31 สิงหาคม 2563

จัดการความขัดแย้งของคริสตชน...เขาทำกันอย่างไร?

ในเวลานี้ ครอบครัว คริสตจักร ชุมชน และประเทศชาติกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติที่เกิดจากภัยคุกคามทางสุขภาพ  ความขัดแย้งแย่งชิงทางการเมือง-เศรษฐกิจ ทั้งในระดับองค์กรหน่วยงาน ท้องถิ่น ภูมิภาค ตลอดจนถึงสังคมโลก   ที่ดูเหมือนจะรุนแรงมากขึ้นทุกที

น่าสังเกตว่า แต่ละคนแต่ละฝ่ายต่างต้องการให้คนอื่นเข้าใจอย่างที่ตนเองต้องการ ดังนั้น จึงพยายามสื่อสารด้วยวิธีการและช่องทางต่าง ๆ ที่จะโน้มน้าว เปลี่ยนแปลง และ เสริมสร้างความเข้าใจของคนอื่นให้เป็นอย่างที่ตนต้องการ และเราเห็นชัดว่า “ไม่มีใครฟังใคร แต่กลับต้องการให้คนอื่นฟังตนเอง”

เรากล่าวอ้าง กล่าวร้าย โจมตีฝ่ายอื่นคนอื่นว่า “มีทัศนะมุมมองผิด ๆ” โดยไม่เคยที่จะนิ่งเพื่อ “ฟังคนอื่นอย่างใส่ใจ” ว่าเขามีมุมมองทัศนะเช่นไรในเรื่องนั้น ไม่เคยถามเขาว่า ที่เราเข้าใจทัศนะมุมมองของเขาในเรื่องนั้นถูก หรือ คลาดเคลื่อนเช่นไรบ้าง?

ในฐานะ “คริสตชน” หรือ คนที่ประกาศตนว่าเป็นสาวกพระคริสต์ ที่กำลังตกอยู่ในวังวนแห่งภาวะความขัดแย้งด้านต่าง ๆ นอกจากที่เราจะต้องมี “ฐานเชื่อกรอบคิดเรื่องการเมืองแบบพระคริสต์” แล้ว เราจะต้องมี “ความรักเมตตาและเสียสละ” แบบพระองค์ด้วย

ในฐานะสาวกของพระคริสต์ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติภาวะความขัดแย้งตึงเครียด เราจะต้องแสวงหา “ความเข้าใจจากบุคคลที่เป็นคู่ขัดแย้งตึงเครียด” นั้น เพื่อเราจะสามารถเห็นภาพรวมที่ชัดเจนขึ้นว่า คู่ขัดแย้งของเรามีความเข้าใจเช่นไร และ รู้สึกเช่นไรต่อภาวะความขัดแย้งตึงเครียดที่กำลังเป็นอยู่นี้ ก่อนที่จะพยายามทุกหนทางที่จะโน้มน้าว หรือ ปรับเปลี่ยนคู่กรณีของเราให้เข้าใจภาวะนี้ “ให้ถูกต้องอย่างที่เราเข้าใจ(?)” และทางหนึ่งคือ “เราต้องฟังเขาอย่างใส่ใจ”

ในสุภาษิต 18:13 เขียนไว้ว่า “[13] คนที่ตอบก่อนฟัง ก็โง่เขลาและขายหน้า” (อมธ.)

บ่อยครั้ง เรามักลืมตัว เราพยายามที่จะทำให้คู่กรณีในความขัดแย้งของเราเข้าใจเหตุผลและความรู้สึกของเรา จนไม่ใส่ใจที่จะฟังเพื่อเข้าใจถึงเหตุผลและความรู้สึกของคู่กรณีในความขัดแย้งครั้งนั้น อีกสาเหตุหนึ่ง ที่เรามักไม่ตั้งใจฟังคู่กรณีของเราคือ “เรื่องนี้ไม่อยู่ในความรับผิดชอบของเขา?” เรื่องนี้เขาเข้าใจ เขาคิดผิด?”  ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ฟังอย่างใส่ใจก่อน! และเบื้องหลังที่เป็นเช่นนี้เพราะ ทั้งสองฝ่ายต่างตกลงไปในหลุมพรางของซาตาน ที่คิดว่า “พวกตนถูก พวกเขาผิด” และ “ไม่มีความไว้วางใจกัน”

ในภาวะความขัดแย้งที่ดูร้อนแรง มีการตอบโต้กันที่ดุเดือดรุนแรง เพราะต่างฝ่ายต่างยึดติดอยู่กับทัศนะมุมมองของตนเอง ดังนั้น ต่างฝ่ายต่างไม่สามารถรู้ถึงความรู้สึกที่เจ็บปวด สูญเสีย และความรู้สึกว่าไม่ถูกต้องยุติธรรมของอีกฝ่ายหนึ่ง เราจึงไม่สามารถรู้ถึงว่า เขารู้สึกกลัวอะไรบ้างในความขัดแย้งที่กำลังเผชิญอยู่

แล้วทางออกแบบ “คริสตชน” ในเรื่องนี้อยู่ที่ไหนครับ?

เปาโลเขียนถึง ชุมชนคริสตจักรฟีลิปปีว่า  “[4] แต่ละคนไม่ควรมุ่งหาประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว แต่ควรคิดถึงประโยชน์ของคนอื่นด้วย [5] ท่านควรมีท่าที (จิตใจ) แบบเดียวกับพระเยซูคริสต์” (ฟีลิปปี 2:4-5 อมธ.)

ในเชิงปฏิบัติ สิ่งแรกคือ แสวงหาความเข้าใจก่อน คือเข้าใจคู่กรณีของเราว่า เขามีทัศนะมุมมองเช่นไร เข้าใจเช่นไร  และรู้สึกเช่นไรต่อเรื่องที่กำลังขัดแย้งกันนี้ ทางหนึ่งที่ดีอย่างมากคือ เริ่มต้นที่ตัวเราเอง เข้าไปหาคู่กรณีอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน และขอเขาช่วยอธิบายถึง ทัศนะมุมมอง ความเข้าใจและความรู้สึกของเขาในเรื่องความขัดแย้งที่กำลังเป็นอยู่นี้  

ที่สำคัญเราต้องฟัง และ ฟังอย่างใส่ใจ ฟังเพื่อเราจะความเข้าใจ และ รู้ถึงความรู้สึกของเขาในภาวะขัดแย้งที่กำลังเป็นอยู่นี้ (ไม่ใช่ฟังเพื่อจับผิด และเพื่อตอบโต้) ดังนั้น เริ่มต้นด้วยเราเป็นผู้ฟังอย่างใส่ใจด้วยถ่อมใจก่อน  

จากนั้น ให้เราทบทวนว่า เราได้ยินอะไรบ้าง เราเข้าใจสิ่งที่เขาบอกเรานั้นว่า มีเรื่องอะไรบ้าง? เขา “เข้าใจ” อย่างไรในเรื่องนั้น ๆ? เขา “รู้สึก” อย่างไรในเรื่องนั้น ๆ? สิ่งที่เราฟังแล้วเราเข้าใจถูกต้องหรือไม่? และให้โอกาสเขาที่จะแก้ไข เพิ่มเติมความเข้าใจของเราต่อเขาให้ถูกต้องชัดเจนขึ้น ขอเน้นย้ำในที่นี้ว่า เราทบทวนตรวจสอบความถูกต้องตรงกับที่เขาสื่อสาร ทั้งเนื้อหา และ ความรู้สึกของเขาด้วย คิดถึงวลีในภาษาไทยที่ว่า “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ก่อน การเข้าใจคู่กรณีจะช่วยให้เราเข้าใจถึง “ทัศนะมุมมอง” ของเขาด้วย  

ในวิถีชีวิตของพระเยซูคริสต์แตกต่างจากเส้นทางที่เราเดินอยู่ในขณะนี้ พระองค์มองข้ามความสำคัญของพระองค์เอง ความจำเป็นต้องการ และผลประโยชน์ส่วนตน แม้แต่บนกางเขนพระองค์ยังคิด ยังกระทำเพื่อคนอื่น

วิถีกางเขนของพระคริสต์ มิใช่วิถีปกติธรรมดาของเรา เพราะเราคุ้นชินกับวิถีชีวิตที่มีแต่ตนเองเป็นศูนย์กลาง เราคิดและให้ความสำคัญแก่ตนเองก่อน ก่อนที่จะสนใจใส่ใจคนอื่น

การจัดการภาวะขัดแย้งต่าง ๆ ในชีวิตของคริสตชน เริ่มต้นที่การยอมตนต่อพระคริสต์ที่จะเปลี่ยนแปลงและบ่มเพาะ “ฐานเชื่อกรอบคิด” ของเราให้เป็นเหมือน “ฐานเชื่อกรอบคิดแบบพระคริสต์” แล้วเราจะมีทัศนะมุมมองแบบพระองค์   นี่คือฐานรากชีวิตของเราที่ต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงจากพระคริสต์ก่อน (โรม 12:2) เพื่อเราจะมีบุคลิกชีวิตที่ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปเป็นเหมือนพระคริสต์ยิ่ง ๆ ขึ้นทุกวัน และการที่เราจะสนใจใส่ใจคนอื่นก่อนตนเอง เราจะพยายามเข้าใจคนอื่นก่อน ก่อนที่จะจัดการความขัดแย้งใด ๆ อย่างสร้างสรรค์จะพัฒนาตามมา

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



28 สิงหาคม 2563

“การเมือง” แบบพระคริสต์

ทุกเรื่องถูกโยงให้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง ไม่มีเรื่องอะไรในขณะนี้ที่จะอ้างตนเองว่า “เป็นกลาง” ไม่เข้าข้างใดข้างหนึ่ง  

ปัจจุบัน “คริสตชน” ตกลงในหลุมพรางวัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัฒนธรรมคริสตชนอาจจะโดยไม่รู้ตัวอย่างน้อย 3 วัฒนธรรม

[1] วัฒนธรรมที่ตีตราเหมาเข่ง กล่าวคือ ถ้ามีคนหนึ่งที่ยืนยันบางเรื่องที่เห็นต่างจากเรา ปัจจุบันเรามัก “ตรีตราเหมาเข่ง” ว่าคน ๆ นั้นคิดไม่เหมือนเราทุกเรื่อง

ตัวอย่างเช่น มีครอบครัวหนึ่งที่เป็นสมาชิกคริสตจักรหนึ่งมานาน 8-9 ปี มาร่วมงานคริสตจักรตลอด ลูกหลานเติบโตในคริสตจักรนี้ จนกระทั่งการเทศนาครั้งหนึ่งเขารู้สึกว่า ศิษยาภิบาลเอียงไปเป็น “ฝ่ายซ้าย” เขาตัดสินใจย้ายไปอยู่ในอีกคริสตจักรหนึ่ง ได้ยินเทศนามาเป็นร้อยครั้ง เมื่อมาได้ยินครั้งนี้ศิษยาภิบาลพูด “เอียงซ้าย” เลยตัดสินตีตราเหมาเข่งว่า คริสตจักรที่มีศิษยาภิบาล “เอียงซ้าย” เขาอยู่ด้วยไม่ได้แล้ว?

[2] วัฒนธรรม “สงครามเอาแพ้เอาชนะในวงการคริสตชน” ตนจะต้องเอาชนะให้ได้ การชนะกลายเป็นเรื่องสำคัญกว่าความรักเมตตา ทำให้เกิดการแยกข่ายแบ่งขั้วกันในคริสตจักร แบ่งแยกเป็น “พวกมิตร” และ “ศัตรู” ขึ้นในคริสตจักร และคริสตชนปัจจุบันกำลังได้รับผล “เชื้อร้าย” จากวัฒนธรรมตัวนี้ แต่ละคนคอยระวัง ถ้าถูกกล่าวร้ายจะได้ตอบโต้กลับทันที

ปัจจุบัน คริสตจักรหลายแห่งตกเป็น “เครื่องมือ” ของนักการเมือง มากกว่าการเป็นจิตสำนึกของชุมชน สังคม และชาติ คริสตจักรได้รับการทรงเรียกให้เป็นผู้ที่เป็นสำนึกของสังคม แต่คริสตจักรส่วนมากถูกครอบงำด้วยกระแสสังคมชาติจนตกเป็นเหยื่อของ “การเอาแพ้เอาชนะกัน” เพื่อนำไปถึงการที่ตน “จะได้รับผลประโยชน์” ที่ตนเองต้องการจากนักการเมือง คริสตจักรจึงตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองเพื่อแลกประโยชน์จากนักการเมืองที่สัญญาจะให้

[3] วัฒนธรรม “ยิ่งมากยิ่งดี” “ยิ่งมีอำนาจมากยิ่งมีโอกาส” คริสตจักรปัจจุบันวิ่งไปตามกระแสทางจริยธรรมของสังคมส่วนใหญ่ เช่น ใครทำมากได้มาก ใครทำน้อยได้น้อย หรือทำอย่างไรเพื่อตนจะได้มากที่สุด “ยิ่งมากยิ่งดี” “ยิ่งอำนาจยิ่งมีโอกาส” ดังนั้น หลายต่อหลายคนในคริสตจักรจึงแสวงหาให้ได้มากที่สุด ซึ่งจริยธรรมแบบนี้ตรงกันข้ามกับพระเยซูคริสต์หน้ามือเป็นหลังมือ กัดกร่อนแก่นกลางรากฐานของคริสตจักร

เราจะไม่สามารถ "แก้ปัญหา" ด้วยการมีมาก ๆ และยิ่งใหญ่ขึ้น

เราไม่สามารถ "รักคนอื่น" เพราะเรามีมาก ๆ และมีอำนาจ

เราไม่สามารถ "พบพระคริสต์" เพราะเรามีมาก ๆ

น่าเสียดายที่คริสตจักรปัจจุบันขาดการสนใจวิเคราะห์เจาะลึกถึงคำสอนและรูปแบบการดำเนินชีวิตของพระเยซูคริสต์ว่า พระองค์มีจุดยืนและแสดงออกเช่นไรต่อ “การเมือง” ในสมัยของพระองค์

การเมืองที่ “ให้ชีวิต” ของตนเองแก่ประชาชน

ในสมัยของพระเยซูคริสต์ แต่ละพวกแต่ละคนต้องการให้พระองค์ “เข้าข้าง” หนุนพวกตนเอง และต่อต้านฝ่ายตรงกันข้าม เพราะเห็นว่า “ประชาชน” ชื่นชมในพระเยซู แต่พระองค์ปฏิเสธ เพราะทุกฝ่ายต่างมีจุดยืน หลักคิด และ ข้อสมมติฐานที่พระองค์รับไม่ได้ พระองค์จึงปฏิเสธจะให้การสนับสนุน เพราะพระองค์เห็นว่าพวกเขามีสมมติฐานว่า  “อำนาจและทรัพยากรใด ๆ จะถูกใช้ตามประโยชน์ของผู้มีอำนาจเป็นหลัก” จะไม่ได้ถูกใช้เพื่อคนเล็กน้อยและคนส่วนรวมในสังคมชุมชน

คริสตจักรต้องตระหนักชัดว่า พระเยซูคริสต์เข้ามาในโลกนี้เพื่อที่จะ “คว่ำพลิก” และเปลี่ยนแปลงโลกนี้ขึ้นใหม่   เปาโลอธิบายถึงพระเยซูคริสต์ชัดเจนว่า

พระเยซู “ผู้ทรงสภาพเป็น “พระเจ้า” ไม่ทรงถือว่าความทัดเทียมกับพระเจ้าเป็นสิ่งที่จะต้องยึดไว้ หรือ ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง (ฟิลิปปี 2:6 )

พระเยซูคริสต์มิได้เล่นเกม “เอาแพ้เอาชนะ” ตามกระแสสังคม แต่พระคริสต์ทรงใช้ชีวิตเพื่อที่ “จะยอมเสียสละชีวิต” หรือ “เล่นเกมเพื่อจะแพ้”

เราต้องเข้าใจว่า พระเยซูคริสต์ “เล่นเกม” ที่แตกต่างจากเรา พระองค์มี “กติกา” ในการเล่นไม่เหมือนเรา และพระองค์มี “ชัยชนะ” ที่แตกต่างจากเรา ทั้งนี้ที่พระองค์ไม่ยอมเข้าข้างกลุ่มไหน พวกไหน ก็เพราะกลุ่มต่าง ๆ ทั้งสิ้นต้องการให้กลุ่มอื่นแพ้ เพื่อตัวเองจะได้ชนะ

แต่... “พระเยซูคริสต์เล่นเกมเพื่อจะแพ้ เพื่อประชาชนจะสามารถชนะได้”

จากนั้น เปาโลอธิบายถึงพระเยซูคริสต์ต่อไปว่า “แต่ทรงสละพระองค์เองและทรงรับสภาพทาส ทรงถือกำเนิดเป็นมนุษย์ และทรงปรากฏอยู่ในสภาพมนุษย์” (ข้อ 7) กล่าวได้ว่าพระองค์ทรงกระทำตนให้เป็นมนุษย์ปุถุชน ยิ่งกว่ามนุษย์ธรรมดา พระองค์ลงมาเป็นทาสที่ต่ำต้อยด้อยค่าในความเป็นมนุษย์ ไม่ได้เป็นคนสำคัญอะไรเลย พระองค์ปฏิเสธที่จะเป็นส่วนหนึ่งของ “พรรคใดพรรคหนึ่ง” หรือ “พวกใดพวกหนึ่ง” เพราะไม่ว่าพรรคไหน พวกไหน หรือ แม้แต่กลุ่มไหน ต่างก็ต้องการไขว่คว้าหาอำนาจและผลประโยชน์เพื่อตนเองทั้งสิ้น และที่พระองค์ “ทรงรับสภาพทาส” เพราะในแต่ละวัน “ทาส” จะแสวงหาว่าตนจะรับใช้นายอย่างดีได้อย่างไร จะรับใช้คนอื่น ๆ อย่างดีได้อย่างไร   แต่ถ้าเรากระทำตามความต้องการมุ่งหวังของตนเอง คริสตจักรก็ไม่ต่างจากองค์กรต่าง ๆ ที่มีอยู่เพื่อตนเอง

ถ้าคริสตชนแต่ละคนเป็นอวัยวะหนึ่งใน “พระกาย” ของพระคริสต์ เราจะต้องทำตามพระประสงค์ของพระองค์ผู้เป็นศีรษะของกายนั้น ดังนั้น ถ้าจะให้คริสตจักร ให้คริสตชนมีชีวิตที่เป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้นทุกวัน เราต้องปกป้องคนอื่น ปกป้องสิทธิของคนอื่น ทำเพื่อคนอื่นมากกว่าทำเพื่อตัวเราเอง เรียกร้องเพื่อตนเอง

คริสตจักรจะเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้นทุกวัน เมื่อเรา “ยอมให้” มากกว่า “เรียกร้อง” ให้เป็นไปตามสิ่งที่เราต้องการ ความคิดนี้น่ากลัวหรือเปล่า ทำให้เรารู้สึกว่าเราสูญเสียอะไรบางสิ่งบางอย่างหรือเปล่า?

นี่คือสาเหตุที่พวกสาวกปฏิเสธความคิดของพระเยซูที่พระองค์จะถูกจับโดยพวกที่มีอำนาจ และพระองค์ได้อธิบายเรื่องนี้ครั้งแล้วครั้งเล่าแก่สาวก แต่ดูเหมือนว่าพวกเขาไม่เข้าใจ สาวกเข้าใจว่า การที่พระองค์ถูกจับ และถูกตรึงเสียชีวิตบนกางเขน นั่นหมายความว่า พระเยซูคริสต์และพวกสาวกแพ้ พวกสาวกสูญเสีย สาวกถามพระเยซูว่า “ถ้าพระองค์ถูกจับ และ ถูกฆ่าตาย แล้วเราจะชนะได้อย่างไร?” และพระองค์ตอบสาวกว่า “ด้วยวิธีการนี้แหละที่เราจะชนะ”  

พระเยซูไปเยรูซาเล็มเพื่อที่พระองค์จะแพ้เกมนี้ พระเยซูได้ชวนสาวกให้ร่วมในกระบวนการถึง 3 ปีเพื่อที่จะแพ้ในเกมนี้ บุตรมนุษย์ไม่ได้มาเพื่อที่รับการปรนนิบัติรับใช้ แต่พระองค์มารับใช้คนจำนวนมาก และยอมให้ชีวิตเป็นค่าไถ่ของประชาชนเหล่านั้น นี่เองที่พระองค์แตกต่างจากนักการเมืองอย่างสิ้นเชิง

พระคริสต์มาในโลกนี้เพื่อสถาปนาการปกครองของพระองค์ (แผ่นดินของพระเจ้า) ที่แตกต่างจากการปกครองตามวิถีแห่งโลกนี้ ด้วยระบบคุณค่าที่แตกต่างจากโลกนี้ พระองค์บอกว่า ในแผ่นดินแห่งการปกครองของพระองค์ คนต้นจะกลายเป็นท้ายคนท้ายจะกลับเป็นคนต้น  

แล้วสาวกก็ได้เรียนรู้บทเรียนนี้ จากในการเลี้ยงอาหารมื้อสุดท้าย พระองค์เป็นผู้ล้างเท้าสาวกแต่ละคน และเขาได้เห็นเหตุการณ์ที่กางเขนที่พระองค์อธิษฐานยกโทษคนที่ตรึงพระองค์ และพระองค์ยังบอกกับโจรคนหนึ่งที่ถูกตรึงข้างพระองค์ว่า เขาจะได้อยู่กับพระองค์ในเมืองบรมสุขเกษม  

และเมื่อพระองค์เป็นขึ้นจากความตาย พวกสาวกจึงมารวมตัวกันเพื่อพบกับพระองค์ สิ่งสำคัญที่คริสตชนปัจจุบันจะต้องเรียนรู้จากสาวกของพระคริสต์คือ พวกเขาปฏิเสธที่จะมีอำนาจเพื่อที่จะใช้ให้เป็นประโยชน์สำหรับตนเอง   ใช่พวกเขาไม่ทำสิ่งใด ๆ เพื่อจะเป็น “ฝ่ายชนะ” แต่พวกเขาทำทุกอย่างเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เขามีชีวิตอยู่ไม่ใช่เพื่อตนเองแต่เพื่อพระนามของพระเยซูคริสต์ และเพื่อชีวิตของมวลชน

คริสตจักรกับการเมือง

พระเยซูคริสต์บอกสาวกของพระองค์ว่า ด้วยกระบวนคิดกระบวนเชื่อเช่นนี้เองที่พระองค์จะสร้างคริสตจักรของพระองค์ขึ้น ถ้าท่านมีชีวิตที่ติดตามพระเยซูคริสต์ แบก “กางเขนของตน” ตามพระคริสต์ไป มิใช่แบกเอา “สิทธิของตนเอง” ตราบใดคริสตจักรในโลกนี้ยอมตนตกเป็นเครื่องมือของอำนาจแห่งโลกนี้ อำนาจนักการเมือง คริสตจักรจะตกอยู่ในสภาพที่มีแต่ความหวาดกลัว

หลักการของคริสตจักรของพระเยซูคริสต์คือ เราไม่ต้องการช่วงชิงชัยชนะเพื่อตนเอง แต่เราได้ชัยชนะเพื่อคนอื่น   ถ้าคริสตจักรเห็นแก่เงิน เห็นตำแหน่ง ชื่อเสียง เห็นแก่ผลประโยชน์สำหรับตนเอง นั่นไม่ใช่คริสตจักรของพระคริสต์แต่เป็นกลุ่มคนที่แสวงหาการรับใช้นักการเมืองแบบโลกนี้เพื่อผลประโยชน์แห่งตน

เมื่อคริสตชนไปออกเสียง ลงคะแนนบัตรเลือกตั้ง เราปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กฎหมายของประเทศเป็นสิ่งที่เราต้องทำ   แต่การกระทำนี้เรากระทำเพื่ออะไรเราต้องสัตย์ซื่อชัดเจนในเรื่องนี้ว่า เราออกเสียงเลือกตั้งเพื่อสังคมชุมชน เพื่อคนในชุมชนของเรา มิใช่เพื่อคริสตจักรเอง หรือ ตนเอง หรือ เพื่อนักการเมืองคนใดคนหนึ่ง พรรคใดพรรคหนึ่ง

นี่คือจุดยืนของพระเยซูคริสต์ “[6] ผู้ทรงสภาพเป็นพระเจ้า ไม่ทรงถือว่าความทัดเทียมกับพระเจ้าเป็นสิ่งที่จะต้องยึดไว้” หรือใช้ฐานะเท่าเทียมกับพระเจ้าเพื่อแสวงหาผลประโยชน์สำหรับตนเอง “[7] แต่ทรงสละพระองค์เองและทรงรับสภาพทาส ทรงถือกำเนิดเป็นมนุษย์ และทรงปรากฏอยู่ในสภาพมนุษย์” “[8] พระองค์ทรงถ่อมตัวลง ทรงยอมเชื่อฟังจนถึงความตาย กระทั่งตายบนกางเขน” 

พระองค์ผู้ทรงสถานะสูงสุด แต่พระองค์กลับถ่อมลงต่ำที่สุด พระองค์ยอมตนเพื่อคนชั่ว ด้วยความเชื่อฟัง จนยอมตายบนกางเขน และนี่เป็นที่แตกต่างจากกระแสแห่งโลกนี้อย่างสิ้นเชิง และด้วยหลักการของพระคริสต์นี้เองที่ทำให้โลกไม่เป็นไปอย่างเดิม

แล้วทำอย่างไรที่จะใช้หลักการของพระเยซูคริสต์เป็นหลักการที่จะเปลี่ยนแปลง และพัฒนาให้เกิดสังคมที่สันติ-ยุติธรรม และศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ที่มี “พระฉายาของพระเจ้า” เท่าเทียมกัน

เราต้องตระหนักเสมอว่า เป้าหมายของการมีคริสตจักรมิใช่เพื่อเราจะมารวมตัวกันที่คริสตจักร แต่มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นดลใจให้ผู้คนให้ติดตามพระเยซูคริสต์ และมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้นทุกวัน

นี่คือ “การเมือง” แบบพระคริสต์ ที่หยั่งรากลึกลงในพระกิตติคุณของพระองค์

คริสตจักรท้องถิ่น และ คริสตจักรระดับชาติในประเทศไทย พร้อมที่จะขับเคลื่อนการเมืองแบบพระคริสต์  “การเมืองบนรากฐานพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์” หรือไม่?  หรือยังเลือกที่จะขับเคลื่อนการเมืองแบบ “เอาแพ้เอาชนะ เอาอำนาจ เอาผลประโยชน์” กัน ที่ไม่รู้จักที่จะ “ให้ชีวิต” แด่พระคริสต์ท่ามกลางชีวิตมวลชนทั้งหลายในโลกนี้

การเมือง “แบบพระเยซูคริสต์”

การเมืองตามกระแสสังคมโลก มุ่งใช้ประชาชนให้เป็นเครื่องมือเพื่อตนเอง เพื่อจะได้มาซึ่งอำนาจและผลประโยชน์สำหรับตน  

แต่พระเยซูคริสต์มาเพื่อ “ให้ชีวิต” ของพระองค์เอง เพื่อปกป้อง ปกครอง เยียวยารักษา และเสริมสร้างชีวิตของประชาชนและสังคมโลกให้มีคุณภาพชีวิตเฉกเช่น “แผ่นดินของพระเจ้า” 

อีกทั้งยังเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนแต่ละคนที่จะมี ชีวิต จิตใจ และจิตวิญญาณแบบพระคริสต์ที่ “ให้ชีวิตตนเองแก่คนรอบข้าง” เพื่อร่วมในกระบวนการเปลี่ยนแปลงพลิกคว่ำสังคมโลกของพระคริสต์ ให้เป็นชุมชนสังคมแห่งแผ่นดินของพระเจ้า

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



26 สิงหาคม 2563

บุคลิกภาพที่ยิ่งใหญ่...ของผู้นำคริสตชน

ท่านศิษยาภิบาล หรือ ผู้นำคริสตจักร พระเจ้าประทานงานที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่ท่านจะสามารถรับมือด้วยตนเองได้   ยิ่งผู้นำในยุค 2020 จะต้องพบว่า สถานการณ์ต่าง ๆ จะแสดงออกให้เห็นชัดถึงความจริงดังกล่าว งานที่ท่านต้องรับผิดชอบนั้นหนักหนาสาหัสเกินกำลังความสามารถของท่านเองจะรับมือได้

ในพระธรรมเนหะมีย์ได้แสดงให้เห็นชัดว่า ในภาวะวิกฤติอย่างหนักเช่นนี้ ผู้นำที่ดีจะต้องทำให้แผนงานที่ได้รับการทรงมอบหมายจากพระเจ้าให้บรรลุสำเร็จ แผนการดังกล่าวเนหะมีย์ร่วมกับประชาชนอิสราเอลสามารถทำให้สำเร็จได้ใน 52 วัน ในขณะที่แผนงานเดียวกันนี้คนตลอด 80 ปีที่ผ่านมาบอกว่าเราทำงาน “หิน” นี้สำเร็จไม่ได้ แต่เมื่อเราได้รับแรงกระตุ้นหนุนเสริมที่ถูกต้อง แผนงานที่สำคัญนี้สามารถทำให้สำเร็จได้ในเวลาสั้นเพียง 52 วัน

ในสถานการณ์ความเป็นความตาย คริสตจักรและชุมชนของท่านต้องการผู้นำแบบไหน? เนหะมีย์ได้แสดงให้เราเห็นสิ่งที่จะทำให้เราเป็นผู้นำที่เยี่ยมยอด 4 ประการด้วยกันคือ

[1] มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญอย่างน่าสนใจ

เราต้องการวิสัยทัศน์ที่กระตุ้นให้เราขับเคลื่อนไปข้างหน้า เมื่อศัตรูของเนหะมีย์พยายามหลอกล่อให้เกิดการหลงผิดเพื่อให้เนหะมีย์ละทิ้งงานที่กำลังทำอยู่ไปหาพวกเขา เนหะมีย์ตอบว่า “ข้าพเจ้ากำลังทำงานใหญ่...” (เนหะมีย์ 6:3 มตฐ.) เนหะมีย์เป็นคนที่มีจิตใจเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่น แน่วแน่น เขาอุทิศตนเพื่อแผนงานที่ทำ เพราะเขารู้ว่าเขากำลังทำสิ่งที่สำคัญยิ่ง

ชีวิตที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นได้เมื่อคน ๆ นั้นอุทิศตนเพื่อสิ่งที่สำคัญยิ่งใหญ่ และสิ่งที่สำคัญที่สุดในที่นี้คือ “แผ่นดินของพระเจ้า” (การปกครอง การครอบครองของพระเจ้า) ผู้นำหลายคนมีจิตใจวอกแวก-ไขว้เขว ไปสนใจในเรื่องที่ไร้สาระสำคัญ ถ้าเราจะนำคริสตจักรของพระคริสต์ให้บรรลุความสำเร็จการงานที่ยิ่งใหญ่ เราต้องเริ่มต้นด้วยการเห็นแผ่นดินของพระเจ้าในงานที่เราต้องทำ และเห็นว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ส่วนเรื่องอื่น ๆ นั้นให้ตามหลังแผ่นดินของพระเจ้า

[2] การเห็นและเข้าใจอย่างชัดเจน

ในฐานะผู้นำ เราจำเป็นต้องสามารถมองให้เห็นล่วงหน้าและเท่าทันถึงความทุกข์ยากลำบากที่ยังมาไม่ถึง เวลาที่เรากำลังทำสิ่งใหญ่สิ่งสำคัญ ปัญหาความยากลำบากจะเข้ามาหาเราเสมอ เนหะมีย์มีความชาญฉลาดและมีสายตาที่คมกริบอย่างไม่น่าเชื่อ ทุกครั้ง เมื่อมี “กับดัก” เขาสามารถรับรู้ได้ล่วงหน้า รู้เท่าทันสิ่งที่จะเกิดขึ้น 

ตัวอย่างเช่น เขาสามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่าศัตรูของเขาวางแผนที่จะทำร้ายเขา “...พวกเขาเจตนาจะทำอันตรายข้าพเจ้า” (เนหะมีย์ 6:2 มตฐ.) เมื่อศัตรูกลุ่มเดิมนี้กล่าวร้ายเนหะมีย์ว่า ตั้งตัวเป็นกษัตริย์กบฏต่อกษัตริย์เปอร์เซีย  เนหะมีย์กล่าวว่า “เพราะพวกเขาต้องการที่จะให้เราตกใจ...” (6:9 มตฐ.)

เนหะมีย์รู้ได้อย่างไร? เพราะเขาเป็นคนที่สามารถมองเห็นและรู้เท่าทันสิ่งที่อยู่ข้างหน้าด้วยการทรงชี้นำของพระเจ้า  และพระปัญญาของพระองค์ เพราะเขาติดสนิทกับพระเจ้าเสมอ

ในฐานะผู้นำ จำเป็นต้องมีความสามารถที่จะมองเห็นเท่าทันภัยที่รออยู่ข้างหน้า และมีทางเดียวที่เราจะได้สิ่งนี้ตามที่ยากอบบอกแก่เราว่า  “[5] แต่ถ้าใครในพวกท่านขาดสติปัญญา ให้คนนั้นทูลขอจากพระเจ้าผู้ประทานให้กับทุกคนด้วยพระทัยกว้างขวางและไม่ทรงตำหนิ...” (ยากอบ 1:5 มตฐ.) เมื่อเราใช้เวลาในการศึกษาพระวจนะของพระเจ้า เรากำลังรับเอาความคิดแบบพระคริสต์และมุมมองแบบพระองค์ เราจึงเป็นผู้นำที่สามารถมองการณ์ไกลได้ อย่างพระคริสต์  

[3] อธิษฐานอย่างต่อเนื่อง

คงไม่เป็นการกล่าวเกินเลยว่า “เนหะมีย์เสพติดการอธิษฐาน” การอธิษฐานคือสิ่งแรกในการตอบสนองในทุกเรื่องที่เขาประสบไม่ว่าเขาจะต้องพบกับอะไรก็ตาม น่าสังเกตว่า ใน เนหะมีย์ บทที่ 6 เขาไม่ได้ปกป้องตนเอง หรือ ทำการตอบโต้แก้เผ็ด เมื่อเขาถูกกล่าวหาผิด ๆ เขาเพียงตอบศัตรูว่าสิ่งที่พวกเขากล่าวหานั้นมิใช่ความจริง แล้วอธิษฐานต่อพระเจ้าในเรื่องนั้น

สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราในฐานะผู้นำพึงกระทำด้วย เมื่อคนกล่าวหาท่านอย่างผิด ๆ ในฐานะที่ท่านเป็นผู้นำ ท่านไม่จำเป็นต้องปกป้องตนเองเสียยืดยาว เพียงบอกกับเขาว่า “เรื่องนั้นไม่จริง” จากนั้นนำเรื่องนั้นทูลต่อพระเจ้า 

[4] การอดทนอย่างเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ

เมื่อท่านต้องทำงานใหญ่ในคริสตจักร หรือ ในชุมชนของท่าน อย่ายอมแพ้ง่าย ๆ ให้เราดำเนินการตามแผนงานนั้นอย่างต่อเนื่องตามที่พระเจ้าประสงค์ให้เราทำ มิใช่เพียงแต่แสดงออกว่าเรากล้าหาญในเวลาที่ยากลำบากเท่านั้น   เพราะการที่เรามีความกล้าหาญไม่ได้หมายความว่า เราไม่มีความกลัว แต่ความกล้าหาญเป็นการที่เราก้าวไปข้างหน้าแทนที่จะหลบซ่อนเก็บตัวด้วยความกลัว (แม้ขณะนั้นยังมีความกลัวอยู่ก็ตาม)

ในข้อที่ 11 เนหะมีย์กล่าวว่า “... คนอย่างข้าพเจ้ามีหรือจะหนี? คนอย่างข้าพเจ้าหรือจะหนีเข้าไปในพระวิหารเพื่อเอาชีวิตรอด? ข้าพเจ้าไม่ไป!” แน่นอนว่า เนหะมีย์รู้สึกกลัวด้วย เขารู้ว่าชีวิตของตนตกอยู่ในอันตราย แต่เขาก็รู้ด้วยว่าเขากำลังที่จะไปถึงหลักชัย เขาปฏิเสธที่จะหลบหนี

ไม่ใช่พระประสงค์ของพระเจ้าแน่ที่จะให้ท่านวิ่งหนีจากสถานการณ์ที่ยากลำบาก ตรงกันข้าม  พระเจ้าต้องการให้เราเผชิญหน้ากับความทุกข์ยากลำบากในขณะที่เราติดตามกระทำในสิ่งที่ดีที่สุดต่อคริสตจักรและชุมชน

ให้เราพิจารณาผู้นำตลอดประวัติศาสตร์ในพระคัมภีร์จนถึงปัจจุบัน เราสามารถประมวลและสังเคราะห์ได้เป็น 4 คุณลักษณะหลักของผู้นำที่มุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายปลายทางที่พระเจ้าประทานแก่เขา

โดยท่านสามารถถามตนเองว่า:

1) ท่านมีจุดประสงค์ที่สำคัญและน่าสนใจที่กระตุ้นหนุนเสริมและดันให้ท่านมุ่งไปข้างหน้าหรือไม่?

2) ท่านมีความรู้สึกไวทางจิตวิญญาณ และ รู้เท่าทันต่อสถานการณ์ที่ท่านต้องเผชิญหน้าอย่างไรบ้าง?

3) ท่านได้อธิษฐานอย่างสม่ำเสมอสำหรับงานที่พระเจ้าทรงเรียกให้ท่านทำหรือไม่?

4) ท่านยืนหยัดเด็ดเดี่ยวในการทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าอย่างกล้าหาญหรือไม่?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



24 สิงหาคม 2563

คริสตชนกล้า คริสตจักรแกร่ง!?

ในงานรับใช้ตามการทรงเรียกของพระเจ้า บ่อยครั้ง/หลายคนต้องประสบกับสถานการณ์ที่เลวร้าย ชีวิตที่ต้องพบกับความทุกข์ยากลำบากอย่างไม่จบสิ้น การถูกทรยศหักหลังจากคนใกล้ชิด คนสนิท คนในครอบครัว ท่านเคยพบกับเหตุการณ์ในทำนองนี้ไหมในงานรับใช้ของท่าน? ท่านรับมือกับสิ่งเหล่านั้นอย่างไร? ทำไมถึงต้องการเกิดขึ้นกับเราด้วย?

“ความเจ็บปวดไม่รู้จักจบสิ้น…ที่รุนแรงและไม่มีทางรักษาให้หาย”

เมื่อกล่าวถึงผู้เผยพระวจนะที่ต้องทนทุกข์เรามักจะคิดถึงเยเรมีย์ เยเรมีย์ต้องทนทุกข์ในช่วงเวลาที่เขาทำพันธกิจในชุมชน ซึ่งยาวนานประมาณ 40 ปีนี้มากพอที่จะทำให้ผู้เผยพระวจนะที่กล้าหาญต้องประหวั่นพรั่นพรึง เรื่องราวชีวิตของท่านกลายเป็นแรงบันดาลใจสำหรับผู้คนอื่น

ในช่วงแรกชีวิตการทรงเรียกของเยเรมีย์ดูราบรื่น เมื่อเยเรมีย์เริ่มเป็นผู้เผยพระวจนะเขาอยู่ในช่วงการปกครองของกษัตริย์โยสิยาห์ กษัตริย์ผู้เกรงกลัวพระเจ้า ผู้นำชนชาติอิสราเอลหันกลับมาหาพระเจ้า แต่หลังจากนั้น 12 ปี กษัตริย์โยสิยาห์สิ้นพระชนม์ กษัตริย์เยโฮยาคิม ผู้ปกครองยูดาห์ภายใต้มหาอำนาจบาบิโลนในเวลานั้นหันกลับไปนมัสการรูปเคารพ

หลังจากนั้นไม่นาน ก็ปรากฏว่าเยเรมีย์กลายเป็นตัวปัญหา ตกเป็นปรปักษ์ในสายตาของบรรดาผู้นำอิสราเอลทั้งหลาย แม้แต่พี่น้อง/ครอบครัวของเขาเองที่ทรยศหักหลังเยเรมีย์ (เยเรมีย์ 12:6) แต่การยืนหยัดเพื่อพระเจ้า และ ต่อต้านการนมัสการรูปเคารพ ที่เป็นงานที่ทำให้เขามีชื่อเสียงในอดีต มาบัดนี้กลับกลายเป็นงานที่ทำให้เขากลายเป็น “คนขายชาติ” การข่มเหงทำร้ายทำลายนั้นรุนแรง และ ความเจ็บปวดเพิ่มมากขึ้น จนเยเรมีย์กล่าวว่า “...ทำไมความเจ็บของข้าพระองค์จึงไม่หยุดยั้ง บาดแผลของข้าพระองค์ก็รักษาไม่หาย มันไม่ยอมหาย?...” (เยเรมีย์ 15:18 มตฐ.)

ให้เราไตร่ตรองความคิดนี้สักครู่หนึ่งที่ว่า “การรับใช้พระเจ้าด้วยความสัตย์ซื่อกลับได้รับผล “ความเจ็บปวดที่ไม่หยุดยั้ง” และ “บาดแผลชีวิตก็ไม่หายสักที”  

หัวหน้าปุโรหิตได้โบยตีและจับเยเรมีย์ใส่ขื่อ (เยเรมีย์ 20:1-2) ผู้นำศาสนาในเวลานั้นได้รวมหัวกันและเข้าไปหาและบอกนักการเมืองและประชาชนอิสราเอลว่า “ชายคนนี้ควรได้รับโทษถึงตาย...” (เยเรมีย์ 26:11)

เยเรมีย์มีชีวิตอยู่เพื่อดูว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่แน่นอนว่าเขาไม่เคยกลายเป็นผู้เผยพระวจนะที่ได้รับความนิยมและเป็นที่เคารพอีกเลย เมื่อเปรียบเทียบกับนักเขียนคริสตชนชื่อดัง หรือ นักเทศน์เรืองนามในสื่อออนไลน์ในปัจจุบัน ครั้งหนึ่ง เยเรมีย์ได้ให้เขียนคำเผยพระวจนะจากพระเจ้าแล้วให้นำไปถวายกษัตริย์เยโฮยาคิม เยโฮยาคิมให้อ่านคำเผยพระวจนะ  เมื่ออ่านถึงตอนไหนก็ให้ตัดถึงส่วนนั้นโยนเข้าไปในเตาไฟ ม้วนหนังสือคำเผยพระวจนะของเยเรมีย์ถูกเผาไฟหมดสิ้น

กษัตริย์เยโฮยาคิมสิ้นพระชนม์ พระโอรสของพระองค์ขึ้นครองราชย์ต่อในช่วงเวลาสั้น ๆ จากนั้นเยเรมีย์ได้เผยพระวจนะที่สำคัญยิ่งว่า ผู้อ่อนแอที่สุดจะได้เป็นกษัตริย์ เศเดคียาห์ได้ขอให้ผู้เผยพระวจนะเยเรมีย์อธิษฐานเพื่อตน   แต่เมื่อเยเรมีย์ได้เผยพระวจนะอีก เศเดคียาห์กลับให้จับเยเรมีย์ไปขังในคุกใต้ดิน “ดังนั้นเยเรมีย์จึงถูกขังอยู่ในคุกมืด และอยู่ที่นั่นหลายวัน” (เยเรมีย์ 37:16 มตฐ.) ในที่สุด เศเดคียาห์ให้นำเยเรมีย์ออกจากคุกมืด เยเรมีย์ขอต่อกษัตริย์ว่า ขออย่าส่งตนกลับเข้าไปยังคุกมืดนั้นอีก เพราะเขาจะตายเสียในคุกมืดนั้น (เยเรมีย์ 37:20)

ลองคิดดูก็แล้วกัน: เขาได้รับการทรงเรียกให้ทำพันธกิจชุมชนสังคม แต่กลับถูกหักหลังโดยครอบครัวของตน และผู้นำทางองค์กรศาสนา แล้วถูกตราหน้าว่าเป็นคนทรยศต่อชาติจากผู้ปกครองประเทศ ยืนหยัดท่ามกลางความโดดเดี่ยว ถูกข่มเหงเพราะความสัตย์ซื่อของตน แล้วใครบ้างล่ะที่จะไม่เกิดความขมขื่นเจ็บช้ำในชีวิต? 

แต่นี่เป็นการเผชิญกับความทุกข์ยากในชีวิตของเยเรมีย์ที่เพิ่งเริ่มต้น

ข้าราชการบางคนได้ขอให้เศเดคียาห์จัดการเยเรมีย์ให้ตาย แต่กษัตริย์ผู้อ่อนแอไม่สามารถปฏิเสธคำขอใด ๆ ของใครก็ตาม กษัตริย์ตรัสกับข้าราชการกลุ่มนั้นว่า “...นี่แน่ะ ชายคนนี้อยู่ในมือของพวกท่านแล้ว...” (เยเรมีย์ 38:5)   พวกเขาจึงจับเยเรมีย์มัดเชือกหย่อนลงไปในบ่อขังน้ำที่มีแต่โคลน และเยเรมีย์ต้องจมอยู่ในโคลนนั้น (ข้อ 36) ที่มีกลิ่นเหม็น มีแต่ความมืด แมลง ความสกปรก และสิ่งปฏิกูลของตนเอง ต้องทนดมกลิ่นเหม็นตลอดเวลา

ต่อมา กษัตริย์รู้สึกสงสารเยเรมีย์ พระองค์ให้คนช่วยกันนำเยเรมีย์ขึ้นจากบ่อโคลนนั้น แล้วให้จำขังที่แห้ง

ในที่สุด คำเตือนของเยเรมีย์ไม่ได้รับการปฏิบัติ เยเรมีย์และประชาชนอิสราเอลส่วนหนึ่งถูกจับตัวกวาดต้อนไปเป็นเชลยในต่างแดน และถ้าเราพิจารณาเปรียบเทียบกับคนที่มีชื่อเสียง ความสามารถ  หรือ ความมั่งคั่งในปัจจุบัน  เป็นนักบริหารที่มือฉมัง นักการตลาดที่หาตัวจับยาก นักวิชาการที่แหลมคม นักวิเคราะห์ที่เจาะทะลุปรุโปร่ง นักเทศน์ปากกล้า ศิษยาภิบาลที่มีสมาชิกนับหมื่นนับพัน และ ฯลฯ แน่นนอนครับ ท่านเหล่านั้นมีชื่อเสียง ท่านมีตำแหน่ง ท่านมีคนยอมรับ ท่านมีอำนาจ... แต่ถ้าคนเหล่านี้กลับต้องประสบกับความล้มเหลวในชีวิต แล้วท่านเหล่านี้จะเป็นอย่างไรในชีวิต?

แต่เยเรมีย์ยังคงยืนหยัดบนรากฐานพระวจนะจากพระเจ้าด้วยความเชื่อที่แกร่งกล้า ด้วยความสัตย์ซื่อ และยึดมั่นแน่วแน่ที่จะอุทิศทั้งชีวิตเพื่อพระประสงค์ของพระเจ้า

ครู-อาจารย์ในทุกวันนี้จะต้องชื่นชมในแบบอย่างชีวิตของเยเรมีย์ ในยุคนี้มิใช่คริสตชนที่อ่อนแอกระทำสิ่งดี สื่อออนไลน์ยอดนิยมในรูปแบบต่าง ๆ ที่ผุดขึ้นอย่างดอกเห็ดจะเป็นปฏิปักษ์ต่อคริสต์จริยธรรม (โดยเฉพาะอย่างยิ่งจริยธรรมทางเพศ) และความเชื่อพื้นฐานของคริสตชนถูกมองอย่างเยาะเย้ย และถ้าคริสตชนคนใดไม่กล้าแกร่งพอเขาอาจจะไม่สามารถแสดงชัดถึงการเป็นผู้เชื่อที่ชัดเจนอย่างสัตย์ซื่อ

“ผ่านความทุกข์ยากมากมาย”  

เป็นหน้าที่และการทรงเรียกของคริสตจักรที่จะต้องบ่มเพาะเลี้ยงดูสมาชิกชายหญิงให้มีชีวิตความเชื่อที่แกร่งอย่างเยเรมีย์ เพื่อเมื่อต้องเผชิญหน้ากับการข่มเหงที่รุนแรงชีวิตจะไม่ล้มเหลวและล้มเลิกความเชื่อที่สัตย์ซื่อ ไม่ว่าจะเป็นการเผชิญหน้ากับการที่ตนเองถูกทดลองล่อลวง หรือยืนหยัดแข็งแกร่งเหนียวแน่นที่จะไม่ยอมโอนเอนไปตามความคิด และ ความนิยมตามกระแสความทันสมัยที่ไม่สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้า ทั้งในพระวจนะและประวัติศาสตร์คริสตจักรเราพบชัดเจนว่า พระเจ้ายอมให้คริสตจักรของพระองค์มีช่วงเวลาชีวิตบางช่วงที่ต้องฝ่าฟันผ่านทะลุของการถูกข่มเหงทำร้าย  

ในช่วงเวลาเช่นนั้น คริสตชนและคริสตจักรจะต้องตัดสินใจว่า ตนจะเลือกการที่มีชีวิตที่ทนทุกข์ยากลำบาก สูญเสีย หรือแม้แต่การถูกทำร้ายหรือทำลาย หรือเลือกที่จะกระทำตามความคิด ความต้องการ หรือ ความนิยมตามกระแสสังคมในเวลานั้น การตัดสินใจเลือกวิถีการดำเนินชีวิตนี้ขึ้นอยู่กับรากฐานความเชื่อและกรอบคิด (mindset) ของคริสตชนคนนั้น ๆ และ คริสตจักรนั้น ๆ

แต่การที่คริสตชน และ คริสตจักร จะแกร่งกล้ายืนหยัดมั่นคงท่ามกลางพายุของอำนาจแห่งความชั่วร้ายที่โหมกระหน่ำกรรโชกรุนแรง หรือ การกัดเซาะบ่อนทำลายจากกระแสสังคมได้อย่างมั่นคงสัตย์ซื่อนั้น คริสตจักรจะต้องมีการบ่มเพาะ เสริมสร้าง และ เตรียมพร้อมพลังชีวิตของคริสตชนและคริสตจักร พร้อมรับมือกับภัยร้ายรอบด้านชีวิตที่ถาโถมเข้ามา

แต่ถ้าเราไม่มีการวางรากฐานความเชื่อศรัทธา มิได้บ่มเพาะความเชื่อ และเสริมสร้างพลังชีวิตในการเป็นสาวกพระคริสต์ที่พร้อมเผชิญหน้า “ภัยพิบัติแห่งชีวิต” ที่จะเกิดขึ้นแก่เราโดยไม่แจ้งล่วงหน้า เมื่อมันโหมกระหน่ำเข้ามาในชีวิตคริสตชน และ คริสตจักร ทั้งคริสตชน และ คริสตจักรก็จะไม่สามารถยืนหยัดมั่นคงอยู่ได้

ในพระธรรมกิจการ พันธกิจหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ที่เปาโลกระทำคือ การหนุนเสริมเพิ่มพลังชีวิตจิตวิญญาณของสาวกพระคริสต์ด้วยพระวจนะของพระเจ้า เปาโลและบารนาบัส “ท่านทั้งสองทำให้บรรดาสาวกมีจิตใจเข้มแข็งขึ้น และหนุนใจพวกเขาให้ดำรงอยู่ในความเชื่อ โดยกล่าวว่า เราจะต้องทนความยากลำบากหลายอย่างในการเข้าสู่แผ่นดินของพระเจ้า” (กิจการ 14:22 มตฐ.) คริสตจักรในยุคเริ่มแรก คาดหวังว่าพวกเขาจะถูกข่มเหง จึงได้มีการหนุนเสริมเพิ่มพลังความเชื่อและกำลังใจแก่คริสตจักร แทนที่คริสตชนและคริสตจักรจะถูกปล่อยทิ้งให้ชีวิตเป็นไปตามยถากรรมที่ตกอยู่ในความสงสัยและสิ้นหวัง และถูกพัดพาไปด้วยกระแสสังคม

แล้วคริสตชน และ คริสตจักรของเราในขณะนี้ได้กระทำอะไรบ้างไหมสำหรับเตรียมรับมือกับความทุกข์ยากลำบาก  ที่ถาโถม กระหน่ำซัดเข้ามาในชีวิตของพวกเราและคริสตจักร? เรามีกระบวนการ วิธีการ บ่มเพาะ เสริมสร้าง และเตรียมพร้อมคริสตจักรของเราอย่างไรบ้างครับ?

คริสตชนของเรากล้า และ คริสตจักรของเราแกร่ง แล้วหรือยัง?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



21 สิงหาคม 2563

การดีที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้สำหรับท่านมีอะไรบ้าง?

ตามเอเฟซัส 2:10 เราได้รับการทรงสร้าง (เป็นผลงาน หรือ ฝีพระหัตถ์) ในพระคริสต์ให้กระทำ “การดี” งานที่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้า ที่พระองค์ได้จัดเตรียมไว้ล่วงหน้าสำหรับเรา พูดอย่างนี้ทำให้เกิดคำถามว่า... 

แล้วอะไรบ้างคือ “การดี” ที่พระเจ้าจัดเตรียมให้เราแต่ละคนกระทำ?

เอเฟซัส 2:10 สอนเราให้มองทั้งชีวิตอย่างมีความเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกันในการที่จะกระทำการดีเพื่อตอบสนองต่อพระคุณของพระเจ้าที่มีในชีวิตของเรา ด้วยการกระทำ “การดี” ที่พระเจ้าได้เตรียมไว้เพื่อเรา มีทั้งในที่ทำงาน หรือ ในห้องเรียน ในไร่นา ในสวน ในบ้าน ในห้องครัว รวมทั้งในคริสตจักร และกับเพื่อนบ้านเรือนเคียงของเรา เมื่อเราเริ่มกระทำเรายิ่งจะเรียนรู้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่า พระเจ้าทรงจัดเตรียม “การดี” อะไรอีกบ้างให้เรากระทำ

[8] เพราะว่าท่านทั้งหลายได้รับความรอดโดยพระคุณผ่านทางความเชื่อ ความรอดนี้ไม่ได้มาจากตัวท่านเอง แต่เป็นของประทานจากพระเจ้า [9] ไม่ใช่ความรอดโดยการประพฤติ เพื่อจะไม่มีใครอวดได้ [10] เพราะเราทั้งหลายเป็นผลงานของพระเจ้าซึ่งทรงสร้างในพระเยซูคริสต์เพื่อให้ทำการดีที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้ล่วงหน้าให้เราทำ   (เอเฟซัส 2:8-10 อมธ.)

พวกเราหลายคนอาจมีแนวโน้มที่จะตอบคำถามนี้ด้วยการชี้ไปในสิ่งที่เฉพาะเจาะจงที่คริสตชนมักจะทำเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความเชื่อของตน เช่น การเข้าร่วมนมัสการพระเจ้า การอธิษฐานอย่างสม่ำเสมอ ศึกษาพระวจนะของพระเจ้า ถวายทรัพย์ด้วยใจกว้างขวาง เข้าร่วมในกลุ่มเล็ก ไปร่วมทำพันธกิจที่คริสตจักรจัดขึ้น เอาใจใส่คนยากไร้ กระทำการยุติธรรมเพื่อคนที่ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบ รักเพื่อนบ้านของเรา และอื่น ๆ อีก แน่นอนว่า การกระทำเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในการดีที่พระเจ้าได้จัดเตรียมไว้ล่วงหน้าให้เรากระทำ ให้เราเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้ในฐานะที่เราได้รับการเปลี่ยนแปลงและสร้างใหม่โดยพระคุณของพระเจ้าทางพระคริสต์

แต่ถ้า “การดี” ที่ว่านี้ถูกขีดเส้นจำกัดกรอบเพียงกิจกรรมที่กล่าวข้างต้นนี้ เราก็จะพลาดจาก “การดี” ตามแผนการที่พระเจ้าได้จัดเตรียมให้เราแต่ละคนกระทำที่กว้างไกลและลุ่มลึกกว่ามาก ตามรากศัพท์ในภาษากรีกของพระคัมภีร์ตอนนี้มีความหมายครอบคลุมถึง รูปแบบการดำเนินชีวิตตามแบบสาวกพระคริสต์ ที่มิใช่เพียง “การดี” ที่เป็นกิจกรรมเกี่ยวกับศาสนาหรือความเชื่อเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงชีวิตทั้งหมดในแต่ละวันของเราทุกอย่างทุกด้าน   “การดี” ที่กล่าวในข้อนี้หมายถึง การดีในทุกเรื่องในชีวิตประจำวันของเรา

พระธรรมเอเฟซัส 2:10 เหมือนกับจดหมายฉบับอื่น ๆ ของเปาโลที่มองว่า ทั้งสิ้นในชีวิตเป็นอยู่โดยพระเจ้าและเพื่อพระเจ้า เช่น 

โรม 12:1 ข้าพเจ้าจึงวิงวอนท่านทั้งหลายให้ถวายตัวของท่านแด่พระองค์ เพื่อเป็นเครื่องบูชาอันบริสุทธิ์ที่มีชีวิต และเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า...” (มตฐ.) การถวายชีวิตนี้ไม่ได้หมายถึงชีวิตที่อยู่ในคริสตจักรเท่านั้น แต่ในทุกที่ทุกสถานการณ์ในชีวิตประจำวันของเรา 

เช่นกัน ในโคโลสี 3:17 “และไม่ว่าท่านจะทำสิ่งใด จะเป็นวาจาหรือการกระทำก็ตาม จงทำทุกสิ่งในพระนามขององค์พระเยซูเจ้า...” (อมธ.)

ดังนั้น ไม่ว่าเราจะทำ “การดี” ทั้งในคริสตจักร หรือ ในสังคมชุมชนเพื่อคนเล็กน้อย เอเฟซัส 2:10 ขอให้เรามองเรื่องเหล่านี้ถึง “การดี” ที่เกี่ยวข้องทั้งชีวิต แล้วให้กระทำเพื่อเป็นการทำถวายแด่พระเจ้า นั่นหมายความว่า “การดี” ที่พระเจ้าจัดเตรียมไว้ล่วงหน้าเพื่อให้เราทำนั้นรวมไปถึงงานชีวิตในที่ทำงาน ในที่เรียน ในที่ตลาดร้านค้า และในบ้าน ในฐานะที่เราเป็นพ่อแม่ “การดี” รวมไปถึงการจัดเตรียมอาหารให้คนในครอบครัว การอธิษฐานร่วมกันในครอบครัว... ยิ่งเราเติบโตขึ้นในความเชื่อศรัทธามากแค่ไหน เราก็ยิ่งจะเห็นถึงชีวิตของเราที่เป็นผลงานชิ้นเอกของพระเจ้าในตัวเรามากขึ้นแค่นั้น และเราจะทำทุกสิ่งทุกอย่างในพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า โดยพระกำลังของพระองค์ ภายใต้สิทธิอำนาจของพระองค์ เพื่อให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์

ขณะที่ท่านทำงานในวันนี้ ให้เราตระหนักเสมอว่า ไม่ว่าเรากำลังทำอะไร เรากำลังทำ “การดี” ตามพระประสงค์ของพระเจ้าที่จัดเตรียมไว้ล่วงหน้าเพื่อเรา ให้เรากระทำเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระองค์  

วันนี้ท่านทำงานที่เป็น “การดี” ที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้ให้ท่านทำครับ!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499




19 สิงหาคม 2563

เราไม่ได้รอดด้วยการกระทำดี?

แล้วเราจะรับ “ความรอด” ไปทำไม?

ถ้าเช่นนั้น เราไม่ต้องทำดีก็รอดได้ใช่ไหม? ชีวิตที่ได้รับความรอดจึงไม่จำเป็นต้องทำการดีหรือเปล่า? ถ้าเช่นนั้น เรามี “ความรอด” ไปเพื่ออะไร? จำเป็นด้วยหรือที่เราต้องมีความรอด?

ในเอเฟซัส บทที่ 2 กล่าวไว้ชัดเจนว่า เราไม่ได้รับความรอดเพราะการทำดีของเรา เรารอดโดยพระคุณของพระเจ้าทางความเชื่อ แต่ที่เราได้รับความรอดก็เพื่อเราจะได้กระทำกิจการงานที่ดีที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้ล่วงหน้าให้เรากระทำ  

พระคุณของพระเจ้าทรงกอบกู้ให้เรารอดออกจากวิถีชีวิตเดิมเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ในพระคริสต์ เป็นความรอดของชีวิตทุกด้าน เพื่อเราจะมีโอกาสและสามารถที่จะเข้าร่วมมีส่วนทำการดีตามพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับโลกนี้

ในมุมมองและความเข้าใจของคริสตชนส่วนใหญ่จะมองว่า ความเชื่อ การกระทำในชีวิต และความรอด มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างสับสนแตกต่างกันออกไป กล่าวคือ บางคนคิดว่าการกระทำดีของเราทำให้เราได้รับความรอด ซึ่งเป็นความคิดที่ขัดแย้งแตกต่างจากเอเฟซัส บทที่ 2 บ้างกลับคิดว่าการทำดีไม่เกี่ยวข้องอะไรกับความรอด และนี่ก็เป็นความคิดที่แตกต่างจากเอเฟซัส บทที่ 2

[8] เพราะว่าท่านทั้งหลายได้รับความรอดโดยพระคุณผ่านทางความเชื่อ ความรอดนี้ไม่ได้มาจากตัวท่านเอง แต่เป็นของประทานจากพระเจ้า [9] ไม่ใช่ความรอดโดยการประพฤติ เพื่อจะไม่มีใครอวดได้ [10] เพราะเราทั้งหลายเป็นผลงานของพระเจ้าซึ่งทรงสร้างในพระเยซูคริสต์เพื่อให้ทำการดีที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้ล่วงหน้าให้เราทำ  (เอเฟซัส 2:8-10 อมธ.)

ในข้อที่ 10 ต้นประโยคกล่าวชัดว่า “เพราะเราทั้งหลายเป็นผลงานของพระเจ้า” ที่ทำให้เราต้องใส่ใจในรายละเอียดของพระธรรมข้อนี้ที่มีสัจจะความจริงที่ไม่ธรรมดา

ข้อความทั้งหมดของข้อที่ 10 ที่ต่อจากประโยคแรกที่กล่าวข้างต้นที่ว่า เราเป็นผลงานของพระเจ้าซึ่งทรงสร้างในพระเยซูคริสต์ แล้วบอกชัดเจนว่า “...เพื่อให้ทำการดีที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้ล่วงหน้าให้เราทำ” ถ้าเราอ่านพระธรรมข้อนี้แบบผ่าน ๆ เราจะเกิดความความเข้าใจที่สับสน เปาโลพูดเสียยืดยาวเพื่อบอกผู้อ่านว่า ความรอดที่เราได้รับนั้นมิได้มาจากการทำดีของเราเองใช่ไหม? แต่ในตอนท้ายข้อทำไมกลับมาพูดว่า เราได้ถูกสร้างขึ้นใหม่ในพระเยซูคริสต์เพื่อกระทำการดี?

ให้เราอ่านอย่างระมัดระวังในตรรกะที่เปาโลใช้ ใช่ครับ เราได้รับความรอดโดยพระคุณพระเจ้าทางความเชื่อ เราจึงไม่ได้รับความรอด “โดยการประพฤติ...” แน่นอนชัดเจนว่าเราไม่ได้รอดด้วยการกระทำดีของเราเอง นี่คือฐานเชื่อกรอบคิดหนึ่ง (mindset) ของคริสตชนที่แตกต่างจากหลักคิดหลักเชื่อของหลาย ๆ ศาสนาและหลักปรัชญาทั้งหลายอย่างสิ้นเชิง

ดังนั้น เราจึงไม่ได้รับความรอดเพราะการประพฤติดีของเราเอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การประพฤติดี กระทำดีการกระทำถูกนั้นไม่เกี่ยวข้องกับความรอด ในเอเฟซัสกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า ความรอด และ การทำการดีนั้นเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด การกระทำดีมิได้นำถึงซึ่งความรอด แต่การกระทำดีนั้นเป็นผลพวงจากการที่คน ๆ นั้นได้รับความรอด  

เรากล่าวได้ว่า “เราไม่ได้มีชีวิตรอดด้วยการกระทำดี แต่เราได้รับความรอดในชีวิตเพื่อที่จะทำการดี” และการกระทำดีเป็นตัวบ่งชี้ หรือ ชี้วัดว่า เรามีชีวิตที่ได้รับความรอดในพระคริสต์

ถ้าเรายังไม่ได้รับความรอด แล้วเราจะทำการที่ดีตามพระประสงค์ของพระเจ้าที่เตรียมไว้ได้อย่างไร? เราจะมีพลังชีวิตทำการดีที่พระเจ้าเตรียมไว้อย่างไรได้?

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ในเอเฟซัส 2:4-8 ความรอดจึงมิใช่เหมือน “บัตรผ่านประตูเข้าสวรรค์” เมื่อตายแล้ว แต่ความรอดเป็นการที่เราได้รับชีวิตใหม่โดยความรักเมตตาและพระคุณของพระเจ้าผ่านทางพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ที่กระทำบนโลกนี้ เมื่อเราได้รับความรอดเข้าสู่ชีวิตใหม่ ยังผลให้เราดำเนินชีวิตในวิถีชีวิตใหม่คือชีวิตในพระคริสต์ในโลกนี้ ด้วยร่างกายเดิมของเรา แต่ในวิถีการดำเนินชีวิตใหม่ที่พระเจ้าได้เตรียมไว้ล่วงหน้าเพื่อเรา

ในบางครั้งการดำเนินชีวิตของเราก็ตกหลุมตกร่องจากวิถีชีวิตที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้ กลับไปมีชีวิตในเส้นทางเดิม โดยไม่รู้ ไม่ตระหนัก หรือ มองข้าม “การดี” ที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมให้เรากระทำหลังได้รับความรอดแล้ว

แท้จริงแล้ว การที่เราได้รับความรอดเพราะพระราชกิจของพระเจ้า และที่เรารอดเป็นผลงานชิ้นเอกที่พระเจ้าทรงกระทำโดยทางพระเยซูคริสต์ ยิ่งกว่านั้น พระองค์ยังได้ทรงจัดเตรียม “การดี” ให้เรากระทำเมื่อได้รับความรอดแล้ว   การดีที่ว่านี้ เป็นพระราชกิจแห่งการกอบกู้พลิกฟื้นโลกนี้ขึ้นใหม่ เป็นพระราชกิจการเสริมสร้างใหม่ในสิ่งที่แตกหัก เสียหาย และพังทลาย ให้กลับมาเป็นสังคมโลกใหม่ เป็นสังคมโลกที่เกิดผลดี และทำให้สรรพชีวิตที่พระองค์ทรงสร้างกลับสู่คุณค่าความหมายตามพระประสงค์แห่งการทรงสร้างเดิมของพระองค์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499




17 สิงหาคม 2563

ผลงานชิ้นเอกของพระเจ้า

ถ้ามีคนมาถามท่านว่า “ท่านเป็นใคร” 

ท่านจะอธิบายอย่างไรว่าท่านเป็นใคร?

ในเอเฟซัส 2:10 เปาโลกล่าวว่า เราเป็นผลงานในพระราชกิจ หรือ ฝีมือของพระเจ้า “ความรอดในชีวิตที่เราได้รับ” เป็นผลงานชิ้นเอกของพระองค์ นี่มิใช่เพราะว่าเรามีสุขภาวะชีวิตที่แข็งแรง หรือเพราะชีวิตเราประสบความสำเร็จแค่ไหน หรือเพราะเราเป็นคนดีมีศีลธรรมเช่นไร ที่เราแต่ละคนเป็นผลงานชิ้นเอกของพระเจ้าเพราะการกระทำพระราชกิจของพระเจ้าในชีวิตของเราโดยพระคุณของพระองค์ เราได้รับการเสริมสร้างให้เป็นคนใหม่ มีชีวิตใหม่ในพระคริสต์เพื่อที่เราแต่ละคนจะมีสัมพันธภาพที่สนิทแนบแน่นกับพระองค์ และเพื่อเป็นที่สรรเสริญถวายพระเกียรติแด่พระองค์ อีกทั้ง พระเจ้าได้กำหนดแผนงานที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตสำหรับเราแต่ละคน (ตามแผนงานของพระเจ้า ไม่ใช่ตามใจปรารถนาของเราเอง)

[8] เพราะว่าท่านทั้งหลายได้รับความรอดโดยพระคุณผ่านทางความเชื่อ ความรอดนี้ไม่ได้มาจากตัวท่านเอง แต่เป็นของประทานจากพระเจ้า [9] ไม่ใช่ความรอดโดยการประพฤติ เพื่อจะไม่มีใครอวดได้ [10] เพราะเราทั้งหลายเป็นผลงานของพระเจ้าซึ่งทรงสร้างในพระเยซูคริสต์เพื่อให้ทำการดีที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้ล่วงหน้าให้เราทำ (เอเฟซัส 2:8-10 อมธ.)

เอเฟซัส 2:10 ช่วยให้เราเข้าใจว่าตนเองเป็นใคร และสามารถตอบคนที่ถามว่าท่านเป็นใครได้ด้วย ในข้อที่ 10 นี้ตอบว่า “เราเป็นผลงานของพระเจ้า” (อมธ. และ ขจง.) หรือ ในบางฉบับภาษาไทยแปลว่า “เราเป็นฝีพระหัตถ์ของพระเจ้า” (มตฐ., 1971, KJV ไทย,)

ตามตัวบทของเอเฟซัส 2:10 มิได้มีความหมายถึงร่างกายของเราที่เป็นอยู่ได้เพราะพลังอันสร้างสรรค์ของพระเจ้าเท่านั้น ถึงแม้ความจริงสูงสุดก็เป็นเช่นนั้นก็ตาม แต่พระคัมภีร์ข้อนี้เน้นความหมายที่ “อัตลักษณ์ใหม่ในพระเยซูคริสต์ หรือ ตัวตนใหม่ของเราในพระเยซูคริสต์”

ซึ่งมีความหมายเหมือนกับ 2โครินธ์ 5:17 ที่กล่าวว่า “[17] ฉะนั้นถ้าใครอยู่ในพระคริสต์ เขาก็เป็นคนที่ถูกสร้างใหม่แล้ว สิ่งสารพัดที่เก่า ๆ ก็ล่วงไป นี่แน่ะกลายเป็นสิ่งใหม่ทั้งนั้น” (มตฐ.) เมื่อเราตอบรับพระคุณพระเจ้าเข้าในชีวิตของเราแล้ว มิเพียงแต่เรามีความมั่นใจในความรอดในอนาคตเท่านั้น แต่เราจะได้รับการสร้างใหม่ด้วยพลังอันสร้างสรรค์ของพระเจ้า พระองค์ได้เปลี่ยนแปลงให้เราเป็นคนใหม่ในปัจจุบัน ถึงแม้เรายังมีชีวิตในร่างกายเดิมก็ตาม   และนี่คือ “ผลงานของพระเจ้า” หรือ “ฝีพระหัตถ์ของพระเจ้า”

“ผลงานชิ้นเอกของพระเจ้า” เป็นการสื่อความหมายถึงการที่พระคริสต์ทรงสร้างชีวิตของเราขึ้นใหม่ในพระองค์ ซึ่งเป็นการอธิบายถึงธรรมชาติใหม่ หรือ ตัวตนใหม่ การที่เรามีชีวิตใหม่ในพระคริสต์ อันเป็นการทรงสร้างใหม่สุดยอดของพระเยซูคริสต์ที่ทรงกระทำในชีวิตของเราแต่ละคน

ผมยอมรับว่า เราอาจจะมีความรู้สึกว่าเราเป็น “ผลงานชิ้นเอก” ของพระเยซูคริสต์ แต่หลายท่านอาจจะรู้สึกว่าชีวิตของตนในตอนนี้ยังอยู่ห่างไกลจาก “ผลงานชิ้นเอก” ของพระคริสต์ เช้านี้เองเรารู้สึกขี้เกียจอย่างมากที่จะลุกจากที่นอน หรือเราที่เป็นผู้สูงวัยร่างกายดูเชื่องช้าลงอย่างถนัดตาเห็น เราไม่สามารถทำอะไรต่อมิอะไรที่คล่องแคล่วรวดเร็วอย่างในอดีต หรือบางท่านอาจจะรู้สึกว่าตนยังดำเนินชีวิตด้านจริยธรรมที่ล้มเหลว หรือ อะไรอีกหลายเรื่อง...   ท่านมีคำถามในใจว่า “แล้วเราจะเป็นผลงานชิ้นเอก” ของพระคริสต์ได้อย่างไร?

แต่คำตอบยังยืนยันอย่างเดิมว่า ท่านเป็นผลงานชิ้นเอกของพระคริสต์ เพราะการที่เราเป็นผลงานชิ้นเอกของพระคริสต์นั้นมิได้ขึ้นอยู่กับว่าชีวิตของเราแต่ละคนมีความสมบูรณ์แบบแค่ไหน ความสมบูรณ์แบบในชีวิตใหม่เป็นกระบวนการพระราชกิจของพระคริสต์ที่กระทำอย่างต่อเนื่องเป็นขั้นตอน แต่ที่เราแต่ละคนเป็นผลงานชิ้นเอกของพระคริสต์เพราะสิ่งที่พระเจ้าทรงกระทำเริ่มสำเร็จในชีวิตของเราโดยพระคุณของพระเจ้า ชีวิตของเราได้กลายเป็นชีวิตใหม่อย่างน่าอัศจรรย์ด้วยผลงานของพระเยซูคริสต์ เพื่อเราแต่ละคนจะมีสัมพันธภาพกับพระเจ้าและมีชีวิตอยู่เพื่อถวายพระเกียรติแด่พระองค์ สิ่งนี้เป็นความจริงที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความรู้สึกของเราท่าน

วันนี้ ให้เราเขียนข้อความ “ท่านเป็นผลงานชิ้นเอกของพระเจ้า” ทำเป็นปลอกข้อมือ แล้วใช้พันรอบแขนของท่าน เพื่อช่วยเตือนท่านตลอดวันนี้ไม่ว่าในที่ทำงาน หรือ ในบ้าน เพื่อเตือนตนเองว่า “เราเป็นผลงานชิ้นเอกของพระคริสต์” ให้สัจจะความจริงบนปลอกข้อมือกระตุ้นเตือนเราว่าเราควรคิดอย่างไร เราควรรู้สึกอย่างไร ควรจะพูดอย่างไร และเราควรกระทำเช่นใดในฐานะ “ผลงานชิ้นเอกของพระคริสต์”

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499




14 สิงหาคม 2563

อย่ามองข้ามพระประสงค์...ที่ประทานความรอดแก่เรา!

เราเคยถามใจตนเองบ้างไหมว่า...ทำไมเราถึงต้องการความรอด?

ผมมักได้คำตอบในทำนองว่า เพื่อเมื่อเราตายแล้วไม่ต้องตกนรกหมกไหม้ แต่จะได้ไปสวรรค์ สถานที่ที่มีแต่ความสุขนิรันดร์ นี่เป็นสิ่งที่เราต้องการตามใจปรารถนาของเรา  

ถ้าเช่นนั้น เราเคยถามบ้างไหมว่า แล้วทำไมพระเจ้าถึงกอบกู้ชีวิตเราให้รอด? พระองค์มีพระประสงค์อะไร?

ความรอดเป็นของประทานจากพระเจ้า พระองค์ต้องมีพระประสงค์ที่กอบกู้ให้เรารอดอย่างแน่นอน  ซึ่งเรามักมองข้าม และ น้อยคนนักที่จะถามว่า แล้วพระเจ้ามีพระประสงค์อะไรที่มาช่วยกอบกู้มนุษย์เราท่านให้ได้มีชีวิตที่ได้รับความรอด

บ่อยครั้งเราตื่นเต้นกับข่าวดีแห่งความรอดโดยพระคุณของพระเจ้าทางความเชื่อ แต่เรากลับมองข้ามสิ่งที่ความรอดต้องการนำเราไปให้ถึง  คือการที่เราจะมอบกายถวายชีวิตในการกระทำ “การดี” ที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมให้เรากระทำ (เอเฟซัส 2:8-10)  

“เราไม่ได้รอดเพราะการกระทำดีของเรา  
แต่เรารอดเพื่อกระทำดี...ตามที่พระเจ้าเตรียมไว้
ให้เราร่วมในการสานต่อพระราชกิจของพระองค์ในโลกนี้”

เราได้ยินถึง “พระมหาบัญชา” ของพระเยซูคริสต์ ที่อยู่ตอนท้ายของพระกิตติคุณมัทธิว ที่กล่าวว่า “สิทธิอำนาจสิ้นในสวรรค์ก็ดี ในแผ่นดินโลกก็ดีทรงมอบไว้แก่เราแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงออกไปและนำชนทุกชาติมาเป็นสาวกของเรา...” (มัทธิว 28:18-19 มตฐ.) นี่คือพระราชกิจที่พระคริสต์ทรงจัดเตรียมไว้ให้ผู้ที่ได้รับความรอดกระทำสานต่อพระประสงค์ของพระองค์ แต่อย่างไรก็ตาม เราส่วนมากอาจจะมองข้าม “พระประสงค์ของพระเจ้าที่สำแดงผ่านทางเปาโล” ตามที่ปรากฏใน เอเฟซัส 2:10 ที่ว่า

“เพราะว่าเราเป็น “ผลงานของพระเจ้า” หรือ “ฝีพระหัตถ์ของพระองค์” ที่ทรงสร้างขึ้นในพระเยซูคริสต์ (ชีวิตที่ได้รับความรอดจากพระคริสต์) เพื่อให้ทำการดี ซึ่งเป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้ก่อนแล้วเพื่อให้เราดำเนินตาม ” 

ขอตั้งข้อสังเกตคำขึ้นต้นของข้อ 10 ที่ว่า “เพราะว่า” แสดงว่าข้อความในข้อ 10 นี้เชื่อมต่อจากข้อ 8 และ 9 ที่กำลังพูดถึงเรื่องความรอดโดยพระคุณของพระเจ้าทางความเชื่อ มิใช่ด้วยการกระทำดีของเราเอง ในข้อ 10 ได้ชี้เชื่อมต่อไปว่า การที่พระเจ้าประทานความรอดแก่เรานั้น ก็เพื่อเราจะมีชีวิตในพระคริสต์และกระทำการดีร่วมในพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตประจำวันของเรา ตามที่พระเจ้าทรงเตรียมไว้ล่วงหน้าแล้ว

คริสตชนส่วนใหญ่มองข้ามความสำคัญของความเชื่อมต่อของข้อ 10 กับข้อ 8-9 เราอาจจะตื่นเต้นและเน้นความสำคัญของการที่เราได้รับความรอดโดยพระคุณพระเจ้าทางความเชื่อ แต่เรากลับมองข้าม หรือ ละเลยสิ่งสำคัญที่เปาโลได้พูดในข้อที่ 10 ดังนั้น เรามักตื่นเต้นให้ความสำคัญที่เราได้รับความรอดโดยพระคุณ แต่กลับไม่รับรู้สนใจว่าการที่เราได้รับความรอดโดยพระคุณนั้นพระเจ้ามีพระประสงค์ใช้ชีวิตที่ได้รับความรอดให้กระทำการดีตามที่พระองค์ได้จัดเตรียมไว้ล่วงหน้า เพื่อเราจะมีชีวิตที่จะกระทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ที่คาดหวังให้เราใช้ชีวิตที่ได้รับความรอดโดยทางพระคริสต์ในการมีชีวิตที่ติดสนิทกับพระองค์และกระทำสิ่งดีแก่สังคมโลกตามพระประสงค์ที่ทรงจัดเตรียมไว้แก่เรา

เมื่อเราได้รับความรอดโดยทางพระคุณของพระเจ้าแล้ว ให้เรา “แสวงหาแผ่นดินของพระเจ้าก่อน” กล่าวคือแสวงหาว่า อะไรคือ “การดี” ที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้ให้เรากระทำตามพระประสงค์ของพระองค์เมื่อเราได้รับความรอดจากพระองค์แล้ว? ให้เราแต่ละคนใคร่ครวญตรวจสอบว่า อะไรคือ “...การดี” ซึ่งเป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้ก่อนแล้วเพื่อให้เราดำเนินตาม ตามสภาพชีวิตของเราแต่ละคนและบริบทในแต่ละสถานการณ์ที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง

1) พระเจ้าทรงจัดเตรียมการดีอะไรให้เรากระทำในบ้าน-ครอบครัวเรา?

2) พระเจ้าทรงจัดเตรียมการดีอะไรให้เรากระทำในที่ทำงานของเรา?

3) พระเจ้าทรงจัดเตรียมการดีอะไรให้เรากระทำในกลุ่มเพื่อนฝูงของเรา?

4) พระเจ้าทรงจัดเตรียมการดีอะไรให้เรากระทำในชุมชนที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง?

5) พระเจ้าทรงจัดเตรียมการดีอะไรให้เรากระทำในประเทศ และ สังคมโลกของเรา?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499




13 สิงหาคม 2563

ห่วงโซ่แห่งการยกโทษ

การให้อภัย การยกโทษ เราพูดกันมาก (โดยเฉพาะคริสตชน) แต่ทำได้ยาก และไม่ค่อยจะทำกันเป็นรูปธรรม แต่คริสตชนไม่สามารถที่จะละเลยสิ่งนี้ได้ เพราะนี่คือหัวใจแห่งพระกิตติคุณของพระคริสต์ อีกทั้งเป็นคุณธรรม และ คุณภาพชีวิตประการหนึ่งในแผ่นดินของพระเจ้าบนแผ่นดินโลกนี้

หลายคนคิด/เข้าใจว่าพระเจ้าจดจำสิ่งที่เรากระทำให้พระองค์ไม่พอพระทัย เขามีภาพในใจว่า พระเจ้าอยู่ในสวรรค์  คอยที่จะติดตามการกระทำผิดของเราเพื่อจะลงโทษ

แต่ภาพที่แท้จริงของพระเจ้าเป็นภาพนี้คือ “เรา...คือผู้ที่ลบล้างการล่วงละเมิดของเจ้าเพื่อเห็นแก่เราเอง และจะไม่จดจำบาปของเจ้าอีกต่อไป” (อิสยาห์ 43:25 อมธ.) พระเจ้าต้องการที่จะยกโทษแก่เรา และพระองค์ทำการยกโทษทั้งสิ้นแก่เราโดยทางพระเยซูคริสต์

ดังนั้น เปาโลได้กล่าวไว้ว่า “เพราะฉะนั้นไม่มีการลงโทษคนที่อยู่ในพระเยซูคริสต์” (โรม 8:1 มตฐ.) การที่เราไม่ต้องรับการลงโทษจากความบาปผิดของเราเพราะพระเยซูคริสต์ทรงรับโทษแทนเรา ซึ่งเป็นการยกโทษโดยพระคุณ เป็นการที่พระคริสต์ยกโทษเราอย่างไม่มีเงื่อนไข เป็นการยกโทษที่สมบูรณ์ แน่นอนและตลอดไป คนบาปเช่นเราจึงไม่ต้องทนทุกข์ยากลำบากเพราะความบาปผิดที่ได้ทำมา เมื่อเราผู้เป็นคนบาปยอมรับการชำระยกโทษจากพระคริสต์

เมื่อเราตระหนักชัดว่าเราได้รับการยกโทษจากพระคริสต์ เราได้รับพลังแห่งการยกโทษนี้ ทำให้เราสามารถที่จะยกโทษแก่คนอื่นรอบข้างชีวิตของเราด้วย

นั่นหมายความว่าเราจะต้อง “...อดทนอดกลั้นต่อกันและกัน และไม่ว่าท่านมีเรื่องขุ่นข้องหมองใจประการใดต่อกันก็จงยกโทษให้กัน ท่านจงยกโทษให้กันเหมือนที่องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงยกโทษให้ท่าน” (โคโลสี 3:13 อมธ.)

เมื่อเราสำรวจถึงชีวิตที่ผ่านมาและที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เราอาจจะเห็นถึงชีวิตที่น่าเกลียดของตนเอง ความเห็นแก่ตัว  และกระทำชั่วต่าง ๆ และพระเจ้าก็เห็นสิ่งเหล่านี้ในชีวิตของเราด้วย แต่พระองค์มีมุมมองที่แตกต่างจากเรา พระเจ้ามองว่าเราแต่ละคนเป็นคนที่พระองค์ทรงสร้าง เป็นผลงานแห่งการทรงสร้าง (ฝีพระหัตถ์) ของพระเจ้า เพื่อที่เราจะมีชีวิตตามพระประสงค์ของพระองค์ และ เป็นผู้นำพระพรถึงคนอื่นรอบข้าง

เมื่อเรามองลึกเข้าในพระเนตร (ดวงตา) ของพระเจ้า เราจะเห็นถึงแววตาแห่งการให้อภัย เป็นสิ่งที่พระองค์เท่านั้นที่จะให้แก่เราได้ ถ้าเราจะเปิดชีวิตยอมรับการอภัยความบาปชั่วในชีวิตของเราจากพระองค์ มิใช่ท่านได้รับการอภัยเท่านั้น พระคริสต์ยังทรงสร้างชีวิตจิตใจของท่านใหม่ให้มีจิตใจแห่งพระคุณของพระองค์ที่จะยกโทษคนอื่นด้วย  และนี่คือพระราชกิจแห่งการสร้างห่วงโซ่ของการให้อภัยในแผ่นดินของพระเจ้าบนแผ่นดินโลกนี้ การให้อภัยจึงเป็นคุณธรรม และ คุณภาพชีวิตประการหนึ่งในแผ่นดินของพระเจ้า

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499




11 สิงหาคม 2563

เราต้องทำอะไร...ที่จะเป็นผู้นำที่ดีเยี่ยมยอด?

ผู้นำที่ดี เป็นผู้นำที่ต้องการให้คนอื่นได้พบกับความสำเร็จ

ต้องการให้เกิดผลตามเป้าหมาย มากกว่าความเด่นดังของตนเอง

การเป็นผู้นำที่ดีต้องทำอย่างไร?

นี่เป็นคำถามยอดฮิตสำหรับผู้ที่สนใจในเรื่องผู้นำ บางทีท่านอาจกำลังสงสัยในเรื่องนี้พอดี  เพื่อเราจะมีความชัดเจนในประเด็นนี้ ให้เราลองศึกษาเรียนรู้จากผู้นำที่ดีเยี่ยมยอดท่านหนึ่งด้วยกัน

John Stockton ผู้นำในด้านการกีฬาที่ดีที่ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า

“การเป็นผู้นำที่ดี เราต้องเป็นผู้ที่ต้องการให้คนอื่น ๆ ประสบความสำเร็จ และมีความต้องการที่จะชนะในเกมที่เล่น  มากกว่าต้องการให้ตนเองมีความเด่นดัง”   

จากคำกล่าวนี้เราพบว่า ถ้าเราต้องการจะเป็นผู้นำที่ดีเยี่ยมยอด เราจะต้องทำ 4 ประการด้วยกัน

1. ผู้นำที่ดีมุ่งเน้น-ให้ความสำคัญในคนอื่น  
    เขาตระหนักชัดว่าเขาต้องการคนอื่น

2. ผู้นำที่ดีปรารถนาชีวิตที่ดีกว่าสำหรับคนเหล่านั้น  
    เขาต้องการให้คนเหล่านั้นประสบความสำเร็จในชีวิต

3. ผู้นำที่ดีมุ่งเน้นที่ความสำเร็จ  
    “เป็นผู้ที่ต้องการความสำเร็จในชีวิต” เมื่อผู้นำชักชวนให้คนอื่นติดตามเขาไปสู่อนาคตที่สดใส เขาต้องทำให้คนที่เขาชวนสามารถเห็นประจักษ์ชัดถึงความสำเร็จดังกล่าวอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม

4. ผู้นำที่ดีต้องเป็นผู้นำที่มีน้ำใจ ไม่เห็นแก่ตัว  
    “มิใช่เพื่อความเด่นดังของตนเอง แต่เพื่อความสำเร็จของคนอื่น และความสำเร็จในเป้าหมายร่วมกัน”

ท่านเห็นว่าข้อใดที่จะทำให้ท่านเป็นผู้นำที่ดีเยี่ยมยอดได้?

ใครบ้างในวงการของเราที่มีลักษณะผู้นำตาม 4 ประการข้างต้น?

ในองค์กร/คริสตจักรของเรา มีผู้นำลักษณะเช่นนี้สักกี่เปอร์เซ็นต์?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499