพระราชาเอ่ยปากถามถึงเรื่องนี้ว่าจะจัดการอย่างไร?   เนหะมีย์มิได้ตอบทันที   แต่เขาอธิษฐานต่อพระเจ้า   ก่อนที่จะทูลพระราชา

เนหะมีย์ตระหนักชัดว่า   เขามีภาระใจในงานนี้   แต่งานนี้เป็นแผนการของพระเจ้า   ดังนั้น เขาจึงขอความชัดเจนจากพระองค์   เพื่อว่าสิ่งที่เขาจะดำเนินการในเรื่องนี้มิใช่เป็นแผนการของเขาเอง   แต่เป็นแผนการของพระเจ้า   ที่เขาเข้าร่วมในพระราชกิจครั้งสำคัญนี้   ดังนั้น  “เวลาที่สำคัญและเหมาะสม” สำหรับการดำเนินการเรื่องนี้ในแต่ละขั้นตอนต้องมาจากเบื้องบน  

การที่เราจะรู้ว่าเวลาใดที่เป็น เวลาสำคัญเหมาะสมที่เป็น “เวลาของเบื้องบน” นั้น   คุณธรรมประการหนึ่งที่ผู้นำคริสตชนจะต้องมีคือ “การรอคอย”   บ่อยครั้งที่เราอดใจไม่ไหว  รอคอยต่อไปไม่ได้แล้ว   เพราะเราคิดว่า “เราทำได้”?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499