03 สิงหาคม 2563

หนุนเสริมเพิ่มพลังเพื่อน...เมื่อเขาตกในวิกฤติชีวิต!

ในช่วงวิกฤติโควิด 19 ทำให้เกิด “ชุดวิกฤติชีวิต” กล่าวคือ เป็นวิกฤติสุขภาพ วิกฤติเศรษฐกิจในทุกระดับ วิกฤติทางสังคม-ความสัมพันธ์ วิกฤติในการประกอบอาชีพการงานและการศึกษา อีกทั้งเป็นวิกฤติเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จนกระทบต่อศานติสุข สงบสุข และสันติภาพของสังคมโลก

ในภาวะที่เราท่านต่างต้องเผชิญหน้ากับ “ชุดวิกฤติชีวิต” ในแต่ละวัน สิ่งหนึ่งที่เราพบเป็นประจำในทุกวันนี้คือ เพื่อนฝูง คนสนิท คนรอบข้างเราหลายคนที่ต้องประสบกับ “เวลาที่ยากลำบาก” แล้วมาระบาย ปรึกษาเรา แล้วเราในฐานะคริสตชนจะหนุนเสริมเพิ่มพลังชีวิตแก่เขาเหล่านี้ได้อย่างไร?

1. อธิษฐานเพื่อเพื่อนคนนั้นโดยเฉพาะ

สิ่งที่ดีที่สุดในวิกฤติกาลนี้ที่เราสามารถทำได้เพื่อเพื่อนคนนี้คือ อธิษฐานเพื่อเขาในการที่จะเดินหน้ากล้าเผชิญกับความทุกข์ยากลำบากที่เข้ามาในชีวิต เพื่อเขาจะได้รับการเยียวยารักษาบาดแผลในชีวิต และมีชัยในพระคริสต์ในสถานการณ์วิกฤตินี้ ในพระคัมภีร์บอกเราแล้วว่าให้เราอธิษฐานเพื่อกันและกัน 

ยากอบเขียนไว้ว่า “[16] เพราะฉะนั้นท่านจงสารภาพบาปต่อกันและกัน และจงอธิษฐานเผื่อกันและกัน เพื่อท่านทั้งหลายจะได้รับการรักษาโรค คำวิงวอนของผู้ชอบธรรมนั้นมีพลังมากและเกิดผล” (ยากอบ 5:16 มตฐ.) และให้เราทำอย่างที่เปาโลทำคือ “[16] ข้าพเจ้าจึงขอบพระคุณพระเจ้าอย่างไม่หยุดยั้งเพราะท่านและเฝ้าอธิษฐานเผื่อท่าน” (เอเฟซัส 1:16 อมธ.) และให้ทำเช่นนี้บ่อย ๆ อธิษฐานขอบพระคุณพระเจ้าเพื่อเขา และบอกให้เจ้าตัวรู้ว่าเราอธิษฐานเผื่อเขาเสมอ

2. หนุนเสริมเพิ่มพลังใจแก่เพื่อน

ตามที่เปาโลเขียนไว้ว่า “[11] เพราะฉะนั้นจงหนุนใจกัน และต่างคนต่างจงเสริมสร้างกันขึ้น ตามอย่างที่พวกท่านกำลังทำอยู่นั้น” (1เธสะโลนิกา 5:11 มตฐ.) 

ให้เราแต่ละคนมีชีวิตที่หนุนเสริมเพิ่มกำลังคนอื่นให้ยืนหยัดอยู่ได้ เพราะพลังแห่งโลกนี้มีแต่ปัญหาอุปสรรคจะกดทับให้ชีวิตของแต่ละคนจมลง อย่างที่เราท่านต่างก็เคยประสบพบเจอมาแล้ว ในเวลาวิกฤติเช่นนี้ในชีวิตเพื่อนสิ่งสำคัญคือ “หนุนใจและเสริมสร้างกัน” คำนี้ในภาษากรีกหมายถึง “เราอยู่ข้างเดียวกัน” “เราอยู่เคียงข้างกัน” ดังนั้น ให้เราเคียงข้างไปในชีวิตของเขาทั้งในเวลาที่เขาทุกข์ยากโศกเศร้า ลำบาก และในเวลาที่กลับมีชีวิตที่ชื่นชมยินดี

3. ให้เวลาแก่เพื่อน

ในยุคนี้เราต่างมีภาระความรับผิดชอบมากมาย จนเรา “ไม่มีเวลา” เวลาเป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับทุกคน ดังนั้น ของขวัญที่ดีที่สุดที่เราสามารถให้กับเพื่อนในการเผชิญกับความทุกข์ยากในชีวิตคือ “เวลา” เวลาในการอธิษฐานด้วยกัน  เวลาที่จะอยู่พูดคุยกัน เวลาที่จะรับประทานอาหารด้วยกัน หรือ ช่วยทำในสิ่งที่เพื่อนต้องการจำเป็นและเราสามารถที่จะทำได้ เราสามารถที่จะให้สิ่งของ ทรัพย์สิน เงินทอง ตะลันต์ความสามารถ และเวลา แต่ในวิกฤติชีวิตเช่นนี้ “เวลา” และ “โอกาส” เป็นสิ่งที่เพื่อนต้องการอย่างมาก

4. ให้ความเข้าอกเข้าใจเพื่อน

เปาโลได้แสดงให้เราเห็นชัดถึง “ความเข้าใจในความแตกต่าง” ว่า “[7] พวกท่านที่เป็นสามีก็เช่นกัน จงอยู่กินกับภรรยาด้วยความเข้าใจ ในฐานะที่เธอเป็นเพศที่อ่อนแอกว่า และจงให้เกียรติเธอ...” (1เปโตร 3:7 มตฐ.)  

พระคัมภีร์ข้อนี้เป็นการกล่าวถึงความสัมพันธ์ของสามี-ภรรยา แต่กระตุ้นให้เราคิดถึงความสัมพันธ์ของเรากับคนต่าง ๆ ท่ามกลางความแตกต่างในชีวิตของแต่ละคน ที่มีทั้งสิ่งดีเด่น เข้มแข็ง อ่อนแอ หรือ ข้ออ่อนด้อย เพราะถ้าเราไม่ระมัดระวังในความแตกต่างกันของเรา เราอาจจะพูดหรือกระทำบางสิ่งบางอย่างกระทบ ระคายเคืองต่อความความรู้สึกและความสัมพันธ์ของกันและกัน และอาจจะขยายลงลึกถึงการทำร้ายต่อความสัมพันธ์ที่มีต่อกันทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจก็ได้

ความสัมพันธ์ในครอบครัวของเรา เมื่อเรามีความเข้าอกเข้าใจถึงความแตกต่างของคู่ชีวิต คนแต่ละคนในครอบครัว  และกับเพื่อน ๆ ที่อยู่ในสถานการณ์ชีวิตที่แตกต่างจากเรา และเมื่อคนรอบข้างเหล่านี้ต้องตกอยู่ในสภาพชีวิตที่ทุกข์ยากลำบาก พวกเขาต้องการคนที่สามารถเข้าอกเข้าใจเขา และท่านคือคนที่เขาไว้วางใจและต้องการพึ่งพิง

5. แบ่งปันประสบการณ์ผ่านวิกฤติชีวิตแก่เพื่อน

เมื่อเราพบว่าเพื่อนตกอยู่ในสถานการณ์ชีวิตที่ยากลำบาก ทำให้เราหวนคิดถึงครั้งเมื่อ “จิตวิญญาณของเราต้องพบกับค่ำคืนที่มืดมิด” และเพื่อนคงผ่านสถานการณ์บางอย่างที่คล้ายคลึงกันกับที่เราเคยพบมาแล้ว  

และในสถานการณ์นั้นเราพบว่า พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ พระองค์ทรงควบคุมสถานการณ์ที่เลวร้ายทั้งหมดไว้ เราสามารถเล่าแบ่งปันถึงเหตุการณ์เหล่านั้นให้เพื่อนเพื่อหนุนใจ และให้รู้ด้วยอีกว่า พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในสถานการณ์ของเราที่ผ่านมาอย่างไร พระคัมภีร์บอกกับเราว่า

“[4] พระองค์ผู้ทรงหนุนใจเราในความยากลำบากทั้งหมดของเรา เพื่อเราจะสามารถหนุนใจคนทั้งหลาย ที่มีความยากลำบากอย่างใดอย่างหนึ่งได้ด้วยการหนุนใจ ซึ่งเราเองได้รับจากพระเจ้า” (2โครินธ์ 1:4 มตฐ.)  

เมื่อทบทวนถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาในชีวิตของเรา ในบางเหตุการณ์เราพบว่า พระเจ้าทรงใช้บางคนในกลุ่มเพื่อนของเราเพื่อปลอบประโลมหนุนเสริมเราใช่ไหม?

เช่นกัน เราสามารถแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตของเราเพื่อเป็นการหนุนเสริมเพิ่มพลังชีวิตแก่เพื่อนที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายในชีวิต

สรุป

ยังมีวิธีการอื่น ๆ ที่เราสามารถใช้เพื่อช่วยเพื่อนให้เพื่อนคิดได้ว่าจะจัดการอย่างไรกับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่เขากำลังประสบอยู่ ผมยอมรับว่า บ่อยครั้งที่สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับเพื่อนแต่เราไม่รู้ว่าจะทำอะไร อย่างไร และ แนะนำเช่นไร เฉกเช่นกับเพื่อนของโยบในพระคัมภีร์ พวกเขาไม่รู้จะพูดอะไรได้แต่นั่งเงียบด้วยกันกับโยบ ในเวลาเช่นนี้ไม่มีวิธีการที่แน่นอนตายตัว ให้เราอธิษฐานเพื่อเพื่อน และบอกเพื่อนว่าเราอธิษฐานเพื่อเขา แล้วหนุนเสริมเพิ่มกำลังใจแก่เพื่อน สิ่งที่มีค่าในเวลาวิกฤติเช่นนี้คือการที่อยู่เคียงข้างเขา ให้ตัวท่านแก่เขา หมายความว่า ให้เวลาของท่าน ให้ความใส่ใจ ให้หูที่จะฟังอย่างใส่ใจ ให้ความเข้าอกเข้าใจ ให้การประเล้าประโลมเมื่อมีโอกาสที่เหมาะสม อย่างที่พระเจ้าเคยประเล้าประโลมเราเมื่อเราต้องอยู่ในวิกฤติ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น