31 พฤษภาคม 2556

พระคริสต์ทำลายกำแพงแห่งความเกลียดชังอย่างไร?

อ่าน เอเฟซัส 2:14-18

14เพราะพระองค์เองทรงเป็นสันติสุข(สันติภาพ)ของเรา   ผู้ทรงทำให้สองพวกกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน  และทรงทำลายสิ่งกีดขวางคือกำแพงแห่งความเกลียดชังที่กีดกั้นลง  

15โดยทรงล้มเลิกบทบัญญัติทั้งหมดของชาวยิว  ซึ่งประกอบด้วยข้อบังคับและกฎระเบียบต่างๆด้วยพระกายของพระองค์   จุดประสงค์ของพระองค์คือเพื่อยุบสองฝ่ายและสร้างขึ้นใหม่เป็นหนึ่งเดียวในพระองค์   เช่นนั้นแหละจึงทรงทำให้มีสันติสุข  

16และในกายเดียวกันนี้ทั้งสองพวกจึงกลับคืนดีกับพระเจ้าโดยทางกางเขน   ซึ่งพระองค์ใช้ทำลายความเป็นศัตรูกันให้หมดสิ้นไป  (ข้อ 14-16  อมตธรรม ในวงเล็บ มตฐ)

ครั้งก่อนเราได้ใคร่ครวญพระวจนะในตอนนี้  เราเห็นว่า พระคริสต์ทรงทำลายกำแพงความเกลียดชังที่แบ่งแยกยิวออกจากคนต่างชาติ   พระองค์ทรงสร้างสันติภาพขึ้นระหว่างคนทั้งสองกลุ่มเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างมีสันติสุขเป็นหนึ่งเดียวกัน   แล้วพระคริสต์ทรงทำลายกำแพงแห่งความรังเกียจเดียดฉันท์ที่สร้างความแบ่งแยกดังกล่าวอย่างไร?

เอเฟซัส 2:15 ได้อธิบายไว้ว่า   พระคริสต์ทรงทำลายกำแพงนี้  “โดยการล้มเลิกบทบัญญัติทั้งหมดของชาวยิว   ซึ่งประกอบด้วยข้อบังคับและระเบียบต่างๆ ด้วยพระกายของพระองค์”  “พระกายของพระองค์”  ในที่นี้มุ่งหมายชี้ถึงพระวรกายของพระคริสต์ที่ถูกตรึงบนกางเขน    ในจดหมายที่เปาโลเขียนถึงคริสตจักรในโคโลสีได้กล่าวไว้ว่า  “ครั้งหนึ่งพวกท่านเคยแยกขาดจากพระเจ้า   และเป็นศัตรูกับพระองค์อยู่ในใจเพราะพฤติกรรมชั่วของท่าน   แต่บัดนี้ทรงให้ท่านคืนดีกับพระองค์โดยการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์   เพื่อถวายท่านให้เป็นผู้บริสุทธิ์   ปราศจากตำหนิ   และพ้นจากข้อกล่าวหาต่อหน้าพระองค์” (อมตธรรม)   การสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์ได้เข้ามาแทนที่การที่จะต้องกระทำตามบทบัญญัติ(ซึ่งเราทำไม่ได้ครบทั้งหมด)   แล้วยกเลิกข้อบังคับและและระเบียบต่างๆ เหล่านั้น

แล้วบทบัญญัติถูกล้มเลิกเพื่อเป็นการทำลายกำแพงแห่งความเกลียดชังแบ่งแยกคนยิวและคนต่างชาติลงได้อย่างไร?   อย่างที่รู้ว่า พวกยิวเชื่อว่าพวกตนเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงความสัมพันธ์กับพระเจ้าองค์เที่ยงแท้ด้วยการรักษาการดำเนินชีวิตตามบทบัญญัติ    บทบัญญัติเป็นเครื่องชี้ถึงความเป็นชนชาติพิเศษของยิวและเป็นตัวยืนยันถึงความรอดของพวกเขา   ยิ่งกว่านั้น  ในการข้องเกี่ยวกับคนต่างชาติ ยิวบางพวกยังมองว่าบทบัญญัติคือตัวแบ่งแยกกีดกันพวกเขาจากคนต่างชาติอย่างไม่ต้องอธิบาย    โดยบทบัญญัติที่ป้องกันไม่ให้ยิวไปแวะเวียนเกี่ยวข้องกับคนต่างชาติเพราะจะทำให้พวกเขาเป็นมลทิน   บทบัญญัติเป็นตัวทำให้เกิดการแบ่งแยกกีดกัน   ทำให้พวกยิวไม่สบายใจหรือไม่สู้เต็มใจที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในสังคมของพวกโรมัน   รวมถึงการที่ต้องมีส่วนร่วมหรือรับรู้ถึงการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องการการบูชาเทพเจ้าของพวกต่างชาติด้วย  

พระเยซูคริสต์ได้ทรงเปิดช่องทางใหม่ที่ไปถึงความรอด   เป็นวิถีทางใหม่สำหรับทุกผู้ทุกคนที่เข้ามีความสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้าได้   ทุกคนตกอยู่ใต้อำนาจของความบาปชั่ว   ซึ่งก็รวมถึงคนยิวและคนต่างชาติทุกคน   และทุกคนได้รับการช่วยกู้ให้หลุดรอดออกจากอำนาจแห่งความบาปชั่วด้วยพระคุณของพระเจ้าที่ให้ผ่านทางพระเยซูคริสต์   ดังนั้น  โดยทางบทบัญญัติจึงไม่สามารถที่จะรับประกันว่าพวกยิวจะสามารถมีความสัมพันธ์กับพระเจ้าได้    และกำแพงแห่งการแบ่งแยกและเกลียดชังตามบทบัญญัติของยิวไม่สมารถที่จะแบ่งแยกยิวออกจากพวกต่างชาติได้   เพราะทั้งยิวและต่างชาติต่างตกอยู่ใต้อำนาจแห่งความบาปผิด

เมื่อเราได้พิจารณาถึงพระธรรมเอเฟซัสและการดำเนินชีวิตของคริสตชนในปัจจุบันนี้   สร้างความรู้สึกเศร้าใจที่เราคริสตชนหลายต่อหลายคนได้ช่วยกันสร้างกำแพงแห่งการกีดกัน แบ่งแยก ตีตราระหว่างคริสตชนกับผู้ที่ไม่ได้เป็นคริสตชน   ที่ก่อขึ้นจากอิฐแห่งการกีดกันเดียดฉันทางจริยธรรม และ ซีเมนต์แห่งกฏระเบียบปฏิบัติต่างๆ   เราดูหมิ่นดูแคลนคนที่กระทำศาสนพิธีและการนมัสการที่แตกต่างจากเรา   หรือคนที่เราตัดสินตีตราว่ากระทำความบาปผิด  เช่น  คนที่ไปรับเชื้อเอชไอวีมาว่าเป็นคนที่ประพฤติผิดทางเพศ   คนที่เสพสารเสพติด   ทัศนคติหรือมุมมองของเราที่พิพากษาตีตราคนอื่นแบบนี้ได้ขับไล่ผลักดันเราให้ออกจากพระคุณของพระเจ้าที่ทรงประทานให้ทุกคนทางพระเยซูคริสต์ในชีวิตประจำวัน

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญ

1. ท่านได้ก่อกำแพงขึ้นในชีวิตของท่านที่ทำให้ท่านแยกจากคนที่ต้องการพระคุณของพระเจ้าหรือไม่?
2. ท่านต้องการให้พระคริสต์ช่วยทำลายกำแพงแห่งความรังเกียจเดียดฉันท์เรื่องอะไรบ้าง   ในคริสตจักรของท่าน?   ในครอบครัวของท่าน?   และในกลุ่มเพื่อนฝูงของท่าน?

ใคร่ครวญภาวนา

พระเยซูคริสต์  องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์

ขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงให้ชีวิตของพระองค์เป็นเส้นทางที่ข้าพระองค์จะเข้าถึงความรอดหลุดพ้นแทนการทำตามบทบัญญัติ และ ข้อปฏิบัติต่างๆ   ด้วยการกระทำดีด้วยตนเองที่สิ้นหวัง   แต่ด้วยพระคุณของพระองค์ที่เป็นจริงและสำเร็จได้    ขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงพังทลายกำแพงแห่งความเกลียดชังระหว่างยิวและคนต่างชาติลงอย่างราบคาบด้วยการยอมสละพระชนม์ชีพของพระองค์บนกางเขน   ขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงประทานชีวิตที่ได้รับการหลุดรอดจากอำนาจบาปชั่ว ด้วยการที่พระองค์ยอมให้ชีวิตของพระองค์สำหรับข้าพระองค์ทั้งหลาย    มิเพียงแต่เพื่อข้าพระองค์จะได้คืนดีกับพระองค์เท่านั้น   แต่เพื่อข้าพระองค์จะได้คืนดีกับเพื่อนมนุษย์ของข้าพระองค์ด้วย

ขอโปรดช่วยข้าพระองค์  อย่าได้สร้างเสริมกำแพงชีวิตขึ้นใหม่ที่ขวางกั้นคนอื่นจากพระคุณของพระองค์   โปรดปลดปล่อยข้าพระองค์จากการตกใต้อำนาจของการที่เป็นคนชอบตัดสินตีตราคนอื่น   โปรดให้สัมพันธภาพในชีวิตทั้งหมดของข้าพระองค์ได้สำแดงพระคุณและพระเมตตาของพระองค์   ดำเนินชีวิตด้วยการมอบกายถวายชีวิตเพื่อเห็นแก่เพื่อนมนุษย์  เฉกเช่นที่พระองค์มีชีวิตและสละพระชนม์ชีพเพื่อข้าพระองค์   อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com

081-2894499

29 พฤษภาคม 2556

รื้อกำแพงแห่งความเกลียดชัง

อ่าน เอเฟซัส 2:14-18

14เพราะพระองค์เองทรงเป็นสันติสุข(สันติภาพ)ของเรา   ผู้ทรงทำให้สองพวกกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน  และทรงทำลายสิ่งกีดขวางคือกำแพงแห่งความเกลียดชังที่กีดกั้นลง  

15โดยทรงล้มเลิกบทบัญญัติทั้งหมดของชาวยิว  ซึ่งประกอบด้วยข้อบังคับและกฎระเบียบต่างๆด้วยพระกายของพระองค์   จุดประสงค์ของพระองค์คือเพื่อยุบสองฝ่ายและสร้างขึ้นใหม่เป็นหนึ่งเดียวในพระองค์   เช่นนั้นแหละจึงทรงทำให้มีสันติสุข  

16และในกายเดียวกันนี้ทั้งสองพวกจึงกลับคืนดีกับพระเจ้าโดยทางกางเขน   ซึ่งพระองค์ใช้ทำลายความเป็นศัตรูกันให้หมดสิ้นไป  (ข้อ 14-16  อมตธรรม ในวงเล็บ มตฐ)

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 1987   เราท่านได้ชมข่าวทางโทรทัศน์ถึงการทุบกำแพงเบอลินที่ขวางกั้นแบ่งแยกระหว่างเยอรมันตะวันออกจากตะวันตก   ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาได้กล่าวต่อหน้าฝูงชนกว่า 40,000 คนที่อยู่ที่นั่น   และประธานาธิบดีกอร์บาชอฟ และ ประธานธิบดีเรแกนประกาศว่า  “ให้พังทลายกำแพงนี้ลง!

พระเยซูคริสต์เสด็จมากระทำให้เกิดสันติภาพระหว่างพวกยิวและพวกต่างชาติ   พระองค์จึงต้องทำลายกำแพงที่ขวางกั้นระหว่างคนสองพวกนี้ลง   ตามที่เขียนไว้ในพระธรรมเอเฟซัส 2:14 ว่า  พระคริสต์ “ทรงทำลายสิ่งกีดขวางคือกำแพงแห่งความเกลียดชังที่กีดกั้นลง”      จริงๆ แล้วกำแพงที่พระคริสต์ทรงทำลายลงนั้นเป็นกำแพงที่กีดขวางกั้นอะไรกันแน่?  

นักพระคัมภีร์มองในสองความหมายที่ต่อเนื่องกัน

ในความหมายแรก   สิ่งที่เป็นกำแพงขวางกั้นในที่นี้หมายถึงการแบ่งแยกพื้นที่ในพระมหาวิหารของยิว   ซึ่งแบ่งแยกชัดเจนว่าพื้นที่ใดสำหรับพวกยิวเท่านั้น   คนที่ไม่ใช่ยิวห้ามเข้าเด็ดขาด   ถ้าขืนเข้ามาด้วยความตั้งใจหรือพลั้งเผลอก็ตามจะต้องถูกนำไปเอาหินขว้างให้ตายตามบทบัญญัติของโมเสส   คนที่ไม่ใช่ยิวเมื่อมาที่พระมหาวิหารจะต้องอยู่ในพื้นที่สำหรับคนต่างชาติเท่านั้น   ในที่นี้ชี้ให้เห็นว่า “กำแพง” ที่ว่านี้เป็นพลังแห่งการแบ่งแยกอย่างรุนแรงในความเป็นยิวและคนต่างชาติ   รุนแรงถึงขนาดคอขาดบาดตายเลยทีเดียว   แรงยิ่งกว่านั้นเป็นการที่พวกยิวกีดกันขัดขวางไม่ให้คนต่างชาติเข้าถึงพระเจ้า

ในอีกความหมายหนึ่ง  คำกล่าวถึงกำแพงที่แบ่งแยกความเป็นยิวกับความเป็นคนต่างชาตินี้เป็นการกล่าวอ้างบ่งชี้ถึง โทราห์ บทบัญญัติของพวกยิว   นักเขียนยิวท่านหนึ่งเขียนถึงความจริงในเรื่องนี้ว่า  โมเสสเป็นผู้ที่ตั้งรั้วรอบขอบชิดเพื่อปกป้องความเป็นยิว เป็นปราการที่ยากจะรื้อพังทลายลงได้   เป็นกฎเหล็กเป็นกำแพงเหล็กที่ปกป้องรักษาไม่ให้คนยิวต้องมลทินด่างพร้อยจากพวกคนต่างชาติ (Letter of Aristear 139).

ความจริงปรากฏว่า การแบ่งแยก  การกีดกัน  การขวางกั้นมิได้เป็นเพียงกำแพงการแบ่งพื้นที่พระมหาวิหารในบทบัญญัติของโมเสส เท่านั้น   แต่กลับซึมลึกหยั่งรากเกาะยึดในจิตใจ  จิตสำนึก  และจิตวิญญาณของยิวด้วย   กลายเป็นการเหยียดเผ่าพันธุ์   เกลียดชัง  ไม่คบค้าพูดคุยด้วยถ้าไม่จำเป็น  จนมีใจที่เป็นปรปักษ์เป็นศัตรูกัน

พระธรรมเอเฟซัสตอนนี้กล่าวว่า

15...(พระเยซูคริสต์)ทรงล้มเลิกบทบัญญัติทั้งหมดของชาวยิว  ซึ่งประกอบด้วยข้อบังคับและกฎระเบียบต่างๆ ด้วยพระกายของพระองค์   จุดประสงค์ของพระองค์คือเพื่อยุบสองฝ่ายและสร้างขึ้นใหม่เป็นหนึ่งเดียวในพระองค์   เช่นนั้นแหละจึงทรงทำให้มีสันติสุข  

16และในกายเดียวกันนี้ทั้งสองพวกจึงกลับคืนดีกับพระเจ้าโดยทางกางเขน   ซึ่งพระองค์ใช้ทำลายความเป็นศัตรูกันให้หมดสิ้นไป

จึงเกิดชุมชนสาวกของพระคริสต์   รวมตัวขึ้นเรียกตนเองว่าคริสตจักร  เป็นชุมชนของสาวกพระคริสต์ที่มิถูกจำกัดด้วยเผ่าพันธุ์แต่เป็นชุมชนสาวกพระคริสต์จากมนุษยชาติ    เวลาผ่านไปจนถึงปัจจุบัน  พวกเราในประเทศไทย  เกิดคำถามที่ท้าชวนเราต้องกลับมามองชุมชนคริสตจักรไทยเองว่า   อะไรเป็น “กำแพง” ที่กีดกัน  ขวางกั้นเราออกจากคริสตชนคนอื่นๆ บ้างในปัจจุบัน   ตั้งแต่วัย  สถานภาพทางสังคม  เศรษฐกิจ  วัฒนธรรม   ชาติพันธุ์  สติปัญญา   ความคิดที่แตกต่าง   โลกทัศน์ที่ไม่เหมือนกัน   ชีวะทัศน์คนละแนว   ศาสนศาสตร์คนละค่าย   เป็นคนละพวกคนละพรรคการเมืองในคริสตจักร  มาจากต่างลัทธินิกายทั้งๆ ที่มีพระคริสต์องค์เดียวกัน   เลือกที่จะเป็นมิตรหรือสนิทกับคนที่เราชอบเท่านั้น

สิ่งที่คริสตจักรมิได้ตระหนักและรู้เท่าทันตนเองในพฤติกรรมนี้คือ   คริสตจักรกำลังกีดกันและปิดกั้นมิให้ผู้คนเข้าถึงพระคริสต์   และปิดตนเองจากน้ำพระทัยของพระองค์ด้วย   เพราะพระคริสต์ทรงทำลายกำแพงเหล่านั้นลงด้วยพระชนม์ชีพของพระองค์    แต่คริสตชนปัจจุบันกำลังก่อกำแพงในจิตใจขึ้นใหม่   มิเพียงกีดกันคนอื่นจากตนเท่านั้น   แต่ขวางกั้นพระคริสต์จากชีวิตตนเองด้วย

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญ

1. ท่านเคยมีประสบการณ์ หรือ พบเห็นการรื้อกำแพงแห่งความเกลียดชังกันลงบ้างหรือไม่?   เรื่องอะไร?  เมื่อใด?

2. ในชีวิตของท่านเองปัจจุบันนี้   ยังมี “กำแพงแห่งความเกลียดชัง” ในชีวิตจิตใจอะไรบ้างที่ท่านต้องการขอให้พระคริสต์ทรงช่วยรื้อทำลายกำแพงนั้นลง?

3. ถ้าพระคริสต์ทรงรื้อทำลายกำแพงในชีวิตจิตใจของท่านลงแล้ว   ท่านคิดว่าท่านควรจะดำเนินชีวิตแบบไหนเช่นไรต่อไป?

ภาวนาใคร่ครวญ

พระเยซูคริสต์  องค์พระผู้เจ้าของข้าพระองค์ทั้งหลาย ผู้เปี่ยมด้วยพระทัยเมตตากรุณา

ขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงรื้อทำลายกำแพงแห่งความเกลียดชังเดียดฉันท์ระหว่างพวกยิวและคนต่างชาติลง   และขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงรื้อกำแพงแห่งความเกลียดชังในปัจจุบันลงด้วย   กำแพงที่ขวางกั้นตนเองจากคนอื่น  เช่น จากคนในครอบครัว  จากเพื่อนร่วมงาน   จากชาติพันธุ์ที่มาอยู่ทำกินและทำงานในชุมชน   จากการที่เป็นคนในคนละพรรคคนละพวก  คนละสี   แบ่งแยกกีดกันกันเพราะคนละประเทศ   ข้าแต่พระเจ้ายังมีลักษณะการแบ่งแยกอื่นๆ อีกมากมาย   และความจริงก็คือว่า  กำแพงเดียวกันนี้ก็กีดกั้นตัวข้าพระองค์เองจากพระองค์ด้วย

ด้วยจิตใจที่ขวางกั้นจากกำแพงแห่งความเกลียดชังนี้เอง   ที่ทวีแรงแห่งความเกลียดชังและความรุนแรง   โปรดเมตตาข้าพระองค์ด้วยพระองค์เจ้าข้า   ขอทรงรื้อถอนกำแพงเหล่านั้นที่กั้นข้าพระองค์ไว้ออกไป   และโปรดสร้างข้าพระองค์ขึ้นใหม่   เพื่อพระองค์จะทรงใช้ข้าพระองค์ในพระราชกิจของพระองค์   ในการเสริมสร้างสันติภาพในคริสตจักรเพื่อเกิดสันติสุขในชุมชนนี้   และถ้าเป็นน้ำพระทัยของพระองค์   ข้าพระองค์ขอน้อมรับเข้าร่วมในกระบวนการรื้อถอนกำแพงแห่งความเกลียดชังในพระราชกิจของพระองค์ในโลกนี้   ด้วยการทรงนำจากพระองค์ และ พระกำลังหนุนเสริมจากพระวิญญาณบริสุทธิ์   อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com

081-2894499

27 พฤษภาคม 2556

คริสตชน...ที่มักได้ เห็นแก่ตัว?

อ่าน ยอห์น 6:22-27

เมื่อพวกเขาพบพระองค์ที่ฝั่งทะเลสาบข้างโน้นแล้ว   เขาทูลพระองค์ว่า

“ท่านอาจารย์   ท่านมาที่นี่เมื่อไหร่?”   พระเยซูตอบเขาว่า

“เราบอกความจริงกับพวกท่านว่า   ท่านตามหาเราไม่ใช่เพราะเห็นหมายสำคัญ   แต่เพราะได้กินขนมปังอิ่ม   อย่าทำงานเพื่อแสวงหาอาหารที่เสื่อมสูญได้   แต่จงแสวงหาอาหารที่คงทนอยู่จนถึงชีวิตนิรันดร์   ซึ่งบุตรมนุษย์จะมอบให้กับพวกท่าน...”   (ข้อ 25-27 มตฐ.)

อะไรที่สำคัญกว่ากันสำหรับท่าน

พระเยซูคริสต์เป็นใคร?   กับ   พระคริสต์ทำอะไรเพื่อท่านได้บ้าง?

สิ่งที่น่ากลัวก็คือ  คริสตชนในปัจจุบันจำนวนมากมายสนใจแต่ว่าพระเยซูคริสต์สามารถทำหรือให้อะไรแก่เรามากกว่าที่จะสนใจรู้ว่าพระองค์เป็นผู้ใด?

ประเด็นนี้มิใช่ปรากฏการณ์ใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยของเรา   พระเยซูพบกับปัญหานี้ในยุคที่พระองค์ทรงกระทำพระราชกิจบนแผ่นดินโลกนี้   ส่วนมากแล้วประชาชนแสวงหาพระเยซูคริสต์โดยคาดหวังพระองค์จะทรงกระทำบางสิ่งบางประการเพื่อพวกเขา   ซึ่งความต้องการเหล่านี้หลายเรื่องเป็นสิ่งที่ดูเหมือนว่าไม่น่าจะเป็นการผิด   แต่พระคริสต์ทรงรู้ซึ้งถึงเจตนา และ แรงจูงใจของพวกเขา

มีเส้นแบ่งที่เล็กบางเฉียบเฉกเช่นเส้นผม  ระหว่างความเห็นแก่ตัวของเราที่พยายามที่จะใช้ให้องค์พระผู้เป็นเจ้าทำบางสิ่งที่เราต้องการกับการที่เราเข้าเฝ้าพระองค์ด้วยใจถ่อมเพื่อทูลขอพระองค์ในเรื่องที่จำเป็นสำหรับเราและในเรื่องที่เราต้องสู้เผชิญอยู่    บ่อยครั้งเรานำบางเรื่องบางประเด็นเข้าทูลต่อพระเยซูคริสต์ด้วยความรีบร้อน รีบด่วนในความคิดของเรา   และเราปรารถนาที่จะเร่งเร้าให้พระองค์จัดการกับเรื่องดังกล่าวในวิถีทางที่เราต้องการมากกว่าที่เราจะเต็มใจและไว้ใจมอบเรื่องดังกล่าวให้เป็นไปตามน้ำพระทัยของพระองค์   ในเวลาเช่นนั้นสิ่งที่เราเรียกว่า “ความเชื่อ” แท้จริงแล้วเป็นวิญญาณแห่งการเรียกร้องต้องการตามใจของเรา

เราจำเป็นต้องตระหนักไว้เสมอว่า  ความจำเป็นต้องการของเรามีวันสิ้นสุด   แต่พระคริสต์ทรงเป็นอยู่เสมอตลอดไปเป็นนิตย์   ถ้าการอธิษฐานของเรามีแต่ทูลขอเรียกร้องสิ่งที่เราต้องการต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า   เราได้สูญเสียโอกาสสำคัญยิ่งใหญ่ที่เราจะรู้จักองค์พระผู้เป็นเจ้า   ที่เราจะมีชีวิตที่ครบบริบูรณ์นิรันดร์ในพระองค์   ให้เราใช้เวลาในการติดตามหาความใกล้ชิดติดสนิทกับพระคริสต์   เพื่อว่าเราจะสามารถมีความชื่นชมยินดีจากสัมพันธภาพที่เรามีในพระองค์แต่ละวันและตลอดไป

แต่ละวัน   เราได้อุทิศทุ่มเทเวลามากน้อยแค่ไหนในการติดสนิทใกล้ชิดกับพระองค์   ขึ้นอยู่กับเจตนาความตั้งใจ  และแรงจูงใจของเราแต่ละคน   ในแต่ละวันเรามีเวลาที่จะรู้จักพระองค์สักแค่ไหน?   พระเจ้าทรงยินดีเมื่อลูกของพระองค์อธิษฐานต่อพระองค์   และทูลทุกเรื่องราวต่อพระองค์   แต่เราคงต้องรู้เท่าทันตนเองว่า  เมื่อเราทูลอธิษฐานต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าเรามีเจตนา  แรงจูงใจ  สิ่งกระตุ้นอะไร  และมีความตั้งใจลึกๆ อย่างไร   เพราะพระองค์ทรงสดับฟังคำร้องทูลอธิษฐานของเราและในเวลาเดียวกัน พระองค์ทอดพระเนตรลงในส่วนลึกแห่งจิตใจ  แรงกระตุ้นต้องการ   และเจตนาจูงใจของการร้องทูลของเราในทุกเรื่อง  

...  ผมถามตนเองว่า ถ้าเราไม่มีสิ่งต้องการจำเป็นแล้ว   เรายังจะอธิษฐานทูลต่อพระองค์หรือไม่?

แท้จริงแล้ว  องค์พระผู้เป็นเจ้ามีพระประสงค์ให้เราเข้าใกล้ชิดพระองค์เพื่อที่จะมีเวลาแห่งความปีติสุขร่วมกับพระองค์ด้วย

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com

081-2894499

24 พฤษภาคม 2556

คริสตจักร: ชุมชนที่ใส่ใจหนุนเสริมกันและกัน


อ่าน ลูกา 10:25-37

...มีบาเรียนคนหนึ่งยืนขึ้นทดลองพระเยซู  ทูลถามว่า

“อาจารย์เจ้าข้า   ข้าพเจ้าจะต้องทำอะไรเพื่อจะได้ชีวิตนิรันดร์?”   พระองค์ตรัสตอบว่า

“ในธรรมบัญญัติมีคำเขียนว่าอย่างไร?”   เขาทูลตอบว่า

“จงรักพระองค์ผู้เป็นพระเจ้าของเจ้าด้วยสุดจิตสุดใจของเจ้า  ด้วยสุดกำลังและสิ้นสุดความคิดของเจ้า  

 และจงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง”   พระองค์จึงตรัสแก่เขาว่า

“ท่านตอบถูกแล้ว  จงกระทำอย่างนั้นแล้วจะได้ชีวิต”

แต่(บาเรียน)คนนั้นอยากจะพิสูจน์ว่าตนเองถูกต้อง (คือมีชีวิตนิรันดร์)   จึงทูล(ถาม)พระเยซูว่า  “ใครเป็นเพื่อนบ้านของข้าพเจ้า?” (ข้อ 25-29,  มตฐ.,  ตัวเอนจากอมตธรรม, ในวงเล็บของผู้เขียน)   จากนั้นพระเยซูทรงเล่าอุปมาเรื่องชายสะมาเรียผู้มีใจเมตตา   แล้วลงท้ายด้วยคำตรัสของพระเยซูให้บาเรียนคนนั้นกลับไปดำเนินชีวิตอย่างชายสะมาเรียในเรื่องอุปมานั้น

คริสตจักรเป็นชุมชนของคนที่เชื่อศรัทธาในพระคริสต์   มอบกายถวายชีวิตของตนให้เป็นของพระองค์     มีพระประสงค์ของพระเจ้าเป็นเป้าหมายในชีวิตของแต่ละคนและของชุมชนคริสตจักร   และหัวใจของความเป็นคริสตจักรคือ  การที่คนในชุมชนคริสตจักรอยู่เพื่อที่จะรักพระเจ้าด้วยสุดจิตสุดใจ  สิ้นสุดกำลังและสิ้นสุดความคิดของตน   จึงทำให้คนในคริสตจักรรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง   คริสตจักรจึงมีภาระใจและพลังชีวิตที่จะกระทำตามพระมหาบัญชาของพระเยซูคริสต์

คริสตจักร:  ชุมชนที่มีรากฐานตามพระมหาบัญญัตินำสู่พระมหาบัญชา

คนในชุมชนคริสตจักรจะต้องมีพระเจ้าเป็นเอกเป็นใหญ่ที่สุดในชีวิต   รักพระองค์ด้วยความคิดทั้งหมด   ด้วยใจทั้งสิ้น   ถวายชีวิตทั้งชีวิตแด่พระเจ้าเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงและสร้างใหม่จากพระองค์   และผ่านการเสริมสร้างกันและกันตามพระประสงค์ของพระคริสต์ในชุมชนคริสตจักร   เพื่อชีวิตของคนในคริสตจักรแต่ละคนและชุมชนคริสตจักรจะได้รับพลังชีวิตในการรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง   กล่าวคือ ถ้าใครผู้ใดในคริสตจักรมิได้รักพระเจ้าด้วยสุดจิตสุดใจ สิ้นสุดกำลังและความคิดแล้ว   เขาย่อมจะรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเองได้ลำบากยิ่ง   ในทางกลับกันถ้าคนในคริสตจักรหรือชุมชนคริสตจักรใดที่มิได้รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเองก็ส่อสำแดงให้เห็นชัดว่า  คนและชุมชนคริสตจักรนั้นก็มิได้รักพระเจ้าด้วยสุดจิตสุดใจ ด้วยสิ้นสุดกำลังความคิดเช่นกัน

ชุมชนคริสตจักรใดๆ ที่อ้างตัวว่ากระทำตามพระมหาบัญชาของพระเยซูคริสต์จะต้องมีรากฐานชีวิตคริสตชนที่หยั่งรากแข็งแรงมั่นคงและเห็นผลเด่นชัดในการมีชีวิตบนรากฐานพระมหาบัญญัติก่อน   ถ้าคนและชุมชนคริสตจักรใดมิได้มีชีวิตบนรากฐานตามพระมหาบัญญัติ  คือรักพระเจ้าด้วยสุดจิตสุดใจและสิ้นสุดกำลังความคิดทั้งสิ้นของตนและรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเองแล้ว   คนและชุมชนคริสตจักรนั้นจะกระทำตามพระมหาบัญชาได้อย่างไร?   ซึ่งเราพบมิชชันนารีมากมาย  คริสตจักรจำนวนหนึ่งที่มุ่งเน้นประกาศให้ผู้คนรับเชื่อและรับบัพติสมา   แต่ไม่ใส่ใจบ่มเพาะ  ฟูมฟัก  และเสริมสร้างชีวิตของผู้รับบัพติสมาเหล่านั้น   ไม่ใส่ใจชีวิตผู้เชื่อใหม่เหล่านี้ที่จะได้รับการหนุนเสริมจากชุมชนคริสตจักร  และรับการเปลี่ยนแปลงและสร้างใหม่จากพระคริสต์   และนี่เป็นการละเลยกระบวนการสำคัญหนึ่งของการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตในชุมชนแห่งแผ่นดินของพระเจ้า  

แต่ที่คริสตจักรมิได้กระทำเช่นนี้เพราะตัวชุมชนคริสตจักรยังมิได้หยั่งรากลงลึกในการดำเนินชีวิตตามพระมหาบัญญัติ   จึงไม่สามารถหนุนเสริมผู้เชื่อใหม่   และเอื้ออำนวยให้ชีวิตผู้เชื่อใหม่ได้รับการเปลี่ยนแปลงและสร้างใหม่จากพระคริสต์   อาการเช่นนี้บ่งชี้ส่อแสดงว่า   คริสตจักรยังอ่อนแอ  เจ็บป่วย  ขาดกำลัง  ต้องการการเยียวยา  

คริสตจักร:  ชุมชนที่มาพบกันในวันอาทิตย์?

คริสตจักรจึงตกอยู่ในสภาพชีวิตเพียงวันอาทิตย์   ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา   วันอาทิตย์เป็นการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมจากวันปกติมาเป็นบรรยากาศในการนมัสการวันอาทิตย์   สมาชิกมาคริสตจักรเพื่อที่จะรับจะ “บริโภค”   เช่น คิดว่าจะมารับพระพร  รับพระวจนะจากคำเทศนา   รับการปลดปล่อยทางอารมณ์   ละทิ้งความตึงเครียดในชีวิตไว้ชั่วขณะหนึ่ง  ไขว่คว้าหาการหนุนอกชูใจ   หามุมสงบให้กับชีวิตสักพักหนึ่ง   หวังว่าพระเจ้าจะสำแดงทางออกแก่ชีวิตที่ตีบตันในขณะนี้  แสวงหาการพักผ่อน   บ้างมาแสวงรื่นรมกับเสียงเพลง  บ้างต้องการลืมสิ่งที่หนักอกท้อใจตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา   หลายคนต้องการความสบายใจ  และบางคนก็มาคริสตจักรเพื่อหารายได้เสริม

ชีวิต ความนึกคิดของคนและชุมชนคริสตจักรถูกครอบงำด้วยอิทธิพลของกระแสบริโภคนิยม  ผู้คนมาคริสตจักรในวันอาทิตย์เพื่อจะได้  เพื่อจะรับ  เพื่อจะบริโภค   จนคริสตจักรลืมและหมดสภาพชีวิตที่จะเอาใจใส่หนุนเสริมเพิ่มพลังชีวิตแก่กันและกัน  

ทำให้ต้องกลับมาตั้งคำถามพื้นฐานว่า   แล้วผู้คนและชุมชนคริสตจักรยังรักพระเจ้าด้วยสุดจิตสุดใจและสิ้นสุดกำลังความนึกคิดในชีวิตของตนเองอยู่หรือไม่?    และผู้คนและชุมชนคริสตจักรได้เติบโตขึ้นในการที่จะรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเองหรือเปล่า?  และที่คนและชุมชนคริสตจักรออกไปประกาศพระกิตติคุณนั้น  เป็นการกระทำตามพระมหาบัญชาของพระเยซูคริสต์ หรือ เป็นการทำกิจกรรมหนึ่งตาม “อีเวนท์” ที่สร้างขึ้น  เหมือนการทำกิจกรรมอื่นๆ ของคริสตจักร   เพื่อพยายามนำกิจกรรมเหล่านั้นมาถมหลุมความว่างเปล่าในชีวิตของสมาชิกหรือไม่?

“อย่า​หลง​เลย ท่าน​จะ​ล้อ​เล่น​กับ​พระ​เจ้า​ไม่​ได้
เพราะ​ว่า​ใคร​หว่าน​อะไร​ลง ก็​จะ​เก็บ​เกี่ยว​สิ่ง​นั้น” (กาลาเทีย 6:7 มตฐ.)

คงเป็นความจำเป็นที่คริสตชนและชุมชนคริสตจักรจะต้องกลับมาเอาใจใส่ต่อคำสอนของพระเยซูคริสต์ที่ทรงชี้นำแก่บาเรียนผู้มีความรู้ช่ำชองในธรรมพระคัมภีร์และพระบัญญัติ   และนี่เป็นการสอนและชี้นำของพระคริสต์ต่อคริสตชน และ ชุมชนคริสตจักรในปัจจุบันด้วย   แต่ที่ต้องให้ความสนใจคือ  คริสตชนจะมีท่าทีตอบสนองต่อคำสอนและการชี้นำของพระคริสต์อย่างไร?   อย่างบาเรียนคนนั้นไหม?   ถ้าไม่ใช่จะต้องเป็นแบบไหน?

คริสตจักร:  ชุมชนที่ใส่ใจหนุนเสริมกันและกัน

ถ้าการมาร่วมกันในชุมชนคริสตจักรมิใช่เพื่อแสวงหาการตอบสนองต่อความจำเป็นต้องการของตนเองแล้ว   คริสตชนก็ควรมาร่วมในชุมชนคริสตจักรด้วยท่าทีที่มีพระเจ้าทรงเป็นเอกเป็นใหญ่ในชีวิต   แต่ก็มิใช่การยกยอสรรเสริญพระองค์ด้วย “ปาก” และเสียงเพลงเท่านั้น   แต่ด้วยความคิด  ด้วยชีวิต  ด้วยสุดกำลังของเราที่มีพระเจ้ามาก่อนสิ่งอื่นใด   นั่นคือเรามีพระประสงค์ของพระเจ้าเป็นเป้าหมายสูงสุดในชีวิตของเรา   และพระประสงค์ประการหนึ่งของพระเจ้าคือให้เรารักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง  

เพื่อนบ้านที่มิได้จำกัดเฉพาะคนพวกเดียวกัน   สนิทกัน  แต่รวมถึงคนที่เราไม่มีความสัมพันธ์กันมาก่อน   คนหน้าใหม่ในชุมชนคริสตจักร   คนเก่าแก่ในคริสตจักรที่เราไม่คิดจะสนใจ   คนที่เราไม่ค่อยชอบขี้หน้า   คนที่บ้าอำนาจ  คนที่หยิ่งยโสอวดดี   คนที่อยากเด่นดัง   คนที่เคยทำให้เราเจ็บปวดในชีวิต   แล้วให้ความรักที่เรามีในพระเจ้าที่หนุนเนื่องให้เรารักเพื่อนบ้านนั้นทะลุออกนอกกรอบ นอกรั้วของชุมชนคริสตจักร   เข้าไปในชุมชน  ในครอบครัวของเรา  ในที่ทำงาน  ในกลุ่มเพื่อนฝูงคนสนิทของเรา   

ถ้าเรารักพระเจ้าจริง  ความรักที่มีต่อเพื่อนบ้านก็จะสำแดงเป็นรูปธรรม

ในชีวิตประจำวันของคริสตชนเรามีโอกาสมากมายที่จะรักเพื่อนบ้าน   เราเคยที่จะนั่งลงกับเพื่อนคนหนึ่งในชุมชนคริสตจักร หรือ ในที่ทำงาน   เพื่อที่จะฟังถึงความทุกข์ร้อนยากลำบากในชีวิตด้วยความใส่ใจ   มีโอกาสที่จะรับรู้ถึงความเจ็บปวดในชีวิตของเขาและร่วมอธิษฐานกับเขาต่อพระเจ้าในสถานการณ์ชีวิตนั้น   จนเกิดศานติสุขในชีวิต  แม้ความทุกข์ยากจะยังได้รับการถูกขจัดออกไปหรือไม่ก็ตาม     ท่านได้ให้อ้อมกอดที่เปี่ยมด้วยความรักและอบอุ่นแก่ทารกน้อยที่แม่ต้องนอนป่วยหนักในโรงพยาบาล เมื่อท่านได้ไปเยี่ยมคนในชุมชนหรือไม่?   ท่านมีโอกาสที่จะช่วยกวาดบ้านให้ผู้สูอายุที่ท้ายหมู่บ้าน   ช่วยตักน้ำไว้ในห้องน้ำ   ช่วยรับเขามานมัสการพระเจ้าที่ชุมชนคริสตจักร

การรับใช้คนอื่นด้วยจริงใจก่อนที่จะแสวงหาสิ่งที่ตนเองต้องการจำเป็น  สำแดงออกถึงรูปธรรมของความรักพระเจ้าที่มีในชีวิตของท่าน   นี่เป็นคุณธรรมและคุณภาพชีวิตที่สำคัญในแผ่นดินของพระเจ้า   และเป็นการวางรากฐานที่สำคัญยิ่งในการกระทำตามพระมหาบัญชาของพระคริสต์   และคือรากฐานของชุมชนคริสตจักรที่เอาใจใส่และหนุนเสริมกันและกันในชุมชนคริสตจักรแห่งนั้นๆ

และเราต่างก็เป็นคนหนึ่งและอวัยวะหนึ่งในชุมชนคริสตจักรที่มีพระคริสต์เป็นศีรษะครับ


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

22 พฤษภาคม 2556

ช่วยคนทุกข์ยาก ขัดสนอย่างไรดี?


อ่านพระกิตติคุณลูกา 6:32-36

ในเมืองเชียงใหม่   เดี๋ยวนี้มีคนขายดอกไม้ตามสี่แยกถนนวงแหวนอ้อมเมืองเกือบทุกแห่ง   และส่วนหนึ่งคือการใช้เด็กมาขายดอกไม้ตามที่เหล่านั้น   จนมีป้ายเขียนต่อต้านการกระทำเช่นนั้น   และเชิญชวนผู้คนที่รักเด็กไม่ให้ซื้อดอกไม้จากเด็กขายพวงมาลัยตามสี่แยก 

ตามสะพานลอยมีขอทานอุ้มเด็ก  บางครั้งเด็กบางคนพิการดูน่าสงสาร   เพื่อขอความเมตตาจากผู้คนเดินผ่านไปมา   แต่ก็มีคำเชิญชวนว่าอย่าให้เงินแก่ขอทานอีกเพราะพวกนี้เอาเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานหารายได้  ยิ่งกว่านั้นการกระทำเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการค้าเด็ก

ใช่ครับการกระทำเหล่านี้อาจไม่ถูกต้องไม่สมควรเลยครับ   ไม่น่าส่งเสริม   ต้องหาทางแก้ไขยับยั้ง!

แต่ในระยะหลังนี้ในกลุ่มเพื่อนฝูงทั้งที่เป็นคริสตชนและไม่ได้เป็น   หลายคนบอกว่า เขาจะไม่ให้เงินแก่คนยากจนและขอทานอีกแล้ว   เพราะเป็นการส่งเสริมให้เขายึดการขอทานเป็นอาชีพ   ดีขึ้นมาหน่อยเพื่อนบางคนบอกว่า  ถ้าจะช่วยขอทานหรือคนยากจนอย่าให้เงิน   แต่ให้ซื้ออาหารให้รับประทานดีกว่า

เพื่อนผมคนหนึ่งโพล่งขึ้นมาทันทีว่า   “แล้วคุณจะรู้สึก” 

เขาเล่าว่า ครั้งหนึ่งเขาทำเช่นนี้คือบอกหญิงขอทานที่อุ้มลูกน้อยมาขอเงินจากเขาเมื่อเขากำลังกินก๋วยเตี๋ยวอยู่    เขาบอกหญิงคนนั้นว่า  เขายินดีที่จะให้แต่จะซื้ออาหารให้รับประทาน   หญิงคนนั้นบอกเพื่อนผมว่า   ขอเป็นก๋วยเตี๋ยวหมูไม่เอาก๋วยเตี๋ยวเนื้อวัว   เพื่อนผมคนนั้นเล่าต่อไปว่า  “ฮาเลยบอกว่า  เลือกมากอย่างงั้นไม่ต้องกิน”   ตอนนี้ผมคิดในใจว่า   หญิงคนนั้นอาจจะมีเหตุผลของนางก็ได้   ทำไมเพื่อนผมไม่ถามเขาสักคำ   เพื่อนผมพูดทิ้งท้ายว่า  “เป็นขอทานแล้วยังเรื่องมาก”   ผมคิดค้านว่า  แล้วขอทานไม่ใช่คนหรือ?

เป็นความจริงเช่นกันครับ   ผมได้พบหลายคนที่มีใจอยากจะช่วยคนยากคนจน คนขอทาน   แต่พอทำไปสักระยะเวลาหนึ่งกลับประสบกับความอ่อนใจ  ท้อใจ  และหมดใจที่จะช่วยในที่สุด  

ที่เกิดอาการเช่นนี้เพราะพวกเขาเริ่มต้นให้ด้วยใจกว้างขวางทั้งเงินทอง สิ่งของ และเวลา  ด้วยการคาดหวังการตอบสนองจากคนที่เขาช่วยในบางสิ่ง เช่น  คนยากคนจนคนเล็กน้อยเหล่านี้ที่เขาให้ความช่วยเหลือจะรู้สึกในบุญคุณที่เขาได้รับและตอบสนองด้วยการสำนึก  ชื่นชมในสิ่งที่เขาให้ ด้วยความสุภาพ   คนมั่งมีบางคนคาดหวังในใจว่า การช่วยเหลือครั้งสำคัญของเขาครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการให้ที่พักใหม่   เสื้อผ้าสวยๆ แพงๆ  อาจจะเรียกน้ำตาแห่งการขอบคุณไหลออกมา   ด้วยการให้ที่คาดหวังของตน  แต่ความคาดหวังไม่เกิดขึ้นจริงจึงผิดคาด  จึงไม่ชื่นชมยินดีในการให้  จึงหมดอกหมดใจ   เพราะคนที่รับความช่วยเหลือไม่ได้ตอบสนองอย่างที่ตนเองคาดคิด หรือ คาดหวัง

ในเวลาเดียวกันเราต้องรับความจริงว่ามีคนยากคนจนและขอทานจำนวนมาก ที่เป็นคนที่สุภาพ มีมารยาท   แน่นอนครับบางครั้งเราก็พบกับคนยากจน คนไร้บ้านบางคนที่เราไม่ชอบพฤติกรรมของเขา   และบางคนเราก็รู้เบื้องหลังว่า  เขาทำให้ตนเองต้องอยู่ในสภาพเช่นนี้   ยิ่งกว่านั้น  เราก็พบว่าคนยากคนจนคนไร้บ้านบางคนที่ใช้จ่ายเงินอย่างไม่เหมาะสม   และถ้าเราให้เงินหรือช่วยคนพวกนี้เขาก็จะนำไปใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่สมควร   มีบางคนเล่าให้ฟังว่า   เวลาเขาให้เงินคนกลุ่มนี้หลายคนไม่เคยกล่าวคำว่าขอบคุณเลย   หรือมีบางคนที่บ่นอย่างไม่ค่อยพอใจในสิ่งที่เราช่วยเหลือ

ถ้าเช่นนั้น  บนจุดยืนของคริสตชนจะทำอย่างไรกับประเด็นชีวิตนี้?

พระธรรมเฉลยธรรมบัญญัติ 15:7-8  กล่าวไว้ว่า

“หากมีคนยากจนท่ามกลางพี่น้องในเมืองใด...
อย่านิ่งดูดายหรือไม่ยอมเห็นใจช่วยเหลือเขา
จงใจกว้างเอื้อเฟื้อ...” (อมตธรรม)

พระคัมภีร์ได้วางรากฐานในเรื่องนี้ว่า  เราควรช่วยคนยากคนจนเหล่านี้แม้บางคนที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม  ที่เราไม่พึงประสงค์เช่นนั้นหรือ?    คำตอบคงก็คือ “ถูกต้องครับ!”   การช่วยผู้เล็กน้อย ต่ำต้อย ยากจนไร้โอกาส   คริสตชนช่วยชีวิตเหล่านี้อย่างไร้เงื่อนไขครับ   พระเยซูคริสต์ทรงเรียกเราให้รับใช้พระองค์ผ่านการช่วยเหลือคนเหล่านี้แม้เขาไม่มีความชอบธรรมพอที่เราจะช่วยเหลือ   พระองค์ประสงค์ให้เราช่วยเหลือคนเหล่านี้อย่างไร้เงื่อนไขครับ

ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมมีหลายเรื่องเกี่ยวกับรากฐานการดำเนินชีวิตในเรื่องการเอาใจใส่และการให้ความช่วยเหลือแก่คนยากคนจนคนขัดสน   ในที่นี้จะชวนพิจารณาถึงกรณีของเมืองโสโดม   โดยปกติแล้วเรามักตอบได้ทันที่ว่าเมืองโสโดมถูกพระเจ้าลงโทษทำลายไปเพราะเหตุเรื่องพฤติกรรมผิดประเวณี   การกระทำผิดทางเพศ   แต่ถ้าเราพิจารณาจากพระธรรมเอเสเคียล 16:49-50  เราพบว่า   สาเหตุหนึ่งที่เมืองนี้ถูกลงโทษทำลายคือ  “...โสโดม...มีบาปคือ  นางกับลูกๆ ที่หยิ่งยโสได้รับการบำรุงบำเรอเกินขนาด  และไม่มีเรื่องทุกข์ร้อนใดๆ   พวกเขาไม่ช่วยเหลือคนยากจนขัดสน   เขาจองหองและทำสิ่งที่น่าชิงชังต่อหน้าเรา  ฉะนั้นเราจึงกำจัดพวกเขาไปตามที่เจ้าได้เห็นแล้ว” (อมตธรรม)    เมื่ออ่านถึงพระธรรมตอนนี้ ความหยิ่งยโส  ความจองหอง  การมีอาหาร ทรัพย์สินมากมาย (เกินพอดี)   แต่กลับเมินเฉยละเลยความทุกข์ยากลำบากของคนอื่น  ไม่สนใจ  ไม่ให้ความช่วยเหลือ   เป็นสาเหตุที่ถูกพิพากษาถึงกับถูกทำลาย

อ่านถึงตอนนี้ท่านคิดอย่างไรบ้างครับ?   ส่วนตัวผมต้องกลับมาพิจารณาตนเองใหม่ครับ!

ประเด็นต่อมาที่เราต้องพิจารณาในกรณีของเมืองโสโดมว่า   เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการที่เราต้องเอาใจใส่ช่วยเหลือ ผู้คนยากจนขัดสนแม้มิใช่คนชอบธรรมเช่นไร?   ประการพื้นฐานเราต้องตระหนักว่าที่เมืองโสโดมถูกพิพากษาลงโทษ   เพราะไม่สามารถพบคนชอบธรรมแม้แต่ 10 คน   นั่นหมายความว่าไม่ว่าคนมั่งมี ยากจนในโสโดมต่างเป็นคนไม่ชอบธรรม   เพราะถ้าทั้งเมืองมีคนชอบธรรมแค่ 10 พระเจ้าก็จะไม่ทำลาย   นี่คือพระทัยที่เมตตาและเป็นพระคุณของพระเจ้า

การที่คริสตชนในปัจจุบันจะเอาใจใส่คนทุกข์ ยากจน ขัดสน  ไร้โอกาส  แม้ชีวิตของเขาจะมิใช่คนที่ชอบธรรม หรือ คนที่เราคาดหวังให้เขาเป็น   เป็นการเตือนตนเองว่าชีวิตที่เราอยู่รอดจนถึงทุกวันนี้เพราะพระคุณของพระเจ้า   ที่เราอยู่รอดปลอดภัยมิใช่เพราะเราเป็นคนดีมีความความชอบธรรม   แต่เป็นเพราะความรักเมตตาและพระคุณของพระเจ้าต่างหาก   เราต้องชัดเจนว่าที่ชีวิตเราอยู่รอดได้เพราะพระคุณของพระเจ้า   มิใช่บุญญาบารมีความดีที่เรากระทำสั่งสมไว้   เพราะตามมาตรฐานของพระเจ้าพระบิดาคือ  “...เพราะว่าพระองค์(พระบิดา)ทรงให้ดวงอาทิตย์ของพระองค์ขึ้นส่องสว่างแก่คนดีและคนชั่วเสมอกัน   และให้ฝนตกแก่คนชอบธรรมและอธรรม” (มัทธิว 5:45 มตฐ.)  

ในฐานะคริสตชนเรามีจุดยืนชัดเจนตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ว่า   “ถ้าพวกท่านรักเฉพาะคนที่รักท่าน ควรนับว่าเป็นคุณความดีของท่านด้วยหรือ?   เพราะแม้แต่พวกคนบาปก็ยังรักเฉพาะคนที่รักเขาเหมือนกัน...เพราะว่าพระองค์ทรงพระกรุณาทั้งต่อคนอกตัญญูและความชั่ว   พวกท่านจงมีใจเมตตากรุณาเหมือนอย่างพระบิดาของท่านมีพระทัยเมตตา” (ลูกา 6:32, 35-36 มตฐ.) 

การที่เรารับใช้พระเจ้าผ่านการให้ความเอาใจใส่ช่วยเหลือคนทุกข์ยากต่ำต้อยนั้น   เรามิได้กระทำเพราะคนเหล่านี้เหมาะสมที่จะได้รับความช่วยเหลือหรือไม่   แต่ที่เรากระทำเช่นนั้นเพราะเรามีและต้องการสำแดงความรักเมตตาของพระเยซูคริสต์แก่ทุกคนต่างหาก

ขอองค์พระผู้เป็นเจ้าโปรดเปิดตาของเราในวันนี้   ที่จะมองเห็นพระคริสต์ในชีวิตองผู้คนที่ทุกข์ยาก ขัดสน  ยากจน  และชีวิตที่กำลังจนตรอก   และทรงประทานพลังชีวิตและจิตใจเมตตากรุณาอย่างพระบิดา   เพื่อเราจะได้พบและสัมผัสพระคริสต์ผ่านการสัมผัสคนชีวิตคนเหล่านั้นที่ทรงเปิดตาให้เราเห็น

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

21 พฤษภาคม 2556

“แสวงหาพระเจ้า” นั้นเป็นอย่างไรกันแน่?


ทำไมเราต้องแสวงหาพระเจ้า?

เพราะพระเจ้าไม่อยู่กับเราแล้วหรือ?   หรือพระเจ้าไปซ่อนพระองค์เสียที่ไหน?   ไหนว่าพระเจ้าทรงติดตามแสวงหามนุษย์?   หรือเรากำลังเล่น ซ่อนหากับพระเจ้า?    ถ้าจะแสวงหาพระเจ้า  เราจะมีวิธีการอย่างไร?   ถามจริงๆ เถอะทำไมเราถึงต้องแสวงหาพระเจ้าด้วยล่ะ?

การแสวงหาพระเจ้าคือการที่เราแสวงหาการทรงสถิตอยู่ของพระองค์   หรือ ในพระคัมภีร์กล่าวอีกนัยยะหนึ่งคือ การแสวงหาพระพักตร์ของพระองค์   ด้วยการที่เราอยู่ในประสบการณ์ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ปกครอง   การแสวงหาพระเจ้าคือเวลาที่เราได้อยู่ต่อพระพักตร์ของพระเจ้า   คือเวลาที่เราได้เข้าเฝ้าพระองค์   เป็นเวลาที่เราจะมีโอกาสเข้าใกล้ชิดติดสนิทกับพระองค์   โดยคาดหวังว่า เราจะได้เรียนรู้จักพระองค์  และพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตเรา   เพื่อเราจะรู้ว่า ชีวิตที่พระเจ้าประทานและเป็นอยู่นี้พระองค์มีแผนการอย่างไรบ้าง  และแน่นอนครับ  เราต้องการได้รับพระพรและพระกำลังจากพระองค์

ในพระคัมภีร์ได้กล่าวถึงพระเจ้า ทรงซ่อนพระพักตร์จากคนบางคนบางกลุ่ม   ซึ่งหมายถึงการที่พระเจ้าทรงออกห่างจากการทรงกระทำพระราชกิจในชีวิตของคนๆ นั้น   หรืออีกนัยหนึ่งเนื่องจากคนๆ นั้นเลือกที่จะอยู่ใต้การปกครองของอำนาจอื่นจึงเป็นการขับ หรือ ทำตัวแปลกแยกจากพระเจ้าในชีวิของเขาคนนั้น   เช่น 

เมื่อโยบชีวิตตกในความทุกข์สาหัสเพราะซาตานมีอำนาจเหนือชีวิตโยบในเวลานั้น   เขาร้องทูลว่า  ทำไมพระองค์ซ่อนพระพักตร์  และทรงถือว่าข้าพระองค์เป็นศัตรู? (โยบ 13:24 มตฐ)   ในพระธรรมสดุดี จะใช้ภาพการซ่อนพระพักตร์ของพระเจ้า  ที่บ่งชี้ถึงการที่พระเจ้าทรงลืม (13:1;  10:11; 44:24)   การซ่อนพระพักตร์เป็นการแสดงถึงการที่คนรับใช้ถูกผลักไสออกไป  หรือ เป็นการทรงกริ้ว  เป็นการถูกละทิ้งจากพระเจ้า (27:9)    สดุดีมองว่าการซ่อนพระพักตร์เป็นการที่พระเจ้าทรงลืมเรา (88:14)  การที่พระเจ้าซ่อนพระพักตร์จากเราเพราะเรากระทำบาป (51:9; มีคาห์ 3:4)     

แต่ในอีกมุมหนึ่ง  บางครั้งมนุษย์ก็ซ่อนตนเองจากพระพักตร์ของพระเจ้า   เมื่ออาดัมและเอวากระทำขัดขืนพระบัญชาของพระผู้สร้างกระทำในสิ่งที่พระเจ้าไม่ต้องการให้ทำ   ซึ่งที่เกิดขึ้นคือ  พระเจ้าต้องตามหาทั้งสองคน   เพราะทั้งสองซ่อนตัวจากพระเจ้า   และเมื่อได้ยินเสียงเรียกของพระเจ้าเขาเกิดความกลัว

มีผู้ถามว่า ในฐานะคริสตชนเราอยู่ต่อหน้าพระพักตร์ตลอดเวลาหรือไม่?   คำตอบมีทั้งใช่ และ ไม่ใช่

ประการแรก  เราเชื่อว่าพระเจ้าทรงเป็นองค์สัพพัญญูญาณ ทรงสถิตได้ในทุกที่ทุกแห่งทุกสถานการณ์   ทุกสรรพชีวิตอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์   พระองค์ทรงไว้ซึ่งพระอำนาจและกำลังในการค้ำจุนและครอบครองทุกคนทุกสิ่ง

ประการที่สอง  ใช่แล้วที่พระองค์สถิตกับลูกของพระองค์เสมอ   พระองค์ทรงมีพันธสัมพันธ์กับพวกเราที่จะทรงกระทำสิ่งที่ดีในชีวิตลูกของพระองค์ทุกคน   “...นี่แนะเราจะอยู่กับพวกท่านเสมอไปจนกว่าจะสิ้นยุค” (มัทธิว 28:20)

แต่ก็มีความหมายว่าพระเจ้ามิได้อยู่กับเราเสมอไป   ด้วยเหตุนี้พระคัมภีร์ถึงเรียกเราให้ แสวงหาพระเจ้า...แสวงหาพระพักตร์ของพระองค์เสมอ”   การสำแดงประจักษ์แจ้งของพระเจ้า  จิตสำนึก  และการไว้วางใจที่เรามีต่อการสำแดงของพระองค์มิได้ประจักษ์ในประสบการณ์ของเราตลอดเวลา    มีบางช่วงเวลาที่เราละเลย มิได้เอาใจใส่ต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า  และไม่ได้คิดถึงพระองค์  แล้วมิได้ไว้วางใจในพระองค์   และเราประสบว่า พระองค์มิได้ สำแดงพระองค์ให้เราประจักษ์   ดังนั้น  เราจึงมิได้ประจักษ์รับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ ความงาม และคุณค่าของพระองค์ในชีวิตของเรา

พระพักตร์ของพระองค์รังสีพระสิริแห่งพระลักษณะของพระองค์  จึงถูกซ่อนจากความปรารถนาที่เราอยากได้เห็นและสัมผัส   ด้วยเหตุนี้เราจึงได้รับการกระตุ้นให้ แสวงหาพระพักตร์ของพระเจ้าเสมอ”   พระเจ้ามีพระประสงค์ให้เรามีชีวิตที่ชื่นชมยินดีและมีสำนึกตลอดเวลาถึงความยิ่งใหญ่ในความงามและคุณค่าของพระองค์

การแสวงหาพระพักตร์พระเจ้าเสมอนั้น  มีความหมายเช่นไรในเชิงปฏิบัติ?

ทั้งในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมและใหม่ กล่าวถึงการแสวงหาพระพักตร์ของพระเจ้าคือการที่เราหยั่งรากความคิดและจิตใจของเราลงในพระเจ้า   เป็นการสำนึกเสมอ หรือ ให้ความนึกคิดจิตใจของเรามุ่งสนใจในการผูกพันกับพระเจ้า

บัดนี้จงตั้งจิตตั้งใจของเจ้าที่จะแสวงหาพระเยโฮวาห์พระเจ้าของเจ้า...(1พศด. 22:19 มตฐ.)

1ถ้าท่านรับการทรงชุบให้เป็นขึ้นมาด้วยกันกับพระคริสต์แล้ว ก็จงแสวงหาสิ่งซึ่งอยู่เบื้องบนในที่ซึ่งพระคริสต์ทรงสถิตอยู่ คือประทับข้างขวาของพระเจ้า  2 จงเอาใจใส่สิ่งที่อยู่เบื้องบน ไม่ใช่สิ่งซึ่งอยู่ที่แผ่นดินโลก (โคโลสี 3:1-2)

การตั้งจิตตั้งใจแตกต่างจากการปล่อยใจและความคิดให้ไหลลื่นไปตามกระแสของสภาพแวดล้อม   แต่เป็นสำนึกที่นำจิตใจไปถึงพระเจ้า   และสิ่งนี้คือสิ่งที่เปาโลอธิษฐานเผื่อคริสตจักรว่า  ขอพระเป็นเจ้าทรงนำใจของท่านทั้งหลายให้เข้าถึงความรักของพระเจ้า และถึงความมั่นคงของพระคริสต์” (2เธสะโลนิกา 3:5)   นี่เป็นส่วนที่เราต้องทุ่มเทพยายาม   แต่การทุ่มเทพยายามในการแสวงหาพระเจ้าเป็นของประทานจากพระองค์

การแสวงหาพระพักตร์ของพระเจ้ามิใช่เพราะพระเจ้า หายไปหรือ พระเจ้าหลงหายจากเรา”   อย่างที่เราแสวงหาเหรียญที่หาย  หรือ  แมวที่เราเลี้ยงหลงหายไป   แต่การที่เราแสวงหาพระเจ้าเพราะตัวเราเองหลงหายออกไปจากพระพักตร์ของพระเจ้า   เราจะต้องกลับมา หรือ เราต้องแสวงหาพระพักตร์ของพระองค์   ตามคำอุปมาของพระเยซู  เราเป็นบุตรคนเล็กที่เลือกทางละทิ้งพ่อไป  แล้วหลงหายจากพ่อ   ทางเดียวที่เขาทำได้คือ   เราต้องสำนึกและแสวงหาพ่อด้วยความตั้งใจและอย่างเต็มใจ

ฟ้าสวรรค์ประกาศถึงพระสิริของพระเจ้า   ดังนั้น  เราสามารถแสวงหาพระเจ้าผ่านการประกาศพระสิริของฟ้าสวรรค์และธรรมชาติพระเจ้ายังทรงเปิดเผยพระองค์ หรือ สำแดงพระองค์ผ่านพระวจนะของพระองค์   ดังนั้นเราสามารถแสวงหาพระองค์ผ่านพระวจนะนั้นพระเจ้าทรงสำแดงพระองค์แก่เราอย่างชัดแจ้งด้วยพระคุณผ่านคนอื่นรอบข้าง   ดังนั้นเราสามารถแสวงหาพระองค์ผ่านชีวิตคนรอบข้าง,   การแสวงหาพระเจ้าเป็นความสำนึกที่ทุ่มเทพยายามอย่างเต็มกำลังของเราผ่านสิ่งต่างๆ ที่พระเจ้าทรงใช้เป็นตัวกลางที่พระองค์ทรงสำแดงประจักษ์แก่เรา   การที่เราตั้งจิตทั้งสิ้นของเรามุ่งมั่นไปยังพระเจ้า   จะนำทั้งชีวิต ความคิด และจิตใจของเรามุ่งไปสู่พระเจ้า  คือการแสวงหาพระเจ้า

แต่ความจริงที่ปรากฏเสมอคือ มีอุปสรรคขวางกั้นการที่เราจะได้พบพระองค์อย่างชัดแจ้งเสมอ   แต่เราต้องมุ่งมั่นตั้งใจไม่ย่อท้อเพื่อเราจะได้อยู่ต่อหน้าแห่งแสงสว่างจากพระพักตร์ของพระองค์   เราจะต้องหลีกลี้หนีจากทุกสิ่งที่จะกระทำให้จิตวิญญาณของเรามัวหมองและมืดทึบ  

การแสวงหาพระเจ้ายังเกี่ยวข้องกับการที่เรารู้ว่าอะไรที่ทำให้เราสัมผัสและมีชีวิตชีวากับการสำแดงของพระเจ้าทั้งในโลก ชุมชน สังคม  และในพระวจนะของพระองค์   และในเวลาเดียวกันเราก็รู้ว่าอะไรที่ทำให้เราเฉื่อยชา  เบื่อหน่าย  และทำให้เราบอดมืดต่อการแสวงหาพระพักตร์พระเจ้า   เราต้องขจัดสิ่งเหล่านี้ออกจากภายในชีวิตของเราถ้าเราประสงค์ที่จะพบและสัมผัสกับพระเจ้า

เมื่อเรามุ่งมั่นให้ความนึกคิดและจิตใจของเราสู่พระเจ้าผ่านประสบการณ์ด้านต่างๆ   เรายังสามารถที่จะร้องทูลขอต่อพระองค์   และนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งในการแสวงหาพระเจ้า

จงแสวงหาพระเจ้า เมื่อจะพบพระองค์ได้
จงทูลพระองค์ ขณะพระองค์ทรงอยู่ใกล้” (อิสยาห์ 55:6 มตฐ)

การแสวงหาพระเจ้าเกี่ยวข้องกับการร้องหา และ ร้องทูลต่อพระเจ้า   ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า  โปรดเปิดตาของข้าพระองค์,   ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้าโปรดเปิดม่านที่บังตาของข้าพระองค์จากการมองเห็นพระองค์   ข้าแต่พระเจ้า  โปรดเมตตาและทรงเปิดเผยพระองค์แก่ข้าพระองค์   ข้าพระองค์ปรารถนาที่จะได้เห็นพระพักตร์ของพระองค์

อุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ ที่ขัดขวางและทำให้การแสวงหาองค์พระผู้เป็นเจ้าต้องสะดุดและล้มลงนั้นคือ ความหยิ่งยโส”   ด้วยความจองหองอวดดี   คนชั่วไม่แสวงหาพระเจ้า   ไม่เคยมีพระเจ้าในความคิดของพวกเขาเลย” (สดุดี 10:4 อมตธรรม)

พระเจ้าประทานสัญญาที่ยิ่งใหญ่สำคัญแก่ผู้ที่แสวงหาพระเจ้าคือ   เขาจะได้พบพระองค์

“...จงรู้จักพระเจ้าบรรพบุรุษของเจ้า   จงปรนนิบัติพระองค์ด้วยสุดหัวใจและด้วยความเต็มใจ   เพราะองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงพิเคราะห์จิตใจทุกดวง   ทรงเข้าใจเจตนาและแรงจูงใจทุกอย่าง   หากเจ้าแสวงหาพระองค์ก็จะพบพระองค์   แต่หากเจ้าละทิ้งพระองค์  พระองค์ก็จะจะปฏิเสธเจ้าตลอดไป” (1พงศาวดาร 28:9 อมตธรรม)

จงแสวงหาพระเจ้า และพระกำลังของพระองค์
แสวงพระพักตร์ของพระองค์เรื่อยไป” (สดุดี 105:4,  1971)


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499


17 พฤษภาคม 2556

หว่านเมล็ดแห่งความอดทน


ท่านจะบ่มเพาะเมล็ดแห่งการอดทนในการรอคอยแก่ลูกหลานอย่างไร 

ในยุคของไมโครเว็บ  ยุคความล้ำหน้าของคอมพิวเตอร์ที่มีความไวเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง   ในยุคที่ความเร็วหรือความไวกลายเป็นการเสพติดชนิดหนึ่งสำหรับมนุษย์ที่สังคมยังมิได้ตีตราว่าร้ายต่อการเสพติดนั้น   กลับถูกมองว่าดีเสียอีก  

ไม่ต่างอะไรที่คนในยุคของเราที่เสพติดเรื่องความหวาน   และมีแนวโน้มที่จะเสพหวานมากขึ้น   และในที่สุดความหวานที่เราเสพติดกลับเป็นตัวสร้างอันตรายบั่นทอนความแข็งแรงของสุขภาพมนุษย์  

จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่พ่อแม่และผู้ใหญ่ที่จะต้องฝึกฝนบ่มเพาะนิสัย หรือ วินัยความอดทนในชีวิตประจำวันของตนเอง   และจำเป็นที่จะต้องเอาใจใส่ ฝึกหัด บ่มเพาะ บุตรหลานหรือนักเรียนของตนให้เกิดวินัยความอดทนรู้จักรอในชีวิตประจำวัน   และ

ที่สำคัญคือ การฝึกหัดบ่มเพาะวินัยชีวิตไม่สามารถกระทำด้วยการสอนทางคำพูดหรือให้ข้อมูลความรู้เท่านั้น   แต่จะต้องฝึกฝนบ่มเพาะด้วยกิจกรรมที่ทำให้กลุ่มเป้าหมายได้รับประสบการณ์ตรงในเรื่องนั้นๆ  และด้วยการมีชีวิตที่เป็นแบบอย่างที่กลุ่มเป้าหมายเห็นได้จริงในวินัยเรื่องนั้นๆ ในชีวิตประจำวันของผู้สอนด้วย   ต่อไปนี้เป็นบางวิธีการในการบ่มเพาะฝึกฝนความอดทนในการรอคอยสำหรับลูกหลานของเรา และ เด็กในยุคนี้
  • การสร้างขอบเขตที่ชัดเจน:   “คุณครู/พ่อแม่ จะเสิร์ฟอาหารแก่พวกเรา   ถ้าพวกเรารอด้วยความเป็นระเบียบ และ เงียบเสียงด้วยความอดทนเป็นเวลา 5 นาที”  หรือ  “การจำหน่ายตั๋วโดยสารของเราจะไม่สามารถเปิดขายได้  จนกว่าท่านผู้โดยสารจะจัดแถวคิวให้เป็นระเบียบ  เพื่อเราจะสามารถให้บริการจำหน่ายตั๋วอย่างเป็นระเบียบด้วยความสงบแก่ท่านผู้โดยสาร”   ให้กำหนดประเด็นและขอบเขตที่ชัดเจนก่อนที่กลุ่มเป้าหมายจะได้สิ่งที่ต้องการ
  • การปรับเปลี่ยนความสนใจใหม่:  การที่เด็กจะต้องเข้าแถวรอคิวในกิจกรรมต่างๆ  มักพบว่าเด็กขาดความอดทนที่จะรอคอย  การหันเหความสนใจจากสิ่งที่คิดหรือทำอยู่เป็นกลวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการอดทนในการรอคอยได้สำหรับคนทุกช่วงอายุ,   ถ้าเป็นเด็กเล็กอาจจะชวนเล่มเกมทายอะไรเอ่ย,   ถ้าเป็นเด็กโตชวนให้เสนอความคิดถึงกิจกรรมที่อยากทำในช่วงปิดเทอม   ให้ใช้วิธีการหันเหความสนใจของกลุ่มเป้าหมายไปในสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายสนใจตามความเหมาะสมกับกลุ่มอายุ
  • สอนด้วยการเป็นแบบอย่าง:  ไม่ว่าเด็กอายุ 3 ขอบ หรือ 13 ปีต่างก็เรียนรู้ได้อย่างดีจากแบบอย่างที่พวกเขาเห็น   มิใช่เด็กเล็กเท่านั้นที่เรียนรู้จากแบบอย่างที่เขาเห็นแม้แต่วัยรุ่นก็เรียนรู้อย่างดีเช่นกันจากแบบอย่างที่เขาเห็นด้วย   หรือเราอาจจะให้กลุ่มเป้าหมายตัดสินใจเลือกรายการพฤติกรรมตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมจากแต่ละประเด็นที่เราจะแสดงบนกระดาน  เช่น  (1) เธออยากได้รองเท้าคู่สวยในห้าง   เลยหยิบมาหน้าตาเฉย หรือ  (2) เธอจะเก็บสะสมเงินจนครบตามราคาแล้วไปซื้อมา,   (3) เธอรีบวิ่งข้ามถนนใหญ่ทันทีทันใดเพื่อจะสามารถไปทันรถประจำทางที่กำลังแล่นมาอีกฟากหนึ่งใช่หรือไม่?   ที่สำคัญคือ เราจะต้องเป็นแบบอย่างที่เป็นรูปธรรมในสิ่งที่เราสอนเราฝึกแก่คนอื่น
  • หลีกเลี่ยงคำพูดอย่างเช่น “เร็วเข้า  เร็วๆ”:   หลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่า “เร็วเข้า  รีบๆ  เร็วๆ” กับเด็กเล็ก หรือ เด็กก่อนวัยเรียน   แต่อาจจะใช้วิธีการกำหนดช่วงเวลาสำหรับกิจกรรมนั้นๆ   เมื่อเด็กเล็กในวันนี้ถูกการกระตุ้นให้ต้องทำเร็วๆ  ต้องรีบเร่งในชีวิตประจำวันเป็นการปลูกฝังบ่มเพาะนิสัยการกดดันในตัวเขาและมีแนวโน้มที่เด็กจะนำไปใช้กับคนอื่นอย่างไม่รู้ตัว  การกดดันตนเอง   และใช้ชีวิตที่รีบเร่ง  ซึ่งยังผลให้กลายเป็นคนอารมณ์ร้อน  หรือมักโมโหโทโสเมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นมิได้เป็นไปตามที่คาดหวังหรือปรารถนา  หรือเร็วอย่างที่ตนต้องการ   เมื่อเด็กเติบโตและมีวุฒิภาวะมากขึ้นก็พร้อมที่จะเรียนรู้และเข้าใจว่า   ทำไมถึงมีความสำคัญที่จะไม่ทำให้คนอื่นต้องรอคอยตนเองอย่างไม่เหมาะสมหรือจำเป็น
  • จัดการการทดลอง:  เด็กเล็กจะสนุกกับการปลูกพืชและดูการเติบโตของพืชที่เขาเพาะปลูกนั้น   ให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการเอาเมล็ดไปเพาะปลูกที่ดินแล้วคอยเฝ้าดูการงอก การเติบโตของต้นไม้ต้นนั้น   แล้วให้อธิบายให้เด็กได้เรียนรู้ถึงกระบวนการของชีวิต   ชีวิตต้องการมีเวลาที่มันจะค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้นตามกระบวนการชีวิตของมัน   เพื่อสอนให้เด็กได้เรียนรู้ว่า  ชีวิตมีเวลาขั้นตอนในการเปลี่ยนแปลงและเติบโต   หรืออาจจะเรียนรู้จากพระธรรมปัญญาจารย์ 3:1 ที่ว่า “มี​ฤดู​กาล​สำ​หรับ​ทุก​สิ่ง และ​มี​วาระ​สำ​หรับ​เรื่อง​ราว​ทุก​อย่าง​ภาย​ใต้​ฟ้า​สวรรค์”
  • เล่นเกมกระดาน:  เกมกระดานส่วนใหญ่ต้องเล่นทีละฝ่ายหรือทีละคน เช่น หมากหนีบ  หมากฮอส  หมากข้าม  ฯลฯ นั่นหมายความว่ามีคนเล่นและต้องมีคนรอ  เล่นครั้งละคน  ที่เลือกให้เล่นเกมประเภทนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ลูกของเราเรียนรู้ที่จะอดทนรอให้ถึงรอบของตนเอง   แม้บางครั้งเขาจะไม่รู้สึกในเรื่องนี้ก็ตาม   ให้เลือกเกมประเภทนี้ที่เหมาะสมกับวัย   สำหรับเด็กโตอาจจะเล่นหมากฮอส หมากข้าม  และการเล่น “สะแครบเบอร์” (การต่อคำ)น่าจะเหมาะสำหรับวัยรุ่นขึ้นไป
  • การรับรู้และการเสริมเพิ่มพลังในการรอคอยอย่างอดทนอย่าตั้งหน้าตั้งตาเป็นพ่อแม่ที่จะเอาแต่สอนให้ลูกเป็นคนที่อดทนในการรอคอย  จนลืมที่จะรับรู้และชื่นชมในความอดทนและการรอคอยของลูก   เมื่อลูกอดทนรอคอยให้เราป้อนอาหารให้น้องที่ยังเป็นทารกของเขา   ให้ขอบคุณที่ลูกอดทนอย่างดี   เมื่อลูกของเราเก็บหอมรอมริบเงินซื้อเครื่องไอแพด  เมื่อเงินครบแล้วจึงค่อยซื้อ   ท่านควรจะบอกกับลูกว่า “พ่อ/แม่ชื่นชมและภูมใจในความอดทนของลูกที่รอคอยจนสะสมเงินพอซื้อด้วยเงินสด   แทนที่จะซื้อเงินผ่อนและต้องเสียดอกเบี้ยอีกมิใช่น้อย”
  • อย่าทำตนจัดการให้ลูกทุกอย่าง:   การที่พ่อแม่ลงมือช่วยลูกทุกเรื่อง หรือ ลงมือทำแทนลูกทุกอย่างนั่นเป็นการทำร้ายลูกโดยไม่คาดคิดและรู้ตัว   ไม่เป็นการผิดที่เราต้องการให้ลูกมั่นใจว่าเราอยู่เคียงข้างเขาเสมอ   ซึ่งแตกต่างจากการที่เราทำทุกอย่างแทนลูก   ตัวอย่างเช่น  เมื่อลูกทำโทรศัพท์มือถือหาย   อย่าซื้อหรือหาโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ให้ลูกทันที   แต่ให้ลูกออมเงินของเขาเองเพื่อจะมีส่วนร่วมในการซื้อมือถือเครื่องใหม่   อย่าลงไปจัดการทุกเรื่องแทนลูก
  • เตรียมตัวสำหรับการรอคอย:  บางครั้งเรารู้ล่วงหน้าแล้วว่าลูกของเราจะต้องรอคอย เช่น  ต้องรอคอยแพทย์ที่โรงพยาบาล  หรือต้องรอคอยเพื่อจะเข้าห้องพักรับการรักษา   ให้เราเตรียมจิตใจของลูกสำหรับการรอคอย   ให้ลูกได้เตรียมสิ่งของที่ต้องใช้ หรือ สิ่งที่เขาจะทำในเป้ส่วนตัวของเขาเมื่อต้องนั่งรอหมอ
  • รักษามุมมองที่สร้างสรรค์:   ถ้าเราบ่นว่าในการที่เราต้องรอคอยเข้าคิว หรือการที่เราบ่นว่าจดหมายที่เราคาดหวังไม่มาสักที   ลูกๆ ของเราก็จะซึมซับเอาความไม่อดทนของเราเข้าไปในชีวิตของเขา   ให้เรายังตั้งมั่นที่จะให้การรอคอยของเราในชีวิตเป็นแบบอย่างที่สร้างสรรค์  เช่น ใช้โอกาสที่จะทำความรู้จักและพูดคุยกับคนที่ต่อคิวในแถว”  หรือ เมื่อต้องรอจดหมายและเช็คคืนเงินภาษี  อาจจะกล่าวว่า “ฉันคาดหวังว่าเช็คคืนเงินภาษีจากสรรพกรจะมาถึงวันนี้   แต่ถ้ายังมาไม่ถึงก็ไม่เป็นไร...” 


ไม่ว่าเด็กจะอายุเท่าใด  การเรียนรู้ที่จะรอคอยเป็นการเสริมสร้างทักษะที่มีคุณค่าที่จะติดตัวในชีวิตของเขาตลอดไป  

ในวันนี้ให้เรามีความสุขกับการอดทนในการรอคอย   ช่วงเวลาเช่นนั้นเป็นโอกาสที่เราจะใกล้ชิดสนิทกับองค์พระผู้เป็นเจ้ามายิ่งขึ้น,   เป็นเวลาที่เราจะสนิทสัมพันธ์กับลูกหลาน,   เป็นโอกาสที่เราจะเอาใจใส่สนใจเพื่อนหรือคนอยู่ข้างๆของเรา   ในเวลาที่อดทนรอคอยกลายเป็นเวลาของการสร้างสรรค์เยี่ยงพระฉายาหนึ่งของพระเจ้า  

การอดทนรอคอยคือโอกาสของการสร้างสรรค์ชีวิตครับ

มีความสุขกับการอดทนรอคอยในวันนี้กับพระคริสต์!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

15 พฤษภาคม 2556

เห็นพระเยซูในชีวิตของเรา


Keith Miller  ได้เล่าเรื่องของผู้บริหารคนหนึ่งว่า  

ครั้งหนึ่ง ในการเฝ้าเดี่ยวตอนเช้าของเขา  เขาอธิษฐานว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า   ขอให้มีคนเห็นพระเยซูคริสต์ในชีวิตของข้าพระองค์ในวันนี้”   เมื่อเขาเงยหน้ามองไปที่นาฬิกาที่แขวนบนผนังห้อง   เขารีบคว้าแก้วกาแฟดื่มอึกสุดท้าย   แล้วรีบกระโดดขึ้นรถเพื่อไปที่สถานีรถไฟ   เขาต้องไปให้ทันรถไฟเที่ยวที่เขาจะโดยสารไปยังที่ทำงานของเขา   เขาไม่สามารถที่จะไปทำงานสายได้แม้เพียงอีกครั้งเดียว

เมื่อผู้บริหารคนนั้นกำลังยืนอยู่ที่ชานชาลาเขาเหลือบเห็นเด็กชายกำลังรอขึ้นรถไฟไปโรงเรียน   มือทั้งสองข้างหอบหนังสือสมุด ปากกา กระดาษ  และกล่องอาหารกลางวัน

มันเป็นเช้าในชั่วโมงเร่งรีบและชานชาลาเนืองแน่นด้วยผู้โดยสาร

เมื่อรถไฟค่อยๆ เคลื่อนเทียบชานชาลา  ผู้คนรีบเคลื่อนย้ายไปในช่องที่คาดว่าจะเป็นประตูของรถไฟ   เมื่อรถไฟจอดผู้โดยสารจากในรถไฟรีบเร่งลงมาจากรถไฟมากมาย   เด็กนักเรียนคนนั้นถูกเบียดเซจนควบคุมตนเองไม่อยู่   สิ่งของที่เขาหอบอยู่ตกหล่นบนพื้น  และถูกเท้าของใครต่อใครไม่ทราบเตะกระจายไปคนละทิศละทาง

ชายผู้บริหารคนนั้นเห็นเหตุการณ์ทั้งสิ้นที่เกิดขึ้น   เขาเองอยากจะช่วยเด็กนักเรียนคนนี้   แต่เขาต้องไม่พลาดรถไฟขบวนนี้   เพราะนั่นหมายความว่าเขาจะไปทำงานสายอีกครั้งหนึ่ง   และเสี่ยงต่อการตกงานของเขา   ซึ่งเขายังไม่พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับสถานการณ์นั้น

เมื่อเขารีบเร่งเบียดเสียดพยายามที่จะขึ้นรถ   คำอธิษฐานเมื่อเช้านี้ของเขากลับมาก้องในโสตประสาทของเขา “องค์พระผู้เป็นเจ้า  โปรดให้มีคนเห็นพระเยซูคริสต์ในชีวิตของข้าพระองค์ในวันนี้”

เกิดการต่อสู้กันในจิตใจของเขา  เขากัดฟันตนเองดังกรอด  แล้ววางกระเป๋าเอกสารของเขาลง  ก้มตัวลงบนพื้นช่วยเก็บของที่กระจัดกระจายของเด็กนักเรียน...ในขณะที่รถไฟที่เขาจะโดยสารค่อยๆ เคลื่อนออกไปจากชานชะลา

เด็กนักเรียนคนนั้นยืนขึ้นด้วยความประหลาดใจ   มองทุกอิริยาบถของชายคนนั้นอย่างเงียบๆ   ผู้บริหารคนนั้นค่อยๆ เรียงหนังสือสมุดอย่างดีแล้ววางลงในอ้อมแขนของเด็กนักเรียน   ดวงตาของเด็กนักเรียนคนนั้นจ้องมองอย่างเบิกกว้าง   พร้อมกับถามชายคนนั้นว่า “ท่านครับ ท่านเป็นพระเยซูหรือครับ?”

ชายผู้บริหารที่รีบเร่งคนนั้น ตอบคำถามนั้นภายหลังว่า “ใช่...ในเวลานั้นฉันเป็นพระเยซูคริสต์”

ในฐานะที่เราเป็นทูตของพระคริสต์ในทุกสิ่งที่เราเป็นและกระทำ   แม้สิ่งนั้นจะไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรแก่เราก็ตาม  เราก็จะสำแดงให้เห็นถึงความรักเมตตาตามแบบอย่างพระคริสต์  เช่น

เมื่อพระองค์ยื่นมือสัมผัสคนโรคเรื้อนเพื่อให้พวกเขาได้หายสะอาดจากโรค   ยิ่งกว่านั้น เพื่อพวกเขาต่างรอดพ้นจากการตีตราและการจำกัดสิทธิในความเป็นมนุษย์ในสังคม และ ครอบครัว   แต่พระองค์ยอมที่จะถูกพวกผู้นำศาสนายิวตราหน้าว่าพระองค์เป็นมลทินเพราะไปสัมผัสผู้ป่วยโรคเรื้อน

เมื่อพระองค์ตั้งพระทัยเดินเข้าใกล้ต้นไม้ต้นหนึ่ง   เพื่อจะเรียกศักเคียสคนเก็บภาษีที่อยากมองเห็นพระเยซูให้ลงมาจากต้นไม้  แล้วพระองค์เสนอตัวเองไปบ้านของเขา   จนเป็นที่โจษจันกล่าวร้ายจากผู้นำศาสนายิวว่าพระองค์ไปคบค้าหากินกับคนผิดคนบาป

เมื่อพระองค์เดินไปที่บ่อน้ำเพื่อหาโอกาสสนทนากับหญิงสะมาเรียที่คนยิวจะไม่ทำกัน   สร้างความแปลกใจแม้แต่แก่หญิงสะมาเรียคนนั้น   แต่การกระทำเช่นนี้เองพระองค์ช่วยใหญ่หญิงสะมาเรียพบตัวตนและคุณค่าในตนเองในฐานะที่เป็นลูกคนหนึ่งของพระเจ้า

เมื่อหญิงล่วงประเวณีคนหนึ่งที่พวกยิวจับได้และตั้งใจจะเอาหินขว้างให้ตาย   แต่พระเยซูคริสต์ทรงปกป้องหญิงคนนั้นด้วยการไม่กล่าวโทษ   แต่ในที่สุดชี้ว่า ถ้าใครไม่เคยทำผิดก็ให้หยิบหินขว้างเธอก่อน   จนผู้คนเหล่านั้นต่างออกไปทีละคน   แต่พระเยซูคริสต์ตรัสบอกเธอว่า   พระองค์ก็จะไม่เอาผิดลงโทษนางเช่นกัน   แต่อย่ากลับไปทำบาปอีก

เมื่อพระองค์บอกกับโจรคนหนึ่งที่ถูกตรึงกางเขนพร้อมกับพระองค์ว่า   วันนี้เขาจะได้อยู่กับพระองค์ในเมืองบรมสุขเกษม

เมื่อพระองค์พบกับเปโตรที่ปฏิเสธพระองค์ก่อนไก่ขันถึงสามครั้ง   แต่พระองค์กลับมอบหมายให้เปโตร เลี้ยงแกะของพระองค์

การสำแดงพระคริสต์ในชีวิตประจำวันของเรา  คือการสำแดงความรักเมตตาแบบพระคริสต์ผ่านการมองการรับรู้  การคิด การตัดสินใจ  และการกระทำของเราที่มุ่งเสริมเพิ่มพลังชีวิตแก่ผู้คนที่เราพบเห็น

ในพระคัมภีร์พูดถึงเรื่องการเสริมเพิ่มพลังใจและความรักเมตตากรุณาเป็นสองคำในเรื่องเดียวกัน   ในทั้งภาษากรีกและฮีบรู คำว่าความรักเมตตากรุณา เป็นคำที่แสดงความรู้สึกที่มาจากส่วนลึกของชีวิตจิตใจแก่ผู้อื่น   เป็น “ภาระหน้าที่อันสูงสุด”   อย่างที่ วิลเลียม บาร์คเลย์ กล่าวว่า  การหนุนเสริมเพิ่มพลังใจเป็นความรักเมตตากรุณาที่สำแดงออกมาเป็นรูปธรรม 

ถ้าเราเปรียบเทียบกับการทำงานของแพทย์   ความรักเมตตากรุณานั้นเป็นการวินิจฉัยโรค  ในขณะที่การหนุนเสริมเพิ่มพลังชีวิต  คือกระบวนการเยียวยารักษารวมถึงการให้ยาของแพทย์

การหนุนเสริมเพิ่มพลังใจแก่คนอื่นนั้น   เป็นสิ่งที่เกิดจากก้นบึ้งแห่งชีวิตจิตใจของเรา   ที่ให้โดยไม่หวังผลตอบแทน   ไม่ใช่วัฒนธรรมแบบหมูไปไก่มา    แต่เป็นเส้นทางเดินทางเดียวคือ “ให้”  มิใช่เส้นทางเดินสองที่ให้เพราะ “คาดหวังที่จะได้”   แต่ให้เพราะพระคริสต์ทรงให้   แล้วเราตั้งใจให้อย่างพระคริสต์

อีกสิ่งหนึ่งที่เราพึงตระหนักคือ   นอกจากการให้จากชีวิตแล้ว   เราต้องเตรียมตัวรับว่า  เมื่อเราเสริมเพิ่มพลังใจพลังชีวิตแก่ผู้อื่น   เรามักต้องประสบกับสภาพชีวิตที่ถูกตีตราและโดดเดี่ยว

17 ข้า​แต่​พระ​ยาห์​เวห์ พระ​องค์​จะ​ทรง​ฟัง​ความ​ปรารถนา​ของ​ผู้​ถูก​ข่ม​เหง
พระ​องค์​จะ​ทรง​เสริม​กำ​ลัง​ใจ​เขา และ​จะ​เงี่ย​พระ​กรรณ​ฟัง  (สดุดี 10)
26 ร่าง​กาย​และ​จิต​ใจ​ของ​ข้า​พระ​องค์​จะ​วาย​ไป
แต่​พระ​เจ้า​ทรง​เป็น​กำลัง​ใจ​และ​เป็น​มรดก​ส่วน​ของ​ข้า​พระ​องค์​เป็น​นิตย์ (สดุดี 73)
11 เพราะ​ฉะ​นั้น​จง​หนุน​ใจ​กัน และ​ต่าง​คน​ต่าง​จง​เสริม​สร้าง​กัน​ขึ้น
ตาม​อย่าง​ที่​พวก​ท่าน​กำ​ลัง​ทำ​อยู่​นั้น  (1เธสะโลนิกา 5)


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499