24 สิงหาคม 2563

คริสตชนกล้า คริสตจักรแกร่ง!?

ในงานรับใช้ตามการทรงเรียกของพระเจ้า บ่อยครั้ง/หลายคนต้องประสบกับสถานการณ์ที่เลวร้าย ชีวิตที่ต้องพบกับความทุกข์ยากลำบากอย่างไม่จบสิ้น การถูกทรยศหักหลังจากคนใกล้ชิด คนสนิท คนในครอบครัว ท่านเคยพบกับเหตุการณ์ในทำนองนี้ไหมในงานรับใช้ของท่าน? ท่านรับมือกับสิ่งเหล่านั้นอย่างไร? ทำไมถึงต้องการเกิดขึ้นกับเราด้วย?

“ความเจ็บปวดไม่รู้จักจบสิ้น…ที่รุนแรงและไม่มีทางรักษาให้หาย”

เมื่อกล่าวถึงผู้เผยพระวจนะที่ต้องทนทุกข์เรามักจะคิดถึงเยเรมีย์ เยเรมีย์ต้องทนทุกข์ในช่วงเวลาที่เขาทำพันธกิจในชุมชน ซึ่งยาวนานประมาณ 40 ปีนี้มากพอที่จะทำให้ผู้เผยพระวจนะที่กล้าหาญต้องประหวั่นพรั่นพรึง เรื่องราวชีวิตของท่านกลายเป็นแรงบันดาลใจสำหรับผู้คนอื่น

ในช่วงแรกชีวิตการทรงเรียกของเยเรมีย์ดูราบรื่น เมื่อเยเรมีย์เริ่มเป็นผู้เผยพระวจนะเขาอยู่ในช่วงการปกครองของกษัตริย์โยสิยาห์ กษัตริย์ผู้เกรงกลัวพระเจ้า ผู้นำชนชาติอิสราเอลหันกลับมาหาพระเจ้า แต่หลังจากนั้น 12 ปี กษัตริย์โยสิยาห์สิ้นพระชนม์ กษัตริย์เยโฮยาคิม ผู้ปกครองยูดาห์ภายใต้มหาอำนาจบาบิโลนในเวลานั้นหันกลับไปนมัสการรูปเคารพ

หลังจากนั้นไม่นาน ก็ปรากฏว่าเยเรมีย์กลายเป็นตัวปัญหา ตกเป็นปรปักษ์ในสายตาของบรรดาผู้นำอิสราเอลทั้งหลาย แม้แต่พี่น้อง/ครอบครัวของเขาเองที่ทรยศหักหลังเยเรมีย์ (เยเรมีย์ 12:6) แต่การยืนหยัดเพื่อพระเจ้า และ ต่อต้านการนมัสการรูปเคารพ ที่เป็นงานที่ทำให้เขามีชื่อเสียงในอดีต มาบัดนี้กลับกลายเป็นงานที่ทำให้เขากลายเป็น “คนขายชาติ” การข่มเหงทำร้ายทำลายนั้นรุนแรง และ ความเจ็บปวดเพิ่มมากขึ้น จนเยเรมีย์กล่าวว่า “...ทำไมความเจ็บของข้าพระองค์จึงไม่หยุดยั้ง บาดแผลของข้าพระองค์ก็รักษาไม่หาย มันไม่ยอมหาย?...” (เยเรมีย์ 15:18 มตฐ.)

ให้เราไตร่ตรองความคิดนี้สักครู่หนึ่งที่ว่า “การรับใช้พระเจ้าด้วยความสัตย์ซื่อกลับได้รับผล “ความเจ็บปวดที่ไม่หยุดยั้ง” และ “บาดแผลชีวิตก็ไม่หายสักที”  

หัวหน้าปุโรหิตได้โบยตีและจับเยเรมีย์ใส่ขื่อ (เยเรมีย์ 20:1-2) ผู้นำศาสนาในเวลานั้นได้รวมหัวกันและเข้าไปหาและบอกนักการเมืองและประชาชนอิสราเอลว่า “ชายคนนี้ควรได้รับโทษถึงตาย...” (เยเรมีย์ 26:11)

เยเรมีย์มีชีวิตอยู่เพื่อดูว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่แน่นอนว่าเขาไม่เคยกลายเป็นผู้เผยพระวจนะที่ได้รับความนิยมและเป็นที่เคารพอีกเลย เมื่อเปรียบเทียบกับนักเขียนคริสตชนชื่อดัง หรือ นักเทศน์เรืองนามในสื่อออนไลน์ในปัจจุบัน ครั้งหนึ่ง เยเรมีย์ได้ให้เขียนคำเผยพระวจนะจากพระเจ้าแล้วให้นำไปถวายกษัตริย์เยโฮยาคิม เยโฮยาคิมให้อ่านคำเผยพระวจนะ  เมื่ออ่านถึงตอนไหนก็ให้ตัดถึงส่วนนั้นโยนเข้าไปในเตาไฟ ม้วนหนังสือคำเผยพระวจนะของเยเรมีย์ถูกเผาไฟหมดสิ้น

กษัตริย์เยโฮยาคิมสิ้นพระชนม์ พระโอรสของพระองค์ขึ้นครองราชย์ต่อในช่วงเวลาสั้น ๆ จากนั้นเยเรมีย์ได้เผยพระวจนะที่สำคัญยิ่งว่า ผู้อ่อนแอที่สุดจะได้เป็นกษัตริย์ เศเดคียาห์ได้ขอให้ผู้เผยพระวจนะเยเรมีย์อธิษฐานเพื่อตน   แต่เมื่อเยเรมีย์ได้เผยพระวจนะอีก เศเดคียาห์กลับให้จับเยเรมีย์ไปขังในคุกใต้ดิน “ดังนั้นเยเรมีย์จึงถูกขังอยู่ในคุกมืด และอยู่ที่นั่นหลายวัน” (เยเรมีย์ 37:16 มตฐ.) ในที่สุด เศเดคียาห์ให้นำเยเรมีย์ออกจากคุกมืด เยเรมีย์ขอต่อกษัตริย์ว่า ขออย่าส่งตนกลับเข้าไปยังคุกมืดนั้นอีก เพราะเขาจะตายเสียในคุกมืดนั้น (เยเรมีย์ 37:20)

ลองคิดดูก็แล้วกัน: เขาได้รับการทรงเรียกให้ทำพันธกิจชุมชนสังคม แต่กลับถูกหักหลังโดยครอบครัวของตน และผู้นำทางองค์กรศาสนา แล้วถูกตราหน้าว่าเป็นคนทรยศต่อชาติจากผู้ปกครองประเทศ ยืนหยัดท่ามกลางความโดดเดี่ยว ถูกข่มเหงเพราะความสัตย์ซื่อของตน แล้วใครบ้างล่ะที่จะไม่เกิดความขมขื่นเจ็บช้ำในชีวิต? 

แต่นี่เป็นการเผชิญกับความทุกข์ยากในชีวิตของเยเรมีย์ที่เพิ่งเริ่มต้น

ข้าราชการบางคนได้ขอให้เศเดคียาห์จัดการเยเรมีย์ให้ตาย แต่กษัตริย์ผู้อ่อนแอไม่สามารถปฏิเสธคำขอใด ๆ ของใครก็ตาม กษัตริย์ตรัสกับข้าราชการกลุ่มนั้นว่า “...นี่แน่ะ ชายคนนี้อยู่ในมือของพวกท่านแล้ว...” (เยเรมีย์ 38:5)   พวกเขาจึงจับเยเรมีย์มัดเชือกหย่อนลงไปในบ่อขังน้ำที่มีแต่โคลน และเยเรมีย์ต้องจมอยู่ในโคลนนั้น (ข้อ 36) ที่มีกลิ่นเหม็น มีแต่ความมืด แมลง ความสกปรก และสิ่งปฏิกูลของตนเอง ต้องทนดมกลิ่นเหม็นตลอดเวลา

ต่อมา กษัตริย์รู้สึกสงสารเยเรมีย์ พระองค์ให้คนช่วยกันนำเยเรมีย์ขึ้นจากบ่อโคลนนั้น แล้วให้จำขังที่แห้ง

ในที่สุด คำเตือนของเยเรมีย์ไม่ได้รับการปฏิบัติ เยเรมีย์และประชาชนอิสราเอลส่วนหนึ่งถูกจับตัวกวาดต้อนไปเป็นเชลยในต่างแดน และถ้าเราพิจารณาเปรียบเทียบกับคนที่มีชื่อเสียง ความสามารถ  หรือ ความมั่งคั่งในปัจจุบัน  เป็นนักบริหารที่มือฉมัง นักการตลาดที่หาตัวจับยาก นักวิชาการที่แหลมคม นักวิเคราะห์ที่เจาะทะลุปรุโปร่ง นักเทศน์ปากกล้า ศิษยาภิบาลที่มีสมาชิกนับหมื่นนับพัน และ ฯลฯ แน่นนอนครับ ท่านเหล่านั้นมีชื่อเสียง ท่านมีตำแหน่ง ท่านมีคนยอมรับ ท่านมีอำนาจ... แต่ถ้าคนเหล่านี้กลับต้องประสบกับความล้มเหลวในชีวิต แล้วท่านเหล่านี้จะเป็นอย่างไรในชีวิต?

แต่เยเรมีย์ยังคงยืนหยัดบนรากฐานพระวจนะจากพระเจ้าด้วยความเชื่อที่แกร่งกล้า ด้วยความสัตย์ซื่อ และยึดมั่นแน่วแน่ที่จะอุทิศทั้งชีวิตเพื่อพระประสงค์ของพระเจ้า

ครู-อาจารย์ในทุกวันนี้จะต้องชื่นชมในแบบอย่างชีวิตของเยเรมีย์ ในยุคนี้มิใช่คริสตชนที่อ่อนแอกระทำสิ่งดี สื่อออนไลน์ยอดนิยมในรูปแบบต่าง ๆ ที่ผุดขึ้นอย่างดอกเห็ดจะเป็นปฏิปักษ์ต่อคริสต์จริยธรรม (โดยเฉพาะอย่างยิ่งจริยธรรมทางเพศ) และความเชื่อพื้นฐานของคริสตชนถูกมองอย่างเยาะเย้ย และถ้าคริสตชนคนใดไม่กล้าแกร่งพอเขาอาจจะไม่สามารถแสดงชัดถึงการเป็นผู้เชื่อที่ชัดเจนอย่างสัตย์ซื่อ

“ผ่านความทุกข์ยากมากมาย”  

เป็นหน้าที่และการทรงเรียกของคริสตจักรที่จะต้องบ่มเพาะเลี้ยงดูสมาชิกชายหญิงให้มีชีวิตความเชื่อที่แกร่งอย่างเยเรมีย์ เพื่อเมื่อต้องเผชิญหน้ากับการข่มเหงที่รุนแรงชีวิตจะไม่ล้มเหลวและล้มเลิกความเชื่อที่สัตย์ซื่อ ไม่ว่าจะเป็นการเผชิญหน้ากับการที่ตนเองถูกทดลองล่อลวง หรือยืนหยัดแข็งแกร่งเหนียวแน่นที่จะไม่ยอมโอนเอนไปตามความคิด และ ความนิยมตามกระแสความทันสมัยที่ไม่สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้า ทั้งในพระวจนะและประวัติศาสตร์คริสตจักรเราพบชัดเจนว่า พระเจ้ายอมให้คริสตจักรของพระองค์มีช่วงเวลาชีวิตบางช่วงที่ต้องฝ่าฟันผ่านทะลุของการถูกข่มเหงทำร้าย  

ในช่วงเวลาเช่นนั้น คริสตชนและคริสตจักรจะต้องตัดสินใจว่า ตนจะเลือกการที่มีชีวิตที่ทนทุกข์ยากลำบาก สูญเสีย หรือแม้แต่การถูกทำร้ายหรือทำลาย หรือเลือกที่จะกระทำตามความคิด ความต้องการ หรือ ความนิยมตามกระแสสังคมในเวลานั้น การตัดสินใจเลือกวิถีการดำเนินชีวิตนี้ขึ้นอยู่กับรากฐานความเชื่อและกรอบคิด (mindset) ของคริสตชนคนนั้น ๆ และ คริสตจักรนั้น ๆ

แต่การที่คริสตชน และ คริสตจักร จะแกร่งกล้ายืนหยัดมั่นคงท่ามกลางพายุของอำนาจแห่งความชั่วร้ายที่โหมกระหน่ำกรรโชกรุนแรง หรือ การกัดเซาะบ่อนทำลายจากกระแสสังคมได้อย่างมั่นคงสัตย์ซื่อนั้น คริสตจักรจะต้องมีการบ่มเพาะ เสริมสร้าง และ เตรียมพร้อมพลังชีวิตของคริสตชนและคริสตจักร พร้อมรับมือกับภัยร้ายรอบด้านชีวิตที่ถาโถมเข้ามา

แต่ถ้าเราไม่มีการวางรากฐานความเชื่อศรัทธา มิได้บ่มเพาะความเชื่อ และเสริมสร้างพลังชีวิตในการเป็นสาวกพระคริสต์ที่พร้อมเผชิญหน้า “ภัยพิบัติแห่งชีวิต” ที่จะเกิดขึ้นแก่เราโดยไม่แจ้งล่วงหน้า เมื่อมันโหมกระหน่ำเข้ามาในชีวิตคริสตชน และ คริสตจักร ทั้งคริสตชน และ คริสตจักรก็จะไม่สามารถยืนหยัดมั่นคงอยู่ได้

ในพระธรรมกิจการ พันธกิจหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ที่เปาโลกระทำคือ การหนุนเสริมเพิ่มพลังชีวิตจิตวิญญาณของสาวกพระคริสต์ด้วยพระวจนะของพระเจ้า เปาโลและบารนาบัส “ท่านทั้งสองทำให้บรรดาสาวกมีจิตใจเข้มแข็งขึ้น และหนุนใจพวกเขาให้ดำรงอยู่ในความเชื่อ โดยกล่าวว่า เราจะต้องทนความยากลำบากหลายอย่างในการเข้าสู่แผ่นดินของพระเจ้า” (กิจการ 14:22 มตฐ.) คริสตจักรในยุคเริ่มแรก คาดหวังว่าพวกเขาจะถูกข่มเหง จึงได้มีการหนุนเสริมเพิ่มพลังความเชื่อและกำลังใจแก่คริสตจักร แทนที่คริสตชนและคริสตจักรจะถูกปล่อยทิ้งให้ชีวิตเป็นไปตามยถากรรมที่ตกอยู่ในความสงสัยและสิ้นหวัง และถูกพัดพาไปด้วยกระแสสังคม

แล้วคริสตชน และ คริสตจักรของเราในขณะนี้ได้กระทำอะไรบ้างไหมสำหรับเตรียมรับมือกับความทุกข์ยากลำบาก  ที่ถาโถม กระหน่ำซัดเข้ามาในชีวิตของพวกเราและคริสตจักร? เรามีกระบวนการ วิธีการ บ่มเพาะ เสริมสร้าง และเตรียมพร้อมคริสตจักรของเราอย่างไรบ้างครับ?

คริสตชนของเรากล้า และ คริสตจักรของเราแกร่ง แล้วหรือยัง?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น