31 สิงหาคม 2563

จัดการความขัดแย้งของคริสตชน...เขาทำกันอย่างไร?

ในเวลานี้ ครอบครัว คริสตจักร ชุมชน และประเทศชาติกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติที่เกิดจากภัยคุกคามทางสุขภาพ  ความขัดแย้งแย่งชิงทางการเมือง-เศรษฐกิจ ทั้งในระดับองค์กรหน่วยงาน ท้องถิ่น ภูมิภาค ตลอดจนถึงสังคมโลก   ที่ดูเหมือนจะรุนแรงมากขึ้นทุกที

น่าสังเกตว่า แต่ละคนแต่ละฝ่ายต่างต้องการให้คนอื่นเข้าใจอย่างที่ตนเองต้องการ ดังนั้น จึงพยายามสื่อสารด้วยวิธีการและช่องทางต่าง ๆ ที่จะโน้มน้าว เปลี่ยนแปลง และ เสริมสร้างความเข้าใจของคนอื่นให้เป็นอย่างที่ตนต้องการ และเราเห็นชัดว่า “ไม่มีใครฟังใคร แต่กลับต้องการให้คนอื่นฟังตนเอง”

เรากล่าวอ้าง กล่าวร้าย โจมตีฝ่ายอื่นคนอื่นว่า “มีทัศนะมุมมองผิด ๆ” โดยไม่เคยที่จะนิ่งเพื่อ “ฟังคนอื่นอย่างใส่ใจ” ว่าเขามีมุมมองทัศนะเช่นไรในเรื่องนั้น ไม่เคยถามเขาว่า ที่เราเข้าใจทัศนะมุมมองของเขาในเรื่องนั้นถูก หรือ คลาดเคลื่อนเช่นไรบ้าง?

ในฐานะ “คริสตชน” หรือ คนที่ประกาศตนว่าเป็นสาวกพระคริสต์ ที่กำลังตกอยู่ในวังวนแห่งภาวะความขัดแย้งด้านต่าง ๆ นอกจากที่เราจะต้องมี “ฐานเชื่อกรอบคิดเรื่องการเมืองแบบพระคริสต์” แล้ว เราจะต้องมี “ความรักเมตตาและเสียสละ” แบบพระองค์ด้วย

ในฐานะสาวกของพระคริสต์ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติภาวะความขัดแย้งตึงเครียด เราจะต้องแสวงหา “ความเข้าใจจากบุคคลที่เป็นคู่ขัดแย้งตึงเครียด” นั้น เพื่อเราจะสามารถเห็นภาพรวมที่ชัดเจนขึ้นว่า คู่ขัดแย้งของเรามีความเข้าใจเช่นไร และ รู้สึกเช่นไรต่อภาวะความขัดแย้งตึงเครียดที่กำลังเป็นอยู่นี้ ก่อนที่จะพยายามทุกหนทางที่จะโน้มน้าว หรือ ปรับเปลี่ยนคู่กรณีของเราให้เข้าใจภาวะนี้ “ให้ถูกต้องอย่างที่เราเข้าใจ(?)” และทางหนึ่งคือ “เราต้องฟังเขาอย่างใส่ใจ”

ในสุภาษิต 18:13 เขียนไว้ว่า “[13] คนที่ตอบก่อนฟัง ก็โง่เขลาและขายหน้า” (อมธ.)

บ่อยครั้ง เรามักลืมตัว เราพยายามที่จะทำให้คู่กรณีในความขัดแย้งของเราเข้าใจเหตุผลและความรู้สึกของเรา จนไม่ใส่ใจที่จะฟังเพื่อเข้าใจถึงเหตุผลและความรู้สึกของคู่กรณีในความขัดแย้งครั้งนั้น อีกสาเหตุหนึ่ง ที่เรามักไม่ตั้งใจฟังคู่กรณีของเราคือ “เรื่องนี้ไม่อยู่ในความรับผิดชอบของเขา?” เรื่องนี้เขาเข้าใจ เขาคิดผิด?”  ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ฟังอย่างใส่ใจก่อน! และเบื้องหลังที่เป็นเช่นนี้เพราะ ทั้งสองฝ่ายต่างตกลงไปในหลุมพรางของซาตาน ที่คิดว่า “พวกตนถูก พวกเขาผิด” และ “ไม่มีความไว้วางใจกัน”

ในภาวะความขัดแย้งที่ดูร้อนแรง มีการตอบโต้กันที่ดุเดือดรุนแรง เพราะต่างฝ่ายต่างยึดติดอยู่กับทัศนะมุมมองของตนเอง ดังนั้น ต่างฝ่ายต่างไม่สามารถรู้ถึงความรู้สึกที่เจ็บปวด สูญเสีย และความรู้สึกว่าไม่ถูกต้องยุติธรรมของอีกฝ่ายหนึ่ง เราจึงไม่สามารถรู้ถึงว่า เขารู้สึกกลัวอะไรบ้างในความขัดแย้งที่กำลังเผชิญอยู่

แล้วทางออกแบบ “คริสตชน” ในเรื่องนี้อยู่ที่ไหนครับ?

เปาโลเขียนถึง ชุมชนคริสตจักรฟีลิปปีว่า  “[4] แต่ละคนไม่ควรมุ่งหาประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว แต่ควรคิดถึงประโยชน์ของคนอื่นด้วย [5] ท่านควรมีท่าที (จิตใจ) แบบเดียวกับพระเยซูคริสต์” (ฟีลิปปี 2:4-5 อมธ.)

ในเชิงปฏิบัติ สิ่งแรกคือ แสวงหาความเข้าใจก่อน คือเข้าใจคู่กรณีของเราว่า เขามีทัศนะมุมมองเช่นไร เข้าใจเช่นไร  และรู้สึกเช่นไรต่อเรื่องที่กำลังขัดแย้งกันนี้ ทางหนึ่งที่ดีอย่างมากคือ เริ่มต้นที่ตัวเราเอง เข้าไปหาคู่กรณีอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน และขอเขาช่วยอธิบายถึง ทัศนะมุมมอง ความเข้าใจและความรู้สึกของเขาในเรื่องความขัดแย้งที่กำลังเป็นอยู่นี้  

ที่สำคัญเราต้องฟัง และ ฟังอย่างใส่ใจ ฟังเพื่อเราจะความเข้าใจ และ รู้ถึงความรู้สึกของเขาในภาวะขัดแย้งที่กำลังเป็นอยู่นี้ (ไม่ใช่ฟังเพื่อจับผิด และเพื่อตอบโต้) ดังนั้น เริ่มต้นด้วยเราเป็นผู้ฟังอย่างใส่ใจด้วยถ่อมใจก่อน  

จากนั้น ให้เราทบทวนว่า เราได้ยินอะไรบ้าง เราเข้าใจสิ่งที่เขาบอกเรานั้นว่า มีเรื่องอะไรบ้าง? เขา “เข้าใจ” อย่างไรในเรื่องนั้น ๆ? เขา “รู้สึก” อย่างไรในเรื่องนั้น ๆ? สิ่งที่เราฟังแล้วเราเข้าใจถูกต้องหรือไม่? และให้โอกาสเขาที่จะแก้ไข เพิ่มเติมความเข้าใจของเราต่อเขาให้ถูกต้องชัดเจนขึ้น ขอเน้นย้ำในที่นี้ว่า เราทบทวนตรวจสอบความถูกต้องตรงกับที่เขาสื่อสาร ทั้งเนื้อหา และ ความรู้สึกของเขาด้วย คิดถึงวลีในภาษาไทยที่ว่า “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ก่อน การเข้าใจคู่กรณีจะช่วยให้เราเข้าใจถึง “ทัศนะมุมมอง” ของเขาด้วย  

ในวิถีชีวิตของพระเยซูคริสต์แตกต่างจากเส้นทางที่เราเดินอยู่ในขณะนี้ พระองค์มองข้ามความสำคัญของพระองค์เอง ความจำเป็นต้องการ และผลประโยชน์ส่วนตน แม้แต่บนกางเขนพระองค์ยังคิด ยังกระทำเพื่อคนอื่น

วิถีกางเขนของพระคริสต์ มิใช่วิถีปกติธรรมดาของเรา เพราะเราคุ้นชินกับวิถีชีวิตที่มีแต่ตนเองเป็นศูนย์กลาง เราคิดและให้ความสำคัญแก่ตนเองก่อน ก่อนที่จะสนใจใส่ใจคนอื่น

การจัดการภาวะขัดแย้งต่าง ๆ ในชีวิตของคริสตชน เริ่มต้นที่การยอมตนต่อพระคริสต์ที่จะเปลี่ยนแปลงและบ่มเพาะ “ฐานเชื่อกรอบคิด” ของเราให้เป็นเหมือน “ฐานเชื่อกรอบคิดแบบพระคริสต์” แล้วเราจะมีทัศนะมุมมองแบบพระองค์   นี่คือฐานรากชีวิตของเราที่ต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงจากพระคริสต์ก่อน (โรม 12:2) เพื่อเราจะมีบุคลิกชีวิตที่ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปเป็นเหมือนพระคริสต์ยิ่ง ๆ ขึ้นทุกวัน และการที่เราจะสนใจใส่ใจคนอื่นก่อนตนเอง เราจะพยายามเข้าใจคนอื่นก่อน ก่อนที่จะจัดการความขัดแย้งใด ๆ อย่างสร้างสรรค์จะพัฒนาตามมา

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น